กัณฑ์ที่ ๔๑๙ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๓
มิจฉาทิฐิ
ร่างกายกับใจนี้เป็นคนละคนกัน เหมือนสามีภรรยา เป็นคนละคนกัน ร่างกายไม่มีความรู้สึกนึกคิด ไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร ผู้ที่รู้ก็คือใจ ถ้าใจมีธรรมะ มีสัมมาทิฐิ มีปัญญา ก็จะรู้ว่าร่างกายเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ามีมิจฉาทิฐิ ก็จะมีอุปาทานไปยึดไปติด ว่าเป็นตัวเราของเรา ก็จะเป็นทุกข์ รูปังอนิจจังก็คือร่างกายไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป รูปังอนัตตาก็คือร่างกายไม่ใช่ใจ เป็นเครื่องมือของใจ ที่พวกเราสนทนากันได้ ก็เพราะมีร่างกาย มีปากมีหู ใจอาศัยปากพูด อาศัยหูฟังเสียง ให้วิญญาณรับรู้ ให้สัญญาแปลความหมาย ใจของปุถุชนคือผู้ที่ไม่ได้บรรลุธรรม จะมีมิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด คือไม่เห็นอนัตตา ความไม่มีตัวตนในขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ไม่เห็นว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยง จึงมีความทุกข์ใจ เพราะไปหลงยึดติดกับขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเราของเรา จึงมีความอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้เป็นไปตามความอยากก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เช่นอยากให้ร่างกายไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ให้อยู่ไปนานๆ พอไม่เป็นไปอย่างที่อยาก พอเริ่มเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เกิดความทุกข์ใจ ความกังวลใจ ความหวาดกลัวขึ้นมา เวลาตายก็จะมีความทุกข์ทรมานใจ เพราะมีมิจฉาทิฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นว่าขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นตัวเราของเรา ที่เราควบคุมบังคับได้ ที่ให้ความสุขกับเรา ถึงรักถึงหวงกันมาก
เรามาฟังเทศน์ฟังธรรมกันในวันนี้ เราจะได้สัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ที่ได้พิสูจน์แล้วโดยพระบรมศาสดา และรับรองโดยพระอรหันตสาวกทุกรูป ว่าเป็นความจริง ผู้ที่เห็นตามความจริงก็จะปล่อยวาง ถ้าเห็นว่าร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเรา ตัวใครทั้งนั้น ไม่ใช่ตัวหลวงตา ไม่ใช่ตัวพ่อ ตัวแม่ ตัวพี่ ตัวน้อง ตัวเพื่อน ตัวญาติ เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ที่ต้องสลายกลับสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่มีใครยับยั้งได้ ร่างกายของพระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนี้มาแล้ว ร่างกายของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน ก็เป็นอย่างนี้ ให้เราเห็นกันชัดๆอยู่แล้ว ว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่มีธาตุรู้อยู่ในร่างกาย ธาตุรู้ที่เราเคารพกราบไหว้บูชา ที่เราเรียกว่าพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ หลวงตา หลวงปู่ หลวงพ่อนี้ ไม่ได้แตกดับไปกับร่างกาย เพียงแต่ท่านไม่มีเครื่องมือ ที่จะติดต่อกับพวกเราเท่านั้นเอง ถ้ามีพลังจิตก็ยังจะสามารถติดต่อกับจิตดวงอื่นได้ เช่นผู้ที่เข้าสมาธิบางท่าน ก็จะสื่อสารกับจิตของผู้ที่ไม่มีร่างกายได้ เช่นพวกเทพหรือผี หรือพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ที่ปรินิพพานไปแล้ว ที่ไม่มีร่างกายแล้ว ก็ยังติดต่อกันได้ อย่างที่มีพระอรหันต์มีพระพุทธเจ้ามาแสดงธรรมโปรดหลวงปู่มั่น ที่ปรากฏอยู่ในประวัติของท่าน เป็นที่ถกเถียงระหว่างผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติ ว่าเป็นการเพ้อเจ้อหรือเปล่า เพราะในพระไตรปิฎกได้แสดงว่า เมื่อนิพพานแล้วก็เป็นอันว่าจบ
ความจริงคำว่าจบหรือคำว่าสูญนี้ มีหลายความหมายด้วยกัน ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติจะไม่เข้าใจ ว่าจบกับสูญเป็นอย่างไร ความจริงเป็นการจบของการเวียนว่ายตายเกิด สูญจากความโลภความโกรธความหลงความอยาก แต่จิตไม่ได้จบไม่ได้สูญ จบไม่ได้ สูญไม่ได้ เพราะธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนี้ ไม่มีอะไรจบในสากลโลกนี้ ร่างกายก็ไม่จบ เพียงแต่เปลี่ยนสภาพไปเท่านั้นเอง ธาตุที่มาประกอบร่างกายนี้ก็ไม่ได้หายไป เพียงแยกออกจากกัน ออกจากร่างกายก็กลายเป็นธาตุเดิม น้ำก็ไปหาน้ำ ลมก็ไปหาลม ไฟก็ไปหาไฟ ดินก็ไปหาดิน เป็นดินบริสุทธิ์ เป็นน้ำบริสุทธิ์ เป็นไฟบริสุทธิ์ เป็นธาตุเดิมที่ไม่ได้ผสมกัน แต่ก็จะมาผสมกันใหม่ กลับมาเป็นต้นไม้ เป็นสัตว์ เป็นมนุษย์ นี่ก็คือเรื่องของอนัตตา ทุกอย่างเป็นอนัตตาหมด แม้แต่ธาตุรู้คือใจ ที่มีความรู้สึกนึกคิดนี้ ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาวธรรม ความรู้สึกนึกคิด เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เป็นสภาวธรรม ไม่มีตัวตนในเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นเพียงสภาวธรรม เป็นธรรมชาติ เวทนาก็แสดงอาการสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญาก็ทำหน้าที่จำได้หมายรู้ วิญญาณก็ทำหน้าที่รับรู้เกี่ยวกับรูปเสียงกลิ่นรส ที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย สังขารก็ทำหน้าที่คิดปรุงแต่ง คิดดีบ้าง คิดไม่ดีบ้าง คิดไปที่นั่น คิดมาที่นี่ คิดรัก คิดชัง คิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง ใจถ้าหลงตามก็ทุกข์ ถ้าไม่หลงตามก็ไม่ทุกข์ เวลาโกรธจะรุ่มร้อนจิตใจ ถ้าไม่โกรธก็จะไม่รุ่มร้อน ความโลภก็เช่นเดียวกัน
ธาตุรู้หรือใจนี่เป็นผู้สั่งการ ให้โลภหรือไม่โลภ ให้โกรธหรือไม่โกรธ ขึ้นอยู่กับทิฐิความเห็น ว่าเป็นสัมมาทิฐิหรือมิจฉาทิฐิ ส่วนใหญ่จะเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะถูกอวิชชาครอบงำ อวิชชา ปัจจยา สังขารา ก็เลยหลงตามสังขาร ความคิดปรุงแต่งที่ไปในทางโลภโกรธหลง เวลาเกิดความโลภแทนที่จะมีสติปัญญารู้ทัน ว่ากำลังจะไปนรก ไปสู่ความทุกข์ กลับไม่รู้ กลับหลงตาม อยากจะได้อะไรก็เอาเลย จะได้มาอย่างไรไม่สำคัญ ถ้าต้องฆ่าก็จะทำ ขอให้ได้ก็แล้วกัน แล้วก็ต้องไปใช้วิบากกรรมต่อไป เวลาอยากจะได้อะไรมากๆ จะไม่สนใจว่าบาปหรือไม่ ขอให้ได้มาก็แล้วกัน พอทำบาปแล้ววิบากกรรมก็ตามมา เกิดความทุกข์ใจ ถ้ามีธรรมะมีสัมมาทิฐิคอยดูสังขาร พอสังขารคิดไปทางโลภโกรธหลง ก็จะรู้ว่าไปทางนี้ไม่ได้ เพราะจะทำให้ใจทุกข์ ถ้าไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ใจจะสุข ถ้าใจถูกอวิชชาครอบงำใจจะไม่รู้ จะคิดว่าเวลาโลภจะมีความสุข ถึงโลภกัน คิดว่าถ้าได้เงินล้านมาจะมีความสุข ถ้าได้เลื่อนตำแหน่งจะมีความสุข แต่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแล้วว่า สุขเดี๋ยวเดียว เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล พอความสุขละลายไปความทุกข์ก็ตามมา เพราะมันไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ มีเจริญมีเสื่อมนั่นเอง
เรื่องลาภยศสรรเสริญสุขนี่ ไม่ว่าใครก็ตาม จะเป็นปุถุชนหรือพระอรหันต์ก็ต้องสัมผัสด้วยกันทุกคน แต่จะสัมผัสแบบไหนกัน ปุถุชนก็จะสัมผัสแบบหลง มีอุปาทานยึดติด อยากจะให้เจริญอย่างเดียว ไม่อยากให้เสื่อม ส่วนพระอรหันต์ก็จะสัมผัสแบบรู้ทัน ไม่ยึดติด ไม่ได้อยากให้เจริญอย่างเดียว เพราะรู้ว่าต้องเสื่อม จึงสัมผัสเฉยๆ สักแต่ว่ารู้ ได้อะไรมาก็รับรู้ไป ไม่ยินดีเวลาได้มา ไม่เสียใจเวลาเสื่อมไป แต่ปุถุชนนี้เวลาได้เลื่อนตำแหน่งก็จะดีอกดีใจ เมื่อวานนี้มีผู้จัดการธนาคารคนหนึ่ง เพิ่งได้รถใหม่มา ก็ดีอกดีใจ ขนาดพลาสติกที่ติดอยู่บนเบาะยังไม่ยอมฉีกทิ้งเลย เราก็เตือนว่าเป็นของชั่วคราวนะ เวลาตกงานก็ต้องคืนรถไป จะมีอะไรก็มีได้ แต่อย่าไปหลง แต่ปุถุชนมักจะไม่มองความเสื่อมกัน จะมองด้านเดียว จะมองด้านเจริญ ไม่คิดว่าเป็นของคู่กับความเสื่อม ความเสื่อมมาจากไหน ถ้าไม่ได้มาจากความเจริญ ไม่ได้มาจากศูนย์ ถ้าเป็นศูนย์ก็จะไม่เจริญจะไม่เสื่อม เช่นความว่างรอบตัวเรานี้ มีเจริญมีเสื่อมไหม มันก็ว่างอยู่อย่างนี้ เป็นศูนย์อยู่ตลอดเวลา
จึงต้องมีสัมมาทิฐิ ต้องสอนใจอยู่เรื่อยๆ เกี่ยวกับความไม่มีตัวตน ความไม่มีเจ้าของในขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ร่างกายของพวกเราเป็นเหมือนกันหมด มาจากดินน้ำลมไฟ มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ไม่เป็นของใคร เป็นของดินน้ำลมไฟ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใจที่มาครอบครองก็ไม่ใช่เจ้าของ ใจเพียงอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ เหมือนกับรถยนต์ คนขับใช้รถยนต์เป็นเครื่องมือ พาไปตามสถานที่ต่างๆ ใช้ไปนานๆรถก็ต้องเสื่อม ก็ต้องซ่อม ซ่อมได้ก็ซ่อมไป ซ่อมไม่ไหวก็ต้องขายเป็นเศษเหล็กไป ร่างกายก็ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ต้องมอบให้สัปเหร่อไป ใจผู้ที่ใช้ร่างกายก็ไปต่อ ไปแบบอวิชชาหรือไปแบบปัญญา ไปแบบมิจฉาทิฐิหรือไปแบบสัมมาทิฐิ ถ้าอวิชชาพาไปก็ไปสู่ภพใหม่ชาติใหม่ เพราะยังอยาก ยังโลภ ยังอยากไปโน่นมานี่อยู่ ก็ต้องไปเกิดใหม่ ตามบุญบาปที่ได้สะสมได้สร้างไว้ ถ้าสร้างมนุษย์ก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าสร้างเทพก็ไปเกิดเป็นเทพ ถ้าสร้างพรหมก็ไปเกิดเป็นพรหม เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ รูป ที่สร้างจิตของท่านให้เป็นพรหม เวลาตายไปก็ไปเป็นพรหม ที่ยังอยู่ภายใต้กฎของอนิจจังทุกขังอนัตตา คือมีวันสิ้นสุด จะค่อยๆเสื่อมลงมา กำลังของสมาธิที่ทำจิตให้ละเอียดจะลดลงไป ทำให้กิเลสส่วนหยาบมีกำลังทำให้จิตหยาบมากขึ้น ก็เลยต้องเสื่อมจากพรหมมาเป็นเทพ แล้วก็เสื่อมจากเทพมาเป็นมนุษย์ นี่คือการไปของจิตที่มีอวิชชามีตัณหาพาไป ยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิดในภพน้อยภพใหญ่ของวัฏจักร ถ้าจิตเป็นเดรัจฉานก็จะได้ร่างกายของเดรัจฉาน ถ้าเป็นเปรตก็ต้องไปเป็นเปรต ถ้าเป็นนรกก็ต้องไปนรก เช่นพระเทวทัต ท่านทำจิตของท่านให้เป็นนรก พอตายไปก็ต้องไปตกนรก ถ้าทำจิตให้เป็นเดรัจฉาน ตายไปก็ไปเป็นเดรัจฉาน เช่นเศรษฐีท่านหนึ่ง มีเงินทองมากมาย แต่ไม่ยอมทำบุญ ไม่รักษาศีล เอาเงินไปฝังดินหมด ไม่บอกแม้แต่ลูกของตนว่าเอาไปฝังไว้ที่ไหน เพราะความหวง พอตายไปก็กลับมาเกิดเป็นสุนัขในบ้านของตน แล้วก็พาลูกไปขุดสมบัติที่ตนฝังไว้
ทั้งหมดนี้อยู่ที่ความรู้หรือความหลงของจิต ถ้ารู้ก็จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลุดพ้นจากความทุกข์ ถ้าไม่รู้ก็จะต้องทุกข์กับเรื่องราวต่างๆ ทุกข์กับคนนั้น ทุกข์กับคนนี้ พอเขาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็ทุกข์ไปกับเขา ทั้งๆที่ตนเองไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยเลย ทำไมต้องทุกข์ด้วย ทุกข์แล้วทำให้เขาหายทุกข์หรือเปล่า เราแบ่งความทุกข์ของเขามาให้เราได้หรือเปล่า เขาอาจจะไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้ามีปัญญาเขาจะไม่ทุกข์หรอก อย่างหลวงตานี่ ท่านทุกข์หรือเปล่า แล้วเราไปทุกข์ทำไม สงสารท่านทำไม ทำไมไม่สงสารตัวเราเอง พวกเราไม่ใช้ปัญญากัน เราไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่พิจารณาอยู่เรื่อยๆว่า ไม่มีอะไรมีตัวมีตน เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เวลาภูเขาไฟระเบิด เวลาแผ่นดินถล่ม เวลาน้ำท่วมนี้ เราไม่ได้ทุกข์ด้วย แต่เวลาน้ำท่วมบ้านของเรานี้ เราก็ทุกข์ เพราะไปยึดติดว่าเป็นของเรา ความจริงมันเป็นของเราที่ไหน มันเป็นของดินน้ำลมไฟ บ้านก็มาจากดินน้ำลมไฟ สมบัติข้าวของต่างๆก็มาจากดินน้ำลมไฟ มันไม่เที่ยงทั้งนั้น มีการเปลี่ยนแปลง มีเกิดมีดับ มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา เป็นไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา
ถ้าเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาตลอดเวลา ก็จะอยู่เหนือความทุกข์ ถ้าเผลอไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะถูกอวิชชาฉุดให้ไปแบกกองทุกข์โดยไม่รู้ตัว นี่คือทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อยู่ตรงนี้ ถ้าคิดด้วยปัญญาก็เป็นมรรค นิโรธก็ตามมา ถ้ามรรคไม่ทำงาน นิโรธก็หายไป ทุกข์ก็จะโผล่ขึ้นมา เวลามรรคไม่ทำงาน สมุทัยคือตัณหาก็จะทำแทน จะอยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ ก็จะกระวนกระวาย กระสับกระส่าย วิตกกังวล เป็นห่วงเป็นใยแทนผู้อื่น ทั้งๆที่เขาไม่ได้เป็นห่วงเป็นใยเหมือนเราเลย เขาสบายใจ ดูตามความจริง ร่างกายเป็นอย่างนี้ก็รู้ว่าเป็นอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ ใจจะเป็นอุเบกขากับทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ได้เฉยเมย ถ้าดูแลรักษาได้ก็ทำไป ไม่มีอุปาทานไปยึดไปติด ถ้ารักษาไม่หายก็ยอมรับความจริง ถ้าจะตายก็ยอม แต่ใจจะเป็นอุเบกขาอยู่ตลอดเวลา
อุเบกขานี่ไม่ได้หมายความว่าให้อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย อุเบกขาคือให้ทำใจเป็นกลาง ไม่ดีใจไม่เสียใจ ไม่รักไม่ชัง ไม่โลภไม่โกรธ ไม่มีภวตัณหาวิภวตัณหา ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย กินอย่างเดียว เวลากินไม่อุเบกขา แต่เวลาทำนี่อุเบกขากัน เจออุเบกขาแบบนี้จะปวดหัว มีหน้าที่ต้องทำอะไร ถ้ายังทำได้ก็ทำไป มีหน้าที่ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ดูแลรับผิดชอบชีวิตของตนเอง หรือของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยก็ทำไป จะได้มากได้น้อย ก็ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้น เพราะมีความสามารถเท่านี้ แต่ใจก็เฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ กับผลงานที่เกิดขึ้น ได้ก็ดีไม่ได้ก็ดี ให้คิดอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา เพราะรู้ว่าในที่สุดชีวิตก็ต้องจบ ต้องเข้าไปอยู่ในโลง แต่พวกเรามักจะลืมว่าต้องเข้าโลงกัน ก็เลยต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตาย ทุกข์ทรมานยิ่งกว่าตอนตายเสียอีก เวลาตายกลับสบายกว่า พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนพระอานนท์ ให้ระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจ เพื่อจะได้ไม่ลืมตอนจบของชีวิต ถ้ารู้ตอนจบก็ไม่ต้องต่อสู้กับใคร ใครอยากจะได้อะไรก็ให้เขาไป เมื่อเช้านี้มีคนมาฟ้อง ว่ามีคนจะมาแย่งแฟนเขาไป ก็เลยบอกเขาว่า ยกให้เขาไปเลย จะไปทุกข์ทำไม เพราะเราไม่สามารถไปสั่งให้เขาอยู่หรือไม่อยู่กับเรา เป็นเรื่องของเขา ถ้าเขาจะอยู่ต่อให้มาหว่านล้อมอย่างไรเขาก็จะไม่ไป ถ้าเขาจะไปก็ห้ามเขาไม่ได้ แล้วจะไปทุกข์ทำไม อยู่คนเดียวดีกว่า ไม่ต้องทุกข์กับใคร เดี๋ยวก็จบ ทำไมไม่คิดถึงตอนจบกัน กิเลสมันฉลาดมาก มันหลอกไม่ให้เราคิดถึงตอนจบ ไม่ให้คิดถึงความตายเลย เวลาคิดถึงความตาย ก็ว่าเป็นอัปมงคล คิดไม่ได้ ถ้าคิดแล้วเหมือนจะต้องตายทันทีเลย
ถาม ถ้าอยากจบอย่างมีความสุข ต้องทำอย่างไรคะ
ตอบ ต้องทำอย่างที่สอน อย่าไปยึด อย่าไปติด อย่าไปอยากได้อะไร อยู่แบบอุเบกขา ตามมีตามเกิด ใครจะมาแย่งแฟนไปก็เอาไปเลย ใครจะมาแย่งสมบัติไป มีปัญญาเอาไปได้ก็เอาไปเลย ใครจะมาฆ่ามีปัญญาฆ่าก็ฆ่าไปเลย อย่างนี้ก็จะอยู่อย่างมีความสุข ใจจะสงบ จะเป็นอุเบกขา ถ้าไปต่อสู้ก็จะวุ่นวายใจ ให้ใช้สูตร ๓ ย คือ ยอม หยุด เย็น ถ้าจะเอาชีวิตเราไปได้ ก็ยอมให้เอาไป เราจะหยุดต่อสู้ พอหยุดต่อสู้แล้ว ใจก็จะเย็นเป็นอุเบกขา จำ ๓ ย นี้ไว้นะ ยอม หยุด เย็น สามีจะไปก็ปล่อยให้ไป จะด่าเราก็ปล่อยให้ด่าไป จะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไป มีปัญญาทำได้ก็ปล่อยให้ทำไป หลบไม่ได้เราก็ยอม หลบได้ก็หลบ หลีกได้ก็หลีก แต่จะไม่ทำเขา จะไม่ต่อสู้กับเขา ขอให้ดูการกระทำของพระพุทธเจ้าต่อพระเทวทัต ที่พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง ทรงต่อสู้หรือไม่ ถ้าจะทำพระเทวทัต ทำไม่ได้หรือ ระดับพระพุทธเจ้านี่ แต่ทรงยอมหยุดเย็น
ต้องเจริญสัมมาทิฐิอยู่เรื่อยๆ เจริญไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ พิจารณาไตรลักษณ์ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ในรูปเสียงกลิ่นรส ในลาภยศสรรเสริญสุข ถ้าเห็นเป็นไตรลักษณ์หมด ก็จะอยู่อย่างมีความสุขไปตลอด ปรมังสุขังไปตลอด ไม่ได้ปรมังสุขังตอนที่ตายนะ ปรมังสุขังตั้งแต่ตอนที่ปล่อย ปล่อยเมื่อไหร่ก็จะปรมังสุขังเมื่อนั้น พระพุทธเจ้าทรงปรมังสุขัง ในวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงปล่อยตามลำดับ ตอนแรกปล่อยลาภยศสรรเสริญสุขก่อน ตอนออกบวชก็ปล่อยไปส่วนหนึ่งแล้ว แล้วก็มาปล่อยรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็มาปล่อยจิต พอปล่อย ๓ ส่วนนี้แล้วก็ปล่อยหมดแล้ว ไม่มีอะไรเป็นปัญหาอีกต่อไป
ถาม อวิชชาความไม่รู้ที่ติดมาจากจิตเดิม จะเพิ่มขึ้นๆไหมคะ
ตอบ ขึ้นอยู่ว่าจะสะสมส่วนไหน ถ้าสะสมความโลภความโกรธความหลง ก็จะเพิ่มมากขึ้น ถ้าสะสมธรรมะก็จะลดน้อยลง ธรรมะจะละลายอวิชชา เป็นเหมือนผงซักฟอก โลภโกรธหลงเป็นเหมือนสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ในเสื้อผ้า ถ้าไม่ซักเลยก็จะสะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเอามาซักบ้างก็จะชำระออกไปบ้าง ถ้าชำระตลอดเวลาก็จะสะอาดบริสุทธิ์ พอสะอาดบริสุทธิ์แล้วก็จะไม่เปรอะเปื้อนอีกต่อไป อย่างพวกเรานี้ชาตินี้เราทำทั้ง ๒ อย่าง เวลาเราโลภโกรธหลง ก็เพิ่มความสกปรกขึ้นมาในจิต เวลาไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ก็จะลดความสกปรกให้น้อยลงไป จนไม่มีเหลืออยู่เลย เช่นวันนี้แทนที่จะไปซื้อของฟุ่มเฟือย เราเปลี่ยนใจเอาเงินนี้มาทำบุญ ทำอย่างนี้ไปทุกครั้ง ต่อไปก็จะไม่ซื้อของฟุ่มเฟือย จะทำบุญแทน
ถาม ยิ่งปล่อยยิ่งสุข ยิ่งยึดยิ่งทุกข์ใช่ไหมคะ
ตอบ ต้องปล่อย เพราะอย่างไรก็ต้องหลุดจากมือเราไปอยู่ดี เวลาเราจากโลกนี้ไปเอาอะไรไปได้บ้าง ถ้ายึดติดก็เอาความยึดติดไป เอาความโกรธความโลภไป ถ้าปล่อยก็เอาอุเบกขาไป เอาความปล่อยวางไป เกิดชาติหน้าก็จะยึดติดน้อยลงไปเรื่อยๆ จนไม่ยึดติดอะไรเลย เช่นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้บำเพ็ญมาก่อน จะออกจากวังได้ไหม มีใครจะออกจากวังบ้างในสมัยปัจจุบันนี้ มีใครที่อยู่ในวังนี่ จะออกบวชกัน ไม่มีหรอก เพราะไม่ได้บำเพ็ญมา ไม่ได้ปล่อยวางมาในอดีต แต่พระพุทธเจ้าทรงได้บำเพ็ญมาในอดีต ตอนที่เป็นพระเวสสันดร ทรงปล่อยขนาดไหน สละขนาดไหน จึงทำให้การออกบวชไม่ยากเลย ถ้าเคยทำบุญเสียสละมาอยู่เรื่อยๆ ปล่อยอยู่เรื่อยๆ จะออกบวชได้ง่าย หลวงปู่ขาวเห็นไหมท่านก็ออกได้ สละภรรยาให้ผู้อื่นไป ทำไมท่านทำได้ เพราะท่านมีปัญญา ท่านเห็นว่ามันทุกข์มากกว่าสุข มีภรรยาก็ต้องกังวลว่าจะไปนอนกับใคร มีความสุขที่ไหน สู้ตัดไปดีกว่า ตัดไปแล้วก็จบ อยู่คนเดียวไม่ต้องกังวลกับใคร กังวลกับเรื่องของเราดีกว่า ว่าทำอย่างไรให้ใจเป็นอุเบกขา ให้ปล่อยวาง ให้ยอมหยุดเย็น พอยอมหยุดเย็นได้แล้วก็จะสบาย ให้ใช้สูตรนี้เวลาเกิดปัญหา ให้ถามตัวเราว่ายอมหรือเปล่า หยุดหรือเปล่า เย็นหรือร้อน ถ้าร้อนถ้าไม่ยอม เวลาใครพูดไม่ดี ก็ต้องไปหาเรื่อง ไปเรียกค่าเสียหาย ให้มาขอขมาลาโทษ ให้มาทำอะไรต่างๆ ถ้าไม่ทำก็ต้องหาวิธีทำร้ายเขา ใจก็จะร้อนขึ้นมา เป็นยักษ์เป็นมาร เป็นนรกเป็นไฟขึ้นมา ถ้าคิดว่ามันผ่านไปแล้ว ก็จะไม่มีปัญหากับใคร เขาทำอะไรก็ผ่านไปแล้ว เหมือนฝันร้าย พอตื่นขึ้นมาก็หมดไปแล้ว ถ้าเขาจะมีปัญหากับเรา ก็ช่วยไม่ได้ แต่เราไม่มีปัญหากับเขา เราอยู่กับความถูกต้อง อยู่แบบไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ก็จะไม่มีปัญหากับใคร คนอื่นจะมีปัญหาก็เป็นเรื่องของเขา เพราะเขายังมีโลภโกรธหลงอยู่
ถาม ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องอุเบกขา สังขารร่างกายเราที่มันเจ็บมันปวดนี้ เราก็ดูแลตามอัตภาพ ใช่ไหมครับ
ตอบ เหมือนเสียงดัง เราก็รับรู้ว่ามันเสียงดัง ถ้าไม่ชอบก็จะรำคาญใจ ถ้าชอบก็จะไม่เป็นปัญหา ที่ทนความเจ็บไม่ได้เพราะไม่ชอบ ถ้าชอบก็จะทนได้ เหมือนกินพริก ถ้าชอบก็จะกินได้ ถ้าไม่ชอบก็จะกินไม่ได้ ลิ้นก็ลิ้นเหมือนกัน ใจก็ใจเหมือนกัน ต่างกันตรงไหน ต่างกันตรงที่ชอบหรือไม่ชอบ มีอุเบกขาหรือไม่มีอุเบกขา ที่ฝึกกันนี้ก็เพื่อทำใจให้อยู่ตรงกลาง ระหว่างชอบกับไม่ชอบ อุเบกขาดีกว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบแล้วเวลาจากไป ก็จะเสียใจ ถ้าไม่ชอบแล้วต้องสัมผัส ก็จะทุกข์ทรมานใจ ถ้าอุเบกขาก็จะไม่ทุกข์
ถาม ข้างบ้านมีการก่อสร้างตอกเสาเข็ม เสียงดังรบกวนมาก ตอกถึงเที่ยงคืน แล้วยังฉายไฟเข้ามาในห้อง ทนไม่ไหว เพื่อนบอกให้ไปแจ้งเขต
ตอบ ถ้ามาหาเรา เราก็จะบอกให้ยอมหยุดเย็น ทำใจให้เป็นอุเบกขา
ถาม ไม่ต้องทำอะไร เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าบอกเขาให้หยุด แต่เขาไม่หยุด เราก็จะทุกข์ต่อ เพราะอยากจะให้เขาหยุด
ตอบ ถ้ามีอุเบกขาก็จะเฉย
ถาม ถ้าปล่อยให้ตอกเป็นเดือนๆ แสดงว่าเรามีอุเบกขา
ตอบ เราจะอยู่อย่างมีความสุข ต้องยอม ต้องปล่อย ต้องวาง ถ้ายังมีปัญหา แสดงว่าความรู้ของเราเป็นสัญญา ไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นความรู้จริง จะไม่เป็นปัญหา รู้ทางสัญญาเป็นปริยัติ รู้ว่าต้องปล่อย แต่พอเจอเหตุการณ์จริงก็ยังปล่อยไม่ได้ ความรู้ของพวกเรายังเป็นปริยัติ เป็นความจำ ความรู้จริงต้องเกิดจากการปฏิบัติ
ถาม เก่งทฤษฎี แต่ตกปฏิบัติ
ตอบ ตอนต้นก็ต้องศึกษาทฤษฎีก่อน แล้วเอาทฤษฎีไปปฏิบัติ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อจะได้ทำใจให้เป็นอุเบกขา ต่อจากนี้ก็ต้องไปทดสอบ ไปอยู่ที่มีเสียงดังๆ ดูว่าทำใจให้เป็นอุเบกขาได้หรือไม่ เวลาถูกแย่งทรัพย์สมบัติไป ทำใจได้หรือไม่ การมีอุเบกขาไม่หมายความว่าไม่ทำอะไร ถ้ายังรักษาสมบัติไว้ได้ก็ทำไป เช่นจะต้องขึ้นศาลก็ขึ้นไป ศาลตัดสินอย่างไรก็ยอมรับ แต่ใจเป็นอุเบกขาตลอดเวลา
ถาม อย่างกรณีนี้ ถ้าไปฟ้องเขตได้ ก็ควรไป
ตอบ ไปได้
ถาม ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องทำใจไว้ก่อน
ตอบ ต้องยอมรับผล พวกเราได้มาฟังเทศน์ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ถ้าจิตใจดีขึ้นก็ถือว่าได้กำไร ไม่ขาดทุน ถ้าฟังแบบทัพพีในหม้อแกงก็เท่าทุน ไม่ดีขึ้น ถ้าฟังแบบลิ้นสัมผัสกับรสแกงก็ต้องดีขึ้น การฟังธรรมฟังได้ ๒ แบบ ฟังแบบทัพพีในหม้อแกง หรือฟังแบบลิ้นกับรสแกง ถ้าเป็นลิ้นเวลาสัมผัสอะไรจะรู้ทันที ถ้าฟังธรรมด้วยสติจดจ่อ ปัญญาใคร่ครวญ ก็จะเข้าใจทันที จะเกิดผลทันที ทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ ยอมหยุดเย็นได้ ถ้ายอมหยุดเย็นได้มากขึ้น ก็แสดงว่าได้เจริญมรรคมากขึ้น ถ้ายอมหยุดเย็นไม่ได้ ก็แสดงว่ายังสู้กิเลสตัณหาไม่ได้
ถาม ทุกครั้งที่ได้ยินว่าหลวงตาเจ็บหนักนี่ ใจจะแวบ ทำให้คิดถึงตอนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไป พระอานนท์ยังร้องไห้ เจ้าค่ะ
ตอบ ปัญญาของท่านยังไม่เร็วพอ ยังมีกิเลสมีอุปาทานอยู่ ท่านยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เป็นเพียงพระโสดาบัน
ถาม ถ้าเป็นโสดาฯก็ต้องรับความเปลี่ยนแปลงได้ แต่พระอานนท์ในช่วงนั้นเหมือนท่านรับไม่ได้
ตอบ ท่านรับได้ แต่จิตของท่านยังมีอวิชชา จึงทำให้ท่านเศร้า ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ยอมรับ พระโสดาบันไม่ยึดติดกับรูปขันธ์ คือร่างกาย แต่ยังยึดติดกับความรู้สึกคือเวทนาในจิต ยังไม่สามารถควบคุมจิตให้นิ่งได้ตลอดเวลา
ถาม อย่างตอนที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ หลวงตาก็ยังร้องไห้
ตอบ ตอนนั้นหลวงตายังไม่สำเร็จ ท่านใกล้จะสำเร็จแล้ว
ถาม ก็สูงกว่าโสดาบันแล้ว
ตอบ ไม่ทราบว่าท่านอยู่ขั้นไหน ท่านสำเร็จหลังจากหลวงปู่มั่นสิ้นไปแล้ว ตอนอยู่ที่วัดดอยฯ จุดเริ่มต้นของปริศนาธรรม คือความสว่างไสวของจิต หลังจากนั้นท่านก็ไปธุดงค์ ๓ เดือน พอกลับมาที่วัดดอยฯก็ได้คำตอบ ท่านแบกปริศนาธรรมนี้อยู่ ๓ เดือน ถ้าหลวงปู่มั่นยังอยู่ ท่านก็จะช่วยแก้ให้ในตอนนั้นเลย จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลา การมีผู้รู้มีอาจารย์สอนกับการไม่มีก็จะต่างกันตรงนี้ ถ้าไม่มีอาจารย์สอน ก็ต้องลองผิดลองถูก แต่ก็จะรู้คำตอบได้อย่างแน่นอน เพราะอยู่ในกระแสแล้ว ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนี้ จะมีอาจารย์ก็ได้ไม่มีก็ได้ ต้องถึงพระนิพพานอย่างแน่นอน จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้ามีอาจารย์ก็จะเร็ว เหมือนมีคนคอยบอกทาง พระพุทธเจ้าที่ต้องอดพระกระยาหาร ๔๙ วัน เพราะไม่มีครูสอน การปฏิบัติของพระพุทธเจ้าจึงยากที่สุด เพราะไม่มีใครรู้ทางนี้มาก่อน แต่พวกสาวกนี้จะสบาย พอได้พบพระพุทธเจ้าก็จะบรรลุได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ถ้าไม่ได้พบพระพุทธเจ้าก็ต้องบำเพ็ญบุญบารมีไป ต้องคลำทางไปเอง ถ้าไม่ได้บำเพ็ญบุญบารมีในระดับของพระโพธิสัตว์ ก็จะไม่มีทางบรรลุพระนิพพานได้ด้วยตนเองเลย ต้องรอไปจนกว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนา
พวกเราโชคดีที่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ไม่ต้องคลำทาง มีแผนที่ มีถนน เพียงแต่เดินตามถนนไปเท่านั้นเอง เป็นทางออกจากป่า เมื่อก่อนไม่มีทางออก ไม่รู้ทางออกอยู่ตรงไหน ตอนนี้มีทางออกแล้ว พวกเราหลงอยู่ในป่ามานานแล้ว หาทางออกเองก็หาไม่เจอ วนไปเวียนมาอยู่ในป่า พอมีคนรู้จักทางทำทางให้เราเดิน ถ้าไม่เดินก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร คงยังอยากจะหลงอยู่ในป่าต่อไป ชาตินี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้ว เพราะเราสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ภายในเวลาไม่เกิน ๗ ปี พระพุทธเจ้าได้ทรงรับประกันไว้ในสติปัฏฐานสูตรแล้ว พยายามปฏิบัติตามพระสูตรนี้ให้ได้เถิด รับรองได้ว่าไม่เกิน ๗ ปีอย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าไม่เคยโกหกใคร แม้แต่พระอานนท์ก็ยังกังวลว่าจะสำเร็จภายใน ๓ เดือนตามที่ทรงพยากรณ์ได้หรือไม่ เพราะเหลืออีกไม่กี่ชั่วโมงก็ยังไม่สำเร็จ พอปลงว่าไม่สำเร็จแน่ๆถึงจะสำเร็จ เพราะใจไม่เป็นอุเบกขา ไม่เป็นปัจจุบัน ไปกังวลกับอดีตคือคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสว่าจะบรรลุภายใน ๓ เดือน จึงไม่ได้ภาวนาทำใจให้สงบให้เป็นกลาง ให้ปล่อยวาง มัวไปยึดไปติดอยู่กับอดีตกับอนาคต พอปลงได้แล้วจิตก็กลับมาอยู่ในปัจจุบัน ก็หลุดพ้นได้เลย
ขอให้เชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าพวกเรามีสิทธิ์บรรลุภายใน ๗ ปีได้ทุกคน ถ้าปฏิบัติตามที่ทรงสอน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ให้เจริญสติอยู่ทุกขณะ ถ้าจะทำได้ก็ต้องออกบวช ต้องตัดลูกตัดสามีตัดภรรยา ตัดทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ แล้วก็มาเจริญสติ พิจารณาไตรลักษณ์ ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ รับรองได้ว่าไม่เกิน ๗ ปี จะต้องสำเร็จอย่างแน่นอน ถ้าไม่ปฏิบัติก็ต้องรอไปอีกไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ กลับมาเกิดคราวหน้า ไม่รู้ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปใช้กรรมที่ไหนบ้าง ไปรับบุญที่ไหนบ้าง อย่างพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ ที่พระพุทธเจ้าทรงเสียดายมาก เพราะกว่าจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก พระศาสนาก็จะหมดไปแล้ว ทำได้อย่างมากก็นั่งสมาธิเข้าฌาน ตายไปก็ไปเกิดเป็นพรหมใหม่ ก็จะขึ้นๆลงๆอยู่อย่างนี้ เวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ พยายามปฏิบัติไปเถิด เพียง ๗ ปีเท่านั้นเอง ทุกข์เพียง ๗ ปี แล้วก็จะสุขไปตลอด ไม่ดีกว่าหรือ
ถาม วันก่อนถามพระอาจารย์ว่า ทำอย่างไรให้รู้ว่าไม่มีตัวเรา ท่านให้นั่งสมาธิ เวลาเจ็บก็ไม่ให้ขยับ ลูกก็ไปลองดู ก็ประมาณ ๓ ชั่วโมงกว่า มันก็ปวดมาก จะเห็นว่าตัวปวดเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดตัวใหม่ขึ้นมา จะเห็นตัวผู้รู้ ตัวเวทนา และร่างกาย แยกกันเป็น ๓ ส่วน พอความเจ็บปวดดับไปหมด ก็จะเป็นสุขและนิ่งเฉยอยู่สักพักหนึ่ง จากนั้นก็จะเริ่มปวดใหม่ ถูกหรือเปล่าคะ
ตอบ ถูกแล้ว แต่สิ่งที่ต้องเห็น นอกจากเห็นการเกิดดับของเวทนา เห็นตัวจิตว่าเป็นตัวรู้ เห็นว่าร่างกายเป็นเพียงวัตถุแล้ว ก็ต้องเห็นอริยสัจ ๔ ด้วย คือเวลาที่ทุกข์เกิดขึ้นมานี้ ต้องพิจารณาว่าเกิดจากอะไร ก็จะเห็นว่าเกิดจากความอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป ถ้าเห็นก็จะใช้ปัญญาละความอยากได้ ความทุกข์ใจก็จะดับไป เรียกว่านิโรธ ใจก็จะรับกับความเจ็บปวดของร่างกายได้ อย่างไม่สะทกสะท้านไม่เดือดร้อน นี่คือการเห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค เห็นธรรม
ถาม ครั้งที่หนึ่งที่ละได้ จะรู้สึกว่ามีวิภวตัณหา เพราะอยากให้มันหาย แต่มันก็ดับเพราะเราทนดูไป พอวันถัดไป เรารู้ว่าดับได้จริง ก็ไม่มีวิภวตัณหาเจ้าคะ เราก็มองมันเฉยๆ เหมือนจิตผู้รู้มันนิ่งเจ้าค่ะ แล้วก็จะแยกกันให้เห็น ๓ จุด ถือว่าเป็นอุเบกขาไหมเจ้าคะ
ตอบ ถ้าเห็นวิภวตัณหาเป็นตัวปัญหา คือความอยากให้ความเจ็บหายไป แล้วละได้ ทุกข์ก็จะดับ นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมา ต่อไปเวลาเจอเวทนา จะไม่ไปดับเวทนา แต่จะมาดับตัวที่เป็นปัญหาก็คือวิภวตัณหา ก็จะมีดวงตาเห็นธรรมในเวทนา มีปัญญา มีสัมมาทิฐิ ว่าเราไปบังคับเวทนาไม่ได้ ไปสั่งเขาไม่ได้ แต่เราสั่งวิภวตัณหาได้ คือห้ามไม่ให้ไปรังเกียจ ไปมีปฏิกิริยาต่อต้านความเจ็บ ไปอยากให้ความเจ็บหายไปได้ ถ้าดับวิภวตัณหาได้ ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไป ต่อไปเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย จะเจ็บอย่างไรก็จะไม่กลัว จะถือว่าเป็นธรรมดา เหมือนเสียงดังๆที่เราไม่ชอบ ถ้าเราหยุดต่อต้าน หยุดไปอยากให้มันหายไป ยอมรับเขาได้ ก็จะไม่มีความทุกข์ภายในใจ
ที่พระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าบรรลุธรรมกัน ท่านบรรลุตรงนี้ บรรลุตรงที่อริยสัจ ๔ นี้ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ก็ต้องเห็นอริยสัจ ๔ แต่ตัณหาที่ต้องละนั้นต่างกัน พระโสดาบันต้องละความกลัวตายและความกลัวเจ็บของร่างกาย พระอนาคามีต้องละราคะตัณหาด้วยอสุภะ คือความไม่สวยงามของร่างกาย ถ้าเห็นอสุภะ ความทุกข์ที่เกิดจากราคะตัณหาก็จะดับไป ในแต่ละขั้นจะต้องเห็นอริยสัจ ถึงจะรู้จริง ถึงจะบรรลุจริง
ถาม หลังจากนั้นจะไม่ปวด นั่ง ๒ หรือ ๓ ชั่วโมงก็ไม่ปวด
ตอบ ส่วนใหญ่มันปวดที่ใจ
ถาม ถ้าเห็นโครงกระดูก จิตผู้รู้จะบอกว่ามันเป็นธาตุดิน จะต้องทำอย่างไรต่อเจ้าคะ
ตอบ พิจารณาต่อไปจนกว่าจะเห็นอยู่ตลอดเวลา ว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ ไม่ได้เป็นตัวเราของเรา แล้วก็ปล่อยวางความยึดติดในร่างกายได้ ถ้าอยากจะรู้ว่าเราปล่อยวางจริงหรือไม่ ก็ต้องเอาร่างกายนี้ไปอยู่ในป่าช้า ในป่าเปลี่ยว ไปพิสูจน์ดูว่ายังมีความยึดติดในร่างกายหรือไม่ การเห็นโครงกระดูกนี้เป็นปริยัติ จะรู้จริงหรือไม่ อยู่ตอนที่มันจะตาย ถ้าเฉยก็แสดงว่าไม่ยึดติด ถ้าไม่เฉยยังกลัว ยังทุกข์ ก็ยังไม่รู้จริง ต้องไปทดสอบดู อย่างหลวงปู่ท่านหนึ่งเดินธุดงค์ตอนกลางคืน พอไปเจอเสือเข้า จิตก็รวมลงเข้าสู่สมาธิ ปล่อยวางร่างกาย เราจะทำอย่างนั้นได้หรือไม่ ถ้ามีปัญญาเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะปล่อยวางร่างกายได้ จะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป ใจเป็นอุเบกขา แยกออกจากร่างกาย ต่อไปจะไม่กลัวตาย เพราะรู้ว่าเวลามีภัยใจมีที่หลบมีที่พึ่ง มีอุเบกขาธรรมเป็นที่พึ่งของใจ ถ้าเห็นโครงกระดูก เห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟนี้ยังไม่พอ ต้องไปเจอภัยที่จะเกิดขึ้นกับร่างกาย แล้วดูใจว่าตื่นเต้นหรือสงบ ถ้ามีปัญญาก็จะคุมใจให้สงบ ให้ปล่อยวางร่างกายได้ ถ้าวิ่งหนีภัยแสดงว่ายังยึดติดอยู่กับร่างกาย
ถาม เวลาเจริญอานาปานสติ จะเห็นภาพนิมิต ถูกไหมคะ
ตอบ ควรจะรู้แต่ลมอย่างเดียว ไม่ควรไปตามรู้ภาพต่างๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ต้องอยู่กับลมหายใจ ไม่ต้องการเห็นอะไร แต่ต้องการให้ใจนิ่งสงบว่าง ถ้าไปตามรู้สิ่งที่เห็น ก็จะไม่เข้าสู่ความสงบ จะไม่มีพลังที่จะต่อสู้กับกิเลส ที่จะเจริญปัญญา ออกมาจากสมาธิแล้วเหมือนไม่ได้นั่งสมาธิ สมาธิที่มีนิมิตไม่เป็นประโยชน์ กับการเจริญวิปัสสนาการเจริญปัญญา เพราะไม่มีกำลังพิจารณาร่างกายอย่างต่อเนื่อง พอออกจากสมาธิแล้ว กิเลสจะออกตามมาด้วย จะฉุดให้ไปคิดเรื่องอื่นแทน ไปกังวลเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไปห่วงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แทนที่จะพิจารณาความเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องดินน้ำลมไฟ อาการ ๓๒ เพราะกิเลสมีกำลัง ไม่ได้ถูกสมาธิตัดทอน ถ้าออกมาจากสมาธิที่สงบนิ่ง จิตว่างเป็นอุเบกขา กิเลสจะอ่อนกำลังลงไป จะไม่มีกำลังฉุดลากให้ไปคิดเรื่องอื่น ก็จะสามารถพิจารณาร่างกายได้ ถ้าอยู่ในขั้นร่างกาย ก็ต้องพิจารณาร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย ดินน้ำลมไฟ พิจารณาอสุภะ ก็จะพิจารณาไปได้ระยะหนึ่ง พอจิตเริ่มหายเย็นแล้ว เริ่มร้อนขึ้นมา กิเลสก็จะมีกำลังมากขึ้น ก็จะดึงให้ไปคิดเรื่องอื่น แทนที่จะคิดเรื่องอสุภะ ก็จะไปคิดเรื่องสวยงามแทน แทนที่จะคิดเรื่องตายก็คิดเรื่องอยู่ต่อไปแทน ตอนนั้นก็ควรหยุดพิจารณา แล้วกลับไปทำสมาธิใหม่ ทำจิตให้สงบเพื่อตัดกำลังของกิเลส เวลาทำสมาธินี่ ต้องให้นิ่งอย่างเดียว ถ้ามีนิมิตแล้วไปตามรู้ จิตจะไม่นิ่ง พอออกมากิเลสจะไม่ได้ถูกตัดทอนกำลัง จะไม่เกิดประโยชน์ จะไม่ได้เจริญปัญญา ไม่ได้พิจารณาไตรลักษณ์ ในขันธ์ ๕ ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เพราะไม่มีกำลังจดจ่ออยู่กับการพิจารณา กิเลสจะมาฉุดลากให้ไปคิดเรื่องอื่นแทน
เวลานั่งสมาธิ ถ้าไปตามดูนิมิต ก็ต้องรู้ว่าหลงทางแล้ว แทนที่จะเข้าห้องของอัปปนาสมาธิ เราไปเข้าห้องอุปจารสมาธิ ที่มีวีดีโอให้ดู ไปเพลิดเพลินกับการดูหนังฟังเพลง ไม่ได้พักผ่อน ถ้าเข้าไปในห้องของอัปปนาสมาธิ ที่มีเตียงให้นอนหลับสบาย พอออกมาก็จะสดชื่นมีกำลังวังชาไปทำงาน สมาธินี้มี ๒ ห้องคือ ๑. ห้องของอัปปนาสมาธิ จิตนิ่งสงบเป็นอุเบกขา ๒. ห้องของอุปจารสมาธิที่มีนิมิตต่างๆ เวลานั่งสมาธิควรเข้าห้องอัปปนาสมาธิเพื่อพักจิต อย่าเข้าห้องอุปจารสมาธิ ที่มีเครื่องบันเทิงมีวีดีโอให้ดูให้ฟัง ถ้าไปดูพวกนิมิต เวลาออกมาจะไม่มีกำลังต้านกิเลส ที่จะดึงใจให้ไปคิดเรื่องของกิเลส ถ้าเข้าห้องอัปปนาสมาธิ จิตจะนิ่งสงบ พอออกมากิเลสจะไม่มีกำลังฉุดลากให้ไปคิดทางโลภโกรธหลง ถ้าสั่งให้คิดไปทางปัญญาก็จะคิดไปทางปัญญา เวลาทำสมาธิจึงต้องให้เข้าไปในห้องที่สงบว่างเป็นอุเบกขา ถ้าเจอนิมิตก็อย่าไปสนใจ อย่าไปตามรู้ ให้กลับมาหาลม หาพุทโธ
ถาม เวลาดูลม จะมี ๓ จุด
ตอบ ให้รู้อยู่จุดเดียว จุดไหนก็ได้ ที่จะผูกใจให้นิ่ง ไม่ต้องการให้ใจเคลื่อนไปมา ให้อยู่ที่เดียว อยู่ที่ปลายจมูกก็ได้ ที่กลางอกก็ได้แล้วแต่ถนัด พอออกจากสมาธิ ก็ต้องบังคับให้พิจารณาไตรลักษณ์ในร่างกาย พอพิจารณาจนหมดกำลัง กิเลสเริ่มมารบกวน ก็หยุดพิจารณากลับเข้าไปนั่งสมาธิใหม่ พอออกมาก็พิจารณาร่างกายใหม่ สลับกันไปอย่างนี้ จนกว่าจะปล่อยวางร่างกายได้ ก็จะอยากจะไปพิสูจน์ว่าปล่อยจริงหรือเปล่า ถ้าพิจารณาถึงขั้นนั้นแล้วจะไม่กลัวตาย อยากจะรู้ว่าหายกลัวจริงหรือไม่ ต้องไปพิสูจน์ดู ตอนที่พิสูจน์เป็นเหมือนคนบ้าระห่ำ เช่นเดินไปในที่มืดในป่า ไม่ต้องฉายไฟ จะเหยียบอะไรก็เหยียบ เพราะต้องการพิสูจน์ว่าปล่อยร่างกายได้หรือเปล่า ยอมให้งูกัดไหม กัดก็กัด ตายก็ตาย ต้องคิดอย่างนั้น ถ้าคิดอย่างนั้นได้ความกลัวก็จะหายไป จิตจะดิ่งเข้าสู่ความสงบเป็นอุเบกขาเลย เหมือนกับหลวงปู่ชอบที่เดินไปเจอเสือ ท่านต้องการไปหาเสือ เพื่อพิสูจน์ว่ายังกลัวอยู่หรือไม่ ตอนนั้นต้องปลง ตายเป็นตาย พอปลงได้ใจก็จะดิ่งเข้าสู่อุเบกขา ปล่อยวางร่างกาย เข้าสู่ความสงบ เข้าสู่อัปปนาสมาธิ
เวลาพิจารณาเรื่องความเกิดแก่เจ็บตายนี้ จะท้าทายให้เราพิสูจน์ จะไม่หายสงสัย ถ้าไม่เจอของจริง ที่ไหนเป็นที่พิสูจน์ ก็จะไปที่นั่น เช่นไปนั่งอยู่ในป่าช้าคนเดียว ถ้ากลัวอะไรก็ต้องไปหาสิ่งนั้น ต้องไปพิสูจน์ว่าหายกลัวหรือยัง เพราะอย่างมากก็แค่ตาย ต้องพิจารณาก่อนที่จะไปพิสูจน์ ระหว่างพิจารณาก็ต้องทำสลับกับสมาธิ พิจารณาไปจนกว่าจะเผลอไปคิดเรื่องอื่นก็ต้องหยุด แล้วกลับเข้าไปพักในสมาธิต่อ พอออกจากความสงบ ก็พิจารณาใหม่ พิจารณาความตาย พิจารณาดินน้ำลมไฟไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยอมรับความจริง จากนั้นก็อยากจะไปพิสูจน์
นี่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ ที่ต่างจากปริยัติที่เป็นความจำ แต่ไม่มีกำลังไปพิสูจน์ เพราะไม่ได้เป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ ที่ต้องพิจารณาอย่างต่อเนื่อง จนกิเลสไม่สามารถมาแย้งมาคัดค้านได้ เช่นคัดค้านว่าไม่เสียดายชีวิตหรือ รีบตายไปทำไม ไม่บ้าบิ่นเกินไปหรือ ไม่ใช่ทางสายกลาง ลองไปทำดู รับรองว่าจะต้องเป็นอย่างที่พูดนี้ ถ้าพิจารณาจนมีแต่ธรรมล้วนๆอยู่ในใจแล้ว เช่นคิดว่าต้องตายแน่ๆ ก็จะถามตัวเองว่ากลัวตายหรือเปล่า จะรู้ว่ากลัวหรือไม่กลัวก็ต้องไปพิสูจน์ดู ต้องขึ้นเวที เวทนาก็เช่นกัน ก็ต้องพิจารณานั่งสู้กับเวทนา ให้เวทนาเกิดขึ้นแล้วหายไปเอง ต่อไปจะไม่กลัวความเจ็บ ถ้าความทุกข์ทรมานใจที่รุนแรงกว่าความเจ็บได้หายไป จะเจ็บขนาดไหนก็จะไม่เป็นปัญหา
ถาม ที่ท่านอาจารย์บอกว่าความเจ็บหายไป มันหายไปจริงๆ หรือว่าเราทำใจได้กับการเจ็บ
ตอบ มันหายไปเอง ถ้าไม่ไปยุ่งกับมัน มันเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ถาม ความเจ็บทางร่างกายหายไป เพราะเราไม่ไปสนใจมัน หรือว่ามันหายไปเอง
ตอบ ความเจ็บมี ๒ ส่วน เจ็บทางร่างกายกับเจ็บทางใจ ความเจ็บทางร่างกายบางทีก็หาย บางทีก็ไม่หาย ความเจ็บทางใจ ถ้าละสมุทัยได้จะหายไปหมดเลย เวลาละสมุทัยได้จะมีผล ๒ ลักษณะคือ ๑. ความทุกข์ใจหายไปหมด แต่ความเจ็บของร่างกายยังมีอยู่ แต่ไม่มารบกวนใจ ๒. หายไปทั้ง ๒ ส่วนเลย ความเจ็บของร่างกายก็หายไป ความทุกข์ใจก็หายไป ร่างกายเองก็หายไปจากความรู้สึก เพราะจิตดิ่งเข้าสู่ความสงบอย่างเต็มที่ ไม่รับรู้อะไรเลย เป็นได้ ๒ แบบด้วยกัน
จะบรรลุธรรมได้ต้องเห็นอริยสัจ ๔ ขั้นต่างๆ พระโสดาบันก็เห็นขั้นของพระโสดาบัน พระสกิทาคามีก็เห็นขั้นของพระสกิทาคามี พระอนาคามีก็เห็นขั้นของพระอนาคามี พระอรหันต์ก็เห็นขั้นของพระอรหันต์ หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่พระอริยสัจ ๔ นี้ เวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรก ก็ทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ พระอัญญาโกณฑัญญะก็มีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา ต้องเห็นอริยสัจ ๔ หัวใจของพระพุทธศาสนา พระธรรมคำสอนทุกบททุกบาทก็ออกมาจากอริยสัจ ๔ ทั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงนี้ ถึงแม้จะมีมากมายก่ายกอง ก็เป็นเหมือนน้ำในมหาสมุทร ถึงแม้จะกว้างใหญ่ไพศาล ก็จะมีรสเหมือนกันหมดคือรสเค็ม คำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะมีรสเดียว คือทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ต้องเห็นหรือรู้ทุกข์ก่อน ถ้าไม่รู้ทุกข์ก็จะไม่รู้จักวิธีแก้ความทุกข์ จึงทรงสอนว่า ทุกข์ต้องกำหนดรู้ ด้วยการพิจารณาความแก่เจ็บตาย พิจารณาอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ถ้าจะดับทุกข์ก็ต้องตัดอุปาทานในขันธ์ ๕ ต้องปล่อยขันธ์ ๕ แต่พวกเราไม่ยอมปล่อยกัน ชอบจัดการขันธ์ ๕ จัดการร่างกายจัดการเวทนาความรู้สึก ให้เป็นไปตามความต้องการ ให้มีแต่สุขเวทนา ไม่ให้มีทุกขเวทนา ร่างกายก็ต้องแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ตาย ไม่ปล่อยอุปาทานในขันธ์ ๕ ก็เลยต้องทุกข์กับขันธ์ ๕ ถ้าปล่อยแล้วก็จะไม่ทุกข์
นี่คือทุกข์ที่ต้องกำหนดรู้ ต้องศึกษา ต้องพิจารณา ก็จะเห็นเหตุของทุกข์ คือความอยากต่างๆ อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ก็จะตัดความอยากได้ จะไม่อยากไม่ให้เจ็บ ไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ทุกข์ก็จะดับไป เป็นนิโรธขึ้นมาด้วยมรรค คือสติปัญญาพิจารณาความทุกข์ ว่าเกิดจากความอยาก เช่นความกลัว ไม่ชอบก็เป็นความอยาก ชอบก็เป็นความอยาก ไม่ชอบก็ชังหรือกลัว ชอบก็รัก ต้องทำใจให้เป็นกลาง ให้อยู่ระหว่างรักกับชัง ระหว่างชอบกับไม่ชอบ ระหว่างกลัวกับกล้า กล้าก็เป็นกิเลส กลัวก็เป็นกิเลส ต้องเฉยๆ ไม่กล้าไม่กลัว