กัณฑ์ที่ ๔๑๖ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๓
ควบคุมความคิด
พวกเราควรทุ่มเทเวลาให้กับการภาวนา ดีกว่าทำอย่างอื่น งานภายนอกทำเท่าไหร่ก็จะไม่จบไม่สิ้น ต้องทำไปเรื่อยๆ ต้องบูรณะซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ แต่ใจของพวกเรานี้ถ้าทำให้ดีแล้ว จะดีไปเรื่อยๆ จะไม่เสื่อม งานต่างๆภายนอกนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ทำเท่าที่จำเป็น จะได้มีเวลามาทำงานที่สำคัญจริงๆ คืองานพัฒนาจิตใจ ใจได้รับการพัฒนามากน้อยเพียงไร พวกเราก็จะมีความสุขมากน้อยเพียงนั้น ถ้าใจไม่ได้รับการพัฒนา ก็จะมีแต่ความทุกข์ ความสุขความทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เรื่องภายนอก แต่อยู่ที่ใจที่ได้รับการพัฒนา ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้านำธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าสู่ใจได้มากเท่าไหร่ ใจจะมีความร่มเย็นเป็นสุขมากเท่านั้น ยิ่งใจมีความสุขมากเท่าไหร่ ยิ่งจะเห็นความไม่สำคัญของสิ่งอื่นๆภายนอกมากขึ้นเท่านั้น เพราะใจสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้ โดยไม่ต้องมีอะไรเลย แม้แต่ไม่มีร่างกายใจก็ยังอยู่ได้ เช่นเวลาใจเข้าสู่ความสงบเข้าสู่สมาธิ ตอนนั้นใจกับร่างกายก็แยกออกจากกันชั่วคราว ใจไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย และเรื่องต่างๆที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย เหมือนกับไม่มีอะไร เหมือนกับลอยอยู่ในอวกาศ ไม่มีอะไรมารบกวนใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจเป็นที่ตั้งของความสุขและความทุกข์ ใจเป็นผู้สร้างความสุขและความทุกข์ และใจเป็นผู้รับผลของความสุขและความทุกข์ เกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจ ถ้าคิดไปทางสมุทัยก็จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา ถ้าคิดไปทางมรรคก็จะสร้างความสุขขึ้นมา
หน้าที่ของพวกเราจึงอยู่ที่การควบคุมความคิดของพวกเรา ถ้าอยากจะมีแต่ความสุขก็ต้องคิดไปในทางมรรค ถ้าคิดไปในทางมรรคไม่ได้ ก็จะคิดไปในทางสมุทัย เพราะใจมีอวิชชาคอยกำกับคอยสั่ง ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชาเป็นผู้กำกับให้สังขารคิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัย พอมีเวทนาก็จะเกิดตัณหาเกิดความอยากตามมา ถ้าเป็นสุขเวทนาก็อยากจะให้สุขไปนานๆ ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็อยากจะให้ดับไปเร็วๆ แต่สุขกับทุกขเวทนามีเหตุมีปัจจัยของเขา ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของความอยากของใจ เช่นเวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้นมา ใจก็จะอยากให้ทุกขเวทนาทางกายหายไปดับไป แต่เขาไม่ดับไปตามความอยาก เพราะเขาเป็นอนัตตา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของใจ เขามีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเกิดขึ้นมา เช่นยามเจ็บไข้ได้ป่วยเนื่องจากมีเชื้อโรคทำให้ร่างกายผิดปกติ ใจอยากจะให้มันหาย แต่มันก็ไม่หาย พออยากให้หายก็จะมีความทุกข์ทรมานใจซ้อนขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เพราะไม่สามารถห้ามความคิดไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง
ถ้าฝึกใจอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย ก็จะไม่ทรมานใจ เช่นเวลาเกิดความเจ็บปวดขึ้นมาทางร่างกาย ก็อย่าไปคิดอยากให้หายปวด ด้วยอุบายที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เช่นบริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ ในขณะที่มีความทุกข์ทรมานใจกับความเจ็บปวดของร่างกาย ถ้าบริกรรมพุทโธๆ ก็จะควบคุมความคิดไม่ให้คิดในทางสมุทัยได้ พอไม่คิดอยากจะให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยหายไป หรือคิดหนีจากความเจ็บไข้ได้ป่วยไป ก็จะไม่ทรมานใจ ถ้าไม่สามารถควบคุมความคิดได้ ก็อาจจะคิดฆ่าตัวตายก็ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะความทุกข์ทรมานใจไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่ความคิดปรุงแต่ง ที่ถูกอวิชชาความหลงความไม่รู้เรื่องของความทุกข์ของใจ ว่าเกิดจากความคิดปรุงแต่งของใจนี้ พาให้คิดฆ่าตัวตาย ถ้ารู้ว่าความทุกข์ทรมานใจนี้เราสามารถดับได้ ด้วยการควบคุมความคิด ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย หรือให้หยุดคิดชั่วคราว ให้จิตรวมลง ให้เข้าสู่สมาธิ ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไปหมด จะเหลือแต่ความเจ็บปวดของร่างกาย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความทุกข์ทรมานใจแล้ว เป็นเหมือนฟ้ากับดิน เป็น ๑ ต่อ ๑๐๐ เท่า จะเห็นได้ชัดเลยว่าความเจ็บปวดของร่างกายนี้ ใจสามารถรับรู้ได้อย่างสบาย ถ้าไม่มีความทุกข์ทรมานใจ ที่เกิดจากความคิดอยากให้ความเจ็บปวดของร่างกายหายไป หรือความคิดอยากจะหนีจากความเจ็บปวดนี้ไป ถ้าใจนิ่งเฉยๆจะไม่รู้สึกทรมานใจแต่อย่างใด เพราะเราสามารถยับยั้งความคิดไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยนั่นเอง จะปวดก็ปวดไป อยู่ด้วยกันได้
ทำได้ ๒ วิธีด้วยกัน คือ ๑. ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ เพื่อไม่ให้ใจคิดไปในทางสมุทัย ๒. ให้คิดว่าความเจ็บปวดของร่างกายเป็นเรื่องปกติ เป็นเหมือนกับฝนตก ถ้าไม่ได้อยากให้ฝนหยุดตก ก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร แต่ถ้าอยากจะให้หยุดตก แต่ยังตกอยู่ ใจก็จะกระสับกระส่ายกระวนกระวาย ไม่สบายใจ ถ้าคิดไปในทางที่ถูกต้องที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ ใจก็จะสงบ เขาเป็นอย่างนี้ อย่าไปถามว่าทำไม อย่าไปอยากให้เขาหายไป ให้คิดว่าเขาเป็นอย่างนี้ มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเกิดขึ้น จะอยู่นานหรือไม่นาน ก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปสั่งให้เขาหายไปได้ แต่สิ่งที่เราสั่งให้หายได้ก็คือสมุทัย ที่สร้างความทุกข์ให้แก่ใจ ถ้าสอนใจให้คิดอย่างนี้ ใจก็จะไม่คิดอยากให้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อไม่มีความคิดที่เป็นเหตุที่สร้างความทุกข์ใจขึ้นมา ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ อยู่ที่การควบคุมใจด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ที่เป็นเครื่องมือสำคัญ สำหรับการควบคุมความคิดปรุงแต่ง ให้อยู่ในทำนองคลองธรรม อยู่ในมรรค
การเจริญสติจึงเป็นงานที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็น ก.ไก่ ข.ไข่ ของการปฏิบัติ ถ้าอยากจะอ่านออกเขียนได้ ก็ต้องเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ก่อน ถ้าไม่รู้จักอักษรต่างๆ จะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ฉันใดถ้าอยากจะควบคุมความคิด ให้ไปในทางมรรค ให้หยุดคิด ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย ก็จะต้องมีสติก่อน เมื่อมีสติแล้วก็จะสามารถหยุดความคิดได้ ด้วยการรวมเข้าสู่สมาธิเป็นพักๆ แต่สมาธิจะไม่สามารถหยุดความคิดปรุงแต่งได้อย่างถาวร จะสงบได้สักระยะหนึ่งแล้วก็จะถอนออกมา ต้องไปดำเนินชีวิตต่อ เพราะยังมีร่างกายที่จะต้องเลี้ยงดู พอออกจากสมาธิใจก็จะคิดไปเรื่อยเปื่อย จึงต้องใช้ปัญญาคอยสกัดไว้ ถ้าคิดไปในทางสมุทัย คิดไปในทางที่จะสร้างความทุกข์ขึ้นมา ก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปสกัด สิ่งที่ใจอยากได้อยากมีอยากเป็นนั้น ต้องสอนใจว่าเป็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับมันได้ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ให้ความสุข แต่ให้ความทุกข์ เวลาได้อะไรมาใหม่ๆก็ดีใจมีความสุข สักระยะหนึ่งก็เปลี่ยนไป หรือใจเราเปลี่ยนไป เคยชอบแต่เดี๋ยวนี้เบื่อแล้วเพราะจำเจ เวลาได้มาใหม่ๆก็ดีอกดีใจชอบอกชอบใจ พอเห็นจำเจก็จะเกิดความเบื่อหน่าย เคยมีความสุขกับสิ่งนั้น เดี๋ยวนี้กลับมีความทุกข์
จึงต้องหาของใหม่ๆมาทดแทนอยู่เรื่อยๆ เพราะความรู้สึกของเราเปลี่ยนไป ไม่เที่ยงเหมือนกัน สิ่งที่เราสัมผัสเกี่ยวข้องด้วยก็ไม่เที่ยง ไม่สามารถควบคุมบังคับเขาได้ เขาจะให้ความสุขกับเราไปตลอดได้อย่างไรเวลาที่เขาเปลี่ยนไป ความทุกข์ก็จะกลับเข้ามาแทนที่ ต้องสอนใจอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ แล้วใจจะไม่อยากได้อะไรมาให้ความสุข เพราะไม่คุ้มค่า ได้ความสุขเพียงเล็กๆน้อยๆ แล้วก็ต้องมาทุกข์ทรมานใจ ทุกข์เพราะต้องดูแลรักษา ทุกข์เพราะเศร้าโศกเสียใจเวลาที่เกิดการสูญเสีย นี่คือการใช้ปัญญา ต้องมองให้เห็นไตรลักษณ์ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ลาภยศสรรเสริญ ล้วนไม่เที่ยงทั้งนั้น ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับของเรา ถ้าสิ่งที่ให้ความสุขกับเราจากเราไป เราก็จะต้องทุกข์ใจเศร้าโศกเสียใจ อย่างเดือนนี้ก็เป็นเดือนสุดท้ายของอายุราชการของคนที่มีอายุครบ ๖๐ ปี เคยมีตำแหน่งใหญ่โตพอถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ความใหญ่โตก็หมดไป จะอยู่เป็นใหญ่เป็นโตต่อไปก็ไม่ได้ เพราะถึงวาระที่จะต้องหมดไป ถ้าทำใจไม่ได้ ควบคุมความคิดไม่ได้ ว่าตอนนี้ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตแล้ว เป็นคนธรรมดาแล้ว ไม่มีใครให้ความสำคัญกับเราแล้ว ก็จะมีความว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา ปัญหาต่างๆอยู่ที่ความคิดของเรานี่เอง
เราจึงต้องฝึกควบคุมความคิดของเรา การฝึกสตินี่แหละเป็นการดึงใจดึงความคิดของเราไว้ เบื้องต้นก็ให้ดึงเข้ามาสู่ความว่าง สู่ความเป็นกลาง ทำอะไรก็อย่าไปคิดปรุงแต่ง ให้เพียงสักแต่ว่ารู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังรับประทานอาหารก็ให้รู้ว่ากำลังรับประทานอาหาร ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ กำลังอาบน้ำ กำลังแปรงฟัน กำลังหวีผม กำลังแต่งตัว กำลังทำอะไรอยู่ ก็ให้ใจรู้อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าไม่ดึงใจไว้ให้รู้กับการกระทำของร่างกาย ใจจะคิดเรื่อยเปื่อย ร่างกายอยู่ตรงนี้ แต่ใจไปคิดถึงลูกที่อยู่ต่างประเทศโดยไม่รู้สึกตัว ทำอะไรก็จะผิดพลาด หรือสงสัยว่าทำไปแล้วหรือยัง เพราะใจไม่ได้รู้อยู่กับการกระทำ ไปรู้อยู่กับเรื่องที่กำลังคิดปรุงแต่ง อย่างนี้แสดงว่าขาดสติ ไม่สามารถควบคุมความคิดปรุงแต่งได้ ปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ถ้าเป็นอย่างนี้เวลานั่งทำสมาธิให้ใจสงบก็จะไม่สงบ เพราะใจจะสงบได้ต้องหยุดความคิดปรุงแต่ง ต้องมีสติคอยดึงไว้ เช่นการบริกรรมพุทโธ เป็นการดึงความคิดปรุงแต่ง ไม่ให้คิดปรุงแต่ง ให้คิดแต่คำว่าพุทโธๆอย่างเดียว จะได้ไม่มีอารมณ์ ทำให้ใจเป็นกลาง ทำให้ใจว่าง ทำให้หยุดคิดได้ รวมเข้าสู่ความสงบได้ ถ้าไม่ชอบคำบริกรรม ใช้การดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ แต่ต้องสักแต่ว่าดู สักแต่ว่ารู้ อย่าไปคิดเรื่องอื่น ให้รู้อยู่กับเรื่องของลมอย่างเดียว หายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ให้รู้อยู่ตรงจุดเดียว อย่าตามลมเข้าตามลมออก ให้อยู่แถวปลายจมูก เวลาลมเข้าออกจะสัมผัสอยู่แถวปลายจมูก ให้รู้อยู่ตรงนั้น เฝ้าดูอยู่ตรงนั้น อย่าไปบังคับลมหายใจ จะหยาบจะละเอียด จะหายใจสั้นหายใจยาว ก็ให้รู้ตามความจริง ไม่ต้องบังคับ ให้ใช้ลมเป็นที่ผูกใจด้วยสติ ถ้าใจเป็นเหมือนเรือ สติก็เป็นเหมือนเชือก ลมหายใจก็เป็นเหมือนเสาของท่าเรือ ถ้าผูกเรือไว้กับเสา น้ำก็จะไม่พัดพาให้เรือลอยไปได้ เรือก็จะจอดนิ่ง
ใจก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก รู้อยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ ไม่ช้าก็เร็วใจก็จะสงบนิ่ง พอสงบแล้วก็จะมีความสุขสบายเบาอกเบาใจ ตอนนั้นจะไม่รับรู้การเจ็บปวดของร่างกาย ถ้ารู้ก็จะไม่รำคาญใจ รู้ว่าชาหรือเจ็บตรงนั้นมันปวดตรงนี้ แต่ไม่รู้สึกทรมานใจ เพราะใจไม่มีปฏิกิริยากับความเจ็บของร่างกายนั่นเอง นี่คือการควบคุมความคิดให้เข้าสู่ความสงบ แต่ความสงบของสมาธินี้มีระยะเวลา อยู่ได้สักระยะหนึ่งแล้วก็จะถอนออกมา ต้องออกมาปฏิบัติภารกิจอื่นๆ พอถอนออกมาใจจะเริ่มคิดปรุงแต่ง ถ้าไม่ต้องคิดเรื่องภารกิจต่างๆ ก็ให้ใจคิดไปในทางปัญญา ให้เตรียมรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่จะต้องเกิดขึ้น เช่นให้พิจารณาร่างกาย ว่าสักวันหนึ่งต้องแก่ลงไป ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องตายไป เช่นเดียวกันกับร่างกายของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม จะเป็นคนใกล้ชิดหรือเป็นคนที่ไม่รู้จัก ก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องสอนให้ใจรู้และรับความจริงนี้ให้ได้ ถ้ารู้และรับความจริงได้ก็จะปล่อยวางได้ จะรับว่าเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับยอมรับกับฝนตกแดดออก ไม่มีปฏิกิริยา ไม่มีความอยากจะให้ตกหรือไม่ตก เพราะเรารู้ว่าไม่ใช่วิสัยของเราที่จะไปสั่งได้ เป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับความจริง ฉันใดร่างกายของเราหรือร่างกายของผู้อื่น ก็เป็นเหมือนกับฝนตกแดดออก จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปด้วยกันทุกคน เราต้องยอมรับ เหมือนกับยอมรับฝนตกแดดออก ถ้ายอมแล้วจะสบายอกสบายใจ ไม่เดือดร้อน
ถ้ายังไม่แน่ใจว่ารับได้จริงหรือไม่ ก็ต้องไปหาสถานที่ทดสอบใจ ไปสถานที่ที่เรากลัว เพราะความกลัวคือความทุกข์ ที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งของเราเอง ต้องไปหาสถานที่แบบนั้น เพื่อจะได้ทดสอบใจดูว่า สามารถควบคุมความคิด ไม่ให้สร้างความกลัวขึ้นมาหลอกเราได้หรือไม่ ถ้ากลัวผีก็ต้องไปอยู่สถานที่ที่เราคิดว่ามีผี กลัวสิงสาราสัตว์ก็ต้องไปอยู่สถานที่ที่มีสิงสาราสัตว์ กลัวความตายก็ต้องไปอยู่สถานที่ที่ล่อแหลมต่อความตาย จะได้พิสูจน์กันจริงๆ ว่ายอมรับความตายได้หรือไม่ เพราะเวลาไปอยู่ในสถานที่เหล่านี้แล้ว ในเบื้องต้นความกลัวจะต้องเกิดขึ้นมาทันที เพราะผู้ที่สั่งให้คิดสร้างความกลัวขึ้นมามีกำลังมากกว่า แต่ถ้าเราพยายามต่อสู้ด้วยการควบคุมบังคับใจด้วยสมาธิ หรือสอนใจด้วยปัญญา ก็จะสามารถยับยั้งความคิดที่จะคิดไปในทางสมุทัยได้ ถ้ายังไม่รู้จักการพิจารณาทางปัญญาก็อาศัยอุบายของสมาธิไปก่อน ด้วยการบริกรรมพุทโธๆหรือสวดมนต์ไป สวดบทพุทธคุณธรรมคุณสังฆคุณ อย่าไปคิดถึงความกลัว อย่าไปปรุงแต่งเรื่องของความกลัว ให้คิดปรุงแต่งอยู่กับบทพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ อิติปิโสฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโนฯ ฝากเป็นฝากตายไว้กับการสวด ความกลัวก็จะหายไป
เวลาใจสงบตัวลง ความคิดปรุงแต่งก็จะหยุดชั่วคราว ตอนนั้นก็จะปรากฏให้เห็นว่า ความกลัวไม่ได้อยู่ภายนอก แต่อยู่ในใจของเรานี่เอง อยู่ที่ความคิดปรุงแต่ง ได้ยินเสียงอะไรก็ปรุงแต่งว่าเป็นผี เป็นอะไรต่างๆนานา แทนที่จะไปคิดอย่างนั้น เราต้องสวดมนต์ไปหรือบริกรรมพุทโธๆไป อย่าปล่อยให้ใจมีโอกาสไปคิดถึงสิ่งที่เรากลัว พอจิตสงบแล้ว ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เรากลัวนั้นไม่ได้มาทำอะไรเราเลย เขาไม่รู้เรื่องอะไรของเราเลย เราต่างหากที่ไปกลัวเขาเอง นี่เป็นอุบายของสมาธิ คือบริกรรมพุทโธ หรือสวดมนต์บทใดบทหนึ่งที่เราถนัด ฝากเป็นฝากตายไว้กับการสวดเลย เหมือนคนที่ใกล้ตาย ไม่รู้จะยึดกับอะไรก็ยึดการสวดมนต์ ถ้าสวดได้อย่างต่อเนื่องจนจิตรวมลงเข้าสู่สมาธิได้ เวลาตายไปก็จะไปสู่สุคติ ถ้าฝึกมามากหรือฝึกจนชำนาญแล้ว เวลาเข้าสู่วาระคับขันจะมีที่พึ่ง ด้วยการสวดมนต์นี่แหละ สวดไปจนจิตใจสงบนิ่ง ก็จะไม่รู้เรื่องของร่างกาย จะหยุดหายใจไปก็ไม่เป็นปัญหา จิตตอนนั้นเป็นสุคติแล้ว เป็นฌานเป็นสมาธิ เป็นพรหมไปแล้ว
นี่คือความสำคัญของการเจริญสติ ทำจิตใจให้สงบ ถ้าทำถึงขั้นนี้ได้ ตายไปก็จะได้ไปชั้นพรหม อย่างที่พระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ที่มีความชำนาญในการเข้าออกในฌานขั้นต่างๆ เวลาที่ท่านจะตายท่านก็ใช้การเจริญสมาธินี้ ทำจิตให้เข้าสู่ฌานเข้าสู่ความสงบ แล้วจิตก็จะแยกออกจากร่างกายไป จิตก็ไปตามสถานภาพของจิต ถ้าเป็นฌานก็จะเป็นพรหมโลก รูปฌานก็เป็นรูปภพ อรูปฌานก็เป็นอรูปภพ ถ้าไม่สงบในระดับฌาน แต่ก็ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย ยังรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสอยู่ แต่ไม่ทุกข์ทรมานใจ ก็จะเป็นชั้นเทพ ไปเสวยรูปเสียงกลิ่นรสของเทพ ถ้าว้าวุ่นขุ่นมัวหวาดกลัวจนเป็นบ้าก็จะต้องไปอบาย ไปนรก เป็นเปรต เป็นเดรัจฉาน เป็นอสุรกาย อยู่ที่การควบคุมความคิดปรุงแต่งนี่เอง จึงต้องพยายามฝึกสติอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ขั้นที่ ๑ คือสมาธิ ถ้าได้ปัญญาก็จะได้ดวงตาเห็นธรรม จะสามารถดับหรือควบคุมความคิดปรุงแต่งให้อยู่ในทางมรรค ไม่ให้ไปทางสมุทัยได้ จะดับความทุกข์ได้อย่างถาวร ตามลำดับขั้นของปัญญา ขั้นโสดาบันก็จะดับความทุกข์หรือควบคุมความคิดได้ในระดับหนึ่ง ขั้นสกิทาคามีขั้นอนาคามีก็ควบคุมความคิดได้ในอีกระดับหนึ่ง ขั้นพระอรหันต์ก็จะควบคุมความคิดได้ทั้งหมด
ขั้นพระโสดาบันก็จะควบคุมความคิด ในเรื่องความแก่ความเจ็บความตายได้ ยอมรับความแก่ความเจ็บความตายได้ ขั้นพระสกิทาคามีก็จะสามารถควบคุมความคิดในทางกามารมณ์ได้บางส่วน จะควบคุมกามารมณ์ให้เบาบางลงไป เวลาที่เกิดกามารมณ์ขึ้นมา ก็จะนึกถึงความไม่สวยไม่งาม ความสกปรกของร่างกาย พิจารณาอสุภะในรูปแบบต่างๆ จะพิจารณาว่าเป็นซากศพก็ได้ จะพิจารณาว่ามีอาการต่างๆซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนังก็ได้ มีโครงกระดูกมีอวัยวะน้อยใหญ่ มีปอดมีไตมีตับมีลำไส้ หรือจะพิจารณาสิ่งที่เป็นปฏิกูล ที่ถูกขับออกมาจากร่างกาย ที่ส่งกลิ่นเหม็นก็ได้ เช่นอุจจาระปัสสาวะน้ำเหงื่อเป็นต้น เป็นสิ่งที่สกปรกที่ออกมาจากร่างกาย ที่กิเลสไปปรุงแต่งว่าสวยว่างาม ทำให้เกิดความใคร่ความยินดี ถ้าเป็นพระสกิทาคามีนี้ท่านว่าทำได้พอประมาณ คือลดความรุนแรงของกามราคะ ทำให้เบาบางลงไป แต่ยังไม่สามารถกำจัดได้หมด ต้องขั้นพระอนาคามี ที่จะหยุดกามราคะได้ทันที ทุกครั้งที่โผล่ขึ้นมา จะมีอาวุธมีเครื่องมือที่จะหยุดยั้งกามราคะได้ทันทีเลย นี่คือขั้นของพระอนาคามี สามารถควบคุมความคิดในทางกามารมณ์ได้หมด ส่วนพระอรหันต์นี่จะสามารถควบคุมความคิดทุกรูปแบบได้ ควบคุมความคิดเรื่องอัตตาตัวตน เรื่องความยึดติดกับความสุขที่ละเอียดที่มีอยู่ในจิต ให้จิตปล่อยวาง ไม่ให้ยึดติด ไม่ให้อาศัยเป็นเครื่องมือให้ความสุขกับใจ เพราะมีความสุขที่ดีกว่ารออยู่ ถ้าปล่อยความสุขที่มีอยู่ภายในจิตที่ไม่เที่ยง ที่มีเกิดมีดับ มีการเปลี่ยนแปลงได้ ใจก็จะสะอาดบริสุทธิ์ เหลือแต่ความสงบสุขไปตลอด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่มีวันหมดสิ้น เพราะเป็นความสุขตามธรรมชาติของใจ ที่มีอยู่คู่กับใจมาตลอด แต่ถูกอวิชชาหลอกให้ใจไปคิดปรุงแต่ง สร้างความทุกข์ขึ้นมากลบ จนทำให้ไม่เห็นความสุขชนิดนี้ ที่มีอยู่ภายในใจตลอดเวลา
ถ้าเจริญสติสมาธิปัญญาตามลำดับ ความคิดต่างๆก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมบังคับ จะอยู่ในความสงบ จะคิดเมื่อมีความจำเป็น จะคิดไปในทางมรรคเสมอ คิดด้วยเหตุด้วยผล คิดตามหลักของความจริง จะไม่ฝืนความจริง จะไม่ทุกข์ เพราะสมุทัยไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมีมรรคคอยควบคุมความคิดอยู่ตลอดเวลา และทำลายความคิดที่จะไปทางสมุทัยได้หมด นิโรธคือการดับทุกข์จึงดับอย่างถาวร ดับอยู่ตลอดเวลา ไม่มีวันที่จะเกิดขึ้นมาได้อีกต่อไป นี่คือการดับทุกข์ด้วยปัญญา จะดับได้อย่างถาวร แต่ถ้าดับด้วยสมาธิจะดับได้ชั่วคราว ในขณะที่จิตหยุดคิดปรุงแต่งแล้วรวมเข้าสู่ความสงบ แต่ความดับทุกข์ด้วยปัญญานี้ไม่ต้องเข้าสมาธิ จะสามารถควบคุมบังคับไม่ให้ไปคิดในทางสมุทัย เห็นอะไรก็ไม่อยากได้ ได้ยินอะไรก็ไม่อยากได้ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ได้ยิน ไม่ดีใจเสียใจ ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ ที่ใจสัมผัสรับรู้ ใจปล่อยวางทุกอย่าง ให้เป็นไปตามความจริง นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน เริ่มต้นจากการทำบุญให้ทาน แล้วก็รักษาศีล จากนั้นก็ภาวนา
การให้ทานรักษาศีลเป็นฐานรองรับหรือสนับสนุนการภาวนา ส่วนการภาวนาต้องมีสติเป็นตัวผลักดันให้เกิดสมาธิ ให้เกิดปัญญา ให้เกิดวิมุตติหลุดพ้น ให้เกิดมรรคผลนิพพาน เริ่มต้นที่สติ จึงควรให้ความสำคัญต่อสติ ควรจะเจริญสติทุกเวลานาที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราสามารถเจริญสติได้เสมอ ไม่ต้องรอไปวัด เพราะสติอยู่ที่ใจอยู่ที่ร่างกายนี่เอง ให้ใจรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ว่าร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ก็ให้รู้ อย่าไปคิดเรื่องอื่น ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องคิด ก็ให้หยุดการกระทำของร่างกายไว้ก่อน แล้วก็คิดให้พอ จะยืนคิดก็ได้ จะนั่งคิดก็ได้ จะคิดวางแผนก็คิดไป เมื่อคิดเรียบร้อยแล้ว ก็หยุดคิด แล้วก็กลับมาดูที่ร่างกายต่อ อย่างนี้ก็จะมีสติระลึกรู้อยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา พอมีสติแล้วก็จะทำให้ใจสงบนิ่งได้ ควบคุมใจให้คิดอยู่เพียงเรื่องเดียว เช่นพุทโธๆ หรือดูลมหายใจเข้าออก หรือจะดูอาการต่างๆของร่างกายก็ได้ เช่นดูโครงกระดูกก็ได้ หรือจะดูทั้ง ๓๒ อาการก็ได้ ท่องเที่ยวอยู่ในกายนคร พอรู้สึกเหนื่อยแล้วค่อยหยุด จะทำให้จิตหายฟุ้งซ่าน ถ้ายังไม่รวมลง ก็ดูลมหายใจต่อไป หรือดูอาการใดอาการหนึ่ง ดูไปเรื่อยๆจนกว่าจะรวมลงเข้าสู่สมาธิไป
นี่คือหน้าที่ของพวกเราที่ไม่มีใครทำแทนได้ บุญนี้ทำแทนกันไม่ได้ ทำได้ก็เพียงให้เศษบุญเท่านั้น เช่นกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไป เป็นเศษบุญ เป็นเหมือนค่ารถค่าเรือ หรืออาหารมื้อหนึ่งเท่านั้นเอง บุญอุทิศไม่เป็นบุญที่สำคัญเลย แต่เรากลับให้ความสำคัญกับบุญอุทิศกันมาก บุญที่สำคัญก็คือบุญที่เราทำกันในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้ร้อยทั้งร้อย จึงควรสร้างบุญสร้างกุศลกัน ด้วยการให้ทานรักษาศีลภาวนาอย่างต่อเนื่อง ให้ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญ ส่วนกิจกรรมอื่น เช่นการทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องนี้ ให้ถือเป็นกิจกรรมสนับสนุน ไม่ใช่เป็นกิจกรรมหลัก ส่วนกิจกรรมหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ ให้ถือเป็นยาพิษ ไม่ใช่ยาวิเศษ เป็นเหมือนยาเสพติด มีแต่จะฉุดลากให้เราลงต่ำ เสียเวลา แทนที่จะเอาเวลาไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ เราควรเอาเวลาไปหาความสุขใจจะดีกว่า แทนที่จะไปเที่ยวก็ไปอยู่วัดภาวนากัน ถ้าไปไม่ได้ก็อยู่บ้านภาวนาก็ได้ จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าไปทางกิเลสตัณหาก็จะเป็นการไปเอายาพิษ มาสร้างความทุกข์ทรมานให้แก่ใจ
จึงควรเข้าใจว่า การหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ ไม่ได้เป็นการหาความสุข แต่เป็นการหาความทุกข์ เป็นการฉุดลากตัวเราให้เข้าสู่กองทุกข์ ให้ลึกเข้าไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถถอนออกมาได้ เหมือนคนที่ติดยาเสพติด ยิ่งเสพก็จะยิ่งติดลึกเข้าไปเรื่อยๆ จนไม่มีกำลังที่จะถอนออกมาได้ เกิดมากี่ภพกี่ชาติก็ต้องหาความสุขแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะหลุดจากความทุกข์แบบนี้ได้ แม้จะได้พบกับพระพุทธศาสนาหรือพบพระพุทธเจ้า ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะไม่มีกำลังความพากเพียร หรือไม่มีศรัทธา ไม่เห็นว่าการไปปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า เป็นการปฏิบัติเพื่อความสุขที่แท้จริง จึงควรปฏิบัติกันไปตามกำลัง รักษาศีลได้มากน้อยก็รักษากันไป ภาวนาได้มากน้อยก็ภาวนากันไป เจริญสติได้มากน้อยก็เจริญกันไป แล้วก็ทำเพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ ให้ประเมินวัดผลดูว่า เริ่มปฏิบัติมากี่ปีแล้ว ก้าวไปถึงไหนแล้ว เพื่อจะได้กระตุ้นการปฏิบัติ แล้วความเจริญก้าวหน้าในธรรม จะเป็นผลที่ตามมาอย่างแน่นอน
ถาม ขอฟังเรื่องความสงบกับความนิ่งอีกสักรอบได้ไหมคะ
ตอบ เวลาจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิ ตอนนั้นไม่มีอารมณ์โลภโกรธหลง สงบแล้วก็นิ่งด้วย แต่พอออกจากความสงบแล้วเริ่มคิดปรุงแต่ง จิตจะนิ่งต่อถ้ายังไม่มีอารมณ์โลภโกรธหลง ยังไม่มีปฏิกิริยากับรูปเสียงกลิ่นรสที่สัมผัสรับรู้ ถ้าไม่คิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัยก็จะนิ่ง แต่ถ้าคิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัยก็จะไม่นิ่ง จะยินดียินร้าย นี่คือความหมายที่ว่า เวลาออกจากสมาธิแล้วจิตยังนิ่งอยู่ แต่ไม่สงบแล้ว ได้ออกจากความสงบแล้ว จิตที่ออกจากสมาธิจะต่างกับจิตที่ไม่เคยเข้าสมาธิเลย จิตที่ออกจากสมาธินี้จะนิ่ง ไม่มีปฏิกิริยากับรูปเสียงกลิ่นรส จะไม่วูบวาบเหมือนจิตที่ไม่มีสมาธิ ไม่หนักแน่น เวลาสัมผัสกับตาหูจมูกลิ้นกายจะวูบวาบ เกิดอารมณ์ขึ้นมาทันที แต่จิตที่มีสมาธินี้จะนิ่งมากกว่า ได้ยินได้เห็นอะไรจะไม่วูบวาบขึ้นมา ถ้าวูบวาบก็จะไม่มากเหมือนจิตที่ไม่มีสมาธิ ถ้าต้องการรักษาความนิ่งก็ต้องใช้ปัญญา ถ้ามีปฏิกิริยาโลภโกรธหลง ก็ต้องใช้ปัญญาเข้ามาสกัด ไม่ให้ไปมีอะไรกับเขา เขาเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เขาเป็นอย่างนี้ เราไปบังคับไปควบคุมเขาไม่ได้ อย่าไปดีใจเสียใจกับเขา เขาจะเป็นอะไรก็เรื่องของเขา หน้าที่ของเราคือรักษาใจของเราให้นิ่งอยู่เรื่อยๆ
ถาม เกี่ยวกับสติไหม ถ้านั่งสมาธิออกมามันเหมือนมีสติ พอขยับทำอะไรก็จะตามรู้ทันที
ตอบ สติจะคอยดึงจิตไว้ไม่ให้ออกจากความนิ่ง เวลาสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส สติจะดึงจิตไว้ ไม่ให้วูบวาบไปกับรูปเสียงกลิ่นรส ถ้ามีปัญญากำกับด้วยจะนิ่งมากขึ้น จะไม่วูบวาบกับเหตุการณ์ต่างๆ จะสักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในสมาธิ ตามปกติจะต้องเข้าสมาธิถึงจะได้อุเบกขา ถ้าไม่เคยมีสมาธิจะไม่มีอุเบกขาเลย จะมีอุเบกขาได้ก็ตอนที่เข้าไปในสมาธิ แต่พอจากสมาธิแล้ว อุเบกขาก็จะค่อยๆจางไป เหมือนเอาน้ำที่แช่ไว้ในตู้เย็นออกมาใหม่ๆ มันจะเย็น พอทิ้งไว้สักพักหนึ่งก็จะหายเย็น พอออกจากสมาธิไปได้สักระยะหนึ่ง ไปทำโน่นทำนี่คิดโน่นคิดนี่ อุเบกขาก็จะจางหายไป ถ้าจะรักษาจิตให้อยู่ในอุเบกขาก็ต้องใช้สติปัญญา ถ้ามีสติอย่างเดียวก็จะทำให้นิ่งได้ชั่วคราว ถ้ามีปัญญาก็จะสามารถรักษาความเป็นอุเบกขาไว้ได้อย่างถาวร
ควรทำใจให้นิ่งกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่มีปฏิกิริยากับรูปเสียงกลิ่นรส กับเหตุการณ์ที่ใจสัมผัสรับรู้ ถึงแม้จะตายในขณะนั้น ถ้าจิตนิ่งเฉยก็แสดงว่าสอบผ่าน มีสติปัญญาที่สามารถควบคุมความคิดปรุงแต่ง ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัย ถ้าไม่นิ่งเฉยยังวูบวาบแสดงว่า อวิชชา ปัจจยา สังขารา กำลังทำให้เกิดความทุกข์ความว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา ถ้านิ่งเฉย สักแต่ว่ารู้ แสดงว่ามีธรรมะมีปัญญาคอยสกัดอวิชชา ไม่ให้สังขารปรุงแต่งไปในทางสมุทัย ที่ทำให้เกิดอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา อยู่ที่การฝึกสติฝึกสมาธิฝึกปัญญา ต้องมีทั้ง ๓ ส่วนนี้ถึงจะควบคุมอวิชชาได้ ถ้ามีแต่สติกับสมาธิก็จะควบคุมอวิชชาได้เป็นครั้งเป็นคราว เวลาที่จิตรวมเข้าสู่ความสงบนิ่ง พอออกจากความสงบแล้ว เริ่มมีความคิดปรุงแต่ง อวิชชาก็จะเข้ามาสั่งความคิดปรุงแต่ง ถ้าไม่มีปัญญาคอยสกัดไว้ ก็จะเกิดรักชังขึ้นมา เป็นเรื่องของอวิชชาไปแล้ว แล้วก็เกิดภวตัณหาวิภวตัณหาขึ้นมา อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ขึ้นมา
ถ้ามีปัญญาก็เฉยๆ จะให้ตำแหน่งอะไรๆก็ได้ เลื่อนขึ้นก็ได้ เลื่อนลงก็ได้ ได้ทั้ง ๒ อย่าง แสดงว่าไม่มีอวิชชามาเกี่ยวข้อง ถ้าต้องขึ้นอย่างเดียวลงไม่ได้ แสดงว่าอวิชชาได้สั่งการแล้ว ให้ยินดียินร้าย เราต้องพร้อมรับกับทุกสภาพ ไม่ว่าขึ้นหรือลง ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ไม่ว่าได้หรือเสีย สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา แสดงว่ามีธรรมะมีปัญญาควบคุมอวิชชา ถ้ามีอวิชชาก็จะคิดแต่อัตตาตัวตน ตัวเราของเรา ต้องดีเสมอ ต้องขึ้นเสมอ ต้องใหญ่เสมอ ถ้าลดลงมาแล้วก็จะไม่พอใจ เกิดความทุกข์ใจเสียใจขึ้นมา ต้องฝึกสติฝึกสมาธิ พอมีสติมีสมาธิแล้ว เวลาใช้ปัญญาสอน ใจก็จะทำตามคำสอน เพราะมีกำลังที่จะหยุดความคิดปรุงแต่งที่จะไปทางสมุทัย ถ้าไม่มีสติไม่มีสมาธิ ถึงแม้จะรู้ว่ากำลังคิดไปในทางสมุทัยก็หยุดไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังหยุด สมาธินี้แหละเป็นเบรก พอจิตสงบเป็นสมาธิปั๊บ ก็คิดปรุงแต่งไม่ได้ ถ้ามีสมาธิแล้ว เวลาจิตคิดไปในทางสมุทัย พอปัญญาบอกว่าเป็นสมุทัย ก็จะหยุดได้ ถ้าไม่มีปัญญาบอกก็จะไม่รู้
ถาม ตัวนิ่งก็คือสภาวะของจิต ที่ต่อเนื่องมาจากความสงบ ที่สามารถนิ่งต่อสิ่งที่มากระทบ ใช่ไหมคะ
ตอบ ถ้าไม่มีปัญญาก็จะไม่นิ่งเวลาออกจากสมาธิแล้ว อวิชชาก็จะผลักให้ปรุงแต่งไปทางยินดียินร้าย ก็จะไม่นิ่ง จะแกว่งไปแกว่งมา ถ้ามีปัญญาก็จะอยู่ตรงกลาง ไม่แกว่งไปแกว่งมา จะนิ่งเฉย ไม่เห็นว่าดีหรือชั่ว ทุกอย่างเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ร่างกายของพวกเราทุกคนก็มาจากดินน้ำลมไฟ แล้วก็จะต้องกลับไปสู่ดินน้ำลมไฟ สิ่งที่เราว่าดีหรือไม่ดี เป็นภาพลวง ถ้าสวยก็สวยเดี๋ยวเดียว ต่อไปก็ต้องเป็นซากศพ จากซากศพก็เป็นดินน้ำลมไฟไป ต้องเห็นทุกสภาพของร่างกาย เห็นตอนที่สวย เห็นตอนที่ไม่สวย เห็นตอนที่เป็นดินน้ำลมไฟ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะไม่รักไม่ชังไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ เวลาเราเห็นดินน้ำลมไฟ จะรู้สึกเฉยๆ เช่นเห็นฝนตกแดดออก เห็นดินเห็นน้ำก็ไม่ดีใจเสียใจรักชัง พอมาเป็นอาการ ๓๒ มีรูปร่างหน้าตา ก็เกิดอาการรักชังขึ้นมา จึงต้องมองให้เห็นความจริงของร่างกาย ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ จะได้ไม่ยินดียินร้าย
แต่เราไม่มองกัน เรามักจะมองแต่รูปร่างหน้าตา ถ้าเจริญหูเจริญตาก็ชอบมีความสุข ถ้าไม่เจริญหูเจริญตาก็จะเศร้าจะทุกข์ เป็นร่างกายเดียวกัน มีทั้งสวยมีทั้งไม่สวย ในที่สุดก็จะหายไปหมด ทั้งสวยทั้งไม่สวย กลายเป็นขี้เถ้าไปหมด เวลาตายไปแล้ว ร่างกายก็จะถูกเผาเหลือแต่ขี้เถ้ากับเศษกระดูก ตอนนั้นดูแล้วก็ไม่ว่าสวยหรือไม่สวย ได้แต่ปลงสังเวช แต่เวลาร่างกายยังไม่ตาย เราก็หลงสุขหลงทุกข์ไปกับเขา เพราะไม่มองภาพรวม ไม่มองให้ครบทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ในท้องแม่ แล้วก็คลอดออกมา เจริญเติบโต แล้วก็แก่ ตาย ถูกเผากลายเป็นขี้เถ้าไป เราไม่มองให้ครบกระบวนการ ก็เลยถูกภาพลวงหลอก ภาพที่พวกเราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้เป็นภาพลวง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ลองถ่ายรูปร่างกายนี้ดู แล้วอีก ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี มาดูว่าเป็นอย่างไร ใครจะอยู่ใครจะไปบ้าง นี่คือปัญญา
ถ้าเป็นปัญญาต้องพิจารณาให้ครบถ้วนทั้งระบบเลย ตั้งแต่ต้นจนจบ จะได้เห็นภาพจริง ว่าเป็นอะไรกันแน่ อะไรจริง อะไรไม่จริง สิ่งที่จริงก็คือดินน้ำลมไฟ อย่างอื่นไม่จริง อย่างอื่นเป็นชั่วคราว เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็จะสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น จะเป็นอุเบกขา เห็นอะไรสวยก็เหมือนเห็นดอกไม้ ดอกไม้บานสัก ๒ วันก็เหี่ยวแล้ว ดอกไม้ที่บูชาพระนี้ ไม่กี่วันก็เหี่ยว ในพระไตรปิฎกมีพระบางรูปบรรลุด้วยการพิจารณาดอกไม้ มีพระรูปหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงให้ไปพิจารณาศพของโสเภณีที่มีชื่อเสียง พอไปดูแล้วก็บรรลุ ถ้าเห็นของจริงก็จะสะเทือนใจ ถ้าเห็นศพของคนสวย ก็จะเห็นว่าไม่ได้สวยไปตลอด ต้องพิจารณาอย่างนี้ถึงจะเห็นความจริง ไม่เช่นนั้นจะเห็นภาพลวง ก็จะหลง เวลาสวยก็รัก เวลาไม่สวยก็อยากจะหย่า ถ้าหน้าตาถูกไฟคลอก เคยรักกันขนาดไหนก็จะไม่อยากอยู่ด้วยกันแล้ว ทั้งที่เป็นร่างกายอันเดิม ร่างกายของคนเดียวกัน แต่ภาพได้เปลี่ยนไปแล้ว นี่คือความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ เช่นร่างกายเป็นต้น ถ้าหลงก็จะมีความรักความชังเกิดขึ้นมา
ต้องพิจารณาว่าเป็นอะไรกันแน่ สวยได้นานแค่ไหน สวยไปตลอดหรือไม่ ดีไปตลอดหรือไม่ หรือว่าเปลี่ยนไปตามกาลตามเวลา จะกลายเป็นอะไรต่อไป ถ้าไม่กลายเป็นดินน้ำลมไฟ ร่างกายนี้เป็นดินน้ำลมไฟในรูปของอาการ ๓๒ ถ้าเอาร่างกายเข้าเครื่องบีบนี้ ก็จะมีน้ำไหลออกมา เพราะร่างกายจะประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ มีลมที่หายใจเข้าออก มีไฟคือความร้อนที่อยู่ในร่างกาย มีดินคือส่วนที่แข็งเช่นกระดูก มีอยู่เท่านี้แหละ ถ้าดูไปเรื่อยๆก็จะไม่หลง ไม่รักไม่ชัง ดีชั่วก็เป็นกรรมของเขา ถ้าสวยก็รู้ว่าสวยชั่วคราว ไม่สวยไปตลอด เดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนจากสวยเป็นไม่สวย เวลาอายุ ๗๐ หรือ ๘๐ ขึ้นไปแล้ว ดูอย่างไรก็ไม่สวย ต้องพิจารณาจะได้รู้ทันแล้วปล่อยวาง ไม่ไปหลงไปมีอารมณ์กับเขา เวลาไม่มีอารมณ์จะมีความสุขมากกว่า เวลามีอารมณ์จะทุกข์ทรมานใจ เหมือนคนอยากเสพยาหรืออยากเหล้าอยากบุหรี่ เวลาไม่ได้สูบไม่ได้ดื่มจะทรมานใจมาก พอได้สูบได้ดื่มก็จะสงบตัวลงไปชั่วคราว เหมือนกับได้ความสุข ความจริงเป็นการดับความทุกข์ทรมานใจมากกว่า แต่เป็นการดับทุกข์ที่สร้างความทุกข์กองใหม่ขึ้นมา เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ความอยากจะดื่มอยากจะสูบก็จะเกิดขึ้นมาอีก ก็จะเกิดความทุกข์ทรมานใจขึ้นมาอีก จะเป็นอย่างนี้ไปไม่มีวันสิ้นสุด
วิธีดับความทุกข์อย่างแท้จริง ต้องดับความอยาก ฝืนความอยาก อย่าไปทำตามความอยาก ต่อไปความอยากก็จะไม่มีกำลัง เพราะอยากแล้วไม่ได้ก็จะไม่อยาก ถ้าอยากแล้วได้ ก็จะอยากเพิ่มขึ้น ได้คืบก็อยากจะได้ศอก ได้ศอกก็อยากจะได้วา จะอยากเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้วันนี้ พรุ่งนี้ก็จะอยากน้อยลง พอพรุ่งนี้ไม่ได้อีก ก็จะอยากน้อยลงไปอีก ในที่สุดก็จะหายอยาก ถ้าต้องการดับทุกข์ใจต้องฝืนความอยาก ด้วยสติสมาธิปัญญา ถึงจะสามารถสู้กับความอยากได้ ถ้าจะใช้เหตุผลอย่างเดียวจะไม่มีกำลังพอ ถึงแม้จะรู้ว่าทำตามความอยากแล้ว ความอยากจะไม่หายอย่างถาวร แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องมือที่จะต่อสู้กับมัน ถ้ามีสติก็จะทำจิตให้สงบได้ ความอยากที่สร้างความทุกข์ทรมานใจ ก็จะสงบตัวลงไปชั่วคราว ถ้ามีสมาธิมีปัญญา ก็จะสามารถตัดได้อย่างถาวร ถ้ามีปัญญาแต่ไม่มีสมาธิจะตัดไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังที่จะหยุดความอยากนั่นเอง
รู้ว่าความอยากไม่ดี รู้ว่าทำไปแล้วไม่ดี ทำแล้วความอยากไม่หมด แต่ก็ไม่สามารถหยุดความอยากได้ ถ้ามีสมาธิแล้วจะหยุดได้ เพราะเคยหยุดมาแล้ว พอปัญญาบอกให้หยุดก็จะหยุดได้ทันที เหมือนกับรถที่มีเบรก พอรู้ว่าถึงสี่แยกต้องหยุดก็หยุดได้ ถ้าไม่มีเบรกพอถึงสี่แยกรู้ว่าต้องหยุด แต่หยุดไม่ได้ เพราะไม่มีเบรก สมาธิต้องมีปัญญาคอยบอก ว่าควรจะเบรกตอนไหน ไม่เบรกตอนไหน ปัญญาจะรู้ว่าอันนี้เป็นปัญหา อันนี้ไม่เป็นปัญหา สติสมาธิปัญญานี้มีความสัมพันธ์กัน ถ้าปฏิบัติไปก็จะเข้าใจเอง ปฏิบัติไปก็จะเห็นการทำงานของจิต เห็นผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานของสติสมาธิปัญญา อย่าฟังอย่างเดียว ฟังแล้วต้องเอาไปปฏิบัติด้วย
ถาม เห็นกายใน เห็นกายนอก เห็นทั้งกายในและกายนอก เป็นอย่างไรครับ
ตอบ เห็นกายของเราและเห็นกายของผู้อื่น ถ้าเห็นกายของเราอย่างเดียวก็จะมีอคติ ว่าร่างกายเราไม่สวยไม่งาม แต่ไม่เห็นความไม่สวยไม่งามของร่างกายคนอื่น เวลามองคนอื่นก็ยังจะเห็นว่าสวยงาม ถ้ามองแต่คนอื่นว่าไม่สวยงาม แล้วไม่มองของเรา ก็จะคิดว่าของเราสวยงาม ของคนอื่นไม่สวยงาม จะไม่เสมอภาค ต้องดูทั้งของเราและของผู้อื่น จะได้เห็นว่าเหมือนกัน
ในสติปัฏฐาน ๔ ท่านให้พิจารณากายในกาย คือพิจารณาอาการ ๓๒ ที่มีอยู่ในร่างกาย พิจารณาร่างกายตอนที่เป็นซากศพ พิจารณาร่างกายของเราแล้ว ก็พิจารณาร่างกายของคนอื่น ก็เป็นกายในกับกายนอก เพื่อจะได้เห็นว่าเหมือนกัน นอกจากกายในกายแล้ว ก็มีเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ถ้าดูเวทนาก็ดูว่ามีสุข มีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ให้ดูอย่างนี้ ดูว่ามีการเปลี่ยนแปลง จากสุขก็มาเป็นทุกข์ จากทุกข์ก็มาเป็นไม่สุขไม่ทุกข์ กลับไปกลับมา เป็นอนัตตา บังคับควบคุมไม่ได้ เป็นไปตามเรื่องของเขา นี่คือการพิจารณา เวทนาในเวทนา พิจารณาเพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ในเวทนา พิจารณากายก็ให้เห็นไตรลักษณ์ในกาย ให้เห็นอสุภะ ให้เห็นปฏิกูลในกาย เพื่อตัดความคิดปรุงแต่งในทางสมุทัย นี่คือการเจริญสติแล้วก็พิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา
พิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ในกาย ให้เห็นไตรลักษณ์ในเวทนา ให้เห็นไตรลักษณ์ในจิต ให้เห็นธรรมคืออริยสัจ ๔ ที่มีอยู่ในจิต ที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ทุกข์หรือไม่ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์ก็แสดงว่าไม่มีสมุทัย ไม่มีความอยาก ถ้ามีความทุกข์ก็แสดงว่ามีสมุทัยมีความอยาก เช่นนั่งตรงนี้แล้วอยากจะลุก ก็จะมีอาการกระสับกระส่ายกระวนกระวาย นี่คืออริยสัจกำลังแสดงตัวให้เราเห็นแล้ว แต่เราไม่เห็นกัน เรากลับไปอยากจะลุกอย่างเดียว อยากจะให้พระให้พรเร็วๆจะได้ลุกไป ไม่เห็นอริยสัจที่กำลังแสดงอยู่ในใจ ถ้าเห็นก็จะระงับสมุทัยได้ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา ต้องรอให้ถึงเวลาก่อน ตอนนี้เรามาดับความที่อยากจะลุก เพราะยังไม่ถึงเวลาลุก ก็จะดับสมุทัยได้ นี่คืออริยสัจที่แสดงอยู่ ถ้ามีสติรู้อริยสัจ ก็แสดงว่ากำลังเจริญปัญญา เป็นปัญญาที่แท้จริง ต้องเกิดในสนามสอบ เวลาจิตเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว ก็ให้ถามว่ากำลังอยากอะไร อยากจะได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ใช่ไหม ใจถึงว้าวุ่นขุ่นมัว ถ้าไม่อยากจะไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว พอตัดความอยากไป ความว้าวุ่นขุ่นมัวนั้นก็จะหายไป นี่ก็คือการเจริญสติในธรรม
จิตก็มีการเปลี่ยนแปลง บางเวลาก็ผ่องใส บางเวลาก็เศร้าโศกหงอยเหงา บางเวลาก็โลภ บางเวลาก็โกรธ ให้รู้ตามความจริง ให้สักแต่ว่ารู้ รู้ว่าไม่เที่ยง เดี๋ยวก็ผ่านไป ไม่ต้องไปทำอะไร เช่นวันนี้หงุดหงิด ไม่ต้องไปแก้ด้วยการไปซื้อสุรามาดื่ม ไปหาอะไรมาฟังมารับประทาน มีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป อารมณ์เศร้าหมองไม่สบายใจ เดี๋ยวก็หายไปเอง ถ้าไม่ไปยุ่งกับมัน ถ้าไปยุ่งกับมัน ก็จะไปแก้ในทางที่ผิดในทางสมุทัย เช่นไปช้อปปิ้งจะได้สบายใจ ก็จะสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ เพราะต้องใช้เงิน เวลาเงินไม่พอใช้ก็จะเดือดร้อนวุ่นวายใจขึ้นมาอีก ให้มีสติรู้ว่าเป็นไตรลักษณ์แล้วปล่อยวาง ตอนนี้อารมณ์ไม่ดีก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ผ่านไป ตอนนี้อารมณ์ดีก็รู้ว่าต้องผ่านไปเช่นกัน เดี๋ยวอารมณ์ไม่ดีก็จะกลับมาแทนที่ ถ้าปล่อยวางแล้ว อารมณ์เหล่านี้ก็จะหายไป เพราะเกิดจากความอยากที่เราปรุงแต่งขึ้นมา ให้เกิดอารมณ์ต่างๆเหล่านี้ เวลาอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะหงุดหงิด ถ้าไม่อยากได้อะไรก็จะไม่มีอารมณ์ต่างๆ ควรฝึกใจให้สักแต่ว่ารู้ รู้ทันกายเวทนาจิตและธรรมแล้วก็ปล่อยวาง รู้ว่าธรรมว่าฝ่ายไหนกำลังแสดงตัวอยู่ ทุกข์และสมุทัยกำลังแสดงตัวอยู่ หรือนิโรธและมรรคกำลังแสดงตัวอยู่ ให้รู้อย่างนี้ ถ้าสมุทัยแสดงตัวก็ต้องเจริญมรรคให้มาก เอามรรคเข้ามาดับ มรรคกับสมุทัยจะเป็นคู่ต่อสู้กัน ในใจของพวกเรา ส่วนใหญ่สมุทัยจะมีกำลังมากกว่ามรรค เพราะพวกเราไม่ค่อยเจริญมรรค ไม่เจริญทานศีลภาวนากัน มรรคก็เลยมีกำลังน้อย ไม่สามารถต่อต้านสมุทัยได้ จึงมีความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆอยู่ตลอดเวลา นี่คือการดูธรรม ดูธรรมดูอย่างนี้