กัณฑ์ที่ ๔๓๓       ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๔

 

ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

 

 

 

เรื่องของโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่กิเลสชอบยึดติด ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบอะไรก็อยากจะให้เป็นเหมือนเดิม ไม่อยากให้เสื่อม ไม่อยากให้สูญ ไม่อยากให้จากไป พอจากไปก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ธรรมะจึงมีหน้าที่สอนใจ ให้รู้จักปรับใจให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ภาวะต่างๆ เช่นดินฟ้าอากาศ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอนนี้เพิ่งออกมาจากฤดูฝน ฤดูน้ำท่วม เข้าสู่ฤดูหนาว ฤดูแล้ง ต้องปรับไปตามสภาพ อย่าไปยึดติดอยู่กับสภาพใดสภาพหนึ่ง ให้อยู่กับสภาพปัจจุบัน ปัญหาเกิดขึ้นเพราะไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจชอบย้อนอดีต คิดถึงอนาคต เบื่อปัจจุบัน ชอบฝันถึงอดีตที่แสนหวาน ฝันถึงอนาคตที่จะมาต่อไป ทั้งๆที่ไม่ได้อยู่ในวิสัยว่าจะเป็นไปตามที่ฝันหรือไม่ ปัจจุบันที่ดีแสนดีกลับไม่เห็น ความจริงจะว่าดีก็ไม่เชิง แต่ก็ไม่เลวร้าย ถ้าใจไม่ไปยินดียินร้ายกับเขา ที่เลวร้ายเพราะใจไปปฏิเสธเขา ไม่ชอบเขา ก็เลยเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เพราะอยากเปลี่ยนเขา

 

ความทุกข์ก็อยู่ตรงที่ไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อยากให้เปลี่ยนเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นก็ทุกข์เพราะไม่อยากให้เปลี่ยน เช่นไม่อยากให้ร่างกายแก่ ไม่ให้ร่างกายเจ็บ ไม่ให้ร่างกายตาย แต่เราก็ไปห้ามเขาไม่ได้ เป็นธรรมชาติของเขา เป็นอนัตตา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับของเรา จึงต้องควบคุมใจ สอนใจ ให้นิ่งกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ใจสามารถนิ่งกับเหตุการณ์ต่างๆได้ เพราะเหตุการณ์ต่างๆไม่ได้เกิดกับใจ ไม่ได้แตะต้องใจเลย ใจเพียงสัมผัสรับรู้เท่านั้น แต่ใจหลงไปคิดว่าอยู่ในเหตุการณ์ คิดว่าเป็นร่างกาย ซึ่งความจริงเป็นเพียงตัวแทนของใจ อะไรเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็ไม่ได้เกิดกับใจ เพราะใจขาดความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ขาดสัมมาทิฐิ ไม่เห็นรูปังอนัตตา คือร่างกายไม่ใช่ใจ กลับไปเห็นว่าร่างกายเป็นใจ พอร่างกายเป็นอะไรไป ก็คิดว่าเป็นไปด้วย ถ้าฝึกสอนใจให้นิ่งให้สงบได้ ใจจะไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์กับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับร่างกาย

 

ที่ปลอดภัยที่สุดของใจ ก็คือความนิ่งความสงบของใจ ที่มีอยู่ ๒ ระดับด้วยกัน คือสงบในระดับสมาธิ เป็นการสงบชั่วคราว และสงบในระดับปัญญา เป็นการสงบถาวร ในเบื้องต้นต้องอาศัยความสงบของสมาธิก่อน เพราะการจะทำให้สงบด้วยปัญญานั้น ต้องมีสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน ถ้าจิตไม่สงบ ก็เป็นเหมือนน้ำขุ่น ไม่เห็นสิ่งต่างๆที่อยู่ในน้ำ ถ้าน้ำใสสงบ ก็จะเห็นสิ่งต่างๆ จึงต้องทำน้ำให้ใสก่อน เช่นสมัยก่อน เราใช้น้ำที่ตักมาจากแม่น้ำลำคลอง เอามาเทใส่ตุ่มแล้วก็เอาสารส้มมาแกว่ง เพื่อให้ตกตะกอน น้ำก็จะใส พอน้ำใสแล้วก็จะเห็นสิ่งต่างๆที่อยู่ในน้ำ ใจที่ไม่สงบจะขุ่นมัวด้วยอารมณ์ต่างๆ ด้วยอคติต่างๆ เช่นรัก ชัง กลัว หลง พอทำใจให้สงบแล้วอคติก็จะตกตะกอนไป จะแยกออกจากจิต ทำให้จิตมีหลักมีเกณฑ์มีเหตุมีผล สามารถมองความจริงได้ เหมือนกับแว่นตาที่ได้รับการเช็ดให้ใสสะอาด เวลามองผ่านแว่นตาก็จะเห็นตามความเป็นจริง ถ้าแว่นตามัวก็จะมองไม่เห็นตามความเป็นจริง เห็นสุนัขเป็นแมวไปก็ได้ ฉะนั้นใจที่มีอคติ ๔ มีรัก มีชัง มีกลัว มีหลงอยู่ จะไม่สามารถเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลายได้ ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง มีการเกิดก็ต้องมีการดับเป็นธรรมดา เป็นทุกข์ ไม่สุขอย่างเดียว ถ้าสุขก็เป็นเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่เป็นสุขแท้ เป็นสุขเทียม เป็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความต้องการได้

 

นี่คือสิ่งที่ใจที่ไม่มีสมาธิจะไม่สามารถมองเห็นได้ เหมือนกับแว่นตาที่ไม่ได้รับการเช็ดให้ใสสะอาด ถ้าแว่นตามัวเหมือนเวลาถูกไอน้ำเคลือบ จะมองเห็นรางๆ จะไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ ความหลงก็จะทำให้ไม่เห็นไตรลักษณ์ ไม่เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่เห็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับได้ เช่นเวลารักสิ่งใดบุคคลใด จะไม่มองว่าเขาไม่เที่ยง จะไม่คิดว่าเขาจะต้องจากเราไป จะต้องเสื่อม จะต้องเปลี่ยนไป จะไม่มองว่าเขาจะให้ความทุกข์กับเรา จะไม่มองว่าไม่สามารถควบคุมบังคับรักษา ให้เป็นไปตามความต้องการได้ เพราะถูกความหลงครอบงำจิตใจ ทำให้ไม่สามารถเห็นความจริงได้ ทำให้เห็นตรงข้ามกับความจริง ก็เลยเกิดอคติ คือความรัก ความชัง ความกลัวขึ้นมา ความกลัวนี่ก็เกิดจากการไม่เห็นว่า ร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย จึงกลัวแก่กลัวเจ็บกลัวตายกัน ถ้าเห็นว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ก็จะปล่อยวางความแก่ ความเจ็บ ความตายได้

 

จะเห็นได้ก็ต้องมีสมาธิ เวลาจิตสงบจิตจะปล่อยวางอุปาทาน ความยึดติดในร่างกายชั่วคราว มีความสุข ไม่เดือดร้อน กับความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเข้าสมาธิเป็น พอจิตสงบแล้ว จะไม่เดือดร้อนกับความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย หรือเวลานั่งสมาธิแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาตามร่างกาย แล้วสามารถดึงใจให้เข้าสู่ความสงบได้ ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ พอจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบแล้ว ก็จะไม่รับรู้อาการเจ็บปวดเลย อาการเจ็บปวดหายไป ถ้ายังรับรู้ว่ามีอาการเจ็บปวด ใจจะไม่เจ็บปวดไปกับความเจ็บปวดของร่างกาย จะเฉยๆเหมือนตอนที่ร่างกายไม่เจ็บปวด นี่คือพลังของสมาธิ ที่ทำให้จิตปล่อยวางอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ว่าเป็นตัวเราของเราได้ ปล่อยวางเวทนาได้ ปล่อยวางความอยากให้เวทนาหายไป ปล่อยวางความอยากที่จะลุกขึ้น เพี่อเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกาย เพื่อผ่อนคลายอาการเจ็บปวดของร่างกาย ผู้ที่มีสมาธิสามารถอยู่กับความเจ็บปวดของร่างกายได้ ไม่ต้องรับประทานยาแก้ปวดก็ได้

 

นี่คือวิธีหนึ่งที่จะปล่อยวาง ที่จะเห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย เช่นร่างกายว่าไม่ใช่ตัวเรา เพราะเวลาที่จิตสงบ จิตกับร่างกายจะแยกออกจากกันชั่วคราว จะรู้ว่าเป็นคนละคนกัน ถ้าร่างกายเป็นอะไรไป จะรู้ว่าใจไม่ได้เป็นอะไรไปด้วย แต่พอออกจากสมาธิมาแล้ว ใจกับกายก็จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งอีก แทนที่จะแยกเป็นสอง ถ้าไม่ใช้ปัญญาคอยสอนใจ ก็จะถูกความหลงที่ยังไม่ได้รับการทำลายอย่างถาวร กลับมาทำหน้าที่หลอก ให้คิดว่าร่างกายเป็นใจ จึงต้องใช้ปัญญาคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปเป็นธรรมดา เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข ถ้าไปยึดไปติด ไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เช่นไปอยากไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ก็จะทุกข์ทรมานใจขึ้นมาทันที นี่เป็นหน้าที่ของปัญญา หลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว การเจริญปัญญา จะเจริญได้ก็ต้องมีสมาธิมาก่อน แต่จะไม่เจริญไม่พิจารณาตอนที่จิตอยู่ในสมาธิ ตอนที่จิตสงบนิ่งอยู่ ตอนนั้นต้องปล่อยให้จิตพักให้นานที่สุด เพราะการพักของจิตเป็นการตัดกำลังของความหลง ตัดกำลังของอคติ คือรักชังกลัวหลง พอออกจากสมาธิ อคติทั้ง ๔ จะไม่มีกำลัง ตอนนั้นถ้าเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ก็จะไม่มีอารมณ์หดหู่มารบกวนใจ ต่างกับผู้ที่ไม่มีสมาธิ จะไม่สามารถพิจารณาความจริงของร่างกายได้ว่า เกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เพราะจะมีอคติคอยต่อต้าน คือความชัง ไม่ชอบความแก่ความเจ็บความตาย ไม่เชื่อลองถามตัวเองดูว่า วันหนึ่งได้พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายกันสักกี่ครั้ง ไม่เคยคิดถึงมันเลย เพราะไม่ชอบคิดถึงเรื่องราวเหล่านี้ เพราะคิดแล้วเกิดอารมณ์หดหู่ขึ้นมา ทำให้ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมถ้าจะต้องตายไป จะคิดอย่างนี้ เป็นผลงานของอคติ คือความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง จะสร้างอารมณ์เหล่านี้ขึ้นมา พวกเราจึงไม่ค่อยมีปัญญา ไม่เห็นไตรลักษณ์กัน ไม่เห็นการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่เห็นความทุกข์ ไม่เห็นอนัตตา การที่เราไม่สามารถไปสั่งให้สิ่งต่างๆเช่นร่างกาย ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้เสมอไป

 

นี่คือความแตกต่างระหว่างการมีสมาธิและการไม่มีสมาธิ พอมีสมาธิแล้ว พอออกจากสมาธิ ก็ต้องกำกับความคิดให้คิดไปในทางไตรลักษณ์เลย ถ้าไม่คิดก็จะไม่ได้เจริญปัญญา ก็จะติดอยู่ในขั้นสมาธิ ที่เรียกว่าติดสมาธิ ติดอย่างนี้ หมายถึงนั่งสมาธิอย่างเดียว พอออกจากสมาธิก็ไม่เจริญปัญญา ไม่พิจารณาไตรลักษณ์ ไปทำภารกิจต่างๆตามปกติ พอถึงเวลานั่งสมาธิก็กลับมานั่งใหม่ อย่างนี้ก็จะไม่ก้าวขึ้นสู่ขั้นปัญญาได้ ขั้นสมาธิยังเป็นขั้นโลกิยะ คือสมาธินี้เสื่อมได้ ถ้าตายไปแล้วไปเกิดในชั้นพรหม ก็จะเสื่อมลงมาชั้นเทพ แล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ถ้าได้ขึ้นสู่ขั้นปัญญาแล้ว ซึ่งมีอยู่ ๔ ขั้น คืออริยมรรคผล ๔ ขั้น ได้แก่ขั้นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ถ้าได้ขั้นใดขั้นหนึ่งแล้วจะไม่เสื่อมลงมา ถ้าได้บรรลุเป็นโสดาบันแล้ว ก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นปุถุชน ถ้าได้ขั้นสกิทาคามีแล้ว ก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นโสดาบัน ถ้าได้ขั้นอนาคามีแล้ว ก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นสกิทาคามี ถ้าได้ขั้นอรหันต์แล้วก็จะไม่เสื่อมลงมาเป็นอนาคามี

 

นี่เป็นขั้นของปัญญา ซึ่งมีเพียงพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่สอนขั้นปัญญา ศาสนาอื่นๆที่ผ่านมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ไม่มีความรู้ความสามารถที่จะสอนขั้นปัญญาได้ เพราะไม่เห็นอนัตตา ไม่เห็นสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน มีเพียงพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่เห็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา ตอนที่ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทรงศึกษา ทรงเรียนจากผู้อื่นได้เพียงระดับสมาธิเท่านั้น ครูบาอาจารย์ของพระองค์ ๒ รูป สอนเพียงขั้นรูปฌานและอรูปฌาน ไม่รู้จักปัญญา คือโลกุตรธรรม ไม่รู้อนัตตาที่มีอยู่ในสภาวธรรมทั้งหลาย จึงพยายามควบคุมบังคับสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามความอยากของอคติ ของความหลง สิ่งที่ไม่เที่ยงก็อยากให้เที่ยง แม้แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ก็ยังมีมนุษย์ที่พยายามคิดค้นคว้าหาหยูกหายา หาวิธีรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เพื่อไม่ให้ร่างกายตาย หายามารับประทานเพื่อให้ร่างกายอยู่ไปได้ตลอด นี่ก็เป็นผลงานของความหลง ไม่เห็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามความต้องการได้ ทุกอย่างในโลกนี้มีเกิดต้องมีดับไปเป็นธรรมดา

 

พอไม่เห็นกัน ก็เลยทุกข์กัน แทนที่จะมาแก้ปัญหาที่ใจ ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ คือความหลงที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ ก็ไปแก้ที่ปลายเหตุ ไปแก้ที่ร่างกาย ด้วยการผลิตสินค้าต่างๆ อุปกรณ์ต่างๆ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ อาหารต่างๆ หยูกยาต่างๆ มาเพื่อทำให้ร่างกายไม่ให้ตาย เพราะคิดว่าถ้าร่างกายไม่ตายแล้วจะได้ไม่ทุกข์ เพราะไม่มีใครอยากตาย ไม่มีใครอยากเจ็บไข้ได้ป่วย แต่หารู้ไม่ว่า นั่นไม่ใช่วิธีดับทุกข์ เพราะความทุกข์ไม่ได้เกิดจากความแก่ ความเจ็บ ความตาย แต่เกิดจากความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายต่างหาก ถ้าตราบใดยังมีความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายอยู่ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา แล้วสมมติว่า ซึ่งคงไม่เป็นความจริง สมมติว่าถ้าสามารถผลิตยาหรือกรรมวิธีทำให้ร่างกายไม่ตายได้ ก็ยังไม่พ้นจากความทุกข์ เพราะเวลาอยากจะตาย อยากจะฆ่าตัวตาย ก็ทำไม่ได้ เพราะร่างกายไม่ตาย ใจของมนุษย์เราก็เห็นอยู่แล้ว ใช่ไหม บางทีก็อยากอยู่ บางทีก็อยากตาย เวลาอยากตายแล้วไม่ตาย ก็ทุกข์ทรมานใจไปอีกแบบหนึ่ง

 

ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การแก่ การเจ็บ การตาย แต่อยู่ที่ความอยาก เรียกว่าภวตัณหา ความอยากอยู่ ความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย วิภวตัณหา ความอยากตาย ถ้าร่างกายยังไม่ตาย แล้วอยากจะตายก็จะทุกข์ เช่นคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ไม่สามารถทำอะไรตามความอยากได้ ก็เกิดวิภวตัณหา อยากจะตาย ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือที่ร่างกาย จึงไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา แก้ความทุกข์ สมัยนี้เรามีสิ่งต่างๆมาสนองกิเลสตัณหาของเราอย่างมากมาย แต่พอได้แล้วก็เบื่อ อยากจะทำลาย ถ้าทำลายไม่ได้ก็ทุกข์ใจ เช่นสามีภรรยาเป็นต้น เวลาได้กันใหม่ๆก็รักกันดี พออยู่ไปนานๆก็จะเบื่อ อยากจะทิ้งกัน ปัญหาอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งต่างๆภายนอก สิ่งต่างๆภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ถ้าทำใจให้นิ่ง ไม่ให้เกิดความอยาก ไม่ให้เกิดภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหาได้ ก็จะไม่เป็นปัญหากับใจเลย จะหนาวก็อยู่กับมันได้ จะร้อนก็อยู่กับมันได้ น้ำจะท่วมก็อยู่กับมันได้ แม้แต่ร่างกายจะตายไปก็รับได้ เวลาเข้าสมาธิไปก็เหมือนกับปล่อยร่างกายให้ตายไปชั่วคราว ถ้าเข้าสมาธิเป็นจะรู้ว่าความตายไม่เป็นปัญหากับใจเลย

 

นี่คือประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม เพียงขั้นสมาธิก็จะเห็นคุณประโยชน์มากอยู่แล้ว เป็นที่พึ่งทางใจได้ชั่วคราว เวลามีความทุกข์ใจก็เข้าไปในสมาธิ ความทุกข์ใจก็จะหายไป ไม่ว่าจะทุกข์เพราะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเบื่อหน่ายกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ กับคนนั้นกับคนนี้ ก็ไปปลีกวิเวก ไปเข้าสมาธิ ปล่อยวางสิ่งที่เบื่อหน่าย ไม่ไปยุ่งกับเขา พอใจสงบแล้ว ก็จะไม่เดือดร้อน ถ้าต้องกลับไปพบกันอีก ถ้าจะอยู่กับสิ่งต่างๆโดยไม่ทุกข์ ก็ต้องใช้ปัญญา ต้องพิจารณาว่าสิ่งต่างๆนี้ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา ที่จะไปควบคุมให้เป็นไปตามความต้องการได้ เพราะฉะนั้นจงอย่าไปอยากกับสิ่งต่างๆ อย่าไปอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เขาเป็นอย่างไรก็ให้พอใจ จะได้ไม่เดือดร้อน อากาศหนาวก็พอใจกับอากาศหนาว อากาศร้อนก็พอใจกับอากาศร้อน อยู่ด้วยกันได้ เพราะใจเป็นเพียงผู้รับรู้เท่านั้นเอง ใจไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ร่างกายต่างหากที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้ที่จะรับเคราะห์รับประโยชน์ก็คือร่างกาย เช่นเวลารับประทานอาหาร ใจไม่ได้รับประทานอาหารเลย ร่างกายเป็นผู้รับประทานอาหาร ใจเป็นเพียงผู้ดู แต่ใจกลับไปวุ่นวายมากกว่าร่างกาย ที่รับประทานอาหารได้ทุกรูปแบบทุกชนิด แต่ใจกลับรับประทานไม่ได้ ทั้งๆที่ใจไม่ได้เป็นผู้รับประทาน ถ้าทำใจให้นิ่งเฉยได้ ปล่อยให้ร่างกายรับประทานไป เหมือนรับประทานยา มีอะไรก็ตักเข้าปากไป เคี้ยวไปกลืนไป เพื่อเยียวยาให้ร่างกายอยู่ต่อไปได้ ถ้าเป็นอาหารที่สะอาด ไม่เป็นพิษ เป็นภัย เป็นโทษ ก็ใช้ได้ ถ้าใจมีปัญญา แยกออกจากร่างกายเป็น การรับประทานอาหารจะเป็นเหมือนการรับประทานยา จะไม่กังวลกับสีสันกับรูปร่างของยา หมอให้ยาชนิดไหนมารับประทาน ก็รับประทานได้ อาหารก็เป็นยาอย่างหนึ่ง เพื่อเยียวยาร่างกายไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ให้ร่างกายอยู่ได้อย่างปกติ ถ้าใจมีอคติ มีความหลงครอบงำ ก็จะคิดว่าตนเป็นผู้รับประทานอาหาร ถ้ามีอคติ ความชอบ ความชัง ก็จะเลือกอาหาร อาหารชนิดนี้รับประทานได้ อาหารชนิดนั้นรับประทานไม่ได้ ทั้งๆที่ใจไม่ได้รับประทานแม้แต่คำเดียวเลย ผู้ที่รับประทานก็คือร่างกาย เหมือนกับคนขับรถที่ขับรถไปเติมน้ำมัน แล้วก็เลือกปั๊ม เพราะปั๊มนี้ไม่มีของแจก ปั๊มนี้ไม่ลดราคา แต่รถมันไม่สนใจหรอก น้ำมันปั๊มไหนก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่คนขับนี่เรื่องมาก มีรักมีชัง มีความอยาก อยากจะได้คูปอง อยากจะได้ผ้าขนหนู อยากจะได้ปฏิทิน ก็เลยต้องเลือกปั๊ม

 

นี่คือความหลงที่ครอบงำใจ ถ้าทำใจให้สงบได้ความหลงจะถูกฉีดยาสลบ จะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ถูกตัดกำลังลงไป ทำให้คิดด้วยเหตุด้วยผลได้ คิดตามความจริงได้ ทำให้เห็นความจริงได้ เช่นเห็นคนที่เรารักว่า สักวันหนึ่งต้องจากไป ก็จะเตรียมตัวเตรียมใจรับกับเหตุการณ์ได้ ถ้าจิตไม่สงบจะไม่กล้าคิดถึงการจากกัน เพราะจะคิดว่าเป็นการสาปแช่ง ถ้าคิดแล้วจะจากกันทันที ก็เลยไม่กล้าคิดกัน พอไม่กล้าคิด เวลาจากกันก็ทำใจไม่ได้ เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน ถ้ามีสมาธิแล้ว จะกล้าพิจารณาความไม่เที่ยง การพลัดพรากจากกัน เขาจะจากเราไปเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ไปห้ามเขาไม่ได้ เขาเป็นอนัตตา ถ้าไปอยากแล้วไม่ได้ดังใจ ก็จะทุกข์ทรมานใจ นี่คือการเห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องเห็นหลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์ในสิ่งที่เรามีอคติด้วย โดยเฉพาะสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราชังก็เหมือนกัน เช่นการถูกดุด่าว่ากล่าว ครหา นินทา อันนี้เราไม่ชอบ เราชัง ก็ต้องสอนใจว่า บังคับเขาไม่ได้ เขาอยากจะด่า เราจะไปห้ามเขาได้อย่างไร เหมือนเสียงนกเสียงกานี่ จะไปห้ามเขาได้อย่างไร นี่เห็นไหมเสียงนก เสียงกา มันก็ร้องของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าไม่ชอบจะไปห้ามเขาได้อย่างไร ต้องห้ามใจเราสิ ทำใจให้เฉย เป็นสมาธิ เหมือนขณะที่อยู่ในสมาธิ การที่ใจไม่เฉยก็เพราะมีความอยาก ถ้าตัดความอยากได้ จะด่าก็ได้ จะชมก็ได้ ใจก็จะสงบ จะนิ่ง นิ่งด้วยปัญญา จากการเห็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา เห็นว่าไม่สามารถควบคุมบังคับสั่งการ ให้สิ่งต่างๆเป็นไปตามความอยากได้ ต่อไปก็จะไม่มีความอยาก จะอยู่กับความจริงตลอดเวลา

 

แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆให้ดีที่สุด ถ้าทำได้ก็ทำไป เช่นถ้าอยู่ตรงนี้เป็นอันตราย ก็เปลี่ยนไปอยู่อีกที่หนึ่ง ถ้าไปได้ก็ไป ถ้าไปไม่ได้ต้องอยู่ ก็อยู่ไป อะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องปล่อยให้เกิด แต่ใจจะนิ่ง ไม่ว่าจะอยู่หรือจะไป ที่ไปก็ไม่ได้ไปเพื่อใจ แต่ไปเพื่อร่างกาย ไปเพื่อทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ เวลาน้ำท่วมอยู่ไม่ได้ก็ต้องไป แต่ต้องไปแบบใจนิ่ง ไม่เสียอกเสียใจ ไม่เดือดร้อน อยู่ก็ได้ ไปก็ได้ ถ้าไปแล้วดีกว่าก็ไป ไปได้ก็ไป ถ้าไปไม่ได้ก็อยู่ต่อไป จนกว่าจะอยู่ไม่ได้ สิ่งที่อยู่ไม่ได้ก็คือร่างกาย ไม่ใช่ใจที่อยู่ไม่ได้ พอร่างกายตายไปแล้ว ใจก็หมดปัญหากับร่างกาย หมดภาระ ร่างกายนี้พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็น ภารา หเว ปัญจักขันธา เป็นภาระที่หนักอย่างยิ่ง ที่ใจต้องคอยดูแลรักษา ตั้งแต่วันเกิดจนถึงวันตาย พอไม่มีร่างกายแล้ว ก็เหมือนกับยกของหนักออกจากบ่า ไม่ต้องแบกอีกต่อไป เวลาเดินทางไปไหนมาไหน ระหว่างการที่ต้องแบกสัมภาระต่างๆ กับการเดินไปตัวเปล่าๆนี้ อย่างไหนจะสบายกว่ากัน พวกเรานี้มีสัมภาระมาก นอกจากร่างกายของเราแล้ว ยังไปแบกร่างกายของคนอื่นอีก ไปแบกร่างกายของสามี ของภรรยา ของลูก ของบิดา มารดา ของปู่ย่าตายาย ไปแบกคอนโดฯ แบกรถยนต์ แบกเพชรนิลจินดา ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ไม่หนักไม่เหนื่อยบ้างหรือ สู้ไปแบบตัวเปล่าๆ อยู่แบบตัวเปล่าๆไม่ดีกว่าหรือ

 

นี่คืออำนาจของความหลง ไม่ว่าจะได้ฟังธรรมมามากน้อยเพียงใดก็ตาม ถ้าจิตไม่สงบก็จะมองไม่เห็น เห็นแบบสิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น เหมือนกับได้ยินคนเล่าให้เราฟัง ว่าสถานที่ตรงนั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ฟังไปแล้วก็วาดภาพตามไป อย่างที่กำลังเทศน์ให้ฟังนี้ พวกเราก็วาดภาพตามไป แต่ไม่เห็นกับใจ พอเลิกฟังธรรมก็กลับไปแบกเหมือนเดิม เพราะฟังมานานแล้ว ก็ยังแบกเหมือนเดิม แสดงว่าจิตไม่สงบ จิตไม่เคยรวมเลย เพราะฉะนั้นต้องทำจิตให้รวมให้ได้ การจะทำจิตให้รวมได้ ก็ต้องมีสติเป็นตัวคอยดึงใจให้เข้าสู่ความสงบ ใจนี่ก็เป็นเหมือนลิง ถ้าจะจับลิงเข้ากรง ต้องมีเชือกจับ ต้องเอาเชือกไปคล้องคอลิง แล้วก็ลากเข้าไปในกรง ถ้าไม่ลากจะไม่เข้า จะวิ่งเล่นไปตามเรื่องของมัน ใจก็ชอบคิดเรื่อยเปื่อย ถ้าไม่ควบคุมไม่ให้คิด ก็จะคิดไปเรื่อยๆ เวลานั่งสมาธิก็ยังคิดอยู่ นั่งดูลมก็ยังคิดเรื่องนั้น คิดเรื่องนี้อยู่ บริกรรมพุทโธๆ ก็ยังคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ถ้านั่งอย่างนี้ นั่งไปจนวันตายก็จะไม่มีวันสงบได้ ถ้าไม่มีเชือกจับลิงเข้ากรง ก็จะจับไม่ได้ จิตนี่เร็วกว่าลิงหลายร้อยเท่า มีสิ่งเดียวที่จิตกลัว ก็คือสติ สติเป็นผู้ปราบจิตได้ แต่พวกเราไม่ใช้กัน มีของดี มีอาวุธดี กลับไม่ใช้กัน เพราะรู้สึกว่าหนักกว่าแบกของต่างๆ พอบริกรรมพุทโธๆไปได้หน่อยเดียว ก็ไม่เอาแล้ว ไม่ไหวแล้ว ถ้าอยากจะทำใจให้สงบต้องบริกรรมพุทโธได้ทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องพุทโธๆไป ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องคิดเรื่องอื่นก็อย่าไปคิด ให้คิดแต่พุทโธๆไป พอลืมตาขึ้นมา ก่อนจะลุกขึ้น ก็พุทโธเลย วันนี้จะเริ่มต้นด้วยพุทโธ และจะบริกรรมพุทโธจนถึงเวลาหลับนอน พุทโธๆไปทั้งวันเลย อย่างนี้แหละถึงจะดึงใจไว้ได้ ดึงลิงไว้ไม่ให้ไปวิ่งเพ่นพ่านได้ เวลานั่งสมาธิจะไม่ไปไหน จะอยู่กับงานที่ให้ทำ ให้อยู่กับลม ก็จะอยู่กับลม ให้อยู่กับพุทโธ ก็จะอยู่กับพุทโธ เพราะพุทโธมาทั้งวัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ นั่งเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที ก็จะสงบ

 

ต้องมีสติก่อน ถึงจะมีสมาธิ พอมีสมาธิแล้วก็ต้องเจริญปัญญา พอออกจากสมาธิแล้วอย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้คิดทางปัญญา คิดไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอะไรก็คิดว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาไปอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปจะปล่อยวาง เพราะเห็นทุกข์ เห็นอนัตตา เห็นอนิจจัง จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วย เพราะไม่เป็นไปตามความอยาก ความต้องการ พออยากให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็จะมีความทุกข์ขึ้นมา เป็นทุกข์ในอริยสัจ ๔ เป็นทุกข์ใจ ที่เกิดจากความอยากต่างๆ ถ้ามีปัญญาก็จะไม่อยาก จะเฉยๆ เช่นกิเลสจะหลอกให้ไปดื่มเป๊ปซี่ ก็ไม่ไป ไม่จำเป็น ดื่มน้ำเปล่าก็ได้ ร่างกายต้องการน้ำเปล่า น้ำที่ไม่มีน้ำตาลผสม ไม่มีรสชาติก็ไม่เป็นไร ครูบาอาจารย์ที่บรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านอยู่ในป่า ไม่มีเป๊ปซี่ดื่ม ไม่มีขนมนมเนยรับประทาน อยู่กับชาวป่าชาวเขา บิณฑบาตวันหนึ่งจะได้อะไรมา ได้ข้าวเหนียวหน่อย ได้ผัก ได้น้ำพริกมาจิ้ม แต่ใจท่านมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา จึงไม่หิวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใจไม่ผลิตความอยาก จึงไม่มีความทุกข์ ทำไมท่านอยู่ในป่าในเขาได้ ทำไมพวกเราอยู่กันไม่ได้ ก็เพราะว่าใจของพวกเรายังผลิตกามตัณหาอยู่นั้นเอง ยังอยากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พออยากแล้วก็เหมือนคนติดยาเสพติด ต้องหามาให้ได้ อยู่ไกลแสนไกลก็ต้องไป

 

นี่คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ หลังจากที่ออกมาจากสมาธิแล้ว ถ้าไม่พิจารณา ก็จะไม่ก้าวหน้า จะติดอยู่ที่ขั้นสมาธิ ตายไปก็จะต้องกลับมาเกิดใหม่อีก จะพลาดโอกาสอันเลิศนี้ไป กลับมาเกิดคราวหน้า อาจจะไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา จะไม่มีใครสอนเรื่องอนัตตา ถ้าขึ้นสู่ขั้นปัญญาได้ พิจารณาไตรลักษณ์ได้ ไตรลักษณ์จะติดไปกับใจ ถ้าตายไปแล้วกลับมาเกิดใหม่ ไม่ได้เจอกับพระพุทธศาสนา ก็จะปฏิบัติธรรมต่อไปได้ เพราะมีศาสนาคือไตรลักษณ์อยู่ในใจแล้ว หัวใจของศาสนาก็คือไตรลักษณ์นี้เอง การเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้แล คือศาสนาที่แท้จริง ศาสนาไม่ได้อยู่ที่เจดีย์ ไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่พระสงฆ์องค์เจ้า ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้า แต่อยู่ที่ปัญญาที่เกิดขึ้นภายในใจ ที่เรียกว่าธรรมจักขุ ดวงตาเห็นธรรม ก็เห็นไตรลักษณ์นี้ เห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง ก็คือเห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นอนัตตา เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราไม่สามารถควบคุมบังคับสั่งการ ให้เป็นไปตามความต้องการได้

 

ถ้าได้เข้าสู่ขั้นปัญญาแล้ว ก็จะมีการหลุดพ้นโดยถ่ายเดียว ช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก พอได้ขั้นโสดาบันแล้วก็ไม่เกิน ๗ ชาติ พอได้ขั้นสกิทาคามีแล้ว ก็ชาติเดียว ที่จะต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าได้ขั้นอนาคามี ก็สามารถบรรลุได้ในขั้นนั้นเลย คือในขั้นของพรหม ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะพระอนาคามีได้ตัดปัญหาของร่างกายไปแล้ว ปล่อยวางกามตัณหาได้หมดแล้ว เหลือแต่ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่ยังตัดไม่ได้ ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ไม่ต้องใช้ร่างกายปฏิบัติธรรม สามารถปฏิบัติธรรมภายในจิตได้ เพราะปัญหาตอนนี้อยู่ในจิต ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย กามตัณหานี้ปล่อยวางหมดแล้ว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้ปล่อยวางหมดแล้ว ไม่มีปัญหาแล้ว ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อยู่ที่จิต อยู่ที่ธรรมารมณ์ ไม่เกี่ยวกับร่างกาย ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เจริญปัญญาได้ในขณะที่เป็นพรหม ออกมาจากรูปฌาน จากอรูปฌาน ก็พิจารณาได้เลย พิจารณาความสุขทุกข์ที่ละเอียดที่ยังมีอยู่ในใจ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่ละเอียด พิจารณาไปแล้วก็จะเห็น เห็นแล้วก็ปล่อยวาง พอปล่อยวางแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือให้พิจารณา ไม่มีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จบงาน ภารกิจทางศาสนาก็จบ ไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป

 

เวลาได้สมาธิแล้วอย่าหยุดตรงนั้น ยังไม่พอ เพราะยังต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก เช่นพระอาจารย์ของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ที่ได้รูปฌานและอรูปฌาน ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ จะทรงประกาศพระธรรมคำสอน ก็ทรงระลึกถึงผู้ที่จะสามารถรับความรู้ รับคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างรวดเร็ว ก็คือต้องเป็นผู้ที่มีสมาธิแล้ว ก็ระลึกถึงพระอาจารย์ ๒ รูป แต่ก็ทราบข่าวว่าได้เสียไปแล้ว พระองค์ทรงตรัสว่าน่าเสียดาย เพราะพลาดโอกาสอันดีงาม ที่จะตัดภพชาติได้ แต่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ กลับมาปฏิบัติใหม่ จะไม่สามารถบรรลุได้ด้วยตนเอง ถ้าไม่มีปัญญาบารมีพอ ต้องรอพระพุทธเจ้ามาสอนเรื่อง สัพเพ ธัมมา อนัตตา พระองค์ก็เลยระลึกถึงพระปัญจวัคคีย์ ที่เคยติดตามพระองค์ ที่มีฌานมีสมาธิ ทรงเห็นว่าพระปัญจวัคคีย์จะเจริญปัญญา บรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว จึงมุ่งไปหาพระปัญจวัคคีย์ แล้วก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก ที่เรียกว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทรงแสดงอริยสัจ ๔ มรรค ๘ พอพระอัญญาโกณฑัญญะ หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ พิจารณาตามก็เข้าใจทันที ว่าความทุกข์เกิดจากความอยาก อยากในสิ่งที่เกิดมาแล้วต้องดับ ไม่ให้ดับ ถ้าจะไม่ให้ทุกข์ใจก็ต้องตัดความอยาก ต้องยอมรับว่า สิ่งใดที่มีการเกิดขึ้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา พอยอมรับความจริงแล้ว ความอยากที่จะไม่ให้ดับก็จะไม่มีในใจ ความทุกข์ก็จะดับไป จึงได้บรรลุธรรมขั้นแรก เห็นไหม อำนาจของสมาธิเป็นอย่างนี้ พอได้ฟังธรรมความจริงเพียงครั้งเดียวก็บรรลุได้เลย

 

ต้องเข้าใจหน้าที่ของธรรมต่างๆ ที่ศึกษาและปฏิบัติกันอยู่ ไม่ว่าทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา ว่าเป็นธรรมที่สนับสนุนกัน เช่นการทำบุญให้ทานก็เป็นการสนับสนุนให้เกิดความเมตตา ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะทำให้รักษาศีลได้อย่างง่ายดาย พอมีศีลแล้วจิตก็จะสงบ มีความหนักแน่น ไม่ว้าวุ่นขุ่นมัวกับการกระทำผิดต่างๆ เวลาทำสมาธิจิตจะสงบได้อย่างง่ายดาย พอมีสมาธิแล้วเวลาฟังธรรมะ หรือเวลาพิจารณาธรรมะ ก็จะเห็นอย่างง่ายดาย บรรลุมรรคผลขั้นต่างๆได้อย่างง่ายดาย จึงอย่าไปติดอยู่กับธรรมขั้นใดขั้นหนึ่ง พวกเราส่วนใหญ่จะติดอยู่ที่ขั้นแรกนี่ ขั้นป. ๑ กฐินก็ทอดกันทุกปี ผ้าป่าก็ทำกันทุกปี มีงานที่ไหนก็ต้องไปกัน เรื่องรักษาศีล เรื่องภาวนา ไปปลีกวิเวกนี่ไม่ค่อยไปกันเลย ส่วนใหญ่จะติดกันอยู่แค่ชั้นประถม ไม่ยอมขึ้นชั้นมัธยม ชั้นอุดมศึกษากัน พวกเราจะเก่งไปงานบุญต่างๆ แต่งานปลีกวิเวกไม่ค่อยเก่งกัน งานจริงๆของพวกเราคือการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ส่วนงานบุญงานกุศล เป็นเพียงบันไดให้ขึ้นสู่ศีลและภาวนา เพื่อกันไม่ให้ไปงานสังคมต่างๆ ไปงานศพก็ดีกว่าไปงานเลี้ยง ไปงานศพ ไปงานบุญ จะได้ไม่ไปกินเลี้ยง ไปเที่ยว ไปเฮฮาปาร์ตี้กัน ถ้าชอบไปเฮฮาปาร์ตี้ ไปงานศพ ไปงานบุญจะดีกว่า แต่พวกที่กำลังภาวนาอยู่ ไปงานบุญไม่ดี เป็นการเดินถอยหลัง ตอนที่อยู่กับหลวงตา ท่านจะไม่ให้พระเณรไปงานศพของครูบาอาจารย์ พระเณรในวัดท่านจะไม่ให้ออกไปข้างนอก ให้ภาวนาอย่างเดียว ให้เดินจงกรม นั่งสมาธิ ท่านไปองค์เดียว ไปในนามของวัด ไปในนามของพระเณร ท่านให้พระเณรเข้าป่า ไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ เพราะเป็นงานของพระ งานของนักปฏิบัติ นักภาวนา

 

แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ภาวนา ไปงานศพจะได้บุญได้ประโยชน์ ดีกว่าไปงานสังสรรค์งานเลี้ยงต่างๆ ไปงานศพได้บุญได้ประโยชน์มากกว่า คนที่ชอบไปเที่ยวตามสถานบันเทิงต่างๆ ควรไปงานบุญ ไปทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ไปงานศพของครูบาอาจารย์ จะได้บุญได้ประโยชน์ จะได้ยินได้ฟังธรรม ได้เห็นอนิจจัง เห็นความไม่เที่ยง เห็นความตาย ถ้าเห็นแล้ว ต้องการจะหลุดพ้นจากความทุกข์ ก็ต้องไปอยู่ในป่าในเขา ไม่ไปงานเหล่านี้แล้ว ต้องปลีกวิเวก อยู่คนเดียว เดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญสติ ทำจิตให้สงบ แล้วก็เจริญปัญญา ถ้าไปปลีกวิเวกแล้วยังกลับมายุ่งกับงานต่างๆ แสดงว่าหลงทาง ถูกอำนาจของความหลงดึงกลับมา ต้องไปข้างหน้าอย่างเดียว อย่าถอยกลับมา ถ้าจะกลับมาก็ต้องเสร็จภารกิจแล้ว พอเสร็จภารกิจแล้วจะไปงานไหนก็ได้ ไม่ไปก็ได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะงานสำคัญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นนักศึกษาก็ได้รับปริญญาแล้ว ทีนี้จะไปทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยก็ทำได้ ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นปัญหาอย่างไร ถ้ายังเรียนไม่จบ มัวแต่ไปทำกิจกรรม ไม่สนใจเข้าห้องเรียน ทำการบ้าน อ่านหนังสือ เวลาสอบก็จะสอบไม่ผ่าน ก็จะไม่ได้รับปริญญา ต้องรู้ว่ากำลังทำขั้นไหน ควรจะทำขั้นนั้นเพื่อส่งให้ขึ้นสู่ขั้นต่อไป ไม่ใช่ทำอยู่แต่ขั้นนั้น ไม่ยอมขยับขึ้นเลย เรียนป. ๑ มากี่ปีแล้ว ไม่ยอมขึ้นป. ๒ เลย เพราะยากกว่าเรียนป. ๑ เรียนซ้ำชั้นง่ายกว่า แต่ไม่ก้าวหน้า ต้องยอมลำบาก เช่นทำบุญทำทานแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องรักษาศีล ๕ วันพระก็รักษาศีล ๘ ต่อไปก็รักษาศีล ๘ ให้มากขึ้น ถ้ารักษาศีล ๘ ก็ต้องภาวนาด้วย ถึงจะมีกำลังรักษา ถ้าไม่ภาวนาจะรักษายาก เพราะจิตจะดิ้น จะหิวกับรูป เสียง กลิ่น รส ถึงแม้จะภาวนาเป็นไม่เป็นก็ต้องหัดทำ ต้องเดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญสติ

 

มีคนหนึ่งไม่เคยนั่งสมาธิ ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน มาเล่าให้ฟังว่า ได้บังคับตัวเองให้ไปเรียน ตอนนี้ปฏิบัติได้แล้ว ไม่ยากหรอก อยู่ที่การเรียน ถ้าไม่เรียนก็จะไม่รู้ เหมือนพิมพ์ดีด ถ้าไม่หัดพิมพ์ ก็จะพิมพ์ไม่เป็น แต่พอหัดพิมพ์แล้ว ก็จะพิมพ์เป็น อยู่ที่การศึกษา การปฏิบัติ อย่างเราก็เหมือนกัน ตอนต้นก็ศึกษาการนั่งสมาธิ ศึกษาอยู่ ๒-๓ เดือน ก็ยังไม่ได้นั่งสักที จนเกิดความฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมไม่นั่งสมาธิเลยนี่ ก็นั่งตรงนั้นเลย อะไรที่ไม่เคยทำจะรู้สึกยาก จะไม่อยากทำ การนั่งสมาธิยากเพราะใจไม่ชอบความนิ่ง ถูกกิเลสปั่นอยู่ตลอดเวลา ปั่นให้โลภ ให้อยากสิ่งนั้นสิ่งนี้ ให้อยากดู อยากฟัง อยากดื่ม อยากรับประทาน ไม่เคยอยากอยู่นิ่งๆเฉยๆเลย จึงต้องบังคับใจ ถ้ายังไม่เคยนั่ง ก็กลับไปนั่งตั้งแต่วันนี้ นั่งให้มาก นั่งไปแล้วจะง่าย นั่งบ่อยๆจะเกิดความชำนาญ ไปกลัวอะไร น่ากลัวตรงไหน แสนจะสบายเวลาจิตสงบ ไม่มีความสุขอะไรจะดีเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบ แต่กลับไปกลัวความสงบ ชอบความทุกข์ ความทุกข์จากรูป เสียง กลิ่น รส ที่ร้องห่มร้องไห้กัน ก็ร้องห่มร้องไห้กับรูป เสียง กลิ่น รส พอได้ยินเสียงไม่ดีก็เสียใจแล้ว พอเห็นรูปไม่ดี ก็ไม่สบายใจแล้ว ไปเห็นทำไม หลับตาพุทโธๆ ไม่ดีกว่าหรือ ใครจะแยกเขี้ยวก็เรื่องของเขา ใครจะด่าก็เรื่องของเขา เราพุทโธๆของเราไป ทำใจให้สงบ แสนจะสบาย ความหลงหลอกให้เราเป็นเหมือนแมลงเม่าวิ่งเข้ากองไฟ แมงเม่าชอบแสงสว่าง แต่ไม่รู้ว่าแสงสว่างมันร้อน พวกเราชอบรูป เสียง กลิ่น รส แต่ไม่รู้ว่ามันทุกข์

 

ต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน รักษาศีล ๘ เพื่อดึงใจให้ออกจากกองไฟ อย่าไปหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ศีลข้อ ๓ ก็ให้ถือเป็นอพรหมจริยา อย่าไปหาความสุขกับการหลับนอนกับผู้อื่น อย่าไปหาความสุขจากการรับประทานอาหารแบบไม่มีเวล่ำเวลา รับพอประมาณ ให้มีเวล่ำเวลา คือไม่รับประทานหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว ไม่หาความสุขจากสิ่งบันเทิงต่างๆ ไม่ดู ไม่ฟัง ร้องรำทำเพลง ไม่แต่งเนื้อแต่งตัว แต่งหน้าทาปาก แต่งผม ใช้น้ำหอมต่างๆ เพราะไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เป็นความทุกข์มากกว่า ไม่หลับนอนบนฟูกหนาๆ ไม่หาความสุขจากการหลับนอน ควรนอนบนพื้นแข็ง ปูเสื่อหรือปูผ้า ถ้านอนแบบนี้จะนอนไม่นาน พอร่างกายพักผ่อนพอแล้ว ก็จะตื่นขึ้นมา จะไม่อยากนอนต่อ เพราะนอนไม่สบาย ถ้านอนบนฟูกหนาๆ พอตื่นขึ้นมาจะไม่อยากลุก เพราะนิ่มสบาย ก็จะหลับต่ออีกรอบหนึ่ง เสียเวลาภาวนาไปหลายชั่วโมง ชีวิตก็สั้นลงทุกวัน เวลาภาวนาเหลือน้อยลงไปทุกวัน ถ้าหมดเวลาไปกับการหลับนอน จะไม่ได้อะไร ไม่ต่างกับสุกร อิ่มหมีพีมัน แต่สุกรดีกว่าคน เนื้อมีราคา เวลาตายไปยังขายได้ แต่ร่างกายของคนไม่มีใครซื้อ ไม่ซื้อแล้วยังต้องเสียเงินฌาปนกิจอีก ไปเลี้ยงให้อิ่มหมีพีมันทำไม ควรเอามาทำประโยชน์ให้กับจิตใจ ด้วยการเดินจงกรมนั่งสมาธิ  

 

โยม ชอบที่ท่านอาจารย์บอกว่า ตายแล้วไม่มีราคาจริงๆ ไม่เหมือนเนื้อหมู

 

ตอบ  ตายแล้วต้องเสียเงินเผาศพ พวกสุกร พวกไก่ ตายแล้วคนไล่แย่งกัน

 

 

โยม  ตอนน้ำท่วมรู้ว่าสอบตกเจ้าค่ะ พอน้ำท่วมแล้วโกรธไปหมด

 

ตอบ  ติดอยู่กับสภาพเดิม เคยทำอะไรพอไม่ได้ทำ ก็เกิดอาการหงุดหงิด ไม่ปรับใจให้เข้ากับสภาพใหม่ ไม่ใช้สติปัญญาวิเคราะห์ปัญหา ก็เลยพาลโกรธไปหมด ถ้าวิเคราะห์ว่าตอนนี้เหตุการณ์ได้เปลี่ยนไป เมื่อก่อนไปไหนมาไหนได้สะดวก ตอนนี้ยากลำบาก ก็เลยอยากให้กลับไปสภาพเดิม พอกลับไม่ได้ ก็เลยหงุดหงิดรำคาญใจ ถ้าภาวนาเป็น ตอนนี้ไปไหนไม่ได้ ก็นั่งสมาธิไป จิตสงบแล้วก็มีความสุข จะได้กำไรด้วยซ้ำไป ถ้าไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้ ก็จะไม่ได้นั่งสมาธิ จะออกไปทำภารกิจต่างๆ ไม่ทันกิเลส ไม่คิดอย่างนี้ คิดแต่อยากจะไปอย่างเดียว แทนที่จะอยู่บ้านนั่งสมาธิ กายก็สบาย ใจก็สบาย กลับทำไม่ได้ เพราะความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส อยากจะไปที่นั่นไปที่นี่ อยากจะไปทำนั่นทำนี่ พอทำไม่ได้ก็หงุดหงิดใจไม่สบายใจ

 

โยม  สภาพการเปลี่ยนแปลง ก็เปรียบเสมือนสนามสอบนะครับ  

 

ตอบ  พวกเราติดอยู่กับสภาพเดิมๆ เวลาเปลี่ยนก็พยายามแก้ เช่นถ้าร้อนมากๆ ก็ซื้อเครื่องปรับอากาศ แทนที่จะปรับที่ใจ ให้รับกับสภาพที่เปลี่ยนไป กลับไม่ปรับ พยายามปรับข้างนอก น้ำท่วมก็หาเครื่องสูบน้ำมาสูบ เสียเงินเสียน้ำมัน ปล่อยให้แห้งเองก็ได้ ถึงเวลาก็แห้งเอง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน แม้แต่น้ำท่วมก็ไม่ถาวร เดี๋ยวก็แห้งเอง ไม่ต้องไปสูบน้ำให้เหนื่อย อยู่เฉยๆสบายๆ ไม่อยู่ ควรทำแต่สิ่งที่จำเป็น คือดูแลร่างกาย หาอาหารมารับประทาน ยังไปทำงานไม่ได้ก็ไม่ต้องไป ไปงานเลี้ยงไม่ได้ก็ไม่ต้องไป ไม่มีอะไรจะสุขเท่ากับความสงบของจิต ไม่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส มีเวลาว่างตั้งหลายวัน ไม่ต้องไปทำงาน อยู่บ้านนั่งสมาธิได้ทั้งวันเลย

 

โยม  น้ำท่วมนี่กินไม่ได้นอนไม่หลับ ตื่นตี ๓ ทุกวัน นอนไม่หลับ ทำอะไรดี นั่งสมาธิดีกว่า นั่งไปได้ ๑๐ นาที ไม่ไหว มันหงุดหงิด ก็หยุด เว้นไปครึ่งชั่วโมง พอจะไม่นั่งก็รู้สึกผิด ไม่รู้จะทำอะไรก็ต้องนั่ง แต่ก็นั่งไม่ได้อีก

 

ตอบ  ไม่เคยเจริญสติ ไม่มีเชือกดึงจิตให้อยู่เฉยๆ จิตก็เลยวิ่งไปวิ่งมา ทำให้ฟุ้งซ่าน นั่งสมาธิไม่ได้

 

โยม  แต่ก็พยายามนั่ง ๑๐ นาที เว้นไปครึ่งชั่วโมง ก็นั่งอีก ๑๐ นาที

 

ตอบ  ตอนนี้เห็นโทษของการไม่เจริญสติหรือยัง ควรจะเห็น ถ้าเห็นก็ถือว่าไม่ขาดทุน ได้บทเรียน ได้รู้ว่าจะต้องทำอะไร ก็คือการเจริญสตินี่เอง ต้องเจริญสติในชีวิตประจำวัน ตื่นขึ้นมาถ้าท่องพุทโธๆได้ก็ท่องไปเลย ล้างหน้าล้างตาก็พุทโธๆ แปรงฟันก็พุทโธๆ อาบน้ำก็พุทโธๆ แต่งเนื้อแต่งตัวก็พุทโธๆ กินข้าวก็พุทโธๆ เดินทางไปทำงานก็พุทโธๆ เวลาทำงานถ้าไม่ต้องคิดเรื่องงานก็พุทโธๆไป พักกลางวันก็พุทโธๆ เดินทางกลับบ้านก็พุทโธๆ ทำกับข้าวกินข้าวก็พุทโธๆ อาบน้ำพุทโธๆ ก่อนจะนอนก็นั่งพุทโธๆไป จิตก็จะสงบภายใน ๕ นาที ๑๐ นาที จิตก็จะรวมลงได้ ทำอย่างนี้ไป ไม่ยากหรอก ทำได้แล้วก็จะสุขสบาย ต้องควบคุมความคิด อย่าปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย คิดเพ้อเจ้อ คิดฟุ้งซ่าน ถ้าจำเป็นต้องคิดเรื่องงานเรื่องการก็คิดได้ คิดเสร็จแล้วก็หยุดคิด กลับมาพุทโธๆต่อ พุทโธไปจนกว่าจะไม่คิด ถ้าไม่คิดแล้วก็หยุดพุทโธ ให้สักแต่ว่ารู้ ทำอะไรก็สักแต่ว่ารู้ แสดงว่าคิดเหนื่อยแล้ว ไม่มีแรงคิด ก็เลยไม่คิด ถ้าไม่คิดก็ไม่ต้องพุทโธ ดูเฉยๆว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังเดินก็ให้รู้ว่ากำลังเดิน ถ้าจะไปคิดเรื่องอื่นก็ต้องพุทโธๆใหม่

 

ถาม  ถ้าอยากคิดอะไรก็ปล่อยให้คิดไป จะผิดหรือเปล่าคะ

 

ตอบ  กิเลสชอบหลอกให้เราคิด

 

ถาม  พอคิดเสร็จมานั่งสมาธิอีก ก็อยากจะคิดต่อ

 

ตอบ  ยังไม่เห็นหรือว่ากำลังถูกหลอก ถ้าปล่อยให้คิดไปเรื่อยๆ จะไม่หยุดคิด บางทีนอนไม่หลับ ถ้าพุทโธๆไป ๕ นาทีก็จะหลับ ดูลมไป ๕ นาทีก็จะหลับ สตินี้สำคัญมาก พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นเหมือนรอยเท้าช้าง เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ปัญญาถึงแม้จะตัดกิเลสได้ ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ถ้าไม่มีสติเป็นพี่เลี้ยงก็เกิดไม่ได้ สมาธิก็เกิดไม่ได้ ปัญญาจะเกิดได้ต้องมีสมาธิก่อน สมาธิจะเกิดได้ก็ต้องมีสติก่อน เพราะฉะนั้นอย่าข้ามขั้น ถ้าเรียนหนังสือก็ต้องท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ ไปก่อน ส่วนมากอยากไปขั้นปัญญาเลย ตามรู้จิตเลย แต่ทำอะไรจิตไม่ได้ หยุดจิตไม่ได้ ก็ต้องวิ่งตาม ต้องหยุดจิตก่อน หยุดด้วยพุทโธ ถ้าไม่ชอบพุทโธ จะใช้อาการ ๓๒ แทนก็ได้ ท่องไป ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เยื่อในสมองศีรษะ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร ท่องไป

 

โยม  ท่านอาจารย์ ท่องเป็นสูตรคูณเลย

 

ตอบ  ใช้หยุดความคิดได้ ทำไมไม่ท่อง ประโยชน์มหาศาลกลับไม่เห็นกัน ท่องแล้วหยุดความฟุ้งซ่านได้ หยุดความคิดเพ้อเจ้อได้ ทำให้นั่งสมาธิได้เป็นชั่วโมง ไม่ทำกัน ท่องไปสิ ท่องไปเรื่อยๆ ๕ นาที ๑๐ นาที ก็สงบแล้ว

 

ถาม  ตอนนั่งสมาธิก็นิ่งดีเจ้าค่ะ พอน้ำท่วม เห็นความเสื่อมแล้วไม่ชอบเจ้าค่ะ

 

ตอบ ใจมีอคติ มีความชัง เป็นกิเลส เพราะใจไม่สงบ อคติไม่ตกตะกอน ไม่แยกออกจากใจ ไม่สงบตัว ถ้าทำจิตให้สงบได้แล้ว เวลาพิจารณาความเสื่อม จะไม่รู้สึกอะไร จะยอมรับความเสื่อม

 

ถาม  เป็นตั้งหลายวัน ถึงจะค่อยคลาย เหมือนไม่ได้รู้ด้วยปัญญา เหมือนปลง คิดว่าจริงๆ การยอมรับไม่น่าจะมาจากการปลง น่าจะมาจากการได้คิด ใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  การคิดก็คือการปลงนั่นเอง คำว่าปลงก็คือยอมรับความจริง เห็นความจริงว่าไม่เที่ยง ต้องเสื่อม

 

ถาม  แต่การยอมรับนี่ จะช้าหรือเร็วอยู่ที่สติใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  อยู่ที่เห็นว่า ถ้ายอมรับแล้วจะไม่ทุกข์ ถ้าไม่ยอมรับก็จะทุกข์ เห็นอริยสัจ ๔ ถ้าไม่ยอมรับความจริง ใจจะต่อต้าน จะอยากให้เป็นอย่างที่ต้องการ ก็จะเกิดความทุกข์ใจ เช่นเวลาใกล้ตาย ถ้ายังอยากจะอยู่ ก็จะทุกข์ใจ เพราะไม่ยอมรับว่าจะต้องตาย ถ้ายอมรับว่าต้องตายแน่ๆ ยอมตาย ก็จะไม่ต่อต้าน ไม่อยากจะอยู่ ความทุกข์ใจก็จะหายไป ใจจะสงบ มีความสุขในขณะที่กำลังจะตาย ถ้าปลงหรือปล่อยวางเป็นแล้ว เวลาทุกข์กับอะไรจะปล่อยทันที จะไม่ยึด ไม่ติด จะไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป เช่นจะสูญเสียสิ่งที่รักไป เช่นสามีภรรยา อยากจะไปมีแฟนใหม่ ถ้าเห็นว่าใจกำลังทุกข์ เพราะไม่อยากให้เขาไป ถ้าปลงได้ว่า จะไปก็ไป ห้ามเขาไม่ได้ การจากกันเป็นอนิจจัง ก็จะสบายใจ ไม่เดือดร้อน ต้องเห็นอนิจจังคือการเปลี่ยนแปลง การพลัดพรากจากกัน ถ้าอยากไม่ให้เกิดขึ้นก็จะทุกข์ ความอยากไม่ให้เกิดขึ้นเป็นสมุทัย เป็นวิภวตัณหา พอเห็นว่าความทุกข์ใจเกิดจากความอยากไม่ให้เกิดขึ้น จะดับทุกข์ได้ก็ต้องไม่อยาก ปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง จะอยู่ก็อยู่ จะไปก็ไป ต้องเห็นแบบปัจจุบันทันด่วน เห็นในขณะที่ทุกข์มาก พอพิจารณาเห็นว่า กำลังไปยึดไปติดกับสิ่งที่เปลี่ยนไป พอรู้อย่างนี้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง ใจก็จะหายทุกข์ทันที

 

ถาม  เวลานั่งสมาธิบริกรรมพุทโธ เพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่านใช่ไหมคะ บางคนแนะนำให้พิจารณาความคิด ก็เลยสงสัยว่าแบบไหนจะถูก

 

ตอบ  ให้พิจารณาถ้าไม่สามารถบริกรรมได้ ให้ใช้ปัญญาข่มใจแทน เช่นกำลังฟุ้งซ่านกับการเรียน วิตกกังวลว่าปีนี้จะผ่านหรือไม่ จิตไม่ยอมอยู่กับพุทโธ ก็ต้องวิเคราะห์ด้วยปัญญาดูว่า จะผ่านหรือไม่ผ่านก็อยู่ที่เหตุ เหตุก็คือการเรียนการศึกษา ถ้าขยันศึกษาเต็มที่แล้ว จะผ่านไม่ผ่านก็แล้วแต่ ถ้ายังศึกษาไม่เต็มที่ ก็ควรศึกษาให้เต็มที่ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาศึกษา ก็อย่าเพิ่งไปคิดถึงมัน บริกรรมพุทโธไปดีกว่า ใจก็จะปล่อยวาง ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเรียน กลับมาบริกรรมพุทโธได้ อย่างนี้เรียกว่า ปัญญาอบรมสมาธิเป้าหมายของการนั่งสมาธิ ก็เพื่อหยุดความคิดปรุงแต่ง ถ้านั่งเฝ้าดูความคิดจะไม่มีวันหยุด อย่างที่โยมพูดว่าปล่อยให้คิดให้พอ แล้วจะพอ ไม่มีวันพอหรอก จะทนนั่งไม่ได้ นั่งไปสักพักจะเจ็บ จะอึดอัด อยากจะลุกไปทำอย่างอื่น ถ้าไม่ได้คิดจะนั่งได้นาน ยิ่งสงบเท่าไหร่ยิ่งไม่อยากจะลุกไปไหน เพราะความสงบเป็นความสุขที่เลิศที่สุด เป็นความสุขที่แท้จริง ทดแทนความสุขต่างๆได้ เช่นอยากจะดื่มเป๊ปซี่ พอจิตสงบก็ไม่อยากจะดื่ม ไม่หิวกระหาย ถ้าไม่อยู่กับพุทโธ คิดแต่เป๊ปซี่เป๊ปซี่ ก็จะลุกขึ้นไปดื่มเป๊ปซี่จนได้

 

ถาม  ถ้าใช้วิธีถ้าอยากดื่มเป๊ปซี่ ก็ดื่มจนอิ่มไปเลย

 

ตอบ  แล้วจะมานั่งสมาธิทำไม ก็ไปดื่มทั้งวันเลย ไม่มีใครห้าม

 

ถาม  อยากจะดื่มให้หายอยากแล้วค่อยไปนั่งสมาธิ

 

ตอบ  แล้วหายอยากหรือเปล่า ถ้าหายอยากเป๊ปซี่ก็จะไปอยากอย่างอื่นแทน เช่นอยากจะนอน พอหนังท้องตึง หนังตาก็หย่อน ความอยากจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ พออิ่มกับเรื่องนี้ ก็ไปหิวกับเรื่องอื่น อิ่มเรื่องท้อง ก็ไปหิวเรื่องตา อยากจะดูเรื่องนั้นเรื่องนี้ พออิ่มเรื่องตาแล้วก็อยากจะฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ปล่อยให้อยากไม่ได้หรอก ต้องหยุดมันอย่างเดียว ถึงจะหยุด ไม่หยุดด้วยการทำตามความอยาก ยิ่งทำตามเท่าไหร่ก็ยิ่งอยากมากขึ้นไป ถ้าเริ่มดื่มกาแฟวันละแก้ว ต่อไปก็จะดื่มวันละ ๒ วันละ ๓ แก้ว สูบบุหรี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นที่ ๑ มวน ต่อไปก็จะสูบวันละ ๓ ซอง เพราะปล่อยตามความอยาก สูบให้พอเลยจะได้ไม่อยากสูบอีก ความอยากมีคำว่าพอที่ไหน มหาสมุทรจะกว้างใหญ่ไพศาลขนาดไหนก็ยังมีขอบมีฝั่ง แต่ความอยากนี่ไม่มีขอบไม่มีฝั่ง ไม่มีคำว่าพอ จะให้พอก็ต้องหยุดเท่านั้น เวลาอยากจะดื่มเป๊ปซี่ ก็หยุดดื่มไปสักพัก ต่อไปจะหายอยากเอง ทุกครั้งที่อยากจะดื่มเป๊ปซี่แล้วไม่ดื่ม ต่อไปก็จะไม่อยาก เพราะอยากแล้วไม่ได้ดื่ม บุหรี่ก็เหมือนกัน

 

แต่การเลิกความอยากนี้มันทำยาก เพราะมันทรมานใจ ต้องมีเครื่องมือมาช่วยแบ่งเบาความทรมานใจ คือต้องทำสมาธิ ถ้าทำสมาธิได้จะเลิกสิ่งต่างๆ ได้ เลิกรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะได้ เพราะมีที่หลบความทรมานใจ เหมือนฉีดยาชาเวลาถอนฟัน ถ้าไม่ได้ฉีดจะปวดมาก เวลาจะถอนความอยากก็เช่นกัน ถ้าไม่มีสมาธิจะถอนไม่ได้ มันทรมาน ถ้าทำสมาธิได้จะถอนได้อย่างสบาย สมาธิจึงสำคัญมาก อย่าไปฟังคนที่ว่าไม่จำเป็น แสดงว่าไม่เคยปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็ปฏิบัติไม่ถึงไหน ต้องมีสมาธิ มรรค ๘ ก็มีสมาธิ ไตรสิกขาก็มีสมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา พละ ๕ ก็มีสมาธิ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา สมาธิเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของรถยนต์ จะว่าล้อรถยนต์ไม่สำคัญได้อย่างไร มีเครื่องยนต์ มีทุกอย่าง แต่ไม่มีล้อรถ ไปได้ไหม ยางแตกเพียงล้อเดียวก็ไปไม่ได้แล้ว มรรคต้องมีครบทั้ง ๘ องค์ ถึงจะไปนิพพานได้ มรรคมีองค์ ๘ ถ้ามีมรรคก็จะมีผลตามมา มีนิพพานตามมา ถ้ามรรคไม่ครบองค์ ๘ ผลคือพระนิพพานก็จะไม่ตามมา

 

มรรค ๘ มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป เป็นปัญญา ต้องมีสติมีสมาธิก่อน พอจิตสงบแล้วก็พิจารณา ก็จะมีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มิจฉาทิฐิ ก็คือไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นเป็นนิจจัง สุขัง อัตตา เห็นว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นของเรา พอเห็นอย่างนั้นก็จะมีมิจฉาสังกัปโป ความคิดผิด พอมีความเห็นผิดแล้ว ก็จะทำให้มีความคิดผิด เกิดความอยาก ถ้าเป็นของเราก็ต้องอยู่กับเรา ไม่อยากให้จากเราไป ก็เลยผลิตสมุทัยขึ้นมา ผลิตความทุกข์ขึ้นมา พอมีความอยากแล้วก็จะผลิตความทุกข์ขึ้นมา ถ้ามีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ ก็จะมีสัมมาทิฐิ ก็จะไม่ผลิตความอยากขึ้นมา จะเฉยๆ อยู่กับความจริงไป แก่ก็แก่ เจ็บก็เจ็บ ตายก็ตาย ใครจะอยู่กับเราก็อยู่ไป ใครจะจากเราไปก็ปล่อยเขาไป ก็จะไม่ทุกข์กับการมาการไป การเกิดการดับของสิ่งต่างๆ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข จะเจริญก็เจริญไป จะเสื่อมก็เสื่อมไป เราไม่ได้ไม่เสีย ไม่ต้องอาศัยเขาให้ความสุขกับเรา เพราะเรามีความสุขที่เหนือกว่า คือความสงบของใจ ที่เกิดจากการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา นี่เอง

 

ถาม  การมีสติดูใจ จะรักษาใจไม่ให้กระเพื่อมได้หรือไม่

 

ตอบ  การกระเพื่อมของจิตมีเหตุทำให้กระเพื่อม คือมีความหลง ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำให้กระเพื่อมเป็นอะไรกันแน่ เห็นงูก็คิดว่าเป็นภัย ก็เกิดความกลัว แต่ไม่รู้ว่างูไม่ได้เป็นภัยกับใจ งูเป็นภัยกับร่างกาย แต่ร่างกายไม่ใช่ใจ ร่างกายจะถูกงูกัดหรือไม่กัดก็ต้องตายอยู่ดี ถ้าคิดอย่างนี้ใจก็จะไม่กระเพื่อม

 

ถาม  แสดงว่าสติไม่ได้หยุดการกระเพื่อม ต้องใช้ปัญญา

 

ตอบ  สติเบรกได้แป๊บเดียว จะเบรกได้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ ถูกแซงคิว อาจจะหยุดได้ ถ้าถูกตบหน้า อาจจะหยุดไม่ได้

 

ถาม  ถ้ารู้แล้วไม่กระเพื่อม กับกระเพื่อมแล้วค่อยรู้ ต่างกันใช่หรือไม่

 

ตอบ  ใช่ ถ้ากระเพื่อมแล้วรู้ แสดงว่าปัญญายังไม่ทัน เหมือนกับไม่ได้ฉีดวัคซีนไว้ก่อน ถ้าฉีดวัคซีนแล้ว ร่างกายจะไม่เป็นโรค

 

ถาม  อาการรับรู้นั้นเป็นสัญชาตญาณใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ใช่ สัญชาตญาณเป็นธรรมชาติของจิต เวลาเดินลื่นจะล้ม ถ้ามีอะไรคว้าไม่ให้ล้มได้ก็จะคว้าทันที ถ้าสติปัญญาทัน ใจจะไม่ตื่นเต้น ถ้าสติปัญญาไม่ทัน ก็จะตื่นเต้นตกใจ ใจจะกระเพื่อม ใจจะกระเพื่อมหรือไม่อยู่ที่สติปัญญา ถ้ามีสติปัญญาจะไม่กระเพื่อม ถ้าไม่มีสติปัญญาก็จะกระเพื่อม เหมือนไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่มีปัญญาป้องกันไม่ให้ใจกระเพื่อม ถ้าปัญญาได้พิจารณาจนปล่อยวางได้แล้ว ใจจะไม่กระเพื่อมเลย เหมือนกับได้ฉีดวัคซีนไว้แล้ว เชื้อโรคไม่สามารถทำให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยได้เลย จึงต้องเจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ เพราะการไม่เห็นไตรลักษณ์เป็นเหตุทำให้ใจกระเพื่อม เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงใจจะกระเพื่อมทันที ต้องซ้อมไว้ก่อน ทำการบ้านไว้ก่อน เหมือนกับนักมวยที่จะต้องซ้อมไว้ก่อน ถ้าไม่ซ้อมไว้ก่อน พอขึ้นเวทีจะสู้ไม่ได้ ถ้าซ้อมไว้ก่อนจะสู้ได้

 

ถ้าเตรียมตัวตายอยู่ตลอดเวลา พอถึงเวลาตายก็จะไม่ตื่นเต้น ถ้าไม่เตรียม พอถึงเวลาตาย จะตกใจกลัวสุดขีดเลย ท่านจึงสอนให้ซ้อมตายอยู่เรื่อยๆ ให้พิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ให้ถามตัวเองว่าพร้อมที่จะตายหรือยัง ถ้าจะไปในวันนี้ พร้อมจะไปหรือเปล่า นี่คือการทำการบ้าน ถ้าพร้อมแล้ว เวลาจะไปก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ คิดอย่างนี้เป็นปัญญา ที่จะทำให้ปล่อยวางได้ เห็นอนัตตา เห็นอนิจจัง เห็นทุกขังเพราะยึดติด เพราะหวง ถ้าไม่หวงก็จะไม่ทุกข์ ต้องซ้อมคิดไว้ก่อน ถ้าไม่คิดไว้ก่อนพอเกิดเหตุการณ์ เช่นคนมาตบหน้าเรา จะทำใจไม่ได้ ถ้าซ้อมไว้ก่อน เตรียมให้เขาตบ คิดอยู่เรื่อยๆ พอเจอเหตุการณ์จริงก็จะเจ็บกายเท่านั้น แต่ไม่เจ็บใจ เวลาถอนฟันเจ็บกว่านี้ยังรับได้เลย ทำไมคนตบหน้าเราจะรับไม่ได้ อยู่ที่จะยอมเจ็บหรือไม่ยอม ถ้ายอมใจจะไม่เจ็บ

 

ถาม  ในขณะที่มีสติ จะมีการรับรู้ที่สงบนิ่งมาก

 

ตอบ  ถ้าจิตไม่กระเพื่อม แสดงว่าจิตได้รับการอบรมให้นิ่งได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะนิ่งไปกับทุกเหตุการณ์ ต้องทดสอบไปเรื่อยๆ ว่าเหตุการณ์ไหนเป็นปัญหา ก็ต้องไปซ้อมเพื่อให้รับกับเหตุการณ์นั้นให้ได้ ถ้านิ่งกับเหตุการณ์นั้น ก็แสดงว่าผ่าน เหตุการณ์นั้นไม่เป็นปัญหา เช่นคนด่า เราก็เฉยได้ แสดงว่าการถูกด่าไม่เป็นปัญหาแล้ว อย่างพระเณรที่ไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ก็พร้อมที่จะให้ท่านด่า พอท่านด่าก็ไม่เกิดอารมณ์ ถ้าไม่พร้อมให้ท่านด่าก็จะอยู่กับท่านไม่ได้ เพราะเกิดอารมณ์ต่อต้าน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เคารพในตัวท่าน ก็จะไม่กล้าอยู่กับท่าน ถ้าพร้อมที่จะให้ท่านด่าแล้ว เวลาท่านด่าแม้จะมีอารมณ์บ้าง แต่ก็สามารถคุมได้ เพราะมาให้ท่านด่า ให้ท่านสอน คิดไปในทางบวกว่า ถ้าท่านด่าแสดงว่าท่านเมตตาสงสาร ท่านช่วยเหลือเรา ท่านชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว การดุด่าตำหนิติเตียนจะไม่เป็นโทษ จะไม่เป็นปัญหากับเรา กลับเห็นว่าเป็นคุณ วันไหนไม่โดนด่าเหมือนไม่ได้กินวิตามิน ไม่เมตตาเรา ไม่ให้ความสำคัญกับเรา ต้องคิดอย่างนี้ ให้ฟังด้วยเหตุด้วยผล ถ้าสิ่งที่เขาด่าเราไม่เป็นความจริง ก็แสดงว่าเขาเมาเหล้า เสียสติ หรือตาบอด พูดไปตามอารมณ์โกรธเกลียด อย่างนี้ก็อย่าไปถือสา เป็นคนน่าสงสาร แต่ถ้าสิ่งที่เขาตำหนิเป็นความจริง ก็ต้องขอบคุณเขา เพราะเป็นเหมือนกระจกส่องหน้าเรา ถ้าไม่มีกระจกเราจะรู้หรือว่าหน้าตาเราเป็นอย่างไร เวลาจะออกจากบ้านเราต้องส่องหน้าที่กระจกก่อน ดูว่าสะอาดไหม เรียบร้อยไหม คนที่เขาตำหนิเราก็เหมือนกัน เขาบอกเราว่าหวีผมไม่สวยนะ หวีให้ดีหน่อย เสื้อผ้าใส่ไม่เรียบร้อย เป็นการชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา

 

ถาม  เวลาจิตกระเพื่อมจะเกิดทุกข์ทันที เราเห็นมันเลย จะทิ้งมัน กลับไปสู่ความสงบดีกว่า อย่างนี้เป็นการหนีทุกข์

 

ตอบ  ไม่หนีหรอก เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่เราต้องกำจัด การปฏิบัติก็เพื่อการดับทุกข์ เวลาเกิดทุกข์ก็ต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ในพระสูตรก็บอกว่าเกิดจากความอยาก ก็ต้องรู้ว่ากำลังอยากอะไร ถ้าละความอยากได้ ความทุกข์ก็จะหายไป เวลาเกิดทุกข์ก็ต้องใช้สติปัญญา ใช้เป็นมรรคดับความทุกข์ เหมือนดับไฟไหม้บ้าน เป็นการหนีไฟหรือเปล่า ไม่ได้หนีหรอก เป็นการกำจัดสิ่งที่เป็นภัย ความทุกข์เป็นภัยที่เราต้องดับ แต่การดับทุกข์ที่ไม่ถูกก็มีอยู่ พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้หลีกเลี่ยงวิธีดับทุกข์ที่สุดโต่ง ๒ ประการ คือ ๑. ดับด้วยกามสุข ไม่สบายใจก็ออกไปเที่ยว พอกลับมาบ้านก็ทุกข์เหมือนเดิม ๒. ดับด้วยการทรมานร่างกาย อย่างพระพุทธเจ้าทรงอดพระกระยาหาร ๔๙ วัน อดไปแล้วความทุกข์ใจก็ยังมีอยู่ ความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก ถ้าอยากจะดับความทุกข์ใจ ก็ต้องละความอยาก

 

ถาม  การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ด้วยการรู้ลม เป็นสมาธิหรือเปล่าเจ้าคะ

 

ตอบ  การรู้ลมเป็นอานาปานสติ

 

ถาม  รู้การขยับตัวเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นสมาธิหรือเปล่า

 

ตอบ  เป็นกายคตาสติ

 

ถาม  ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเดิน หยิบจับอะไร ถ้ามีสติอยู่ตลอดเวลาเป็นสมาธิด้วยใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  เป็นสติ ไม่ได้เป็นสมาธิ จะเป็นสมาธิจิตต้องสงบนิ่ง ถ้าจิตยังรับรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ เรียกว่าสติ

 

ถาม  ใช้การรับรู้ของจิตเป็นหลักใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ให้รู้เฉยๆ อย่าไปคิดเรื่องต่างๆ

 

ถาม  ถ้ารู้เฉยๆเป็นสมาธิไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ไม่เป็นสมาธิ เป็นสติ ถ้าจะเป็นสมาธิ ต้องปิดทวารทั้ง ๕ จิตรวมลง ไม่มีความคิดปรุงแต่ง ไม่รับรู้เรื่องต่างๆ อยู่กับความว่าง เป็นอุเบกขา สมาธิมี ๓ ชนิดคือ ๑. ขณิกสมาธิ ๒. อัปปนาสมาธิ ๓. อุปจารสมาธิ ขณิกสมาธิสงบนิ่งเดี๋ยวเดียว ถ้าสงบนานก็เป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าสงบแล้วออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ รู้นิมิตต่างๆ ก็เป็นอุปจารสมาธิ จิตเข้าไปข้างในแล้วถึงจะเรียกว่าเป็นสมาธิ ถ้าจิตยังอยู่ข้างนอกไม่เป็นสมาธิ เป็นการเจริญสติ แต่เราจะใช้คำ สมาธิผิดกัน เวลาทำงานแล้วจิตวุ่นวาย ก็บอกว่าวันนี้ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความจริงต้องใช้คำว่าไม่มีสติในการทำงาน ก็เลยไม่รู้ว่าสมาธิที่แท้จริงเป็นอย่างไร

 

ถาม  คำว่าสมถะเป็นสมาธิใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  สมถภาวนาเป็นการทำใจให้สงบ ให้เป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา ว่างจากความคิดปรุงแต่ง

 

ถาม  ถ้าหยุดคิด แต่ลืมตานั่งเฉยๆ

 

ตอบ  จิตยังทำงานอยู่ สังขาร สัญญา ยังปรุงแต่งกับรูปที่ดูอยู่ ยังไม่นิ่ง ไม่สงบ พอเห็นงูเลื้อยเข้ามาปั๊บจะสะดุ้งทันที ถ้าสงบอยู่ในสมาธิ จะไม่รู้เรื่อง จะไม่สะดุ้ง

 

ถาม  พอเจริญสติในชีวิตประจำวันก็สงบนิ่งดี เบาสบาย

 

ตอบ  ยังไม่พอ ยังสงบไม่เต็มที่

 

ถาม  ก็ตัดความอยากไปได้พอสมควร

 

ตอบ  ต้องตัดให้หมดเลย

 

ถาม  การที่เราเป็นพุทธมามกะ มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งสูงสุดเหนือสิ่งอื่นใด เวลาเจอลูกค้าเป็นร่างทรง ควรจะทำตัวอย่างไรให้เหมาะสม ในการดูแลลูกค้า

 

ตอบ  แยกเรื่องส่วนตัวของเขาออกจากการค้าขาย ไม่ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว เขาจะทำอะไรก็เรื่องของเขา เหมือนกับคนที่นับถือต่างศาสนา ไม่ต้องไปเชื่อตามเขา ถ้าจะเป็นเงื่อนไขในการทำธุรกิจ ก็ต้องเลือกเอาศาสนา ยอมเสียสละธุรกิจไป พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม รักษาศาสนา อย่าไปเสียดายทรัพย์ ให้รักษาธรรมให้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ธรรมก็คือพระพุทธศาสนา เป็นทรัพย์ภายใน ที่มีค่ายิ่งกว่าทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอกเพียงแต่ดูแลร่างกายให้อยู่ดีกินดีเท่านั้นเอง แต่ไม่สามารถดับความทุกข์ภายในใจได้ ต้องทรัพย์ภายในคือธรรมะเท่านั้นที่จะดับได้

 

ถาม  พอดีมีการทำบุญค่ะ ก็ไปร่วมบุญด้วย เพราะมีพระสงฆ์ ๓ รูป เขาบอกให้จุดธูปไหว้พระ ขอพรจากเทพ ๑๖ ดอก ลูกก็ไหว้ แต่ตอนที่ไหว้ก็ระลึกถึงพระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 

ตอบ  ถ้าการกระทำเป็นเพียงกิริยาก็ทำได้ ถ้าใจไม่ได้ศรัทธา ทำเพื่อไม่ให้เสียมารยาท ดังสุภาษิตที่ว่า เข้าเหมืองตาหลิ่วก็หลิ่วตาตาม แต่ใจยังมั่นคงกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เวลาไปงานต่างๆของคนต่างศาสนา มีพิธีการทางศาสนาที่ต้องร่วมทำด้วยก็ทำไป เพื่อไม่ให้เสียมารยาท เพื่อให้เกียรติเจ้าภาพ แต่ไม่ได้ไปเชื่อตามที่เขาเชื่อ เป็นเหมือนกับประเพณีทางสังคม ถ้าอยู่ในสังคมนั้น ก็ต้องทำตาม ถ้าไม่อยากจะทำตาม ก็อย่าไปอยู่ในสังคมนั้น เช่นสังคมดื่มสุรา เวลาถวายพระพร งานวันชาติของประเทศนั้นประเทศนี้ ต้องดื่มสุราถวายพระพร ถ้าทำด้วยกิริยาได้ ก็ทำไป อมแล้วก็บ้วนทิ้งไป ไม่ได้ทำด้วยความชอบ ความศรัทธาแต่อย่างใด แต่ทำเพื่อไม่ให้เสียมารยาท ต้องรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรชั่ว ต้องรู้ว่าพระศาสนาสอนให้ทำอะไร ต้องไม่ฝืนคำสอนของพระศาสนา