กัณฑ์ที่ ๔๑๐       ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๓

 

ธรรมที่ไม่เสื่อม

 

 

 

เป็นง่ายแต่หายยาก เรื่องของการเจ็บป่วยของร่างกาย เหมือนปลูกต้นไม้ กว่าจะปลูกได้สักต้นหนึ่งต้องใช้เวลานาน เวลาตัดใช้เวลาแป๊บเดียว การทำลายง่ายกว่าการสร้าง มีอย่างหนึ่งที่สร้างยากและใช้เวลานาน แต่พอสร้างเสร็จแล้วจะทำลายไม่ได้ คือมรรคผลนิพพาน พอได้แล้วไม่มีใครจะทำลายได้ ส่วนร่างกายนี้ต่อให้ดูแลรักษาดีขนาดไหนก็ตาม พออะไรจะเกิดขึ้น ก็เกิดปุ๊บปั๊บเลย รักษาดูแลมาเป็นเวลายาวนาน พอถึงเวลาจะไปก็ไปเลย ความสัมพันธไมตรีก็เหมือนกัน รักกันดีมานาน พอมีเรื่องเกิดขึ้น ก็พังไปเลย เลิกกันไปเลย บางทีคำพูดเพียงคำเดียว ก็สามารถทำลายสัมพันธไมตรี ที่สร้างมายาวนาน ให้ขาดไปได้เลย ทางโลกจะเป็นอย่างนี้  แต่ทางธรรมพอสร้างได้แล้วก็จะอยู่กับเราไปตลอด จะไม่เสื่อมหมดไป ทางธรรมจึงดีกว่าทางโลก พอได้มาแล้วจะเก็บไว้ได้ตลอด ไม่มีวันเสื่อม เช่นได้โสดาบันแล้วก็จะไม่เสื่อมหมดไป จะไม่กลับมาเป็นปุถุชน อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มีสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้น ก็จะไม่ทำให้พระโสดาบันกลับมาเป็นปุถุชน พอเป็นพระสกิทาคามี ก็จะไม่กลับมาเป็นพระโสดาบัน พอเป็นพระอนาคามีก็จะไม่กลับมาเป็นพระสกิทาคามี พอเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะไม่กลับมาเป็นพระอนาคามี มีแต่ขึ้นไปอย่างเดียว ไม่ตกลงมา ถ้าเป็นสวรรค์หรือพรหมโลก ก็ยังมีการขึ้นลง ถ้าทำบุญให้ทานรักษาศีลก็จะได้ไปสวรรค์ แต่จะหมดได้ บุญที่ทำและศีลเป็นเหมือนน้ำมันรถ ใช้ไปเรื่อยๆก็จะหมด พอหมดบุญของทานของศีล จิตก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ต้องมาสร้างบุญใหม่ ต้องทำบุญรักษาศีลใหม่

 

ภพของมนุษย์เป็นที่สร้างบุญ เป็นที่เติมน้ำมันชนิดต่างๆ ถ้าเติมน้ำมันดีก็ไปดี ถ้าเติมน้ำมันไม่ดีก็ไปไม่ดี ถ้ากลับมาทำบุญรักษาศีลใหม่ พอตายไปก็กลับขึ้นไปสวรรค์ใหม่ ถ้านั่งสมาธิด้วยก็ขึ้นไปชั้นพรหม พอหมดกำลังของสมาธิก็จะเคลื่อนลงมาชั้นเทพ หมดกำลังของทานของศีล ก็จะกลับลงมาเป็นมนุษย์ใหม่ เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ท่านได้ฌาน ท่านรักษาศีล ท่านให้ทาน ท่านออกบวช ท่านมีทรัพย์สมบัติมากน้อย ท่านก็สละไปหมด แล้วก็รักษาศีล บำเพ็ญสมาธิภาวนา สมถภาวนา เพราะท่านรู้เท่านั้น สมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ไม่มีใครรู้วิปัสสนาภาวนา รู้เพียงสมถภาวนา จึงทำได้เพียงเท่านั้น ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็จะได้เพียงสมถภาวนา แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญาที่แก่กล้า พอไม่มีพระอาจารย์ที่จะสอนวิปัสสนาให้ ก็ทรงศึกษาเองจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จึงไม่ต้องกลับลงมาเกิดใหม่ ไม่ต้องลงมาจากสวรรค์ชั้นพรหมชั้นเทพมาชั้นมนุษย์ ถ้าเข้าถึงพระนิพพานแล้วไม่ต้องกลับมาเกิด ไม่ต้องกลับมาเติมน้ำมันอีก เหมือนจรวดที่ส่งออกไปในอวกาศ พอพ้นจากแรงดึงดูดของโลกแล้ว ก็ไม่กลับมาอีก นี่คือเรื่องของการปฏิบัติภารกิจทางศาสนา กับผลต่างๆที่จะได้รับกัน

 

ถ้ายังไม่ได้มรรคผลนิพพาน ก็จะต้องกลับมาบำเพ็ญใหม่ กลับมาเกิดใหม่ มาทำบุญให้ทานใหม่ รักษาศีลใหม่ นั่งสมาธิใหม่ ถ้าทำได้เพียง ๓ อย่าง ก็จะกลับไปกลับมาไปตลอด ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าได้อริยมรรคอริยผล คือโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ก็จะเหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก กลับมาเติมน้ำมันเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าได้ขั้นพระสกิทาคามี ก็จะเหลือเพียงชาติเดียวที่จะกลับมาเติมน้ำมัน ถ้าได้ขั้นพระอนาคามี ก็ไม่ต้องกลับมาเติมน้ำมัน มีน้ำมันพอที่จะบรรลุได้ในพรหมโลก จิตของพระอนาคามีอยู่ในขั้นของพรหมโลก แต่ต่างกับพรหมโลกของผู้ที่ได้สมาธิ พรหมโลกที่ได้จากสมาธิไม่ถาวร แต่พรหมโลกของพระอนาคามีจะไม่เสื่อม เพราะได้ด้วยปัญญา ต่างกันตรงนี้ แล้วพอบรรลุพระอรหันต์พระนิพพาน ก็จะถึงจุดหมายปลายทาง นี่คือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติภารกิจของศาสนา ที่พวกเรากำลังปฏิบัติกันอยู่ อยู่ที่ว่าจะปฏิบัติกันมากน้อยเพียงไร ถ้าปฏิบัติมากก็จะได้ผลมาก ถ้าปฏิบัติน้อยก็จะได้ผลน้อย ไม่มีใครให้คะแนนเราได้ เราให้คะแนนเราเอง ไม่เหมือนเวลาเรียนหนังสือ ถึงแม้ทำข้อสอบไม่ดีก็อาจจะได้คะแนนสงสารจากอาจารย์ ที่เห็นว่าเราเป็นคนดี ขยันแต่ปัญญาทึบ จึงให้คะแนนเพิ่มเพื่อเป็นการให้กำลังใจ แต่การปฏิบัติไม่มีคะแนนแบบนี้ ทำเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น เหมือนรับประทานอาหาร รับประทานเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น รับประทานมากก็ได้มาก รับประทานน้อยก็ได้น้อย ดังนั้นเราจึงต้องทำให้มาก จะทำให้มากได้ ก็ต้องสร้างคุณธรรมที่สำคัญ ๔ ประการ คืออิทธิบาท ๔

 

อิทธิบาท ๔ เป็นคุณธรรมที่จะผลักดัน ให้เราไปถึงเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ข้อที่ ๑ ฉันทะ ความยินดีความพอใจ ข้อที่ ๒ วิริยะ ความอุตสาหะพากเพียร ข้อที่ ๓ จิตตะ ความจดจ่อ ข้อที่ ๔ วิมังสา การใคร่ครวญ คิดถึงเรื่องที่เรากำลังทำอยู่ เรื่องที่ต้องทำ ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ก็เหมือนกับเรือใบที่มีลมพัด จะพัดให้เรือวิ่งไปไม่หยุด ถ้าไม่มีคุณธรรมนี้ก็เหมือนกับไม่มีลมพัดเรือใบ ต้องใช้พายแจวเอา ก็จะไปไม่ถึงไหน จึงต้องพยายามสร้างคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ข้อที่ ๑ สำคัญที่สุดก็คือฉันทะ ความยินดีความพอใจ ที่จะปฏิบัติภารกิจที่ต้องปฏิบัติ ต้องดูโฆษณา เหมือนกับเวลาที่ดูโฆษณาของสินค้า ถ้าไม่เคยเห็นโฆษณา จะไม่รู้คุณภาพของสินค้า พอได้เห็นโฆษณาแล้วก็จะเกิดความชอบขึ้นมา อยากจะได้ขึ้นมา พออยากได้แล้ววิริยะก็จะตามมา ถ้ามีโทรศัพท์ก็จะโทรไปจองสินค้าเลย ใจจะจดจ่อกับสินค้า คิดถึงสินค้า คือวิมังสา จนกว่าจะได้สินค้ามา สังเกตดู พอมีฉันทะกับเรื่องอะไรแล้ว จะมีวิริยะมีจิตตะมีวิมังสาตามมาเสมอ พอเห็นโฆษณาไปเที่ยวต่างประเทศ เที่ยวประเทศนั้นเที่ยวประเทศนี้ พอเห็นแล้วถูกอกถูกใจ ก็เกิดฉันทะขึ้นมา ก็จะโทรจองที่ เตรียมทุกสิ่งทุกอย่างให้พร้อม รอเวลาขึ้นเครื่องเท่านั้น ถ้าไม่มีอิทธิบาท ๔ ก็จะไม่ได้ไป ถ้าเห็นโฆษณาแล้วรู้สึกเฉยๆไม่ยินดีไม่ยินร้าย ก็จะไม่อยากไป อยู่ที่โฆษณา ถ้าโฆษณาไม่น่าชื่นชมไม่น่าไป ก็จะไม่อยากไป การทำโฆษณาจึงเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทโฆษณาจึงมีความสำคัญกับผู้ผลิตสินค้ามาก ถ้าไม่มีการโฆษณาไม่มีการตลาดที่ดี สินค้าดีขนาดไหนก็จะขายไม่ออก เพราะไม่มีใครรู้คุณค่าของสินค้า ถ้าบริษัทโฆษณาเก่งๆ รู้จักวิธีล่อใจคนดู พอทำโฆษณาปั๊บสินค้าก็จะขายดิบขายดี แบบเทน้ำเทท่าเลย

 

ทางธรรมะก็ต้องมีการโฆษณาเหมือนกัน มีบริษัทโฆษณาหรือคนโฆษณาที่เก่ง ที่รู้คุณค่าของธรรมะจริงๆ ได้สัมผัสกับธรรมะมาแล้ว เช่นมรรคผลนิพพาน ผู้ที่จะโฆษณาได้ดี ต้องบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว นี่เป็นประการแรก ประการที่ ๒ อยู่ที่ความสามารถของผู้ที่จะเอาธรรมะมาโฆษณา ถ้าพูดเก่งฉลาดสามารถหว่านล้อมด้วยอุบายวิธีต่างๆ ก็จะทำให้คนดูคนฟัง เกิดความเลื่อมใสศรัทธา อยากจะได้มรรคผลนิพพาน บางท่านถึงแม้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว แต่ไม่มีความสามารถในการโฆษณา ในการพูดหว่านล้อมจิตใจ ก็จะไม่สามารถทำให้คนฟังเกิดอิทธิบาท ๔ เกิดฉันทะเกิดวิริยะจิตตะวิมังสาได้ เช่นครูบาอาจารย์บางรูปบางท่านที่ไม่ค่อยพูด ไม่ทำให้เกิดอิทธิบาท ๔ ขึ้นมา บางรูปที่ยังไม่ได้บรรลุ แต่พูดเก่ง ก็สามารถทำให้เกิดอิทธิบาท ๔ ขึ้นมาได้ แต่จะพูดไม่ตรงกับความจริง ทำให้เสียหายได้ พาให้คนไปหลงทางได้ ไม่รู้จริงเห็นจริงแต่พูดเก่งโฆษณาเก่ง คนฟังติดอกติดใจ พอปฏิบัติตามก็ปฏิบัติแบบผิดๆถูกๆ ก็จะเกิดความเสียหายตามมา ถ้ารู้จริงเห็นจริงบรรลุแล้ว แต่พูดไม่ค่อยเก่งก็ยังไม่เสียหาย พูดสั้นๆ อย่างพระอาจารย์เสาร์ที่เป็นพระอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ตามประวัติท่านพูดไม่เก่ง พูดสั้นๆ ศีลสมาธิปัญญา ทานศีลภาวนา ทำไปเถิดแล้วก็จะถึงเอง ท่านพูดเท่านั้น คนฟังถ้าไม่สามารถวิเคราะห์ ก็จะไม่สามารถปฏิบัติตามได้

 

เหมือนกับแม่ที่ให้อาหารลูก ถ้าเอาเนื้อมาให้ลูกกินทั้งชิ้น ลูกยังไม่มีฟันเคี้ยวไม่ได้ ก็จะกินไม่ได้ ถ้าเอามาสับมาบดให้ละเอียด ลูกก็จะรับประทานได้ ครูบาอาจารย์ที่ฉลาดที่เก่ง จะมีวิธีทำอาหารให้แก่ลูกของท่าน ถ้าเป็นเด็กเล็กไม่มีฟันท่านก็จะบดอาหารให้ละเอียด ถ้าเป็นเด็กโตมีฟันแล้วท่านก็ให้รับประทานทั้งชิ้นได้ อย่างพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนบุคคลต่างๆ มีความแตกต่างกัน แต่เป็นธรรมะอันเดียวกัน อยู่ที่การสอน บางครั้งพระองค์ทรงตรัสเพียงสั้นๆคำ ๒ คำ ก็บรรลุได้ บางครั้งก็ทรงตรัสยาวขยายความ เพราะคนฟังมีสติปัญญาต่างกัน ระดับเด็กอ่อนก็มีระดับผู้ใหญ่ก็มี การแสดงธรรมให้ผู้ฟังแต่ละกลุ่มแต่ละระดับจึงไม่เหมือนกัน อยู่ที่ความสามารถของผู้แสดง ต้องรู้ว่าคนฟังอยู่ในระดับไหน ถ้าให้ผิดระดับก็จะไม่เกิดประโยชน์ ถ้าให้เนื้อทั้งชิ้นกับเด็กอ่อน ก็จะรับประทานไม่ได้ ถ้าบดละเอียดให้ผู้ใหญ่รับประทานก็จะไม่อร่อย จะไม่อยากรับประทาน

 

บุคคลสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เกิดฉันทะ ก็คือผู้แสดงธรรมนี้เอง ถ้าได้ผู้แสดงธรรมที่เก่งที่ฉลาด ที่รู้ระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ก็จะแสดงให้ถูกกับภูมิจิตภูมิธรรม ก็จะได้รับประโยชน์ จะทำให้เกิดฉันทะความยินดีขึ้นมาทันที ความอุตสาหะพากเพียรก็จะเกิดตามมา จิตตะคือใจจดจ่อ ก็จะจดจ่อกับการปฏิบัติทันที วิมังสาใจก็จะคิดแต่การปฏิบัติ คำว่าจดจ่อนี้คือจะไม่ยอมไปทำงานอื่น เคยทำอะไรอยู่ก็จะทิ้งหมด จะจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติ เมื่อก่อนเคยคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็จะหยุดคิด จะคิดอยู่กับการปฏิบัติอย่างเดียว เรียกว่าวิมังสา คิดแต่เรื่องทานศีลภาวนา จะทำแต่เรื่องทานศีลภาวนา ถ้าคิดเรื่องเที่ยวเรื่องกินเรื่องดื่ม ก็จะไปเที่ยวไปกินไปดื่ม ถ้ามีฉันทะต่อมรรคผลนิพพานแล้ว จะไม่คิดถึงเรื่องกินเรื่องเที่ยวเรื่องดื่ม จะคิดแต่เรื่องปฏิบัติทานศีลภาวนา นี่คือปัจจัยสำคัญ ๔ ประการด้วยกันคือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ก็จะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นอะไร เป็นมรรคผลนิพพาน ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ หรือสร้างครอบครัว สร้างสามีสร้างภรรยา ก็เกิดจากการมีอิทธิบาท ๔ นี้ทั้งนั้น หรือแม้การไปนรกไปอบาย ก็เกิดจากอิทธิบาท ๔ เช่นเดียวกัน

 

คนที่ไปนรกไปอบาย ก็ต้องชอบอบายมุข ชอบดื่มสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร ชอบความเกียจคร้าน ก็จะมีฉันทะไปในทางนี้ ความพากเพียรก็จะไปในทางนี้ พากเพียรไปบ่อน ไปบาร์ ไปหาความสุข จิตใจก็จดจ่ออยู่กับการดื่มสุรา เล่นการพนัน การเที่ยวกลางคืน ใจก็คิดถึงการดื่มสุรา การเที่ยวกลางคืน การเล่นการพนัน พอยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขแล้ว ก็ต้องไปทำบาปทำกรรมต่อไป เพราะจะต้องหาเงินมาสนับสนุน ถ้าไปเที่ยวไปดื่มสุรา ก็จะไม่มีเวลาไปทำงานสัมมาชีพ ก็ต้องหามาโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ผิดศีลผิดธรรม เป็นมิจฉาชีพ  ทำผิดศีล ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โกหกหลอกลวง เป็นการสร้างอบายขึ้นมา สร้างภูมิของเดรัจฉาน ของเปรต ของนรกขึ้นมา เกิดจากฉันทะวิริยะนี่เอง สมัยนี้การโฆษณาก็ชวนให้ไปนรกกันทั้งนั้น โฆษณาสุรายาเมา โฆษณาให้ไปเที่ยวหาความสุข ตามแหล่งบันเทิงต่างๆ ถ้าไม่โฆษณาก็จะมีคนชวนไป คนที่ชอบไปทางอบายมุข มีมากกว่าคนที่ชอบไปวัด ชวนกันไปวัดนี้มีน้อย เป็นเหมือนเขาวัว มีเพียง ๒ เขา คนที่จะชวนไปอบายมุข เป็นเหมือนขนวัว มีเต็มไปหมด ไปไหนก็มีแต่คนชวนให้ไปกินเหล้า ให้ไปเที่ยว ให้ไปเล่นการพนัน ให้ไปทำบาปทำกรรม

 

คนที่จิตใจอ่อนไหวเชื่อง่ายก็จะถูกฉุดลากไปง่าย แต่คนที่มีหลักมีเกณฑ์รู้ผิดรู้ถูกรู้ดีรู้ชั่วก็จะถูกชวนไปยาก คนที่ได้สร้างหลักสร้างเกณฑ์มาหลายภพหลายชาติแล้ว จะไม่ไปทางชั่วได้ง่าย แต่คนที่ไม่มีหลักมีเกณฑ์ในความผิดถูกดีชั่วก็จะไปได้ง่าย จึงต้องสร้างหลักสร้างเกณฑ์ที่ดี คือให้มีคุณธรรมที่ดีภายในใจ มีทานมีศีลเป็นหลัก มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเสียสละ มีการให้ ไม่หวง มีอะไรพอที่จะแบ่งปันให้ผู้อื่นได้ พอจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ก็ให้ไป จะทำให้มีความเมตตากรุณา ไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น จะทำให้มีศีล ถ้ามีคุณธรรม ๒ ประการนี้ จะปลอดภัยจากอบาย ก็จะเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทพสลับกันไป จนกว่าจะได้เจริญวิปัสสนา ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามลำดับอย่างแน่นอน เพราะมีคนบรรลุกันมากในสมัยพุทธกาล คนนั้นก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน คนนี้ก็บรรลุเป็นพระสกิทาคามี คนนั้นก็เป็นพระอนาคามี คนนั้นก็เป็นพระอรหันต์ ทำไมเป็นกันง่ายเหลือเกิน เพราะได้สื่อโฆษณาที่ดีนั่นเอง ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์สาวก จึงปรากฏมีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานกันเป็นจำนวนมาก

 

สมัยนี้มีผู้โฆษณามรรคผลนิพพานน้อย แต่ก็ยังพอมีอยู่ คนฉลาดก็จะหาเจอ คนไม่ฉลาดก็จะหาไม่เจอ คนที่หาเจอแล้วบรรลุมรรคผลนิพพานก็มีอยู่ บางท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ก็อาจจะได้บรรลุธรรมแล้วก็ได้ เพียงแต่ไม่ประกาศให้ผู้อื่นรู้เท่านั้นเอง เพราะเป็นเรื่องภายในจิตภายในใจ พูดไปก็เป็นดาบ ๒ คม คนฟังที่ไม่ชอบขี้หน้าก็จะหาว่าอุตริโอ้อวดก็ได้ พูดไปเป็นภัยอันตราย การที่จะพูดถึงคุณวิเศษของตนต้องระมัดระวัง ต้องดูว่าคนฟังเป็นใคร ถ้าไม่แน่ใจหรือไม่มีเหตุผลที่จะพูด ก็ไม่ควรพูด ถ้าพูดก็พูดเป็นเชิงวิทยาการ พูดตามเหตุตามผลของธรรม เช่นการบรรลุเป็นพระโสดาบันจะต้องตัดอะไรบ้าง แล้วแต่คนฟังจะคิด อาจจะคิดว่าเราบรรลุก็ได้ ไม่บรรลุก็ได้ ความคิดของเขาไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าเราบรรลุหรือไม่บรรลุ ถ้าเราบรรลุแต่เขาไม่คิดว่าเราบรรลุ ก็ไม่ทำให้การบรรลุของเราหายไป ถ้าคิดว่าเราบรรลุแต่เราไม่ได้บรรลุ ก็ไม่ได้ทำให้เราบรรลุ การจะไปบอกคนอื่นว่าเราบรรลุหรือไม่บรรลุจึงไม่จำเป็น ไม่สำคัญ นอกจากมีเหตุผลที่เหมาะสมก็อาจจะพูด

 

อย่างครูบาอาจารย์ของพวกเรา ท่านก็ไม่ได้มาพูดแบบไม่มีเหตุผล ท่านมักจะพูดในกลุ่มเล็กๆที่สนใจต่อการปฏิบัติ ไม่ได้พูดว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ท่านจะแสดงเหตุแสดงผล เหตุก็คือการปฏิบัติของท่าน ท่านปฏิบัติอย่างนี้ ผลเกิดขึ้นมาอย่างนี้ แต่ไม่ได้พูดว่าเป็นขั้นนั้นขั้นนี้ ท่านจะพูดว่าปฏิบัติอย่างนี้แล้วจะได้ผลอย่างนี้ เช่นพิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย จนปล่อยวางความยึดติด ในความเป็นความตายของร่างกายได้ ก็จะหายจากความกลัวตายได้ หรือพิจารณาอสุภะจนเห็นว่าร่างกาย ไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล มีสิ่งสกปรกเต็มไปหมด เป็นอสุภะ น่าขยะแขยง ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนัง จนไม่มีอารมณ์เหลืออยู่กับการเสพกาม ถ้าเจริญอสุภะได้เต็มที่ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ กามราคะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเกิดขึ้นมาก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนไฟถ้ามีที่ดับไฟอยู่กับมือ ไฟจะลุกตรงไหนเมื่อไหร่ พอฉีดปั๊บก็ดับไปทันที กามราคะก็เป็นเหมือนไฟในใจ ส่วนอสุภกรรมฐานก็เป็นเหมือนที่ดับไฟที่ถืออยู่ในมือ พอไฟลุกตรงไหนก็ฉีดลงไปเลย ไฟก็จะไม่ลุกลาม ถ้าปฏิบัติจะเห็นภายในใจ เห็นชัดๆเลย เรื่องของกายก็มีเท่านี้ พิจารณาให้เห็นว่าต้องตายแน่ๆ เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา แล้วก็ไปทดสอบดู ไปอยู่ที่น่ากลัว เวลาเกิดความกลัวขึ้นมาจะได้ปลง กลัวตายก็ต้องตาย อยู่ที่ไหนก็ต้องตาย พอยอมตายแล้วความกลัวตายก็จะหายไป ก็จะรู้ว่าไม่กลัวแล้ว แต่ยังไม่ตาย พอถึงเวลาจะตายจะไม่กลัว เวลาอยู่ก็อยู่อย่างสุขสบาย ไม่มีความกลัวอยู่ในจิตในใจ

 

ไม่มีความอยากที่จะอยู่ไปนานๆ เมื่อถึงเวลาที่จะต้องตายก็ยอมตาย ถ้ายังไม่ถึงเวลาจะตายก็อยู่ต่อไป อยู่ตามความเป็นจริง ไม่ได้อยู่ตามความอยาก บางคนอยากจะตายเพราะทนทุกข์ไม่ได้ ก็ต้องฆ่าตัวตาย อย่างนี้ก็ไม่ใช่ คนที่ฆ่าตัวตายไม่ได้บรรลุนะ ไม่ใช่เป็นคนที่ไม่กลัวตาย คนที่ฆ่าตัวตายเพราะกลัวความทุกข์ทรมานใจ ไม่ได้บรรลุนะคนที่ฆ่าตัวตาย ยังกลัวตายอยู่ แต่กลัวความทุกข์ทรมานมากกว่า เช่นเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมาน ก็ไม่อยากจะอยู่ อย่างนี้ไม่ได้แสดงว่าเขาไม่กลัวตาย เขากลัวตาย เขาอยากจะอยู่ แต่อยู่อย่างทุกข์ทรมาน ก็เลยคิดหนีความทุกข์ทรมานด้วยการฆ่าตัวตาย ไม่ใช่ไม่กลัวตาย ถ้าไม่มีโรคภัยแบบนี้ จะฆ่าตัวตายไหม เขาจะไม่ฆ่าอย่างแน่นอน ถ้ามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ได้ถึง ๒๐๐ ปีก็จะอยู่อย่างแน่นอน ถ้าอายุ๓๐ ปีแล้วมีโรคภัยที่ต้องทุกข์ทรมานอยู่ทุกวัน ไม่มีโอกาสที่จะหาย ก็จะไม่อยากอยู่ เป็นกิเลส เป็นวิภวตัณหา ถ้าพร้อมที่จะตายเมื่อถึงเวลาจะตาย คนนั้นแหละเป็นคนที่บรรลุแล้ว ถ้ายังไม่ถึงเวลาจะตายก็อยู่ไป ร่างกายอยู่ได้ก็ให้อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ให้ตายไป ไม่มีปัญหากับการอยู่การตาย

 

ถ้าผ่านความเจ็บปวดของร่างกายได้ ร่างกายจะเจ็บขนาดไหนก็ตาม ใจจะไม่ถูกกระทบกระเทือน ถึงแม้จะมีโรคที่ทำให้ทุกข์ทรมาน ก็จะเป็นการทุกข์ทรมานของร่างกายเท่านั้น แต่ใจจะสงบนิ่ง นี่เป็นผลที่เกิดจากการผ่านทุกขเวทนาไปได้ เวลานั่งแล้วร่างกายเจ็บปวด ก็ปล่อยให้เจ็บไปจนหายไปเอง ถ้าใจปล่อยได้จะอยู่กับมันได้ เหมือนตอนนี้ เสียงที่ดังอยู่นี้เราอยู่กับมันได้ เพราะเราปล่อยวางเสียง ไม่ได้รังเกียจรำคาญ ถ้าชอบความเงียบพอมีเสียงนิดหน่อยก็รับไม่ได้ ก็จะทนกับเสียงนั้นไม่ได้ ถ้าทำใจให้เป็นกลาง เป็นอุเบกขาวางเฉยต่อสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บของร่างกาย ร่างกายเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป ใจก็รับรู้ไปตามความจริง เขาก็อยู่ของเขา เราก็อยู่ของเรา ก็จะไม่เป็นปัญหา ปัญหาของพวกเราก็คือยังปล่อยวางความเจ็บไม่ได้ พอความเจ็บเกิดขึ้นต้องจัดการทันที ไม่ปล่อยให้ออกมาเพ่นพ่าน ต้องไล่ไปทันที ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ ด้วยการหายาแก้ปวดมารับประทาน ด้วยการหาหมอหายา แทนที่จะอยู่กับมันไป ปล่อยให้เจ็บไป ทำใจให้สงบปล่อยวาง ก็จะไม่เป็นปัญหา นี่ก็เป็นธรรมอีกขั้นหนึ่ง ที่จะต้องผ่านให้ได้

 

ทางร่างกายก็ต้องผ่านความแก่ความเจ็บความตาย ผ่านราคะตัณหา ถ้าผ่านไปได้แล้วก็หมดปัญหาของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็ตาม ของเราก็ดี ของผู้อื่นก็ดี จะเจ็บจะตายจะเป็นโรคภัยก็เป็นเรื่องของเขา ร่างกายของเราจะเจ็บจะเป็นโรค ก็เป็นเรื่องของร่างกาย ใจไม่ได้เป็น ทำไมต้องวุ่นวาย นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ ต้องไม่ถอยไม่กลัว กล้าเผชิญกับความจริง เผชิญกับความตาย ความเจ็บปวด ความไม่สวยไม่งาม ความเป็นปฏิกูลสกปรกของร่างกาย อย่าไปปฏิเสธ ต้องศึกษา เพราะเป็นอริยสัจ เป็นทุกขสัจ ทุกข์ในความแก่ความเจ็บความตาย ในอสุภะในปฏิกูลของร่างกาย ที่พวกเราไม่ยอมมองกัน เรากลัวมัน พอมันโผล่ขึ้นมาก็เหมือนเจอเสือ ใจสั่นไปหมด ถ้าฝึกทำใจดีสู้เสือไว้ ต่อไปเสือจะไม่กัด ถ้าวิ่งหนีเสือจะวิ่งตามตะปบ ถ้าเราสู้มันจะไม่ตะปบเรา ถ้าเผชิญกับความแก่ความเจ็บความตาย เผชิญกับอสุภะกับปฏิกูลได้ มันจะทำอะไรเราไม่ได้ กามราคะจะเหยียบย่ำจิตใจไม่ได้เลย จะอยู่อย่างสบายอยู่คนเดียวก็จะไม่รู้สึกเหงาว้าเหว่ ไม่อยากจะมีคู่ครอง อยู่กับซากศพทำไม เราก็มีซากศพของเราอยู่ซากหนึ่งแล้ว ไปหาซากศพมาอยู่ด้วยทำไม แต่มองไม่เห็นกัน เห็นเป็นนางฟ้าเห็นเป็นเทวดากัน เห็นเป็นนางแบบนายแบบ เพราะไม่เห็นอสุภะ ไม่เห็นปฏิกูล นี่คือธรรมะที่พวกเราควรมีฉันทะความยินดีกัน ยินดีที่จะเจอกับความตายความเจ็บของร่างกาย เจออสุภะเจอปฏิกูล ถ้ามีฉันทะแล้วจะเพ่งแต่อสุภกรรมฐาน ดูอาการ ๓๒ พิจารณาอยู่เรื่อยๆ คราวที่แล้วให้การบ้านไป มีใครทำบ้าง แผ่นอสุภะนี่ดูกันหรือยัง ดูกันกี่ครั้ง หรือดูพอเป็นพิธี เวลาถามจะได้ตอบได้ ต้องดูทุกวัน ดูให้ติดตาติดใจ จนเบื่อหน่ายร่างกาย เหมือนกินยา หมอให้ยาไปถุงหนึ่ง กินเพียงเม็ดเดียว แล้วโรคจะหายได้อย่างไร ต้องกินจนโรคหาย นี่ก็ให้ยาไป ก็ควรกินให้หาย ดูจนหายอยาก ปัญหาของพวกเราคือไม่ค่อยทำกัน มีฉันทะน้อย วิริยะน้อย จิตตะน้อย วิมังสาน้อย ไปมีฉันทะในเรื่องอื่นมากกว่า มีฉันทะดูละครฉันทะกินขนมมากกว่า ไม่มีเวลามีฉันทะในทางธรรมะ

 

เรานี่พอได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มเดียว ก็ติดเลย เหมือนปลาติดเบ็ด ไปทางธรรมะเลย ไม่เอาอย่างอื่น พอได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้ว ก็เขียนจดหมายไปขอมาอีกหลายเล่ม พออ่านแล้วก็รู้วิธีปฏิบัติ ก็เริ่มปฏิบัติเลย ลาออกจากงาน ไม่ไปเที่ยวเลย ขังตัวเองไว้อยู่ในบ้าน เอาแต่เดินจงกรมนั่งสมาธิอ่านหนังสือธรรมะ ถือศีล ๘ ไม่ดูหนังไม่ฟังเพลง ไม่ออกไปเที่ยวหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เอาแต่นั่งสมาธิกับเดินจงกรม กับอ่านหนังสือธรรมะไป แล้วก็ออกบวชหาวัดปฏิบัติเลย อยู่วัดในกรุงเทพฯได้ประมาณเดือนครึ่ง บวช ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ พอต้นเดือนเมษาฯก็ไปอยู่ที่อุดรฯ อยู่ที่นั่น ๘ ปี ๘ เดือน อยู่ได้ ๙ พรรษา ไม่ได้ออกจากวัดเลย ลามาเยี่ยมบ้านเพียง ๒ ครั้ง ครั้งแรกก็ ๕ ปีไปแล้ว ครั้งที่ ๒ ก็ ๘ ปีไปแล้ว ครั้งที่ ๓ ออกมาแล้วก็ไม่ได้กลับไปเลย มาอยู่ก็ไม่ได้ไปไหนเลย อยู่แต่ในวัด ทางวัดก็ส่งเสริมการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทุก ๔ – ๕ วันก็เรียกประชุมอบรมพระ สอนเรื่องการปฏิบัติ ชีวิตบวชก็อยู่กับธรรมะตั้งแต่วันเริ่มต้นเลย ตั้งแต่วันที่เกิดฉันทะ ได้อ่านหนังสือธรรมะเล่มแรกแล้ว ก็เกิดความพอใจที่จะปฏิบัติธรรม จึงมุ่งแต่ปฏิบัติ คิดแต่เรื่องปฏิบัติ จดจ่อกับการปฏิบัติ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอะไรเลย ถ้าทำอย่างนี้ผลจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิน ๗ ปี ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ ๗ ปีนี้จะนานเกินไปเสียด้วยซ้ำ แต่เวลาอ่านพยากรณ์นี้ก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดว่าเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นไม่สนใจ สนใจอยู่ที่การปฏิบัติเท่านั้น ขอให้ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดไม่ล้มพับไม่ถอย กลัวอย่างเดียว คือกลัวจะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง จะเสร็จเมื่อไหร่ไม่สำคัญ

 

ถ้าทำอย่างไม่หยุดต้องถึงแน่ๆ เหมือนกับรับประทานอาหาร ถ้ารับประทานไม่หยุดก็ต้องอิ่มแน่ๆ พวกเราไม่ชอบรับประทานอาหารกัน ชอบรับประทานยาพิษกัน ไม่หยุดไม่หย่อน ใจจึงมีแต่สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยอยู่ตลอดเวลา คือโลภโกรธหลง เราชอบให้ยาพิษกับใจ ให้ความโลภความโกรธความหลง เราจึงโลภโกรธหลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าให้ทานศีลภาวนา โลภโกรธหลงก็จะน้อยลงไป แล้วก็จะหมดไปในที่สุด ตอนนี้ต้องพยายามสร้างฉันทะให้เกิดขึ้น เอาเทศน์ของครูบาอาจารย์มาเปิดฟัง ของเก่าที่ท่านแสดงไว้ก็มีประโยชน์ เพราะสมัยนั้นท่านทุ่มเทจริงๆกับการสั่งสอนพระปฏิบัติ สมัยนี้ท่านจะสอนศรัทธาญาติโยม จะไม่หนักไม่แรง ไม่พอที่จะกระตุ้นฉันทะที่จะปฏิบัติให้เกิด เอามาอ่านเอามาฟัง พยายามสร้างฉันทะให้เกิดขึ้น ฟังธรรมบ่อยๆ ฟังทุกวันก็ได้ ควรจะถือเป็นหลักว่า วันหนึ่งควรจะฟังสักครั้งหนึ่ง ธรรมะของครูบาอาจารย์ฟังไปเถิด สลับเปลี่ยนไป วันละกัณฑ์ก็ยังดี ตอนเช้าตื่นขึ้นมาก่อนจะไปทำงาน ตื่นเช้าๆหน่อย ขึ้นมานั่งภาวนาแล้วก็ฟังธรรม หรือฟังธรรมแล้วก็ภาวนาก็ได้ จะได้น้ำมันได้กำลังใจ ให้เกิดฉันทะวิริยะที่จะปฏิบัติธรรม

 

อย่ามองข้ามธรรมะไป ให้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเลย การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ อย่าไปคิดว่าฟังมามากพอแล้ว ฟังไปเถิด พยายามตื่นขึ้นมาก่อนเวลาที่เคยตื่นสักชั่วโมง มาฟังธรรมนั่งสมาธิ แล้วค่อยออกไปทำภารกิจประจำวัน ทำให้ติดเป็นนิสัย จะมีธรรมะหล่อเลี้ยงจิตใจในขณะที่ออกไปทำงาน มีธรรมะคอยเตือนใจ มีประโยชน์ ฟังไปเถิด ฟังทุกวัน ธรรมดาก่อนจะออกจากบ้านก็ต้องรับประทานอาหาร ใจก็ต้องรับประทานอาหารเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะให้แต่อาหารกาย ไม่ได้ให้อาหารใจกัน ใจจึงซึมเศร้าหงุดหงิด รำคาญใจท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังใจ เปิดธรรมะฟังทุกวัน ตื่นขึ้นมาก่อนจะทำอะไร ล้างหน้าล้างตาเสร็จก็นั่งขัดสมาธิเปิดธรรมะฟังไป พอจบแล้วก็ภาวนาต่อ จนกว่าจะถึงเวลาไปทำภารกิจ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ อย่างน้อยวันละครั้งก็ยังดี ถ้าทำได้มากกว่านั้นก็ยิ่งดี เอาติดตัวไปที่ทำงานก็ได้ พอถึงเวลาพักกลางวันก็ทำอีกช่วงหนึ่ง จะยิ่งมีกำลังใจรักษาใจไม่ให้ว้าวุ่นขุ่นมัว พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ มีปัญญาแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง สำคัญมากธรรมะ การได้ยินได้ฟังธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง กาเลน ธัมมัสวนัง เอตัมมัง คลมุตตมัง การได้ยินได้ฟังธรรมตามกาลตามเวลา เป็นมงคลอย่างยิ่งแก่ชีวิต

 

พวกเราฟังธรรมกันมากน้อยเพียงไร หรือรับประทานอาหารมากกว่าฟังเทศน์ฟังธรรม ควรจะทำเท่าๆกัน ให้อาหารกายแล้วก็ต้องให้อาหารใจด้วย นี่มีแต่ให้อาหารกายกับให้อาหารกิเลส เดี๋ยวก็เคี้ยวไอ้นั่น เดี๋ยวก็ดื่มไอ้นี่ ให้อาหารกิเลสนี้ไม่มีเวลา อยากเมื่อไหร่ก็ให้เมื่อนั้นเลย กิเลสจึงมีกำลังมาก ธรรมะจึงมีกำลังน้อย เพราะไม่ให้ธรรมะกับใจ พวกเราต้องปฏิวัติการดำเนินชีวิต ต้องเอาธรรมะเข้าสู่ใจให้มากขึ้น ให้อาหารกิเลสให้น้อยลง ของดื่มของรับประทานที่ไม่จำเป็นก็อย่าไปดื่ม ถ้าหิวน้ำก็ดื่มแต่น้ำเปล่า อย่าดื่มน้ำที่มีสีมีรสมีกลิ่น ถ้าอยากจะรับประทานอะไร ก็รอให้ถึงเวลารับประทานอาหารค่อยรับประทาน จะได้ตัดการเลี้ยงกิเลสไปได้ในระดับหนึ่ง ต่อไปนี้ให้เอาขนมขบเคี้ยวในกระเป๋าในถุงในลิ้นชัก ไปรับประทานพร้อมๆกับอาหารทีเดียวเลย

 

ถาม  เรียนแพทย์ต้องมีการผ่าศพผ่าสัตว์ ได้คุยกับหมอคนหนึ่งเขาทำไม่ได้ เขาก็เลยยอมตก

 

ตอบ ถ้ามีศีลธรรมมากก็จะทำไม่ลง หรือมันอาจจะเป็นความรังเกียจหรือความขยะแขยง ถ้าผ่ากบตายนี่เป็นการฆ่าหรือเปล่า ก็เป็นการฆ่าแน่นอน

 

ถาม  แต่ไม่มีเจตนา ถูกบังคับให้ทำ

 

ตอบ บังคับหรือไม่บังคับ ก็ยังบาปอยู่ดี

 

ถาม  แต่ผลบาปไม่เท่ากันใช่ไหม

 

ตอบ ทำด้วยความยินดี กับทำด้วยความจำใจ ผลไม่เท่ากัน

 

พวกเราไม่ชอบทำการบ้านกัน เข้าห้องเรียน แต่ไม่ชอบทำการบ้าน ก็ยังดีที่ยังเข้าห้องเรียนกัน พวกที่หนีเรียนก็แย่กว่าพวกที่เข้าห้องเรียน แต่พวกที่เข้าห้องเรียนอย่างเดียวก็แย่กว่าพวกที่ทำการบ้านด้วย พวกที่ทำการบ้านด้วยก็แย่กว่าพวกที่ไปสอบด้วย เข้าห้องเรียนแล้วต้องทำการบ้าน ทำการบ้านแล้วต้องไปสอบ  ไปอยู่วัดที่เปลี่ยวที่ทุรกันดารที่ลำบาก ไปเก็บตัวสัก ๓ เดือนหรือปีหนึ่งเลย ไปเข้าห้องสอบ ถ้ายังไม่ผ่าน ก็อย่าออกมาจากห้องสอบ การทำการบ้านก็คือวันนี้ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็กลับไปทำที่บ้านต่อ ตอนเช้าฟังเทศน์ฟังธรรม ก่อนไปทำงาน ฟังทุกวัน เป็นการทำการบ้าน คราวที่แล้วให้แผ่นอสุภะไปดู ก็ควรเปิดดูเรื่อยๆ

 

ถาม  ช่วงนี้เครียดเรื่องการเมือง

 

ตอบ ไปดูก็เครียด ไม่ดูก็จะไม่เครียด ดูแล้วได้อะไร ได้แต่ความเครียด ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

 

ถาม  มีเครื่องขยายเสียงส่องมาทางบ้าน ทำให้ภาวนาไม่ได้

 

ตอบ หาอะไรมาอุดหู

 

ถาม  วันนั้นโกรธมาก เพราะมาว่าพระอาจารย์องค์ที่เราเคารพ

 

ตอบ อยู่ในโลกย่อมมีนินทาสรรเสริญเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เวลาใครนินทาใครตำหนิพระพุทธเจ้า ก็อย่าไปโกรธแค้นโกรธเคืองแทนท่าน ท่านไม่ได้โกรธ ไม่ได้หวั่นไหว เราเสียหายถ้าไปโกรธเขา ต้องปล่อยวาง

 

ถาม  วูบแรกโมโห ท่านแสนจะดี ไม่เคยว่าใครเลย ยังว่าท่านได้

 

ตอบ ว่าได้ทุกคน สำคัญอยู่ที่ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าจริงก็ควรขอบคุณเขา เพื่อเราจะได้แก้ไข บางทีเรามองไม่เห็นส่วนที่บกพร่องของเรา เขาเป็นเหมือนกระจกเงาให้เราดูหน้าตาเรา ก่อนจะออกจากบ้านเราต้องดูกระจกก่อน ว่าเรียบร้อยหรือไม่ สะอาดหรือไม่ ถ้าไม่มีกระจกดูจะไม่รู้ว่ายังมีขี้ตาขี้มูกติดอยู่หรือเปล่า ถ้าเขาบอกว่ามีขี้มูกขี้ตาติดอยู่ ไปโกรธเขาทำไม ถ้าเป็นความจริง ต้องขอบใจเขา ถ้าไม่เป็นความจริงก็แสดงว่าเขาหูหนวกตาบอด พูดไม่ตรงกับความจริง ปล่อยเขาพูดไป ห้ามเขาไม่ได้ เราอยู่ในโลกของนินทาสรรเสริญ มีนินทามีสรรเสริญเป็นธรรมดา มีเจริญลาภเสื่อมลาภเป็นธรรมดา มีเจริญยศเสื่อมยศเป็นธรรมดา มีสุขมีทุกข์เป็นธรรมดา คือโลกธรรม ๘ เราต้องรู้ทันโลกธรรม ๘ ถ้ารู้ทันก็จะปล่อยวาง เวลาชมก็ไม่ดีใจ เวลาตำหนิก็ไม่เสียใจ เวลาได้ก็ไม่ดีใจเวลาเสียก็ไม่เสียใจ เวลาสุขก็ไม่ดีใจ เวลาทุกข์ก็ไม่เสียใจ เพราะเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับเวลาร้อนก็ไม่เดือดร้อน เวลาหนาวก็ไม่เดือดร้อน อยู่กับมันไป ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา ถ้าไม่รู้ทันก็จะหลง ถ้าชอบก็จะดีใจ ไม่ชอบก็จะเสียใจ เราไปบังคับลมพัด บังคับเสียงจักจั่นได้หรือไม่ เขาเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย คนที่ด่าเราก็มีเหตุมีปัจจัยทำให้เขาด่า คนที่ชมก็มีเหตุมีปัจจัยทำให้เขาชม ก็เท่านั้น ชมแล้วก็ผ่านไป ด่าแล้วก็ผ่านไป เป็นเพียงเสียง ไม่เป็นปัญหาถ้าฟังด้วยธรรม ฟังด้วยเหตุด้วยผล ฟังด้วยปัญญา เป็นไตรลักษณ์หมด มีเกิดมีดับ อนัตตาไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของเรา

 

มีสิ่งเดียวที่ควบคุมได้เรากลับไม่ควบคุม ก็คือใจของเราอารมณ์ของเรา เราควบคุมได้ระงับได้ ระงับความโกรธได้ ระงับความโลภได้ ระงับความหลงได้ ด้วยทานด้วยศีลด้วยภาวนา จะรักษาใจให้เป็นปกติได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ใจจะเป็นอุเบกขา จะสบายตลอดเวลา จะช่างมันได้ตลอดเวลา ช่างมันๆ อะไรจะเกิดก็เกิด ช่างมันๆ เราไม่ได้เดือดร้อน นี่คือการปฏิบัติเพื่อควบคุมใจ ไม่ให้ไปควบคุมสิ่งอื่น สิ่งอื่นเราควบคุมไม่ได้ มีเกิดมีดับตามเหตุปัจจัย เวลาไม่อยากให้เขาเกิด เขาเกิดขึ้นมาเราก็เดือดร้อน เวลาไม่อยากให้เขาดับ เขาดับเราก็เดือดร้อน ถ้าปล่อยให้เขาเกิดให้เขาดับเราก็ไม่เดือดร้อน ที่ปฏิบัติทั้งหมดนี้ก็เพื่อควบคุมใจ รักษาใจให้เป็นปกติ ไม่ให้ขึ้นไม่ให้ลง ไม่ให้แกว่งเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา แกว่งไปทางโลภแล้วก็แกว่งมาทางโกรธ ถ้ามันรักมากก็จะโกรธมาก ถ้ารักน้อยก็จะโกรธน้อย สังเกตดูคนที่อยู่ใกล้ตัวเราจะโกรธมากที่สุด คนที่เรารักมากจะโกรธมาก คนที่เราไม่รักจะไม่โกรธ เขาจะเป็นอะไรจะทำอะไร เราจะไม่รู้สึกอะไร เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ถ้าแกว่งไปทางหนึ่งมาก มันก็จะแกว่งกลับมาอีกทางมาก ถ้าอยู่ตรงกลางจะไม่แกว่ง จะเฉยๆ ถ้าไม่โลภไม่โกรธก็จะเฉยๆ ตอนนี้เสียงก็หยุดแล้ว เราไม่ต้องไปทำอะไรถึงเวลาเขาก็หยุดเอง เวทนาก็แบบเดียวกัน จะเจ็บอย่างไร ถึงเวลาก็จะหยุดเอง สำคัญที่ทำใจให้นิ่ง อย่าไปอยากให้เขาหยุด ถ้าเขาอยู่ก็ให้เขาอยู่ไป เวลาเขาไปก็อย่าไปเสียดาย จะเสียใจ นี่ก็มีเสียงใหม่มาแทนที่แล้ว แต่เราไม่ได้เดือดร้อน มาก็มา ไปก็ไป

 

พยายามทำอย่างนี้เถิดแล้วจะมีความสุข ไม่สำคัญว่าจะมีมากมีน้อย ใจไม่มีอะไรก็มีความสุขได้ สิ่งที่ต้องมีก็เพื่อร่างกาย หรือเพื่อกิเลส ถ้ามีเพื่อกิเลสก็จะมีความทุกข์มากขึ้น ถ้ามีเพื่อร่างกายก็จะทำให้ร่างกายสบาย แต่อย่าไปมีเพื่อกิเลส เวลาอยากได้อะไรที่ไม่จำเป็นจะเป็นกิเลส มีเสื้อผ้ามีรองเท้าอยู่เต็มตู้แล้วยังอยากจะได้ใหม่ อย่างนี้เป็นการส่งเสริมกิเลส ให้มาเหยียบย่ำทำลายจิตใจให้ทุกข์ให้วุ่นวาย เราต้องแก้ไข ไม่ใช่ไปแก้เรื่องของคนอื่น แก้ไขเรื่องของเราดีกว่า ได้ประโยชน์ ไปแก้คนอื่นทำไม ไม่ได้อะไร นอกจากเขามาขอร้องให้เราช่วยแก้ เช่นลูกศิษย์ลูกหาไปหาครูบาอาจารย์ให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ครูบาอาจารย์ก็แนะแนวทางให้ เป็นการทำบุญให้ทาน ให้วิทยาทาน ให้ธรรมทาน ถ้าเขาไม่ขอร้องก็อย่าไปยุ่งกับเขา อย่าไปเสนอตัว แก้ปัญหาของเราดีกว่า ยังมีอยู่อีกมากมาย แก้ได้แล้วเราได้ประโยชน์ แก้ได้เท่าไหร่ก็เป็นของเราทั้งหมด แก้ให้คนอื่นเราไม่ได้อะไร ได้อย่างมากก็คือความพอใจความสุขใจที่ได้ช่วยเหลือเขา เพราะฉะนั้นพยายามปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมารักษาใจมาแก้ใจ มาควบคุมใจ บังคับใจให้อยู่อย่างสงบ เป็นอุเบกขา ให้ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ อยู่ตรงนี้ อยู่ที่การระงับความโลภความโกรธความหลง เพราะความโลภความโกรธความหลงความอยากต่างๆ เป็นเหตุที่ทำให้ใจไม่สงบ พอใจไม่สงบก็ยิ่งโลภยิ่งอยากมากขึ้น พอใจสงบความโลภความอยากก็จะหายไป ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ใจไม่สงบ ที่เกิดจากความโลภความอยากความโกรธความหลง ต้องใช้ธรรมะคือทานศีลภาวนาเป็นเครื่องมือ ศัตรูของเราก็คือกิเลสตัณหานี้เอง คือความโลภความอยากความโกรธความหลง อาวุธหรือเครื่องมือของพวกเราก็คือทานศีลภาวนา ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาก็เป็นเครื่องมือ ศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาก็เป็นเครื่องมือ มรรค ๘ ก็เป็นเครื่องมือ เพื่อรักษาใจให้อยู่อย่างปกติสุข ปล่อยวางทุกอย่างได้ ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไร

 

ถาม  ลูกสาวถามว่า เกิดเป็นมนุษย์แต่ยากจนลำบาก กับเกิดเป็นสัตว์เลี้ยงของเศรษฐีรวยๆ นั่งกินนอนกินสบาย อย่างไหนจะดีกว่า

 

ตอบ แล้วแต่เขาจะชอบอย่างไหน

 

ถาม  ลูกบอกว่าเกิดเป็นมนุษย์ต้องดีกว่า เขาว่ามันลำบาก ยากจนแล้วยังโดนข่มขืน ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงมีคนเลี้ยงดีๆจะสบายกว่า

 

ตอบ ทำไมไม่เลือกมาเกิดเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน

 

ถาม  ไม่ทราบ เขาให้เลือก ๒ อย่าง

 

ตอบ ไม่ดีทั้ง ๒ อย่าง เกิดเป็นลูกแม่ดีกว่า ได้ทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรมปฏิบัติธรรม ให้ลูกหมั่นทำบุญทำทานรักษาศีล มีความกตัญญู ลูกจะได้กลับมาเกิดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไปเลือกของไม่ดีทำไม เราเลือกได้ อนาคตเราเลือกได้ ภพชาติหน้าเราเลือกได้ อยู่ที่การกระทำในปัจจุบัน อยู่ในกำมือเรา ชาตินี้เราเลือกไม่ได้ เพราะเกิดจากการกระทำในอดีต แต่ชาติหน้าเราเลือกได้ จะเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เป็นพระโสดาฯก็ได้ เป็นขอทานก็ได้ เป็นสุนัขก็ได้ 

 

ถาม  ต้องสร้างเหตุปัจจัยของภพที่เราต้องการขึ้นมา

 

ตอบ กรรมเป็นเครื่องจำแนกแยกสัตว์ คือการกระทำในชาตินี้ ที่จะทำให้เราเป็นอะไรในชาติหน้า ถ้ามีทานมีศีลเป็นหลักจะได้เป็นเทพเป็นมนุษย์ ถ้าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขก็จะไปอบาย

 

ถาม  ประเทศไทยกำลังวุ่นวาย

 

ตอบ เป็นปกติของโลก ไม่ว่าประเทศไหนก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น มีมนุษย์อยู่ที่ไหนก็จะเป็นอย่างนี้

 

ถาม  ท่านอาจารย์เคยเทศน์ว่า ที่เกิดเป็นสุนัขในบ้านเศรษฐี เพราะทำทานมากแต่ผิดศีล ทำผิดศีลจึงต้องเกิดเป็นสัตว์ แต่ด้วยผลทานก็ทำให้เกิดเป็นสัตว์เลี้ยงของเศรษฐี

 

ตอบ ใช่

 

ถาม  ให้ทานมากจะมีโภคทรัพย์มาก คืออยู่กินสบาย ผิดศีลก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์

 

ตอบ ถ้าไม่รักษาศีลก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์ ถ้าทำบุญทำทานมามากก็จะเป็นสัตว์เลี้ยงของเศรษฐี อำนาจของทานจะทำให้มีรูปร่างหน้าตาสวยงามผิวพรรณผ่องใส ศีลจะเป็นผู้ชี้ว่าจะไปเป็นมนุษย์หรือเป็นเดรัจฉาน

 

ถาม  ถ้าเกิดเป็นมนุษย์แต่ยากไร้  เป็นเพราะเหตุใด

 

ตอบ ชาติก่อนไม่ทำทาน ถ้าทำบาปด้วย ก็ต้องไปใช้กรรมในอบาย พอหมดกรรมก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ที่ยากไร้ มีรูปร่างหน้าตาไม่สวยงาม มีอาการไม่ครบ ๓๒ เพราะเป็นเชื้อของบาปกรรมที่ยังหลงติดมา ส่วนพวกที่ทำบุญให้ทานรักษาศีลตายไปแล้วไปเป็นเทพ พอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีฐานะการเงินการทองที่ดี ใจบุญสุนทาน

 

จะมี ๒ พวก พวกที่วนอยู่รอบบน กับพวกที่วนอยู่รอบล่าง พวกวนอยู่รอบล่างชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผิดศีลไม่ชอบทำบุญ ตายไปก็จะไปเกิดในอบาย พอใช้กรรมหมดแล้ว ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ที่ต่ำต้อย พวกที่ชอบทำบุญให้ทานรักษาศีล ตายไปก็ไปสวรรค์ พอกลับมาจากสวรรค์ก็เกิดเป็นมนุษย์ที่สูงส่ง มีฐานะการเงินการทองดี มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม เราเลือกจะวนในรอบบนก็ได้รอบล่างก็ได้ ถ้าชอบรอบล่างก็ไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิตกินเหล้าเมายาเที่ยวกลางคืน เกี่ยวข้องกับอบายมุขต่างๆ ก็จะวนอยู่ในรอบล่าง แต่บางทีก็สลับกันได้ เวลากลับมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ดิบได้ดี แต่ไม่เชื่อบุญเชื่อกรรม ก็ไปเกี่ยวข้องกับอบายมุขไปทำผิดศีล ก็จะไปวนรอบล่าง ส่วนพวกที่วนอยู่รอบล่างพอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ยินได้ฟังธรรมแล้วเกิดศรัทธา เชื่อว่ากรรมมีจริงบาปมีจริงบุญมีจริง ก็เลิกเกี่ยวข้องกับอบายมุขเลิกทำผิดศีลผิดธรรม ทำบุญให้ทานรักษาศีลก็จะวนอยู่รอบสูง ถ้ามีจิตใจแน่วแน่ต่อบุญกุศลก็จะวนอยู่แต่รอบบนจนถึงพระนิพพาน อย่างพระพุทธเจ้าพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ก็จะวนอยู่รอบบน ท่านเชื่อบุญเชื่อกรรม จะวนไปสู่มรรคผลนิพพาน พวกที่เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ถ้าพบคนสอนให้ทำบาปก็จะทำบาป ถ้าพบคนสอนให้ทำบุญก็จะทำบุญ จะกลับไปกลับมา ขึ้นๆลงๆ

 

ถาม  อย่างพวกนักศึกษาแพทย์นักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องฆ่าสัตว์เพื่อการศึกษา เขาไม่เกิดในอบายกันหมดหรือคะ

 

ตอบ ไปแน่

 

ถาม  คุยกับหมอคนหนึ่ง เขาบอกว่าตอนที่เรียนไม่อยากฆ่า แต่ก็ต้องทำ หลังจากนั้นก็พยายามทำบุญมาตลอด อุทิศส่วนกุศลให้พวกนั้นไป พอจะลดผ่อนผันได้หรือไม่

 

ตอบ คนละเรื่องกัน ทำบาปก็เรื่องของบาป ทำบุญก็เรื่องของบุญ ทำบาปก็มีผลของบาป ทำบุญก็มีผลของบุญ ไม่ลบล้างกัน ถ้าทำบุญและทำบาปด้วย ก็จะเกิดเป็นสุนัขมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีคนเอาไปเลี้ยงดูอย่างดี ถ้าทำบาปแต่ไม่ทำบุญ ก็จะเกิดเป็นสุนัขขี้เรื้อนอาศัยอยู่ตามวัด ไม่มีใครเอาไปเลี้ยงดู อยู่ที่ว่าทำมากทำน้อยด้วย ทำมากโอกาสที่จะเกิดเป็นเดรัจฉานก็มาก ถ้าทำน้อยโอกาสที่จะเกิดก็น้อย เวลาตายเหมือนกับไปจับฉลากในกล่อง ในกล่องนี้จะมีฉลากบุญฉลากบาปที่เราทำไว้ ทุกครั้งที่เราทำบาป เราก็ใส่ฉลากบาปลงไปใบหนึ่ง ทุกครั้งที่เราทำบุญ เราก็ใส่ฉลากบุญลงไปใบหนึ่ง เวลาตายเราก็จับฉลากมาใบหนึ่ง ถ้ามีฉลากบาปเพียงใบเดียวในกล่อง นอกนั้นเป็นฉลากบุญทั้งหมด โอกาสที่จะได้ใบบาปแทบจะไม่มีเลย ถ้าทำบาปเพียงครั้งเดียวแต่ทำบุญ ๑๐๐ ครั้ง โอกาสที่จะไปใช้กรรมของบาปนี้ น้อยกว่าที่จะไปรับผลของบุญ ถ้าทำบาป ๑๐ ครั้ง ทำบุญ ๑๐๐ ครั้ง อย่างนี้ก็ ๑ ต่อ ๑๐ โอกาสที่จะจับใบบุญจะมากกว่าจับใบบาป แต่ก็ไม่แน่ ถ้ามันเป็นคราวซวยก็จับใบบาปที่มีอยู่ใบเดียว ก็ไม่เป็นไร พอใช้กรรมหมดแล้ว ต่อไปก็มีแต่ใบบุญอย่างเดียว

 

ถาม  พยายามเพิ่มใบบุญให้มากๆ เพิ่มโอกาสของบุญ

 

ตอบ อย่างพระองคุลิมาล ฆ่าคนมาถึง ๙๙๙ ศพ แต่สามารถสร้างใบบุญมาก จนสามารถกีดกั้นใบบาป ไม่ต้องไปเกิดได้ เพราะท่านได้ใบนิพพาน ใบนิพพานนี้ใหญ่ที่สุด จับทีไรก็จะได้แต่ใบนิพพานอย่างเดียว พระโสดาบันก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปเกิดในอบายแล้ว หยิบทีไรก็จะได้แต่ใบของมนุษย์ เพราะใบของอบายจะถูกแยกไว้อีกมุมหนึ่ง หยิบไม่ถึง ถ้ารู้ว่าจะต้องฆ่าเพราะเรียนวิชานั้น ก็อย่าไปเรียนมัน เปลี่ยนวิชาใหม่ ถ้าอยากจะเรียนก็ต้องเสี่ยงเอา เหมือนจับใบดำใบแดง เรื่องบาปเรื่องบุญก็เป็นอย่างนี้ เราไม่ได้ทำแต่บาปไม่ได้ทำแต่บุญอย่างเดียว วันๆหนึ่งนี้ทำหลายอย่างสลับกันไป วันนี้พูดปดก็ใส่ไปใบหนึ่ง ดื่มสุราก็ใส่ไปใบหนึ่ง ทำบุญก็ใส่ไปใบหนึ่ง ใส่ไปเรื่อยๆ พอถึงเวลาตายก็ต้องจับฉลาก