กัณฑ์ที่ ๔๓๗ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๕
ความจริงที่แท้จริง
พวกเราต้องมีหลักยึดในการดำเนินชีวิต ต้องมีธรรมะความถูกต้องเป็นหลักยึด ถ้าเกรงใจกันจะทำให้เกิดความเสียหายได้ อย่างที่หลวงตาท่านพูดไว้ว่า ท่านเกรงธรรม ท่านไม่เกรงใจคน ถ้าเกรงใจคนธรรมก็แหลก ที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่นี้ ก็ปฏิบัติเพื่อให้มีธรรมะเป็นหลักยึด เป็นที่พึ่งของจิตใจ ถ้าใจมีที่พึ่งใจจะสงบ ไม่วุ่นวาย เพราะธรรมะเป็นความจริง สิ่งอื่นๆไม่เป็นความจริง พวกเราอยู่ในโลกของความจริงและความไม่จริง ความไม่จริงก็คือสมมุติทั้งหลาย ไม่เป็นความจริงที่แท้จริง เป็นความจริงชั่วคราว สมมุติกันขึ้นมา ความจริงที่แท้จริงก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ประกอบด้วยธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย เป็นสิ่งของต่างๆ ล้วนมาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟทั้งนั้น พอประกอบกันขึ้นมาแล้ว ก็ถูกสมมุติว่าเป็นชายเป็นหญิง เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นลูกเป็นหลาน เป็นพี่เป็นน้อง เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นกษัตริย์ เป็นประชาชน เป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี เป็นส.ส. เป็นสมมุติทั้งนั้น เป็นความจริงชั่วคราว พอร่างกายหยุดทำงาน ธาตุทั้ง ๔ ก็จะแยกออกจากร่างกายไป เอาไปเผาก็เหลือแต่ขี้เถ้า ไม่มีแล้วคนๆนั้น นายคนนั้น จะเป็นใครก็ตาม เพราะความจริงที่แท้จริงก็คือ เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เท่านั้นเอง
ถ้ารู้อยู่กับความจริงที่แท้จริง ว่าโลกนี้เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ถ้าไปยึดติด ว่าเป็นตัวเราของเรา เป็นพ่อเป็นแม่เรา เป็นลูกเรา เป็นสามีเรา เป็นภรรยาเรา เป็นครูบาอาจารย์เรา ก็จะไม่หลง จะไม่ทุกข์ ถ้าไม่รู้อยู่กับความจริงที่แท้จริง คือธรรมะ ก็จะหลงสมมุติ จะยึดติดกับสมมุติ พอสมมุติสลายตัวไป หมดสภาพไป ก็จะเกิดความทุกข์ เกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา ขณะที่อยู่ด้วยกัน ก็ทุกข์ด้วยความวิตกกังวลห่วงใย เพราะว่าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะมีปัจจัยหลากหลาย ที่จะทำลายสมมุติ พวกเราจึงควรมองไปที่ความจริงที่แท้จริง ว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่มีใครอยู่ในธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ผู้ที่มาครอบครองธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟนี้ ไม่ได้เป็นธาตุ ๔ แต่เป็นธาตุที่ ๕ เรียกว่าธาตุรู้ คือใจ ใจเป็นผู้ที่มาครอบครองร่างกาย พอร่างกายแตกดับไป ใจก็แยกจากไปเท่านั้นเอง
จะไปไหนต่อก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของใจแต่ละดวง ก็จะไปได้ ๓ ทางคือ ๑. ไปสวรรค์ ๒.ไปนรกไปอบาย ๓. ไม่ไปไหนเลย ไม่ไปสวรรค์ ไม่ไปนรก ยุติการไป เช่นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ท่านไม่ไปสวรรค์ ไม่ไปนรก ท่านหยุดการเวียนว่ายตายเกิด หยุดการเดินทางของธาตุรู้คือใจ ไม่ไปรวมกับธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟอีกต่อไป เพราะท่านมีความรู้ที่แท้จริง ว่าการดิ้นรนแสวงหาสมมุติต่างๆนั้น ไม่มีคุณค่าอะไรเลย ไม่เป็นประโยชน์สุขกับจิตใจเลย เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ที่มีแต่ให้ความทุกข์กับจิตใจ พอได้ร่างกายมาแล้วก็ต้องแบกหามร่างกาย ตั้งแต่วันเกิดไปจนถึงวันตาย เป็นภาระหนักมาก ภาราหเว ปัญจักขันธา ใจเป็นผู้แบกภาระของร่างกาย ต้องคอยดูแลเลี้ยงดูร่างกาย พอออกจากท้องแม่มาก็ต้องหายใจ ต้องรับประทานอาหาร ดื่มนม ดื่มน้ำ ต้องรับประทานยาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องหาเสื้อผ้ามาสวมใส่ ต้องคอยชำระร่างกาย เพราะมีสิ่งสกปรกปฏิกูล ที่ถูกขับออกมาจากร่างกายตลอดเวลา ถ้าไม่ชำระอยู่เรื่อยๆก็จะส่งกลิ่นเหม็น
ที่ได้ร่างกายมาก็เพราะอำนาจของความหลง ไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้มาเป็นทุกข์ ไม่ได้เป็นสุข เป็นดินน้ำลมไฟ นานๆจะมีคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ความจริงนี้ มารู้ว่าใจเป็นผู้หลงแบกธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เป็นเวลาอันยาวนาน พอเสียธาตุ ๔ ไปก็หามาใหม่ ไปเกิดใหม่ ทำอยู่อย่างนี้มาเป็นเวลาอันยาวนาน ต้องทุกข์กับการแบกหามธาตุ ๔ มาอย่างโชกโชน น้ำตาที่ได้หลั่งออกมานี้ ในแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าเอามารวมกันแล้ว ท่านว่ามันมากกว่าน้ำในมหาสมุทร แสดงว่าร่างกายที่ใจได้มาแบกนี้ มีจำนวนมากมายมาก คิดดูสิว่าชาติหนึ่งจะหลั่งน้ำตาออกมาได้ถึงขันหนึ่งหรือไม่ แล้วต้องใช้น้ำตากี่ล้านกี่แสนล้านขัน ถึงจะได้น้ำเท่ากับน้ำในมหาสมุทร นั่นแหละคือจำนวนร่างกาย คือธาตุขันธ์ ธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟที่ใจได้แบกมา และจะแบกต่อไปเรื่อยๆ ถ้าไม่สอนใจให้ฉลาด ให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา ตัวเราไม่ได้อยู่ในธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่ได้อยู่ในร่างกาย ร่างกายไม่ได้ให้ความสุข มีแต่จะให้ความทุกข์ มีเกิดแล้วก็ต้องมีแก่มีเจ็บมีตายตามมา
ถ้าสอนใจอยู่เรื่อยๆก็จะปล่อยวางร่างกายได้ จะเข้าสู่ความสุขที่แท้จริงคือความสงบ ที่เกิดจากการปล่อยวางร่างกายของตนและของคนอื่น ปล่อยวางสิ่งของต่างๆ ไม่ต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้มาให้ความสุข เพราะความสุขที่ได้กับความทุกข์ที่ได้ไม่คุ้มกัน ความสุขที่ได้นี้ได้เพียงเล็กน้อย แต่ได้ความทุกข์มากกว่าหลายร้อยเท่า ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องคือมีปัญญา ก็จะเบื่อกับสิ่งต่างๆในโลกนี้ จะไม่อยากได้ ไม่อยากมีอยากเป็น อยากได้อย่างเดียวก็คือความสงบ ที่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย ที่สิ่งต่างๆและบุคคลต่างๆในโลกนี้จะสามารถให้ได้ ความสุขนี้ชนะความสุขทั้งปวง ความสุขนี้แหละคือรสแห่งธรรม ที่ชนะรสทั้งปวง ธรรมก็คือความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ที่พวกเราต้องคอยศึกษาอยู่เรื่อยๆ
การศึกษาเบื้องต้นก็เกิดจากการฟังเทศน์ฟังธรรม หรืออ่านหนังสือธรรมะ เป็นสุตมยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังธรรม เช่นรู้ว่าความจริงกับความไม่จริงเป็นอย่างไร ความไม่จริงก็คือสมมุติทั้งหลาย ความจริงก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ที่ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ถ้าไปยึดติด พอทราบแล้วก็ต้องเอามาพิจารณาอยู่เรื่อยๆ เจริญอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่พิจารณาต่อก็จะลืมได้ เวลาไปทำกิจกรรมต่างๆ จะไม่มีเวลามาคิดถึงความจริงที่แท้จริงนี้ จะไปคิดกับความจริงที่ไม่แท้จริง ไปคิดเรื่องข้าวของเงินทอง เรื่องบุคคลต่างๆ ไปตามความหลง ความยึดติดความอยากได้ อยากรักษาให้สิ่งต่างๆอยู่กับตนไปนานๆ ก็จะลืมความจริงที่แท้จริงไป การฟังเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถทำให้ใจเห็นความจริงได้ตลอดเวลา
ดังนั้นหลังจากได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ต้องเอามาใคร่ครวญพิจารณาอยู่เนืองๆ ในเวลาที่ไม่ต้องคิดเรื่องภารกิจการงานต่างๆ ก็ควรคิดถึงความจริงที่แท้จริงนี้อยู่เรื่อยๆ ว่าเราอยู่ในโลกของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ แม้กระทั่งร่างกายของเรานี้ ก็เป็นดินน้ำลมไฟ ผู้พิจารณานี้ไม่ได้เป็นดินน้ำลมไฟ แต่เป็นธาตุรู้ เป็นผู้รู้ ที่มีชื่อสมมุติว่าใจ เป็นผู้ที่มาครอบครองร่างกาย แล้วก็ใช้ร่างกายนี้ไปครอบครองสิ่งต่างๆ ต้องคอยสอนใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมีวันสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา หรือร่างกายของคนอื่น จะต้องมีวันหมดสิ้นไป ต้องสลายไป ถ้าคิดอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่หลงยึดติด ไม่อยากได้สิ่งต่างๆ มาให้ความสุขกับเรา เพราะความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความจริงจะให้ความทุกข์กับเรา
ได้อะไรมาแล้วใจจะทุกข์กับสิ่งนั้นทันที ทุกข์เพราะไปยึดติดว่าเป็นของเรา สิ่งที่ไม่ใช่เป็นของเรานี้เราจะไม่ทุกข์ด้วยเลย บ้านคนอื่นจมน้ำเราก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าเป็นบ้านของเราจะทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะไปยึดว่าเป็นของเรา จึงต้องคิดเสมอว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา ทุกอย่างที่มีอยู่นี้ เป็นของยืมมาใช้ชั่วคราวเท่านั้นเอง ร่างกายนี้ก็ยืมเขามา ยืมดินน้ำลมไฟมา ต่อไปธาตุ ๔ ในร่างกายก็จะต้องแยกทางกันไป สมบัติข้าวของเงินทองบริษัทบริวารบุคคลต่างๆ เราก็ต้องจากเขาไป หรือไม่เช่นนั้นเขาก็ต้องจากเราไป จึงไม่มีอะไรเป็นของเรา สัพเพ ธัมมา อนัตตา สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สัพเพ สังขารา อนิจจา สิ่งทั้งหลายในโลกนี้เป็นความทุกข์ สัพเพ สังขารา ทุกขา พอยึดว่าเป็นของเราจะเกิดความทุกข์ทันที พอเป็นพ่อเรา แม่เรา ลูกเรา สามีเรา ภรรยาเรา ก็จะทุกข์ทันที ถ้าเป็นของคนอื่นจะไม่ทุกข์
ถ้าอยากจะอยู่อย่างมีความสุข ไม่มีความทุกข์ ก็ต้องไม่หลงยึดติดสิ่งต่างๆ แม้แต่ร่างกายของเรา ให้คิดเสมอว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟทั้งนั้น มารวมกันแล้ว ไม่นานก็แยกจากกันไป ไม่ว่าจะสร้างอะไรกันขึ้นมา ใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม เวลาจะค่อยๆทำลายไปหมด อาณาจักรต่างๆที่มีในอดีต ก็เสื่อมสลายหายไปหมด เหลือแต่ซากปรักหักพังไว้เป็นอนุสรณ์ นานๆเข้าไปก็จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย แม้แต่โลกนี้ก็เช่นเดียวกัน สักวันหนึ่งก็จะต้องสูญสลายไป มีสิ่งเดียวที่ไม่ได้เสื่อมสลายไป ก็คือธาตุรู้ เป็นธาตุรู้อยู่เสมอ เพียงแต่ว่าจะรู้แบบไหน รู้จริงหรือรู้หลง ถ้ารู้หลงก็จะผลิตความทุกข์ให้กับธาตุรู้ ถ้ารู้จริงก็จะไม่ผลิตความทุกข์ จะรู้เฉยๆ จะไม่ยึดติดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวเราเป็นของเรา นี่คือสิ่งที่เราต้องใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆ
แต่ในชีวิตของฆราวาสญาติโยมที่ต้องทำมาหากิน โอกาสที่จะคิดเรื่องเหล่านี้ แทบจะไม่มีเลย เพราะมัวแต่คิดเรื่องภารกิจการงาน การเลี้ยงดูชีวิตของตนเองและของครอบครัว การหาความสุขตามอำนาจของกิเลสตัณหา จะไม่มีเวลาคิดเรื่องความจริงที่แท้จริงนี้ได้เลย จะคิดแต่เรื่องของสมมุติอยู่เรื่อยๆ คิดถึงเรื่องของสามี ของภรรยา ของลูก ของบิดา ของมารดา ของเพื่อน ของครูบาอาจารย์ ของคนนั้น ของคนนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น ถ้าจะคิดได้บ่อยๆ จำเป็นต้องปล่อยวางภารกิจการงานที่ไม่จำเป็นลงไป ให้มีเวลาเป็นตัวของตัวเองบ้าง ให้มีเวลามาคิดพิจารณาถึงความจริงที่แท้จริง จะได้เป็นจินตามยปัญญา แต่ก็ยังไม่พอเพียงต่อการที่จะทำให้ใจรู้ทันความหลง ทำลายความหลง ที่คอยดึงใจให้ไปหลงยึดติดกับสมมุติต่างๆได้
ถ้าอยากจะให้ใจทำลายความหลงได้ ก็ต้องพิจารณาตลอดเวลา พิจารณาทุกลมหายใจเข้าออก ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ ให้คิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ก็คือให้พิจารณาอนิจจังของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟนี้เอง ความตายของร่างกายก็คืออนิจจัง ถ้าเห็นอนิจจังก็จะเห็นทุกขัง เห็นอนัตตา อนิจจังทุกขังอนัตตาเป็นความจริงที่เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าเห็นว่าไม่เที่ยง ก็จะเห็นว่าเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พวกเราไม่ชอบของไม่เที่ยง ชอบแต่ของเที่ยง อยากจะให้ทุกอย่างเที่ยงแท้แน่นอน อยากจะให้เป็นเหมือนเดิม ให้เป็นสาวเป็นหนุ่มไปตลอด ไม่แก่ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ตาย แต่ความจริงไม่สนใจต่อความต้องการของเรา ความจริงย่อมเป็นไปตามความจริงเสมอ ถ้าต้องการจะยุติความหลง ที่ทำให้คิดว่าร่างกายเป็นตัวเรา ว่าร่างกายจะไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ก็ต้องคิดอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกว่า ร่างกายนี้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเป็นธรรมดา จะคิดอย่างนี้ได้ก็ต้องปล่อยวางภารกิจอื่นๆทั้งหมด จะปล่อยด้วยการออกบวชก็ได้ ถ้าไม่บวชก็ปล่อยที่บ้านก็ได้ ต้องไม่ทำภารกิจอื่น นอกจากการเดินจงกรมนั่งสมาธิเท่านั้น
ที่ต้องนั่งสมาธิกันก็เพื่อเสริมสร้างพลังให้แก่ใจ ให้อาหารให้ความสุขแก่ใจ ถ้าใจไม่สงบจะไม่มีกำลังพิจารณาไตรลักษณ์ เหมือนการทำงาน ถ้าไม่ได้เงินเดือน จะไม่มีกำลังใจทำงาน สิ้นเดือนแล้วเงินเดือนไม่ออกนี้ คงจะไม่ไปทำทุกวัน ไปทำแล้วไม่ได้เงินเดือน ไม่รู้จะทำไปทำไม ใจก็เหมือนกัน การที่ใจจะเจริญความรู้ที่แท้จริงนี้ได้ จำเป็นต้องมีความสุขใหม่มาทดแทน ความสุขที่เคยมีอยู่ เมื่อก่อนมีความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรส มีความสุขกับการได้ลาภยศสรรเสริญ แต่พอออกมาทำงานทางนี้ เพื่อสร้างความรู้ที่แท้จริงให้กับใจ ก็ต้องมีความสุขทดแทน คือความสงบ เวลาใจสงบจะมีความสุข ดังนั้นการจะพิจารณาความจริงที่แท้จริงนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ใจต้องมีความอิ่มมีความสุขก่อน การปฏิบัติในเบื้องต้นจึงต้องทำใจให้สงบก่อน ด้วยการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ควบคุมใจไม่ให้คิดเรื่องต่างๆ เพราะความคิดทำให้ใจไม่สงบ ถ้าสามารถควบคุมใจไม่ให้คิดเรื่องต่างๆได้ เวลานั่งทำใจให้สงบ จะสงบได้อย่างรวดเร็ว พอใจสงบแล้วก็จะมีความสุข จะเห็นแล้วว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจที่สงบ ที่ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างนั่นเอง
ขณะที่ใจสงบนี้ ใจจะไม่ไปยุ่งกับเรื่องอะไรทั้งนั้น ไม่ไปยุ่งกับสมมุติทั้งหมด ไม่ยุ่งกับร่างกาย ของตนเองก็ดี ของคนอื่นก็ดี ไม่ยุ่งกับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ไม่ยุ่งกับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ตอนนั้นใจจะลืมไปหมด จะอยู่กับความว่าง ความนิ่ง ความสบายใจ จะทำใจให้สงบได้นี้ จะต้องเจริญสติให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย พอตื่นขึ้นมาก็ต้องควบคุมความคิดเลย ไม่ปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย จะให้อยู่กับร่างกายก็ได้ หรือบริกรรมพุทโธๆไปก็ได้ ถ้าอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เวลาร่างกายทำอะไรก็ให้รู้อยู่กับการกระทำของร่างกาย ถ้าไม่สามารถดึงไว้ให้อยู่กับร่างกายได้ ยังไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ก็ต้องใช้การบริกรรมพุทโธๆเข้ามาช่วย ไม่ว่าจะทำภารกิจการงานอะไรก็ให้บริกรรมพุทโธๆไปภายในใจ บริกรรมไปเรื่อยๆ ความคิดต่างๆก็จะไม่สามารถคิดได้ พอเสร็จจากภารกิจการงาน มีเวลาว่างก็นั่งสมาธิ นั่งหลับตา จะบริกรรมพุทโธต่อก็ได้ จะหยุดบริกรรมแล้วดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ ถ้าใจไม่ไปคิดเรื่องต่างๆ ใจก็จะสงบลงไปตามลำดับ จนสงบเต็มที่ในที่สุด แล้วก็จะพบกับความสุขที่เลิศกว่าความสุขทั้งหลายในโลกนี้
พอได้ความสุขจากการนั่งสมาธิแล้ว ก็จะมีเครื่องอยู่ มีที่อาศัย จะสามารถออกทำงานทางด้านปัญญาได้ เจริญภาวนามยปัญญาได้ พิจารณาความจริงที่แท้จริงตลอดเวลา หลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว เวลาอยู่ในสมาธิอย่าไปพิจารณา เป็นเวลาพักผ่อน เป็นเวลาชาร์จแบตฯ เป็นเวลาเติมน้ำมัน รถวิ่งไม่ได้เวลาเติมน้ำมัน ต้องเติมน้ำมันให้เต็มถังก่อน เติมเสร็จแล้วถึงค่อยขับรถออกไปวิ่งต่อ ในขณะที่อยู่ในสมาธิอยู่ในความสงบ เวลานั้นไม่ใช่เวลาที่จะเจริญปัญญา เวลาจะเจริญปัญญาต้องออกมาจากสมาธิแล้ว จิตถอนออกมาแล้ว จิตอิ่มตัวแล้ว อย่าไปดึงจิตออกมา ปล่อยให้จิตสงบเต็มที่ พออิ่มตัวแล้วจะถอนออกมาเอง พอถอนออกมาแล้ว เริ่มคิดปรุงแต่ง ก็ให้คิดปรุงแต่งไปตามความจริง คิดเรื่องธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่นี้เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ที่รวมตัวกันแล้ว ไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องแยกจากกันไป เพราะน้ำจะต้องกลับไปหาน้ำ ดินจะต้องกลับไปหาดิน ลมจะต้องกลับไปหาลม ไฟจะต้องกลับไปหาไฟเสมอ ไม่ว่าใครจะเอาธาตุ ๔ มาผสมรวมกันอย่างไร การกลับคืนสู่ธาตุเดิม จะทำลายสิ่งที่เกิดจากการรวมตัวของธาตุ ๔ เช่น ร่างกายเป็นต้น เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ที่จะแยกออกจากกันอยู่เรื่อยๆ จนร่างกายสลายหายไปหมด เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ต้นไม้ใบหญ้า วัตถุข้าวของต่างๆ ไม่ช้าก็เร็วก็จะแยกจากกันไป จะสลายไปหมด
นี่คือการพิจารณาความจริงของโลกที่ใจยึดติดอยู่ เพื่อจะได้ยุติความหลง ที่หลอกให้หลงคิดว่าเป็นสุข เป็นนิจจัง เป็นอัตตา เป็นตัวเราของเรา ความจริงแล้วเขาเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ความหลงจะไม่สามารถหลอกให้เกิดความอยากต่างๆขึ้นมาได้ พอไม่มีความอยากแล้วใจก็จะสงบตลอดเวลา เหตุที่ใจไม่สงบก็เพราะความอยากนี่เอง เวลาเกิดความอยากแล้ว ใจจะวิตกกังวลกระสับกระส่าย พอได้มาก็ดีใจเดี๋ยวเดียว ไม่ได้ก็เสียใจทุกข์ใจ ได้มาแล้วก็ไม่พอ อยากได้สิ่งอื่นอีก ได้มาเท่าไหร่ก็ไม่พอสักที จะอยากได้ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้มาก็คือธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ได้อนิจจังทุกขังอนัตตามา ก็จะอยากไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าอยากมากี่ภพกี่ชาติแล้ว ก็อยากกับธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟนี่เอง ไม่ได้อยากกับอะไร แต่พอมีความรู้ที่ถูกต้องอยู่ภายในใจตลอดเวลา ทุกลมหายใจเข้าออก ก็จะไม่อยากได้อะไร เพราะรู้ว่าเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่มีความวิเศษวิโสตรงไหน ความวิเศษวิโสอยู่ตรงที่ใจสงบ ไม่อยากได้อะไรต่างหาก พอไม่อยากแล้วใจจะสงบ ต่อไปไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้ ตอนที่ต้องนั่งสมาธิเพราะยังไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ที่จะรักษาใจให้สงบได้ ก็เลยต้องอาศัยอุบายของสมาธิไปก่อน ทำใจให้สงบก่อน แต่เป็นความสงบชั่วคราว พอมีความรู้ที่ถูกต้องคอยกำกับควบคุมใจอยู่ตลอดเวลา ใจก็จะไม่กระเพื่อม จะสงบตลอดเวลา ไม่ต้องนั่งสมาธิก็ได้
นี่คืองานของพระศาสนา งานของพุทธบริษัท ๔ คืองานสร้างความรู้ที่แท้จริงนี้ ให้อยู่กับใจตลอดเวลา ถ้ามีอยู่ตลอดเวลาแล้ว ความหลงจะไม่สามารถมาหลอกว่าเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นพี่เป็นน้อง เป็นลูกเป็นหลานได้ เพราะเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่เที่ยงแท้แน่นอนถาวร ไม่ได้ให้ความสุข ไม่มีตัวตนในธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ นี่คือการปฏิบัติของพวกเรา ส่วนใหญ่จะติดอยู่ที่ขั้นแรกกัน คือการฟังธรรม พอจากที่นี่ไป ก็กลับไปหาพ่อหาแม่ หาพี่หาน้อง หาสามีหาภรรยา แทนที่จะไปหาธาตุ ๔ อนิจจังทุกขังอนัตตา ก็กลับไปเหมือนเดิม ถ้าเป็นอย่างนี้ปฏิบัติไปทั้งชาตินี้ก็คงจะไปไม่ถึงไหน เพราะยังไม่ได้ปฏิบัติ ไม่ยอมขึ้นขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ เอาแต่ขั้นที่ ๑ คือการฟังธรรมอย่างเดียว สุตมยปัญญา ไม่ก้าวสู่ขั้นจินตามยปัญญาเลย ต้องเอาไปใคร่ครวญบ้าง วันหนึ่งควรจะระลึกอย่างน้อยสัก ๓ - ๔ ครั้งก็ยังดี เหมือนกับกินข้าว พวกเรากินข้าววันละ ๓ ๔ เวลา ทำไมไม่ให้อาหารใจวันละ ๓ ๔ เวลาบ้าง คิดถึงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟสัก ๓ ๔ เวลาก็ยังดี ถ้าคิดอยู่บ่อยๆก็จะทำให้เบื่อหน่ายกับการแบกธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ จะทำให้เกิดฉันทะวิริยะ ที่จะทิ้งธาตุ ๔ ไป เพื่อจะได้ไปเจริญขั้นที่ ๓ ต่อไป ก็คือขั้นภาวนามยปัญญา เพื่อเจริญความรู้ที่แท้จริงให้อยู่คู่กับใจไปตลอด ทุกลมหายใจเข้าออก ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนพระอานนท์ไว้ว่า ให้พิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก
ถ้าพิจารณาได้ก็จะเป็นเหมือนพระอานนท์ ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน พวกเราก็จะได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขวางกั้นพวกเรา นอกจากการไม่ปฏิบัติเท่านั้นเอง หรือปฏิบัติแบบอยู่กับที่ ไม่ยอมก้าวขึ้นขั้นต่อไป ชอบอยู่แต่ขั้นที่ ๑ ไม่ยอมขึ้นขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ก็เลยเรียนไม่จบสักที เรียนไปจนวันตายก็ไม่จบ ถ้าอยากจะเรียนให้จบก็ต้องก้าวขึ้นสู่ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ไปตามลำดับ จะเรียนจบอย่างแน่นอน เพราะพระสาวกทุกรูปท่านก็เรียนแบบนี้กัน เรียนจากขั้นที่ ๑ แล้วก็ขึ้นขั้นที่ ๒ จากขั้นที่ ๒ ก็ขึ้นไปสู่ขั้นที่ ๓ พอได้ขั้นที่ ๓ ก็เรียนจบ บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกกัน ส่วนใหญ่ก็ต้องออกบวชกันทั้งนั้น ๙๙ เปอร์เซ็นต์ที่บรรลุกันจะเป็นนักบวช จะมีเพียง ๑ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นฆราวาส แต่พอได้บรรลุแล้ว ก็จะไม่อยากเป็นฆราวาสอีกต่อไป อยากจะบวชกัน พอได้บรรลุธรรมขณะที่เป็นฆราวาสแล้ว ก็จะขอพระพุทธเจ้าบวชทันที เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่กับธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟอีกต่อไปทำไม พวกที่ยังอยู่ก็เพราะยังไม่รู้ว่าเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ยังคิดว่าเป็นสามีเป็นภรรยาเป็นลูก เป็นพ่อเป็นแม่ ยังให้ความสุขกับเรา ยังเป็นของเรา จะอยู่กับเราไปนานๆ นี่คือความหลงที่ครอบงำจิตใจ ที่ทำให้ไม่สามารถออกบวชได้ ไม่สามารถออกปฏิบัติเพื่อให้มีความรู้ที่แท้จริงอยู่กับใจตลอดเวลาได้
จึงขอให้ท่านทั้งหลายนำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ไปพิจารณา ดูว่าตอนนี้อยู่ตรงไหน และควรจะทำอย่างไรต่อไป อย่าปล่อยให้อยู่ที่เดิม เพราะไม่เป็นประโยชน์ ถึงแม้ว่าธรรมขั้นที่ ๑ จะมีคุณค่ามากเพียงไร ก็เป็นเพียงบันไดเพื่อให้ก้าวขึ้นสู่ขั้นที่ ๒ และขั้นที่ ๓ ต่อไป เป้าหมายของพวกเราต้องอยู่ที่การสำเร็จการศึกษา สำเร็จการปฏิบัติ การปฏิบัติของแต่ละขั้นเป็นเพียงขั้นบันได ที่เราจะต้องก้าวขึ้นไปตามลำดับ เพื่อให้ได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง อย่าไปติดอยู่กับขั้นใดขั้นหนึ่ง เพราะจะไม่ได้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่เลิศที่ประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ไปถึงกัน
พวกเราต้องเปลี่ยนจากการไปงานบุญ ไปงานปลีกวิเวกกัน ชอบเหลือเกินงานบุญนี้ งานวางศิลาฤกษ์ งานวันเกิด งานหล่อพระ ไม่พิจารณากันบ้างหรือว่าได้อะไรบ้าง ไปก็ได้บุญที่เป็นเศษเงินเศษทอง เป็นเงินเหรียญ ไม่ใช่เงินแบงค์ เป็นเหรียญ ๕ เหรียญ ๑๐ เหรียญ ๑ บาท ส่วนแบงค์ ๑๐๐ แบงค์ ๕๐๐ แบงค์ ๑๐๐๐ ไม่เอากัน ไปปลีกวิเวกดูสิ จะได้แบงค์ ๕๐๐ แบงค์ ๑๐๐๐ ชอบเอาทีละบาทสองบาท แล้วเมื่อไหร่จะได้เงินล้าน พูดอย่างนี้ไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่านะ ได้ผลก็ดี กลัวจะพูดให้พวกหูทวนลมฟัง พวกเข้าหูซ้ายออกหูขวา งานนี้ถ้าทำจริงๆไม่กี่ปีก็เสร็จ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า ไม่เกิน ๗ ปีเป็นอย่างมาก อันนี้เป็นความจริงรับรองได้ นี่เหลืออีก ๒ เดือน ก็จะจบหลักสูตร ๗ ปีแล้วนะ พฤษภาฯนี้ก็เดือนสุดท้ายแล้ว เหลืออีก ๒ กัณฑ์เท่านั้น ปีละ ๑๒ กัณฑ์ ๗ ปีก็ ๘๔ กัณฑ์ ต้องเรียนให้จบให้ได้นะ นี่เหลืออีกเพียง ๒ เดือน พระพุทธเจ้าทรงบอกพระอานนท์ว่า เธอเหลืออีก ๓ เดือนก็จะได้บรรลุอรหัตผลแล้ว พวกเราก็เหลือเพียง ๒ เดือน จึงต้องเร่งความเพียรกัน ไปเที่ยวไปงานบุญไม่ได้แล้วนะ ใกล้จะสอบไล่แล้ว เลิกไปให้หมด ไปหาที่สงบไปอยู่คนเดียว ไปปลีกวิเวก ไปเดินจงกรมนั่งสมาธิตลอด ๒ เดือนนี้ ได้แน่ๆ มรรคผลนิพพานอยู่แค่เอื้อมนะ เพียงแต่ไม่เอื้อมไปหยิบกัน อยู่ในวิสัยที่พวกเราจะเอื้อมหยิบมาได้ แต่ไม่หยิบกันเอง ชอบไปหยิบอย่างอื่นกัน มรรคผลนิพพานไม่เอา เอาแต่รูปเสียงกลิ่นรส
ถาม เวลาที่จิตนิ่ง แล้วเกิดอาการสะดุ้ง อย่างตอนที่ฟังเทศน์ท่านอาจารย์ แล้วกิ่งไม้ตกลงมากระทบหลังคา ก็รู้สึกสะดุ้ง การสะดุ้งของจิตนี้คืออะไร
ตอบ เป็นปฏิกิริยาของจิต เวลาได้สัมผัสรับรู้กับรูปเสียงกลิ่นรสที่รุนแรง ก็จะสะดุ้ง อาการสะดุ้งนี้ไม่ได้เป็นกิเลส ถ้าจะเป็นกิเลส ต้องหลังจากสะดุ้งแล้วเกิดความหวาดกลัวขึ้นมา เกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมา แต่ถ้าสะดุ้งแล้วรับรู้เฉยๆ แสดงว่ามีปัญญาควบคุมกิเลสได้ คือรู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ผ่านไปไม่มีอะไร แต่ถ้าเริ่มสงสัย ว่าเป็นอะไร เป็นผีหรือเปล่า ก็จะเป็นกิเลส ถ้าพิจารณาก็แสดงว่ายังเป็นมรรคอยู่
ถาม เหมือนที่หลวงตาบอกว่า เป็นสัญชาตญาณใช่ไหมคะ
ตอบ เป็นสัญชาตญาณของจิต ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่ง ไม่มีความทุกข์ตามมา ก็ไม่เป็นกิเลส สะดุ้งแล้วก็ผ่านไป รับรู้แล้วก็ผ่านไป ก็จะไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่เกิดความกลัวเกิดความทุกข์ขึ้นมา อย่างนี้ก็จะเป็นกิเลส
ถาม มีปัญหาเรื่องตกภวังค์ค่ะ คือนั่งหลับ ขอเมตตาวิธีแก้ด้วย
ตอบ ต้องผ่อนอาหารหรืออดอาหาร
ถาม เรื่องอาหารเป็นสำคัญ
ตอบ เวลาภาวนาควรถือศีล ๘ เพราะศีล ๘ จะควบคุมไม่ให้รับประทานอาหารมากเกินไป หลังจากเที่ยงวันไปแล้วก็จะรับประทานอาหารไม่ได้ ถ้าถือศีล ๘ แล้วยังง่วง ก็ต้องอดอาหาร ถ้าถือศีล ๘ แล้วรับประทาน ๒ มื้อ เช้ากับกลางวัน ก็ต้องลดให้เหลือมื้อเดียว ถ้าลดมื้อเดียวแล้วยังง่วงก็ต้องลดปริมาณอาหารลง รับประทานเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยรับประทาน ถ้ายังง่วงก็ต้องไม่รับประทานเลย ก็จะแก้ความง่วงได้ อีกวิธีหนึ่งก็ต้องไปอยู่ตามสถานที่ที่น่ากลัว ไปนั่งในป่าช้า จะไม่ง่วง แต่จะควบคุมจิต ควบคุมความกลัวได้หรือไม่ ถ้าควบคุมไม่ได้ก็จะไม่เกิดประโยชน์
ถาม รับประทานน้อยแล้วเป็นลม แสดงว่าทำเกินความสามารถของร่างกายหรือไม่
ตอบ ต้องพิจารณาดูว่าให้อาหารพอกับความต้องการของร่างกายหรือไม่
ถาม ช่วงที่ท่านอาจารย์อดอาหาร มีอาการวูบหรือเปล่าครับ
ตอบ สำหรับเราไม่มี ควรทำจากน้อยไปหามาก ค่อยๆลดปริมาณลงไป ให้ร่างกายปรับตัว ถ้าอดอาหารแล้วมีปัญหา ก็แสดงว่าไม่ถูกกับจริต ก็ต้องใช้วิธีอื่น ไปหาที่ๆน่ากลัวอยู่
ถาม ทานมื้อเดียวอยู่แล้ว แต่อาจจะนอนน้อยไป
ตอบ ถ้านอนคืนละ ๔ ๕ ชั่วโมง ก็ถือว่าไม่น้อยแล้ว ถ้าเคยนอน ๘ ชั่วโมง พอมานอน ๔ ๕ ชั่วโมงก็จะรู้สึกว่าน้อย
ถาม อาจจะวูบได้ใช่ไหม
ตอบ ร่างกายอาจจะปรับตัวไม่ทัน ต้องค่อยๆลดลงไป จาก ๘ เหลือ ๗ จาก ๗ เหลือ ๖ เหลือ ๕ เหลือ ๔ ลงมาตามลำดับ ถ้าลดฮวบฮาบก็อาจจะปรับตัวไม่ทัน อาจจะมีปัญหาตามมาได้ การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจะได้ผลดีกว่า การปฏิบัติเป็นครั้งเป็นคราว เพราะมีเวลาปรับความเข้มข้นของการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติเป็นครั้งเป็นคราว จะไม่มีเวลาปรับตัว พอจะมาปฏิบัติแบบเข้มข้นเลยก็อาจจะมีปัญหาได้ ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างนักบวชนี้ จะมีเวลาค่อยๆปรับไปทีละเล็กทีละน้อย ต้องดูปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติว่า มาจากจิตใจหรือมาจากร่างกาย เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ถูกจุด ถ้ามาจากจิตใจก็เป็นกิเลส ถ้ามาจากร่างกาย ก็ต้องพิจารณาดูว่าร่างกายมีความบกพร่องอย่างไร ถ้าไม่สามารถปฏิบัติอย่างเข้มข้นได้ ก็ต้องปรับวิธีปฏิบัติใหม่
ถาม จิตบางช่วงมีความรู้สึกหนัก มีก้อนดำๆอยู่กลางอก ควรจะปฏิบัติอย่างไรคะ
ตอบ ถ้าใช้ลมหายใจเป็นที่ผูกใจ ก็ดูลมต่อไป อย่าไปสนใจกับก้อนดำนั้น ถ้าสนใจแสดงว่าไม่ได้ภาวนา ต้องอยู่กับลมหายใจ ไม่ว่าจะมีอะไรปรากฏให้รับรู้ รับรู้แล้วก็ปล่อยวางทันที แล้วก็กลับมาที่ลมหายใจต่อไป ถ้ายังดูลมได้ก็ดูต่อไป ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ไม่ต้องไปวิตกกังวลว่าเป็นอะไร ถ้าไปคิดปรุงแต่งกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นมา แสดงว่าเผลอแล้ว ให้อยู่กับลมไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีอะไรมาปรากฏให้รับรู้ อย่าไปสนใจ พอไม่สนใจแล้วจะหายไปเอง บางทีเป็นสิ่งที่จิตผลิตขึ้นมาเอง เวลานั่งภาวนากิเลสจะต่อต้าน จะสร้างอุปสรรคต่างๆขึ้นมาขวาง ไม่ให้ใจเข้าสู่ความสงบ ให้รู้ทันว่าเป็นมายา มาหลอกไม่ให้ภาวนา ต้องอยู่กับลมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรวมเข้าสู่ความสงบนิ่ง ความว่าง สักแต่ว่ารู้
ถาม เวลาปฏิบัติเพื่อการปล่อยวางนี่ เราไม่สามารถสั่งจิตให้เขาปล่อยวาง ได้แต่สอนเขาจนวันหนึ่งเขาวางเขาเอง
ตอบ เขาจะวางก็ต่อเมื่อ เขาเห็นชัดเจนแล้วว่า สิ่งที่เขายึดติดอยู่นั้น ให้ความทุกข์กับเขา แล้วเขาไม่อยากจะทุกข์กับสิ่งนั้น เขาก็จะปล่อยวาง ถ้ายังไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ เขาก็ยังจะยึดติดอยู่ ต้องเห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าตอนนี้ใจของเราทุกข์เหลือเกิน เพราะยึดติดอยู่กับสิ่งนี้ อยากให้สิ่งนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา
ถาม เบื้องต้นเราก็ได้แต่พิจารณา
ตอบ พิจารณาซ้อมไปก่อน พออยู่ในเหตุการณ์จริง เห็นความทุกข์ปรากฏขึ้นมา เห็นสิ่งที่เรารักหรือคนที่เรารักจะต้องจากเราไป ถ้ายึดติดไม่ยอมให้เขาจากไป เราก็จะทุกข์ ถ้าพิจารณาว่าเราห้ามเขาไม่ได้ เขาจะไปก็ต้องปล่อยเขาไป เราก็จะไม่ทุกข์
การจะปล่อยได้นี้ต้องเห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค เวลาไม่สบายใจจะรู้ว่ากำลังอยากกับสิ่งนั้นอยู่ ถ้าต้องการความสบายใจกลับคืนมา ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าห้ามเขาไม่ได้ เขาเป็นอนัตตา เขาจะอยู่เขาจะไป เราห้ามเขาไม่ได้ ต้องปล่อยไปตามความจริง อยู่ก็ได้ไปก็ได้ เราก็จะหายทุกข์ ตอนที่พิจารณาในขณะที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์จริงนี้ เป็นการทำการบ้าน สมมุติเรารักคนนี้มากๆ เราถามตัวเองว่า เวลาเขาจะไปจากเราๆพร้อมหรือไม่ อย่างนี้เป็นการทำการบ้าน พอถึงเหตุการณ์จริงก็จะรู้ว่า ทำได้หรือไม่ได้ สอบผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าปล่อยได้ก็จะไม่รู้สึกอะไร ไปก็ไป อยู่ก็อยู่ เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไปหลงว่าเป็นนั่นเป็นนี่เอง ถ้าเห็นไตรลักษณ์ แสดงว่ามีมรรค ก็จะทำให้นิโรธปรากฏขึ้นมา คือทุกข์จะดับไป เพราะปล่อยวางความอยาก ไม่อยากกับเขา เขาจะอยู่ก็ได้ จะไปก็ได้ จะเป็นอย่างไรก็ได้ ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
ต้องปฏิบัติอย่างนี้กับทุกสิ่งทุกอย่าง กับสิ่งภายนอกก็คือลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ กับร่างกายและเวทนา ร่างกายจะอยู่ก็อยู่ จะไปก็ไป เวทนาจะสุขก็สุข จะทุกข์ก็ทุกข์ ปล่อยไปตามความจริง จะสุขก็สุขไป จะทุกข์ก็ทุกข์ไป ได้ทั้งนั้น สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าปล่อยได้แล้วจะเฉย จะไม่เดือดร้อน การพิจารณาอย่างนี้ถ้ายังไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง ก็เป็นการซ้อมไปก่อน สอนใจว่าอย่าไปยึดนะ จะมาในรูปแบบไหนก็ต้องยอมรับ ถ้าอยากจะรู้ว่าปล่อยได้หรือไม่ ก็ต้องไปอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นอยากจะรู้ว่าปล่อยความเจ็บได้หรือไม่ ก็ต้องนั่งให้เจ็บ แล้วดูว่าจะเฉยได้หรือไม่ จะอยากให้ความเจ็บหายไปหรือเปล่า ถ้าอยากให้ความเจ็บหายไป จะทุกข์ทรมานใจ จะทนนั่งไม่ได้ ถ้าเฉยๆ จะเจ็บก็เจ็บไป ก็จะนั่งต่อได้ ไม่เดือดร้อน
ต้องซ้อมไว้ก่อน พิจารณาไว้ก่อน พอถึงเวลาเข้าห้องสอบ ก็จะทำข้อสอบได้ ถ้าไม่ซ้อมไม่เตรียมตัวไว้ก่อน พอเข้าห้องสอบก็จะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร จะทำแบบเดิม ก็คือจะยึดติดทันที จะอยากทันที พอเจ็บก็อยากจะให้หายเจ็บ อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถทันที ก็จะทนนั่งอยู่ไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ หรือเวลาที่สูญเสียสิ่งที่เรารักไป ก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องไห้ ทำใจเฉยๆไม่ได้ เพราะไปหลงคิดว่าสิ่งที่เสียไปเป็นของเรา ไม่เห็นว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่เป็นของเรา จึงควรสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า ไม่มีอะไรเป็นของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากดินน้ำลมไฟ จะได้ไม่ยึดติด จะได้ไม่อยากให้อยู่กับเราไปนานๆ จะได้ไม่คิดว่าเป็นของเรา ก็จะไม่ทุกข์ใจ แต่พวกเราไม่ค่อยได้คิดอย่างนี้กัน เพิ่งมาคิดตอนนี้ ตอนที่นั่งฟังอยู่นี้
ตั้งแต่เดือนที่แล้วฟังเทศน์มานี่ เคยคิดถึงเรื่องนี้บ้างไหม คิดว่าเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่อยู่กับเราไปตลอด ห้ามเขาไม่ได้ เขาจะมาก็ห้ามเขาไม่ได้ เขาจะไปก็ห้ามเขาไม่ได้ เวลาเสียงด่ามาเราก็ห้ามไม่ได้ เวลาเสียงชมมาจะสั่งให้มาตลอดก็ไม่ได้ บางทีก็มา บางทีก็ไม่มา แต่เราสั่งใจเราได้ สั่งไม่ให้ไปหลงกับเสียงได้ เพราะเป็นเสียงลมเท่านั้นเอง ทำไมต้องไปดีใจ ไปเสียใจกับเสียงลมด้วย เวลาลมพัดใบไม้ เราไม่เสียใจ พอได้ยินเสียงด่า เรารับไม่ได้ ก็เพราะเราไปหลงไปอยาก อยากจะฟังแต่เสียงชม ไม่อยากจะฟังเสียงด่า พอได้ยินเสียงด่าก็ทุกข์ จึงต้องคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นเสียงลมเท่านั้นเอง มาแล้วก็หายไป ด่าปั๊บก็หายไปแล้ว แต่เราเอามาเปิดฟังใหม่อยู่เรื่อยๆ เขาด่าตั้งแต่เมื่อเช้านี้ ตอนบ่ายนี้ก็ยังคิดถึงเสียงนั้นอยู่ เพราะควบคุมความคิดไม่ได้ ปล่อยให้คิดเรื่อยเปื่อย คิดไปตามอารมณ์ ถ้ามีพุทโธๆก็จะหยุดความคิดได้ พุทโธๆๆไป ก็จะคิดเรื่องต่างๆไม่ได้ เราไม่ติดเบรกให้ใจเลย สอนให้ภาวนาพุทโธๆก็ไม่เอากัน ชอบขับรถแบบไม่มีเบรกกัน ก็เลยแหกโค้งตกเหวชนกันอยู่เรื่อยๆ
ต้องควบคุมความคิดให้ได้ ด้วยการเจริญสติให้มาก ต้องพุทโธไปทั้งวันให้ได้ ถ้าพุทโธได้ทั้งวัน จะเห็นความแตกต่างในความรู้สึกนึกคิด พอใครด่าจะโกรธปุ๊บ พอพุทโธปั๊บเดียวก็หาย ไม่ต้องเหนื่อย ไม่เช่นนั้นจะต้องเหนื่อยคิดถึงคำด่าไปทั้งวัน คิดอยู่นั่นแหละ คิดแล้วก็หงุดหงิดรำคาญใจ โกรธแค้น ถ้าพุทโธๆไปเพียง ๒ ๓ วินาทีก็หายแล้ว ถ้าสติมีกำลังมากพุทโธเพียงไม่กี่ครั้งก็หายไปแล้ว จะเห็นว่าเราโง่ เอาคำด่ามาด่าเราอยู่เรื่อยๆ เขาด่าเพียงหนเดียว แต่เราเอามาด่าซ้ำแล้วซ้ำอีก พยายามรู้เฉยๆ รู้ทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงแล้วปล่อยวาง รู้ว่าเขาชมแล้วก็ปล่อยวาง รู้ว่าเขาด่าแล้วก็ปล่อยวาง ไม่ต้องไปปรุงแต่ง ให้เกิดความดีใจความเสียใจขึ้นมา
ให้ระลึกถึงธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เรื่อยๆ อย่าให้ธรรมะอยู่ห่างไกลจากใจ เพราะธรรมะเป็นเหมือนแสงสว่าง ถ้ามีแสงสว่างก็จะทำอะไรต่างๆได้ถูกต้อง ไม่เกิดความเสียหายกับจิตใจ ไม่สร้างความทุกข์ให้แก่จิตใจ ความทุกข์ความไม่สบายใจนี้ เกิดจากการอยู่ห่างไกลจากธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เวลาไม่มีธรรมะก็เหมือนเวลาไม่มีแสงสว่าง จะมืด จะไม่เห็นผิดเห็นถูก เห็นดีเห็นชั่ว เห็นคุณเห็นโทษ เห็นสุขเห็นทุกข์ จะเห็นกลับตาลปัตร เห็นสุขเป็นทุกข์ เห็นทุกข์เป็นสุข เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นสิ่งที่ว่าไม่ใช่ตัวเราเป็นตัวเรา ถ้ามีธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ในใจอยู่เรื่อยๆ ก็จะเห็นความจริง ก็จะทำตามความจริง ก็จะไม่ทุกข์ จะไม่เดือดร้อนกับเรื่องราวต่างๆ ธรรมะเป็นแสงสว่างของชีวิต เปรียบเหมือนกับการขับรถตอนกลางคืน ถ้าไม่มีไฟส่องทาง ขับรถไปก็จะเป็นอันตรายต่อผู้ขับได้ จะประสบอุบัติเหตุต่างๆได้ แต่ถ้ามีแสงสว่างส่องทางก็จะเห็นทาง จะเห็นสิ่งต่างๆที่อยู่ข้างหน้า จะหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่างๆได้ จึงควรมีธรรมะในใจอยู่เรื่อยๆ
ถ้าไม่สามารถพิจารณาธรรมะได้ ก็เปิดเทศน์ธรรมะฟังไปก่อน ฟังแบบลิ้นกับฟัน อย่าฟังแบบทัพพีในหม้อแกง ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เหมือนไม่ได้ฟัง เวลาฟังต้องมีสติจดจ่ออยู่กับการฟัง ถ้าพิจารณาตามได้ก็พิจารณาไป ถ้าเข้าใจก็จะเกิดความเห็นที่ถูกต้อง จะไม่ลืม ถ้าไม่เข้าใจก็จะลืมได้ เวลาฟังธรรมท่านสอนไม่ให้ฟังเพื่อจำ ฟังเพื่อความเข้าใจ การแสดงธรรมนี้ จะแสดงทั้งเหตุและผลควบคู่กันไป ถ้าเข้าใจจะจำได้ การฟังธรรมทางภาคปฏิบัตินี้ไม่ได้ฟังเพื่อจดจำ แต่ฟังเพื่อความเข้าใจ ถ้าฟังเพื่อจำก็จะลืมได้ ถ้าเข้าใจแล้วจะไม่ลืม มีคำถามว่า พระอรหันต์ลืมได้ไหม คำตอบคือลืมได้ จำได้ก็ลืมได้ เพราะเป็นสัญญา มีอะไรที่พระอรหันต์ไม่ลืม มี คืออะไร ก็คือพระอริยสัจ ๔ อันนี้ไม่ลืม เพราะเป็นเหตุเป็นผล ท่านรู้ว่าทุกข์ใจเกิดจากความอยาก ความดับทุกข์ใจก็เกิดจากการมีธรรมะมีปัญญา ที่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา อันนี้จะไม่ลืม จะอยู่กับใจไปตลอด
อย่าลืมพระอริยสัจ ๔ อย่าลืมทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค อย่าลืมว่าทุกข์เกิดจากความอยากคือสมุทัย ทุกข์จะดับได้ด้วยมรรค ก็คือปัญญา คือธรรมะ คือความรู้ที่แท้จริง ที่เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา นี่คือธรรมะที่ควรจะมีอยู่ในใจตลอดเวลา มองอะไรก็ให้บอกกับตนเองว่า กำลังมองดินน้ำลมไฟ หัดแยกแยะร่างกายดู ดูร่างกายว่ามาจากอะไร ก็มาจากอาหาร อาหารมาจากอะไร อาหารก็มาจากดินจากน้ำ ต้นข้าวนี้ต้องมีดิน มีน้ำ มีไฟคือแดด มีลมคืออากาศ ถึงจะเจริญเติบโตได้ พอออกมาเป็นรวงข้าว เราก็เอามาหุงต้มแล้วก็รับประทานเข้าไปในร่างกาย ร่างกายก็เจริญเติบโตขึ้นมา ด้วยอาหารที่รับประทานเข้าไป ด้วยน้ำที่ดื่มเข้าไป ด้วยอากาศที่สูดเข้าไป พอร่างกายหยุดทำงานแล้วเป็นอย่างไร น้ำก็ไหลออกมา ไฟก็หายไป ร่างกายก็เย็นเฉียบ ทิ้งไว้นานๆร่างกายก็เปื่อย กลายเป็นดินไป ก็มีเท่านี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากดินน้ำลมไฟ สิ่งของต่างๆก็มาจากดินน้ำลมไฟทั้งนั้น เราตัดต้นไม้มาสร้างบ้าน ต้นไม้ก็มาจากดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็มาจากดินน้ำลมไฟ เป็นโลกธาตุ ร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของโลกธาตุ ส่วนหนึ่งของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ไม่ได้เป็นอะไร เรามาสมมุติกันเอง เหมือนปั้นตุ๊กตา แล้วก็ติดป้ายว่าเป็นนาย ก. นาย ข. นาง ส. นาง ง. เป็นหญิงเป็นชาย เป็นสามีเป็นภรรยา เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้อง
พยายามมองให้เห็นตลอดเวลา ว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ที่จะต้องสลายตัวหมดไปในที่สุด เป็นเหมือนก้อนน้ำแข็ง ถ้าตั้งไว้ข้างนอกตู้เย็น เดี๋ยวก็จะละลายกลายเป็นน้ำไปหมด ทุกอย่างจะต้องสลายไปหมด เป็นเหมือนฟองน้ำ พอฟองน้ำแตกไปก็หายไปหมด ไม่มีอะไรเหลือ คนที่ตายไปแล้ว ตอนนี้หายไปหมดแล้ว ร่างกายของพวกเราก็เหมือนกัน ต่อไปก็จะหายไปหมด ไม่หลงเหลืออยู่ในโลกนี้ จึงอย่าไปดิ้นรนรักษาฟองน้ำเลย รักษาอย่างไรก็รักษาไม่ได้ ในที่สุดฟองน้ำก็ต้องแตกไป มารักษาสิ่งที่ไม่แตกดีกว่า คือใจ มารักษาใจกัน ใจนี่แหละที่ไม่มีวันแตก ใจทุกข์เพราะไปหลงรักษาสิ่งที่รักษาไม่ได้ จึงไม่ควรรักษา ปล่อยทุกอย่างไป อะไรจะไปก็ให้เขาไป รักษาสิ่งเดียวคือรักษาใจ ที่จะอยู่กับเราไปตลอด รักษาใจด้วยการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ใจจะได้ไม่ทุกข์ จะสุขไปตลอด