กัณฑ์ที่ ๔๒ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
มาฆบูชา
วันนี้เป็นวันมาฆบูชา
ความหมายของคำมาฆบูชาคือการบูชาเนื่องในวันมาฆะ
มาฆะเป็นชื่อเดือนในสมัยพุทธกาล
อย่างในสมัยปัจจุบันนี้เราเรียกชื่อเดือนต่างๆว่า
มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม
เมษายน แต่ในสมัยพุทธกาลเรียกอีกอย่างหนึ่ง
เช่นเดือน ๓ เรียกว่า
มาฆะ
เดือน ๖ วิสาขะ
เดือน ๘ อาสาฬหะ
นี่เป็นชื่อของเดือนในสมัยพุทธกาล
เรียกกันมาอย่างนี้
ในสมัยพุทธกาลได้มีเหตุการณ์อันมหัศจรรย์ปรากฏขึ้นในวันเพ็ญเดือน
๓ วันมาฆปุณณมีีี
มีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป
เป็นผู้สิ้นกิเลสแล้วทั้งหมด
เป็นผู้ที่ไม่มีความโลภ
ความโกรธ ความหลง
เป็นผู้ที่ได้บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว
ได้มาประชุมกันเพื่อจะเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยที่ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน
เป็นพระที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บวชให้ด้วยวิธี
เอหิภิกขุอุปสัมปทา
จงมาเป็นภิกษุเถิด
ในบ่ายวันนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงประทานพระโอวาทเรียกว่า
โอวาทปาติโมกข์์
แก่พระอรหันต์ทั้ง ๑๒๕๐ รูป
เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ที่ได้มาตรัสรู้ในโลกนี้จะสอนเหมือนๆกันคือ
๑.
สัพพปาปัสส
อกรณัง
การไม่กระทำบาปทั้งปวง
๒. กุสลัสสูปสัมปทา การทำความดีให้ถึงพร้อม
๓. สจิตตปริโยทปนัง
การชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด
ปราศจากความโลภ ความโกรธ
ความหลง เอตังพุทธานสาสนังนี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์
เพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์จึงสอนอย่างนี้
เพราะนี่คือเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุขความเจริญอย่างแท้จริง
ความเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ความเจริญของวัตถุ
ไม่ได้อยู่ที่ตึกรามบ้านช่อง
ถนนหนทาง รถรา
ข้าวของทั้งหลายว่ามีมากน้อยแค่ไหน
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเครื่องวัดความเจริญ ความสุขความทุกข์ที่มีอยู่ในจิตใจต่างหากที่เป็นเครื่องวัดความเจริญและความเสื่อม
ถ้าจิตใจมีความสงบ
มีความเย็น มีความสุข
มีความสบาย
นี่แหละคือความเจริญ
แต่ถ้าจิตใจไม่สงบ
ไม่มีความเย็น ไม่มีความสุข
ไม่มีความสบาย จิตใจจะมีแต่ความโลภ
ความโกรธ ความหลง
เป็นเหตุของการเบียดเบียนกัน
อย่างที่ได้ยินได้ฟังตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์วิทยุโทรทัศน์
มีการฆ่ากัน
มีการข่มขืนกัน
มีการทำร้ายกัน มีการโกงกัน
นี่ไม่ใช่ความเจริญ
ถึงแม้จะมีวัตถุข้าวของมากมาย
มีตึกรามบ้านช่องที่สูงๆ
มีรถรามากมายก็ตาม
แต่สังคมไม่มีความสงบสุขเพราะจิตใจของคนที่อยู่ในสังคมนั้นมีความเสื่อม
ด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง
เมื่อมีความโลก ความโกรธ
ความหลงมากๆ
ก็จะนำไปสู่การกระทำผิดศีลธรรม
เบียดเบียนต่อกันและกัน
สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่สังคม
จึงอย่าหลงประเด็นโดยคิดว่าความเจริญอยู่ที่วัตถุข้าวของเงินทอง
เพราะวัตถุข้าวของเงินทองเมื่อมีเกินความจำเป็นแล้วไม่ได้ช่วยดับความทุกข์ในจิตใจเลย
เพราะเหตุของความทุกข์เกิดจากความโลภโกรธหลง
ถ้าอยากจะมีความสุขใจ
ไม่มีความทุกข์ใจ
ก็ต้องยึดแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้
คือละการทำบาปทั้งปวง
ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ชำระกิเลสในจิตใจให้หมดไป
ถ้าทำได้ความสุขความเจริญรุ่งเรืองจะเป็นผลตามมาอย่างแน่นอน
ดังที่พระพุทธองค์
และพระอรหันต์สาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติกัน
ท่านมีแต่ความสุขความเจริญในจิตใจ
ท่านจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องมีข้าวของเงินทองอะไร
เพราะข้าวของเงินทองไม่ได้สร้างความสุขให้แก่จิตใจเลย
ความสุขที่แท้จริงเกิดจากความสงบของจิตใจ
ในวันมาฆบูชานี้จึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้น้อมจิตน้อมใจมาที่วัดเพื่อทำพิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา
การบูชานี้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้อยู่สองวิธีด้วยกัน
คืออามิสบูชาและปฏิบัติบูชา
อามิสบูชาคือการบูชาด้วยเครื่องสักการะ
เช่นดอกไม้ธูปเทียน
ดังที่ท่านได้มากระทำกันในศาลาแห่งนี้
ด้วยการกราบพระ จุดธูปเทียน
ถวายดอกไม้ เรียกว่าอามิสบูชา
เป็นการบูชาอย่างหนึ่ง
การบูชาที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นการบูชาที่เลิศที่ประเสริฐ
เป็นการบูชาที่จะนำความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตจิตใจ
คือการบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลในธรรม
เรียกว่าปฏิบัติบูชา
ปฏิบัติอย่างไรจึงเรียกว่าปฏิบัติบูชา
ก็คือการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั่นเอง
มีสามหัวข้อใหญ่ๆ คือ
๑.
ละบาปทั้งปวง ๒. ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
๓. ทำจิตใจให้สะอาด
ถ้าทำตามคำสอนนี้
ถือว่าได้บูชาพระพุทธเจ้าแล้ว
ถือว่าได้นำความสิริมงคลให้แก่ชีวิต
ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้และได้นำมาสอนนี่แหละคือเคล็ดลับของความสุขของชีวิต
อย่ามัวไปติดอยู่กับลาภ
ยศ สรรเสริญ สุข
เพราะสิ่งเหล่านี้พระพุทธองค์ทรงสอนว่าไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง
เป็นความทุกข์
เพราะลาภ ยศ สรรเสริญ
สุขนี้จะต้องมีการเสื่อม
มีการหมดไป มีการสูญสลายไป
โดยธรรมชาติแล้วเป็นของไม่เที่ยง
เป็นของที่ไม่ใช่ของของเราอย่างแท้จริง
สักวันหนึ่งจะต้องหมดไป
แต่สิ่งที่เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา
ที่อยู่กับเราไปตลอด
ก็คือความสงบสุขที่เกิดจากคุณงามความดีที่เราได้สร้างไว้ภายในจิตใจ
ความสงบสุขที่เกิดจากการชำระความโลภ
ความโกรธ ความหลงนี่แหละ
จะเป็นสิ่งที่อยู่กับเราไปตลอด
ถ้าชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในจิตใจให้หมดสิ้นไปแล้ว
ก็จะบรรลุถึงพระนิพพาน
คุณลักษณะของพระนิพพานนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้สองนัย
คือ นิพพานัง ปรมัง
สุขัง และ
นิพพานัง ปรมัง
สุญญัง สุดยอดของความสุขคือพระนิพพาน
สุดยอดของความว่างก็คือพระนิพพาน
คำว่าว่างนี้หมายถึงว่างจากความทุกข์
ว่างจากความเศร้าโศกเสียใจ
ว่างจากความโลภ ความโกรธ
ความหลง ว่างจากกิเลสตัณหาทั้งหลายนั่นเอง
ถ้าปรารถนาความสุขความเจริญ
ความเป็นสิริมงคล
ก็ขอให้น้อมเอาพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ใน
วันมาฆะปุณณมีเมื่อ
๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วมาปฏิบัติ
คือให้ละบาปทั้งหลายเสีย
ให้ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม
และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด
เมื่อได้กระทำสิ่งเหล่านี้แล้ว
ถือว่าได้บูชาพระพุทธ
พระธรรม พระสงฆ์
ได้ให้ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้