กัณฑ์ที่ ๔๓     ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔

การทำพระนิพพานให้แจ้ง

 

มีธรรมอยู่บทหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนใช้สวดเป็นประจำทุกๆวันคือ  เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น  กรรมนี้ก็หมายถึงการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ  มีการกระทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลาหลับ  เวลาหลับแม้จะไม่ได้พูดไม่ได้ขยับตัวแต่ก็ยังฝันได้  ใจยังทำงานอยู่  การทำงานของใจเรียกว่ามโนกรรม  การทำงานของกายเรียกว่ากายกรรม  ทำงานของวาจาเรียกว่าวจีกรรม กรรมนี้ทำได้สามทางด้วยกัน  ทำดีเรียกว่ากุศล ทำชั่วเรียกว่าอกุศล  ทำไม่ดีไม่ชั่วเรียกว่าอัพยกฤต  นี่คือกรรมที่ทำกันอย่างต่อเนื่องทุกๆวัน ทุกๆเวลา  ทางกาย วาจา ใจ  เมื่อทำไปแล้วก็มีวิบาก คือผลของกรรมตามมา  ทำดีก็มีความสุขใจ  ตายไปก็ไปสวรรค์  ทำชั่วก็มีความทุกข์ใจ ตายไปก็ไปนรก  นี่คือวิบากผลของกรรม 

กรรมดีหมายถึงการกระทำทาง กาย วาจา ใจ  ที่เป็นประโยชน์ปราศจากโทษ  กับตัวเราก็ดี   กับผู้อื่นก็ดี   หรือทั้งกับตัวเราและผู้อื่นก็ดี   เรียกว่า กรรมดี เป็นบุญ เป็นกุศล  กรรมชั่วหมายถึงการกระทำทาง กาย วาจา ใจ ที่เป็นโทษปราศจากคุณ กับตัวเราก็ดี กับผู้อื่นก็ดี หรือทั้งกับตัวเราและผู้อื่นก็ดี เรียกว่ากรรมชั่ว  เป็นบาป เป็นอกุศล วิบากคือผลที่ตามมา มีสุข มีทุกข์ มากน้อยสลับกันไป  ดังที่กำลังสัมผัสกันอยู่ ไม่เท่าเทียมกัน เพราะต่างกรรม ต่างวาระกัน บางวันตื่นขึ้นมามีความรู้สึกสดชื่นเบิกบาน มีความสุขมีความสบายใจ  แต่บางวันตื่นขึ้นมากลับมีความหงุดหงิดใจ มีความไม่สบายใจ นี่คือวิบากผลของกรรมที่กระทำมาในอดีต จะเป็นเมื่อคืนนี้ เมื่อวานนี้ อาทิตย์ที่แล้ว เดือนที่แล้ว หรือปีที่แล้ว ก็สุดแท้แต่ การกระทำทั้งหมดนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ผู้กระทำกรรมจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม ไม่ช้าก็เร็ว

กรรมที่มีโทษมากที่สุด เป็นบาปมากที่สุด  เรียกว่าอนันตริยกรรมมีอยู่ ๕ ชนิดคือ  .  มาตุฆาต          การฆ่ามารดา    .  ปิตุฆาต  การฆ่าบิดา   .  อรหันตฆาต   การฆ่าพระอรหันต์    .  โลหิตุปบาท          การกระทำให้พระพุทธเจ้าห้อเลือด   .  สังฆเภท          การทำให้สงฆ์แตกแยก แตกความสามัคคี อนันตริยกรรมทั้ง ๕ นี้ เป็นกรรมหนัก เพราะบุคคลที่ถูกกระทำเป็นบุคคลที่มีคุณมีประโยชน์อย่างใหญ่หลวงกับผู้กระทำ เช่นบิดามารดามีพระคุณกับลูกมาก  เป็นผู้ให้กำเนิดและเป็นผู้เลี้ยงดูลูก  ที่ลูกเกิดมาอยู่ในโลกได้ทุกวันนี้ก็เพราะมีบิดามารดาเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้ให้การเลี้ยงดู  พระคุณของท่านมีมากจนลูกไม่สามารถจะชดใช้ได้หมด  ต่อให้เลี้ยงดูท่านอย่างดีตลอดอายุขัยของท่าน  พระคุณของท่านก็ชดใช้ไม่หมด การฆ่าบิดามารดาจึงเป็นกรรมหนัก เป็นอนันตริยกรรม  ต้องไปชดใช้กรรมในนรกเป็นเวลาอันยาวนาน

โทษของการฆ่ามนุษย์มีไม่เท่ากัน  ฆ่าคนอื่นโทษไม่หนักเท่ากับการฆ่าบิดามารดา  เพราะคนอื่นไม่มีบุญคุณเหมือนบิดามารดา โทษจะหนักไม่หนักขึ้นอยู่กับบุคคลที่ถูกทำร้าย ว่าบุคคลคนนั้นมีพระคุณกับผู้กระทำมากน้อยเพียงใด  ถ้ามีพระคุณมากโทษก็มาก  อย่างพระพุทธเจ้าไม่ต้องไปฆ่าท่าน เพียงแต่ทำให้ท่านห้อพระโลหิตก็เป็นอนันตริยกรรมแล้ว เท่ากับฆ่าพ่อ ฆ่าแม่  ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้สงฆ์แตกแยก เพราะพระพุทธเจ้ามีพระคุณอย่างใหญ่หลวงกับสัตว์โลกทั้งปวง นี่คือสิ่งที่ควรศึกษาสำเหนียกไว้ให้ดี ตั้งสติไว้ให้มั่น อย่าให้อารมณ์ที่ไม่ดีมาฉุดกระชากลากให้ไปกระทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ นี้  เพราะเมื่อกระทำไปแล้วไฟนรกจะเผาจิตใจไปอีกนานแสนนาน

แล้วการทำบุญอันใดเล่าที่ได้บุญมากได้กุศลมาก มีการถามกันอยู่เสมอว่าทำบุญอะไรถึงจะได้บุญมาก ถึงจะได้กุศลมาก  ถ้าศึกษาในพระมงคลสูตร จะเห็นว่า  นิพพานสัจฉกิริยา จ เอตัมมังคลมุตตมัง  การทำพระนิพพานให้แจ้ง เป็นมงคลอย่างยิ่ง  เพราะการทำพระนิพพานให้แจ้งหมายถึงการชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง  เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็ไม่ต้องไปเกิดอีกต่อไป  เมื่อไม่เกิดก็ไม่ทุกข์เพราะทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิด ผู้ไม่เกิดย่อมไม่มีทุกข์กับความ แก่ เจ็บ ตาย ตราบใดที่ยังต้องกลับมาเกิดอีก ไม่ว่าจะเป็นภพของเทวดาอินทร์พรหมที่มีความสุขมากมายขนาดไหนก็ตาม  แต่เป็นความสุขที่ไม่จิรังยั่งยืน ต้องเสื่อมไปตามกาลเวลา  เมื่อหมดไปก็ต้องกลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉานอีก  แล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอีก การกระทำพระนิพพานให้แจ้งจึงเป็นการทำบุญที่ได้บุญมากที่สุด  

ทำอย่างไรจึงจะทำพระนิพพานให้แจ้งได้  การจะทำพระนิพพานให้แจ้งได้ต้องละอุปทานความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์์์ เบญจขันธ์คืออะไร คือขันธ์ ๕  ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ   รูปคือร่างกาย เวทนาคือความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์  ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี  สัญญาคือการจำได้หมายรู้ เช่นจำได้ว่าเมื่อวานนี้ไปทำอะไรมา  จำได้ว่าคนนั้นชื่ออะไร จำได้ว่ารูปร่างอย่างนี้เป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย   สังขารในที่นี้ไม่ได้หมายถึงร่างกาย  แต่หมายถึงความคิดปรุงแต่งของจิตใจ  ก่อนจะทำอะไรลงไปทางกายหรือทางวาจา  สังขารต้องคิดปรุงก่อน  คิดไปในทางที่ดีก็มีความสุข  เป็นบุญเป็นกุศล เป็นมรรค เครื่องดับทุกข์  อย่างวันนี้คิดว่าจะมาวัดเพื่อที่จะมาทำบุญ มาฟังเทศน์  เป็นบุญเป็นกุศล  เพราะทำแล้วใจมีความสุข ถ้าคิดไปในทางชั่ว เช่นไปยิงนกตกปลา ไปเล่นการพนัน ไปกินเหล้าเมายา แล้วก็เกิดปัญหาต่างๆตามมา  เวลาเมาแล้วขับรถก็เกิดอุบัติเหตุทำให้เสียชีวิตหรือร่างกายพิกลพิการ เป็นบาปเป็นกรรม เป็นสมุทัย  เหตุให้เกิดทุกข์  

วิญญาณในที่นี้ไม่ได้หมายถึงวิญญาณที่ออกจากร่างกายไป  ร่างกายเมื่อตายไปแล้ว จิตจะออกจากร่างไปเรียกว่าดวงวิญญาณ  ส่วนวิญญาณในขันธ์ ๕ นี้หมายถึงการรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วมีการรับรู้ที่ใจ  เช่นเวลามีรูปมาสัมผัสกับตา จักษุวิญญาณก็จะรับรู้รูปนั้น แล้วสัญญาก็แปลความหมายว่ารูปที่ได้เห็นนั้นเป็นรูปใคร เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นพ่อ หรือเป็นแม่ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าชอบรูปนั้นก็เกิดสุขเวทนา  สังขารก็จะปรุงอยากอยู่กับรูปนั้นไปนานๆ ถ้าไม่ชอบรูปนั้นก็เกิดทุกขเวทนา  สังขารก็จะปรุงอยากหนีให้ไกลจากรูปนั้น

นี่คือการทำงานของขันธ์ ๕  เป็นสภาวธรรมที่ไม่มีตัวตน เป็นตรลักษณ์  เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา   เป็นของไม่เที่ยง ถ้าไปยึดไปติดก็เป็นทุกข์  เช่นร่างกายเมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องสลายกลับไปสู่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ  ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เกิดๆ ดับๆอยู่ทุกขณะ  เวทนาเปลี่ยนไปเรื่อย  เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดให้ดับ  เวลาได้ยินเสียงพูดสรรเสริญเยินยอก็เกิดความสุขขึ้นมา  พอเป็นเสียงนินทาว่ากล่าวตำหนิติเตียนก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา  เกิดแล้วก็ดับไป  สลับกันไปสลับกันมา เป็นเหมือนกับหิ่งห้อย เคยเห็นแสงหิ่งห้อยในเวลากลางคืนไหม  แสงหิ่งห้อยมันจะติดๆดับๆ สลับกันไป นามขันธ์ทั้ง ๔ ก็เหมือนกันเกิดๆดับๆ เวทนา สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็สลับกันไป  สัญญาจำได้หมายรู้ในเรื่องนี้ ในเรื่องนั้นสลับกันไปเรื่อยๆ วิญญาณก็รับรู้รูปแล้วก็ดับไป รับรู้เสียงแล้วก็ดับไป  รับรู้กลิ่นแล้วก็ดับไป  รับรู้รสแล้วก็ดับไป  รับรู้ ร้อน เย็น อ่อน แข็ง ที่มาสัมผัสแล้วก็ดับไป

สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นสภาวธรรม ไม่มีตัวตน  เวลาสุขก็ไม่ใช่เราสุข  เวลาทุกข์ก็ไม่ใช่เราทุกข์ แต่เป็นสักแต่ว่าสุข สักแต่ว่าทุกข์ เป็นธรรมชาติ  พระพุทธองค์ทรงสอนไม่ให้ไปหลงไปยึดไปติดว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา แต่เป็นอนัตตา  สัพเพธัมมา อนัตตา  ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา  เหมือนแดด ลม ฝน ฟ้า มีตัวตนในแดด ในลม ในฝน ในฟ้าหรือเปล่า  มีตัวตนในต้นเทียน ในแสงเทียนหรือเปล่า ฉันใดขันธ์ ๕ ก็ฉันนั้น  ต้นเทียนเปรียบเหมือนรูปขันธ์ ส่วนแสงเทียนเปรียบเหมือนนามขันธ์ทั้ง ๔   เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสภาวธรรม มีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เป็นไป  เมื่อเหตุปัจจัยหมดไปก็สลายไป เหมือนกับต้นเทียนเมื่อจุดแล้วไฟย่อมกลืนต้นเทียนนั้นไปจนหมด แสงเทียนกับความร้อนก็หมดไปด้วยกัน

เมื่อร่างกายนี้แตกดับสลายไป ใจก็จะไปปฏิสนธิ ไปเกิดใหม่ จะสูงจะต่ำ ขึ้นอยู่ที่กรรม เพราะมีกรรมเป็นของของตน  จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลของกรรมนั้น เมื่อถึงเวลากรรมก็คิดบัญชีเหมือนกับเปิดบัญชีไว้ในธนาคาร มีทั้งเงินฝากและเงินกู้  เมื่อถึงเวลาก็ต้องคิดบัญชีกัน เวลาตายไปเป็นเวลาปิดบัญชี บวก ลบ คูณ หารแล้ว ก็ส่งไปเกิดยังที่สูงที่ต่ำ อาจจะไปสวรรค์ อาจจะไปนรก  อาจจะไปเป็นเทวดา อาจจะไปเป็นเดรัจฉาน อาจจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่กระทำกันไว้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า  ถ้าอยากจะสร้างความสุขให้กับตัวเองก็จงพยายามละอุปาทานในขันธ์ห้าเสีย ละรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่าไปยึด อย่าไปติด  พยายามมองขันธ์ห้าให้เหมือนกับต้นเทียน  เวลากราบพระ ให้คิดว่าร่างกายธาตุขันธ์นี้เปรียบเหมือนกับต้นเทียนต้นหนึ่ง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วในที่สุดก็ดับไป  ถ้าปล่อยวางจิตก็จะสบาย จิตก็จะสงบ จิตก็จะเย็น

ยกตัวอย่างเรื่องการปล่อยวางให้ฟังเรื่องหนึ่ง  มีพระสองรูป  รูปหนึ่งเป็นอาจารย์ เป็นหลวงพ่อ อีกรูปหนึ่งเป็นพระหนุ่ม  ทั้งสองรูปกำลังจะเดินกลับวัดที่อยู่ในป่า  จะต้องข้ามลำห้วยอยู่ลำห้วยหนึ่ง  ในขณะนั้นเป็นหน้าฝน  ลำห้วยนั้นมีน้ำไหลเชี่ยวกราก มีหญิงชราคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างลำห้วย  หลวงพ่อเลยถามว่าโยมนั่งทำอะไร  โยมบอกว่าอยากจะข้ามลำห้วยกลับบ้าน แต่กระแสน้ำไหลเชี่ยวเหลือเกินกลัวจะถูกน้ำพัดจมน้ำตาย  หลวงพ่อก็เลยบอกว่าไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวหลวงพ่อจะช่วย เสร็จแล้วท่านก็ช่วยอุ้มหญิงชรานั้นขึ้นมา แล้วอุ้มพาข้ามลำห้วยนั้นไป  เมื่อถึงฝั่งแล้วหลวงพ่อท่านก็วางหญิงชรานั้นลงแล้วหลวงพ่อกับพระหนุ่มก็เดินกลับวัดไป พระหนุ่มท่านศึกษาพระธรรมวินัยมาอย่างเคร่งครัด เกิดความวิตกห่วงใยขึ้นมาว่า หลวงพ่อทำไมถึงมาทำอย่างนี้ เพราะว่าพระวินัยได้ห้ามไม่ให้พระถูกตัวสีกา ไม่ให้สัมผัสตัวผู้หญิง  ก็เลยมีความไม่สบายใจ  พอ กลับถึงวัดก็เลยถามหลวงพ่อว่า ทำไมเมื่อกี้นี้หลวงพ่อถึงไปอุ้มผู้หญิงคนนั้นผิดพระวินัยมิใช่หรือ  หลวงพ่อตอบว่าท่านยังแบกหญิงคนนั้นอยู่อีกหรือ เราปล่อยวางเธอไว้ที่ลำห้วยตั้งนานแล้ว  ท่านยังแบกเธออยู่อีกหรือ

นี่คือเรื่องของการปล่อยวาง  เรื่องมันเกิดตั้งแต่เมื่อเช้านี้แล้วยังจะมานั่งบ่นหาอะไรอยู่  อย่างเมื่อเช้ามีคนมาพูดว่าวันนี้หน้าตาไม่สวยเลย ก็มาคิดว่าไปแต่งหน้าดีไหม ไปอาบน้ำดีไหม หรือคิดไปร้อยแปด  นี่แหละคือการหาความทุกข์ให้กับตัวเอง คิดไปแล้วก็ไม่มีความสุขไม่มีความสบายใจ  เพราะว่าไปยึดติดกับสังขารความคิดปรุงแต่ง ทั้งๆที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโมสุโข  สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป  การปล่อยวางสังขารเป็นสุขอย่างยิ่งหนอ สังขารในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสังขารร่างกาย แต่หมายถึงสังขารความคิดปรุงแต่ง

อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  การปล่อยวางก็คือการรู้เท่าอดีต รู้ทันอนาคต  ปัจจุบันก็ไม่ยึดไม่ติด ให้ขันธ์ห้าเป็นไปตามสภาพของเขา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เมื่อถึงเวลาก็ต้องแยกสลายไป ดินกลับคืนสู่ดิน น้ำกลับคืนสู่น้ำ ลมกลับคืนสู่ลม ไฟกลับคืนสู่ไฟ  การปล่อยวางต้องปล่อยวางด้วยปัญญา  ต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ต้องรู้ว่าสิ่งไหนอยู่ในวิสัย สิ่งไหนไม่ได้อยู่ในวิสัย  สิ่งไหนไม่อยู่ในวิสัย ก็ต้องปล่อยวาง เพราะทำอะไรไม่ได้  แต่สิ่งไหนอยู่ในวิสัย ทำได้ก็ทำไป  แก้ได้ก็แก้ไป  ไม่ใช่ปล่อยวางทั้งหมด  อย่างกุฏิรั่ว หลังคารั่ว ก็ปล่อยวาง ปล่อยให้น้ำหยดท่วมบ้าน ไม่คิดจะทำอะไร  ปล่อยวางเกินไป เป็นความเกียจคร้านเสียมากกว่า ต้องมีเหตุมีผลกับการปล่อยวาง

การทำพระนิพพานให้แจ้ง  คือการทำให้จิตใจมีความสุข ปราศจากความทุกข์ด้วยการตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัดอุปทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ที่มีอยู่ภายในจิตใจ จะทำได้ก็ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรมคำสอน  แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิปัญญา เครื่องมือที่ทำพระนิพพานให้แจ้ง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้