กัณฑ์ที่ ๔๐๗       ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๒

 

แยกใจออกจากร่างกาย

 

 

 

 

เทศน์เรื่องเกิดแก่เจ็บตายอยู่เป็นประจำ ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าจับประเด็นนี้ได้ก็จะไม่ทุกข์ ผู้ที่วุ่นวายไม่ใช่ร่างกาย ผู้ที่วุ่นวายคือใจ แต่ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย เป็นคนละส่วนกัน อย่างน้ำกับแก้วน้ำ น้ำเป็นอย่างหนึ่ง แก้วน้ำเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพียงแต่มาอยู่ในที่เดียวกัน ใจก็เป็นเหมือนน้ำ ร่างกายเป็นเหมือนแก้วน้ำ แก้วน้ำมีอายุขัย ต้องเสื่อมหมดสภาพไป แต่น้ำไม่ได้เสื่อมหมดไปกับแก้วน้ำแต่อย่างใด น้ำก็หาแก้วใหม่มาใส่แทนได้ ควรพิจารณาอยู่เรื่อยๆ แยกใจออกจากร่างกาย ให้ใจคิดว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ใจเพียงแต่มาอาศัยร่างกายอยู่ เหมือนร่างกายอาศัยเสื้อผ้าไว้สวมใส่ เสื้อผ้าใส่ไปแล้วก็จะต้องขาดต้องชำรุด ก็ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ ร่างกายไม่ได้เป็นอะไรไปกับเสื้อผ้า ถ้าไม่มีปัญญาคอยเตือนคอยสอนใจ ความหลงก็จะหลอกให้คิดว่าร่างกายคือตัวเราของเรา ร่างกายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเราก็เป็นตัวเขา เวลาร่างกายเขาเป็นอะไรไป ก็คิดว่าเขาเป็นไปด้วย แต่ความจริงเขาไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ร่างกายกับใจของแต่ละคนเป็นเหมือนกันหมด ใจของทุกคนไม่ตาย ร่างกายของทุกคนต้องตาย ทำอย่างไรก็ไม่พ้น จะทุกข์จะวุ่นวายใจอย่างไร ก็ยับยั้งความตายไม่ได้ยับยั้งความแก่ไม่ได้ ถ้ามีดวงตาเห็นธรรมก็จะเห็นว่า มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดาย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ผู้ที่รู้ไม่ได้เกิดไม่ได้ดับไปกับสิ่งที่รับรู้ มีผู้รู้นี้เท่านั้น ในจักรวาลในไตรภพ ที่ไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย แต่ถูกอวิชชาความหลงครอบงำ ทำให้หลงผูกติดอยู่กับสิ่งที่ไม่จีรังถาวร แล้วก็คิดว่าเป็นสิ่งนั้นไป เป็นร่างกายไป พอร่างกายเป็นอะไรไปก็ตกใจ คิดว่าตนเองจะเป็นไปกับร่างกายด้วย วิธีที่จะทำให้ไม่ทุกข์ก็ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

 

พิจารณาว่า เกิดมาแล้วย่อมมีความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตายเป็นธรรมดา ย่อมมีการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก จากคนที่รักไปเป็นธรรมดา เป็นการภาวนา ท่องไปเรื่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ พอเห็นใครก็ต้องคิดว่าต้องจากกันนะ จากกัน ๒ แบบ ใจไปทาง ร่างกายไปทาง ร่างกายมาจากดินน้ำลมไฟ ก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ใจมากับบุญกับกรรม ก็ไปกับบุญกับกรรม จนกว่าจะหมดบุญหมดกรรมก็จะไม่ต้องไปต่อ ผู้ที่ละบุญละบาปได้ ก็จะหลุดพ้นจากการไปเกิดอีก เช่นพระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ได้พยายามตะเกียกตะกาย ประพฤติปฏิบัติธรรม ลดละตัดความโลภความโกรธความหลง ตัดความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ตัดทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่จนหมดไป พอตัดได้แล้วใจก็จะหลุดพ้น อย่าไปฝืนธรรมชาติ อย่าไปอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่นอยากให้พระอาทิตย์หยุดอยู่กับที่ เขาหยุดไม่ได้ เขาต้องหมุนเวียนไป ใจก็เช่นเดียวกัน ต้องหมุนเวียนไปกับบุญกับกรรม หมุนไปในวัฏจักรของการเวียนว่ายตายเกิด ตราบใดยังไม่ได้หยุดผู้ที่ผลักดันใจ ให้ไปเวียนว่ายตายเกิด คือตัณหาทั้ง ๓ ได้แก่ ๑. กามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ๒. ภวตัณหา ความอยากอยู่ไปนานๆ อยากมีอยากเป็นอยากร่ำอยากรวย อยากมีแต่ความสุข ๓. วิภวตัณหา ความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายไม่ทุกข์ ความอยากเหล่านี้ฝืนธรรมชาติ เพราะเราอยู่ในโลกที่มีทั้งสุขมีทั้งทุกข์ ไม่ใช่มีแต่สุขอย่างเดียว สุขก็มีทุกข์ก็มี จึงไม่ควรยินดียินร้ายกับความสุขและความทุกข์ ความสุขก็ไม่ยินดี ความทุกข์ก็ไม่ยินร้ายไม่รังเกียจ ให้ใจเพียงแต่รับรู้ สัมผัสแล้วก็ปล่อยวาง ใจจะได้ไม่ทุกข์ รับได้กับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่รับไม่ได้ก็เพราะ ๑. ไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาความจริงของสิ่งต่างๆที่ใจสัมผัสรับรู้ ๒. ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามความจริงนั้นๆ เมื่อรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างยึดไว้ไม่ได้ ไม่ได้อยู่กับใจไปตลอด ก็ต้องไม่ยึดไม่ติด เหมือนกับเวลาที่ยืมข้าวของๆคนอื่นมาใช้ เราก็รู้ว่าไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่ยึด พอใช้เสร็จก็เอาไปคืนเขา พอคืนแล้วก็สบายใจหมดภาระไป เก็บไว้ก็จะเป็นภาระ ต้องคอยดูแลรักษา

 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่นี้ รวมทั้งร่างกายนี้ด้วย เป็นของยืมมาทั้งนั้น ร่างกายก็ยืมมาจากดินน้ำลมไฟ พอคลอดออกมาก็ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้คนนั้นคนนี้มาเป็นสมบัติ ได้พ่อได้แม่ได้พี่ได้น้อง ได้เพื่อนได้สามีได้ภรรยาได้บุตรได้ธิดา ได้สมบัติข้าวของเงินทอง ได้ตำแหน่ง ได้การยกย่องสรรเสริญ ได้ความสุขที่สัมผัสด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย แต่เป็นเพียงชั่วคราว ทุกอย่างในที่สุดก็มีวันจบสิ้นไป งานเลี้ยงย่อมมีวันสิ้นสุด แต่ใจไม่มีวันสิ้นสุด ถ้ายังมีความอยาก ยังชอบงานเลี้ยงอยู่ก็ไปหางานเลี้ยงที่ใหม่ ไปหาร่างใหม่ ไปเกิดใหม่ ยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิด ถ้าไปด้วยบุญก็ไปดี ไปรับความสุขมากกว่าความทุกข์ ไปเกิดเป็นเทพบ้างเป็นพรหมบ้าง เป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆบ้าง เรียกว่าไปดี แต่ก็ยังมีความทุกข์อยู่ เพราะยังต้องแก่เจ็บตาย ต้องเสื่อมหมดไป เป็นเทพก็ต้องเสื่อมจากสภาพเป็นเทพไป  เป็นพรหมก็ต้องเสื่อมจากสภาพเป็นพรหมไป เป็นมนุษย์ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ตายไปแล้วก็ยังต้องไปเกิดใหม่ เช่นเป็นพระอริยบุคคลขั้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ขั้นพระอรหันต์ เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องทุกข์ทรมานใจ เวลาที่ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาที่ร่างกายตายไป แต่จะไม่ทุกข์มากเหมือนกับปุถุชนธรรมดา ที่ไม่มีธรรมะไม่มีปัญญา ที่จะคอยตัดความยึดติดต่างๆ เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับตัวเราเอง หรือเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด ถ้าทุกข์ก็แสดงว่ายังยึดติดอยู่ ทั้งๆที่ได้ศึกษาได้ฟังเทศน์ฟังธรรมมาตลอด แต่ฟังไม่เข้าใจ ใจไม่ได้จดจ่อ ถ้าจดจ่อและพิจารณาตามทุกคำพูดก็จะจำฝังอยู่ในใจ จะยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ เวลามองเห็นอะไร สัมผัสกับอะไร จะคอยเตือนใจอยู่เสมอว่า ไม่เที่ยง เป็นของชั่วคราว เป็นความทุกข์มากกว่าความสุข เป็นความสุขขณะที่ได้สัมผัสที่ได้มา แต่จะเป็นความทุกข์มหันต์เวลาที่ต้องสูญเสียไป ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา

 

นี่เป็นสิ่งที่ต้องสอนใจทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะทันกับความหลง เพราะความหลงทำงานอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก พอไม่คิดปั๊บก็จะคิดว่าเป็นตัวเราของเราทันที คิดว่าจะให้ความสุขกับเรา นี่คือการปฏิบัติ ถ้าอยากไม่ให้ความทุกข์เข้ามาเหยียบย่ำได้ ต้องพิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของชั่วคราว เป็นของยืมมา เจ้าของจะมาเอาคืนเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ วิธีที่ไม่ประมาทก็คือ ต้องเตรียมพร้อมให้เขาเอาไปได้ทุกเวลา คิดอย่างนี้แล้วพอมีอะไรเกิดขึ้นกับใครก็ตาม เกิดขึ้นกับสิ่งใดก็ตาม ก็จะไม่วุ่นวายใจ ต้องคิดอยู่ตลอดเวลา จนปล่อยได้ พอปล่อยได้แล้วไม่ต้องคิดก็ได้ พอฝังอยู่ในใจแล้ว ไม่ยึดไม่ติดแล้ว เฉยๆกับทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องคิดก็ได้ ต้องพิสูจน์ดู ต้องตัดสิ่งที่เรารักเราหวงไปให้ได้ ยกให้คนอื่นไป ของอะไรที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่ยังรักยังหวงอยู่ ก็ให้คนอื่นไป ถ้าทำได้ก็แสดงว่าตัดได้ ต้องทดสอบตัวเองหลายอย่าง ถ้ายังไม่แน่ใจว่าปล่อยวางร่างกายได้หรือไม่ ก็ต้องไปทดสอบดู ไปอยู่ที่มีความเสี่ยงต่อความเป็นความตายดู ไปตามสถานที่ที่เรากลัว ไปดูว่าดับความกลัวได้หรือไม่ ความกลัวเกิดจากความยึดติดความหวงแหนในร่างกาย ถ้ายอมตายยอมรับความจริงว่า ร่างกายต้องตายแน่ๆ เพียงแต่ว่าจะตายเมื่อไหร่เท่านั้นเอง แต่ตอนนี้เราอยากจะพิสูจน์ดูว่า จะปล่อยได้หรือไม่ ก็ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่เรากลัว ไปอยู่ในป่าช้าไปอยู่ในป่า ยามค่ำคืนก็ลองออกมาเดินเที่ยวในป่าดูคนเดียว ฉายไฟก็ได้ไม่ฉายก็ได้ ถ้าไม่ฉายแล้วเดินไปเหยียบงูโดนงูกัด ก็ปล่อยให้กัดไป ให้รีดความกลัวออกมาให้ได้ เหมือนกับรีดหนอง

 

พอรีดความกลัวออกมาได้แล้ว จะอยู่ที่ไหนก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าใจปล่อยร่างกายได้แล้วก็จะหายกลัว ถ้าใจยอมให้ร่างกายตายได้ ก็หมดปัญหา แต่การกระทำอย่างนี้ไม่ได้เป็นการฆ่าตัวตายนะ เพียงแต่ไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อความเป็นความตาย ให้เกิดความกลัวขึ้นมา แล้วเอาธรรมะเข้ามาดับ ด้วยการพิจารณาว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีดับไปเป็นธรรมดา ต้องปล่อยเขาไป ถ้าปล่อยได้ความกลัวก็จะหายไป ถ้าปล่อยร่างกายของเราได้แล้ว ก็จะปล่อยร่างกายของคนอื่นได้ เพราะเรารักร่างกายของเรามากกว่ารักร่างกายของคนอื่น ถ้าปล่อยร่างกายของเราได้แล้ว ร่างกายของคนอื่นจะเป็นจะตายอย่างไร ก็จะไม่เป็นปัญหา ต้องปฏิบัติ เบื้องต้นก็ต้องทำการบ้านก่อน คือพิจารณาอยู่เนืองๆ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ วันๆหนึ่งอย่าปล่อยให้เวลาผ่านไป โดยไม่ได้พิจารณาความตาย อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้พิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก พิจารณาจนติดเป็นนิสัย แล้วจะมีธรรมเตือนใจไม่ให้ยึดติด เพราะความยึดติดเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทรมานใจ ความตายไม่ได้เป็นเหตุให้ทุกข์ทรมานใจ แต่ความยึดติดกับร่างกายเป็นเหตุให้ทุกข์ทรมานใจ ถ้าปล่อยวางได้ ความทุกข์ทรมานใจก็จะหมดไป ร่างกายจะอยู่หรือจะตายก็ไม่เป็นปัญหา ใจกับร่างกายอยู่ด้วยกันอย่างสงบ ไม่เป็นภาระต่อกัน ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน ใจมีหน้าที่ดูแลรักษาร่างกายก็ดูแลไป ร่างกายมีหน้าที่รับใช้ใจ ให้ไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นก็ทำไป อย่างใจและกายของพระพุทธเจ้าของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ก็ทำอย่างนี้ ใจเป็นผู้สั่งให้ร่างกายไปโปรดญาติโยม ไปสั่งสอนธรรมะ เป็นผู้ดูแลรักษาร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ แต่ก็ไม่มีร่างกายของใครที่จะอยู่ไปได้ตลอด แม้แต่ของพระพุทธเจ้าเองก็เพียง ๘๐ ปีเท่านั้นเอง เรื่องของร่างกายเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ของคนที่มีกิเลสก็เป็นแบบนี้ ของคนที่มีธรรมะก็เป็นแบบนี้  ธรรมะอยู่ในใจ กิเลสก็อยู่ในใจ ถ้ามีธรรมะมากกว่ากิเลส ก็มีความสุขมากกว่าความทุกข์ ถ้ามีกิเลสมากกว่าธรรมะ ก็มีความทุกข์มากกว่าความสุข เพราะกิเลสจะเป็นตัวสร้างความทุกข์ พอเกิดความอยากแล้วใจก็จะไม่สงบ พอใจไม่สงบใจก็เริ่มทุกข์แล้ว

 

จึงต้องดูแลใจ เพราะปัญหาอยู่ที่ใจ อยู่ที่ไม่สงบ อยู่ที่ไม่รู้ว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ใจควรไปยึดไปติด ควรพึ่งพาอาศัยให้ความสุขกับใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นเหมือนยาเสพติด ถ้าติดแล้วก็จะอยู่โดยปราศจากยาเสพติดไม่ได้ ต้องมีไว้เสพเสมอ เวลาไม่มีจะทุกข์ทรมานใจ พวกเรายังติดยาเสพติดกันอยู่ ยาเสพติดของพวกเราก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ยังต้องดูต้องฟังต้องดมกลิ่นต้องลิ้มรส ต้องสัมผัสกับสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสกับกาย ที่ชอบอกชอบใจ ถ้าไม่ถูกอกถูกใจก็จะทุกข์ ถ้าไม่ติดเลย ไม่หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายเลย ก็จะไม่ทุกข์กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าไม่ได้ไปสัมผัสก็จะไม่เดือดร้อน เพราะไม่มีความอยากที่จะสัมผัส กามฉันทะคือยาเสพติดของปุถุชนและพระอริยะที่ยังไม่สามารถละได้ ผู้ที่จะละกามฉันทะได้ ต้องเป็นพระอริยะขั้นที่ ๓ ขึ้นไป คือขั้นพระอนาคามีขึ้นไป พระสกิทาคามีพระโสดาบันยังมีกามฉันทะอยู่ ยังมีกามราคะอยู่ ยังมีความยินดีในรสของกามอยู่ แต่จะไม่แสวงหากามรสด้วยวิธีที่ผิดศีลผิดธรรม จะไม่ประพฤติผิดประเวณี จะหาความสุขกับสามีภรรยาของตน กับคู่ครองของตนเท่านั้น จะไม่ทำผิดศีลโดยเด็ดขาด ถ้าได้เจริญอสุภกรรมฐาน ได้สำรวมอินทรีย์ คือสำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ให้ไปสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ทำให้เกิดกามารมณ์ขึ้นมา ก็จะตัดกามราคะได้ การถือศีล ๘ นี้เป็นการสำรวมอินทรีย์ เนกขัมมะแปลว่าการออกจากกามสุข ไม่แสวงหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่หาความสุขจากความสงบของใจ เพราะเป็นความสุขที่แท้จริง เป็นของเรา ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นมาให้ความสุข ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายต้องอาศัยตาหูจมูกลิ้นกาย อาศัยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่ถูกอกถูกใจ ถ้าสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็จะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา ต้องเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่ถูกอกถูกใจ ถึงจะมีความสุข ถ้าทำใจให้สงบได้ด้วยอุบายแห่งสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นการบริกรรมพุทโธ หรืออานาปานสติดูลมหายใจเข้าออก หรือสวดมนต์ หรือฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะได้รับความสงบสุขในระดับต่างๆกัน จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ พอเห็นแล้วว่านี่คือความสุขที่แท้จริง ที่เราสามารถมีได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ร่างกายจะอยู่ในสภาพใด จะเจ็บไข้ได้ป่วย จะเป็นจะตาย ก็ยังมีความสุขทางใจได้ ถ้ารู้จักทำใจให้สงบ ถ้าไม่อยากมีความทุกข์ความวุ่นวายใจ กับเรื่องของร่างกาย ก็ต้องสำรวมอินทรีย์ รักษาศีล ๘ แล้วก็ภาวนาทำใจให้สงบมากๆ

 

ธรรมที่จะทำให้จิตสงบก็คือสติ คือการดึงจิตไว้ให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้จิตลอยไปลอยมา ถ้าจิตเป็นเรือก็ต้องมีสมอไว้ทอด มีเชือกไว้ผูกกับท่าเรือ ถ้าไม่มีเชือกผูกไว้กับท่าเรือ พอน้ำไหลมาแรงๆ เรือก็จะลอยไปตามกระแสน้ำ จะไม่จอดที่ท่าเพื่อขนถ่ายสินค้าหรือให้คนขึ้นลงได้ ต้องมีเชือกผูกเอาไว้กับท่าเรือ หรือต้องทอดสมอเรือไว้ เชือกหรือสมอเรือนี้ก็คือสตินี้เอง สติคือเชือก ส่วนกรรมฐานคือเสาหรือตัวสมอ ต้องมีทั้ง ๒ อย่าง ถ้าเชือกไม่แข็งแรง เป็นเชือกเส้นเล็กๆก็จะขาดได้ เวลาเริ่มเจริญสติใหม่ๆจะเป็นเชือกเส้นเล็กๆ พอกระแสน้ำไหลมาก็จะขาด ถ้าหมั่นเจริญสติอยู่เรื่อยๆ สติก็จะแก่กล้าขึ้น จะมีกำลังมากขึ้น จะสามารถดึงใจให้อยู่ในปัจจุบันได้ ถ้าจะให้ใจอยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ ถ้าให้อยู่กับอานาปานสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็จะอยู่กับลมหายใจเข้าออก พออยู่กับลมหายใจหรืออยู่กับพุทโธ โดยไม่ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ใจก็จะดิ่งเข้าสู่ความสงบ เวลารวมลงจะวูบลงไป ถ้ามีสติดีนั่งไม่นาน ๕ นาที ๑๐ นาทีก็จะรวมลง ปัญหาที่นั่งกันเป็นชั่วโมงแล้วไม่สามารถทำใจให้สงบได้ ก็เพราะไม่มีสตินี่เอง ไม่สามารถบังคับใจให้อยู่กับกรรมฐานได้อย่างต่อเนื่อง อยู่ได้เพียงไม่กี่วินาทีก็แวบไปแล้ว เรื่องนั้นเรื่องนี้สอดเข้ามาแล้ว แทรกเข้ามาแล้ว ไปสนทนากับเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว นั่งไปก็มีแต่อาการของการนั่ง แต่อาการของการปฏิบัติไม่มี จึงไม่ได้ผล ไม่มีเหตุ ผลก็ไม่เกิด เหตุก็คือสติอยู่กับกรรมฐาน เช่นอานาปานสติ อานาปานะแปลว่าลมเข้าลมออก เป็นกรรมฐาน สติเป็นเชือกที่จะผูกจิตให้อยู่กับกรรมฐาน จึงต้องฝึกตั้งสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำกิจกรรมอะไร เราเจริญสติได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย พอลุกขึ้นมาก็ต้องมีสติให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ปล่อยให้ร่างกายเดินไปเข้าห้องน้ำ ไปล้างหน้าล้างตาแปรงฟัน แต่ใจไปที่ทำงานแล้ว ไปเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ

 

ถ้ามีสติใจกับกายต้องไปคู่กัน เป็นเหมือนคู่รัก สามีภรรยา กายอยู่ที่ไหนใจก็อยู่ที่นั่น อย่างนี้ถึงจะมีสติ พอมีสติแล้วจะบอกให้ใจอยู่กับพุทโธ ก็จะอยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจก็จะอยู่กับลมหายใจ ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้ จะพบกับความสุข จะไม่หิวกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่อยากออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จะชอบอยู่บ้านหรืออยู่วัด อยู่ที่มีความสงบ หาความสุขทางใจทางธรรมะดีกว่า แต่ความสุขที่ได้จากความสงบนี้ยังไม่ถาวรไม่ต่อเนื่อง สงบเฉพาะเวลาที่จิตรวมลง พอถอนออกมาจากความสงบกิเลสก็จะออกมาด้วย กิเลสจะเริ่มปรุงแต่ง สร้างความอยากสร้างความโลภสร้างความโกรธ ก็ต้องใช้ธรรมะอีกขั้นหนึ่ง คือปัญญาหรือวิปัสสนา เข้ามาระงับความโลภความโกรธ เพราะความโลภความโกรธเกิดจากความหลง คือไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่วิเศษ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมาจากการผสมปรุงแต่งของธาตุทั้ง ๔  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุหมด จึงเรียกโลกนี้ว่าโลกธาตุ โลกของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ศาลาหลังนี้ก็เป็นธาตุ ร่างกายของพวกเราก็เป็นธาตุ ข้าวของต่างๆที่เราใช้กันก็เป็นธาตุ ๔ ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะมีธาตุส่วนไหนมากน้อยกว่ากัน บางอย่างก็มีธาตุน้ำมาก บางอย่างก็มีธาตุดินมาก บางอย่างก็มีธาตุไฟมาก บางอย่างก็มีธาตุลมมาก เช่นน้ำอัดลมนี้ก็มีทั้งธาตุน้ำมีทั้งธาตุลม ส่วนขวดก็เป็นธาตุดิน ธาตุไฟมีน้อย เพราะน้ำแข็งขับไล่ธาตุไฟออกไป ถ้าพิจารณาก็จะเห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ร่างกายเราเป็นเหมือนไอศกรีม ถ้าเอาออกมาจากตู้เย็นวางไว้สักพักหนึ่งก็จะละลายไปหมด ร่างกายของพวกเราก็ถูกเวลาละลายไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย เดี๋ยวก็กลายเป็นดิน กลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป ร่างกายของทุกคนเป็นอย่างนี้

 

นี่คือสิ่งที่เราควรจะพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ต่อไปจะไม่อยากได้อะไร เพชรก็ไม่อยากได้ ทองก็ไม่อยากได้ ไม่รู้จะเอามาทำอะไร ได้มาแล้วดับความทุกข์ในใจได้หรือเปล่า หรือกลับสร้างความทุกข์ให้มากขึ้น ต้องคอยดูแลรักษา ต้องหวงต้องห่วง ต้องเสียอกเสียใจ เมื่อเช้านี้มีโยมใส่บาตรคนหนึ่งบ่นว่า เมื่อวานนี้ลูกชายไปธนาคาร พอออกมาก็มีคนกระตุกสร้อยทองไป เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวาน วันนี้ก็ยังค้างอยู่ในใจ เป็นเพียงสร้อยทองเท่านั้น ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับเรา นอกจากเวลาที่ไม่มีข้าวกิน ก็ใช้ทองเส้นนี้ไปแลกอาหารมา เอาธาตุไปแลกกับธาตุ ถ้ามีปัญญาหากินได้ทุกวัน ไม่ต้องมีทองก็ได้ อย่างพระไม่กลัวอดตาย เพราะมีปัญญาหาข้าวกินได้ทุกวัน ไม่ต้องมีทองมีเพชรเก็บไว้สำรอง มีบาตรใบเดียวก็พอ คนเรามีความจำเป็นเพียงเท่านี้ อาหารวันละมื้อเท่านั้นเอง เรื่องที่อยู่อาศัยนี้ อยู่ที่ไหนก็ได้ ถ้าปลงได้แล้วอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ตาย อยู่ในวังก็ตาย อยู่ใต้สะพานก็ตาย ถึงเวลาจะตายไม่มีใครยับยั้งความตายได้ ถ้ายอมรับความตายได้แล้ว ก็จะไม่มีความทุกข์ ต้องพิจารณาไตรลักษณ์อย่างนี้ ให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่วิเศษเลย

 

มีสิ่งเดียวที่วิเศษแต่กลับไม่ดูแลกัน ก็คือใจของพวกเรา กลับเอาเรื่องมาให้ใจแบก ให้ใจทุกข์กังวล ทำไมต้องไปทุกข์กับคนนั้น ทำไมต้องไปทุกข์กับเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องของเรา ปล่อยไปตามเรื่องของเขา เราก็อยู่ส่วนของเรา ถ้ามีหน้าที่ต้องดูแลก็ทำไป การปล่อยนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความรับผิดชอบ มีหน้าที่อะไรมีความรับผิดชอบอะไรก็ทำไป แต่ใจไม่แบกเท่านั้นเอง ทำไปตามหน้าที่ ทำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ทำไม่ได้ก็ช่วยไม่ได้ อย่าไปอยากให้สิ่งที่ทำเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ คืออยากให้มันดี ให้สำเร็จ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าทำเต็มความสามารถแล้ว จะได้หรือไม่ได้ก็ไม่อยู่ในวิสัยของเราแล้ว ไม่ต้องไปทุกข์ไปกังวลกับผล กังวลก็ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น มีแต่จะสร้างความโกรธให้เกิดขึ้น ไปโทษคนนั้นคนนี้ว่าเป็นอุปสรรค ความโลภความโกรธมาจากความหลง ถ้ารู้ว่าโลกนี้ไม่มีสาระแก่นสารอะไร เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่มีใครเอาติดตัวไปได้แม้แต่ชิ้นเดียว ก็จะเฉยๆ ไม่เห็นว่าวิเศษอย่างไร ก็จะไม่เกิดความโลภอยากได้ ไม่เกิดความอยากไปเสพสัมผัสลิ้มรส เวลาเห็นอะไรที่คิดว่าวิเศษ พอเห็นปั๊บก็ผ่านไป ฟังเสียงอะไรก็ผ่านไป รับประทานอาหารที่เอร็ดอร่อยขนาดไหนก็ผ่านไป ผ่านไปหมด เหลือแต่ผู้รู้ จะรู้แบบหลงหรือรู้แบบรู้เท่านั้นเอง ถ้ารู้แบบรู้ก็จะไม่อยาก ไม่ยึดไม่ติด ไม่ต้องการอะไร ถ้ารู้แบบหลงก็จะอยากได้เพิ่มขึ้น ไปเที่ยวมาคราวนี้สนุกมาก คราวหน้าต้องไปอีก รับประทานอาหารร้านนี้อร่อยมาก ต้องกลับไปรับประทานอีก อย่างนี้เรียกว่ารู้แบบหลง ถ้ารู้แบบรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เท่านั้นๆแหละ จะรู้แบบรู้ได้ก็ต้องมีธรรมะ มีความสงบใจ เพราะจะเปรียบเทียบรสชาติทั้ง ๒ ชนิดได้อย่างชัดเจนเลย จะเห็นว่ารสชาติอย่างอื่นนี้ไม่มีความหมายเลย เมื่อเปรียบกับความสงบสุขของใจ ที่ดูดดื่มจริงๆ สุขจริงๆ มีอิทธิพลต่อใจจริงๆ ทำให้ใจมีความหนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว กับเรื่องราวต่างๆ

 

 

ถาม  มีทุกขเวทนาทางร่างกาย เจ็บหลังจนลุกไม่ขึ้น ไม่สามารถเดินได้ เป็นมา ๒ วันแล้ว ได้ปฏิบัติตามที่ท่านพระอาจารย์สอน พอทำได้ แต่พอปวดหลังจริงๆ กลับทำไม่ได้เลย

 

ตอบ เข้าห้องสอบแล้วไม่ผ่าน สอบตก เพราะทำการบ้านไม่พอ ต้องนั่งนานๆให้เจ็บ แล้วก็ฝึกทำใจให้เฉยให้นิ่ง แยกความเจ็บปวดออกจากผู้รู้ ผู้รู้ไม่ได้เจ็บ เหมือนดูภาพยนตร์ ให้ดูเฉยๆ อย่าไปดีใจเสียใจกับภาพที่ดู ดูด้วยสติ ว่าเป็นเพียงภาพ ไม่เกี่ยวกับเรา เราเพียงแต่ดูเขาเล่นละคร เราไม่ได้เป็นตัวละคร

 

ต้องปล่อยวางหมดเลย ร่างกายก็ต้องปล่อยวาง เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็ต้องปล่อยวาง เป็นเหมือนแสงหิ่งห้อย เวลาพิจารณาดูในจิตมันจะแวบๆ เกิดดับเกิดดับ เกิดปั๊บก็หายไป สัญญาจำได้ปั๊บก็หายไป วิญญาณสัมผัสรับรู้แล้วก็หายไป แล้วก็มีใหม่เข้ามา ให้เพียงแต่รับรู้ อย่าไปยินดียินร้าย ถ้าไม่ชอบก็ต้องหัดชอบ ถ้าชอบก็หัดไม่ชอบ เพราะความชอบหรือไม่ชอบเป็นตัวทำให้ใจแกว่ง ใจไม่นิ่ง ไม่อยู่ตรงกลาง เวลาชอบใจจะเอื้อมไปหา เวลาไม่ชอบก็จะถอยออก ให้เข้าหาสิ่งที่เราไม่ชอบ สิ่งที่เราชอบก็ให้ถอยออก เพื่อปรับความสมดุลของใจ ให้กลับเข้าสู่ความเป็นกลางเป็นอุเบกขา อย่างพระนี้ ท่านสอนให้ยินดีตามมีตามเกิด เพื่อตัดความไม่ชอบ พระที่วัดป่าบ้านตาดไม่มีสิทธิเลือกอาหาร ทุกองค์ทำหน้าที่ตักแจกอาหารใส่บาตรให้แก่กัน ไม่ได้นั่งเลือกอาหารเอง เปิดบาตรไว้ พระแต่ละองค์พอรับอาหารจากหลวงตามา ก็เอาไปตักแจกใส่บาตรให้พระทุกรูป ตอนบวชใหม่ๆ ใช้วิธีตัดปัญหาเรื่องชอบหรือไม่ชอบอาหาร ด้วยการใส่อาหารทั้งคาวทั้งหวานทั้งผลไม้รวมลงไปในบาตร แล้วก็คลุกรวมกัน เพราะเดี๋ยวก็ต้องไปรวมกันในท้องอยู่ดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย ร่างกายเป็นผู้กิน เขาไม่เดือดร้อนอะไรเลย ใจไม่ได้กินกลับวุ่นวาย เป็นตัวจู้จี้จุกจิก ใจไม่ได้กิน ร่างกายเป็นผู้กิน ใจเป็นเหมือนแม่ ร่างกายเป็นเหมือนลูก แม่จู้จี้จุกจิกเลือกอาหารให้ลูกกิน แม่ชอบอาหารอะไรก็บังคับให้ลูกกินอาหารชนิดนั้น แต่ลูกไม่สนใจ ให้กินอะไรก็กินได้ทั้งนั้น ให้ร่างกายกินอะไรเขาก็กินได้ทั้งนั้น ควรฝึกอย่างนี้ ถ้าอยากจะก้าวหน้า

 

ต้องฝึกมักน้อยสันโดษ มักน้อยก็คือใช้น้อยๆกินน้อยๆ สันโดษก็คือยินดีตามมีตามเกิด มีอาหารอะไรก็รับประทานไป ถ้ารับประทานไม่ลงก็จะได้อดอาหาร ได้ดัดสันดานกิเลส พอไม่ได้กินมื้อนี้ เดี๋ยวมื้อต่อไปก็จะกินอะไรก็ได้เพราะหิว อาหารที่ไม่เคยกินไม่ชอบกินก็จะกินได้ เพราะหิว แม้แต่ข้าวคลุกน้ำปลาก็อร่อย ถ้าไม่ใช้มาตรการอย่างนี้จะไม่ก้าวหน้า ถ้าใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เคยอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น การปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้า ต้องทรมานใจด้วยอุบายต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติธุดงควัตร ๑๓ ข้อ ให้พระภิกษุปฏิบัติ เพื่อเป็นการทรมานกิเลส เช่นฉันในบาตรเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นการทรมานกิเลส กิเลสชอบกินแต่ไม่ชอบบิณฑบาต ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร เพื่อทรมานกิเลสที่ชอบกินทั้งวัน ธุดงควัตรเป็นอุบายทรมานกิเลส เพื่อพัฒนาใจให้เจริญก้าวหน้า เป็นการรีดกิเลส เหมือนรีดหนอง ถ้าปล่อยไว้เฉยๆหนองจะไม่ไหลออกมาเอง ต้องรีดมันออกมาจะได้หายเร็ว จึงควรใช้มาตรการเหล่านี้ อย่างน้อยก็ถือศีล ๘ บ้าง เริ่มอาทิตย์ละครั้ง แล้วก็เพิ่มให้มากขึ้น ควรพัฒนาไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการเจริญทางจิตใจ ต้องกล้าจะใช้มาตรการแบบนี้

 

ตอนที่ยังไม่ได้บวช รับประทานอาหารวันละมื้อก็คิดว่าเก่งแล้ว แต่พอไปอยู่ที่วัดป่าเห็นพระอดกันทีละ ๓ วัน ๕ วัน ก็รู้ว่าเรายังไม่เก่ง พอลองทำตามก็ทำได้ ทำให้ก้าวหน้าทางด้านจิตใจ เวลาไม่ได้รับประทานอาหารจะมีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา ทุกข์ทั้ง ๒ ส่วน ทุกข์ทางร่างกายที่ขาดอาหาร และทุกข์ทางใจที่อยากจะรับประทานอาหาร ถ้าทำใจให้สงบได้ ก็จะใช้วิธีระงับความทุกข์ทางใจด้วยการเข้าไปในสมาธิ พอเข้าไปในสมาธิพอจิตสงบแล้ว ความทุกข์ที่เกิดจากความอยากรับประทานอาหาร ก็จะหายไป เป็นความทุกข์ส่วนใหญ่ พอความทุกข์ที่อยากรับประทานอาหารหายไปแล้ว ความทุกข์ทางร่างกายจะไม่รุนแรงเลย จะรู้สึกอ่อนเพลียรู้สึกว่าท้องว่างๆหวิวๆเท่านั้นเอง แต่ไม่ทรมาน เหมือนกับเวลาที่จิตไม่สงบแล้วคิดถึงอาหารชนิดต่างๆ น้ำลายไหลแต่ไม่ได้กิน ก็เลยต้องบังคับเข้าสมาธิอยู่เรื่อยๆ พอเข้าสมาธิก็หายทุกข์ ตอนออกมาใหม่ๆก็ไม่ทุกข์ พอเผลอก็คิดปรุงอีก ก็ต้องกลับเข้าไปในสมาธิใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้ขยันหมั่นเพียรภาวนา ทำให้ฐานของสมาธิแน่น เพราะทำอยู่แทบทุกชั่วโมง เข้าไปชั่วโมง พอออกมาสักครึ่งชั่วโมง ก็ต้องกลับเข้าไปใหม่ เพราะเริ่มคิดถึงอาหารอีกแล้ว พอกลับเข้าไปใหม่ก็สบาย ต่อไปก็จะชำนาญ จะเข้าเมื่อไหร่ก็ได้ อยากจะเข้าเมื่อไหร่ก็เข้าได้ เวลาทำอะไรบ่อยๆก็จะเกิดความชำนาญ นี่เป็นขั้นสมาธิ

 

ถ้าเป็นขั้นปัญญาก็พิจารณาธรรมไป ก็จะไม่มีเวลามาคิดเรื่องอาหาร ก็จะไม่หิว เดินจงกรมได้เป็นชั่วโมงๆ ทั้งๆที่ไม่ได้รับประทานอาหาร เพราะใจไม่ได้คิดถึงเรื่องอาหาร จะพิจารณาแต่เรื่องธรรมะที่กำลังติดอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นร่างกาย หรืออยู่ในขั้นนามขันธ์ ก็พิจารณาไป ก็จะเพลิดเพลิน เหมือนมีอาหาร มีธรรมะเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจ จะมีความสุขกับการปฏิบัติ ตอนนั้นจะไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับงานภายนอก จะเอาแต่งานภายใน อดอาหาร ๓ วัน ๕ วันไม่รู้สึกอะไรเลย ตอนบ่ายก็อาศัยน้ำปานะน้ำผึ้งน้ำตาล พอให้ร่างกายมีกำลัง นี่เป็นมาตรการที่เราต้องใช้กัน เหมือนเวลาเปลี่ยนยางรถยนต์ ถ้าไม่มีแม่แรงจะเปลี่ยนยาก จะเอากำลังที่ไหนมายกล้อขึ้น ถ้ามีแม่แรงก็จะเปลี่ยนยางได้ง่าย นี่ก็เหมือนกันการจะยกจิตให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ก็ต้องมีแม่แรง คืออุบายต่างๆที่ถูกกับจริต บางท่านก็ใช้อดอาหาร บางท่านก็ใช้เนสัชชิก  อยู่ใน ๓ อิริยาบถ บางท่านก็ไปอยู่ในที่น่ากลัว ไปอยู่ตามป่าช้า ตามป่าตามเขา บางท่านก็ออกเดินกลางคืนโดยไม่ฉายไฟ ทำอย่างนี้ถึงจะได้ธรรมะ ถ้าอยู่ในห้องปรับอากาศ อยู่ใกล้ตู้เย็น อยู่ใกล้โทรทัศน์จะไม่ได้อะไร ต้องถามตัวเองว่าอยากจะได้อะไร จะเอาทั้ง ๒ อย่างไม่ได้ โลกกับธรรม ธรรมไปทางทิศเหนือ โลกไปทางทิศใต้ ไปคนละทางกัน

 

เมื่อวันก่อนมีญาติโยมบอกว่า ขอให้หลวงตาอยู่ถึง ๑๒๐ ปี แต่ท่านไม่รับปาก เป็นอุบายของหลวงตาสอนพวกเราไม่ให้ประมาท ถ้าท่านรับปาก พวกเราก็จะไม่รีบปฏิบัติกัน ท่านสร้างเมรุไว้ไม่รู้กี่ปีมาแล้ว นั่นเป็นอุบายสอนให้พวกเราระลึกถึงความตาย ถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะได้ไม่ประมาทนอนใจ ศาสนาพุทธเป็นเหมือนรถเมล์ อาจจะเป็นเที่ยวสุดท้ายก็ได้นะ ถ้าไม่ขึ้นจะต้องเดินไปนะ ตายไปแล้วกลับมาเกิดใหม่อาจจะไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนาอีก ชาตินี้อาจจะเป็นเที่ยวสุดท้ายของพระพุทธศาสนาสำหรับพวกเรา เพราะไม่รู้ว่าจะไปรับบุญรับกรรมที่ไหนต่อ หลังจากที่ตายไปแล้ว กลับมาแล้วไม่ทราบว่าจะมีพระพุทธศาสนาหลงเหลืออยู่หรือไม่ จึงควรปลูกฝังนิสัยใฝ่ธรรมยินดีในธรรม เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมตลอดเวลา จะได้ไม่ต้องอาศัยพระศาสนา พอเรามีพลังมีเครื่องยนต์ในใจเราแล้ว ก็ไม่ต้องอาศัยเครื่องยนต์ภายนอก ศาสนาเป็นเหมือนเรือที่คอยลากจูงเรือที่ไม่มีเครื่อง พอเรามีเครื่องยนต์ในเรือแล้ว เราก็ไม่ต้องอาศัยศาสนาลากจูง ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนี้ ท่านมีเครื่องยนต์ติดอยู่ในใจของท่านแล้ว

 

ไปเกิดภพไหนชาติไหน ไม่เจอพุทธศาสนาก็ไม่เป็นปัญหา ท่านมีพระพุทธศาสนาติดไว้ในใจของท่านแล้ว อาจจะไปถึงช้าหน่อย เพราะไม่มีผู้ที่ไปถึงแล้วมาคอยแนะแนวทางให้ แต่จะไม่หลงทาง ท่านรู้แล้วแนวทางของการปฏิบัติก็คือพระอริยสัจ ๔  พอเห็นอริยสัจ ๔ ในใจแล้ว จะรู้ว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความอยาก ก็จะลดละตัดความอยากต่างๆที่มีอยู่ในใจให้น้อยลงไป อย่างพระโสดาบันก็ยังติดอยู่ที่ร่างกาย ติดอยู่กับกามราคะ รู้ว่าต้องแก้ตรงนี้ จะศึกษาดูว่าจะแก้อย่างไร เห็นส่วนที่สวยที่งามของร่างกาย ส่วนที่ไม่สวยไม่งามยังไม่เห็น ก็ต้องดูให้เห็น พอดูบ่อยๆจนจำได้แล้ว ก็จะตัดกามราคะได้ พอได้เห็นอริยสัจ ๔ ภายในใจแล้ว ไม่มีครูอาจารย์สอนก็ไม่เป็นไร เพราะมีอาจารย์ภายใน ท่านถึงรับรองว่าไม่เกิน ๗ ชาติ จะมีพระพุทธศาสนามีพระพุทธเจ้ามาสอนหรือไม่ก็ไม่จำเป็น เพราะมีธรรมแล้ว ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์คอยสอนอยู่ในใจแล้ว นี่คือสถานภาพของพระอริยบุคคล ตั้งแต่ขั้นแรกขึ้นไป ท่านมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อยู่ในใจแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ได้กำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป กำลังก้าวขึ้นไปตามลำดับ ถ้าเป็นคนไข้ก็ได้ยาจากหมอแล้ว ไม่ต้องไปหาหมอแล้ว หมอให้ยามาครบแล้ว ให้กินยาที่หมอให้มาให้หมดก็แล้วกัน พอกินหมดแล้วก็จะหายจากโรคอย่างแน่นอน

 

ชาตินี้พยายามเอาธรรมจักษุให้ได้ก็แล้วกัน พิจารณาความตายความเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เรื่อยๆ เวลาเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป เป็นธรรมดาของร่างกาย นั่งแล้วเจ็บปวดก็ปล่อยให้เจ็บปวดไป จะตายก็ปล่อยให้ตายไป จะดับตัณหาได้ พอดับปั๊บก็จะเห็นธรรมทันทีว่า ที่ทุกข์ทรมานใจไม่ใช่เพราะความเจ็บปวดของร่างกาย แต่เพราะกลัวความเจ็บ อยากให้ความเจ็บหายไปต่างหาก นี่คือเห็นอริยสัจ จะเห็นอย่างนี้ จะไม่อยากให้หาย จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป หายก็หาย ต้องหายแน่ แต่จะหายแบบไหน หายแบบที่ยังมีลมหายใจอยู่ หรือแบบไม่มีลมหายใจ ต้องหายแน่ๆ แต่ใจไม่หาย ใจสบาย ใจสงบ ใจมีความสุข เอาตรงนี้ ตัวนี้สำคัญที่สุดคือใจ พยายามรีดสมุทัยคือตัณหาทั้ง ๓ ออกไปจากใจให้หมดให้ได้ พอหมดแล้วจะไม่มีตัวสร้างความทุกข์ทรมานใจอีกต่อไป เอาธรรมโอสถเข้ามาทำลายเชื้อโรคของใจ คือกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา พอเห็นอริยสัจแล้วจะไม่หลงอีกแล้ว มีแต่จะทำให้หมดไป จะมุ่งมาตรงจุดนี้จุดเดียว จะไม่สนใจกับเรื่องภายนอก ข้างนอกไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่ง ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งได้ มีแต่การปฏิบัติธรรม ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่จะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งของเราได้ ให้ยึดแนวทาง ทานศีลภาวนาไว้ มีโอกาสทำบุญให้ทานได้มากน้อย ก็พยายามทำไป ทำให้หมดเลย เก็บไว้ทำไม นอกจากต้องเก็บไว้สำหรับวันข้างหน้า อย่าไปหามาเพิ่ม พอแล้ว เอาเวลามาปฏิบัติธรรมดีกว่า มีพอมีพอกินพอเก็บแล้ว ก็เอาเวลามาหาธรรมะ อย่าหาเงินหาทอง อย่าหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่อย่างนั้นจะขาดทุนนะ ไม่ได้กำไร ไม่ได้ธรรมะ ไม่ได้บุญไป ได้แต่กิเลสไป

 

ถาม  ท่านอาจารย์สอนไม่ให้ยึดติดกับร่างกาย คราวที่แล้วลูกไปปฏิบัติธรรม กล้ามเนื้อหลังมันอักเสบเจ็บหลัง นั่งสมาธิก็นั่งไม่ค่อยได้ ใจหนึ่งก็คิดว่าน่าจะอดทน แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า รักษาร่างกายไว้ ไม่ดีกว่าหรือ ถ้ายิ่งไปฝืนก็จะยิ่งเจ็บมากขึ้น ก็เลย ๒ จิต ๒ ใจ ว่า ระหว่างการฝึกจิตกับการถนอมร่างกายนี้ จุดสมดุลอยู่ตรงไหน

 

ตอบ ต้องแยกเป็น ๒ กรณี กรณีที่มีความต้องการธรรมะมากกว่าอย่างอื่น ก็พร้อมที่จะปฏิบัติได้ทุกเมื่อ ถือเอาความเจ็บปวดเป็นเหตุให้ปฏิบัติ เพราะอยู่ในเหตุการณ์จริง ไม่ต้องกังวลกับสังขารร่างกาย ถ้าจะตายก็ไม่ต้องไปเสียดาย เพราะจะได้สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า อย่างที่พระท่านบรรลุในปากเสือ ถ้าท่านคิดรักษาร่างกาย ท่านก็คงไม่ไปหาเสือ นี่เป็นลักษณะของผู้ที่มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งต่อการหลุดพ้น พร้อมที่จะสละได้ทุกอย่าง แต่ถ้ายังไม่พร้อมที่จะหลุดพ้น ก็ต้องพักรักษาร่างกายให้หายดีก่อน แล้วค่อยปฏิบัติ แต่มันจะช้าและอาจจะไม่ได้ผลดังที่ปรารถนา ขึ้นอยู่กับความปรารถนา คนเรา ถ้ามีความปรารถนามาก ก็ยอมเสียได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะในทางโลกหรือในทางธรรม อยู่ที่ใจเป็นหลัก ว่าต้องการอะไร ถ้ายัง ๒ จิต ๒ ใจ แสดงว่ายังไม่ได้ปรารถนาธรรมถึงขั้นนั้น ถ้าปรารถนาธรรมถึงขั้นนั้นแล้วปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะจะรู้ว่าจะเลือกเอาอะไร จะเลือกสิ่งที่ถาวรหรือสิ่งที่ไม่ถาวร ใจนี้ถาวรแต่ร่างกายไม่ถาวร ความทุกข์ใจจะอยู่ไปกับใจเป็นเวลายาวนาน แต่ความทุกข์กายไม่นาน ถ้าจะต้องเสียร่างกายไปเพื่อให้ได้ธรรมะมานี้ก็คุ้มค่า เพราะอย่างไรก็ต้องเสียอยู่ดี ต่อให้รักษาร่างกายให้ดีขนาดไหน ก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน จะกลายเป็นข้ออ้างของกิเลส รักษาร่างกายไปก่อน พอจะเจ็บพอจะเป็นอะไรก็ต้องหยุดก่อน ต้องรักษาร่างกายก่อน ก็จะไม่ได้ผลจากการปฏิบัติ

 

เคยอ่านประวัติหลวงปู่มั่นกันไม่ใช่หรือ คราวที่ท่านมีอาการเจ็บท้อง ท่านก็พยายามหายามารับประทาน รับประทานเท่าไหร่ก็ไม่หาย กลับจะเจ็บมากขึ้นไป ท่านก็เลยปลง กินยามามากแล้ว มันก็ไม่หาย ทีนี้เอาแบบไม่กินยาดูบ้าง จะเป็นอย่างไร ใช้ธรรมโอสถนั่งภาวนาพิจารณาทุกขเวทนา แยกเวทนาออกจากใจออกจากร่างกาย ให้ต่างฝ่ายต่างเป็นความจริงของเขา ร่างกายก็เป็นความจริง เวทนาก็เป็นความจริง ใจผู้รู้ก็เป็นความจริง ให้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน ร่างกายเป็นธาตุก็ปล่อยให้เป็นธาตุไป ธาตุไม่รู้เรื่องอะไร เหมือนกับศาลาหลังนี้ เขาเป็นธาตุ เขาไม่รู้เรื่องอะไร แดดจะส่องร้อนขนาดไหนเขาก็ไม่รู้ ใจคือผู้ที่อยู่ในร่างกายไม่ต้องไปร้อนแทนร่างกาย ร้อนก็รู้ว่าร้อน ความร้อนเป็นเหมือนเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ปล่อยให้เจ็บไป เวทนามีหน้าที่แสดงความเจ็บก็ปล่อยให้แสดงไป ร่างกายมีหน้าที่นั่งอยู่ตรงนั้นก็นั่งไป ใจมีหน้าที่รับรู้ก็รู้ไป พอต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนแล้ว ก็จะอยู่ในสภาพปกติ พอจิตสงบปั๊บความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไป ความเจ็บปวดของร่างกายก็ไม่รุนแรง หรืออาจจะหายไปเลย ถ้าอาการปวดท้องเป็นผลจากความไม่ปกติของใจ ความไม่ปกติของใจสามารถทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยได้ พอท่านได้พิจารณาแยกแยะจนจิตรวมลงสู่ความสงบ จิตก็ไม่รับรู้เรื่องของร่างกายของเวทนา พอถอนออกมาอาการเจ็บท้องก็หายไปหมด เป็นไปได้ ถ้าเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค หรือเกิดจากเชื้อโรคก็ได้ ถ้านั่งทำสมาธิจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านเชื้อโรค เพราะเวลานั่งไปนานๆร่างกายจะร้อนจนเหงื่อแตก ยิ่งร่างกายมีอุณหภูมิร้อนขึ้นเท่าไหร่ จะมีภูมิต่อสู้กับเชื้อโรคมากขึ้น อย่างเวลาเป็นไข้ ให้นั่งสมาธิจนเหงื่อแตกพลั่ก หรือนอนคลุมหัวให้เหงื่อแตกพลั่กเลย แล้วไข้จะลดหรือหายไปเลย

 

นี่คือการรักษาโรคของพระปฏิบัติ ได้ทั้งธรรมและได้ทั้งการรักษาร่างกายไปในเวลาเดียวกัน ยิงกระสุนนัดเดียวได้นก ๒ ตัว พระปฏิบัติพระป่าส่วนใหญ่จะไม่กังวลกับเรื่องหยูกยาเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะรับประทานยาสมุนไพร จะไม่ค่อยไปหาหมอไปโรงพยาบาล นอกจากเป็นโรคที่รักษาได้ผลจริงๆ ถ้าเป็นไข้ป่าก็ใช้ธรรมโอสถ เราเป็นหวัดมาตั้งแต่วันศุกร์ เริ่มมีอาการแสบคอ คืนแรกไข้ยังไม่ค่อยแรงเท่าไหร่ พอคืนที่ ๒ นี้มันปวดระบมไปทั้งตัว ก็ปล่อยมันปวดไป เราก็ภาวนาของเราไป ใจไม่ได้ไปวุ่นวายกับมัน พอวันที่ ๓ ไข้ก็ลดลง แต่จะมีน้ำมูกเสมหะเพิ่มมากขึ้น แล้วก็ค่อยๆลดลงไป ตอนนี้เหลืออยู่นิดหน่อย มีแต่น้ำมูก ไม่มีไข้ ไม่เจ็บปวด เป็นอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว ไม่เคยฉันยา ตั้งแต่บวชนี้ไม่เคยฉันยาแก้ปวดเลย มันไม่รู้สึกปวด ร่างกายมันปวด แต่ใจไม่รู้สึกปวด ใจแยกออกจากร่างกายได้ ถ้าอดข้าวทีละ ๕ วัน ๗ วันได้นี้ความเจ็บปวดอย่างอื่นจะไม่ทรมานเท่าไหร่ จึงอย่าเสียดายร่างกายเลย ให้พิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ จะได้รู้ว่ารักษาอย่างไรก็ต้องตาย เสียเวลาไปเปล่าๆ สู้รักษาใจดีกว่า จะสบายไปตลอด ร่างกายจะเป็นอย่างไรจะไม่เดือดร้อน จะรวยจะจนก็ไม่เดือดร้อน ถ้าไม่รักษาใจแล้ว กิเลสจะหลอกให้อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากให้ร่ำให้รวยไปตลอด อยากให้สุขไปตลอด พอมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางการเงินการทอง ก็จะวุ่นวายใจ อย่าไปให้ความสำคัญกับร่างกายมากเกินไป เรามีร่างกายมาหลายร่างแล้ว เหมือนมีเสื้อผ้ามาหลายชุดแล้ว มาให้ความสำคัญกับใจดีกว่า

 

ด้วยการยินดีในธรรมให้มาก เพราะการยินดีในธรรมชนะการยินดีทั้งปวง ยินดีในธรรมได้กำไรได้ประโยชน์ ยินดีอย่างอื่นมีแต่ขาดทุน เพราะจะได้ความทุกข์มาด้วย ได้อะไรมาแล้วก็ต้องคอยดูแลรักษาคอยกังวล อย่างเวลาอยู่คนเดียวกับมีคู่ครองนี้มันต่างกันนะ อยู่คนเดียวไม่ต้องกังวลกับคู่ครอง พอมีคู่ครองแล้วก็ต้องกังวลกับเขา ต้องทะเลาะกัน สร้างความทุกข์ให้แก่กัน ตอนต้นก็คิดว่าจะมาให้ความสุขแก่กัน แต่พออยู่ด้วยกันแล้วกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ได้ทำตามสัญญา เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าจะมีแต่ความสุข แต่ไม่มองถึงสภาพความเป็นจริงว่า ใจของแต่ละคนจะมีความอยากความต้องการไม่ตรงกัน พอไม่ตรงกันก็จะมีปัญหา ถ้าตรงกันก็ไม่เป็นปัญหา เช่นคนหนึ่งอยากไปเที่ยว อีกคนหนึ่งก็อยากไปเที่ยวด้วย ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าคนหนึ่งอยากจะอยู่บ้าน อีกคนหนึ่งอยากจะไปเที่ยว ก็เป็นปัญหา คนอยู่บ้านก็ไม่ยอมให้คนอยากไปเที่ยวไปคนเดียว ถ้าอยู่คนเดียวจะสบาย อยากอะไรก็ได้ อยากอยู่บ้านก็อยู่บ้าน อยากจะไปข้างนอกก็ไปข้างนอก ไม่เป็นปัญหา แต่ใจอยู่คนเดียวไม่ได้ มันเหงา ไม่มีอะไรให้ใจทำ มันคัน หาคนนั้นมาเกา หาเครื่องบันเทิงมาเกา ให้เพลิดเพลินไป อยู่เฉยๆรู้สึกอึดอัดใจ ถ้าทำใจให้สงบแล้ว จะไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ จะชอบกับการอยู่เฉยๆ อยู่กับความว่าง อยู่กับความสงบ เป็นความสุขอย่างยิ่ง อยู่ตรงนี้ ให้ปล่อยข้างนอก แล้วเข้ามาข้างใน อย่าไปแสวงหาความสุขจากภายนอกเลย เป็นความสุขนิดเดียว เป็นความทุกข์มากกว่าหลายเท่า

 

เข้าหาความสุขภายในจะดีกว่า ทุกข์ตอนเริ่มต้น ตอนที่พยายามดึงใจเข้ามา เพราะมันยาก มันทวนกระแส อารมณ์ของใจอยากจะออกข้างนอก เวลาดึงเข้ามาก็เหมือนว่ายน้ำทวนกระแส จะรู้สึกยาก รู้สึกเหนื่อย พอมีกำลังมากพอที่จะว่ายทวนกระแสได้แล้ว ต่อไปก็เข้าข้างในได้ กระแสที่จะออกภายนอกก็จะเบาลง จนไม่มีเหลืออยู่เลย จนไม่อยากจะออกไปไหน ไม่ออกไปก็จะสบาย ไม่ต้องวุ่นวายกับใคร ไม่ต้องเหนื่อย มีข้าวกินวันละมื้อ มีน้ำเปล่าๆน้ำสะอาดดื่ม มีที่หลบแดดหลบฝน แค่นี้ก็พอแล้ว มีเสื้อผ้าใส่สัก ๒ –  ๓ ชุด มียารักษาโรคไปตามอัตภาพ หรือปล่อยให้ร่างกายรักษาเองก็ได้ ร่างกายมีภูมิรักษาโรคภัยไข้เจ็บเองได้ ถ้ารักษาไม่ได้ก็ต้องตายไปเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นเวลาอันสมควร แต่ใจไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ใจยังเป็นเหมือนเดิม จะมีร่างกายหรือไม่มีร่างกาย ใจก็ยังเป็นใจอยู่อย่างนั้น ถ้าใจสุขตลอดก็จะสุขไปตลอด ถ้าใจทุกข์ตลอดก็จะทุกข์ไปตลอด มีมากมีน้อยไม่เกี่ยวกัน จึงอย่าไปกังวลกับการมีมากมีน้อยเลย ให้มีเท่าที่จำเป็นก็พอแล้ว หันมารักษาใจให้สุขไปตลอดจะดีกว่า รักษาให้สงบไปตลอด ด้วยสติสมาธิปัญญา นี่คือเครื่องมือที่จะรักษาใจให้สงบระงับ จากความโลภความโกรธความหลงต่างๆ ถ้าไม่มีธรรมทั้ง ๓ นี้แล้ว จะไม่สามารถทำได้ อย่าไปฟังคนที่สอนว่าไม่ต้องทำสมาธิก็ได้ เจริญปัญญาเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันขาดปัจจัย เหมือนกับซักเสื้อผ้าโดยไม่ต้องใช้น้ำ ใส่ผงซักฟอกเข้าไปในกะละมัง ไม่ต้องใส่น้ำ ซักได้เลย มันเป็นไปไม่ได้ ต้องมีน้ำด้วย ต้องมีปัจจัยครบบริบูรณ์

 

มรรค ๘ ก็มีสัมมาสมาธิ ไตรสิกขาก็มีศีลสมาธิปัญญา ต้องมีให้ครบ จะมีสมาธิอย่างเดียวก็ไม่ได้เหมือนกัน ถ้าคิดว่ามีสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดเองก็ไม่ใช่อีก สมาธิก็เป็นสมาธิ สมาธิเป็นความสงบ ความสงบจะไม่กลายเป็นปัญญาความฉลาดขึ้นมาเองได้ ความฉลาดเกิดจากการพิจารณาวิเคราะห์ เหมือนที่เราวิเคราะห์สถานการณ์ของตลาด ของลูกค้า ของราคาต่างๆ จะได้วางแผนให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ คือได้ผลกำไร ต้องวิเคราะห์ ไม่อยู่เฉยๆ เคยทำอะไรก็ทำอย่างนั้น แล้วมันจะปรับตัวเองโดยอัตโนมัติ มันไม่ปรับหรอก เช่นค่าใช้จ่ายบริษัทมันมากกว่ารายได้ อยู่ๆจะให้มันกลับเป็นตรงกันข้ามไม่ได้ ต้องหาวิธีตัดรายจ่ายลง หาวิธีเพิ่มรายรับให้มากขึ้น ถึงจะได้กำไร ปัญญาก็เช่นเดียวกัน ต้องสอนใจให้ฉลาด ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างร่างกายนี้ ทั้งๆที่อยู่กับใจมาตลอด ใจยังไม่เห็นว่าจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายอย่างจริงจังเลย รู้แบบหลงๆลืมๆ พอลืมก็เหมือนกับไม่รู้ พอไม่คิดก็เหมือนกับไม่รู้ เพราะทำตัวเหมือนกับไม่รู้ ไม่รู้ว่าจะต้องตาย ถ้ารู้ว่าจะต้องตายจะไม่ทำตัวอย่างนี้ พอหมอบอกว่ามีเวลาอยู่เพียง ๖ เดือน ก็จะเปลี่ยนวิถีชีวิตเลย ทำดีกันเป็นบ้าไปเลย เข้าวัดกันเป็นบ้าไปเลย รู้ว่าต้องตายแน่ๆแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จริง รู้ว่าต้องตาย แต่รู้สึกว่ามันยังไกลอยู่ จึงไม่กระตือรือร้น ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ แล้วจะเกิดปัญญา จะเตรียมตัวเตรียมใจได้

 

จะพิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง ต้องมีใจที่สงบ ใจที่ไม่สงบนี้กิเลสยังทำงานอยู่ กิเลสจะลากไปคิดเรื่องอื่น คิดเรื่องงานเรื่องคนนั้นคนนี้ เรื่องหาความสุขกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะไม่ได้พิจารณาความตาย ก็จะลืมความตายไป ถ้ามีสมาธิแล้วจะไม่มีกิเลสมาคอยหลอกล่อ ให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าไม่คิดก็จะนิ่งอยู่เฉยๆ พอคิดก็จะคิดตามที่เราสั่งให้มันคิด ถ้าให้คิดเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ก็จะคิดเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย พอเห็นใครก็จะคิดว่าเกิดแก่เจ็บตายนะ คนนี้ก็เกิดแก่เจ็บตาย คนนั้นก็เกิดแก่เจ็บตาย คนนี้ก็เป็นดินน้ำลมไฟ จะพิจารณาไปเรื่อยๆ จนเห็นอยู่ในใจตลอดเวลา ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง เป็นผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯเป็นอาการ ๓๒ ไม่มีนาย ก. นาย ข. เราไปให้ชื่อเขาเอง เหมือนกับเอายี่ห้อมาติดที่เสื้อผ้า ว่าเป็นยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ ความจริงก็เป็นแค่เสื้อผ้าเท่านั้นเอง พวกเราก็เป็นตัวละคร เล่นตามบทที่บุญกรรมเป็นผู้กำกับ แต่ละคนก็มีบทไม่เหมือนกัน ก็เล่นไป แต่อย่าไปยึดอย่าไปติดกับบท ให้รู้ว่าเราเป็นเพียงตัวละคร เราเลือกบทที่จะเล่นได้ถ้าจะเลือก เล่นเป็นพระก็ได้ เป็นแม่ชีเป็นภิกษุณีก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่บ้านพ่อบ้านเสมอไป แต่เรามักจะปล่อยให้บุญกรรมเป็นผู้กำกับบท แต่คนฉลาดที่ได้ศึกษาธรรมแล้วจะเขียนบทของตนเอง พระพุทธเจ้าก็ได้บทเป็นพระราชโอรส แต่ทรงฉีกบทนั้นทิ้ง แล้วเขียนบทขึ้นมาใหม่ เป็นสมณโคดมไป ออกบวชบำเพ็ญเพียร ๖ ปี จนบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของโลก ทรงเขียนบทเอง ไม่ปล่อยให้บุญกรรมพาไป พวกเราก็ต้องตามรอยพระบรมศาสดา ตามรอยครูบาอาจารย์ อย่าปล่อยให้ไหลไปตามกระแสอารมณ์ อยากจะไปไหนก็ไป อยากจะเที่ยวก็เที่ยว ใครมาชวนให้ไปเที่ยวก็ไปด้วย ต้องรู้จักคำว่าไม่ไปบ้าง

 

ดูครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่าง ดูพระพุทธเจ้าดูพระสงฆ์สาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง ท่านยินดีกับอะไร ยินดีกับรูปเสียงกลิ่นรส ยินดีกับลาภยศสรรเสริญ หรือยินดีกับธรรม ยินดีกับความสงบ ยินดีกับความมักน้อยสันโดษ ยินดีกับสถานที่สงบสงัด ที่ปลีกวิเวก ยินดีกับศีล ยินดีกับสมาธิยินดีกับปัญญา ยินดีกับวิมุตติหลุดพ้น นี่แหละคือสิ่งที่เราควรจะยินดีกัน อย่าไปยินดีกับกระเป๋าสวยๆ เสื้อผ้าสวยๆ รองเท้าสวยๆ มันไม่ได้เป็นสรณะเป็นที่พึ่งของใจ ให้ยินดีกับสิ่งที่จะมาช่วยใจ ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ต้องยินดีตามพระพุทธเจ้า ยินดีตามครูบาอาจารย์ทั้งหลาย

 

ถาม  ผมมีข้อสงสัยถามเรื่องกระเทือนธาตุขันธ์ อย่างครูบาอาจารย์ที่เราคิดว่าท่านก็พ้นแล้ว แต่ยังมีน้ำตาให้เราเห็นนี้ เพราะเหตุไรจึงกระเทือนธาตุขันธ์ ให้มีน้ำตาได้

 

ตอบ เคยได้ยินว่าธรรมสังเวชก็ทำให้น้ำตาหลั่งได้ ไม่ได้หลั่งเพราะความทุกข์ เพราะกิเลส แต่เป็นธรรมสังเวช ความซาบซึ้งกับความจริงที่ไม่รู้มาก่อน พอได้สัมผัสกับความจริง ได้สัมผัสกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ ก็ทำให้เกิดธรรมสังเวชขึ้นมา แต่ใจไม่ได้หลั่งน้ำตาเพราะกิเลส เพราะความทุกข์ ความโทมนัส ความเศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ เหมือนที่ปุถุชนร้องห่มร้องไห้กัน เวลาสูญเสียสิ่งที่รักไป ท่านไม่มีอะไรที่จะสูญเสีย ท่านไม่มีอะไรที่ท่านรักแล้ว ธรรมสังเวชมีน้ำหนักมากกับจิตใจ จะคุมน้ำตาไว้ก็ได้ หรือจะปล่อยให้หลั่งออกมาก็ได้ ไม่เป็นปัญหาอย่างไร อย่างเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน มีพระบางรูปหลั่งน้ำตา แต่ไม่ได้หลั่งด้วยความเสียอกเสียใจอาลัยอาวรณ์ หลั่งเพราะเห็นสัจธรรมความจริงที่กำลังปรากฏ เป็นธรรมสังเวช