กัณฑ์ที่ ๔๑๗ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓
บวชจริง
หลักสำคัญของการสืบทอดพระพุทธศาสนานี้ มีอยู่ ๓ ประการคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้ามีธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ จะมีพระพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ เพราะจะมีผู้รู้ ที่จะคอยสอนคอยบอก ให้ผู้ที่ยังไม่รู้ ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติ ได้บรรลุ ได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าศึกษาตามลำพังไม่มีใครสอน ก็อาจจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าไปถึงก็อาจจะใช้เวลานานมาก เช่นพระพุทธเจ้า ไม่มีใครสั่งใครสอน ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสวงหาพระนิพพาน ยังไม่มีพระพุทธศาสนา จึงต้องคลำทางไป ลองผิดลองถูก จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ได้บรรลุพระนิพพาน แต่หลังจากนั้น ผู้ที่ต้องการจะไปพระนิพพาน จะไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว และมีจำนวนมาก ตอนก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ ไม่มีพระอรหันต์แม้แต่รูปเดียวในโลกนี้ แต่หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงประกาศพระธรรมคำสอนให้แก่สัตว์โลก ก็ปรากฏมีผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก อย่างน้อยก็ ๑๒๕๐ รูป ภายในเวลาเพียง ๗ เดือน ทรงเริ่มประกาศพระธรรมคำสอนในวันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา ๗ เดือนต่อมา ในวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา ปรากฏมีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้าจากทั่วทุกสารทิศ โดยไม่ได้นัดหมายกันไว้ก่อน พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปนี้มีพระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์สั่งสอนให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทรงเป็นผู้บรรพชาอุปสมบทให้ ท่านเหล่านี้มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้า จึงอยากจะเข้าเฝ้า นี่แสดงให้เห็นว่าการจะมีศาสนาหรือไม่นั้น อยู่ที่การศึกษา การปฏิบัติ และการบรรลุธรรม เพราะผู้บรรลุธรรมจะสอนได้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีผู้บรรลุธรรมมาสอน ถึงแม้จะมีพระธรรมคำสอนอยู่ แต่ผู้ศึกษาอาจจะหลงผิดได้ จะเห็นผิดเป็นชอบ จะหลงทางได้
การศึกษาด้วยการอ่านหนังสือธรรมะ แล้วปฏิบัติโดยไม่มีอาจารย์สอน จะยากและอาจจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะมักจะถูกกิเลสหลอกให้หลง ให้เข้าข้างตัวเอง เช่นคิดว่าบรรลุแล้ว ทั้งที่ยังติดอยู่กับการเป็นฆราวาส คิดว่าถ้าไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่โลภไม่อยากก็บรรลุแล้ว แต่ไม่ทราบว่าการอยู่ของฆราวาสนั้นยังติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรส ถ้าไปอยู่แบบพระที่อยู่ในป่า ใจจะเป็นปกติเหมือนอยู่บ้านหรือไม่ ยังนิ่งสงบ ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อนหรือไม่ ถ้าไม่ได้พิสูจน์ก็จะไม่รู้ ถ้าอยากจะรู้ก็ต้องพิสูจน์ เช่นพิสูจน์ดูว่าความกลัวหมดไปหรือยัง อาจจะคิดว่าความกลัวหมดไปแล้ว เพราะอยู่ในสภาพที่ไม่มีอะไรมากระตุ้นให้ความกลัวเกิดขึ้นมา ถ้าไปอยู่ในสภาพที่มีภัยรอบด้าน เช่นอยู่ในป่า จิตยังจะสงบนิ่งอยู่หรือไม่ เคยมีฆราวาสมาอยู่บนเขานี้ อยู่ได้ไม่ถึง ๒ ทุ่มก็ขอกลับบ้านเพราะกลัวมาก ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์จิตใจในสภาพต่างๆ ก็อาจจะหลงผิดได้
ในภาวะปกติจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะอยู่ท่ามกลางความอุดมสมบรูณ์ของทุกสิ่งทุกอย่าง ของรูปเสียงกลิ่นรส ของปัจจัย ๔ ก็อาจจะคิดว่าไม่โลภไม่อยากไม่กลัว แต่ถ้าไปอยู่ในภาวะที่อัตคัดแร้นแค้นมีภัยรอบด้าน ใจยังเป็นปกติหรือไม่ นี่คือเรื่องของผู้ที่ศึกษาจากหนังสือจากพระไตรปิฎก แล้วปฏิบัติในเพศฆราวาสผู้ครองเรือน พอได้รักษาศีลบ้าง นั่งสมาธิบ้าง พิจารณาบ้าง ก็คิดว่าไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ภายในใจแล้ว เพราะยังไม่ได้เจอขั้นวิกฤต เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หมอบอกว่ารักษาไม่ได้แล้ว ใจยังจะเป็นปกติหรือไม่ ถ้ารอให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยพิสูจน์ดู ก็อาจจะไม่ทันการณ์ ผู้ที่ไม่ประมาทมักจะพิสูจน์ตั้งแต่ตอนที่ยังมีสุขภาพสมบรูณ์แข็งแรง เช่นบวชเป็นพระป่า ก่อนบวชก็ได้ศึกษามาพอสมควรแล้ว ถ้าบวชจริงจะต้องเคยปฏิบัติมาก่อน ถ้าบวชตามประเพณีมักจะไม่เคยปฏิบัติมาก่อน บวชเพื่อสึก ไม่ได้บวชเพื่อบรรลุธรรม พอบวชวันแรกก็เริ่มนับถอยหลังแล้ว เหลืออีกกี่วันจะออกพรรษา รับกฐินแล้วจะได้ลาสิกขาไป บวชอย่างนี้ไม่ได้บวชเพื่อปริยัติปฏิบัติปฏิเวธ บวชตามประเพณี บวชเพื่อทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ตามความเชื่อ
ถ้าบวชจริงก็จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ตอนที่เป็นฆราวาสก็ได้ศึกษาและปฏิบัติ แต่ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ก็เลยต้องออกบวช จะได้มีเวลาปฏิบัติมากขึ้น จะได้อยู่ในภาวะที่บีบคั้นมากขึ้น ชีวิตของฆราวาสเป็นเหมือนกรงใหญ่ ส่วนชีวิตของพระจะเป็นเหมือนกรงเล็ก จะไม่มีที่วิ่งไปมาเหมือนกับกรงของฆราวาส เป็นฆราวาสยังไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆได้ แต่เป็นพระแล้วจะเที่ยวอย่างฆราวาสไม่ได้ การเที่ยวนี่เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของกามตัณหากามฉันทะ ที่ต้องออกไปเที่ยวเพราะอยากจะไปสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติจะต้องตัดกามฉันทะ ตัดกามตัณหา ไม่หาความสุขจากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ต้องทำให้จิตเข้าข้างในเพื่อสัมผัสกับความสงบของสมาธิ นักบวชจึงไม่ไปอยู่ตามสถานที่ที่ฆราวาสญาติโยมอยู่กัน ต้องอยู่ในสถานที่ที่ฆราวาสญาติโยมไม่ชอบอยู่กัน เพราะเป็นสถานที่ที่กิเลสไม่ชอบอยู่ คือตามป่าตามเขา ตามสถานที่ที่มีภัยต่างๆ เป็นสถานที่ที่จะได้ฆ่ากิเลส เช่นความรักตัวกลัวตาย ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ความอยากมีอยากเป็น อยากเป็นใหญ่เป็นโตมีหน้ามีตา พออยู่ในป่าคนเดียวก็จะมีแต่ใจกับกิเลสต่อสู้กัน ถ้าสามารถนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่ใจ เพื่อทำลายกิเลสได้ ใจก็จะสะอาดขึ้นไปตามลำดับ ความโลภโกรธหลงความอยากต่างๆ ก็จะเบาบางลงไปแล้วหายไปในที่สุด
ตอนนั้นจะรู้อยู่แก่ใจว่าได้หลุดพ้นจริงๆได้บรรลุจริงๆ เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรทำให้หวั่นไหวให้หวาดกลัว ให้อยากได้อะไรอีกแล้ว ใจมีความอิ่มมีความพอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ความสุขที่ไม่พร่อง ไม่เหมือนความสุขทางโลกที่จะพร่องไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ได้เสพไม่นาน ก็จะอยากเสพสัมผัสอีก แสดงว่าความสุขที่ได้จากการเสพสัมผัสที่ผ่านมาได้พร่องไปแล้ว ต้องเติมใหม่ เป็นเหมือนตุ่มน้ำที่มีรอยรั่ว เติมน้ำให้เต็มได้ไม่นาน น้ำก็จะซึมออกมาตามรอยรั่ว ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยถึงจะเต็มตุ่ม จิตที่ไม่ได้กำจัดความโลภความอยากต่างๆ ก็จะเป็นอย่างนั้น ต่อให้ได้เสพได้สัมผัสมากน้อยเพียงไรก็ตาม ความอยากได้ก็จะไม่หมดไป จะหยุดชั่วคราวตอนที่ได้เสพ ตอนนั้นจะรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ สบายอกสบายใจ พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก็จะกลับมากระตุ้นจิตใจอีก จะอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องไปแสวงหาสิ่งต่างๆที่ความอยากต้องการ จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ถ้าได้ศึกษาได้ปฏิบัติจริงๆ จนได้บรรลุธรรมจริงๆแล้ว จะอิ่มจริงๆ เหมือนได้อุดรอยรั่วของตุ่มน้ำ เติมน้ำให้เต็มหนเดียวแล้วจะไม่พร่องอีกแล้ว จะเต็มไปตลอด
รอยรั่วของใจก็คือกามตัณหา ความอยากในกาม ในรูปเสียงกลิ่นรส ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ จะทำให้ใจรู้สึกว่าบกพร่อง ยังขาดสิ่งนั้นยังขาดสิ่งนี้ ได้มามากน้อยก็ไม่เคยพอ เป็นนายร้อยก็อยากจะเป็นนายพัน เป็นนายพันก็อยากจะเป็นนายพล อยากจะได้ขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อยากเป็นส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกฯ อยากจะกลับมาเป็นใหม่อีกเมื่อครบวาระแล้ว ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะความอยากไม่ได้ทำให้เกิดความอิ่มความพอในจิตใจ ความพอจะเกิดจากการปฏิบัติทานศีลภาวนา ที่พวกเรากำลังบำเพ็ญกันอยู่นี้ เป็นการอุดรอยรั่วรอยร้าวของตุ่มน้ำ คือใจของพวกเราให้หายรั่ว พอหายแล้วก็จะไม่หิวไม่อยากได้อะไร พอแล้ว พอดี ใครจะชมก็พอดี ใครจะด่าก็พอดี ใครจะให้อะไรมาก็พอดี ใครจะเอาอะไรไปก็พอดี ความพอที่มีอยู่ในใจนี้ไม่มีใครให้เราได้ ไม่มีใครเอาจากเราไปได้ มีเราเท่านั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ พอทำให้ใจอิ่มแล้วก็จะอิ่มไปตลอด
ถ้าอยากจะได้ผลที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้รับกัน ก็ต้องบำเพ็ญ ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนแล้วก็ปฏิบัติตาม คำสอนโดยสรุปก็คือทานศีลภาวนา ที่พวกเรามาทำกันในวันนี้ เราทำทานกัน นำข้าวของต่างๆมาถวาย ศีลก็สมาทานกันรักษากันไป เราก็รู้อยู่แล้วว่าศีลมีอะไรบ้าง ศีล ๕ ศีล ๘ ก็รักษาไปตามความสามารถ ภาวนาก็ต้องทำกัน ต้องเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา ขั้นต้นก็ให้เจริญสมถะก่อน แล้วค่อยเจริญวิปัสสนา การจะเจริญสมถภาวนาได้ต้องมีสติ ที่จะทำให้จิตเข้าสู่ความสงบได้ เพราะจิตโดยปกติจะลอยไปลอยมาเหมือนกับว่าว ถ้าไม่มีเชือกก็จะลอยไปตามลม จะอยู่นิ่งได้ต้องมีเชือกดึงเอาไว้ จิตจะนิ่งเหมือนว่าวที่ไม่ลอยไปกับลม ก็ต้องมีเชือกคือสตินี่เอง เราจึงต้องมีสติผูกจิตผูกใจไว้ ไม่ให้ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่เหมือนกับลมในท้องฟ้า ที่จะฉุดให้จิตคิดเรื่อยเปื่อย ร่างกายอยู่ตรงนี้แต่ใจไปอยู่รอบโลกก็ได้ เพราะไม่มีสติดึงใจเอาไว้
ถ้าฝึกสติอยู่เรื่อยๆ คอยดึงใจให้อยู่กับร่างกาย ไม่ให้ลอยไปที่อื่น ต่อไปก็จะไม่ลอยไปไหน เวลาจะให้จิตทำอะไรก็จะอยู่กับงานนั้น เช่นเวลาจะทำจิตให้สงบ ด้วยการบริกรรมพุทโธก็ดี หรือด้วยการดูลมหายใจเข้าออกก็ดี ก็จะทำงานนั้นอย่างเดียว จะอยู่กับพุทโธๆ อยู่กับลมหายใจเข้าออก ผู้ปฏิบัติจะใช้วิธีไหนในการเจริญสมถภาวนาก็ได้ มีหลายวิธีด้วยกัน ในตำราท่านแสดงไว้ถึง ๔๐ วิธีด้วยกัน เรียกว่ากรรมฐาน ๔๐ ถ้าตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอานาปานสติ ให้จิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว อย่าไปรู้เรื่องอื่น ถ้าจะใช้การบริกรรมพุทโธ ก็เป็นพุทธานุสติ มีสติอยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ หรือจะใช้ทั้ง ๒ อย่างผสมกันก็ได้ เช่นหายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธก็ได้ หรือจะเอาลมอย่างเดียวก็ได้ เอาพุทโธอย่างเดียวก็ได้ มีหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละท่านว่าจะถนัดกับวิธีใด ก็เลือกเอาวิธีนั้น แล้วก็พยายามใช้วิธีนั้น อย่าเปลี่ยนในขณะที่กำลังทำ ถ้าจะเปลี่ยนก็ค่อยเปลี่ยนในคราวหน้า คราวนี้ถ้าใช้พุทโธอย่างเดียวไม่ได้ผล คราวหน้าก็ลองเอาพุทโธกับลมหายใจดูก็ได้ ในขณะที่กำลังทำอยู่นี้ ให้ทำอยู่กับวิธีที่ได้เลือกเอาไว้ในตอนต้น ทำไปจนกว่าจะหยุดทำ ถ้าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในขณะที่ทำ ก็จะถูกกิเลสหลอก วิธีนี้ก็ไม่ดี วิธีนั้นก็ไม่ดี ก็จะวิพากษ์วิจารณ์วิธีต่างๆ ไม่ได้ภาวนา ได้แต่นั่งปรุงแต่งจนฟุ้งซ่าน ทั้งๆที่คิดว่ากำลังทำสมถภาวนา แต่ความจริงกำลังทำความฟุ้งซ่านภาวนา จึงไม่เกิดผล เพราะไม่มีสติดึงจิตให้อยู่กับงานที่ทำนั่นเอง จิตจะสงบได้จิตจะต้องเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เดียว ถ้าคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้จะมีหลายอารมณ์ เป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งไปแกว่งมา ถ้าต้องการให้จิตนิ่ง ต้องอยู่กับอารมณ์เดียว เช่นลูกตุ้มนาฬิกาก็ให้อยู่ตรงกลาง อย่าให้แกว่ง จิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากจะให้นิ่งสงบก็ต้องอยู่กับอารมณ์เดียว เช่นพุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก อย่าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่คือหลักของการทำสมาธิ
มีอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ เป็นการใช้ความคิดมาหยุดความคิด ถ้าคิดฟุ้งซ่านอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่สามารถหยุดด้วยการบริกรรมพุทโธหรือดูลมหายใจ เพราะมีความผูกพัน เช่นเป็นห่วงเป็นใยเรื่องสุขภาพร่างกาย ถ้าใช้ปัญญาสอนใจว่า ร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย และต้องตายเป็นธรรมดา ถ้าพิจารณาเห็นว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา จะหายหรือไม่หายไม่มีใครรู้ ถ้าหายแล้วจะเป็นอีกหรือไม่ ไม่มีใครรู้เหมือนกัน จึงต้องยอมรับความจริงนี้ จะหายก็หาย จะไม่หายก็ไม่หาย ถ้าจะตายก็ต้องปล่อยให้ตายไป เพราะไม่สามารถยับยั้งหยุดมันได้ เหมือนกับเราไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ได้ ดวงอาทิตย์จะต้องเคลื่อนไหวไปตามเรื่องของเขา ร่างกายก็ต้องเคลื่อนไหวไปตามเรื่องของเขา ต้องเคลื่อนไปตามความแก่ความเจ็บความตาย พอพิจารณาได้อย่างรอบคอบและยอมรับความจริงนี้ได้แล้ว ความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกายก็จะหายไป จิตก็จะสงบเป็นปกติ สามารถทำสมาธิต่อไปได้ อย่างนี้เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ
ถ้านั่งแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาก็อย่าลุก ต้องคิดว่าความเจ็บของร่างกายเป็นเรื่องปกติ ปล่อยให้เจ็บไป พยายามข่มใจด้วยการบริกรรมพุทโธให้ถี่ขึ้น ไม่ให้คิดถึงความเจ็บของร่างกาย ปล่อยให้เจ็บไป ไม่ขยับไม่ลุก ให้จิตอยู่กับการบริกรรม ก็จะทำให้จิตสงบได้ ปล่อยวางความเจ็บปวดได้ ถ้าจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นธรรมดา เราสั่งให้หายไปไม่ได้ ต้องเป็นไปจนกว่าจะหายไปเอง เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของร่างกาย ที่จะต้องเกิดขึ้น ร่างกายจะต้องเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แต่ใจไม่ต้องเจ็บด้วย ไม่ต้องไปรังเกียจ ไปอยากให้หาย เพราะจะทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นความเจ็บที่เราทนไม่ได้ เวลาร่างกายเป็นอะไรไปใจจะเป็นไปด้วย จะกลัวจะอยากให้มันหายไป อยากจะหนีจากมันไป จะทำให้รับกับความเจ็บของร่างกายไม่ได้ ถ้ายอมรับความเจ็บของร่างกาย ก็จะดับความทุกข์ทรมานใจได้ จิตก็สงบ ความเจ็บของร่างกายบางทีก็หายไปด้วย ถ้าไม่หายก็จะไม่รบกวนใจ เพราะใจไม่ได้ไปยุ่งกับมันแล้ว นี่ก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ
ผลที่เราต้องการจากการนั่งสมาธิคือความสงบนิ่ง ไม่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ บางคนเวลาจิตสงบแล้ว จะไม่นิ่งอยู่กับที่ จะออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ เป็นเรื่องภายใน ไม่ใช่เรื่องภายนอก ทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในใจ เป็นนิมิตต่างๆ จะเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นเทพเห็นผี เห็นอะไรต่างๆ ถ้าไปตามรู้ จิตก็จะไม่นิ่ง จิตจะทำงาน ถึงแม้จะมีความสุขเพลิดเพลินกับสิ่งที่เห็น แต่จะไม่เป็นฐานของปัญญา ไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับใจ เวลาออกจากสมาธิแบบนี้จะเป็นเหมือนกับไม่ได้นั่งสมาธิ เพราะอารมณ์โลภโกรธหลงไม่ได้ถูกกดเอาไว้ ไม่เหมือนกับสมาธิที่ไม่ไปรับรู้นิมิตต่างๆ อารมณ์โลภโกรธหลงจะถูกกดเอาไว้ พอออกจากสมาธิแล้วอารมณ์ที่ถูกกดเอาไว้ จะไม่มีกำลังมากพอที่จะมารบกวนใจได้ ออกจากสมาธิแล้วจิตยังมีความเย็นสบาย เป็นโอกาสที่ดีที่จะเจริญปัญญาต่อไป
จะเจริญปัญญาได้ จิตต้องเป็นอุเบกขา เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่รักไม่ชัง ไม่กลัวไม่หลง ถ้ามีอคติแล้วเวลาพิจารณาจะไม่เห็นตามความจริง เช่นพิจารณาร่างกาย ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้ามีอคติจะทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ไม่กล้าคิดถึงความตาย พวกเรายังไม่กล้าคิดถึงความตายกัน กลัวว่าถ้าคิดแล้วจะตาย เราไม่ตายจากความคิดหรอก เป็นการสอนจิต แต่กิเลสคือความกลัวจะขวางไม่ให้คิดถึงความตายกัน ไม่ให้สอนใจว่าร่างกายสักวันหนึ่งจะต้องตาย ต้องสอนใจให้รับความจริงนี้ให้ได้ ถ้าออกจากสมาธิที่สงบนิ่ง ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ เวลาออกมาแล้วอคติคือความกลัว จะไม่มีกำลังมาขวางการพิจารณาทางปัญญาได้ พิจารณาอะไรก็จะเห็นตามความจริง พิจารณาว่ารูปเสียงกลิ่นรสไม่เที่ยง ก็จะเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาลาภยศสรรเสริญสุขว่าไม่เที่ยง ก็จะเห็นว่าไม่เที่ยง เห็นว่าชีวิตของเราไม่แน่นอน วันนี้มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง วันพรุ่งนี้อาจจะไม่มีก็ได้ อาจจะมีสงคราม มีภัยพิบัติต่างๆ ทำให้เกิดการสูญเสียต่างๆขึ้นมา เรื่องเหล่านี้เราจะไม่กล้าคิดกันเพราะมีความกลัว เพราะจิตไม่สงบนิ่งเวลานั่งสมาธิ
ถ้าสงบนิ่งเวลาออกมาจากสมาธิจะกล้าพิจารณา จะพร้อมรับกับเหตุการณ์ต่างๆ จะไม่ทุกข์กับการเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะตกต่ำ จะเจ็บไข้ได้ป่วย จะแก่ จะตาย ก็พร้อมที่จะรับ เพราะมีปัญญามีสมาธิมีสติ เป็นเครื่องมือ ที่จะควบคุมจิตใจให้รับความจริง ก็จะตัดตัณหาต่างๆได้ ความกลัวก็คือวิภวตัณหานี่เอง กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย กลัวความสูญเสีย กลัวการพลัดพรากจากกัน กามตัณหาก็จะตัดได้ จะไม่หิวกับรูปเสียงกลิ่นรส ภวตัณหาก็จะตัดได้ จะไม่มีความอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ เป็นอะไรก็ได้ ถ้าไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ยอมรับได้กับทุกสภาพ เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ นี่คือการหลุดพ้นของจิต ต้องหลุดพ้นอย่างนี้ หลุดพ้นด้วยการศึกษาและปฏิบัติ แล้วก็ต้องทดสอบสิ่งที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติ ต้องไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อยู่ในสภาพที่สูญเสียทุกอย่าง เช่นนักบวชนี้ก็เหมือนผู้ที่สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีอะไรติดตัวมาเลย เวลามาบวชมาแต่ตัวเปล่าๆ มาด้วยศรัทธา แล้วก็ได้สมบัติเพียง ๘ ชิ้นไว้ดูแลรักษาร่างกาย ก็คืออัฐบริขาร เช่นจีวรบาตรเป็นต้น แล้วก็ไปอยู่ในสภาพที่แร้นแค้น สภาพที่ไม่มีอะไร ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุไม่มีเครื่องอำนวยความสุขต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วดูว่าจะอยู่ได้หรือไม่ มีความสุขได้หรือไม่ ถ้าอยู่ได้มีความสุขก็ถือว่าใช้ได้ ถ้ายังต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้มาบำรุงบำเรอ ก็แสดงว่ายังมีความอยากอยู่ ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็จะสามารถสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ถ้าไม่รู้แบบนี้ก็จะสอนแบบผิดๆถูกๆ คิดว่าบรรลุแล้ว คิดว่าไม่มีกิเลสแล้ว แต่เป็นเพียงความคิดเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นความจริง จึงควรเห็นความสำคัญของการศึกษา การปฏิบัติ และการบรรลุธรรม เพราะจะทำให้เราได้หลุดพ้นจากความทุกข์ และจะได้ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา ให้มีอายุยืนยาวนานขึ้นไปอีก
ถาม เวลาดูจิตเป็นสมุทัย หรือจิตเป็นมรรคนี่ ดูอย่างไร
ตอบ ถ้าไม่กลัวก็เป็นมรรคเป็นวิมุตติ ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็ยังไม่เป็นวิมุตติ ยังมีสมุทัยอยู่ เพราะยังไม่ได้เข้าไปในห้องสอบจริงๆ ยังไม่ได้เจอกับเหตุการณ์ใกล้เป็นใกล้ตาย ต้องไปอยู่ในป่า ตอนกลางคืนก็ออกไปเดินในป่าตามลำพัง ดูว่ากลัวหรือไม่ ถ้ายังไม่กลัวเพราะยังฉายไฟอยู่ ก็ลองปิดไฟดู ถ้ายังไม่กลัวก็ลองเดินออกจากทางดู เดินเข้าไปในรกในพงดู ดูว่ายังกลัวอยู่หรือเปล่า หรือเดินไปหาสิ่งที่กลัว ถ้ากลัวซากศพ ก็ลองเดินเข้าไปในป่าช้าดู ว่ายังมีความกลัวอยู่หรือเปล่า ต้องไปทดสอบดู
ถาม แสดงว่าจิตจะเป็นมรรคได้ ก็ต้องเป็นวิมุตติแล้วใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ ไม่ใช่ มรรคมาก่อนวิมุตติ มรรคคือการเข้าห้องสอบ ถ้าผ่านก็จะเป็นวิมุตติคือไม่กลัว
ถาม จะแน่ใจว่าเป็นมรรคได้ ก็ต่อเมื่อได้ทดสอบจนแน่ใจแล้ว
ตอบ มรรคเป็นเครื่องมือ คือสติสมาธิและปัญญา ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา ก็จะสามารถควบคุมจิตให้นิ่งได้ ถ้าอยู่แบบฆราวาสก็จะมีสติมีสมาธิมีปัญญาในระดับหนึ่ง ถ้าไปอยู่ในเหตุการณ์คับขัน สติสมาธิปัญญาที่มีอยู่นี้ จะหยุดสมุทัยคือความกลัวได้หรือไม่ ต้องไปทดสอบดู เหมือนนักมวยที่ซ้อมชกกระสอบทราย หรือซ้อมกับคู่ซ้อม แต่ยังไม่ได้ขึ้นเวทีจริง ไม่ได้เจอคู่ต่อสู้ที่แท้จริง จะชนะหรือไม่ก็ต้องขึ้นเวทีถึงจะรู้ ถ้าชนะก็แสดงว่ามรรคมีกำลังพอ ที่จะเอาชนะสมุทัยได้ ก็จะเป็นแชมป์ได้ เป็นวิมุตติได้
ถ้ากลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องนั่งให้เจ็บแล้วอย่าลุก ให้จิตปล่อยวางความเจ็บ แล้วสงบตัวลงด้วยมรรค ด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญา ถ้าทำได้ก็จะไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคชนิดใดก็ตาม ก็เป็นความเจ็บปวดเหมือนกัน ถ้าปล่อยวางความเจ็บปวดที่เกิดจากการนั่งนานๆได้ ก็จะไม่กลัวความเจ็บปวดอีกต่อไป บางทีไม่ต้องกินยาแก้ปวดเลย ปวดก็ปล่อยให้ปวดไป นี้ไม่ได้คุยนะ เราไม่เคยมียาแก้ปวดอยู่ในกุฏิแม้แต่เม็ดเดียว แต่มีธรรมโอสถมียาแก้ปวดอยู่ในใจแล้ว นี่คือมรรคที่เราต้องสร้างขึ้นมา ถ้ามีธรรมโอสถแล้วจะไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่กลัวความตาย
ถาม แล้วยาแก้โกรธละคะ
ตอบ ยาแก้โกรธก็แบบเดียวกัน คือสติสมาธิปัญญา
ถาม ถ้าจะฝึกไม่ให้โกรธละคะ
ตอบ ก็ให้เขาด่าเรา ให้เขาตบหน้าเรา
ถาม ข้างในก็ยังกรุ่นอยู่ค่ะ
ตอบ กรุ่นไม่ได้ ถ้ากรุ่นก็แสดงว่ายังโกรธอยู่ มรรคยังไม่มีกำลังพอ ถ้ามองเห็นว่า การด่าก็ดี การถูกทำร้ายก็ดี เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจของเรา ที่จะไปควบคุมบังคับได้ เกิดมาในโลกนี้ก็ต้องเจ็บตัวไม่ช้าก็เร็ว จะเจ็บแบบไหนเท่านั้นเอง เจ็บด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บเพราะถูกหักหลัง เจ็บเพราะถูกด่า เจ็บเพราะถูกทำร้าย ต้องเกิดขึ้นได้เสมอ ให้คิดว่าไม่เลวร้ายกว่านี้ก็ดีแล้ว ถ้าเขาด่าเราก็ให้คิดว่าเขายังไม่ได้ตีเรา เขาตีเราก็ให้คิดว่าเขาก็ยังไม่ได้ฆ่าเรา ถ้าเขาฆ่าเราก็ให้คิดว่า เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทุกคน ถ้าคิดอย่างนี้ได้ ก็จะนิ่งได้ จะไม่โกรธ ต้องไปฝึกดู
ต้องรู้ว่าความโกรธเกิดจากความอยาก เช่นอยากให้เขาดีกับเรา พอเขาไม่ดีก็โกรธ ทำไมไม่โกรธคนอื่นที่ไม่ดีกับเรา เพราะไม่ได้อยากให้เขาดีกับเรา เราก็ไม่โกรธ แต่คนที่เราอยากให้ดีกับเรา พอเขาไม่ดีกับเราๆโกรธเขา เพราะความโกรธนี้เกิดจากความอยาก ถ้าตัดความอยากทั้ง ๓ นี้ได้แล้ว ความโกรธก็จะไม่มี ส่วนความอยากนี้ก็เกิดจากความหลง ไม่รู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่น่าอยาก เพราะไม่มีอะไรให้ความสุขอย่างเดียว ต้องมีความทุกข์ตามมาด้วยทั้งนั้น ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะไม่อยากได้อะไร ไม่อยากให้ใครชอบเราหรือดีกับเรา ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ ด่าก็ได้ ชมก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะไม่โกรธ ต้องทำใจให้เป็นกลาง เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ด่าก็รู้ว่าด่า ชมก็รู้ว่าชม ปล่อยให้ด่าไป ปล่อยให้ชมไป ใครจะทำอะไรก็ทำไป เราอย่าไปอยากกับเขาก็แล้วกัน จะได้ไม่มีปัญหา ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ตัณหาทั้ง ๓ นี้แหละ ที่ต้องตัดให้ได้
ถาม เวลาเขาชมเราใจเราฟูขึ้น พอเขาไม่ชมใจเราก็แฟบลง ถ้ารู้ว่ากำลังฟูกำลังแฟบอยู่ อย่างนี้ยังไม่พอใช่ไหมคะ
ตอบ ต้องไม่ฟูไม่แฟบเลย ต้องทำสมาธิให้มาก เวลาจิตเป็นสมาธิจะเฉย
ถาม ไม่รู้ว่าเฉยจริงหรือเปล่า
ตอบ ถ้าเป็นสมาธิใจจะเฉย ใจจะสงบ ใจจะนิ่ง ไม่มีอารมณ์ เวลาออกจากสมาธิใหม่ๆ ก็จะยังมีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ แต่จะค่อยๆจางไป เวลาสัมผัสรับรู้เรื่องต่างๆ ตอนที่ออกมาใหม่ๆจะเฉย ใครจะพูดอะไรทำอะไรก็จะเฉย พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง จะเริ่มไม่เฉยแล้ว เพราะกิเลสเริ่มฟื้นขึ้นมา กำลังของสมาธิที่กดกิเลสไว้ค่อยๆจางไป ก็จะเริ่มมีปฏิกิริยา นักปฏิบัติพอรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ก็จะกลับเข้าไปในสมาธิใหม่ แต่ญาติโยมทำไม่ได้ เพราะปฏิบัติสมาธิน้อย ชอบออกข้างนอก แต่พระจะเข้าข้างในมาก ออกมาน้อย เวลาไม่ต้องออกมาทำกิจ ท่านจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ เพื่อที่จะกดกิเลสไว้ ถ้าอยู่ในขั้นสมาธิ ก็กดมันไว้ก่อน ถ้าอยู่ในขั้นปัญญาก็ไม่ต้องเข้าสมาธิ ถ้าปัญญาทันก็จะตัดมันได้ ตัดความอยากได้ รู้ว่าความอยากเป็นเหตุของความทุกข์ใจ ก็เลยไม่อยาก พอตัดความอยากได้ ก็จะไม่มีความทุกข์ตามมา ไม่มีความโกรธตามมา ไม่มีอารมณ์ต่างๆตามมา
ถาม เริ่มด้วยการใช้สมาธิกดไว้ก่อน หลังจากนั้นค่อยใช้ปัญญา
ตอบ ใช่ เพราะสมาธิทำง่ายกว่า แล้วก็เป็นฐานของปัญญาด้วย ถ้าไม่มีสมาธิจิตจะมีอารมณ์ตลอดเวลา เราจะไม่รู้ว่าการไม่มีอารมณ์เป็นอย่างไร ต้องไปอยู่จุดที่สูญจากอารมณ์ก่อน พออยู่จุดนั้นแล้ว เวลามีอารมณ์เกิดขึ้นจะรู้เลย เพราะมีความแตกต่างกัน ขณะที่ไม่มีอารมณ์กับมีอารมณ์ จะรู้ว่านี่เกิดอารมณ์แล้ว ก็จะพิจารณาได้ทันทีว่าอารมณ์นี้เกิดจากความอยาก ต้องอยากใน ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง การที่มีพระพุทธเจ้ามาสอนเรื่องนี้ก่อนทำให้บรรลุง่าย ไม่ต้องไปคลำหาต้นตอหาสาเหตุ ว่าอารมณ์เหล่านี้เกิดจากอะไร พระพุทธเจ้าทรงบอกเลยว่าเกิดจากตัณหาทั้ง ๓ นี้ เวลาหงุดหงิดใจ ต้องถามตัวเองว่าหงุดหงิดเพราะอะไร เพราะไม่ได้ดื่มกาแฟหรือ ไม่ได้ดูหนังหรือ ไม่มีใครชมหรือ ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนหรือ ต้องมีอะไรสักอย่าง ลองคิดดู เวลามืดฟ้ามัวดินก็หงุดหงิดได้ ถ้าอยากจะให้สว่างไสว ต้องถามตัวเองดู พอรู้ว่าเป็นอะไรก็จะตัดมันได้ ไม่ชอบดินฟ้าอากาศแบบนี้หรือ จะทำอย่างไรได้ เราไปเปลี่ยนดินฟ้าอากาศได้อย่างไร พอตัดความอยากได้ อารมณ์หงุดหงิดก็จะหายไป ถ้ายังไม่สามารถวิเคราะห์ด้วยปัญญา ก็นั่งสมาธิก่อน เวลาหงุดหงิดก็นั่งสมาธิ บริกรรมพุทโธๆ หรือดูลมหายใจเข้าออก พอสงบปั๊บ ความหงุดหงิดก็จะหายไป แต่จะไม่หายแบบถาวร พอออกมาใหม่เจอเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจก็จะเป็นอีก ถ้าใช้ปัญญาตัดได้แล้ว จะเจออีกกี่ ๑๐๐ ครั้ง ก็จะไม่เป็นปัญหา จะไม่หงุดหงิด เพราะรับกับเหตุการณ์นั้นได้แล้ว อย่างนี้ถึงเป็นวิมุตติ วิมุตติด้วยปัญญา ไม่ได้วิมุตติด้วยสมาธิ สมาธิทำให้วิมุตติได้ชั่วคราว
ถาม เวลาทำงานทำการนี่ รู้ว่าเริ่มหงุดหงิด แต่หาต้นเหตุไม่เจอ จะไปหาเจอตอนที่นั่งสวดมนต์นั่งภาวนา
ตอบ พอไปทำสมาธิ ก็จะเห็นความแตกต่าง ระหว่างจิตที่สงบกับจิตหงุดหงิด จะรู้ว่าหงุดหงิดเพราะเรื่องนั้นเรื่องนี้
ถาม ใช่ค่ะ ก็เลยคิดว่าควรจะใช้เวลานี้ทำสมาธิต่อ มาวุ่นวายกับการหงุดหงิดเมื่อกลางวันทำไม เราควรจะหาสาเหตุ หรือควรจะนั่งสมาธิต่อไป อย่าไปยุ่งกับการหาเหตุผลว่าหงุดหงิดเพราะอะไร
ตอบ ถ้าไม่หาเหตุผล เดี๋ยวก็หงุดหงิดใจได้อีก ถ้าหาเหตุผลได้แล้วต่อไปเวลาเจอเหตุการณ์ที่เหมือนกันก็จะไม่หงุดหงิด
ถาม หาเหตุผลให้จบให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยสวดมนต์ภาวนา
ตอบ อยู่ที่ความสามารถของสติปัญญา ถ้าไม่แหลมคมพอก็จะหาไม่เจอ
ถาม ต้องสวดมนต์ไปก่อน
ตอบ แล้วแต่กรณี แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางเรื่องก็แก้ได้เลย บางเรื่องก็แก้ไม่ได้ หรือแก้ได้ช้า ต้องใช้เวลาวิเคราะห์
ถาม วางไว้ก่อน อย่าพึ่งไปยุ่งกับมัน
ตอบ เข้าสมาธิไปก่อน พักจิตก่อน ทำใจให้สบาย พอใจสบายแล้วกลับมาดูอีกทีก็อาจจะเห็นก็ได้
ถาม ฝรั่งสอนให้คิดในแง่บวก จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่ในใจเบาบางลง
ตอบ ความคิดอะไรที่สามารถดับความทุกข์ใจได้ ก็ถือว่าใช้ได้
ถาม ถึงแม้ยังไม่ลงทางไตรลักษณ์
ตอบ ต้องลงไปในไตรลักษณ์ถึงจะดับได้ ถ้าไม่ลงในไตรลักษณ์ก็จะดับแบบปลอมๆ คือวางปัญหานี้ไว้ก่อน ทำเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ไปทำเรื่องอื่นก่อน อย่างนี้ก็ยังไม่ได้ดับปัญหาเดิม ถ้าจะใช้ปัญญาทางศาสนาก็ต้องเข้าไปที่ไตรลักษณ์ ให้เห็นว่าเราไปหลงไปยึดไปติดไปอยากกับเขาเองต่างหาก อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้ก็เกิดความทุกข์เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา ก็เลยคิดว่าไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่น ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะยังไม่ได้ตัดความอยาก ถ้ามีปัญหากับคนนี้ เจอหน้าทีไรไม่สบายใจทุกที จะแก้อย่างไร ก็ต้องพิจารณาจนเห็นว่าเขาเป็นอย่างนั้น เราไปแก้เขาไม่ได้ เขาจะด่าเราจะทำร้ายเรา ก็ถือว่าเป็นกรรมของเราก็แล้วกัน เคยมีกรรมกันมา อย่าไปยุ่งกับเขาก็แล้วกันถ้าไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องยุ่งกับเขา ถ้าเขาด่าเราก็ต้องคิดว่าเขาไม่ตีเราก็ดีแล้ว ต้องทำใจ
ทำใจด้วยการมองให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา เราไปห้ามเขาไม่ได้ ไปควบคุมบังคับให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ความต้องการของเราก็คือสมุทัย ถ้าไม่อยาก เขาจะเป็นอย่างไรก็รับได้ทุกอย่าง ก็จะไม่มีความทุกข์ใจ เขาจะเป็นอย่างนี้ก็ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนี้ไป ไม่ต้องไปเปลี่ยนเขา เปลี่ยนเราดีกว่า เปลี่ยนใจเราให้รับเขาให้ได้ เขาจะดีก็รับได้ เขาจะร้ายก็รับได้ ต้องยอมรับกับเหตุการณ์ต่างๆ หรือสิ่งต่างๆที่เราสัมผัสรับรู้ ว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีความอยากให้เป็นอย่างอื่น ก็จะไม่ทุกข์ ความทุกข์เกิดจาก ความอยากจะให้เป็นอย่างอื่น เช่นผมของเรานี้เป็นสีขาวไปหมดเลย ถ้าอยากจะให้ดำก็จะทุกข์ แต่ถ้าช่างมันได้ ขาวก็ขาว ก็จะไม่ทุกข์ ไม่ต้องไปย้อมตลอดชีวิต ถ้ายังย้อมอยู่ก็ต้องย้อมไปเรื่อยๆ อายุ ๗๐ หรือ ๘๐ ก็ยังย้อมอยู่ เพราะไม่ยอมรับผมสีขาวของเรา เวลาเห็นแล้วจะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา
ถาม ที่เขาว่าขณะที่เขาสวดมนต์ไป แล้วปัญหาที่เกิดเมื่อเช้านี้ก็คลี่คลายไป เป็นไปได้ไหมว่าคลี่คลายเพื่อให้ได้แก้ปัญหาตรงนั้น
ตอบ เวลาจิตสงบเราจะมองปัญหาไปอีกแง่หนึ่ง ในขณะที่จิตไม่สงบ จะมีความอยากเอาแพ้เอาชนะ อยากจะแก้ปัญหาแบบนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ เขาต้องเป็นอย่างนี้ เขาต้องทำอย่างนี้ พอมาทำใจให้สงบ ความอยากที่จะให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็หายไป พอมองกลับไปใหม่ก็เห็นว่า เขาจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เราก็ตัดความอยากที่จะให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไป ปัญหาก็จะหมดไป เช่นเราอยากจะให้เขาไปข้างนอกกับเราแต่เขาไม่ยอมไป เราก็ไปนั่งสวดมนต์นั่งทำสมาธิ พอนั่งเสร็จแล้วใจเราสบาย ก็จะคิดว่าไปคนเดียวก็ได้ ไม่เป็นปัญหาเลย เราจะมองอีกมุมหนึ่ง เวลาจิตสงบแล้วไม่ต้องมีอะไรก็ได้ ไปคนเดียวก็ได้ หรือไม่ไปเลยก็ได้ นั่งสมาธิแล้วจะสบายใจ จะเป็นฐานของวิปัสสนา พอจิตสงบแล้วจะเป็นอุเบกขา จะเห็นว่าปัญหาเกิดจากความอยาก แต่ในขณะที่เกิดความอยากจะมองไม่เห็น จะเห็นแต่ความอยากอย่างเดียว จะให้ได้ดังใจอย่างเดียว ใจจะร้อน จะต้องทำอะไรก็จะทำ
ถาม ในขณะที่ทำสมาธิอยู่นี้ ปัญหายังแวบเข้ามา แต่เราไม่เก็บมาคิด เราปล่อยไป เพื่ออยู่กับปัจจุบัน จะได้ไหมคะ ผลจะต่างกันไหมคะ
ตอบ ถ้าปัญหายังเข้ามาได้ แสดงว่ายังไม่สงบ ถ้าสงบแล้วจะไม่มีอะไรเข้ามาได้ ถ้าเข้ามาก็ต้องรู้แล้วปล่อยวาง ไม่มีปฏิกิริยา ไม่มีอารมณ์กับสิ่งที่รับรู้ ถึงจะเป็นสมาธิ เช่นเวลานั่งแล้วเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา เราก็นั่งต่อไปจนกระทั่งจิตนิ่ง ความเจ็บปวดถึงแม้ยังมีอยู่ แต่ไม่รบกวนจิตใจ อย่างนี้ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน
ถาม เวลาที่นั่งแล้วเจ็บปวด ก็พยายามพิจารณา ให้เห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่ใจยังไม่ยอมรับ ใจยังดิ้น ดิ้นที่จะออก
ตอบ เพราะสมุทัยกำลังทำงานอยู่ ยังอยากจะหนีจากความเจ็บไป อยากให้ความเจ็บหายไป
ถาม พอไม่หายไป ก็เลยกลับมาดูที่ร่างกาย ทำใจเบาๆสบายๆ หลังจากนั้นรู้สึกว่าขาที่ชาอยู่ค่อยๆหายไป
ตอบ พอเราปล่อยวางความอยาก ที่จะให้ความเจ็บหายไป ปล่อยวางความอยากจะลุก อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไปหมดเลย ความเจ็บของร่างกายจะไม่รุนแรง ที่รุนแรงที่ทนไม่ได้นี้ คือความทุกข์ทรมานใจ ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บหายไป พอระงับความอยากได้แล้ว ร่างกายจะเจ็บขนาดไหนก็ไม่เป็นปัญหา
ถาม เพราะเราพิจารณาแล้วปล่อยวาง หรือมารู้อยู่กับร่างกาย อยากรู้ตรงนี้
ตอบ ถ้าเบนจิตมาดูที่ร่างกายแทน ก็จะเป็นอุบายของสมาธิ เช่นมาดูลมหายใจเข้าออก ไม่ไปรับรู้ความเจ็บ ความคิดรังเกียจความเจ็บ ก็จะไม่มีโอกาสทำงาน เหมือนเวลานั่งดูหนังหรือนั่งเล่นไพ่ทั้งคืน จะไม่รู้สึกเจ็บ เพราะใจไม่ได้อยู่กับความเจ็บของร่างกาย แต่อยู่กับการดูหนัง ถ้าเป็นวิปัสสนาต้องพิจารณาความเจ็บ ว่าเจ็บเพราะอะไร เพราะไม่อยากให้เจ็บใช่ไหม ถ้าพิจารณาดูก็จะรู้ว่า เพราะใจรับความเจ็บไม่ได้ ถ้ารับได้ก็จะไม่เจ็บ เวลาที่เรานั่งแล้วเจ็บเราก็ถามตัวเองว่า ทำไมจึงรับไม่ได้ ก็เลยเปรียบกับเสียงที่เข้ามาทางหูแล้วไปรับรู้ที่ใจ กับความเจ็บที่เข้ามาทางร่างกายแล้วก็ไปรับรู้ที่ใจเหมือนกัน ถ้าเป็นเสียงที่เราชอบถึงแม้จะดังลั่นเราจะไม่เดือดร้อนเลย ถ้าเป็นเสียงที่เราไม่ชอบนี้ ถึงแม้จะไม่ดังเลยเราจะเดือดร้อนทันที ก็เลยเห็นว่าที่เราเดือดร้อนเพราะเราไม่ชอบ ความเจ็บของร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ชอบเราก็จะเดือดร้อนเหมือนเอามีดมากรีดหัวใจ ถ้าเราชอบก็จะไม่เดือดร้อนแต่อย่างใด พอใจยอมรับความเจ็บของร่างกายได้ ใจก็จะเฉย ไม่ต่อต้าน ไม่มีความอยาก ไม่มีสมุทัย ทุกข์ในใจก็จะไม่มี ที่ทนนั่งอยู่ไม่ได้เพราะมีความทุกข์อยู่ในใจ ถ้ามีความสุขอยู่ในใจก็จะนั่งได้ เช่นนั่งดูหนัง บางทีปวดปัสสาวะก็ยังไม่ยอมลุกไปถ่ายเลย เพราะอยากจะดูต่อ ต้องรอให้ถึงเวลาโฆษณาก่อน ความทุกข์นี้อยู่ในใจเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เราไปรักไปชังเขาเอง
ถาม ความเจ็บยังอยู่ แต่เราไม่รับความรู้สึกนั้นใช่ไหมคะ
ตอบ รับรู้อยู่ แต่ไม่มีปฏิกิริยา ไม่รักไม่ชัง เช่นเพลงนี่ ทำไมคนหนึ่งชอบ อีกคนหนึ่งเกลียด อาหารชนิดเดียวกันจานเดียวกัน คนหนึ่งกินได้อย่างเอร็ดอร่อย อีกคนกินไม่ได้ เพราะความชอบความชังนี้เอง เราจึงต้องฝึกไม่ให้ชอบในสิ่งที่เราชอบ จะได้ไม่ติด ให้ชอบในสิ่งที่เราชัง จะได้ไม่รังเกียจ จะได้ไม่มีปฏิกิริยา
ถาม ถ้าเราชังนี่ อย่างทำงานเกี่ยวกับหนังสือ บางบทความบางคนเราไม่ชอบเราก็จะไม่อ่าน ทีนี้วิธีแก้จะใช้วิธีอย่างท่านอาจารย์ว่าได้ไหม คืออ่านจนกว่าใจจะเป็นอุเบกขา
ตอบ ถ้าเป็นการงานก็ต้องยึดหลักเหตุผล ถึงแม้จะไม่ชอบแต่เป็นหน้าที่ต้องอ่านก็ต้องอ่าน ถ้าไม่ใช่หน้าที่การงานก็เลือกได้ ควรเลือกอ่านในสิ่งที่เราไม่ชอบ และไม่อ่านในสิ่งที่เราชอบ เช่นอ่านหนังสือธรรมะ ไม่อ่านหนังสือบันเทิง
ถาม อ่านในสิ่งที่เราไม่ชอบ จนกว่าเราจะไม่คิดอะไรกับมันเลย
ตอบ ใช่ ถ้าไม่ชอบพิจารณาความตาย ก็ต้องพิจารณาจนไม่รู้สึกอะไรกับความตาย สิ่งที่เราชอบคือเที่ยวอย่างนี้ ก็อย่าไปคิดถึงเรื่องเที่ยว จะได้ไม่เที่ยว พวกเราติดอยู่กับสิ่งที่เราชอบกัน ถึงไปอยู่วัดไม่ได้ เพราะชอบดูหนังฟังเพลง ชอบรับประทานอาหาร ๔ หรือ ๕ มื้อ พอไปอยู่วัดก็ต้องทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ ก็ทำไม่ได้ ถ้าทำได้แล้วจะสบาย จะไม่ติดไม่ชอบสิ่งที่เราเคยชอบ เพราะให้ผลไม่ดีเท่ากับสิ่งที่เราไม่ชอบ การไปอยู่วัดไปนั่งสมาธิไปปฏิบัติธรรมนี้ พอติดใจแล้วจะไม่อยากทำ เมื่อก่อนเคยชอบดูหนังฟังเพลงกินเหล้าเมายา พอรู้ว่ามีผลเสียตามมา เวลาไม่ได้ทำจะเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ พอมาปฏิบัติธรรม ตอนต้นก็เศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่เพราะต้องอยู่คนเดียว พอจิตสงบก็จะไม่เหงาแล้ว ไม่เศร้าสร้อยแล้ว เกิดปีติเกิดความสุขขึ้นมา จะอยากปฏิบัติให้มากขึ้น
พยายามทำในสิ่งที่ไม่ชอบเถิด สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราไม่ชอบทำกัน พยายามทำให้มาก พอติดแล้วจะสบายจะมีความสุข เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เราชอบนี้ ไม่เป็นพิษภัยกับจิตใจ มีแต่คุณอย่างเดียว เป็นที่พึ่งของจิตใจได้ แต่สิ่งที่เราชอบนี้ไม่ได้เป็นที่พึ่ง แต่เป็นยาพิษกับจิตใจ จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา เวลาสูญเสียสิ่งที่เราชอบไป สูญเสียบุคคลนั้นบุคคลนี้ สูญเสียงานการตำแหน่งต่างๆ แล้วในที่สุดก็ต้องสูญเสียชีวิตร่างกายไป นี่คือสิ่งที่เราชอบ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไม่ให้ชอบ ร่างกายก็อย่าไปชอบ อย่าไปรัก อย่าไปอยากให้อยู่นานๆ ปล่อยให้อยู่ไปตามอัตภาพ เมื่อถึงเวลาที่จะไปก็ปล่อยไป อย่าไปชอบไปยึดไปติด แล้วเวลาไปจะไม่รู้สึกอะไรเลย ถ้ารักถ้าหวง เวลาจากไปจะทุกข์ทรมานใจมาก เพียงแต่คิดก็ยังไม่กล้าคิดเลย นี่คือปัญหาของพวกเรา ที่จะต้องเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาแก้ การให้ทานนี่ ก็เป็นการสละของที่เราชอบไป มีใครบ้างที่ไม่ชอบเงินบ้าง แต่วันนี้เรามาสละกัน ทำในสิ่งที่เราไม่ชอบทำกัน คือเอาเงินมาให้คนอื่น ถ้าทำด้วยความยินดีก็จะมีความสุข ถ้าไม่ยินดีก็จะเสียดาย
ถาม เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม มั่นคงในพระรัตนตรัยนี้ ควรปฏิบัติตัวต่อเทวดาอย่างไร ที่บ้านมีศาลพระภูมิ เราไหว้ท่านได้หรือเปล่าคะ
ตอบ ถ้าไหว้แบบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไหว้ได้ แต่ไม่ไหว้แบบเป็นสรณะเป็นที่พึ่งเป็นครูเป็นอาจารย์ ถ้าเป็นเทพที่รู้ธรรมะ จะนับถือเป็นอาจารย์ก็ได้ ถ้าเป็นอริยเทพเป็นพระโสดาบัน อย่างพระพุทธมารดา เราก็นับถือเป็นพระอริยสงฆ์ได้ จะเป็นเทพเป็นพรหมหรือเป็นมนุษย์ ก็มีจิตใจที่มีความโลภโกรธหลงหรือมีธรรมะ ถ้ามีธรรมะก็บูชาได้ ถ้ามีอริยธรรมเป็นพระอริยสงฆ์ จะเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร ก็ให้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ที่มีบุญมากกว่าเราจึงได้เป็นเทพ เราไม่มีบุญเท่าเขาจึงเป็นมนุษย์ ก็นับถือเขาในฐานะที่มีบุญมากกว่าเรา เช่นเรานับถือคนที่มีศีลมากกว่าเรา เช่นพระภิกษุที่เรานับถือเพราะมีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ไม่ได้นับถือท่านเพราะเป็นอริยสงฆ์ ถ้าจะไหว้พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็ต้องไหว้ที่คุณธรรม
ถาม แล้วอย่างคนที่จัดผลไม้ไหว้พระภูมิอย่างนี้ถูกหรือเปล่าคะ
ตอบ ไม่เห็นผิดอะไร เขาเคารพนับถือแล้วอยากจะเซ่นจะไหว้ แต่ถามว่าได้บุญไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะไม่ได้ให้ใคร เหมือนเอาของไปตั้งไว้ในป่าช้าที่ฝังศพพ่อแม่ พอไหว้เสร็จก็เอามากินกัน
ถาม แล้วคนที่ตั้งกระทงแล้วปักธูปให้สัมภเวสี
ตอบ เหมือนกัน ไหว้ไปตามความเชื่องมงาย
ถาม แล้วเขามากินหรือเปล่าคะ
ตอบ กินได้ที่ไหน เขาเป็นนามธรรม กินรูปธรรมไม่ได้ เขารับรู้แล้วก็มีความอิ่มเอิบใจ มีความสุขใจ ที่มีคนรักเขา เคารพบูชาเขา เหมือนกับไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เราไม่ได้ให้อะไรท่าน เราเพียงเอาน้ำไปรด แต่ก็ทำให้ท่านมีความสุขใจ ที่เราเป็นห่วงเป็นใย มีความเคารพนับถือท่าน
ถาม แล้วอย่างคาถาต่างๆ ของหลวงพ่อหลายๆองค์ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมควรจะนำมาท่องหรือเปล่าคะ
ตอบ คาถาต่างๆในพระไตรปิฎก เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเข้าใจความหมายก็จะเป็นปัญญา ถ้าไม่เข้าใจความหมายท่องไปก็จะได้สมาธิ ไม่ว่าจะเป็นคาถาบทใดก็ตาม จะเป็นธรรมจักรก็ได้ เป็นมหาสติปัฏฐานสูตรก็ได้ ทั้งหมดนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราท่องแล้วเกิดความเข้าใจ ก็จะเสริมปัญญาบารมีให้แก่กล้าขึ้น ถ้าไม่เข้าใจความหมายแล้วท่องไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเครื่องผูกใจไว้ไม่ให้ไปคิดฟุ้งซ่าน ก็จะเป็นสมาธิ ในทางพระพุทธศาสนาก็มีผลเพียง ๒ ประการนี้ แต่ลัทธิอื่นมีผลเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่นคาถาเรียกเสือ หลวงตาเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านรู้จักโยมคนหนึ่งที่สอนคาถาเรียกเสือ จะพาลูกศิษย์ที่อยากจะขี่เสือเข้าไปในป่า แล้วสอนให้ท่องคาถานี้ ไม่นานเสือก็จะเดินสะลึมสะลือมา อันนี้เป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ถาม แล้วอย่างคาถาป้องกันภัย ถ้าเราสวดแสดงว่ายังยึดติดใช่ไหมคะ
ตอบ ป้องกันภัยทางจิตใจ เช่นเกิดความกลัวมากๆ ก็ท่องคาถาไปจนหายกลัว ไม่ได้ไปป้องกันภัยทางร่างกาย แต่ป้องกันภัยทางจิตใจ
ถาม แล้วคาถาเงินล้านละคะ
ตอบ ต้องพิสูจน์ดูเอาเอง ถ้าท่องจนได้ความสงบ ก็จะมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินล้าน ถ้าได้ความสงบแล้วจะไม่อยากได้เงินล้าน เพราะดีกว่ามีคุณค่ามากกว่า เราถึงลาออกจากงานได้เลย เพราะได้สมาธิได้ความสงบนี้ มีคุณค่ากว่าเงินเดือนไม่กี่พันบาทในตอนนั้น ต้องเสียเวลาวันละ ๘ ชั่วโมง อาทิตย์ละ ๕ วันเพื่อจะได้เงินมาไม่กี่พันบาท สู้เอาเวลามานั่งสมาธิไม่ได้ คุณค่ามันต่างกันมาก ความสงบนี้เงินล้านซื้อไม่ได้ เป็นอุบายของนักปราชญ์ ให้พวกที่อยากรวยนี้ได้รวยจริงๆ คือได้จิตที่สงบ แล้วจะรู้ว่าความรวยอยู่ตรงนี้เอง ภัยต่างๆก็อยู่ในใจ ที่ไปคิดฟุ้งซ่าน ไปคิดกลัว ไปคิดรักชังหลงกับสิ่งต่างๆ พอสวดคาถาไปจนจิตสงบปั๊บ ความรู้สึกต่างๆเหล่านี้ก็จะหายไปหมด เป็นอุบายของนักปราชญ์
ถาม เฉพาะมนุษย์หรือเปล่า ที่สามารถปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนา อย่างเทวดาและพรหมนี่ สามารถปฏิบัติธรรม สามารถเข้านิพพานได้ไหมคะ หรือต้องกลับมาเป็นมนุษย์ก่อน
ตอบ ได้ ถ้าสนใจธรรมะ ไม่จำเป็นต้องกลับมาเป็นมนุษย์ก่อน ถ้ามีคนสอนในขณะที่เป็นเทพ เช่นพระพุทธเจ้าทรงไปสอนพระพุทธมารดาให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พอเป็นโสดาบันแล้วก็จะปฏิบัติเองได้ สามารถเลื่อนขั้นขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นพระอรหันต์ เพราะรู้ทางแล้ว เพียงแต่ว่าจะไปช้าหรือไปเร็ว ถ้ามีอาจารย์คอยกำกับอยู่ทุกขั้นก็จะไปเร็ว ถ้าไม่มีอาจารย์ก็จะไปช้า เพราะจะติดตามขั้นต่างๆ ในแต่ละขั้นจะมีปัญหา เป็นปริศนาธรรม ที่ต้องแก้ถึงจะข้ามไปได้ ถ้าไม่มีคนบอกก็จะช้า แต่จะรู้จนได้จะแก้จนได้ ท่านถึงแสดงไว้ว่าถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว พระนิพพานก็จะเป็นผลที่จะตามมา ๗ ชาติเป็นอย่างมาก จะไปได้เอง เพราะได้หลักได้แนวแล้ว เข้าใจหลักของพระอริยสัจ ๔ แล้ว ว่าความทุกข์เกิดจากสมุทัย คือความอยากต่างๆ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าจะตัดความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ในใจให้หมดไปได้เมื่อไหร่ พระโสดาบันก็กำจัดไปได้เพียงส่วนหนึ่ง ต้องปฏิบัติต่อไปเพื่อกำจัดให้หมดไป พอเป็นพระอนาคามีแล้วถ้าตายไปก็ไปเกิดบนชั้นพรหม ก็สามารถปฏิบัติในชั้นพรหมได้ แล้วก็บรรลุพระนิพพานได้ ไม่ต้องมีใครมาสอน เพราะมีคำสอนอยู่ในใจแล้ว มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว แต่ยังไม่สามารถชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ได้เต็มที่เท่านั้นเอง ถ้าเป็นปุถุชนแล้วตายไป จะไม่มีแสงสว่างนำทางไปพระนิพพาน
ถาม ถ้าเป็นฆราวาสเป็นผู้หญิง ไม่มีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุ จะมีสิทธิ์เหมือนกันไหม
ตอบ มี ถ้าบวชทางใจ เพราะทุกอย่างอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ถ้าอยากจะถือศีลของภิกษุณีก็ถือได้เลย เปิดหนังสือดูว่าภิกษุณีถือข้อไหนบ้าง เราก็ถือไป เราก็เป็นภิกษุณีทางใจแล้ว แต่ทางกายคนอื่นเขาไม่รู้ว่าเราเป็น แต่เราเป็นภิกษุณีทางใจ ดีกว่าพระบางรูปเป็นภิกษุทางกาย แต่ทางใจมีศีลไม่ครบ ไม่ได้อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจ ทานศีลภาวนาอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด ในการบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ว่าจะเป็นหญิงเป็นชายเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย อยู่ที่ใจ ถ้ามีบารมีแก่กล้าพอก็สามารถเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆได้
ที่พวกเรามาทำบุญกันมาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ก็เพื่อมาเสริมสร้างทานบารมีปัญญาบารมี กลับไปที่บ้านไปนั่งทำสมาธิก็สร้างอุเบกขาบารมีขึ้นมา ถ้าในชีวิตประจำวันเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ก็จะมีสติคอยดึงใจให้เข้าสู่ความสงบได้ พวกเราเป็นนักบวชได้ทุกคนทุกเวลา ถ้าชีวิตของเรามีเรื่องมากมีภาระมาก ก็ทำให้เราไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ ไม่เหมือนกับพวกที่บวชจริงๆ พอบวชเป็นพระก็ไม่ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เช้าอุ้มบาตรเข้าไปในหมู่บ้านก็ได้อาหารแล้ว ถ้าเป็นญาติโยมก็ต้องทำงาน ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง เพื่อหารายได้มาจุนเจือ เวลาก็หมดไปมาก เวลาที่จะปฏิบัติธรรมก็เลยมีน้อย ฆราวาสส่วนใหญ่จึงทำได้แต่ทาน ศีลก็อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนภาวนานี้แทบจะไม่ได้เลย ให้รู้ไว้ว่ามรรคผลนิพพานนี้ ไม่ได้ขึ้นกับเพศกับวัย ไม่ได้ขึ้นกับฐานะการเงินการทอง จะรวยหรือจนไม่สำคัญ อยู่ที่จะสามารถปฏิบัติตาม ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ได้หรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าปฏิบัติได้ก็บรรลุได้