กัณฑ์ที่ ๔๒๑ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
ความสำคัญของการภาวนา
คนเราต่างกันที่บุญและบาป ถ้าได้ทำบุญเต็มที่แล้ว ใจก็จะเต็มไปด้วยบุญ เหมือนน้ำเต็มแก้วแล้ว เติมเข้าไปอีกน้ำก็จะล้น ถ้ามีน้ำเพียงครึ่งแก้วแล้วไม่เติม ก็ยังจะมีน้ำเพียงครึ่งแก้ว ใจก็เหมือนกัน ถ้าบุญยังไม่เต็ม ใจก็ยังมีความหิวอยู่ ก็ยังต้องไปเกิดใหม่ มีคนถามว่า ถ้าไม่ทำบาปอย่างเดียวจะพอไหม เพราะไม่ชอบทำบุญ ก็ต้องตอบว่าไม่พอ เพราะบุญเป็นอาหารของใจ ถ้าไม่ได้ทำบุญ ใจก็จะไม่ได้รับอาหารครบตามที่ต้องการ จึงต้องให้ทาน ต้องภาวนา ต้องฟังเทศน์ฟังธรรม ต้องมีความเห็นที่ถูกต้อง มีสัมมาทิฐิ มีปัญญา ถึงจะมีความอิ่มความพอ มีความสุข คนส่วนมากชอบทำแต่ทาน ไม่ชอบภาวนา เพราะการภาวนาเหมือนจับใจขังไว้ในกรง ใจไม่ชอบอยู่ในกรง ชอบออกไปเพ่นพ่าน ไปรอบโลก ถ้าจัดไปทอดผ้าป่าที่อินเดีย คงมีคนไปกันเยอะ ใจไม่ชอบเข้าข้างใน สู้กำลังของกิเลสของกามตัณหาไม่ได้ ที่ผลักใจให้ออกไปแสวงหารูปเสียงรสกลิ่น ถ้าสติมีกำลังมากพอ ก็จะดึงใจให้เข้าข้างในได้ ที่สู้กับกิเลสไม่ได้ ก็เพราะสติมีกำลังไม่มากพอ ที่จะดึงใจให้เข้าข้างใน ถูกกิเลสผลักให้ออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสตลอดเวลา ทำให้ไปอยู่วัดไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรให้ดูให้ฟัง
สมัยอยู่กับหลวงตา ท่านไม่เคยปล่อยให้พระเณร ไปงานศพของครูบาอาจารย์เลย ท่านเห็นความสำคัญของการภาวนา มากกว่าการไปช่วยงานศพ ที่เป็นงานระดับทาน ถ้าไปงานศพก็จะไม่ได้ภาวนา ถ้าออกไปข้างนอกวัด จะเสียการภาวนา ทำให้จิตหยาบลง ถ้ากำลังภาวนาอยู่ ก็ไม่ควรเสียเวลาไปกับงานกฐิน งานผ้าป่า งานศพ ตั้งแต่บวชมานี่เราไม่เคยไปงานไหนเลย งานผ้าป่า งานกฐิน งานฉลอง ไม่เคยไปเลย หลวงตาจะไม่พาพระเณรไปกราบครูบาอาจารย์เลย เข้าพรรษาจะมีธรรมเนียมไปกราบครูบาอาจารย์ ทำวัตร ขอขมา ท่านไปทำองค์เดียว จะไม่ให้พระเณรไปไหน ท่านหวงมาก ไม่อยากให้ออกไปสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรส กลับมาจะมีสัญญาอารมณ์ตกค้างอยู่ในใจ เวลาเดินจงกรมก็จะคิดถึงภาพที่เห็น เป็นอันตรายมากต่อความสงบของจิตใจ
ถาม ลูกเกิดเวทนา เป็นโรคไขข้อ นั่งได้ระยะหนึ่งจิตจะบอกให้
หยุดนั่ง เป็นเพราะสติไม่แก่กล้า หรืออินทรีย์ ๕ ยังไม่พร้อม
ตอบ สติก็เป็นหนึ่งในอินทรีย์ ๕ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เวลานั่งถ้ามีสติอยู่กับคำบริกรรม จะไม่ค่อยเจ็บเท่าไหร่ ความเจ็บที่เกิดจากร่างกายจะไม่รุนแรง เท่ากับความทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของใจ ถ้าใจไม่มีโอกาสปรุงแต่ง ความทุกข์ใจก็จะไม่เกิด สติจะคุมใจให้อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน ก็จะนั่งได้นาน จะสงบ จะไม่ค่อยเจ็บ
ถาม ส่วนมากจะไม่สงบ แต่ถ้าจิตสงบจะไม่ค่อยเจ็บ อยากนั่งให้นานกว่านี้ แต่ยังข้ามความเจ็บไปไม่ได้
ตอบ ต้องบริกรรมพุทโธๆให้ถี่เลย ยอมตายไปกับพุทโธเลย
ถาม ใจยังไม่ถึง
ตอบ ถ้าไม่สนใจความเจ็บ เจ็บก็เจ็บไป แต่ใจจะไม่ไปยุ่งกับมัน ให้ใจเกาะกับพุทโธไว้ ถ้าเกาะได้อย่างต่อเนื่อง ไม่นานใจจะปล่อยได้ ความเจ็บอาจจะหายไปหรือไม่หายไปก็ได้ แต่ใจจะสงบเป็นอุเบกขา ต้องทำอย่างนี้ เป็นที่ตัดสินคดี แพ้ชนะก็อยู่ตรงนี้แหละ
ถาม เคยมีคนพิการจากการนั่งสมาธิเป็นเวลานานหรือไม่
ตอบ ไม่มี ร่างกายนั่งเฉยๆ ไม่พิการหรอก จะพิการเพราะไปเที่ยวมากกว่า เครื่องบินตก รถชน พิการแบบนี้มากกว่า นั่งเฉยๆไม่มีใครพิการกัน ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็ทรงนั่งประทับตั้งแต่หกโมงเย็นจนสว่าง ก็ไม่พิการ กิเลสมันหลอกเราว่า จะเป็นนั่นเป็นนี่ เวลาปีนป่ายหาความสนุก เล่นโน่นเล่นนี่ กิเลสไม่เคยบอกว่าจะเจ็บตัว แต่พอจะนั่งสมาธิ จะเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมาทันทีไม่สนใจความเจ็บ เจ็บก็เจ็บไป แต่ใจจะไม่ไปยุ่งกับมัน ให้ใจเกาะกับพุทโธไว้ ถ้าเกาะได้อย่างต่อเนื่อง ไม่นานใจจะปล่อยได้ ความเจ็บอาจจะหายไปหรือไม่หายไปก็ได้ แต่ใจจะสงบเป็นอุเบกขา ต้องทำอย่างนี้ เป็นที่ตัดสินคดี แพ้ชนะก็อยู่ตรงนี้แหละ
ถ้าอยากอยู่ใกล้หลวงตาก็ให้ฟังธรรมะของท่าน องค์ท่านไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่อยู่ที่ธรรมะ โดยเฉพาะสมัยนี้มีเครื่องบันทึกเสียง บันทึกภาพ เหมือนกับท่านไม่ได้จากไป จากแต่ตัวแทนของท่าน จากแต่เครื่องมือของท่าน คือร่างกาย ร่างกายเป็นเหมือนเครื่องขยายเสียง ไม่มีร่างกายแล้วท่านก็ไม่สามารถส่งเสียงให้พวกเราฟังได้ เราก็ต้องอาศัยของเก่าที่ได้บัันทึกไว้ ถ้าท่านยังอยู่วันนี้ ท่านก็พูดเรื่องเดียวกับที่ท่านเคยพูดมา
ถาม เรื่องทุกขเวทนานี่ยังเป็นปัญหาอยู่
ตอบ ให้ฝึกสติให้มาก ไม่ใช่เฉพาะเวลานั่งสมาธิอย่างเดียว ทุก
เวลาที่เราทำอะไรต่างๆ ให้มีสติอยู่กับการกระทำของเรา
ถาม ถ้าทำอะไรแล้วก็ท่อง เกิดแก่เจ็บตาย เป็นการเจริญสติ หรือไม่
ตอบ เป็นสติที่จะควบคุมใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้ลอยออกไปที่อื่น
ถาม ลูกกำลังปักผ้า เป็นรูปพระพุทธเจ้า ตอนที่ทรงแสดงปฐมเทศนา ปักไปก็ท่องไป ประมาณ ๑ ชั่วโมง รู้สึกเหนื่อยมากก็หยุด
ตอบ หยุดแล้วก็ดูงานที่ทำต่อไป ถ้าเหนื่อยแสดงว่าจิตใกล้จะสงบแล้ว จิตไม่อยากท่องแล้ว ก็ไม่ต้องท่อง ให้รู้อยู่กับงาน ถ้าจิตไม่รู้อยู่กับงาน ยังคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ก็ต้องบริกรรมเกิดแก่เจ็บตาย หรืออาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
ถาม คนที่ปักผ้าผืนนี้ตอนแรกตายไปแล้ว ทุกครั้งที่ปักก็จะ คิดถึงเขา เขาเป็นมะเร็ง เขาปักได้หนึ่งในสี่ก็เสียชีวิตไป ทุกครั้งที่เอามาปักต่อก็จะคิดถึงเกิดแก่เจ็บตาย
ตอบ ทำถูกแล้ว คิดอย่างนี้จะได้ไม่ประมาท ควรทำกิจที่ต้องทำ กิจที่ไม่ต้องทำก็ปล่อยไป มาเร่งภาวนาจะดีกว่า
ถาม ยังถามตัวเองอยู่ว่า ยังหวงยังห่วงอะไรอยู่หรือเปล่า
ตอบ ต้องคิดว่าเอาอะไรไปไม่ได้เลย เรามีหน้าที่ปล่อยวาง เพื่อดับความทุกข์ใจ ปฏิบัติเพื่อทำใจให้เป็นกลางตลอดเวลา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ต้องทำใจให้เฉยให้ได้ ให้คิดว่าเป็นธรรมดา มีมาก็มีไป ไม่มีอะไรเป็นของเรา เวลาตายจะมีทุกข์ ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็คือความเจ็บ อีกส่วนหนึ่งก็คือการพลัดพรากจากร่างกาย ถ้าเข้าใจว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ก็จะลดความกลัวลดความทุกข์ไปได้ ส่วนความเจ็บนี่ ถ้าควบคุมใจไม่ให้ไปอยากให้ความเจ็บหายไป ปล่อยวางความเจ็บ ทำใจให้สงบได้ ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร หน้าที่ของเราอยู่ที่การดูแลใจของเรา อย่างอื่นดูแลไม่ได้ ดูแลได้ในระดับหนึ่ง พอถึงเวลาดูแลไม่ได้ ก็ไปทำอะไรไม่ได้ ขันธ์ของใครก็ตาม ของพระพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์ก็เป็นเหมือนกันหมด ถึงเวลาจะเป็นอะไรไป เราก็ห้ามไม่ได้ ตอนนี้เขาให้เป็นตัวเรา ต่อไปเขาจะเป็นตัวเขาบ้าง จะกลับไปเป็นดินน้ำลมไฟ เราก็ห้ามเขาไม่ได้ พยายามภาวนาให้มาก นั่งสมาธิให้มาก เวลาไม่ได้นั่งสมาธิก็ให้เจริญสติ ด้วยการเดินจงกรม หรือทำกิจกรรมต่างๆที่ต้องทำ ก็ทำไป ให้มีสติคุมความคิดไว้ คิดให้น้อยที่สุด ถ้าจะคิดก็ให้คิดไปในทางธรรม เกิดแก่เจ็บตาย ดินน้ำลมไฟ คิดอย่างนี้แล้วจะไม่ว้าวุ่นขุ่นมัว จะเย็น จะรับความเจ็บของร่างกายได้ ร่างกายเจ็บก็รู้ว่าเจ็บ แต่เจ็บครึ่งเดียว คือเจ็บที่กาย ไม่ได้เจ็บที่ใจ ใจจะเฉย เหมือนได้ยินเสียง จะดังจะค่อยก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่ไปมีอารมณ์ด้วย ถึงแม้เสียงจะค่อยถ้าไม่ชอบก็จะบาดใจได้ ไม่ได้อยู่ที่ดังหรือค่อย จะทุกข์มากหรือน้อย อยู่ที่ใจไปมีอารมณ์มากหรือน้อย พอมีอารมณ์แล้ว แม้ความเจ็บจะนิดเดียวก็จะรับไม่ได้ จึงต้องฝึกนั่งให้เจ็บ อย่ากลัวความเจ็บ ปล่อยให้เจ็บไป หัดอยู่กับความเจ็บ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ หรือพิจารณาด้วยปัญญาว่า เป็นสภาวธรรมที่ห้ามไม่ได้ ที่เราต้องพบ ตราบใดที่ยังมีร่างกายนี้อยู่ ก็ต้องพบกับความเจ็บนี้ พอยอมรับความจริงนี้แล้ว จะทำให้ความทุกข์ทางใจเบาบางลงไป หรือไม่มีเลย ถ้าปล่อยวางได้เต็มที่ก็จะเฉยๆ ร่างกายจะเจ็บก็เจ็บไป
ถาม ใจไม่กระสับกระส่าย
ตอบ ใช่ ใจจะนิ่ง ด้วยสติ ด้วยปัญญา สติสมาธิปัญญาศรัทธาวิริยะเป็นพลังใจ ศรัทธาคือเชื่อว่าการปฏิบัตินี้ถูกแล้ว วิริยะคือความขยันในการเจริญสติ ที่เป็นงานหลัก ต้องเจริญตั้งแต่ตื่นจนหลับ สติมีความสำคัญในทุกกรณี ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องมีสติประกบใจอยู่ตลอดเวลา พอมีสติแล้วใจจะนิ่งเป็นสมาธิ พอพิจารณาทางปัญญาจะเห็นอริยสัจทันที จะเห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค เห็นสมุทัยก็จะละได้ทันที สติสมาธิปัญญาเป็นธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน สติมาก่อน พอได้สติแล้วก็จะได้สมาธิ แล้วก็จะได้ปัญญาต่อไป แต่จะไม่เกิดขึ้นเอง สติก็ส่วนสติ สมาธิก็ส่วนสมาธิ เวลาเจริญสติในขณะที่เดินจงกรม ก็จะได้แต่สติ ไม่ได้สมาธิ จะได้สมาธิก็ต้องนั่งสมาธิ ต้องให้ร่างกายนิ่ง ไม่ทำอะไรเลย มีสติคุมใจไม่ให้คิดอะไรเลย ให้อยู่กับการบริกรรม หรืออยู่กับลมหายใจเข้าออก จนกว่าจะรวมลงเป็นสมาธิ จึงจะเป็นสมาธิจริง พอได้สมาธิแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดปัญญาขึ้นมาเอง
ปัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อได้พิจารณาไตรลักษณ์ ที่มีอยู่ในสภาวธรรมต่างๆ เริ่มจากสิ่งภายนอกก่อน สิ่งที่ยังติดอยู่ เช่นรูปเสียงกลิ่นรส ที่เป็นเหมือนยาเสพติด เวลาอยากแล้วไม่ได้เสพสัมผัสก็จะทุกข์ ถ้าไม่ติดรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะไม่อยาก ก็จะไม่ทุกข์ ต้องปล่อยรูปเสียงกลิ่นรส อย่าไปแสวงหา อย่าไปอยากเสพ ถ้าต้องรับประทานอาหาร ก็รับประทานเหมือนรับประทานยา อย่ารับประทานเพื่อรูปเสียงกลิ่นรส รับประทานเพื่อระงับความหิว นี่คือการละรูปเสียงกลิ่นรส ละลาภยศสรรเสริญ พอละภายนอกได้แล้ว ก็เข้ามาละขันธ์ ๕ เริ่มต้นที่รูปขันธ์คือร่างกาย ทั้งของเราและของผู้อื่น ถ้าชอบความสวยงามในร่างกายของผู้อื่น ก็ต้องพิจารณาส่วนที่ไม่สวยงาม แล้วความชอบก็จะหายไป ก็จะไม่มีราคะตัณหา ความอยากเสพกาม หรือจะพิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกายก็ได้ พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่เจ็บตาย ทั้งของเราและของผู้อื่น พิจารณาจนยอมรับความจริงได้ก็จะปล่อยวาง ไม่ฝืนความจริง แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย เรื่องของร่างกายก็จะหมดปัญหาไป
จะพิจารณาอสุภะในรูปแบบไหนก็ได้ พิจารณาอาการ ๓๒ หรือจะดูซากศพก็ได้ คนเราเวลาตายแล้ว น่ารักไหม สวยงามไหม เป็นเพียงธาตุ ๔ ตายแล้วเผาเหลืออะไร เหลือแต่ขี้เถ้า ร่างกายก็มีเท่านี้ ตัวเราอยู่ตรงไหน ไม่มีหรอก เราไปสมมุติกันเอง เหมือนไปสมมุติของต่างๆว่าเป็นของเรา ได้บ้านมาก็ว่าเป็นบ้านของเรา ได้รถมาก็ว่าเป็นรถของเรา ได้อะไรมาก็เป็นของเราไปหมด ความจริงไม่ได้เป็นของเราเลย เราไปสมมุติกันเอง พิจารณาแบบนี้แล้วก็จะเห็นไตรลักษณ์ แล้วก็จะปล่อยวางได้ ถ้าไปชอบไปอยากได้ ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เวลาร่างกายเป็นอะไรก็อยากจะหนีจากมันไป เช่นเวลาเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตก็อยากหนีจากร่างกายนี้ไป ก็ฆ่าตัวตาย นี่ก็เป็นกิเลส เป็นความอยากอีกแบบหนึ่ง ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็อยู่กับมันไป เจ็บไข้ได้ป่วยก็อยู่กับมันไป จนกว่ามันจะหยุดหายใจ รับรู้เฉยๆ ใจเป็นกลางตลอดเวลา เช่นเดียวกับความเจ็บปวดของร่างกาย เวลาเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะอยู่กับมันได้ นี่เป็นเรื่องของปัญญา แต่ต้องทำสลับกับสมาธิ
เวลาคิดมากๆจะเหนื่อยหรือฟุ้งขึ้นมา ก็ต้องหยุด แล้วกลับไปทำสมาธิใหม่ เพราะเวลาที่จิตฟุ้งนี่กิเลสเข้ามารบกวนแล้ว ก็จะไม่เห็นความจริง จะหวงจะเสียดายจะอยาก ต้องกลับเข้าไปพักในสมาธิให้จิตสงบ เวลาที่จิตสงบก็อย่าพิจารณา ให้นิ่งให้นานที่สุด เป็นเวลาพักผ่อนของจิต เวลาเข้าสมาธิให้หยุดความคิดปรุงแต่ง บางคนคิดว่าพอจิตเริ่มสงบเป็นสมาธิแล้วควรจะเริ่มพิจารณา ไม่ใช่ ต้องปล่อยให้จิตอยู่ในความสงบความนิ่งก่อน จนกว่าจะถอนออกมาเอง แล้วเริ่มคิดปรุงแต่ง จึงพิจารณาทางไตรลักษณ์ต่อไป พิจารณาว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ ไปห้ามเขาไม่ได้ มีสุข มีทุกข์ มีไม่สุขไม่ทุกข์ มีพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก มีกลางวันกลางคืน เราก็อยู่กับเขาได้ ไม่มีอคติกับกลางวันกลางคืน แล้วทำไมไปมีอคติกับสุขกับทุกข์ทำไม เวลามีความสุขก็ดีใจ มีความทุกข์ก็เสียใจ เวลาเจ็บก็ไม่ชอบ เกลียดกลัว พอมีความสุขก็หลง อยากให้สุขไปนาน อย่างนี้เรียกว่ามีอคติ มีรัก มีชัง มีกลัว มีหลง ต้องเฉยๆ เหมือนเฉยกับฝนตกแดดออก ฝนตกก็ไม่ดีใจเสียใจ ฝนหยุดก็ไม่ดีใจเสียใจ ความเจ็บของร่างกายมีก็มีไป เราก็อยู่ของเราได้ ถ้าไม่มีอคติ ก็จะไม่มีอะไรมารบกวนใจ เพราะไม่มีตัณหา ไม่มีวิภวตัณหา
ปฏิบัติเพื่อให้เห็นตรงนี้ ให้เห็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ให้เห็นว่าเวลาตัณหาเกิดขึ้นแล้ว จะทุกข์ทรมานใจ ถ้าละตัณหาได้ทุกข์ก็จะดับไป สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือตัณหานี่เอง พอเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะไม่อยากกับสิ่งต่างๆ มาก็ปล่อย ไปก็ปล่อย ความเจ็บมาก็อยู่กับเขาไป เวทนาไม่ใช่ปัญหา ตัวปัญหาคือตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหา ปฏิบัติไปแล้วจะเข้าถึงอริยสัจ ๔ เพราะทุกข์ก็เป็นหนึ่งในไตรลักษณ์ ส่วนใหญ่เราจะเห็นอนิจจังการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เห็นทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก ไม่ให้มันเปลี่ยนแปลง เวลาสุขก็ไม่อยากให้มันหายไป ความอยากไม่ให้มันหายไปนี้ คือต้นเหตุของความทุกข์ ถ้าพร้อมที่จะรับการจากไปของเขา ก็จะไม่เกิดตัณหาความอยาก ก็จะไม่เกิดความทุกข์ใจ เพราะการบรรลุธรรมต้องบรรลุที่อริยสัจ ๔ บรรลุที่ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ถ้ามรรคทำงานเต็มที่ก็จะละสมุทัยได้ ทุกข์ก็จะดับ เป็นนิโรธขึ้นมา มรรค คือปัญญา ที่พิจารณาจนเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนัตตา ควบคุมบังคับไม่ได้ ทุกอย่างมาลงที่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา บังคับเขาสั่งเขาไม่ได้ พวกเราชอบไปสั่งเขาตลอดเวลา สั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้
ถาม ทำไมเวลาท่านอาจารย์พูดแล้วดูมันทำง่าย แต่ลูกทำยาก
ตอบ ก็เหมือนเวลาเห็นคนอื่นพิมพ์ดีด ก็ดูว่าง่ายเหลือเกิน แต่พอเวลามาพิมพ์เองแล้วมันยาก ต้องจิ้มทีละตัว เป็นเพราะไม่ได้ฝึกหัด คิดตามตัณหาตลอดเวลา ทำตามความอยากตลอดเวลา
ถาม ปัญหาเกิดที่ใจของเรา
ตอบ ใช่ เกิดที่ใจของเรา เรามองแต่ข้างนอก เอาความอยากของเราไปประทับตราไว้ กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามอง ไม่ใช้ปัญญา ต้องเอาอนัตตาไปมอง เพราะเราเผลอสติ
ถาม สติไม่ทัน ท่านอาจารย์สอนให้พิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวลาเกิดจริงๆมันไม่ได้ผล มันรู้ด้วยสัญญา
ตอบ ต้องพิจารณาบ่อยๆ ต้องมีสติ มีสมาธิให้มาก ถึงจะเป็นปัญญา
ถาม เวลานั่งสมาธิแล้วมีนิมิตเห็นกระดูกขึ้นมา จะให้พิจารณาไปเลยหรือให้รอก่อน
ตอบ การทำสมาธิโดยหลักแล้ว ต้องการให้นิ่งให้ว่าง ให้เป็นอุเบกขา ถ้ามีนิมิตปรากฏขึ้นมา แล้วสามารถน้อมเข้ามาให้เกิดปัญญาได้ ก็น้อมเข้ามา เช่นเห็นอสุภะ เห็นอนิจจังไม่เที่ยง เห็นอนัตตา ก็จะเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ทำให้จิตสงบนิ่งได้
ถาม สงบเพื่อให้มีกำลัง
ตอบ ใช่ เพราะความนิ่งจะดึงกิเลสไว้ กิเลสไม่สามารถทำอะไรได้ พอออกจากความนิ่งแล้ว กิเลสยังไม่มีกำลัง ก็ให้ดึงจิตไปทางมรรค จนกว่ากิเลสมีกำลังดึงจิตไปทางกิเลส ก็กลับเข้าสมาธิใหม่
ถาม เวลาพิจารณาทางมรรคหลังออกจากสมาธิแล้ว แต่ไม่ได้คิดอย่างแยบคาย แสดงว่าปัญญามีไม่มากพอ
ตอบ ปัญญาไม่พอ ต้องนึกภาพไปก่อน ถ้าต้องเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป จะทำใจได้หรือไม่ เวลาที่ต้องสัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบ เช่นคนด่าเรา ทำใจได้ไหม ต้องทำการบ้านไปก่อน จนกว่าจะเจอของจริง เมื่อเจอแล้วจะรู้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เหมือนนักมวยซ้อมชกกระสอบทรายเก่ง แต่พอขึ้นเวทีก็ถูกน็อคลงไป ก็ต้องกลับมาซ้อมใหม่ เวลาอยู่กับหลวงตาจะดีมาก เพราะหลวงตาเป็นเหมือนคู่ชกบนเวที เวลาไม่ได้อยู่ต่อหน้าท่านก็เหมือนทำการบ้าน พออยู่ต่อหน้าท่านจะรู้ว่ามีสติปัญญาหรือไม่
ถาม เวลาสวดมนต์ก็คิดว่ามีสติ พอเผลอนิดเดียวหลุดไป ไม่รู้สึกตัวเลย
ตอบ สติเป็นธรรมที่สำคัญที่สุด
ถาม ความคิดเป็นธาตุรู้
ตอบ ความคิดเป็นสังขาร เป็นอาการของธาตุรู้ ที่รู้อยู่ตลอดเวลา
ถาม ความคิดมันเกิดดับ เกิดดับ
ตอบ ใช่ แต่ตัวรู้ไม่เกิดไม่ดับ
ถาม ความคิดเป็นอาการของธาตุรู้
ตอบ อาการของธาตุรู้มีอยู่ ๔ คือเวทนาความรู้สึก สัญญาความจำได้หมายรู้ สังขารความคิดปรุงแต่ง วิญญาณความรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกาย พวกนี้เกิดดับ พอมีเสียงมากระทบที่หูก็รับรู้ พอเสียงหายไปความรับรู้ก็หายไปด้วย แต่ตัวรู้คือจิตนี่รู้อยู่ตลอดเวลา
ถาม จุดประสงค์สำคัญคือ ให้ตัวรู้นี่รู้เฉยๆ
ตอบ ไม่ให้มีอคติกับสิ่งที่รับรู้ ให้ปล่อยวาง ไม่ให้เกิดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา สงครามระหว่างธรรมกับกิเลสอยู่ในใจเรา คือมรรคกับสมุทัย ต้องละตัณหาด้วยสติสมาธิปัญญา ถ้าสติสมาธิปัญญา มีกำลังมากกว่าตัณหา ก็จะดับทุกข์ได้ ถ้าตัณหามีกำลังมากกว่า ก็จะเกิดทุกข์
ถาม เอาตัวรู้มาพิจารณา
ตอบ เอารูปเสียงกลิ่นรสมาพิจารณาเพื่อปล่อยวาง เห็นอะไรก็อย่าไปยึด ไปติด ให้สักแต่ว่ารู้
ถาม ที่บอกว่าอย่าไปยึดติดนี่เป็นปัญญา
ตอบ เป็นปัญญาถ้าคิดไปในทางมรรค คิดยึดติดก็จะเป็นตัณหา
ถาม ต้องพยายามปล่อยวาง
ตอบ ต้องฝืนกิเลส ถ้าชอบได้ก็ต้องชอบเสียด้วย เช่นชอบได้เงิน ก็ต้องชอบเสียด้วย ชอบทำบุญให้ทาน ถ้าไม่ชอบทำบุญให้ทาน เวลาเงินหายไป ๑๐ บาท ๒๐ บาท ก็จะเสียใจ ถ้าเคยให้ทานบ่อยๆจะเฉยๆ
ถาม เวลาฝึกก็คิดว่าไม่เสียใจ พอเวลาเจอของจริง ลึกๆแล้วยังเสียใจอยู่
ตอบ ดีกว่าตอนที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ถึงกับร้องไห้
ถาม ยังพอทำใจได้แต่ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
ตอบ เพราะปัญญาไม่เต็มร้อย
ถาม เวลาทำบุญมากๆบ่อยๆนี่ เวลาของหายแล้วจะไม่ค่อยเสียดาย
ตอบ ถ้าจะไม่ให้เสียดายเลย ก็ต้องปล่อยร่างกายให้ได้ ถ้าปล่อยได้แล้ว เวลาของหายไปจะรู้สึกเฉยๆ เพราะพวกเรารักร่างกายมากที่สุด ถ้าปล่อยร่างกายได้แล้วของอย่างอื่นจะไม่เป็นปัญหาเลย อย่างพระภิกษุนี่ก็ปล่อยข้าวของหมดแล้ว ร่างกายก็ไปปล่อยไว้ในป่า ยอมตาย กลัวสิ่งใดก็ออกไปหาสิ่งนั้น กลัวความมืดก็ออกไปหาความมืด กลัวงูก็เดินเข้าในป่า ยอมให้งูกัด ตอนนั้นจิตจะรู้สึกกลัวมาก ถ้าพิจารณาด้วยปัญญา ก็จะคิดว่าอย่างมากก็แค่ตาย อย่างไรก็ต้องตายอยู่ดี พอยอมรับความจริงนี้ ก็จะหายกลัว จิตจะดิ่งลงสู่ความสงบ ปล่อยวางร่างกาย จะไม่เสียดายร่างกาย ข้าวของยิ่งไม่เสียดาย เวทนาก็ต้องปล่อยให้เจ็บไป ปล่อยให้หายไปเอง ถ้าไม่หายก็ไม่เป็นไร เพราะใจวางเฉยได้ นี่คือการปล่อยรูปขันธ์นามขันธ์ แล้วก็เข้าไปปล่อยในจิต ที่ยังมีกิเลสหลบซ่อนอยู่ ต้องปล่อยเป็นขั้นๆ ปล่อยกาย ปล่อยเวทนา ปล่อยจิต ตามลำดับ
ถาม หมายถึงรูปราคะ อรูปราคะ ใช่หรือไม่
ตอบ รูปราคะ อรูปราคะ คือยินดีในความสงบที่ละเอียดและความสว่างไสวของจิต ที่เรียกว่าจิตเดิมเป็นประภัสสร แต่ไม่ใช่จิตบริสุทธิ์ จิตเดิมก็คือจิตที่มีกิเลสละเอียดที่สุดหลบซ่อนอยู่ เช่นรูปราคะ อรูปราคะ พวกฤาษีที่เข้าฌานได้ จะพบจิตเดิมนี้ คือจิตที่เป็นประภัสสร แต่ไม่รู้ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่รู้ ที่หลวงตาเล่าว่า สิ่งที่เป็นจุดเป็นต่อมนั้น เป็นภพชาติ ก็คือจิตประภัสสรนี่แหละ ถ้ายังติดจิตประภัสสร ก็ยังติดภพติดชาติ ถ้าได้ฟังจากหลวงตามาก่อน จะทำให้ไม่หลง พอไปถึงตรงนั้นก็จะปล่อยทันที ถ้าไม่ได้ฟังก็จะเห็นว่าเป็นของวิเศษ จะผ่านไปได้ ก็ต้องมีปัญญาวิเคราะห์ ว่าเป็นไตรลักษณ์
ถาม ถ้าไม่ได้ฟังหลวงตาก็จะติดอยู่ตรงนั้น
ตอบ จะติดอยู่ตรงนั้นก่อน จะคิดว่าเป็นนิพพาน เพราะเป็นความสงบที่ละเอียดมาก คือจิตประภัสสรนี้ ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จะเห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา สว่างแล้วก็จะมัวลง พอมัวลงก็จะทำให้สว่างขึ้นมาใหม่ จนกว่าจะพิจารณาเห็นว่า เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะปล่อยวาง
ถาม อาทิตย์หน้าจะกลับต่างประเทศ
ตอบ พยายามนั่งสมาธิเดินจงกรมให้มาก สติจะได้มีกำลัง
ถาม สัดส่วนการนั่งการเดิน ที่ดีที่สุดคืออะไร
ตอบ ถ้าทำสมาธิก็ควรนั่งมากกว่าเดิน ถ้าเจริญปัญญาก็ควรเดินมากกว่านั่ง
ถาม คอยบอกตัวเองเสมอว่า ทุกคนต้องตาย สามีก็ต้องตาย ลูกก็ต้องตาย แต่เวลาเขาตายจริงๆ จะร้องไห้หรือเปล่า ไม่แน่ใจ
ตอบ ถ้าซ้อมอยู่บ่อยๆก็จะไม่ร้อง ปัญหาอยู่ที่การปล่อยร่างกายของเรามากกว่า คนอื่นตายไปเราร้องไห้เดี๋ยวเดียวก็ผ่านไป ถ้าปล่อยวางร่างกายของเราได้ ความกลัวก็จะหมดไป เวลาเกิดความกลัวต้องปล่อยให้ได้ เวลาอยู่คนเดียวเปลี่ยวๆแล้วคิดว่ามีใครเข้ามา ต้องบอกตัวเองว่าตายเป็นตาย จะได้ผลทันที ถึงแม้จะเป็นภัยที่ไม่จริง แต่ใจคิดว่าจริงก็ใช้ได้ ไม่ต้องเจอของจริงก็ได้
ถาม ทำแบบจำลอง
ตอบ ใช่ เป็นแบบจำลองที่เราเชื่อว่าเป็นจริง ใจจะดิ่งเข้าสู่ความสงบ ความกลัวตัวสั่นจะหายไปหมด
ถาม มีคนพิการจากการนั่งสมาธิหรือไม่
ตอบ มีแต่จากการไปเที่ยวมากกว่า
ถาม ที่ท่านอาจารย์พูดถึงธรรมในจิต มันเป็นสังขารหรือเปล่า
ตอบ เป็นอารมณ์ต่างๆ เช่นโลภโกรธหลง ดีใจ เสียใจ
ถาม สิ่งที่ไม่ใช่สังขารคืออะไร
ตอบ คือใจ ตัวรู้ ไม่เกิดไม่ดับ รู้อยู่ตลอดเวลา
ถาม ถ้าอย่างนั้น ผู้ที่หมดอายุแล้ว ตัวรู้ก็ยังมีอยู่
ตอบ ยังมีอยู่ ร่างกายไม่มีแล้วแต่ตัวรู้นี้ยังมีอยู่ เพียงแต่ไม่มีเครื่องมือ ที่จะติดต่อกับผู้ที่มีร่างกายได้ แต่ยังติดต่อกับพวกที่มีพลังจิตได้ คือพวกที่เข้าสมาธิได้ ตัวรู้กับตัวรู้ยังติดต่อกันได้ แต่รู้เรื่องนี้ไม่สำคัญ เท่ากับรู้ว่าใจดับทุกข์ได้หรือไม่ คือรู้อริยสัจ ๔ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค