กัณฑ์ที่ ๔๓๘       ๒๒ เมษายน ๒๕๕๕

 

โลกธาตุ โลกทิพย์

 

 

ตอนต้นของการภาวนาเราต้องหยุดความคิดก่อน เพราะความคิดของเราตอนนี้ถูกอวิชชาผลักดัน ถูกกิเลสตัณหาผลักดัน เหมือนรถที่วิ่งผิดทาง ต้องหยุดรถก่อนแล้วค่อยเลี้ยวกลับ พอหยุดความคิดได้แล้ว ขั้นต่อไปก็สั่งให้คิดไปในทางธรรมะ ทางอนิจจังทุกขังอนัตตา สงครามที่แท้จริงก็คือสงครามความคิดนี้เอง ระหว่างความคิดฝ่ายดีกับความคิดฝ่ายชั่ว ฝ่ายกิเลสกับฝ่ายธรรมะ ธรรมะกับกิเลสเป็นคู่ต่อสู้กันมาตลอด ถ้ากิเลสชนะโลกก็ร้อน ถ้าธรรมะชนะโลกก็ร่มเย็นเป็นสุข โลกที่พวกเราอยู่กันนี้มี ๒ โลก คือโลกธาตุกับโลกทิพย์ โลกธาตุก็คือโลกที่ร่างกายอยู่ โลกทิพย์ก็คือโลกที่ใจอยู่ ถ้าธรรมะเป็นฝ่ายชนะ โลกก็จะไม่มีสงคราม ใจก็จะร่มเย็นเป็นสุข ถ้ากิเลสเป็นฝ่ายชนะ โลกก็จะมีสงคราม มีการฆ่าฟันกัน ใจก็จะทุกข์วุ่นวายเดือดร้อน พวกเราอยู่ใน ๒ โลกนี้ ใจอยู่ในโลกทิพย์ ร่างกายอยู่ในโลกธาตุ โลกทิพย์เป็นโลกที่ถาวร โลกธาตุเป็นโลกชั่วคราว ร่างกายอยู่ได้ชั่วคราวก็หมดสภาพไป กลายเป็นดินน้ำลมไฟไป แต่ใจที่อยู่โลกทิพย์นี้ยังอยู่ต่อไป อยู่ ๒ แบบ คืออยู่แบบมีตัณหากับอยู่แบบไม่มีตัณหา ถ้าไม่มีตัณหาก็อยู่แบบพระพุทธเจ้า อยู่แบบพระอรหันต์ อยู่ด้วยบรมสุข ถ้ามีตัณหาอยู่ก็จะอยู่แบบสัตว์โลกทั้งหลาย ตั้งแต่พรหมเทพลงมาจนถึงเดรัจฉานเปรตอสุรกายนรก นี่เป็นโลกทิพย์ เป็นที่อยู่ของใจ ที่มีกิเลสตัณหาและไม่มีกิเลสตัณหา

 

ถ้าไม่มีตัณหาก็จะไม่มีทุกข์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ถ้ามีตัณหาก็จะมีทุกข์ มีการเวียนว่ายตายเกิด ถึงแม้จะเป็นพรหม ก็จะต้องเสื่อมลงมาเป็นเทพ เพราะอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรสทิพย์ของเทพ พอมีความอยากเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องมาเสพรูปเสียงกลิ่นรสของมนุษย์ จากเทพก็เสื่อมลงมาเกิดเป็นมนุษย์ มาหาความสุขตามอำนาจของตัณหาต่อไป ถ้าหาโดยวิธีที่สุจริต ไม่ทำบาปทำกรรม ก็ไม่มีโทษตามมา ถ้าหามาโดยวิธีทำบาปทำกรรม ก็จะมีโทษตามมา ก็คือต้องไปเกิดในอบาย หลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว ใจหรือกายทิพย์ก็จะต้องรับผลบาป เป็นเปรตบ้าง ตกนรกบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง ทั้งหมดนี้เกิดจากความคิดปรุงแต่ง ที่จะคิดไปได้ ๒ ทาง คือ ๑. คิดไปในทางกิเลสทางอวิชชา อวิชชา ปัจจยา สังขารา  ๒. คิดไปในทางธรรม นี่เป็นความรู้ที่จะได้จากพระพุทธศาสนา เป็นความรู้ระดับโลกุตตระ ศาสนาอื่นสอนได้เพียงความรู้ระดับโลกิยะ โลกิยะยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ส่วนโลกุตตระจะอยู่เหนือการเวียนว่ายตายเกิด มีศาสนาพุทธเท่านั้นที่สอนความรู้ระดับโลกุตตระ เพื่อให้สัตว์โลกอยู่เหนือการเวียนว่ายตายเกิด ศาสนาอื่นสอนได้เพียงสวรรค์ชั้นเทพชั้นพรหม ที่อยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ที่มีวันเสื่อมมีวันหมดไป จากพรหมก็เลื่อนลงมาเป็นเทพ จากเทพก็เลื่อนลงมาเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับอบายที่มีวันเสื่อมมีวันหมดไปเหมือนกัน ถ้าทำบาปทำกรรมในขณะที่เป็นมนุษย์ ตายไปก็ต้องไปนรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง พอใช้กรรมหมดแล้ว ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ เช่นพระเทวทัตที่ได้พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง พอตายไปก็ต้องไปตกนรกก่อน ทั้งๆที่ได้บวชเป็นพระอยู่หลายสิบปี แต่อำนาจของบาปที่ทำไว้ มีพลังมีกำลังมากกว่า ก็เลยต้องไปใช้บาปในนรกอเวจีก่อน พอใช้บาปหมดแล้ว ก็จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าตามลำดับต่อไป นี่คือเรื่องของใจหรือกายทิพย์

 

ใจหรือกายทิพย์นี้อยู่ในโลกทิพย์ ส่วนร่างกายนี้อยู่ในโลกธาตุ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์หรือเดรัจฉานก็จะมี ๒ ร่างกาย คือร่างกายหยาบที่ทำจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ คือร่างกายของมนุษย์และเดรัจฉาน แล้วก็มีกายทิพย์ที่ใช้ร่างกายหยาบเป็นเครื่องมือ ตอบสนองตัณหาความอยาก อยากจะดู อยากจะฟัง อยากจะลิ้มรส อยากจะดมกลิ่น อยากจะเสพสัมผัสต่างๆผ่านทางร่างกาย ก็ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ มนุษย์กับเดรัจฉานมีร่างกายแบบเดียวกัน มีตาหูจมูกลิ้นกายเหมือนกัน สามารถเสพกามได้เหมือนกัน ต่างตรงที่กายทิพย์ของมนุษย์มีสติปัญญาที่สูงกว่าของเดรัจฉาน เดรัจฉานไม่มีปัญญาแยกแยะบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบาปอะไรเป็นบุญ มนุษย์บางพวกมีสติปัญญาแยกแยะบาปบุญคุณโทษได้ รักษาศีลได้ ไม่ทำบาป รู้ว่าทำบาปแล้วเป็นโทษเป็นทุกข์ มนุษย์บางพวกที่ไม่รู้ก็มี พวกที่คิดว่าทำบุญทำบาปแล้วไม่มีผลตามมา คิดว่าบาปไม่มีบุญไม่มี ตายไปก็จบ ไม่มีโทษตามมา ไม่มีคุณตามมา พวกนี้มีสติปัญญาระดับเดียวกับเดรัจฉาน ถึงแม้จะมีร่างกายของมนุษย์ แต่ใจเป็นเดรัจฉาน ไม่สามารถแยกแยะเรื่องบุญเรื่องบาปได้ ไม่รู้ว่าบุญบาปมีจริง ทำดีแล้วได้ความสุข ได้ไปสวรรค์ ทำบาปแล้วต้องมีความทุกข์ ต้องไปอบาย

 

กายทิพย์คือใจอยู่ในโลกทิพย์ ไม่ได้อยู่ในโลกธาตุ ที่อยู่ในโลกธาตุเป็นร่างกาย กายทิพย์ใช้กระแสจิตสัมผัสรับรู้เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในโลกธาตุ ผ่านทวารทั้ง ๕ ของร่างกาย รับรู้ภาพผ่านทางตา เสียงผ่านทางหู กลิ่นผ่านทางจมูก รสผ่านทางลิ้น สัมผัสร้อนเย็นแข็งอ่อนผ่านทางร่างกาย ใจหรือกายทิพย์นี้ไม่ได้อยู่ในโลกธาตุ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในโลกธาตุ เช่น น้ำท่วมแผ่นดินไหว โลกระเบิดเป็นเสี่ยง ก็จะไม่กระทบกับใจ เพราะใจอยู่ในโลกทิพย์ ใจก็ส่งกระแสจิตไปหาร่างกายใหม่ ตามอำนาจของตัณหาความอยาก ตามอำนาจของบุญและบาป ถ้าไม่ได้ทำบาปก็ไม่ต้องได้ร่างของเดรัจฉาน ได้ร่างของมนุษย์ ถ้าทำบุญก็จะได้เสพผลบุญ ได้เป็นเทพเป็นพรหม ถ้าทำบาปแล้วไม่ได้ร่างของเดรัจฉาน ก็จะเป็นเปรตบ้างเป็นสัตว์นรกบ้าง นี่เป็นเรื่องของโลกิยะ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นๆลงๆ เวียนว่ายตายเกิด ถ้าได้พบกับพระพุทธศาสนา ก็จะได้เรียนรู้เรื่องโลกุตตระ ธรรมที่สูงกว่าโลกิยะ ธรรมขั้นโลกิยะก็คือทานศีลสมาธิ ถ้าทำทานรักษาศีลได้ก็จะไปเป็นเทพ ถ้านั่งสมาธิได้ก็จะไปเป็นพรหม ถ้าทำบาปรักษาศีลไม่ได้ ก็จะไปเป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต ไปนรก จะขึ้นๆลงๆอยู่ในวัฏฏะแห่งการเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ

 

ถ้าได้พบกับพระพุทธศาสนา ก็จะได้รู้จักธรรมขั้นสูง ที่เรียกว่าโลกุตตรธรรม ก็คือปัญญาที่จะยกระดับจิตของสัตว์ทั้งหลาย ให้อยู่เหนือการเวียนว่ายตายเกิด ปัญญานี้ก็คือพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และไตรลักษณ์  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เกี่ยวเนื่องกัน ไตรลักษณ์ก็มีทุกข์ มีอริยสัจ ๔ ผู้ที่มีปัญญาก็จะเห็นไตรลักษณ์ เห็นความไม่เที่ยง เห็นการเกิดการดับ การเจริญการเสื่อม ของสภาวธรรมทั้งหลาย เห็นว่าเป็นธรรมชาติ ไม่ได้เป็นของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครเป็นผู้สั่งการ ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เป็นไปตามธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย เช่นในโลกธาตุก็มีดินน้ำลมไฟเป็นปัจจัย เมื่อดินน้ำลมไฟมาพบกัน ก็จะเกิดสิ่งต่างๆขึ้นมา พอเกิดมาแล้วก็จะเสื่อมหมดไป เช่นร่างกายนี้ก็เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ถ้ามีการเติมธาตุ ๔ ให้แก่ร่างกายไปเรื่อยๆ ร่างกายก็จะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆจนถึงขีดสูงสุด หลังจากนั้นก็จะเสื่อมลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดธาตุทั้ง ๔ ก็จะแยกออกจากกันไป นี่คืออนิจจัง ไม่ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการเจริญและมีการเสื่อม มีการเกิดและมีการดับ และอนัตตา ไม่มีตัวตนในดินน้ำลมไฟ

 

ส่วนความทุกข์นี้จะอยู่ในใจที่ไม่ฉลาด ไม่เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่เห็นอนัตตา ก็เลยไปยึดติด หลงคิดว่าเป็นของตน ที่ตนสามารถควบคุมบังคับสั่งการ ให้เป็นไปตามความต้องการได้ ก็เป็นได้เพียงบางส่วน แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถบังคับมันได้ เช่นตอนนี้เราก็สามารถรักษา สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ ให้อยู่กับเราได้อย่างปลอดภัยไปในระดับหนึ่งในเวลาหนึ่ง ต่อไปก็จะไม่สามารถรักษาได้ เช่นร่างกายนี้ตอนนี้เราก็ดูแลรักษาได้ ต่อไปเราจะไม่สามารถรักษาได้ เช่นเดียวกับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ บุคคลต่างๆ ที่เราครอบครองอยู่ คิดว่าเป็นของเรา ก็จะต้องพลัดพรากจากไปในวันหนึ่ง ตอนนั้นถึงจะเห็นว่าไม่ใช่ของเรา จะเห็นว่าไม่เที่ยง ถ้าไม่รู้จักวิธีปฏิบัติ ก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจ ทุกข์ทรมานใจ เพราะไม่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอน ก็คือพระอริยสัจ ๔ นี่เอง

 

พระอริยสัจ ๔ นี้จะสอนให้เรารู้ว่า ความเศร้าโศกเสียใจของเรานั้น เกิดจากความอยากให้สิ่งที่เราไม่สามารถสั่งการ ให้เป็นไปตามความต้องการของเราได้ วิธีที่จะทำไม่ให้เศร้าโศกเสียใจ ก็คือสอนใจให้รู้ว่า สิ่งที่เราอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เราไม่สามารถสั่งให้เป็นไปได้ตลอดเวลา ต้องมีเวลาใดเวลาหนึ่ง ที่สิ่งต่างๆจะต้องเป็นไปตามสภาพของเขา ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของเรา เช่นเราต้องการให้ร่างกายของเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ต้องการให้ร่างกายเราตาย แต่วันหนึ่งก็ต้องพบกับความจริงว่า เราห้ามร่างกายไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ได้ ห้ามไม่ให้ตายไม่ได้ เช่นเดียวกับร่างกายคนอื่น เราห้ามไม่ได้ ถ้ารู้ล่วงหน้าไว้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้น แล้วเตรียมตัวทำใจ หยุดความอยาก ด้วยการทำจิตใจให้สงบ ก็จะไม่เศร้าโศกเสียใจ เพราะการทำใจให้สงบเป็นการหยุดความอยาก ที่เป็นเหตุของความเศร้าโศกเสียใจ

 

ถ้าหยุดความอยากได้ เวลาพบกับสิ่งที่อยู่เหนือวิสัย เช่นความตาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะไม่ทุกข์ จะปล่อยวางได้ ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็เจ็บไป จะตายก็ตายไป ถ้าวิตกกังวลกับความตาย พอเห็นไตรลักษณ์ ก็จะปลงได้ จะตายก็ตายไป จะไปกลัวอะไร ไม่มีอะไรน่ากลัวในโลกนี้ นอกจากความหลงเท่านั้น เพราะความหลงจะหลอกให้อยากไม่ตาย อยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ ถ้ามีปัญญารู้ความจริง ก็จะรู้ว่าอยากไม่ได้ ถ้าอยากแล้วจะเป็นทุกข์ขึ้นมา ความอยากเป็นสมุทัยเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ความรู้ความจริงเป็นปัญญา รู้ว่าเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา รู้ว่าอยากไม่ได้ ถ้าอยากแล้วจะทุกข์ นี่คือความรู้ที่จะทำให้จิตใจหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีผู้ใดที่จะรู้ความจริงนี้ มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่รู้ ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ก็คืออริยสัจ ๔ และไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา พวกเราจึงถือว่ามีโชคมีวาสนามาก ที่ได้พบพระพุทธศาสนา เพราะจะทำให้พวกเราได้มีโอกาสหลุดพ้น ได้โลกุตตรธรรม ได้อยู่เหนือการเวียนว่ายตายเกิด

 

จึงเป็นหน้าที่ของพวกเรา ที่ควรขวนขวายศึกษาและปฏิบัติให้มาก เพื่อให้ได้โลกุตตรธรรมมาเป็นสมบัติ ที่พระสาวกของพระพุทธเจ้าได้ครอบครองกันแล้ว พวกเราก็สามารถครอบครองสมบัตินี้ได้เช่นเดียวกัน เพราะผู้ที่ได้ครอบครองมาแล้ว ก็ไม่ต่างจากพวกเรา ท่านก็ไม่มีความรู้ทางนี้เหมือนกัน มีกิเลสตัณหาเหมือนกัน แต่ท่านมีความศรัทธาเชื่อมั่น และมีวิริยะความขยันหมั่นเพียร ที่จะศึกษาและปฏิบัติอย่างเต็มที่ ไม่เสียเวลากับการทำภารกิจอื่น ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับภารกิจนี้เท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้แล้วรับรองได้ว่า ภายในชาตินี้จะต้องได้สมบัตินี้อย่างแน่นอน อยู่ที่การปฏิบัติ อยู่ที่การศึกษา อยู่ที่ศรัทธาความเชื่อ อยู่ที่วิริยะความอุตสาหะความพากเพียร พากเพียรที่จะเจริญสติ เพราะสติเป็นธรรมขั้นแรกของการปฏิบัติ ถ้าไม่นับศีลและทาน ที่เป็นขั้นก่อนขั้นภาวนา ขั้นต้นก็ต้องทำทานก่อน ให้ทานจนไม่มีอะไรจะให้ แล้วก็จะออกบวชได้ ออกมารักษาศีลได้ ถ้ายังมีทรัพย์สมบัติ ยังอยากได้ทรัพย์สมบัติอยู่ ก็จะรักษาศีลยาก เพราะศีลจะเป็นอุปสรรคต่อการหาทรัพย์สมบัติ ถ้ายังอยากได้ทรัพย์สมบัติ จะรักษาศีลยาก ถ้าไม่ต้องการทรัพย์สมบัติแล้ว จะรักษาศีลง่าย จะสามารถภาวนาได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีภารกิจอื่นต้องทำแล้ว ถ้าบวชได้ก็จะไม่มีงานอื่นที่ต้องทำ นอกจากงานภาวนา คือการเจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย

 

สติก็คือการดึงใจให้อยู่ในปัจจุบัน ใจจะอยู่ในปัจจุบันได้ ก็ต้องไม่คิดถึงเรื่องอดีต ไม่คิดถึงเรื่องอนาคต ไม่คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ต้องอยู่กับเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นรู้อยู่กับการกระทำการเคลื่อนไหวของร่างกายตลอดเวลา ร่างกายกำลังทำอะไรก็เฝ้าดู กำลังเดินก็เฝ้าดูการเดินของร่างกาย กำลังอาบน้ำกำลังรับประทานอาหาร กำลังแต่งเนื้อแต่งตัวก็ให้เฝ้าดูการกระทำของร่างกายเพียงอย่างเดียว อย่างนี้ก็เรียกว่ามีสติ เรียกว่ากายคตาสติ คือใช้ร่างกายเป็นที่ตั้งเป็นที่เจริญสติ ถ้าไม่สามารถยุติความคิด ให้ใจเฝ้าดูร่างกายได้ ใจยังดิ้นไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ก็จำเป็นจะต้องใช้การบริกรรมพุทโธ หรือธัมโม หรือสังโฆ อย่างไหนก็ได้แบบไหนก็ได้ ขอให้หยุดความคิดให้ได้ก็แล้วกัน บางคนก็ใช้พุทโธ ธัมโม สังโฆ บางคนก็ใช้พุทโธอย่างเดียว บางคนก็ใช้เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ บางคนก็ใช้สวดมนต์อิติปิโสฯ เหล่านี้ก็เป็นการเจริญสติ เป็นการดึงจิตให้อยู่ในปัจจุบัน

 

ถ้าจิตอยู่ในปัจจุบัน พอมีเวลาว่างจากภารกิจต่างๆ ก็นั่งหลับตา นั่งนิ่งๆ ไม่นานจิตก็จะรวมลงเข้าสู่สมาธิได้ จิตก็จะเป็นอุเบกขา ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ และความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน เป็นความสุขที่มหัศจรรย์ใจ เป็นความสุขที่ประทับใจมาก เป็นความสุขที่ดึงดูดศรัทธาฉันทะวิริยะ ให้ปฏิบัติให้มากขึ้น พอออกจากสมาธิก็เจริญสติต่อ หรือจะเจริญปัญญาต่อก็ได้ ถ้ายังเจริญปัญญาไม่เป็นก็เจริญสติไปก่อน เพื่อให้สติมีความแก่กล้ามีความชำนาญ เพื่อให้เวลานั่งสมาธิ จิตจะได้สงบอย่างรวดเร็ว และชำนาญจนสามารถเข้าสมาธิได้ตลอดเวลา จะเข้าเวลาไหนก็เข้าได้ ถ้าถึงเวลานั้นแล้ว ก็ต้องบังคับให้ออกไปทางปัญญา ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะติดสมาธิ จะไม่ก้าวขึ้นสู่ขั้นโลกุตตรธรรม ขั้นสมาธินี้ยังเป็นขั้นโลกิยะอยู่ ถ้าชำนาญแล้วต้องเจริญปัญญา ถ้ายังไม่ชำนาญแล้วทำแต่สมาธิ ยังไม่ถือว่าติดสมาธิ เพราะควรสร้างฐานสมาธิให้มั่นคงก่อน ให้มีความชำนาญ สามารถเข้าออกสมาธิได้ตลอดเวลา ถ้าขับรถก็ต้องขับให้เก่งก่อน ก่อนที่จะลงสนามแข่ง ถ้าขับยังไม่เก่งเวลาลงสนามแข่งจะไปชนรถคันอื่น

 

ตอนต้นต้องเข้าออกสมาธิให้ชำนาญก่อน เพราะจะต้องใช้สมาธิสลับกับการเจริญปัญญา เพราะเวลาเจริญปัญญาไประยะหนึ่งแล้ว ใจจะฟุ้งขึ้นมา จะไม่เป็นปัญญา จะเป็นกิเลส ตอนนั้นก็ต้องหยุดการพิจารณา แล้วก็กลับเข้ามาพักในสมาธิก่อน มาเติมพลังให้แก่ใจ มาตัดกำลังของกิเลส เวลาจิตสงบกิเลสเหมือนถูกฉีดยาสลบ ใจก็ได้พักผ่อนหลับนอน ได้รับประทานอาหาร พอออกมาก็จะมีกำลัง กิเลสก็จะอ่อนกำลังลง จะไม่มาขัดขวาง มาเป็นอุปสรรค ต่อการเจริญปัญญา แต่พอเจริญไปสักระยะหนึ่งแล้ว กำลังใจก็จะอ่อนลงไป กิเลสก็จะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น ก็จะมารบกวนการเจริญปัญญา ทำให้การเจริญปัญญาไม่เป็นปัญญา จะเป็นความฟุ้งซ่านไป ตอนนั้นก็ต้องหยุดการเจริญปัญญา แล้วก็กลับเข้าไปในสมาธิ นี่คือขั้นตอนเวลาที่ได้เข้าสู่ขั้นปัญญาแล้ว ยังต้องเข้าสมาธิ เพื่อพักผ่อนเพื่อตัดกำลังของกิเลส ฉีดยาสลบให้กิเลส พออิ่มแล้ว มีความสุขมีความสบายใจ มีพลังแล้ว ก็ออกมาเจริญปัญญาใหม่ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจ ๔ ขั้นต่างๆ

 

ขั้นของพระโสดาบันก็มีอริยสัจ ๔ ขั้นของพระสกิทาคามีก็มีอริยสัจ ๔ ขั้นของพระอนาคามีก็มีอริยสัจ ๔ ขั้นของพระอรหันต์ก็มีอริยสัจ ๔ คือมีความทุกข์ใจที่ละเอียดต่างกันไปตามลำดับ ขั้นของพระโสดาบันก็มีความทุกข์ใจที่เกี่ยวกับสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ขั้นของพระสกิทาคามีและพระอนาคามี ก็มีกามราคะและปฏิฆะ ขั้นของพระอรหันต์ก็มีรูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ อวิชชา ที่ทำให้ใจทุกข์ ต้องเห็นอริยสัจ ๔ ในทุกขั้น เพราะยังมีความอยากอยู่ จะบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ ก็ต้องละความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตายให้ได้ พิจารณาให้เห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัวเราของเรา พอเห็นชัดเจนแล้ว ก็จะละความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายได้ ยอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องแก่เป็นธรรมดา ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ต้องตายเป็นธรรมดา ต้องพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา เวลาพบกับความเสื่อมพบกับเคราะห์กรรม ก็จะปลงอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ไปทำพิธีสะเดาะเคราะห์ต่างๆ เพราะนั่นเป็นสีลัพพตปรามาส

 

ถ้าละสักกายทิฐิได้ ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้ ละวิจิกิจฉาได้ เพราะจะเห็นอริยสัจ ๔ เห็นธรรม มีดวงตาเห็นธรรม เห็นอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์ ก็จะไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เพราะผู้เห็นธรรมก็จะเห็นพระพุทธเจ้า ดังที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ที่จะเห็นธรรมได้ก็ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระสุปฏิปันโน เป็นพระอริยสงฆ์สาวก พระรัตนตรัยก็จะปรากฏขึ้นมาในใจให้เห็นอย่างชัดเจน จะเห็นว่าพระรัตนตรัย พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ตรงที่ปลงได้นี่เอง พอปลงได้ ยอมตายได้ ยอมรับว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ทุกข์ก็จะดับไป พอปลงแล้ว ความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตายก็จะถูกละไป ด้วยอำนาจของมรรคคือสติปัญญา ที่ได้พิจารณาร่างกาย ว่าเป็นไตรลักษณ์ พิจารณาขันธ์ ๕ ว่าเป็นไตรลักษณ์ พิจารณาว่าความเจ็บเป็นไตรลักษณ์ ร่างกายเป็นไตรลักษณ์ เวลาเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป เพราะเราห้ามมันไม่ได้ เวลาร่างกายจะตายไป เราก็ยับยั้งมันไม่ได้

 

นี้คือการก้าวเข้าสู่โลกุตตรธรรม ต้องก้าวไปด้วยปัญญา เห็นอริยสัจ ๔ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นไตรลักษณ์ พอเห็นขั้นแรกได้ ก็จะได้บรรลุธรรมขั้นแรก คือได้เป็นพระโสดาบัน ภพชาติที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดก็จะเหลือไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก และไม่ต้องไปเกิดในอบายใน ๗ ชาตินี้ ถึงแม้ว่าจะเคยทำบาปทำกรรมมามากน้อยเพียงไรก็ตาม แต่กำลังของบาปจะอ่อนกว่ากำลังของบุญ ที่ได้จากการมีดวงตาเห็นธรรม บุญที่ได้จากการมีดวงตาเห็นธรรมนี้มีพลังมากกว่า จึงสามารถห้ามใจไม่ให้บาปกรรมดึงไปเกิดในอบายได้ พระอริยบุคคลทุกๆขั้นจึงไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป พระโสดาบันถ้าไม่เพียรปฏิบัติต่อ ก็จะติดอยู่ตรงนั้น จะต้องกลับมาเกิดไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ไม่ช้าก็เร็วก็จะเห็นความทุกข์ของขั้นนี้ ก็คือกามราคะ พระโสดาบันยังไม่ได้พิจารณาอสุภะ ยังไม่เห็นอสุภะ ยังมีกามตัณหา ยังมีกามราคะ ยังอยากมีครอบครัว ไม่ใช่มีได้ บางคนอยากจะเป็นโสดาบัน เพราะยังมีครอบครัวได้ ความจริงไม่ใช่มีครอบครัวได้ แต่ยังอยากมีครอบครัวอยู่ ไม่ใช่มีได้ แต่ยังละไม่ได้ ยังละการมีครอบครัวไม่ได้ ยังละกามราคะไม่ได้ ละปฏิฆะไม่ได้ กามราคะและปฏิฆะเป็นของคู่กัน เวลาเกิดความอยากในกามก็จะเกิดความหงุดหงิดใจ พอได้เสพกามความหงุดหงิดใจก็จะหายไป แต่การเสพกามนี้ ไม่ใช่วิธีที่จะดับความทุกข์อย่างถาวร ดับได้ชั่วคราว เดี๋ยวก็เกิดกามราคะขึ้นมาใหม่

 

การจะดับกามราคะได้อย่างถาวร ก็ต้องเจริญอสุภะกรรมฐาน ต้องเห็นส่วนที่ไม่สวยงามของร่างกาย ที่เราเห็นว่าสวยงาม ที่ทำให้เกิดกามารมณ์ ต้องเห็นว่าไม่สวยงาม ต้องมองทะลุเข้าไปใต้ผิวหนัง ให้เห็นโครงกระดูก เห็นอวัยวะน้อยใหญ่ที่มีอยู่ในร่างกาย เห็นสิ่งที่เป็นปฏิกูล เช่นอุจจาระปัสสาวะ เห็นตอนที่ร่างกายตายไป ถ้าเห็นก็จะดับกามราคะได้ เวลาเกิดกามราคะใจก็จะทุกข์หงุดหงิดใจ พอเห็นอสุภะปั๊บกามราคะก็จะหายไป พอไม่มีกามราคะ ความทุกข์หงุดหงิดใจก็จะหายไปอย่างถาวร เพราะเวลาที่เกิดกามราคะขึ้นมา อสุภะก็จะมาดับทันที ถ้ามีอสุภะอยู่กับใจแล้ว พอกามราคะโผล่ขึ้นมาปั๊บ อสุภะก็โผล่ขึ้นมาทันที กามราคะก็จะดับไปทันที เหมือนกับเวลาไฟไหม้ปั๊บ รถดับเพลิงก็มาทันที ก็ดับได้ทันที แต่ถ้าไม่มีรถดับเพลิง พอเกิดไฟไหม้ขึ้นมา ก็จะไหม้หมดทั้งหลังเลย ถ้าไม่เจริญอสุภะ พอเกิดกามราคะ ก็จะทนไม่ได้ ต้องไปเสพกาม ถึงจะดับกามราคะได้ แต่ดับไม่ถาวร เดี๋ยวก็ฟื้นคืนมาใหม่ ถ้าใช้อสุภะดับก็จะดับได้อย่างถาวร นี่คือขั้นของพระสกิทาคามีและพระอนาคามี

 

พระสกิทาคามีจะทำให้กามราคะเบาบางลงไป คือยังพิจารณาอสุภะไม่ได้ตลอดเวลา เวลาเผลอกามราคะก็จะปรากฏขึ้นมา ก็จะเกิดความทุกข์ใจหงุดหงิดใจ ก็จะต้องดับกามราคะด้วยการเสพกาม ถ้าเจริญอสุภะอยู่ตลอดเวลา มีอสุภะอยู่ในใจตลอดเวลา ก็จะดับกามราคะได้ทุกเวลา ถ้าดับได้ทุกครั้งก็จะเป็นพระอนาคามี เรื่องของร่างกายก็จะหมดปัญหาไป ไม่ต้องพิจารณาร่างกายอีกต่อไป เพราะปล่อยวางร่างกายได้หมดแล้ว ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตายก็จะไม่ทุกข์ เวลาเห็นร่างกายที่สวยงาม ก็จะไม่เกิดกามราคะ ถ้าตายไปพระอนาคามีก็จะไม่ไปหาร่างกายใหม่มาเป็นเครื่องมือ เพราะไม่มีกามราคะ ไม่มีกามฉันทะ ไม่มีความอยากดูรูปฟังเสียงดมกลิ่นลิ้มรสอีกต่อไป พระอนาคามีจึงไม่กลับมาเกิดในโลกมนุษย์ จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นพรหม ชั้นสุทธาวาส แล้วก็จะเจริญธรรมขั้นสูงต่อไป จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชั้นพรหม เพราะไม่มีเรื่องของร่างกายมาเกี่ยวข้องแล้ว มีแต่เรื่องของจิตที่ยังติดสังโยชน์อยู่อีก ๕ ข้อ คือ ๑. รูปราคะ ความติดในรูปฌาน ๒. อรูปราคะ ความติดในอรูปฌาน ๓. มานะ  ๔. อุทธัจจะ ๕. อวิชชา ที่จะต้องละ โดยยึดหลักไตรลักษณ์และอริยสัจ ๔ เพราะยังมีความทุกข์ใจที่ละเอียดอยู่ ไม่ใช่ความทุกข์ใจแบบปุถุชนอย่างพวกเรา แต่เป็นความทุกข์ที่ละเอียดของพระอนาคามี พอพิจารณาจนละรูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ และอวิชชาได้แล้ว กิเลสก็จะหมดไปจากใจ

 

พอใจบริสุทธิ์แล้วก็จะว่าง เป็นปรมังสุญญัง ไม่มีกิเลสตัณหาหลงเหลืออยู่ อริยสัจ ๔ ก็หายไป อนิจจังทุกขังอนัตตาก็หายไป เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำลายกิเลส ทำลายสังโยชน์ พอสังโยชน์ถูกทำลายหมดไปแล้ว ปัญญาก็หยุดทำงานโดยอัตโนมัติ เหมือนกับการกินยา พอหายจากโรคแล้วก็หยุดกินยาไป เพราะกินหรือไม่กินก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป กินไปก็ไม่ได้ทำให้โรคหายไปมากกว่านี้ ไม่กินก็ไม่ได้ทำให้โรคกำเริบขึ้นมาแต่อย่างใด นี่เป็นเรื่องของโลกุตตรธรรม ต้องเข้าขั้นปัญญา แต่ก่อนที่จะเข้าขั้นปัญญาได้ ก็ต้องผ่านขั้นโลกิยะก่อน ผ่านขั้นทาน ขั้นศีล ผ่านขั้นสมาธิไปก่อน พอชำนาญในการเข้าออกสมาธิแล้ว ก็ควรเจริญปัญญาเลย เริ่มต้นที่ร่างกาย พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ที่ร่างกายและที่เวทนา ความตายความเจ็บทางร่างกาย พิจารณาจนปล่อยวางได้ แล้วก็พิจารณาอสุภะ เพื่อละกามราคะ พอละได้แล้ว ก็ไปพิจารณารูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ และอวิชชา นี่คือการดำเนินมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ที่เราพูดสั้นๆว่ามรรคผลนิพพาน ต้องดำเนินด้วยปัญญา ต้องมีไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา มีอริยสัจ ๔ เป็นมาตรวัด

 

ใจผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องดูที่อริยสัจ ๔ ถ้ายังทุกข์อยู่ก็แสดงว่ายังไม่ผ่าน ถ้าไม่ทุกข์แล้วก็แสดงว่าผ่าน เช่นตอนนี้ไม่ทุกข์แล้วกับความแก่ กับความเจ็บ กับความตาย นั้นแสดงว่าผ่าน ตอนนี้ไม่ทุกข์แล้วกับเรื่องกามารมณ์ เรื่องกามราคะ ก็แสดงว่าผ่าน ตอนนี้ไม่ทุกข์ไม่ติดในรูปฌานแล้ว ไม่ติดในอรูปฌานแล้ว ไม่ถือตัวแล้ว ไม่หลงกับอวิชชาแล้ว ก็จะรู้เองว่าไม่มีอะไรจะให้ทำอีกแล้ว เพราะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ภายในใจแล้ว ทุกข์ได้ดับไปหมดแล้ว นิโรธเต็มที่แล้ว นิโรธก็มี ๔ ขั้น ขั้นโสดาบัน ขั้นสกิทาคามี ขั้นอนาคามี และขั้นอรหันต์ พอได้นิโรธขั้นอรหันต์แล้ว ก็ถึงพระนิพพาน มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี่ เป็นธรรมที่มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธศาสนาเท่านั้น เป็นธรรมที่จะยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาทรงตรัสรู้ และมาเผยแผ่สั่งสอน โลกุตตรธรรมให้แก่สัตว์โลก สัตว์โลกก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด แต่ทุกครั้งที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ และมาประกาศพระศาสนาให้แก่สัตว์โลก ก็จะปรากฏมีพระอริยสงฆ์สาวกเป็นจำนวนมาก เป็นผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากการปรากฏขึ้นของพระพุทธศาสนา การปรากฏขึ้นของพระพุทธเจ้า พวกเราทุกคนก็มีสิทธิ์รับอานิสงส์ เพราะว่าเราเป็นเหมือนพวกที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ แล้ว แต่เราต้องไปขึ้นเงินรางวัล ถูกรางวัลที่ ๑ แล้ว เราจะไปขึ้นรางวัลหรือไม่ก็อยู่ที่เรา ถ้าขี้เกียจก็จะไม่ไปขึ้น ถ้าไม่ไปขึ้นรางวัล ลอตเตอรี่ที่ถูกรางวัลที่ ๑ ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา เป็นเหมือนกระดาษใบหนึ่งเท่านั้นเอง

 

พวกเราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ก็ถือว่าได้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ แล้ว อยู่ที่ว่าจะไปขึ้นรางวัลหรือไม่ จะไปรับรางวัลคือมรรคผลนิพพานนี้หรือไม่ ถ้าไปก็ต้องไปทำบุญให้ทานให้หมด สละให้หมด แล้วก็ออกบวช รักษาศีล ภาวนาอย่างเต็มที่ ก็จะได้รับรางวัลอย่างรวดเร็ว บางคนใช้เวลาไม่กี่วัน สมัยพระพุทธกาลฟังเทศน์ครั้งเดียวก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ถึง ๕๐๐ รูป เพราะท่านเหล่านั้นมีทานแล้ว มีศีลแล้ว มีสมาธิแล้ว เหมือนกับพระปัญจวัคคีย์ ฟังธรรมเพียง ๒ ครั้ง ครั้งแรกก็ฟังพระธัมมจักฯ ครั้งที่ ๒ ก็ฟังพระอนัตตลักขณสูตร ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้หมด พวกเราตอนนี้ฟังกันแล้วแต่ไม่บรรลุ  เพราะพวกเราขาดการปฏิบัติ ขาดสติ ขาดสมาธิ จึงต้องรีบเติมสติเติมสมาธิ ทานก็ต้องให้มากกว่านี้ ให้หมดเลย ยกให้ลูกให้หลานไปหมดเลย แล้วก็ไปอยู่วัด รักษาศีลปฏิบัติให้เต็มที่ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็ถือว่าไม่ยอมไปขึ้นรางวัล จะไปโทษคนอื่นไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของเรา ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ต้องไปขึ้นรางวัลเอง ส่งตัวแทนไปขึ้นไม่ได้

 

ถาม  เวลาฟังธรรมท่านพระอาจารย์แล้ว อย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ เกิดความซาบซึ้งใจ อยากร้องไห้ ท่านพระอาจารย์เคยบอกว่า ไม่ควรร้องไห้ ให้พยายามทำใจให้สงบ

 

ตอบ  เราปฏิบัติเพื่อควบคุมใจของเรา ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ก็ยังเป็นสมมุติอยู่ ไม่เที่ยง ถ้าควบคุมได้ ก็จะมีความสุขอีกแบบหนึ่งที่ดีกว่า ความสุขที่เกิดจากอุเบกขา ถ้ายังควบคุมไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ไม่เสียหายอะไร ถ้ามีปีติมีความซาบซึ้ง นั่งฟังแล้วขนลุกหรือน้ำตาไหลนี้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าต้องการควบคุมจิตใจ ต้องทำจิตให้มีแต่ความว่าง ให้เป็นอุเบกขา

 

ถาม  ถ้าเกิดมีความไม่สบายใจ แล้วมาฟังธรรมก็เกิดความสบายใจ เกิดความซาบซึ้งใจ แล้วอยากได้ความสบายใจแบบนี้อีก เพื่อขับความไม่สบายใจออกไปอีก ควรกลับมาบริกรรมพุทโธ ทำใจให้เป็นอุเบกขา ให้เกิดความสงบเหมือนเดิม ใช่ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ใช่ อย่าไปฝันหรือไปคิดถึงอารมณ์ที่ผ่านไปแล้ว อยากจะให้เป็นอย่างนั้นอีก ต้องทำปัจจุบันให้เป็นอุเบกขา ทำใจให้ว่าง ไม่ให้คิดปรุงแต่ง ไม่ให้ไปอดีต ไม่ให้ไปอนาคต ให้อยู่กับปัจจุบัน เวลาปฏิบัติได้ผลแล้ว ใจมักจะคิดถึงผลนั้นอีก อยากให้เป็นอีก แต่ลืมไปว่ามันผ่านไปแล้ว ตอนนี้ใจไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว อยากจะให้เป็นแต่ไม่เป็น ก็เลยเกิดความทุกข์ใจ เกิดความเครียดขึ้นมา ผลที่เกิดขึ้นก็ผ่านไปแล้ว อย่าไปอยากให้กลับมา ให้อยู่ในปัจจุบันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็จะเกิดขึ้นมาใหม่ ถ้าออกจากปัจจุบัน ไปหาอดีตไปหาอนาคต ก็จะไม่เกิด อยากให้เกิดอีก ก็จะฟุ้งซ่าน แทนที่จะสงบ เกิดปีติ เกิดความว่าง ก็จะไม่เกิด เพราะไม่ได้สร้างเหตุที่ทำให้เกิด เหตุที่ทำให้เกิดก็คือการอยู่ในปัจจุบัน ต้องว่างจากความคิดปรุงแต่ง ด้วยการบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดถึงผลที่ผ่านไปแล้ว หรือคาดว่าเมื่อไหร่จะเกิดผลอีก

 

ถาม  เวลาซักผ้า กวาดถูบ้าน อาบน้ำ ทำอะไรต่างๆ  ควรระลึกถึงพุทโธ หรือว่าควรจดจ่อเฝ้าดูกิจกรรมที่กำลังทำอยู่

 

ตอบ  ได้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่งก็ใช้การจดจ่อเฝ้าดูไป ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน การเจริญสตินี้ เพื่อให้จิตอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเป็นปัจจุบันแล้วจิตจะรู้เฉยๆ ร่างกายก็ทำงานไป ใจก็เฝ้าดูไป ถ้าปรุงแต่งไปหาอดีตอนาคต ก็ต้องหยุดความคิดปรุงแต่งด้วยการบริกรรมพุทโธ  ถ้าไม่คิดปรุงแต่ง รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ ก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ ให้เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายไป ข้อสำคัญก็คือพอมีเวลาว่าง ก็ต้องนั่งสมาธิให้จิตรวมให้ได้ ให้ดิ่งเข้าสู่สมาธิ ถ้าร่างกายยังเคลื่อนไหวอยู่ จิตก็จะต้องทำงาน ก็จะไม่สามารถเข้าสู่ความสงบได้อย่างเต็มที่ ได้อย่างมากก็คือระงับความฟุ้งซ่าน ได้ความว่างเบา แต่จะไม่รวม จะไม่ได้ปล่อยร่างกาย พอมีเวลาว่างจึงต้องนั่งสมาธิให้มากๆ เพราะความสุขที่มหัศจรรย์ใจอยู่ในจิตที่สงบนี่เอง

 

หลักของการปฏิบัติก็คือต้องอยู่ในปัจจุบันเสมอ ไม่ว่าจะเจริญสติ จะนั่งสมาธิ ถ้าเจริญปัญญาก็พิจารณาอดีตอนาคตได้ แต่ให้อยู่ในกรอบของไตรลักษณ์ เช่นพิจารณาความไม่เที่ยง ก็ต้องดูอดีตว่าเป็นอย่างไร ดูปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ดูอนาคตว่าเป็นอย่างไร ถ้าดูทั้ง ๓ ส่วนก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ดูตอนที่เกิด ออกมาจากท้องแม่เป็นอย่างไร ตอนนี้เป็นอย่างไร และตอนที่ไปนอนอยู่ในโลงเป็นอย่างไร ตอนที่เผาร่างกายแล้วเก็บกระดูกเป็นอย่างไร ถ้าเจริญปัญญาก็ต้องดูให้ครบทั้ง ๓ ส่วน จะได้เห็นภาพอย่างชัดเจน เห็นภาพของความไม่เที่ยงความเปลี่ยนแปลง ถ้าเจริญสติหรือทำสมาธินี้ ก็ให้อยู่ในปัจจุบัน แต่เวลาพิจารณาจริงๆ ก็ต้องอยู่ในปัจจุบันเหมือนกัน ต้องอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นไปเจอความตายอย่างนี้ ก็ต้องพิจารณาว่าร่างกายต้องตายเป็นธรรมดา เราไม่สามารถยับยั้งได้ ต้องปลงต้องปล่อย ต้องทำในปัจจุบัน แต่ตอนที่พิจารณาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น เป็นเหมือนซ้อมไว้ก่อน เป็นการทำการบ้าน เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน ให้เห็นว่าร่างกายจะต้องตายไปอย่างแน่นอน ในที่สุดก็จะกลายเป็นเถ้าถ่านไป กลายเป็นเศษกระดูกไป ถ้าคิดอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะไม่หวั่นไหว ไม่วุ่นวาย ไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น รู้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา ผู้ที่พิจารณาร่างกายกับร่างกายเป็นคนละคนกัน

 

อย่างที่ได้แสดงไว้ในตอนต้นว่า จิตใจอยู่ในโลกทิพย์ ส่วนร่างกายอยู่ในโลกธาตุ อยู่คนละโลก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับใจ ใจอยู่ในโลกทิพย์ ร่างกายอยู่ในโลกธาตุ เวลาเกิดอะไรขึ้นในโลกธาตุ ไม่ได้เกิดในโลกทิพย์ด้วย เหมือนยานอวกาศที่ถูกส่งไปสำรวจดาวอังคาร ผู้ที่ควบคุมยานอยู่ที่โลกนี้ รับข้อมูลที่ยานอวกาศส่งมาให้ เช่นภาพและเสียงต่างๆ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับยานอวกาศ ก็จะเกิดที่ยานอวกาศเท่านั้น ไม่ได้เกิดกับผู้ที่ควบคุมบังคับยานที่อยู่บนโลกนี้ ถ้ารู้ความจริงนี้แล้ว ก็จะไม่หวาดกลัววิตกกังวล กับการเป็นการตายของร่างกาย เพราะใจไม่ได้เป็นร่างกาย จะเห็นได้ก็ต้องเข้าสมาธิทำใจให้สงบ ยุติการรับรู้เรื่องของโลกธาตุชั่วคราว ถ้าเป็นผู้ควบคุมยานอวกาศก็ปิดวิทยุ ไม่รับรู้เรื่องของยานอวกาศ ถ้าทำสมาธิได้ก็จะรู้ว่า ผู้รู้เป็นผู้ควบคุมสั่งการให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ ผู้รู้ไม่ได้เป็นร่างกาย ร่างกายเป็นอะไรไป ก็ไม่เกี่ยวกับผู้รู้ พอออกจากสมาธิก็ต้องคอยเตือนคอยสอนผู้รู้ว่า ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายมีเส้นทางของเขา เริ่มต้นในท้องแม่แล้วก็จะไปจบที่สุสาน ไปจบที่เมรุ นี่คือที่ไปของร่างกาย  ส่วนผู้ควบคุมร่างกายคือผู้รู้ ไม่ได้เป็นร่างกาย จะไปไหนต่อก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมใจ หยุดการไปหาร่างกายใหม่ได้หรือไม่ หยุดการไปเกิดใหม่ได้หรือไม่

 

ถาม  เป็นคนกลัวความสูงกลัวความเร็ว เวลาจะกระโดดสปริงบอร์ดสูง ๒ เมตร ก็ภาวนาพุทโธไปก็จะกระโดดได้ เอาชนะความกลัวได้ สามารถนำมาเป็นอุบายในทางธรรมะได้ไหมเจ้าคะ

 

ตอบ  ได้ เวลาไปอยู่ที่น่ากลัว แล้วเกิดความกลัวขึ้นมา ก็ใช้พุทโธดับความกลัวได้ พระปฏิบัติจะชอบไปหาที่น่ากลัวอยู่ เพื่อจะได้ใช้อุบายนี้ทำใจให้สงบ ถ้าอยู่ในที่ปลอดภัยไม่กลัวก็จะไม่ใช้พุทโธ จะขี้เกียจ พอจนตรอกไม่มีทางออก ความกลัวทรมานใจมาก ก็ต้องหาวิธีหยุดให้ได้ ก็ต้องใช้พุทโธหรือสวดมนต์

 

ถาม  เป็นการชนะเป็นครั้งคราว ไม่ใช่ชนะน็อคใช่ไหมคะ

 

ตอบ  สมาธิเป็นเครื่องมือชั่วคราว ถ้าจะชนะน็อคก็ต้องปลง ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย แต่สิ่งที่ตายไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ถ้าปลงได้ก็จะไม่กลัวอีกต่อไป ไปอยู่ที่ไหนก็จะเฉยๆ เพราะไม่ปรุงแต่ง ความกลัวเกิดจากความปรุงแต่ง พอหยุดความปรุงแต่งได้แล้วก็เฉยไปหมด พุทโธหยุดได้ชั่วคราว ปัญญาหยุดได้อย่างถาวร ปัญญาจะบอกว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไปทุกข์กับเขาทำไม ร่างกายไม่เดือดร้อน แต่ใจที่ควบคุมร่างกายไปเดือดร้อนเอง

 

ถาม  ถ้าผ่านความกลัวไปแล้ว จะต้องพิจารณาอีกหรือไม่

 

ตอบ  ไม่ต้องพิจารณาแล้ว เช่นเดียวกับกลัวความเจ็บ ถ้าพิจารณาจนปล่อยความเจ็บได้แล้ว ก็ไม่ต้องพิจารณาอีก

 

วิธีแก้ความกลัวมี ๒ วิธี คือ ๑. แก้ด้วยสมาธิ แก้ได้ชั่วคราว ๒. แก้ด้วยปัญญา แก้ได้อย่างถาวร แก้ด้วยสมาธิจะง่ายกว่า บริกรรมพุทโธๆไป ความกลัวก็จะหายไปชั่วคราว ถ้าแก้ด้วยปัญญาก็ต้องพิจารณาให้เห็นความจริง ให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ให้เห็นว่าความอยากเป็นตัวปัญหา ตัวที่ทำให้เราทุกข์มากๆ ความเจ็บไม่ใช่ปัญหา ความตายไม่ใช่ปัญหา แต่ความกลัวความเจ็บ กลัวความตาย อยากให้ความเจ็บหาย อยากไม่ตายต่างหากที่เป็นตัวปัญหา พอเห็นความจริงนี้แล้ว ก็ตัดความอยากไป ก็จะไม่ทุกข์กับความเจ็บกับความตาย เจ็บก็เจ็บไป ตายก็ตายไป พอไม่หายใจก็ตายแล้ว ความตายนี้มันง่ายจะตายไป เพียงวินาทีเดียว พอไม่หายใจปั๊บก็ตายแล้ว แต่กลัวกันไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้ง ทุกข์กับความตายไม่รู้กี่พันกี่หมื่นครั้ง เพราะไม่รู้ธรรมะ ไม่รู้จักใช้ปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ไม่ได้ภาวนา ปัญญาจะต้องเกิดจากการภาวนา ต้องมีสมาธิก่อนถึงจะได้ปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิเวลาเกิดอะไรขึ้น จะตื่นตระหนกโกลาหลขึ้นมาทันที ไม่มีสติปัญญาพิจารณา เหมือนกระต่ายตื่นตูม ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา พอเกิดอะไรขึ้นมาปั๊บ จิตจะวิเคราะห์จะพิจารณาทันที จึงควรภาวนากันมากๆ จะได้ไม่ต้องทุกข์กับเรื่องต่างๆ

 

ถาม  ตัวกายทิพย์กับตัวผู้รู้  

 

ตอบ  ตัวเดียวกัน

 

ถาม  กายทิพย์นี่ซ้อนอยู่กับกายหยาบ

 

ตอบ  ไม่ซ้อน อยู่คนละโลก เหมือนคนที่ควบคุมยานอยู่ในโลกนี้ ส่วนยานอยู่อีกโลกหนึ่ง

 

ถาม  จะติดต่อกับกายทิพย์ได้ ก็ต้องนั่งสมาธิใช่ไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าอยากจะเห็นกายทิพย์ก็ต้องเข้าสมาธิ ถ้าอยากจะเห็นร่างกายก็ต้องดูกระจก กระจกส่องกายทิพ์ก็คือธรรมะ ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม พอมีสติมีสมาธิมีปัญญาก็จะเห็นกายทิพย์

 

ถาม  การภาวนานี้เป็นการสอนกายทิพย์ใช่ไหมคะ

 

ตอบ  สอนและเปิดตากายทิพย์ ให้เห็นตัวเอง  ให้รู้ว่าตัวเองไม่ได้เป็นร่างกาย เป็นคนละคนกัน ร่างกายกับใจเป็นคนละคนกัน ถ้าไม่ภาวนาก็จะไม่เห็น เวลานั่งสมาธิจิตจะถอนกระแสรับรู้ออกจากร่างกายชั่วคราว กระแสที่ไปรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้ จะถูกดึงกลับเข้าไปในจิต เวลาจิตรวมจะดึงเข้าไปหมดเลย ก็เลยไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย เหลือแต่กายทิพย์อยู่ตัวเดียว ก็จะเห็นว่านี่คือกายทิพย์ คือใจ คือผู้รู้  เป็นอุเบกขา มีความสุขมาก พอออกจากสมาธิก็จะไม่ไปหารูปเสียงกลิ่นรส มาให้ความสุขอีกแล้ว เพราะได้ความสุขที่ดีกว่าเหนือกว่า คือความสุขที่ได้จากการรวมตัวของจิต ถ้าไม่มีปัญญากิเลสก็จะหลอกล่อ ให้ไปซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ ให้ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ จึงต้องใช้ปัญญาสอนใจว่า มันไม่สุขไม่อร่อยไม่สนุกเหมือนที่คิด มันทุกข์มากกว่า มันไม่อิ่มไม่พอ สู้กลับเข้าไปข้างในดีกว่า พอเกิดความอยากก็กลับไปนั่งสมาธิใหม่ แทนที่จะไปซื้อของที่อยากจะซื้อ ไปเที่ยวตามสถานที่ที่อยากจะไป ก็กลับไปนั่งสมาธิใหม่ ไปอยู่วัด ถ้าจะไปเที่ยวก็ไปอยู่วัดแทน ถ้าพบความสุขในใจแล้ว จะไม่อยากไปไหน ถ้ายังไม่ได้พบก็ยังจะอยากไปเที่ยวอีก พอชวนปั๊บก็จะไปเลย

 

ถาม  เวทนาคือผลของการรับรู้ของอายตนะ ถูกไหมครับ  

 

ตอบ  ถ้าเกิดจากการสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส ก็เรียกว่าเวทนา ถ้าเกิดจากความคิดปรุงแต่ง ก็เรียกว่าทุกขสัจและนิโรธสัจ  เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดท้องปวดศีรษะ ก็เกิดเวทนาขึ้นมา ถ้าคิดปรุงแต่งอยากให้หายก็เกิดทุกขสัจ ถ้าปล่อยวางก็เกิดนิโรธสัจ

 

ถาม  คือการคิดปรุงแต่ง

 

ตอบ  สิ่งที่เราต้องการจะหยุดก็คือทุกขสัจ  ทุกข์ที่เกิดจากความอยากต่างๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ารู้แล้วปล่อยวางก็จะไม่ทุกข์ ต้องปล่อยวางทุกอย่าง ทั้งข้างนอกทั้งข้างใน ข้างนอกก็คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ข้างในก็คือธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิต มีสุขบ้างมีทุกข์บ้าง

 

ถาม  ไม่ค่อยเข้าใจคะ

 

ตอบ  เวลาสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส ก็อย่าไปชอบอย่าไปชัง ให้รู้เฉยๆแล้วก็ปล่อยวาง

 

ถาม  อย่ามีความเห็น

 

ตอบ  ให้สักแต่ว่ารู้ อย่าไปรักอย่าไปชัง อย่าไปมีอคติ ๔ คือ รัก ชัง กลัว หลง เพราะจะทำให้เกิดสมุทัย เกิดตัณหา พอเกิดตัณหาก็จะเกิดความทุกข์ใจ ถ้ารู้แล้วปล่อยวาง ก็จะไม่ทุกข์