กัณฑ์ที่ ๔๐๙ ๑ มีนาคม ๒๕๕๓
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
เวลาก่อนจะฉันอาหาร พระจะต้องปฏิสังขาโยนิโส คือพิจารณาอาหาเรปฏิกูลสัญญา ดูสภาพของอาหารที่จะเปลี่ยนไป จากที่อยู่ในจานเข้าไปสู่ในปาก เข้าไปสู่ในท้อง เป็นอาหารใหม่ เป็นอาหารเก่า ถ้าพิจารณาอย่างนี้แล้ว ความอยากอาหารจะหายไป เวลาอดอาหารต้องใช้อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพราะจิตจะปรุงแต่งแต่เรื่องอาหาร ต้องนึกถึงภาพของอาหารที่เปลี่ยนสภาพไป อย่าไปนึกถึงภาพที่อยู่ในจาน น้ำลายจะไหล ถ้านึกถึงภาพที่อยู่ในปากที่เคี้ยวแล้ว อยู่ในท้องในลำไส้ ก็จะไม่อยาก เพราะใจไปให้สัญญาความมั่นหมายกับอาหารเอง อาหารก็ยังเป็นอาหารอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสภาพไป ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดน้อยลงไป แต่เรามีความรู้สึกกับอาหารต่างกัน เวลาอยู่ในจานก็มีความโลภมีกามตัณหา เวลาออกมาก็มีวิภวตัณหา มีความรังเกียจความกลัว ไม่ชอบ แต่เวลาอยู่ในจานก็ชอบ เป็นกรรมฐานที่พระมักจะใช้กัน เพราะไม่ได้รับประทานอาหาร เหมือนญาติโยมรับประทานกัน ญาติโยมไม่มีขอบเขต อยากเมื่อไหร่ก็รับประทานได้ นอนตื่นขึ้นมาดึกๆยังหาอะไรรับประทานได้ แต่พระปฏิบัติจะฉันมื้อเดียว ฉันแล้วจะไม่ฉันอาหารอีก จนกว่าจะถึงเวลา คืออีก ๒๔ ชั่วโมง วันนี้ฉัน ๘ โมงเช้า พรุ่งนี้ ๘ โมงเช้าถึงจะได้ฉันอีก ตอนบวชใหม่ๆยังไม่ชิน จิตจะปรุงแต่งตามเวลา เคยรับประทานตอนเช้าตอนกลางวันตอนเย็น พอถึงเวลาก็จะปรุงแต่งคิดถึงอาหาร จึงต้องใช้การพิจารณาสภาพของอาหารที่เป็นปฏิกูลนี้ มาดับความคิดปรุงแต่ง เป็นสังขารเหมือนกัน
สังขารอย่างหนึ่งไปทางกามตัณหา สังขารอีกอย่างหนึ่งไปทางมรรค ไปดับตัณหา พอคิดถึงสภาพไม่น่าดูของอาหาร ที่อยู่ในปากก็ดี อยู่ในท้องอยู่ในลำไส้ก็ดี ที่ออกมาแล้วก็ดี ก็จะไม่อยากจะรับประทาน มีกรณีของแม่ชีอยู่คนหนึ่ง ที่พิจารณาปฏิกูลของอาหาร จนถึงขั้นรับประทานอาหารไม่ลง มองอาหารทีไรกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในโถชักโครก จนมีปัญหาเพราะร่างกายไม่ได้รับประทานอาหาร จึงไปกราบถามพระอาจารย์ท่านหนึ่ง พระอาจารย์ช่วยแก้ให้ว่า ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็เลยเถิดไปแล้ว เหมือนกับรับประทานยามากเกินไป ต่อให้ยามีคุณมีประโยชน์มากเพียงไรก็ตาม ถ้ารับประทานเกินขนาด ก็จะเป็นภัยต่อร่างกายได้ การพิจารณาปฏิกูลอาหารก็เช่นเดียวกัน พิจารณาเพื่อดับความอยากอาหาร ดับกามตัณหา ถ้าไม่มีความอยากอาหารก็ไม่ควรพิจารณา ถ้าพิจารณาจนติดเป็นนิสัย เวลาเห็นอาหารแล้วก็จะเห็นอย่างนั้นทันที เห็นปฏิกูลทันที ท่านให้พิจารณาว่าอาหารเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ร่างกายก็เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่รังเกียจอาหาร ไม่รังเกียจธาตุที่เติมเข้าไปในร่างกาย รับกันได้ธาตุกับธาตุ เหมือนกับเติมน้ำมันให้รถ รถก็เป็นวัตถุ น้ำมันก็เป็นวัตถุเหมือนกัน วัตถุกับวัตถุก็เข้ากันได้ ไม่รังเกียจกัน ให้พิจารณาเป็นการเติมธาตุ พอพิจารณาอย่างนี้ก็จะรับประทานอาหารได้ เพราะผู้ที่ขยะแขยงไม่ใช่ร่างกาย เป็นใจ แต่ใจไม่ได้รับประทานอาหารเลยแม้แต่นิดเดียว เป็นเหมือนแม่ที่ป้อนอาหารให้ลูกรับประทาน แม่ไม่ได้รับประทานอาหาร แต่แม่กลับขยะแขยง ไม่อยากรับประทานอาหาร เมื่อแม่ไม่ได้รับประทานอาหาร จะไปขยะแขยงแทนลูกทำไม ลูกไม่ขยะแขยงเลย รับอาหารได้ทุกชนิด อาหารที่แม่ไม่ชอบก็รับประทานได้ ที่ชอบก็รับประทานได้ ใจเป็นเหมือนแม่ ใจจะชอบหรือไม่ชอบ ร่างกายรับได้หมด เพราะเป็นธาตุเหมือนกัน พอพิจารณาว่าเป็นธาตุ ก็จะรับประทานอาหารได้ปกติ
กรรมฐานแต่ละชนิดมีไว้เพื่อแก้ปัญหา เป็นเหมือนยาที่มีไว้เพื่อรักษาโรค เชื้อโรคของใจก็คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ต้องใช้ยาธรรมะมาแก้ เช่นอสุภกรรมฐานความไม่สวยงามของร่างกาย ใช้เพื่อแก้กามตัณหาความอยากในกาม ที่เห็นว่าร่างกายสวยงาม พอไม่มีปัญหาแล้วก็ไม่ต้องแก้อีกต่อไป ถ้าไม่มีกามตัณหาอยู่ในใจแล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอสุภะ ไม่ต้องพิจารณาปฏิกูล เพราะไม่มีความอยากในร่างกาย เห็นแล้วก็รู้สึกเฉยๆ ถ้ามีตัณหาฟื้นขึ้นมาอีก ก็ต้องใช้ยานี้อีก ถ้ารู้จักใช้ยานี้แล้ว ก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าเกิดมีอารมณ์ขึ้นมาปั๊บ ก็นึกถึงอสุภะปั๊บ ก็จะดับไปพร้อมๆกัน ไม่มีทางกำเริบได้ เพราะยาคืออสุภกรรมฐานนี้ จะคุมกามตัณหาราคะตัณหาได้ตลอดเวลา พอไม่มีราคะตัณหาแล้ว ก็ไม่ต้องเจริญอสุภกรรมฐานอีกต่อไป กรรมฐานใช้เพื่อดับกิเลสตัณหา การปฏิบัติธรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ การทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ การพิจารณาด้วยปัญญานี้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมายของการปฏิบัติ เป้าหมายของการปฏิบัติคือการตัดตัณหาทั้ง ๓ กามตัณหา วิภวตัณหา ภวตัณหา ซึ่งเป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ เป็นเหมือนเชื้อโรคของร่างกาย ต้องรับประทานยา ยาก็คือสติทานศีลสมาธิปัญญา ไม่ใช่ผลที่เราต้องการ เป็นเครื่องมือไว้ชำระตัณหา คือความอยากต่างๆ พอตัณหาชนิดต่างๆหมดไปจากใจแล้ว เครื่องมือเหล่านี้ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป พระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวก ไม่ต้องเจริญสติเจริญสมาธิเจริญปัญญา หลังจากที่จิตบริสุทธิ์แล้ว ไม่ต้องรับประทานยาแล้ว อยู่เฉยๆก็ได้ อยู่แบบไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เหมือนกับคนที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องมียา ถ้าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บแล้วมียาไว้ทำไม เอาไปให้คนที่ยังเจ็บไข้ได้ป่วยใช้จะดีกว่า
การเจริญสติ การทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม เจริญปัญญา ล้วนเป็นเครื่องมือทั้งนั้น เป็นธรรมโอสถ เป็นยารักษาโรคใจ ตอนนี้พวกเราต้องกินให้มากๆ เจริญให้มากๆ ปฏิบัติให้มากๆ เพราะเชื้อโรคยังมีอยู่ในใจ ยังมีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา พอปฏิบัติไปเรื่อยๆ ตัณหาก็จะค่อยหมดไป จนไม่มีหลงเหลืออยู่ ก็ไม่รู้จะปฏิบัติไปหาอะไร ไม่รู้จะกินยาไปทำไม กินไปก็ไม่ได้ไปกระทบกระเทือนเชื้อโรค เพราะไม่มีเชื้อโรค เราจึงต้องทำความเข้าใจไว้ว่า การปฏิบัติของเรานี้เพื่อทำลายกิเลสตัณหา ทำลายความโลภความโกรธความหลง ทำลายกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา พอกิเลสตัณหาไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในใจแล้ว ก็ไม่ต้องปฏิบัติอีกต่อไป การปฏิบัตินี้เป็นขั้นๆ พอรักษาโรคชนิดนี้ได้แล้ว ก็ไม่ต้องรักษาอีกต่อไป ต้องไปรักษาโรคอื่นที่ยังเหลืออยู่ภายในใจ ตอนต้นก็รักษาความจู้จี้จุกจิกในอาหาร ก็ต้องเอาอาหารทั้งหมดมารวมในภาชนะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นของคาวของหวานผลไม้ อะไรที่จะเข้าไปอยู่ในท้องก็เอามาใส่ในภาชนะเดียวกัน เพราะเดี๋ยวก็ต้องไปรวมกันอยู่ในท้อง แล้วก็คลุกอาหารทั้งหมดให้เหมือนกับตอนที่อยู่ในท้อง แล้วค่อยรับประทาน ถ้าเรารับประทานอย่างนี้ก็จะไม่มีปัญหากับอาหารชนิดต่างๆ จะรับประทานเหมือนกับรับประทานยา ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน เรารับประทานได้หมด จะเป็นสีที่เราชอบหรือไม่ชอบ เป็นรูปลักษณ์ที่เราชอบหรือไม่ชอบ จะเป็นน้ำหรือเป็นเม็ด ก็รับประทานได้หมด เพราะต้องอาศัยยาเพื่อรักษาโรค
เวลารับประทานอาหาร จึงควรรับประทานเหมือนรับประทานยา เพื่อรักษาร่างกายให้อยู่ได้ต่อไป เพื่อดับความหิวที่เกิดจากการขาดอาหาร นี่คือการรับประทานอาหารแบบธรรมะ จิตใจจะไม่กังวลกับเรื่องอาหาร จะรับประทานตามมีตามเกิด มีอะไรก็รับประทานไป เรื่องอาหารก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป ถ้าไม่ชอบอาหารก็ไม่ต้องรับประทาน พอไม่ได้รับประทานสัก ๒ - ๓ มื้อ ก็จะชอบหมด ข้าวเปล่าคลุกน้ำปลาก็อร่อย เรื่องของกิเลสเป็นอย่างนี้ ถ้าเอาใจกิเลสมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งจู้จี้จุกจิกมากขึ้น พอต้องรับประทานอาหารที่ไม่ชอบ ก็จะรับประทานไม่ได้ จะไม่สบายใจ เวลาที่ต้องรับประทานอาหารที่ไม่ชอบก็จะไม่มีความสุข ถ้าฝึกจิตให้รับอาหารได้ทุกชนิด ด้วยการคลุกอาหารในภาชนะเดียว ต่อไปจะไม่มีปัญหาเรื่องรับประทานอาหาร อาหารชนิดไหนก็รับประทานได้ พอหมดปัญหาเรื่องอาหารนี้แล้ว ก็กลับมารับประทานอย่างปกติได้ รับประทานในจานในชามเหมือนมนุษย์ทั่วไปได้ แต่ในใจไม่ยินดียินร้ายกับอาหาร มีอะไรก็รับประทานได้ เพราะเดี๋ยวก็เข้าไปรวมกันอยู่ในท้อง เวลาเข้าไปในปากก็ต้องคลุกกับน้ำลาย พอเคี้ยวบดแล้วเป็นอย่างไร จะไม่รู้สึกอะไร จะรู้สึกเฉยๆ รับประทานเพื่อให้ร่างกายอยู่ต่อไปได้ พอหมดปัญหานี้แล้ว ก็จะไปแก้ปัญหาอื่นต่อ
ถ้าเป็นราคะตัณหา ก็ต้องพิจารณาอสุภะความไม่สวยไม่งาม ปฏิกูลความสกปรกของร่างกาย ที่มีสิ่งสกปรกขับถ่ายออกมาตลอดเวลาตามทวารต่างๆ มีแต่ขี้ ออกมาทางตาก็เรียกขี้ตา ออกมาทางจมูกก็เรียกขี้มูก ออกมาทางผิวหนังก็เรียกขี้เหงื่อ มีแต่ขี้มีแต่ปฏิกูล ต้องพิจารณาอย่างนี้ จะได้ไม่ชอบร่างกาย พิจารณาเพื่อดับความใคร่ พอความใคร่หมดไปแล้วก็ไม่ต้องพิจารณา ถ้าพิจารณาจะอยู่กับร่างกายไม่ได้ จะพาลฆ่าร่างกายนี้ ที่สกปรกเหม็นอยู่ตลอดเวลา จิตจะวิปริต อยู่กับคนอื่นไม่ได้ยังไม่เท่าไหร่ อยู่กับร่างกายของตัวเองไม่ได้ ต้องฆ่าร่างกาย อย่างนี้ก็แสดงว่าเกินไปแล้ว การพิจารณาปฏิกูลหรืออสุภะนี้ เพื่อตัดความใคร่ความยินดี พอไม่มีแล้วก็ต้องหยุด อยู่อย่างปกติ เพราะไม่เป็นปัญหาแล้ว เหมือนรับประทานยา พอหายจากโรคแล้วก็ต้องหยุดยา หายาอื่นมารักษาโรคใหม่ต่อ ถ้ายังมีโรคอื่นอยู่ก็ยังต้องรักษาไปเรื่อยๆ จนไม่มีโรคหลงเหลืออยู่ภายในจิตใจแล้ว ก็ไม่ต้องรักษาอีกต่อไป
ถ้ายังรักตัวกลัวตายอยู่ ก็ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ต้องเอาร่างกายไปไว้ในที่ๆเสี่ยงต่อความตาย แล้วก็ปลง ปล่อยวาง ถ้ามันจะตายก็ให้มันตายไป นี่ก็เป็นยาอีกแบบหนึ่ง ในการปฏิบัติจะมีปัญหาที่ต้องแก้อยู่หลายขั้นด้วยกัน เรื่องอาหาร เรื่องอสุภะ ความไม่สวยไม่งาม เพื่อดับราคะ เรื่องความตาย เพื่อดับความกลัวตาย เรื่องความเจ็บปวด ก็นั่งให้มันเจ็บปวดแล้วก็ปล่อยให้มันหายไปเอง แต่อย่านั่งเฉยๆ ต้องแยกแยะว่า ความเจ็บปวดเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ร่างกายเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ใจผู้รู้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นคนละส่วนกัน แต่ละส่วนก็เป็นของเขาอย่างนั้น เหมือนกับศาลาหลังนี้ ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง แดดที่ส่องมาที่ศาลาก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง คนที่อยู่ในศาลาก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นคนละส่วนกัน ต่างคนต่างอยู่กันไป เวลานั่งก็ปล่อยให้ร่างกายนั่งไป เวทนาเกิดขึ้นมาก็ปล่อยให้เกิด ใจผู้รู้ก็รู้ไป รู้ว่าตอนนี้มีเวทนาเกิดขึ้น รู้ว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่ ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนไป ถ้าแยกให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติของเขา โดยไม่มีใครมาเกี่ยวข้องแล้ว ก็จะอยู่กันอย่างสันติสุข ถ้ามีกิเลสมีความหลงมาหลอกให้ปรุงแต่งว่า เวทนานี้เป็นเรา ร่างกายนี้เป็นเรา ความเจ็บนี้เรากำลังเจ็บ ร่างกายของเราเจ็บ ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะนั่งอยู่เฉยๆไม่ได้
ถ้าพิจารณาว่าร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ร่างกายไม่รู้ความเจ็บ เหมือนกับศาลาหลังนี้ อยู่กลางแดดกลางฝนไม่มีปฏิกิริยากับฝนกับแดด ฝนตกก็รับได้ แดดออกก็รับได้ ร่างกายก็เหมือนกัน จะเจ็บหรือไม่เจ็บ ก็เป็นร่างกายเช่นเดิม เป็นหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯลฯเช่นเดิม ไม่ได้เป็นเวทนา ไม่รู้เวทนาความเจ็บปวด ความเจ็บปวดก็ไม่รู้ร่างกาย ไม่รู้ว่าเขาเจ็บ มีใจเท่านั้นที่รู้ แต่ใจรู้ไม่จริง ไปว่าร่างกายเป็นใจ พอมีความเจ็บเกิดขึ้นในร่างกาย ใจก็เจ็บแทนร่างกาย จนทนไม่ได้ ที่ทนไม่ได้ ไม่ใช่เพราะทนความเจ็บของร่างกายไม่ได้ แต่ทนความทุกข์ใจไม่ได้ ความทุกข์ใจที่อยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บนี้ไป ตัวนี้ต่างหากที่ทนไม่ได้ คือทุกข์ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บหายไป หรือความอยากที่จะหนีจากความเจ็บไป เช่นอยากจะขยับร่างกาย นี่คือปัญหาของใจ เวลานั่งแล้วไม่สามารถปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางเวทนาให้อยู่ตามสภาพของเขา เพราะใจมีอุปาทานในร่างกายและในเวทนา ไม่อยากจะให้ร่างกายมีทุกขเวทนา มีความเจ็บปวด ไม่ชอบความเจ็บปวด ไม่ชอบทุกขเวทนา ชอบแต่สุขเวทนา พอเกิดทุกขเวทนาก็เกิดวิภวตัณหา อยากให้หนีไปจากความเจ็บปวด หรืออยากให้ความเจ็บปวดหายไป ก็เลยสร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ ที่เจ็บปวดยิ่งกว่าความเจ็บปวดของร่างกาย
ถ้าสามารถแยกแยะได้ ก็จะทำใจให้นิ่ง ดับวิภวตัณหาความกลัวความเจ็บ หรือความอยากให้ความเจ็บหายไปได้ เจ็บก็ให้เจ็บไป นั่งรับรู้ไป พอใจยอมรับความจริงของร่างกาย ความจริงของเวทนา ว่าเขาเป็นอย่างนี้ ก็จะนั่งไปได้เรื่อยๆ ไม่เป็นปัญหา เวทนาจะแสดงในรูปแบบไหน ก็ปล่อยเขาแสดงไป รับได้ทุกรูปแบบ เป็นทุกขเวทนาก็ได้ เป็นสุขเวทนาก็ได้ ไม่สุขไม่ทุกขเวทนาก็ได้ ส่วนใหญ่พวกเราจะรับได้ ๒ ส่วนเท่านั้น คือสุขเวทนากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนา บางทีแม้แต่ไม่สุขไม่ทุกขเวทนาก็รับไม่ได้ เช่นอยู่เฉยๆร่างกายไม่เจ็บไม่ปวด แต่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ ต้องสร้างสุขเวทนาขึ้นมา เช่นไปดูหนังหรือไปหาเครื่องดื่มมาดื่ม เราจึงมีตัณหาชอบในสุขเวทนา ด้วยการหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นกามตัณหา ถ้าไม่อยากในสุขเวทนา ก็จะไม่มีกามตัณหาไม่ต้องหาเครื่องดื่มต่างๆมาดื่มระหว่างมื้อ จะรับประทานก็รับประทานหนเดียว ดื่มอะไรก็ดื่มหนเดียว จะดื่มน้ำชากาแฟ จะรับประทานขนมนมเนยอะไรต่างๆ ก็รับประทานและดื่มไปทีเดียวพร้อมกับอาหาร พอเสร็จแล้วก็ดื่มแต่น้ำเปล่า เพราะร่างกายต้องการน้ำเปล่าเท่านั้น จะไม่รู้สึกเดือดร้อนแต่อย่างใด ไม่เปรี้ยวปาก ไม่รู้สึกขาดอะไรไป เหมือนที่พวกเราขาดกัน ต้องมีของพวกนี้อยู่ใกล้มือ อยู่ในตู้เย็น อยู่ในตู้ อยู่ในลิ้นชัก อยู่ในกระเป๋า ต้องมีของขบเคี้ยวมีเครื่องดื่ม เป็นกามตัณหาความอยากในสุขเวทนา เพราะไม่ปล่อยเวทนาให้เป็นไปตามเรื่องของเขา เขาสุขก็ปล่อยเขาสุขไป ไม่ต้องไปยึดไปติด เวลาความสุขหายไปก็ไม่ต้องไปไขว่คว้าหามันมา เวลาสุขเวทนาหายไป เหลือแต่ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็อยู่กับไม่สุขไม่ทุกข์ได้ เวลาไม่สุขไม่ทุกข์เปลี่ยนเป็นทุกขเวทนา เช่นนั่งนานๆแล้วเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ ก็ปล่อยให้เจ็บให้ปวดไป เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องเจ็บเป็นธรรมดา ก็ปล่อยให้เจ็บไป รักษาได้ก็รักษาไป แต่ในขณะที่รักษาอยู่ ถ้าเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป ไม่ทุกข์ทรมานใจไปกับมัน รับเวทนาได้ทั้ง ๓ ส่วน สุขเวทนาก็รับได้ ทุกขเวทนาก็รับได้ ไม่สุขไม่ทุกขเวทนาก็รับได้ นี่ก็เป็นการแก้ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งที่มีด้วยกันทุกคน
ต้องแก้ไปเรื่อยๆ ต้องพิจารณาดูใจเรื่อยๆว่า มีตัณหาชนิดไหนหลงเหลืออยู่ ก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ จนไม่มีตัณหาความอยากเหลืออยู่เลย ตอนนั้นปัญหาต่างๆก็จะหมดไป พอไม่มีปัญหาแล้ว ไม่มีตัณหาแล้ว ก็อยู่อย่างสบาย ไม่ต้องแก้ปัญหาอีก ไม่มีปัญหาให้แก้ พอโรคภัยไข้เจ็บไม่มีแล้ว ก็ไม่ต้องรับประทานยา ไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ต้องรักษาศีล ไม่ต้องให้ทาน ไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องเจริญปัญญา ไม่ต้องเจริญสติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มี มีอยู่ แต่ไม่ได้ใช้เพื่อดับกิเลสดับตัณหา เพราะไม่มีอะไรให้ดับแล้ว มีไว้ใช้งานทั่วไป เช่นเวลาสั่งสอนผู้อื่น ก็ต้องใช้สติใช้ปัญญาพิจารณาเหมือนกัน เวลาทำภารกิจดูแลร่างกายก็ต้องมีสติ รับประทานอาหารก็มีสติมีปัญญา ยังใช้อยู่เหมือนกัน แต่ไม่ได้ใช้ไปในการดับกิเลส ไม่ได้ใช้ไปในการรักษาโรคของใจ แต่ก็ยังมีอยู่ เช่นทานก็ยังทำอยู่ เห็นใครเดือดร้อน มีอะไรพอจะสงเคราะห์ใครได้ก็จะสงเคราะห์ไป ศีลก็มีอยู่ ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่อยากไปเบียดเบียนใคร เพราะไม่มีความอยากที่จะได้อะไร เมื่อไม่มีความอยากที่จะได้อะไรมา ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น มีศีลแต่ไม่ต้องเจริญศีล ไม่ต้องรักษาศีล เพราะเหตุที่ทำผิดศีลผิดธรรมก็คือกิเลสตัณหานี้เอง เหตุที่ทำให้เรามีความตระหนี่ความหวงแหน ก็คือกิเลสตัณหานี้เอง ที่ให้ทำทานก็เพื่อตัดกิเลสตัวหวงแหน ตัวยึดติดในสมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ พอไม่มีกิเลสแล้วจะให้ก็ได้ไม่ให้ก็ได้ ปล่อยไว้เฉยๆก็ได้ มีสมบัติอยู่มากน้อยเพียงไรจะปล่อยไว้เฉยๆ หรือเอาไปทำประโยชน์ก็ได้ ถ้าไม่มีความตระหนี่แล้วก็ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม ก็จะเอาไปสงเคราะห์โลก เอาไปทำประโยชน์ให้กับผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากต่อไป แต่ไม่ได้ทำเพื่อตัดกิเลส ไม่ได้ทำเพื่อตัดความตระหนี่ ไม่ได้ทำเพื่อตัดอุปาทาน เพราะไม่มีจะให้ตัด การนั่งสมาธิก็ไม่ได้ทำเพื่อระงับความฟุ้งซ่าน การเจริญสติก็ไม่ได้ทำเพื่อการดับความไม่มีสติ มีสติอยู่ตลอดเวลาโดยธรรมชาติ ไม่ต้องตั้ง เพราะสตินี้ไม่หายไปไหน ไม่เจริญแล้วเสื่อมเหมือนของปุถุชน ถ้าไม่ตั้ง พอเผลอปั๊บ ใจก็จะลอยไป ไม่มีสติ แต่นี่ใจไม่ลอยไปไหน อยู่กับที่ตลอดเวลา อยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา ถ้าไม่สั่งให้ไปอดีตไปอนาคตก็จะไม่ไป มันอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น นี่คือใจที่ไม่มีปัญหาแล้ว
การปฏิบัติการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ของพระขีณาสพ ของพระพุทธเจ้าของพระอรหันตสาวกนี้ ท่านทำเพื่อความอยู่อย่างสบายของสังขารร่างกาย นั่งมากๆเมื่อยก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม เปลี่ยนอิริยาบถ ทำงานมากๆใช้สังขารความคิดมากๆ ก็หยุดพักในสมาธิ แต่ไม่ได้ระงับความฟุ้งซ่าน ถ้าไม่นั่งจะนอนก็ได้ ถ้าทำงานมากคิดมากก็หยุดคิด นอนเลย เรื่องต่างๆก็หายไป นี่ก็คือเรื่องของการปฏิบัติ ที่มีวันสิ้นสุด ไม่ต้องทำไปตลอดเหมือนงานทางโลก บางคนเกษียณอายุแล้วยังหางานใหม่ทำต่อ เพราะกิเลสไม่ยอมให้หยุด ตัณหาไม่ยอมให้หยุด อยู่เฉยๆแล้วรำคาญใจ เคยทำอะไรอยู่เป็นประจำ พอไม่ได้ทำแล้ว รู้สึกว้าเหว่หงุดหงิดรำคาญใจ ต้องหางานใหม่มาทำ ทำไปจนกว่าจะไม่สามารถทำได้ถึงจะหยุด แต่งานทางธรรมนี้ เมื่อได้รักษาใจให้หายจากโรคแล้ว ได้ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องทำอีก ว่างสบายตลอดเวลา ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ดูแลรักษาร่างกายไป ถ้ามีโอกาสอบรมสั่งสอนก็อบรมสั่งสอนไป แต่จะไม่มีความอยากสอนใคร มันไม่มีความอยาก พอตัดความอยากหมดแล้ว ความอยากจะสอนก็ไม่มี พระพุทธเจ้าตอนที่ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ไม่อยากจะสอนใคร ถ้ามีเหตุให้สอนท่านก็สอน เช่นมีคนสนใจศึกษา แต่จะไม่ไปประกาศตนเป็นศาสดา ไปติดโฆษณาไว้ตามสถานที่ต่างๆ ว่าใครอยากจะเรียนปฏิบัติธรรม ก็มาหาเรานะ เราจะสอนให้ อย่างนี้ไม่มี ถ้ามาเองก็ดูว่ามีศรัทธาจริงหรือไม่ มีความสามารถที่จะรับคำสอนไปปฏิบัติได้หรือไม่ ถ้ามีก็ยินดีที่จะสอน ถ้าสอนไปแล้วเหมือนกับเทน้ำใส่หลังสุนัข ก็ไม่สอนให้เสียเวลา เสียดายน้ำ เพราะเทไปเท่าไหร่สุนัขก็สลัดทิ้งหมด สอนเท่าไหร่ก็ไม่เข้าไปในใจ เข้าหูซ้ายออกหูขวา อย่างนี้สอนไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร สอนไปแล้วก็กลับมาถามปัญหาเดิมๆ แสดงว่าไม่ได้เอาไปปฏิบัติกัน ถ้าถามปัญหาอื่น ปัญหาที่ถามไปนั้นแก้ได้แล้ว อย่างนี้ก็แสดงว่าได้ผลได้ประโยชน์ อย่างนี้ก็น่าสอนต่อ แต่กลับมาทีไรก็ถามเรื่องเดิม สวรรค์อยู่ที่ไหน นรกอยู่ที่ไหน ถามอยู่เรื่อย สวรรค์มีจริงหรือเปล่า ต้องไปอินเดียหรือไม่ ถ้าปฏิบัติแล้วจะรู้ว่าอินเดียไม่ได้อยู่ตรงไหน อินเดียก็อยู่ตรงนี้แหละ อยู่ที่ใจเรานี่แหละ ไม่ต้องไปหรอก ทุกอย่างอยู่ที่ใจหมด พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่ใจของเรา
ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้เห็นตถาคตก็คือผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็คือพระสงฆ์นั้นเอง จะมีดวงตาเห็นธรรม ก็ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ต้องปฏิบัติที่ใจ ไม่ได้ปฏิบัติที่อินเดีย อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ ถ้าอยู่ที่อินเดียก็ปฏิบัติที่อินเดีย ถ้าอยู่ที่นี่ก็ปฏิบัติที่นี่ ถ้าไม่สัปปายะไม่เอื้อต่อการปฏิบัติ ก็ต้องหาที่ที่สัปปายะ ไม่ได้หาเพราะคิดว่าตรงนั้นมีมรรคผลนิพพาน มีพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ แต่หาที่ๆจะเอื้อต่อการปฏิบัติ ให้มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมาในใจ ต้องเป็นที่สงบสงัดวิเวกตามป่าตามเขา หรือที่ที่ต้องไปพิสูจน์ธรรมะ เช่นไปพิสูจน์ความกลัวความกล้าว่ามีหรือไม่ ความกลัวตายยังมีอยู่หรือเปล่า ต้องไปหาที่ๆท้าทายต่อความตาย เพื่อจะได้พิสูจน์ว่าละความกลัวตายได้หรือยัง สถานที่เป็นเพียงชนวนเป็นเหตุ ที่จะช่วยทำให้ปัญหาภายในใจหมดไป ธรรมทั้งหมดนี้อยู่ในใจ ไม่ว่านรกหรือสวรรค์ มรรคผลนิพพาน อยู่ในใจ ใจเป็นผู้สร้างขึ้นมา เรากำลังสร้างภพต่างๆด้วยการกระทำ ถ้าทำบาปด้วยความโลภก็สร้างเปรตขึ้นมาในใจ ถ้าทำบาปด้วยความอาฆาตพยาบาทเราก็สร้างนรกขึ้นมา ถ้าทำบุญด้วยความเมตตากรุณาก็สร้างเทพขึ้นมา ถ้าสร้างความสงบให้กับใจก็สร้างพรหมขึ้นมา ถ้าสร้างปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็สร้างพระอริยเจ้าขึ้นมาภายในใจ
ใจของพวกเรานี่แหละ ที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างตามบุญกรรมที่ทำมา วัฏสงสารหรือไตรภพนี้ใจเป็นผู้สร้างขึ้นมา พวกเราแต่ละคนก็สร้างไม่เหมือนกัน บางคนก็สร้างกามภพ บางคนก็สร้างรูปภพ บางคนก็สร้างมรรคผลนิพพาน อยู่ที่การกระทำคือกรรม ใจจะเป็นภพชนิดไหนก็อยู่ที่กรรมคือการกระทำของเรา จะเป็นสัตว์ชนิดไหน ก็อยู่ที่การกระทำของเรา ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า กรรมเป็นเครื่องจำแนกแยกสัตว์ ทำกรรมอะไรไว้ก็จะเป็นสัตว์ชนิดนั้น ทำบาปเพราะความโลภก็จะเป็นเปรต ทำบาปเพราะความอาฆาตพยาบาทก็จะเป็นนรก ทำบุญด้วยความเมตตากรุณาก็จะเป็นเทพ ทำจิตให้สงบด้วยสมาธิก็จะเป็นพรหม เจริญปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์ก็จะเป็นพระอริยเจ้า อยู่ที่กรรมคือการกระทำของพวกเรา ตอนนี้พวกเรากำลังทำดี ทานศีลก็จะทำให้เป็นเทพ นั่งสมาธิก็จะเป็นพรหม เจริญปัญญาตัดตัณหาตัดกิเลสได้ ก็จะเป็นพระอริยเจ้า เป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพาน อยู่ที่กายวาจาใจเรานี่เอง จะว่าอยู่ที่ใจดวงเดียวนี้ก็ได้ เพราะกายวาจาเป็นเครื่องมือของใจ ถ้าไม่มีใจแล้วกายวาจาก็ไม่มีความหมายอะไร เหมือนคนตาย ไม่สามารถพูดอะไรได้ ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่มีใจเป็นผู้สั่งการ ดังนั้นผู้ที่ทำกรรมที่แท้จริงก็คือใจนี้เอง ใจเป็นผู้กระทำและเป็นผู้รับผล ใจเป็นผู้สร้างโลกต่างๆขึ้นมา สร้างสวรรค์สร้างนรก สร้างภพสร้างภูมิต่างๆขึ้นมา
ถ้าใจได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ใจก็จะสร้างภพชาติที่ดี ถ้าได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็จะสร้างภพชาติที่ไม่ดี ถ้ามีความหลงมากๆก็แสดงว่าได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ถ้าคิดว่าลาภยศสรรเสริญสุขเป็นสิ่งที่ดี ก็แสดงว่าหลงแล้ว พอหลงกับลาภยศสรรเสริญสุข ก็จะต้องไปทำบาปทำกรรม เพราะได้มาเท่าไหร่ก็จะไม่พอ อยากจะได้เพิ่มขึ้นไปอีก ถ้ามีวิธีไหนที่ทำให้ได้เพิ่มมาก็จะทำ ถ้าจะต้องทำบาปเพื่อจะให้ได้มาก็จะทำ ก็เลยสร้างภพที่ไม่ดีให้ ถ้ามีข้อมูลที่ถูกต้อง คิดว่าลาภยศสรรเสริญสุขเป็นทุกข์ ไม่เป็นสุข ไม่ดีสำหรับจิตใจ สิ่งที่ดีสำหรับจิตใจก็คือทานศีลภาวนา ก็จะสร้างทานศีลภาวนา สร้างภพชาติที่ดี สร้างสวรรค์มรรคผลนิพพานให้กับใจ การได้พบพระพุทธศาสนา เป็นการได้รับข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ถูกต้อง ข้อมูลที่จะพัฒนาจิตใจให้เจริญถึงขีดสูงสุดได้ ถ้าไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา ก็จะมีแต่ข้อมูลที่จะพาให้จิตใจเสื่อมถึงขีดที่ต่ำสุดคือนรก เช่นทำบาปทำกรรมฆ่าผู้อื่นก็ต้องไปตกนรก จึงถือว่าพวกเรามีบุญมีวาสนา ที่ได้มาพบข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงควรเชื่อข้อมูลเหล่านี้ และควรทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งหมด ปฏิบัติตามข้อมูลที่ถูกต้องนี้ ก็คือเจริญมรรคให้มากนี่เอง มรรคต้องเจริญให้มาก เจริญทาน เจริญศีล เจริญภาวนา ทำเพียง ๓ ข้อ ทำไมจะทำไม่ได้ ทำไปเลย วันนี้กลับไปบ้านไปเปิดบัญชีดูเลยว่า มีเงินทองเท่าไหร่ พอหรือยัง ถ้าพอแล้วก็ออกจากงาน มาปฏิบัติธรรมดีกว่า มารักษาศีลมาภาวนาดีกว่า จะไปหามาอีกทำไม ไม่ได้ทำให้เราเจริญขึ้น แต่จะฉุดให้เราลงต่ำ ถ้าไปยึดติดกับลาภยศสรรเสริญสุขทางโลก
เกษียณแล้วทำอะไรอยู่ เมื่อก่อนนี้ไม่ได้สร้างบ้านใหม่ก็อยู่ได้ พอว่างแล้วจึงมาสร้าง ทำไมไม่สร้างเรือนใจ อยู่อีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว แต่เรือนใจนี้ยังไม่มี ก็ยังจะต้องท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ถ้าสร้างเรือนใจแล้ว มีที่อยู่แล้ว ก็สบาย ไม่ต้องไปไหนอีกแล้ว ตอนนี้ขาดอะไร ขาดศรัทธาหรือ ศรัทธาก็มีแล้ว ขาดวิริยะความเพียรหรือ ก็ต้องปลุกความเพียรขึ้นมา ว่าชีวิตสั้นลงสั้นลง เวลาเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ เวลาที่จะสร้างเรือนใจนี้น้อยลงไปเรื่อยๆ ต้องปลุกวิริยะความพากเพียรให้เกิดขึ้น ด้วยการศึกษาชีวประวัติของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ถ้าไม่คิดไปในทางนี้ ก็จะมีเรื่องต่างๆมาหลอกมาล่อ ให้ไปติดพันอยู่ตลอดเวลา เหมือนตอนที่เราเริ่มศึกษาใหม่ๆ อ่านหนังสืออยู่เกือบ ๓ เดือน อ่านเรื่องนั่งสมาธิแต่ยังไม่ได้นั่งสักครั้ง อยู่มาวันหนึ่งก็ถามตัวเองว่าทำไมยังไม่นั่งสักที พอได้สติปั๊บก็นั่งเลย นั่งตอนนั้นเลย ศึกษาเรื่องนั่งสมาธิมาก็นานแล้ว แต่ยังไม่เคยนั่งเลย ก็เลยนั่งตรงนั้นเลย พอคิดได้ตรงนั้นก็ทำเลย เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ ถ้าไม่เริ่มปฏิบัติ ก็จะไม่ได้ปฏิบัติ จะมีเรื่องนั้นเรื่องนี้มาคอยหลอกล่ออยู่ตลอดเวลา ก็จะผัดวันไปเรื่อย อาทิตย์หน้า เดือนหน้า ให้เสร็จเรื่องนี้ก่อน
พอบวชแล้วก็ยังมีเรื่องมาหลอกมาล่อให้ไปทำ อย่างพระอานนท์นี่ ถึงแม้ท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านก็ยังติดอยู่ตรงนั้นถึง ๒๕ ปี เพราะมีพระพุทธเจ้าต้องคอยอุปัฏฐาก แต่พอสิ้นพระพุทธเจ้าไปเพียง ๓ เดือนก็ได้บรรลุเป็นอรหันต์ ได้เสร็จงาน งานเหลือเพียง ๓ เดือน แต่ปล่อยไว้ถึง ๒๕ ปี นี่มองในทางมรรคนะ ถ้ามองในทางโลกก็ดี ที่ท่านเสียสละคอยอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า เป็นประโยชน์แก่โลกมาก เพราะท่านมีความจำที่ดี พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้นี้ พระอานนท์จำไว้ได้หมด แต่ไม่ดีกับตัวท่านเอง ไม่ดีกับใจของท่าน อาจจะเป็นกรรมของท่าน ที่ท่านต้องบำเพ็ญแบบนี้ไปก่อน ต้องฟังเทศน์ฟังธรรมไป ๒๕ ปีก่อน แล้วถึงค่อยออกปฏิบัติ พวกเราก็ยังไปหาครูบาอาจารย์กันอยู่เรื่อยๆ ไปฟังองค์นั้นไปฟังองค์นี้อยู่ ยังไม่ได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง สำคัญที่การปฏิบัติ ปริยัติเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ส่วนที่สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติ ที่ต้องอาศัยปริยัติ ปริยัติกับปฏิบัตินี้ไปพร้อมกันได้ ไม่ใช่เอาแต่ปริยัติอย่างเดียวแล้วก็ไม่ปฏิบัติ ต้องไปด้วยกัน ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว พอกลับไปบ้านก็ไปนั่งเลย นั่งให้มันเจ็บให้มันปวดไปเลย หรือเปิดแผ่นอสุภะนี้ดูเลย อย่าทิ้งไว้เป็นเดือน ไม่กล้าเปิด กลัวความจริง เพราะความจริงมันเจ็บ
ถาม ถ้าดูในแง่วิทยาศาสตร์ก็มหัศจรรย์
ตอบ ดูว่าเป็นธาตุ ดูร่างกายเป็นเหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง ใจได้ตุ๊กตามาเล่น แต่ใจไปหลงคิดว่าตุ๊กตาเป็นใจ พอตุ๊กตาเป็นอะไรไปก็ตกใจ แต่ผู้ที่ตกใจไม่ได้ตาย ใจไม่ได้ตาย เจ้าของตุ๊กตาไม่ได้ตาย ตัวตุ๊กตาตาย ความจริงตุ๊กตาก็ไม่ตาย หยุดทำงานเท่านั้นเอง เหมือนกับรถที่เสีย ใช้งานไม่ได้แล้ว ร่างกายเวลาตายไปก็แสดงว่ามันเสีย ใช้งานไม่ได้ ซ่อมไม่ได้ ต้องปล่อยให้เน่าเปื่อยไป กลับคืนสู่สภาพเดิมของเขา จะดูอย่างนี้ก็ได้ ดูร่างกายเป็นธาตุ ๔ เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใคร ก็เหมือนกันทั้งนั้น ส่วนสถานภาพนี้เป็นสมมุติ สมมุติว่าเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้องเป็นสามีเป็นภรรยา แต่ความจริงเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง ที่ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไป ถ้ามองอย่างนี้แล้ว เวลาร่างกายแก่เจ็บตาย จะไม่รู้สึกอะไร ต้องมองอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ คิดอยู่เรื่อยๆ เตือนใจอยู่เรื่อยๆ เวลาร่างกายตายไปจะไม่เสียหลัก จะรู้ทัน รู้ทันความหลง รู้ความจริงว่าต้องเป็นอย่างนี้ แต่ใจไม่จริงกับความจริง ใจหลง ไม่อยากให้ร่างกายแก่เจ็บตาย ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาของเราหรือของคนอื่น เราก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ แต่มันเป็นไปไม่ได้ ตามหลักความจริงมันต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้ามองว่าเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง ก็จะรู้สึกเฉยๆ เหมือนแก้วใบหนึ่ง พอแก้วแตกแล้วก็เก็บเอาไปทิ้งใส่ถังขยะ
หลังจากเผาศพโยมแม่ของหลวงตาเสร็จแล้ว ท่านก็เอาเศษกระดูกเศษขี้เถ้าไปโรยใต้ต้นโพธิ์ เป็นดินกลับคืนสู่ดิน เผาตอนบ่ายที่หน้าศาลาภายในวัด ไม่ได้ก่อเมรุ เอาฟืนมากอง แล้วก็เอาโลงศพไปตั้ง พอถึงเวลาก็จุดไฟเผา ตอนดึกพอไฟไหม้หมดแล้ว ก็เก็บเศษขี้เถ้าไปโรยใต้ต้นโพธิ์ในวัด ตอนเช้าที่หน้าศาลาไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ไม่มีซากเหลืออยู่เลย เก็บเรียบร้อยหมด ตอนต้นท่านจะให้เผาวันที่เสียเลย เสียตอนเช้าท่านจะให้เผาตอนบ่าย ญาติพี่น้องขออนุญาตเก็บไว้คืนหนึ่ง จะได้บอกญาติพี่น้องที่อยู่ที่ไกลจะได้มาร่วมงาน ก็เลยเก็บไว้คืนหนึ่ง ไม่มีการสวด ตั้งศพไว้เฉยๆ ใครอยากจะไหว้ก็ไหว้ไป แต่ไม่มีพระสวดกุสลาฯ เวลาก่อนจะเผาก็นิมนต์ครูบาอาจารย์ ๑๐ รูปมาบังสุกุล ไม่ได้สวดกุสลาฯ กุสลาแปลว่าความฉลาด ก็คือการพิจารณาว่าเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่ง เป็นดินน้ำลมไฟ ที่จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องกุสลาตอนที่ยังไม่ตาย ตายไปแล้วจะกุสลาหาอะไร ต้องกุสลากับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ คนที่มีชีวิตอยู่นี้ต้องกุสลาเอง ไปนิมนต์พระมากุสลาทำไม พระต้องกุสลาร่างกายของท่านเอง พวกเราก็ต้องกุสลาร่างกายของพวกเรา ต้องสร้างความฉลาดให้แก่ใจ ให้รู้ทันธรรมชาติของร่างกาย ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มีอายุขัย ต้องแก่เจ็บตาย
ถาม การทำบังสุกุล จริงๆจึงไม่จำเป็นใช่ไหม
ตอบ บังสุกุลในสมัยพุทธกาล เป็นการไปเก็บผ้าที่ทิ้งไว้ในป่า เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการถวายผ้าจีวรให้กับพระ พระต้องหาผ้ามาเย็บเป็นจีวร ไปหาผ้าที่ทิ้งในป่าช้า เรียกว่าบังสุกุล ก็เลยเอาธรรมเนียมนี้มาใช้กับคนตาย เวลาคนตายก็นิมนต์พระมาบังสุกุล ถวายผ้าจีวรให้กับท่าน
ถาม ซึ่งจริงๆไม่ได้ช่วยคนตายเลย
ตอบ เป็นเรื่องของพระ ให้พระมีผ้าจีวรไว้นุ่งห่ม ผู้ให้ก็ได้บุญ เป็นวัตถุทาน แต่คนตายไม่ได้อะไรเลย นอกจากบุญที่เราอุทิศให้เท่านั้นเอง ถ้าเป็นเปรตก็รับไป ถ้าไปเกิดบนสวรรค์เป็นเทพ บุญอุทิศไม่มีความหมาย เพราะเป็นเหมือนค่ารถ ที่จะพาให้ไปเกิดใหม่
ถาม การอุทิศบุญนี้ไม่จำเป็นต้องทำพิธีอะไร อยู่ที่การตั้งจิตของเราส่งไปให้เขาเท่านั้น ใช่ไหม
ตอบ พอทำบุญให้ทานแล้ว ก็อุทิศไปในจิต อุทิศบุญส่วนนี้ให้แก่ผู้นั้นผู้นี้ ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ถ้ากำลังรอรับส่วนบุญส่วนนี้อยู่ ก็ขอให้มารับไปได้เลย ถ้าไม่อุทิศถึงแม้จะรอรับอยู่ก็รับไม่ได้
การที่บรรพบุรุษของพวกเรามีวันประเพณีสำคัญๆต่างๆนี้ ก็เพื่อดึงพวกเราให้หยุดสร้างกิเลสกันสักวันหนึ่ง ให้สร้างบุญสร้างกุศลกันบ้าง เช่นวันมาฆบูชา วันวิสาขะ วันอาสาฬหบูชา เป็นอุบายให้พวกเราได้มีโอกาสทำบุญกัน ถ้าไม่มีเหตุก็จะไม่ทำกัน จะเที่ยวกัน จะหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกัน พอตายก็ไปเป็นเปรต ต้องรอให้ผู้อื่นอุทิศบุญให้ เพราะขณะมีชีวิตอยู่ประมาท ไม่คิดเรื่องจิตใจ คิดแต่เรื่องกิเลส คนส่วนใหญ่เกิดมาเพื่อกามกิเลส ไปเที่ยวก็เรื่องของกิเลส ไปดื่มไปรับประทานก็เป็นเรื่องของกิเลส มีน้อยมากที่เข้าวัดนั่งสมาธิ การทำบุญทุกชนิดนี้ ไม่ได้ทำเพื่อผู้อื่น แต่อาศัยผู้อื่นเป็นเหตุให้เราได้ทำ เช่นวันตายของพ่อแม่นี้ ก็ทำให้พ่อแม่ แต่ความจริงเราเป็นผู้ได้บุญเอง งานบวชของลูกเราก็จะได้เข้าวัด ถ้าลูกไม่บวชก็ไม่เคยเข้าวัด คนบางคนไม่เคยเข้าวัดเลย แต่พอลูกบวชจะเข้าทุกวันเลย แต่พอลูกสึกไปก็หายไปเลย ความจริงต้องทำทุกวันทุกเวลานาที ทำทานไปตามเวลา เช่นมีพระเดินผ่านบ้านก็ใส่บาตร ถ้าไม่มีพระก็เอาเงินที่จะซื้ออาหารใส่ไปในกระปุก เวลาไปวัดก็เอาไปถวายวัด ก็จะได้ทำบุญทุกวัน ศีลก็รักษาไปตลอดเวลา จะได้กี่ข้อก็แล้วแต่ความสามารถ รักษาได้มากก็ได้บุญมาก ภาวนาเวลาที่เราว่าง ว่างตอนไหนก็หามุมสงบนั่งภาวนา ที่ทำงานก็ได้ บนเครื่องบินก็ได้ เวลาว่างจากงาน ก็หามุมสงบนั่งหลับตาพุทโธๆไป ถ้าไม่ได้นั่งก็ควรเจริญสติ ควบคุมจิตให้อยู่กับงานที่กำลังทำ อย่าปล่อยให้จิตคิดปรุงแต่ง ถ้าคิดปรุงแต่งก็ควรบริกรรมพุทโธๆไป ถ้าปฏิบัติเป็นจะปฏิบัติได้ตลอดเวลา สร้างบุญสร้างกุศลได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอวันสำคัญ เช่นวันมาฆะ วันวิสาขะแล้วค่อยทำบุญ ถ้าเป็นต้นไม้ก็นานๆรดน้ำให้สักครั้งหนึ่ง จะเจริญเติบโตได้อย่างไร ที่เป็นปุถุชนกันมานาน ก็เพราะทำบุญกันแบบนี้ ไม่มีทางที่จะเป็นพระอริยะกันได้เลย ถ้าอยากจะเป็นพระอริยะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่การงาน หรืออยู่ตามลำพังก็ทำได้เสมอ ต้องทำอย่างนี้ ถึงจะได้เป็นพระอริยะ จะได้บรรลุภายใน ๗ วัน ๗ ปี ถ้ารอวันเกิดวันตายแล้วค่อยทำ ก็จะไม่ได้บรรลุ
วันนี้ก็ได้พูดหลายเรื่อง เรื่องทำบุญตลอดเวลา อย่ารอเวลา อย่างที่ท่านสอนให้ถามตัวเราเองเรื่อยๆว่า เวลาผ่านไปๆเรากำลังทำอะไรอยู่ กำลังสร้างบ้านหรือกำลังสร้างเรือนใจ กำลังเจริญอสุภกรรมฐานอยู่หรือเปล่า กำลังเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญาอยู่หรือเปล่า กำลังพิจารณาความตายอยู่หรือเปล่า นี่คือธรรมะที่ควรเจริญอยู่เรื่อยๆ ธรรมะก็มีหลายระดับ อย่าไปติดอยู่ที่ระดับทาน ทำแต่ทานอย่างเดียว ศีลไม่สนใจ สติไม่เจริญ ปัญญาไม่เจริญ สมาธิไม่นั่งกัน ยังอยู่ห่างไกลมากถ้าทำแต่ทานอย่างเดียว ยังอยู่ชั้นประถมหรืออนุบาล ยังไม่ได้ขยับขึ้นชั้นมัธยมชั้นอุดมศึกษากัน ควรจะขยับได้แล้วนะ เรียนมาตั้ง ๕ ปีแล้ว เวลาพระไปอยู่ศึกษากับหลวงตานี้ พออยู่ได้ระยะหนึ่งท่านจะไล่แล้ว ท่านจะบอกว่าเปิดโอกาสให้พระอื่นเข้ามาเรียน หลวงปู่มั่นท่านจะให้อยู่ด้วยเพียงพรรษาเดียว พอออกพรรษาท่านก็หนีไปแล้ว ท่านไม่อยู่กับที่ พระที่จะไปศึกษากับท่านสมัยที่ท่านอยู่ที่เชียงใหม่นี้ จะได้อยู่กับท่านช่วงที่ท่านจำพรรษา พอออกพรรษาแล้วท่านจะปลีกวิเวก พอใครมาพบท่านปั๊บท่านก็จะปลีกวิเวกทันที แต่พอเข้าพรรษาปลีกไม่ได้ ต้องอยู่ประจำที่ ถ้าใครไปพบท่านตอนก่อนเข้าพรรษาก็โชคดี จะได้อยู่จำพรรษากับท่าน ๓ เดือน ช่วงปลายชีวิตของท่าน ท่านรับนิมนต์กลับมาโปรดลูกศิษย์ลูกหาทางภาคอีสาน ท่านถึงได้อยู่เป็นที่ พระเณรจึงอยู่กับท่านได้นานหน่อย
อย่ายืนอยู่กับที่ ต้องมีความก้าวหน้า น่าจะปลีกวิเวกได้แล้ว น่าจะบวชได้แล้ว หรือว่าคนสอนไม่มีความสามารถพอที่จะโน้มน้าว ให้ผู้ศึกษาเกิดศรัทธา ออกจากเพศฆราวาส เข้าสู่เพศของนักบวช หรือว่าเป็นพวกบัวใต้น้ำ ก็มีอยู่ ๒ ประเด็น คนสอนไม่มีความสามารถ หรือนักศึกษาเป็นพวกบัวเหล่าที่ ๔ พวกที่จะออกบวชนี้เปรียบเหมือนเขาวัว ตัวหนึ่งมี ๒ เขา พวกที่ไม่ได้บวชเหมือนขนวัว ตัวหนึ่งมีเป็น ๑๐๐ ต้องพยายามปฏิบัติให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนที่ต้องตัดก็ตัดลงไปเรื่อยๆ ตัดให้เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ กิเลสที่พอจะตัดได้ก็ตัดไป ธรรมที่จะทำเพิ่มขึ้นได้ก็ทำไป ศีลรักษาเพิ่มขึ้นได้ก็รักษาไป ภาวนาได้มากขึ้นก็ภาวนาไป ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนไป ทำได้ ถ้าตั้งใจทำจริงๆ ถ้ายังรักพี่เสียดายน้องอยู่ก็ลำบาก ทางโลกก็ยังรักยังเสียดาย ทางธรรมก็อยากจะได้ ก็จะไปไม่ถึงไหน บางคนมีโอกาสมากกว่าคนอื่น บางคนอยากจะไปแต่ไปไม่ได้ เพราะมีบ่วงหลายบ่วงด้วยกัน บ่วงสามีบ่วงลูก บ่วงภรรยา บ่วงพ่อบ่วงแม่ บางคนมีบ่วงน้อย มีโอกาสไปมากกว่า ต้องตัดสินใจ ว่าจะตัดหรือไม่ตัด ถ้าไม่ตัดสินใจก็จะไม่ได้ไป ต้องใจกล้าๆแล้วตัดไปเลย ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง ดูครูบาอาจารย์เป็นตัวอย่าง ท่านก็เป็นเหมือนพวกเรามาก่อน ท่านก็มีบ่วงชนิดต่างๆเหมือนกัน พระพุทธเจ้าก็มีบ่วงพ่อมีบ่วงภรรยา พอจะมีบ่วงที่ ๓ ท่านก็ไปเลย
เวลาพูดเรื่องตัดกิเลสตัดตัณหานี้ จะไม่ชอบฟังกัน ชอบฟังเรื่องสวรรค์ เรื่องสมาธิ เรื่องฌาน พอพูดเรื่องเฉือนเนื้อตัวเองจะไม่ชอบ แต่นี่แหละคือการปฏิบัติที่แท้จริง คือการเฉือนตัวเรา เฉือนเนื้อเรา การตัดกิเลสก็คือการตัดเนื้อเรา มันถึงยาก ชอบปฏิบัติง่ายๆ ชอบปฏิบัติแต่ชอบกิเลสด้วย เช่นชอบนั่งสมาธิ และชอบไปเที่ยวด้วย ถ้าให้นั่งสมาธิแต่ห้ามไม่ให้ไปเที่ยวจะไม่ชอบ การจะนั่งสมาธิให้ได้ผลดีต้องมีอินทรีย์สังวร ต้องตัดกามฉันทะ ตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้จิตเข้าข้างใน ถ้าจิตออกข้างนอกจะสงบได้อย่างไร จิตต้องเข้าข้างในถึงจะสงบได้ จะเข้าข้างในได้ก็ต้องตัดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องปิดทวารทั้ง ๕ ปิดตาหูจมูกลิ้นกาย ถึงจะเข้าข้างในได้ ส่วนใหญ่นั่งสมาธิจะไม่ได้ผลกัน นั่งแล้วหลับกัน ถ้านั่งได้ผลจะต้องไปได้ไกลแล้ว ถ้านั่งมาหลายปีแต่ยังเหมือนเดิม แสดงว่าไม่ได้ผล ถ้านั่งแล้วจิตรวมลงจะอัศจรรย์ใจ จะมีฉันทะวิริยะที่จะปฏิบัติให้มากขึ้น ตัดกามฉันทะได้มากขึ้น ถ้าจิตรวมลงแล้วจะออกบวชกัน เพราะได้สัมผัสกับความสุขที่เหนือกว่า ความสุขทางกามรูป ทางกามรส พอได้สิ่งที่ดีกว่า ก็จะทิ้งสิ่งที่มีอยู่เก่าได้ เหมือนได้รถที่ดีกว่าคันเก่า จะขับคันเก่าไปทำไม เคยขับโตโยต้าแล้วได้เบนซ์มา ยังจะขับโตโยต้าอยู่หรือเปล่า นี่ก็เหมือนกัน พอจิตรวมลงแล้ว จะไม่เอาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทางตาหูจมูกลิ้นกายแล้ว จะหาที่สงบสงัดวิเวกภาวนา ทำจิตให้รวมลงเรื่อยๆ
ถาม รู้จักคนที่เที่ยวบ่อยมากเลย เที่ยวต่างประเทศปีละหลายๆครั้ง แต่เขาก็ปฏิบัติจริงอย่างนี้ขัดกันไหมคะ
ตอบ ยังปฏิบัติไม่ได้ผล เป็นกิริยามากกว่า ไม่ได้เนื้อไม่ได้หนัง ได้แต่ท่าของการปฏิบัติ แต่ไม่ได้ผลจริงๆ ถ้าได้ผลจริงๆแล้วจะเบื่อทางโลกเลย ท่านถึงแสดงไว้ว่ารสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ถ้าได้สัมผัสกับรสแห่งธรรมแล้ว จะไม่เอารสอย่างอื่นแล้ว เหมือนก้อนหินกับเพชร พอได้เพชรแล้วจะเอาก้อนหินไหม ไปเที่ยวนี้เหนื่อยจะตาย สู้นั่งสมาธิจนจิตรวมลงไม่ได้ ไม่เหนื่อย ไม่ต้องไปทำพาสปอร์ตทำวีซ่า ไม่ต้องไปตีตั๋ว ไปรอที่สนามบินขึ้นเครื่อง ไปได้ไม่กี่วันก็คิดถึงบ้านแล้ว อยู่ที่ไหนจะสบายเท่าอยู่ที่บ้าน แต่กิเลสจะหลอกเรา วาดภาพว่าสนุกสวยงาม ต้องไปให้ได้ พอไปแล้วก็อยากจะกลับบ้าน
ถ้ามีของดีอยู่ในใจแล้วจะไม่อยากไปไหน อยู่ตรงไหนก็มีความสุข ที่ยังต้องไปกันอยู่ เพราะยังไม่มีความสุขภายใน มีแต่ไฟแห่งราคะโมหะโทสะ ที่เผาใจให้ร้อน ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข ต้องหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะมาดับ เหมือนเอาน้ำมันไปราดในกองไฟ เวลาราดลงไปใหม่ๆ น้ำมันยังเย็นอยู่ก็เป็นเหมือนน้ำ ไฟก็ทำท่าจะดับลง แต่พอน้ำมันร้อนขึ้นมา ไฟจะยิ่งลุกแรงขึ้นใหญ่ ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ความสุขที่เลิศที่วิเศษ ที่พระพุทธเจ้าสอนให้มีกัน ก็ต้องตัดความสุขภายนอก แล้วสร้างความสุขภายในให้ได้ ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือสติ ต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ถ้าเจริญสติอย่างต่อเนื่องแล้ว ในสติปัฏฐานสูตรก็แสดงไว้แล้วว่า ภายใน ๗ วันจะบรรลุได้แน่ๆ ถ้ามีสติตั้งแต่ตื่นมาจนหลับ จิตไม่ไปไหนเลย อยู่ในปัจจุบันเสมอ เวลานั่งดูลมหายใจ จิตก็จะไม่ไปที่อื่น จะอยู่กับลมหายใจ ก็จะรวมลงจะเจอความสุข พอรวมได้ครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปก็จะทำได้เรื่อยๆ เพราะจับเคล็ดได้แล้ว รู้วิธีแล้ว รับรองได้ว่าตอนนั้นจะไม่อยากจะอยู่กับใคร มีอะไรก็ไม่อยากจะเก็บเอาไว้ อยากจะมีเวลาเพื่อปฏิบัติอย่างเดียว อยากจะมีที่ๆสงบไม่วุ่นวาย ไม่ยุ่งกับใคร จะนั่งสมาธิสลับกับการเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน พอเดินเมื่อยก็กลับมานั่งใหม่ จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จากสมาธิก็จะเจริญปัญญา อนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาจิตเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนปล่อยวางได้หมด ภายนอกคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็ปล่อย ขันธ์ ๕ ก็ปล่อย จิตก็ปล่อย พอปล่อยหมดแล้ว ก็เหลือแต่ความบริสุทธิ์อย่างเดียว
อยู่ตรงไหนเวลาไหนก็จะอิ่มจะสุขจะพอตลอดเวลา จิตรวมอยู่ตลอดเวลา จิตที่รวมจากการนั่งสมาธิจะรวมได้เดี๋ยวเดียว แล้วก็ถอนออกมา เหมือนเอาน้ำแช่ในตู้เย็น ๕ นาที แล้วก็เอาออกมา พอออกมาไม่นานก็ร้อน ถ้าเป็นจิตบริสุทธิ์ก็เหมือนกับน้ำที่อยู่ในตู้เย็นตลอดเวลา จะสุขไปตลอดอนันตกาล ไม่มีวันสิ้นสุด จะมีร่างกายหรือไม่มีจะไม่กระทบกับความเย็นของจิตที่บริสุทธิ์ จะเย็นไปตลอด จิตจะไม่ออกจากตู้เย็น จะอยู่ในตู้เย็นก็คือพระนิพพานไปตลอด ถึงแม้จะอยู่กับขันธ์ ความร้อนของขันธ์จะไม่มากระทบกระเทือนกับความเย็นของจิตที่บริสุทธิ์ จะดูแลกันไป เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดตรงนั้นปวดตรงนี้ ก็รู้ว่าปวด แต่ใจไม่ปวดตามร่างกาย อยู่กันไปจนกว่าแยกจากกัน จะไม่ไปหาร่างกายใหม่มาแบกมาเจ็บอีก ถึงเมืองพอแล้ว พอทุกอย่าง ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เหมือนน้ำที่เต็มแก้วแล้ว จะเติมน้ำเข้าไปอีกก็ไม่ได้ทำให้น้ำในแก้วมีมากขึ้น จิตที่บริสุทธิ์ก็เป็นอย่างนั้น มีความสุขเต็มที่อยู่ตลอดเวลา ไม่พร่องไม่หมด ไม่ต้องเติม ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว
นี่เป็นรางวัลที่พวกเราจะได้รับกัน ทุกคนมีสิทธิ์ ไม่ต้องจับฉลาก ต้องสุปฏิปันโน ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นี่คือเงื่อนไข ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมอยู่ ตราบนั้นพระอรหันต์จะไม่สิ้นไปจากโลก พระอรหันต์ก็คือจิตที่บริสุทธิ์นี้เอง อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายะปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติดีก็คือไม่หนีเรียน ถึงเวลาปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติ ไม่อ้างโน้นอ้างนี่ อย่างนี้เรียกว่าไม่ปฏิบัติดี ถ้าเรียนหนังสือก็ต้องได้เต็ม ๑๐๐ ถึงเรียกว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงก็ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อตัดกิเลส ถ้าปฏิบัติเพื่อให้ร่ำให้รวย ทำบุญทำทานเพื่ออยากจะได้รวย ได้ไปเกิดเป็นเทพเป็นพรหม อย่างนี้ไม่ใช่ปฏิบัติตรง ไม่ตรงต่อมรรคผลนิพพาน ญายะก็ปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างเดียว ไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออย่างอื่น ปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์เท่านั้น สามีจิก็ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติถูกต้อง ไม่ผิดจากหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็มีอยู่ ๔ ประการนี้ วิธีที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๔ ประการนี้ได้ ก็ต้องไปอยู่กับครูบาอาจารย์ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะท่านผ่านมาแล้ว ท่านรู้ทุกอย่าง รู้วิธีปฏิบัติที่ถูกที่ผิด วิธีที่ผิดขัดกับหลักธรรม ท่านจะช่วยคัดทิ้งให้หมดเลย อยู่กับท่านแล้วไม่ต้องสงสัยหรือกังวลว่าถูกหรือไม่ถูก การปฏิบัติของท่านถูกต้องทุกประการเลย ถ้าปฏิบัติเองนี้จะหลงได้ จะเพี้ยนหรือผิดไปได้ ครูบาอาจารย์มีความสำคัญตรงนี้ ทำให้ปฏิบัติตรง ไม่เสียเวลา ถ้าปฏิบัติเอง ก็จะปฏิบัติถูกบ้างผิดบ้าง เสียเวลา อาจจะหลงทางไปเลยก็ได้ ชาตินี้อาจจะเป็นชาติเดียวที่จะได้พบกับโอกาสอย่างนี้ ตายไปแล้วกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอย่างนี้อีกหรือเปล่า จะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือเปล่า โอกาสอย่างนี้ยากยิ่งกว่าถูกลอตตารี่รางวัลที่ ๑ จึงควรถือโอกาสที่มีอยู่นี้เลิศที่สุดแล้ว วิเศษที่สุดแล้ว ถ้าปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติเลย ก็ถือว่าเสียชาติเกิด พิจารณาดู