กัณฑ์ที่ ๔๒๐ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๔
วันหลวงตาละขันธ์
วันนี้จะพาญาติโยมไปกราบท่านหลวงตาทางจิต เราจะนั่งสมาธิกันสัก ๑๐ นาที พอจิตสงบแล้วก็จะรู้ว่าท่านอยู่ที่ไหน ตอนนี้พวกเราไม่สามารถติดต่อกับท่านทางร่างกายได้ แต่ยังสามารถติดต่อกับท่านทางจิตใจได้เสมอ เพราะจิตเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ไปถึงร่างกายท่านก็อาจไม่ถึงจิตของท่าน เพราะไปถึงที่นั่นแล้วจิตว้าวุ่นขุ่นมัว จิตไม่สงบ ก็จะไม่ถึงตัวท่าน ถ้าอยากจะถึงตัวท่านก็ทำจิตใจให้สงบ แล้วจะรู้ว่าท่านเป็นอย่างไร จิตทุกดวงที่สงบเป็นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม เมื่อเราเข้าถึงความสงบแล้วเราก็จะเข้าถึงตัวท่าน นั่งสมาธิสัก ๑๐ นาทีแล้วค่อยมาคุยกันต่อ ตอนนี้เรามาปฏิบัติบูชากัน บูชาท่านทางจิตใจ มีสติอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จะอยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้ จะอยู่กับพุทโธก็ได้ แล้วแต่ถนัด ชอบอะไรก็ให้จิตอยู่กับสิ่งนั้น หรือจะนึกถึงองค์ท่านก็ได้ ความจริงภาพขององค์ท่านไม่ใช่องค์ท่านหรอกนะ องค์ท่านที่แท้จริงคือความว่างความสงบ พยายามทำจิตให้ว่างให้สงบ อย่าให้มีความคิดปรุงแต่งเข้ามารบกวนในขณะนี้ ให้มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรืออยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ
ตอนนี้พวกเราก็ได้นั่งสมาธิกัน ๑๐ นาทีแล้ว จิตสงบเป็นอย่างนี้ จิตไม่ได้เกี่ยวกับร่างกาย ร่างกายจะเป็นอย่างไร จิตก็ยังเป็นจิตอยู่อย่างนั้น เป็นจิตที่สงบหรือไม่สงบ ถ้าจิตสงบจิตก็สบาย ไม่มีความทุกข์ ไม่เอาเรื่องความทุกข์ต่างๆเข้ามาแบก ความทุกข์ก็จะอยู่ข้างนอกจิต ความทุกข์ของร่างกาย ความเจ็บความแก่ความตายของร่างกาย เป็นสิ่งที่จิตรับรู้เท่านั้น ถ้าจิตสงบจิตก็จะไม่ได้ปรุงแต่ง ไม่ได้อยากให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ปล่อยให้ร่างกายเป็นไปตามเรื่องของเขา มีสติสมาธิปัญญารักษาจิตให้สงบ เวลาร่างกายเป็นอะไรก็ต้องทำอย่างนี้กัน ทำจิตให้สงบ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงเข้าสู่สมาธิเข้าสู่ฌานขั้นต่างๆ จนถึงวาระสุดท้ายก็ปล่อยวาง แยกออกจากร่างกายไป จิตไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ร่างกายเป็นเพียงอาการ ๓๒ คือ ผมขนเล็บฟันฯลฯ ที่มาจากดินน้ำลมไฟ พอหมดอายุก็ต้องเสื่อมสภาพไป ส่วนประกอบที่มาอยู่รวมกัน คือดินน้ำลมไฟ ก็แยกไปกันคนละทาง น้ำก็กลับไปรวมกับน้ำ ลมก็กลับไปรวมกับลม ดินก็กลับไปรวมกับดิน ไฟก็กลับไปรวมกับไฟ เป็นการทำงานของธรรมชาติ เช่นฝนตกลงมาในดิน ก็ทำให้เมล็ดต้นไม้ที่อยู่ในดินเจริญขึ้นมา เป็นผักเป็นอาหารให้แก่สัตว์ให้แก่มนุษย์ พอสัตว์มนุษย์กินเข้าไปก็กลายเป็นอาการ ๓๒ เป็นผมขนเล็บฟันฯลฯ
นี่คือเรื่องของร่างกาย เป็นอย่างนี้ เป็นเหมือนกันทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของพระพุทธเจ้า หรือร่างกายของปุถุชนอย่างพวกเรา ไม่มีความแตกต่างกัน มาจากดินน้ำลมไฟเหมือนกัน ที่เราเติมอยู่ทุกขณะ เช่นเติมลมอยู่ทุกขณะ หายใจเข้าเราก็เติมลมเข้าไป ร่างกายขาดลมหายใจไม่ได้ พอขาดลมหายใจการทำงานของร่างกายก็หยุด น้ำก็ต้องเติมแต่ไม่ถี่เหมือนกับลม อาหารคือดินและไฟก็ต้องเติม แต่ไม่ถี่เหมือนกับน้ำ ลมนี้ถี่มาก น้ำถี่น้อยกว่า แล้วก็ดินและไฟก็ถี่น้อยที่สุด ขาดลมหายใจได้ไม่กี่นาที ร่างกายก็ต้องหยุดทำงาน ขาดน้ำไม่กี่วันก็ต้องหยุดทำงาน ขาดดินขาดไฟคืออาหารได้นานกว่า ก่อนที่จะหยุดทำงาน เป็นการเติมธาตุที่กำลังรวมตัวกันอยู่นี้ ให้รวมตัวกันต่อไป ธาตุเก่าก็จะแยกตัวออกไปทางทวารต่างๆ ลมหายใจเก่าก็แยกตัวออกไป น้ำเก่าก็แยกตัวออกไป ดินเก่าก็แยกตัวออกไป นี่คือระบบการทำงานของร่างกาย ระบบของการเข้าออกของดินน้ำลมไฟ จะเป็นอย่างนี้ไปจนกว่า การแยกตัวของดินน้ำลมไฟ จะมากกว่าการรวมตัวของดินน้ำลมไฟ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จะไม่รับดินน้ำลมไฟใหม่เข้าไป อาหารก็จะกินไม่ได้ น้ำก็จะดื่มไม่ได้ ก็ต้องใช้สายยางใช้หลอด ที่เป็นการฝืนธรรมชาติ ทำจากการปรุงแต่งของจิตของผู้อื่น หรือของตนเองที่สั่งให้ผู้อื่นทำให้ แต่จะฝืนจะบังคับอย่างไร ในที่สุดก็จะไม่รับอยู่ดี เพราะมีแต่จะแยกออกจากกัน จะไม่ยอมรวมตัวกัน เมื่อถึงเวลานั้นก็ถึงจุดสุดท้าย ถึงการหยุดทำงานของร่างกาย เรียกว่าคนตาย
ผู้ที่ทำอะไรต่างๆผ่านทางร่างกายก็คือใจ ใช้ร่างกายเป็นลูกน้องเป็นบ่าว ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ทำดีบ้างทำบาปบ้าง แล้วก็รับผลบาปรับผลดีที่ตนทำ จนกว่าจะหยุดทำบาปหยุดการกระทำทุกอย่าง คือไม่ไปหาร่างกายใหม่ ไปเกิดใหม่ ถ้าใจสงบนิ่งได้ตลอดเวลา เวลาร่างกายเป็นอะไรไปก็ปล่อยให้เป็นไป ใจก็จะไม่ต้องไปหาร่างกายใหม่ ถ้าใจยังไม่นิ่งก็ยังต้องไปต่อ เวลาที่ไม่มีร่างกายนี้ก็เหมือนเวลาที่นอนหลับ แล้วก็ฝันไป ฝันดีก็ไปดี ไปสวรรค์ ไปเป็นเทพเป็นพรหม ถ้าฝันร้ายก็ไปเป็นเปรต ไปตกนรก จนกว่าจะตื่นขึ้นมาเป็นมนุษย์เป็นเดรัจฉาน แล้วก็มาทำบาปทำบุญต่อ จนกว่าร่างกายจะแตกดับไป แล้วก็กลับไปฝันใหม่ ตอนที่มีร่างกายก็เหมือนตอนที่ตื่น ตอนที่ร่างกายแตกดับไป ก็เหมือนตอนที่นอนหลับฝันไป ตอนที่เรานอนหลับแล้วฝันไปนี้ ก็เหมือนไปเกิดใหม่ ไปรับบุญไปใช้บาปบนสวรรค์ในนรกชั่วระยะสั้นๆ ถ้าฝันไม่ดีก็ไปใช้บาป ถ้าฝันดีก็ไปรับบุญ ถ้าร่างกายหลับไม่ตื่นเลย ก็จะฝันยาว ฝันไปจนกว่าหมดแรงของบุญหรือบาป แล้วก็กลับมาได้ร่างกายใหม่ มาเป็นมนุษย์ มาเป็นเดรัจฉานใหม่
เพราะจิตไม่ตาย จึงได้ร่างกายใหม่ แล้วก็มาทำบุญทำบาปใหม่ พอตายไปก็เหมือนนอนหลับฝันไประยะหนึ่ง ช่วงนั้นเป็นช่วงของกายทิพย์ เช่นพระพุทธมารดาที่ทรงเสด็จสวรรคต ๗ วันหลังจากที่ทรงประสูติพระพุทธเจ้า ทรงได้กายทิพย์เป็นเทพ พระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถติดต่อกับกายทิพย์ได้ ด้วยพลังจิต ด้วยพลังสมาธิ คืนที่หลวงปู่มั่นมรณภาพ คุณแม่ชีแก้วก็รับทราบทางสมาธิ เพราะหลวงปู่มั่นไปปรากฏในนิมิต ว่าท่านได้มรณภาพไปแล้ว วันนั้นคุณแม่ชีแก้วเตรียมตัวจะเดินทางไปกราบท่านในวันรุ่งขึ้น ในคืนนั้นหลวงปู่มั่นก็มาบอกทางนิมิต ว่าไม่ต้องไปแล้ว เพราะท่านเสียแล้ว นี่คือเรื่องของจิต ที่เราจะไม่ค่อยได้เห็นหรือรู้กัน เพราะไม่เข้าสมาธิกัน ถ้าเข้าสมาธิได้จะเห็นตัวจิต จิตสงบมากก็จะเห็นตัวรู้เด่นมาก จะรู้ว่านี่คือจิต ไม่ใช่ร่างกาย จะรู้ว่าจิตนี้แหละเป็นผู้ทำบุญทำบาป เป็นผู้สั่งการให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ร่างกายของพวกเรามาถึงที่นี่ได้ ก็เพราะจิตเป็นผู้สั่งการ ถ้าจิตไม่ได้สั่งก็จะไม่ได้มา ถ้าร่างกายไม่มีจิต ก็จะไม่สามารถไปไหนมาไหนได้
จิตเป็นตัวที่เล่นละคร ส่วนร่างกายเป็นเหมือนตัวละคร เป็นหัวโขน จิตเล่นเป็นบทต่างๆ เป็นหญิง เป็นชาย เป็นคนรวย เป็นคนจน เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นหัวโขน เล่นละครไปจนกว่าบทจะหมด แล้วก็เปลี่ยนหัวโขนใหม่ เป็นนายกฯแล้ว ก็กลับมาเป็นประชาชนเต็มขั้น เป็นพระมหากษัตริย์ บางทีก็ถูกปลงพระชนม์ หรือต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ร่างกายของพวกเราเป็นเหมือนหัวโขน มีใจเป็นตัวเล่นบทต่างๆ แต่ใจไม่รู้ว่าร่างกายเป็นเพียงหัวโขน กลับไปคิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ก็เลยต้องทุกข์ไปกับหัวโขน เวลาหัวโขนได้ดิบได้ดีก็ดีอกดีใจ เวลาตกต่ำก็เศร้าโศกเสียใจ มีความสุขมีความทุกข์ไปกับหัวโขน ส่วนใหญ่จะทุกข์มากกว่าสุข ทุกข์ตลอดเวลา ไม่ได้ทุกข์เฉพาะตอนที่เสียไปเท่านั้น ตอนที่มีอยู่ก็ทุกข์ ทุกข์ด้วยความกังวล ด้วยความห่วง ด้วยความหวง ด้วยความกลัว ถ้ารู้ว่าเป็นเพียงหัวโขน ไม่ใช่ตัวเราของเรา สักวันหนึ่งจะต้องทิ้งมันไป ก็จะไม่ยึดติด จะไม่ทุกข์ ไม่กังวล ไม่หวง ไม่ห่วง ไม่กลัว จะอยู่อย่างสุขสบาย นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าครูบาอาจารย์ทั้งหลาย สอนให้พวกเรารู้กัน
ให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตมาครอบครองมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่มีคุณมีประโยชน์กับจิตใจเลย มีแต่จะให้ความทุกข์ อย่าไปยึดไปติดไปแสวงหา ถ้าร่างกายนี้ตายไปแล้ว ก็อย่าไปหาร่างกายใหม่อีก อย่าไปเกิดใหม่ อย่าไปอยากสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรส อย่าไปอยากมีอยากเป็น หรืออยากไม่มีอยากไม่เป็น ให้จิตนิ่งเหมือนขณะที่อยู่ในสมาธิ จึงต้องทำจิตให้นิ่งตลอดเวลา จะได้ไม่ไปเกิดอีก การปฏิบัติธรรมเป็นอุบาย ที่จะได้เข้าถึงความสงบ เข้าถึงตัวจิต เข้าถึงการไม่ต้องไปเกิดใหม่อีก การปฏิบัติบูชาก็เพื่อความสงบความนิ่งของจิต จึงบูชาท่านได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำเป็นที่จะต้องไปบูชาที่หน้าองค์ท่าน อย่างพระพุทธรูปนี้ก็ไม่ใช่องค์พระพุทธเจ้า เป็นเพียงองค์แทนท่าน เป็นหุ่นที่เราปั้นขึ้นมา แล้วสมมุติว่าเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็คือจิตที่สงบนี่เอง ใครมีจิตที่สงบก็จะได้พบกับพระพุทธเจ้า
หน้าที่ของพวกเราก็คือ ต้องปฏิบัติให้มาก เจริญมรรคให้มาก มรรคเป็นกุญแจที่จะทำให้เราได้พบกับพระพุทธเจ้า พบพระอริยสงฆ์สาวกที่ได้จากพวกเราไปแล้ว พบด้วยมรรคคือศีลสมาธิปัญญา ทานศีลภาวนา พบด้วยสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมากัมมันโต สัมมาวาจา สัมมาวายาโม สัมมาอาชีโว สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ที่พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระอริยสงฆ์ และครูบาอาจารย์ทั้งหลาย สอนให้พวกเราปฏิบัติ ต้องเจริญมรรคให้มาก จะได้เห็นว่าทุกข์เกิดจากอะไร จะได้ละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ได้ นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมา นิโรธก็คือความดับของทุกข์ ไม่ใช่ความดับของจิตหรือของร่างกาย นิโรธแปลว่าความดับ แต่ไม่ใช่เป็นการดับจิตหรือดับร่างกาย จิตนี้ดับไม่ได้ ร่างกายนี้ก็ดับไม่ได้ด้วยมรรค ร่างกายดับเพราะเป็นธรรมชาติของร่างกาย เพราะขาดธาตุ ๔ ที่จะทำให้อยู่ต่อไปได้ ก็จะดับไปเอง เหมือนตะเกียงที่ไม่ได้เติมน้ำมัน ถ้าจุดไปเรื่อยๆพอน้ำมันหมด ไฟของตะเกียงก็จะดับไปเอง
นิโรธแปลว่าการดับของทุกข์ ที่ต้องดับด้วยมรรค มรรคก็คือสติปัญญา ที่จะพิจารณาให้เห็นว่า สมุทัยคือความอยากต่างๆนี้ เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา พอเห็นความอยากปรากฏขึ้นมาภายในใจก็ดับมันเลย พออยากจะสูบบุหรี่ก็หยุดสูบ อยากจะดื่มสุราก็หยุดดื่ม อยากจะเปิดโทรทัศน์ดูหนังฟังเพลงก็หยุด หยุดไปเรื่อยๆ ต่อไปทุกข์ก็จะดับไปหมด เมื่อดับแล้วก็จะสบาย ตอนที่อยากจะเปิดโทรทัศน์ เพราะเกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว เกิดความเหงาที่เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ต้องหาอะไรทำแก้เหงา ต้องเปิดโทรทัศน์ดู หรือออกไปช็อปปิ้ง โทรไปคุยกับเพื่อน เพราะเกิดความทุกข์แล้วโดยไม่รู้ตัว เพราะเวลาอยู่คนเดียวเหงา ก็เลยอยากจะติดต่อกับคนอื่น อยากจะสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรส อยากจะฟังเสียงของคนนั้นคนนี้ อยากจะเห็นคนนั้นคนนี้ ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา เกิดความเหงา เกิดความว้าเหว่ขึ้นมา ถ้าไปอยู่วัดก็ต้องกลับบ้าน กลับไปหาคนที่อยากจะเห็น จึงอยู่วัดไม่ได้นาน เหมือนคนดำน้ำ ดำได้ไม่นานก็ต้องโผล่ขึ้นมา ถ้าร่างกายไม่ต้องอาศัยลมหายใจ ก็จะดำไปได้ตลอด ถ้าไม่ต้องอาศัยรูปเสียงกลิ่นรสเป็นลมหายใจ ก็จะบวชได้ อยู่คนเดียวได้ เพราะมีลมหายใจอย่างอื่นแทน ก็คือความสงบ
ถ้าอยู่วัดแล้วก็ต้องนั่งสมาธิให้มาก พอออกจากสมาธิก็เดินจงกรมต่อ ควบคุมจิตใจไม่ให้ไปคิดถึงรูปเสียงกลิ่นรส ให้มาคิดทางมรรค ให้พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาว่ารูปเสียงกลิ่นรสไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เราคิดว่าเป็นสุขแต่ความจริงมันเป็นทุกข์ เพราะเป็นเหมือนลมหายใจ ถ้าไม่มีก็จะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ต้องอาศัยลมหายใจ ไม่มีลมก็อยู่ได้ รูปเสียงกลิ่นรสนี่เป็นเหมือนลมหายใจของกิเลส ที่ต้องมีรูปเสียงกลิ่นรสมาบำรุงบำเรออยู่เรื่อยๆ ถึงจะดับความทุกข์ได้ชั่วคราว แต่ดับไม่ได้นาน เดี๋ยวก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาใหม่ ไม่ได้ดับอย่างถาวร แล้วก็พาให้ไปพบความทุกข์ใหม่ อยู่คนเดียวก็ทุกข์เพราะไม่มีเพื่อน พอมีเพื่อนก็ทุกข์กับเพื่อน ทะเลาะกันบ้าง โกรธเกลียดกันบ้าง ทำร้ายกันฆ่ากันบ้าง มีปัญหาตลอดเวลา เพราะต้องอาศัยรูปเสียงกลิ่นรส มาบำรุงบำเรอจิตใจ มาดับทุกข์ เหมือนราดน้ำมันเพื่อดับไฟ เวลาราดลงไปในกองไฟใหม่ๆไฟก็ทำท่าจะดับ เพราะน้ำมันมันยังไม่ร้อน พอน้ำมันมันร้อนแล้ว ไฟที่ทำท่าจะดับก็กลับลุกแรงขึ้นกว่าเดิม ความทุกข์ที่เกิดจากความว้าเหว่ก็เหมือนกัน เป็นเหมือนกองไฟ ถ้าเอาน้ำมันคือรูปเสียงกลิ่นรสมาดับ ตอนที่ได้สัมผัสก็จะดีอกดีใจมีความสุข พอสัมผัสจนจำเจแล้วก็จะเบื่อ ก็กลายเป็นไฟลุกขึ้นมาใหม่ แรงกว่าเก่า พวกเราจึงควรทำหน้าที่ดูแลรักษาใจให้สงบ ให้ปราศจากความอยากต่างๆ จะได้ไม่มีความทุกข์ พอไม่มีความทุกข์แล้วจะอยู่ที่ไหนก็ได้ จะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ไม่เป็นปัญหา เพราะไม่มีอะไรจะต้องทำ วุสิตัง พรหมจริยัง กิจในพรหมจรรย์นี้ได้เสร็จสิ้นสุดแล้ว ไม่มีกิจอะไรที่จะต้องทำอีกต่อไป ถ้าจะทำก็ไม่เรียกว่ากิจ เรียกว่างานอดิเรก เหมือนคนที่เกษียณอายุแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ถ้าทำก็เป็นงานอดิเรก ทำไปอย่างนั้น ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้
ขอให้พวกเราบูชาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ บูชาครูบาอาจารย์ ด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยวิริยะความอุตสาหะ ด้วยขันติความอดทน เจริญสติให้มาก สติเป็นหัวหอกของมรรคเลย ที่จะทำให้มรรคเจริญขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีสติก็จะทำอะไรไม่ได้ คิดดีก็ไม่ได้ ทำดีก็ไม่ได้ คนที่ไม่มีสติก็คือคนบ้า ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีสติควบคุมสั่งการ ให้ใจทำตามคำสั่ง จะทำไปตามอารมณ์ เหมือนลิงที่ไม่มีเชือกผูกคล้องคอไว้ เวลาสั่งให้มันทำโน่นทำนี่ มันจะไม่ฟัง จะทำไปตามอารมณ์ ถ้าจะเจริญมรรคก็ต้องเจริญสติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ คอยควบคุมใจให้อยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าไม่อยู่ก็ต้องใช้อย่างอื่นดึงเอาไว้ด้วย เช่นบริกรรมพุทโธก็ได้ ทำงานไปแล้วก็บริกรรมพุทโธๆไปด้วย อย่างนี้ใจก็จะไม่ไปที่อื่น จะอยู่กับงานอยู่กับพุทโธควบคู่กันไป เช่นเวลาดูลมหายใจถ้าดูเฉยๆไม่อยู่กับลม ก็ต้องใช้พุทโธกำกับไปด้วย หายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธ หรือหายใจเข้าก็ว่าพุทโธ หายใจออกก็ว่าพุทโธ เช่นเดียวกับเวลาเดิน ก้าวเท้าซ้ายก็ว่าพุทโธ ก้าวเท้าขวาก็ว่าพุทโธ ทำอย่างนี้ก็ได้ หรือจะไม่ใช้พุทโธก็ได้ ถ้ารู้ว่ากำลังก้าวซ้ายขวาอยู่ หรือรู้ว่ากำลังหายใจเข้าหายใจออก ไม่ไปคิดเรื่องอื่น ขึ้นอยู่กับจริตหรือระดับจิตของแต่ละคน ถ้าสติมีกำลังน้อยก็อาจจะต้องใช้ ๒ อย่างช่วยกัน เหมือนกับเชือก ถ้าเชือกเส้นเดียวผูกลิงไว้ไม่อยู่ ก็ต้องใช้เชือก ๒ เส้น ถ้าให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือให้รู้อยู่กับลมหายใจ ยังไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ก็เอาพุทโธเข้ามากำกับด้วย กำลังเดินจงกรมก็พุทโธไปด้วย ก้าวเท้าซ้ายก้าวเท้าขวาก็พุทโธๆไป ไม่ให้คิดอะไรเลย
เรื่องจะสำคัญอย่างไรก็ต้องถือว่าไม่สำคัญ ถ้าสำคัญก็หยุดปฏิบัติ แล้วไปทำเรื่องสำคัญให้เสร็จก่อน อย่าเอามาปนกัน เวลาปฏิบัติก็อย่าเอาเรื่องอื่นมาแบกไว้ในใจ เรื่องลูกเรื่องสามีเรื่องภรรยาเรื่องงาน เรื่องอะไรต่างๆ ถ้าเป็นสิ่งที่ต้องทำก็ไปทำให้เสร็จๆไป ทำด้วยสติอย่าไปคิดเรื่องอื่น อย่าทำงานนี้แล้วก็อยากไปนั่งสมาธิไปปฏิบัติธรรม ต้องทำเรื่องเดียว ให้ใช้ปัญญาวิเคราะห์ดูว่า งานไหนควรตัดควรละ งานไหนควรทำให้มากขึ้น งานทางโลกก็รู้กันอยู่แล้วว่า ไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจเลย ทำไปเท่าไหร่ก็เท่านั้นแหละ อย่างมากก็ให้มีเงินมากขึ้น มีตำแหน่งสูงขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้ความทุกข์น้อยลงไป แต่งานทางธรรมนี้ ถ้ามีสติมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น มีปัญญามากขึ้น ความทุกข์ก็จะน้อยลงไป ความสุขก็จะมีมากขึ้น จึงต้องเลือกงาน งานไหนที่ควรตัด เพื่อจะได้เอาเวลามาเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา พยายามตัดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในที่สุดก็จะเป็นนักบวชได้ เป็นนักบวชก็ยังต้องทำงานอย่างอื่นด้วย ไม่ได้เจริญแต่มรรคอย่างเดียว ต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ต้องตัดเย็บซักจีวร ปัดกวาดลานวัดถูศาลา ทำหน้าที่ต่างๆ แต่เราสามารถทำควบคู่ไปกับการเจริญมรรคได้ คือทำด้วยสติ นักบวชเวลาทำงานร่วมกันจะไม่คุยกัน ทุกคนมีสติอยู่กับงานของตน เป็นเหมือนไม่รู้จักกันหรือไม่ชอบกัน ต่างคนต่างทำงานของตน ถ้าเป็นฆราวาสพอทำอะไรด้วยกันก็จะคุยจ้อเลย กินข้าวก็คุยกัน เวลาพระฉันจังหันท่านคุยกันหรือเปล่า เวลาปัดกวาดท่านคุยกันหรือเปล่า ถ้าเป็นวัดปฏิบัติจริงๆจะไม่คุยกันเลย ไม่ทักทายกัน
พยายามพุ่งเป้าไปที่การเจริญมรรค ถ้ามีข้าวของเงินทองต่างๆก็สละไปให้หมด อย่าเก็บไว้ให้เป็นบ่วง ที่จะขัดขวางการเจริญมรรค มีสมบัติข้าวของเงินทองก็ต้องมาคอยดูแลจัดการ ไม่สามารถไปเจริญมรรคได้ มีบริษัทมีกิจการจะทิ้งได้หรือเปล่า ถ้าทิ้งไม่ได้ก็จะติดอยู่กับกิจการ ไม่มีเวลาไปเจริญมรรค ต้องเริ่มตัดไปทีละเล็กทีละน้อย ให้ลูกหลานทำแทน หรือขายไปเลย ถ้ายังต้องอาศัยเงินทองเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็เก็บเอาไว้ ถ้าไม่ต้องอาศัยก็เอาไปทำบุญทำทานให้หมดเลย แล้วก็อาศัยการบิณฑบาตเป็นการเลี้ยงชีพ จะได้มีเวลาเจริญสติสมาธิปัญญา อยู่ที่การรู้จักจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่างๆ ว่าอันไหนสำคัญมากกว่า อันไหนสำคัญน้อยกว่า สิ่งที่ไม่สำคัญที่ไม่เป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจก็อย่าไปทำ สิ่งที่เป็นโทษก็อย่าไปทำ เช่นกินเหล้าเมายาเที่ยวกลางคืน เพราะไม่เป็นประโยชน์กับชีวิตจิตใจเลย แต่เป็นประโยชน์กับกิเลสตัณหา ที่จะมาสร้างความทุกข์ให้กับใจเรา ไม่ได้ทำจิตใจให้สงบ ไม่ได้ลดความทุกข์ให้เบาบางลงไป ต้องรู้จักแยกแยะ และรู้จักตัด เพื่อจะได้มีเวลามาทำในสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์อย่างเต็มที่ภายในชาตินี้
อย่าคิดว่าตายไปแล้วจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ทันทีเลย กว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ อาจจะไม่มีพระพุทธศาสนาหลงเหลืออยู่แล้วก็ได้ ถ้าเป็นผู้โดยสารก็อย่าไปคิดว่ารถเมล์คันนี้ไม่ใช่รถเมล์เที่ยวสุดท้าย ยังมีคันอื่นมาอีก ขอนั่งกินเหล้าต่อ พอรอขึ้นรถก็จะไม่มีรถให้ขึ้นแล้ว ต้องเดินไป ศาสนาพุทธก็เป็นเหมือนรถเมล์ ที่พาเราไปสู่พระนิพพาน ถ้าไม่มีรถก็จะไม่มีทางที่จะไปถึง จึงควรรีบตักตวงประโยชน์ให้เต็มที่ภายในชาตินี้เถิด มีคนมากมายที่ได้ทำมาแล้ว ตั้งแต่วันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ปรากฏมีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานกันเป็นจำนวนมาก มีมาตลอดระยะสองพันกว่าปีแล้ว มีไม่ขาดสาย เราก็เป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในชาตินี้ ถ้าทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือเจริญมรรคให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสติ อย่างที่ทรงตรัสสอนไว้ว่า ผู้ใดเจริญสติตามที่พระองค์ได้ทรงสอน ๗ วันก็บรรลุได้ ถ้า ๗ วันบรรลุไม่ได้ก็ ๗ เดือน ถ้า ๗ เดือนบรรลุไม่ได้ก็ ๗ ปี ทรงรับประกันด้วยพระองค์เอง ไม่เหมือนโฆษณาในสื่อต่างๆ ที่มักจะไม่ได้เป็นอย่างที่รับประกันไว้ แต่นี่พระพุทธเจ้าทรงรับประกันเอง แล้วก็มีผู้ยืนยันว่า ได้รับผลย่างที่ได้ทรงรับประกันไว้ บางท่านไม่ถึง ๗ วัน บางท่านไม่ถึง ๗ เดือน บางท่านไม่ถึง ๗ ปี ถ้าเกิน ๗ ปีก็ไม่เกินชาตินี้ ปรากฏเป็นสรณะที่พึ่งของพวกเรากันเป็นจำนวนมาก เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระสุปฏิปันโน ให้พวกเราได้ยึดเป็นที่พึ่ง มีเป็นจำนวนมาก ในยุคปัจจุบันนี้ตั้งแต่หลวงปู่มั่นมา มีครูบาอาจารย์มากน้อยเพียงไร
สติเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขเข้าไปสู่ธรรมอื่นๆ ถ้าไม่มีสติก็จะทำสมาธิไม่ได้ ไม่มีสมาธิก็จะเจริญปัญญาไม่ได้ ไม่มีปัญญาก็จะหลุดพ้นไม่ได้ เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน สติสำคัญที่สุด ไม่มีสติก็ทำบุญให้ทานไม่ได้ รักษาศีลไม่ได้ คนเสียสติทำบุญให้ทานไม่ได้ รักษาศีลไม่ได้ อย่าไปพูดถึงเรื่องการนั่งสมาธิหรือเจริญปัญญาเลย พวกเราพอมีสติที่จะทำบุญได้รักษาศีลได้ แต่นั่งสมาธิได้บ้างไม่ได้บ้าง ปัญญาแทบจะไม่ได้เจริญกัน วิมุตติการหลุดพ้นก็ยังไม่ปรากฏ เพราะสติมีกำลังไม่มากพอ ถ้าสติมีกำลังมากพอก็จะทำจิตให้สงบได้ ให้นิ่งได้ พอจิตนิ่งสงบกิเลสก็ต้องนิ่งตาม พอกิเลสนิ่งเวลาเจริญปัญญาก็จะเห็นตามที่พิจารณา ถ้าพิจารณาความตายความเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าจิตไม่นิ่งกิเลสก็จะไม่นิ่ง เวลาพิจารณาความตายก็จะไม่เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา จะหดหู่ใจกลัวตาย ซึ่งเป็นผลงานของกิเลส ถ้าเป็นคนไข้เวลาหมอผ่าตัด ถ้าให้ยาสลบไม่พอ คนไข้ก็จะดิ้นได้ หมอก็ผ่าไม่ได้
การทำสมาธินี้ก็ทำเพื่อให้กิเลสนิ่ง เพราะเวลาจิตนิ่งแล้ว ความโลภโกรธหลงก็จะนิ่งตาม เวลาสอนจิตให้รู้ความจริงของไตรลักษณ์ก็จะเห็นตาม จะไม่มีกิเลสต่อต้านหลอกล่อให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว เวลาพิจารณาความตาย ถ้ารู้สึกหดหู่โศกเศร้ากลัวตาย แสดงว่าจิตไม่นิ่งพอ ยังสอนไม่ได้ ต้องทำจิตให้นิ่งก่อน ถ้าจิตนิ่งแล้วเวลาพิจารณาความตาย จะรับได้อย่างไม่สะทกสะท้าน จะรับได้อย่างสงบ ถ้าพิจารณาแล้วเกิดความอยากจะตายขึ้นมา ก็แสดงว่าจิตไม่นิ่งพอ กิเลสกำลังทำงานอยู่ ความอยากตายก็เป็นภวตัณหา ไม่อยากตายก็เป็นวิภวตัณหา แสดงว่ากิเลสไม่ได้รับยาสลบเท่าที่ควร ถ้าเป็นหมอก็ต้องหยุดผ่าก่อน ให้วิสัญญีแพทย์จัดการก่อน ก็ต้องหยุดพิจารณา ทำจิตให้สงบก่อน พอจิตสงบแล้วค่อยกลับมาพิจารณาใหม่ เหมือนเวลาฟังเทศน์ ถ้าจิตไม่นิ่ง คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ จะฟังไม่รู้เรื่อง ถ้านิ่งก็จะเข้าใจ เพราะจะพิจารณาตามได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าดูหนังก็ดูแบบต่อเนื่อง ไม่ใช่ดูได้ ๕ นาทีแล้วก็ไปเข้าห้องน้ำ กลับมาก็ไม่รู้หนังไปถึงไหนแล้ว จิตของพวกเราก็ชอบเข้าห้องน้ำอยู่เรื่อย เวลาฟังเทศน์ฟังธรรม เดี๋ยวก็ไปเข้าห้องน้ำ เดี๋ยวก็ไปเปิดตู้เย็น เดี๋ยวก็ไปโทรศัพท์คุยกับคนนั้นคนนี้ แล้วจะฟังรู้เรื่องได้อย่างไร เพราะไม่ได้ฟังอย่างต่อเนื่อง เพราะจิตไม่นิ่ง ถูกกิเลสดึงไปทำอย่างอื่น ฉะนั้นใครว่าสมาธิไม่สำคัญ เราไม่เชื่อ ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะทรงสอนศีลสมาธิปัญญาได้อย่างไร ก็ต้องตัดสมาธิออกไป เอาศีลกับปัญญาก็พอ
สมาธิจะเกิดได้ก็ต้องมีสติดึงจิตไว้ ต้องมีเชือกผูกจิตไม่ให้กระดุกกระดิกได้ จับมัดติดไว้กับเสา มัดทั้งร่างกายทั้งมือทั้งเท้าจนขยับตัวไม่ได้ นี่คือสติ เป็นเชือกที่จะผูกจิตไม่ให้ไปเพ่นพ่าน เวลาจะทำจิตให้สงบก็จะสงบอย่างง่ายดาย ให้อยู่กับลมก็จะอยู่กับลม ให้อยู่กับพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ พอออกจากความสงบใหม่ๆกิเลสยังสงบอยู่ ก็ควรสอนจิตเรื่องไตรลักษณ์ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาในรูปเสียงกลิ่นรส ในลาภยศสรรเสริญสุข ในรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ สอนได้ตอนนี้ จิตจะเข้าใจ จะร้องอ๋อ ว่าที่ทุกข์อยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่เห็นอนิจจังความไม่เที่ยง ไม่เห็นอนัตตาไม่ใช่ตัวเราของเรา ที่ทุกข์ก็เพราะไปยึดไปติดไปหลง ถ้าไม่ยึดไม่ติดก็จะไม่ทุกข์ นี่คือการเจริญมรรค เป็นการปฏิบัติบูชา ถ้าจะบูชาครูบาอาจารย์ บูชาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็ขอให้บูชาแบบนี้ บูชาด้วยการปฏิบัติบูชา ไม่ใช่ไปร่วมกันป่วน คนนั้นก็ให้ทำอย่างนั้น คนนี้ก็ให้ทำอย่างนี้ วุ่นวายกันไปหมด ดีไม่ดีก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน แทนที่จะไปกราบไหว้ไปทำใจให้สงบ กลับไปขุ่นมัวกับความเห็นไม่ตรงกัน ทะเลาะวิวาทกัน จะทำอะไรก็ขอให้ยึดความสงบเป็นหลัก ทำด้วยจิตใจที่สงบ ถึงจะเรียกว่าเป็นการบูชา ต้องยอมแพ้ แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ถ้าใครอยากจะเจ้ากี้เจ้าการก็ยกให้เขาไป ปล่อยเขาไป เราบูชาด้วยความสงบ เขาอยากจะทำอย่างนั้นก็ปล่อยเขาทำไป เราก็ทำใจให้สงบไปก็จบ เท่ากับได้บูชาท่านแล้ว ไม่ต้องบูชาแบบเอาหน้าเอาตาเป็นประธาน เป็นใหญ่ เป็นผู้จัดการ เป็นผู้สั่งการ บูชาแบบปิดทองหลังพระก็ได้ บูชาด้วยความสงบ เพราะท่านไม่ได้ต้องการอะไรจากเรานอกจากให้เรามีความสุข ให้พวกเราพ้นทุกข์ พวกเราจะมีความสุขพ้นทุกข์ได้ ใจก็ต้องสงบ ทุกอย่างต้องลงมาที่ตัว สอ งอ บอ นี้ คือสงบกาย สงบวาจา สงบใจ ขอให้บูชาครูบาอาจารย์แบบนี้ ส่วนจะไปกราบท่านหรือไม่ก็ทำได้ทั้งสองแบบ ไม่เป็นปัญหา ไปได้ก็ไป ไปไม่ได้ก็ไม่ต้องวิตกกังวล ถ้าทำใจให้สงบ ทำความดี ไม่ทำบาป
ถ้าชำระใจอยู่เรื่อยๆ ก็ถือว่าได้ไปกราบท่านแล้วทางจิต ส่วนทางร่างกายไปก็ได้ ไม่ไปก็ได้ บางทีไปแล้วแต่ไม่ได้ไปกราบท่านจริงๆก็ได้ กราบด้วยกิริยา กราบด้วยร่างกาย แต่ใจกลับเต็มไปด้วยความโลภโมโทสัน อ้าวไม่เชื่อลองไปดู จะมีหลายพวกกำลังออกฤทธิ์ออกเดชกัน คนนี้จะเอาอย่างนี้ คนนั้นจะเอาอย่างนั้น จะเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ครูบาอาจารย์ทุกรูปที่ผ่านไป ก็จะมีปัญหาอย่างนี้ทั้งนั้น คือลูกศิษย์ก็ตีกันเอง สมัยที่ท่านพ่อลีจัดงานฉลองกึ่งพุทธกาล มีญาติโยมมาช่วยงานกัน มีแม่ครัวมาช่วยทำอาหารกัน แล้วก็แตกคอกัน ไม่ยอมทำอาหารกัน ท่านพ่อลีต้องส่งหลวงตาไปไกล่เกลี่ย หลวงตาท่านก็ใช้วาจาที่ตรงไปตรงมา ว่าพวกคุณกำลังจะเป็นเหมือนหมากัดกัน มาช่วยงานครูบาอาจารย์แต่กลับมากัดกัน ไม่รู้หรือว่าถ้าทำอย่างนี้ ท่านพ่อลีจะสะพายบาตรจีวรหนีไป ต้องพูดอย่างนี้ถึงจะยอมกัน สมัยพระพุทธกาลก็มี พระพุทธเจ้าต้องหนีไปอยู่คนเดียว จนถูกชาวบ้านดัดไม่ใส่บาตร กิเลสถึงจะหมดแรง พอไม่มีข้าวกินก็หมดแรง ต้องมาขอขมาต่อพระพุทธเจ้า ต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้ไว้เป็นคติสอนใจ เวลาไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แบบนี้ อย่าไปทำประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ขอให้ยึดหลัก แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง เขาอยากจะทำอย่างนั้นก็ปล่อยให้เขาทำไป ไม่ต้องทะเลาะกัน อย่าไปทำจิตให้ขุ่นมัว กราบไหว้บูชาท่านด้วยการภาวนาก็ได้ เขาจะเอางิ้วเอาลิเกเอาดนตรีเอาคอนเสิร์ตมาเล่น ก็ปล่อยให้เขาทำไป บางคนจะคิดอย่างนั้น ต้องจัดให้ยิ่งใหญ่ ถึงจะเป็นการบูชา ถ้าไม่มีมหรสพประกอบจะไม่สมเกียรติ ต้องมีแตรวงมีระนาดจุดพลุไฟ เป็นรสนิยมของทางโลก รสนิยมของธรรมอยู่ที่ความเรียบง่าย ความสงบ ไม่วุ่นวาย
ขอให้ใช้การจากไปของหลวงตามากระตุ้น ให้เจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ให้คิดว่าไม่มีใครหลีกเลี่ยงความตายได้ ไม่ว่าเขาไม่ว่าเรา อย่าประมาทนอนใจ ให้รีบขวนขวายทำกิจที่ควรทำ ทำให้เสร็จ จะได้สบาย เพราะการได้เกิดเป็นมนุษย์และได้พบกับพระพุทธศาสนา ได้ใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งที่ยากมาก อย่าเป็นแบบทัพพีในหม้อแกง ใกล้ชิดแบบนั้นไม่ดี ไม่ได้รับประโยชน์ ไม่รู้รสของแกง ต้องใกล้ชิดแบบลิ้นกับแกง สัมผัสเพียงหยดเดียวก็จะรู้รสทันที ให้ใจสัมผัสธรรมะอย่างลิ้นสัมผัสแกง คือรู้ผิดถูกดีชั่ว รู้คุณรู้โทษ รู้ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค พอรู้ว่าเป็นสมุทัยก็จะได้บ้วนออกไป ถ้าเป็นมรรคก็กลืนเข้าไป ให้มีสติปัญญาแยกมรรคออกจากสมุทัย ให้รู้ว่าสมุทัยกำลังเกิดขึ้นหรือไม่ ให้รู้ว่ามรรคกำลังเกิดขึ้นหรือไม่ มีสติหรือไม่ มีสมาธิหรือไม่ มีมรณานุสติมีไตรลักษณ์หรือไม่ เห็นไตรลักษณ์หรือไม่ หรือเห็นตรงกันข้าม แทนที่จะเห็นว่าไม่เที่ยงกลับเห็นว่าเที่ยง ทุกข์กลับเห็นว่าสุข ไม่ใช่ตัวเราของเรากลับเห็นว่าเป็นตัวเราของเรา ถ้าเห็นอย่างนี้แสดงว่ายังมืดบอดอยู่ ยังไม่มีมรรคมากพอ ต้องเจริญมรรคให้มาก พิจารณาความไม่เที่ยงให้มาก พิจารณาความทุกข์ให้มาก พิจารณาอนัตตาให้มาก พิจารณาไตรลักษณ์ให้มาก แล้วจะละสมุทัยคือความอยากได้ พอละได้นิโรธคือความดับทุกข์ก็จะปรากฏขึ้นมา
ถาม กราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์ ที่พาพวกลูกไปกราบหลวงตาทางจิต
ตอบ ถ้าไปที่วัดก็จะถึงแต่ร่างกายท่าน แต่ถ้าเข้าสู่ความสงบได้ก็จะเข้าถึงองค์ท่าน
ถาม ที่ท่านอาจารย์ว่าเข้าถึงองค์ท่าน ตอนต้นลูกไม่เข้าใจ พอนั่งไปสักระยะถึงจะเข้าใจ
ตอบ องค์ท่านก็คือความสงบ
ถาม ตอนแรกลูกเข้าใจว่าจะเห็นท่านหลวงตา
ตอบ นั่นไม่ใช่องค์ท่าน เป็นอุปาทานของเรา
ถาม ถ้าอย่างนั้นองค์หลวงตาก็คือความสงบ
ตอบ นิพพานก็คือความสงบความว่าง นิพพานัง ปรมังสุขัง นิพพานัง ปรมังสุญญัง
ถาม ความสุขก็คือความสงบ
ตอบ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ถ้าเห็นความสงบก็จะเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่เห็นความสงบก็คือพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีดวงตาเห็นธรรม
ถาม หลวงตาท่านไปสบาย
ตอบ ท่านสบายก่อนท่านไปแล้ว ตอนนี้ท่านสบายมากกว่า เพราะไม่ต้องแบกร่างกาย
ถาม เวลาเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ ให้รู้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปอดีตไปอนาคต ใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ อย่าปรุงแต่ง เห็นก็สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่ารู้
ถาม ได้ยินละเจ้าคะ
ตอบ ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่ารู้
ถาม พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาความตาย ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าต้องคิดเรื่องอื่นจะทำอย่างไรเจ้าคะ
ตอบ หยุดเจริญมรณานุสติไว้ชั่วคราว แล้วก็คิดในเรื่องที่ต้องคิด พอคิดเสร็จแล้วก็กลับมาเจริญมรณานุสติต่อ
ถาม การเจริญสติในชีวิตประจำวัน จะสนับสนุนการนั่งสมาธิ ใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ ใช่ เพราะจะดึงใจไม่ให้ลอยไปลอยมา พอเวลานั่งสมาธิดูลมก็จะอยู่กับลม จะไม่ไปอดีตไปอนาคต จะรวมจะสงบได้อย่างง่ายดาย ถ้าไม่คอยดึงไว้ ปล่อยให้ไปอดีตไปอนาคต เวลานั่งสมาธิก็จะไม่อยู่กับลม จะไปอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะไม่รวมไม่สงบ ต้องให้อยู่กับเรื่องเดียว เวลาทำงานก็ให้อยู่กับงาน เวลานั่งสมาธิดูลมก็จะอยู่กับลมอย่างเดียว เพราะถูกฝึกให้อยู่กับเรื่องเดียว ไม่ลอยไปหาเรื่องอื่น ถ้าลอยไปไม่อยู่กับเรื่องเดียว ก็ให้ใช้การบริกรรมพุทโธๆกำกับไปด้วย หรือใช้มรณานุสติก็ได้ เช่นบริกรรมตายๆ หรืออนิจจังๆก็ได้
ถาม พระอาจารย์เทศน์ว่า ๗ วัน ๗ เดือนนี้ หมายถึงเจริญสติใช่ไหมคะ
ตอบ หมายถึงการบรรลุธรรม ขั้นพระอรหันต์หรือขั้นพระอนาคามี
ถาม ก็คือการเจริญสติทั้งวัน
ตอบ ด้วยการเจริญสติตามที่ทรงสอนในสติปัฏฐาน ๔ แต่ไม่ใช่เจริญสติอย่างเดียว เจริญสติเป็นส่วนหนึ่ง เจริญอานาปานสติ หรือบริกรรมพุทโธ เพื่อให้จิตสงบ แล้วก็ต้องพิจารณาร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย อาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ พิจารณาอสุภะ ถึงจะบรรลุได้ พิจารณาเวทนา จิต และธรรม
ถาม ท่านอาจารย์รับประกันใช่ไหม
ตอบ พระพุทธเจ้าทรงรับประกัน ส่วนเรารับรองว่าไม่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ เป็นของจริงของแท้ ขอให้พวกเราจริงแท้กับธรรมเถิด ส่วนใหญ่จะไม่จริงกัน จริงกันเพียง ๒ ถึง ๓ ยก แล้วก็ล้มระเนระนาด ทรงสอนให้เอาจริงเอาจัง สู้ไม่ถอย ไม่หยุด จนกว่าศัตรูจะตายไปหมดถึงจะหยุด ถ้ายังดิ้นได้ก็ต้องทำให้นิ่ง สติสมาธิปัญญานี้ เป็นธรรมเกี่ยวเนื่องกัน เริ่มต้นที่สติก่อน พอมีสติแล้วเวลานั่งสมาธิก็จะสงบ พอออกจากสมาธิก็จะมีกำลังพิจารณาร่างกาย พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอสุภะ ก็จะปลงจะวางจะตัดได้ จากร่างกายก็พิจารณานามขันธ์ คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็พิจารณาจิตและธรรม กิเลสจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ กิเลสที่อยู่กับร่างกายเป็นส่วนหยาบ กิเลสที่อยู่กับเวทนาสัญญาสังขารเป็นส่วนกลาง กิเลสที่ฝังลึกอยู่ในจิตเป็นส่วนละเอียด คืออวิชชา
ถาม ที่บอกว่าความสุขเป็นเหตุให้ทำสมาธิ หมายความว่าอย่างไรเจ้าคะ
ตอบ สติเป็นเหตุทำให้จิตสงบ พอจิตสงบก็จะเกิดความสุขขึ้นมา ก็จะติดใจ จะเบื่อความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส จะหันมาหาความสุขทางจิตใจ จะเจริญสติทำสมาธิมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะรสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง
ถาม ท่านพระอาจารย์คะ ขอความกรุณาอธิบาย รูปราคะ อรูปราคะ
ตอบ เป็นสังโยชน์ขั้นสูง ที่พระอนาคามีต้องละ เพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ สังโยชน์คือสิ่งที่ผูกมัดจิต ให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด มี ๑๐ ประการ พระอนาคามีละได้ ๕ สังโยชน์ด้วยกัน เป็นสังโยชน์ขั้นต่ำ พระโสดาบันละได้ ๓ สังโยชน์ คือ ๑. สักกายทิฐิ ความเห็นว่าขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ เป็นตัวเราของเรา ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ว่ามีจริงหรือไม่ ๓. สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำศีลพระโสดาบันละสักกายทิฐิได้ ด้วยการพิจารณาจนเห็นว่า ความทุกข์เกิดจากการยึดติดกับสิ่งที่ไม่เที่ยง เช่นร่างกาย พอเห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง ก็จะปล่อยความยึดติด ก็จะหายจากทุกข์ จิตก็จะสงบ ก็จะรู้ว่าสิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ยอมรับการดับของสิ่งต่างๆ โดยไม่มีความหวาดกลัวหรือเสียอกเสียใจ พอได้พบกับความสงบก็จะรู้ว่านี่คือ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ก็จะละวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ได้ และจะเห็นว่าเคราะห์กรรมเกิดจากการทำบาป ก็จะไม่ละเมิดศีล ๕ โดยเด็ดขาด จะไม่สะเดาะเคราะห์ด้วยพิธีกรรมต่างๆ ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้ นี่คือสังโยชน์ ๓ ข้อแรก ถ้าละได้ก็จะเป็นพระโสดาบัน
ส่วนสังโยชน์อีก ๒ ข้อคือ กามราคะกับปฏิฆะนี้ เป็นหน้าที่ของพระสกิทาคามีและพระอนาคามีที่จะต้องละ กามราคะก็คือกามารมณ์ เกิดจากการเห็นว่าร่างกายสวยงาม ก็เกิดความกำหนัดยินดี ก็ต้องแก้ด้วยการเจริญอสุภะ ให้เห็นว่าไม่สวยงาม เช่นเห็นซากศพ เห็นอาการ ๓๒ ก็จะดับกามราคะได้ ถ้าทำให้กามราคะเบาบางลงไป ก็จะเป็นพระสกิทาคามี ถ้าละกามราคะได้หมด คือเห็นอสุภะตลอดเวลา ก็จะไม่มีความกำหนัดยินดี พอละกามราคะได้ก็จะละปฏิฆะความหงุดหงิดใจได้ด้วย ก็จะได้เป็นพระอนาคามี เรื่องของร่างกายก็จะหมดปัญหาไป ไม่ต้องพิจารณาอีกต่อไป เพราะปล่อยวางได้หมดแล้ว ถ้าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็ต้องละสังโยชน์ขั้นสูงอีก ๕ ข้อคือ ๑. รูปราคะ ความติดใจในรูปฌาน ๒. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปฌาน ๓. มานะ ความถือตน ๔. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ๕. อวิชชา ความไม่รู้จริง
จิตของพระอนาคามี จะสงบในระดับรูปฌานอรูปฌาน ตอนที่ได้บรรลุใหม่ๆก็จะติดอยู่กับความสงบของรูปฌานอรูปฌาน จะคิดว่าความสงบนี้เป็นพระนิพพาน ต่อมาพอพิจารณาด้วยปัญญาก็จะเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา ถ้าไปยึดไปติดก็จะทุกข์ ถ้ายังมีความทุกข์ก็ยังไม่หลุดพ้น ถ้าพิจารณาจนเลยเถิด ไม่หยุดไม่หย่อน ก็จะเกิดอุทธัจจะความฟุ้งซ่านขึ้นมา อุทธัจจะในสังโยชน์นี้ต่างจากอุทธัจจะในนิวรณ์ อุทธัจจะในนิวรณ์เป็นความฟุ้งซ่านของปุถุชน ส่วนความฟุ้งซ่านของพระอนาคามี เกิดจากการพิจารณาปัญญาจนเลยเถิด ไม่หยุดไม่หย่อน ฟุ้งกับการพิจารณาไตรลักษณ์ ก็ต้องหยุดพิจารณา กลับเข้าไปพักในฌานก่อน พอได้พักเต็มที่แล้วก็จะถอนออกมา แล้วก็พิจารณาใหม่ พิจารณาจนกว่าจะตัดรูปราคะและอรูปราคะได้ จากนั้นก็ต้องพิจารณามานะความถือตน ถือว่าเท่าเขาบ้างสูงกว่าเขาบ้างต่ำกว่าเขาบ้าง ที่เป็นสมมุติสัจ ความจริงจิตไม่มีตัวตน ไม่สูงกว่าใครต่ำกว่าใคร ปัญญาต้องพิจารณาให้รู้ทันว่าเป็นเพียงสมมุติ แล้วปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด จากนั้นก็ต้องพิจารณาอวิชชา คือการไม่เห็นความทุกข์ที่ละเอียดที่สุด ที่อยู่ในจิตที่สว่างไสว อย่างที่หลวงตาเล่าว่า จิตของท่านตอนนั้นมันสว่างไสวไปหมด แล้วก็มีคำอุทานออกมาว่า ตรงไหนเป็นจุดเป็นต่อมตรงนั้นเป็นภพชาติ ก็คือความสว่างไสวนี้เอง แต่เป็นความสว่างไสวที่ไม่ถาวร ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาก็จะเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ ก็ต้องปล่อยวาง พอปล่อยวางแล้วอวิชชาก็จะสลายไป เหลือแต่ความบริสุทธิ์ ปรมังสุขัง ปรมังสุญญัง
ถาม ฌานของพระอนาคามีต่างจากสมาธิของปุถุชนใช่ไหมครับ
ตอบ ฌานของพระอนาคามี เกิดจากการทำลายสังโยชน์ขั้นต่ำได้อย่างถาวร ด้วยปัญญา ส่วนสมาธิของปุถุชนเกิดจากการระงับการทำงานของสังโยชน์ไว้ชั่วคราว ด้วยสติ เช่นอานาปานสติหรือพุทธานุสติ
ถาม พระอนาคามีถ้ากลับมาเกิดใหม่แล้วไม่พบครูบาอาจารย์
ตอบ ท่านไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ท่านแก้ปัญหาของท่านได้เอง
ถาม ถ้าเป็นพระโสดาบัน นิวรณ์ ๕ จะดับไปเองใช่ไหม
ตอบ นิวรณ์ ๕ ดับตั้งแต่ได้สมาธิแล้ว จิตไม่สงบเพราะถูกนิวรณ์ ๕ กั้นเอาไว้ นิวรณ์แปลว่าอุปสรรค ที่จะขวางไม่ให้จิตเข้าสู่ความสงบ จะทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้ ต้องกำจัดนิวรณ์ ๕ ก่อน เช่นกามฉันทะความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ถ้าอยากกินเหล้า อยากจะสูบบุหรี่ อยากจะดื่มเครื่องดื่มต่างๆ อยากจะกินนั่นกินนี่ จะนั่งสมาธิไม่ได้ ต้องถือศีล ๘ กินข้าวมื้อเดียว แล้วไม่กินอะไรอีกเลย นอกจากดื่มน้ำเปล่า ต้องปลีกวิเวก ไม่อยู่ใกล้โทรทัศน์ใกล้ตู้เย็น ใกล้รูปเสียงกลิ่นรส ต้องกำจัดวิจิกิจฉา ความสงสัย ด้วยการฟังธรรมมากๆ จากผู้รู้จริงเห็นจริง จะได้ไม่สงสัยว่ามรรคผลนิพพานมีจริงหรือไม่ สมาธิมีจริงหรือไม่ ทำแล้วจะสงบจริงหรือไม่ ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังจากผู้รู้ก็จะไม่แน่ใจ จะไม่มีความมั่นใจ จะไม่ตั้งใจปฏิบัติ ต้องกำจัดถีนมิทธะ ความขี้เกียจง่วงเหงาหาวนอน ด้วยการอดอาหาร หรือไปอยู่ที่น่ากลัวๆ ต้องกำจัดพยาบาท ความไม่พอใจ ด้วยการแผ่เมตตาให้อภัย ต้องกำจัดอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ด้วยการเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้จิตคิดเรื่องราวต่างๆ ถ้ากำจัดนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว เวลานั่งสมาธิจิตก็จะสงบ พอออกจากสมาธิก็ควรเจริญปัญญา เพื่อตัดอุปาทานตัดสมุทัย ตัดความยึดมั่นถือมั่น ตัดความอยากต่างๆ ก็จะบรรลุธรรม