กัณฑ์ที่ ๔๒๒       ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔

 

ผึ้งแตกรัง

 

 

วันนี้เหมือนผึ้งแตกรัง เวลาครูบาอาจารย์จากไปแต่ละครั้งนี่ ผึ้งที่เกาะอยู่กับครูบาอาจารย์ก็แตกรัง หารังใหม่กัน ก็ยังดีที่ท่านบอกว่ามีรังใหม่อยู่ที่ไหนบ้าง ไม่อย่างนั้นจะเสียเวลาหากัน ถ้าท่านไม่บอกก็จะไม่แน่ใจ ถ้าได้ยินจากหลายกระแสก็จะเกิดการสับสนได้ ถ้าท่านเป็นคนพูดเอง ก็จะตัดความลังเลสงสัยไปได้ พวกเราควรเอาการจากของท่านไปนี้มาสอนใจ ว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีที่พึ่งใดที่จะดีเท่ากับตัวเราเอง ถ้าพึ่งผู้อื่นแล้วเขาจากเราไป เราก็จะลำบาก แต่ที่พึ่งที่อยู่ในใจเรานี้ จะอยู่กับเราไปตลอด ไม่ว่าเราจะไปไหนจะมีที่พึ่งเสมอ จึงควรพยายามสร้างที่พึ่งให้เกิดขึ้นภายในใจให้ได้ ในขณะที่ยังสามารถทำได้ เพราะถ้าร่างกายนี้เป็นอะไรไปแล้ว จะไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะขาดที่พึ่ง ไปข้างหน้าก็ไม่รู้ว่า จะได้ไปพบที่พึ่งที่แท้จริงนี้อีกเมื่อไหร่ จึงควรสร้างสรณะขึ้นมาภายในใจตั้งแต่บัดนี้ไป ด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ ให้ยึดคำสอนของท่านเป็นอาจารย์ เพราะคำสอนไม่ได้ตายตามท่านไป ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “ธรรมวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ชอบนี้แล จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป”

 

คำสอนของหลวงตานี้ ก็จะเป็นอาจารย์แทนหลวงตาต่อไป พวกเราจึงไม่ได้อยู่โดยปราศจากอาจารย์ คำสอนของท่านที่ได้ถูกบันทึกไว้ก็มีมาก ทั้งที่เป็นหนังสือ เป็นแผ่นซีดี และเป็นภาพวีดีโอ ที่พวกเราไม่ควรเก็บไว้ในลิ้นชัก หรือตั้งไว้บนหิ้งไว้กราบเฉยๆ แต่ควรหมั่นเปิดดูเปิดฟังอย่างสม่ำเสมอ เพราะธรรมคำสอนนี้เป็นอกาลิโก ไม่ได้เสื่อมไปกับกาลเวลา กับการจากไปของครูบาอาจารย์ คำสอนของท่านที่สอนในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่ มีประสิทธิภาพอย่างไร คำสอนนั้นก็ยังมีประสิทธิภาพอยู่อย่างนั้น ถึงแม้ว่าสรีระของท่านได้จากไปแล้วก็ตาม แต่คำสอนของท่านไม่ได้จากพวกเราไป ถ้าน้อมเอาคำสอนของท่านมาสอนใจแล้วปฏิบัติตาม ก็จะได้รับประโยชน์เหมือนกับขณะที่ท่านสอนต่อหน้าเรา ไม่มีความแตกต่างกัน ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การจากไปของท่าน แต่อยู่ที่การน้อมเอาคำสอนของท่านให้เข้ามาสู่ใจ เพราะคำสอนที่ยังอยู่ในหนังสือหรืออยู่ในสื่อต่างๆนั้น ยังไม่ใช่ความจริงสำหรับเรา จะเป็นความจริงก็ต่อเมื่อได้น้อมเข้ามาสู่ใจด้วยการปฏิบัติ เพื่อชำระความโลภความโกรธความหลง เป็นความจริงที่จะอยู่กับใจไปตลอด ไม่ว่าใจไปที่ไหน จะมีคำสอนคอยดูแลรักษาปกป้องใจ ไม่ให้ตกทุกข์ได้ยาก จะรักษาใจให้มีแต่ความสุข ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

 

คำสอนหลักมีอยู่ ๓ ขั้น คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นมรรค เป็นทางพาให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดจากสมุทัย คือตัณหาทั้ง ๓ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ทานศีลภาวนาจะทำให้กามตัณหาภวตัณหาและวิภวตัณหาหมดไปจากใจ นิโรธคือความดับทุกข์ทุกชนิด ในใจ ก็จะเป็นผลตามมา จะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ในใจเลย มีแต่ความสุขที่เรียกว่าปรมังสุขังเพียงอย่างเดียว พวกเราจึงควรเชื่อมั่นในคำสอน ที่สอนให้เราทำบุญให้ทาน รักษาศีล และภาวนา ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นทางที่ถูกหรือไม่ เพราะเป็นทางที่ถูกแล้ว ได้รับการรับรองมาตลอดระยะเวลา ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว ไม่มีพระสาวกองค์ใดออกมากล่าวตำหนิ ว่าไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่มรรคผลนิพพานเลยแม้แต่องค์เดียว มีแต่ออกมารับรองกันทุกองค์ ว่านี่แหละคือทางที่แท้จริง ทางที่ถูกต้อง เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ที่จะพาให้เราอยู่เหนือความทุกข์ต่างๆ

 

พอมีความเชื่อมั่นในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว วิริยะคือความพากเพียรความขยัน ก็จะตามมา จะปฏิบัติมาก ก็จะสำเร็จอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่เชื่อก็จะปฏิบัติน้อย จะสำเร็จช้า เหมือนตักน้ำใส่ตุ่ม ถ้าตักทีละขันก็จะช้ากว่าตักทีละปี๊บ ถ้าตักมาก ตักเร็ว ตักบ่อย ก็จะเสร็จเร็ว ถ้าปฏิบัติมากก็จะบรรลุเร็ว ปฏิบัติน้อยก็จะบรรลุช้า และอาจจะไม่ได้บรรลุก็ได้ เพราะร่างกายมีแต่จะแก่ลงไป อ่อนกำลังลงไปตามลำดับ ถ้าไม่รีบปฏิบัติก็อาจจะไม่ทันกับเวลาของสังขารร่างกาย จึงไม่ควรประมาท ควรระลึกเสมอว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ ดังที่ได้ยินข่าวคราวที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน กับคนที่ไม่คิดว่าจะตายกัน ควรเอาความตายของบุคคลเหล่านี้มาเป็นคติเตือนใจ ไม่ให้นิ่งนอนใจ ให้มีความกระตือรือร้น ที่จะรีบปฏิบัติกิจที่สำคัญนี้ให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว กิจอื่นที่ไม่จำเป็นก็อย่าไปเสียเวลาทำ ให้ทำในกิจที่จำเป็น เช่นการดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย ทำมาหากินเลี้ยงชีพ เป็นกิจจำเป็นที่จะต้องทำกันทุกคน แม้แต่นักบวชก็ต้องทำ

 

การเลี้ยงชีพของนักบวชก็คือการบิณฑบาต การเลี้ยงชีพของฆราวาสญาติโยม ก็คือการทำงานทำการต่างๆ เพื่อจะได้มีรายได้มาซื้อสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ก็ควรจะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น อย่างพระก็ออกบิณฑบาตเพียงวันละครั้ง ไม่ได้ออกบิณฑบาตวันละ ๓-๔ ครั้ง เพราะจำเป็นต้องทำเพียงครั้งเดียว บิณฑบาตตอนเช้าได้อาหารมาก็เหลือเฟือพอเพียงกับการอยู่ไปหนึ่งวันแล้ว ไม่ต้องไปบิณฑบาตรอบกลางวันและรอบเย็นอีก ญาติโยมก็เช่นเดียวกัน ทำมาหากินให้มีรายได้พอกับรายจ่ายก็พอแล้ว อย่าไปเสียเวลาหามามากจนเกินไป เอาเวลามาหาธรรมะจะดีกว่า มาปฏิบัติธรรม มาสร้างมรรค ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนให้เจริญให้มาก ถ้าต้องการนิโรธคือการดับทุกข์ มรรคก็คือทานศีลภาวนานี่เอง ที่พวกเราต้องทำให้มาก

 

ทานคือการให้สิ่งต่างๆที่มีมากเกินความจำเป็น ไม่ได้หมายถึงให้ไปหาสิ่งต่างๆมาให้ทาน ถ้าไม่มีอะไรจะให้ก็ไม่ต้องให้ อย่างพระนักบวชนี้ ท่านได้ให้ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองไปหมดแล้ว ไม่ต้องเสียเวลาไปหาทรัพย์มาให้ทานอีกแล้ว เรื่องทานสำหรับนักบวชนี้ก็เป็นอันว่าหมดภาระไป นอกจากได้มาอีกก็ค่อยทำไป แต่ไม่ได้มาจากการไปแสวงหา ได้มาเนื่องจากมีศรัทธาถวาย ก็เอาไปทำประโยชน์ต่อ ไม่ใช่งานของนักบวชแล้ว เพราะได้ทำเต็มที่แล้ว ในการให้ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ให้จนไม่มีอะไรเหลือติดตัวแล้ว นอกจากอัฐบริขาร คือเครื่องใช้ไม้สอยเครื่องอยู่ของนักบวช เช่นไตรจีวรบาตรเป็นต้น มีสมบัติเพียง ๘ ชิ้นที่ไม่สามารถให้ใครได้ เพราะจำเป็นต่อการดำรงชีพ ถ้าบวชไปนานๆแล้วมีศรัทธาถวายให้มากเกินความจำเป็น ก็จะไม่เก็บไว้ จะให้ทานไปให้หมด ไม่ได้บวชเพื่อมาหาลาภสักการะเพื่อเอาไปทำทาน ถ้าญาติโยมไม่มีสมบัติที่เหลือใช้แล้ว มีแต่สิ่งที่จะต้องเก็บเอาไว้ใช้สำหรับตนเอง ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปทำมาหากิน เพื่อหาเงินหาทองมาทำบุญให้ทาน เพราะไม่ต้องทำแล้ว

 

ควรทำงานขั้นต่อไปคือรักษาศีล รักษาศีล ๕ ไปก่อน แล้วขยับขึ้นไปรักษาศีล ๘ ถ้าอยากจะรักษาศีลมากกว่านั้น ก็ออกบวชถือศีลของนักบวชไป ถ้าเป็นชายก็บวชเป็นพระภิกษุรักษาศีล ๒๒๗ แต่ศีลที่จะสนับสนุนการเจริญสมาธิและปัญญานี้ ศีล ๘ ก็พอเพียง เพราะศีล ๒๒๗ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรที่สำคัญไปกว่าศีล ๘ ส่วนใหญ่จะเป็นกฎระเบียบสำหรับการอยู่ร่วมกัน หรือการประพฤติตนให้เหมาะสมต่อฐานะของนักบวช ที่ต้องมีความสุภาพเรียบร้อย แต่ศีลสำคัญของพระก็มีอยู่ ๔ ข้อเท่านั้น คือปาราชิก ๔ ถ้าละเมิดก็ถือว่าขาดจากการเป็นนักบวช ส่วนศีลข้ออื่นๆก็ยังสามารถแก้ได้ ทำผิดแล้วก็ยังชำระได้ ปลงอาบัติได้ แต่ศีลที่ชำระไม่ได้ปลงไม่ได้ ก็คือปาราชิก ๔ คือ ๑. การเสพเมถุนหรือการร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์ ๒. การฆ่ามนุษย์ ๓. การลักทรัพย์ ๔. การอวดอุตริมนุสธรรม คืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน ถ้าเป็นคุณวิเศษที่มีในตนก็ไม่เป็นปาราชิก อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสความจริง ถ้าไม่ทรงตรัสก็ไม่มีใครทราบ ท่านจึงต้องประกาศให้ผู้อื่นได้ทราบว่า ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้โดยพระองค์เอง สิ้นจากความโลภโกรธหลงแล้ว ทรงประกาศจากพระทัยที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่ได้ต้องการผลตอบแทนจากผู้ฟัง เช่นความเคารพนับถือหรือลาภสักการะ แต่เป็นการบอกเพื่อผู้อื่นจะได้รู้ความสามารถของพระองค์ เหมือนกับหมอที่ประกาศว่าตนรักษาโรคมะเร็งได้ เพื่อคนที่เป็นโรคมะเร็งจะได้มารักษา ถ้าไม่ประกาศก็จะไม่มีใครรู้

 

ปัญหาในปัจจุบันอยู่ที่ไม่มีใครรับรอง ถ้ามีคนอยากจะหลอกชาวบ้าน พูดว่าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็จะไม่มีใครรับรองได้ จึงไม่ค่อยกล้าพูดกัน ว่าได้บรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว เพราะกลัวจะถูกกล่าวหาว่าเป็นปาราชิกได้ นอกจากบุคคลที่มีบารมีมากๆอย่างหลวงตา เนื่องจากท่านได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาเป็นจำนวนมาก ที่สามารถพิสูจน์และรับรองคำสอนของท่านได้ ท่านจึงพูดได้อย่างเต็มปาก และไม่มีใครกล้าไปกล่าวหาว่าท่านเป็นปาราชิก ตอนที่ท่านบอกว่าท่านไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานากัน เนื่องจากมีธรรมเนียมว่าไม่ควรจะพูด ถึงแม้จะบรรลุก็ไม่ควรจะพูด เพราะเสี่ยงกับการถูกกล่าวหาว่าเป็นปาราชิก นี่คือศีลของพระ ๔ ข้อ ที่คล้ายกับศีล ๕ ของญาติโยม  คือข้อที่เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปด

 

ถ้ามีศีล ๕ บริสุทธิ์ ก็พอเพียงต่อการปฏิบัติสมาธิและปัญญา ถ้ามีศีล ๘ ก็จะทำให้การปฏิบัติได้ผลมากขึ้น เพราะจะช่วยตัดนิวรณ์คือกามฉันทะ ที่จะขัดขวางจิตไม่ให้เข้าสู่ความสงบ กามฉันทะคือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ที่จะต่อต้านไม่ให้นั่งสมาธิ เพราะอยากจะดื่ม อยากจะรับประทาน อยากจะดู อยากจะฟัง อยากจะออกไปเที่ยว พอไปอยู่ที่เงียบๆคนเดียว เพื่อนั่งทำจิตให้สงบก็จะรู้สึกเหงาว้าเหว่ ทำไม่ได้ ถ้าถือศีล ๘ ตัดความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสได้ ก็จะนั่งสมาธิได้ เช่นการถือศีลข้อที่ ๖ ไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว รับประทานเท่าที่จำเป็นต่อร่างกาย รับประทานเหมือนรับประทานยา ไม่หาความสุขจากการรับประทานอาหาร เช่นวันละ ๓-๔ มื้อ รับประทานเช้ากลางวันเย็นและก่อนนอน อย่างนี้เป็นกามฉันทะ รับประทานเพื่อรสชาติ เพื่อความสุข จะทำให้เกิดนิวรณ์ ไม่สามารถนั่งทำจิตให้สงบได้ จะง่วงเหงาหาวนอนเวลารับประทานอิ่มแล้ว จะขี้เกียจ อยากจะนอน เดินจงกรมไม่ไหว นั่งสมาธิก็จะสัปหงก ถ้าจะเจริญสมาธิก็ควรถือศีล ๘

 

ถ้าถือศีล ๘ แล้วยังไม่คืบหน้า ยังง่วงเหงาหาวนอน ก็ต้องอดอาหารบ้าง ผ่อนอาหารบ้าง ดื่มน้ำปานะแทนที่จะรับประทานอาหาร ถ้าท้องว่างตัวก็จะเบา ไม่ง่วง สติจะดี จะควบคุมจิตให้อยู่กับกรรมฐาน เช่นการบริกรรมพุทโธ ได้ง่ายกว่าตอนที่ไม่ได้อดหรือผ่อนอาหาร ก็ต้องดูว่าถูกจริตหรือไม่ ถ้าอดแล้วกลับยิ่งฟุ้งซ่าน คิดปรุงแต่งเรื่องอาหารตลอดเวลา ก็จะไม่ถูกกับจริต ก็ต้องใช้วิธีอื่นเพื่อแก้ความง่วงเหงาหาวนอน เช่นเดินจงกรมให้มาก หรือไปอยู่ในสถานที่ที่น่ากลัว เช่นในป่าช้า จะไม่รู้สึกง่วงนอน เพราะมีความหวาดกลัว แต่ต้องมีสติให้มีกำลังที่จะควบคุมความกลัวให้ได้ก่อน เวลามีความหวาดกลัว ท่านสอนให้บริกรรมพุทโธๆไป อย่าไปคิดถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว เช่นได้ยินเสียงแล้วคิดว่าเป็นผี ต้องหยุดความคิดนี้ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ หรือสวดบทอิติปิโส อรหังสัมมา สวากขาโต สุปฏิปันโน ไม่นานจิตก็จะสงบลง ความกลัวก็จะหายไป จะเห็นว่าความกลัวไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก แต่อยู่ที่ข้างใน อยู่ที่ใจหลอกตัวเราเอง ใจเป็นผีหลอกเราเอง ผีไม่ได้บอกว่าเขาเป็นผี ใครเป็นคนไปบอกว่าเขาเป็นผี ก็เรานี่แหละ พอบอกว่าเป็นผี ก็กลัวผีขึ้นมาทันที ทั้งๆที่ผีไม่เคยประกาศตัวเลยว่าเป็นผี มีแต่เราเองไปว่าเขาเป็นผี ความจริงเขาไม่ได้เป็นผี เขาเป็นเสียง เช่นเสียงลมพัด ทำให้ใบไม้กิ่งไม้แกว่งไปแกว่งมา เราก็ไปว่าเป็นผี แล้วก็กลัวขึ้นมา ต้องดึงใจเข้ามาหาพุทโธ ธัมโม สังโฆ

 

ดังในพระสูตรที่สอนว่า เวลาเกิดความกลัวให้เจริญบทพระพุทธคุณ ถ้ายังไม่หายกลัว ก็ให้เจริญบทธรรมคุณ ถ้ายังไม่หายอีก ก็ให้เจริญบทสังฆคุณ ให้เจริญไปเรื่อยๆ แล้วความกลัวจะหายไป จิตจะสงบลงเป็นสมาธิ นี่คืออุบายที่จะบังคับให้บริกรรมพุทโธ เวลาไปอยู่ในสถานที่น่ากลัว เวลาอยู่ในที่ปลอดภัยจะไม่กลัว ก็จะไม่บริกรรมพุทโธ ไม่ระลึกถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ เหมือนกับเวลาที่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะไม่คิดหายามารับประทาน แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะรีบหายามารับประทานทันที ฉันใดเวลาอยู่ในที่ปลอดภัย ก็จะไม่ค่อยคิดถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ แต่พอไปอยู่ที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ที่มีความหวาดกลัว ใจจะคิดถึงพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณ จะบริกรรมพุทโธๆแนบอยู่กับใจ การบริกรรมแนบติดอยู่กับใจอย่างต่อเนื่องนี่แหละ ที่จะทำให้จิตรวมลงเข้าสู่ความสงบ นักภาวนาส่วนใหญ่จึงชอบไปหาที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัวภาวนา เพราะจะได้รับผล อยู่ในที่ปลอดภัยภาวนาเป็น ๑๐ ปี ก็ยังไม่เห็นผล เพราะไม่มีคำบริกรรมแนบติดอยู่กับใจอย่างต่อเนื่อง แนบอยู่เพียง ๒-๓ วินาทีแล้วก็แวบไปหาเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เวลากลัวมากๆนี่ จะรีบหาที่พึ่ง เหมือนคนที่จะจมน้ำ เวลาเจอซากศพลอยมาก็จะเกาะไว้ เพราะกลัวจมน้ำตาย ถ้าต้องการผลต้องเด็ดเดี่ยว ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ต้องเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

 

การไปงานศพนี้ก็เพื่อให้พวกเราได้เจริญมรณานุสติกัน พวกเราไปกันแล้วได้เจริญกันบ้างหรือไม่ มีดวงตาเห็นธรรมกันบ้างหรือไม่ เพราะการเห็นความตาย การเห็นไตรลักษณ์ในร่างกาย จะทำให้มีดวงตาเห็นธรรม อย่างที่พระอัญญาโกณฑัญญะเห็นว่า “สิ่งใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา” คือนอกจากเห็นในร่างกายแล้ว ก็ยังเห็นในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าอะไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นก็ต้องดับไปหมด เช่นลาภยศสรรเสริญสุข มีการเกิดขึ้นก็ต้องมีการดับไป เมื่อรู้แล้วก็จะไม่ยึดไม่ติด พร้อมที่จะให้เขาจากไป ไม่กลัวความตาย ไม่กลัวการสูญเสีย การพลัดพรากจากสิ่งต่างๆไป นี่คือจุดประสงค์ของการไปงานศพ ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ไปเพื่อให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในร่างกาย เพื่อจะได้ปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติด ไม่ได้ไปเพื่อไปรอรับอัฐิ นั่นไปแบบกิเลส ไปด้วยความโลภ อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ไปเพื่อปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา เพื่อให้มีดวงตาเห็นธรรม มีธรรมจักษุ เพื่อดับความกลัวตายอย่างถาวร สมาธิดับได้ชั่วคราว ทุกครั้งที่ไปอยู่ในที่น่ากลัว ก็จะเกิดความกลัวขึ้นมาอีก ต้องบริกรรมพุทโธอีกถึงจะดับได้

 

ความทุกข์เกิดจากความหลง ที่ไปยึดไปติดไปอยาก ให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ เป็นสมุทัย จึงต้องเจริญมรรคเจริญปัญญา ด้วยการไปงานศพ เพื่อพิจารณาความตาย แล้วก็น้อมเข้ามาสู่ร่างกายของเรา ร่างกายที่อยู่ในโลงกับร่างกายของเรานี้เป็นเหมือนกัน ถ้ารู้แล้วจะทำใจได้ปล่อยได้ ใจก็จะไม่ทุกข์ เพราะได้เจริญมรรคอย่างเต็มที่แล้ว จะตัดความอยากได้ คือความอยากให้ร่างกายอยู่กับเราไป พอไม่มีสมุทัยก็จะไม่มีความทุกข์ พอไม่มีความทุกข์ก็จะเป็นนิโรธ คือความดับทุกข์ นี่คืออริยสัจ ๔ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ทำงานเป็นคู่ๆ มี ๒ คู่ คือทุกข์กับสมุทัยเป็นคู่หนึ่ง นิโรธกับมรรคเป็นอีกคู่หนึ่ง ถ้าสมุทัยทำงานความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นมา เช่นเวลาไปอยู่ในที่น่ากลัว แล้วอยากจะให้ร่างกายปลอดภัย ไม่อยากให้ร่างกายเป็นอะไรไป ก็จะเกิดความหวาดกลัวเกิดความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ ถ้ามีมรรคคอยสอนว่าร่างกายอย่างไรก็ต้องตายอยู่ดี จะอยากให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ถ้าตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องตาย ก็ต้องปล่อยให้ตายไป ยอมตาย ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็จะตัดสมุทัยคือความอยากให้ร่างกายปลอดภัยได้ ถ้าไม่ยอมปล่อยก็จะทุกข์ ถ้าเรายอมก็จะไม่ทุกข์ ยอมรับความจริงว่าอย่างไรก็ต้องตาย ไม่ช้าก็เร็ว นี่เป็นการต่อสู้กันระหว่างมรรคกับสมุทัย ถ้าอยากถ้ายึดติดก็จะทุกข์ ถ้ามีมรรคก็จะไม่ยึดไม่ติดไม่อยาก จะปล่อย พอปล่อยได้ก็จะไม่ทุกข์ จะไม่กลัว ถ้าปฏิบัติถึงขั้นนี้แล้วก็แสดงว่ามีสรณะมีที่พึ่งแล้ว ปลอดภัยจากความกลัวตายแล้ว

 

แต่ก็ยังมีทุกข์กับเรื่องอื่นที่ต้องแก้ต่อไป เช่นทุกข์กับความอยากมีคู่ครอง สาเหตุที่ต้องมีคู่ครองก็เพราะเวลาอยู่คนเดียว จะว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา ก็ต้องพิจารณาอสุภะ ความไม่สวยไม่งามของร่างกาย ถ้าเห็นว่าไม่สวยงามก็จะไม่อยากมีคู่ครอง ถ้าคู่ครองมีอาการไม่ครบ ๓๒ หูหนวกตาบอด แขนขาดขาขาด ก็จะไม่มีอารมณ์อยากอยู่กับเขา จึงต้องพิจารณาส่วนของร่างกายที่ไม่สวยไม่งาม ที่อยู่ภายใต้ผิวหนัง เช่นเนื้อเอ็นกระดูก อวัยวะต่างๆ ดูสิ่งที่เป็นปฏิกูลที่ร่างกายต้องขับออกมา เช่นเหงื่อไคล ปัสสาวะ อุจจาระ และกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา ถึงแม้ภายนอกจะสวยงาม ถ้าเห็นส่วนที่อยู่ภายใต้ผิวหนังด้วยปัญญา ก็จะระงับความกำหนัดยินดี ความอยากเสพกามได้ หรือจะพิจารณาดูร่างกายที่ตายไปแล้วก็ได้ ดูเวลาขึ้นอืดเน่าเฟะ น่าร่วมหลับนอนด้วยหรือไม่ ถ้าคู่ครองตายไป คืนนี้จะนอนกับเขาได้หรือไม่ ถ้าพิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ ก็จะไม่อยากนอนกับเขา ก็จะดับทุกข์ที่เกิดจากราคะตัณหาได้ ราคะตัณหาที่ทำให้จิตใจว้าเหว่ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ถ้าไม่ได้ร่วมหลับนอนกับคนที่ชอบ ถ้าเห็นเขาเป็นเหมือนซากศพ เป็นเหมือนเนื้อสัตว์ที่ชำแหละขายในท้องตลาด เห็นตับไตไส้พุง ก็จะดับความอยากได้ จะอยู่ตามลำพังได้ ไม่ว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา  

 

ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับความเจ็บของร่างกาย ที่เรียกว่าทุกขเวทนา ที่เกิดขึ้นเวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเวลานั่งสมาธินานๆ ก็ต้องเจริญมรรคด้วยการพิจารณาให้เห็นว่า เวทนาเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเอง เป็นอนัตตาควบคุมบังคับไม่ได้ อย่าไปอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ต้องสอนใจให้ยอมรับเวทนาทั้ง ๓ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา หรือไม่ทุกข์ไม่สุขเวทนา ที่เป็นเวทนาเหมือนกันหมด ถ้าใจไม่มีอคติ คือชอบหรือไม่ชอบ ใจก็จะไม่ทุกข์ ถ้าชอบหรือไม่ชอบก็จะทุกข์ เช่นชอบสุขเวทนา พอสุขเวทนาหายไป ก็จะเสียใจเศร้าสร้อยหงอยเหงา ต้องหาสุขเวทนาอยู่เรื่อยๆ อย่างที่พวกเราหากัน ทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ ก็หาสุขเวทนานี้เอง เวลาอยู่คนเดียวจะเศร้าสร้อยหงอยเหงา ก็ต้องออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ เพื่อให้เกิดสุขเวทนา ที่ต้องจางหายไป ไม่ช้าก็เร็ว ทำให้ต้องหาสุขเวทนาอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

 

เช่นเดียวกับทุกขเวทนา เวลาเกิดความเจ็บปวดก็จะหนี จะทำให้หายไป ถ้านั่งแล้วเจ็บก็ต้องขยับตัว เพื่อให้ความเจ็บหายไป แต่ขยับได้ไม่นานก็เจ็บขึ้นมา ก็ต้องขยับอีก ขยับอยู่เรื่อยๆ ต้องสอนใจให้ปล่อยวาง ทำใจให้เป็นอุเบกขา ยอมรับว่าทำอะไรไม่ได้ แต่สามารถรับได้ถ้าไม่มีอคติ คือไม่รังเกียจ ไม่อยากให้หายไป ไม่อยากหนีจากไป ปล่อยให้เขามา ปล่อยให้เขาไป เวลาไปก็ไม่เหนี่ยวรั้งไว้ ไม่วิ่งตาม เช่นเวลาสุขเวทนาจากไป ก็ไม่วิ่งตาม เวลาทุกขเวทนามา ก็ไม่วิ่งหนี เดี๋ยวเขาก็ไปเอง เราอยู่เฉยๆ ทำใจให้นิ่ง ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ เหมือนตอนที่ต่อสู้กับความกลัว พอเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาก็บริกรรมพุทโธๆไป เราเป็นคนบอกเองว่าเขาเป็นทุกขเวทนา เขาไม่ได้บอกว่าเขาเป็นทุกขเวทนาเลย เราบอกเอง แล้วก็ไปรังเกียจเขา ต้องหยุดตัวที่ไปว่าเป็นทุกขเวทนา ตัวที่อยากจะหนีไป ด้วยการบริกรรมพุทโธๆให้ถี่ ไม่ให้คิดถึงทุกขเวทนา ถ้าไม่คิดได้แล้ว ความทุกข์ใจที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกายก็จะดับไป

 

ทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย คือความไม่ชอบทุกขเวทนา จะดับไปด้วยมรรค คือการเจริญสมาธินี่เอง ถึงแม้ทุกขเวทนาทางร่างกายไม่ดับไปด้วย ใจจะไม่เดือดร้อน จะอยู่ด้วยกันได้ ต่างฝ่ายต่างอยู่ ทุกขเวทนาก็อยู่ของเขาไป ใจก็สงบเย็นสบายไม่เดือดร้อนไปชั่วคราว ถ้าจะให้ไม่เดือดร้อนอย่างถาวร ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ว่าเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นทุกขเวทนาเลย เราไปว่าเขาเอง แล้วก็ไปกลัวเขา อยากให้เขาหาย ถ้าเราไม่ว่าเขาเป็นทุกขเวทนา เขาเป็นของเขาอย่างนี้ จะอยู่ก็อยู่ไป ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เพราะเขาเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ห้ามเขาไม่ได้ ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เปลี่ยนไป ไม่ต้องไปอยากให้เขาหายไป ถ้าอยากก็จะเป็นสมุทัย ทำให้เกิดทุกขังขึ้นมา ถ้าไม่ได้อยากให้เขาหายไป หรืออยากจะหนีจากเขาไป ก็จะไม่มีสมุทัยที่จะสร้างความทุกข์ใจขึ้นมา ซึ่งเป็นความทุกข์ที่รุนแรงกว่าทุกขเวทนา พอทุกข์ที่เกิดจากสมุทัยนี้ดับไป ทุกขเวทนาทางร่างกายก็จะไม่รุนแรง อยู่ด้วยกันได้ ไม่เดือดร้อน นี่คือการเจริญมรรคในขั้นของเวทนา

 

ขั้นต้นต้องเจริญมรรคในขั้นของร่างกายก่อน ขั้นความตาย ขั้นอสุภะ แล้วก็เจริญขั้นของนามขันธ์คือเวทนา จากนั้นก็เข้าไปในจิต ที่ยังมีสุขทุกข์เช่นเดียวกับนามขันธ์ ต้องพิจารณาแบบเดียวกัน เวลาสุขก็อย่าไปอยากให้สุขไปตลอด เวลาทุกข์ก็อย่าอยากให้หายไป ปล่อยให้ทุกข์ไป ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ถ้าไปยุ่งก็จะเป็นสมุทัย จะเป็นทุกขสัจ ต้องเจริญมรรคเพื่อที่จะดับทุกข์ที่เกิดจากสมุทัย คือความอยากให้เขาอยู่ หรืออยากให้เขาหายไป พอรู้ทันแล้วต่อไปก็จะปล่อยวางได้หมด นิโรธความดับทุกข์อย่างสมบูรณ์ ก็จะเป็นผลตามมา นี่คือการปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์ขั้นต่างๆ ที่พวกเราทุกคนสามารถปฏิบัติได้ เพราะมีคนสอนแล้ว ไม่ต้องคลำทาง เพียงแต่เดินตามไปเท่านั้นเอง มีทางให้เดินอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้างทาง เพราะมีพระพุทธเจ้า มีครูบาอาจารย์ทำทางให้พวกเราเดินแล้ว ท่านได้เดินไปก่อนแล้ว ให้เดินตามท่านไปเท่านั้นเอง ไม่เห็นจะยากเย็นอะไรเลย ทำไมไม่เดินไปกัน เพราะยังติดกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ ไม่รู้ว่ากำลังติดอยู่กับลูกระเบิด ติดอยู่กับงูพิษ ไม่รู้ว่าจะโดนลูกระเบิด จะโดนงูกัด พอระเบิดขึ้นมาก็ช่วยอะไรไม่ได้ จึงขอให้พวกเราศึกษาและปฏิบัติให้มาก แล้วสติสมาธิปัญญาก็จะเกิดมากขึ้น วิมุตติก็จะเป็นผลที่ตามมาต่อไป

 

(ท่านอาจารย์ถามศิษย์ ที่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิง       สรีระสังขารของหลวงตาพระมหาบัว เมื่อวันที่ ๕ มีนาคมว่า มีใครมีดวงตาเห็นธรรมกันบ้าง  ลูกศิษย์ปรารภว่ามีแต่เรื่องจิตตกกัน)

 

ตอบ          เพราะไม่มีสติคอยควบคุมจิตใจ ปล่อยให้ไหลไปตามสังขารความคิดปรุงแต่ง แล้วก็ว้าวุ่นขุ่นมัว ไปกับสิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ แทนที่จะเห็นว่าเป็นเรื่องบุญเรื่องกรรม ของจิตแต่ละดวง

ถาม          ไม่พิจารณากายจะได้ไหม ดูอาการของจิตแทน

ตอบ          ถ้าไม่มีปัญหากับร่างกายแล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณา ถ้ามีปัญหาแต่ไม่พิจารณา ปัญหาก็จะไม่หมดไป จะข้ามไปที่จิตก็ยิ่งยากใหญ่ เพราะจิตเร็วกว่าร่างกาย จับเต่ายังจับไม่ได้ แล้วจะจับลิงได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญหากับความตายกับราคะตัณหา ก็ไม่ต้องพิจารณา ติดอยู่ตรงไหน ปัญหาอยู่ตรงไหน ก็ต้องแก้ตรงนั้น

ในสติปัฏฐานสูตรก็ทรงแสดงไว้แล้วว่า ให้ตั้งสติที่กายเวทนาจิตธรรมตามลำดับ เป็นขั้นอยู่แล้ว พิจารณากายก่อน แล้วก็เวทนา แล้วก็จิต ส่วนธรรมคืออริยสัจ ๔ นี้ ก็มีอยู่ในทั้ง ๓ ขั้น ขั้นกายก็มี ขั้นเวทนาก็มี ขั้นจิตก็มี ต้องผ่านอริยสัจ ๔ ทั้ง ๓ ขั้นนี้ ขั้นกายก็มีสมุทัยที่เกี่ยวกับกาย คือความรักตัวกลัวตาย ขั้นเวทนาก็คือความรักสุขเวทนา ความไม่ชอบทุกขเวทนา นี่ก็เป็นสมุทัยขั้นเวทนา ขั้นจิตก็เหมือนกัน ความรักความสงบความสุขความละเอียดของจิต ก็เป็นสมุทัยในขั้นของจิต ต้องใช้มรรคคือสติสมาธิปัญญาพิจารณา ให้รู้ทันว่าเป็นไตรลักษณ์ แล้วก็ปล่อยเขาไป

การพิจารณานี้เพื่อดับความทุกข์ความวุ่นวายใจ ไม่ได้ดับอย่างอื่น ร่ายกายก็ไม่ได้ดับ เวทนาก็ไม่ได้ดับ ร่างกายกับเวทนาก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ขันธ์ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่ไม่ได้เป็นเครื่องมือของกิเลสแล้ว เพราะถูกมรรคทำลายไปหมดแล้ว ขันธ์ก็เลยกลายเป็นเครื่องมือของธรรมะไป เช่นพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้ขันธ์ ๕ มาแสดงธรรม มาโปรดญาติโยม เวลาสั่งสอนญาติโยม ก็ต้องใช้สังขารความคิดปรุงแต่ง แต่ปรุงแต่งในเรื่องธรรมะเรื่องมรรค ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือแสดงธรรม พอธาตุขันธ์หมดสภาพ ก็ไม่สามารถใช้ได้ต่อไป

ขันธ์ก็ยังเป็นขันธ์อยู่เหมือนเดิม ขันธ์ของพระพุทธเจ้า ขันธ์ของปุถุชนก็เป็นขันธ์เหมือนกัน เพียงแต่ว่าขันธ์ของปุถุชนยังเป็นเครื่องมือของกิเลส กิเลสใช้ขันธ์สร้างความทุกข์ให้กับเรา ความทุกข์ต่างๆเกิดจากกิเลส ไม่ได้เกิดจากขันธ์ ขันธ์เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่กิเลสไม่ยอมรับว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา กิเลสจะหลอกว่าเป็น นิจจัง สุขัง อัตตา เที่ยงแท้แน่นอน เป็นสุข เป็นตัวเราของเรา จะคิดอย่างนี้เกี่ยวกับร่างกาย เกี่ยวกับสุขเวทนา อยากให้สุขไปตลอด อยากให้ร่างกายอยู่ไปตลอด แต่ขัดกับความจริง ที่ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่สามารถควบคุมบังคับเขาได้ นี่คือการพิจารณาด้วยปัญญาทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นไหน ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ เพื่อให้เกิดปัญญา

ต้องพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ของสิ่งที่ยังติดอยู่ ต้องเห็นว่าเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข ควบคุมบังคับไม่ได้ พอเห็นแล้วก็จะปล่อยวางได้ เวลาอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็พิจารณาว่าบางทีก็เป็นบางทีก็ไม่เป็น เพราะไม่เที่ยง ถ้าไม่เป็นตามความอยาก ก็จะทุกข์ ถ้าเฉยๆ จะเป็นอะไรก็เป็นไป ไม่เป็นก็ไม่เป็น ก็จะไม่ทุกข์ เพราะควบคุมบังคับไม่ได้ ต้องมองอย่างนี้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลาภยศสรรเสริญ หรือความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เป็นแบบเดียวกัน บังคับเขาไม่ได้ บังคับให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นไปตลอดไม่ได้ บังคับให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการไม่ได้ บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ บังคับให้มีแต่การสรรเสริญอย่างเดียวก็ไม่ได้ บางครั้งก็ต้องถูกด่าถูกตำหนิบ้าง เป็นธรรมดา

เป็นโลกธรรมที่ต้องสัมผัสรับรู้ด้วยกันทุกคน ถ้าไม่ยึดติดก็จะไม่ทุกข์ ถ้ายึดติดก็จะทุกข์ ถ้าเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ก็จะไม่ยึดติด เห็นว่ามีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา มีการเจริญลาภได้ ก็มีการเสื่อมลาภได้ มีการเจริญยศได้ ก็มีการเสื่อมยศได้ มีสรรเสริญได้ ก็มีนินทาได้ มีสุขกับรูปเสียงกลิ่นรสได้ ก็มีทุกข์กับรูปเสียงกลิ่นรสได้เหมือนกัน เช่นคนที่เรามีความสุขด้วยตายไป ก็จะกลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา เคยให้ความสุขกับเรา ตอนนี้ให้ความทุกข์กับเราแล้ว ที่ต้องร้องห่มร้องไห้ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ก็ใครล่ะ ก็เขาไม่ใช่หรือ

แล้วยังจะหลงยึดติดอยู่อีกหรือ ต้องรีบถอนตัวออกมา อยู่ด้วยกันได้ แต่อย่าไปยึดติด ต้องพร้อมที่จะรับกับการเปลี่ยนแปลงรับความตายของเขา ตอนนี้เขาดีกับเรารักเราชอบเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะเกลียดโกรธเราก็ได้ ให้คิดอย่างนี้บ้าง เพราะไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน มีหัวมีก้อย ต้องรับได้ทั้งสองด้าน ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ อยู่ก็ได้ ตายก็ได้ ตำแหน่งก็เหมือนกัน ขึ้นก็ได้ ลงก็ได้ ถูกไล่ออกก็ได้ ที่รับไม่ได้เพราะไปยึดติดไปหลงว่า จะต้องได้ จะต้องเป็นอย่างนี้ พอไม่เป็นอย่างที่คิด ใครเดือดร้อนละ ก็เรานี่แหละ บางทีถึงกับฆ่าตัวตาย เพราะรับไม่ได้

ถ้ามีปัญญาเห็นไตรลักษณ์อยู่ในใจตลอดเวลา จะรู้สึกเฉยๆ จะรู้ทัน ไม่ว่าจะมาแบบไหน จะรับได้ทุกรูปแบบ มาข้างบนก็รับได้ มาข้างล่างก็รับได้ อย่างไรก็ได้ พวกเรารับได้ไหม ให้ไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ตำแหน่งอะไรก็ได้ ขึ้นเงินเดือนก็ได้ ลดเงินเดือนก็ได้ ไล่ออกก็ได้ ต้องคิดอย่างนี้ถึงจะหลุดพ้นได้ อย่าคิดว่าต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะเป็นกิเลส เป็นการทำลายใจ ต้องทำใจให้ลอยขึ้นลงกับเหตุการณ์ต่างๆ เหมือนกับเรือ ที่ลอยขึ้นลงตามน้ำ น้ำขึ้นก็ลอยขึ้น น้ำลงก็ลอยลง ใจของพวกเราก็ต้องลอยขึ้นลง ไปกับลาภยศสรรเสริญสุข ขึ้นก็ได้ ลงก็ได้

วิธีหนึ่งที่จะทำให้ไม่ทุกข์ก็คือ อย่าไปพึ่งลาภยศสรรเสริญสุข อยู่แบบพระ ก็จะตัดปัญหาเรื่องลาภยศสรรเสริญสุขได้ อยู่แบบพระ ตามมีตามเกิด มักน้อยสันโดษ เอาเท่าที่จำเป็น ความจำเป็นของร่ายกายเรานี้ไม่มาก มีข้าวรับประทานวันละมื้อก็อยู่ได้แล้ว จะไม่เดือดร้อนกับเรื่องเงินทอง ถ้าต้องใช้เงินทองเพื่อให้มีความสุข ก็จะเดือดร้อน เวลามีเงินทองไม่พอใช้ เวลารายได้ลดลงก็จะเดือดร้อน เพราะต้องลดรายจ่ายลง ก็จะทุกข์ ถ้าได้ลดลงไว้ก่อนแล้ว ก่อนที่จะถูกบังคับให้ลด ก็จะไม่เดือดร้อน ต้องทำตามพระพุทธเจ้า ที่เคยอาศัยความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ แต่ทรงเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ จึงทรงละหมดเลย

เวลารับประทานอาหาร ก็รับประทานแบบรับประทานยารับประทานเพื่ออยู่ ไม่ได้รับประทานเพื่อความสุข ไม่ได้ดื่มเพื่อความสุข เอาความสุขจากการทำจิตให้สงบจะดีกว่า ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์เพื่อปล่อยวาง จิตก็จะรวมลง เข้าสู่ความสงบที่มั่นคงแน่นหนา กว่าความสงบที่เกิดจากการบริกรรมพุทโธๆ เพราะนั่นเป็นระดับสมาธิ ส่วนการพิจารณาไตรลักษณ์แล้วปล่อยวางได้นี้เป็นระดับปัญญา ที่ถอนรากถอนโคนของกิเลสเลย ส่วนสมาธิเป็นเหมือนหินทับหญ้า ไม่ได้ถอนรากของกิเลส พอออกจากสมาธิ กิเลสก็จะงอกเงยขึ้นมา ความทุกข์ก็จะกลับมาใหม่

ในการปฏิบัติเบื้องต้นต้องเจริญสมาธิก่อน เพราะง่ายกว่าการเจริญปัญญา ยกเว้นถ้ามีจริตไปทางปัญญา พิจารณาปัญญาได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว จะใช้ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ใช้ปัญญาข่มจิตให้เข้าสู่สมาธิ ถ้าพิจารณาไม่เป็น ก็ต้องใช้การบริกรรมไปก่อน เพราะง่ายกว่า พอออกจากสมาธิแล้ว ถ้าอยากจะให้จิตสงบอย่างถาวร ก็ต้องเจริญปัญญา ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ เพื่อตัดสมุทัยความอยากต่างๆ ต้องเจริญทั้งสมาธิและปัญญา ไม่ว่าจะได้สมาธิด้วยปัญญา หรือการบริกรรมพุทโธ พอออกจากสมาธิ ก็ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ที่เป็นที่ตั้งของความทุกข์ เนื่องจากจิตไปหลงยึดติด ต้องพิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย พิจารณาความไม่สวยไม่งาม พิจารณาทุกขเวทนา แล้วก็พิจารณาจิตไปตามลำดับ สมาธิไม่สามารถทำให้ความทุกข์ดับได้อย่างถาวร เช่นเวลาเกิดทุกขเวทนาก็บริกรรมพุทโธไป พอจิตรวมลงเป็นสมาธิ ความทุกข์ก็ดับไปชั่วคราว แต่พอถอนออกมาแล้วมาเจอทุกขเวทนาใหม่ ก็จะต้องทุกข์อีก ถ้าใช้ปัญญาตัดความอยากให้ทุกขเวทนาหายไปได้ ปล่อยวางทุกขเวทนาได้ ก็จะไม่ทุกข์กับทุกขเวทนาอีกเลย

การปฏิบัติทั้งหมดนี้ก็เพื่อสอนให้ใจรู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เห็นก็สักแต่ว่าเห็น อย่าไปรัก อย่าไปชัง อย่าไปมีอคติกับสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่สัมผัสรับรู้ จะได้ไม่ทุกข์ ความดับทุกข์ก็อยู่ตรงนี้เอง อยู่ในใจเรานี้ นิพพานก็อยู่ในใจเรานี้ ไม่ได้อยู่ที่อื่น เพราะนิพพานไม่ได้เป็นสถานที่ เมื่อเช้านี้ก็ได้เทศน์ว่าใจเป็นเหมือนบ้าน มีห้องอยู่หลายห้อง สวรรค์เป็นห้องหนึ่ง นรกเป็นอีกห้องหนึ่ง อยู่ในใจเรา แล้วแต่เราจะเลือกเข้าห้องไหน เหมือนบ้านที่มีหลายห้อง มีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น เราเป็นคนเลือกว่าจะเข้าห้องไหน มีห้องร้อน มีห้องเย็น ห้องร้อนก็นรก ห้องเย็นก็สวรรค์ ส่วนใหญ่พวกเราชอบเข้าห้องร้อนกัน ใจถึงรุ่มร้อน ไม่ชอบเข้าห้องเย็น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เข้าห้องเย็น ด้วยการปฏิบัติทานศีลภาวนา แต่พวกเราชอบเข้าห้องโลภโมโทสันกัน เห็นอะไรก็โลภ เห็นอะไรก็โกรธ เห็นอะไรก็หลง ก็เลยร้อนใจกัน

อย่าไปคิดว่าสวรรค์อยู่บนฟ้านรกอยู่ในดิน นรกสวรรค์อยู่ในใจ เป็นห้องๆ แล้วแต่จะเข้าห้องไหน มีอยู่สองห้องใหญ่ๆ ห้องร้อนกับห้องเย็น แต่พวกเราชอบห้องร้อนกัน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เข้าห้องเย็น ให้ออกบวช ปลีกวิเวกอยู่ตามลำพัง แต่พวกเราชอบเข้าหารูปเสียงกลิ่นรสกัน แล้วก็รุ่มร้อนกัน แล้วก็สงสัยว่านรกมีจริง สวรรค์มีจริงหรือไม่ ทั้งๆที่มีอยู่ในใจตลอดเวลา กลับมองไม่เห็น กลับไม่รู้ว่าเป็นนรกเป็นสวรรค์กัน นิพพานก็เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด ห้องที่เย็นที่สุด ห้องเย็นมีหลายห้อง ห้องชั้นเทพ ชั้นพรหม ชั้นนิพพาน ที่มีความเย็นต่างกันไปตามลำดับ ห้องร้อนก็มีความร้อนต่างกันไปเช่นเดียวกัน ห้องเดรัจฉาน ห้องเปรต ห้องนรก มีอยู่ในใจนี้ ไม่ได้อยู่ที่ไหน

จึงไม่ควรสงสัยเรื่องนรกเรื่องสวรรค์ เรื่องมรรคผลนิพพาน เรื่องเวียนว่ายตายเกิด เพราะอยู่ในใจของพวกเรา เป็นผลที่เกิดจากการทำบุญทำกรรม พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน สพฺพปาปสฺส อกรณํ ละบาปทั้งปวง กุสลสฺสูป สมฺปทา ยังกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺต ปริโยทปนํ  ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ตัดความโลภโมโทสันต่างๆ ให้หมดไปจากจิตจากใจ แล้วก็จะเป็นนิพพานขึ้นมา จะได้เข้าห้องเย็นตามลำดับชั้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ชั้นเทพไปถึงชั้นนิพพาน จึงไม่ต้องไปถามว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน หลวงตาอยู่ที่ไหน ท่านก็อยู่ในห้องเย็นนี้แหละ ไม่ได้ไปไหนหรอก ตายแล้วไม่สูญ บรรลุนิพพานแล้วไม่ได้สูญไปไหน เหมือนกับที่เป็นอยู่ตอนนี้ เพียงแต่ว่าเย็นกว่านี้ สุขกว่านี้ สบายกว่านี้

อย่าลังเลสงสัย อย่าเสียดายสิ่งต่างๆ ที่หลงยึดติดอยู่นี้ เพราะเป็นไฟ ราคัคคินา โทสัคคินา โมหัคคินา เป็นไฟของราคะ ของโทสะ ของโมหะ ถ้าไม่โลภไม่อยาก ไฟของความโลภความโกรธความหลง ก็จะดับไปเอง ก็คือความทุกข์ใจนี่เอง พอความทุกข์ใจดับไปใจก็เย็น เป็นสวรรค์เป็นนิพพานขึ้นมา ไม่มีใครทำแทนเราได้นะ พูดมาแทบเป็นแทบตายนี่ ทำแทนกันไม่ได้ ของใครของมัน เหมือนรับประทานอาหาร รับประทานแทนกันไม่ได้ ต้องรับประทานกันเอง ถ้าไม่รับประทานก็จะหิว ถ้ารับประทานก็จะอิ่ม

ถาม          การที่จะพิจารณาจิตได้ต้องผ่านกายไปก่อน ไม่ใช่อยู่ๆจะพิจารณาจิตได้เลย

ตอบ          ถ้าไม่กลัวความตาย ไม่มีกามารมณ์อยากจะมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาร่างกาย

ถาม          แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องผ่านการพิจารณาร่างกายมาก่อน ถูกต้องไหมครับ

ตอบ          ต้องผ่านมาก่อน

ถาม          คนที่เกิดมาเป็นสกิทาคามี จะพิจารณาจิตได้เลย

ตอบ          ยังไม่ผ่านร่างกาย ทำได้เพียงบางส่วน ทำให้ราคะเบาบางลงไป แต่ยังไม่หมด

ถาม          ถ้าถึงจุดนั้น ก็ต้องรู้ว่าทางที่ถูก ต้องผ่านร่างกายก่อน

ตอบ          ถ้ายังมีกามราคะอยู่ ก็ต้องละให้ได้ก่อน

ถาม          ต้องเริ่มทำใหม่ในชาตินี้หรือเปล่าคะ

ตอบ          ไม่ต้องเริ่มใหม่ ทำต่อได้เลย เพราะจิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย พอจิตได้ร่างกายใหม่ก็ทำต่อได้เลย เหมือนคนขับรถพอรถเสีย ก็ไปหารถคันใหม่มาขับต่อ ไม่ต้องหัดขับรถใหม่ พระสกิทาคามีจึงมีเหลือเพียงชาติเดียว พอกลับมาเกิดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะผ่านร่างกายได้อย่างแน่นอน ก็จะเป็นพระอนาคามี ถ้าตายไปก่อนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะไปอยู่บนสวรรค์ชั้นสุทธาวาสที่มีอยู่ ๕ ชั้น จะเจริญวิปัสสนาในสวรรค์ คือในจิตที่เป็นสวรรค์ชั้นพรหมนั่นแหละ เพราะไม่ต้องมีร่างกายมาเป็นเครื่องมือ เหมือนกับพระโสดาบันหรือพระสกิทาคามี เพราะไม่มีกามราคะแล้ว ถ้ายังมีกามราคะ ยังอยากในรูปเสียงกลิ่นรสอยู่ ก็ต้องมีร่างกาย มีตาหูจมูกลิ้นกายไว้สำหรับดูฟังฯลฯ พอไม่มีความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสแล้ว ร่างกายก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป ถ้ายังมีกามราคะ ก็ต้องมีร่างกายเป็นเครื่องมือ ถ้าไม่มีกามราคะ ก็ไม่ต้องมีร่างกาย พระอนาคามีจึงไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก

ถาม          ผู้ที่จะพิจารณาจิตได้ ก็คือผู้ที่บรรลุอนาคามีแล้วเท่านั้น

ตอบ          ต้องพิจารณากิเลสละเอียด ที่มีอยู่ภายในจิต

ถาม          ฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตาม ต้องพิจารณาร่างกายก่อน ยกเว้นคนที่บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว หรือคนที่หลงไป ถึงไม่เข้าใจว่าต้องเป็นอย่างนั้น

ตอบ          ต้องละสักกายทิฐิ ละกามราคะให้ได้ก่อน

ถาม          ถ้าเป็นปุถุชนธรรมดา ก็ต้องพิจารณาร่างกายก่อน

ตอบ          ต้องพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่ยึดไม่ติด จะเกิดจะดับก็เป็นเรื่องของร่างกาย จะไม่ทุกข์กับการดับของร่างกาย แล้วก็ต้องพิจารณาอสุภะและปฏิกูลของร่างกาย เพื่อดับกามราคะ ซึ่งเป็นสังโยชน์ข้อที่ ๔ พระโสดาบันได้ละสังโยชน์ ๓ ข้อแรก คือ สักกายทิฐิ ความเห็นว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ขันธ์ ๕ เป็นตัวเราของเรา จะเห็นว่าเป็นสภาวธรรม เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะไม่กลัวความตาย จะละความสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ได้ เพราะได้พิสูจน์จากการปฏิบัติแล้วว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านี้เป็นจริง ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สมมุติกันขึ้นมา เป็นเหตุเป็นผล จะไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมและพระสงฆ์ เพราะผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมนี้ก็คือพระสงฆ์นี่เอง ก็คือผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่พิจารณาจนเห็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจนในขันธ์ ๕ ก็จะละสังโยชน์ ความลังเลสงสัย และก็จะเห็นว่าความสุขความทุกข์ ความดีความชั่วนี้ อยู่ที่การกระทำของจิตเอง อยู่ที่ความคิดของจิต คิดดีก็เป็นสุข คิดชั่วก็เป็นทุกข์ ก็จะไม่ทำบาปโดยเด็ดขาด เพราะรู้ว่าการทำบาปจะทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้

ถาม          ในสังโยชน์ ๓ ข้อแรกนี้ ต้องละข้อไหนก่อน

 

ตอบ          ต้องละสักกายทิฐิก่อน อย่างพระอัญญาโกณฑัญญะ พอท่านเห็นว่ามีการเกิดการดับเป็นธรรมดา ก็จะไม่ยึดติด ไม่ทำบาปเพื่อรักษาชีวิต เพราะจะทำให้จิตใจต่ำลง จะเข้าห้องร้อนแทนที่จะเข้าห้องเย็น ถ้าเห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ก็แสดงว่ามีดวงตาเห็นธรรม ก็จะเห็นพระพุทธเจ้า เพราะผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็จะเห็นตถาคต จะเห็นอริยสงฆ์ด้วย คือเห็นว่าตนได้บรรลุเป็นอริยสงฆ์แล้ว จะรู้ว่าความสุขความทุกข์ ความเจริญความเสื่อม อยู่ที่การกระทำของตน ไม่ได้อยู่ที่พิธีกรรมต่างๆ ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้

 

ถาม          ถ้ามีรูปขันธ์แล้วจะต้องมีนามขันธ์ด้วยใช่ไหมคะ จะมีคนที่มีรูปขันธ์แต่ไม่มีนามขันธ์ไหมคะ

 

ตอบ          ซากศพมีรูปขันธ์แต่ไม่มีนามขันธ์ นามขันธ์มีอยู่ในจิตตลอดเวลา เพราะนามขันธ์คือเวทนาสัญญาสังขารเป็นอาการของจิต อย่างพระอนาคามีนี้จะไม่มีรูปขันธ์ เพราะท่านไม่มีราคะตัณหา แต่นามขันธ์ของท่านยังเป็นเครื่องมือของกิเลสอยู่ ยังมีสังโยชน์อยู่อีก ๕ ข้อ คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ที่พระอนาคามีต้องละให้ได้ เพื่อจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

 

ถาม          อุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องสูงนี้ เป็นการพิจารณาของมหาสติมหาปัญญา ที่หลวงตากล่าวถึงใช่ไหมคะ

 

ตอบ      เป็นการพิจารณาปัญญาอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่รู้จักประมาณ เลยเถิดไป แทนที่จะพิจารณาให้จิตฉลาดแหลมคม กลับฟุ้งซ่านขึ้นมา เพราะเกินกำลังของจิต ต้องพักจิต แต่ไม่พัก ก็เลยเป็นอุทธัจจะฟุ้งซ่านขึ้นมา พิจารณาอย่างไรก็ไม่เห็น ไม่เกิดประโยชน์ ต้องหยุดแล้วทำจิตให้สงบ พักจิตก่อน พอได้พักแล้ว ก็จะพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

ถาม          เหมือนที่หลวงตาเทศน์ว่า ท่านต้องบังคับจิตให้อยู่กับพุทโธใช่ไหมคะ

 

ตอบ          ใช่ เพราะพิจารณาจนเลยเถิดไปแล้ว หลวงปู่มั่นบอกหลวงตาว่าหลงสังขาร ตอนต้นก็ติดสมาธิ ไม่ยอมออกไปพิจารณา หลวงปู่มั่นก็บอกว่า สมาธิเป็นเหมือนเศษเนื้อติดฟัน พอออกพิจารณาและเห็นผลก็ไม่ยอมหยุด

 

ถาม          ถ้ามาถึงตรงนั้นจะรู้เองหรือเปล่าคะ

 

ตอบ          ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์บอกล่วงหน้าไว้ก่อน ก็จะติดสมาธิ ติดปัญญา  

 

ถาม          การพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา เวลาเกิดเหตุการณ์จริงๆนี่ มันล้มทั้งยืนเลยค่ะ

 

ตอบ          ยังไม่เป็นปัญญาที่แท้จริง เป็นจินตมยปัญญา ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญา ที่ดับกิเลสดับความทุกข์ได้

 

ถาม          ทำอย่างไรให้ถึงตรงนั้นได้ล่ะคะ

 

ตอบ          ต้องพิจารณาอยู่ตลอดเวลา พอกิเลสโผล่มาปั๊บก็ตัดได้เลย

 

ถาม          กิเลสของแต่ละคนมันแตกต่างกันไหมคะ

 

ตอบ          มีหนาบางต่างกัน แต่โลภโกรธหลงเหมือนกัน นักปฏิบัติถึงแบ่งไว้เป็น ๔ พวก คือ ๑. รู้ง่ายและปฏิบัติง่าย  ๒. รู้ง่ายแต่ปฏิบัติยาก  ๓. รู้ยากแต่ปฏิบัติง่าย  ๔. รู้ยากและปฏิบัติยาก รู้ง่ายเพราะมีปัญญาแหลมคม รู้ยากเพราะมีปัญญาทึบ ปฏิบัติง่ายเพราะกิเลสบาง ปฏิบัติยากเพราะกิเลสหนา

 

ถาม          อันนี้เปลี่ยนได้ไหมคะ หรือเป็นประจำจิตแต่ละดวง

 

ตอบ          เป็นบารมีที่สร้างมาไม่เท่ากัน