กัณฑ์ที่ ๔๓๐ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๔
อยู่กับความจริง
วันนี้มาจำนวนพอดี ไม่แน่นศาลา นั่งสบายๆ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่ควรสำคัญมั่นหมาย ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ควรปล่อยให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย อยู่กับความจริง ถ้าอยู่กับความจริงได้ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าอยู่ไม่ได้ก็จะทุกข์ แต่ใจของพวกเราไม่ชอบอยู่กับความจริง ชอบอยู่กับความฝัน จึงมักจะพบกับความทุกข์อยู่เรื่อยๆ เพราะไม่รู้ธรรมชาติของใจว่า ความสุขของใจอยู่ที่ความพอใจกับความจริงที่ปรากฏขึ้น ใจถูกความหลงหลอกให้เห็นว่า ความสุขอยู่ที่การได้สิ่งนั้นมีสิ่งนี้ แต่ไม่เคยพิจารณาเลยว่า หลังจากที่ได้มาแล้วเป็นอย่างไร มีความสุขหรือมีความทุกข์มากกว่ากัน ในขณะที่อยากได้ ก็ไม่รู้ว่ากำลังมีความทุกข์แล้ว เพราะไม่มีความพอนั่นเอง ไม่รู้ว่าจุดอิ่มพออยู่ตรงไหน จุดของความอิ่มพอของใจ ก็อยู่ที่ความสงบนี่เอง ที่ฝึกนั่งสมาธิกันนี้ ก็เพื่อให้ใจได้เข้าถึงจุดอิ่มพอ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถอยู่ในสมาธิได้ตลอดเวลา อยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งแล้วก็ต้องถอนออกมา แต่ก็จะได้สัมผัสรับรู้ว่า จุดของความอิ่มพอนั้น ไม่ได้อยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่กับสิ่งต่างๆ แต่อยู่ภายในใจ อยู่ที่ความสงบของใจนี่เอง พอได้ความสงบนี้แล้ว ก็จะรู้ว่าต้องรักษาความสงบนี้ให้ได้ เพราะไม่มีอะไรที่จะให้ความสุขเท่ากับความสงบนี้
ดังนั้นเวลาออกจากความสงบแล้ว ก็ต้องใช้สติคอยควบคุมใจ ให้อยู่ในความสงบต่อไป ใช้ปัญญาสอนใจ ไม่ให้ไปหลงไปอยากกับสิ่งต่างๆ เพราะเวลาเกิดความอยากขึ้นมาแล้ว ความสงบก็จะถูกทำลายไป ถ้ามีสติมีปัญญา ก็จะรู้ว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเอาความสงบ หรือเอาสิ่งที่อยากได้อยากมีอยากเป็น ถ้าอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะต้องดิ้นรนแสวงหามา ก็จะทำให้ความสงบที่มีอยู่ในใจหายไป พอได้สิ่งที่อยากจะได้มาแล้ว ก็จะเห็นว่าความสุขที่ได้มา กับความสุขที่เกิดจากความสงบนั้น ต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน ความสุขที่ได้จากความสงบนี้ มีน้ำหนักมากกว่าความสุขทั้งหลายในโลกนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า ไม่มีสุขใดในโลกนี้ จะดีเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบ พอทำจิตใจให้สงบได้แล้ว ก็จะเห็นความจริงนี้ปรากฏขึ้นมาในใจ จะรู้ว่านี่คือความสุขที่ต้องสร้างให้มีอยู่เรื่อยๆ ต้องรักษาให้มีอยู่เรื่อยๆ แต่เนื่องจากใจยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของโมหะความหลง พอออกจากสมาธิมาสัมผัสรับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สัมผัสรับรู้กับเวทนาสัญญาสังขาร ความรู้สึก ความคิดปรุงแต่ง ความจำได้หมายรู้ ก็จะเกิดตัณหาความอยากได้ อยากมีอยากเป็น ถ้ามีสติปัญญาคอยสอนใจให้เห็นว่า เวลาเกิดความอยาก ความสุขที่ได้จากความสงบจะหายไป ถ้าอยากจะรักษาความสุข ที่เกิดจากความสงบนี้ ก็ต้องละความอยากได้ พอละความอยากได้ จิตก็จะกลับเข้าสู่ความสงบ เป็นสิ่งที่จะรู้ด้วยตนเอง จะรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร หลังจากที่ได้ความสุขจากความสงบแล้ว
พอออกจากสมาธิแล้ว ถ้าจะรักษาความสงบ ก็ต้องควบคุมไม่ให้ใจกระเพื่อม ด้วยการอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ด้วยการสอนใจให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากได้ อยากมี อยากเป็นนั้น เป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นทุกข์ เพราะความอยากเป็นต้นเหตุ ถ้ามีมรรคคือสติปัญญาสอนใจเตือนใจว่า การรักษาความสงบนี้ดีที่สุด ดีกว่าอะไรทั้งหมดในโลกนี้ ก็จะละความอยากได้ กลับเข้าสู่ความสงบความสุขได้ ถ้ารู้ว่าสิ่งต่างๆที่อยากได้นั้น ไม่ใช่ของเรา ไม่สามารถควบคุมบังคับให้อยู่กับเราไปได้ตลอด เช่นทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ บางเวลาก็อยู่กับเรา บางเวลาก็ไม่อยู่กับเรา เพราะเป็นอนิจจังด้วย มีเจริญมีเสื่อม มีเกิดมีดับ มีมามีไปเป็นธรรมดา พอได้สมาธิแล้วการปฏิบัติจะหมุนไปเอง พอออกจากสมาธิแล้วจะเห็นความจำเป็นของการเจริญสติปัญญา ถ้าไม่เจริญความหลงจะหลอก ให้ไปอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรส ให้ไปอยากเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา จะทำให้ทุกข์ใจวุ่นวายใจ การปฏิบัติสู่อริยมรรคอริยผลต้องมีสมาธิก่อน ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่เห็นความแตกต่าง ของความสุขที่เกิดจากความสงบ กับความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆ เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จะหลงติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถ้านั่งสมาธิทำจิตให้สงบได้แล้ว จะเห็นความแตกต่างของความสุข ๒ ชนิดนี้ คือความสุขที่เกิดจากความสงบ กับความสุขที่เกิดจากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จากการได้ลาภยศสรรเสริญ จะรู้ว่าจะต้องรักษาความสุขภายในใจให้ได้ จะคิดออกหาสถานที่สงบวิเวก เพื่อรักษาและเจริญความสงบนี้ ให้ได้อย่างต่อเนื่อง ให้ได้ตลอดเวลา เพราะถ้าอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่สงบ จะทำให้ความสงบอยู่ได้ไม่นาน จะถูกสิ่งยั่วยวนกวนใจต่างๆ คอยล่อคอยหลอกให้เกิดความอยากต่างๆขึ้นมา
ผู้ปฏิบัติเพื่อความสุขภายในใจที่ถาวร จึงต้องปลีกวิเวกไปอยู่ตามลำพัง เพื่อสร้างความสุขภายในใจ ให้มีอยู่อย่างต่อเนื่องและถาวร ถ้าอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่สงบจะทำยาก ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง ก็ต้องนั่งสมาธิทำใจให้สงบให้ได้ ก่อนที่จะได้สมาธิก็ต้องมีสติก่อน ถ้าไม่มีสติเวลานั่งสมาธิก็จะคิดฟุ้งซ่าน จะไม่สงบ ถ้ามีสติก็จะสามารถดึงใจไม่ให้คิดฟุ้งซ่านได้ ให้อยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ หรืออยู่กับการดูลมหายใจเข้าออกอย่างต่อเนื่องได้ ไม่เผลอไปคิดเรื่องต่างๆ ภายในเวลา ๕ นาที ๑๐ นาที จิตก็จะเข้าสู่ความสงบได้ สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญอย่างมากต่อการเจริญสมาธิ และต่อการรักษาความสงบสุข หลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว ด้วยการเจริญปัญญา เป้าหมายแรกของผู้ปฏิบัติ จึงอยู่ที่การเจริญสติ ที่ต้องทำอย่างจริงจัง ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดตอน เพราะเวลาใดที่ขาดสติ เวลานั้นจะเผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ บางทีนานเป็นเวลาหลายชั่วโมงเลย กว่าจะมารู้สึกตัวว่าวันนี้ไม่ได้เจริญสติเลย วันนี้ฟุ้งซ่านทั้งวัน จึงต้องเจริญสติให้ได้ ควบคุมใจไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ไม่ให้ไปอดีต ไม่ให้ไปอนาคต ให้อยู่ในปัจจุบัน ก็มีร่างกายนี้แหละที่เป็นปัจจุบัน ใจถ้าอยู่กับร่างกายก็จะอยู่กับปัจจุบัน หรือจะใช้การบริกรรมพุทโธๆก็ได้ ใช้บทสวดมนต์ก็ได้ ถ้าใช้ร่างกายเป็นที่ตั้งของสติ ก็ต้องเฝ้าดูร่างกายทุกอิริยาบถ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ เช่นกำลังนอนอยู่ กำลังจะลุกขึ้นมา กำลังยืน กำลังเดิน กำลังทำกิจต่างๆ ต้องอยู่กับร่างกายตลอดเวลา ถึงจะมีสติ ซึ่งสามารถทำได้ตลอดทั้งวัน ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ก่อนว่า จะให้ใจเฝ้าดูร่างกายตั้งแต่ตื่นจนหลับ ถ้าอยู่คนเดียวจะทำได้ง่ายกว่าอยู่ด้วยกันหลายคน ถ้าอยู่หลายคนจะถูกคนอื่นดึงใจไป พอเห็นเขาทำอะไร ก็อดวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ พอวิพากษ์วิจารณ์ก็แสดงว่า ไม่ได้อยู่ที่ร่างกายแล้ว ถ้าอยู่คนเดียวจะไม่มีอะไรมาฉุดลากให้ไปจากร่างกาย ถ้ามีภารกิจการงานต่างๆ จะเจริญสติได้ยาก
ถ้าต้องการปฏิบัติให้ได้ผลก็ต้องปลีกวิเวก ยอมสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ด้วยการเจริญสตินั่งสมาธิ เวลาทำภารกิจต่างๆ ก็ให้มีสติเฝ้าดูการกระทำของร่างกาย พอไม่มีภารกิจที่จะต้องทำ ก็ให้นั่งสมาธิ ก่อนที่ใจจะสงบได้ร่างกายต้องสงบก่อน ร่างกายต้องอยู่เฉยๆ ถึงจะทำจิตให้สงบได้ ถ้าร่างกายยังเคลื่อนไหวอยู่ จิตจะไม่รวมลงเป็นสมาธิ จะได้อย่างมากก็คือสติประคับประคองใจ ไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ไม่ให้ไปที่นั่นที่นี่ ไม่ให้ไปอดีตไปอนาคต ถ้าได้นั่งแล้วหลับตา แล้วทำให้ใจอยู่กับกรรมฐานได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะเข้าสู่ความสงบได้ ถ้าดูลมหายใจเข้าออก ก็ให้ดูที่ปลายจมูก หายใจเข้าก็รู้หายใจออกก็รู้ ให้รู้แค่นี้ ลมหายใจจะหยาบหรือจะละเอียด จะสั้นหรือจะยาว ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องบังคับ เราเพียงต้องการใช้ลมเป็นที่เกาะของจิตใจ เพื่อจะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ ถ้าไม่ชอบลมหายใจเข้าออก ชอบบริกรรมพุทโธ ก็ให้บริกรรมพุทโธไป ให้มีสติจดจ่อรู้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธ แล้วก็ระมัดระวังไม่ให้เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้ายังเผลอคิดได้ ก็ต้องบริกรรมให้ถี่ขึ้น ขึ้นอยู่กับจริตของผู้ปฏิบัติ และภาวะของจิต
บางครั้งเวลาเริ่มนั่งสมาธิ จิตจะคิดมาก ให้อยู่กับลมก็ไม่ยอมอยู่ ให้อยู่กับพุทโธก็ไม่ยอมอยู่ ก็ต้องใช้การสวดมนต์ไปเรื่อยๆก่อน สวดบทที่จำได้ ไม่ต้องเปิดดูหนังสือ ไม่ต้องใช้สายตา ให้สวดในท่าขัดสมาธิ สวดไปภายในใจ เหมือนกับการบริกรรมพุทโธ สวดอะระหังสัมมาฯ สวากขาโตฯ สุปฏิบันโนฯ สวดบทไหนก็ได้ที่จำได้ สวดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกอยากจะหยุดสวด ก็แสดงว่าความคิดปรุงแต่งหมดกำลัง ก็จะสามารถนั่งดูลมต่อไป หรือบริกรรมพุทโธๆต่อไปได้ นี่คือภาวะของจิต เวลาเริ่มต้นนั่งนี้ เนื่องจากจิตยังติดค้างอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ยังติดพันอยู่กับเรื่องที่ผ่านมา เวลาพุทโธหรือดูลมก็จะไปคิดเรื่องนั้นต่อ ก็ต้องใช้การสวดมนต์ไปก่อน สวดไปเรื่อยๆจนไม่คิดอะไรแล้วค่อยหยุด แล้วก็กลับมาดูลมหายใจต่อ จิตก็จะอยู่กับลมหายใจได้ จะเข้าสู่ความสงบได้ พอได้สมาธิแล้ว ก็จะได้สัมผัสกับความสุข ที่ดีกว่าที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย ที่ไม่มีใครแย่งจากเราไปได้ ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองนี่ ยังถูกยึดได้ ยังถูกขโมยไปได้ แต่ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ ไม่มีใครยึดไปได้ ไม่มีใครขโมยไปได้ ถ้าทำได้แล้วก็จะทำไปได้เรื่อยๆ ในเบื้องต้นก็อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง เนื่องจากยังไม่ชำนาญ สติยังไม่ต่อเนื่อง วันไหนสติต่อเนื่องวันนั้นก็จะสงบได้ง่าย วันไหนสติไม่ต่อเนื่องวันนั้นก็จะสงบได้ยาก หรือไม่สงบเลย เวลาปฏิบัติก็อย่าไปสำคัญมั่นหมายว่า จะต้องสงบทุกครั้ง ครั้งนี้อาจจะสงบหรืออาจจะไม่สงบก็ได้ ไม่เป็นไร ให้พยายามทำไป ให้เจริญสติเป็นหลัก ถ้าไม่สงบก็แสดงว่าสติไม่มีกำลัง หยุดความฟุ้งซ่านไม่ได้ ถ้าสงบก็แสดงว่าสติมีกำลัง
ข้อสำคัญก็คือต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ้าจะให้ได้ผลก็ควรจะเอางานปฏิบัติอย่างเดียว เช่นนักบวชทั้งหลาย เอางานปฏิบัติเป็นงานหลัก เอางานดูแลอัตภาพร่างกายเป็นงานรอง เช่นพระตอนเช้าท่านก็ออกบิณฑบาต แล้วก็กลับมาฉัน ฉันเสร็จล้างบาตรเสร็จ ก็กลับไปที่พักไปเดินจงกรมนั่งสมาธิ จนถึงเวลาบ่ายปัดกวาด ฉันน้ำปานะ พอสรงน้ำเสร็จแล้ว ก็กลับเข้าเดินจงกรมนั่งสมาธิไป จนถึงเวลาพักตอนประมาณ ๔ หรือ ๕ ทุ่ม ตอนตี ๒ ตี ๓ ก็ตื่นขึ้นมาเดินจงกรมนั่งสมาธิ สลับกันไปจนถึงเวลาออกบิณฑบาต นี่คือการปฏิบัติของนักปฏิบัติ ต้องปฏิบัติแบบนี้ ถึงจะได้ผลเป็นกอบเป็นกำ ถ้าปฏิบัติแบบฆราวาสญาติโยม ที่ตอนเช้าต้องออกไปทำมาหากิน ทำงานทำการ กว่าจะกลับมาบ้านก็ค่ำ บางทีติดงานเลี้ยงติดธุระอื่น กว่าจะกลับมาบ้านก็ดึก ก็จะไม่มีเวลาปฏิบัติ พอจะปฏิบัติก็จะไม่มีกำลัง เหนื่อยหมดแรง เพศฆราวาสจึงไม่เอื้อต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน แต่ก็ไม่ปฏิเสธสำหรับบางคนบางท่านที่เป็นกรณีพิเศษ ที่มีฐานะการเงินที่ดีที่พร้อม ไม่ต้องไปทำมาหากิน ไปทำงานต่างๆ มีที่พักที่สงบอยู่ตามลำพัง สามารถปฏิบัติแบบนักบวชได้ ปฏิบัติในบ้านของตนได้ ตื่นมาก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ จนกว่าจะถึงเวลารับประทานอาหาร รับประทานอาหารเสร็จก็เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ ทำไปอย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน อย่างนี้ก็จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะผลเกิดจากเหตุ คือการปฏิบัติเท่านั้น ที่ทรงแสดงไว้ก็คือ สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน นี่แหละคือเหตุที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา ผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้ถึงได้บรรลุเป็นพระอริยสงฆ์สาวก เป็นสังฆรัตนะ ที่พวกเรารำลึกถึงในพระสังฆคุณ ที่เราสวดกัน สุปฏิปันโน อุชุฯ ญายฯ สามีจิปฏิปันโน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นนักบวช เป็นพระอย่างเดียว เป็นชายอย่างเดียว เป็นได้ทุกเพศทุกวัย ในสมัยพระพุทธกาลผู้ที่เป็นสุปฏิปันโนนี้ มีทุกเพศทุกวัย มีทั้งนักบวช มีทั้งฆราวาส มีทั้งหญิง มีทั้งชาย มีทั้งเด็ก มีทั้งผู้ใหญ่
สุปฏิปันโนคือการเจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับ สลับกับการนั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิก็ให้เจริญปัญญา ให้รักษาความสงบที่ได้จากสมาธิ ด้วยการพิจารณาทางปัญญา หรือใช้สติคอยเฝ้าดูใจ ว่ากำลังจะกระเพื่อมขึ้นมาด้วยความอยากหรือไม่ ถ้ากระเพื่อมขึ้นมาก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปสกัด ไปสอนไม่ให้ไปอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ อยากมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะสิ่งต่างๆไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ควบคุมไม่ได้ ความอยากได้สิ่งต่างๆ จะทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา จะทำลายความสงบที่ได้จากการนั่งสมาธิ นี่คือหน้าที่ของปัญญาหลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว ใช้สติดูแล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณา ถ้าไม่มีอะไรมาสร้างความอยากให้กับใจ ก็ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเหตุการณ์ต่างๆที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต เช่นความไม่เที่ยงของร่างกาย ต้องพิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ต้องพลัดพรากจากกัน ถ้ายังติดอยู่กับกามารมณ์ ก็ต้องพิจารณาอสุภะ พิจารณาความไม่สวยไม่งามของร่างกาย เช่นดูว่าเวลาร่างกายตายไปแล้วเป็นอย่างไรบ้าง มีลักษณะอย่างไร ซากศพเป็นอย่างไร ถ้าเห็นซากศพแล้วก็จะดับกามารมณ์ได้
หรือจะดูอาการ ๓๒ ของร่างกายก็ได้ พวกเราเห็นเพียง ๕ อาการ คือเห็นผมขนเล็บฟันหนัง แต่ภายใต้ผิวหนังนี้มองไม่เห็นกัน ต้องใช้ปัญญาดูทะลุผิวหนังเข้าไป ต้องพิจารณาเนื้อเอ็นกระดูก ดูกระดูกตั้งแต่ศีรษะลงไปจนถึงเท้า มีกระดูกเต็มร่างกาย พิจารณาอวัยวะต่างๆ เช่นหัวใจ ตับ ปอด ลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่ เยื่อในสมองศีรษะ และน้ำต่างๆที่มีอยู่ในร่างกาย น้ำเสลด น้ำดี น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ ฯ ตอนต้นก็ท่องชื่อไปก่อน จำชื่อไว้ก่อนแล้วค่อยนึกถึงอาการต่างๆ ถ้าไม่เคยเห็นก็ไปเปิดดูหนังสือที่มีภาพต่างๆ ดูภาพผ่าศพ ที่นักศึกษาแพทย์ใช้ศึกษาอวัยวะต่างๆ ให้ดูจนติดตาติดใจ เวลาเห็นคนจะได้เห็นครบอาการ ๓๒ ไม่เห็นเพียงแต่ ๕ อาการ คือผมขนเล็บฟันหนัง เพราะ ๕ อาการนี้สามารถหลอกให้เกิดกามารมณ์ขึ้นมาได้ เพราะจะตบแต่งให้สวยงาม แต่อาการภายในนี้หลอกไม่ได้ ปิดกั้นไม่ได้ มีหนังปิดกั้นตาหยาบได้ แต่ไม่สามารถปิดกั้นตาละเอียดคือปัญญาได้ ถ้าพิจารณาอสุภะอยู่เรื่อยๆ จะเห็นทะลุปรุโปร่ง จะไม่มีกามารมณ์ ถ้ามีก็จะดับได้ทันที กามารมณ์เป็นความอยาก ที่จะทำให้จิตใจกระสับกระส่ายกระวนกระวาย หงุดหงิดรำคาญใจ ไม่สงบไม่สุข ถ้าเสพตามความอยากก็จะติด จะไม่ได้ความสงบสุข จะได้ความทุกข์ ทุกข์ในขณะที่อยากจะเสพ ทุกข์ในขณะที่ไม่ได้เสพ จะสงบก็เพียงขณะที่ได้เสพ แต่สงบไม่นาน เดี๋ยวก็อยากขึ้นมาอีก
เวลาศึกษาธรรมะอย่าไปหลงประเด็น ให้เกาะติดอยู่กับพระอริยสัจ ๔ อย่าไปหลงกับชื่อของธรรมชนิดต่างๆ เป็นความรู้ที่ไม่สำคัญ เท่ากับความรู้ในอริยสัจ ๔ ศึกษาพระอภิธรรมจนจำได้หมดว่า จิตมีกี่ชนิดมีกี่แบบ กิเลสมีกี่ชนิดมีกี่แบบ รู้ไปก็เท่านั้น รู้แต่ชื่อ แต่ตัวที่ปรากฏอยู่ในใจตลอดเวลา กลับไม่รู้ ทางสายปฏิบัติจึงไม่ค่อยได้พูดถึง จะพูดแต่สติสมาธิปัญญา เพราะเป็นเหตุที่จะทำให้เห็นธรรมต่างๆ ที่จารึกอยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าจะละสักกายทิฐิได้ ก็ต้องเห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา นี่คือด่านแรกของปัญญา โดยเฉพาะรูปขันธ์และเวทนาขันธ์ ที่เป็นตัวปัญหา มีสัญญาสังขารเป็นผู้สร้าง พอสังขารปรุงไปทางสมุทัยก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เช่นเวลาเกิดทุกขเวทนา สังขารก็จะปรุงให้อยากให้ทุกขเวทนาหายไป อยากจะให้หายเจ็บ พอไม่หายก็ดิ้นรนกวัดแกว่ง นั่งไม่เป็นสุข ต้องขยับถึงจะหาย แต่ไม่สามารถทำใจให้หายทุกข์ได้ ต้องดิ้นหนีทุกขเวทนาอยู่เรื่อยๆ ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาทุกขเวทนาว่าเป็นธรรมดา เป็นเหมือนฝนตก ห้ามทุกขเวทนาไม่ได้ แต่ห้ามใจได้ ห้ามไม่ให้กลัว ห้ามไม่ให้อยากให้ทุกขเวทนาหายไปได้ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป อย่าไปคิดถึงความเจ็บ พอไม่คิดถึงความเจ็บ ความอยากที่จะให้ความเจ็บหายไป ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา ทุกข์ที่เกิดจากความอยากก็จะไม่มี ก็จะนั่งต่อไปได้ ความเจ็บจะไม่รู้สึกรุนแรงเลย ความเจ็บก็ยังมีอยู่ แต่ใจไม่กลัว ไม่ได้อยากให้หายไป ความเจ็บจะอยู่ก็ปล่อยให้อยู่ไป เหมือนฝนตก จะตกก็ตกไป ใจปล่อยวางได้
พอปล่อยวางทุกขเวทนา ปล่อยวางร่างกายได้แล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องปล่อยวางกามราคะ ต้องพิจารณาอสุภะอย่างต่อเนื่อง เพื่อตัดกามราคะอย่างถาวร ถ้าเห็นอสุภะเป็นพักๆก็จะละได้เป็นพักๆ ถ้าอยากจะละได้อย่างถาวร ก็ต้องเห็นอสุภะตลอดเวลา เวลาเห็นใครก็ตาม จะต้องเห็นทะลุเข้าไปข้างในเลย ต้องเป็นเหมือนเอ็กซเรย์ พอเกิดอารมณ์ปั๊บจะต้องมองทะลุเข้าไปข้างใน เห็นโครงกระดูก เห็นอวัยวะต่างๆ มีพระอยู่รูปหนึ่งท่านพิจารณาโครงกระดูกอยู่ตลอดเวลา เวลาเห็นใครเดินผ่านมาจะเห็นแต่โครงกระดูก เวลามีคนมาถามว่าเห็นคนนั้นเดินผ่านมาไหม ท่านจะตอบว่าเห็นแต่โครงกระดูก ไม่สนใจว่าเป็นใคร เห็นแต่โครงกระดูก ท่านดูความจริง แต่พวกเราจะดูแต่สมมุติ จะดูว่าเป็นนาย ก. เป็นนาย ข. เป็นนายกฯ เป็นส.ส. เป็นรัฐมนตรีฯ ไม่เห็นโครงกระดูกกัน ถ้าพิจารณาโครงกระดูกไปเรื่อยๆ ต่อไปจะเห็นแต่โครงกระดูก ใครมาก็จะเห็นว่าโครงกระดูกเดินมาแล้ว หรือเห็นเป็นซากศพเดินมา เป็นผีที่ยังไม่ตาย ผีมาจากไหน ซากศพมาจากไหน ถ้าไม่ได้มาจากร่างกายที่กำลังเดินกำลังนั่งอยู่นี้ เวลามีลมหายใจก็นั่งอยู่ด้วยกันได้ พอไม่มีลมหายใจแล้วก็ไม่อยากจะเข้าใกล้ ตอนกลางคืนยิ่งไม่อยากอยู่ใกล้ กลัวจะลุกขึ้นมา
ถาม บ้านพี่สาวมีคนตาย ก็กลัวเหมือนกัน ตั้งใจจะเข้าไปดู พอเข้าไปจริงๆเริ่มหวั่นนิดๆ
ตอบ ตอนที่ไม่ตายไม่รู้สึกอะไร พอตายก็กลัวขึ้นมาทันที เวลาเป็นกับเวลาตายต่างกันตรงไหน ก็ต่างกันตรงที่หายใจกับไม่หายใจเท่านั้นเอง ทำไมต้องไปกลัวคนที่ไม่หายใจแล้ว
ถาม พอไปเจอของจริง ก็รู้สึกกลัว วันแรกๆรู้สึกไม่ดี พอวันต่อๆไปก็พยายามฝืนตัวเอง เพราะต้องอยู่ตรงนั้น ก็ค่อยๆดีขึ้นมาทีละนิด แต่ก็ยังไม่หายกลัว
ตอบ ต้องใช้สมาธิช่วย บริกรรมพุทโธๆไป เวลาเกิดความกลัวก็ให้พุทโธๆไป ถ้าไม่สามารถใช้ปัญญาพิจารณา ว่าเขากับเราก็เหมือนกัน เราก็เป็นผี เขาก็เป็นผี ทำไมไม่กลัวร่างกายของเรา ทำไมไปกลัวร่างกายของเขา ร่างกายของเขาก็มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีผมขนเล็บฟันฯลฯเหมือนกัน เหมือนอย่างที่หลวงตาเขียนไว้ในหนังสือปฏิปทาฯ เรื่องกลัวเสือ เสือมันมีอะไรที่เราไม่มี ก็พิจารณาไป มันมีขนเราก็มีขน มันมีเขี้ยวเราก็มีฟัน พิจารณาไปพิจารณามา ก็มีอย่างเดียวที่เราไม่มี ก็คือหาง อ้อเรากลัวหางมันเหรอ ต้องพิจารณาซากศพว่า เขามีอะไรที่เราไม่มีบ้าง เราไปกลัวผมเขาเหรอ แล้วเราไม่กลัวผมเราเหรอ ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลก็จะดับความกลัวได้ เพราะความกลัวเป็นอารมณ์ เป็นความหลง ไม่มีเหตุไม่มีผล ก่อนที่จะพิจารณาด้วยปัญญาได้ ต้องมีสมาธิก่อน ถ้ายังไม่มีสมาธิเวลากลัว ก็ต้องใช้การบริกรรมไปก่อน ให้จิตสงบ ไม่อย่างนั้นจะฟุ้งซ่าน จะเป็นบ้าได้ ถ้ามีสมาธิแล้ว ก็จะคิดด้วยเหตุด้วยผลได้ คิดเปรียบเทียบตามความเป็นจริง ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรน่ากลัว
ถาม ถ้ารู้ว่าจิตเป็นอย่างไร รู้ว่าร่างกายกำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ได้คิดอะไร อย่างนี้จะเกิดวิปัสสนาญาณไหมคะ
ตอบ ไม่เกิด เป็นการเจริญสติเท่านั้นเอง การปฏิบัติมีอยู่ ๓ ขั้น คือสติสมาธิปัญญา เจริญสติแล้วก็ต้องนั่งสมาธิทำใจให้สงบ พอออกมาจากความสงบ ก็ต้องเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถึงจะเกิดวิปัสสนาญาณ พิจารณาว่าร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ร่างกายไม่สวยงามเป็นอสุภะ เป็นปฏิกูลสกปรก อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนา
ถาม ต้องใช้ความคิดใช่ไหมคะ
ตอบ ต้องคิดไปก่อนเพื่อให้จำได้ เหมือนท่องสูตรคูณ ท่องไปเรื่อยๆจนกว่าจะจำได้ พอจำได้แล้วเวลามองร่างกาย จะเห็นทุกสัดทุกส่วน ไม่เห็นแต่เฉพาะภายนอก เช่นผมขนเล็บฟันหนังเท่านั้น จะเห็นทะลุเข้าไปข้างใน
ถาม เวลาพิจารณากายนี้ จะดูเฉพาะเส้นผมได้ไหมคะ หรือจะต้องดูทั้ง ๓๒ อาการคะ
ตอบ ดูเพื่อดับกามารมณ์ จะดูกี่อาการก็ได้ ถ้าดูความตายก็เพื่อไม่ให้กลัวความตาย ดูว่าร่างกายต้องตาย เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา
ถาม มีพระอาจารย์องค์หนึ่งบอกว่าโยมได้รูปฌาน ๔ คือรู้กายรู้ลมรู้จิตแล้วก็ตัวแข็งไปเลย ท่านบอกว่าเดี๋ยวก็จะหลุดเอง ไม่ต้องเกิดวิปัสสนาญาณ
ตอบ ถ้าหลุดเองได้ ก็ควรจะหลุดมานานแล้ว
ถาม ค่ะ แต่กิเลสรู้สึกว่ายังขึ้นมา เช่นอารมณ์กิเลสทางด้านกาม ตอนเกิดรูปฌาน ๔ ก็คิดว่าเดี๋ยวก็จะหลุดเอง
ตอบ ไม่หลุดหรอก ถ้าไม่พิจารณาอสุภะกามารมณ์จะไม่หมดไป ถ้าไม่พิจารณาความตายความกลัวตายก็จะไม่ไป ถ้าไม่พิจารณาความเจ็บเวลานั่งแล้วเจ็บก็จะทนไม่ได้
ถาม ควรนึกถึงความตายตลอด อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนหรือคะ
ตอบ ถ้ายังไม่มีสมาธิก็จะนึกไม่ได้ เพราะจะถูกกิเลสดึงไปคิดถึงความอยากมีอยากเป็นมากกว่า ถ้านึกได้แสดงว่ามีสมาธิแล้ว ถ้านึกได้ทั้งวันก็จะดี
ถาม นึกถึงความว่างได้ไหมคะ อย่างดูจิตนี้ มันว่างมันไม่มีอะไร
ตอบ ไม่เกิดประโยชน์ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ความว่างจะตามมาหลังจากที่กิเลสตายไปแล้ว
ถาม ถ้าจะคิดเป็นอนัตตา ว่างไปก่อนอย่างนั้นไม่ได้
ตอบ ต้องอนัตตาที่ร่างกายที่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ที่ความว่าง ต้องพิจารณาว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา แล้วก็ปล่อยวาง เหมือนกับปล่อยวางร่างกายของคนอื่น ร่างกายของคนอื่นจะตายเราไม่เดือดร้อนฉันใด ร่างกายของเราจะตายเราก็ไม่เดือดร้อนฉันนั้น
ถาม ความว่างที่เกิดขึ้นนี่ เป็นระดับโสดาบันหรือเปล่าคะ
ตอบ ความว่างมีหลายระดับ จิตจะว่างไปเรื่อยๆจนเต็มที่เลย เหมือนพระจันทร์ที่ค่อยๆเต็มดวงขึ้นมา ขึ้นมาทีละเสี้ยว
ถาม ไม่ได้เกิดญาณทัศนะแล้วเกิดความว่างหรือคะ
ตอบ เกิด แต่ต้องพิจารณาด้วยปัญญาก่อน ต้องพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคก่อน
ถาม เคยปฏิบัติดูอารมณ์โกรธโลภหลง แล้วจิตก็หลุด หลุดแล้วก็เย็น
ตอบ เย็นชั่วคราว
ถาม นั้นคือกำลังสมาธิหรือคะ
ตอบ กำลังสติ
ถาม ตอนที่เกิดอารมณ์แบบนั้น จะถ่ายของเสียออกไปค่ะ แล้วก็เย็นเจี๊ยบเป็นอาทิตย์เลย อันนั้นเป็นแค่กำลังสติสมาธิหรือคะ
ตอบ กิเลสยังมีอยู่หรือเปล่า
ถาม ยังมีค่ะ แต่เบากว่าเดิม
ตอบ ต้องให้หมดไปถึงจะใช้ได้ ต้องไม่โลภโกรธหลง ไม่อยากกับอะไร
ถาม ถ้าไม่อยากเลยนี้ จะถึงอนาคามีหรือเปล่าคะ
ตอบ อนาคามีต้องเห็นอสุภะ ไม่มีกามารมณ์
ถาม ถ้าไม่โลภไม่โกรธไม่หลงเลย
ตอบ ต้องเป็นพระอรหันต์ถึงจะไม่โลภไม่โกรธไม่หลง พระอนาคามียังมีอัตตาตัวตน ยังหลงอยู่
ถาม จะนำไปปฏิบัติค่ะ เพิ่งมาครั้งแรก ตอนนี้ก็ปฏิบัติให้มีสติดูจิตดูอารมณ์อยู่ตลอด แต่ไม่เข้าใจว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดญานทัศนะที่สูงขึ้น เพราะเท่าที่เคยปฏิบัติมันก็เกิดขึ้นเอง เช่นอยู่ๆก็เห็นพระอาจารย์ที่ปฏิบัติด้วยหน้าท่านเป็นโครงกระดูกไป บางทีก็เห็นว่าท่านไม่มีแล้ว แต่ไปเจอพระอาจารย์อีกองค์ท่านบอกว่า โยมเห็นตัวเองบ้างหรือเปล่า เห็นแต่ของคนอื่น ของตัวเองกลับไม่เห็น
ตอบ เห็นเฉยๆยังไม่พอ ต้องเห็นแล้วดับกิเลสได้ ดับกามราคะได้ ถ้าเห็นแล้วดับไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์
ถาม เวลาที่จิตมันหลุดนี่มันเย็นเจี๊ยบ รู้สึกว่าความโลภความโกรธความหลงเบาลง คืออารมณ์มันน้อยลง ยังมีอยู่จริง แต่มันสบายกว่าเมื่อก่อน
ตอบ เป็นผลที่เกิดจากจิตที่สงบ พอออกจากความสงบแล้วคิดปรุงแต่ง อารมณ์ก็กลับขึ้นมาใหม่ได้ ไม่ตาย เป็นเหมือนหินทับหญ้า จะให้หญ้าตายต้องถอนรากขึ้นมา รากของกิเลสก็คือความหลง ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เห็นอริยสัจ ๔
ถาม ถ้าปฏิบัติจนเห็นแล้วนี้ ความโกรธจะไม่มีใช่ไหมคะ
ตอบ ถ้าเห็นอริยสัจ ๔ ตัดความอยากได้ ก็จะไม่โกรธ
ถาม จะไม่โกรธไม่โลภไม่หลง ไม่ใช่ว่ายังโกรธอยู่แต่ไม่เอา ไม่ใช่อย่างนั้นใช่ไหมเจ้าคะ คืออารมณ์ยังมีอยู่แต่ไม่เอา
ตอบ ถ้าไม่เอาก็จะไม่โลภไม่โกรธไม่หลง
ถาม จะไม่มีเลย
ตอบ ไม่อยากได้อะไรเลย
ถาม ไม่ใช่รู้ว่ามีอารมณ์โกรธแต่ไม่เอามัน มีสติตัดไม่เอา ไม่ใช่แบบนั้น
ตอบ ไม่ใช่ เดี๋ยวก็กลับมาใหม่ ต้องหาต้นเหตุของความโกรธ ต้นเหตุก็คือความอยากได้แล้วไม่ได้ดังใจ
ถาม ต้องถอนให้ถึงรากถึงโคน ถอนออกไปให้หมดเลย มีอะไรมากระทบแล้วไม่โกรธ ถ้าปฏิบัติถึงแล้ว จะไม่โลภจะไม่หลง
ตอบ ถ้าเห็นไตรลักษณ์แล้ว จะไม่โกรธไม่โลภไม่หลง เห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟ จะไปโกรธดินน้ำลมไฟได้อย่างไร
ถาม จะไม่มีการปรุงแต่ง
ตอบ พวกเราไม่เห็นว่าเป็นธาตุ ไปเห็นว่าเป็นนาย ก. นาย ข. เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นสามีเป็นภรรยา พอใครมาแตะก็โกรธ เพราะเป็นของเรา ไม่เห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟ ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา อนิจจังก็คือความไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย ทุกขังก็คือความทุกข์ใจที่เกิดจากความอยาก อนัตตาก็คือดินน้ำลมไฟ
ถาม เวลาดูร่างกายว่าไม่เที่ยง แล้วต้องดูจิตด้วยหรือเปล่าคะ ว่าจิตเรานี้เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลง
ตอบ เอาทีละอย่าง เอาร่างกายก่อน เอาให้หมดเป็นเรื่องๆไป จิตมันละเอียดยิ่งกว่าร่างกาย ถ้ายังเอาร่างกายไม่ได้ ก็จะเอาจิตไม่ได้ มันคนละขั้นกัน ต้องเอาขั้นร่างกายก่อน ละสักกายทิฐิละกามราคะก่อน แล้วค่อยไปละจิต
ถาม ถ้าพิจารณาถึงแล้ว จะเบื่อร่างกายใช่ไหมคะ
ตอบ จะไม่กลัวตาย ไม่กลัวเจ็บ ไม่มีกามารมณ์
ถาม แล้วมีอารมณ์เบื่อไหมคะ
ตอบ เบื่อเพราะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ไม่ได้เบื่อแบบหดหู่ใจ เบื่อที่จะแบกมันอีกแล้ว อยากจะปล่อยวางมัน
ถาม ถ้าเกิดปัญญาแบบนั้น จิตจะเบิกบานไหมคะ
ตอบ จะเบิกบาน สงบเย็นสบาย ไม่หวั่นไหว ไม่วิตกกังวลกับเรื่องของร่างกาย จะเจ็บจะตายอย่างไรไม่เป็นปัญหา
ถาม จะเกิดกับเราตลอดไป คือจะไม่เห็นผิดอีกแล้ว
ตอบ ถูกต้อง ถ้าปล่อยได้แล้ว ก็จะปล่อยเลย จะไม่กลับมาอีก แต่ต้องเจริญสติเจริญสมาธิก่อน ทำจิตให้รวมให้ได้ก่อน
ถาม แล้วก็ถอนจิตออกมา
ตอบ ไม่ต้องถอน ให้มันถอนเอง ถ้ามันรวมแล้วอย่าไปถอนมัน ให้มันอยู่นานๆ เพราะจะได้ตัดกำลังกิเลส เหมือนหินทับหญ้า ให้ทับไว้นานๆ พอออกมากิเลสจะได้ไม่มีกำลัง
ถาม พอถอนแล้ว เริ่มคิดได้เลย
ตอบ พิจารณาไตรลักษณ์ไปเลย พิจารณาร่างกายว่าเป็นไตรลักษณ์
โยม เข้าใจค่ะ
ตอบ ลองเอาไปทำดูแล้วมาเล่าให้ฟัง
โยม ก็เคยอ่านศึกษาอยู่ แต่ไม่ทราบปลีกย่อยอย่างที่พระอาจารย์สอน
ตอบ ปัญหาของนักปฏิบัติก็คือไม่ศึกษาอย่างถ่องแท้ ศึกษาแบบลวกๆแล้วก็โมเมปฏิบัติกันไป ต้องอ่านหนังสือของหลวงตา เพราะหนังสือของหลวงตานี้ละเอียดมาก