กัณฑ์ที่ ๔๑๘ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
ร่างกายไม่ใช่เรา
เรื่องของร่างกายก็คือเรื่องของการเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องของอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าแยกใจออกจากร่างกายได้ ก็จะไม่เป็นปัญหา ร่างกายเป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่ง เช่นเครื่องอัดเสียงนี้ เวลาเสียเราก็ซ่อม ซ่อมไม่ได้ก็ทิ้งไป ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูแลรักษาไป รักษาได้ก็ดี รักษาไม่ได้ก็ดี เพราะร่างกายไม่ใช่เรา เราคือใจ ใจคือผู้รู้ ธาตุรู้ ร่างกายเป็นธาตุ ๔ เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นเครื่องมือ เป็นวัตถุ ต้องปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับร่างกาย ดูแลไปตามหน้าที่ เหมือนดูแลทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ พอถึงเวลาที่ต้องแยกจากกันก็ต้องปล่อย ถ้าได้ศึกษาก็จะรู้จักวิธีปล่อย ถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะไม่รู้ ก็จะยึดติด จะทุกข์ทรมานใจ ร่างกายไม่ได้ทุกข์ทรมานไปกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย เครื่องอัดเสียงนี้ก็ไม่ได้ทุกข์เวลาที่ใช้งานไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้สึกนึกคิด ผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิดคือใจหรือธาตุรู้ เพียงแต่ว่าธาตุรู้นี้ ไม่มีปัญญา ไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่เห็นว่าตัวธาตุรู้ ไม่ได้เป็นร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง อนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับให้ร่างกายเป็นไปตามที่ใจต้องการได้ ไม่สามารถสั่งให้ร่างกายสาวไปตลอด ให้เป็นสาวล้านปี ร่างกายต้องเปลี่ยนไปตามวัย อนิจจังก็คือไม่นิ่งไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ตอนที่ปฏิสนธิในครรภ์ เพราะจะค่อยเจริญเติบโตขึ้นมาตามลำดับ พอเจริญเต็มที่ก็ต้องคลอดออกมาจากครรภ์ หลังจากนั้นก็ได้รับการดูแลด้วยอาหารน้ำลม แล้วก็ค่อยเจริญเติบโตต่อไป จนถึงขีดสูงสุดของความเจริญ หลังจากนั้นก็จะเริ่มเสื่อมชราภาพไปตามลำดับ จะเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วก็ตายไป นี่คือธรรมชาติของร่างกาย อนิจจังคือเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา อนัตตาคือไม่สามารถควบคุมบังคับได้ ทุกขังคือทุกข์ใจ เพราะไปยึดติดกับร่างกาย ถึงแม้ไม่ใช่ร่างกายของเราก็ทุกข์ได้ เช่นร่างกายของคนที่เรารัก ถ้าไปยึดติดก็จะอยากให้เขาอยู่ไปนานๆ นี่ก็เป็นสมุทัย เป็นภวตัณหา เป็นอริยสัจข้อที่ ๒ ที่ทำให้เกิดอริยสัจข้อที่ ๑ คือทุกข์ขึ้นมาในใจของผู้ที่ไปยึดติดกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่ได้มาจากการปฏิสนธิในครรภ์ หรือร่างกายของคนอื่น เช่นร่างกายของบิดามารดาสามีภรรยาบุตรธิดา ใจทุกข์เพราะใจมีอุปาทาน ไปยึดไปติดไปอยาก ให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรม จะเห็นว่าร่างกายเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา จะปล่อยวาง ไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น เวลาแก่ก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างอื่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างอื่น เวลาตายก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างอื่น ถ้าไม่มีความอยากเหล่านี้ ทุกขังก็จะไม่เกิด เพราะความไม่อยากเป็นมรรค เป็นสัมมาทิฐิ เป็นสัมมาสังกัปโป คือเห็นว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา เป็นการเห็นด้วยปัญญา เห็นแล้วก็จะปล่อยวาง ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง นี่คือมรรค สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป พอปล่อยวางได้ก็จะละสมุทัย ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจได้ ทุกข์ก็จะไม่มีอยู่ในใจของผู้ที่มีสัมมาทิฐิ มีสัมมาสังกัปโป มีมรรค จะเป็นใจที่สงบเย็นสบาย มีความสุข ไม่ว่าร่างกายจะเป็นอย่างไร ใจจะไม่ทุกข์ไปกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะมีสัมมาทิฐิ มีสัมมาสังกัปโป มีมรรค
อนิจจังทุกขังอนัตตานี้ก็เกี่ยวโยงไปถึงอริยสัจ ๔ เพราะทุกขังก็คืออริยสัจข้อที่ ๑ ถ้าเห็นทุกข์ก็จะเห็นว่าเกิดจากสมุทัย ถ้าไม่ได้พบพระพุทธศาสนา เวลาทุกข์จะไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จะดับได้อย่างไร ต้องมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ แล้วนำออกมาเผยแผ่ให้แก่สัตว์โลกอย่างพวกเราถึงจะรู้กัน ถ้าพวกเราศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วนำเอาไปปฏิบัติได้ ก็จะดับความทุกข์ต่างๆภายในใจได้ ด้วยการละความอยากต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ต่างๆภายในใจ การที่จะละความอยากต่างๆได้ ก็ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในสิ่งต่างๆนี้เอง แต่เรามักจะไม่เห็นกัน มักจะคิดว่าจะอยู่กับเราไปตลอด เวลาได้อะไรมา ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องเสียไป หรือต้องจากเขาไปสักวันหนึ่ง จะคิดว่าจะมีความสุขกับเขาไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่เคยคิดว่าเขาเป็นเหมือนระเบิดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มานี้เป็นเหมือนระเบิดเวลา รอเวลาที่จะระเบิดใส่เรา เวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือดับไป พวกเราไม่ค่อยใช้ปัญญากัน จึงถูกความหลงหลอก พอเห็นอะไรก็หลอกว่าดี เอามาเถิด จะมีความสุข ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นระเบิดเวลา จะต้องระเบิดใส่เราสักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว ร่างกายของเรานี้ก็เป็นเหมือนระเบิดเวลา รอเวลาระเบิดใส่เรา เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทำให้เสียอวัยวะไป ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา ถ้าไม่รู้ทัน ไม่ยอมรับความจริงว่าต้องเป็นอย่างนี้
ต้องเจริญสติอยู่ทุกเวลานาที จะได้รู้ว่าจิตกำลังคิดไปในทางมรรคหรือสมุทัย ถ้าคิดไปในทางมรรคก็จะคิดว่าต้องเป็นอย่างนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ห้ามไม่ได้ ขณะนี้เป็นอย่างไรก็ต้องเป็น ถ้าไม่อยากให้เป็นอย่างอื่นก็จะไม่ทุกข์ เช่นนั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ได้อยากที่จะลุกไปไหน ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าอยากแล้วไปไม่ได้ก็จะทุกข์ จะกระวนกระวาย ต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีสติก็จะเจริญปัญญาไม่ได้ ใจจะลอยไปลอยมา จะไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่อยู่กับเหตุการณ์ จะไม่สามารถสอนใจให้ยอมรับกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีสติเวลาสัมผัสกับสิ่งที่ชอบก็จะอยากได้ สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบก็จะอยากหนีจากสิ่งนั้นไป ใจจะไม่นิ่ง จะทุกข์ทรมาน เวลาชอบก็นั่งนิ่งๆไม่ได้ ต้องขยับไปหาสิ่งที่ชอบ เวลาไม่ชอบก็นั่งนิ่งๆไม่ได้ ต้องขยับหนีสิ่งที่ไม่ชอบไป เพราะไม่มีสติคอยควบคุมใจ ไม่ให้ชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง ด้วยการสอนใจให้เห็นว่าความชอบหรือไม่ชอบนี้เป็นสมุทัย เป็นภวตัณหา เป็นวิภวตัณหา ชอบก็เป็นภวตัณหาอยากได้ ไม่ชอบก็เป็นวิภวตัณหาไม่อยากได้ ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นว่า ไม่มีอะไรทำร้ายใจได้ นอกจากใจทำร้ายใจเอง ด้วยความชอบหรือไม่ชอบ เพราะขาดเครื่องมือที่จะควบคุมใจให้นิ่ง ให้เป็นกลาง ไม่ให้ชอบหรือไม่ชอบ ก็คือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ที่เป็นมรรคนี่เอง
มรรคนี้แหละที่จะหยุดความชอบหรือไม่ชอบ หยุดตัณหาทั้ง ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา หยุดด้วยสัมมาสติ สัมมาสังกัปโป ก็คือสติปัญญา ที่มีหลายระดับด้วยกัน ระดับปุถุชนก็ระดับหนึ่ง ระดับพระอริยบุคคล ก็แบ่งเป็น ๔ ขั้น มีกำลังที่จะหยุดตัณหาความอยากต่างๆได้ต่างกัน จึงแบ่งเป็น ๕ ระดับด้วยกันถ้านับระดับปุถุชนด้วย ปุถุชนก็มีสติปัญญาในระดับที่ดับความอยากต่างๆได้ไม่มาก คือดับความอยากที่จะไปทำบาปได้ รักษาศีล ๕ ได้ ถ้าต่ำกว่านั้นก็จะเป็นระดับของเดรัจฉาน ไม่มีกำลังพอที่จะรักษาศีล ๕ ได้ เวลาหิวก็จะหาอาหารมากิน จะเป็นสัตว์ที่ตายไปแล้วหรือที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไร สัตว์ใหญ่จึงกินสัตว์น้อย เพราะสติปัญญาไม่ได้อยู่ในระดับที่จะรักษาศีล ๕ ได้ ไม่รู้เรื่องบาปบุญ ว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป จะมีโทษตามมา ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะได้การอบรมสั่งสอน จากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้รักษาศีล ไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็จะรักษาศีล ๕ ได้ ไม่ฆ่ามนุษย์ด้วยกันเป็นอาหาร เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เพราะระดับของสติปัญญาต่างกัน
ถ้าเป็นขั้นพระโสดาบัน ก็จะมีสติปัญญาที่จะไม่ทำบาป ไม่ละเมิดศีล ๕ เลย มีปัญญาเห็นว่าการละเมิดศีล ๕ เป็นโทษมากกว่าการตาย จึงยอมตายไม่ต่อสู้ปล่อยให้เขาฆ่า เวลาตายไปแล้วไม่ต้องไปเกิดในอบาย ไม่ต้องไปใช้กรรมต่อ ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์เลย เพื่อมาปฏิบัติธรรมต่อ ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงขั้นสูงสุด ถ้าไปฆ่าผู้ที่จะฆ่าตน ตายไปก็ต้องไปใช้กรรมก่อน เช่นพระเทวทัต ท่านก็มีศีลมีสมาธิ แต่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ยังเป็นปุถุชนอยู่ พอไปทำบาปต่อพระพุทธเจ้า พยายามฆ่าพระพุทธเจ้า พอตายไปก็ต้องไปใช้กรรมในนรกก่อน ก่อนที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มาบำเพ็ญจนได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไป ถ้าไม่ได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า ตายไปไม่ต้องไปใช้กรรมในนรก ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเลย ถึงแม้จะมีฤทธิ์มีสมาธิ แต่ไม่เป็นธรรมขั้นอริยะ ขั้นอริยธรรมต้องมีปัญญา ต้องมีดวงตาเห็นธรรม ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในร่างกายในขันธ์ ๕ เห็นว่าร่างกายเกิดแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าไปปกป้องร่างกายด้วยการฆ่าผู้อื่น ก็จะต้องไปใช้กรรมในอบาย ท่านจึงไม่ฆ่าโดยเด็ดขาด ภพชาติก็จะเหลือไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก เพราะจะสามารถปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้
ขั้นพระโสดาบันนี้ จะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย ขั้นต่อไปก็ต้องเห็นความไม่สวยงามของร่างกาย ที่สวยเพราะได้รับการตบแต่ง ขัดสีฉวีวรรณ อาบน้ำอาบท่า แต่งกาย แต่งหน้า แต่งตา ให้ดูสวยสะอาด ถ้าดูเวลาที่พึ่งตื่นขึ้นมา เวลาที่ไม่ได้แต่งหน้าแต่งตา ไม่ได้แต่งกาย ไม่ได้อาบน้ำอาบท่า ก็จะเห็นว่าไม่สวย ถ้าเห็นเวลาเป็นซากศพก็ยิ่งไม่สวยใหญ่ ถ้าได้ดูอวัยวะต่างๆที่มีอยู่ภายในของร่างกาย ที่ถูกผิวหนังปกปิดหุ้มห่อไว้อยู่ เห็นสิ่งที่เป็นปฏิกูลขับออกมาจากร่างกาย ก็จะเห็นว่าไม่สวยงามอย่างที่คิดเลย ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะเลื่อนขึ้นไป เป็นพระสกิทาคามีและพระอนาคามีตามลำดับ พระสกิทาคามีจะเห็นประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นบ้างไม่เห็นบ้างสลับกันไป จึงมีอารมณ์เบื่อๆอยากๆ เพราะยังไม่ได้เห็นอย่างต่อเนื่อง เวลาพิจารณาก็จะเห็น เวลาไม่ได้พิจารณาก็จะไม่เห็น ก็จะเกิดกามารมณ์ขึ้นมา นี่เป็นสติปัญญาขั้นที่ ๒ ถ้าเป็นขั้นที่ ๓ ขั้นพระอนาคามี ก็จะเห็นว่าไม่สวยเป็นปฏิกูลตลอดเวลา เวลาเห็นข้างนอกทีไรก็จะเห็นข้างในด้วย จะเห็นอวัยวะต่างๆ จะเห็นอาการ ๓๒ ที่มีอยู่ในร่างกาย ถ้าเห็นอย่างนี้ตลอดเวลา กามารมณ์ก็จะไม่เกิด จะอยู่คนเดียวได้ ไม่ต้องมีคู่ครอง ไม่ต้องมีสามี ไม่ต้องมีภรรยา พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี้ยังมีกามารมณ์ ยังต้องมีสามีมีภรรยา เช่นนางวิสาขา เพราะสติปัญญาของพระโสดาบันยังไม่สามารถหยุดกามารมณ์ได้ ถ้าได้เจริญอสุภกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา กามารมณ์ก็จะไม่เกิด ทุกครั้งที่โผล่ออกมา ก็จะถูกมรรค คือสัมมาทิฐิ คืออสุภกรรมฐานทำลายไปหมด นี่คือเรื่องของสติปัญญาเรื่องของมรรค ที่จะพัฒนาจิตใจให้มีความสุขมากขึ้น ความทุกข์น้อยลงไปเรื่อยๆ
อยู่ตรงที่จะเห็นอนิจจังเห็นอนัตตาหรือไม่ ถ้าเห็นก็จะไม่มีความอยากให้เป็นอย่างอื่น ก็จะไม่เกิดทุกขังขึ้นมา การเห็นไตรลักษณ์หรือสัมมาทิฐินี้มีหลายระดับด้วยกัน คือระดับพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ต้องดูไตรลักษณ์ภายในจิต ไตรลักษณ์ภายในร่างกายเป็นหน้าที่ของพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระโสดาบันก็จะเห็นว่าร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย พระสกิทาคามีจะเห็นอสุภะความไม่สวยงาม เห็นปฏิกูลความสกปรกของร่างกายเป็นพักๆ พระอนาคามีจะเห็นตลอดเวลา จะไม่เห็นว่าสวยงามว่าสะอาดเลย พอเห็นอย่างนี้แล้วปัญหาของร่างกายก็จะหมดไป สติปัญญาไม่ต้องพิจารณาร่างกายอีกต่อไป สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อก็คือปัญหาภายในจิต เพราะจิตยังมีไตรลักษณ์ปะปนอยู่ ยังมีขึ้นมีลง มีสุขมีทุกข์ ยังไม่เที่ยง ควบคุมบังคับไม่ได้ บังคับให้สุขตลอดเวลาไม่ได้ เวลาเข้าสมาธิก็จะสุข พอออกจากสมาธิก็ต้องใช้ปัญญาคอยรักษาไว้ เพราะจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ที่มากระทบกับจิต สติปัญญาก็จะเห็นว่า จิตก็เป็นเหมือนร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลง มีเกิดมีดับ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ห้ามไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง จะสุขก็รู้ว่าสุข จะเปลี่ยนไปก็ยอมรับ จะสว่างไสวหรือไม่ก็ยอมรับ ไม่ยึดติดกับความสว่างไสว ไม่ยึดติดกับความสุข เพราะไม่ใช่สุขแท้ ไม่ใช่สุขที่ถาวร ไม่ใช่สุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นไตรลักษณ์ ถ้าอยากให้สุขให้สว่างไสวไปตลอด เวลาเปลี่ยนไปก็จะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะต้องคอยทำให้สว่างไสวให้สุขไปเรื่อยๆ ก็จะรู้ว่ายังมีทุกข์อยู่
วิธีที่จะดับทุกข์นี้ก็ต้องละสมุทัย คือความอยากให้สว่างไสวอยากให้สุขไปเรื่อยๆ ต้องปล่อยวาง จะสว่างก็ปล่อยให้สว่างไป จะสุขก็ปล่อยให้สุขไป ไม่สว่างไม่สุขก็ต้องปล่อยเช่นเดียวกัน พอปล่อยแล้วความสว่างความสุขก็จะหายไปเอง ต้องทำใจให้เป็นกลาง ให้สักแต่ว่ารู้ จะเปลี่ยนก็ปล่อยให้เปลี่ยนไป จะสว่างก็ปล่อยให้สว่างไป จะไม่สว่างก็ปล่อยให้ไม่สว่างไป พอปล่อยแล้วก็จะหายไป เหลือแต่ความว่างความสุขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับท้องฟ้าที่ไม่มีเมฆหมอก ความว่างของท้องฟ้าไม่เปลี่ยน ความว่างรอบตัวเรานี้ก็ไม่เปลี่ยน ว่างอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ทำให้ไม่ว่างก็คือสิ่งต่างๆ อย่างพวกเรานี้ ทำให้ความว่างตรงนี้ไม่ว่าง พอพวกเราไปจากที่นี่ก็จะว่างเหมือนเดิม ท้องฟ้าไม่ว่างเพราะเมฆหมอก พอไม่มีเมฆหมอกท้องฟ้าก็จะว่าง ใจก็เหมือนกัน พอไม่มีความสว่างไสวความสุขก็จะว่าง ความสว่างไสวและความสุขยังเป็นสมมุติอยู่ เป็นเหมือนเมฆหมอกบนท้องฟ้า ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจเมื่อปฏิบัติถึงขั้นนี้ จะเห็นความแตกต่าง ระหว่างความสุขความสว่างไสว กับความว่างความสุขที่มหัศจรรย์นี้
ถ้าปฏิบัติถึงความสว่างไสวความสุขภายในจิตแล้ว จะเห็นว่ามหัศจรรย์มาก แต่ไม่รู้ว่ายังมีสิ่งที่มหัศจรรย์กว่านี้ คือการไม่มีอะไรเลย ว่างหมดเลย ไม่มีอะไรเลย อันนี้แหละที่มหัศจรรย์กว่า ถ้าไม่ฉลาดก็จะติดอยู่ตรงนี้ ติดอยู่กับความสุขความสว่างที่มหัศจรรย์นี้ เวลาหายไปก็จะดึงกลับมา ก็จะต้องดึงอยู่เรื่อยๆ เวลาหายไปก็บริกรรมพุทโธๆ ก็จะดึงกลับมาได้ เพราะหลงยึดติดกับความมหัศจรรย์นี้ คิดว่านี่คือจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยสอนหรือสติปัญญาวิเคราะห์ ก็จะไม่เห็นว่ายังเป็นทุกข์อยู่ ถ้ามีสติปัญญามีครูบาอาจารย์คอยบอกทางก็จะรู้ทัน จะรู้ว่าเป็นปัญหาเหมือนกับร่างกาย เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ร่างกายเป็นรูปธรรม จิตเป็นนามธรรม แต่การปฏิบัติต่อธรรมทั้ง ๒ นี้เหมือนกัน ต้องใช้ไตรลักษณ์เหมือนกันในการแก้ปัญหา ต้องเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ต้องยอมรับตามสภาพ จะอยู่ก็อยู่ จะไปก็ไป จะได้ไม่เกิดทุกขังขึ้นมา จะดับทุกข์อย่างถาวร เพราะเป็นสมมุติชิ้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ภายในใจ พอสมมุติที่เป็นไตรลักษณ์นี้หมดไปจากใจแล้ว ใจก็จะว่างจะสุขไปตลอด นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง ถึงแม้ยังครองขันธ์ ๕ อยู่ ใจจะไม่ทุกข์ไปกับการเปลี่ยนไปของขันธ์ ๕ จะรู้ทัน จะไม่รักไม่ชัง
นี่คือสติปัญญาขั้นสูงสุด คือมหาสติมหาปัญญา พอผ่านร่างกายไปแล้ว สติปัญญาก็จะเข้าสู่ระดับมหาสติมหาปัญญา จะทำงานเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับเหมือนในระดับร่างกาย ที่ยังต้องคอยบังคับให้พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ให้พิจารณาอสุภะอยู่เรื่อยๆ ผ่านขั้นนี้ไปแล้ว จะเป็นปัญญาที่คอยขุดคุ้ย หาตัวสมุทัย หาภวตัณหา หาวิภวตัณหา จะคอยดูทุกข์ที่จะเกิดขึ้นภายในใจอยู่ตลอดเวลา พอเกิดขึ้นปั๊บก็จะพิจารณาเลยว่า เป็นเพราะอะไร อยากได้อะไร อยากให้อยู่หรืออยากให้ไป จะละไปเรื่อยๆ จนไม่มีตัณหา ไม่มีรักไม่มีชัง หลงเหลืออยู่ภายในใจ ก็จะไม่มีอะไรให้ทำอีกต่อไป เพราะปัญหาทั้งหมดได้ถูกกำจัดหมดสิ้นไปแล้ว กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่เป็นเหตุของความทุกข์ ก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในใจ ก็จะรู้ว่าไม่มีภพชาติอีกต่อไป เพราะภพชาติก็มาจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี่เอง ถึงพูดได้อย่างเต็มปากว่าไม่เกิดอีกแล้ว พอไม่มีความอยากแล้วจะไปเกิดได้อย่างไร เป็นสันทิฐิโก อกาลิโก สดๆร้อนๆ เกิดจากการปฏิบัติของเรา เกิดจากสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ได้อยู่ที่ใครทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่พระธรรมคำสอน ไม่ได้อยู่ที่พระอริยสงฆ์สาวก แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติเอง ไม่ได้อยู่ที่เพศอยู่ที่วัย จะเป็นหญิงเป็นชาย จะแก่หรือเด็ก จะเป็นนักบวชหรือเป็นฆราวาส ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่ อยู่ตรงนี้
นี่คือหลักประกันของมรรคผลนิพพาน คือการปฏิบัติ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ตราบใดผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมยังมีอยู่ โลกนี้จะไม่ปราศจากพระอรหันต์ เพราะธรรมเป็นอกาลิโก ไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้เอามรรคผลนิพพานไปกับท่าน ท่านฝากไว้ในสวากขาโต ภควตาธัมโม ในสุปฏิปันโน อุชุฯ ญายะฯ สามีจิปฏิปันโนนี่เอง อยู่ที่อัตตาหิ อัตตโน นาโถ อยู่ที่ตัวเรา เราต้องเป็นผู้แสวงหาความรู้ ต้องศึกษาพระธรรมคำสอน พอรู้แล้วว่าจะต้องปฏิบัติอะไรบ้าง ก็ต้องปฏิบัติ พระพุทธเจ้าพระสาวกปฏิบัติแทนเราไม่ได้ พ่อแม่พี่น้องปฏิบัติแทนเราไม่ได้ เราต้องปฏิบัติเอง ก็ต้องย้อนมาดูที่ตัวเราว่าปฏิบัติหรือเปล่า ถ้าไม่ปฏิบัติผลก็จะไม่เกิด อย่าไปโทษใคร อย่าไปโทษว่ายาก ยากที่ตรงไหน ยากที่ไม่ได้ปฏิบัติ คนที่ปฏิบัติไม่เห็นว่ายากเลย คนที่ไม่ปฏิบัติต่างหากที่ว่ายาก ถ้าปฏิบัติก็จะไม่ยาก เป็นเพราะใจร้อนและขี้เกียจ อยากได้ผลเร็วๆแต่ทำน้อยๆ พอต้องทำมากก็ว่ายาก ต้องทำไปตามเหตุตามผล ทุกคนต้องทำเท่าๆกันหมด เหมือนกินข้าว ก็ต้องกินเท่าๆกันถึงจะอิ่มเหมือนกัน การปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติเท่ากัน ถึงจะได้ผลเท่ากัน ไม่มีทางอื่น มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติด้วยตัวเราเอง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ สู้ไม่ถอย
ธรรมะนี้แหละที่จะทำให้คนเราตื่นจากความไม่ดีสู่ความดี ทำให้เราสุขให้เราเจริญ ทำให้ทุกข์น้อยลง ไม่มีอย่างอื่น อย่างอื่นมีแต่ทำให้เราทุกข์มากขึ้นสุขน้อยลง แต่เรามองไม่เห็นกัน กลับเห็นว่าเป็นสุขมากกว่าทุกข์ แต่ความจริงเรากอดความทุกข์มากกว่ากอดความสุข เพราะความสุขแบบนี้เป็นเหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด สุขเพียงนิดเดียวแต่ทุกข์มากกว่าหลายเท่า ทุกข์ตั้งแต่มหาเศรษฐีลงมาถึงขอทาน เพราะมีความอยากเหมือนกัน ความอยากจะไม่หมดไปเพราะได้สิ่งที่อยากได้มา แทนที่ความอยากจะน้อยลงไป กลับจะมีมากขึ้น ได้คืบก็อยากได้ศอก ได้ศอกก็อยากจะได้วา ได้แสนก็อยากจะได้ล้าน ได้ล้านก็อยากจะได้พันล้าน ความอยากจะน้อยลงไปด้วยการหยุดความอยาก ถ้าหยุดได้ความอยากจะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ ครั้งแรกๆจะแรง พอหยุดได้ความแรงก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เวลาเลิกสุราใหม่ๆจะทุกข์ทรมานใจมาก เพราะความอยากมันรุนแรง แต่พออดไปได้เรื่อยๆ ความอยากก็จะเบาลงไปเรื่อยๆ การอดอาหารก็เช่นเดียวกัน เวลาอดช่วงแรกๆจะหิวมาก พออดไปได้เรื่อยๆก็จะหิวน้อยลงไปเรื่อยๆ พอผ่านวันที่ ๓ ไปแล้วจะไม่ค่อยหิว หมายถึงความหิวทางใจ ความหิวที่เกิดจากความอยากจะน้อยลงไปตามลำดับ ส่วนความหิวของร่างกายจะไม่ทุกข์ทรมาน เหมือนกับความหิวทางใจ จะรู้สึกอ่อนเพลีย แต่จะมีกำลัง เพราะกำลังอยู่ที่ใจ ถ้าทำจิตให้สงบได้ จะมีกำลังเดินจงกรมนั่งสมาธิ ได้มากกว่าตอนที่รับประทานอาหารเสียอีก เวลาได้รับประทานอาหาร จะขี้เกียจ จะคิดถึงหมอน ถ้านั่งสมาธิจะนั่งสัปหงก
ถ้าจิตมีสมาธิมีปัญญาปล่อยวางความอยากได้จะมีพลัง ถึงแม้ร่างกายจะไม่มีเรี่ยวมีแรง พลังของจิตจะผลักให้ร่างกายปฏิบัติได้ ให้เดินจงกรมได้ให้นั่งสมาธิได้ นั่งแล้วก็ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่ขี้เกียจ เดินจงกรมพิจารณาธรรมไปด้วยความเพลิดเพลิน พิจารณาความไม่เที่ยงของรูปขันธ์ คือร่างกายของเราและของคนอื่น พิจารณาความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ อย่างเพลิดเพลินแล้วปล่อยวางไปตามลำดับ ความอยากกับเรื่องต่างๆจะเบาบางลงไป ความสุขในใจจะมีเพิ่มมากขึ้นไป ความสุขความทุกข์ของร่างกายไม่แรงเหมือนความสุขความทุกข์ของใจ ถ้ามีสมุทัยความอยากมาก ความทุกข์ใจก็จะมีมาก ถ้ามีสติปัญญามากเห็นไตรลักษณ์มาก ความสุขใจก็จะมาก เพราะปล่อยวางได้มาก นี่เป็นเคล็ดลับที่พวกเราไม่รู้กัน พวกเราถูกกิเลสหลอกให้คิดว่า ต้องได้ตามความอยากแล้วถึงจะมีความสุข ร่างกายต้องอิ่มหมีพีมันถึงจะมีความสุข นี่เป็นความคิดของกิเลส ของกามตัณหาคือความอยากในกาม แทนที่จะอยากน้อยลงไปเวลาได้กินแล้ว กลับอยากจะกินมากขึ้น แทนที่จะเป็นความสุขกลับกลายเป็นความทุกข์ไป เวลาต้องอดอาหารก็จะทรมานกว่าคนที่มีความอยากน้อยกว่า เวลาอดอาหารถ้าพ้น ๓ วันไปแล้วจะไม่ค่อยหิว จะหิวช่วง ๓ วันแรก เพราะความอยากมีกำลังมาก พอผ่าน ๓ วันแล้ว ความอยากจะอ่อนลงไปมาก จะอดต่ออีก ๓ วันได้อย่างสบาย จะไม่หิวเหมือนกับอด ๓ วันแรก จึงต้องอดทีละหลายๆวันจะได้คุ้มค่า การจะอดอาหารได้ก็ต้องภาวนาเป็น ต้องควบคุมความอยากได้ ถ้าไม่เคยภาวนาทำจิตให้สงบเลย เวลาอดอาหารจะทนไม่ได้ จะคิดแต่เรื่องอาหารอยู่ตลอดเวลา ถ้านั่งสมาธิหรือเดินจงกรมบริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่มีโอกาสคิดถึงเรื่องอาหาร ความหิวที่เกิดจากกามตัณหาก็จะไม่เกิด แต่พอเผลอสติปั๊บก็จะคิดถึงอาหารจานเด็ด อาหารชนิดนั้นชนิดนี้ อาหารจานโปรดทันที น้ำลายจะไหล จะหิว จะรู้สึกทรมานใจขึ้นมาทันที
การอดอาหารนี้เป็นอุบายที่จะบังคับให้เจริญสติ ควบคุมจิตใจให้อยู่กับกรรมฐาน ให้อยู่กับพุทโธ ให้นั่งสมาธิ ให้เดินจงกรม เพราะรู้ว่าเผลอไม่ได้ ถ้าเผลอจะทรมานใจ เหมือนกับนักมวยที่ขึ้นเวที เผลอไม่ได้ ถ้าเผลอจะโดนหมัด ถ้าชกกระสอบทรายนี่เผลอได้ เพราะกระสอบทรายไม่ชกกลับ ถ้ารับประทานอาหารก็เหมือนตอนที่ไม่ได้ขึ้นเวที มักจะเผลอปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย แต่พออดอาหารนี้จะเผลอไม่ได้เลย ถ้าเผลอจะคิดถึงอาหารจานโปรดทันที พอคิดปั๊บจะทุกข์ทรมานใจทันที จะคิดปรุงแต่งไม่หยุด เวลาอดอาหารจึงต้องคอยบังคับให้นั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิก็ให้เดินจงกรมต่อ ต้องควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา ไม่คลุกคลี จะปลีกวิเวกอยู่คนเดียว เดินจงกรมนั่งสมาธิ จนติดเป็นนิสัย อยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ถ้าไม่อดอาหารก็ต้องออกไปบิณฑบาต ออกไปทำกิจร่วมกับผู้อื่น ก็จะเผลอคุยกัน ใจก็จะไม่สงบ ไม่ก้าวหน้า ไม่คิดถึงทางจงกรม ไม่คิดถึงการนั่งสมาธิ เพราะไม่มีเหตุบังคับเช่นความหิว เหมือนกับยา ถ้าไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่คิดถึงยา แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะคิดถึงยาตลอดเวลา เพราะอยากจะให้หาย เวลาอดอาหารก็เหมือนกัน จะคิดนั่งสมาธิเดินจงกรม ถ้าไม่ทำความทุกข์ทรมานใจก็จะตามมา เพราะจะคิดปรุงแต่งแต่เรื่องอาหาร
การปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตนี้ต้องบังคับถึงจะก้าวขึ้นไปได้ ถ้าอยู่อย่างสบายๆจะติดอยู่กับสภาพเดิม เคยกินอยู่อย่างไรก็จะกินอยู่อย่างนั้น จะไม่ได้พัฒนา เพราะไม่เจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ถ้าต้องการจะยกระดับจิตก็ต้องบังคับตน ถ้าเป็นฆราวาสรักษาศีล ๕ ก็ให้รักษาศีล ๘ บังคับตนไม่ให้กินข้าวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ไม่ให้ดูหนังฟังเพลง โทรทัศน์ไม่ต้องดู วิทยุไม่ต้องฟัง เอาเวลานั้นมานั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังเทศน์ฟังธรรม จิตใจจะได้เจริญเติบโต ถ้าเป็นต้นไม้ ถ้าไม่คอยใส่ปุ๋ยรดน้ำจะโตได้อย่างไร จิตใจก็จะเป็นอยู่เหมือนเดิมถ้าไม่ได้ปฏิบัติมากขึ้น ต้องดูว่าตอนนี้รักษาศีลได้กี่ข้อ ปฏิบัติธรรมวันละกี่ชั่วโมง ตัดกิเลสตัดรูปเสียงกลิ่นรสได้มากขึ้นหรือยังเหมือนเดิม ถ้ายังดูหนังฟังเพลง ยังไปเที่ยว ยังทำอะไรเหมือนเดิมอยู่ ก็จะไม่ก้าวหน้า ต้องตัดเรื่องบันเทิงตัดความสุขทางกามารมณ์ให้น้อยลงไป แล้วก็เพิ่มการปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขสงบของใจให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญปัญญาด้วยการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา
ถ้าไม่บังคับตัวเราให้ปฏิบัติธรรม ปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ ก็จะเป็นเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ จะลอยไปตามกระแสน้ำ อยากจะนั่งก็นั่ง ไม่อยากจะนั่งก็ไม่นั่ง ก็จะขึ้นๆลงๆ อยู่ที่เดิม ถ้ากำหนดไว้ว่าจะนั่งสมาธิกี่ชั่วโมง เดินจงกรมกี่ชั่วโมง ลดเวลาดูทีวีลงไปกี่ชั่วโมง ลดการหาความสุขจากการดื่มการรับประทาน จิตใจก็จะก้าวหน้า ดื่มและรับประทานตามเวลา นอกเวลาจะดื่มแต่น้ำเปล่า ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีรส ก็จะเป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหา เป็นนิวรณ์คือกามฉันทะ เป็นอุปสรรคต่อการทำจิตใจให้สงบ ต้องศึกษาให้รู้ว่าอะไรส่งเสริมให้จิตใจก้าวหน้า อะไรถ่วงไม่ให้ก้าวหน้า ถ้าไม่รู้ก็จะปฏิบัติผิดๆถูกๆ จะไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร หรือไม่ก้าวหน้าเลย ถ้าไม่รู้ก็ต้องศึกษาจากผู้รู้ ฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ วิธีที่ท่านปฏิบัตินี้ เป็นตัวอย่างที่เราควรนำเอามาใช้ อาจจะต้องดัดแปลงบ้าง เพราะจริตไม่เหมือนกัน เช่นอาจจะไม่ถูกกับการอดอาหาร เวลาอดอาหารแทนที่จิตจะสงบกลับฟุ้งซ่าน เพราะสติไม่มีกำลังที่จะควบคุมความคิด ไม่ให้คิดถึงเรื่องอาหารได้ การอดอาหารก็จะไม่เกิดประโยชน์ หรืออาจจะไม่ถูกกับการถือ ๓ อิริยาบถคือเดินยืนนั่ง ไม่นอน พอไม่นอนก็จะสะลึมสะลือไม่มีกำลังปฏิบัติ ก็ต้องดูจริตว่าเหมาะกับอุบายใด นั่งมากหรือเดินมาก สถานที่แบบไหนถึงจะเหมาะ บางคนชอบในป่า บางคนชอบที่โล่ง ต้องพิจารณาความสัปปายะ ไม่เช่นนั้นแล้วจะปฏิบัติแบบลุ่มๆดอนๆ จะไม่ได้บรรลุผล
ต้องรู้ว่าอะไรส่งเสริมเป็นสัปปายะ ต้องรู้ว่าอะไรไม่เป็นสัปปายะ แต่อย่าไปว่าไม่สัปปายะทุกอย่าง ไอ้นี่ก็ไม่สัปปายะ ไอ้นั้นก็ไม่สัปปายะ ถ้าจะสัปปายะก็ต้องอิ่มหมีพีมัน ต้องได้เที่ยวได้ดื่มได้กินตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้ก็จะปฏิบัติธรรมไม่ได้ หวังได้อย่างมากก็แค่สวรรค์ ทำบุญให้ทานรักษาศีลไป ส่วนเรื่องสมาธิเรื่องปัญญานี้ให้เป็นเรื่องของคนอื่นไป เรายังพอใจกับการเวียนว่ายตายเกิด กับการเป็นมนุษย์เป็นเทพ ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องปฏิบัติธรรม บำเพ็ญจิตภาวนา สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ที่เป็นเหมือนยานพาให้หลุดพ้นจากการดึงดูดของวัฏจักร เหมือนกับยานอวกาศที่จะออกจากโลกนี้ไปได้ ต้องมีจรวดที่มีพลังมาก ถึงจะสามารถหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของโลกไปได้ เครื่องบินยังไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ ขึ้นไปแล้วยังต้องกลับลงมาอีก แต่ยานอวกาศนี้ไปแล้วไม่ต้องกลับมาก็ได้ ถ้าอยากไปไม่กลับก็ต้องมีพลังจิตเท่ากับพลังจรวด ต้องปฏิบัติอย่างเต็มที่ ต้องปล่อยวางภารกิจการงานอย่างอื่น เช่นนักบวชทั้งหลาย พวกนี้ไปไม่กลับกัน พระอริยสงฆ์สาวกท่านไปไม่กลับ เพราะท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติ ไม่มีอะไรดีเท่ากับการบวช พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวิธีการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีอะไรมาถ่วงมาดึงจิต ให้กลับมาสู่การเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่ให้หลุดพ้นจากการดึงดูดของวัฏจักร
ถ้าเบื่อกับการเกิดแก่เจ็บตาย ก็ต้องบวชปฏิบัติธรรม ถ้ายังรักการอยู่แบบฆราวาส ก็แสดงว่ายังไม่เบื่อกับการเวียนว่ายตายเกิด ตอนต้นเราก็ไม่คิดว่าจะบวช คิดว่านั่งสมาธิจะได้ความสุขทั้ง ๒ อย่าง ไปเที่ยวก็สุขอยู่บ้านก็สุข แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะเวลาไปเที่ยวจะทำลายความสุขที่เกิดจากการนั่งสมาธิ ที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากการไปเที่ยว ก็เลยต้องเลือก รักพี่เสียดายน้องไม่ได้ จะเอาสุขร้อนหรือเอาสุขเย็น ถ้าเอาทั้งร้อนทั้งเย็นก็จะอุ่นๆ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเอาสุขร้อนก็จะทำให้ใจรุ่มร้อน ถ้าเอาสุขเย็นก็ทำให้ใจเย็นสบาย ก็เลยต้องเอาทางเย็น ทางเย็นก็ต้องมาบวช จะได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ เพราะงานของนักบวชก็คือการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา พระพุทธเจ้าทรงไม่ให้พระทำงานอื่นเลย ไม่ให้ก่อสร้าง ให้อยู่ตามมีตามเกิด อยู่ตามโคนไม้ก็ได้ ถ้ามีศรัทธาสร้างกุฏิให้อยู่ก็อยู่ได้ แต่ไม่ส่งเสริมให้พระสร้างกุฏิเอง จะเสียเวลา ให้สร้างเรือนใจดีกว่า เรือนใจสำคัญกว่าเรือนกาย เพราะร่างกายอยู่ได้เพียง ๘๐ ปี ๙๐ ปีเป็นส่วนใหญ่ แต่ใจไม่มีวันตาย ถ้าไม่มีเรือนใจก็จะวุ่นวาย ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่หลบภัย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สร้างเรือนใจอย่างเดียว ด้วยศีลสมาธิปัญญา
โอกาสที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็ได้เจอพระพุทธศาสนานี้ มีไม่บ่อย นานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง อย่าปล่อยให้โอกาสที่ดีนี้หลุดมือไป พยายามปฏิบัติให้มาก อย่างน้อยก็ต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ให้มีสติดึงใจไว้ไม่ให้ลอยไปลอยมา เวลากลับบ้านไปนั่งสมาธิจะสงบได้ง่าย พอได้สัมผัสกับความสงบเพียงครั้งเดียว ก็จะเป็นเหมือนปลาติดเบ็ด เหมือนว่าวติดลม จะติดใจ จะเบื่อหน่ายกับความสุขอย่างอื่น จิตใจจะเจริญก้าวหน้า อยู่ที่สตินี้ สำคัญมาก ต้องเจริญให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่ไม่ค่อยเจริญกัน ปล่อยให้เวลาอันมีค่าผ่านไป โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย เหมือนกับปล่อยน้ำประปาไหลทิ้งไป ไม่มีภาชนะมารองเก็บเอาไว้ จะได้มีน้ำใช้ในเวลาที่น้ำไม่ไหล ต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ พอมีสติแล้วการปฏิบัติจะไม่ลำบาก ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็จะปฏิบัติได้ เพราะปฏิบัติที่ใจ เจ็บไข้ได้ป่วยนอนอยู่บนเตียงก็ปฏิบัติได้ ด้วยการควบคุมความอยากต่างๆ ไม่ให้มาสร้างความทุกข์ ต้องมีสติคอยควบคุมใจ ต้องปฏิบัติให้มากๆ อย่างที่หลวงตาสอนให้สู้ไม่ถอย ถ้าถอยแล้วจะถอยไปเรื่อยๆ จะไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ถอยก็จะไม่ขาดทุน เคยปฏิบัติได้เท่าไหร่ก็ปฏิบัติไปก่อน อย่าปฏิบัติน้อยกว่าเดิม
ถาม ลูกมาฟังพระอาจารย์ทีไร รู้สึกอยากออกบวชทุกที
ตอบ ยังไม่ดีพอ เพราะยังไม่ได้ออกบวช ลองบวชดูสักปีหนึ่งก่อนก็ได้ ยังไม่ต้องบวชอย่างถาวร ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะบวชไปได้ตลอดรอดฝั่ง หลอกกิเลสว่าบวชปีเดียวก่อน ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริงๆจะปฏิบัติได้ จะไม่สึก
ถาม เวลาอยู่ตรงนี้เหมือนสู้ไม่ถอย เวลาอยู่บ้านมีแต่ถอย
ตอบ อย่าไปอยู่บ้าน ต้องไปอยู่วัด
ถาม ขอถามเรื่องการอดนอนครับ มีอุบายอะไรที่จะสู้กับความง่วง
ตอบ ให้ถือ ๓ อิริยาบถ ยืนเดินนั่ง ไม่นอน ให้หลับอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้ จะได้หลับไม่นาน เวลาง่วงมากๆก็จะนั่งหลับไปสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง แล้วก็จะตื่นขึ้นมา ถ้านอนจะหลับนาน เวลาตื่นจะไม่อยากจะลุกขึ้น พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรมต่อ พอเดินจงกรมเมื่อยก็กลับมานั่งสมาธิต่อ ถ้าจะหลับก็ให้หลับอยู่ในท่านั่ง จะได้ไม่เสียเวลากับการหลับนอน ขึ้นอยู่กับจริต บางคนชอบ ๓ อิริยาบถ บางคนชอบอดอาหาร บางคนชอบไปอยู่ที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัว นักปฏิบัติต้องเดนตาย นอนกับดินกินกับทรายได้ ไม่วิตกกับการอยู่การกินมากจนเกินไป ยอมตาย ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ให้เอาความตายมากระตุ้นให้ปฏิบัติธรรม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตาย ขณะที่มีชีวิตอยู่มีโอกาสปฏิบัติ ถ้าไม่รีบปฏิบัติพอถึงเวลาตายก็จะหมดโอกาส
พอกลับมาเกิดใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือไม่ ถ้าปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถึงแม้จะไม่พบพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจแล้ว เช่นพระโสดาบันนี้ ถึงแม้จะไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ท่านก็ปฏิบัติต่อได้ เพราะมีพระธรรมคำสอนอยู่ในใจแล้ว ท่านรู้มรรค ๘ รู้อริยสัจ ๔ แล้ว ได้เข้าสู่กระแสแล้ว คำว่าโสดาบันมาจากโสตะ แปลว่ากระแส คือกระแสสู่พระนิพพาน พอเห็นไตรลักษณ์แล้ว เห็นว่ามีการเกิดการดับเป็นธรรมดาแล้ว ก็จะเข้าสู่กระแส ที่จะพาผ่านขั้นต่างๆไปจนถึงขั้นสุดท้าย โดยไม่ต้องมีใครมาสอน จะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ปัญญาความฉลาดของผู้ปฏิบัติ แต่จะบรรลุพระนิพพานได้อย่างแน่นอน เพราะมีไตรลักษณ์เป็นเครื่องมือ
ถ้ายังไม่ได้เข้าสู่กระแส ก็ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ผลักดันจิตให้เข้าสู่กระแส พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่ยึดไม่ติดกับอะไร เพราะไม่อยากจะทุกข์นั่นเอง ถ้ายึดติดเวลาเขาตายไปก็จะเสียใจ เพียงแต่คิดว่าเขาจะตายก็ไม่สบายใจแล้ว ถ้าพิจารณาว่าเขาต้องตายและยอมรับได้ก็จะไม่ทุกข์ จึงควรพิจารณาความตายความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นกุญแจเปิดประตูเข้าสู่กระแสพระนิพพาน แต่พวกเรากลับกลัวกัน กลัวว่าถ้าคิดเรื่องความตายแล้ว จะเป็นการสาปแช่งตนเอง ไม่ได้สาปหรอก จะคิดหรือไม่คิดก็ต้องตายอยู่ดี ถ้าเป็นตามที่คิด เวลาคิดว่าไม่ตายก็จะต้องไม่ตาย แต่มันเป็นไปไม่ได้ จะตายหรือไม่ตายไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิด นี่คือกุญแจ ไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาก็จะปล่อยวางได้ จะไม่ทุกข์ ถ้ายังทุกข์อยู่ ก็แสดงว่ายังไม่ได้ปล่อย