กัณฑ์ที่
๔๑ ๔ กุมภาพันธ์
๒๕๔๔
บารมี ๑๐
ทำไมคนเราเกิดมาในโลกนี้จึงมีความไม่เสมอภาคกัน
มีความแตกต่างกันในหลายๆด้าน
เช่นในเรื่องรูปร่างหน้าตา
ผิวพรรณ สุขภาพร่างกาย อาการ
๓๒ สติปัญญา
ความรู้ ความฉลาด
มีความแตกต่างกันในเรื่องอายุ
บางคนเกิดมาอยู่ได้ไม่กี่เดือนกี่ปี
ก็ต้องถึงแก่กรรมไป ไม่สามารถประคับประคองชีวิตให้อยู่ไปได้ยาวนานจนกระทั่งถึงวัยชรา
มีความแตกต่างกันในด้านฐานะ
บางคนได้เกิดในครอบครัวที่มีฐานะดี
ได้เกิดเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นลูกของมหาเศรษฐี
เป็นลูกของคนจน
ความแตกต่างเหล่านี้ทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้ว่าเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของแต่ละบุคคลในแต่ละภพละชาติในอดีตที่ยาวนานนับไม่ถ้วน
ในแต่ละภพชาตินั้นได้สะสมเหตุที่ทำให้เกิดมามีฐานะความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน
เหตุที่ได้สะสมกันมานี้เรียกว่าบุญบารมี
ถ้าได้สะสมบุญบารมีมามาก
ภพชาติที่ตามมาก็จะดีขึ้นสูงขึ้นไปตามลำดับ
ดังที่พวกเราได้เป็นอยู่ในขณะนี้แสดงว่าได้สะสมบุญบารมีมาในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ถึงระดับที่สูงสุดของมนุษย์
ระดับสูงสุดของมนุษย์ในทางโลกคือพระมหาจักรพรรดิ์
ในทางธรรมคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ทรงประสูติใหม่ๆ
โหรหลวงได้เห็นลักษณะของพระพุทธองค์แล้วรู้ว่าพระพุทธองค์นั้นเป็นผู้มีบุญบารมีมาก
จึงทำนายอนาคตของพระพุทธองค์ว่า
ถ้าอยู่ในทางโลกจะได้เป็นพระมหาจักร
พรรดิ์ผู้ยิ่งใหญ่
ถ้าออกบวชจะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลายปีต่อมาพระพุทธองค์ทรงเลือกเดินทางธรรม
ได้ทรงตัดสินพระทัยออกบวช
เพราะทรงเห็นว่าการเกิด แก่
เจ็บ ตาย
เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา
เป็นสิ่งที่ควรตัดให้ได้ ในที่สุดพระพุทธองค์ก็ประสบความสำเร็จในวันเพ็ญเดือน
๖ ในขณะที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์
๓๕ พรรษา
ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยบุญบารมีที่พระพุทธองค์ได้ทรงสะสมมาหลายกัปหลายกัลป์
บุญบารมีที่พระพุทธองค์ได้ทรงสะสมไว้มีอยู่
๑๐ ประการด้วยกันคือ
๑.ทานบารมี
๒. ศีลบารมี
๓. เนกขัมมะบารมี
๔. อธิษฐานบารมี
๕.สัจจะบารมี
๖. วิริยะบารมี
๗. ขันติบารมี
๘. เมตตาบารมี ๙.ปัญญาบารมี
๑๐. อุเบกขาบารมี
นี่คือบุญบารมีที่พระพุทธองค์ได้ทรงสะสมมาแต่ละภพแต่ละชาติในอดีตอันยาวนานจนได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าปรารถนาความเจริญรุ่งเรือง
ปรารถนาภพชาติที่ดี
ได้เกิดเป็นคนร่ำรวย
มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม
มีผิวพรรณผ่องใส
มีสติปัญญาฉลาดแหลมคม
มีอาการครบ ๓๒
มีอายุมั่นขวัญยืน
มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์
เราควรสะสมบารมีทั้ง ๑๐
ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้สิ่งต่างๆ
ที่ปรารถนาเกิดขึ้นมาได้
สิ่งที่ปรารถนาไม่ได้เกิดจากการนั่งอ้อนวอนขอจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
เช่นขอให้เป็นอย่างนั้นขอให้เป็นอย่างนี้
นี่ไม่ใช่วิสัยที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้ได้
สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ขึ้นอยู่กับการกระทำทางกาย
วาจา ใจ เท่านั้น
ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
ควรจะถามตัวเองว่าวันนี้ได้สร้างบุญบารมีหรือยัง
ถ้ายังไม่ได้สร้างก็รีบสร้างเสีย
อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง
เพราะไม่มีใครทราบว่าจะมีโอกาสอยู่ในโลกนี้อีกนานเท่าไร
และเมื่อตายจากภพนี้ไปแล้วเราก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกหรือเปล่า
จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท
ควรที่จะรีบเร่งสะสมบุญบารมีให้มากๆ
เพราะว่าบุญบารมีนั้นมีคุณทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
คือในชาตินี้ถ้าได้สะสมบุญบารมี
ชีวิตจะมีแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง
สุขกายสบายใจ
พบแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล
ตายไปก็ไปเกิดภพชาติที่ดี
ทุกวันทุกเวลาจึงควรตั้งสติเตือนตัวเองอยู่เสมอๆ
ว่าวันหนึ่งๆขอให้ได้สร้างบุญบารมีอย่างต่อเนื่อง
๑.ทานบารมี
คือการให้ มีอยู่ ๔ ชนิด
๑.
วัตถุทาน
คือการให้วัตถุสิ่งของต่างๆ
เช่นข้าวของเงินทอง
อาหารคาวหวาน
จตุปัจจัยไทยทาน
จีวรเครื่องนุ่งห่ม
ยารักษาโรค ๒.วิทยาทาน
คือการให้วิชาความรู้แก่ผู้อื่น
ถ้าเป็นครูอาจารย์สอนหนังสือที่โรงเรียนแล้วได้รับเงินเดือน
ไม่ถือว่าเป็นวิทยาทาน
แต่ถ้าสอนโดยไม่เรียกค่าตอบแทนจึงจะถือว่าเป็นวิทยาทาน
๓.
อภัยทาน
คือการให้อภัย
ไม่ถือโทษโกรธเคืองบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับเรา
ไม่อาฆาตพยาบาท
๔.
ธรรมทาน
คือการให้ธรรมะ
ธรรมะคือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ความถูกต้องดีงาม
คำสอนเกี่ยวกับเรื่องบาปบุญคุณโทษ
เรื่องนรกสวรรค์
เช่นการพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน
การให้ธรรมะเป็นการให้ที่ชนะการให้ทั้งปวง
เพราะเป็นการให้แสงสว่างแก่ชีวิต
ทำให้ชีวิตที่มีแสงสว่างแห่งธรรมนำพาไป
ดำเนินไปด้วยความราบรื่นดีงาม
มีแต่ความสุขความเจริญ
๒.
ศีลบารมี
คือการละเว้นจากการกระทำบาป
ด้วยการรักษาศีล มีศีล ๕
ศีล ๘ ศีล
๑๐ ศีล ๒๒๗
จะรักษามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาสติปัญญา
ถ้ารักษาไม่ได้ทั้ง ๕ ข้อ
รักษาได้ข้อเดียวก็ยังดี จะรักษาข้อหนึ่งข้อใดก่อนก็ได้
ศีล ๕ ประกอบไปด้วย ๑.
ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
๒. ละเว้นจากการลักทรัพย์
๓. ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี
๔. ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ
๕. ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
รักษาเท่าที่จะรักษาได้
จากน้อยไปหามาก
รักษาไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะเกิดความเคยชิน
แล้วของยากก็จะกลายเป็นของง่าย
๓.
เนกขัมมะบารมีี
คือการออกจากกามสุข
ความสุขจากกามคุณทั้ง
๕ คือ รูป
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ที่ได้รับจากการไปเที่ยวเตร่ดูหนังดูละคร
แสงสีเสียง
งานเลี้ยงงานสังคมเนื่องในโอกาสต่างๆ
การบันเทิงชนิดต่างๆ
เป็นการแสวงหาความสุขทางโลกีย์
สิ่งเหล่านี้พระพุทธองค์ทรงชี้บอกว่าเป็นเหมือนยาเสพติด
ถ้าได้เสพสิ่งเหล่านี้แล้วจะติดอกติดใจ
เวลาอยากแล้วไม่ได้เสพ
จะเกิดอาการทุรนทุราย
เกิดความหงุดหงิด
เกิดความไม่สบายใจ
เกิดความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้าละได้จะมีแต่ความสบายใจ
อยู่เป็นสุข
พระพุทธองค์ทรงสอนให้หาความสุขที่มีอยู่ในตัวเรา
เรียกว่า สันติสุข
คือความสุขที่เกิดจากการทำจิตใจให้สงบ
เช่นการไหว้พระสวดมนต์
นั่งทำสมาธิ บริกรรม
พุทโธ พุทโธ พุทโธ
ให้ใจรู้อยู่กับ พุทโธ
พุทโธ พุทโธ
หรือให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก
แล้วจิตใจจะค่อยๆสงบลงจนกระทั่งสงบนิ่งเป็นสมาธิ เมื่อจิตนิ่งเป็นสมาธิแล้ว
จิตจะมีความสุข มีความอิ่ม
มีปีติ มีความสุข
เป็นความสุขที่เลิศกว่าความสุขที่ได้จากการไปเที่ยวเตร่
กินเหล้าเมายา ดูหนังดูละคร
ซึ่งเป็นความสุขประเดี๋ยวประด๋าว
ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ
กลับให้เกิดความอยากเพิ่มขึ้นมาอีก
เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ
ทำให้ติด แต่ความสุขทางจิตใจเป็นความสุขที่มีอยู่ในตัวแล้ว
เกิดจากความสงบของจิต
เป็นความสุขที่เหนือความสุขทั้งหลาย
ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง
อยู่ที่ไหนก็สามารถทำให้เกิดขึ้นได้
การทำจิตให้เกิดความสงบเรียกว่าเนกขัมมะบารมี
เป็นการออกจากกามสุขสู่สันติสุข
๔.
อธิษฐานบารมี
การอธิษฐานไม่ได้หมายถึงการขอสิ่งนั้นสิ่งนี้
แต่หมายถึงการตั้งใจ
เช่นญาติโยมตั้งใจไว้ว่าวันนี้จะมาทำบุญที่วัด
นี่คืออธิษฐานการตั้งจิตตั้งใจ
ถ้าไม่มีการตั้งใจแล้วชีวิตก็เปรียบเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ
ลอยไปตามกระแสน้ำ
ไปตามกระแสลม
ไม่สามารถนำพาชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีที่งามได้
แต่ถ้ามีการอธิษฐานเช่นตั้งใจว่าต่อไปนี้จะทำแต่คุณงามความดี
จะสะสมแต่บุญบารมี
นี่เป็นการตั้งเป้าหมายไว้ให้กับชีวิต
แล้วก็ดำเนินไปตามวิถีทางนั้น
ผลที่ปรารถนาก็จะปรากฏขึ้นมา
นี่คือความหมายของการอธิษฐาน
คือการตั้งใจ
๕.
สัจจะบารมีี
คือความจริงใจ
การเอาจริงเอาจัง
ลองได้ตั้งใจไว้ว่าจะทำอะไรแล้วจะต้องทำให้ได้
เช่นตั้งใจไว้ว่าพรุ่งนี้จะมาวัดก็ต้องมาให้ได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตามยกเว้นเหตุสุดวิสัย
ไม่ใช่ว่าพอมีเพื่อนฝูงชวนออกไปเที่ยวกลับบ้านดึกนอนตื่นสาย
เลยไม่ได้มาวัดตามที่ได้ตั้งใจไว้
นี่เป็นเพราะไม่มีสัจจะ
ไม่มีความจริงใจ
แต่ถ้ามีสัจจะ
เวลาตั้งใจจะทำอะไรก็ต้องทำให้ได้
นี่คือลักษณะของการมีสัจจะบารมี
เหมือนกับที่พระพุทธองค์ได้ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ในขณะที่นั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์
ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้
พระองค์ได้ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ว่า
ถ้าตราบใดที่พระพุทธองค์ยังไม่ได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
พระพุทธองค์จะไม่ลุกจากที่ประทับนั้นไปถึงแม้ร่างกายจะเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก
เลือดในกายจะเหือดแห้งไปก็ตาม
ถ้าพระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสรู้ธรรมพระพุทธองค์จะไม่ลุกจากที่ประทับนั้นเป็นอันขาด
นี่คือสัจจะบารมี
อธิษฐานบารมีและสัจจะบารมีมักจะไปด้วยกัน
ถ้ามีบารมีทั้ง ๒ นี้แล้ว
ไม่ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะกลายเป็นของง่ายไปหมด
เช่นอยากจะเลิกสูบบุหรี่เลิกเหล้า
ถ้ามีสัจจะอธิษฐานแล้วจะสามารถเลิกได้อย่างง่ายดาย
แต่ถ้าไม่มีสัจจะ
ไม่มีความจริงใจ
เวลาตั้งจิตอธิษฐานตอนขึ้นปีใหม่ว่าปีนี้จะทำแต่สิ่งที่ดี
เช่นไม่กินเหล้า
ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวเตร่
แต่ทำไปได้เพียงวันสองวัน
อาทิตย์สองอาทิตย์
หรือเดือนสองเดือน
แล้วก็จะกลับไปประพฤติตามแบบเดิมๆ
เป็นเพราะขาดอธิษฐานบารมีและสัจจะบารมีนั่นเอง
๖.
วิริยะบารมี
คือความขยันหมั่นเพียร
หลังจากที่ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้แล้วสิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือความพากเพียรบากบั่น
กระทำในกิจที่ได้ตั้งใจเอาไว้
เช่นตั้งใจจะมาวัดในวันนี้ก็ต้องมาให้ได้
ฝนจะตก แดดจะออก
จะมืดฟ้ามัวดิน
จะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร
ถ้ายังลุกขึ้นมาได้ก็ต้องมาให้ได้
นี่คือความพากเพียร
ผู้มีความพากเพียรย่อมประสบความสำเร็จในชีวิต
ความพยายามอยู่ที่ไหน
ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น
ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดถ้าไม่มีความขยันหมั่นเพียร
มีแต่ความเกียจคร้าน
จะไม่มีทางได้พบกับความสำเร็จในสิ่งนั้นๆเลย
๖.
ขันติบารมี
คือความอดทน การทำความดีเหมือนกับการปีนขึ้นเขา
ถ้าไม่มีความอดทนจะปีนขึ้นเขาไม่ไหว
แต่ถ้ามีความอดทนก็จะสามารถขึ้นเขาได้อย่างสบาย
การทำความดีถ้าไม่อดทนจะเกิดความท้อแท้
เช่นวันนี้เวลาตื่นนอนขึ้นมาเห็นว่าอากาศเย็นสบายดี
สู้นอนต่อดีกว่าไม่อยากลุกขึ้นมาเพราะไม่มีความอดทน ถ้ามีความอดทน
พอถึงเวลาก็จะลุกขึ้นมาเลย
จะง่วงขนาดไหนก็ต้องฝืนมัน
ถ้ามีบารมีทั้ง ๔
คือสัจจะบารมี อธิษฐานบารมี
ขันติบารมี วิระยะบารมี
จะทำอะไรไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรมย่อมประสบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน
๘.
เมตตาบารมี
คือการมีไมตรีจิต
ไม่เบียดเบียนกัน
ไม่จองเวรจองกรรมกัน
ให้อภัยกัน
เพราะการอยู่ในโลกนี้จะต้องเจอกับคนหลากหลายชนิด
มีความคิดความเห็น
ความประพฤติที่แตกต่างกัน
ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา
ถ้าไม่มีเมตตาไว้ควบคุมความโลภโกรธหลง
ชีวิตจะมีแต่ความวุ่นวาย
จะมีแต่เรื่องราวกับคนนั้นคนนี้
คนเราต่างมีความต้องการเหมือนๆกัน
จึงเกิดการแก่งแย่งชิงดีกัน
เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่ถ้ามีความเมตตาก็จะไม่ไปแก่งแย่งชิงดีกับใคร
ใครต้องการอะไรก็ให้เขาไป
ไม่สร้างศัตรูกับใคร
ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร
ไม่มีเรื่องมีราวกับใคร
ด้วยการไม่ไปเบียดเบียน
ด้วยการให้อภัย
ดังในบทเมตตาที่ว่า
สัพเพ สัตตา อเวรา
โหนตุ ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวรกันเถิด
สัพเพ สัตตา
อัพยาปัชฌา โหนตุุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิด
สัพเพ สัตตา อนีฆา
โหนตุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลยเถิด
สุขี อัตตานัง
ปะริหะรันตุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุขรักษาตนเถิด
นี่คือเมตตาบารมี
๙.ปัญญาบารมี
คือความฉลาด ใช้เหตุใช้ผล
ไม่ใช้อารมณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีผล
เวลามีใครมาทำให้ไม่สบายใจ
ต้องใช้เหตุใช้ผลถามว่าเราไปห้ามเขาได้หรือเปล่า
เราไปบังคับเขาได้หรือเปล่า
สิ่งต่างๆที่เขาทำไปนั้นเราห้ามเขาไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่เราห้ามได้ก็คือจิตใจของเราเอง
เวลาโกรธใจของเราจะมีแต่ความทุกข์
มีแต่ความไม่สบายใจ
ถ้าปล่อยเขาไปตามเรื่องของเขา
เราก็จะสบายใจ สิ่งที่เราห้ามได้ก็คือใจเรา
ห้ามความโกรธได้เราก็สบายใจ
นี่คือปัญญา การใช้เหตุผลแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี
๑๐.
อุเบกขาบารมี
คือการวางเฉย
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์
คือ อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา
คนเราเกิดมาแล้วต้องแก่
ต้องเจ็บ ต้องตาย
จะรักกันขนาดไหนก็ตาม
เมื่อถึงเวลาต้องพลัดพรากจากกัน
ก็ต้องจากกัน ถึงเวลาแก่ก็ต้องแก่
ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย
เป็นสิ่งที่ไม่มีใครบังคับได้
จะรักกันขนาดไหนก็ไม่สามารถห้ามสิ่งเหล่านี้ได้
พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้มีอุเบกขา
ให้วางเฉย ปล่อยวาง
ให้ยอมรับตามสภาพความเป็นจริง
ใช้ปัญญาพิจารณาตามเหตุตามผล
ให้เห็นสภาพของโลกนี้ว่าไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา
ไม่ใช่ของๆเรา
ถ้ารู้จักปล่อยวาง
รู้จักปลง จะไม่มีความทุกข์
แต่ถ้าไม่รู้จักปล่อยวาง
มีแต่อุปทานความยึดมั่นถือมั่น
ก็จะมีแต่ความทุกข์
เช่นอยากจะรวย แต่ไม่รวย
จะทำอย่างไร
ถ้าไม่ยอมรับความจริงว่าจน
ก็จะมีแต่ความทุกข์
แต่ถ้ายอมรับความจริง
ถือว่ายาก ดี มี จน
เป็นเรื่องธรรมดา
รวยได้ก็จนได้ จนได้ก็รวยได้
ก็ยังมีความสุขได้
ถ้าคิดอย่างนี้ได้
ก็ปล่อยวางได้ มีอุเบกขา
ถ้ามีอุเบกขาก็จะมีแต่ความสบายใจ
ไม่มีความทุกข์
ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็สามารถรับได้
เช่นพรุ่งนี้ต้องไปเข้าคุกเข้าตะรางก็ไม่เป็นไร
อยู่ในคุกก็ได้
อยู่ในคุกก็มีข้าวฟรีกิน
ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน
มองอย่างนี้ก็มีความสุข
แต่ถ้ามองว่าไม่ได้นะ
อยู่ในคุกในตะรางไม่ได้
จะเป็นจะตายเอา
ก็เท่ากับไปสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจ การที่จะมีอุเบกขาได้ต้องมีปัญญา
คือยอมรับความจริงว่า
ขณะนี้ชีวิตเป็นอย่างไร
ก็ยอมรับแต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอด
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น
มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่
แล้วดับไป ไม่ว่าดีหรือชั่ว
จงพยายามทำความดีด้วยการสะสมบารมีทั้ง
๑๐ ประการนี้เอาไว้เถิด
แล้วบารมีทั้ง ๑๐
ประการนี้แหละจะช่วยพาให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย
หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
ไม่ต้องกลับมาเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้