กัณฑ์ที่ ๔๓๔       ๑๕ มกราคม ๒๕๕๕

 

อย่าคลุกคลีกัน

 

 

 

ที่ไหนมีคนที่นั่นมักจะมีเสียง คนนี่แหละเป็นตัวการสำคัญ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่าอย่าคลุกคลีกัน อย่าสังคมกัน ถ้าคลุกคลีสังคมกันแล้ว มักจะมีเรื่องให้พูดให้คุย ให้วิพากษ์ให้วิจารณ์ ให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน ทำให้จิตใจว้าวุ่นขุ่นมัว นักภาวนาผู้แสวงหาความสงบของใจ จึงต้องปลีกวิเวก หาที่สงบสงัดอยู่คนเดียว ทำกิจกรรมร่วมกันเท่าที่จำเป็น ขณะที่ทำก็ไม่คุยกัน ให้ดูใจของตนเป็นหลัก ให้มีสติคอยเฝ้าดูใจ ให้ตั้งอยู่ในความสงบ ให้รู้เฉยๆ ใจมี ๒ ส่วน ส่วนที่เป็นตัวรู้และส่วนที่เป็นตัวคิด ตัวรู้นี้รู้อยู่ตลอดเวลา แต่มักจะถูกตัวคิดบังเอาไว้ ถ้ารู้เฉยๆก็จะไม่มีอารมณ์ ถ้ารู้แล้วคิดปรุงแต่งก็จะมีอารมณ์ มีอารมณ์รักอารมณ์ชัง ดีใจเสียใจ ความคิดนี้เป็นตัวสำคัญ ถ้าถูกอวิชชา ปัจจยา สังขารา ถูกอวิชชาเป็นผู้ชักนำ ก็จะคิดไปในทางที่จะทำให้เกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว ความทุกข์ใจ ผู้ปฏิบัติส่วนมากจะมีอวิชชาเป็นผู้คอยผลักดันให้คิด ให้คิดไปในทางโลก ไปกระทำอะไรต่างๆภายนอกใจ ไปหาความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไปหาคนนั้นไปหาคนนี้ ไปหาสิ่งนั้นหาสิ่งนี้ เพื่อจะได้มีความสุข แต่เป็นความสุขที่ไม่ใช่เป็นความสุขแท้ เป็นความสุขปลอม เป็นความสุขที่เจือจางหายไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีความอยากตามมา อยากจะได้สัมผัสกับความสุขแบบนี้อีก ทำให้ต้องออกไปหาความสุขแบบนี้ไปเรื่อยๆ เป็นความสุขที่ทำให้มีความหิวมีความอยากเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ทำให้มีความอิ่มความพอเพิ่มมากขึ้นเลย

 

นักปฏิบัติจึงต้องคอยดูใจอยู่เสมอ ดูว่ากำลังคิดไปในทางไหน คิดไปในทางสมุทัยก็คือความอยาก เช่นอยากในรูปเสียงกลิ่นรส อยากกระทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ต้องรู้ทันแล้วระงับเสีย ให้คิดไปในทางธรรม คือคิดปล่อยวาง คิดเห็นว่าสิ่งต่างๆที่อยู่ภายนอกใจทั้งหมด ไม่ใช่เป็นความสุข แต่เป็นความทุกข์ เพราะไม่เที่ยง มีมาแล้วก็ต้องมีไปเป็นธรรมดา มีเกิดก็ต้องมีดับเป็นธรรมดา มีเจริญก็ต้องมีเสื่อมเป็นธรรมดา ไม่ใช่ของเรา สิ่งที่เป็นของเราที่แท้จริง ก็คือความสุขภายในใจ ความสุขที่เกิดจากการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างภายนอกใจ ถ้าปล่อยวางสิ่งภายนอกใจไม่ได้ ก็จะไม่ได้ความสุขที่แท้จริง ถ้าปล่อยสิ่งต่างๆภายนอกได้ ก็จะมีความสงบสุขที่จะอยู่กับใจไปตลอด เป็นความสุขที่ถาวร เป็นความสุขที่แท้จริง ไม่มีวันเสื่อม ไม่มีวันหมดไป

 

ดังนั้นนักปฏิบัตินักภาวนา จำต้องมีสติเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของใจตลอดเวลา ดูความคิดปรุงแต่ง ในเบื้องต้นต้องระงับความคิดปรุงแต่งให้ได้ก่อน เพราะความคิดปรุงแต่งส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จะไปทางอวิชชา ปัจจยา สังขารา จะเป็นความคิดที่ถูกอวิชชาความหลงเป็นผู้ผลักดันให้คิด ถ้าปล่อยให้คิดก็จะเกิดความว้าวุ่นขุ่นมัว เช่นไปคิดถึงเรื่องที่บ้าน เรื่องที่ทำงาน เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ ก็จะเกิดความห่วงใยขึ้นมา จะไม่สามารถปฏิบัติต่อไปได้ ใจไม่สงบ เป็นห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ ก็เลยต้องกลับไปหาคนหาสิ่งที่ห่วง แต่ถ้ามีปัญญาก็จะตัดความห่วงได้ ว่าสิ่งที่ห่วงต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา ในที่สุดก็ต้องดับไป ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไม่ ไม่ว่าจะทำอะไรมากน้อย ในที่สุดก็ต้องเสื่อมหมดไป เพราะเป็นความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ ถ้ามีปัญญาคอยสอนใจ ก็จะปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีกิเลสมาคอยหลอกล่อ ให้ไปห่วงคนนั้นคนนี้ ห่วงสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะปัญญาจะรู้ทัน จะรู้ว่าเป็นเรื่องไร้สาระทั้งนั้น ไม่มีคุณค่าไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจ เป็นแต่โทษกับจิตใจ เพราะจะเป็นภาระให้แบกหาม ให้คอยดูแลรักษา ให้หวงให้ห่วง ให้เสียใจเวลาจากกันไป ถ้ามีปัญญาคอยต่อสู้ก็จะระงับความคิดต่างๆได้ ใจจะสงบ อย่างนี้เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ  

 

ถ้าไม่มีปัญญาก็ต้องใช้สติหยุดความคิดปรุงแต่ง เช่นพุทธานุสติ บริกรรมพุทโธๆไป เวลาห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ อยากไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็บริกรรมพุทโธๆไป อย่าให้คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ให้ใจอยู่กับพุทโธ ให้พุทโธกับผู้รู้แนบสนิทกันเป็นหนึ่ง เป็นเนื้อเดียวกัน ถ้ามีพุทโธอยู่คู่กับผู้รู้แล้ว จะไม่มีอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่มีความคิดมาหลอกล่อให้ไปหาความทุกข์มาใส่ใจ ใจจะว่างสงบสบาย แต่ใจจะไม่ฉลาด ถ้าใช้สติเช่นพุทธานุสติทำให้ใจว่างใจสงบ จะว่างจะสงบชั่วคราว พอเผลอสติเมื่อไหร่ ไม่พุทธานุสติเมื่อไหร่ อวิชชา ปัจจยา สังขาราก็จะโผล่ขึ้นมาใหม่ จะคิดห่วงนั้นห่วงนี้ คิดอยากไปทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปหาคนนั้นหาคนนี้ พอมีสติก็ระงับได้ ด้วยการบริกรรมพุทโธต่อ จะต้องต่อสู้กันไปอย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะกำลังของสติทำได้เพียงเท่านี้ คือป้องกันไม่ให้อวิชชา ปัจจยา สังขาราปรากฏขึ้นมา ไม่ให้อวิชชาผลิตความคิดไปในทางสมุทัย

 

ถ้าต้องการความว่างสงบที่ถาวร ก็ต้องใช้ธรรมา ปัจจยา สังขารา ใช้ปัญญา ปัจจยา สังขารา ต้องคิดไปในทางปัญญา ให้ปัญญาเป็นผู้ผลักดันความคิด ให้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา เป็นทุกข์  มีความว่างคือความปราศจากสิ่งต่างๆทั้งหลายเท่านั้น ที่เป็นความสุขที่แท้จริง ถ้ามีสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้นสิ่งนี้นั่นเอง ถ้าไม่มีอะไรก็จะไม่ทุกข์ ดังนั้นเวลาอวิชชา ปัจจยา สังขาราโผล่ออกมา ให้คิดถึงคนนั้นคิดถึงคนนี้ ให้ไปทำสิ่งนั้นทำสิ่งนี้ ให้ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ก็ต้องใช้ธรรมา ปัจจยา สังขารา ตอบโต้ทันทีว่า ไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่อยู่กับเราไปตลอด อยู่เดี๋ยวเดียว ต้องจากกัน จากกันตอนนี้ดีกว่า จากด้วยปัญญาจะดีกว่า ถ้าจากด้วยอวิชชา ปัจจยา สังขารา จะทุกข์ทรมานใจเศร้าโศกเสียใจ จนถึงกับไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

 

นักปฏิบัติจึงต้องเฝ้าดูใจทั้งวัน ดูว่าใจคิดไปทางธรรมา ปัจจยา สังขารา หรืออวิชชา ปัจจยา สังขารา ถ้าไปทางอวิชชา ปัจจยา สังขารา ก็ต้องดึงมาทางธรรมา ปัจจยา สังขารา คิดไปในทางปัญญาทางธรรมะ ถ้าคิดไปในทางธรรมะไม่ได้เพราะไม่มีกำลัง ก็ต้องใช้พุทธานุสติไปก่อน บริกรรมพุทโธๆไปเรื่อยๆ หรือให้มีสติเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายไปเรื่อยๆ ให้รู้ว่าตอนนี้ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ กำลังเดินก็ให้รู้ว่ากำลังเดิน กำลังปัดกวาดก็ให้รู้ว่ากำลังปัดกวาด กำลังรับประทานอาหาร กำลังอาบน้ำ กำลังแต่งเนื้อแต่งตัว กำลังซักผ้า ก็ให้อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ อย่าให้ความคิดปรุงแต่งปรากฏขึ้นมา ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่ง ก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ ถ้ามีความคิดปรุงแต่งก็ต้องบริกรรมพุทโธๆไป หรือสวดมนต์ไปภายในใจก็ได้ สวดบทที่จำได้ อย่างพระบวชใหม่ก็จะหัดท่องพระปาฏิโมกข์ มี ๒๒๗ ข้อ เป็นศีลของพระ ถ้าท่องพระปาฏิโมกข์ได้จิตจะสงบ เพราะกว่าจะท่องจบอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลา ๔๕ นาที

 

ถ้าไม่ชอบบริกรรมพุทโธ สวดมนต์แทนก็ได้ สวดมนต์บทที่จำได้ แต่อย่าสวดแบบนกแก้ว คือสวดไปใจก็ลอยไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ให้อยู่กับบทสวดมนต์จริงๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้วกำลังของอวิชชา ปัจจยา สังขาราก็จะถูกตัดทอนลงไป ถูกกดเอาไว้ เหมือนหินทับหญ้า ความคิดทางอวิชชา ปัจจยา สังขาราเป็นเหมือนหญ้า ส่วนการบริกรรมพุทโธๆหรือการสวดมนต์นี้ เป็นเหมือนหินที่ทับ อวิชชา ปัจจยา สังขารา ไม่ให้คิดไปในทางโลภะโทสะโมหะ ไม่ให้คิดไปทางกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา แต่ไม่สามารถทำลายอวิชชา ปัจจยา สังขาราได้ เพราะเป็นเหมือนหินทับหญ้า เพียงแต่กดเอาไว้ ไม่ให้อวิชชา ปัจจยา สังขาราโผล่ออกมา ถ้าจะถอดถอนอวิชชา ปัจจยา สังขารา ก็ต้องใช้ธรรมา ปัจจยา สังขารา หรือวิชชา ปัจจยา สังขารา คือคิดตามความจริง คืออนิจจังทุกขังอนัตตา ให้คิดถึงอนิจจังทุกขังอนัตตา ในเรื่องที่ยึดติดอยู่ ถ้ายึดติดกับเรื่องนั้นคนนั้น ก็ให้พิจารณาเรื่องนั้นคนนั้น ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 

พิจารณาว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่อยู่ไปตลอด สักวันหนึ่งก็ต้องพลัดพรากจากกัน ถ้าอยากให้อยู่ไปนานๆก็จะทุกข์ใจ จะวิตกกังวล ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ไปได้นานสักเท่าไหร่ ถ้าพิจารณาว่าต้องจากไปอย่างแน่นอนก็จะปล่อยวาง ให้เขาดูแลตัวเขาเองดีกว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ถ้าคอยพึ่งเรา เวลาไม่มีเราแล้วเขาจะพึ่งใคร ให้เขาหัดพึ่งตัวเองจะดีกว่า ด้วยการแยกกันอยู่ เราก็พึ่งตัวเรา เขาก็พึ่งตัวเขา นอกจากว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถพึ่งตัวเขาเองได้ เจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไปดูแลเฉพาะเวลาที่เกิดเหตุการณ์นั้น แต่โดยปกติก็ควรจะปล่อยให้เขาอยู่แบบอัตตาหิ อัตตโน นาโถ เพราะโตแล้ว ไม่ใช่เด็ก ดูแลตัวเองได้แล้ว แล้วก็ดูแลได้เพียงในกรอบของอนิจจังทุกขังอนัตตาเท่านั้น ดูแลดีขนาดไหนก็ตาม ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็ต้องตายจากกันไป ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยไป เป็นเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องปกติ

 

เวลาปลีกวิเวกอยู่คนเดียว ต้องคอยใช้ปัญญาสอนใจอย่างนี้ ไม่เช่นนั้นจะปลีกวิเวกไม่ได้ เดี๋ยวก็ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ เป็นพระก็ยังห่วง เวลาไปปลีกวิเวกก็ห่วงครูบาอาจารย์ก็มี อยากจะกลับมาช่วยท่าน อยากจะมาปรนนิบัติท่าน ไม่ต้องไปห่วงท่านหรอก ท่านเป็นครูบาอาจารย์เรา ท่านช่วยตัวท่านเองได้ ท่านเป็นอัตตาหิ อัตตโน นาโถแล้ว เรายังช่วยตัวเราเองไม่ได้ ไปช่วยตัวเราเองก่อนเถิด ไปสร้างธรรมา ปัจจยา สังขาราขึ้นมาภายในใจ เพื่อทำลายอวิชชา ปัจจยา สังขารา พออวิชชา ปัจจยา สังขาราหมดไปจากใจแล้ว ใจก็จะว่าง จะสักแต่ว่ารู้ ไม่คิดปรุงแต่ง เห็นอะไรก็เฉย เห็นตามความเป็นจริง เหมือนกับดูภาพยนตร์เงียบ ไม่มีเสียงพากย์ ไม่มีอวิชชา ปัจจยา สังขารามาคอยพากย์ว่า เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ควรจะทำอย่างนั้นควรจะทำอย่างนี้ จะเห็นเฉยๆ จะรู้เฉยๆ จะได้ยินเฉยๆ เห็นแล้วก็ผ่านไป อะไรมาสัมผัสปั๊บก็หายไป ไม่เอามาคิดปรุงแต่ง ว่าดีหรือไม่ดี ถ้าดีก็เกิดตัณหาอยากจะฟังเสียงนั้นนานๆ ถ้าไม่ดีก็อยากให้หายไปเร็วๆ เวลาชมก็อยากจะฟังทั้งวัน เวลาตำหนิติเตียนก็อยากจะเดินหนี ไม่อยากฟัง เพราะใจไม่มีธรรมา ปัจจยา สังขารา ถูกอวิชชา ปัจจยา สังขาราผลักดันให้คิดปรุงแต่ง ให้รักชังกลัวหลง

 

ถ้าใช้ธรรมา ปัจจยา สังขาราไม่เป็น ก็ต้องทำลายอวิชชา ปัจจยา สังขารา ด้วยพุทธานุสติก่อน พอออกจากความสงบแล้ว ก็จะสามารถใช้ปัญญา ปัจจยา สังขาราได้ พออวิชชา ปัจจยา สังขาราสั่งให้รักชังกลัวหลง ก็จะใช้ธรรมา ปัจจยา สังขาราเบรกทันที เช่นเวลากลัวตายก็จะใช้ปัญญาพิจารณาว่า เกิดมาแล้วไม่ตายหรืออย่างไร มีใครเกิดมาแล้วไม่ตายบ้าง แล้วร่างกายที่ตายนี้เป็นใครกันแน่ เป็นเราหรือเป็นอะไรกันแน่ พิจารณาดูว่าร่างกายที่จะตายนี้เป็นอะไร ก็เป็นเพียงผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯ เป็นเพียงอาการ ๓๒ ไม่ได้เป็นผู้รู้ ไม่มีความรู้อยู่ในผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกฯ ผู้รู้เป็นเพียงผู้ดูแลรักษาปกป้องคุ้มครอง ครอบครองร่างกายไว้เป็นสมบัติชั่วคราวเท่านั้นเอง พอถึงเวลาก็ต้องปล่อยร่างกายไป

 

ใจเป็นเพียงผู้ดูแลร่างกาย ไม่ได้เป็นอะไรไปกับร่างกาย เป็นคนละคนกัน เป็นเหมือนพี่น้อง ร่างกายเป็นเหมือนน้อง ใจเป็นเหมือนพี่ พี่ก็ดูแลน้องไป จนกว่าน้องจะหยุดหายใจ พอหยุดหายใจก็ปล่อยร่างกายไป แต่พี่ไม่ได้ตายไปกับน้อง พี่ไม่มีวันตาย เพราะใจไม่มีวันตาย เพราะไม่มีรูปมีร่าง ไม่มีสัดไม่มีส่วน ไม่เกิดจึงไม่ดับ จึงไม่ต้องไปกลัวตาย ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว จะรู้ว่าผู้ตายคือร่างกาย ไม่ใช่ใจผู้ที่กำลังกลัวตาย ใจไม่ตายแล้วไปกลัวทำไม กลัวให้เสียความรู้สึกเปล่าๆ เพราะกลัวแล้วจะทุกข์ทรมานใจ ถ้าไม่กลัวทำใจเฉยๆก็จะสบาย ร่างกายจะตายก็ตายไป ร่างกายของใครจะตายก็ปล่อยให้ตายไป ร่างกายของเราจะตายก็ปล่อยให้ตายไป ถ้ามีธรรมา ปัจจยา สังขาราแล้ว จะระงับอคติทั้ง ๔ ได้ ระงับรักชังกลัวหลงได้ จะไม่หลงว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา เพราะรู้ว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา เป็นตัวเราของเราชั่วคราว

 

ให้คอยสอนใจคอยเฝ้าดูใจอยู่ตลอดเวลาว่า ว่างจากความคิดปรุงแต่งหรือเปล่า รู้เฉยๆหรือเปล่า หรือว่ายังปรุงแต่งอยู่ ถ้าปรุงแต่งก็ต้องใช้พุทธานุสติ หรือธรรมา ปัจจยา สังขารา ใช้การพิจารณาทางปัญญาระงับ แล้วแต่ความสามารถ ในเบื้องต้นจะพิจารณาทางปัญญากันไม่เป็น ยังไม่เข้าใจหลักไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ก็ต้องใช้พุทธานุสติ หรือธรรมานุสติก็คือการสวดมนต์ไปก่อน สวดไปเรื่อยๆจนกว่าใจจะว่าง จะเย็นสบาย อยากจะหยุดสวด แสดงว่าหมดกำลังที่จะคิดปรุงแต่งแล้ว ก็จะไม่มีแรงที่จะคิด ก็จะพักอยู่สักระยะหนึ่ง นี่คือการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ เพื่อความสุขที่แท้จริง ไม่มีความสุขใดในโลกนี้ที่จะดีเท่าหรือเหนือกว่า ความสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบภายในใจ

 

ถ้าได้ความสุขภายในใจแล้ว จะไม่อยากได้อะไร เพราะเป็นเหมือนฟ้ากับดิน ความสุขที่ได้จากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้เป็นเหมือนความสุขระดับพื้นดิน ส่วนความสุขที่ได้รับจากความสงบของใจนี้ เป็นเหมือนความสุขระดับท้องฟ้า ยิ่งใหญ่ไพศาลมาก เป็นเป้าหมายของนักปฏิบัติทั้งหลาย จะพบได้ก็ต้องปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยวางสิ่งภายนอกร่างกายก่อน เช่นลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ บุคคลนั้นบุคคลนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ ปล่อยให้หมด แล้วก็มาปล่อยขันธ์ ๕ ปล่อยร่างกายคือรูปขันธ์ แล้วก็ปล่อยนามขันธ์ คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็ค่อยปล่อยธรรมารมณ์ที่อยู่ในจิต

 

สิ่งใดมีการปรากฏขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไปเสมอ ถ้ามีเกิดก็ต้องมีดับ ถ้าไปยึดไปติดก็จะทุกข์ใจ ถึงแม้จะเป็นความสุขใจอันละเอียด ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ยังเสื่อมได้ ถ้าเป็นความสุขที่แท้จริงแล้วจะไม่มีวันเสื่อม ถ้าเป็นความสุขที่ยังเสื่อมได้ ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ทัน ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา อย่าไปยึดติด ถ้าไปยึดติดกับสิ่งที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ ก็จะต้องทุกข์ใจเสมอ ยึดติดได้กับสิ่งเดียวคือสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะว่ายึดติดก็ไม่เชิง เพราะเป็นสิ่งที่ติดอยู่กับใจ เป็นผลจากการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ายังปล่อยวางไม่หมดสิ่งนี้ก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะจะถูกสิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตากลบไว้ นี่คือการปฏิบัติเพื่อความสุขที่แท้จริง

 

ต้องปล่อยวางอุปาทานในทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ ปล่อยวางร่างกายของเราและของผู้อื่น ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิด คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ปล่อยวางธรรมารมณ์ที่อยู่ภายในจิต พอปล่อยวางได้หมดแล้ว ใจก็จะว่างตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่จะต้องดูแลรักษาอีกต่อไป การดูแลรักษากับการไม่ดูแลรักษา อย่างไหนจะดีกว่ากัน การห่วงกับการไม่ห่วง อย่างไหนจะดีกว่ากัน การหวงกับการไม่หวง อย่างไหนจะดีกว่ากัน การพลัดพรากจากกันกับการไม่พลัดพรากจากกัน อย่างไหนจะดีกว่ากัน ต้องพิจารณาด้วยปัญญาอยู่เรื่อยๆ ดูใจอยู่เรื่อยๆ ดูว่ากำลังปลีกวิเวกอยู่หรือเปล่า กำลังเจริญธรรมา ปัจจยา สังขาราอยู่หรือเปล่า กำลังเจริญพุทธานุสติ กำลังเจริญบทสวดมนต์ กำลังสักแต่ว่ารู้ กำลังรู้อยู่เฉยๆ กำลังรู้อยู่ในปัจจุบัน ไม่คิดปรุงแต่งไปกับเรื่องอดีตเรื่องอนาคต เรื่องใกล้เรื่องไกลอยู่หรือเปล่า

 

ถ้าจะคิดก็ให้คิดไปในทางปัญญา ถ้ายังยึดติด ยังห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ยังวิตกกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่นตอนนี้วิตกกับคำทำนายว่า ปีหน้าน้ำจะท่วมมากกว่านี้ โลกจะแตก ไปห่วงทำไม โลกจะแตกก็ต้องแตก น้ำจะท่วมก็ต้องท่วม หน้าที่ของเราก็เตรียมตัวรับมันไป ทำอะไรได้ก็ทำไป ถ้าน้ำจะท่วมก็ขนของขึ้นข้างบน เตรียมตัวไว้ก่อน อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าปัญญาความฉลาด ถ้าเตรียมตัวรับไว้แล้วจะไม่วิตกกังวล โลกจะแตกก็แตกไป เราอาจจะตายก่อนโลกแตกก็ได้ ตัวเราตายกลับไม่กลัว กลับไปกลัวโลกแตก ที่แตกยากกว่าเราตายตั้งหลายร้อยเท่า โลกมีอายุขัยยาวนานกว่าเรามาก อายุของเราอย่างมากก็ ๙๐ หรือ ๑๐๐ ปี โลกนี้มีอายุเป็นร้อยล้านพันล้านปี จะแตกพรุ่งนี้ก็ให้รู้กัน จะได้เป็นบุญของพวกเรา ที่ได้เกิดมาเจอโลกแตก เพราะไม่ใช่ของง่ายที่จะได้เจอโลกแตกสักครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัว

 

ถ้าพิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว จะไม่มีอะไรน่ากลัว ทุกอย่างเป็นธรรมดา สิ่งที่แตกก็ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไปกลัวทำไม เราไม่มีวันแตก ไม่มีวันตาย เรากลับไปกลัวแทนทำไม นี่คือการปฏิบัติธรรม ต้องรู้ทัน ต้องฉลาด ต้องใช้ปัญญา อย่าปฏิบัติเพื่อเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นแสง เห็นสี เห็นเสียง เป็นเรื่องของโมหะอวิชชาทั้งนั้น เป็นมิจฉาสมาธิ ปฏิบัติเพื่อหยุดความคิดปรุงแต่ง ให้จิตสักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขา นี่คือเป้าหมายของการปฏิบัติ ถ้านั่งแล้วเห็นโน่นเห็นนี่ แสดงว่ายังไม่สงบ ถ้าสงบแล้วจะไม่เห็นอะไร จะว่าง ถ้าเห็นจิตยังไม่นิ่ง ยังไม่เป็นสมาธิ ออกมาจากการนั่งแบบนี้ จะไม่มีกำลังพิจารณาทางปัญญา เพราะจะถูก อวิชชา ปัจจยา สังขาราดึงไปหมดเลย ออกมาปั๊บก็หิวแล้ว อยากจะดื่มของหวานของเปรี้ยวขึ้นมาแล้ว นี่แหละคืออวิชชา ปัจจยา สังขารา คิดไปในทางกามตัณหาแล้ว

 

ถ้าอยู่ในสมาธิที่สงบนิ่งว่าง เวลาออกมาแล้วจะเฉยๆ ไม่หิวไม่อยากกับอะไร นี่แหละคือสมาธิที่ถูกต้อง อย่าไปสนใจเวลาใครเขาเล่าให้ฟังว่า นั่งแล้วเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์ เห็นอนาคต เห็นอดีต เห็นไปก็เท่านั้น ไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจ ไม่ได้ชำระกิเลสตัณหาให้หมดไป ถ้าจะเห็นก็ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เช่นเห็นเรานอนตาย กำลังถูกจับเข้าโลง เข้าไปในเมรุ เผาร่างกายจนกลายเป็นขี้เถ้าไป ถ้าจะเห็นให้เห็นอย่างนี้ จะได้สลดสังเวช จะปลงได้ จะเห็นว่าร่างกายในที่สุดก็แค่นี้เอง ในที่สุดก็ต้องไปที่เมรุ ไม่ได้ไปไหนหรอก ดิ้นรนกันแทบเป็นแทบตาย กลัวกันแทบเป็นแทบตาย ก็ไปจบที่เมรุ โลกจะแตกหรือไม่แตกก็ไปจบที่เมรุเหมือนกัน คิดอย่างนี้แล้วใจจะไม่หวั่นไหว ไม่หวาดกลัว จะสงบเย็นสบาย

 

การปฏิบัติที่ถูกต้อง ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นทุกขังก็คือเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อนิจจังก็เห็นความตาย เห็นความดับ อนัตตาก็เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างในโลกนี้เป็นธาตุทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นธาตุ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ร่างกายของพวกเราก็เป็นดินน้ำลมไฟ ศาลาหลังนี้ก็เป็นดินน้ำลมไฟ ภูเขาลูกนี้ก็เป็นดินน้ำลมไฟ มีแต่ธาตุทั้งนั้น จึงเรียกว่าโลกธาตุ พวกเราไปหลงว่าเป็นต้นไม้เป็นภูเขา เป็นโน่นเป็นนี่ เป็นสมมุติทั้งนั้น เป็นตัวเราของเรา ไปจับจองที่ดินว่าเป็นของเรา มันไม่เป็นของใครทั้งนั้น มีใครเอาไปได้บ้าง มันอยู่ตรงนี้ของมันอย่างนั้นแหละ อยู่อย่างนี้มาก่อนเรามา แล้วก็จะอยู่อย่างนี้ต่อไป หลังจากที่เราไปแล้ว จะเป็นของเราได้อย่างไร เป็นที่อาศัยชั่วคราว อยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ไปหาที่อยู่ใหม่ ถ้าอยู่อย่างพระ ก็อยู่ตามโคนไม้ อยู่ตามเรือนร้าง อยู่ตามถ้ำตามเงื้อมผาก็ได้ ขอให้เป็นที่สงบ เป็นที่สัปปายะ คือสงบวิเวกก็อยู่ได้แล้ว เพื่อสร้างพละให้แก่ใจ เพื่อหยุดอวิชชา ปัจจยา สังขารา

 

ถ้าไม่มีพละคือความสงบนี้ จะหยุดกระแสของอวิชชา ปัจจยา สังขาราไม่ได้ เมื่อหยุดไม่ได้ ก็จะฆ่ากิเลสไม่ได้ เหมือนเวลาที่จะฆ่าวัวควาย ต้องผูกมัดมันไว้ก่อน อวิชชาและกิเลสก็เช่นเดียวกัน ต้องหยุดมันก่อน หยุดด้วยพุทธานุสติ หยุดด้วยธรรมานุสติ หรือหยุดด้วยอานาปานสติ พอหยุดได้แล้ว คือพอออกมาจากสมาธิ ออกมาจากความสงบแล้ว พอกิเลสโผล่ขึ้นมาปั๊บ ก็ใช้ไตรลักษณ์ตัดเลย พอคิดอยากจะดื่มปั๊บ ก็ต้องถามว่าถึงเวลาดื่มหรือยัง ใครอยากจะดื่มกันแน่ ร่างกายหรือกิเลส ถ้าร่างกายอยากจะดื่มก็ดื่มน้ำเปล่า ถ้ากิเลสอยากจะดื่มของเปรี้ยวของหวานของมันของเค็ม ก็ยังไม่ถึงเวลา ต้องรอเวลารับประทานอาหารก่อน อนุญาตให้รับประทานวันละ ๑ ครั้ง วันละ ๑ มื้อ ตอนนั้นจะรับประทานอะไร ก็รับประทานให้เต็มที่เลย ของคาวของหวานขนมนมเนย รับประทานหนเดียว หลังจากนั้นถ้าดื่มเพื่อร่างกายก็ดื่มน้ำเปล่า นี่คือการใช้ปัญญา ต้องคิดอย่างนี้

 

อย่าปล่อยให้ไหลไปตามความอยาก พอเปรี้ยวปากขึ้นมา ก็หาของเปรี้ยวๆหวานๆมาดื่ม หาขนมนมเนยมารับประทาน แทนที่จะไปเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ เพื่อระงับกามตัณหา กลับไม่ทำ ถ้าไม่หยุดกามตัณหา กามตัณหาก็จะไม่มีวันหมด ถ้าหยุดกามตัณหาไปเรื่อยๆต่อต้านกามตัณหาไปเรื่อยๆ ใช้ปัญญาสอนใจไปเรื่อยๆ จนเห็นว่ากามตัณหาเป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ พอเห็นแล้วก็จะไม่กล้าอยากอีกต่อไป อยากไปทำไม อยากแล้วทุกข์ สู้ไม่อยากดีกว่า ไม่อยากแล้วสบาย ไม่ทุกข์ ต้องปลีกวิเวก อย่าคลุกคลีกัน ถ้าคลุกคลีแล้วก็จะคุยเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ไหนน่าไปรับประทาน ร้านไหนอาหารอร่อย ที่ไหนน่าไปเที่ยว อะไรกำลังมาแรง อยากจะได้อยากจะซื้อกัน พอได้มาแล้วก็ต้องทุกข์กับการดูแลรักษา ต้องทุกข์เวลาที่หายไป

 

เวลาใจอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็ต้องรู้ทัน ว่ากำลังพาไปสู่ความทุกข์ ทางที่ถูกก็คือต้องไม่อยากได้อะไร นอกจากสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย คือปัจจัย ๔ เท่านั้น ไม่ต้องหรูหรา ไม่มีบ้านอยู่ เช่าอยู่ก็ได้ ไม่มีเงินเช่า อยู่ใต้สะพานก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ พอหลบแดดหลบฝน ป้องกันไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็ใช้ได้แล้ว อย่าพิถีพิถันอย่ายุ่งยากกับการหาปัจจัย ๔ จนลืมหาธรรมะ จิตใจต้องคิดใฝ่หาธรรมะอยู่ตลอดเวลา การหาสิ่งอื่นๆเป็นเรื่องไม่สำคัญ หาเท่าที่จำเป็น รับประทานอาหารมื้อเดียวก็พอ รับประทานตามมีตามเกิด พอให้อิ่มท้องก็ใช้ได้แล้ว ส่วนที่หลบแดดหลบฝนนี้ ให้เป็นที่สงบ ไม่มีเสียงมีเรื่องราวต่างๆ มารบกวนการทำจิตใจให้สงบ เพราะต้องการสร้างพละกำลังให้กับใจ

 

ความสงบคือพลังอันยิ่งใหญ่ของใจ ความสงบหยุดกิเลสได้ แต่ฆ่าไม่ได้ ต้องฆ่าด้วยปัญญา แต่ก่อนจะฆ่าด้วยปัญญาต้องหยุดกิเลสก่อน ต้องตัดกำลังกิเลสก่อน พอหยุดกิเลสได้แล้วก็ใช้ปัญญาเข้ามาจัดการได้ พอกิเลสโผล่ออกมา อยากจะได้อะไรก็ตัด อยากจะมีอะไรก็ตัด อยากจะดื่มอยากจะรับประทานอะไรก็ตัด อยากจะไปหาคนนั้นคนนี้ก็ตัด ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ก็ตัด ตัดให้หมดเลย ตัดจนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ในใจเลย แล้วก็จะอยู่อย่างสบาย ตัดแล้วเขาก็ยังอยู่ของเขาอยู่ เราก็ยังเจอกันได้ ยังพบกันได้ ยังติดต่อกันได้ แต่จะไม่เหมือนเมื่อก่อนนี้ เมื่อก่อนนี้ติดต่อกันแล้วจะห่วงใยกัน ติดต่อแล้วไม่ยอมแยกจากกัน พอไม่มีอุปาทานไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะติดต่อกันกี่ครั้งก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด พอเสร็จธุระแล้วก็แยกกันไป ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างไป ไปตามกำลังของบุญของบาปของแต่ละคน ทุกคนต้องเป็นที่พึ่งของตนเอง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ครูบาอาจารย์ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เพียงมีหน้าที่คอยสอนให้พวกเราเป็นที่พึ่งของตัวเราเอง ที่พึ่งที่แท้จริงคือตัวเราเอง

 

พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นผู้บอกทาง ถ้าไม่มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ พวกเราจะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ให้ตัวเราเองเป็นที่พึ่งของเรา จึงต้องพึ่งต้องเชื่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ แล้วก็ปฏิบัติตามพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ที่สอนให้ไปปลีกวิเวก ให้ไปภาวนา ให้เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา จนกว่าจิตจะเป็นอิสระ หลุดพ้นจากพันธนาการต่างๆ หลุดพ้นจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เมื่อหลุดแล้วก็จะรู้เองว่า ตอนนี้เป็นอิสระแล้ว หลุดพ้นแล้วจากพันธนาการทั้งหลาย ไม่มีอะไรผูกพันจิตใจอีกแล้ว เมื่อหลุดแล้วก็จะรู้เองว่า งานที่ทำมาแทบเป็นแทบตายนี้ ได้ถึงวันสิ้นสุดแล้ว เสร็จกิจแล้ว วุสิตัง พรหม จริยังแล้ว กิจในพรหมจรรย์นี้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่มีกิจอื่นใดที่จะต้องทำอีกต่อไป ไม่เหมือนกิจทางโลก ที่ทำไปจนวันตายก็ไม่มีวันจบ หมดเรื่องนี้ก็มีเรื่องอื่นมาให้ทำต่อ เพราะใจมันคัน คอยหาเรื่องทำอยู่เรื่อยๆ เกาไม่ถูกที่ ที่คันไม่เกา กลับไปเกาที่ไม่คัน ไปสร้างโน่นสร้างนี่ ไปหานั่นหานี่มาเพิ่มเติม มีเท่านี้ไม่พออยากจะได้มากกว่านี้ ตัวที่เป็นปัญหาคือความอยากกลับไม่แก้กัน ตัวที่คันก็คือความอยากนี้เอง อยู่ไม่เป็นสุข ไม่ได้ทำอะไรแล้วรู้สึกคัน         ถ้าคันในใจก็ต้องเกาในใจ เกาที่ความอยาก หยุดอยากเสีย ทำจิตให้สงบ ใช้ปัญญาดับความอยาก พอหายอยากแล้วก็ไม่ต้องทำอะไรให้เหนื่อยยาก ทำไปแล้วได้อะไร ตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี ขอให้พวกเราพุ่งเป้าไปที่ธรรมะ ไปที่การปฏิบัติธรรม ด้วยการเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา ปลีกวิเวก ไม่คลุกคลีกัน แล้วผลที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้รับ ก็จะเป็นผลที่พวกเราจะได้รับกันต่อไป

 

เราไม่มีวาสนาอยู่อย่างหนึ่ง คือตั้งแต่บวชมานี้ไม่ได้ไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์องค์ไหนเลย ถือหลักว่าองค์ไหนก็เหมือนกัน เหมือนกันที่คำสอน สอนเหมือนกันทุกองค์ เหมือนพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเจอพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็จะสอนเหมือนกัน สอนให้ทำบุญละบาป ให้ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ เลยไม่เคยคิดอยากจะไปกราบครูบาอาจารย์องค์ไหนเลย กราบรูปเดียวอยู่กับรูปเดียวก็เหมือนกัน สอนเหมือนกัน อาจจะต่างทางอุบาย แต่สอนแนวเดียวกัน คือศีลสมาธิปัญญา ถ้าใครสอนนอกทางนี้ก็อย่าไปเชื่อ จะหลงผิดคิดว่า การเจริญสมาธิไม่จำเป็น เป็นปัญญาชนแล้ว เจริญปัญญาได้เลย จะได้บรรลุอย่างฉับพลัน

 

เดี๋ยวนี้นิยมอ่านหนังสือของศาสนาเซน เห็นว่าเซนสอนให้เจริญปัญญา แต่ไม่รู้ว่าเขาสอนพระที่นั่งสมาธิวันละ ๑๕ ชั่วโมง อยู่แบบอดๆอยากๆ อยู่แบบมักน้อยสันโดษ แต่ผู้ที่เป็นปัญญาชนนี้อยู่แบบฆราวาส อยู่ท่ามกลางความสุขของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วก็จะมาเจริญปัญญาเพื่อให้บรรลุอย่างฉับพลัน จะบรรลุได้อย่างไร เมื่อถูกกิเลสผูกมัดไว้ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ นอนก็นอนห้องแอร์ กินวันละ ๓ – ๔ เวลา มีเครื่องบันเทิงไว้คอยตอบสนองตัณหาอยู่ตลอดเวลา พอได้อ่านหนังสือเซนก็จะบรรลุอย่างฉับพลัน เพราะเป็นวิธีง่ายๆ บรรลุง่ายๆ มีคนหนึ่งบอกว่าเขาก็หลงผิดไป อ่านหนังสือเซนแล้วก็ปฏิบัติ แต่ยังไม่บรรลุเลย

 

ก็เลยอธิบายให้เขาฟังว่า เซนนี้เขาสอนพระที่มีสมาธิแล้ว เหมือนพระพุทธเจ้าสอนพระปัญจวัคคีย์ พวกนี้มีสมาธิแล้ว พอพระพุทธเจ้าแสดงทางปัญญา ก็สามารถตัดได้ ตัดความกลัวความตายได้ เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะพอฟังว่า มีการเกิดก็ต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา ความกลัวตายของท่านก็หายไป เพราะท่านยอมตาย รู้ว่าไม่มีใครหนีความตายไปได้ ความกลัวตายนี้แหละเป็นสมุทัย ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าไม่อยากให้ทุกข์ใจก็ต้องไม่กลัวตาย ต้องยอมตาย แต่คนที่ยังติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรส ติดอยู่กับลาภยศสรรเสริญ จะปลงไม่ได้ เขาก็เลยยอมรับว่าต้องทำสมาธิก่อน เพราะไม่ใช่ของง่าย การทำสมาธินี้ยากมาก ปัญญายิ่งยากกว่าสมาธิตั้งหลายเท่า ถ้ายังทำสมาธิไม่ได้จะไปเจริญปัญญาได้อย่างไร เพียงแต่บริกรรมพุทโธๆ ก็ยังทำไม่ได้เลย ไม่มีกำลังดึงจิตให้มาบริกรรมพุทโธๆ พุทโธๆได้ ๒ คำกิเลสก็ลากไปคิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้แล้ว เพราะไม่ได้เจริญสติอย่างต่อเนื่อง

 

พอบริกรรมพุทโธๆตอนเวลานั่งสมาธิก็จะทำไม่ได้ ต้องพุทโธๆไปทั้งวันก่อน ไม่ว่าจะทำอะไรก็บริกรรมพุทโธๆไป พอไม่คิดอะไรก็หยุดบริกรรม ให้รู้เฉยๆ ให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อย่าปล่อยให้คิด ให้คิดเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น พอคิดเสร็จแล้วก็หยุดคิด กลับมารู้เฉยๆ รู้อยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าคิดก็ต้องใช้การบริกรรมพุทโธๆ หรือจะสวดมนต์ไปภายในใจก็ได้ สวดไปเรื่อยๆ อย่าคิดเรื่อยเปื่อย อย่าคิดไปทางอวิชชา ปัจจยา สังขารา ทางรักชังกลัวหลง เพราะเป็นสมุทัย ทำให้วุ่นวายใจ พอรักอะไรแล้ว ก็ต้องหวงห่วงวิตกกังวล พอถึงเวลาที่จะต้องเห็นหน้ากัน แต่ไม่เห็นกันก็วุ่นวายใจแล้ว ถ้าจะคิดก็ต้องคิดว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน อาจจะไม่เห็นกันบ้างก็ไม่เป็นไร หรือไม่เห็นกันเลยก็ช่วยไม่ได้ เมื่อถึงเวลาที่จะไม่เห็นกันเลย จะต้องจากกันเลยก็ต้องจากกัน เป็นคติธรรมดาของโลก เราอยู่ในโลกของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการเกิดการดับเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นตัวเราเป็นของเรา ทุกอย่างเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 

ต้องควบคุมใจ ถ้าไม่ควบคุมก็จะไหลไปตามกระแสของอวิชชา ปัจจยา สังขารา ไม่เชื่อลองตรวจดูว่า ตั้งแต่เช้ามาจนถึงเวลานี้ ได้คิดอะไรบ้าง คิดไปทางอนิจจังทุกขังอนัตตาหรือเปล่า หรือคิดห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้ อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่ปล่อยวาง อะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิดไป อะไรจะดับก็ปล่อยให้ดับไป ไปยุ่งกับเขาทำไม ทำใจให้ว่างให้สบายดีกว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดอะไรจะดับ ก็ไม่เกี่ยวกับใจเรา ไม่ได้มาเปลี่ยนแปลงใจเรา ใจก็ยังเป็นผู้รู้เหมือนเดิม เพียงแต่เป็นผู้รู้ที่มีอวิชชาชักใยอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น จะมีพระพุทธเจ้ามาปรากฏกี่ร้อยพระองค์ ก็จะไม่ได้ทำลายอวิชชาได้ อยู่ที่เราเท่านั้นที่จะทำลายได้ ด้วยการนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติอย่างขะมักเขม้น เพียรแบบไม่ถอย เพียรแบบต่อเนื่อง เพียรตัดภารกิจการงานต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมไปให้หมด ทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

 

มาแก้ปัญหาของเราดีกว่า เพราะไม่มีใครแก้ให้เราได้ โลกจะเกิดโลกจะดับก็ไม่ได้แก้ พระพุทธเจ้ามาปรากฏกี่พระองค์ก็ไม่ได้แก้ ถ้าไม่แก้ด้วยตัวเราเอง เพราะพระพุทธเจ้าแก้ให้เราไม่ได้ พระอรหันต์ก็แก้ให้เราไม่ได้ ท่านเพียงแต่สอนเราเท่านั้น ว่านี้คืองานของพวกเรา คืองานกำจัดอวิชชา ปัจจยา สังขารา ที่เป็นตัววัฏจักร ตัวที่นำไปสู่ภพชาติต่างๆ ถ้าดับอวิชชาได้แล้ว ตัววัฏจักรก็จะหยุดทำงานทันที กงจักรที่หมุนติ้วๆนี้ก็จะหยุดหมุนทันที หยุดด้วยกำลังของธรรมจักร ที่ตัดวัฏจักร ตัดอวิชชา ปัจจยา สังขารา ทำให้ใจเข้าเกียร์ว่างได้ เหมือนรถที่เข้าเกียร์ว่าง คนขับก็ไม่ต้องเหนื่อย จอดอยู่เฉยๆ ถ้ายังเข้าเกียร์อยู่ ก็ต้องคอยควบคุมรถอยู่ตลอดเวลา จึงควรทำใจให้ว่าง ให้หยุดคิดปรุงแต่ง จะได้มีความสุข

 

หลังจากที่อวิชชา ปัจจยา สังขาราถูกทำลายไปแล้ว ความคิดปรุงแต่งก็ยังทำงานอยู่ แต่ไม่คิดไปในทางอวิชชา ปัจจยา สังขารา จะคิดไปทางธรรมา ปัจจยา สังขารา จะคิดปล่อยวาง ให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าไม่ต้องเกี่ยวข้องด้วย ก็จะไม่เกี่ยวข้อง ถ้าต้องเกี่ยวข้องก็ทำให้ดีที่สุด ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องปล่อยวาง ขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้ากับของปุถุชนก็ยังมีอยู่เหมือนกัน ขันธ์ ๕ นี้ไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่กิเลส ถ้าไปยุ่งเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ก็จะเอาขันธ์ ๕ ไปทำเรื่องของกิเลส ทำตามความโลภความโกรธความหลง ถ้าไม่มีกิเลสก็จะไม่ทำตามความโลภความโกรธความหลง จะทำด้วยเหตุผล

 

ขันธ์ ๕ ไม่เป็นปัญหา ปัญหาคือกิเลสคืออวิชชา อวิชชาคือพ่อแม่ของกิเลสทั้งหลาย ออกมาจากอวิชชา ปัจจยา สังขารา พอพ่อแม่ตายแล้วลูกๆก็จะตายหมด กิเลสตัณหาทั้งหลายก็จะหมดไป ขันธ์ ๕ ก็ยังมีอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ กิเลสในพระทัยของพระองค์ตายไปหมด บรรลุถึงพระนิพพานแล้ว สะอาดบริสุทธิ์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังทรงใช้ขันธ์ ๕ แสดงธรรมให้พวกเราฟังกัน เป็นธรรมา ปัจจยา สังขารา คิดไปในทางธรรมเสมอ ดังเวลาที่พระเจอกันนี้ ถ้าเป็นพระอริยะท่านก็จะสนทนาธรรมกัน เวลามีรูปภาพครูบาอาจารย์นั่งสนทนากัน จะเขียนอธิบายว่าท่านสนทนาธรรมกัน ไม่เขียนว่าท่านสนทนาการเมืองการบ้านกัน ไม่เหมือนพวกเราเวลาคุยกัน ไม่สนทนาเรื่องธรรมเลย สนทนาแต่เรื่องตลาดหุ้นบ้าง สนทนาเรื่องการเมืองบ้าง สนทนาเรื่องชาวบ้านบ้าง เพราะใจของพวกเราเป็นอวิชชา ปัจจยา สังขารา แต่ใจของพระอรหันต์เป็นธรรมา ปัจจยา สังขารา จะคุยแต่เรื่องธรรมะ

 

ตัวเราเท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนความคิดของเราได้ เราต้องเป็นผู้กระทำเอง ถ้าทำเองไม่ได้ก็ต้องไปอยู่กับครูบาอาจารย์ เพราะว่าเวลาอยู่กับท่าน ท่านจะคอยกำราบความคิดของเรา ให้คิดในกรอบของธรรมะ เช่นอยากจะลาท่านไปข้างนอก ท่านก็จะไม่ให้ไป อยู่กับหลวงตานี้ท่านไม่ให้พระออกไปนอกวัด ให้อยู่ในวัด ท่านจะคอยไล่พระให้ภาวนา ให้เข้าทางจงกรมอยู่เรื่อยๆ พระก็ชอบแอบออกมานั่งอยู่แถวโรงน้ำร้อนน้ำชาอยู่เรื่อยๆ ท่านก็ต้องคอยเดินตรวจอยู่เรื่อยๆ ทุกครึ่งชั่วโมงท่านจะออกมาดู ถ้าเห็นครั้งแรกท่านจะไม่พูดอะไร ถ้าเห็นครั้งที่ ๒ ท่านจะว่า “ท่านยังอยู่ตรงนี้อีกหรือ จะฉันไปถึงไหนกัน ทำไมไม่ไปเข้าทางจงกรม ทำไมไม่ไปนั่งสมาธิกัน” มีครูบาอาจารย์ก็ดีอย่างนี้ ท่านจะช่วยกำราบความคิดที่เป็นอวิชชา ปัจจยา สังขารา ให้มาคิดในทางธรรมา ปัจจยา สังขารา ถ้าไม่ได้อยู่กับท่าน กิเลสจะเบิกบาน สบายใจที่ไม่มีใครควบคุมบังคับ อยากจะไปไหนก็ไปได้ อยากจะทำอะไรก็ทำได้ เหมือนกับพระรูปหนึ่งที่ดีใจ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ดีใจที่ไม่มีใครห้าม จะทำอะไรก็ทำได้อย่างเต็มที่ นี่เป็นความคิดของอวิชชา ปัจจยา สังขารา เพราะไม่รู้ว่าการกระทำไปในทางกิเลสเป็นโทษ ไม่ได้เป็นคุณ การไม่กระทำอะไรอยู่เฉยๆนี้แหละเป็นคุณอย่างยิ่ง พวกเราอยู่ไม่เป็นสุขกัน ต้องหาอะไรทำกันอยู่เรื่อยๆ

 

ทำไมไม่ทำใจให้สงบให้เป็นสุข ปัญหาอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งนั้นสิ่งนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ พอเห็นบ้านไม่สวย ต้องทาสีใหม่ เปลี่ยนม่านใหม่ เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ นี่เรียกว่าอยู่ไม่เป็นสุข อยู่ไปเถิด พอหลบแดดหลบฝนได้ก็ดีแล้ว จะสวยไม่สวยไม่สำคัญ จะสวยอย่างไรก็ไม่สุขเท่ากับอยู่เฉยๆเป็นสุข เป็นความสุขที่ดีกว่าอยู่ในบ้านสวยๆ จึงอย่าไปกังวลกับเรื่องความสวยงาม หลวงตาท่านไม่เน้นเรื่องสวยงาม ที่วัดป่าบ้านตาดจะสร้างเท่าที่จำเป็น ไม่หรูหรา แต่จะมีอยู่อย่างหนึ่งที่ท่านจะเน้น ก็คือความละเอียด การทำอะไรนี้ต้องละเอียดรอบคอบ เพราะต้องใช้สติปัญญา เป็นการฝึกสติปัญญาไปในตัว ถึงแม้จะใช้กับสิ่งภายนอกก็ตาม แต่เป็นเครื่องมืออันเดียวกัน ที่เอาไปใช้ตัดกิเลสภายในใจได้

 

เวลาจะทำอะไร จึงควรทำด้วยความละเอียดรอบคอบ เรียบร้อย อย่าไปทำเพื่อความสวยงามหรูหรา ใช้เหตุผล ถือการใช้งานเป็นหลัก ว่าใช้ได้หรือไม่ ถ้าใช้ได้ก็ดีแล้ว ไม่ต้องหรูหรา อย่าไปเสียเวลากับการทำงานภายนอก เพราะจะทำให้ไม่มีเวลาทำงานภายใน ให้ทำงานภายในให้มาก ทำงานหมด หมดแล้วก็จะสบาย หลังจากนั้นก็จะไม่อยากทำงานภายนอก  ไม่รู้จะทำไปทำไม ทำไปก็ไม่มีผลกับจิตใจ เพราะได้ความสุขใจเต็มร้อยแล้ว ถ้าทำงานภายนอกก็ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง ทำเพื่อคนอื่น เช่นสั่งสอนอบรม พาทำบุญให้ทานปฏิบัติธรรม ทำก็ไม่ได้ความสุขมากขึ้น ไม่ได้ทำความสุขก็ไม่ได้น้อยลงไป เหมือนน้ำเต็มแก้วแล้ว จะเติมเข้าไปอีกเท่าไหร่ก็จะได้น้ำเท่าเดิม ถ้ายังไม่มีน้ำ มีนิดเดียว มี ๒ – ๓ หยดนี้ต้องทำมากๆ

 

ถ้าไม่ทำก็ต้องใช้อุบายสอนให้ทำ อย่างเรื่องผ้าป่าช่วยชาตินี้ก็เหมือนกัน เป็นอุบายของหลวงตา ให้พวกที่ไม่มีน้ำอยู่ในแก้ว จะได้เติมน้ำใส่แก้วบ้าง ได้ทำบุญให้ทาน ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรมกัน นี่คือสิ่งที่ท่านต้องการ ให้พวกเราได้เติมน้ำเข้าไปในแก้ว ให้ได้บุญมากๆ ท่านไม่ต้องการเงินทองของพวกเรา ท่านไม่ต้องการอะไรทั้งนั้น ท่านอยู่เฉยๆของท่านๆก็สบายอยู่แล้ว ไม่ต้องเหนื่อย ถ้าพวกเราอยากจะบูชาท่าน ก็รีบเติมน้ำให้เต็มแก้ว ด้วยการปฏิบัติบูชา อย่าเติมแต่ทานอย่างเดียว ทานนี้เติมมามากพอแล้ว ควรจะเติมศีลบ้าง เติมภาวนาบ้าง เติมสมาธิเติมปัญญา ด้วยการไปปลีกวิเวก ไปอยู่ห่างไกลจากความสุขในบ้านบ้าง อยู่ใกล้กับความสุขในบ้านแล้วภาวนาไม่ได้ ใจจะพะวักพะวนกับตู้เย็น นั่งสมาธิเดี๋ยวเดียวก็หิวน้ำแล้ว ต้องหยุดดื่มน้ำก่อน นั่งอีกสักพักหนึ่งก็หิวขนมอีกแล้ว ต้องไปปลีกวิเวก ไปอยู่ที่ไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไปปราบกามฉันทะ ไปอยู่ตามป่าตามเขา ไปอยู่ตามวัดที่ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะมายั่วยวนกวนใจ พอไม่มีอะไรมายั่วยวนกวนใจ ก็จะทำสมาธิได้ง่าย

 

ควรคิดอยู่เรื่อยๆว่า เวลาของเราก็น้อยลงไปทุกวันๆ เวลาสำหรับการภาวนาก็จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบตักตวง สักวันหนึ่งก็จะไม่มีเวลาปฏิบัติ โบราณท่านว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก น้ำก็คือเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติ วันเวลาผ่านไปๆ น้ำก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เวลาปฏิบัติก็จะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ ตอนนี้เรามีเกิน ๗ ปี ต่อไปจะเหลือน้อยกว่า ๗ ปี ก็จะไม่เสร็จงานภายใน ๗ ปี จึงอย่าไปสนใจกับงานอื่น กับความสุขอย่างอื่น ให้สนใจกับงานภาวนา ให้สนใจกับความสุขที่จะได้จากการภาวนา ทุ่มเทไปกับงานนี้ ทุ่มเทไปกับความสุขนี้เถิด แล้วจะไม่ผิดหวัง จะไม่ขาดทุน จะไม่เสียชาติเกิด ถ้าทุ่มเทกับงานอื่น กับความสุขอื่น จะเสียชาติเกิด จะขาดทุน จะไม่ได้กำไร จะไม่มีอะไรติดไม้ติดมือไป ถ้าไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา ก็จะไม่มีโอกาสทำงานให้เสร็จภายในชาติเดียวได้ ต้องบำเพ็ญบุญกุศลเป็นกัปเป็นกัลป์ จนกว่าจะได้พบพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง ถึงจะมีพระพุทธเจ้าพระอรหันตสาวก มาคอยสอนคอยลากคอยจูง คอยกระตุ้นให้ปฏิบัติ ให้บรรลุ ให้เสร็จงานภายในชาติเดียว ถ้าไม่มีพุทธศาสนาก็ต้องรอไปอีกนานทีเดียว ต้องเวียนว่ายตายเกิด ต้องร้องห่มร้องไห้ ต้องทุกข์กับความแก่เจ็บตาย กับการพลัดพรากจากกัน นับครั้งไม่ถ้วน จึงอย่าประมาทนอนใจ รีบขวนขวายเสียแต่วันนี้ ทำงานให้เสร็จ หลังจากนั้นจะทำอะไรก็ได้ อยากจะไปเที่ยวรอบโลกสัก ๑๐ ครั้งก็ไปได้ แต่ตอนนี้อย่าเพิ่งไป ตอนนี้ไปปลีกวิเวก ไปภาวนา ไปทำจิตใจให้หลุดพ้น ไปปล่อยวางอุปาทานทั้งหลายให้หมดก่อน พอปล่อยได้แล้ว หลุดพ้นแล้ว จะทำอะไรก็ได้ ไม่ทำอะไรก็ได้ ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป คิดอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ถ้ายังไม่คิดก็เริ่มคิดได้แล้วนะ หันมาคิดแบบนี้กันเถิด เสียดายที่พระพุทธเจ้าพระสงฆ์สาวก ครูบาอาจารย์ ท่านทำแทนเราไม่ได้ ถ้าทำแทนพวกเราได้ พวกเราก็สบายกันไปหมดแล้ว

 

ถาม  นั่งสมาธิกับน้องสาว น้องสาวจะใช้พุทโธๆ แต่หนูชอบใช้ลมหายใจเข้าออก ทำอย่างนี้ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ใช่ แต่ต้องดูที่ผล ว่านั่งแล้วใจสงบไหม

 

โยม  สงบค่ะ

 

ตอบ ต้องสงบเย็นสบาย ไม่คิดปรุงแต่งเรื่องนั้นเรื่องนี้ การใช้ลมหายใจนี้เป็นการดึงใจไว้ ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ธรรมดาใจชอบคิดเรื่อยเปื่อย คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ ทำให้มีอารมณ์ว้าวุ่นขุ่นมัว ถ้าควบคุมความคิดได้ ด้วยการบังคับใจให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ความคิดต่างๆก็จะสงบตัวลงไปชั่วคราว ใจก็จะมีความสุข ความสบายใจ ความอิ่มใจ นี่คือผลที่เราต้องการ ต้องนั่งให้ได้นานๆ ครึ่งชั่วโมงหรือ ๑ ชั่วโมงถึงจะดี ถ้านั่งเพียง ๕ นาที  ๑๐ นาที ยังไม่ได้ผลมาก ต้องนั่งบ่อยๆนั่งนานๆ ต่อไปเวลาไม่สบายใจก็นั่งสมาธิ ไม่ไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ก็จะหายจากความไม่สบายใจ ถ้ากลับไปคิดเรื่องนั้นอีก ก็จะไม่สบายใจอีก

 

ถ้าอยากจะแก้ปัญหาอย่างถาวร ก็ต้องใช้ปัญญา ต้องคิดว่าความไม่สบายใจเกิดจากความอยากของเราเอง อยากให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็เลยไม่สบายใจ เพราะไม่ได้เป็นอย่างที่อยากให้เป็น ต้องสอนใจว่า อยากให้เรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นไปตามความอยากของเราไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง เขาจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เขาเป็นไป เช่นเขาอาจจะไม่ชอบเรา โกรธเกลียดเรา ก็อย่าไปอยากให้เขารักเรา ปล่อยเขาไป วันนี้เขาโกรธเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะรักเราก็ได้ วันนี้เขารักเรา พรุ่งนี้เขาอาจจะเบื่อเราก็ได้ ให้คิดอย่างนี้เพื่อจะได้ไม่ไปทุกข์กับเขา ต้องคิดว่าเขาไม่แน่นอน เขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ วันนี้เขาดีพรุ่งนี้เขาร้ายก็ได้ วันนี้เขาร้ายพรุ่งนี้เขาดีก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็จะหายจากความไม่สบายใจได้ คืออย่าไปอยากให้เขาเป็นไปตามความอยากของเรา ต้องยอมรับความจริง เขาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ แล้วเราจะหายจากความไม่สบายใจ ถ้าไม่สามารถทำให้หายได้ด้วยความคิดอย่างนี้ ก็กลับมานั่งสมาธิดูลมหายใจ อย่าไปคิดถึงเขา ไม่นานก็จะหายจากความไม่สบายใจ

 

นี่คือการแก้ความไม่สบายใจ แก้ได้ ๒ วิธี คือ ๑. นั่งสมาธิ ๒. ใช้ปัญญา ใช้เหตุผลพิจารณาให้ปล่อยวาง เรื่องที่อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ต้องหัดทำอยู่เรื่อยๆ ต้องซ้อมคิดอย่างนี้ไว้ก่อน ต้องซ้อมนั่งสมาธิไว้ก่อน ถ้าไม่ซ้อมถึงเวลาต้องนั่งจริงๆจะนั่งไม่ได้ เวลาไม่สบายใจ แล้วอยากจะนั่งสมาธิเพื่อให้ใจสงบ ไม่ให้วุ่นวาย ก็จะนั่งไม่ได้ เพราะความคิดตอนนั้นมันจะมีกำลังมาก จะไม่ยอมหยุดคิด ถ้าซ้อมอยู่เรื่อยๆ จะมีกำลังหยุดความคิดที่ไม่ดีได้ เวลาที่ไม่สบายใจ จึงต้องทำทุกวันเหมือนกับการออกกำลังกาย ร่างกายถึงจะแข็งแรง เหมือนกับการรับประทานอาหาร ที่ต้องรับประทานทุกๆวัน ร่างกายถึงจะอยู่ได้ มีกำลังและแข็งแรง ใจก็เป็นเหมือนกับร่างกายที่เราจะต้องให้อาหาร ต้องออกกำลังใจอยู่เรื่อยๆ ต้องนั่งสมาธิบ่อยๆ วันหนึ่งนั่งได้ ๒ – ๓ ครั้งหรือมากกว่านั้นได้ยิ่งดี นั่งให้นานๆ นั่งจนกว่าจะทนนั่งไม่ได้ ต่อไปจะมีพลังจิตที่จะยุติความไม่สบายใจต่างๆได้

 

เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด ไม่เหมือนกับการแก้ด้วยการไปเที่ยว ไปดูหนังฟังเพลง ที่เป็นเพียงเบี่ยงเบนจิตใจไปชั่วคราว พอกลับมาบ้านก็จะเจอปัญหาเดิมอีก ต้องเสียเงินเสียทอง แล้วก็จะติดเป็นนิสัยไป เวลาไม่มีเงินทอง หรือไม่สามารถออกไปเที่ยวได้ ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร แต่ถ้านั่งสมาธิเป็นหรือรู้จักคิดด้วยปัญญา ก็จะแก้ปัญหาของใจได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะอยู่ในสภาพใดก็ตาม จะมีเงินทองหรือไม่มีเงินทอง เพราะต้องแก้ด้วยสมาธิด้วยปัญญาเท่านั้น ไม่ได้แก้ด้วยเงินทอง ถ้าไม่สบายใจก็ต้องไปชอปปิ้งไปเที่ยว ก็ต้องมีเงินทองถึงจะแก้ได้ ถ้าไม่มีเงินทองออกไปข้างนอกไม่ได้จะทำอย่างไร ควรหันมาใช้สมาธิใช้ปัญญากันจะดีกว่า เพราะจะแก้ความไม่สบายใจต่างๆได้

 

นี่คือเหตุผลที่ต้องฝึกนั่งสมาธิกัน ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน เพื่อจะได้มีสมาธิมีปัญญามาแก้ปัญหา คือความไม่สบายใจ แก้ได้ทั้ง ๒ ทาง สมาธิก็ได้ ปัญญายิ่งดีใหญ่ ถ้าใช้ปัญญาก็จะแก้ได้อย่างถาวร ถ้าแก้ด้วยสมาธิจะแก้ได้ชั่วคราว เดี๋ยวปัญหาก็จะกลับมาใหม่อีก ในเบื้องต้นถ้าใช้ปัญญาไม่เป็น ก็ใช้สมาธิแก้ไปพลางๆก่อน จนกว่าจะรู้จักใช้ปัญญา รู้จักคิดปล่อยวาง ไม่ยึดติด ไม่ได้อยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ที่เป็นต้นเหตุของความไม่สบายใจ

 

ถาม  คุณพ่อสอนให้ตามลม คือดูลมเข้าแล้วก็ตามไปตลอด

 

ตอบ  ควรดูลมที่จุดเดียวจะดีกว่า ดูที่ปลายจมูก เฝ้าดูอยู่ตรงจุดนั้น ใจจะได้นิ่ง ถ้าตามลมใจจะไม่นิ่ง ใจต้องทำงาน ใจจะไม่สงบ ต้องดูอยู่ที่จุดเดียว อยู่ที่ปลายจมูก ให้รู้อยู่ตรงนั้น ลมหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก ให้รู้เพียงเท่านี้ ไม่ต้องบังคับลม จะหายใจสั้นหรือหายใจยาว จะหยาบหรือละเอียด ก็ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง ถ้าลมหายไปก็ไม่ต้องกลัวว่า ถ้าไม่มีลมแล้วจะตาย ไม่ตายหรอก เพราะลมหายใจละเอียดจนไม่สามารถรับรู้ได้ ให้รู้อยู่กับผู้รู้ ให้รู้เฉยๆ รู้ว่าตอนนี้ไม่มีลม รู้อยู่กับความว่าง

 

อย่าให้ใจคิด ถ้าอยู่กับความว่างแล้วจะมีความสุข จะสงบ จะรวมลง อย่าไปวิตก ถ้าตกใจกลัว คิดว่าจะตาย จิตที่ละเอียดก็จะถอยออกมา มาคิดมาปรุงแต่ง ไม่ควรคิดปรุงแต่ง ให้รู้เฉยๆ ไม่มีลมก็รู้ ตราบใดถ้ามีการรับรู้อยู่นี่ไม่มีวันตาย แล้วจิตจะรวมเข้าสู่ความสงบ เวลารวมลงเหมือนกับขาดใจตาย วูบลงไป เหมือนหายใจเฮือกสุดท้าย แล้วก็นิ่งไปเลย จะมีความสุขมาก ให้นิ่งไปนานๆ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเจริญปัญญา ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรทั้งนั้น ตอนนั้นไม่ต้องการทำอะไร ต้องการให้จิตพักผ่อนให้นานที่สุด จนกว่าจิตจะถอนออกมาเอง ออกมารับรู้รูปเสียงกลิ่นรส มารับรู้ความคิดต่างๆ ตอนนั้นค่อยเอาปัญญามาสอนใจ สอนให้คิดไปในทางความจริง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรเป็นของเรา อย่าไปยึดอย่าไปติดกับอะไร อย่าไปอยากกับอะไร ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามเรื่องของเขา ไม่มีเขาเราก็อยู่ได้ มีความสุขมากกว่ามีเขา ให้คิดอย่างนี้

 

อย่าตามลมนะ ตามเข้าตามออกแล้ว จะไม่สงบจะไม่นิ่ง ให้รู้ตรงจุดเดียว ไม่ต้องพุทโธก็ได้ ดูลมอย่างเดียว ถ้าดูลมแล้วไม่หยุดคิด ก็อย่าเพิ่งดูลม ให้บริกรรมพุทโธๆ ไม่ต้องดูลม จนกว่าจะหยุดคิด หรือจนกว่าจะสงบ บางทีพุทโธๆไปแล้วจิตจะรวมลงไปเลย จะสงบ ก็จะหยุดพุทโธไปเอง แต่อย่าใช้ทั้ง ๒ อย่าง เพราะยุ่งยาก เวลาหายใจเข้าว่าพุท หายใจออกว่าโธ ถ้าช้าไปความคิดจะเข้ามาแทรก อย่างนี้ก็อย่าไปดูลมเลย เอาแต่พุทโธอย่างเดียว บริกรรมพุทโธให้เร็วขึ้นให้ถี่ขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความคิดต่างๆ ถ้าชอบใช้ ๒ อย่างก็ไม่ห้าม ถ้าใช้พุทเข้าโธออกแล้วจิตสงบ ก็ใช้ได้ ต้องขยันนะ อย่าทำเล่นๆ ทำครั้ง ๒ ครั้งพอเบื่อก็เลิกทำ ถ้าอยากจะได้ผล ต้องทำไปจนติดเป็นนิสัย ต่อไปจะมีที่พึ่งทางใจ มีพุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ก็คือความสงบ เวลาว้าวุ่นขุ่นมัว ไม่สบายใจ เสียอกเสียใจ ก็นั่งสมาธิไป ทำใจให้สงบ สอนใจให้ปล่อยวาง

 

ถาม  มีเรื่องไม่สบายใจ วันหนึ่งนั่งรถเมล์ก็คิดเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เลยภาวนาพุทโธไป สักพักหนึ่งก็จะคิดอสุภะนะค่ะ พอลงไปต่อรถจิตก็โล่งๆ ก็ถามว่าจะไปไหน ก็นึกไม่ออก มีอะไรผิดไหมคะ

 

ตอบ  ไม่ผิด จิตว่าง หยุดคิดปรุงแต่งไปชั่วคราว  

 

ถาม  ตอนแรกนึกว่าไม่มีสติ

 

ตอบ  ตัวรู้ก็คือตัวสติ ตัวเดียวกัน ถ้าดูแลการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ ทำอะไรได้ตามปกติได้  แล้วเดี๋ยวก็กลับมาคิดต่อ

 

โยม  ใช่ค่ะ ใช้เวลาสัก ๓๐ – ๔๐ วินาที ก็นึกได้

 

ตอบ  อันนี้จะเรียกว่าขณิกสมาธิก็ได้ สงบแป๊บหนึ่ง ว่างแป๊บหนึ่ง เวลาจิตสงบก็จะว่างอย่างนี้ จะไม่คิดอะไร จะรู้เฉยๆ

 

โยม  ตอนแรกก็ตอบไม่ได้ว่าจะไปไหน

 

ตอบ  อย่างที่หลวงปู่ชอบท่านเดินไปเจอเสือ จิตของท่านก็รวมลง แล้วร่างกายของท่านก็หายไปจากจิต เหลือแต่จิตดวงเดียว ตอนนั้นท่านไม่รู้เรื่องของร่างกาย ไม่รู้เรื่องของเสือ แล้วต่อมาจิตท่านถึงถอนออกมา ท่านเห็นร่างกายของท่านยังยืนอยู่เหมือนเดิม ยืนถือโคมไฟอยู่ แต่เทียนที่จุดอยู่ในโคมไฟไหม้หมดไปแล้ว แสดงว่าท่านยืนอยู่ในท่านั้นเป็นเวลานาน จิตถ้ารวมเต็มที่จะปล่อยร่างกาย แต่ของคุณนี่ยังไม่ได้ปล่อยร่างกาย เพียงแต่หยุดคิดชั่วคราว

      

ผลที่ได้จากการนั่งสมาธิเป็นผลชั่วคราว อย่าไปยึดติด ผ่านไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ควรอยู่ในปัจจุบัน ดูว่าจิตในปัจจุบันเป็นอย่างไร ยังโลภโกรธหลงอยู่หรือเปล่า ถ้ายังโลภโกรธหลงอยู่ก็ต้องละให้ได้ ต้องเจริญปัญญาต่อ อย่าไปยึดติดกับจิตว่างในอดีต คิดว่าหยุดจิตแล้ว ลืมดูจิตในปัจจุบัน ว่าเรากำลังโลภโกรธหลงอยู่หรือเปล่า มัวแต่ไปคิดถึงความว่างในอดีต ไปยึดสัญญาอารมณ์ แล้วก็วาดภาพไปว่า ได้บรรลุแล้ว ได้สำเร็จแล้ว แต่ไม่ดูจิตในปัจจุบันว่ากำลังเป็นอะไรอยู่ กำลังวุ่นวายกำลังหลงกับอะไรอยู่หรือเปล่า นี่เป็นปัญหาของผู้ปฏิบัติ ไม่มีสติปัญญา พอได้สัมผัสรับรู้อะไรในขณะที่นั่งสมาธิ ก็ไปยึดไปติดกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว พอออกมาจากสมาธิก็ผ่านไปแล้ว สิ่งที่อยู่ในปัจจุบันกลับมองไม่เห็น อันนี้ต้องระวัง ต้องให้จิตอยู่ในปัจจุบันเสมอ ดูว่ากำลังเป็นอะไรอยู่

 

การนั่งคราวที่แล้วจะวิเศษวิโสหรือไม่ดีขนาดไหน มันก็ผ่านไปแล้ว อย่าไปสนใจ ให้สนใจว่าจิตตอนนี้ยังนิ่งยังสงบอยู่ หรือยังวุ่นวายหรือยังหลง ยังสงสัยยังมีปัญหาอยู่ ถ้าไม่ได้ศึกษาจากครูบาอาจารย์ จะพุ่งไปที่การเห็นนั่นเห็นนี่ ต้องเห็นนั่นเห็นนี่นะ เห็นหรือยัง เห็นหรือยัง ถ้าไม่เห็นก็ไม่กล้าพูดว่าไม่เห็น ก็จะพูดว่า“คิดว่าเห็นแล้วนะ” กลัวจะอายเพื่อน ความจริงเวลานั่งแล้วเห็นนี้ไม่ดี ไม่เห็นอะไรเลยถึงจะดี ถ้าเห็นต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นความตาย เห็นอสุภะ เห็นอย่างนี้ดี เห็นแล้วก็ต้องเอามาเห็นต่อ ไม่ใช่เห็นตอนนั้นแล้วก็ลืมไป ก็ต้องเอามาเจริญต่อ เห็นความตายแล้ว ก็ต้องเอามาเจริญต่ออยู่เรื่อยๆ จนกว่าความกลัวตายจะหายไป ถ้ายังกลัวตายอยู่ ก็ต้องพิจารณาความตายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหายกลัว จนกว่าจะยอมตาย จนกว่าจะยอมรับความจริง การเห็นอสุภะก็เหมือนกัน ต้องเห็นไปเรื่อยๆ จนไม่มีกามารมณ์หลงเหลืออยู่เลย ถ้ายังมีก็ต้องเห็นไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ เห็นครั้งเดียวไม่พอ

 

เวลานั่งสมาธิแล้วเห็นอะไร ก็คิดว่าบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ความจริงยังไม่บรรลุนะ เป็นเพียงเห็นหนังตัวอย่าง ต้องเอามาทำต่อ ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เห็นทุกลมหายใจเข้าออก จนกว่าจะตัดกิเลสต่างๆได้หมด ตัดความกลัวตายได้ ตัดความกลัวความเจ็บได้ ตัดกามารมณ์ได้ ถึงจะพอ ถึงจะบรรลุได้ ถ้านั่งแล้วเห็นอะไร ก็วาดภาพไปว่านิพพานแล้ว แต่พอออกมาก็ยังโลภโกรธเหมือนเดิม แต่มองไม่เห็น  ต้องดูปัจจุบันเป็นหลัก การปฏิบัติการภาวนา ต้องดูผลที่เกิดในปัจจุบันเสมอ ผลที่เกิดในอดีตมันผ่านไปแล้ว ถ้าผลที่เกิดในอดีตยังอยู่ในปัจจุบัน ก็แสดงว่าถาวร ถ้าหายไปแล้วก็แสดงว่าชั่วคราว ดูใจนี่แหละ เวลามันกระเพื่อมขึ้นมา มันจะฟ้อง โกหกตัวเองไม่ได้หรอก ถ้าดูใจจะรู้ รู้ว่าใจนิ่งหรือไม่นิ่ง กระเพื่อมหรือไม่กระเพื่อม โลภหรือไม่โลภ โกรธหรือไม่โกรธ จะรู้ถ้ามีสติปัญญาดูใจตลอดเวลา อย่ายึดติดกับสัญญาอารมณ์ อย่ายึดติดกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ต้องทำให้มีอยู่ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ให้จิตสงบอย่างต่อเนื่อง ให้ว่างอย่างต่อเนื่อง ไม่หวั่นไหวไม่กระเพื่อมกับอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ดีหรือชั่ว ร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง สัมผัสรับรู้แล้ว ไม่กระเพื่อม ไม่ตกใจ ไม่หวาดกลัว ดูที่ใจนี่แหละ เป็นที่วัดผลของการปฏิบัติ บางทีต้องให้คนอื่นทดสอบอารมณ์ ให้เขย่าจิตเรา หลวงตาท่านเขย่าจิตเก่ง พอเข้าใกล้หลวงตา จิตจะกระเพื่อมทันที  ตอนต้นก็คิดว่านิ่ง พอเข้าใกล้ท่านปั๊บ ไม่รู้มาจากไหน ต้องนิ่งทั้งต่อหน้าและลับหลัง