กัณฑ์ที่ ๔๐๘       ๓๑ มกราคม ๒๕๕๓

 

ความจำ ความจริง

 

 

 

ส่วนใหญ่หนังสือพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษ จะเกี่ยวกับปริยัติมากกว่าการปฏิบัติ จะเกี่ยวกับชื่อของกิเลส ชื่อของธรรม ไม่เกี่ยวกับอาการของกิเลสของธรรม ว่าเป็นอย่างไร หลวงตาท่านถึงบอกว่าความรู้ที่ได้จากการอ่านเป็นความจำ ไม่ได้เป็นความจริง เราอ่านแล้วเราก็จำสิ่งที่เราอ่าน แล้วก็คาดคะเนไป เพราะยังไม่ได้เห็นของจริง ก็ต้องวาดภาพไปภายในใจก่อน ใจของเราเป็นเหมือนแว่นตาที่ไม่ใสสะอาด หรือแว่นตาที่ไม่ได้ขนาดกับสายตา พอมองไปก็จะมองไปตามแว่นตา แว่นตาบอกเป็นสีแดง เราก็ว่าเป็นสีแดง แต่ความจริงเป็นสีม่วง แต่เนื่องจากแว่นตามีสีเคลือบไว้ ก็เลยทำให้เราเห็นเพี้ยนจากความจริงไป เห็นไปตามแว่นตา ใจก็เห็นไปตามการคาดเดาของเรา ความรู้ที่ได้จากการศึกษาอย่างเดียวจึงยังไม่พอ ต้องปฏิบัติ เทียบกับความจริงที่ใจเป็นผู้สัมผัสรับรู้ ถ้าเอามาเทียบมาสัมผัสแล้วก็จะรู้ทันทีว่าเป็นอย่างไร แต่การที่ใจจะสัมผัสรับรู้ได้ ใจต้องสะอาดก่อน ถึงแม้จะไม่สะอาดถาวร ก็ต้องสะอาดชั่วคราว พอให้เห็นความจริงได้สักแวบหนึ่ง เหมือนกับแว่นตาที่เช็ดแล้ว ก็จะสะอาดอยู่ระยะหนึ่ง พอให้เห็นภาพจริงได้ ถ้าจะให้เห็นตามความเป็นจริง จิตต้องมีสมาธิก่อน ต้องรวมลง ต้องหลุดจากความครอบงำของกิเลส ความคิดของเราอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชาของกิเลส อวิชชาปัจจยาสังขารา ก็เลยคิดไปในทางอวิชชาคือความหลง เหมือนแว่นตาที่ไม่สะอาด จึงต้องเช็ดแว่นตาให้สะอาดก่อน แล้วจะเห็นตามความเป็นจริง สีเขียวก็เป็นสีเขียว สีแดงก็เป็นสีแดง จะไม่เป็นสีอื่น

 

นี่ก็พูดถึงการปฏิบัติ พูดถึงความจริงกับความจำ พอมีสมาธิแล้ว เวลาฟังธรรมจะเป็นความจริง จะบรรลุธรรมได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดแสดงพระปฐมเทศนาให้แก่พระปัญจวัคคีย์ ที่มีสมาธิกันแล้ว ได้ฌานกันแล้ว มีศีลอยู่แล้ว ทานก็สละให้หมดแล้ว ถ้าเป็นนักเรียนก็อยู่ในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกแล้ว พอฟังธรรมก็บรรลุได้เลย แต่สำหรับบุคคลที่ยังไม่มีสมาธิ ศีลยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่ได้ทำทานเท่าที่ควร ฟังแล้วจะไม่บรรลุกัน เพราะยังไม่มีศีลและทานที่จะสนับสนุนให้จิตใจสงบลงได้อย่างเต็มที่ ลงถึงฐานเลย ถ้ามีสมาธิแล้วพอฟังธรรมไป ก็พิจารณาตามความจริง ตามเหตุตามผลที่แสดงไว้ ก็จะเป็นการปฏิบัติในขณะที่ฟังธรรม เป็นการศึกษาไปด้วย ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค พระปัญจวัคคีย์ก็พิจารณาตาม ก็ปรากฏมีหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา เห็นว่าความทุกข์เกิดจากความไปยึดไปติดกับสิ่งที่ไม่เที่ยง ไปอยากกับสิ่งที่ไม่เที่ยง ทุกข์ก็คือความแก่ความเจ็บความตาย เหตุที่ทำให้ทุกข์ก็คือตัณหา อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย เพราะยังอยากเสพสัมผัสกามรสอยู่ อยากดู อยากฟัง อยากดมกลิ่น อยากลิ้มรส อยากสัมผัสสิ่งต่างๆทางร่างกายอยู่ ก็จะยึดติดกับร่างกาย ก็จะเกิดภวตัณหาวิภวตัณหาขึ้นมา อยากจะให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ ไม่อยากให้ร่างกายแก่เจ็บตาย พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ ทรงแสดงทุกข์ แสดงสมุทัย แสดงมรรคคือสติปัญญา ศีลสมาธิปัญญา พอฟังแล้วก็เกิดความเข้าใจขึ้นมา ก็ละสมุทัยได้ ก็เกิดนิโรธขึ้นมาในขณะนั้น

 

การมีดวงตาเห็นธรรมก็คือการเห็นพระอริยสัจ ๔ นี่เอง เห็นครบถ้วนทั้ง ๔ ประการ และทำกิจทั้ง ๔ ประการได้ในขณะนั้น คือทุกข์ได้กำหนดรู้ ได้ศึกษาว่าทุกข์คืออะไร ทุกข์ก็คือความแก่ความเจ็บความตาย เหตุของความทุกข์หรือสมุทัย ก็คือตัณหาความอยากทั้ง ๓ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มรรคก็คือสติปัญญา พิจารณาว่าทุกข์คืออะไร ทุกข์ก็คือเกิดแก่เจ็บตาย อะไรทำให้ทุกข์ก็คือสมุทัย พอรู้ก็ตัดสมุทัย ยอมรับความจริง ยอมแก่ยอมเจ็บยอมตาย ความทุกข์ก็จะหายไป ความกลัวตายก็จะหายไป ความกลัวความเจ็บ กลัวความตายก็หายไป เป็นนิโรธความดับทุกข์ขึ้นมา จิตก็เบาโล่งสบาย เหมือนกับขึ้นสวรรค์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นความสุขอย่างมาก มากกว่าสุขที่ได้จากสมาธิ เป็นความสุขที่ไม่ถาวร แต่ปัญญาเป็นความสุขที่ถาวร สุขนี้จะไม่มีทางเสื่อมไป แต่สุขของสมาธิยังเสื่อมได้ ถ้าไม่ปฏิบัติสมาธิอย่างต่อเนื่อง ทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก็จะหายไปหมด เหมือนกับเอาน้ำที่แช่เย็นออกจากตู้เย็น ไม่เอากลับไปแช่ในตู้เย็น ไม่นานน้ำก็จะหายเย็น ถ้าเอาน้ำเย็นออกมาเทใส่แก้วดื่ม แล้วเราเอากลับเข้าตู้เย็น น้ำก็ยังจะเย็นอยู่เรื่อยๆ เวลาจะดื่มก็จะมีน้ำเย็นให้ดื่ม ถ้าเข้าสมาธิอยู่เป็นประจำ ก็จะมีความสุขอยู่เรื่อยๆ ในวันหนึ่งต้องเข้าหลายๆครั้ง พอออกจากสมาธิก็ต้องเดินจงกรมต่อ พอเหนื่อยพอเมื่อยแล้วก็กลับไปนั่งสมาธิใหม่ ถ้าทำอย่างนี้ก็จะสามารถรักษาฐานของสมาธิ รักษาฐานของความสงบไว้ได้ ถ้าไม่รักษาก็จะหายไปหมด หลวงตาท่านเคยเล่าว่าจิตเสื่อมสมาธิเสื่อม เพราะท่านไปทำกลดอยู่อันหนึ่ง ก็เลยไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้เดินจงกรม จิตอยู่กับการทำกลด พอไม่ได้นั่งสมาธิอย่างต่อเนื่องก็เลยเสื่อมไปหมด พอเสื่อมแล้วก็วุ่นวายใจอย่างมาก เป็นเหมือนเศรษฐีตกยาก ท่านว่ามันทรมานยิ่งกว่าคนที่ยากจน  ที่ไม่เคยเป็นเศรษฐี เคยอยู่อย่างไรก็อยู่ได้ แต่คนที่เป็นเศรษฐีแล้วต้องอยู่อย่างคนจนนี้มันแสนจะทรมานใจ เพราะมีตัณหาความอยากจะร่ำรวยเหมือนเดิม แต่คนจนนี้ไม่มี ก็อยู่ตามประสาของเขาไป จึงไม่มีความทุกข์ทรมานใจ

 

นี่ก็พูดถึงเรื่องความจริงกับความจำ ความรู้ที่เราได้ศึกษาจากพระไตรปิฎก หรือได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ จะเป็นความจริงได้ก็ต่อเมื่อเรามีสมาธิก่อน ที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา ก็หมายถึงปัญญาที่เกิดจากจิตที่สงบแล้ว การภาวนาก็เพื่อให้จิตสงบ สมถภาวนา สมถะกับวิปัสสนาจึงเป็นเหมือนเท้าซ้ายกับเท้าขวา จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้ เปรียบเหมือนคนที่มี ๒ เท้า กับมีเท้าเดียว คนที่มี ๒ เท้าจะเดินได้อย่างปกติ แต่คนที่มีเท้าเดียวจะเดินได้อย่างไร สมาธิถึงแม้จะไม่ได้วิเศษเหมือนปัญญา ถ้าปัญญาไม่มีสมาธิก็ไม่มีประโยชน์อะไร ตอนนี้พวกเราก็มีปัญญากัน แต่ไม่ใช่ภาวนามยปัญญา เป็นสุตมยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง กับจินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากความคิดพิจารณา ไม่มีกำลังพอที่จะหยุดกิเลสได้ เพราะไม่มีเบรก ไม่มีสมาธิ สมาธินี้เป็นตัวเบรก เบรกทุกอย่างภายในจิตให้หยุดหมด เบรกเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณให้หยุดทำงานชั่วคราว กิเลสอาศัยเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นเครื่องมือ ออกมาจากอวิชชา อวิชชาเป็นหัวหน้าของกิเลส เป็นผู้สั่งการให้กิเลสทำกรรมต่างๆผ่านทางสังขาร อวิชชาปัจจยาสังขารา ไปสู่วิญญาณ ไปสู่อายตนะ ไปสู่เวทนา ไปสู่ตัณหา ไปสู่อุปาทาน ไปสู่ภพ ไปสู่การเกิดแก่เจ็บตาย

 

ขันธ์ ๕ ของพวกเราเป็นเครื่องมือของกิเลส ไม่ว่าเราจะทำอะไรด้วยขันธ์ ๕ ก็จะไปทางกิเลสหมด เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม เราก็พิจารณาไปตามอำนาจของกิเลส เข้าข้างตัวเอง นั่งเจ็บหน่อยก็หาว่าทรมานตนแล้ว อดอาหารถือศีล ๘ ก็ถือว่าทรมานมากเกินไปแล้ว พระพุทธเจ้าทรงอดถึง ๔๙ วัน อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าเกินไป พระพุทธเจ้าก็ทรงรู้ว่าเกินไป ถึงได้ย้อนกลับมาเสวยพระกระยาหาร พวกเราอดอาหารเพียงมื้อเดียว ๒ มื้อก็ว่าทรมานตนเกินไปแล้ว อย่างนี้แสดงว่าเป็นความคิดของกิเลส คนถึงไม่เข้าใจกัน ว่าทำไมต้องปฏิบัติอย่างยากลำบาก ทำไมไม่ปฏิบัติแบบง่ายๆ พอมีใครมาสอนเรื่องวิธีปฏิบัติแบบง่ายๆ ก็ตามกันเป็นฝูงเลย ชอบ ง่ายๆ แล้วได้อะไรหรือเปล่า ได้แต่ความคาดคะเน ความด้นเดา ได้แต่ความจำ ไม่ได้เป็นความจริง ความจริงต้องเลือดตาแทบกระเด็น อย่างที่หลวงปู่ขาวท่านบอกว่า นิพพานอยู่ฟากตาย ต้องยอมตายถึงจะชนะกิเลสได้ กิเลสมันกลัวความตายอย่างเดียว พอเอาความตายเป็นเดิมพัน มันถอยเลย ถ้าไม่เอาความตายเป็นเดิมพัน มันสู้เราเต็มที่เลย นี่ก็พูดถึงเรื่องธรรมะที่เกิดจากการปฏิบัติ กับธรรมะที่เกิดจากการศึกษา มันไม่เหมือนกัน ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมะของผู้รู้จริงเห็นจริงแล้วปฏิบัติด้วย ก็ได้ครบทั้ง ๒ ส่วน คำสอนก็เป็นความจริง ออกมาจากใจที่รู้จริงเห็นจริง ผู้ปฏิบัติก็เป็นใจที่จริง เป็นใจที่สงบ ที่พร้อมที่จะรับความจริง พอความจริงว่าอย่างไรก็รับได้เต็มที่ จะเห็นอย่างที่คนสอนเห็น พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่า อัญญาโกณฑัญญะ เธอรู้แล้วหนอ เธอรู้แล้วหนอ รู้ตามที่เรารู้ เรารู้อย่างนี้เราพูดอย่างนี้ เธอก็รู้อย่างที่เรารู้ ท่านก็เลยได้ชื่อว่ารู้แล้วหนอ แปลมาจากคำว่าอัญญาโกณฑัญญะ ดังนั้นการศึกษาหรือการได้ยินได้ฟังจึงเป็นได้ ๒ วิธี เป็นเชิงปฏิบัติก็ได้ เป็นเชิงปริยัติก็ได้

 

ถ้าจิตสงบแล้วเวลาอ่านหนังสือหรือฟังธรรม จะเป็นปฏิบัติไปในตัว จะคิดพิจารณาไป แล้วก็จะเห็นจริงกับสิ่งที่ผู้สอน ถ้ายังอยู่ในเชิงทำการบ้านอยู่ ก็จะเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไปพิสูจน์ การปฏิบัติบางครั้งก็ยังอยู่ในขั้นทำการบ้านอยู่ ยังไม่ได้เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยังปฏิบัติในที่ปลอดภัย อย่างนี้เป็นการทำการบ้าน ยังไม่ได้ขึ้นเวที ยังไม่ได้เข้าสนามสอบ ถ้าจะเข้าสนามสอบก็ต้องไปอยู่ในที่ๆต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตอนนั้นจะเป็นจริงขึ้นมา ผู้ปฏิบัติจะรู้เองว่าตอนนี้อยู่ในเชิงทฤษฎีหรือในเชิงปฏิบัติ รู้ว่ากำลังทำการบ้านหรือกำลังเข้าห้องสอบ ถ้าปฏิบัติไปแบบสบายๆไม่ต้องเอาอะไรเป็นเดิมพัน ไม่เอาชีวิตไม่เอาความเจ็บปวดรวดร้าวมาเป็นเดิมพัน อย่างนี้ก็ยังเป็นการทำการบ้านอยู่ ถ้าจะเอาของจริงก็ต้องทำอย่างจริงจัง อย่างทานก็ต้องสละหมดถึงจะเรียกว่าให้จริง พระพุทธเจ้าก็ทรงสละหมด ไม่มีอะไรติดตัวไปแม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากเสื้อผ้าที่สวมใส่ไปเท่านั้นเอง ครูบาอาจารย์พระทุกรูปที่บวชก็ไม่มีใครเอาอะไรติดตัวไป นั่นแหละเรียกว่าเข้าห้องสอบเข้าสนามสอบ คนที่บอกว่าปฏิบัติเก่งแต่ยังเป็นฆราวาสอยู่นี้ ยังไม่ได้เข้าห้องสอบหรอก ยังทำการบ้านอยู่ คนที่ไม่ต้องบวชที่ปฏิบัติจนได้บรรลุ ก็มีบ้างแต่เป็นกรณีพิเศษ ตัดได้ภายในใจ แต่ยังมีความจำเป็นไม่สามารถออกบวชได้ แต่ใจไม่ได้ยึดไม่ได้ติดกับสมบัติข้าวของเงินทอง หรือบุคคลต่างๆเลยแม้แต่นิดเดียว สมบัติข้าวของเงินทองจะสูญหายไปอย่างไร จะไม่ทำความเดือดร้อนให้กับเขา คนที่เขาเกี่ยวข้องด้วย เช่นสามีภรรยาลูกพ่อแม่ ตายไปหรือเป็นอะไรไป จะไม่กระทบกระเทือนใจเขาเลย ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าตัดได้ ถ้ายังกังวลกับเรื่องสมบัติอยู่ กังวลกับเรื่องคนนั้นคนนี้อยู่ แล้วคิดว่าเราตัดได้แล้ว จะเป็นการหลอกตัวเอง

 

การปฏิบัติจึงมีอยู่ ๒ ลักษณะ แบบทำการบ้านและแบบเข้าห้องสอบ ส่วนการเรียนก็มีอยู่ ๒ ลักษณะ เรียนแล้วได้ความจำกับเรียนแล้วได้ความจริง ถ้าเรียนแล้วได้ความจริง จิตต้องมีความสงบ พอจิตสงบแล้วแว่นตาก็จะใส เวลาเรียนความจริงก็จะเห็นความจริง จะไม่เห็นไปตามจินตนาการ ถ้าใจไม่สงบเรียนแล้วหรือฟังแล้ว จะจินตนาการไปตามความรู้สึกนึกคิดของกิเลส ที่ยังครอบงำสังขารความคิดปรุงแต่งอยู่ วันนี้จึงได้อธิบายเรื่องปริยัติปฏิบัติปฏิเวธให้รู้ว่าเป็นอย่างไร บางคนคิดว่าอ่านแล้วได้ยินได้ฟังเข้าใจแล้วก็คิดว่าบรรลุแล้วก็มี บางคนบรรลุจริงๆก็มี ถ้าจิตสงบมีฐานของสมาธิอยู่แล้ว ก็จะบรรลุจริง ถ้าบรรลุจริงแล้ว จะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างแน่นอน ถ้าบรรลุแล้วยังทำเหมือนเดิมอยู่ ยังดูหนังฟังเพลงยังชอบกินโน้นกินนี่อยู่ ยังชอบดื่มอยู่ อย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าบรรลุตรงไหน ถ้าบรรลุจริงจะออกบวชกัน พวกที่ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า พอบรรลุปั๊บก็ขอบวชกัน ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวชในลัทธิอื่น ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมในเพศฆราวาสเพราะเป็นกองทุกข์แท้ๆ พอได้ออกจากกองทุกข์ออกจากกองไฟแล้ว จะกลับเข้าไปอยู่ในกองไฟทำไม ต้องออกมากันทั้งนั้น พวกฆราวาสที่คิดว่าบรรลุแล้ว ไม่รู้ว่าบรรลุจริงหรือเปล่า มีประเด็นที่ทำให้สงสัยได้ มีฆราวาสบางท่านที่คิดว่าบรรลุแล้ว สามารถสั่งสอนผู้อื่นได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถที่จะสอนได้อย่างกว้างขวาง ก็เลยคิดว่าต้องบวชเป็นพระ แต่ไม่ได้บวชเพื่อศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัย บวชเพื่อเอาผ้าเหลืองเป็นเครื่องมือ ให้คนเกิดศรัทธาจะได้เชื่อฟังเขา เพราะคิดว่าบรรลุแล้วก็อยากจะเป็นครูเป็นอาจารย์ พอบวชปั๊บก็ตั้งสำนักเป็นเจ้าสำนักเลย แล้วก็สั่งสอนผู้อื่นทันทีเลย ไม่ต้องศึกษาอยู่กับครูบาอาจารย์ ๕ พรรษาตามพระธรรมวินัย จึงไม่รู้จักกฎกติกาการปฏิบัติของพระปฏิบัติ ถือว่าไม่สำคัญ บิณฑบาตก็ไม่สำคัญ ธุดงควัตรก็ไม่สำคัญ เพราะบรรลุแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติแล้ว บวชเพื่อสั่งสอนผู้อื่นเท่านั้น ถ้าบรรลุจริงไม่ต้องบวชก็ได้ ถ้าสอนความจริงให้ผู้อื่นเอาไปปฏิบัติแล้วได้ผล ก็จะเกิดศรัทธาอยู่ดี ไม่จำเป็นต้องบวชก็ได้ ถ้าบรรลุจริงก็ไม่มีความอยากไปสอนใคร พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็ไม่อยากจะสอนใคร แต่คนที่อยากจะสอนนี่เป็นอะไรกันแน่ ความอยากจะสอนก็เป็นตัณหาแล้ว ภวตัณหาอยากเป็นอาจารย์ อยากจะมีลูกศิษย์ลูกหามีบริวาร กิเลสมันแหลมคมขนาดไหน ใครที่คิดตั้งตนเป็นอาจารย์ก็ควรคิดให้ดี ก็มีอยู่มากพวกฆราวาสญาติโยมที่เป็นครูเป็นอาจารย์ หรือผู้ที่บวชปั๊บก็เป็นอาจารย์เลย แล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นปัญหาตามมา

 

การปฏิบัติต้องรู้จริงเห็นจริงแล้วก็ทำกันจริงๆด้วย ทานก็สละอย่างจริงๆ ศีลก็ต้องบริสุทธิ์อย่างจริงๆ สมาธิก็ต้องสงบอย่างจริงๆ ปัญญาก็ต้องตัดกิเลสได้อย่างจริงๆ ถ้าเป็นเพียงแต่ชื่อจะทำไม่ได้ ทานก็ยังหวงสมบัติ ยังโลภสมบัติ ยังอยากได้อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ยังไม่ใช่ผู้ที่สละเรื่องลาภเรื่องเงินเรื่องทองเรื่องสมบัติต่างๆ ต้องดูใจเป็นหลัก ใจนี่แหละเป็นสนามรบของธรรมของกิเลส ใจเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์ ถ้าธรรมมีกำลังมากกว่ากิเลส ความสงบความสุขก็จะเกิดขึ้น ถ้ากิเลสมีอำนาจมากกว่าธรรม ความรุ่มร้อนฟุ้งซ่านกระวนกระวายใจก็จะเกิดขึ้น ในช่วงปฏิบัตินี้จะผลัดกันรับผลัดกันรุก ถ้าธรรมมีกำลังมากกว่าความสงบก็จะเกิดขึ้น ถ้ากิเลสมีกำลังมากกว่าความรุ่มร้อนใจก็จะเกิดขึ้น จึงไม่ต้องมองที่ไหน ให้มองที่ใจ ถึงแม้ว่าส่วนอื่นจะเป็นชนวน ที่จะทำให้เกิดความรุ่มร้อนใจขึ้นมา เวลาแก้ปัญหาต้องแก้ที่ใจ อย่าไปแก้ภายนอก เช่นคนอื่นพูดไม่ดี ทำให้เราโกรธ อย่าไปแก้ที่เขา อย่าไปขอร้องให้เขาพูดดีหรือทำดี ต้องปล่อยวางเขา การปล่อยวางเขาก็คือการแก้ที่ใจ ถ้าใจเราไม่ยอมปล่อย ก็อยากจะให้เขาพูดดีทำดีกับเรา พอมีความอยากก็ต้องไปขอร้องเขาให้เขาทำดีพูดดีกับเรา ถ้าเขาทำเราก็ดีใจชั่วขณะหนึ่ง พอเขาไม่ดีอีกเราก็จะเสียใจอีก ถ้าแก้ที่ใจยอมรับดีก็ได้ชั่วก็ได้ เป็นเรื่องของเขา เราไปบังคับควบคุมเขาไม่ได้ แต่เราควบคุมใจของเราให้ปล่อยวาง ให้ยอมรับความจริงได้ ว่าเป็นเรื่องธรรมดา อนิจจังทุกขังอนัตตาเปลี่ยนแปลงได้ ดีได้เดี๋ยวก็ชั่วได้ สุขได้เดี๋ยวก็ทุกข์ได้ ยอมรับทั้ง ๒ ส่วน พอยอมรับทั้ง ๒ ส่วน จะเกิดขึ้นอย่างไรก็รับได้หมด สมหวังก็ได้ผิดหวังก็ได้ ถ้าไม่อยากได้อะไรเลย ก็จะไม่ดีใจหรือเสียใจ ถ้าอยากเวลาได้ก็จะดีใจ เวลาไม่ได้ก็จะเสียใจ จึงต้องมาแก้ที่ใจ คือแก้ความอยาก อย่าไปอยาก ให้ยินดีตามมีตามเกิด มาอย่างไรก็ได้ เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ให้แก้ภายในใจ ทำใจให้อิ่มให้พอ พอด้วยความสงบ ด้วยสมาธิ พอจิตสงบแล้วจะไม่หิวไม่อยาก พอไม่สงบกิเลสอวิชชาก็จะปรุงแต่งขึ้นมา ให้เห็นว่าไอ้นั่นก็ดี ไอ้นี่ก็ดี ไอ้นี่ก็สวย พอเห็นว่าดีว่าสวยก็อยากจะได้ขึ้นมาทันที ไม่เคยคิดเลยว่า ได้มาแล้วทำให้ความทุกข์หายไปตลอดหรือเปล่า ทำให้ความสุขอยู่ไปตลอดหรือเปล่า มันก็เหมือนเดิม ได้มาแล้วก็เป็นเหมือนเดิม เคยทุกข์อย่างไรก็ยังทุกข์อย่างนั้นอยู่ เคยอยากได้อะไรก็ยังอยากได้อยู่

 

ถ้าอยากจะได้อะไร ให้อยากในสิ่งที่ทำให้เราอิ่มเราพอไปตลอด ให้ความทุกข์หายไปตลอด ควรจะอยากได้สิ่งนี้ ก็มีธรรมะเท่านั้นที่จะให้ความสุขไปตลอด ให้ความทุกข์หายไปตลอด พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ความยินดีในธรรมชนะการยินดีทั้งปวง ให้ยินดีกับธรรมะ ยินดีกับการทำใจให้สงบ ด้วยทานศีลภาวนา อย่าเอาแต่ภาวนา แต่ทานไม่ยอมทำ ยังเสียดายสมบัติข้าวของเงินทองอยู่ เพราะจะภาวนาไม่ได้ผล ต้องผ่านขั้นทานผ่านขั้นศีลก่อน ถึงจะสงบอย่างเต็มที่ ถ้ายังหวงยังห่วงสมบัติอยู่ภาวนาอย่างไรก็ไม่มีทางสงบลงได้ ถ้ายังทำบาปทำกรรมอยู่ ยังกระวนกระวายกระสับกระส่าย ก็จะไม่มีทางสงบลงได้ ถ้าทานสละเต็มที่เลยอย่างพระพุทธเจ้า ทรงรู้ว่าอยู่ในวังไม่มีทางที่จะสงบได้อย่างเต็มที่ ก็ต้องออกจากวัง ไปรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำผิดศีล ตั้งใจควบคุมจิตใจด้วยสติ ไม่ให้คิดปรุงแต่งเรื่องราวต่างๆ ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่นอยู่กับการบริกรรมพุทโธ อยู่กับการพิจารณาธรรม เช่นอาการ ๓๒ ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯลฯ เป็นกรรมฐานที่สามารถทำให้จิตเข้าสู่ความสงบได้ กรรมฐานก็มีอยู่ ๔๐ ชนิดด้วยกัน ที่เราสามารถใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ให้คิดปรุงแต่ง แล้วก็ดึงใจให้เข้าสู่ความสงบได้

 

ในบรรดากรรมฐานทั้ง ๔๐ นี้ มีกรรมฐานบางส่วนที่เป็นทั้งสมถะและเป็นวิปัสสนา เป็นสมาธิและเป็นปัญญาด้วย บางอย่างก็เป็นเพียงสมาธิอย่างเดียว เช่นการบริกรรมพุทโธ จะได้เพียงอย่างเดียวคือสมาธิความสงบ จะไม่เห็นไตรลักษณ์ จะไม่เกิดปัญญา ถ้าพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย จะเห็นอสุภะความไม่สวยไม่งาม เป็นปัญญาที่จะตัดราคะตัณหาได้ ถ้าใช้กรรมฐานชนิดนี้ ก็จะเหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นก ๒ ตัว ถ้าถนัดการเจริญมรณานุสติ หรือพิจารณาอสุภะ จะได้ทั้ง ๒ อย่างเลย ได้สมถะแล้วก็ได้วิปัสสนาด้วย ถ้าพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ พิจารณาอสุภะความไม่สวยไม่งามความเป็นปฏิกูลของร่างกายอย่างต่อเนื่อง จิตจะสงบและดับราคะตัณหาด้วย เวลาราคะเกิดขึ้นอสุภกรรมฐานก็จะเข้ามาระงับทันที พอเห็นว่าสวยว่าหล่อปั๊บ ก็จะดูทะลุเข้าไปใต้ผิวหนังเลย ก็จะดับได้ทันที ถ้าเห็นอสุภะอยู่ตลอดเวลา จะมีราคะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเห็นแต่ปฏิกูลความสกปรก เห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าขยะแขยงอยู่ตลอดเวลา จะเกิดความใคร่ขึ้นมาได้อย่างไร มันเกิดไม่ได้ เหมือนกับยา ถ้ามียาคุมเชื้อโรคไว้ได้ โรคก็จะไม่กำเริบ เช่นโรคเอดส์เป็นต้น เมื่อก่อนไม่มียาคุม ต้องตายภายใน ๗ วัน ๗ เดือน แต่เดี๋ยวนี้อยู่ไปได้ตลอด ถ้ามียาคุม แต่รักษาไม่หาย ปัญญาก็เป็นอย่างนี้ ปัญญาจะคุมหรือตัดกิเลสให้หมดไป พอกิเลสหมดไปแล้วก็ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป ถ้ากิเลสเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาทันที

 

ปัญญาเมื่ออยู่ในจิตแล้วจะไม่หายไปจากจิต เป็นความจริงแล้ว เมื่อก่อนเป็นความหลง เห็นว่าสวยว่างาม เพราะเห็นเพียงครึ่งเดียว เห็นภายนอก แต่เดี๋ยวนี้เห็นทะลุปรุโปร่งไปหมด ทั้งข้างในทั้งข้างนอก ทั้งส่วนที่สวยและส่วนที่ไม่สวย ส่วนที่สะอาดและไม่สะอาด เห็นทุกเวลา ถ้าต้องการเรียกขึ้นมาดูเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าไม่มีความจำเป็นก็จะไม่คิดถึงปฏิกูลไม่คิดถึงอสุภะ ดูแต่ไม่มีอารมณ์ ถ้าดูด้วยกิเลสก็จะว่าสวยว่างาม ก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา ถ้ามีปัญญามีปฏิกูลมีอสุภะก็จะดับได้ ถ้าไม่เคยพิจารณามาก่อน ก็จะไม่มีเครื่องมือ ไม่มียาที่จะกำจัดเชื้อโรค กำจัดราคะตัณหาความใคร่ พอไม่มีก็จะปรุงแต่งใหญ่ จิตจะคิดแต่ภาพสวยๆงามๆ จนต้องไปแต่งงาน ไปแบกกองทุกข์ขึ้นมาอีกสองสามกอง ได้สามีได้ภรรยาแล้วก็ได้ลูกได้หลานแถมตามมาอีก ถ้ามีอายุยืนยาวนานก็จะมีเหลนแถมมาเป็นพวงเลย เกิดจากการไม่เห็นอสุภะไม่เห็นปฏิกูลนั่นเอง ถ้าเจริญแต่สมถะอย่างเดียวก็ยังอยากยังใคร่ได้ ถ้ามีสมาธิอย่างเดียว ก็ยังอยากมีครอบครัว ยังอยากมีสามีอยากมีภรรยา

 

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระภิกษุตั้งแต่วันแรกบวช ให้พิจารณากรรมฐาน ๕ คนที่มาบวชจะต้องท่อง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ทั้งอนุโลมและปฏิโลม ผมขนเล็บฟันหนัง หนังฟันเล็บขนผม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญอยู่ตลอดเวลา ตอนต้นให้พิจารณา ๕ อาการนี้ไปก่อน เพราะเวลาบวชนี้ไม่มีเวลาสอนทั้ง ๓๒ อาการ สอนเป็นตัวอย่าง แต่ความหมายก็คือให้พิจารณาทั้ง ๓๒ อาการ จากผมขนเล็บฟันหนัง ก็พิจารณาเข้าไปเนื้อเอ็นกระดูกเยื่อในกระดูก ม้ามหัวใจตับพังผืดไตปอด ไส้น้อยไส้ใหญ่ อาหารใหม่อาหารเก่า เยื่อในสมองศีรษะ น้ำดีน้ำเสลดน้ำเหลืองน้ำเลือดน้ำเหงื่อ น้ำมันข้นน้ำตาน้ำมันเหลวน้ำลาย น้ำมูกน้ำไขข้อน้ำมูตร แล้วก็ให้ย้อนกลับมา พิจารณาเข้าไปก็เป็นอนุโลม พิจารณาออกมาก็เป็นปฏิโลม ให้พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนเป็นภาพขึ้นมาในจิตในใจ ถ้าไม่เห็นภาพก็ไปดูของจริง สมัยก่อนไปดูที่ป่าช้า สมัยนี้ไปดูตามสถานที่สอนนักศึกษาแพทย์ ไปดูเขาผ่าศพ  ส่วนใหญ่จะสอนเรื่องอสุภะให้กับนักบวช เพราะนักบวชออกจากเพศครองเรือนแล้ว แต่พวกญาติโยมจะไม่ค่อยสอนเรื่องอสุภะนี้ นอกจากญาติโยมที่เป็นนักปฏิบัตินักภาวนา ก็ถือว่าเป็นเหมือนนักบวช เวลาหลวงตาสอนฆราวาสกับสอนพระจะสอนต่างกัน ฆราวาสจะไม่ค่อยสอนเรื่องอสุภะ เรื่องความตายก็ไม่ค่อยสอนเท่าไหร่ เพราะจิตของฆราวาสยังเป็นเหมือนเด็กอยู่ ให้ดูหนังผีหนังฆ่ากันแล้วใจจะสลดหดหู่ ท่านจะสอนเรื่องการทำบุญให้ทาน เรื่องรักษาศีล เรื่องศรัทธา ถ้าสอนพระจะสอนอสุภะและความตาย จึงไม่นิยมที่จะสอนรวมกัน จะแยกสอนฆราวาสกับพระ พระพุทธเจ้าก็ทรงแยกสอน ตอนบ่ายก็สอนฆราวาสญาติโยม ตอนค่ำก็สอนพระ ตอนดึกก็สอนเทวดา เพราะระดับจิตของแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ความต้องการอาหารคือธรรมไม่เหมือนกัน กลุ่มของฆราวาสต้องการนม ยังเคี้ยวไม่ได้ ยังไม่มีฟัน ให้เนื้อให้ผักไปก็ยังกินไม่ได้ ส่วนพระเหมือนคนโตแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว

 

พวกฆราวาสญาติโยมจะชอบไปงานบุญกัน ชอบไปที่มีคนเยอะๆ ไม่ชอบไปอยู่คนเดียวไม่ชอบที่วิเวก นักแสวงบุญชอบไปงานบุญ ถ้าเป็นนักภาวนาจะชอบหาที่วิเวกที่สงบสงัด ไม่มีคนพลุกพล่าน เพราะการภาวนาต้องสำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ต้องปิดทวารทั้ง ๕ ไม่ต้องการรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะเวลารับรู้แล้วจะเกิดอารมณ์ เกิดกามตัณหา เกิดความอยาก ที่จะเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พอเสพแล้วก็ทำให้จิตใจไม่สงบ เวลาอยากจะเสพก็ไม่สงบ ต้องเสียเวลาไปหาสิ่งที่ต้องการเสพ เสพเสร็จแล้วก็สงบไม่นาน เดี๋ยวก็หิวอีก อยากจะเสพอีก วันทั้งวันจะมีแต่เสพรูปเสียงกลิ่นรส จึงไม่มีทางที่จะทำให้จิตสงบได้ ถ้าเป็นน้ำก็มีคนคอยตักอยู่เรื่อยๆ น้ำจึงไม่มีโอกาสที่จะนิ่งได้ จิตถ้ายังต้องเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ ก็จะวุ่นวายอยู่กับเรื่องเหล่านี้ ชีวิตของฆราวาสก็วุ่นอยู่กับเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสนี้เอง ออกไปทำมาหากิน ก็เพื่อจะได้มีรายได้ มาซื้อรูปเสียงกลิ่นรสในรูปแบบต่างๆ ชีวิตก็วนเวียนกับเรื่องการเสพกาม โอกาสที่จะทำจิตใจให้สงบจึงไม่ค่อยมี นอกจากคนที่เริ่มเบื่อเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสแล้ว ก็จะศึกษาหาสิ่งอื่นมาทดแทน ก็จะสนใจการภาวนา จะลดเรื่องการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายลง จะมีเวลานั่งสมาธิมีเวลาภาวนา

 

พอเห็นผลจากการภาวนา ว่าดีกว่าความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะมีกำลังจิตกำลังใจ มีฉันทะ มีวิริยะ มีความขยัน ที่จะปฏิบัติมากขึ้น ก็จะคิดไปอยู่วัด ไปหาที่สงบ ไปสำนักที่มีการปฏิบัติ พอสงบมากขึ้น ก็ยิ่งอยากไปอยู่ที่สงบมากขึ้น ตอนต้นก็ไปกันเป็นกลุ่ม ไปสองสามคน ต่อไปก็ไปคนเดียว ไปอยู่ตามวัดที่ให้ต่างคนต่างภาวนากันไป เวลาภาวนาใหม่ๆต้องไปเข้าหลักสูตรก่อน มีคนคอยสอน ให้ตื่นเวลานั้น ให้เดินจงกรม ให้ไหว้พระสวดมนต์ ให้เจริญสติ ทำเป็นกลุ่มไปก่อน พอจิตเริ่มสงบแล้ว ก็จะรู้ว่าเวลาอยู่ใกล้คน อยู่ใกล้รูปเสียงกลิ่นรส ก็จะรำคาญใจ จะรบกวนใจ ทำให้เกิดนิวรณ์ขึ้นมา ก็จะไปหาที่สงบวิเวกอยู่คนเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่าการภาวนาเจริญก้าวหน้า การปฏิบัติต้องมีการวางแผน เหมือนกับทางโลก บริษัทต่างๆมีการวางแผน ว่าปีนี้จะก้าวไปตรงไหน เช่นปีนี้ต้องทำยอดรายได้ให้เพิ่มขึ้นจากยอดของปีที่แล้ว ปีที่แล้วทำได้ ๑๐ ล้าน ปีนี้จะต้องทำให้ได้ ๑๕ ล้าน ต้องมีแผนการว่าจะทำอย่างไร พวกนักปฏิบัติก็ต้องมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน ปีนี้ต้องได้อย่างนี้ ปีต่อไปต้องได้อย่างนั้น พวกเราเข้าสู่ปีที่ ๕ แล้ว ต้องประเมินดูว่าก้าวไปถึงไหนแล้ว หรือยังเหมือนเดิม ถ้าเหมือนเดิมก็เสียเวลาไปเกือบ ๕ ปี ไม่ได้ก้าวไปไหนเลย ถ้าตัดภายนอกได้ ตัดเรื่องเงินเรื่องทองได้ เงินหายไปก็ไม่เสียดายไม่เสียใจ สามีภรรยาตายไปก็ไม่ร้องห่มร้องไห้ ไม่เศร้าโศกเสียใจ ลูกตายไปก็ไม่ได้เดือดร้อน อย่างนี้ถึงจะถือว่าได้พัฒนาก้าวหน้า ต้องวางแผน จะได้เดินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

 

ถ้าไม่วางแผนเลยก็จะทำแบบสบายๆ เพราะเป็นนิสัยของเราอยู่แล้ว ที่ชอบทำอะไรแบบสบายๆ ไม่ชอบทรมานกิเลส ไม่ชอบทรมานตน แต่เราต้องทรมาน ถ้าต้องการความเจริญก้าวหน้าในทางธรรม อย่างปีนี้จะถือศีล ๘ สักกี่วัน ๕๒ วันก็หมายถึงอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง หรือ ๑๐๔ วันก็หมายถึงอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง เราต้องกำหนดเหตุ ผลจะได้ปรากฏขึ้นมา ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งขึ้นก็จะอดข้าวเย็นได้ ไม่รู้สึกทรมานใจ ถ้าอดไม่ได้ อดแล้วรู้สึกทรมานใจ แสดงว่าใจไม่เข้มแข็ง สู้กิเลสไม่ได้ ความทรมานใจเกิดจากกิเลส เกิดจากตัณหา ความอยากกินอาหารในยามค่ำคืน จึงต้องกำหนดเป้าของการปฏิบัติ ว่าจะเพิ่มขึ้นไปเท่าไหร่ จะทรมานกิเลสมากน้อยเพียงไร ในแต่ละขั้นในแต่ละตอน ขั้นต้นก็ถือศีล ๕ ก่อน แล้วก็ถือศีล ๘ อาทิตย์ละครั้ง ต่อไปก็อาทิตย์ละ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ต่อไปก็ถือศีล ๘ ไปตลอด การนั่งสมาธิเดินจงกรมในแต่ละวันก็จะเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จาก ๑ ชั่วโมงเป็น ๒ ชั่วโมง เป็น ๓ ชั่วโมง การสำรวมอินทรีย์ตาหูจมูกลิ้นกายก็เพิ่มมากขึ้นไป เคยดื่มเคยรับประทานของอะไรจุกจิกที่ไม่จำเป็น ก็จะไม่รับประทานไม่ดื่ม ถ้าจะรับประทานก็รับประทานพร้อมกับอาหาร ในระหว่างมื้อจะไม่รับประทานอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มที่มีรสมีกลิ่นมีสี หรือขนมนมเนยต่างๆ ดื่มแต่น้ำน้ำเปล่าอย่างเดียว

 

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุที่จะนำผลที่ดี ที่จะทำให้จิตมีพลังมากขึ้น มีกำลังที่จะดับกิเลสได้มากขึ้น เราต้องกำหนด ถ้าไม่กำหนดก็จะไม่มีทางก้าวขึ้นไปได้ เหมือนเดินขึ้นบันได วันนี้เราจะขึ้น ๒ ขั้น พรุ่งนี้เราจะขึ้น ๓ ขั้น ขึ้น ๔ ขั้น ตั้งเป้าเอาไว้ จะได้ปฏิบัติไปตาม อย่าตั้งสูงมากจนไม่สามารถทำได้ ตั้งสูงเกินไปก็จะทำไม่ได้ จะท้อ จะเลิกทำ จะพาลไม่ทำเลย ทำเท่าที่ทำได้ เพิ่มทีละขั้น ๒ ขั้น ทำไมจะทำไม่ได้ เพิ่มขึ้นวันละครึ่งชั่วโมงทำไมจะเพิ่มไม่ได้ ลดละเครื่องดื่มให้น้อยลงไป ขนมให้น้อยลงไป ทำไมจะทำไม่ได้ ค่อยๆทำไป พอสำรวมอินทรีย์ได้มากขึ้น จิตก็จะสงบง่ายขึ้น สงบมากขึ้น จะมีพลังลดละได้มากขึ้นไป จะสนับสนุนกัน การเสริมสร้างคุณธรรม กับการลดละกิเลส ต้องทำไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่จะเสริมแต่ธรรม แต่ก็กิเลสไม่ยอมลด ต้องเพิ่มทางธรรมและต้องลดทางกิเลสคือทางกามตัณหา สำรวมอินทรีย์ตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ดูไม่ฟังเรื่องที่ไร้สาระไม่มีคุณไม่มีประโยชน์ จะฟังธรรมะจะดูหนังสือธรรมะ ไม่ดูหนังสือเกี่ยวกับทางโลก นอกจากเป็นหน้าที่การงาน เป็นวิชาการ ก็ดูไปถ้าดูเพื่อความเพลิดเพลินเพื่อความสุขใจ ก็อย่าไปดู มันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง มันเป็นเหมือนยาเสพติด

 

ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว รับรองได้ว่าจะต้องเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครทำให้เราได้นะ เราต้องทำเอง ไม่มีใครคิดแทนเราได้ เราต้องคิดเอง ไม่มีใครวางแผนให้เราได้ เราต้องวางแผนเอง เพราะแต่ละคนจะรู้กำลังของตน ว่าทำได้มากน้อยเพียงไร ครูบาอาจารย์ท่านถึงไม่บังคับพระเณรว่า จะต้องนั่งสมาธิวันละกี่ชั่วโมง เดินจงกรมวันละกี่ชั่วโมง ท่านเพียงแต่สอนเป็นกลางๆว่าทำให้มาก เดินจงกรมนั่งสมาธิให้มาก เจริญสติให้มาก ลดละเรื่องภายนอกให้มาก อย่าไปยุ่งอย่าไปเกี่ยวกับภาระกิจการงานที่ไม่ได้พัฒนาจิตใจ กิจต่างๆที่ไม่จำเป็นท่านไม่ให้ทำ สร้างโบสถ์สร้างเจดีย์ท่านบอกว่าเป็นงานหยาบ ไม่ใช่งานของสมณะนักบวช นักบวชต้องสร้างใจ สร้างพระขึ้นมาในใจ ด้วยการเดินจงกรมนั่งสมาธิเจริญปัญญา นี่เป็นงานของนักบวชของนักปฏิบัติ ของผู้มุ่งสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด สู่มรรคผลนิพพาน ต้องถืองานนี้เป็นหลัก คันถธุระกับวิปัสสนาธุระ คันถะก็คือการศึกษาพระธรรมคำสอน วิปัสสนาก็คือการทำให้รู้แจ้งเห็นจริง ในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า นี่เป็นงานหลักของพระ งานหลักของนักบวชนักปฏิบัติ งานอื่นๆปล่อยให้คนอื่นทำไป ทำไปจนวันตายก็จะไม่จบ แล้วก็ไม่ได้ปลดเปลื้องความทุกข์ ไม่ได้ปลดเปลื้องกิเลสตัณหาภายในใจ ให้เบาบางลงไป แต่กลับจะทำให้มีเพิ่มมากขึ้นไป พอทำงานนี้เสร็จก็อยากจะทำงานนั้นต่อ พอได้รางวัลนี้แล้ว ก็อยากจะได้รางวัลอื่นอีก เป็นเรื่องของกิเลส ความคิดแบบนี้ในสมัยนี้จะไม่ค่อยมีกัน ส่วนใหญ่จะไปทางโลกกันหมด ไม่ว่านักบวชหรือฆราวาส จะไปทางสร้างวัตถุกัน สร้างวัดให้สวยงามสร้างเจดีย์ ๑๐๐ ยอด สร้างใหญ่ๆโตๆกัน แล้วได้อะไร ได้แต่กิเลสภายในใจ ที่ใหญ่มากขึ้นไป พระพุทธเจ้าทรงสร้างอะไรบ้าง ไม่ดูบ้าง พระบรมศาสดา พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ท่านสร้างวัดหรือเปล่า ไม่เคยสร้างเลย ท่านสร้างอะไร ท่านสร้างพระอรหันต์เป็นหมื่นเป็นแสน ทำไมไม่ทำตาม เพราะจิตมีแต่อวิชชาปัจจยาสังขารา เชื่อความคิดของตน ก็เท่ากับเชื่อความคิดของกิเลสนั่นเอง

 

 

ถาม  เวลาจิตสงบจะมีปีติ คือจิตมันยิ้ม เกิดปีติน้ำตาไหล จะดูจิตดูความสงบในขณะนั้น คือดูเวทนาว่าพอใจ มีความสุข แต่ไม่ได้พิจารณาอะไร ดูแค่นี้จนจิตออกมารับรู้เสียงต่างๆ แต่ไม่รำคาญใจ ต่อจากนั้นต้องทำอะไร

 

ตอบ ที่ทำมานี้ก็ถูกแล้ว ให้ใจเป็นอุเบกขา ให้นิ่งให้สงบให้นานที่สุดเท่าที่จะนิ่งได้ เราเพียงสักแต่ว่ารู้ อยู่กับความสุข อยู่กับความสงบนั้น จนกว่าจะออกมารับรู้เรื่องต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกายและความคิด พอเริ่มคิดแล้วก็ต้องดึงความคิดมาทางไตรลักษณ์ เช่นมาดูอสุภะก็ได้ ดูความไม่สวยงามของร่างกาย หรือดูความเกิดแก่เจ็บตายของร่างกาย ของเราและของผู้อื่น ใช้ความคิดไปในทางปัญญา ถ้าไม่ดึงมากิเลสก็จะพาไปคิดเรื่องทำงานทำการ กวาดบ้านถูบ้าน หรือเรื่องที่อยากจะทำ ก็จะไม่เกิดปัญญา

 

ถาม  ต้องดูความเกิดดับของความสุขไหม

 

ตอบ ไม่ต้องดูหรอก ถ้ามีสติก็เห็นอยู่แล้ว รู้โดยปริยายอยู่แล้ว รู้ว่าเมื่อกี้นี้มีความสุข ตอนนี้ความสุขหายไปแล้ว ให้รู้ว่าเวลาเปลี่ยนสภาพไป ก็เหมือนออกจากห้องแอร์ ก็ต้องร้อนเป็นธรรมดา เวลาอยู่ในห้องแอร์ก็รู้ว่าเย็น เวลาออกจากห้องแอร์ก็รู้ว่าร้อน เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องที่ควรจะทำก็คือดึงความคิดมาทางไตรลักษณ์ ทางอนิจจังทุกขังอนัตตา ต้องพิจารณาร่างกาย ว่าเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา พิจารณาจนเกิดความกล้าหาญ พร้อมที่จะรับกับความแก่ความเจ็บความตาย พร้อมที่จะพิสูจน์ว่ากล้าจริงหรือเปล่า

 

ถาม  ถ้าปวดขาและกลัวผีด้วย จะทำอย่างไร

 

ตอบ ต้องปล่อยวางทั้ง ๒ อย่าง ปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา ยอมตาย อย่างมากก็แค่ตาย พอตายแล้วความเจ็บก็หมดไป พอยอมตายความกลัวก็หายไป ถ้ายังอยากอยู่ต่อไป ก็ยังจะกลัวอยู่ ถ้ายังอยากจะให้ความเจ็บหายไป ก็จะทุกข์ทรมานใจ ถ้าเจ็บก็รู้ว่าเจ็บ ตายก็รู้ว่าตาย ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง นี่แสดงว่ายังไม่ได้พิจารณาเรื่องความแก่ความเจ็บความตายมามากพอ ถ้าพิจารณามามากพอแล้ว พอเกิดความเจ็บก็จะคิดเป็นเรื่องธรรมดา ความกลัวก็อย่างมากก็แค่ตาย คนเราต้องตายอยู่แล้ว ถ้ารับความจริงได้ ก็จะตัดความกลัวความทุกข์ทรมานใจได้ ความเจ็บของร่างกายถ้ายังมีอยู่ จะไม่รบกวนใจ นี่แสดงว่ายังไม่ได้พิจารณาทางปัญญาเลย เอาแต่สมาธิอย่างเดียว พอเจอปัญหาก็ยังไม่สามารถจะแก้ได้ ปัญหาก็คือความกลัวตายนี่แหละ ความกลัวต่างๆก็ออกมาจากความกลัวตาย ถ้ายอมตายแล้วจะตัดความกลัวได้หมด อย่างมากก็แค่ตายแล้วก็ต้องตายแน่ๆ คิดอย่างนี้แล้วจะไม่กลัว

 

 

ถาม  หนูไม่กล้านั่งสมาธิเพราะจะหลับ ก็เลยเดินจงกรมทั้งคืน เดินแล้วก็ปวด แต่พิจารณาไม่เป็น

 

ตอบ พอออกจากสมาธิแล้ว ต้องพิจารณาความเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาความเจ็บความตายว่า อย่างไรก็ต้องเจ็บต้องตาย เวลานั่งหรือเดินแล้วเกิดความเจ็บ ก็ปล่อยให้เจ็บไป ตอนที่พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องเจ็บนี้ ยังเป็นเชิงทฤษฎีอยู่ ยังไม่ได้เจอของจริง แต่ต้องเจอแน่ๆ พิจารณาเพื่อจะได้เตรียมใจรับกับความเจ็บ พอนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา จะต้องปล่อยวางให้ได้ ปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องของมัน เวลาร่างกายมีโรคภัยไข้เจ็บก็ต้องเจ็บอย่างนี้ ถ้าปล่อยได้ใจจะไม่เดือดร้อน ถ้าปล่อยไม่ได้ใจจะทรมานยิ่งกว่าความเจ็บของร่างกาย ตอนต้นที่พิจารณาจะเป็นเชิงทฤษฎีไปก่อน เตรียมรับกับเหตุการณ์ ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย พิจารณาตลอดเวลาจนเป็นนิสัยแล้วเวลาเจอความตายเจอความเจ็บ จะมีความกล้าหาญยอมรับว่า ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นธรรมดา จะไม่กลัว จะปล่อยวางได้ จิตก็จะหลุดๆจากความทุกข์ ที่เกิดจากความกลัวความแก่ความเจ็บความตาย

 

ถาม  เวลาปฏิบัติอยู่คนเดียวจะได้ผลดี จิตจะรวมตัวตั้งมั่น พออยู่บ้านความเพียรจะลดลง

 

ตอบ สถานที่ที่เราอยู่คนเดียวจะเอื้ออำนวยการภาวนา เป็นที่ปราศจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่จะมากระตุ้นจิตใจให้คิดปรุงแต่ง ถ้าอยู่ที่บ้านจะเห็นสิ่งต่างๆ ก็จะอดคิดอดห่วงอดกังวลไม่ได้ ทำให้การภาวนายากลำบาก ท่านจึงสอนให้ไปหาที่สงบวิเวก เป็นการสำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ให้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ เข้ามารบกวนจิตใจ คำว่าสัปปายะ แปลว่าสบาย นักปฏิบัติต้องแสวงหาที่สัปปายะภาวนา จิตจะสงบง่าย สถานที่สงบสงัดวิเวกปราศจากความพลุกพล่าน บุคคลต่างๆ เสียงต่างๆ บุคคลที่อยู่ด้วยก็ต้องสัปปายะ ไม่ทะเลาะกัน ต่างคนต่างอยู่ ไม่ยุ่งไม่รบกวนกัน อาหารกับอากาศก็มีผลกระทบกับการภาวนา ให้ไปได้อย่างสะดวกหรือไปอย่างยากลำบาก ถ้าอาหารไม่ถูกกับร่างกาย ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย อย่างนี้ก็ไม่สัปปายะ ไม่ได้หมายถึงอาหารที่ไม่ถูกปากถูกคอ แต่หมายถึงอาหารที่เป็นปัญหากับร่างกาย อากาศก็มีส่วน ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไปก็เป็นปัญหาได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ขาดไม่ได้ก็คือสติ ต้องมีสติคอยควบคุมใจตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ใจเพ่นพ่าน เหมือนกับสุนัข ต้องผูกไว้กับเสา ไม่ให้ไปไหน แต่ถ้าไม่ผูกไว้มันก็จะไปเที่ยวเพ่นพ่าน กว่าจะตามหาตัวได้ก็เหนื่อย จิตถ้าคิดไปเรื่อยเปื่อย ไม่ควบคุมเอาไว้ ก็จะคิดฟุ้งซ่าน มีอารมณ์ต่างๆเกิดขึ้น ถ้ามีสติผูกเอาไว้กับพุทโธ หรือผูกไว้กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ทำอะไรก็ให้อยู่กับการกระทำนั้น กำลังเดินก็ให้รู้ว่ากำลังเดิน กำลังรับประทานอาหารก็ให้รู้อยู่กับการรับประทานอาหาร ถ้ายังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องบริกรรมพุทโธด้วย อย่าปล่อยให้คิดเรื่องอื่น ให้คิดแต่พุทโธอย่างเดียว ถ้าอย่างนี้ก็จะดึงจิตให้อยู่ใกล้ตัว ให้อยู่ใกล้กับความสงบ เวลานั่งสมาธิกำหนดให้อยู่กับพุทโธหรืออยู่กับลมหายใจ จิตก็จะไม่ไปที่อื่น ไม่นานก็จะรวมลงได้

 

มีเหตุปัจจัยหลายส่วนด้วยกัน ทั้งภายนอกและภายใน ที่นักปฏิบัติต้องรู้ ต้องรู้จักสร้างเหตุปัจจัยที่เอื้อต่อการภาวนา ภายนอกก็ต้องสัปปายะ ภายในก็ต้องมีสติ ต้องสำรวมอินทรีย์ ต้องปลีกวิเวก ต้องรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร รับประทานอาหารมากไปก็จะขี้เกียจง่วงเหงาหาวนอน นั่งแล้วก็จะหลับ ต้องถือศีล ๘ ลดการรับประทานอาหารลง ถ้ายังง่วงอยู่ก็ต้องรับประทานมื้อเดียว ตอนต้นก็ถือศีล ๘ ไม่รับประทานหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่ก็ยังง่วงอยู่ ก็ต้องลดลงเหลือมื้อเดียว ถ้ารับประทานมื้อเดียวยังง่วงอยู่ ก็บังคับให้รับประทานเพียง ๕ คำ ๑๐ คำแล้วก็หยุด ถ้ายังง่วงอยู่ก็อดไปเลย นี่คือปัจจัยต่างๆที่จะสนับสนุนการปฏิบัติ ก็มีสถานที่สงบสงัดวิเวก มีสติ รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร ไม่คลุกคลี ไม่ใช่ไปอยู่ที่วิเวก พอไปเจอคนอื่นก็คุยกันเป็นชั่วโมง อย่างนี้ก็ไม่ได้ อยู่ที่วิเวกแล้วก็ต้องไม่ไปคลุกคลีกัน หาสถานที่สัปปายะ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว การภาวนาก็จะก้าวหน้าอย่างแน่นอน

 

ถาม  การเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ เป็นวิปัสสนาด้วยใช่ไหมคะ

 

ตอบ ถ้ามองอะไรเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยงไม่ใช่ของเราเป็นทุกข์ ก็เป็นวิปัสสนาได้ ถ้าปลงได้วางได้ ไม่กลับไปยึดไปติดอีก ก็จะเป็นวิปัสสนาอย่างสมบูรณ์

 

ถาม  คำว่าตัดแล้วไม่กลับไปยึดไปติดนี้หมายถึง

 

ตอบ เช่นเลิกกินของจุกจิกแล้วก็ไม่กลับไปกินอีก เลิกบุหรี่แล้วก็ไม่กลับไปสูบอีก เลิกเที่ยวแล้วก็ไม่กลับไปเที่ยวอีก

 

ถาม  แต่ไม่ได้หมายถึงความคิดปรุงแต่งใช่ไหม

 

ตอบ จะไม่คิดปรุงแต่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นอีกเลย เพราะไม่มีความอยากในสิ่งเหล่านั้น แต่ความคิดปรุงแต่งยังมีอยู่ แต่ไม่มีกิเลสมาเกี่ยวข้อง พระพุทธเจ้าก็ยังคิดอยู่ ครูบาอาจารย์ก็ยังคิดอยู่ แต่ความคิดของท่านเป็นธรรมล้วนๆ ไม่คิดไปในทางกามตัณหาภวตัณหาหรือวิภวตัณหา ขันธ์ก็ยังเป็นขันธ์อยู่เหมือนเดิม เมื่อก่อนนี้เป็นสมบัติของโจร แต่เดี๋ยวนี้โจรถูกฆ่าไปหมดแล้ว กลายเป็นสมบัติของธรรมไป ขันธ์ของพระพุทธเจ้าก็ยังเป็นเหมือนเดิม กายเวทนาสัญญาสังขารก็ยังเป็นเหมือนเดิม ต่างกันที่เจ้าของ ของพวกเรานี่มีโจรเป็นเจ้าของ มีกิเลสเป็นเจ้าของ แต่ของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์มีธรรมเป็นเจ้าของ แทนที่จะเป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา ก็เป็นธรรมาปัจจยาสังขารา เป็นปัญญาเป็นสัมมาทิฐิปัจจยาสังขารา ต่างกันตรงนี้

 

ถาม  ความคิดความปรุงแต่ง บางทีก็ไปในอดีต บางทีก็ไปในอนาคต กลับไปกลับมา เกิดดับๆ

 

ตอบ ถ้าไม่มีตัณหาในความคิดเหล่านั้นก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

 

ถาม  เห็นมันเกิดดับๆ จนเบื่อไปเอง ก็หยุดคิดไปเอง แล้วก็อยู่ว่างๆ

 

ตอบ จะใช้ความคิดอย่างไรก็ได้ สำคัญจะใช้ไปในทางไหน ใช้ไปในทางธรรมหรือทางกิเลส ถ้าใช้ไปในทางกิเลสก็จะเป็นโทษกับเรา จะสร้างความทุกข์ทรมานใจให้เกิดขึ้นมา ถ้าใช้ไปในทางธรรมก็จะทำให้ใจสงบปล่อยวาง พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ยังคิดอยู่ แต่ท่านไม่ได้คิดอย่างพวกเราคิดกัน พวกเราคิดโลภอยากได้โน้นอยากได้นี่ ท่านไม่ได้คิดอย่างนี้ ท่านคิดตามเหตุตามผล

 

ถาม  อยากจะเรียนถามเรื่องทุกขเวทนา คือลูกมีปัญหาที่เข่า เป็นโรคไขข้ออักเสบ เวลานั่งสมาธิมีปัญหาเรื่องเวทนามาก ถ้าบอกจิตหรือบอกตัวเองว่า ร่างกายเป็นดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ถ้านั่งก็ต้องเจ็บต้องปวด เราห้ามได้ไหม ไม่ได้ บังคับให้หายเจ็บได้ไหม ไม่ได้ ถ้าสอนตัวเองในลักษณะนี้ พอมีความเจ็บปวดจะรู้อยู่ตลอดเวลา จิตจะนิ่ง ไม่อยากจะขยับ เจ็บก็ยังเจ็บอยู่ แล้วท่านอาจารย์สอนบอกว่า ให้ถือร่างกายเป็นเหมือนซากศพ ให้จุดไฟเผา ลูกก็ทำอย่างนั้นบ้าง พอจุดไฟเผาปั๊บไม่รู้สึกเจ็บไม่รู้สึกเสียดาย แต่รู้สึกร้อนข้างใน ร้อนแบบสบาย แต่ร่างกายไม่เคยไหม้จนเป็นเถ้าถ่าน เหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์บอก ก็ยังไหม้อยู่อย่างนั้น แต่จิตไม่ได้นึกอยากจะเปลี่ยน แต่ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง ถ้าไม่ได้เตรียมตัวจะรู้สึกทรมาน อย่างเช่นวันนี้นั่งฟังท่านอาจารย์พูดได้ประมาณครึ่งชั่วโมง รู้สึกเลยว่าจิตมันสั่งมันอยากจะออก ห้ามอย่างไรก็ห้ามไม่ได้ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นละคะ

 

ตอบ อยู่ที่กำลังของสติปัญญา ถ้ามีกำลังมากกว่ากิเลสก็จะสงบ ถ้ากิเลสมีกำลังมากกว่าก็จะวุ่นวาย จะไม่สงบ ถ้าสติปัญญาอ่อนกำลังลง กิเลสก็จะสร้างความกระสับกระส่ายกระวนกระวายให้กับใจได้

 

ถาม  ข้อสำคัญที่สุดก็คือต้องสร้างสติ

 

ตอบ สร้างปัญญาด้วย

 

ถาม  สร้างสติและปัญญาด้วย สร้างปัญญาด้วยการท่องเกิดแก่เจ็บตาย พยายามคิดพิจารณา แต่ก็ยังเป็นความจำอยู่

 

ตอบ ก็ยังใช้ได้อยู่ ถ้าท่องไปก็จะเป็นเชิงสมาธิ

 

ถาม  ปัญญาก็ขึ้นมานะค่ะ บางครั้งเวลาเราทำอะไรอยู่ มันก็ขึ้นมาว่า เออนี่เราต้องแก่นะ เราต้องเจ็บเราต้องตาย ตายแน่ๆ ไม่มีใครไม่ตาย ก็จะช่วยยับยั้งได้ แต่บางครั้งก็ฟุ้งหลุดออกไป ก็พยายามที่จะดึงกลับเข้ามา มีบ้านอยู่ที่ชะอำ เมื่อ ๒ ปีที่แล้วมีคนเมตตา มาขโมยของที่บ้านไป ขโมยดีวีดีซีดีวิทยุหม้อข้าวเตารีด เหลือโทรทัศน์ไว้ให้ค่ะท่าน เมื่อปีที่แล้วก็มาขโมยโทรทัศน์ไปอีก ปีนี้เลยสบายไม่มีอะไรเลย ก็เป็นสัปปายะพอสมควร

 

ตอบ ถ้าสูญเสียอะไรแล้วใจไม่รู้สึกเสียดาย ก็แสดงว่าปล่อยวางได้ ขโมยมาช่วยให้เราตัดกิเลสได้ อาจจะยังเสียดายอยู่ พอเอาไปแล้วก็ดี เป็นเหตุทำให้ตัดได้อย่างถาวรเลย บางทีก็ต้องอาศัยเหตุการณ์มากระตุ้นสติปัญญา กระตุ้นให้เข้าห้องสอบ ตอนที่คิดไว้ล่วงหน้านี้ยังไม่ได้เข้าห้องสอบ ถ้าไปหาหมอคราวหน้า หมอบอกว่าเหลืออีก ๖ เดือน ตอนนั้นจะกระตุ้นให้เข้าห้องสอบจริงๆ รู้ว่าทีนี้ตายแน่ๆแล้ว มีหมอรับรองแล้วว่าต้องตายแน่ๆ ทีนี้ก็จะดูใจว่าปล่อยวางได้หรือเปล่า ถ้าปล่อยวางได้ก็สบาย ตายอย่างสบาย อยู่อย่างสบาย ๖ เดือนก่อนจะตายนี้ แทนที่จะมีความทุกข์กลับมีความสุขยิ่งกว่า ๖๐ ปีที่เคยอยู่มาก่อน ถ้ามีธรรมะเวลาเข้าขั้นวิกฤตแล้วปลงได้ จะมีความสุขยิ่งกว่าตอนที่มีกิเลสครอบงำจิตใจตลอดเวลา

 

ถาม  มีคนพิการปฏิบัติธรรม ด้วยการเจริญสติดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย ทำตั้งแต่เช้าจนเย็น พยายามเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ขณะที่เจริญสตินั้นเขาแยกกายแยกใจได้ ใจมองเห็นร่างกายกำลังทำอะไร อย่างนี้ไม่ใช่สมาธิใช่ไหมคะ

 

ตอบ เป็นจินตนาการ เป็นความคิดปรุงแต่งแยกแยะ ไม่ได้เป็นความจริง ถ้าจิตรวมลงนั่นแหละถึงจะเป็นความจริง เหมือนกับนั่งดูโทรทัศน์ แล้วก็แยกว่าภาพกับจอเป็นคนละส่วนกัน ถ้าจะแยกจริงๆต้องปิดโทรทัศน์ ภาพจะหายไป เหลือแต่จออย่างเดียว ตอนนั้นจะแยกกันอย่างชัดเจน ต้องนั่งสมาธิจนจิตรวมลง ขันธ์ ๕ จะหายไปหมด เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ เหลือแต่ผู้รู้ อย่างนี้ถึงจะแยกกันจริงๆ เห็นกันจริงๆ

 

ถาม  เขาว่าเป็นผู้รู้ที่เห็น แต่ไม่ได้เป็นร่างกาย

 

ตอบ เป็นจินตนาการ ยังดับกิเลสไม่ได้ กิเลสไม่หยุดทำงาน เพราะความคิดปรุงแต่งยังไม่หยุด ยังถูกกิเลสใช้เป็นเครื่องมืออยู่

 

ถาม  การเจริญสติเพื่อนั่งสมาธิให้ได้ผล

 

ตอบ ให้จิตรวมลง

 

ถาม  พอมีสมาธิปัญญาจะพิจารณาได้นานขึ้น คือแทนที่จะพิจารณา เกิดแก่เจ็บตายแวบเดียว แล้วไปที่อื่น พอมีสมาธิจะทำให้การพิจารณาทางปัญญายาวนานขึ้น

 

ตอบ ใช่ จะติดเป็นนิสัยไป จะคิดแต่แก่เจ็บตายไป มากกว่าอยากจะอยู่ไปนานๆ อยากจะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย อยากจะไม่ตาย ที่เป็นความคิดของปุถุชน ไม่มีใครอยากแก่อยากเจ็บอยากตายกัน ปัญญาต้องทวนกระแสของกิเลส ต้องคิดว่าต้องแก่แน่ๆ ต้องเจ็บแน่ๆ ต้องตายแน่ๆ คิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระแสของกิเลสถูกกระแสของปัญญาดันกลับไป จะเห็นแต่แก่เจ็บตาย พอใครมาเล่าว่าคนนั้นแก่คนนั้นเจ็บคนนั้นตาย ก็จะไม่ตื่นเต้นอย่างไร ไม่เหมือนพวกเรา พอได้ข่าวว่าคนนั้นไม่สบายหน่อย ตื่นเต้นกันใหญ่ พอคนนี้ตายเป็นเรื่องใหญ่โต เป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมา 

 

ถาม  เพราะไม่ได้เตรียมใจไว้ ไม่ได้คิดอยู่ตลอดเวลา

 

ตอบ ไม่ได้คิดอยู่ตลอด ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าไม่มีสมาธิจะถูกกิเลสดึงไปคิดเรื่องอื่น คิดได้ปั๊บเดียวก็จะไม่คิดแล้ว ไม่สนุก คิดเรื่องอื่นดีกว่าสนุกกว่า คิดไปเที่ยวไหนดี ไปหาใครดี ไปซื้ออะไรดี จะคิดไปทางนั้น ถ้ามีสมาธิเวลาสั่งให้คิดอะไร จะไม่มีกิเลสมาดึงไป จะคิดตามที่เราสั่ง พอคิดไปเรื่อยๆ ก็จะติดเป็นนิสัยเหมือนท่องสูตรคูณ ตอนต้นก็ต้องท่อง ๒ คูณ ๒ เป็น ๔  ๒ คูณ ๓ เป็น ๖ ท่องไปเรื่อยๆก่อน พอขึ้นใจแล้วก็ไม่ต้องท่อง พอเห็น ๒ คูณ ๓ ก็รู้ว่าเป็นเท่าไหร่ การพิจารณาก็เหมือนกัน พอพิจารณาจนเป็นนิสัยแล้ว พอเห็นใครก็รู้ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แม้แต่เด็กแรกเกิด ก็รู้ว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย จะคิดอย่างนี้

 

ถาม  เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหรือเปล่า

 

ตอบ ไม่ เกิดจากการฝึกซ้อม เหมือนกับท่องสูตรคูณ ถ้าไม่ท่องไว้ก่อนก็จะไม่สามารถรู้ผลคูณได้ พอเห็น ๒ คูณ ๓ ก็ต้องคิดก่อนว่า ๒ กับ ๓ นี้เท่าไหร่ เอา ๒ มาบวก ๓ ครั้งถึงจะได้ ๖ ถ้าท่อง ๒ คูณ ๓ เป็น ๖ พอเห็นปั๊บก็จะขึ้นมาทันที เหมือนการอ่านหนังสือ ตอนต้นก็ต้องท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ไปก่อน แล้วก็มาหัดสะกด พอสะกดเป็นแล้ว พอเห็นตัวอักษรปั๊บก็จะอ่านได้เลย ไม่ต้องสะกด ต้องมีสัญญาความจำเป็นตัวสนับสนุนสังขารความคิดปรุงแต่ง

 

ถาม  แต่มันเป็นความจำใช่ไหม ไม่ใช่ปัญญานี่คะ ถ้าท่องไปอย่างนี้

 

ตอบ ต้องไปเข้าสนามสอบ ตอนต้นก็ทำการบ้านไปก่อน ขั้นต่อไปก็ต้องไปอยู่ที่ต้องเอาความแก่ความเจ็บความตายเป็นเดิมพัน ไปอยู่ที่เสี่ยงต่อความตาย พออยู่ใกล้กับความตายแล้ว ใจก็ต้องจริงแล้ว ยอมรับความจริงได้หรือไม่ ยอมตายได้หรือไม่ ถ้าหมอบอกว่าเป็นโรคมะเร็งอยู่ได้อีก ๖ เดือน ทำใจได้หรือไม่ ตอนนั้นแหละเข้าสนามสอบ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าสนามสอบ ตอนนี้เป็นการทำการบ้านไปก่อน เป็นนักมวยก็ชกกับกระสอบทรายไปก่อน ยังไม่ได้ขึ้นเวที ถึงบอกว่าการปฏิบัติมี ๒ ลักษณะ เบื้องต้นก็อยู่ในลักษณะการทำการบ้าน อยู่ที่ปลอดภัย พออกจากสมาธิก็พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย เป็นการทำการบ้าน อย่างโยมที่เล่าให้ฟังว่า มีคนเมตตามายกทีวีไป อย่างนั้นเป็นการเข้าห้องสอบแล้ว เราต้องมีการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบเป็นธรรมดา มันไปแล้ว เรารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ ถ้ารู้สึกเฉยๆยิ้มหัวเราะได้ก็สอบผ่าน สามีบอกว่าจะไปแล้วนะ จะไปอยู่กับอีหนูอีกคนก็ยิ้มได้ ไปเลย นั่นแหละเวลาเข้าห้องสอบ ต้องคิดทุกแง่ทุกมุมกับทุกอย่างที่เรามีว่า จะต้องจากเราไปอย่างแน่นอน พร้อมที่จะให้เขาไปหรือไม่ ถ้าพร้อมก็จะไม่เป็นปัญหา สามีบอกจะไปแล้ว บอกให้เขาไปเลย ดีเสียอีกจะได้เป็นอิสระอยู่คนเดียว คิดอย่างนี้ ถ้าไปโกรธเขาก็แสดงว่าสอบไม่ผ่าน

 

ถาม  ถ้าไม่มีโอกาสไปอยู่ในป่าในเขาในป่าช้า ใช้วิธีอื่นได้ไหมคะ ที่จะทดสอบตัวเอง

 

ตอบ นั่งให้มันเจ็บปวด แล้วก็ปล่อยให้มันหายไปเอง เพราะคนเราเวลาใกล้ตายก็ต้องเจ็บปวดแบบนี้ ถ้าผ่านความเจ็บปวดแบบนี้ได้แล้ว ก็จะไม่กลัวตาย

 

ถาม  ไม่ยอมแพ้กิเลสที่บอกให้หยุดเถิด เดี๋ยวขาหัก

 

ตอบ ปล่อยให้ความเจ็บปวดเกิดขึ้นแล้วดับไปเอง เหมือนกับฝนตก ตอนที่เวทนาเกิดขึ้นก็คิดว่าฝนกำลังตก เดี๋ยวก็ต้องหยุด ไม่ช้าก็เร็ว เวทนาจะเจ็บปวดเพียงไรก็ต้องดับไป ครูบาอาจารย์ท่านทำมาแล้ว พิสูจน์ให้เห็นแล้ว เกิดขึ้นมาได้ก็ต้องดับไปได้ ถ้าผ่านเวทนาขั้นรุนแรงไปได้แล้ว จะไม่มีอะไรทำให้จิตใจหวั่นไหว ทำให้จิตใจทุกข์ได้ จะไม่กลัวตาย ถ้าสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างแล้วยังยิ้มได้ก็แสดงว่าสอบผ่าน เช่นสมมุติบ้านไฟไหม้ สามีทิ้งเรา เงินถูกโกงไปหมด ก็ไปบวชเสียก็หมดเรื่อง ไม่เห็นเดือดร้อนเลย ถ้ามีสติมีปัญญาก็จะไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆเหล่านี้ ดีเสียอีกเป็นโชคเป็นวาสนาจะได้บวช อย่างพระอาจารย์หลวงปู่ขาว พบภรรยามีชู้ตอนต้นก็โกรธคิดจะฆ่าเขา พอสติปัญญามาทัน ท่านก็คิดว่าถ้าไปฆ่าเขาก็เลวกว่าเขา ท่านก็เลยยกภรรยาให้เขาไปเลย ประกาศบอกชาวบ้านว่า ยกให้หมดเลย แล้วท่านก็ไปบวช สูญเสียทางโลกแต่กำไรทางธรรม ถ้าไม่ได้พิจารณาไว้ก่อน จะไม่คิดอย่างนี้ จะคิดว่าเป็นการอับอายขายหน้า เป็นความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ จะต้องล้างแค้นกัน

 

        ต้องทำการบ้านไว้ก่อน ถ้าไม่ทำการบ้านจะปลงไม่ตก จะคิดไปทางกิเลส จะคิดล้างแค้น จะคิดหาวิธีกอบกู้ศักดิ์ศรี กอบกู้ทรัพย์สมบัติต่างๆกลับมา จะคิดอย่างนั้น ถ้าได้ฟังธรรมะได้เจริญปัญญาได้ปฏิบัติธรรมมีสมาธิ จะพิจารณาถึงการสูญเสียอยู่เสมอ ต้องสูญเสียแน่ๆ ช้าหรือเร็ว พอถึงเวลาสูญเสียก็จะคิดว่าสมควรแก่เวลา ถึงเวลาที่จะต้องจากเราไปแล้ว ก็จะได้ขยับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คิดว่าเป็นจังหวะดี จะได้ปฏิบัติธรรมขั้นสูงได้ ถ้าไม่คิดล่วงหน้าก่อนก็จะไปไม่ได้ ถ้าคิดไว้มากๆก็จะไม่ต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้น ถ้าเห็นว่าเงินทองกองเท่าภูเขาไม่ได้ให้ความสุข กลับให้ความทุกข์เสียมากกว่า เป็นภาระที่ต้องคอยดูแลรักษา คอยหวงคอยกังวล ก็เลยทิ้งไปเลย ออกบวชดีกว่า

 

ถาม  ท่านอาจารย์ช่วยอบรมหลานหน่อยคะ เมื่อก่อนต้องจ้างมา เดี๋ยวนี้มาเอง

 

ตอบ ใช้ความคิดให้ดีนะ คิดด้วยเหตุด้วยผล ทำอะไรไปแล้วผลตามมาจะเป็นอย่างไร คนอื่นช่วยเราไม่ได้เวลาผลเกิดขึ้นแล้ว ถ้าทำไปแล้วไม่ดีต้องระงับ อย่าไปทำ ถ้าดีก็ทำไปเลย พ่อแม่เพียงแต่คอยบอกเรา แต่เราต้องคอยสอนเรา ส่วนใหญ่เราจะเผลอไปทำตามความรู้สึกนึกคิดของเรา ชอบอะไรก็ทำไป โดยไม่คิดว่าจะมีผลเสียหรือผลดี อย่าไปรำคาญพ่อแม่ ท่านสอนเพื่อเตือนสติ เวลาพ่อแม่สั่งสอนก็เหมือนพระสั่งสอนเรา ฟังแล้วพยายามเอาไปปฏิบัติให้ได้

 

ถาม  เขาใจอ่อนจะถูกเพื่อนฉุดไป

 

ตอบ อย่าไปคบเพื่อนที่พาไปในทางที่ไม่ดี เพื่อนที่ชวนไปเที่ยวไปเกเรก็อย่าไป ถ้าเพื่อนชวนไปอ่านหนังสือ ไปเรียนพิเศษ ไปทำกิจกรรมทางการศึกษา ก็ไปเลย ควรคบกับเพื่อนแบบนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลือกคบคน คบบัณฑิต อย่าไปคบคนโง่คนไม่ฉลาด คบกับคนโง่ก็จะพาเราโง่ด้วย ถ้าคบกับคนฉลาดก็จะพาเราฉลาดด้วย

 

ภาพของครูบาอาจารย์นี้แจก ให้เอาไปบูชา เป็นสังฆานุสติ คิดถึงท่านว่าเมื่อก่อนท่านก็เป็นเหมือนเรา แต่ท่านมีศรัทธาวิริยะสติมีสมาธิปัญญา ท่านก็เลยได้เป็นสรณะเป็นที่พึ่งของเรา ตอนต้นก็เป็นที่พึ่งของท่านก่อน เมื่อท่านพึ่งท่านได้แล้ว ท่านก็มาเป็นที่พึ่งของพวกเรา ท่านก็เป็นเหมือนพวกเรา ตอนนี้เรายังเป็นที่พึ่งของเราไม่ได้ ก็ต้องพึ่งท่านไปก่อน พึ่งพระพุทธเจ้าพึ่งพระธรรมพึ่งพระสงฆ์ จนกว่าจะเป็นที่พึ่งของเรา ต่อไปก็จะเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศอยู่ที่วัย หญิงก็เป็นได้ ชายก็เป็นได้ นักบวชก็เป็นได้ ฆราวาสก็เป็นได้ อยู่ที่ความประพฤติ ๔ ประการคือ สุปฏิ อุชุ ญายะ สามีจิ ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้ง ๔ ประการนี้ ก็จะเป็นที่พึ่งของตนและเป็นที่พึ่งของผู้อื่น รูปภาพของครูบาอาจารย์มีไว้ให้เราระลึกอย่างนี้ เป็นการเจริญสังฆานุสติ ทำให้ไม่ท้อแท้ต่อการบำเพ็ญต่อการปฏิบัติ ว่าเราก็เป็นเหมือนท่านๆก็เป็นเหมือนเรา สิ่งที่เรายังไม่เป็นเหมือนท่านในตอนนี้ ก็ตรงที่เรายังขาดคุณธรรม ที่จะทำให้เราเป็นที่พึ่งของเราและของผู้อื่น คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิและปัญญา เรามีอยู่บ้างแต่มีไม่มากพอ ที่จะเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนียวของจิตใจ ถ้าบำเพ็ญไปเรื่อยๆ เจริญสติไปเรื่อยๆ ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ ก็จะเกิดศรัทธาเพิ่มมากขึ้น อย่างวันนี้ที่เรามาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน จะทำให้เกิดศรัทธา ต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์มากขึ้น แล้วก็จะมีกำลังใจ มีความขยันหมั่นเพียรที่จะปฏิบัติตาม จะเจริญสติให้มากขึ้น จะนั่งสมาธิให้มากขึ้น จะเจริญปัญญาให้มากขึ้น เมื่อทำให้มากขึ้นจนพอกับความต้องการแล้ว ก็จะกลายเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา ไม่มีอะไรลึกลับเลยในทางพระพุทธศาสนา ทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล มีตัวอย่างที่เป็นเหตุ มีตัวอย่างที่เป็นผล ทุกอย่างเปิดเผยหมด ใจของพวกเราที่มันถูกความหลงปิดบังเอาไว้ ทำให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างลึกลับไปหมด มีอะไรก็ทรงแสดงออกมาหมด ทั้งเหตุและผลที่ประเสริฐ

 

พวกเราตอนนี้ขาดเหตุ คือคุณธรรมทั้ง ๕ ประการ ศรัทธาวิริยะสติสมาธิและปัญญา ที่จะทำให้เราทุ่มเทชีวิตจิตใจต่อธรรมะ ตอนนี้เรายังแทงกั๊กกันอยู่ ยังเสียดายทางโลก ทางโลกก็อยากได้ ทางธรรมก็อยากได้ อย่างนี้จะไปไม่ได้ เขาเรียกว่าเหยียบเรือ ๒ แคม อย่าไปรักพี่เสียดายน้อง เอาคนใดคนหนึ่งไปเลย เวลาภรรยามีสามี ๒ คนก็ทุกข์นะ เอาคนเดียวดีกว่า ทางโลกทางธรรมก็เหมือนกัน เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเอาทางโลกก็ยังจะทุกข์ทรมานใจต่อไป ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ถ้าเอาทางธรรมก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากเวียนว่ายตายเกิด ถ้าเข้าหาผู้รู้ เข้าหาครูบาอาจารย์ พระสุปฏิปันโน ท่านจะพูดโน้มน้าวให้เกิดศรัทธา ให้เห็นความสามารถของเรา ว่าเรามีสิทธิที่จะครอบครองสมบัติอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ครอบครองได้ เพราะท่านกับเราไม่มีความแตกต่างกัน ท่านมีอาการ ๓๒ เราก็มีอาการ ๓๒ ท่านเป็นมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์ ท่านมีกิเลส เราก็มีกิเลส แตกต่างกันก็ตรงที่เรายังไม่มีศรัทธา ที่จะทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ถ้ามีศรัทธามากขึ้นก็จะทุ่มเทมากขึ้น จะเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาได้มากขึ้น พอเริ่มเห็นผลแล้ว ก็จะเกิดศรัทธายิ่งกว่าการได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ เพราะไม่มีอะไรจะโน้มน้าวศรัทธาของเรา ได้เท่ากับผลที่เกิดจากการปฏิบัติ เหมือนกับทำงานแล้วไม่ได้เงินเดือน ก็จะไม่มีกำลังใจที่จะทำ ถ้าทำแล้วได้รับเงินเดือน ก็จะมีกำลังใจทำ นี่ก็เหมือนกัน ถึงแม้จะมีศรัทธาแต่ปฏิบัติยังไม่เห็นผล ก็จะไม่มีศรัทธาที่จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ แต่พอได้พบกับความสงบ ได้เห็นจิตรวมเป็นครั้งแรก จะทุ่มเทหมดเลย จะตัดจะละได้หมด ออกบวชออกปฏิบัติได้อย่างเต็มที่เลย

 

เป้าหมายแรกคือการทำจิตให้รวมลงให้ได้ เจริญสตินั่งสมาธิให้มาก นั่งแล้วเจ็บปวดก็อย่าลุก บริกรรมพุทโธไป ถ้าผ่านตรงนี้ได้ จะเกิดศรัทธาอย่างมากเลย พอจิตรวมลงแล้ว ถึงแม้เวทนาจะไม่หายก็ตาม แต่จิตจะสงบเย็นสบาย ไม่วุ่นวายกับความเจ็บปวดของร่างกาย ทีนี้จะมีกำลังใจมีศรัทธาจริงๆ เป็นศรัทธาที่ไม่สั่นคลอน ไม่มีใครมาโน้นน้าวให้กลับไปทำแบบเดิมๆได้อีกแล้ว เพราะรู้แล้วว่าทางนี้เป็นทางเดียวเท่านั้น ที่จะพาไปสู่ความสุขที่แท้จริง เพราะได้เห็นหนังตัวอย่างแล้ว ได้พบกับความสุขที่เกิดจากความสงบ แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะเดียว ใหม่ๆนี้จะวูบไปเดี๋ยวเดียว แต่มีอำนาจต่อจิตใจมาก มีอิทธิพลต่อศรัทธามาก พอได้เห็นอย่างนี้ครั้งเดียวแล้ว ก็รู้ว่าสามารถทำได้อีก ก็จะทุ่มเทเวลาให้กับความสงบ อะไรที่เป็นอุปสรรค เช่นการงานต่างๆ ถ้ายังจำเป็นต้องทำ ก็ทำให้น้อยลงไป ทำเท่าที่จำเป็น ถ้าไม่จำเป็นก็ลาออกจากงานเลย จะได้ออกปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วไม่เกิน ๗ ปี อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ ถ้าจิตรวมลงแล้วปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะไม่เกิน ๗ ปีอย่างแน่นอน ถ้าได้อยู่กับครูบาอาจารย์ที่ได้ผ่านมาแล้ว จะสำเร็จเร็วขึ้น ไม่เสียเวลาคลำทาง ไม่หลงทาง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์เวลาพบกับดัก จะทำให้หลงได้ แต่จะไม่หลงออกนอกลู่นอกทาง เพียงทำให้ช้าลงไป ถ้ามีครูบาอาจารย์คอยชี้คอยบอกอยู่ทุกระยะ พอมาถึงตรงนี้ก็รู้เลยว่า จะต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหรือต้องตรงไป ถ้าไม่มีก็ต้องทดลองเลี้ยวซ้ายไปก่อน ถ้าไม่ใช่ทาง ก็ต้องเลี้ยวขวา ถ้าไม่ใช่ก็ต้องตรงไป ก็จะเสียเวลา ถ้ามีคนคอยบอกทาง พอถึงสามแยก ก็จะบอกให้ไปทางไหน อย่างนี้ก็จะไม่เสียเวลา

 

การที่มีครูบาอาจารย์หรือมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ไม่หลงทาง ขณะที่ปฏิบัติก็ยังต้องศึกษาด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ต้องทำอะไรต่อ ทำถูกหรือทำไม่ถูก อยู่ศึกษากับครูบาอาจารย์แล้ว ก็ขอลาไปปลีกวิเวกไปบำเพ็ญ แล้วก็กลับมาฟังเทศน์ฟังธรรมต่อ มีปัญหาอะไรก็กลับมาถาม เพื่อจะได้ไม่หลงทาง ไม่เสียเวลา ถ้ามีความเชื่อมั่นในครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนเรา ว่าท่านเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง เวลามีปัญหาก็รีบกลับมาถาม ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ก็ต้องคลำทางไปเอง อย่างหลวงตาช่วงที่หลวงปู่มั่นมรณภาพไปแล้ว ท่านก็ต้องคลำทางไปเอง ตอนนั้นเป็นช่วงสุดท้ายของการปฏิบัติ ท่านต้องเสียเวลาไป ๓ เดือน ตอนที่ปรากฏเป็นปริศนาธรรมขึ้นมาในจิตของท่านว่า ที่ไหนมีจุดมีต่อมที่นั้นคือภพชาติ ท่านก็ไม่ทราบคำตอบ ท่านบอกว่าถ้าหลวงปู่มั่นยังอยู่ตอนนั้น ถ้าไปกราบถวายท่านปั๊บ ท่านจะบอกคำตอบให้เลยว่าอยู่ตรงนี้ ก็จะตัดภพชาติได้ในเวลานั้นเลย แต่ท่านต้องแบกกลดไปธุดงค์อีก ๓ เดือน แล้วก็กลับมาที่ปริศนาธรรมเกิด ก็ได้คำตอบว่าอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่ที่เขาลูกนั้นเขาลูกนี้ ที่เป็นจุดเป็นต่อมอยู่ในจิตนี่เอง นี่คือความแตกต่างระหว่างการมีครูบาอาจารย์กับการไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีครูบาอาจารย์ก็ยังไปได้อยู่ ถ้าได้เข้าสู่กระแสธรรมแล้ว ได้มีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมขั้นแรกแล้ว จะไม่มีทางหลง เหลือ ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ถ้ามีครูบาอาจารย์ ก็จะบรรลุได้ในชาตินี้เลย ๗ วันหรือ ๗ ชั่วโมงก็บรรลุได้ อย่างพระปัญจวัคคีย์นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเพียง ๒ - ๓ ครั้ง ภายในเวลา ๒ - ๓ วัน ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมด ไม่ยากเลยถ้าจิตเข้าสู่กระแสแล้ว

 

ถ้าลองจิตได้เข้าสู่ความสงบแล้ว จะจับประเด็นได้ จะรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไร ผลของปฏิบัติเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่ได้เข้าสู่จุดนี้ก็ยังจะวนไปวนมา จะสงสัยจะท้อแท้อยู่เรื่อยๆ ไม่กล้าทุ่มเทชีวิตจิตใจอย่างเต็มที่ พวกเราจึงควรเชื่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อย่างเต็มที่ ฝากเป็นฝากตายไว้กับพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ อย่าไปยึดอย่างอื่นเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง อย่าไปยึดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็นที่พึ่ง ตัดไปให้หมด ไม่ต้องดูไม่ต้องฟัง นั่งสมาธิดีกว่า เจริญสติดีกว่า พิจารณาธรรมดีกว่า ฟังเทศน์ฟังธรรมดีกว่า เป็นสิ่งที่เราควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ รับรองได้ว่าผลจะต้องตามมาอย่างแน่นอน ไม่มีทางอื่น มีทางนี้ทางเดียวคือ มัชฌิมาปฏิปทา อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน อย่าไปรอพระพุทธเจ้าองค์หน้า จะได้ปฏิบัติอย่างสะดวก ฟังธรรมหนเดียวแล้วบรรลุได้เลย ถ้าเราสร้างพื้นฐานสร้างบุญบารมีสร้างไว้ในชาตินี้ เวลาไปพบพระพุทธเจ้าองค์หน้า ก็เหมือนพบกับพระพุทธเจ้าองค์นี้ จะไม่มีภาชนะรองรับธรรมที่ท่านจะมอบให้กับเรา เราต้องสร้างภาชนะรองรับธรรมไว้ก่อน สร้างสมาธิให้ได้ก่อน พอมีสมาธิแล้วก็จะรองรับวิปัสสนาได้อย่างเต็มที่ ต้องเน้นเรื่องการปฏิบัติให้มาก ต้องเน้นการภาวนาให้มาก เรื่องทานก็ทำให้หมดๆไปเลย อย่าไปติดอยู่กับการให้ทาน ต้องไปงานบุญนั้นงานบุญนี้อยู่ตลอดเวลา จะเสียเวลาภาวนาไป อยู่บ้านก็ภาวนาได้ ทำบุญด้วยการส่งเช็คไปหรือฝากผู้อื่นไปก็ได้ ไม่ต้องไปเอง อยู่บ้านรักษาศีลภาวนาดีกว่า หรือไปอยู่วัดที่สงบไปภาวนา ไม่ต้องไปงานบุญต่างๆ จะเดินถอยหลัง ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นมัธยมแล้ว อย่ากลับไปเรียนชั้นประถม ต้องก้าวขึ้นสู่ชั้นอุดมศึกษา ก้าวไปข้างหน้าด้วยการภาวนา ทานเป็นชั้นประถม เราอยู่ในชั้นภาวนา อยู่ในชั้นอุดมศึกษาแล้ว

 

ถาม  ช่วงที่จิตเสื่อมนี้ ควรจะทำทานหรือภาวนา หรือทั้ง ๒ อย่าง

 

ตอบ จิตเสื่อมก็ต้องกลับไปภาวนา ไปทำทานยิ่งเสื่อมใหญ่ ถ้าไม่ภาวนาจิตก็จะเสื่อม เหมือนกับน้ำ ถ้าเอาออกจากตู้เย็นก็จะไม่เย็น ต้องเอาไว้ในตู้เย็น ถ้าเอาไปต้มก็จะยิ่งร้อนใหญ่ ถ้าจิตสงบแล้ว กลับไปทำบุญทำทาน จะทำให้จิตร้อนขึ้น เวลาทำบุญทำทานช่วยงานกัน เดี๋ยวก็จะทะเลาะกัน มีความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้จิตรุ่มร้อนขึ้นมา พอจิตเสื่อมแล้ว ต้องรีบปลีกวิเวก ต้องรีบเอาจิตเข้าตู้เย็น เอาน้ำเข้าตู้เย็นจะได้เย็น อย่าเอาน้ำไปตั้งไว้บนเตาไฟ

 

ถาม  ช่วงนี้จะนั่งภาวนาไม่ได้เลย ควรจะนั่งหรือไม่ควรนั่ง หรือควรบริกรรมพุทโธอย่างเดียวเจ้าคะ

 

ตอบ ถ้านั่งไม่ได้ก็เดินจงกรม เจริญสติไปก่อน อย่างน้อยให้ควบคุมจิตใจไว้ ไม่ให้ไปคิดฟุ้งซ่านกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ ให้อยู่กับพุทโธไปก็ได้ หรือจะพิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายบ้างก็ได้ สวดมนต์ไปก็ได้ ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก็ได้ เพื่อกล่อมใจให้อยู่กับความสงบ อย่าไปเปิดโทรทัศน์ดู

 

ถาม  ตอนนั้นทีวีก็ไม่อยากดู ธรรมะก็ไม่อยากฟัง กลัวจะปรุงจะคิดไม่ดี ก็เลยไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร

 

ตอบ บังคับให้คิดไปในทางที่ดี คิดพุทโธๆไป ถ้าไม่รู้จะทำอย่างไรก็ให้บริกรรมพุทโธ หรือสวดมนต์ไปก็ได้

 

ถาม  ถ้าตื่นตอนกลางคืน

 

ตอบ สวดมนต์ไป บริกรรมพุทโธไป พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายก็ได้ อย่าปล่อยให้คิดเพราะจะคิดในสิ่งที่เรากลัว คิดสิ่งที่ไม่ดี จิตเป็นเหมือนรถยนต์ ถ้าปล่อยให้วิ่งเอง ก็จะแหกโค้งตกเหวหรือฝ่าไฟแดง จิตที่ไม่มีคนขับก็จะเป็นอย่างนี้ เราต้องขับใจต้องควบคุมใจ ควบคุมความคิดให้อยู่บนถนนธรรมะ ให้อยู่กับพุทโธ อยู่กับไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ต้องควบคุมใจ ปล่อยไม่ได้ สติเป็นตัวควบคุม ถ้าควบคุมให้คิดไปตามที่เราสั่ง แสดงว่ากำลังเจริญสติ ถ้าคิดอยู่กับพุทโธก็เป็นพุทธานุสติ มีสติควบคุมใจด้วยพุทโธ ถ้าดูลมหายใจเข้าออกก็เป็นอานาปานสติ ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องควบคุมใจตลอดเวลา ให้ดูใจเป็นเหมือนนักโทษ เราเป็นยามเฝ้านักโทษ ไม่ให้นักโทษไปทำอะไรไม่ดี ต้องควบคุมไว้ตลอดเวลา อย่าตามใจ อย่าปล่อยให้คิดไปตามอารมณ์