กัณฑ์ที่ ๔๑๓       ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓

 

การบูชาที่แท้จริง

 

 

 

การไปหรือไม่ไปงานศพของครูบาอาจารย์นี้ ความจริงก็ทำได้ทั้ง ๒ อย่าง ไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ถ้าเข้าใจว่าไม่ไปเพราะอะไร จะไม่ไปก็ได้ เพราะสามารถบูชาท่านได้ที่นี่ ไม่ต้องไปที่หน้าศพของท่าน การบูชานี้ท่านก็ได้สอนอยู่แล้วว่า การปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาที่แท้จริง ถ้าเราปฏิบัติตามที่ท่านสอนให้เราปฏิบัติ คือทำบุญให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ก็ถือว่าได้บูชาพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์แล้ว เป็นการบูชาที่แท้จริง คือปฏิบัติบูชา จะบูชาต่อหน้าท่านก็ได้ บูชาข้างหลังก็ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ถึงแม้จะได้เกาะชายผ้าเหลือง ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ ก็ยังอยู่ห่างไกลจากพระพุทธเจ้าเป็นโยชน์ ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลจากพระพุทธเจ้าเป็นโยชน์ ถ้าได้ปฏิบัติ ก็ถือว่าได้เกาะชายผ้าเหลือง ได้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้าแล้ว เพราะผู้ปฏิบัติจะเป็นผู้เห็นธรรม ผู้บรรลุธรรม ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผลก็คือดวงตาเห็นธรรมก็จะปรากฏขึ้นมา เมื่อเห็นธรรมก็จะเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม ก็คือผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้ที่บูชาที่แท้จริง ข้อสำคัญอยู่ตรงนี้ อยู่ที่การปฏิบัติบูชา พอเราได้ศึกษาได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน ไม่ว่าจะจากพระพุทธเจ้าเอง หรือจากพระอริยสงฆ์สาวก แล้วนำมาปฏิบัติ เราก็ได้บูชาอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี ท่านสละเวลาอบรมสั่งสอนพวกเรา ก็เพื่อให้พวกเราได้มีดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรม ได้หลุดพ้นจากความทุกข์กัน เป็นเป้าหมายของการสั่งสอนของครูบาอาจารย์ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมาจนถึงครูบาอาจารย์ในสมัยปัจจุบันนี้ ท่านไม่ปรารถนาอะไรจากเรา ยิ่งกว่าการที่จะเห็นพวกเราได้บรรลุธรรม ได้หลุดพ้นจากความทุกข์กัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิตเราของใจเรา

 

ใจของพวกเรานี้ ได้อยู่ภายใต้อำนาจของความทุกข์มา เป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วน จะมีโอกาสได้หลุดพ้นจากความทุกข์ ก็ตอนที่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ได้พบพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้เท่านั้น ถ้าได้พบแล้วแต่ไม่นำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็เป็นการเสียเวลาเสียชาติเกิด เหมือนกับไก่ได้พลอย ที่ไม่มีปัญญาพอที่จะนำเอาพลอยนี้ไปทำให้เกิดประโยชน์กับตนได้ จึงได้แต่กินตัวหนอนตัวไส้เดือนเป็นอาหาร พวกเราที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบกับพระพุทธศาสนานี้ เหมือนกับได้พบเพชรพลอย ดังที่เราเรียกพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ว่ารัตนะ รัตนะก็คือเพชรนิลจินดา ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อจิตใจของพวกเรา เพราะมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์นี้เท่านั้นแล ที่จะสามารถนำพาพวกเราให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ให้ได้บรรลุธรรม ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆกัน ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนามาปรากฏให้โลกได้กราบไหว้บูชา ได้ยึดเป็นสรณะ สัตว์โลกก็จะต้องจมอยู่ในกองทุกข์ไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนา เจอพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป จะเจอองค์ไหนก็ตาม ก็จะมีคุณค่าเท่ากัน เพราะพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ก็ทรงสั่งสอนพระธรรม เพื่อให้พวกเราได้หลุดพ้นจากความทุกข์ ได้บรรลุธรรมกันทุกๆพระองค์ ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์ใดที่แตกต่างกันเลย คือทรงสอนให้ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ละบาปทั้งปวง ทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นองค์ที่ได้ปรากฏขึ้นมาแล้วในอดีตก็ดี หรือที่จะมาปรากฏในอนาคตก็ดี ก็จะสอนแบบเดียวกันทั้งนั้น คือสอนให้ปฏิบัติบูชา ถ้าได้มาเจอพระพุทธศาสนาแล้ว จึงไม่ควรปล่อยให้สิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจนี้หลุดจากมือไป โดยไม่ได้ตักตวงประโยชน์จากพระพุทธศาสนา

 

หน้าที่ของพวกเราจึงมีอยู่ ๒ ประการคือ  ๑. คันถธุระ   ๒. วิปัสสนาธุระ คันถธุระคือการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า วิปัสสนาธุระคือการทำให้รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมคำสอน ในมรรคผลนิพพาน ในธรรมขั้นต่างๆ การบรรลุธรรมนี้แหละเป็นวิปัสสนาธุระ ธรรมที่บรรลุก็มีอยู่ ๙ ขั้นด้วยกัน คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑  มรรคกับผลนี้เป็นธรรมคู่กัน ก่อนจะบรรลุผลก็ต้องเจริญมรรคก่อน มรรคเป็นเหมือนบันได ที่จะพาให้ขึ้นสู่ชั้นต่างๆของตัวอาคาร แต่ละชั้นก็จะมีบันไดที่จะต้องเดินขึ้นไป บันไดก็คือมรรคที่ต้องเจริญกันให้มากนี่เอง คือทานศีลภาวนา ทานก็ทำกันไปตามกำลัง จากน้อยไปหามาก ศีลก็รักษาไป จากน้อยไปหามาก ภาวนาก็เช่นเดียวกัน ทำไปจนถึงขั้นอริยมรรค ก็จะก้าวเข้าสู่มรรคผลนิพพานไปตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ คือโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผล ขั้นที่ ๒ คือสกิทาคามิมรรคและสกิทาคามิผล ขั้นที่ ๓ คืออนาคามิมรรคและอนาคามิผล ขึ้นที่ ๔ คืออรหัตตมรรคและอรหัตตผล แล้วก็จะถึงพระนิพพาน ขั้นอรหัตตผลกับพระนิพพานจะอยู่ติดกัน พอได้อรหัตตผลแล้วก็จะได้พระนิพพาน จิตก็จะสะอาดบริสุทธิ์เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขั้นที่ ๑ ก็จะสะอาด ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ขั้นที่ ๒ ก็จะสะอาด ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ขั้นที่ ๓ ก็จะสะอาด ๗๕ เปอร์เซ็นต์ ขั้นที่ ๔ ก็จะสะอาด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นบริสุทธิ์พุทโธ เป็นจิตบริสุทธิ์ ส่วนขั้นที่ ๑ ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ยังไม่เรียกพระนิพพาน เพราะจิตยังไม่สะอาดบริสุทธิ์เต็มที่ ถ้าเป็นพระจันทร์ก็ยังไม่เต็มดวง ยังไม่เรียกว่าจันทร์เพ็ญ จะเป็นจันทร์เพ็ญก็ต้องขึ้น ๑๕ ค่ำแล้ว นี่ก็เป็นเพียงชื่อของธรรมขั้นต่างๆ

 

เวลาปฏิบัติจะไม่มีป้ายบอก ว่าตอนนี้ถึงขั้นโสดาบันแล้ว ถึงขั้นสกิทาคามีแล้ว ถึงขั้นอนาคามีแล้ว ถึงขั้นพระอรหันต์แล้ว แต่จะรู้จากการดับของสังโยชน์ คือสิ่งที่ผูกมัดใจ ให้หลงติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด จะดับไปตามลำดับ เช่นขั้นพระโสดาบัน ก็จะไม่มีความสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เพราะมีดวงตาเห็นธรรม พอปฏิบัติไปจนเกิดปัญญาขึ้นมา มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา ก็จะไม่สงสัยในพระพุทธในพระธรรมในพระสงฆ์ เพราะผู้ที่เห็นธรรมก็คือพระสงฆ์นั่นเอง ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พอเห็นธรรมก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร อ๋อพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้เอง เดี๋ยวนี้เราก็ได้เป็นอย่างพระพุทธเจ้า คือใจของเราได้หยั่งเข้าสู่กระแสพระนิพพานแล้ว ได้รู้แล้วว่าความหลงที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดนี้ เราได้ตัดให้เบาบางลงไปแล้ว คือได้ละสักกายทิฐิ การเห็นขันธ์ ๕ เป็นตัวเราของเรา ตอนนี้ได้พิจารณาเห็นแล้วว่า เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป จะรู้อยู่ตรงนี้ ถ้าเปิดตำราดูสังโยชน์ ๑๐ ประการที่จะต้องตัด ก็จะเข้าใจว่าขั้นของพระโสดาบันเป็นอย่างนี้ พอมีดวงตาเห็นธรรมก็จะเห็นพระพุทธ ผู้ที่เห็นพระพุทธ เห็นพระธรรมก็คือพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้บรรลุธรรมขั้นนี้ ก็จะไม่สงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่ พระธรรมมีจริงหรือไม่ พระอริยสงฆ์มีจริงหรือไม่ จะไม่สงสัย ถ้าละสังโยชน์ได้ ๓ ประการคือ ๑. สักกายทิฐิ  ๒. วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์  ๓. สีลัพพตปรามาส พอเห็นธรรมคือเห็นพระอริยสัจ ๔ ก็จะเห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก เห็นว่าทุกข์ดับด้วยการดับความอยากด้วยมรรค ด้วยสติด้วยปัญญา ก็จะรู้ว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำพิธีกรรมต่างๆ เพื่อลบล้างบาป ลบล้างความทุกข์ เช่นเวลาสูญเสียลาภยศสรรเสริญสุข ก็จะไม่แก้ไขด้วยการสะเดาะเคราะห์ ด้วยพิธีกรรมต่างๆ เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล เปลี่ยนทรงผม เปลี่ยนบ้าน ซึ่งไม่สามารถจะสะเดาะเคราะห์ คือความทุกข์ที่มีอยู่ในใจได้

 

การที่จะดับความทุกข์ภายในใจได้ ต้องยอมรับความจริง ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรานี้ เป็นวิบากของเรา ไม่ว่าจะดีหรือจะชั่ว เป็นเรื่องของบาปของบุญที่เราได้ทำมา ที่เราต้องรับ ถ้ารับได้ใจก็จะไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้อยากให้เป็นอย่างอื่น จะอยู่ได้อย่างปกติ ไม่ว่าชีวิตจะขึ้นหรือลง ขึ้นก็อยู่ได้ ลงก็อยู่ได้ เพราะไม่ได้ยึดติด ยอมรับความจริงของสถานภาพของชีวิต ถ้าสูญเสียเงินทองไป ก็อยู่กับมันได้ ถ้าพิกลพิการแขนขาดขาขาด ก็อยู่กับมันได้ เพราะยอมรับความจริง ไม่มีความอยากที่จะกลับไปอยู่ในสถานภาพเดิม ถ้าไม่มีความอยากเกิดขึ้นภายในใจ ก็จะไม่มีความทุกข์วุ่นวายใจ จะอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆได้ ไม่ต้องไปสะเดาะเคราะห์ให้เสียเวลา เพราะการสะเดาะเคราะห์เปลี่ยนแปลงความจริงไม่ได้ เช่นเมื่อวานนี้ มีคนบอกว่าจะเปลี่ยนนามสกุล เพราะชีวิตตอนนี้ตกต่ำ เปลี่ยนไปก็เท่านั้นแหละ ไม่เปลี่ยนก็เท่ากัน ไม่ได้อยู่ที่นามสกุล แต่อยู่ที่บุญกรรมที่ได้ทำมา หน้าที่ของเราก็อยู่ตรงที่การยอมรับความจริง ชีวิตเป็นอย่างไร ก็อยู่กับมันไป วิธีที่จะทำให้สบายใจขึ้น ก็ให้คิดถึงคนที่ตกทุกข์ได้ยากมากกว่าเรา เรายังไม่ได้สูญเสียอวัยวะ ไม่ได้เสียตาเสียแขนเสียขา ไม่มีโรคภัยเจ็บไข้ได้ป่วย เพียงแต่ไม่เจริญก้าวหน้าเท่านั้นเอง ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็จะรับความจริงได้ นี่เป็นการเจริญมรรค คือใช้สติปัญญาสอนใจเรา ให้ยอมรับความจริงของชีวิต ตอนนี้เราเป็นอย่างไร ก็ยอมรับ ถูกกลั่นแกล้งเบียดเบียน ขัดขวางไม่ให้ได้เจริญก้าวหน้า ก็ยอมรับ ก็จะอยู่ได้อย่างปกติ จะไม่เดือดร้อน จะไม่ทุกข์ ไม่ต้องสร้างเวรสร้างกรรม ไม่ต้องสะเดาะเคราะห์ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก แต่อยู่ข้างในใจ

 

เวลาเราไม่สบายใจไม่สุขใจ ก็เพราะความอยากของเรา เราอยากจะให้เป็นอย่างอื่น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ ถ้ายอมรับมัน เราก็จะอยู่กับมันได้ ความไม่สบายใจความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไป ไม่ต้องไปทำอะไรให้เหนื่อยยาก ถ้าอยากจะทำก็ให้ทำบุญจะดีกว่า ทำบุญเพื่อสร้างเหตุที่ดี สำหรับสิ่งที่ดีที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า เพราะวิบากกรรมที่เรากำลังรับอยู่นี้มันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็หมด เมื่อมันหมดแล้ว ถ้าเราสร้างเหตุที่ดีไว้รอรับ ผลของเหตุที่ดีที่เราสร้างไว้ก็จะรอเราอยู่ ถ้าไม่สร้างไว้ก็จะไม่มีอะไรรอเราอยู่ เราก็จะเป็นเหมือนเดิม เราเป็นอย่างไร ก็จะเป็นอย่างนั้นต่อไป นี่คือการเห็นธรรม ต้องเห็นในใจเรานี้ เห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ว่าอยู่ภายในใจของเรา ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว จะไม่ต้องไปทำพิธีกรรมต่างๆให้เสียเวลา ทำใจเท่านั้นเอง ถ้ารู้จักทำใจแล้วก็จะหมดปัญหา ต่อให้เกิดปัญหามากน้อยเพียงไร จะทำใจได้เสมอ จะคิดว่าดีแล้วที่ไม่เลวกว่านี้ ถ้าเขาไม่ชอบเรา ก็คิดว่าเขายังไม่ด่าเรา ถ้าเขาด่าเรา ก็คิดว่าเขายังไม่ตีเรา ถ้าเขาตีเรา ก็คิดว่าเขายังไม่ฆ่าเรา คิดอย่างนี้แล้วก็จะสบายใจ จะดับทุกข์ภายในใจได้ ไม่ต้องไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์กรรมต่างๆ นี่คือการมีดวงตาเห็นธรรม จะเห็นอย่างนี้ เมื่อเห็นแล้วก็จะไม่สงสัยในเรื่องของกฎแห่งกรรม จะตั้งมั่นอยู่ในการทำแต่ความดีอย่างเดียว ถึงแม้จะตกทุกข์ได้ยากขนาดไหน ก็จะไม่ทำผิดศีลผิดธรรม เพื่อจะยกฐานะของตนให้ดีขึ้น ถ้ามีคนมาเสนอให้เราได้เงินเพิ่มมากขึ้น แต่ทำผิดศีล เราก็จะไม่ทำ เพราะรู้ว่าไม่ได้เป็นการพัฒนา ไม่ได้เป็นการสร้างเหตุที่ดี สร้างความสุข แต่เป็นการสร้างเหตุที่ไม่ดี สร้างความทุกข์จะต้องตามมาต่อไป

 

ดังนั้นผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม ผู้ที่ละสังโยชน์ทั้ง ๓ นี้ได้แล้ว จะรักษาศีล ๕ อย่างมั่นคง จะรักษาศีล ๕ ยิ่งกว่าชีวิต ถ้าจะต้องอดข้าวตายก็ยอมตาย ดีกว่าไปทำบาปทำกรรม เพื่อรักษาชีวิตของตนไว้ อานิสงส์ของผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมนี้ ไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป เพราะจิตมีความแน่วแน่ต่อการรักษาศีล จะไม่ละเมิดศีล ๕ โดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ตาม ภพชาติเหลือไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก เพราะรู้แล้วว่า งานที่จะต้องทำอยู่ที่อริยสัจ ๔ นี่เอง อยู่ในใจ ใจที่ยังมีสมุทัยที่ยังละไม่ได้อยู่ สมุทัยนี้มี ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตอนนี้ยังละไม่ได้หมด จะพยายามละตัณหาทั้ง ๓ นี้ให้น้อยลงไป กามตัณหาก็จะตัดให้น้อยลงไป ด้วยการเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาความไม่สวยงามของร่างกาย อย่าดูแต่ส่วนที่สวยงามเพียงอย่างเดียว เพราะเวลาเห็นส่วนที่สวยงามแล้วก็จะเกิดกามราคะขึ้นมา เกิดความกำหนัดยินดี อยากจะเสพความสุขกับรูปที่สวยงาม ถ้าพิจารณาความไม่สวยงามของรูปนั้น เช่นเวลาแก่เป็นอย่างไร เวลาหนังเหี่ยวย่นเป็นอย่างไร ผมเผ้ากลายเป็นสีขาว หรือพิจารณาดูอวัยวะต่างๆ ที่ถูกซ่อนไว้อยู่ภายใต้ผิวหนัง เช่นโครงกระดูกตับไตไส้พุง หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆที่มีอยู่ภายในร่างกาย ก็จะลดความกำหนัดยินดีนี้ลดลงได้ ถ้าพิจารณาได้ตลอดเวลา ก็จะตัดได้หมด ถ้ายังพิจารณาไม่ได้ตลอดเวลา ก็จะมีการเผลอบ้าง เวลาเผลอก็จะเห็นว่าสวยก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา เวลาใช้ปัญญาเห็นเป็นอสุภะก็จะดับกามารมณ์ได้ แบบนี้เป็นขั้นของพระสกิทาคามี คือสามารถทำให้กามราคะเบาบางลงไป จาก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็เหลือ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เวลาเผลอก็จะเกิดอารมณ์ขึ้นมา ถ้าไม่เผลอมีอสุภะคอยสอนใจก็จะไม่เกิดอารมณ์ เป็นขั้นที่ ๒ คือขั้นพระสกิทาคามี ขั้นนี้ต้องเจริญอสุภกรรมฐานไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดกามราคะ

 

ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก จนรู้ทันสมุทัยคือกามราคะ เวลาเห็นภาพแล้วปรุงแต่งว่าสวยงามปั๊บ ก็จะมีอสุภะขึ้นมาต่อต้านทันที ขึ้นมาต่อสู้ทันที ต่อไปความคิดปรุงแต่งว่าสวยว่างาม ก็จะหมดกำลังไป เพราะจะถูกความคิดปรุงแต่ง ที่ว่าไม่สวยไม่งามมาคัดค้านอยู่ทุกครั้งไป ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อไปกามราคะก็จะหมดไปจากใจ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ขั้นพระสกิทาคามีกับขั้นพระอนาคามีนี้เกี่ยวเนื่องกัน เจริญมรรคเดียวกัน คืออสุภกรรมฐานความไม่สวยไม่งาม พิจารณาอสุภะ พิจารณาปฏิกูล ส่วนใหญ่จะเป็นพวกนักปฏิบัติถือศีล ๘ หรือนักบวชกัน มากกว่าฆราวาสผู้ครองเรือน ฆราวาสผู้ครองเรือนนี้ ยังไม่มีสติปัญญากำลังมากพอ ที่จะเจริญอสุภกรรมฐานได้ เพราะอำนาจของกามราคะยังมีกำลังมากกว่า แม้จะเป็นพระโสดาบัน ถ้าไม่สนใจที่จะเจริญอสุภกรรมฐาน ก็ยังจะติดอยู่กับกามราคะ พระโสดาบันจึงยังเป็นผู้ครองเรือนอยู่ มีครอบครัวมีสามีมีภรรยา แต่พอจิตได้พัฒนามากขึ้นไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะเห็นว่ากามราคะนี้เป็นปัญหา ถึงแม้จะให้ความสุข แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความทุกข์ด้วย เวลาอยากเสพแล้วไม่ได้เสพ ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะเบื่อหน่ายในกามราคะ จะเริ่มเจริญอสุภกรรมฐาน พอเจริญได้แล้วก็จะทำให้กามราคะเบาบางลงไป และจะทำให้ปฏิฆะ คือความหงุดหงิดรำคาญใจ เบาบางลงไปด้วย เพราะกามราคะและปฏิฆะเป็นธรรมคู่กัน ถ้ามีกามราคะ ก็จะมีปฏิฆะความหงุดหงิดใจ เวลาอยากจะเสพแล้วไม่ได้เสพ ก็เกิดอารมณ์หงุดหงิดขึ้นมา ถ้าไม่อยากเสพ อารมณ์หงุดหงิดก็จะไม่มีตามมา พระอนาคามีจึงตัดกามราคะกับปฏิฆะได้หมด จะไม่หงุดหงิดกับเรื่องเพศสัมพันธ์ เพราะไม่มีความอยากเสพกาม ถ้าเป็นนักบวชก็อยู่สบาย ผ้าเหลืองไม่ร้อน

 

เวลาบวชพระอุปัชฌาย์ถึงต้องสอนกรรมฐาน ๕ คือเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นอาการ ๕ ส่วนของร่างกายที่เห็นด้วยตา คืออยู่ภายนอก เป็นจุดเริ่มต้นของการเจริญอสุภกรรมฐาน บวชแล้วให้พิจารณาให้มากๆ อาการ ๓๒ ของร่างกาย เริ่มต้นด้วยกรรมฐาน ๕ คือผมขนเล็บฟันหนัง ต่อจากนั้นก็ให้พิจารณาส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนัง คือเนื้อ เอ็น กระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังพืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่อาหารเก่า เยื่อในสมองศีรษะ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร ที่เป็นอสุภะ ไม่สวยงาม เป็นปฏิกูล สกปรก ที่มีอยู่ภายในร่างกาย ให้พิจารณาโดยอนุโลม คือพิจารณาเข้าไป แล้วก็พิจารณาโดยปฏิโลม พิจารณาถอยออกมา พิจารณาทั้งอนุโลมและปฏิโลม พิจารณากลับไปกลับมา จนมีอยู่ในใจตลอดเวลา พอมีอสุภกรรมฐานอยู่ในใจตลอดเวลา ความใคร่กำหนัดยินดี ราคะตัณหานี้ ก็จะไม่มีกำลัง ที่จะโผล่ขึ้นมา เพราะถูกอำนาจของอสุภกรรมฐานครอบเอาไว้ แต่มันยังไม่ตาย ท่านก็สอนให้ทดสอบดู ด้วยการนึกถึงภาพสวยงาม แล้วดูว่าอสุภกรรมฐานจะดับมันได้หรือไม่ นี่เป็นการทดสอบ เวลาพิจารณาว่าสวยว่างาม พอเกิดอารมณ์ขึ้นมา จะเอากรรมฐานมาดับมันได้ไหม ถ้าดับได้ ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ในเรื่องของกามราคะหรือปฏิฆะ ก็จะได้บรรลุธรรมขั้นอนาคามี ถ้าเป็นพระสกิทาคามี ภพชาติก็จะเหลือเพียงชาติเดียวเป็นอย่างมาก ถ้ายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วตายไปก่อน ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวเท่านั้น

 

เพราะจิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ธรรมะที่มีอยู่ในจิตก็จะติดไปกับจิตเพื่อที่จะตัดภพชาติตัดวัฏจักร ตัดตัณหาที่ยังมีอยู่ในใจ เพราะงานนี้เมื่อเริ่มแล้ว จะเป็นเหมือนไฟที่เริ่มไหม้แล้ว จะไม่หยุดไหม้จนกว่าเชื้อไฟถูกไหม้ไปจนหมดสิ้น ธรรมะจะเผากิเลสตัณหาไปเรื่อยๆ จนกว่ากิเลสตัณหาจะถูกเผาหมดไป ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดก็ตาม ธรรมะจะทำงานต่อไป ถ้าเป็นโสดาบันตายไปก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเจริญปัญญาต่อไป จะเจริญมรรคต่อไป โดยที่ไม่ต้องมีใครสอน จะรู้เองว่าปัญหาในใจนี้มีความอยากเป็นเหตุ ความอยากต่างๆทำให้ใจ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย วุ่นวาย กังวล วิตก ทรมาน นี้มันอยู่ในใจ จะไม่ไปแก้ข้างนอก จะแก้ข้างใน ด้วยการตัดความอยากต่างๆ ถ้าอยากในกามก็ต้องตัด รู้ว่าความอยากในกามเป็นโทษ ถ้าอยากมีอยากเป็นก็ต้องตัด ไม่อยากมีไม่อยากเป็น อยู่ตามมีตามเกิด จะเป็นอะไรก็ได้ เป็นหัวก็ได้ เป็นหางก็ได้ เป็นใหญ่ก็ได้ เป็นเล็กก็ได้ ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอย่าอยากก็แล้วกัน ธรรมะจะทำหน้าที่ไป โดยไม่ต้องมีใครมาสอน เพราะรู้แล้วว่าปัญหาอยู่ภายในใจ

 

ถ้ามีครูมีอาจารย์ที่เก่งกว่าที่เคยผ่านมาแล้ว ได้คุยกันก็จะรู้ว่า ท่านจะช่วยเราได้ เพราะท่านผ่านมาแล้ว ถ้าเจอคนที่รู้ก็จะอาศัยท่านช่วยสอน ถ้าเจอคนที่ไม่รู้ก็จะไม่อาศัย คุยกันก็จะรู้ว่ารู้หรือไม่รู้ เรื่องอริยสัจ ๔ ที่มีอยู่ภายในใจนี้ คนที่รู้นี้พอคุยกันคำ ๒ คำก็รู้ แล้วจะรู้ว่าเขารู้มากกว่าเราหรือรู้น้อยกว่าเราหรือรู้เท่าเรา ถ้ารู้มากกว่าเราๆ ก็จะได้ยึดท่านไว้เป็นที่พึ่ง เป็นครูเป็นอาจารย์ต่อไป เพราะการมีครูมีอาจารย์นี้ จะช่วยทำให้การปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว พอติดตรงไหนก็ไปถามท่าน ท่านก็จะบอกเราได้ทันทีเลยว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าไม่มีก็ต้องคลำทางไปเอง ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วไม่ต้องอาศัยใครก็ได้ จะสามารถปฏิบัติไปตามลำพังจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เช่นพระอานนท์ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ก็ปฏิบัติไปตามลำพังอยู่ ๓ เดือนด้วยกัน แต่มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าฝังอยู่ในใจแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่ได้เอามาปฏิบัติเท่านั้นเอง ยังเป็นสัญญาความจำอยู่ ยังไม่ได้เป็นความจริง พอเอามาปฏิบัติภายใน ๓ เดือน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ นี่คือผลที่จะได้รับจากการปฏิบัติบูชา จะได้มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพานเป็นรางวัล ที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้แก่พวกเรา

 

ไม่ว่าเราจะทำอะไร ขอให้มองไปที่ปฏิบัติบูชา ถ้าอยากจะบูชาท่านแต่ไม่สามารถไปบูชาท่านถึงที่ได้ ก็บูชาตรงที่เราอยู่ก็ได้ เช่นเราอาจจะไม่สบาย หรือมีอุปสรรคไม่สามารถเดินทางไปทำบุญได้ เราก็ทำที่บ้านก็ได้ ฝากเงินไปทำบุญก็ได้ รักษาศีลที่บ้านก็ได้ ภาวนาที่บ้านก็ได้ เพียงแต่พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายนี้ ก็ถือว่าได้บูชาแล้ว เพราะกำลังเจริญมรรค ทุกครั้งที่เราพิจารณาว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา สิ่งที่ตายก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ก็ได้เจริญมรรคแล้ว ความทุกข์ความวุ่นวายใจ ที่เกิดจากการสูญเสีย ก็จะเบาบางลงไป หรือจะไม่รู้สึกทุกข์เศร้าโศกเสียใจเลย เพราะรู้ว่าสิ่งที่เสียไปไม่ได้เป็นอะไรเลย เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ คนที่จากไปไม่ได้ไปกับดินน้ำลมไฟ เขายังอยู่ตามสถานภาพของบุญของบาป ถ้าจิตถึงพระนิพพานก็อยู่ที่พระนิพพาน ถ้าอยู่ขั้นพระอนาคามีก็อยู่ขั้นพระอนาคามี อยู่ตามสถานภาพของบุญกุศลที่ได้ทำมา ถ้าทำบาปก็จะต้องไปนรก เป็นสถานภาพของจิต ที่ไม่มีใครจะห้ามหรือเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเป็นกฎแห่งกรรม เป็นความจริงที่ตายตัว ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้มาสั่งสอนหรือไม่ก็ตาม กฎแห่งกรรมก็ยังเป็นกฎแห่งกรรมอยู่ พระพุทธเจ้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงกฎแห่งกรรม เพียงแต่มาสอนให้รู้ว่ามีทางเลือก คือกรรมมี ๒ ทางด้วยกัน ทางบุญกุศลกับทางบาป ถ้าไปทางบุญกุศลก็จะไปสู่ความสุขความเจริญ สู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าไปทางบาปก็จะไปสู่ความทุกข์ความทรมานใจ

 

นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอนของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย พวกเรามีโชคมีบุญมีวาสนา ที่ได้มาพบกับคำสอนอันประเสริฐนี้ ถ้ามีศรัทธาที่แน่วแน่มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น คือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ย่อมมีการเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา มีมาปรากฏให้เรากราบไหว้บูชา แล้วก็เสื่อมจากเราไป แต่ศรัทธาของเรานั้น จะไม่เสื่อมจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์นี้ อยู่ในใจของเรา ถ้าเอาธรรมะที่ได้ยินได้ฟังจากภายนอก เข้ามาเจริญ เข้ามาปฏิบัติ ต่อไปพระธรรมคำสอนนี้ ก็จะอยู่ในใจของเรา เป็นที่พึ่งของเรา ถ้าได้พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ในใจแล้ว พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร ก็จะไม่ทำให้จิตใจของเราหวั่นไหว เช่นบางคนเห็นศาสนาเสื่อมลงก็เกิดความตกใจ ไปประเทศอินเดีย เห็นสภาพปรักหักพังของพระพุทธศาสนา ที่เคยเจริญรุ่งเรือง ก็อาจจะเกิดความวิตกว่า ต่อไปพระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็จะเสื่อมลงไป ถ้ามีศรัทธาที่แน่วแน่ มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อยู่ภายในใจแล้ว จะไม่หวั่นไหวกับความเสื่อม ของพระพุทธศาสนาภายนอก เพราะได้พระพุทธศาสนาเข้ามาไว้ในใจของเราแล้ว ที่มีแต่จะเจริญขึ้นไปโดยถ่ายเดียว จะไม่มีทางเสื่อมอีกต่อไป ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม ก็คือเป็นผู้ที่มีศาสนาอยู่ในใจแล้ว ไม่เกิน ๗ ชาติก็จะสามารถทำให้ศาสนาที่มีอยู่ภายในใจนี้ เจริญรุ่งเรืองได้อย่างเต็มที่

 

อยู่ที่การปฏิบัติด้วยวิริยะอุตสาหะพากเพียร ไม่ท้อแท้ไม่หวั่นไหว ต่อสภาพต่างๆ ต่ออุปสรรคต่างๆที่ขวางกั้น เพราะรู้ว่าธรรมย่อมชนะอธรรม พระพุทธเจ้าชนะมาแล้ว ชนะมารมาแล้ว พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายก็ชนะมารมาแล้ว เราก็จะชนะมารได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นธรรมอันเดียวกัน เป็นอกาลิโก ไม่มีวันเสื่อมตามวันเวลา มีอำนาจมีฤทธิ์เดชอย่างไรในสมัยพระพุทธกาล ในสมัยปัจจุบันนี้ก็มีฤทธิ์มีเดชเช่นเดียวกัน อยู่ที่ตัวเราว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ ถ้ามีความขยันอดทนที่จะบำเพ็ญต่อไปไม่หยุดยั้ง จนกว่าจะหมดลมหายใจ รับรองได้ว่าสักวันหนึ่ง ก็จะได้พบกับความเจริญขั้นสูงสุดอย่างแน่นอน ขอให้ยึดติดกับการปฏิบัติบูชานี้ไปตลอด จะได้มีแต่ความเจริญโดยถ่ายเดียว

 

สมัยอยู่กับหลวงตาท่านก็พูดอยู่เรื่อยๆ ว่าครูบาอาจารย์ก็ร่วงโรยไปเรื่อยๆ ทีละองค์ ๒ องค์ ตอนที่อยู่กับท่านนั้น หลวงปู่ขาวก็ยังอยู่ หลวงปู่เทสก์ก็ยังอยู่ หลวงปู่ฝั้นก็ยังอยู่ เวลาแต่ละองค์เสียไป ท่านก็จะพูดว่าเป็นเหมือนใบไม้ค่อยๆร่วงไปเรื่อยๆ พวกเราจึงไม่ควรที่จะประมาทนอนใจ เราก็ไม่รู้ว่าจะร่วงไปเมื่อไหร่ ชีวิตของเราก็แก่ลงไปเรื่อยๆ กำลังวังชาที่จะปฏิบัติก็จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ควรรีบขวนขวายตัดในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ที่ไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้ายังต้องทำงานก็ทำไป อย่าทำเพื่อลาภยศสรรเสริญสุข แต่ทำเพื่อเลี้ยงดูร่างกาย จะได้เอาร่างกายมาปฏิบัติธรรม ถ้ามีเงินเหลือก็เอามาทำบุญให้ทาน ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องกังวล ถ้าจำเป็นจะต้องเก็บไว้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติธรรม ก็เก็บเอาไว้ เพราะบางท่านอาจจะไม่สามารถบวชได้ ก็ต้องมีเงินทองไว้ดูแลรักษาชีวิตร่างกาย ถ้าบวชได้ก็สละไปหมด ไม่ต้องมีอะไรติดตัวไป ไม่ต้องเก็บไว้ให้เป็นภาระกังวล เป็นตัวถ่วง เหมือนเรือติดเครื่องจะวิ่งแล้ว แต่ไม่ถอนสมอ ก็ต้องลากสมอไปด้วย จะไปช้า แต่ถ้าได้ถอนสมอ  ก็จะไม่มีภาระผูกพันกับสิ่งต่างๆ ลาภยศสรรเสริญสุขสละไปให้หมด เอาเพียงบริขาร ๘ อัฐบริขาร เวลาบวชเอาแค่อัฐบริขารก็พอแล้ว เป็นปัจจัย ๔ ของนักบวช ถ้าไม่สามารถบวชได้ ก็ต้องมีปัจจัยเงินทองไว้ สำหรับจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าที่พัก ก็ต้องมีไว้บ้าง แต่มีไว้เท่าที่จำเป็น

 

ถ้าต้องการจะไปทางนี้แล้ว ไปได้ทุกคน อยู่ที่ว่าจะมีความกล้าหาญ ที่จะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆได้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะมีพระอรหันต์ที่เป็นสุภาพสตรีได้อย่างไร เพศไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ เพราะจิตนี้ไม่ว่าจะเป็นของชายหรือหญิง ก็มีตัณหาเหมือนกัน มีกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาเหมือนกัน มีธรรมะเหมือนกัน มีสติ มีปัญญา มีศรัทธา มีสมาธิ มีวิริยะเหมือนกัน การปฏิบัตินี้อย่าไปคิดว่าเพศเป็นอุปสรรค จะทำให้เกิดความท้อแท้ เป็นอุปสรรคขึ้นมาโดยไม่จำเป็น คือเราไปสร้างอุปสรรคขึ้นมาเอง โดยคิดว่าเป็นเพศนี้แล้ว ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ ต้องดูคนที่เป็นเพศเดียวกับเรา ทำไมเขาปฏิบัติได้ ทำไมเขาบรรลุได้ ทำไมเขาบวชได้ ต้องมองอย่างนั้น ทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนมีจิตมีใจเหมือนกัน จิตใจของพระพุทธเจ้ากับจิตใจของพวกเราก็เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่า จิตของพระพุทธเจ้าได้รับการชำระจนบริสุทธิ์แล้ว จิตของพวกเรายังไม่ได้รับการชำระ เป็นเหมือนน้ำ น้ำที่ได้รับการชำระก็จะใสสะอาด น้ำที่ได้กลั่นกรองแล้วก็จะใสสะอาด ที่ยังไม่ได้กลั่นไม่กรองก็จะไม่สะอาด ต่อให้สกปรกขนาดไหน เราก็สามารถกลั่นกรองให้มันสะอาดได้ จะสกปรกน้อยจะสกปรกมาก ก็สามารถกลั่นให้สะอาดบริสุทธิ์ได้เหมือนกัน ต่างกันที่ว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น ถ้าสกปรกน้อยก็จะใช้เวลาน้อยกว่า ถ้าสกปรกมากก็ต้องใช้เวลามากกว่า เป็นเหมือนบัว ๔ เหล่า บัวเหล่าที่ ๔ ที่เป็นอาหารของปูของปลานี่ เป็นพวกที่กลั่นไม่ได้ เป็นพวกที่ไม่มีศรัทธา ความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พวกนี้ก็ต้องตัดออกไป เหลือ ๓ พวก เป็นพวกที่มีศรัทธา แต่มีกิเลสตัณหาหนาบางต่างกัน พวกที่ ๓ นี้ตัณหามากหน่อย ก็ต้องใช้เวลามากหน่อย พวกที่ ๒ นี้น้อยหน่อย ก็ใช้เวลาน้อยหน่อย พวกแรกนี้ก็จะใช้เวลาไม่มาก ฟังธรรมเพียงครั้ง ๒ ครั้งก็จะสะอาดบริสุทธิ์ จะอยู่ขั้นไหนก็ไม่สำคัญ ขอให้อยู่ใน ๓ กลุ่มนี้ก็แล้วกัน ถ้ามีศรัทธาในพระธรรมคำสอน มีศรัทธาในการปฏิบัติ ก็ถือว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ ๔

 

พวกเรามีโอกาส จะช้าหรือจะเร็วเท่านั้นเอง ขอให้ทำไปเถิด ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่บรรลุ ต้องบรรลุแน่ๆ เพราะการบรรลุอยู่ที่การปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ใคร ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ อยู่กับท่านไม่ปฏิบัติก็ไม่บรรลุ อาจจะสึกไปก็ได้ ไม่แน่ มีพระบางรูปที่อยู่กับครูบาอาจารย์ พอท่านมรณภาพไปก็ลาสิกขาไป เวลาอยู่ก็อยู่ใกล้ชิดกับท่าน เป็นพระเลขาเป็นพระอุปัฏฐาก แต่ไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ภาวนา ได้แต่อุปัฏฐากดูแลรับใช้ท่าน พอท่านจากไปก็ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ก็แพ้อำนาจของกิเลสที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา ก็ลาสิกขาไป ก็มีหลายรูปด้วยกัน ถ้าเราต้องการเจริญก้าวหน้า เป้าหมายของเราก็คือการชำระใจของเรา กำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง กำจัดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ให้เบาบางลงไปตามลำดับ และหมดไปในที่สุด นี่คือการเจริญก้าวหน้าของเรา อยู่ตรงนี้ ถ้าวันนี้กิเลสน้อยลงไปสักนิดหนึ่ง ก็ก้าวหน้าแล้ว วันนี้ถ้าโลภอยากจะได้อะไรที่ไม่จำเป็น แต่เปลี่ยนใจไม่เอา เอาเงินมาทำบุญแทน อย่างนี้ก็ก้าวหน้า วันนี้ถ้าถือศีล ๘ ก็ก้าวหน้า ธรรมดาถือศีล ๕ แต่วันนี้จะถือศีล ๘ ก็ก้าวหน้า วันนี้จะอดอาหารก็ยิ่งก้าวหน้าใหญ่ นี้เป็นการตัดกิเลสทั้งนั้น

 

เพราะเวลาที่เรารับประทานอาหารนี้ กิเลสมันก็เข้ามาแทรกด้วย ถ้าอยากจะรับประทานให้อร่อยถูกปากถูกคอ นี่ก็เป็นกิเลส ต้องดัดมัน ไม่รับประทานเลย จะได้หมดเรื่อง ต่อไปนี้จะรับประทานแบบตามมีตามเกิด เอาอาหารมารวมในชามใบเดียวกัน แล้วก็คลุกมันเลย ของคาวของหวาน ถ้าจะรับประทานเพื่อตัดความโลภตัดกิเลส ก็ต้องรับประทานแบบนี้ เอาชามใบใหญ่ๆมาใบหนึ่ง แล้วก็เอาของคาวของหวานใส่ลงไป คลุกมันเข้าไป เดี๋ยวก็ต้องไปรวมกันในท้อง จะไปไหน เวลาอยู่ในท้องยิ่งไม่น่าดู เวลาอยู่ในชามทำไมจะรับไม่ได้ เวลาอยู่ในท้องเรารับมันได้ ทำไมเวลาอยู่ในชามจะรับมันไม่ได้ ถ้าจะรับประทานเพื่อตัดกิเลส ต้องรับประทานแบบนี้ ถ้ารับประทานแบบนี้ได้แล้ว เป็นการเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง ทำได้ ไม่ต้องบวชก็ทำได้ ทำตอนนี้เลย หาชามใบใหญ่ๆมาใบหนึ่ง ลองรับประทานดู จะได้ไม่วุ่นวายกับการรับประทานอาหาร ถ้าชอบบ่นว่า ไอ้นั่นก็ไม่อร่อย ไอ้นี่ก็เบื่อ ไม่อยากรับประทาน ถ้าเป็นแบบนี้ จู้จี้จุกจิก ก็อย่ารับประทานสักวันหนึ่ง พออดไปได้วันเดียวนี้ แม้แต่ข้าวเปล่าก็อร่อย เวลาหิวมากๆนี้ เห็นข้าวเปล่าก็อร่อย นี่คือวิธีฆ่ากิเลสต้องฆ่าแบบนี้ อย่าไปกลัวความทุกข์ยากลำบาก ร่างกายรับได้ สู้ได้ พระพุทธเจ้าทรงอดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน ครูบาอาจารย์ท่านอดกัน ๕ วันบ้าง ๑๐ วันบ้าง ท่านอดของท่านมาเป็นประจำ ท่านอยู่ได้ แต่กิเลสมันตาย ท่านอยู่อย่างสบาย ไม่มีอะไรมารบกวนใจ ดีกว่าอยู่แบบอิ่มหนำสำราญ อิ่มหมีพีมัน แต่มีกิเลสคอยรบกวน อยากจะกินนั่นกินนี่ แต่กินไม่ได้ กลัวเดี๋ยวจะอ้วนเกินไป หมอห้าม ก็ทุกข์ทรมานใจ พวกที่อยู่ดีกินดี แทนที่จะมีความสุข กลับทุกข์กว่าพวกที่อยู่แบบอดอยากขาดแคลน

 

 

ถาม  วันนี้ท่านอาจารย์เมตตาอธิบายเรื่องเรียงลำดับอริยภูมิ แต่สงสัยว่าทำมาถึงขั้นโสดาฯแล้วตายไป เวลากลับมาเกิดใหม่ จะต้องเริ่มต้นใหม่ ใช่ไหมคะ

 

ตอบ ไม่ต้องเริ่มใหม่ ทำต่อเลย จิตไม่ได้ตาย ธรรมะที่มีอยู่ในใจก็ไม่ได้เสื่อมหายไปไหน เป็นเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า

 

ถาม  พอเริ่มปฏิบัติก็จะไปถึง

 

ตอบ ทำต่อไปเลย เหมือนไฟที่กำลังไหม้ จะไหม้ต่อไป มีสติปัญญาอยู่ในใจตลอดเวลา พอไปสัมผัสกับกิเลส ก็จะรู้ทันทีว่านี่คือกิเลส นี่คือตัวที่ต้องกำจัด ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เพียงเปลี่ยนร่างกายใหม่เท่านั้นเอง

 

ถาม  ถ้าเกิดมาเป็นมนุษย์ช่วงที่เป็นเด็ก ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ตอนนั้นจิตอยู่ในช่วงที่ไม่สามารถทำอะไรได้

 

ตอบ จะเป็นเด็กที่ไม่กระจองอแง ไม่จู้จี้จุกจิก ว่านอนสอนง่าย เพราะเป็นธรรมชาติของเขา สังเกตดูเด็กแต่ละคนจะมีนิสัยไม่เหมือนกัน เพราะจิตไม่เหมือนกัน บางคนจะกลัวโน่นกลัวนี่ บางคนจะกล้าหาญ ไม่จู้จี้จุกจิก ไม่ต้องให้พ่อให้แม่มาคอยกอด บางคนอะไรนิดอะไรหน่อยก็หวาดผวา กลัวไปหมด เพราะจิตของเขาเป็นอย่างนั้น จิตของพระอริยะตอนเป็นเด็กก็ต้องทำตามผู้ใหญ่ พอโตแล้วก็จะทำต่อในสิ่งที่เคยทำมา อย่างสมัยที่เราเป็นเด็ก ตอนนั้นอายุสัก ๑๐ หรือ ๑๑ ขวบ ไปงานศพของเพื่อน ก็ไม่ได้ตกใจกลัว กลับพิจารณาว่าเราก็ต้องเป็นเหมือนเขา พ่อแม่พี่น้องที่เรารัก ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ เป็นเหมือนกันหมด คิดอย่างนั้น ไม่มีใครสอน ดูแล้วก็โอปนยิโก น้อมเข้ามาสอนใจ บางคนเวลาเห็นแล้วนอนไม่หลับ กลัวว่าตัวเองจะตาย จิตของแต่ละคนได้พัฒนามาไม่เหมือนกัน จะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เห็นไม่เหมือนกัน ถ้าเคยฝึกมาให้มีปฏิกิริยาแบบนี้ พอไปเจอก็จะมีปฏิกิริยาแบบนี้ บางคนร้องไห้ฟูมฟาย บางคนตกใจกลัว บางคนนิ่งเฉย เพราะสติปัญญาของแต่ละคน ได้รับการพัฒนามาไม่เหมือนกัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยภายในจิต เวลาที่ร่างกายตายไป พอมาเกิดเป็นเด็กใหม่ ยังไม่สามารถใช้ร่างกายได้เต็มที่ อย่างพระพุทธเจ้านี้ พอประสูติออกมาแล้วเดินได้ ๗ ก้าว เป็นไปได้ เพราะจิตของพระพุทธเจ้ามีพลังมาก แล้วการเดิน ๗ ก้าวนี่ ไม่ยากเย็นเลย หรือตอนที่ทรงเปล่งวาจาว่า ในโลกนี้ เราเป็นยอด เป็นผู้เจริญที่สุด เป็นผู้ประเสริฐที่สุด การเกิดของเรานี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพใหม่ต่อไปไม่มี

 

การทำบุญปฏิบัติธรรมจึงไม่ขาดทุน ไม่สูญหาย ถ้าเก็บเงินเก็บทองไว้ เวลาตายไปก็จะสูญไปหมดเลย กลับมาเกิดใหม่ก็ต้องหาใหม่ ถ้าทำบุญก็จะมีทรัพย์รออยู่ข้างหน้า เป็นเหมือนการออมทรัพย์ ได้เกิดเป็นลูกเศรษฐี ถ้าไม่ได้เป็นลูกเศรษฐี เวลาทำมาหากินก็จะร่ำรวยง่าย ไม่ต้องดิ้นรน ทำอะไรก็เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เงินทองไหลมาเทมา เป็นอานุภาพของทานบารมีที่ได้ทำเอาไว้ รักษาศีลได้มากก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องไปใช้กรรมมาก ถ้าทำบาปน้อยก็ไปใช้กรรมเดี๋ยวเดียว ถ้าทำบาปมากก็ต้องไปใช้กรรมนาน ถ้าไม่ทำบาปเลยก็ไม่ต้องไปใช้กรรมเลย พอตายจากมนุษย์ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่เลย หรือไปเป็นเทพก่อน อย่างพระพุทธเจ้าตอนเป็นพระเวสสันดรนี่ พอตายไปก็ไปเป็นเทพ แล้วก็ลงมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไม่ต้องไปใช้กรรมในอบาย เรื่องเหล่านี้เป็นความจริงนะ สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นธรรมที่ถูกต้องตามหลักความจริง แต่พวกเรายังมองไม่เห็นกัน เพราะไม่มีดวงตาเห็นธรรม มองไม่เห็นใจ ไม่รู้ว่าใจเป็นอย่างไร เห็นแต่ร่างกาย แล้วก็หลงติดอยู่กับร่างกาย คิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา แต่เวลาภาวนานี้ เวลาจิตสงบนี้ จิตจะแยกออกจากกาย จิตจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ร่างกายจะหายไปจากความรู้สึก เหลือแต่จิต ไม่มีร่างกายอยู่ในความรู้สึก จะรู้ว่าจิตกับร่างกายเป็นคนละส่วนกัน ร่างกายเป็นอย่างหนึ่ง จิตเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าร่างกายจะเจ็บจะปวด จะไม่กระทบกระเทือนจิต

 

การภาวนานี้เท่านั้น ที่จะทำให้เห็นจิตได้ การได้ยินได้ฟังเป็นเพียงสัญญา เป็นจินตนาการ เหมือนกับสถานที่ที่เราไม่เคยไป พอมีคนที่เคยไปมาแล้วมาเล่าให้ฟัง ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เราก็ได้แต่วาดภาพไป พอไปเห็นของจริง อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่วาดภาพไว้ก็ได้ เพราะเรามักจะวาดภาพไปตามกิเลสของเรา จึงต้องไปดูด้วยตาของเราเอง การที่จะเห็นธรรมของพระพุทธเจ้าได้ ก็ต้องภาวนา สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา โดยมีทานมีศีลเป็นเครื่องสนับสนุน เพราะถ้าไม่ทำทานไม่รักษาศีล จะภาวนาไม่ได้ จะติดอยู่กับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง จะวุ่นวายกับการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย อาจจะต้องทำบาปทำกรรม จะทำให้จิตฟุ้งซ่านกระวนกระวายกระสับกระส่าย เวลานั่งสมาธิจะนั่งไม่ได้ เพราะไม่มีความสงบของทานของศีลเป็นพื้นฐาน ถ้าทำบุญให้ทานรักษาศีลได้ จะมีความสงบอยู่ในระดับหนึ่ง ทำให้เวลาภาวนานี้ง่ายกว่า เวลาที่ไม่ได้ทำบุญให้ทานรักษาศีล แต่ต้องมีสติเป็นหลัก

 

การภาวนานี้สติเป็นตัวสำคัญที่สุด สตินี้แหละที่จะทำให้บรรลุได้ภายใน ๗ วัน หรือ ๗ เดือน หรือ ๗ ปี อยู่ที่สตินี้ ในสติปัฏฐาน ๔ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้เลยว่า ถ้าเจริญสติได้อย่างต่อเนื่อง ทุกลมหายใจเข้าออก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ จะสามารถบรรลุธรรมได้ภายใน ๗ วัน หรือ ๗ เดือน หรือ ๗ ปี ถ้ามีสติก็จะดึงจิตให้เข้าสู่สมาธิได้ พอออกจากสมาธิก็สามารถควบคุมจิตให้เจริญปัญญาได้ ให้พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาร่างกายว่าเป็นดินน้ำลมไฟ ไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย เป็นทุกข์ ไม่ควรที่จะยึดติด ควรจะปล่อยวาง เพราะไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ พิจารณาอย่างนี้ ก็จะทำให้ปล่อยวางได้ อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายได้ พอดับความอยากเหล่านี้ได้ นิโรธคือความกระวนกระวายความทุกข์กับเรื่องของร่างกายก็จะหมดไป อยู่ตรงนี้ อยู่ที่สติ สติก็คือการรู้อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เช่นตอนนี้กำลังฟังธรรม ก็ให้อยู่กับการฟังธรรม อย่าให้ใจไปรู้เรื่องอื่น เวลาทำอะไรก็ให้รู้อยู่กับงานที่กำลังทำ กำลังรับประทานอาหารก็ให้รู้อยู่กับการรับประทานอาหาร กำลังเดินก็ให้รู้อยู่กับการเดิน นี่คือการมีสติ

 

ให้มีสติอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ให้อยู่กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน อย่าให้ไปที่นั่นที่นี่ ถ้าต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็หยุดทำอย่างอื่นก่อน ให้มีสติอยู่กับความคิด เช่นคิดวางแผนว่า วันนี้จะทำอะไร มีธุระอะไร ต้องทำอย่างไร ก็คิดด้วยสติจนเสร็จแล้วก็หยุดคิด แล้วก็กลับมาอยู่กับปัจจุบันต่อ ถ้าไม่ต้องทำอะไร ก็นั่งขัดสมาธิหลับตาตั้งตัวให้ตรง มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก รู้อยู่กับลมอย่างเดียว ไม่ต้องไปรู้เรื่องอื่น รู้อยู่ที่ปลายจมูก ลมเข้าก็ไม่ต้องตามเข้าไป ลมออกก็ไม่ต้องตามออกมา ให้รู้ว่ากำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก ลมหายใจหยาบก็รู้ว่าหยาบ ลมหายใจละเอียดก็รู้ว่าละเอียด ลมหายใจสั้นก็รู้ว่าหายใจสั้น ลมหายใจยาวก็รู้ว่าหายใจยาว แต่ไม่ต้องไปบังคับลม อย่าไปบังคับให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ปล่อยไปตามธรรมชาติของเขา เราเพียงแต่รู้เฉยๆ อาศัยความรู้ลมเป็นเครื่องดึงจิตเอาไว้ ไม่ให้ลอยไปที่อื่น จิตจะได้นิ่ง ไม่ต้องตามลมเข้า ไม่ต้องตามลมออก ลมจะละเอียดลงไปเรื่อยๆ จนลมหายไป ก็ให้รู้ว่าลมหายไป ถ้าลมหายไปก็ให้อยู่กับรู้อยู่กับตัวรู้ อยู่กับสักแต่ว่ารู้ไป สักแต่ว่ารู้ ว่าตอนนี้ไม่มีลมแล้ว อย่าไปปรุงแต่ง อย่าไปวิตกวิจารณ์ว่า ลมหายไปแล้ว จะตายหรือเปล่า ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ รู้ว่าละเอียดจนไม่สามารถรับรู้ได้ ก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่นานจิตก็จะรวมลง เข้าสู่ความเป็นหนึ่ง

 

ตอนนั้นร่างกายอาจจะหายไป หรือไม่หายไปก็ได้ ถ้าไม่หายร่างกายจะไม่กระเทือนจิตเลย อาการเจ็บปวดของร่างกาย จะไม่รบกวนจิตเลย จิตจะอยู่ในความสงบ ตอนนั้นจะมีแต่ความสุขเบาอกเบาใจ บางทีร่างกายหายไปเลยก็ได้ วูบลงไปแล้วก็นิ่งเหมือนลอยอยู่ในอวกาศ จะอยู่ได้นานหรือไม่ก็อยู่ที่กำลังของสติ ใหม่ๆจะอยู่ได้ไม่นาน แล้วก็ถอยออกมา ถ้าอยากจะกลับเข้าไปใหม่ก็ดูลมต่อ ถ้าอยากจะลุกขึ้นมาเดินจงกรม ก็ให้เจริญปัญญาต่อ พิจารณาว่าร่างกายนี้เกิดมาแล้ว ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ของเราก็เป็นอย่างนี้ ของคนอื่นก็เป็นอย่างนี้ ของคนที่เรารักก็เป็นอย่างนี้ ของคนที่เราเกลียดก็เป็นอย่างนี้ ของมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ ของสัตว์ก็เป็นอย่างนี้ พิจารณาไปเรื่อยๆจนกว่าจะยอมรับความตายได้ ถ้าอยากจะหยุดพิจารณา ก็กลับไปนั่งสมาธิต่อ ถ้าต้องทำภารกิจอื่นก็ให้มีสติอยู่กับภารกิจนั้นๆ ถ้าไม่อยู่ จะออกไปหาเรื่องอื่น ก็ดึงไว้ด้วยพุทโธก็ได้ เช่นกำลังทำภารกิจอะไรอยู่ พอจิตจะไปคิดเรื่องอื่น ก็ให้บริกรรมพุทโธๆไป เพื่อดึงจิตให้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

 

ถ้าไม่เจริญสติก็ต้องนั่งสมาธิ ถ้าไม่นั่งสมาธิก็ต้องเจริญปัญญา ต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่องแล้ว ผลก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับ ปัญญาจะเห็นชัดขึ้นเร็วขึ้น พอกิเลสเกิด ปัญญาก็จะดับกิเลสได้เลย พอคิดถึงความตาย ตอนแรกก็จะกลัว แต่พอปัญญามาทันปั๊บ ก็จะหายกลัว จะบอกว่าไม่ใช่ตัวเราของเราที่ตาย เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นธรรมดา เป็นด้วยกันทุกคน ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ ก็จะยอมรับได้ พอยอมรับได้ก็จะหายกลัว ถ้าจิตยังไม่ได้สมาธิ เวลาคิดถึงความแก่ความเจ็บความตาย จิตจะกลัว จะไม่กล้าคิดไม่กล้าพิจารณา ถ้าได้สมาธิแล้ว ก็เหมือนกับได้ฉีดยาสลบให้กับกิเลส พอออกจากสมาธิใหม่ๆ กิเลสยังไม่มีแรงมาก ถ้าพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย กิเลสจะไม่ต่อต้าน ไม่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว ก็จะสามารถพิจารณาสอนใจไปได้เรื่อยๆ จนกว่ากิเลสมีกำลังมาก ก็จะทำให้ไม่อยากพิจารณา  ก็ต้องหยุดก่อน กลับเข้าไปให้ยาสลบกิเลสก่อน ด้วยการนั่งในสมาธิ ทำสลับกันอย่างนี้ นั่งสมาธิกับเดินจงกรม เวลานั่งก็ทำจิตให้สงบนิ่ง เวลาเดินจงกรมก็พิจารณาร่างกาย ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นอสุภะ เป็นปฏิกูล เป็นการสร้างอาวุธเพื่อเอาไว้ทำลายกิเลส คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่ติดอยู่กับร่างกาย ให้เบาบางลงไปและหมดไปในที่สุด จนไม่มีความวิตกกังวล ไม่มีปัญหากับร่างกายหลงเหลืออยู่เลย

 

พอหมดปัญหาของร่างกายแล้ว ก็ต้องพิจารณานามขันธ์ต่อไป พิจารณาเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่าเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ให้รู้ทัน อย่าไปหลงตามความคิดของเรา ทุกวันนี้เรายังหลงตามความคิดอยู่ เห็นอะไรปั๊บพอว่าดีก็คว้ามาเลย ยังไม่ได้ทันใคร่ครวญเลยว่าดีจริงหรือเปล่า ยังไม่ได้คิดว่าเป็นไตรลักษณ์เลย ถ้าเป็นไตรลักษณ์ก็จะไม่คว้ามา เอามาทำไม เอามาเกะกะเปล่าๆ ได้มาแล้วก็จะกลายเป็นภาระต้องมาคอยดูแล ถ้าจะเอาก็ต้องจำเป็นจริงๆ เช่นปัจจัย ๔  เมื่อถึงเวลาต้องรับประทานข้าวก็ต้องรับประทาน ถ้าอะไรที่ไม่จำเป็น ถ้าปัญญารู้ทันปั๊บก็จะไม่เอา ก็จะอยู่แบบพระได้ อยู่แบบมักน้อยสันโดษได้ ที่อยู่มักน้อยสันโดษไม่ได้ ก็เพราะปัญญาไม่ทันกิเลสที่เร็วกว่า ไอ้นั่นก็ดี ไอ้นี่ก็ดี ไอ้นั่นก็น่ารัก ก็คว้ามาอยู่กับเราแล้ว ถ้าไม่ได้ก็โกรธเสียใจ มีปัญหากับคนอื่นแล้ว มีเรื่องมีราวกับคนอื่น กิเลสจะพาเราไปสู่ความวุ่นวายใจ สู่ปัญหาต่างๆ ถ้ามีปัญญารู้ทันก็ตัดๆๆๆ เอาเท่าที่จำเป็น เอามาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ไปมีปัญหากับใคร ถ้าต้องไปแก่งแย่งชิงดีกับใครก็ไม่เอา เขาอยากจะได้ก็ให้เขาไป เราไปหาที่อื่นก็ได้

 

ถาม  เวลาพิจารณานามขันธ์ ไม่ต้องแยกเป็น ๔ ส่วนใช่ไหม จะพิจารณาโดยอัตโนมัติเลย

 

ตอบ มันมีความเกี่ยวเนื่องกันหมด พอเห็นว่าสวยก็เกิดสุขเวทนาขึ้นมา แล้วก็เกิดสังขารปรุงแต่งอยากจะได้ทันที

 

ถาม  เราก็เอาไตรลักษณ์เข้าไปประกบ ว่ามันเกิดดับอยู่เรื่อยๆ

 

ตอบ พิจารณาว่าเอามาทำไม เป็นสุขหรือเป็นทุกข์กันแน่ สุขเดี๋ยวเดียว สุขแบบควันไฟ แล้วก็กลายเป็นกองทุกข์ ต้องคอยเลี้ยงดู เช่นได้ลูกมาสักคนหนึ่ง ก็ดีใจตอนที่คลอดออกมา หลังจากนั้นก็ต้องเลี้ยงดูไปอีกหลายปี ต้องทุกข์ทรมานกับลูกไปอีกหลายปี ถ้าคิดเสียหน่อยก็จะคิดว่าไม่มีจะดีกว่า

 

ถาม  พิจารณาไปจนรู้สึกว่า จริงๆแล้วจิตใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

 

ตอบ เป็นธรรมชาติของกิเลส พอสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสแล้ว ก็จะว่าทันทีเลยว่า ดีหรือไม่ดี ดีก็อยากได้ ไม่ดีก็อยากจะให้มันหายไป เวลาไม่หายไปก็วุ่นวายใจ เวลาอยากได้แล้วไม่ได้ก็วุ่นวายใจ

 

ถาม  พอมีสภาวธรรมเกิดขึ้น เราก็เริ่มวงจรนี้ กลับไปกลับมา

 

ตอบ ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เพื่อจะได้ปล่อยวาง  

 

ถาม  ปล่อยวางสภาวธรรมที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ใช่ไหม

 

ตอบ จะปรุงแต่งน้อยลงไป มีปฏิกิริยากับรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆน้อยลงไปเรื่อยๆ จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ปฏิกิริยาของเรามักจะไปทางกิเลสคือ ภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้าชอบก็เป็นภวตัณหาอยากจะได้ ถ้าไม่ชอบก็เป็นวิภวตัณหา ถ้าเห็นเป็นไตรลักษณ์ก็จะเฉยๆ เป็นอุเบกขา

 

ถาม  พิจารณาซ้ำไปอย่างนี้

 

ตอบ พิจารณาจนไม่มีตัณหาเหลืออยู่ในใจ ถ้าไม่มีตัณหาก็จะไม่ทุกข์กังวลใจกระสับกระส่าย เป็นนิโรธ การปฏิบัติมันจะวัดผลด้วยอริยสัจ ๔  วัดที่ทุกข์กับนิโรธ ถ้ายังมีทุกข์อยู่ ตัณหาก็ยังไม่หมด ถ้ามีนิโรธไม่มีทุกข์ ก็แสดงว่าหมดแล้ว

 

ถาม  ก็เป็นนิโรธเล็กๆเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ

 

ตอบ เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยไปเรื่อยๆ ถ้าปัญญาทันก็เป็นนิโรธ ถ้าปัญญาไม่ทันก็เป็นทุกข์

 

ถาม  ตอนแรกเข้าใจว่า ถ้าเป็นนิโรธปั๊บ ทุกอย่างดับหมด

 

ตอบ ดับเป็นรอบๆ ถ้าสังขารปรุงแต่งไปทางมรรคก็เป็นนิโรธ ถ้าคิดไปทางสมุทัยก็เป็นทุกข์ เราจึงต้องทำให้สังขารคิดไปในทางมรรคตลอดเวลา จะได้เป็นนิโรธไปตลอด ต้องคิดไปในทางไตรลักษณ์ตลอด ถึงจะเป็นนิโรธได้ตลอด ถ้าปฏิบัติจนจิตเข้าข้างในแล้ว จะดูการต่อสู้ของมรรคกับสมุทัยเท่านั้น มันอยู่ในใจ ข้างนอกเป็นเพียงส่วนประกอบ แต่ตัวที่ต่อสู้กันจริงๆนี้อยู่ในใจ สังเวียนระหว่างธรรมกับกิเลสนี้มันอยู่ในใจ โดยอาศัยรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเป็นตัวจุดชนวน

 

ปัญหาส่วนใหญ่ของพวกเรานี้ อยู่ที่มีธรรมน้อยกว่ากิเลส พอเห็นอะไรปั๊บกิเลสก็ลากไปก่อนแล้ว ธรรมตามไม่ทัน ถ้าธรรมตามทันก็จะไม่ไป จะไม่อยากได้อะไร ความอยากก็จะหายไป นิโรธก็จะเกิดขึ้นมา ต้องเริ่มต้นที่สติ ต้องมีสติก่อน ถ้าไม่มีสติก็ไม่สามารถดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบันได้ ถ้าจิตไปอยู่ที่อื่น ก็จะไม่เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทุกข์อยู่ตรงนี้ แต่กำลังไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้เราทุกข์ เมื่อเช้านี้ใครด่าเรา น่าโมโหเหลือเกิน จิตไปดูอดีต ไม่ดูปัจจุบัน ว่าตอนนี้กำลังทุกข์เพราะไปคิดถึงเขา ถ้าไม่ไปคิดถึงเขาทุกข์ก็จะดับ เพราะไม่มีสติ สติจึงสำคัญมาก ธรรมทั้งหมดนี้ สตินี้เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำคัญที่สุด ท่านทรงเปรียบเหมือนรอยเท้าช้าง สามารถครอบรอยเท้าของสัตว์ทุกชนิดได้หมด ไม่มีสติก็ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา เกิดไม่ได้ สติเป็นบิดามารดาของสมาธิของปัญญา ของวิมุตติหลุดพ้น สติจึงเป็นพระสูตรที่สำคัญมาก ในประเทศศรีลังกานี้ เขาถือพระมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรที่สำคัญที่สุดของพระไตรปิฎก ทุกคนจะท่องจำกันได้หมด เพราะจะบอกรายละเอียดของการเจริญสติทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นร่างกาย ไปสู่ขั้นเวทนา จิต ธรรม ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ

 

ตอนต้นก็ให้มีสติอยู่ที่ร่างกายก่อน เพราะเป็นส่วนหยาบ พอผ่านร่างกายไปแล้วก็เข้าไปสู่เวทนา เวทนาก็เกี่ยวกับสัญญาสังขารวิญญาณด้วย แล้วจึงเข้าไปในจิต พอเข้าไปในจิตก็จะถึงธรรม คืออริยสัจ ๔  จะเห็นการต่อสู้ของการทำงานของอริยสัจ ๔ การต่อสู้ระหว่างมรรคกับสมุทัย อยู่ในสติปัฏฐานสูตรนี้หมดเลย ท่านถึงพยากรณ์ได้อย่างเต็มปากเลยว่า ภายใน ๗ วัน หรือ ๗ เดือน หรือ ๗ ปี จะต้องได้ขั้นใดขั้นหนึ่ง ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ต้องเป็นพระอนาคามีอย่างแน่นอน ขอให้ปฏิบัติตามที่ท่านสอนไว้เท่านั้น ให้มีสติทุกลมหายใจเข้าออก ตั้งแต่ตื่นจนถึงเวลาหลับ ให้ควบคุมจิตให้อยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา ถ้าไม่ต้องทำอะไร ก็ต้องนั่งทำสมาธิ พอออกจากสมาธิ ก็พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาร่างกายก่อน แล้วค่อยไปที่เวทนา แล้วค่อยไปที่จิต แล้วก็ไปที่ธรรม

 

ถาม  ถ้าพิจารณาคิดทบทวนบ่อยๆเกี่ยวกับการไม่ฆ่าสัตว์นี้ จะทำให้เราตั้งมั่นในการไม่ฆ่าสัตว์ใช่ไหม

 

ตอบ ต้องไปทดสอบในเหตุการณ์จริงๆ ว่าจะฆ่าหรือไม่ การพิจารณาเป็นเหมือนทำการบ้าน ยังไม่ได้เข้าห้องสอบ ยังไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง ถ้าต้องเลือกระหว่างชีวิตเรากับชีวิตเขาอย่างนี้ ถ้าต้องการจะรักษาศีลจริงๆ เราก็จะไม่ฆ่าเขา ยอมให้เขาฆ่าเรา เราจะไม่รู้จนกว่าจะอยู่ในเหตุการณ์จริง ถึงจะรู้ การพิจารณาไว้ล่วงหน้านี้เป็นการเตรียมตัวไว้ก่อน พอถึงเกิดเหตุการณ์จริงจะได้ทำได้ ถ้าไม่คิดไว้ก่อน สัญชาตญาณของเราจะไม่ให้เราทำ ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ถึงผลได้ผลเสียจากการรักษาศีลแล้ว ก็จะตัดสินใจได้อย่างถูกทาง ต้องเกิดปัญญาที่เห็นว่าไม่คุ้มค่าต่อการทำผิดศีล ต้องเห็นอริยสัจ ๔ ภายในใจ ที่เราฆ่าก็เพราะว่ายังมีตัณหา เวลามีความไม่พอใจ ต้องการกำจัดความไม่พอใจนี้ ด้วยการไปฆ่าผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่เป็นการกำจัดปัญหาที่ถูกทาง การกำจัดปัญหาที่ถูกทาง ต้องดับความอยากที่จะไปฆ่าเขา เพราะความอยากนี้ เป็นตัวที่ทำให้เกิดความทุกข์ ความไม่สบายใจขึ้นมา อยู่ตรงนี้มากกว่า อยู่ที่อริยสัจ ๔ ที่อยู่ในใจ

 

ถาม  อย่างนี้การพิจารณากายเป็นเนืองนิตย์นี้ ทำให้เกิดความคิดที่หนักแน่นกับการถือศีลไม่ฆ่าสัตว์

 

ตอบ ใช่ เพื่อให้ยอมรับความจริงว่า ในที่สุดชีวิตของเราก็ต้องตายไป เป็นธรรมดา แล้วเรื่องอะไรที่เราจะต้องไปทำผิดศีลผิดธรรม เพื่อให้มันอยู่ต่อไปอีก ไม่คุ้มค่า ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องไปทำผิดศีล ไม่ต้องไปรับวิบากของการทำผิดศีล จะเห็นอยู่ภายในใจ ก็ลองรักษาศีลไปเรื่อยๆดู ตอนต้นก็รักษาไปแบบบังคับ ต่อไปถ้าพอเห็นด้วยปัญญาแล้ว จะเห็นว่าเวลาไม่ทำบาปจะทำให้ใจสงบ ไม่ทุกข์วุ่นวายใจ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็จะไม่ทำบาปอีกต่อไป พอทำบาปแล้วจะกระวนกระวาย วิตกกังวล ผวาหวาดกลัว จะไม่กล้าทำบาป

 

ถาม  ในการพิจารณากายนี้ ต้องพิจารณาบ่อยๆเป็นเนืองนิตย์ จนเป็นความคิดที่เป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับการถือศีล

 

ตอบ คิดเพื่อให้ปลงได้ ให้ยอมรับความแก่ความเจ็บความตายว่าเป็นธรรมดา ไม่ฝืนธรรมชาติด้วยการทำผิดศีลผิดธรรม เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีเงินรักษา ถ้าจะต้องไปทำผิดศีลผิดธรรม เพื่อให้ได้เงินมารักษาร่างกาย ก็จะไม่ทำ ยอมรับความจริงว่าเป็นวิบากของเรา เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรักษา ก็รักษาตามธรรมชาติ ถ้าจะหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ถือว่าหมดบุญก็แล้วกัน จะได้ไม่ต้องทำบาป ไม่ต้องโกง หาเงินโดยวิธีที่ไม่ชอบ เพื่อเอาเงินมารักษาร่างกาย ถ้าไม่คิดถึงความแก่ความเจ็บความตายว่าเป็นธรรมดา ก็จะพยายามต่อสู้ทุกวิถีทาง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องหาเงินหาทอง หาหมอหายา หาได้แบบไหนก็เอาทั้งนั้น จะผิดศีลหรือไม่ผิดศีลก็เอาทั้งนั้น ขอให้ได้รักษาชีวิตให้อยู่ต่อไป มันไม่คุ้มค่า เพราะหายวันนี้แล้ว เดี๋ยวก็ต้องเป็นอีก ในที่สุดก็ต้องตายอยู่ดี เพราะร่างกายนี้ก็มีอยู่ ๓ โรคด้วยกัน ที่จะต้องพบด้วยกันทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน

 

        โรคชนิดที่ ๑ ก็คือ เป็นแล้วหายเอง ไม่ต้องรักษา ชนิดที่ ๒ เป็นแล้วต้องรักษาถึงจะหาย ชนิดที่ ๓ เป็นแล้วรักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย ต้องเจอ ๓ โรคนี้ทุกคน ถ้ายอมรับความจริงนี้ได้ ก็จะไม่วุ่นวายใจกับการเจ็บไข้ได้ป่วย ทำใจได้ แยกใจออกจากร่างกาย พิจารณาไตรลักษณ์ให้เห็นว่า ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เป็นเพียงรถยนต์คันหนึ่ง เราเป็นคนขับ ไม่ต้องเดือดร้อนกับร่างกาย ซ่อมได้ก็ซ่อมไป ซ่อมไม่ได้ก็ปล่อยให้ตายไป เท่านี้ก็จบ สบาย พิจารณาเพื่อให้ปลง ให้ยอมรับความจริง เพื่อจะได้ไม่ต้องไปทำบาปทำกรรม ไม่ต้องวุ่นวายให้เหนื่อยยากไปเปล่าๆ เช่นพระอรหันต์ที่ถูกปองร้าย ท่านก็มีฤทธิ์มีเดช แต่ท่านไม่ใช้ ท่านบอกว่าใช้ฤทธิ์หนีไปได้วันนี้ พรุ่งนี้เขาก็ตามมาใหม่ เรื่องของวิบากนี่หนีไม่พ้น ท่านจึงปล่อยให้เป็นไปตามวิบากกรรม แต่ใจของท่านไม่ได้เป็นอะไร ท่านมีปัญญาท่านแยกใจออกจากร่างกายได้ ท่านเห็นว่าร่างกายของท่านเป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น ไม่ต้องดูแลรักษาแบบผิดศีลผิดธรรม นี่คือปัญญาเป็นอย่างนี้

 

ถ้ามีปัญญาก็จะรักษาศีลได้ ถ้ายังไม่มีปัญญาก็ต้องรักษาศีลแบบบังคับไปก่อน ถ้ากิเลสมีกำลังมากกว่าก็จะรักษาไม่ได้ เวลาอยู่ในสภาพปลอดภัยก็รักษาศีลได้ พอถึงเวลาที่จะต้องเอาตัวรอดก็จะรักษาไม่ได้ อยู่ที่กำลังของสติปัญญาและกำลังของกิเลส คนที่มีสติปัญญามากมีกิเลสน้อย ก็จะรักษาศีลได้ง่ายกว่า คนที่มีกิเลสมากมีสติปัญญาน้อย คนมีกิเลสมากจะเอาความเห็นแก่ตัวเป็นใหญ่ เอาตัวรอดก่อน ใครจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ อยู่ที่การฝึกฝนอบรมให้มีธรรมะฝังไว้ในใจ ไว้เป็นเครื่องต่อสู้กับกิเลสตัณหาต่างๆ ถ้ามีธรรมะก็จะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่ให้เกิดความเสียหายกับจิตใจ ด้วยจาคะการเสียสละ ด้วยศีล ด้วยขันติความอดทนอดกลั้น เป็นคุณธรรมที่ควรปลูกฝังไว้ในใจ ถ้าอยากจะให้ธรรมะเป็นผู้นำทาง ก็ต้องมีจาคะมีการเสียสละ มีศีลไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีขันติมีความอดทนอดกลั้น

 

ถาม  เวลาออกจากสมาธิภาวนาแล้วลืมตาแต่กายไม่ยอมขยับ คือร่างกายอยากนั่งภาวนาต่อ จะแก้ปัญหาอย่างไรดี

 

ตอบ นั่งต่อไป นั่งทั้งคืนเลยก็ได้ บางท่านนั่งถึง ๘ ชั่วโมง ไม่ลุกเลย เวลาเจ็บก็ไม่ลุก ปล่อยวางความเจ็บ จะเจ็บก็เจ็บไป ใจไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย อย่าไปอยากให้หาย อย่าไปกลัว เจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป ถ้าดับก็ปล่อยให้ดับไป ถ้ายังอยากจะนั่งต่อไปก็นั่งไป อย่าไปกลัวว่าเป็นการติดสมาธิ เพราะการติดสมาธิหมายถึงทำแต่สมาธิอย่างเดียว ไม่สลับกับการทำปัญญา ในช่วงที่ทำสมาธิ ถ้าอยากจะทำตลอดเวลาก็ทำได้ ถ้าไม่ได้ทำสมาธิแล้ว เวลาออกจากสมาธิมาเดินจงกรม ก็ควรเจริญปัญญาสลับกันไป ไม่เดินจงกรมสักแต่ว่ารู้เฉยๆ คือเจริญสติอย่างเดียว เช่นรู้ว่ากำลังเดินก้าวเท้าซ้ายก้าวเท้าขวา อย่างนี้เป็นการเจริญสติ ถ้าเดินจงกรมก็ให้พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย อนิจจังทุกขังอนัตตา ดินน้ำลมไฟ สลับกับการทำสมาธิ เวลาไม่ทำสมาธิก็ให้เจริญปัญญา ถ้าไม่พิจารณาปัญญาก็ให้เจริญสติ ทำทั้ง ๓ ส่วนนี้ ถ้าไม่เจริญสติก็ให้เจริญปัญญา ถ้าไม่เจริญปัญญาก็ให้เจริญสมาธิ อย่างนี้แล้วการปฏิบัติก็จะก้าวหน้า ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์มาสอน เวลาทำสมาธิก็จะทำสมาธิอย่างเดียว พอออกจากสมาธิก็ไม่ทำอะไรเลย ไม่เจริญสติ ไม่เจริญปัญญา พอถึงเวลาอยากจะนั่งสมาธิก็กลับมานั่งใหม่ อย่างนี้เรียกว่าติดสมาธิ ทำแต่สมาธิอย่างเดียว

 

ทางที่ถูกพอออกจากสมาธิแล้วควรเจริญปัญญา เวลาเจริญปัญญาก็จะเจริญสติไปด้วย เพราะถ้าไม่มีสติก็เจริญปัญญาไม่ได้ สติต้องมีอยู่กับการเจริญปัญญาเสมอ พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายอย่างต่อเนื่อง เป็นการเจริญปัญญา เพื่อสอนใจให้ยอมรับความจริงของร่างกาย ต่อไปจะไม่ฝืนความจริง พอถึงเวลาแก่ก็จะยอมรับ เพราะรู้ว่าถ้าไม่ยอมรับก็จะทุกข์ ถ้ายอมรับความจริงทุกข์ก็จะหายไป ถ้าอยากจะพิสูจน์ว่ายอมรับจริงหรือไม่ ก็ไปอยู่ที่น่ากลัวดู ดูว่าจะดับความกลัวได้หรือไม่ ถ้ายอมตายความกลัวก็จะดับไป ความตายมันไม่ทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ความกลัว จะเห็นว่าความตายไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นโทษ แต่ความกลัวตายนี้เป็นโทษเป็นทุกข์ ความกลัวเป็นสมุทัย เป็นวิภวตัณหา ความอยากไม่ตายทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าเห็นไตรลักษณ์ก็จะยอมรับความจริง เพราะความจริงนี้ไม่มีใครฝืนได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ต้องตาย แล้วเราทำไมจะไม่ตาย พอยอมรับแล้วก็จะไม่ทุกข์ จะไม่กลัว จะอยู่อย่างสบายไปจนวันตาย ไม่มีความหวาดกลัวกับภัยต่างๆ อย่างมากก็แค่ตาย