กัณฑ์ที่ ๔๑๒       ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓

 

ใจเป็นตัววัดผล

 

 

 

ใจเป็นตัววัดผลของการปฏิบัติ จะได้ผลมากน้อย อยู่ที่ใจนิ่งมากหรือนิ่งน้อย ถ้านิ่งมากก็ได้ผลมาก ถ้านิ่งน้อยก็ได้ผลน้อย ความจริงไม่มีอะไรที่ใจจะต้องตื่นเต้น ใจไปหลงเอง สิ่งต่างๆไม่มีความหมาย แต่ใจไปให้ความหมายเอง ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ พอเปลี่ยนแปลงไป หรือสูญหายไป ใจก็หวั่นไหววุ่นวาย เพราะขาดธรรมะ แสงสว่าง ที่จะสอนใจให้รู้ทันความจริงทั้งหลายว่าเป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นี่แหละเป็นปัญญาทางพระพุทธศาสนา ไม่ต้องศึกษากว้างขวาง ศึกษาไตรลักษณ์นี้ก็พอ เวลามองอะไรให้มองว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์  ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าเห็นได้อย่างปัจจุบันทันด่วน ใจก็จะไม่โลภไม่โกรธไม่หลง เพราะมีปัญญาคอยคุมไว้ จะสักแต่ว่า  ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่เป็นสรรเสริญเป็นนินทา เห็นรูปก็สักแต่ว่ารูป ไม่เป็นมนุษย์เป็นเดรัจฉาน เป็นหญิงเป็นชาย แต่เป็นอาการ ๓๒ ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯ เห็นว่าไม่เที่ยง เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นอนัตตา การเห็นธาตุ ๔ เป็นการเห็นอนัตตา การเห็นความแก่ความเจ็บความตายเป็นการเห็นอนิจจัง การเห็นความทุกข์ที่ตามมากับการไปหลงยึดติด กับสิ่งที่เป็นอนิจจังและอนัตตา เป็นการเห็นทุกขัง

 

ถ้าเห็นธาตุขันธ์คือร่างกายเป็นตัวเราของเรา ไม่เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ แสดงว่าไม่เห็นอนัตตา ถ้าไม่เห็นว่าร่างกายจะต้องแก่จะต้องเจ็บจะต้องตายเป็นธรรมดา ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เวลาจะตายก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะความหลงที่ไปยึดไปติดว่าเป็นตัวเราของเรา และตัณหาความอยาก ที่อยากให้อยู่ไปนานๆ ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เพราะไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา นี่คือปัญญาทางพระพุทธศาสนา ต้องเจริญอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้เจริญมรณานุสติทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ใช้ประโยชน์ได้ คือควบคุมจิตให้นิ่งเป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไม่หวาดกลัว กับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เช่นร่างกายเป็นต้น การพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เป็นการเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแต่ว่ารู้แล้วก็พอ รู้ว่าแก่รู้ว่าต้องเจ็บต้องตายแล้ว ก็บอกว่าพอแล้ว แต่พอไปเจอของจริง เจอเหตุการณ์ที่ท้าทายกับความตายใจก็หวั่นไหว อย่างนี้แสดงว่าไม่พอ ถ้าพอแล้วจะต้องเฉย จะไม่รู้สึกอะไร

 

ปัญญาทางศาสนาจึงต่างกับปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บนความจำ เวลาเรียนหนังสือก่อนที่จะสอบ ก็ท่องจำเอาไว้ พอเข้าห้องสอบตอบคำถามต่างๆได้ก็ผ่าน พออีก ๖ เดือนถามว่าเรียนรู้อะไรมาบ้าง บางทีจำไม่ได้เลย เพราะเป็นเพียงความจำ ต้องเปิดตำราดูก่อน อย่างแพทย์นี้ เวลาเรียนจบมาใหม่ๆไปปฏิบัติไปรักษาโรค บางทีต้องเปิดหนังสือดู ถ้าไม่มีหมออาวุโสคอยให้คำแนะนำ เพราะยังขาดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ้าได้ทำอย่างต่อเนื่อง เช่นตรวจคนไข้ทุกวัน พบโรคต่างๆอยู่ทุกวัน พอเห็นอาการก็รู้ว่าเป็นโรคอะไร ต้องใช้ยาอะไรรักษา ถ้าไปเจอโรคที่นานๆโผล่มาสักครั้งหนึ่ง ก็ต้องไปเปิดตำราดูวิธีรักษา เคยไปหาหมอตอนเป็นงูสวัด หมอเพิ่งจบมาใหม่ๆ ไม่รู้วิธีเพาะเชื้อเพื่อเอาไปตรวจ ต้องเปิดตำราดูก่อน ปัญญาทางโลกส่วนใหญ่เป็นความจำ จะเป็นความจริงเมื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติ จะไม่เกี่ยวกับการรักษาใจให้สงบ ให้อยู่เป็นปกติสุข เป็นเพียงการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผลภายนอกใจ เช่นรักษาร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับใจ เพราะรักษาแต่ร่างกาย

 

ถ้าร่างกายของหมอเองไม่สบาย จะมีผลกระทบกับใจของหมอ ใจจะมีความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์เพราะความเจ็บปวดของร่างกาย ทุกข์เพราะอยากจะให้หาย ทุกข์เพราะความกลัว กลัวว่าจะรักษาไม่หาย กลัวว่าจะต้องตาย เป็นผลกระทบทางจิตใจ วิชาความรู้ทางโลกจะไม่สามารถรักษาความทุกข์ทางใจได้ เป็นหมอยังกลัวตาย กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวจะรักษาไม่หาย เพราะวิชาทางโลกไม่ได้ดูแลรักษาใจให้เป็นปกติสุข มีวิชาทางธรรมเท่านั้น ที่ดูแลรักษาใจโดยตรง ถ้าไม่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม ใจจะไม่มั่นคง จะอ่อนไหวตื่นเต้นหวาดกลัว ไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ใจไปสัมผัสรับรู้ มีญาติโยมที่ใส่บาตรคนหนึ่งทำใจไม่ได้ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นคนถูกยิงตายหน้าตาก็ซึมเศร้า บ่นว่าทำไมต้องยิงกันต้องฆ่ากัน เพราะไม่มีธรรมะ ไม่มีปัญญาที่เห็นว่าเป็นเรื่องปกติของโลก มีความเจริญมีความเสื่อม มีความสงบมีความวุ่นวายสลับกันไป เป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัย ก่อนที่พระพุทธเจ้าทรงมาตรัสรู้สอนธรรมก็มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น สมัยพระพุทธกาลก็มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น สมัยพวกเราก็มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น หลังจากพวกเราจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น เป็นปกติของโลก ถ้ามีปัญญาก็จะไม่รู้สึกอะไร จะรู้สึกเฉยๆ สักแต่ว่ารู้ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะวิตกวุ่นวายใจทุกข์ใจ เพราะใจมีความอยากให้เหตุการณ์เป็นตามต้องการ พอไม่เป็นดังที่ใจต้องการก็วุ่นวายใจ ความไม่สบายอกไม่สบายใจ ความทุกข์ใจ ความกังวลใจ ความเดือดร้อนต่างๆของใจ เกิดจากการขาดปัญญาสมาธิและสติ เพราะต้องมีทั้ง ๓ ส่วนนี้

 

ปัญญาจะมีขึ้นมาเองโดยลำพังไม่ได้ ปัญญาต้องมีสมาธิสนับสนุน สมาธิก็ต้องมีสติสนับสนุน สติจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เจริญสติเพื่อทำจิตให้สงบนิ่ง พอจิตออกมาจากความนิ่ง ก็ต้องมีปัญญาคอยรักษาความนิ่งต่อไป เพราะอยู่ในสมาธิทั้งวันทั้งคืนไม่ได้ เพราะชีวิตบังคับให้ออกมาทำมาหากิน หาปัจจัย ๔ ดูแลรักษาร่างกาย ในขณะที่ออกมาก็ต้องรับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย จึงต้องมีปัญญาคอยประกบอยู่ตลอดเวลา ต้องมีปัญญาคอยสอนใจ ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่สามารถไปควบคุมบังคับ ให้เป็นไปตามที่ใจต้องการเสมอไป บางเวลาก็บังคับได้ บางเวลาก็บังคับไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง ถ้าบังคับได้ก็บังคับไป ถ้าบังคับไม่ได้ก็ต้องปล่อยเขาไป เช่นร่างกายบางเวลาเราก็บังคับได้ ให้หายใจได้ ไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยได้ แต่บางเวลาก็บังคับไม่ได้ บางเวลาก็เจ็บไข้ได้ป่วย บางเวลาก็หยุดหายใจ แต่ใจไม่ควรวุ่นวายไปกับเขา ถ้ามีปัญญาจะรู้ว่าเขาไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา รู้ว่าบังคับเขาไม่ได้ เขาจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับความจริง

 

ร่างกายนี้ไม่ใช่ร่างกายแรกที่เราได้มาและจะสูญเสียไป เราเคยได้ร่างกายมานับไม่ถ้วนแล้ว ถ้าเป็นเงินก็เป็นมหาเศรษฐีแล้ว เป็นร้อยล้านพันล้าน ทำไมจะเสียร่างกายนี้ไปไม่ได้ ทำไมต้องวุ่นวายใจ เพราะไม่เคยสอนใจให้ปล่อยวาง ไม่สอนความจริงของร่างกาย ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เพื่อเตรียมรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าพร้อมแล้วก็จะไม่เป็นปัญหา จะเห็นร่างกายเป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น ร่างกายของคนอื่นเป็นอย่างไร ร่างกายนี้ก็เป็นเหมือนกัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีความแก่ความเจ็บความตายเหมือนกัน จะต้องกลับไปสู่ดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ถ้าเห็นคนอื่นตายได้ ทำไมจะเห็นร่างกายเราตายไม่ได้ มันก็เหมือนกัน ถ้าเห็นว่าเหมือนกันก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ของคนอื่นหรือของเรามันก็เหมือนกัน เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ นี่คือปัญญาที่ต้องสอนใจเสมอเวลาที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ แต่ต้องเข้าสมาธิสลับกับการออกมา เพราะการเข้าไปในสมาธิเป็นการพักผ่อน เหมือนกับร่างกาย ต้องมีเวลาพักผ่อนหลับนอน พอตื่นขึ้นมามีกำลังวังชาก็ไปทำงานต่อ พอเมื่อยล้าก็กลับมาพักผ่อน กลับมาบ้าน มารับประทานอาหาร อาบน้ำอาบท่าหลับนอน เพื่อจะได้ออกไปทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น จิตก็ต้องเข้าไปในสมาธิเพื่อพักจิต เสริมกำลังให้กับจิต พอจิตพักเต็มที่มีกำลังแล้วก็ออกมา ก็ต้องควบคุมจิตให้คิดอยู่ในกรอบของไตรลักษณ์เสมอ

 

คิดเรื่องอะไรก็ต้องมีไตรลักษณ์เข้าไปเป็นส่วนผสมเสมอ เหมือนกับการปรุงอาหาร ไม่ว่าอาหารชนิดใดก็ต้องมีเกลือมีน้ำปลาเสมอ ถ้าไม่อย่างนั้นจะมีรสชาติที่จืดชืด ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ถ้าขาดปัญญาขาดไตรลักษณ์ ก็จะไม่เป็นปกติสุข จะมีแต่ความวุ่นวาย มีแต่ความเครียด มีแต่ความกังวล มีแต่ความหวาดกลัวตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เราสามารถกำจัดได้ ด้วยเกลือของไตรลักษณ์นี่เอง ใส่เกลืออนิจจังเข้าไปนิด ใส่ทุกข์ใส่อนัตตาเข้าไปหน่อย ทำอะไรก็คิดว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะไม่ทำไปตลอด จะต้องหยุดทำ จะหยุดช้าหรือหยุดเร็วเท่านั้นเอง ความสัมพันธ์กับใครก็เหมือนกัน ไม่เป็นความสัมพันธ์ที่ถาวร ต้องมีวันจบ คิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ กับสิ่งต่างๆที่ใจไปสัมผัสรับรู้ จะได้ไม่มีอุปาทาน จะรับรู้เฉยๆ แล้วก็ปฏิบัติไปตามเหตุตามผล ต้องปฏิบัติอย่างไรก็ปฏิบัติไป เช่นร่างกายต้องดูแลรักษาก็ดูแลรักษาไป แต่ไม่เดือดร้อนกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รู้อยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ จะต้องจบอย่างนี้ แต่เราไม่ดูที่ตอนจบกัน เราไม่ชอบ กิเลสไม่ชอบตอนจบ ก็เลยต้องมีความกังวล มีความเครียดตลอดเวลา อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ให้เจริญมรณานุสติ ทรงสอนให้ดูตอนจบของชีวิต ว่ามีวันสิ้นสุด จะได้เตรียมใจรับกับเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น ถ้าไม่ดูตอนจบ ก็จะถูกอำนาจของความหลง สร้างความอยากให้อยู่ไปนานๆ อยากให้ดีไปเรื่อยๆ อยากจะให้เจริญอย่างเดียว ไม่อยากให้เสื่อม ทั้งๆที่เป็นไปไม่ได้ มีเจริญก็ต้องมีเสื่อมเป็นธรรมดา ถ้าเตรียมตัวรับกับสภาพที่จะต้องเกิดขึ้น ก็จะไม่หลงกับการเจริญ จะเตรียมรับกับความเสื่อม ใจจะได้ไม่ทุกข์กับการเสื่อมของสิ่งต่างๆ

 

การพิจารณาไตรลักษณ์นี้ ถ้าจิตไม่สงบจะพิจารณายาก เพราะจะมีกิเลสออกมาต่อต้าน กิเลสไม่ชอบคิดถึงความเสื่อมความตาย พอคิดแล้วจะหดหู่ท้อแท้ ไม่มีกำลังใจจะทำอะไร จะพิจารณาไตรลักษณ์ได้ ใจต้องสงบตั้งมั่นก่อน คนบางคนไม่ได้ปฏิบัติธรรมในชาตินี้ แต่จิตมีความตั้งมั่นมาตั้งแต่ชาติก่อน พอได้อ่านหนังสือธรรมะ ได้ศึกษาเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็ยินดีที่อยากจะเอาความรู้นี้มาสอนใจ ไม่กลัวความตาย แสดงว่าใจมีสมาธิ มีกำลังพอที่จะไม่ให้กิเลส สร้างความหวาดกลัวท้อแท้เศร้าสร้อยหงอยเหงา ถ้าไม่มีสมาธิพอได้ยินได้ฟังเรื่องความตาย เรื่องความสูญเสียนี้ ใจจะหดหู่เศร้าหมอง เพราะไม่มีสมาธิป้องกันไม่ให้อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ยังไม่สามารถเจริญมรณานุสติได้ ต้องเจริญสมาธิก่อน เจริญสติก่อน ต้องควบคุมใจ ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้ใจอยู่ภายใต้คำสั่งของเรา ถ้าใจจะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ต้องบังคับไม่ให้คิด ให้คิดในเรื่องที่จะทำให้ใจสงบ เช่นบริกรรมพุทโธๆไป หรือสวดมนต์ไป สวดอรหังสัมมา สวากขาโต สุปฏิปันโนไป ในขณะที่ทำกิจต่างๆ ให้คิดเรื่องธรรมะหรือสวดมนต์ไปภายในใจ ดีกว่ากังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่จะทำให้กิเลสมีกำลังมากขึ้น ต้องบังคับไม่ให้คิดเรื่องต่างๆ ที่จะทำให้จิตว้าวุ่นขุ่นมัว ให้คิดในทางธรรมะ พุทโธก็ได้ สวดมนต์ก็ได้ อาการ ๓๒ ก็ได้ ท่องไปก่อน ร่างกายมีอะไรบ้าง มีผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯ ขึ้นอยู่กับกำลังของสมาธิ ถ้ายังพิจารณาไม่ได้ก็อย่าเพิ่งพิจารณา บริกรรมพุทโธไปก่อน หรือสวดมนต์ไปภายในใจก่อน เหมือนท่องสูตรคูณ ท่องไปเรื่อยๆ ถ้าใจท่องบทสวดมนต์ ก็จะไม่ไปคิดเรื่องอื่น ใจก็จะสงบตั้งมั่นและรวมลงเป็นหนึ่งได้

 

เวลาไม่ได้ทำอะไรก็หามุมสงบ นั่งขัดสมาธิตั้งตัวให้ตรงบริกรรมพุทโธๆไป หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกไป ถ้ามีสติก็จะอยู่กับลมหายใจอยู่กับพุทโธอย่างต่อเนื่อง แล้วก็จะรวมลงเข้าสู่ความสงบ เป็นเอกัคตารมณ์ สักแต่ว่ารู้ การรวมนี้รวมได้ ๒ ลักษณะคือ รวมแบบฮวบฮาบเหมือนตกหลุมตกบ่อ ร่างกายหายไปแล้วก็นิ่งสบาย เบาอกเบาใจ ไม่รับรู้กับเรื่องอะไรทั้งนั้น หรือจะเป็นแบบที่ค่อยๆสงบลงไปทีละเล็กทีละน้อย เหมือนรถที่ค่อยๆชะลอตัวลงแล้วหยุดไปในที่สุด สงบนิ่งแต่ร่างกายไม่หาย เสียงอะไรต่างๆก็ยังได้ยิน แต่ใจไม่สนใจ ใจรับรู้แต่ไม่มีอารมณ์กับเสียงที่ได้ยิน หรือกับอาการของร่างกาย จะเจ็บตรงนั้นหรือจะปวดตรงนี้ ก็รู้ว่าเจ็บรู้ว่าปวด แต่ไม่รบกวนใจ อย่างนี้ก็เป็นการรวมเหมือนกัน เวลารวมก็ควรให้รวมไปนานๆเท่าที่จะรวมได้ บางคนมีจริตที่ผาดโผน พอสงบแล้วไม่นิ่งไม่อยู่กับที่ จะออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ เหมือนกับฝัน ไปที่นั่นไปที่นี่ ไปเห็นสิ่งนั้นเห็นสิ่งนี้ ตอนต้นนี้อย่าปล่อยให้ไป ควรดึงกลับมาที่ฐานของความสงบ สักแต่ว่ารู้ ถ้าออกไปรับรู้แล้วจิตจะไม่ได้พักผ่อน เหมือนกับไม่ได้ทำสมาธิ พอออกจากสมาธิกิเลสจะออกมาทำงานทันที ไม่สามารถเจริญปัญญาได้ เพราะจะถูกกิเลสฉุดลากความคิดไปในทางกิเลส ไปคิดทางโลภทางโกรธทางหลง ทางลาภยศสรรเสริญสุข

 

เพราะฉะนั้นเวลาทำสมาธิต้องให้นิ่ง ถึงแม้จะเป็นธรรมชาติของจิตที่จะไปรับรู้เรื่องต่างๆ ก็ต้องระงับไว้ก่อนในระยะแรกนี้ ระยะที่เริ่มปฏิบัตินี้ต้องการพักจิต ต้องการให้จิตนิ่ง ให้มีความแน่นหนามั่นคง ไม่หวั่นไหวไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา เพื่อจะได้นำจิตที่มีความหนักแน่นนี้มาพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อจะได้ปล่อยวางเพื่อจะได้หลุดพ้น จากอำนาจของความโลภความโกรธความหลง พอจิตหลุดพ้นจากเรื่องต่างๆของกิเลสตัณหาได้แล้ว ถ้าอยากออกไปเที่ยวตามธรรมชาติของจิตก็ออกไปได้ อยากจะไปสวรรค์ อยากจะไปสัมผัสรับรู้ กับกายทิพย์ชนิดต่างๆก็ไปได้ เพราะทำงานเสร็จแล้ว เรียนหนังสือจบแล้ว ไม่ต้องทำงานแล้ว จะไปเที่ยวทั้งวันทั้งคืนก็ไม่มีใครว่าอะไร เพราะกิจที่ต้องทำคือการชำระความโลภความโกรธความหลง ได้ทำสำเร็จลุล่วงไปแล้ว จะทำอะไรก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เหมือนนักเรียนนักศึกษาที่ต้องไปเรียนหนังสือก่อน ยังหนีเที่ยวไม่ได้ ถ้าหนีเที่ยวแล้วจะเรียนไม่จบ นักภาวนาก็เช่นเดียวกัน ถ้าเข้าสมาธิแล้วหนีเที่ยว ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ ก็เหมือนหนีโรงเรียน จะไม่มีทางที่จะเจริญปัญญาได้

 

ถ้าไม่มีปัญญาก็จะไม่สามารถตัดกิเลสได้ ไม่สามารถทำนิโรธให้แจ้งได้ คือการดับทุกข์ ต้องมีปัญญา เพราะปัญญาเป็นมรรค มรรคเจริญให้มาก เจริญเพื่ออะไร เจริญเพื่อละสมุทัย ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ พอละสมุทัยได้ด้วยมรรคแล้ว นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมา ทุกข์ก็จะดับไป ทุกข์กับนิโรธนี้เป็นเหมือนเหรียญ ๒ ด้าน ถ้าทุกข์อยู่ด้านบนนิโรธก็อยู่ด้านล่าง ถ้าทุกข์ปรากฏขึ้นนิโรธก็ปรากฏไม่ได้ ถ้านิโรธปรากฏขึ้นทุกข์ก็ปรากฏไม่ได้ เหมือนหัวก้อย ถ้าเหรียญหงายด้านหัวขึ้นมา ด้านก้อยก็หงายขึ้นมาไม่ได้ เพราะต้องอยู่ด้านล่าง ทุกข์กับนิโรธเป็นเหมือนหัวก้อย เป็นคนละด้านกัน ส่วนสมุทัยกับมรรคก็เช่นเดียวกัน เป็นเหรียญคนละด้าน ถ้าไม่มีมรรคไม่มีไตรลักษณ์ ก็จะเกิดสมุทัยเกิดตัณหาต่างๆขึ้นมา เกิดความวิตกเกิดความเครียดเกิดความกังวลขึ้นมา เพราะความอยากต่างๆจะทำให้เกิดความเครียดขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา อยากจะให้บ้านเมืองสงบ อยากจะให้บ้านเมืองปลอดภัย พอไม่สงบไม่ปลอดภัยก็เกิดความเครียดขึ้นมา ถ้ามีมรรคมีปัญญาว่าเป็นไตรลักษณ์ มีความสงบสลับกับความไม่สงบ เจริญสลับกับเสื่อม ไม่มีอะไรไม่เสื่อม ถ้ามีการเจริญก็ต้องมีการเสื่อม ถ้าไม่อยากจะเสื่อมก็ไม่ต้องเจริญ ถ้าไม่อยากตายก็ไม่ต้องเกิด นี่คือการทำงานของอริยสัจ ๔ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค อยู่ที่การเจริญปัญญาเจริญมรรค การเจริญปัญญาก็ต้องเจริญสมาธิก่อน ต้องเจริญสติก่อนถึงจะได้สมาธิ พอได้สมาธิก็มาเจริญปัญญา พอเจริญปัญญาแล้วก็ต้องกลับเข้ามาพักในสมาธิ เหมือนเวลาใช้มีด ถ้าใช้ไปมากๆก็จะทื่อ ต้องหยุดลับมีดก่อน คนที่ใช้มีดก็ต้องพัก รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หลับนอนก่อน พอมีกำลังแล้ว ลับมีดให้คมแล้ว ก็กลับมาใช้มีดต่อ

 

พอปัญญาใช้ไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดอาการเมื่อยล้าขึ้นมาหรือทื่อขึ้นมา จะไม่สามารถตัดกิเลสได้ จะไม่สามารถปลงได้ ก็ต้องหยุดพักแล้วกลับเข้าไปพักในสมาธิ พอมีกำลังแล้วก็ออกมาพิจารณาใหม่ ปัญหาที่ยังตัดไม่ได้ก็จะตัดได้ พอหมดปัญหานี้แล้วก็ไปแก้ปัญหาใหม่ต่อ ปัญหาที่ใจไปวุ่นวายไปเกี่ยวข้องด้วย ต้องตามไปตัดให้หมด ตอนต้นก็จะตัดภายนอกก่อน ตัดปัญหาทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ บุคคลหรือวัตถุต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ พอตัดได้หมดแล้วก็เข้ามาตัดส่วนที่ใกล้ใจ ก็คือขันธ์ ๕ เริ่มต้นที่ร่างกาย พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย พิจารณาอสุภะความไม่สวยไม่งาม พิจารณาปฏิกูลความสกปรกของร่างกาย เพื่อจะได้ตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น ตัดกามราคะ พอตัดได้แล้วก็เข้ามาตัดเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ พิจารณาให้เห็นว่าเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดดับเกิดดับภายในใจ เช่นความคิดของเรา พอคิดปั๊บก็หายไป เหมือนกับโยนหินลงไปในน้ำ น้ำก็กระเพื่อม สักครู่ก็นิ่ง พอโยนก้อนใหม่ก็กระเพื่อมขึ้นมาใหม่ ความคิดของเราก็เป็นอย่างนี้ พอคิดขึ้นมาจิตก็กระเพื่อมขึ้นมา แล้วก็หายไป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็จะเป็นอย่างนี้ จะเกิดดับเกิดดับเหมือนแสงหิ่งห้อย

 

ถ้ารู้ทันก็จะไม่หลงตาม ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร รู้ว่าเป็นเพียงความคิด เป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดดับเกิดดับ รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีสาระความหมายอะไร เราไปให้ความหมายเอง แล้วไปหลงติดอยู่กับความหมายนั้น คิดว่านั่นดีคิดว่านี่ดีเป็นต้น คิดว่านั่นเป็นเราเป็นของเรา ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นตามที่เราคิด แต่เราไปหลงยึดติดความคิด เช่นคิดว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา เวทนาเป็นเราเป็นของเรา ความจริงเป็นเพียงสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ถ้าปล่อยวางได้ก็จะไม่รบกวนเรา จะมีอาการเจ็บอย่างไรก็จะไม่รบกวนใจ เพราะใจไม่ได้ไปเจ็บด้วย ใจไม่ได้ไปให้ความหมายว่าดีหรือไม่ดี ถ้าไม่ได้ให้ความหมายว่าดีหรือไม่ดี ก็จะไม่เกิดความอยากให้อยู่หรือไป จะอยู่ก็อยู่ไป จะไปก็ไป ถ้าให้ความหมายว่าดี เวลาหายไปก็เสียใจ พอสุขเวทนาหมดไปก็รู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา พอทุกขเวทนาเกิดขึ้น ก็เกิดความรังเกียจ เกิดความกลัวขึ้นมา เพราะไปให้ความหมายว่าดีหรือไม่ดี สุขหรือไม่สุข ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ความจริงมันไม่ได้ว่ามันสุขหรือมันทุกข์ มันก็เป็นของมันอย่างนี้ เหมือนเสียงที่เราได้ยิน มันก็เป็นเสียงอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ไปให้ความหมายก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ถ้าไปให้ความหมายว่าเป็นเสียงสรรเสริญ ก็ยิ้มแย้มดีอกดีใจ ถ้าไปให้ความหมายว่านินทา ก็จะไม่สบายใจ

 

จึงต้องดูให้เห็นว่าเป็นเพียงสภาวธรรม ที่เกิดดับเกิดดับภายในใจ อย่าไปให้ความหมาย พิจารณาเพื่อปล่อยวาง ขณะที่พิจารณาก็เป็นเหมือนทำการบ้าน เวลาไปเจอของจริง เวลาไปเจอใครด่าเรา จะได้รู้ว่ามีปัญญาทันหรือไม่ ถ้ามีปัญญาทันก็คิดว่าเป็นเพียงสภาวธรรม เกิดดับเกิดดับ ก็จะไม่เดือดร้อน เวลาเกิดเวทนา อยู่ที่ว่าไปให้สัญญาความหมายอย่างไร ถ้าไปว่าดีก็จะดีใจ ถ้าไปว่าไม่ดีก็จะเสียใจ ถ้าไม่ไปว่าดีหรือไม่ดีก็จะเฉยๆ เป็นสิ่งที่เราต้องสอนใจ ว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่มีความหมายอะไร เราไปให้ความหมายเอง ต้องลบล้างความหมายทั้งหมดให้หมดไป เพราะเป็นสมมุติ สรรเสริญนินทาเรามากน้อยเพียงไร ก็ไม่ได้ทำให้ใจดีขึ้นหรือเลวลง เล็กลงหรือใหญ่ขึ้นแต่อย่างใด ใจก็ยังเท่าเดิม ถ้าฉลาดจะรับได้ทั้ง ๒ อย่าง จะไม่กระทบใจ ใจจะเป็นปกติ เพราะมีมรรคควบคุมไว้ ไม่ให้เกิดสมุทัย ไม่ให้ยินดียินร้าย สมุทัยก็คือความยินดียินร้ายนี่เอง ภวตัณหา วิภวตัณหา ภวตัณหาคือความยินดี วิภวตัณหาคือความยินร้าย ต้องใช้ปัญญากำจัดคือความยินดียินร้ายต่างๆ อย่าไปเห็นว่าดีหรือไม่ดี ให้เห็นว่าสักแต่ว่าเท่านั้น แล้วใจจะเป็นปกติ ไม่วุ่นวายไปกับเรื่องราวต่างๆ นี่คือปัญญาที่เราจะต้องเจริญ จากส่วนหยาบเข้ามาสู่ส่วนละเอียด

 

ภายนอกเป็นส่วนหยาบ เช่นรูปเสียงกลิ่นรส รูปร่างหน้าตาของคน ต้องตัดไปก่อน แล้วก็เข้ามาส่วนภายในที่ละเอียด คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็เข้าไปภายในจิตซึ่งเป็นขั้นที่ละเอียดที่สุด เป็นเหมือนกำแพงที่จะต้องเจาะทะลุไปทีละกำแพง ข้ามขั้นตอนไม่ได้ มี ๓ กำแพง กำแพงนอกมี ๑ กำแพงในมี ๒ คือนามขันธ์และจิต กำแพงนอกคือรูปเสียงกลิ่นรสและร่างกาย กำแพงในคือนามขันธ์และจิต จิตยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะยังมีสมมุติ มีความสำคัญมั่นหมาย ว่าสภาวะอย่างนี้ดี สภาวะอย่างนี้ไม่ดี นี่คือสุขนี่คือทุกข์ ต้องพิจารณาว่าเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นแล้วดับไป อย่าไปยึดไปติด อย่าไปอยาก อย่าไปยินดียินร้าย พอปล่อยวางแล้วก็จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ ถ้ารู้ทันแล้วก็จะไม่สร้างสภาวะเหล่านี้ขึ้นมา จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ มีแต่ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ทั้งหมดนี้ต้องใช้ปัญญาเป็นตัวจัดการ ส่วนสมาธิเป็นตัวสนับสนุน สติเป็นตัวผลักดัน ที่จะทำให้เกิดสมาธิและเกิดปัญญา ดังนั้นในชีวิตประจำวันเราต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ควบคุมใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยเปื่อย ต้องดึงให้ตั้งมั่น ให้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดเรื่องที่จะทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ให้คิดแต่เรื่องที่ทำให้จิตสงบ คิดธรรมะ คิดพุทโธๆ คิดบทสวดมนต์ ถ้ามีสมาธิมากก็คิดเรื่องอนิจจังทุกขังอนัตตา แล้วใจจะไม่วุ่นวายไม่ทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ นี่ก็คือหน้าที่ของเรา งานของเรา เป็นทั้งการบ้านและเป็นทั้งการเข้าห้องสอบ เป็นการบ้านก็คือเวลาที่เราพิจารณาเตรียมรับเหตุการณ์ เป็นการเข้าห้องสอบเวลาไปเจอของจริง จะได้รู้ว่าสอบผ่านหรือไม่ผ่าน

 

พยายามทำไป อย่าหยุด อย่าท้อแท้ อย่ายอมแพ้ ช้าบ้างเร็วบ้าง อยู่ที่ความขยัน ถ้าขยันมากก็เร็ว ขยันน้อยก็ช้า ถ้าฉลาดก็ง่าย ถ้าไม่ฉลาดก็ยาก ถ้าไม่ฉลาดก็ต้องสร้างความฉลาดให้เกิดขึ้น ฟังธรรมให้มาก เข้าหาผู้รู้ให้มาก นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาสอนใจอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวก็ฉลาด คนเราไม่โง่ไปตลอด ฉลาดได้ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมา เพราะท่านก็ไม่ได้ฉลาดมาตั้งแต่เกิด ท่านก็โง่เหมือนพวกเรา แต่ท่านใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา สอนใจตลอดเวลา จึงเกิดความฉลาดขึ้นมา ไม่สุดวิสัยสำหรับพวกเรา ถ้าไม่ปิดกั้นตัวเองด้วยความเกียจคร้าน หรือด้วยความคิดผิด ว่าไม่มีวาสนา ไม่มีความสามารถ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ปิดประตูกั้นตัวเอง ถ้าคิดว่าพระพุทธเจ้ากับเราไม่ต่างกัน ใจของเรากับใจของพระพุทธเจ้าในสมัยที่ท่านยังไม่เป็นพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน เป็นใจที่พร้อมจะเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เป็นเหมือนเมล็ดข้าว ทุกเมล็ดเหมือนกันหมด อยู่ที่ว่าจะเอาลงไปปลูกในดินหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าปลูกก็ต้องเจริญงอกงามขึ้นมา พยายามทำกันต่อไป เพียรให้มากขึ้น พอเพียรมากๆแล้วผลจะตามมาเอง

 

ถาม  พระที่อยู่ด้านล่าง ท่านสนใจอ่านหนังสือธรรมะด้านปฏิบัติไหมคะ

 

ตอบ ส่วนใหญ่ท่านบวชตามประเพณี มีเป้าหมายต่างกัน เป็นเรื่องนานาจิตตัง เป็นเรื่องของอินทรีย์ ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็จะมุ่งไปทางสำนักปฏิบัติ ถ้าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็จะอยู่วัดในเมือง เหมือนรับประทานอาหาร เราเลือกร้านกัน ร้านอาหารมีหลายระดับ ตั้งแต่ริมถนนจนถึงระดับ ๕ ดาวในโรงแรม ๕ ดาว อยู่ที่กำลังทรัพย์ ถ้ามีทรัพย์มากก็คงไม่รับประทานอาหารริมถนน ถ้ามีทรัพย์น้อยก็ต้องกินอาหารข้างถนน มีทรัพย์มากก็ไปกินร้านอาหาร ๕ ดาว ถ้ามีอินทรีย์แก่กล้าก็จะไปกินอาหารของพระอรหันต์  เป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า สะสมบุญบารมีมาไม่เท่ากัน พัฒนาจิตใจมาไม่เท่ากัน ไม่อย่างนั้นคนที่เกิดในสมัยพระพุทธเจ้า ก็ต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์กันหมด  เพราะมีพระพุทธเจ้ามีพระอรหันต์อบรมสั่งสอน พระที่บวชอยู่ในสมัยนั้นก็ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์กันทุกรูป เพราะมีอินทรีย์ที่ไม่เท่ากัน

 

        เรื่องเหล่านี้ไม่ควรไปสนใจมาก ควรสนใจอินทรีย์ของเราดีกว่า อินทรีย์เรามีขนาดไหน เพิ่มขึ้นได้หรือเปล่า ทำให้มากกว่านี้ได้หรือเปล่า มัวแต่ไปสนใจเรื่องของคนอื่น ลืมดูเรื่องของตัวเอง อย่าไปมองคนอื่นมากเกินไป ถ้ามองก็มองให้เป็นธรรม คือมองเพื่อเปรียบเทียบ ว่าเขาเก่งกว่าเราหรือด้อยกว่าเรา ถ้าเขาเก่งกว่าเราๆก็ต้องพยายามผลักตัวเราให้เก่งเท่ากับเขาให้ได้ ถ้าเขาด้อยกว่าเราก็อย่าลดตัวเราให้ด้อยเท่ากับเขา ต้องระมัดระวัง เพราะยังอยู่ในฐานะที่เจริญและเสื่อมได้ ยังไม่ถึงจุดที่ไม่เสื่อม ถ้าไม่ระวังถ้าประมาทก็จะเสื่อมลงได้ ถ้าไปคบค้าสมาคมกับคนที่มีอินทรีย์ที่ต่ำกว่า จะถูกเขาชวนไปในทางของเขา ลงมันง่ายกว่าขึ้น ขึ้นมันยากกว่าลง เวลาลงมันง่าย ชวนไปเที่ยวมันง่าย ชวนไปวัดไปปฏิบัติธรรมมันยาก ต้องคบคนที่ชอบไปวัดปฏิบัติธรรม เขาจะคอยชวนเราไปเรื่อยๆ อย่าไปคบกับคนที่ชอบเที่ยว เขาจะชวนเราไปเที่ยว

 

ท่านสอนว่า อเสวนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา เอตัมมังคะละมุตตะมัง การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต เป็นมงคลอย่างยิ่ง คนพาลคือคนที่มีอินทรีย์ต่ำกว่าเรา เรียกว่าคนพาลได้ บัณฑิตคือคนที่มีอินทรีย์สูงกว่าเรา อินทรีย์คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ถ้ามีมากกว่าเรา เขาจะชวนให้เราไปเติมให้มากขึ้น ถ้ามีน้อยกว่าเขาจะชวนให้เราลดน้อยลงไป จะได้อยู่ในระดับเดียวกับเขา เช่นเขานั่งสมาธิได้วันละชั่วโมง เรานั่งได้ ๒ ชั่วโมง เขาก็จะชวนให้เรานั่งวันละชั่วโมง ต้องสังเกตคนที่เราคบค้าสมาคมด้วย เขามีอิทธิพลต่อการประพฤติของเรา อย่างเข้าหาครูบาอาจารย์นี้ท่านจะคุยแต่เรื่องธรรมะตลอด คุยแต่เรื่องปฏิบัติตัดกิเลส ท่านไม่คุยเรื่องอื่น ถ้าไปคุยกับคนอื่น ก็จะคุยเรื่องที่เที่ยว เรื่องสถานที่รับประทาน ที่ไหนอร่อย ที่ไหนไม่อร่อย ถ้าเรามีอินทรีย์สูงกว่าเขา ถ้าเขาชวนไปเที่ยว เราจะไม่ยินดีถ้าเราชอบไปวัด เราจะคบกับคนที่ชอบไปวัด หรือไม่ต้องคบกับใครเลย นักปฏิบัติจริงๆแล้วไม่ต้องคบกับใครก็ได้ นอกจากครูบาอาจารย์ ที่เราต้องพึ่งพาอาศัย ให้การอบรมสั่งสอน ให้ความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ถ้าไม่สามารถคบคนที่เก่งกว่าเราหรือเท่าเราได้ ก็ให้อยู่คนเดียวดีกว่า อย่าไปคบกับคนที่ด้อยกว่าเรา เพราะจะฉุดเราลงต่ำ การอยู่คนเดียวไม่เป็นการเห็นแก่ตัว เป็นการปลีกวิเวก เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติ ต่อการเจริญก้าวหน้าในทางปฏิบัติ ถ้ามีโอกาสที่จะปลีกวิเวกได้ก็ไปเลย อย่าคิดว่าเห็นแก่ตัว ถ้าเราทำภาระหน้าที่ของเราเรียบร้อยแล้ว มีเวลาว่างที่จะปลีกตัวได้ก็ปลีกไป เช่นเวลาอยู่ในวัดมีภารกิจต้องทำร่วมกัน ก็ต้องทำร่วมกัน ปัดกวาดร่วมกัน บิณฑบาตก็ทำร่วมกัน พอไม่มีกิจที่ต้องทำร่วมกัน ก็ปลีกตัวไปอยู่ที่ของตน ไปนั่งสมาธิ ไปเดินจงกรม

 

ถาม  ขอคำอธิบายเพิ่มเติม ในการเจริญสติ พิจารณารูปขันธ์นามขันธ์

 

ตอบ สติก็คือการทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดไปกับเรื่องราวต่างๆ ร่างกายเราอยู่ตรงไหน ก็ให้จิตเราอยู่ตรงนั้น กำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้รู้อยู่กับการกระทำนั้น กำลังเขียนหนังสือก็ให้อยู่กับการเขียนหนังสือ กำลังรับประทานอาหารก็ให้อยู่กับการรับประทานอาหาร ไม่ใช่รับประทานอาหารแล้วก็คุยกัน หรือคุยกับตัวเอง ถ้าไม่ได้คุยกับคนอื่นก็คุยกับตัวเอง อย่างนี้ก็ไม่มีสติ ไม่ต้องคุยกับตัวเอง ให้รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร กำลังตักข้าว กำลังเคี้ยว กำลังกลืน ให้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อย่างนี้คือการมีสติ ถ้ากำลังเดินก็ให้รู้อยู่กับการก้าวเท้า ซ้ายขวา ซ้ายขวา ให้รู้เท่านี้ อย่าคิดว่าจะไปทำหรือพูดอะไรข้างหน้า อย่าไปคิดเรื่องต่างๆ ถ้าไม่จำเป็นจะต้องคิด แต่ถ้าจำเป็นจะต้องคิดก็ให้หยุดเดินก่อน แล้วคิดให้พอ กำลังทำอะไรอยู่ก็ให้หยุดทำ กำลังรับประทานอาหารก็หยุดรับประทานอาหารก่อน แล้วก็คิดเรื่องที่ต้องการจะคิด คิดให้เสร็จ คิดเสร็จแล้วก็ค่อยกลับมาอยู่กับเรื่องที่กำลังทำต่อ อย่างนี้ก็จะมีสติ เวลาคิดก็ให้มีสติอยู่กับความคิด

 

        พอหยุดคิดแล้วก็ให้กลับมาอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ถ้าใจไม่ยอมอยู่ ก็ให้อยู่กับความคิดที่เป็นธรรมก็ได้ เช่นให้อยู่กับพุทโธ รับประทานอาหารไปก็พุทโธไป อย่างนี้ก็ได้ รับประทานไปก็พุทโธๆๆไปภายในใจ อย่าให้ไปคิดเรื่องอื่น หรือจะสวดมนต์ไปภายในใจก็ได้ อย่าปล่อยให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ให้มีแต่พุทโธอยู่ในใจ ให้ใจเป็นปัจจุบัน อยู่ตรงนี้ ร่างกายอยู่ตรงไหนให้ใจอยู่ตรงนั้น อย่างนี้ถึงจะมีสติ แต่ส่วนใหญ่ใจกับร่างกายมักจะแยกกัน ร่างกายอยู่ตรงนี้แต่ใจไปอยู่กรุงเทพฯ ไปอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ไปอยู่กับคำพูดที่เพิ่งพูดไปสักครู่นี้ อย่างนี้แสดงว่าไม่มีสติ เพราะคำพูดได้ผ่านไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว เราไปติดอยู่กับอดีต ไม่อยู่ในปัจจุบัน ถ้าอยู่ในปัจจุบัน พอพูดปั๊บก็หายไปแล้ว ถ้ายังคิดถึงคำพูดแสดงว่าไม่อยู่ในปัจจุบัน ไปในอดีตแล้ว ไม่ปล่อยวาง ไปยึดติดกับอดีต หรือไปคิดถึงเรื่องที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ อย่างนี้ก็ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ถ้าไม่อยู่ในปัจจุบันก็ไม่ถือว่ามีสติ ถ้ามีสติจะต้องอยู่ในปัจจุบัน

 

แต่เวลาพิจารณาปัญญา จะต้องพิจารณาทั้งอดีตทั้งปัจจุบันทั้งอนาคต แต่จิตเป็นปัจจุบันอยู่กับการพิจารณา เช่นพิจารณาร่างกาย ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไป ต้องสลายกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ เป็นการพิจารณาทั้งอดีตทั้งปัจจุบันทั้งอนาคต แต่การพิจารณาเป็นปัจจุบัน มีสติอยู่กับการพิจารณา เวลาเจริญปัญญาจะต้องพิจารณาทั้งอดีตทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อจะได้เห็นภาพของความไม่เที่ยง การเปลี่ยนแปลง อนิจจัง แต่เวลาทำสมาธิจะต้องอยู่ในปัจจุบันอย่างเดียว เช่นอยู่กับพุทโธอย่างเดียวอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว จิตถึงจะนิ่งเป็นสมาธิได้ แต่เวลาเจริญปัญญาไม่ต้องการความนิ่ง ต้องการความรู้ ต้องการเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ต้องขยายความหรือเปรียบเทียบ เช่นดูร่างกายเราวันนี้กับร่างกายเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วว่าเป็นอย่างไร และร่างกายที่จะเป็นต่อไปอีก ๑๐ ปีหรือ ๒๐ ปีข้างหน้า อย่างนี้จะได้เห็นภาพของความไม่เที่ยงของร่างกาย ถ้าจะเจริญปัญญา ไม่ต้องสนใจกับความนิ่ง ต้องการความเข้าใจ ต้องการเห็นไตรลักษณ์ ต้องพิจารณาให้รอบคอบทุกสัดทุกส่วน เช่นพิจารณาทุกข์มันทุกข์เพราะอะไร ร่างกายทุกข์มันก็ทุกข์ ๒ อย่าง ทุกข์ตามสภาพของขันธ์ ต้องเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ เป็นทุกข์ทางกาย ส่วนทุกข์ทางใจ ก็เกิดจากใจที่ไม่ชอบความทุกข์ทางกาย ความทุกข์ทางใจเราดับได้ ถ้ายอมรับทุกข์ทางกาย เจ็บก็เจ็บไป ปวดก็ปวดไป แก่ก็แก่ไป ตายก็ตายไป ถ้าอย่างนี้ทุกข์ทางใจจะไม่เกิด ถ้าไม่ยอมรับ กลัวความเจ็บทางร่างกาย ทุกข์ทางใจก็จะเกิดขึ้นมา เช่นนั่งไปแล้วเกิดความเจ็บตรงบางส่วนของร่างกาย ใจก็จะกระสับกระส่ายกระวนกระวาย อยากจะหนีจากความเจ็บไป อยากจะให้ความเจ็บหายไป อย่างนี้เป็นการสร้างความทุกข์ทางใจขึ้นมา ถ้าไม่อยากจะทุกข์ทางใจก็ปล่อยมัน จะเจ็บก็เจ็บไป เรากำลังทำอะไรอยู่ก็ทำต่อไป นั่งบริกรรมพุทโธก็บริกรรมพุทโธต่อไป อย่าไปสนใจกับความเจ็บ เหมือนเสียงจักจั่นนี้ดังจะตายไป แต่เราไม่รำคาญ เพราะไม่ไปสนใจ จะส่งเสียงดังอย่างไรก็ปล่อยให้ส่งเสียงไป เพราะเราไม่ได้ไปยินดียินร้ายกับเขา ถ้าอยากจะให้เขาหายไปให้เขาเงียบไป ก็จะกระสับกระส่ายกระวนกระวายใจ

 

ทุกข์มี ๒ ส่วน ทุกข์นอกใจกับทุกข์ในใจ ทุกข์นอกใจต้องปล่อยไปตามความจริง เสียงจักจั่นนี้จะว่าเป็นทุกข์ก็ได้ ถ้าใจไม่ไปรังเกียจเขา ใจก็ไม่ทุกข์ อย่างนี้เป็นทุกข์ภายนอก ถ้ายอมรับทุกข์ภายนอกทุกข์ภายในก็จะไม่เกิด ถ้าไม่ยอมรับทุกข์ภายนอก ทุกข์ภายในใจก็จะเกิดขึ้นมา เช่นไม่ยอมรับความร้อน ร้อนเหลือเกินทนไม่ได้ อย่างนี้ก็จะเกิดความทุกข์ภายในใจขึ้นมา ถ้ายอมรับความร้อนได้ ร้อนก็ร้อนไป เหงื่อแตกก็แตกไป ใจก็จะไม่ร้อน นี่คือสิ่งที่เราทำได้ คือดับทุกข์ภายในใจได้ เพราะทุกข์ภายในใจเกิดจากความอยาก เกิดจากความยินดียินร้ายกับสุขทุกข์ภายนอก ถ้าไม่ไปยินดียินร้ายกับสุขทุกข์ภายนอก ใจก็จะไม่ทุกข์ เป้าหมายของการปฏิบัติอยู่ที่การดับทุกข์ภายในใจ ไม่ใช่ดับทุกข์ภายนอกใจ ทุกข์ภายนอกใจดับไม่ได้ เขามีเหตุมีปัจจัย เช่นเวลาเกิดเป็นไข้หวัดใหญ่ ร่างกายปวดระบมไปทั้งตัว ไปบังคับเขาไม่ได้ ต้องให้เขาแสดงอาการของเขาไปจนกว่าจะหมดฤทธิ์ พอหมดฤทธิ์แล้วก็หยุดเอง ถ้ากินยาก็จะหายเร็วหน่อย ถ้าไม่กินยาก็หายช้าหน่อย แต่ใจจะทุกข์ไม่ทุกข์ อยู่ที่ว่ามีความยินดียินร้ายหรือไม่ ถ้าไม่ยินดียินร้ายกับทุกข์ภายนอก เจ็บก็เจ็บไป ปวดก็ปวดไป รับรู้ไปตามสภาพความเป็นจริง ใจก็เย็นสบาย การปฏิบัติต้องการความเย็นสบายภายในใจนี้เท่านั้น จะเย็นสบายภายในใจได้ ต้องไม่ยินดียินร้ายกับทุกสิ่งทุกอย่างภายนอกใจ ต้องปล่อยวางให้ได้

 

ถาม  ไปภาวนางวดนี้ลูกได้แผ่เมตตาจริงๆหนึ่งครั้ง คือคราวนี้ลูกเอารูปอสุภะไปด้วย แล้วก็พยายามดู ตอนหลังก็ไม่อยากเปิดดู พอปิดก็ไม่อยากเปิด ก็เปิดทิ้งไว้เลย พอเดินผ่านก็ดู ตอนหลังๆอยู่ดีๆก็คิดขึ้นมาว่า นี่ไม่ใช่รูปภาพ นี่เป็นคน เคยเป็นคนเหมือนเรามาก่อน แล้วก็รู้สึกสลดสังเวช ว่าเขาก็เคยเป็นเหมือนกับที่เราเป็น ก็รู้สึกว่าไม่สมควรที่เราเดินผ่านไปผ่านมา โดยที่ไม่ได้รู้สึกอะไร ก็ยืนไหว้ เสร็จแล้วก็คิดว่ายังไม่สมควร ก็นั่งลงไหว้ แล้วก็แผ่เมตตาว่า ขออุทิศบุญกุศลให้เขา ที่เขาเป็นครูบาอาจารย์เรา เสร็จแล้วก็กราบลง พอกราบลงก็เกิดขนลุกรู้สึกมีความสุขมาก ตอนที่เดินจงกรมคิดขึ้นมาได้ว่า เราเป็นคนเจ้าโทสะ ถ้าละโทสะไปได้จะมีความสุขขนาดไหน ขณะนั้นรู้สึกแบบนี้ แต่หลังจากนั้นไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นมาได้อีก เหมือนต้องเกิดขึ้นมาเอง

 

ตอบ พยายามพิจารณาไปเรื่อยๆ พิจารณาว่าตัวเราและคนอื่น จะต้องตายเหมือนศพที่เราเห็นในภาพ ทั้งเขาและเราต้องเป็นอย่างนั้น จะมาโกรธมาเกลียดกันทำไม ให้ฝังอยู่ในจิตในใจเราตลอดเวลา เพราะจะดับความโกรธต่างๆได้ 

 

ถาม  มีเพื่อนสหธรรมิกมากราบท่านอาจารย์ ได้เล่าว่าหลวงตาไม่ฉันเลย เขาเป็นทุกข์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่าอย่าเป็นทุกข์ เพราะคนอายุปานนี้แล้วโดยเฉพาะพระอริยะนี้ ท่านจะรู้ว่าฉันแค่ไหนจะเหมาะสม ไม่ต้องเป็นกังวล ท่านต่างจากคนธรรมดา

 

ตอบ จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่ไม่มีความอยาก จะไม่บังคับร่างกาย จะปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามความพอดีของเขา เวลาร่างกายต้องการอะไรมันจะแสดงอาการบอก ถ้าต้องการก็จะรับประทานอาหารได้มาก ถ้าไม่ต้องการก็จะรับได้น้อย ท่านจะไม่ฝืนไม่บังคับเหมือนคนที่มีกิเลส ถึงแม้จะไม่อยากกินก็ต้องกิน เพื่อจะได้อยู่ต่อไป แต่ท่านไม่มีความวิตกกังวลอย่างนี้ ถ้ามันไม่กินก็ไม่บังคับมัน ธาตุ ๔ ในร่างกายจะรวมกันและแยกกันตลอดเวลา ถ้าฝ่ายที่รวมกันมีกำลังมากกว่าร่างกายก็จะรับธาตุ ๔ จากภายนอกได้มาก ถ้าฝ่ายแยกกันมีกำลังมากกว่าก็จะรับได้น้อย ธาตุ ๔ ในร่างกายของทุกคนเวลาเกิดมาใหม่ๆจะรวมกันมากกว่าแยก มันถึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้ มันจะดูดเอาธาตุ ๔ จากภายนอกเข้ามาตลอดเวลา เด็กจะกินได้มาก ตอนนั้นธาตุ ๔ ภายในจะดึงธาตุ ๔ ภายนอกเข้ามา แต่พอมีอายุมากแล้วธาตุ ๔ ภายในจะแยกออกจากกันมากกว่าจะรวมกัน ก็เลยเกิดการเสื่อมของร่างกายขึ้นมา ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติร่างกายจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ธาตุ ๔ ที่รวมกันเป็นร่างกายนี้ สักวันหนึ่งจะต้องแยกจากกัน ไปคนละทิศคนละทาง จะกลับไปสู่ธาตุ ๔เดิม คนที่มีอายุกลางคนขึ้นไป ความเสื่อมจะมีมากกว่าความเจริญ พลังที่จะดึงธาตุไว้ให้รวมกัน จะอ่อนกว่าพลังที่จะแยกธาตุออกไป ร่างกายจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ

 

ถาม  พระอริยสงฆ์ไม่กังวลกับการแยกของธาตุ ๔ ท่านปล่อยให้เป็นธรรมชาติ

 

ตอบ ท่านปล่อยไปตามธรรมชาติ ถ้าฉันได้ก็ฉัน ถ้าฉันไม่ได้ก็ไม่ฉัน ไม่เป็นปัญหา เพราะจิตไม่เดือดร้อนไปกับร่างกาย จิตของท่านได้แยกออกจากร่างกายแล้ว ร่างกายเป็นเหมือนรถยนต์ ที่มีถังน้ำมัน ที่หดตัวลงไปเรื่อยๆ เมื่อก่อนเติมได้ครั้งละ ๕๐ ลิตร เดี๋ยวนี้ลดเหลือ ๔๐ บ้าง ๓๐ บ้าง ๒๐ บ้าง ถังน้ำมันจะเล็กลงไปเรื่อยๆ  เป็นธรรมชาติของร่างกาย ที่จะค่อยๆแยกออกจากกัน ธาตุ ๔ จะแยกออกจากกัน แต่พวกเราที่มีกิเลสนี้ จะไม่คำนึงถึงเหตุถึงผล มีแต่ความอยาก อยากจะอยู่ถึง ๒๐๐ ปี ๓๐๐ ปี ร่างกายของปุถุชนกับร่างกายของพระอรหันต์ไม่ต่างกัน มีจิตเท่านั้นที่ต่างกัน จิตของพระอรหันต์ไม่ยึดติดกับร่างกาย จิตของปุถุชนยังยึดติดอยู่ ยังหวงยังห่วงยังเสียดายอยู่ ยังต้องรักษาเอาไว้อย่างเต็มที่ แต่จิตของพระอรหันต์จะเฉยๆ เพราะท่านเห็นว่าเป็นการแบกภาระมากกว่า ภารหเว ปัญจักขันธา เป็นภาระที่จะต้องคอยดูแลรักษา ถ้าไม่มีร่างกายจิตก็ไม่ต้องแบกภาระ เหมือนคนที่มีลูกกับคนที่ไม่มีลูก คนที่มีลูกก็ต้องมีภาระเลี้ยงดูลูก คนที่ไม่มีลูกก็ไม่ต้องมีภาระเลี้ยงดูลูก ร่างกายเป็นเหมือนลูกของจิต ที่จิตต้องคอยดูแลรักษา คอยแบกคอยหาม พอยิ่งแก่มากเวลานอนแล้วลุกขึ้นมานี้ เหมือนกับก้อนหินเลย เวลาดึงร่างกายขึ้นมาจากพื้น มันหนักนะ มันเป็นภาระ แต่ท่านยินดีแบกภาระนี้ เพื่อทำประโยชน์ให้แก่สัตว์โลก แต่จะไม่ทำเกินธรรมชาติของร่างกาย ถ้าร่างกายต้องการจะหยุด ก็ต้องหยุด

 

ถาม  ถ้าไปฝืนมากก็ยิ่งจะทำให้เสื่อมง่ายยิ่งขึ้น

 

ตอบ อันนี้ไม่ทราบว่าจะเสื่อมหรือไม่เสื่อม ไม่ได้วิเคราะห์ดู เพียงแต่พูดตามหลักธรรมดา อาจจะอยู่ได้ แต่อยู่แบบนอนอยู่บนเตียง มีสายให้อาหารให้ยา อยู่แบบนี้ไม่ได้ทำประโยชน์ เป็นการใช้กำลังเพื่ออัดธาตุภายนอกเข้าไป

 

ถาม  เหมือนแบตเตอรี่ที่เสื่อมแล้ว พยายามที่จะอัดไฟเข้าไป ซึ่งมันก็ไม่เก็บไฟแล้ว

 

ตอบ เก็บได้บ้าง แต่ไม่สามารถเอามาทำประโยชน์ มีร่างกายให้คนที่ยังติดอยู่กับร่างกาย ได้เห็นได้กราบไหว้บูชา เหมือนวัดบางวัด อาจารย์ตายไปแล้ว ยังไม่ยอมเผา เอาใส่โลงแก้วไว้ จะได้เห็นร่างของท่าน เหมือนท่านไม่ได้จากไป แต่ความจริงองค์ท่านคือจิตของท่าน ไม่ได้อยู่กับร่างกายแล้ว ร่างกายเป็นเหมือนโทรศัพท์มือถือที่เราใช้ติดต่อกัน คนที่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถติดต่อกันได้ คนที่ไม่มีมือถือก็ไม่สามารถติดต่อกับคนที่มีมือถือได้ จิตที่มีร่างกายก็สามารถติดต่อกับจิตที่มีร่างกายได้ จิตที่ไม่มีร่างกายก็ไม่สามารถติดต่อกับจิตที่มีร่างกายได้ นอกจากจิตที่มีพลังจิต ที่จะติดต่อโดยไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นสื่อ เช่นเวลาเข้าสมาธิแล้วก็เห็นพระอรหันต์มาเทศน์มาสนทนาธรรมได้ อย่างหลวงปู่มั่นเวลาท่านเข้าสมาธิ จิตของท่านมีพลังพอที่จะสามารถติดต่อกับ พระอรหันต์กับพระพุทธเจ้าได้ จิตของพระพุทธเจ้าไม่ได้ตายไม่ได้สูญหายไปไหน แต่เราไม่มีเครื่องมือ ท่านไม่มีเครื่องมือที่จะติดต่อกับเรา เครื่องมือของท่านพังไปแล้ว โทรศัพท์ของท่านเสียไปแล้ว

 

ถาม  ถ้าร่างกายกำลังถูกปั๊มหัวใจ ในขณะนั้นจิตออกไปหรือยังคะ

 

ตอบ ถ้าร่างกายยังมีชีวิตอยู่ จิตยังไม่ไป

 

ถาม  ถึงจะปั๊มหัวใจอยู่

 

ตอบ ถ้าร่างกายยังไม่ตาย จิตก็ยังอยู่ ถ้าร่างกายยังหายใจอยู่แต่พูดไม่ได้ นอนอยู่ในโคม่า จิตก็ยังอยู่ แต่จิตไม่สามารถใช้มือถือคือร่างกายได้ มือถือนี้เสีย โทรออกไม่ได้ รับสายไม่ได้

 

ถาม  จิตยังอยู่ แต่เราติดต่อท่านไม่ได้ สื่อสารกับใครไม่ได้ ต้องจิตที่มีพลังถึงจะติดต่อกันได้

 

ตอบ เช่นจิตของคุณแม่แก้วกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นมาแจ้งก่อนในคืนนั้นว่าท่านได้เสียแล้ว คุณแม่แก้วรู้ก่อนคนอื่นในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านมารู้ตอนสาย มีคนมาส่งข่าวบอก แต่ท่านรู้ในยามดึกแล้ว เพราะจิตของท่านมีพลัง ที่จะติดต่อจิตกับจิตโดยตรง ไม่ต้องผ่านมือถือ อย่างพวกเราต้องผ่านมือถือ ต้องมีร่างกายถึงคุยกันได้ ถ้าร่างกายเป็นอะไรไป ก็ไม่สามารถติดต่อกันได้ นอกจากจะติดต่อโดยตรงทางกระแสจิต จิตไม่ตาย จิตนี้แหละเป็นองค์แท้ของท่าน แต่ร่างกายไม่ใช่องค์ท่าน ร่างกายเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร เป็นเหมือนโทรศัพท์มือถือ แต่เจ้าของโทรศัพท์มือถือไม่ได้เป็นอะไรไปกับโทรศัพท์มือถือคือร่างกาย เพียงแต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ เวลาเราตายไป ก็เหมือนเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือใหม่ ได้เครื่องใหม่ จะได้รุ่นดีกว่าเดิมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฐานะการเงินของเรา ถ้ามีเงินมากก็ซื้อของดีกว่าเก่าได้ ถ้ามีเงินน้อยก็ซื้อของที่ดีเท่าของเก่าไม่ได้ ก็คือบุญนี้เอง ฐานะการเงินของเรา ถ้ามีบุญมากก็จะกลับมาเกิดได้ร่างกายดีกว่าเก่า มีสติปัญญาศรัทธาวิริยะมากกว่าเดิม  ปฏิบัติธรรมได้สูงกว่าเก่า บุญทั้งหลายที่เราทำไว้นี้ไม่เสื่อม จะเป็นเงินที่จะซื้อภพชาติที่ดี เพื่อปฏิบัติธรรมให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเสียดายเงินทอง ไม่ต้องเสียดายเวลา ไม่ต้องเสียดายความสุขเล็กๆน้อยๆจากรูปเสียงกลิ่นรส เวลาที่มาทำบุญให้ทานรักษาศีล ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธินี้ เราได้กำไร ไม่หมดไปกับร่างกาย ยิ่งทำได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งใกล้ถึงจุดหมายปลายทางมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลกับความตาย เพราะความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์มือถือ เจ้าของโทรศัพท์ไม่ได้ตายไปกับโทรศัพท์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตายไปกับพระสรีระของพระองค์ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายไม่ได้ตายไปกับร่างกายของท่าน ท่านยังอยู่ อยู่ที่ว่าจะมีความสามารถติดต่อกับท่านได้หรือไม่

 

ถาม  ติดต่อทางจิต ถ้านึกถึงท่านตลอด

 

ตอบ ไม่พอ

 

ถาม  ไม่ใช่ค่ะ คือเราไม่สามารถ แต่ท่านรับของเราได้ใช่ไหม

 

ตอบ แล้วแต่ว่าท่านจะรอรับเราหรือเปล่า อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็ส่งไปหาพระพุทธมารดา พระพุทธมารดาเป็นเทพ ท่านก็ส่งกระแสจิตไปหา แล้วก็เทศน์สอนอยู่ ๓ เดือน หรือ ๑ พรรษา จนบรรลุเป็นพระโสดาบัน ต้องมีความผูกพันกัน ไม่ใช่อยู่ดีๆนึกอยากจะส่งไปหาก็ส่งไป ไม่ใช่นึกอยากจะโทรเบอร์ไหนก็โทรไป

 

ถาม  เวลาที่เจริญสติแล้วมีรูปรสกลิ่นเสียงเข้ามา พระอาจารย์ให้มีสติอยู่ตรงนั้น แล้วพิจารณาดูเกิดดับด้วยหรือเปล่าคะ

 

ตอบ ดูว่ามันเกิดมันดับ เพื่อไม่ไปยึดไปติด ไม่ไปอยาก ไม่ใช่เกิดดับแล้วก็ยังอยากได้มันอยู่ อย่างนี้แสดงว่าไม่เห็นการเกิดดับจริงๆ ถ้าเกิดดับก็คือมันมาแล้วมันก็ไป อย่าไปเอามาดีกว่า เช่นเห็นเสื้อผ้าสวยๆอยากจะได้ขึ้นมา เอามาแล้วใส่ได้ครั้ง ๒ ครั้งก็ไม่ใส่อีกเลย เสียเงินเสียทองไปเปล่าๆ

 

ถาม  เวลาดูการเกิดดับของร่างกาย เราก็มาดูที่ใจเราว่าเรารู้สึกอย่างไร ถูกหรือเปล่าคะ 

 

ตอบ ต้องถามตัวเองว่า เรารับกับการดับของมันได้หรือไม่ เช่นร่างกายนี้ต้องดับ เรารับมันได้หรือเปล่า ดูเกิดดับต้องดูอย่างนี้ ดูเพื่อให้ใจรับความจริง เช่นเวลาได้อะไรมาพร้อมที่จะเสียมันไปหรือไม่ ได้สามีหรือภรรยามา พร้อมที่จะเสียเขาไปหรือไม่

 

ถาม  เสียไปแล้ว

 

ตอบ เสียแล้วไม่ร้องห่มร้องไห้ ไม่เศร้าโศกเสียใจได้หรือไม่ ต้องถามตัวเองอย่างนี้ ถ้าพร้อมก็เอามาได้ อยากจะได้อะไรก็เอามาได้ แต่ต้องพร้อมให้เขาจากไปเสมอ ไปแบบมีความสุขใจ เวลาเขาไปแล้วเรามีความสุขใจ ก็ไม่ขาดทุน ถ้าได้มาแล้วต้องมาหวงมาห่วงมาทุกข์มากังวล อย่างนี้แสดงว่าไม่เห็นการดับ

 

ถาม  เวลามีรสเข้ามาเราก็รู้รส แล้วรสมันก็หายไป ก็คือเกิดดับ หรือลมเข้ามากระทบเราๆรู้สึกเย็น แล้วมันก็ดับไป อย่างนี้ถือว่าเป็นการดูเกิดดับหรือเปล่า

 

ตอบ ดูอย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์ ต้องดูเพื่อให้ใจเฉยกับมัน รู้ว่ามันมาแล้วก็ไป ไม่ไปยินดียินร้ายกับมัน ให้ดูอย่างนี้ เวลาความร้อนมากระทบเฉยได้หรือเปล่า มันเกิดแล้วมันก็หายไป มันไม่ร้อนไปตลอด เดี๋ยวมันก็ต้องเย็น มันเย็นแล้วมันก็ต้องร้อน รับกับการเปลี่ยนแปลงได้หรือเปล่า เรารู้ว่ามันเกิดดับเกิดดับ เรารับมันได้หรือเปล่า เวลามันเกิด เวลามันดับ เช่นเวลาความร้อนเกิดขึ้นเรารับมันได้หรือเปล่า เวลาความเย็นดับไปเรารับมันได้หรือเปล่า

 

ถาม  ต้องนั่งสมาธิให้จิตตั้งมั่นก่อนแล้วค่อยมาพิจารณา หรือสามารถพิจารณาไปได้เรื่อยๆคะ

 

ตอบ ถ้าพิจารณาได้ก็พิจารณาไป ต้องปล่อยวางให้ได้ถึงจะได้ผล ถ้าพิจารณาแล้วยังเหมือนเดิม ยังรักยังชังอยู่ก็ไม่ได้ผล

 

ถาม  แล้วที่ไม่ได้ผลเพราะอะไรคะ

 

ตอบ เพราะพิจารณาไม่เป็น ไม่ได้ปล่อยวาง พิจารณาว่ามันเกิดดับเกิดดับ แต่ยังไปรักไปชังเหมือนเดิม ไม่เกิดประโยชน์อะไร พิจารณาเพื่อไม่ให้รักไม่ให้ชัง เพื่อให้ใจเป็นอุเบกขา เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย ร้อนก็ได้หนาวก็ได้ ได้เป๊บซี่ร้อนๆมาดื่มก็ดื่มได้ ไม่บ่นว่าทำไมไม่แช่เย็น ถ้าจะดื่มเพื่อร่างกาย ก็ดื่มเพื่อให้ร่างกายมีน้ำหล่อเลี้ยง จะร้อนจะเย็นไม่สำคัญ ถ้าดื่มเพื่อกิเลสก็ต้องเย็นเฉียบ

 

ถาม  ขณะที่จิตยังไม่สามารถปล่อยวางได้นี่ ต้องทำใจไปก่อนใช่ไหม หมายความว่ายังไม่วางอย่างอัตโนมัติ ต้องทำใจให้วาง

 

ตอบ ต้องฝืนใจ หัดชอบในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ชอบในสิ่งที่ชอบ เพื่อทำให้ใจอยู่ตรงกลาง ถ้าชอบเครื่องดื่มชนิดนี้ก็อย่าไปดื่ม ถ้าไม่ชอบก็ฝืนดื่มไป

 

ถาม  เวลาพิจารณาอาการ ๓๒ ยังไม่ถึงขั้นที่เห็นภาพกระดูก เพียงแต่จำได้ติดตา

 

ตอบ เป้าหมายของการพิจารณาอสุภะ ความไม่สวยงามของร่างกาย คือตัดกามราคะ การอยากมีเพศสัมพันธ์ ถ้าไม่เห็นอาการที่สกปรกหรือไม่สวยงาม จะเห็นว่าสวยงาม จะอยากร่วมหลับนอนด้วย ต้องดูในส่วนที่ไม่สวยงามหรือสกปรก พอเห็นแล้วก็จะไม่อยากร่วมหลับนอน ถ้าคิดว่าไม่ได้อาบน้ำมา ๓ วัน ไม่ได้หวีเผ้าหวีผม ก็จะไม่มีอารมณ์อยากร่วมหลับนอน ต้องนึกถึงภาพเหล่านี้เพื่อจะได้ตัดความอยากในกาม นึกถึงอาการที่ไม่ชอบก็ได้ เช่นนึกถึงโครงกระดูก นึกว่าหลับนอนกับกระดูก หรือลำไส้ก็ได้ พิจารณาเพื่อคลายความกำหนัดยินดีในกามราคะ นี่คือเป้าหมายของการพิจารณาอสุภะ จะได้อยู่คนเดียวได้ ไม่รู้สึกเหงาว้าเหว่ คนที่ต้องมีสามีมีภรรยามีคู่ครอง ก็เพราะมีความรู้สึกเหงาว้าเหว่ ต้องมีเพื่อนมีคู่ครอง แต่ไม่รู้ว่าคู่ครองเป็นผีดิบ เป็นโครงกระดูก เป็นตับไตไส้พุง แต่มองไม่เห็น ต้องการให้เห็นส่วนนี้ หรือจะพิจารณาว่าร่างกายสักวันหนึ่งจะต้องเป็นซากศพ จะได้สลดสังเวชกับการไปหลงไปยึดติด กับความสวยงามของร่างกาย ต้องพิถีพิถันกับการแต่งเนื้อแต่งตัวแต่งหน้าทำผม แต่งตรงนั้นเสริมตรงนี้ ทั้งๆที่เป็นเพียงซากศพ ที่ต่อไปจะต้องเน่าเฟะ

 

ถาม  เวลาปฏิบัติจะเห็นการเกิดดับ แต่ในชีวิตประจำวันจะไม่เห็นเกิดดับ กิเลสยังอยากอยู่เรื่อยๆ ต้องใช้พลังมากๆที่จะตัดมัน หนูควรจะใช้พลังตัดมัน หรือหยุดมันก่อน ไปทำสมถะก่อน

 

ตอบ จะตัดอะไร

 

ถาม  ตัดกิเลส ตัดความคิดที่ไม่ดี

 

ตอบ กิเลสจะไม่ตาย ถ้าไม่เห็นการเกิดแล้วดับของสิ่งต่างๆ ที่กิเลสไปยินดียินร้ายด้วย ถ้าเห็นแล้วจะรู้สึกเฉยๆกับสิ่งที่สัมผัสรับรู้ เวลาพิจารณาแต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เหมือนทำการบ้าน เป็นเหมือนนักมวยซ้อมชกกระสอบทราย ยังไม่ได้ขึ้นเวทีต่อสู้กับของจริง เวลาไปอยู่ในเหตุการณ์จริง ถ้าไม่สามารถปล่อยวางได้ ก็แสดงว่ายังสอบไม่ผ่าน ต้องกลับมาทำการบ้านต่อ ต้องพิจารณาการเกิดการดับของสิ่งต่างๆให้มากขึ้น เรื่องเกิดไม่สำคัญเท่ากับเรื่องดับ ถ้าเห็นว่าสิ่งต่างๆต้องดับ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากได้สิ่งต่างๆ ได้มาแล้วก็ต้องหมดไป ต้องเห็นอย่างนี้ถึงจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย ไม่มีความอยากได้ หรืออยากหนีจากไป แสดงว่าสอบผ่าน ต้องอยู่ในเหตุการณ์จริงถึงจะรู้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เวลาพิจารณานี้ยังไม่รู้จริง ต้องอยู่ในเหตุการณ์จริงถึงจะรู้ ว่าใจยังหวั่นไหวหรือเฉยๆ ถ้าคิดว่าอย่างมากร่างกายก็ต้องดับ ก็จะไม่หวั่นไหว ถ้าไม่คิดว่าร่างกายจะต้องดับ ก็จะหวั่นไหว

 

การดูการเกิดดับนี้ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งต่างๆที่ใจสัมผัสรับรู้ จะต้องหมดไป ไม่ควรไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา ถ้าไม่ยึดไม่ติดไม่ยินดียินร้าย เขาจะอยู่ก็อยู่ เขาจะไปก็ไป แสดงว่าเราปล่อยวางเขาได้ เรารู้ทันรู้ว่าเขาจะต้องเกิดดับ คือเกิดมาแล้วก็ต้องดับไป อย่างที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้เปล่งวาจาไว้ว่า ธรรมใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา การดูเกิดดับเฉยๆยังไม่พอ ดูเกิดดับเพื่อสอนใจให้ปล่อยวาง ไม่ให้ไปยึดไปติดกับสิ่งที่เกิดดับเกิดดับ ถ้ามีอยู่ก็ต้องเตรียมตัวรับกับการดับ เช่นลูกของเราอาจจะดับไปก่อนเราดับ เราต้องเตรียมตัวรับกับเหตุการณ์นี้ มีอะไรก็ต้องจากเราไปหมด เราพร้อมที่จะรับกับเหตุการณ์นี้หรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อม เวลาไปเจอของจริงจะทำได้อย่างไร เพียงแต่คิดก็ยังรับไม่ได้ เช่นคิดว่าลูกเราอาจจะต้องตายจากเราไปก่อน ถ้าคิดอย่างนี้ไม่ได้ เวลาไปพบกับเหตุการณ์จริงจะเป็นอย่างไร ต้องซ้อมไว้ก่อน ต้องคิดอย่างนี้ไว้ก่อนว่า ไม่แน่นะ ลูกเราอาจจะไปก่อนก็ได้ ถ้ากล้าคิดก็จะฝังอยู่ในใจจนไม่ลืม

 

พอพบกับเหตุการณ์จริง จะไม่ตื่นเต้นหวาดกลัว เพราะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์นี้แล้ว อาจจะมีอารมณ์บ้างเล็กๆน้อยๆ แต่ไม่ถึงกับเสียหลัก บางคนเป็นบ้าไปเลยก็มี กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นเดือนกว่าจะทำใจได้ ถ้าพร้อมที่จะรับกับเหตุการณ์ เป็นเพียงเดี๋ยวเดียว เพียงนาที ๒ นาทีหลังจากได้ฟังข่าว แล้วก็ผ่านไปจบไป มีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป ทำศพก็ทำไป ถ้าไม่มีกำลังที่จะคิดถึงเรื่องดับได้ แสดงว่าจิตไม่มีสมาธิพอ เพราะมีกิเลสมาก มีความหลง มีอุปาทานความยึดติด มีความอยาก อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ จะไม่กล้าคิดถึงเรื่องการจากไป ถ้าจิตมีสมาธิพอ ความโลภความโกรธความอยากความหลง อุปาทานความยึดติดจะถูกกดเอาไว้ ยังมีอยู่ แต่ไม่มีแรงพอที่จะทำไม่ให้เราคิดถึงความจริงได้ ว่าไม่เขากับเราก็ต้องจากกันอย่างแน่นอน ใครจะไปก่อนใครเท่านั้นเอง จะคิดอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ เตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์ พอเหตุการณ์เกิดขึ้นก็จะไม่เดือดร้อน เหมือนรู้ว่าตอนจบของหนังเป็นอย่างไร จะหวาดเสียวขนาดไหน เราก็รู้ว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร ถ้าเขาจะต้องตาย ต่อให้อยู่อย่างปลอดภัยขนาดไหนก็ตาม เราก็รู้ว่าในตอนจบเขาก็ต้องจากเราไป เราจึงเตรียมรับกับความดับของสิ่งต่างๆให้ได้ ไม่เพียงแต่รู้เกิดดับเกิดดับ เช่นได้ยินเสียงแล้วก็ดับไป อะไรมากระทบแล้วก็ดับไป ก็รู้กันอยู่แล้ว รู้แล้วต้องทำใจ เวลาได้ยินเสียงสรรเสริญทำใจเฉยๆได้หรือเปล่า ไม่ดีใจกับเสียงสรรเสริญได้หรือเปล่า เวลาถูกด่าทำใจเฉยได้หรือเปล่า นี่คือเรื่องที่เราต้องทำ คือทำใจ โดยการรู้ทันว่าสิ่งต่างๆเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มีขึ้นมีลง มีเกิดมีดับ

 

ที่ให้ศึกษาเกิดดับก็คือให้ศึกษาอนิจจังนั่นเอง ธรรมชาติของสิ่งต่างๆในโลกนี้ไม่ถาวรไม่นิ่ง เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนที่อยู่ใกล้ตัวเราวันนี้ดีพรุ่งนี้ไม่ดีก็ได้ เพราะอารมณ์เขาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เวลาอารมณ์ดีเขาก็พูดดีทำดี เวลาอารมณ์ไม่ดีเขาก็พูดไม่ดีทำไม่ดี เรารับความดีความไม่ดีของเขาได้หรือเปล่า อยู่ตรงนี้ต่างหาก อยู่ที่ว่าเราทำใจรับกับเหตุการณ์ต่างๆได้หรือเปล่า ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง ไม่ว่าจะเกิดหรือดับ ทำใจให้เป็นอุเบกขาเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น สำหรับใจที่รู้ทันแล้วการเกิดกับดับนี้เท่ากัน ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เวลาได้มาก็ไม่ดีใจ เพราะรู้ว่าได้มาเพื่อจะต้องเสียไป ถ้าไม่ได้มาก็ไม่ต้องเสียไป ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องเสียไป เวลามีจึงไม่ควรดีใจ ถ้าดีใจก็แสดงว่าหลงแล้ว ถ้าดีใจเวลาเสียไปก็ต้องเสียใจ ถ้าได้มาไม่ดีใจ เวลาเสียไปก็จะไม่เสียใจ ต้องทำใจ อย่าไปชอบไปชัง อย่ายินดียินร้ายกับการเกิดดับของสิ่งต่างๆ นี่คือการดูการเกิดดับ ดูเพื่อสอนใจให้รู้ว่า ไม่มีอะไรคงเส้นคงวา มีการเปลี่ยนแปลง มีการเกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่แล้วดับไป ใจมีหน้าที่รับรู้ก็รับรู้ไป ทำใจให้เป็นเหมือนกระจก เวลายิ้มใส่กระจกมันก็เฉย มันไม่ดีใจ เวลาแยกเขี้ยวใส่กระจกมันก็ไม่โกรธ ให้ใจเป็นเหมือนกระจก เพียงแต่รับรู้อย่างเดียว ใจคือผู้รู้เป็นธาตุรู้ ถ้ามีกิเลสมาเกี่ยวข้องด้วย ก็ทำให้ใจยินดียินร้าย เราต้องสอนใจให้ยุติยินดียินร้าย รักชัง โลภโกรธ ให้รู้เฉยๆ ใจรับรู้ได้หมด ไม่มีอะไรทำลายใจได้ ระเบิดนิวเคลียร์ก็ทำลายใจไม่ได้ ทำลายเพียงร่างกาย ถ้าใจยินดีกับการระเบิดของร่างกายแล้ว ใจจะไม่เดือดร้อน ที่ให้ศึกษาการเกิดดับก็คือให้ศึกษาอนิจจัง

 

ถ้าไม่รู้ทันอนิจจังก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่รู้ว่าเกิดมาแล้วต้องดับก็จะมีอุปาทานความยึดติด อยากจะให้อยู่กับเราไปตลอด พอจะต้องดับก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ร้องห่มร้องไห้เศร้าโศกเสียใจกินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้ารู้ทันว่าเกิดมาแล้วต้องดับ ก็จะไม่วิตกกังวล ขณะอยู่ด้วยกันก็อยู่ไป เวลาไม่อยู่ก็ไม่กังวล เวลาไม่เห็นหน้าก็ไม่กังวล ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะพร้อมที่จะให้เกิด อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด นี่คือการศึกษาไตรลักษณ์ การเกิดดับคืออนิจจา ความทุกข์คือการไปยึดติดในสิ่งที่เกิดดับ ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็จะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา อนัตตาคือไม่ใช่ของเรา เป็นของชั่วคราวเป็นของที่ยืมเขามา เราไม่ได้เป็นเจ้าของที่แท้จริง สักวันหนึ่งเจ้าของที่แท้จริงก็จะมาขอคืนไป ก็คือธรรมชาติดินน้ำลมไฟนี้เอง สักวันหนึ่งก็จะมาขอร่างกายนี้กลับไป น้ำก็จะมาทวงเอาส่วนน้ำไป ดินก็จะมาเอาส่วนดินไป ลมก็จะมาเอาส่วนลมไป ไฟก็จะเอาส่วนไฟไป ร่างกายก็จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ นี่คืออนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นปัญญาของพระพุทธศาสนา ข้อสำคัญต้องอยู่คู่กับใจทุกเวลานาที รู้เพียงแค่นี้ยังไม่พอ ตอนนี้เรารู้อนิจจังทุกขังอนัตตา แต่ยังไม่ฝังอยู่ในใจตลอดเวลา พอไปเจอเหตุการณ์จริงก็ลืมไป เกิดความวิตกหวาดกลัว เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เราจึงต้องปลูกฝังอนิจจังทุกขังอนัตตาให้อยู่ในใจทุกลมหายใจเข้าออก มองอะไรต้องรู้ทันทีว่ามันเกิดดับ มันต้องดับ อย่าไปยึดอย่าไปติด ไม่ใช่ของเรา ต้องท่องคาถานี้ไว้ ไม่อย่างนั้นจะลืม พอลืมแล้วก็จะอยาก เห็นอะไรสวยๆงามๆก็อยากได้ แสดงว่าไม่เห็นเกิดดับ เห็นแต่เกิดอย่างเดียว จึงอยากได้

 

ถาม  เวลาที่จิตดับแล้วออกไปนี้ ตัวธาตุรู้ตามติดไปกับจิตไหมคะ

 

ตอบ จิตไม่ดับ จิตกับธาตุรู้เป็นตัวเดียวกัน จิตไม่เคยดับ ธาตุรู้ไม่เคยดับ แต่อารมณ์ที่เกิดในจิตนี้เกิดดับเกิดดับ เช่นความสุขความทุกข์ในจิตนี้มันเกิดดับเกิดดับ ความกลัวก็เกิดดับเกิดดับ ความรักความชังก็เกิดดับเกิดดับ เป็นอาการของจิต ไม่ใช่เป็นตัวจิต ตัวจิตก็คือตัวรู้ผู้รู้ ตัวรู้นี้รู้อยู่ตลอดเวลา เหมือนน้ำ น้ำก็เป็นน้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ลูกคลื่นอยู่ในน้ำนี้ มันเกิดดับเกิดดับ

 

ถาม  ธาตุรู้ของแต่ละคนนี้ที่ไม่ตายใช่ไหมคะ

 

ตอบ ตัวที่คุยกันอยู่นี่ก็ตัวธาตุรู้ ความคิดก็ออกมาจากธาตุรู้ คิดมาแล้วก็สั่งมาทางร่างกาย ให้ร่างกายพูด เป็นการกระทำของตัวรู้ตัวจิต ไม่ใช่ร่างกายเป็นผู้กระทำ ร่างกายเป็นเพียงผู้รับคำสั่งของจิต

 

ถาม  การเข้านิพพานนี้ คือตัวธาตุรู้ที่เข้าไป

 

ตอบ ธาตุรู้เป็นนิพพานถ้าไม่มีโลภโกรธหลง นิพพานไม่ได้เป็นสถานที่ เป็นสภาวะของจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ธาตุรู้ตัวเดิม เหมือนคนที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บจนหายไปหมดแล้ว ก็ยังเป็นคนเดิมอยู่ เพียงแต่ไม่มีโรคอยู่ในร่างกาย เป็นร่างกายที่ไม่มีเชื้อโรค แต่ไม่ได้หายไปไหน จิตของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ไม่ได้สูญหายไปไหน ที่สูญก็คือความโลภความโกรธความหลง เหลือแต่ความบริสุทธิ์ ถ้าไม่ปฏิบัติจะไม่เข้าใจ จะคิดว่านิพพานคือสูญ ถ้าอย่างนั้นปฏิบัติไปให้เหนื่อยทำไม  จิตไม่สูญ

 

ถาม  เวลาที่เรานั่งสมาธิอยู่นี้ รู้สึกว่ามีการเกิดดับของบางส่วน ตอนนั้นมีอยู่จุดหนึ่งที่มันนิ่ง แล้วก็มีตัวที่วิ่งไปวิ่งมาเกิดดับไปเรื่อย  ตัวนิ่งตัวนั้นคือตัวเกิดดับอีกตัวหนึ่งหรือเปล่าคะ

 

ตอบ สมาธิมีหลายระดับ ถ้ายังไม่นิ่งเต็มที่ก็ยังมีการเกิดดับเกิดดับ

 

ถาม  พอมันดับ มันก็จะนิ่งๆ แล้วก็จะเกิดขึ้นมาอีก เสร็จแล้วก็ดับ

 

ตอบ ให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น รู้ว่าจิตยังไม่นิ่งเต็มที่ ถ้านิ่งเต็มที่แล้ว ตัวเกิดดับเกิดดับต่างๆจะหายไปหมด จะเหลือแต่ตัวรู้อย่างเดียว ที่เรียกว่าสักแต่ว่ารู้ หรือนิ่งแล้วแต่ยังรู้อยู่กับเรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรส แต่จิตไม่วุ่นวายไปกับมัน ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน ได้ขนาดนั้นก็พอใช้ได้ ถ้าจะนิ่งแบบทุกอย่างหายไป ก็ต้องเป็นสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ เป็นขั้นที่ ๙ ของฌานสมาบัติ คือรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ อันนั้นดับหมดเลย สัญญาก็ดับ เวทนาก็ดับ เหลือแต่จิตดวงเดียว ละเอียดที่สุด แต่ไม่ได้เป็นการดับของกิเลส กิเลสเพียงแต่ถูกระงับการทำงานไปชั่วคราว เพราะไม่สามารถใช้ขันธ์คือสัญญาได้

 

ถาม  ถ้าจิตมีเกิดมีดับมีตัววิ่งนี้ จะพิจารณาได้ไหม หรือว่าจะต้องรอให้มันนิ่งจนไม่มีตัวที่เกิดดับ

 

ตอบ เวลาทำสมาธิ เราต้องการให้มันนิ่งอย่างเดียว ไม่ต้องการพิจารณา รอให้ออกมาจากสมาธิก่อนแล้วค่อยพิจารณา สมาธิเป็นเวลาหลับนอนพักผ่อน ต้องให้มันพักให้เต็มที่ อย่าใช้งาน พอพักผ่อนเต็มที่แล้วตื่นขึ้นมาค่อยเอาไปทำงาน เอาไตรลักษณ์ฝังเข้าไปในใจเรื่อยๆ คิดแต่เรื่องไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ยึดติด ไม่อยากได้ ไม่รักชัง นี่คือเป้าหมายของการพิจารณาทางปัญญา ถ้ารู้ว่าเกิดดับเกิดดับแล้วยังชอบยังอยากได้อยู่ ยังหวาดกลัวอยู่ ยังกลัวตายอยู่ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร พิจารณาเพื่ออะไร พิจารณาเพื่อดับความกลัว เพราะมันเป็นความทุกข์ ปัญญามีไว้เพื่อดับความทุกข์ ต้องพิจารณาจนไม่กลัว เอาความจริงมายืนยันกับจิตว่า ต้องตายแน่ๆร่างกายนี้ ไม่มีทางอื่น พอโดนยืนยันอย่างนี้มาตลอด ก็ต้องยอมแพ้ กิเลสฝืนไม่ได้ ความจริงมีน้ำหนักมากกว่าความอยาก ความอยากสู้ความจริงไม่ได้ ความอยากสู้มรรคไม่ได้ สมุทัยสู้มรรคไม่ได้ ถ้าสู้ได้ก็ไม่มีนิโรธ การดับทุกข์ก็จะไม่เกิด พระพุทธเจ้าก็จะไม่ปรากฏ แต่ปัญญาความจริงเหนือกว่าความอยาก ความอยากอยู่สู้ความจริงไม่ได้ ถ้าหมอบอกว่าอยู่ได้อีก ๖ เดือน จะเชื่อหรือไม่เชื่อล่ะ ทีนี้ก็จะทำบุญอย่างเต็มที่ มีอะไรก็จะสละ ไม่หวงแล้ว ถ้าเห็นว่าจะดับจริงๆจะปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จะปล่อยวาง ถ้ายังไม่เห็นว่าจะตาย ก็จะหวงจะห่วงจะเสียดาย ต้องพิจารณาให้เห็นว่าต้องตายแน่ๆ จะได้ไม่อยากได้อะไร

 

ถาม  มีเพื่อนคนหนึ่ง ตอนที่นั่งสมาธิ เขารู้สึกว่าปล่อยไปได้หมด คิดว่าไม่มีพ่อไม่มีแม่ไม่มีคนรัก พอออกมาจิตรู้สึกเป็นอิสระโปร่งโล่ง

 

ตอบ เวลาจิตสงบ ความคิดก็หยุดทำงานไป จะโล่งจะว่าง แต่พอออกมาได้ไม่นาน ก็จะกลับคืนสู่สภาพเดิม เริ่มคิดปรุงแต่ง สัญญาที่เป็นสมมุติต่างๆก็จะกลับมา จะมีพ่อมีแม่มีเพื่อนมีพี่มีน้อง จะมีอุปาทานความยึดติด มีความทุกข์ความกังวล เพราะสมาธินี้ไม่สามารถดับสิ่งเหล่านี้ได้ เพียงแต่กดไว้ชั่วคราว เหมือนหินทับหญ้า เวลามีหินทับหญ้าไว้ หญ้าก็ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ พอเอาหินออกไปไม่นาน หญ้าก็จะฟื้นขึ้นมาใหม่ ขณะอยู่ในสมาธิเป็นเหมือนนิพพานชั่วคราว ตอนนั้นกิเลสจะหยุดทำงาน พอออกจากสมาธิแล้วมันก็กลับมาทำงานใหม่ ต้องใช้ปัญญา เพราะปัญญาจะกำจัดกิเลสได้อย่างถาวร ไม่มีวิธีอื่น แต่ต้องอาศัยสมาธิ เพื่อลดกำลังของกิเลสให้อ่อนลง พอกิเลสอ่อนลงแล้ว ก็จะง่ายต่อการตัดด้วยปัญญา ถ้ากิเลสมีกำลังมาก จิตที่ไม่มีสมาธิจะใช้ปัญญาตัดมันไม่ได้ มันจะดื้อ มันจะสู้ ถ้าจิตมีสมาธิมันจะไม่ดื้อ จะไม่มีกำลังมาก ทำให้ปัญญาสามารถตัดทำลายมันได้

 

ถาม  จิตจะมีสมาธิได้ ต้องตัดกามฉันทะให้ได้ก่อนใช่ไหมคะ

 

ตอบ กามฉันทะเป็นอุปสรรค เป็นนิวรณ์ ถ้ามีกามฉันทะ จะนั่งสมาธิได้เดี๋ยวเดียว จะรู้สึกเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ จะไม่อยากนั่ง เพราะกามฉันทะจะไม่ชอบความเจ็บ จะกระวนกระวายกระสับกระส่าย ไม่สามารถนั่งต่อไปได้ ถ้าตัดกามฉันทะได้ เช่นอยู่กับความยากลำบากได้ ร้อนก็ปล่อยมันร้อนไป ไม่ต้องไปติดแอร์ เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ก็ปล่อยมันเจ็บมันปวดไป ไม่หาความสุขจากความสบายของร่างกาย พอไม่มีกามฉันทะ คือไม่ต้องการความสุขทางร่างกาย เวลานั่งสมาธิถ้าเกิดมีการเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ ก็จะพอทนได้ จะไม่รู้สึกอึดอัดลำบากใจ สามารถบริกรรมพุทโธต่อไปจนเข้าสู่ความสงบได้

 

เวลาทำสมาธิต้องตัดกามฉันทะ ตัดความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เช่นดูหนังฟังเพลง หาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส จะทำให้การนั่งสมาธิง่ายขึ้น ถ้ายังติดความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ เดี๋ยวก็หิวเครื่องดื่มชนิดนั้นชนิดนี้ เดี๋ยวก็อยากจะรับประทานขนมแล้ว ต้องถือศีล ๘ เพื่อตัดกามฉันทะ รับประทานอาหารพอกับความต้องการของร่างกาย ไม่รับประทานตามกามฉันทะ ตามความอยาก ไม่รับประทานหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ความสุขทางตาหูก็ไม่ต้องดูไม่ต้องฟัง ถ้าจะดูก็ดูธรรมะฟังธรรมะไป เวลานอนก็จะไม่นอนบนฟูกหนาๆ จะนอนยาว ร่างกายนอน ๔ ชั่วโมงก็พอ แต่ถ้านอนบนฟูกจะนอน ๘ ชั่วโมง จะเสียเวลาไป แทนที่จะเอา ๔ ชั่วโมงมานั่งสมาธิ ก็ต้องมาเสียเวลากับการนอน นอนมากๆพอตื่นขึ้นมาก็อยากจะกินอีก จะติดอยู่กับการหาความสุขทางกามฉันทะ จะไม่สามารถนั่งสมาธิได้ ถ้าจะเจริญสมาธิต้องตัดกามฉันทะ รับประทานมื้อเดียว บางทีก็อดอาหาร จะช่วยตัดกามฉันทะไปได้มาก เวลานั่งสมาธิจะมีกำลังต่อสู้ กับความเจ็บปวดของร่างกาย จะไม่รู้สึกอึดอัดรำคาญใจ จะสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ ต้องตัดนิวรณ์นี้ให้ได้ มันยากเพราะมันฝืนกับนิสัยของเรา ที่ถูกปลูกฝังมาให้ชอบความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เวลาต้องระงับก็เหมือนคนติดยาเสพติดแล้วไม่ได้เสพ จะทุกข์ทรมานใจ

 

ถ้ามีความศรัทธามีความเชื่อว่าการตัดนิวรณ์นี้ ถึงแม้จะทุกข์มากแต่เป็นความทุกข์ระยะสั้น ทุกข์ตอนต้นเพื่อความสุขตอนปลาย ก็ควรยอมทนทุกข์ไป ต่อไปก็จะไม่ทุกข์ ถ้าฝืนได้ ๒ – ๓ ครั้ง ต่อไปจะง่าย จะยากลำบากตอนใหม่ๆ ถ้าเคยสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา เวลาหยุดดื่มหรือหยุดสูบบุหรี่ ใหม่ๆจะรู้สึกยากมาก แต่พอฝืนได้สักครั้ง ๒ ครั้งแล้ว ต่อไปจะง่ายขึ้นไปเรื่อยๆ จะเลิกได้ในที่สุด พอไม่มีกามฉันทะแล้ว จิตจะไม่ปรุงแต่งไปหาความสุข จะไม่ฟุ้งซ่าน เวลาทำสมาธิจะสงบง่าย ง่ายกว่าจิตที่คิดปรุงแต่งหารูปเสียงกลิ่นรสอยู่ตลอดเวลา ถ้ายอมทุกข์ตอนต้นจะสบายตอนปลาย ทุกข์เดี๋ยวเดียวเหมือนกับหมอผ่าตัด ผ่าแล้วหายไปตลอด ผ่าเอากิเลส ๓ ตัวออกไปจากใจแล้ว สบายไปตลอด ไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าไม่เอา ๓ ตัวนี้ออก อยู่ไปอีก ๑๐๐ ชาติ ๑๐๐๐ ชาติก็ยังต้องทุกข์อยู่ ยอมเจ็บเถิด ไม่มีใครไม่เจ็บ เวลาผ่าตัดกิเลสไม่มียาสลบ มีแต่ขันติ ตายเป็นตาย อดเป็นอด ทุกข์เป็นทุกข์ อย่าไปกลัวตาย อย่าไปกลัวทุกข์ อย่าไปกลัวอดอยาก ต้องตายด้วยกันทุกคน ให้ตายแบบกำไรดีกว่าอยู่แบบขาดทุน อยู่แบบกิเลสเจริญงอกงาม จะอยู่แบบขาดทุน ตายแบบกิเลสตายไปด้วย จะตายแบบกำไร เช่นองค์ที่บรรลุในปากเสือ 

 

ถาม  เวลาอยู่ใกล้คนรอบข้าง บางทีรับเขาไม่ได้ เวลาเขาปวดหัวเป็นไข้ ควรจะทำอย่างไร ยิ่งอยากให้เขาหายก็ยิ่งเป็น

 

ตอบ เพราะจิตเรายังไม่มีปัญญา ที่จะพิจารณาเพื่อปล่อยวางเขา ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของเขา เกิดแก่เจ็บตาย บางคนก็เจ็บมาก บางคนก็เจ็บน้อย ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่เขาทำมา ถ้ามีกรรมมากก็จะมีโรคภัยไข้เจ็บมาก มีบุญมากก็จะมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย ต้องปล่อยไปตามเรื่องของเขา ถ้าช่วยพาไปหาหมอได้ก็พาไป ทำอะไรได้ก็ทำให้ไป แต่อย่าไปอยากให้เขาเป็นอย่างอื่น เขาต้องเป็นของเขาอย่างนี้ เป็นกรรมเป็นบุญของเขา ใจถึงจะเป็นอุเบกขาได้ 

 

ถาม  เขาทุกข์ใจเขาไม่สบายใจ เราก็จะไม่สบายใจไปกับเขาด้วยค่ะ

 

ตอบ เพราะเรายังไม่ปล่อยวางเขา

 

ถาม  ควรทำใจนิ่งๆแล้วดูไปเฉยๆใช่ไหมคะ

 

ตอบ เขาจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา เราดีใจก็ไม่ดี เสียใจก็ไม่ดี เฉยๆดีที่สุด จะเฉยได้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นบุญเป็นกรรมของเขา