กัณฑ์ที่ ๔๓๒       ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

 

ภาวะไม่ปกติ

 

 

 

ตอนนี้พวกเรากำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่สามารถรักษาใจให้เป็นปกติได้ ถ้ารู้จักควบคุมใจด้วยธรรมะ เพราะใจไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ ใจอยู่อีกที่หนึ่ง อยู่ไกลจากเหตุการณ์ ภาษาอังกฤษเรียกว่ารีโมท เหมือนกับรีโมทที่ใช้ควบคุมโทรทัศน์ เวลาจะเปลี่ยนช่องก็กดรีโมท ตัวรีโมทไม่ได้อยู่ในเครื่องโทรทัศน์ เวลาเครื่องเป็นอะไรไป ก็ไม่ได้กระทบกับรีโมท ใจของพวกเราเป็นเหมือนรีโมทที่ควบคุมร่างกาย แต่ไม่ได้อยู่ในร่างกาย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็จะไม่เกิดกับใจ ปัญหาของใจก็คือ ไม่รู้ว่าตนไม่ได้อยู่ในร่างกาย หลงคิดว่าเป็นร่างกาย พอร่างกายเป็นอะไรไป ก็เดือดร้อนวุ่นวายไปด้วย ทั้งๆที่ใจไม่ได้ถูกกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับร่างกายเลย ใจถูกโมหะความหลงอวิชชาความไม่รู้ครอบงำ ไม่รู้ความจริงของกายกับใจ ว่าใจเป็นรีโมทควบคุมร่างกาย ไม่ได้เป็นร่างกาย แต่ใจไม่รู้ หลงคิดว่าตนเป็นร่างกาย พอร่างกายเป็นอะไรไป ใจก็เดือดร้อนตามไปด้วย ถ้ามีธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสอนใจ ก็จะรู้ว่ากายกับใจเป็นคนละส่วนกัน ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ คือแยกกายออกจากใจ ปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆ ใจก็จะเป็นปกติ ไม่ว่าร่างกายจะเป็นอะไรไป ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรมากระทบกับร่างกาย  

 

ส่วนภาวะของร่างกาย เหตุการณ์รอบตัวร่างกายไม่ปกติ ก็เป็นเรื่องของร่างกายที่จะต้องเผชิญไป ถ้ารับได้ฝ่าฟันไปได้ก็จะอยู่ต่อไปได้ ถ้ารับไม่ได้ฝ่าฟันไปไม่ได้ก็ต้องตายไป แต่ใจผู้ควบคุมร่างกายไม่ได้ตายไปด้วย ไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย ถ้ามีธรรมะก็จะเฉยๆ ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย ไม่ทุกข์ไปกับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ถ้าไม่มีธรรมะก็จะเดือดร้อนทุกข์ทรมานใจ จนถึงวาระสุดท้ายของร่างกาย พอร่างกายตายไปแล้วก็เตลิดเปิดเปิง ไปตามอำนาจของบุญของบาปที่ได้ทำมา ถ้าบุญมีกำลังมากกว่าก็จะพาไปสู่สุคติ ถ้าบาปมีกำลังมากกว่าก็จะพาไปสู่ทุคติ ทุคติคือภาวะที่ร้อนที่ทุกข์ทรมาน สุคติคือภาวะที่สงบเย็นสบาย จนกว่าบุญกับบาปจะมีกำลังพอๆกัน คือบุญไม่สามารถดึงจิตไปสุคติได้ บาปก็ไม่สามารถดึงจิตไปสู่ทุคติได้ ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ มาหลงยึดติดกับร่างกายใหม่

 

การที่ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา จึงเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะจะได้รับความรู้ที่เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่จิตใจ ที่จะสามารถปลดล็อก คืออุปาทานที่ผูกมัดใจไว้กับร่างกาย ให้ใจต้องทุกข์ไปกับ ความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย กับการพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ กับเหตุการณ์ต่างๆ กับภัยพิบัติต่างๆ ที่มากระทบกับร่างกาย พอมีธรรมะมาปลดล็อก ใจก็จะอยู่อย่างไม่เดือดร้อน อยู่อย่างสุขอย่างสบาย จนกว่าร่างกายกับใจจะแยกจากกันไป ไม่ต้องไปหาร่างกายใหม่ เพราะไม่มีอุปาทานที่จะทำให้ อยากมีร่างกายใหม่ ใจก็จะอยู่อย่างสงบไปตลอดอนันตกาล ไม่มีวันสิ้นสุด นี่เป็นคุณประโยชน์ของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะทำให้ใจหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เป็นอิสระจากภาวะกดดันต่างๆ หน้าที่ของใจจึงอยู่ที่การนำเอาธรรมะคำสอนเข้ามาสู่ใจ เพราะธรรมะจะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ สู่ความปลอดภัย ต่างกับกระแสของกิเลสตัณหา ที่จะผลักให้ใจออกไปหาความทุกข์ต่างๆ กระแสทั้ง ๒ กระแสนี้จึงต่อสู้กัน ถ้ากระแสของกิเลสตัณหามีกำลังมากกว่า ใจก็จะได้รับความทุกข์ต่างๆ ถ้ากระแสของธรรมมีกำลังมากกว่า ใจก็จะได้รับความสงบสุข กระแสของธรรมจะดึงใจเข้าข้างใน กระแสของกิเลสจะดึงใจออกไปข้างนอก ออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ออกไปหาลาภยศสรรเสริญ กระแสธรรมจะดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ พวกเราจึงต้องสร้างกระแสธรรมให้มีกำลังมากขึ้นไปตามลำดับ ด้วยศรัทธาความเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามด้วยความขยันหมั่นเพียร สิ่งที่ต้องปฏิบัติหรือสร้างขึ้นมาก็คือสติสมาธิปัญญา ที่จะทำให้กระแสธรรมมีกำลังมากกว่ากระแสของกิเลสตัณหา

 

ถ้าสร้างสติสมาธิปัญญาได้เต็มร้อย กระแสธรรมก็จะมีกำลังเต็มร้อย จะสามารถผลักดันกระแสของกิเลสตัณหาให้หมดไปได้ กิเลสตัณหาจะไม่มีกำลังผลักดันใจ ให้ออกไปยึดติดกับความทุกข์ ของลาภยศสรรเสริญ ของความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่เป็นไตรลักษณ์ มีการเกิดการดับ การเปลี่ยนแปลง มีการหมดไป ไม่ได้เป็นของๆใคร ไม่มีใครสามารถควบคุมบังคับ ให้เป็นไปตามความต้องการได้ ถ้าไปหลงยึดติดกับลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็จะได้ความสุขเพียงเล็กน้อย แต่จะได้ความทุกข์มากกว่าหลายร้อยเท่าด้วยกัน เวลาได้มาใหม่ๆได้เสพได้สัมผัสก็จะมีความสุข แต่เวลาที่ไม่ได้เสพ เวลาสูญเสียสิ่งที่ได้มาไป ก็จะมีความทุกข์อย่างมาก เพราะว่าร่างกายที่เป็นเครื่องมือในการแสวงหาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้ ก็เป็นอนิจจังเป็นอนัตตาเหมือนกัน คือไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ต้องตายไป เป็นอนัตตาไม่ได้เป็นตัวตน เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ที่จะแยกออกจากกันไป เวลาจะตาย ใจที่มีความผูกพันกับลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ จะทุกข์ทรมานใจอย่างมาก

 

นี่คือภาวะจิตใจของพวกเรา ที่ทุกข์อยู่กับเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรื่องลาภยศสรรเสริญ เพราะขาดธรรมะที่จะปลดล็อก ที่จะดึงใจให้เข้าข้างใน ให้เข้าสู่ความสงบ สู่ความสุขที่แท้จริง เพราะความสงบของใจคือความสุขที่แท้จริง ที่จะเกิดขึ้นเวลาใจเข้าข้างใน ไม่ออกไปข้างนอก อย่างนักบวชทั้งหลาย ที่ดึงใจเข้าข้างใน ด้วยการสละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ด้วยการเจริญสตินั่งสมาธิเจริญปัญญา จนกระแสธรรมมีกำลังเต็มร้อย ก็จะหยุดกระแสของกิเลสตัณหา ที่ผลักดันให้ใจออกไปทุกข์ทรมาน กับลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ ตอนนี้พวกเรายังไม่มีกระแสธรรมเต็มร้อย เพราะขาดสติสมาธิปัญญา ขาดวิริยะความอุตสาหะพากเพียร ที่จะเจริญสติสมาธิปัญญา ให้ผลิตกระแสธรรมให้เต็มร้อยได้ พวกเราจึงวุ่นวายไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย เช่นวุ่นวายไปกับน้ำท่วมในขณะนี้ เพราะใจยังไม่มีกระแสธรรมมากพอ ที่จะดึงใจให้เข้าไปข้างใน เข้าไปสู่ความสงบ ใจยังวิตกกังวลกับเรื่องลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับ ที่จะให้เป็นไปตามความปรารถนาได้ แต่พวกเราก็ยังฝืนความจริงนี้อยู่ ยังออกไปทุกข์กับลาภยศสรรเสริญสุขอยู่ เพราะกระแสของโมหะอวิชชาความหลงของกิเลสตัณหา มีกำลังมากกว่ากระแสธรรม

 

ถ้าใจยังวุ่นวายยังทุกข์กับลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็แสดงว่ากระแสธรรมมีกำลังน้อยกว่ากระแสกิเลสตัณหา ถ้ากระแสธรรมมีกำลังมากกว่ากระแสกิเลสตัณหา จะอยู่อย่างปกติ จะไม่วุ่นวายกับลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เพราะมีความสุขที่เหนือกว่าดีกว่า คือความสุขที่เกิดจากความสงบ ที่เป็นผลจากการสร้างกระแสธรรม ให้มีกำลังมากกว่ากระแสกิเลสตัณหา พวกเราจึงต้องเจริญสติสมาธิปัญญา เพื่อผลิตกระแสธรรมให้มีกำลังมากกว่า กระแสกิเลสตัณหาโมหะอวิชชา ถ้าผลิตได้ก็จะสุขสบายไปตลอด ถ้ายังผลิตไม่ได้ ก็จะทุกข์วุ่นวายใจไปเรื่อยๆ ต้องเจริญสติให้มาก เพราะสติเป็นกุญแจดอกแรก ที่จะทำให้ได้สมาธิ ที่เป็นกุญแจดอกที่ ๒ ที่จะสนับสนุนให้ได้ปัญญา ที่เป็นกุญแจดอกที่ ๓ ที่จะผลิตกระแสธรรม ให้มีกำลังมากกว่ากระแสกิเลสตัณหา

 

เป็นหน้าที่ของแต่ละคน ที่จะต้องเจริญสติสมาธิปัญญากัน เพราะไม่มีใครจะทำแทนกันได้ ถ้าพระพุทธเจ้าทำแทนได้ พวกเราก็ไปถึงพระนิพพานกันหมดแล้ว ไม่ต้องมาเดือดร้อนกับเรื่องน้ำท่วม เพราะปลีกวิเวกได้ อยู่ตามป่าตามเขาได้ อยู่ในสถานที่ที่สงบสงัดวิเวกที่มีภัยต่างๆได้ ถ้าต้องโยกย้ายก็ทำได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่มีสมบัติ ไปตัวเปล่าๆ ไปเหมือนนก ถ้ายังถูกกระแสกิเลสตัณหา ฉุดลากหรือผลักดันไป ก็จะต้องติดอยู่กับความทุกข์ต่างๆ ติดอยู่กับภัยต่างๆ ที่จะมาอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นปกติของโลกที่จะต้องเป็นอย่างนี้ โลกนี้เป็นโลกของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ที่แปรปรวนอยู่เรื่อยๆ บางทีน้ำก็มาก บางทีลมก็แรง บางทีดินก็ถล่ม บางทีไฟก็ไหม้ ไม่มีใครห้ามได้ เพราะมีเหตุปัจจัย ที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆขึ้นมา ถ้าไม่อยากจะทุกข์กับภัยต่างๆ ก็ต้องปฏิบัติธรรมให้มาก ต้องปลีกวิเวก ต้องตัดลาภยศสรรเสริญ ตัดความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 

ตอนต้นก็ตัดแบบชั่วคราว หาเวลาปลีกวิเวกไปอยู่ตามสถานที่สงบ เพื่อเจริญสติสมาธิปัญญา พอมีธุระจำเป็นก็กลับไปอยู่กับลาภยศสรรเสริญ กับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย พอเสร็จธุระก็ปลีกวิเวกใหม่ ต้องตัดลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายให้น้อยลง อยู่แบบมักน้อยสันโดษ จะได้ไม่ต้องมีเงินทองมาก มีน้อยก็อยู่ได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการหาเงินหาทอง ถ้ายังรักการใช้เงินใช้ทองซื้อความสุขต่างๆ ก็จะไม่มีเวลาปลีกวิเวก เพื่อเจริญสติสมาธิปัญญา เพราะต้องหาเงินหาทอง พอได้เงินได้ทองมาแล้ว ก็ต้องหมดเวลาไปกับการหาความสุข จากการใช้เงินทองซื้อความสุขต่างๆ ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ ทำไปแล้วก็จะติด เป็นเหมือนคนติดยาเสพติด อยู่แบบมักน้อยสันโดษไม่ได้ จะรู้สึกทรมานใจ ทำแล้วก็ต้องทำอยู่เรื่อยๆ จะอยากทำมากขึ้นไป

 

ถ้าไม่ต่อสู้กับความอยาก ไม่ยอมทุกข์กับการฝืนใจ ไม่ให้เสพความสุขแบบนี้ ก็จะไม่หลุดจากลาภยศสรรเสริญ หลุดจากความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปได้ เหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด ติดสุราติดบุหรี่ ถ้าไม่ฝืนใจไม่ให้ไปเสพ ก็จะต้องเสพไปจนวันตาย ถ้าฝืนได้ก็จะเป็นอิสระ ถึงแม้จะทุกข์ทรมานก็ยอมทุกข์ทรมาน แต่รู้ว่าทุกข์ทรมานไม่นาน และจะเบาลงไปตามลำดับ จนหมดไปในที่สุด พอหมดแล้วก็จะเป็นอิสระ ไม่ทุกข์กับสิ่งเสพติด จะมีเสพหรือไม่มีเสพจะไม่เดือดร้อน จึงต้องต่อสู้กับความอยากในลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ด้วยการปลีกวิเวก ด้วยความมักน้อยสันโดษ ด้วยการเจริญสติสมาธิปัญญา ที่จะทำให้พลังธรรมเหนือกว่าพลังกิเลสตัณหา

 

การปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง การศึกษาก็สำคัญด้วย เพราะต้องรู้แนวทาง รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้เกิดผล ถ้ามีผู้มีประสบการณ์สอน ก็จะได้รับประโยชน์มาก ถ้าต้องสอนตนเองก็จะต้องลองผิดลองถูกไป ก็จะใช้เวลามากและก็จะต้องเหนื่อยมาก ถ้าไม่มีความอดทน มีความพากเพียรพอ ก็อาจจะยกธงขาวยอมแพ้ แต่ถ้ามีผู้มีประสบการณ์สอน ก็จะสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแม่นยำและรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลา ทำให้ไม่ท้อแท้ต่อการปฏิบัติ พอปฏิบัติไปก็จะได้ผลเรื่อยๆ พอได้ผลเรื่อยๆก็จะมีกำลังจิตกำลังใจเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ กระแสธรรมก็จะมีกำลังมากกว่ากระแสกิเลสตัณหา ก็จะสามารถปล่อยวางทุกอย่างที่เคยยึดติดได้ เช่นลาภยศสรรเสริญ และความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฏิบัติมาเป็นตัวอย่าง ทรงสามารถเสด็จออกจากพระราชวังได้ ออกจากลาภยศสรรเสริญ ออกจากความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ แล้วก็ไปอยู่ตามสถานที่สงบสงัด เพื่อเจริญสติเจริญสมาธิและเจริญปัญญา จนกระแสของธรรมมีกำลังมากกว่ากระแสกิเลสตัณหา ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา เป็นพุทธัง สรณัง คัจฉามิขึ้นมา หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอนให้แก่สัตว์โลก ก็ปรากฏมี ธัมมัง สรณัง คัจฉามิขึ้นมา เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ ทำให้เกิดมีธรรมะคำสอน และธรรมะคำสอนนี่แหละ เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าพระพุทธเจ้า ถึงแม้ไม่มีพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนจะเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้าได้ พระธรรมจึงเป็นสรณะที่แท้จริง พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำพระธรรมออกมาเผยแผ่ให้แก่สัตว์โลก หลักจากที่สัตว์โลกได้รับฟังแล้วนำเอาไปปฏิบัติ ก็จะสามารถบรรลุธรรมขึ้นมาได้ ก็จะเป็นสังฆรัตนะขึ้นมา เป็นที่พึ่งที่ ๓ ที่สามารถทำหน้าที่แทนพระพุทธเจ้าได้ คือนำพระธรรมคำสอนไปเผยแผ่ต่อ และก็ได้ทำมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อ มีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร ที่จะเจริญที่จะปฏิบัติสติสมาธิปัญญาจนบรรลุธรรม เมื่อบรรลุแล้วก็นำเอาธรรมที่ได้บรรลุ มาเผยแผ่ให้แก่สัตว์โลกต่อไป จนกว่าจะไม่มีผู้มีศรัทธาปฏิบัติธรรม เจริญสติสมาธิปัญญา ก็จะไม่มีการบรรลุธรรม ไม่มีการเผยแผ่ ไม่มีการสั่งสอนพระธรรมคำสอน พอไม่มีพระธรรมคำสอนอยู่ในโลก ก็จะไม่มีการหลุดพ้นจากความทุกข์ เพราะกระแสกิเลสตัณหาจะมีกำลังมากกว่ากระแสของธรรม ศาสนาก็จะหายไป

 

แต่พวกเรายังอยู่ในยุคที่มีการศึกษามีการปฏิบัติ มีศรัทธามีวิริยะมีสติมีสมาธิมีปัญญา พวกเรายังไม่ได้อยู่ในยุคที่ไม่มีพระธรรมคำสอน ยังมีครูบาอาจารย์ มีผู้ที่ปฏิบัติผ่านมาแล้วเป็นผู้นำทาง จึงควรขวนขวายศึกษาปฏิบัติธรรมให้มากขึ้นไปตามลำดับ อย่ายืนอยู่กับที่ ต้องมีความกล้าหาญที่จะตัดความสุข ทางลาภยศสรรเสริญ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ต้องมีความกล้าหาญที่จะไปปลีกวิเวก ไปอยู่ตามลำพัง เพื่อจะได้เจริญสติสมาธิปัญญา เพราะเป็นวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะสร้างกระแสธรรม ให้มีกำลังมากกว่ากระแสกิเลสตัณหา เพื่อจะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ ได้พบกับความสุขที่ถาวร อยู่ที่ตัวเรานี้ อยู่ที่อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน อยู่ที่ศรัทธา อยู่ที่วิริยะความพากเพียร อยู่ที่สติสมาธิปัญญา

 

จึงควรให้ความสำคัญต่อการศึกษาปฏิบัติธรรม มากกว่าลาภยศสรรเสริญ และความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่มีทางสร้างกระแสธรรม ให้มีกำลังมากกว่ากระแสกิเลสตัณหาได้ ก็จะไม่หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน จะเอาลาภยศสรรเสริญสุข หรือจะเอาสติสมาธิปัญญา ถ้าไม่ตัดสินใจก็จะอยู่แบบเดิมๆ ถ้าตัดสินใจมาทางธรรม รับรองได้ว่า กระแสธรรมจะมีกำลังมากขึ้นไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งก็จะเป็นนักบวชได้ อยู่แบบนักบวชได้ มีความสงบสุขตลอดเวลาได้ จิตใจจะเป็นปกติตลอดเวลา เวลามีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น จะไม่กระทบกับจิตใจ ที่มีธรรมะคอยดูแลรักษา นี่คือผลที่จะเกิดขึ้นจากการศึกษาและปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงควรปฏิบัติให้มากขึ้นไปตามลำดับ

 

ช่วงนี้ได้ปฏิบัติธรรมกันบ้างหรือเปล่า หรือวิตกกังวลกับเรื่องน้ำท่วม จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ควรทำในสิ่งที่ทำได้ สิ่งที่ทำไม่ได้ก็ต้องปล่อยไป สิ่งไหนที่รักษาได้ โยกย้ายไปเก็บในที่ปลอดภัยได้ก็ทำไป สิ่งไหนที่ทำไม่ได้ก็คืนธรรมชาติไป ถ้าของนอกกายยังปล่อยไม่ได้ จะปล่อยร่างกายได้อย่างไร ร่างกายก็เป็นเหมือนกับของนอกกาย ไม่ใช่ของเราเช่นกัน แต่เราให้ความสำคัญต่อร่างกายมากกว่าของภายนอก ถ้ายังปล่อยของภายนอกไม่ได้ ก็จะปล่อยร่างกายไม่ได้ เบื้องต้นต้องปล่อยของภายนอกให้ได้ก่อน ท่านจึงสอนให้พวกเราให้ทาน เพื่อปล่อยของนอกกายไปก่อน เช่นข้าวของต่างๆที่ญาติโยมนำมาถวายพระนี้ ก็เป็นการปล่อย ปล่อยวาง ไม่ยึดติด ยกให้คนอื่นไป เป็นการฝึกปล่อยวาง เพื่อจะได้มาปล่อยร่างกายต่อไป เวลาปล่อยด้วยความสมัครใจจะมีความสุข ถ้าไม่สมัครใจจะมีความทุกข์มาก ข้าวของเงินทองที่เอามาถวายพระนี้ เราปล่อยด้วยความพอใจ ด้วยความยินดี ปล่อยไปแล้วมีความสุขแทนที่จะมีความทุกข์ ถ้าถูกขโมยไปหรือถูกน้ำท่วมไป กลับจะมีความทุกข์ เพราะไม่ยอมปล่อย ถ้ายอมปล่อยให้น้ำท่วมไปจะมีความสุข ถ้าเห็นว่าไม่ได้เป็นของเรา สักวันหนึ่งก็ต้องจากกันไป ถ้าพร้อมให้จากไป เวลาน้ำท่วมก็จะไม่เดือดร้อน จะมีความสุข ถ้ามีสัมมาทิฐิเห็นว่าสบาย ไม่ต้องดูแลรักษา มีแล้วก็ต้องดูแลรักษาวิตกกังวล พอไม่มีแล้วก็สบาย ไม่ต้องห่วงไม่ต้องหวง ถ้าปล่อยสิ่งภายนอกได้ ต่อไปก็จะปล่อยร่างกายได้ เพราะเป็นความรู้สึกแบบเดียวกัน เวลาหวงจะทุกข์ทรมานใจ เวลาปล่อยแล้วจะเย็นจะสงบจะสุขใจ

 

ตอนต้นต้องฝึกปล่อยข้างนอกก่อน เช่นเอาข้าวของเอาสิ่งต่างๆมาถวายพระ เป็นการปล่อยภายนอก ต่อไปก็ต้องมาปล่อยร่างกาย เพราะเห็นความแตกต่างเวลายินดีปล่อยกับเวลาที่ไม่ยินดี ถ้าปล่อยด้วยความยินดีจะมีความสุข ถ้าไม่ยินดีจะทุกข์ทรมานใจ ทั้งที่ในที่สุดก็ต้องปล่อยทุกอย่างไป ของนอกกายก็ต้องปล่อย ร่างกายก็ต้องปล่อย ถ้าปล่อยเป็น จะปล่อยอย่างสุขสบาย พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ปล่อยร่างกายอย่างสบาย เวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงอยู่ในท่าสีหไสยาสน์ จิตของท่านอยู่ในความสงบ อยู่ในฌาน อยู่ในสมาธิ ไม่เดือดร้อนกับการจากไปของร่างกายเลย เป็นตัวอย่างที่ดี ที่พวกเราควรหัดทำให้ได้ หัดตายแบบพระพุทธเจ้าให้ได้ ด้วยการทำจิตให้สงบเป็นสมาธิด้วยสติ และปล่อยวางด้วยปัญญา

 

ถ้ามีแต่สมาธิอย่างเดียวกำลังจะไม่พอ เวลาที่กระแสกิเลส ความหวงความยึดติดมีมาก จะทำลายกำแพงของสมาธิได้ ถ้ามีปัญญากิเลสจะสู้ไม่ได้ ถ้ามีปัญญาสอนใจ ให้พิจารณาว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ถ้าไปยึดติด ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ปัญญาจะหยุดกระแสกิเลสได้ สมาธิหยุดได้ชั่วคราว ต้องเจริญสติสมาธิปัญญาให้มาก จะหยุดกระแสกิเลสตัณหาได้ โดยเฉพาะเวลาที่จะต้องปล่อยร่างกาย จะปล่อยได้อย่างสบาย ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ครูบาอาจารย์ท่านไม่นิยมไปโรงพยาบาล ท่านมียารักษาใจ มีธรรมโอสถ ท่านรู้ว่าร่างกายรักษาไม่ได้ ส่วนพวกเราไม่มียาทั้ง ๒ ชนิด ยารักษาร่างกายก็ไม่มี ยารักษาใจก็ไม่มี ก็เลยต้องไปเอายาที่โรงพยาบาล รักษาอย่างไรก็รักษาไม่ได้อยู่ดี ถ้าถึงเวลาที่ร่างกายจะตายไป ยาวิเศษขนาดไหนก็รักษาไม่ได้ แต่ถ้ามีธรรมโอสถรักษาใจ ใจจะมีความสุข ท่ามกลางความทุกข์ของร่างกาย ท่ามกลางความแตกสลายของร่างกาย ใจจะเป็นเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ จะเฉย จะสบาย นี่คืออำนาจของธรรมโอสถ อำนาจของคำสอนของพระพุทธเจ้า คือธรรมะที่เกิดจากการเจริญสติสมาธิปัญญา ที่เป็นที่พึ่งของใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเหมือนกับหลุมหลบภัย เวลามีเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ถ้ามีหลุมหลบภัยก็จะปลอดภัย ธรรมโอสถหรือธรรมสรณะก็เช่นกัน เป็นที่หลบภัยที่เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตายของร่างกาย จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ เกิดจากภัยพิบัติต่างๆ จะไม่กระทบกระเทือนใจเลย

 

ใครมีอะไรอยากจะเล่าให้ฟังบ้าง ไปปฏิบัติมาพรรษาหนึ่ง ได้สติได้สมาธิได้ปัญญาหรือเปล่า

 

โยม  รู้ตัวว่าสอบไม่ผ่าน แต่ก็ตั้งใจจะอยู่วัดมากกว่าอยู่บ้านค่ะ

 

ตอบ  ยังสู้กำลังของกิเลสไม่ได้

 

โยม  ค่ะ จะสนใจภายนอกมากกว่า พอดีไปที่นั่นค่อนข้างจะมีปัญหานิดหน่อย แต่ก็มีบางอย่างที่พอใจตนเอง ทำให้รู้ว่าวันข้างหน้า จะเลือกเส้นทางใดที่ดีที่สุด ก็คือต้องอยู่ในทางธรรม ต้องไปปฏิบัติเท่านั้นเจ้าค่ะ

 

ตอบ  ต้องพยายามดึงใจให้เข้าข้างใน อย่าออกไปยุ่งกับเรื่องข้างนอก ถ้าไม่เกี่ยวกับเรา ใครจะดีจะชั่วก็เรื่องของเขา ถ้าออกไปยุ่งแล้วจะเป็นเรื่องขึ้นมา ทำให้จิตใจว้าวุ่นขุ่นมัวท้อแท้เบื่อหน่าย ต้องบริกรรมพุทโธ ทำอะไรก็พุทโธๆไป ไม่ต้องไปสนใจคนอื่น ทำหน้าที่ของเราไป คนอื่นจะทำไม่ทำก็เรื่องของเขา เราพุทโธไป อย่าไปรับรู้เรื่องของคนอื่น ให้รู้อยู่กับเรื่องของเราก็พอ ให้อยู่กับการกระทำของเรา เฝ้าดูการกระทำของเรา เฝ้าดูใจของเราว่า ออกไปรับรู้ ไปยุ่งกับเรื่องของคนอื่นหรือเปล่า ถ้าออกไปก็ดึงกลับมา ด้วยการบริกรรมพุทโธๆไป พยายามปลีกวิเวก อย่าคลุกคลีกัน นั่งคุยกันสนทนากัน ส่วนใหญ่จะคุยเรื่องคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ต้องดึงใจให้เข้าข้างใน  

 

วิพากษ์วิจารณ์เรื่องของเราดีกว่า ว่าทำไมยังไม่สงบเสียที ทำไมยังโลภยังโกรธยังหลงอยู่ ทำไมไม่มีสติ ทำไมไม่มีสมาธิ ทำไมไม่มีปัญญา เพราะไม่ปลีกวิเวก ไม่เจริญสตินั่นเอง มัวแต่ปล่อยให้ใจคิดไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีสติไม่มีสมาธิไม่มีปัญญา ถ้าเจริญพุทธานุสติอยู่เรื่อยๆ ควบคุมใจไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ คิดอยู่แต่พุทโธๆ ใจจะไม่ออกไปรับรู้เรื่องของคนอื่น เวลานั่งสมาธิจะสงบ พอออกจากสมาธิก็จะเจริญปัญญาได้ พิจารณาไตรลักษณ์ได้ พิจารณาอนิจจังได้ พิจารณาอนัตตาได้ พิจารณาทุกขังอริยสัจ ๔ ได้ ว่าทุกข์เกิดจากความอยากของเราเอง ไม่ได้เกิดจากใครหรอก จะดับทุกข์ได้ก็ต้องละความอยาก เช่นอยากจะวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องหยุดวิพากษ์วิจารณ์ แล้วความวุ่นวายใจกับคนอื่นก็จะหมดไปเอง คนในโลกมีเป็นพันล้าน จะไปวิพากษ์วิจารณ์ไหวหรือ ปล่อยเขาไปเถิด เขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา ความดีความชั่วของเขาไม่ได้ทำให้เราดีหรือชั่วตามไปด้วย ความดีของเราอยู่ที่การเจริญสติ อยู่ที่การปลีกวิเวก อยู่ที่การไม่คลุกคลี ไม่วิพากษ์วิจารณ์

 

ถ้าจะสนทนาก็ให้สนทนาธรรม สนทนาเรื่องมักน้อยสันโดษ เรื่องการปลีกวิเวก เรื่องความเพียร เรื่องของการไม่คลุกคลีกัน เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา เรื่องของวิมุตติ เรื่องของวิมุตติญาณทัศนะ ให้สนทนาเรื่องเหล่านี้ พระแท้ๆเวลาสนทนากัน จะสนทนาเรื่องเหล่านี้ ไม่วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ จะสนทนาแต่เรื่องธรรมะ ที่ไหนสงบ ความมักน้อยสันโดษเป็นอย่างไร ความเพียรเป็นอย่างไร ศีลบริสุทธิ์ไหม สมาธิสงบไหม ปัญญามีความแยบคายไหม จะสนทนาเรื่องเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ ผู้รู้น้อยกว่าก็จะได้รับความรู้จากผู้ที่มีความรู้มากกว่า ถ่ายทอดกัน แลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่กัน จะมีปัญญาความรู้ความฉลาดมากขึ้น จะทำให้ก้าวหน้าในการปฏิบัติ ถ้าคุยเรื่องโลกวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ ใจจะตกต่ำ จะว้าวุ่นขุ่นมัว ท้อแท้เบื่อหน่าย อิจฉาริษยา โกรธเกลียดขึ้นมา

 

ถ้าจะสนทนากันก็ให้สนทนาเรื่องธรรมะ เพราะจะเสริมให้จิตใจสูงขึ้น ให้เจริญก้าวหน้า ถ้าวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้จะทำให้จิตใจตกต่ำ จะคิดร้าย จะคิดไม่ดี จะไม่สบายอกไม่สบายใจ แทนที่จะก้าวหน้ากลับจะถดถอย เดินถอยหลัง ไม่ได้เดินไปข้างหน้า เดินไปตามกระแสของกิเลสตัณหา พระปฏิบัติจึงไม่จับกลุ่มสนทนากัน เวลาจับกลุ่มก็จะมีคนพูดอยู่คนเดียว คือครูบาอาจารย์ ท่านก็จะพูดแต่เรื่องธรรมะอย่างเดียว เสร็จจากการฟังเทศน์ฟังธรรม ก็เหมือนกับได้ชาร์จแบตเตอรี่ มีกำลังจิตมีกำลังใจ กลับไปนั่งสมาธิไปเดินจงกรมได้หลายชั่วโมง เวลาไม่ได้ฟังธรรมจะขี้เกียจ ไม่อยากเดินจงกรมนั่งสมาธิ พอได้ยินได้ฟังธรรม ก็ได้รับการกระตุ้น ทำให้มีพลังธรรม ทำให้สามารถเดินจงกรมนั่งสมาธิได้หลายชั่วโมง ครูบาอาจารย์ถึงต้องเรียกประชุมอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้กำลังจิตกำลังใจ ให้ความรู้ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติ

 

การฟังเทศน์ฟังธรรมจึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง กาเลนะ ธัมมัสสวนัง เอตัมมัง คลมุตตมัง เพราะฟังแล้วจะเกิดพลังธรรมขึ้นมา เกิดกำลังใจที่จะปฏิบัติธรรม เกิดความฉลาด ได้ข้อคิด ได้รู้จักวิธีที่จะปฏิบัติต่อไป ถ้าติดอยู่ตรงไหนก็จะแก้ปัญหาได้ เพราะผู้แสดงได้ผ่านมาแล้ว จะรู้วิธีแก้ปัญหาต่างๆในแต่ละจุด ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องติด พอได้ฟังจากผู้ที่ได้ปฏิบัติผ่านมาแล้ว ก็จะแก้ปัญหาของตนได้ การมีครูบาอาจารย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้การปฏิบัติคืบหน้าไปอย่างรวดเร็วและง่ายดาย ต่างกับการปฏิบัติตามลำพัง ไม่มีครูบาอาจารย์ จะต้องคลำทางไป จะต้องลองผิดลองถูก เวลาเจอปัญหาจะต้องเสียเวลาแก้ กว่าจะแก้ได้ก็ต้องลองผิดลองถูก เหมือนกับการเดินมาถึงสี่แยก ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหรือตรงไป ไม่รู้ว่าทางไหนเป็นทางที่ถูก ก็ต้องลองผิดลองถูกไป ถ้าผิดก็ต้องเสียเวลา ถ้าถูกก็โชคดีไป พอถึงทางแยกใหม่ ก็ต้องลองผิดลองถูกอีก

 

ถาม  เวลานั่งไปถึงตรงที่จิตแยกออกจากกาย ควรดึงกลับมาหรือควรจะเฉยๆ ปล่อยเขาไป

 

ตอบ  เวลาจิตสงบจะปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไร

 

ถาม  ปล่อยให้เขาแยกหรือคะ

 

ตอบ  ให้เขาอยู่ตามลำพัง ปล่อยวางร่างกายชั่วคราว ปล่อยตาหูจมูกลิ้นกาย ปล่อยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาทำสมาธิจะดึงกระแสของจิต ที่ไปเกาะติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เข้ามาข้างในจิต เหมือนเดินเข้าไปในถ้ำ จะปล่อยวางเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ พอเข้าไปถึงก้นถ้ำแล้ว จะไม่รับรู้กับเหตุการณ์ต่างๆที่อยู่นอกถ้ำ จะพักอยู่ในนั้น เพราะเป็นที่เย็นสบาย มีความสุขมาก จนกว่ากำลังของสติจะอ่อนลง กระแสของกิเลสก็จะผลักออกมา ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่อไป

 

ถาม  ไม่ดึงออกมา

 

ตอบ  ไม่ต้องดึงออกมา ทำแทบเป็นแทบตายเพื่อให้จิตเข้าไป พอเข้าไปแล้วก็อย่าดึงออกมา ปล่อยให้อยู่ในความสงบจนกว่าจะออกมาเอง ที่ออกมาก็เพราะยังไม่ได้เข้าไปถึงที่ ถ้าถึงที่แล้วจะไม่อยากออกมา เพราะมีความสุขมาก เบาสบายมาก

 

ถาม  เวลาออกมาจะรู้ว่าอยู่ที่ไหน

 

ตอบ  เวลาออกมาก็กลับมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ มาคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าไม่มีสติปัญญาคอยกำกับดูแล ก็จะเป็นเหมือนเดิม จะคิดไปตามกระแสของกิเลสตัณหา จะคิดเรื่องลาภยศสรรเสริญ เรื่องการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย  ถ้ามีสติมีปัญญาก็จะต่อสู้กับความคิดเหล่านั้น จะสอนว่าทางนั้นไม่ใช่ทางที่จะพาไปสู่ความสุข ทางที่จะไปสู่ความสุขก็คือกลับเข้าไปข้างใน ด้วยการตัดความสุขภายนอก เวลากิเลสตัณหาจะดึงให้ไปหาลาภยศสรรเสริญ ไปหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ต้องใช้ปัญญาสกัด ว่าไม่ใช่เป็นความสุข เป็นการไปหาความทุกข์ กลับเข้าข้างในดีกว่า เดินจงกรมนั่งสมาธิดีกว่า แทนที่จะไปหาเครื่องดื่มมาดื่ม หาขนมมารับประทาน เปิดโทรทัศน์ดู เปิดเพลงฟัง จะหาแต่สติสมาธิปัญญา จะทำให้สงบมากขึ้นไปตามลำดับ ทั้งในขณะที่อยู่ในสมาธิและออกจากสมาธิ

 

        เวลาออกจากสมาธิ ความสงบจะติดค้างอยู่นานขึ้น เวลาอยู่ในสมาธิความสงบจะแน่นและนิ่งมากขึ้น จะสงบได้นานขึ้น เวลาออกมาจากสมาธิจะไม่วูบวาบ เหมือนตอนที่ไม่มีสมาธิ จะอ่อนไหวกับเหตุการณ์ต่างๆ ง่ายและรวดเร็ว ได้ยินเสียงปั๊บก็หลุดแล้ว เห็นอะไรไม่ถูกใจก็หลุดแล้ว อารมณ์เกิดขึ้นแล้ว ถ้าได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จะไม่หลุดง่าย จะหลุดยากขึ้นไปเรื่อยๆ จะเฉยมากขึ้น จนเฉยตลอดเวลา ไม่วุ่นวาย ใครจะชมก็เฉย ใครจะด่าก็เฉย ใครจะไม่ชอบก็เฉย ใครจะชอบก็เฉย เป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา เรามีหน้าที่เฉยอย่างเดียว เพราะสั่งเขาไม่ได้ ห้ามเขาไม่ได้ ห้ามไม่ให้ชอบไม่ได้ ห้ามไม่ให้ชังไม่ได้ แต่ห้ามใจเราได้ ให้ใจอยู่เฉยๆได้ ไม่ดีใจเสียใจ

 

นี่คือจุดที่เราต้องการจะไปกัน จากการนั่งสมาธิเจริญปัญญา ขณะที่อยู่ในสมาธินี้ จะเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะกำลังสร้างฐานของความนิ่งของความเฉยอยู่ ก็ให้เฉยให้นิ่งให้นานที่สุด เวลาออกมาจะได้นิ่งเฉยได้นาน ถ้าไม่นิ่งเฉยก็ต้องใช้ปัญญาสอนให้ปล่อยวาง สิ่งที่ทำให้ใจไม่นิ่ง เช่นเสียงสรรเสริญนินทา พอได้ยินเสียงนินทาใจจะวูบขึ้นมา ต้องใช้ปัญญาสอนว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ไม่เที่ยงแท้แน่นอน บางทีก็สรรเสริญ บางทีก็นินทา อนัตตาก็คือสั่งไม่ได้ ว่าต้องเป็นเสียงสรรเสริญอย่างเดียว ใจเราต้องรับได้ทั้ง ๒ อย่าง รับได้ทั้งเสียงสรรเสริญและเสียงนินทา แล้วใจจะเฉยได้

 

ถาม  นั่นคือความตั้งมั่นใช่ไหมคะ

 

ตอบ  เป็นอุเบกขา ไม่มีอารมณ์ เหมือนตอนนี้เราไม่มีอารมณ์ เฉยๆ แต่ถ้าพูดอะไรไม่ดีขึ้นมา ก็อาจจะไม่เฉยก็ได้ ถ้าพูดไม่ดีแล้วเฉยได้ก็ถือว่ามีสติปัญญาคุมจิตได้ ดังที่เคยเล่านิทานให้ฟังว่า คุณหญิงคุณนายที่ได้ฟังเทศน์หลวงพ่อหลวงตาแล้วก็บอกว่า ฟังแล้วจิตใจเฉยเย็นสบาย ไม่มีกิเลสตัณหา ท่านก็ตอบไปว่า อีตอแหล ตอนนั้นจะรู้ว่าเฉยได้จริงหรือเปล่า ท่านช่วยทดสอบอารมณ์ ถ้าไม่แน่ใจว่าเราเฉยจริงหรือเปล่า ก็ต้องให้คนเขาด่าเรา ขัดใจเรา ดูว่าจะเฉยได้หรือเปล่า ถ้าเฉยได้ก็สบาย

 

ถาม  จะรู้เมื่อไหร่คะว่าเราพร้อม

 

ตอบ  เหมือนกินข้าว อิ่มเมื่อไหร่ก็รู้เอง ถ้าพร้อมก็จะแยกกันอยู่คนละห้อง นอนคนละห้อง จะรู้เอง เวลาเกิดความเบื่อหน่าย เห็นทุกข์ในการอยู่ร่วมกัน ตอนนี้ยังไม่เห็นทุกข์ เห็นแต่สุขอย่างเดียว เวลาทุกข์ก็ลืมเร็ว ทะเลาะกันเดี๋ยวเดียว ไม่นานก็ลืม ถ้าจำได้ก็จะไม่อยากอยู่ด้วยกัน กิเลสชอบให้ลืมความทุกข์ ให้กลับไปรักเขาเหมือนเดิม เพราะอยู่คนเดียวไม่ได้ ยังต้องมีเขาให้ความสุขกับเรา ก็เลยยอมทนกับความทุกข์ ถ้ามีความสุขที่เกิดจากความสงบ ก็จะไม่เอาแล้ว เบื่อแล้ว เบื่อที่จะต้องทุกข์เพื่อแลกกับความสุข เพราะมีความสุขที่ดีกว่าเหนือกว่า ก็จะอยู่คนเดียวได้ ต้องทำจิตให้รวมให้ได้ เป็นอุเบกขาให้ได้ แล้วจะอยู่คนเดียวได้ จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะเวลาอยู่ด้วยกันหลายคนจะวุ่นวาย ไม่สงบ เวลาอยู่คนเดียวจะสงบสบาย

 

ต้องปฏิบัติให้ได้ ต้องตั้งจิตอธิษฐานว่านี่คืองานของเรา นี่คือที่พึ่งของเรา ที่พึ่งอื่นไม่มี นัตถิ เม สรณัง อัญญัง  ที่พึ่งของเราก็คือ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ด้วยการศึกษาและการปฏิบัติ ต้องทุ่มเทเวลาให้เต็มที่ อย่าทำแบบมือสมัครเล่น ต้องทำแบบมืออาชีพถึงจะได้ผล กิเลสตัณหาทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง ยกเว้นเวลาหลับ แต่ธรรมะของพวกเรา ทำเฉพาะเวลาที่เราว่างจากภาระกิจการงาน จึงไม่พอ สู้กิเลสตัณหาไม่ได้ กระแสธรรมของพวกเราอ่อนมาก สู้กระแสกิเลสตัณหาไม่ได้ เพราะไม่ผลิตกระแสธรรมให้มีกำลังมากกว่า เพราะไม่ทุ่มเทเวลาต่อการผลิตกระแสธรรม กลับไปผลิตกระแสกิเลสตัณหา ด้วยการทำตามกิเลสตัณหา การปฏิบัติจึงไม่คืบหน้า ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่ทุ่มเทให้กับการปฏิบัติ ถ้าทุ่มเทแล้วผลจะต้องเกิดอย่างแน่นอน

 

ทำไมจึงอยู่คนเดียวไม่ได้ ออกจากงานไม่ได้ ปฏิบัติธรรมทั้งวันไม่ได้ มีอะไรมาห้ามหรือเปล่า ผิดกฎหมายหรือเปล่า มีใครเอาปืนมาห้ามเราหรือเปล่า ห้ามอยู่คนเดียว ห้ามปฏิบัติธรรม ห้ามออกจากงาน ไม่มีใครเขาเอาปืนมาบังคับเราเลย ทั้งๆที่เป็นทางที่ดี ที่เลิศ ที่ประเสริฐ กลับไปชอบทางที่มีแต่ความวุ่นวายใจทุกข์ทรมานใจ เวลาไปเที่ยวถึงแม้จะต้องเสี่ยงภัยเสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่างๆก็ไปได้ทุกเวลา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ไปแล้วได้อะไร ก็ได้ความสุขความสนุกประเดี๋ยวประด๋าว กลับมาบ้านก็เศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่เหมือนเดิม ต้องวิเคราะห์ดู วิเคราะห์เรื่องของเรา อย่าไปวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องของคนอื่น เสียเวลาไปเปล่าๆ

 

ตอนที่เราอ่านหนังสือธรรมะใหม่ๆ ก็อ่านเรื่องนั่งสมาธิอยู่หลายเดือน แล้วอยู่ๆวันหนึ่งก็คิดขึ้นมาว่า เมื่อไหร่จะนั่งสักที ก็นั่งตรงนั้นเลย วางหนังสือแล้วก็นั่งเลย ต้องวิเคราะห์ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้คิดว่า วันเวลาผ่านไปผ่านไป กำลังทำอะไรอยู่ เราก็แก่ลงไปเรื่อยๆ ชีวิตก็สั้นลงไปเรื่อยๆ กำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำตามกระแสกิเลสตัณหา หรือกำลังทำตามกระแสของธรรม ต้องถามอย่างนี้ พอคิดว่าตอนนี้ยังไม่ได้เจริญสติเลย ไม่ได้นั่งสมาธิเลย ก็จะได้นั่งเลย พวกเราถูกกิเลสหลอกอยู่เรื่อย ให้หลงลืมงานที่จะต้องทำ หลอกให้ไปทำงานที่ไม่ควรทำ กิเลสเป่าหูเป่าจิตเป่าใจพวกเรา จนไม่รู้สึกตัวว่ากำลังทำแต่สิ่งที่ไร้ประโยชน์กับจิตใจ ถ้าไม่กระตุ้นจิตสำนึก ไม่กระตุ้นปัญญาให้สอดส่องดูว่ากำลังทำอะไรอยู่ ก็จะไม่รู้ว่า กำลังเผลอหรือไม่เผลอ กำลังมีสติหรือไม่มีสติ สตินี้สำคัญมาก ต้องทำให้มีสติอย่างต่อเนื่องให้ได้ แล้วสมาธิก็จะเป็นผลตามมา พอมีสมาธิแล้วเวลาออกทางปัญญา ก็จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างง่ายดาย  

 

โยม  มีโยมคนหนึ่งป่วยมากจำอะไรไม่ได้ อาการงอมเต็มที

 

ตอบ  ให้มองว่าป่วยเพียงร่างกาย ใจไม่ได้ป่วยด้วย ทำใจให้เป็นปกติ ต้องปลดล็อก อย่าเอาใจไปผูกกับร่างกาย ให้รู้ว่าใจเป็นคนกดรีโมท เครื่องโทรทัศน์จะเสียก็ช่างมัน เราไม่ได้เป็นอะไรไปกับเครื่องโทรทัศน์ ร่างกายเป็นเหมือนเครื่องโทรทัศน์ ใจเป็นเหมือนผู้กดรีโมท

 

ถาม  ได้ยินว่าเวลาหลวงปู่หล้าอาพาธหนัก ท่าทางจะไม่ไหวแล้ว หลวงตาก็ให้เอาสายยางออกหมดเลย ท่านบอกว่าไม่ห่วงเรื่องจิตของหลวงปู่หล้าแล้ว ธาตุขันธ์ก็ดีดดิ้นไปตามสภาพ

 

ตอบ  เหมือนกับหางจิ้งจก ขาดแล้วยังดิ้นได้

 

ถาม  ท่านอาจารย์อธิบายให้เพื่อนฟังว่า ตอนที่จะตายเหมือนกับดูหนังที่ได้ถ่ายไว้ ถ้าถ่ายหนังที่ไม่ดีไว้ ก็จะไปเกิดในที่ไม่ดี

 

ตอบ  การกระทำชั่วต่างๆจะฝังอยู่ในจิต เวลานอนหลับก็จะโผล่ขึ้นมา ฝันดีก็เป็นการแสดงผลบุญที่ได้ทำไว้ ฝันร้ายก็เป็นการแสดงผลบาปที่ได้ทำไว้ เป็นการฉายหนังให้เราดู

 

ถาม  ตอนเวลาใกล้ตาย บุญบาปจะฉายหนังเหล่านี้ให้เราดูหรือคะ

 

ตอบ  เวลาที่จิตจะออกจากร่างนี้ จะไปทางไหนก็ขึ้นอยู่กับบุญกับบาป ที่ทำไว้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ถ้าบุญมีกำลังมากกว่าก็จะไปสู่สุคติ ถ้าบาปมีกำลังมากกว่าก็จะไปสู่ทุคติ ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาเลย ก็จะไม่ไปเกิดอีกเลย

 

ถาม  พวกสัมภเวสีละคะ

 

ตอบ  คือพวกที่ยังต้องไปเกิดอีก

 

 

โยม  มีญาติโยมคนหนึ่งต้องแอบซื้อของมาทำบุญ เพราะญาติไม่ให้มา

 

ตอบ  เพราะมีจิตใจใฝ่บุญใฝ่ธรรม จะแอบทำก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นคิดไม่ดี แต่อย่าแอบเอาของของคนอื่นมาทำบุญ เพราะจะขาดทุนมากกว่ากำไร ถ้าไม่มีของทำบุญก็รักษาศีลไป จะได้บุญมากกว่า บุญที่ได้จากการให้ทานเป็นเหมือนแบงก์ ๒๐ แบงก์ ๕๐ บุญที่ได้จากการรักษาศีลเป็นเหมือนแบงก์ ๑๐๐ บุญที่ได้จากการนั่งสมาธิเป็นเหมือนแบงก์ ๕๐๐ บุญที่ได้จากการเจริญปัญญาเป็นเหมือนแบงก์ ๑๐๐๐ ถ้าทำบุญให้ทานไม่ได้ เพราะไม่มีเงินหรือมีคนขัดขวาง ไม่ต้องทำก็ได้ รักษาศีลนั่งสมาธิเจริญปัญญาจะได้บุญมากกว่า

 

ถาม  เดินจงกรมไม่มากเท่ากับนั่งสมาธิ ไม่เป็นไรใช่ไหมคะ

 

ตอบ  จะเดินมากกว่านั่งก็ได้ จะนั่งมากกว่าเดินก็ได้  

 

ถาม  เวลาพิจารณานี่ ไม่ควรทำตอนเดินจงกรม ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ทำในท่าไหนก็ได้ นั่งหรือเดินก็ได้ แต่ต้องรู้ว่ากำลังทำอะไร ถ้าทำสมาธิก็อย่าพิจารณา ควรจะอยู่กับลมหรือบริกรรมพุทโธไปอย่างเดียว ถ้าเจริญปัญญาก็พิจารณาไป

 

ถาม  จำเป็นต้องเดินก่อนแล้วค่อยมานั่งหรือไม่

 

ตอบ  ไม่จำเป็น การเปลี่ยนอิริยาบถนี้ เพื่อรักษาสุขภาพร่างกาย ถ้านั่งมากๆไม่เดินเลย ก็จะเจ็บปวดไปตามส่วนต่างๆ จะพิกลพิการได้ การเจริญสติกับการเจริญปัญญานี้ จะทำในขณะที่เดินจงกรม การทำสมาธิจะนั่งทำกัน เพราะเวลานั่งร่างกายจะนิ่ง การจะทำจิตให้นิ่งให้รวมได้ ร่างกายต้องนิ่ง ถ้าร่างกายเคลื่อนไหวจะไม่รวม