กัณฑ์ที่ ๔๓๙      ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕

 

ความตั้งใจ

 

 

การจะทำอะไรให้สำเร็จได้ ขึ้นอยู่ที่อธิษฐานความตั้งใจ อธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ ตั้งใจที่จะทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็อยู่ที่สัจจะความจริงใจ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งสัจอธิษฐาน ตอนที่ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิว่า จะนั่งภาวนาไปจนกว่าจะตรัสรู้ ถ้ายังไม่ตรัสรู้จะไม่ลุกจากที่ประทับไป แม้เลือดจะเหือดแห้งไปก็จะไม่ลุก ยอมเสียชีวิต เอาชีวิตเข้าแลกกับการตรัสรู้ นี่คือความตั้งใจของพระพุทธเจ้า จึงทำให้พระองค์สามารถตรัสรู้ได้ ถ้าพวกเราอยากจะบรรลุธรรม อยากจะประสบกับความสำเร็จในเรื่องใดก็ตาม ต้องมีความตั้งใจต่อเรื่องนั้น เช่นอยากจะบรรลุธรรม ก็ต้องมีความตั้งใจปฏิบัติธรรม เพราะการบรรลุธรรมเป็นผลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม จึงต้องตั้งใจตั้งเป้าไว้ที่การปฏิบัติธรรม ผลคือการบรรลุธรรมจะตามมาเอง ต้องมีความตั้งใจปฏิบัติไม่หยุดไม่หย่อน จนกว่าจะบรรลุผลที่ปรารถนา เมื่อตั้งใจแล้วก็ต้องมีสัจจะ ความจริงใจแน่วแน่ต่อความตั้งใจ การตั้งใจเป็นการให้คำมั่นสัญญากับตนเอง เช่นสัญญาว่าจะมาฟังธรรมทุกครั้ง ยกเว้นมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถมาได้ อย่างหลวงตาตอนที่ท่านนั่งภาวนาทั้งคืน ท่านก็ตั้งสัจอธิษฐานว่าจะไม่ลุกจนกว่าจะสว่าง ยกเว้นมีเหตุอันตรายเกิดขึ้นภายในวัด กับครูบาอาจารย์หรือพระภิกษุที่อยู่ร่วมกัน จำเป็นต้องออกมาช่วยเหลือ ถ้าไม่มีเหตุถึงแม้จะปวดปัสสาวะก็จะปล่อยให้มันราดไป ไม่ยอมลุก ท่านถึงนั่งได้ทั้งคืน

 

นอกจากมีสัจอธิษฐานแล้ว ก็ต้องมีวิริยะความเพียร เมื่อตั้งสัจอธิษฐานว่าจะภาวนา ก็ต้องเพียรภาวนา เช่นถ้าตั้งสัจอธิษฐานว่า วันนี้จะบริกรรมพุทโธไปทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ให้พุทโธหายไปจากใจ ก็ต้องบริกรรมพุทโธๆไปทั้งวัน ยกเว้นเวลาที่ต้องคิดต้องพูดต้องคุย พอเสร็จจากธุระแล้ว ก็กลับมาบริกรรมพุทโธๆต่อ แล้วก็ต้องมีขันติความอดทน เพราะเวลาควบคุมบังคับใจให้ทำอะไรนี้ จะเกิดความเครียด รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา เพราะธรรมชาติของใจจะไม่ชอบถูกบังคับ ชอบไหลไปตามอารมณ์ อยากจะคิดอะไรก็คิด อยากจะทำอะไรก็ทำ แต่พอถูกบังคับให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเกิดความเครียดขึ้นมาภายในใจ ไม่สบายใจ หงุดหงิดรำคาญใจ ว้าวุ่นขุ่นมัว ถ้าไม่มีขันติความอดทนก็จะทนทำไปไม่ได้ จะทำไม่สำเร็จ จึงต้องมีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ถ้าต้องการความสำเร็จ กุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม จึงอยู่ที่ความตั้งใจ ความจริงใจ ความพากเพียร ความอดทน ถ้ามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ก็จะสามารถทำให้สำเร็จได้ทุกอย่าง

 

ถ้าอยากจะทำอะไรให้สำเร็จ ก็ต้องสำรวจดูว่ามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ควรสร้างขึ้นมา ควรกำหนดเป้าหมายของชีวิต กำหนดกรอบเวลา ถ้าตั้งเป้าหมายแต่ไม่มีกรอบเวลา ก็จะเลื่อนไปเรื่อยๆ แต่ถ้ากำหนดว่าจะทำตั้งแต่วันนี้ไป เช่นปฏิบัติธรรม ขั้นแรกที่จำเป็นต้องทำก็คือเจริญสติ ก็กำหนดไปว่าต่อไปนี้จะเจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับ จะพยายามควบคุมความคิด ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ไม่ให้คิดไปตามอารมณ์ จะให้คิดให้น้อยที่สุด คิดเท่าที่จำเป็น คิดแต่เรื่องงานที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น จะไม่คิดถึงเรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว เรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ถ้าจะเจริญสติก็ไม่ต้องกังวลกับการพิจารณาทางด้านปัญญา เพราะการพิจารณาทางปัญญาจะต้องใช้ความคิดปรุงแต่ง ที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นเรื่องเป็นราว ที่ต้องมีสติมีสมาธิก่อน ถ้าไม่มีสติไม่มีสมาธิจะเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะจะคิดไปแบบสะเปะสะปะ คิดเรื่องนั้นสลับกับเรื่องนี้ ปนไปปนมา เกิดความสับสน นักปฏิบัติบางคนอ่านหนังสือธรรมะมาก อ่านเรื่องธรรมขั้นต่างๆมาก แล้วก็เกิดความสงสัย ไม่เข้าใจ เพราะไม่่รู้ขั้นตอนของการปฏิบัติ

 

การจะทำอะไรให้ได้ผลก็ต้องทำตามขั้นตอน ขั้นตอนแรกของการปฏิบัติ ก็คือการเจริญสติ ต้องควบคุมความคิด ลบความคิดออกไปจากใจให้ได้ ให้เหลือแต่ความรู้ ดูอะไรก็รู้ เห็นอะไรก็รู้ รู้ว่ากำลังเห็นอะไร กำลังได้ยินอะไร อย่าไปคิดปรุงแต่งกับสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ให้รู้เฉยๆ รู้แล้วก็ผ่านไป ปล่อยเขาผ่านไป ให้ใจอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่พอได้ยินเสียงใจก็เอามาคิด ทั้งๆที่เสียงนั้นก็ผ่านไปแล้ว เช่นเวลาใครเขาว่าเรา เราก็เอามาคิดต่อ ทั้งๆที่คนที่ว่าก็หายไปแล้ว แต่เรายังอดคิด

ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าย้อนไปในอดีต คิดเรื่องอดีต ตอนต้นนี้ไม่ควรคิด ต้องควบคุมความคิดให้ได้ก่อน ถ้าควบคุมความคิดได้ ต่อไปจะสั่งให้คิดในเรื่องที่เป็นประโยชน์ได้ คือคิดเรื่องธรรมะ เช่นคิดเรื่องอนิจจังไม่เที่ยง คิดเรื่องทุกข์ คิดเรื่องอนัตตา ถ้ายังควบคุมความคิดไม่ได้ เวลาคิดเรื่องอนิจจัง ก็จะกลับไปคิดเรื่องนิจจัง คิดตรงกันข้ามกับเรื่องที่ให้คิด เพราะใจยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกิเลสอวิชชาความหลง ที่จะคิดสวนทางกับความจริง คิดถึงอะไรก็อยากจะให้อยู่นานๆ แทนที่จะคิดว่าอยู่ไม่นาน เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป คิดถึงอะไรก็จะคิดว่าให้ความสุขกับเรา แต่ความจริงเขาให้ความทุกข์มากกว่าให้ความสุข

 

ถ้าควบคุมความคิดได้แล้ว ก็จะคิดตามความจริงได้ ความจริงที่พระพุทธเจ้า พระสงฆ์สาวกทั้งหลาย สอนให้คิดให้เห็น ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นความทุกข์ เพราะไม่เที่ยง เวลาเสื่อมไป ถ้าใจยึดติดก็จะทุกข์ เพราะอยากได้สิ่งนั้นอีก เช่นเคยมีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง พอล้มละลายสูญเสียทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองไป ก็จะทุกข์ หรือสูญเสียสามีภรรยาบุตรธิดาไป ถ้าอยากจะให้กลับมา ก็จะทุกข์ทรมานใจ จนไม่อยากจะอยู่ต่อไป เพราะไม่สามารถเอาสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ เพราะไม่เคยมองความจริง ไม่เคยคิดถึงความจริง คือมีเกิดต้องมีดับเป็นธรรมดา มีมาต้องมีไป มีเจริญต้องมีเสื่อม ถ้าควบคุมความคิดได้แล้ว ก็จะคิดไปตามความจริงได้ ว่าทุกสิ่งมีการเปลี่ยนแปลง มีการเจริญมีการเสื่อม มีเกิดมีดับ มีสุขแล้วก็ต้องมีทุกข์ตามมา ไม่มีอะไรเป็นของเรา ไม่มีอะไรเป็นตัวเรา นี่คือความคิดที่เราต้องหมั่นคิดอยู่เรื่อยๆ หลังจากที่ควบคุมความคิดได้แล้ว ต้องหยุดความคิดที่สวนทางกับความจริงให้ได้ก่อน พอหยุดได้แล้วก็จะคิดไปในทางความจริงได้ เหมือนขับรถหลงทางย้อนศร ก็ต้องหยุดรถก่อนแล้วก็เลี้ยวกลับ ให้รถวิ่งถูกทาง วิ่งไปในทางเดียวกับรถอื่น ก็จะปลอดภัยไม่เกิดอุบัติเหตุ ความคิดของเราตอนนี้มันย้อนศร ย้อนความจริง ไม่คิดไปตามความจริง คิดสวนทางกับความจริง ในเบื้องต้นจึงต้องหยุดความคิดให้ได้ก่อน ต้องติดเบรกให้กับใจ เพื่อจะได้หยุดความคิด

 

เบรกในที่นี้ก็คือสติ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงสอนว่ามีอยู่ถึง ๔๐ ชนิดด้วยกัน เช่นการบริกรรมพุทโธนี้ ก็เรียกว่าพุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถ้าบริกรรมธัมโมก็เป็นธัมมานุสติ ถ้าบริกรรมสังโฆก็เป็นสังฆานุสติ จะเจริญบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณก็ได้ บทพุทธคุณก็เป็นพุทธานุสติ บทธรรมคุณก็เป็นธัมมานุสติ บทสังฆคุณก็เป็นสังฆานุสติ ถ้าจะเจริญมรณานุสติ ก็ระลึกถึงความตาย ท่องคำว่าตายไปเรื่อยๆก็ได้ ไม่มีอะไรไม่ตาย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องตายไปหมด แต่ก็อาจจะเป็นปัญหาได้สำหรับคนที่จิตใจไม่เข้มแข็ง พอคิดถึงความตาย ก็เกิดความรู้สึกหดหู่ใจ ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ควรใช้การเจริญมรณานุสติ ควรใช้พุทโธแทน ถ้าไม่ชอบการบริกรรม ถ้าสติมีกำลังพอที่จะควบคุมจิตใจ ให้จดจ่อเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก็ใช้ร่างกายเป็นที่เจริญสติก็ได้ ให้รู้ว่าร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ กำลังยืนก็รู้ว่ากำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังเคลื่อนไหว กำลังทำกิจกรรมอะไร ก็ให้จดจ่อรู้อยู่กับกิจกรรมนั้น ไม่ให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่ากายคตานุสติปัฏฐาน มีร่างกายเป็นที่ตั้งของสติยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ให้ลอยไปลอยมา ใจก็เป็นเหมือนเรือที่ลอยอยู่บนน้ำ ถ้าไม่ผูกไว้กับเสา เรือก็จะลอยไปกับกระแสน้ำ ถ้าผูกไว้กับเสาเรือก็จะไม่ลอยไป

 

นี่คือขั้นแรกของการปฏิบัติ ต้องเจริญสติให้ได้ก่อน ต้องควบคุมใจให้ได้ ให้อยู่ในปัจจุบัน ให้ว่าง ให้รู้เฉยๆ ถ้าควบคุมใจให้นิ่งให้ว่างได้ เวลานั่งสมาธิก็จะสงบได้ เวลากำหนดพุทโธก็จะอยู่กับพุทโธ ไม่นานใจก็จะเข้าสู่ความสงบ ทำไมตอนที่กำลังทำอะไรถึงไม่สงบ ทั้งๆที่มีพุทโธอยู่ ก็เพราะร่างกายยังเคลื่อนไหวอยู่ ถ้าร่างกายยังเคลื่อนไหวก็แสดงว่าใจยังต้องทำงาน แต่ถ้านั่งเฉยๆแล้วหลับตาไม่ขยับเขยื้อน แล้วบริกรรมพุทโธไป ใจจะรวมลง เข้าสู่ความสงบได้ เพราะไม่ต้องคอยสั่งให้ร่างกายเคลื่อนไหว ใจไม่ต้องทำงาน ถ้าอยากได้สมาธิก็ต้องนั่งหลับตา แล้วก็บริกรรมพุทโธๆไปถ้าถูกจริต ถ้าถูกจริตกับการดูลมหายใจเข้าออก ก็ดูลมหายใจเข้าออกไป ถ้าจะใช้พุทโธก็บริกรรมพุทโธไป ถ้าจะใช้การดูลมก็ดูลมไป ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ เพราะเท่าที่ได้ยินได้ฟังมา คนที่ใช้ทั้ง ๒ อย่างมักจะสับสน ไม่รู้ว่าจะเอาสติไปตั้งไว้ที่ไหน ตรงที่พุทโธหรือตรงที่ลมหายใจ เวลามีความคิดเข้ามาแทรก ก็ไม่สามารถหยุดความคิดได้ ถ้าใช้บริกรรมพุทโธอย่างเดียว ก็จะสามารถบริกรรมให้ถี่ขึ้นให้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้ความคิดเข้ามาแทรกได้ แต่ถ้าใช้ควบคู่กับลมหายใจ จะไม่สามารถบริกรรมพุทโธให้เร็วขึ้นได้ เพราะลมหายใจจะไม่เร็วตาม  ถ้าเราดูลมหายใจแล้วพุทโธไปด้วย เวลามีความคิดเข้ามาแทรก ก็ควรหยุดดูลมหายใจ แล้วก็บริกรรมพุทโธอย่างเดียว บริกรรมให้ถี่ขึ้นให้เร็วขึ้น เพื่อไม่ให้ความคิดเข้ามาแทรก ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่ง ก็ดูลมอย่างเดียวไป จิตก็จะเข้าสู่ความสงบได้

 

ข้อสำคัญก็คือต้องอยู่กับอารมณ์เดียว เช่นอยู่กับพุทโธ หรืออยู่กับลมหายใจเข้าออก จึงจะเข้าสู่ความสงบได้ เวลาเข้าสู่ความสงบแล้ว ก็จะนิ่ง จะว่าง จะเป็นอุเบกขา สบายอกสบายใจ เบาอกเบาใจ อย่างนี้เรียกว่าสัมมาสมาธิ พอจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว ไม่คิดปรุงแต่ง เป็นอุเบกขา ก็ปล่อยให้อยู่ในสภาพนั้นให้นานที่สุด ตามกำลังของสติ จนกว่าจะถอนออกมาเอง อย่าไปกังวลกับการเจริญปัญญา เวลานั้นไม่ใช่เวลาเจริญปัญญา เป็นเวลาพักจิต เวลาสร้างพลังให้กับจิต ที่จะใช้ในการหยุดความอยาก หยุดความโลภความโกรธความหลง ต้องมีสมาธิก่อน ถ้าไม่มีสมาธิเวลาเจริญปัญญา จะไม่สามารถทำตามที่ปัญญาบอกได้ ว่าเป็นทุกข์ต้องปล่อยวาง แต่กิเลสความอยากยังมีกำลังมากกว่า ก็จะไม่ยอมปล่อยวาง แต่ถ้ามีสมาธิแล้ว ก็จะมีกำลังหยุดความอยากได้ หยุดกิเลสได้ ถ้าปัญญาบอกว่า ความอยากเป็นโทษ ทำให้เกิดความทุกข์ ก็จะหยุดความอยากได้ เช่นปัญญาจะชี้ไปที่พระอริยสัจ ๔ ว่าความทุกข์ความไม่สบายใจ เกิดจากความอยาก เวลาอยากจะเสพรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะอยู่เฉยๆไม่ได้ อยู่ไม่เป็นสุข ต้องเสพให้ได้ ถ้าอยากจะดูอะไรก็ต้องหามาดูให้ได้ ถ้าอยากจะฟังอะไรก็ต้องหามาฟังให้ได้ ถ้าไม่ได้ดูไม่ได้ฟัง ก็จะหงุดหงิดรำคาญใจ เป็นความทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่เกิดจากความอยาก

 

วิธีที่จะแก้ความหงุดหงิดรำคาญใจให้ถูกตามหลักธรรม ก็ต้องหยุดความอยาก ต้องเปลี่ยนใจว่าไม่อยากดูแล้ว ไม่อยากฟังแล้ว พอไม่อยากดูไม่อยากฟัง อารมณ์หงุดหงิดรำคาญใจก็จะหายไป ถ้าใจไม่มีสมาธิก็จะไม่มีกำลังหยุดความอยากได้ เวลาหงุดหงิดเพราะความอยาก ถ้าหยุดไม่ได้ก็ต้องภาวนาพุทโธๆไป แล้วความอยากก็จะหายไป ถ้ามีสมาธิก็ไม่ต้องภาวนา เพียงแต่สั่งให้หยุด เพราะเป็นโทษเป็นพิษเป็นภัย ก็จะหยุดอยากได้ทันที นี่เป็นขั้นของปัญญาที่จะตามมา หลังจากออกจากสมาธิมาแล้ว ในขณะที่อยู่ในสมาธิ ต้องปล่อยให้จิตว่างสงบไป จนกว่าจะถอนออกมาเอง เมื่อถอนออกมาแล้วพอเกิดความอยาก ก็ต้องใช้ปัญญามาสกัด มาบอกว่าความอยากเป็นโทษ จะทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ต้องหยุดความอยาก พอปัญญาบอกอย่างนั้น ถ้ามีสมาธิก็จะหยุดได้ทันที ถ้าไม่มีสมาธิก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา เวลาหงุดหงิดใจก็ต้องใช้ปัญญาถามว่า ตอนนี้กำลังหงุดหงิดกับอะไรกับเรื่องอะไร เช่นหงุดหงิดกับแฟนกับสามีกับภรรยา เพราะสั่งเขาไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนใจอย่าไปสั่ง อย่าไปอยากให้เขาทำตามสั่ง เพราะเขาเป็นอนัตตา เราควบคุมบังคับ สั่งให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้เสมอไป พอเห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็เปลี่ยนใจไม่สั่ง เขาไม่ทำก็ไม่เป็นไร ก็จะแก้ความหงุดหงิดใจได้ ถ้าแก้ด้วยการไปด่าเขาไปว่าเขา ก็จะทะเลาะวิวาทกัน ทุบตีกัน แตกแยกหย่าร้างกัน เพราะไม่แก้ปัญหาที่ใจ ไปแก้ที่บุคคล

 

ปัญหาของเราทั้งหมดนี้ ไม่ได้อยู่ที่บุคคล ไม่ได้อยู่ที่เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งต่างๆ แต่อยู่ที่ความอยากของเราเอง ถ้ามีปัญญาเราจะพุ่งมาที่พระอริยสัจ ๔ พุ่งกลับมาที่ใจเรา เพราะความหงุดหงิดใจของเรานี้เกิดจากความอยาก เพราะสิ่งที่เราอยากไม่ตอบสนอง เราจึงต้องหยุดความอยาก อย่าไปอยากได้อะไร อย่าไปอยากให้ใครทำอะไรให้เรา แล้วเราจะไม่หงุดหงิดใจกับใคร อยากจะได้อะไรถ้าทำได้ก็ทำไป ถ้าทำไม่ได้ก็ยอมรับความจริง แล้วก็หยุดความอยากไป อยากจะดื่มแต่ไม่มีอะไรให้ดื่ม ก็ไม่ดื่มก็ได้ ก็หมดปัญหาไป แต่ถ้าต้องดื่มให้ได้ ตรงนี้ไม่มีก็ไปหาตรงนั้น พอหามาได้ ได้ดื่มก็หายหงุดหงิดใจไปชั่วคราว แล้วเดี๋ยวก็เกิดความอยากดื่มขึ้นมาอีก ก็ต้องไปหามาดื่มอีก ถ้าหยุดความอยากดื่มได้ ก็ไม่ต้องไปหามาดื่ม ถ้าจะดื่มก็ดื่มด้วยเหตุผล ดื่มด้วยความจำเป็น เช่นร่างกายขาดน้ำก็จะเกิดอาการคอแห้งขึ้นมา อย่างนี้ก็หาน้ำมาดื่ม ดื่มไปตามความจำเป็น แต่จะไม่ดื่มตามความอยาก ไม่ใช่พอคิดถึงเครื่องดื่มชนิดนั้นชนิดนี้ขึ้นมา ก็อยากจะดื่มขึ้นมา แล้วก็ต้องไปหามาดื่มให้ได้ อย่างนี้ก็ไม่ได้ใช้ปัญญา แต่ใช้ความหลง เพราะไม่แก้ปัญหาคือความหงุดหงิดใจ ด้วยปัญญา ด้วยสติ ด้วยสมาธิ

 

นี่คือการปฏิบัติ เริ่มต้นที่สติ แล้วก็สมาธิ พอมีสมาธิแล้ว เวลาเกิดความหงุดหงิดใจความทุกข์ใจขึ้นมา ก็ใช้ปัญญาวิเคราะห์ดูว่า กำลังอยากกับอะไร จะต้องอยู่ที่ความอยากแน่ๆ อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ เวลาสูญเสียคนรักไปก็อยากจะให้เขากลับมา ไม่อยากจะอยู่คนเดียว อยากจะให้เขากลับมาอยู่กับเรา ก็จะเกิดความเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญาก็จะพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องอยู่กับความจริง คือตอนนี้อยู่คนเดียว ก็ต้องอยู่คนเดียวไปให้ได้ ถ้ามีสมาธิมีความสงบก็จะไม่เดือดร้อน เพราะความสงบที่เกิดจากสมาธินี้ มีความสุขมากกว่าความสุข ที่ได้จากการอยู่กับคนอื่น ถ้ามีสมาธิแล้วก็จะไม่อยากจะอยู่กับใคร อยากจะอยู่คนเดียว เพราะความสุขที่ได้จากการอยู่คนเดียวนี้ ดูดดื่มกว่ามีน้ำหนักมากกว่า ความสุขที่ได้จากการอยู่กับคนอื่น แล้วก็ไม่มีความทุกข์ อยู่กับคนอื่นก็จะทุกข์เวลาเขาเปลี่ยนไป เคยดีแล้วก็เปลี่ยนเป็นไม่ดี พอเขาเปลี่ยนไปเราก็จะเสียใจทุกข์ใจ เวลามีความสุขจากความสงบแล้ว จะไม่อยากได้ความสุขแบบอื่น เพราะจะมีความทุกข์ตามมาด้วยเสมอ เพราะธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีมาแล้วก็มีไปได้ เวลามาก็ดีใจ เวลาไปก็จะเสียใจ แต่ถ้าเวลามาไม่ดีใจ เวลาไปก็จะไม่เสียใจ ถ้ามีความสุขภายในใจแล้ว ใครจะมาใครจะไปจะไม่เดือดร้อน จะเฉยๆ มาก็ไม่ดีใจ ไปก็ไม่เสียใจ อยู่กับเขาก็ได้ ไม่อยู่กับเขาก็ได้ ไม่อยู่กับเขากลับดีกว่า เพราะไม่มีเรื่อง ไม่ต้องกังวล

 

นี่คือการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุผล ผลก็คือความสุขที่เกิดขึ้น ความทุกข์ที่หายไป เริ่มต้นที่การเจริญสติ แล้วก็นั่งนิ่งๆทำใจให้สงบ ถ้าสงบแล้วก็ทำให้ชำนาญก่อน เวลาออกจากสมาธิก็มาเดินจงกรม มาเจริญสติต่อ แล้วกลับไปนั่งต่อ นั่งให้นานขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เกิดความชำนาญ อยากจะสงบเมื่อไหร่ก็สงบได้ สงบได้ทุกเวลา พอมีความชำนาญทางสมาธิแล้ว ค่อยเจริญปัญญา ถ้าไม่มีความหงุดหงิดใจไม่มีความทุกข์ใจ ไม่มีอะไรต้องพิจารณาในปัจจุบัน ก็ให้พิจารณาถึงความทุกข์ใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นพิจารณาความพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ จากบุคคลต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต ว่าจะรับได้หรือไม่ เวลาที่สูญเสียสิ่งที่รักไป บุคคลที่รักไป จะทุกข์หรือไม่ พิจารณาไปก่อนเพราะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน ถ้าอยากจะให้เขาอยู่กับเราๆก็จะเสียใจ ถ้าหยุดความอยากได้ ทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ ก็จะเฉยได้ ถ้าพิจารณาแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อน ก็ต้องทดสอบดู ยกสิ่งที่เรารักให้คนอื่นไป เช่นรถที่เรารักมากหวงมาก ก็ยกให้คนอื่นไป หรือขายเพื่อเอาเงินไปทำบุญ ดูว่าทำได้หรือไม่

 

หรือลองไปอยู่วัดดู เพราะการไปอยู่วัดก็เหมือนกับการจากสิ่งที่เรารักไป เวลาอยู่บ้านจะมีสิ่งต่างๆที่เรารักอยู่กับเรา เช่นตู้เย็นเครื่องปรับอากาศ เครื่องอำนวยความสุขความสะดวกทุกรูปแบบ พอไปอยู่วัดก็ต้องอยู่ในสภาพที่แร้นแค้นอดอยากขาดแคลน ไม่ได้รับประทานอาหารตามความอยาก ต้องรับประทานตามเวลา เป็นอาหารที่ไม่อยากจะรับประทาน เพื่อพิสูจน์ดูว่าปล่อยวางกามสุขได้หรือไม่ นี่คือการเจริญปัญญา ถ้ามีสติมีสมาธิแล้วก็จะทำได้อย่างไม่ลำบากเลย ไปอยู่วัดป่าได้อย่างสบายไม่เดือดร้อน ถ้ายังไม่มีสติไม่มีสมาธิก็จะไปยาก เพราะไม่สามารถควบคุมความอยากสะดวกอยากสบาย อยากจะดื่มอยากจะรับประทานสิ่งที่ชอบได้ เวลาเกิดความอยากก็จะหงุดหงิดใจ ถ้าไม่มีสติสมาธิมาหยุดความอยาก ก็จะอยู่ได้ไม่นาน ตั้งใจไปอยู่หลายวัน พออยู่ได้วันสองวันก็กลับบ้านดีกว่า เพราะไม่มีสมาธิ ไม่มีอุเบกขา จึงต้องเจริญสติให้มาก นั่งสมาธิให้มาก ให้ใจเป็นอุเบกขาให้มาก ถ้าเป็นอุเบกขาแล้วก็จะรับกับเหตุการณ์ทุกรูปแบบได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ไม่ปรารถนา เช่นความเสื่อมความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบ นี่คือเรื่องของปัญญา

 

สติสมาธิเป็นผู้สนับสนุน ปัญญาจะเป็นผู้บอกว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความอยาก อยู่ที่ไม่เห็นความจริง ว่าไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรเป็นไปตามความต้องการเสมอ พอไม่ได้ตามความอยาก ก็จะทุกข์ทรมานใจ ต้องปรับใจให้อยู่แบบไม่มีความอยาก อยู่กับสภาพความเป็นจริง ร้อนก็อยู่กับความร้อนไป เย็นก็อยู่กับความเย็นไป หนาวก็อยู่กับความหนาวไป หิวก็อยู่กับความหิวไป อยู่ไปตามความจริง คือสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา ก็จะอยู่กับความจริงได้ จะไม่บ่น จะไม่มีเรื่องมีราวกับใคร ไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายใจ เศรษฐกิจขึ้นหรือเศรษฐกิจลงก็ไม่เดือดร้อน เงินเดือนขึ้นหรือเงินเดือนลงก็ไม่เดือดร้อน อยู่กับความจริง เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่เดือดร้อน จะตายก็ไม่เดือดร้อน ใจจะไม่ทุกข์ เพราะไม่มีความอยากหนีความจริงนั่นเอง ความอยากเป็นผู้สั่งให้พวกเราหนีความจริงกัน พออากาศร้อนเราก็หนีความร้อนด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศ ถ้าน้ำเย็นมากก็ใช้เครื่องทำน้ำร้อน นี่เป็นการหนีความจริง ถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องอยู่กับความจริง

 

ปัญหาอยู่ที่ใจเราไปชอบไปชัง เพราะไม่มีอุเบกขา ความอิ่มความพอ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติกัน จะปฏิบัติธรรมให้ได้ผล ต้องเริ่มที่สติ แล้วก็มาที่สมาธิ แล้วก็มาที่ปัญญา ถ้าไม่ปฏิบัติอย่างนี้ก็จะไม่ได้ผล อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้กัน นี่เป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายได้ดำเนินมา เบื้องต้นก็เจริญสติก่อน แล้วก็นั่งสมาธิ ทำให้ชำนาญ แล้วก็เจริญปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก ไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ความจริงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความจริงที่ไม่สามารถไปควบคุมบังคับได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องสอนใจอยู่เรื่อยๆ ให้ยอมรับกับสภาพความเป็นจริง ให้หยุดความอยากหนีจากความเป็นจริงไป ถ้าทำได้ก็จะอยู่อย่างมีความสุข ไม่มีความทุกข์เหยียบย่ำจิตใจเลย นี่คืองานที่เราต้องทำ ที่เราต้องตั้งเป้าเอาไว้ ต้องตั้งสัจอธิษฐานว่า จะเจริญสติ จะนั่งสมาธิ แล้วก็จะเจริญปัญญาตามลำดับ แล้วผลก็คือความสงบ ความร่มเย็นเป็นสุข ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ก็จะตามมาต่อไป จึงขอให้พวกเราจงเจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ คืออธิษฐานความตั้งใจ สัจจะความจริงใจ วิริยะความพากเพียร ขันติความอดทน ที่จะเจริญสติสมาธิและปัญญา เพื่อให้เกิดผลที่ปรารถนากัน

 

ฟังธรรมมา ๗ ปีแล้ว มีใครเรียนจบบ้าง ประเมินผลตัวเองกันบ้างหรือเปล่า ตั้งแต่เริ่มเรียนมานี้ ๗ ปีแล้ว คืบหน้าไปถึงหลักกิโลฯที่เท่าไหร่แล้ว หรือยังอยู่ที่เดิมอยู่ ถ้าอยู่ที่เดิมก็น่าเสียดาย เวลาตั้ง ๗ ปี ไม่ได้อะไรเลย แสดงว่าคนสอนไม่มีความสามารถ นักเรียนสอบตกทั้งชั้นเลย ก็มีสมาชิกที่เคยมา ออกไปปฏิบัติกันหลายคนนะ แสดงว่าก้าวหน้า ไม่ต้องเข้าห้องเรียน เข้าห้องปฏิบัติการได้แล้ว ถ้ายังเข้าห้องเรียนก็ยังดีอยู่ ดีกว่าไม่เข้าเลย ถ้าไม่เข้าเพราะไปปฏิบัติก็จะดีกว่า ถ้าไม่เข้าเพราะไปเที่ยวไปเมืองนอก อย่างนี้ก็ไม่ดี

 

เรียนแล้วก็ต้องไปปฏิบัติต่อ ไปปลีกวิเวก การเจริญสติให้ได้ผลดีต้องอยู่ตามลำพัง ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสมาคอยหลอกล่อ อยู่ตามวัดป่าวัดเขานี้ จะไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสมายั่วยวนกวนใจ ทำให้เผลอสติ จึงต้องปลีกวิเวก สำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย รับประทานอาหารพอประมาณ เช่นวันละมื้อเดียวก็พอ เพราะจะช่วยทำให้ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เกียจคร้าน ถ้ารับประทานมื้อเดียวยังง่วงยังเกียจคร้านอยู่ ก็ต้องหยุดรับประทานสักสองสามวัน จะได้กระตุ้นความเพียร เพราะเวลาเกิดความหิวก็จะต้องหาที่พึ่ง หาวิธีดับความหิว วิธีที่ดับความหิวทางปฏิบัติก็ต้องดับด้วยสมาธิ เพราะความหิว ๙๐ เปอร์เซ็นต์ออกมาจากใจ ออกมาจากความคิดปรุงแต่ง พอเข้าสมาธิทำใจให้สงบความหิวทางใจก็หายไป เหลือแต่ความหิวทางร่างกาย ซึ่งมีเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะไม่รู้สึกอะไรมากนัก จะทนกับความหิวของร่างกายได้ ที่ทนไม่ได้ก็คือความหิวของใจ เวลานึกถึงภาพของอาหารน้ำลายก็ไหลแล้ว ท้องร้องโกรกๆ ถ้านึกถึงอาหารก็ต้องนึกถึงตอนที่อยู่ในปาก ตอนที่อยู่ในท้อง หรือตอนที่ถ่ายออกมา ถ้านึกถึงอาหารอย่างนี้ก็จะไม่หิว ถ้านึกถึงอาหารตอนที่อยู่ในจาน จะยั่วยวนกวนใจทรมานใจมาก ถ้าไม่ใช้ปัญญา ใช้อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือนึกถึงสภาพของอาหารที่เป็นปฏิกูล มาดับภาพของอาหารที่อยู่ในจานได้ ก็ต้องเข้าสมาธิไป บริกรรมพุทโธๆไป นั่งสมาธิทำใจให้สงบ พอใจสงบแล้วความคิดปรุงแต่งก็หยุด ภาพของอาหารก็หายไป ความหิวก็หายไป ต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็จะไม่ขยัน ไม่มีเหตุบังคับให้ทำสมาธิ

 

ระหว่างการอดอาหารกับไม่อดอาหารนี้ จะเห็นว่าความเพียรนี้ต่างกัน ถ้าไม่อดอาหาร รับประทานอาหารตามปกติ จะไม่ค่อยเพียรเท่าไหร่ เพราะไม่มีความทุกข์ความหิวมากระตุ้น ก็อยากจะนอนมากกว่า รับประทานอาหารอิ่มแล้วก็ง่วงอยากจะนอน นั่งสมาธิก็จะสัปหงกหลับใน เดินจงกรมก็เดินไม่ไหว มีแต่จะนอนอย่างเดียว ถ้าวันไหนไม่ได้รับประทานอาหาร ต้องอดอาหาร จะไม่ง่วง จะหิว จะคิดถึงอาหารอยู่เรื่อยๆ ตอนนั้นก็ต้องควบคุมความคิด ต้องบริกรรมพุทโธ ต้องเข้าสมาธิไป ไม่เช่นนั้นก็ต้องเจริญปัญญา พิจารณาสภาพที่ไม่น่าดูของอาหาร เช่นตอนที่อยู่ในปาก ตอนที่กำลังเคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อย ถ้าคายออกมาไว้ในจานแล้ว จะตักรับประทานใหม่ได้ไหม ทำไมตอนที่เคี้ยวอยู่ในปากรู้สึกอร่อยเหลือเกิน จะเห็นความจริงกับความหลอก กิเลสหลอกใจ ไม่ให้เห็นอาหารที่อยู่ในปาก ให้เห็นอาหารที่อยู่ในจาน ไม่เคยคิดถึงอาหารที่อยู่ในปากเลย เวลารับประทานอาหารจะมองแต่อาหารที่อยู่ในจาน ถึงอยากจะตักเข้าปากอยู่เรื่อยๆ ถ้านึกถึงอาหารที่อยู่ในปาก ก็จะไม่อยากรับประทาน

 

นี่เป็นวิธีแก้การรับประทานอาหารมากเกินไป ถ้าต้องการลดน้ำหนัก ใช้วิธีนี้จะลดได้ผลดี ไม่ต้องเสียเงินเข้าฟิตเนสไปวิ่งไปเต้น ไปแอโรบิกส์ ให้เหนื่อยไปเปล่าๆ เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ต้นเหตุอยู่ที่ใจ อยู่ที่ความหลง ต้องใช้ปัญญาแก้ พอเห็นความเป็นปฏิกูลของอาหารแล้ว ก็จะไม่อยากรับประทาน แต่ก็ต้องระวัง ถ้าพิจารณามากเกินไปจะรับประทานไม่ลง ถึงเวลารับประทานก็รับประทานไม่ลง เพราะจะเห็นเป็นปฏิกูล แทนที่จะมองอาหารในจาน กลับไปมองอาหารในท้องอาหารในปาก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องไปถามผู้รู้ ท่านก็จะสอนให้พิจารณาอาหารว่าเป็นธาตุ ร่างกายก็เป็นธาตุ ธาตุกับธาตุรับกันได้ ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ก็จะรับประทานไม่ลง ไม่เช่นนั้นก็ต้องมองอาหารที่อยู่ในจาน ที่น่ารับประทาน จะได้อยากรับประทาน

 

การเจริญปัญญาเป็นเหมือนกับการรับประทานยา ถ้ารับประทานยามากเกินไปก็จะแพ้ยาได้ พิจารณามากเกินไป ก็จะเกิดโทษได้ เช่นการพิจารณาความเป็นปฏิกูลของอาหารนี้ ถ้าพิจารณาจนรับประทานไม่ลงแสดงว่าพิจารณามากเกินไป พิจารณาเพื่อไม่ให้อยากรับประทาน พอไม่อยากรับประทานก็หยุดพิจารณา การพิจารณาความตายก็เหมือนกัน พิจารณาความตายก็เพื่อไม่ให้กลัวตาย ถ้าพิจารณาจนอยากจะฆ่าตัวตายอย่างนี้ก็มากเกินไป ต้องรู้จักประมาณ ถ้ามีสมาธิจะไม่มีปัญหาเวลาเจริญปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิจะมีปัญหาได้ เพราะจิตไม่มีความหนักแน่นพอ ไม่มีอุเบกขาพอ พอพิจารณาก็จะเกิดอารมณ์ไม่ดีได้ พิจารณาความตายบ่อยๆก็จะอยากฆ่าตัวตาย

 

การเจริญปัญญาจึงควรมีสมาธิก่อน จะดีกว่า จะปลอดภัย ถ้ามีสมาธิแล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาด้านเจริญหรือด้านเสื่อม ด้านบวกหรือด้านลบ ใจจะเป็นกลาง เป็นอุเบกขา พร้อมที่จะรับทราบความจริงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบวกและด้านลบ ด้านเจริญและด้านเสื่อม ถ้าไม่มีสมาธิไม่มีอุเบกขา ใจจะแกว่งไปตามอารมณ์ ถ้ามองด้านบวกก็จะยินดีมีความสุข ถ้ามองด้านลบก็จะไม่ยินดี หดหู่หงุดหงิดใจ จึงควรทำตามขั้นตอนของการปฏิบัติ คือเจริญสมาธิให้ได้ก่อน ก่อนจะเจริญสมาธิก็ต้องเจริญสติ ไม่ใช่มานั่งสมาธิเลยโดยที่ยังไม่ได้เจริญสติ ถ้าไม่มีสติเลย พอมานั่งหลับตาก็จะคิดไปทั่วโลกทั่วสงสาร คิดไปหมด คิดเรื่องนั้นคิดเรื่องนี้ นั่งไปนานเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล พอไม่ได้ผลก็เลิกนั่ง เพราะไม่ทำตามขั้นตอน ไม่เจริญสติก่อน เหมือนเรียนหนังสือไม่ยอมท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ก่อน จะไปอ่านนิยายเลย พออ่านก็อ่านไม่ออก การปฏิบัติเป็นเหมือนกับการเรียนหนังสือ มีขั้นตอน ต้องท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ไปก่อน แล้วค่อยมาหัดสะกด แล้วค่อยแปลความหมายของแต่ละคำ ต้องจดจำความหมาย ต่อไปพออ่านหนังสือก็จะเข้าใจทันที การปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องมีสติก่อนถึงจะนั่งสมาธิได้ พอมีสมาธิแล้ว ใจเป็นอุเบกขาแล้ว ก็จะพิจารณาปัญญาได้ โดยที่ไม่มีภัยไม่มีผลเสียตามมา

 

นี่คือการไปอยู่คนเดียว ไปปลีกวิเวก สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสมายั่วยวนกวนใจ แล้วก็รับประทานอาหารพอประมาณ ไม่มากเกินไป พออยู่ได้ ไม่ให้ง่วงเหงาหาวนอนเกียจคร้าน ถ้าง่วงเหงาหาวนอนเกียจคร้าน ก็ควรผ่อนอาหารหรืออดอาหาร เพื่อจะได้กระตุ้นความเพียร แล้วก็ต้องเจริญสติตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ นี่เป็นการกระทำที่จะสนับสนุนการภาวนา การปฏิบัติถึงจะเจริญก้าวหน้า ได้มรรคได้ผล ที่ไม่ลึกลับเลย การปฏิบัติเป็นเหมือนกับการหัดขับรถ หรือหัดทำอะไรต่างๆ มีขั้นมีตอน ถ้าทำตามขั้นตอนก็จะได้ผล เล่นกีฬาก็ต้องมีขั้นตอนของการเล่นกีฬา ต้องทำตามขั้นตอน ถ้าทำถูกตามขั้นตอนก็จะบรรลุถึงผลที่ต้องการ การปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องเริ่มที่สติ ตามด้วยสมาธิ แล้วก็ปัญญาตามลำดับ ก่อนหน้านั้นก็ต้องมีศีลสนับสนุน มีทานสนับสนุนศีลอีกทีหนึ่ง ทำทานแล้วก็จะรักษาศีลได้ รักษาศีลได้ก็จะภาวนาได้ นี่คือมรรคทางดำเนินสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ทางสู่ความสุขที่ถาวร สู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าทรงดำเนินมาแล้ว พระสาวกทั้งหลายได้ดำเนินตามมาแล้ว พวกเราก็เป็นเหมือนสาวกที่กำลังดำเนินตามอยู่ ให้พยายามทำไปเรื่อยๆ ทำให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ทำจากน้อยไปหามาก ทำไปตามกำลัง ทำอย่างไม่หยุดไม่หย่อน ถ้าขยันมากก็จะเสร็จเร็ว ถ้าขยันน้อยก็จะเสร็จช้า ทั้งหมดนี้อยู่ที่ความเพียร ผู้อื่นไม่สามารถปฏิบัติแทนเราได้ ครูบาอาจารย์เพียงแต่ให้กำลังใจ ให้ความรู้ เราต้องพากเพียรปฏิบัติเอง

 

สิ่งที่ปัญญาต้องพิจารณาก็คือไตรลักษณ์ ถ้ายังติดลาภสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสอยู่ ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข ไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ เวลามีทรัพย์ก็มีความสุข เวลาสูญเสียทรัพย์ไปก็จะมีความทุกข์ จะหมดเนื้อหมดตัวเมื่อไหร่ จะมีมากขึ้นน้อยลง ไม่มีใครรู้ ยศถาบรรดาศักดิ์ตำแหน่งต่างๆก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะถูกโยกย้ายเมื่อไหร่ จะถูกปลดมาเมื่อไหร่ ครบวาระก็ต้องหมดสภาพไป เวลาหมดสภาพไปแล้วทำใจได้หรือเปล่า เคยเป็นหัวหน้า พอหมดสภาพไปแล้ว ไม่ได้เป็นหัวหน้าแล้ว ทำใจได้หรือเปล่า นี่คือเรื่องที่ต้องพิจารณาให้เห็นว่ามีเจริญมีเสื่อม เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ไปชอบ ไปอยากได้ ต้องปล่อยวาง ถ้าไม่อยากจะทุกข์ ต้องรับได้ทุกสภาพ ขึ้นก็ได้ ลงก็ได้ เจริญลาภยศสรรเสริญสุขก็ได้ เสื่อมลาภยศสรรเสริญสุขก็ได้ ถ้ายังติดอยู่ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นแล้วปล่อยวาง ไม่ให้เดือดร้อนกับสิ่งต่างๆเหล่านี้

 

แล้วก็มาพิจารณาบุคคลต่างๆ ร่างกายต่างๆว่า เกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ทุกคนต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เวลาใครแก่ ใครเจ็บไข้ได้ป่วย ใครจะตาย จะได้ไม่เดือดร้อน แต่ก็ดูแลกันไป ไม่สบายก็ไปหาหมอรักษากันไป รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ตายไปก็ทำศพไป ถ้ารู้ล่วงหน้าไว้ก่อน แล้วหยุดความอยากไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตายได้ เวลาเกิดขึ้นกับใคร ก็จะไม่ทุกข์ หลังจากนั้นก็มาพิจารณาความแก่ความเจ็บความตายของร่างกายเรา ว่าร่างกายเราก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย รับกับความเจ็บได้หรือเปล่า ก็ต้องพิสูจน์ดูด้วยการนั่งสมาธิ เวลาเจ็บก็อย่าลุก ให้คิดว่าความเจ็บนี้ เป็นเหมือนกับความเจ็บที่เกิดขึ้นเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่สามารถหนีความเจ็บนี้ได้ ก็ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาให้ได้ ปล่อยวาง ยอมรับความจริง อย่าไปอยากให้หาย ถ้าอยากให้หายแล้ว จะเกิดความเจ็บมากขึ้นอีกหลายเท่า คือความเจ็บทางใจ ที่เรียกว่าทุกข์ในอริยสัจ ถ้าไม่มีความอยากให้หายหรืออยากจะหนีจากความเจ็บนี้ไป ใจเป็นอุเบกขาวางเฉยได้ ความทุกข์ในอริยสัจก็จะไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่มีทุกข์ในอริยสัจแล้ว ก็จะไม่เป็นปัญหากับใจ ความเจ็บของร่างกายไม่รุนแรงเท่ากับความเจ็บของใจ นี่คือข้อสอบที่ต้องทำให้ได้ ต้องนั่งแล้วผ่านความเจ็บของร่างกายไปให้ได้ โดยที่ไม่ต้องขยับร่างกาย จะใช้อุบายของสมาธิไปก่อนก็ได้ บริกรรมพุทโธๆไปอย่าไปคิดถึงความเจ็บ ถ้าจิตรวมลงสู่ความสงบ ความเจ็บก็จะไม่เป็นปัญหา บางทีก็หายไปเลย ไม่หายก็ไม่เป็นปัญหา เพราะใจเป็นอุเบกขาได้ชั่วคราวขณะที่อยู่ในสมาธิ จะไม่เดือดร้อนกับความเจ็บเลย

 

ถ้าจะไม่เดือดร้อนกับความเจ็บโดยไม่ต้องเข้าสมาธิ ก็ต้องใช้ปัญญา สอนใจว่าอย่าอยากให้ความเจ็บหายไป อย่ากลัวความเจ็บ เพราะจะผลิตทุกข์ในอริยสัจขึ้นมา ที่มีความรุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกายอีกหลายร้อยเท่า พอใจยอมรับ ก็จะหยุดความอยากให้ความเจ็บหายไป หยุดความกลัวความเจ็บได้ ใจจะเป็นอุเบกขา จะไม่เดือดร้อนกับความเจ็บไปตลอด ครั้งต่อไปเจ็บอย่างไรก็เฉย ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องเข้าสมาธิ เพราะสามารถทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ด้วยปัญญา เวลาเจ็บใกล้ตาย ใจจะเป็นอุเบกขา จะเฉยๆ ส่วนความตายก็พิจารณาไปเรื่อยๆ ว่าต้องตายแน่ๆ จนกว่าจะยอมรับได้ จากนั้นก็ไปหาที่ที่ทำให้กลัวตายดู ว่าความกลัวตายยังมีอยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องใช้ปัญญาหยุดความกลัว ตายเป็นตาย ยอมตาย พอยอมตายปั๊บความกลัวตายก็จะหายไป ถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัวตาย ก็จะไม่รู้ว่ายังกลัวตายอยู่หรือเปล่า จึงต้องไปหาที่เรากลัว ถ้ายังกลัวอยู่ก็แสดงว่ายังไม่ยอมตาย ถ้ายอมตายจริงๆแล้วจะไม่กลัว นี่คือปัญญาที่เกี่ยวกับความแก่ความเจ็บความตาย

 

ขั้นต่อไปก็ต้องใช้ปัญญาหยุดความอยากในกามารมณ์ อยากเสพกาม อยากร่วมหลับนอนกับผู้อื่น ก็ต้องพิจารณาร่างกายของคนที่อยากจะร่วมหลับนอนด้วยว่า สวยงามจริงหรือเปล่า มองเข้าไปข้างในใต้ผิวหนังดู ดูกะโหลกศีรษะ ดูสมองที่อยู่ภายในกะโหลก ดูโครงกระดูก ดูตับไตไส้พุง ลำไส้น้อยลำไส้ใหญ่ ดูอวัยวะต่างๆ ดูสภาพของร่างกายที่ตายไปแล้วเป็นอย่างไร น่าดูไหม น่ารักไหม ถ้าดูอย่างนี้ก็จะดับกามารมณ์ได้ ดับความอยากได้ จะอยู่คนเดียวได้ ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องเสพกาม นี่คือเรื่องของปัญญาที่เกี่ยวกับร่างกาย ที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เรื่องความแก่ความเจ็บความตาย เรื่องของกามารมณ์ เรื่องของอสุภะ เรื่องของความไม่สวยไม่งามของร่างกาย การดูอสุภะก็เพื่อดับสุภะ เรามักจะมองร่างกายว่าสวยงามน่ารัก มองเพียงด้านเดียว ไม่มองด้านที่ไม่สวยงาม ถ้ามองก็จะไม่เกิดกามารมณ์ จะดับกามารมณ์ได้ การเจริญอสุภะก็เพื่อดับกามารมณ์

 

ส่วนการพิจารณาความตายพิจารณาซากศพ ว่าร่างกายสักวันหนึ่งก็ต้องกลายเป็นศพไป ต้องถูกเผากลายเป็นขี้เถ้าขี้ถ่านไป พิจารณาเพื่อปล่อยวางร่างกาย ไม่หวงร่างกาย ไม่กลัวความตาย พิจารณาให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ คนตายไปแล้วเหลืออะไร ก็เหลือเศษกระดูกกับขี้เถ้า เศษกระดูกกับขี้เถ้าเป็นอะไรถ้าไม่ใช่ธาตุดิน ส่วนน้ำก็ถูกไฟเผาระเหยไปหมดแล้ว ลมก็หายไปหมดแล้ว เหลือแต่ดิน ต้องเจริญเรื่อยๆสลับกับการนั่งสมาธิ เพราะพิจารณาไปสักพักหนึ่งแล้วจะฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ พิจารณาไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะกิเลสเข้ามารบกวน ก็ต้องหยุดพิจารณาแล้วกลับเข้ามานั่งสมาธิ พักจิตเพื่อหยุดกิเลสที่มาก่อกวนการพิจารณา นั่งสมาธิทำใจให้สงบ พอได้พักเต็มที่แล้วก็จะถอนออกมาเอง พอถอนออกมาแล้วก็มาพิจารณาต่อ พิจารณาให้ชำนาญ พอเกิดความกลัวตายก็คิดว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา จะต้องตายอย่างแน่นอน ก็จะดับความกลัวได้ พอเกิดกามารมณ์ก็จะคิดถึงอสุภะทันที แสดงว่าปัญญาทันกับกิเลสแล้ว รู้ทันแล้ว พอรู้ทันก็จะไม่หลง พอไม่หลงก็จะไม่อยาก พอไม่อยากก็จะไม่ทุกข์ นี่เป็นขั้นตอนของการพิจารณาร่างกาย

 

พอร่างกายหมดปัญหาแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องเข้าไปพิจารณาในจิต เพราะในจิตยังมีปัญหาให้พิจารณา มีอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่ภายในจิต มีอารมณ์ต่างๆอยู่ภายในจิต มีสงบไม่สงบ สว่างไม่สว่าง มีความถือตัว มีอัตตาตัวตน ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์เช่นเดียวกัน พิจารณาว่าไม่มีตัวตน ตัวตนเป็นเพียงสมมุติ มีการเจริญมีการเสื่อมเป็นธรรมดา ต้องปล่อยวาง อย่าไปยึดอย่าไปติด ถ้าไม่อยากจะทุกข์ อย่าไปอยากให้เจริญอย่างเดียว พอปล่อยวางได้หมดแล้ว ก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ในใจ ใจจะว่าง พอว่างแล้วก็จะไม่มีอะไรให้พิจารณา ก็จะหมดปัญหา หมดงาน เรียนจบแล้ว ทำงานจบแล้ว กิจในพรหมจรรย์ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว วุสิตัง พรหมจริยัง เสร็จตรงที่ความว่างของใจนี้ ใจว่าง ปรมัง สุญญัง ว่างจากการเจริญการเสื่อม นี่คือเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของอริยมรรคอริยผล เป็นโลกุตรธรรม เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ไม่มีใครรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้นอกจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น

 

เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอริยสัจ ๔ ไม่มีใครรู้มาก่อน เพราะถ้ารู้ก็จะเป็นพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ ก็ไม่มีพระอาจารย์องค์ไหนรู้เรื่องไตรลักษณ์ เรื่องอริยสัจ ๔ จึงไม่มีใครบรรลุมรรคผลนิพพานกัน พระพุทธเจ้าต้องเจริญภาวนา ต้องปฏิบัติ ค้นคว้าหาความจริงนี้ด้วยพระองค์เอง กว่าจะพบก็ต้องบำเพ็ญบุญบารมีมาเป็นเวลาหลายกัปหลายกัลป์ด้วยกัน พอได้ทรงพบความจริงนี้แล้ว แล้วทรงนำออกมาเผยแผ่พวกเราก็ไม่ต้องเสียเวลาบำเพ็ญบุญบารมี เหมือนกับพระพุทธเจ้า เพื่อค้นหาความจริงนี้ เพราะมีพระพุทธเจ้ามาสอนมาบอกแล้ว เพียงแต่ปฏิบัติตามเท่านั้นเอง ก็จะได้พบกับความจริงนี้เช่นเดียวกัน เหมือนกับความรู้ทั้งหลาย ที่คนในแต่ละยุคในแต่ละสมัย เรียนรู้สะสมกันมา พวกเราเรียนกันภายใน ๔ ปีก็ได้ปริญญาตรีกันแล้ว ที่คนหลายยุคหลายสมัย สะสมกันมา อย่างสมัยนี้เรียนจบปั๊บ ก็สามารถสร้างเครื่องบิน สร้างจรวด สร้างระเบิดนิวเคลียร์ได้เลย แต่ความรู้นี้กว่าจะได้มา ก็ต้องผ่านการเรียนรู้มาหลายยุคหลายสมัยด้วยกัน

 

ฉันใดความรู้ในมรรคผลนิพพาน ในอริยสัจ ๔ ในไตรลักษณ์นี้ ก็ต้องอาศัยปัญญาที่ได้รับการบ่มมาอย่างโชกโชน อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญพระปัญญาบารมีมา จนสามารถมองเห็นอริยสัจ ๔ มองเห็นไตรลักษณ์ได้ พอเอามาเผยแผ่สั่งสอน บางคนฟังหนเดียวก็บรรลุได้เลย พอทรงตรัสว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา คนที่มีปัญญาพอที่จะเข้าใจความหมายได้ ก็หูตาสว่างขึ้นมาเลย อ๋อไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นของเราเลย เราไปหลงไปยึดไปติดเอง ว่าเป็นของเรา เป็นของเราที่ไหน เป็นแค่เศษกระดูก เป็นแค่ขี้เถ้า แต่เราก็ไปว่าเป็นตัวเราของเรา นี่คือปัญญาที่จะเกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่มีพระพุทธเจ้ามาปรากฏ ให้พวกเราได้กราบไหว้บูชา ได้ยึดเป็นสรณะ ได้ยึดเป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นผู้นำพาเราไปสู่ความรู้อันสูงสุด ความรู้ที่จะปลดเปลื้องจิตใจ ให้ออกจากความหลง ที่หลอกให้เราเวียนว่ายตายเกิด ไปยึดไปติดไปรักไปชอบกับสิ่งต่างๆ ที่มีการเกิดและมีการดับ แล้วก็ต้องมาร้องห่มร้องไห้ มาทุกข์ทรมานกับการเกิดการดับของสิ่งต่างๆ ตอนนี้พวกเราโชคดี มีธรรมะมีปัญญา ที่พวกเราต้องเอาเข้ามาไว้ในใจ ปัญญาก็เป็นเหมือนยา ถ้าไม่รับประทานยา ยาจะวิเศษขนาดไหน ก็จะไม่สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายให้หายได้ พวกเราต้องรับประทานยา พอรับประทานแล้ว โรคภัยไข้เจ็บในร่างกายก็จะหายไป

 

ฉันใดปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอน พวกเราก็ต้องเอาเข้ามาสู่ใจ ด้วยการพิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ ต่อไปใจจะคิดไปในทางไตรลักษณ์เอง จะหมุนไปเอง ที่ท่านเรียกว่าธรรมจักร ธรรมจักรก็คืออริยสัจ ๔ ไตรลักษณ์นี้ ถ้าคิดไปเรื่อยๆต่อไปก็จะคิดไปในทางนี้ พอคิดไปในทางนี้ ก็จะตัดกิเลส ตอนนี้ใจหมุนไปทางวัฏจักร หมุนไปทางโลภโกรธหลง ทางกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ทางนิจจังสุขังอัตตา พวกเราต้องย้อนศร ต้องวิวัฏฏะ วัฏฏะคือการหมุนเข้าสู่การเวียนว่ายตายเกิด ต้องใช้ธรรมจักรเพื่อให้เป็นวิวัฏฏะ ให้ย้อนออกจากการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเอาปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้ มาพิจารณากับทุกสิ่งทุกอย่าง กับรูปเสียงกลิ่นรส กับลาภยศสรรเสริญ กับร่างกาย กับเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ กับอารมณ์ที่อยู่ในจิต ที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น นี่คืองานของพุทธศาสนิกชน การทำบุญให้ทานรักษาศีลนี้ ก็เพื่อจะได้ก้าวสู่การภาวนา ให้ได้ออกบวชกัน เพื่อจะได้ปฏิบัติกันอย่างเต็มที่ ถ้าปฏิบัติก้าวหน้าแล้ว เรื่องการบวชจะไม่เป็นอุปสรรคเลย ตอนนี้กลัวกันเหลือเกินเรื่องการบวชนี้ เหมือนจะจับเข้าไปขังในกรงขังในคุก แต่พอใจได้เข้าข้างในแล้ว จะไม่อยากออกไปข้างนอก ไปหารูปเสียงกลิ่นรสแล้ว จะรู้สึกว่าการบวชไม่ได้เป็นการถูกจับเข้ากรงขังเลย แต่เป็นการเข้าสู่สนามรบ ต่อสู้กับข้าศึกศัตรูที่แท้จริง เพื่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่จะตามมาต่อไป ถ้าเจริญสตินั่งสมาธิได้ รับรองได้เลยว่าการบวชจะไม่เป็นเรื่องที่น่ากลัวน่ารังเกียจเลย จะเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง ขอให้พยายามปฏิบัติกันอย่างเต็มที่ อย่าไปสนใจงานอย่างอื่น ทำเท่าที่จำเป็น

 

ถาม  เวลาถูกด่านี้ จะโกรธขึ้นมาทันที จะดับได้อย่างไร

 

ตอบ  ต้องมีสติปัญญาที่ว่องไวกว่า รวดเร็วกว่า ต้องซ้อมไว้ก่อน นึกถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อน เช่นรู้ว่าคนนี้พอเจอปั๊บจะต้องโกรธ ก็นึกถึงเขาไปเรื่อยๆ พอโกรธก็ต้องหยุดให้ได้

 

ถาม  ในกรณีที่ไม่รู้จักเขา อย่างเรื่องของคนที่ทำงานด้วยกัน เขาไปเจอคนที่ไม่มีมารยาทเลย เรื่องเกิดที่สถานีบีทีเอส ทุกคนยืนรอขึ้นรถกัน ก็มีเด็กผู้หญิงวัยรุ่นซึ่งซ่าพอสมควร จากการแต่งตัว นุ่งสั้น เขาแซงทุกคนขึ้นรถ พี่คนนี้เขาไปกับลูกสาว เขาเห็นเขาทนไม่ได้ก็ไปเตือนด้วยความหวังดี บอกว่าหนูทำอย่างนี้มันไม่สมควรเพราะคนอื่นตั้งหลายคนรออยู่ เด็กผู้หญิงคนนี้แทนที่จะสำนึกหรือขอโทษ สวนกลับขึ้นมาทันทีเลยว่า ก็อยากโง่เองทำไมล่ะ เสร็จแล้วยังไม่หนำใจ เธอก็ใช้มือถือโทรบอกเพื่อนอีกด้วยว่า มีอีแก่ที่ไหนไม่รู้แหละมาว่าเรา พี่คนนั้นก็ทำอะไรไม่ถูก คนที่นั่งในรถ ตอนที่พี่คนนี้เข้าไปเตือน ก็มองแบบว่าดีที่เด็กคนนี้ได้รับการตักเตือน แต่พอถูกว่าทุกคนก็เฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาอะไร เขาก็ไม่รู้จะโต้ตอบอย่างไร เขาก็คิดว่าจะใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปไปลงเฟสบุ๊ก พอเด็กคนนี้รู้เข้าก็เกิดความอายขึ้นมา ยื้อแย่งโทรศัพท์กัน คนในรถก็ไม่มีใครช่วย ไม่มีใครห้าม แทนที่จะห้ามทั้ง ๒ ฝ่ายให้หยุด ทุกคนก็นั่งเฉย พอดีเพื่อนนี้เขามีลูกไปด้วย ลูกเขาก็ตกใจกลัวร้องขึ้นมา พี่เขาเลยตั้งคำถามว่า การที่เขาทำแบบนี้ ไปเตือนคนอื่น แล้วเกิดลูกเขาถูกทำร้าย แล้วไม่มีใครสนใจ เขาควรจะทำสิ่งที่ดีนี้ต่อไปหรือเปล่า คือพูดง่ายๆว่าจิตตกค่ะ  

 

ตอบ  เขาไม่เข้าใจความจริงของชีวิต ว่าสิ่งต่างๆที่เขาเห็นก็ดีได้ยินก็ดีนั้น เกิดได้ทุกรูปแบบ จะไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นรูปแบบนั้นรูปแบบนี้ไม่ได้ ถ้าไปกำหนดกฎเกณฑ์ก็จะเกิดความอยาก พอไม่ทำตามรูปแบบก็ไปแก้ที่เขา ไปเตือนเขา ไปบอกเขา ถ้ามีปัญญาจะเห็นความจริงว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ ใครจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องของเขา เราไม่ได้เป็นเจ้ากรรมนายเวร ไม่ใช่ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่จะสั่งให้ดาราแสดงบทนั้นบทนี้ได้ ชีวิตจริงเราไม่ได้เป็นผู้กำกับ แต่เรามักจะหลงคิดว่าเป็นผู้กำกับกัน พอแสดงไม่ถูกใจ ก็จะสั่งให้ตัด ต้องถ่ายใหม่ เขาไม่ได้กินเงินเดือนของเรา พอเราไปสั่งเขาให้ทำตาม เขาก็ไม่สนใจ ไม่ทำตาม ปัญหาอยู่ที่เรา คือใจเราหงุดหงิด เพราะอยากให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ แสดงว่าไม่เคยปฏิบัติธรรม ไม่ได้เจริญสติสมาธิปัญญา ที่จะเห็นว่ารูปเสียงกลิ่นรสเป็นอนัตตา เป็นธรรมชาติ เป็นได้ทุกรูปแบบ เขาคิดว่าเขาเป็นเหมือนเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ยังกำกับเรื่องต่างๆให้เป็นไปตามที่เขาคิดว่าควรจะเป็น ก็เลยต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ถ้ารู้ว่าเขาไม่ใช่เป็นผู้กำกับ แต่เป็นผู้ดูภาพยนตร์ที่แก้ไม่ได้ ก็นั่งดูไปเฉยๆ ก็จะไม่มีเรื่องมีราวกัน

 

ถาม  เขาคิดว่าพฤติกรรมแบบนี้ ไม่เหมาะสมค่ะ

 

ตอบ  เพราะคิดว่าเป็นผู้กำกับ ไม่มองความจริง ว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นเหมือนภาพยนตร์ เวลาดูภาพยนตร์จะไปเปลี่ยนบทในภาพยนตร์ไม่ได้ ชีวิตจริงก็เป็นเหมือนภาพยนตร์ที่ปรากฏให้เราเห็น ไปเปลี่ยนไม่ได้ ถ้ารู้อย่างนี้ ใจจะเป็นอุเบกขา จะเฉยๆ ถ้าใจไม่เป็นอุเบกขา พอเห็นอะไรไม่ถูกใจก็เกิดความอยากให้เปลี่ยน ก็ต้องไปบอกเขา ก็ไปแก้ที่เขา ถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่าเราหงุดหงิดใจ เพราะไม่พอใจกับสภาพของเขา อยากจะให้เขาทำอีกอย่างหนึ่ง แต่เราไปแก้ที่เขาไม่ได้ เพราะจะไม่หายหงุดหงิดใจอย่างถาวร ถ้าหายหงุดหงิดใจกับเรื่องนี้ พอไปเจอเรื่องใหม่ก็เป็นอีก แต่ถ้าเราแก้ที่ใจเรา พิจารณาว่าเราไปแก้ข้างนอกไม่ได้ ข้างนอกจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยเขาไป เราต้องแก้ที่ใจเรา แก้ที่ความอยาก อย่าไปอยาก เรื่องก็จบ ต่อไปเวลาเห็นเหตุการณ์ต่างๆจะไม่ไปแก้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องแก้อยู่เรื่อยๆ

 

ต้องกลับมาที่อริยสัจ ๔ เขาไม่รู้ว่าความไม่สบายใจเกิดจากความอยาก ที่จะเห็นอีกรูปแบบหนึ่ง ต้องหยุดความอยากให้เห็นอีกรูปแบบหนึ่ง ต้องเอาแบบที่เห็นนี่แหละ เป็นอย่างนี้ก็เอาอย่างนี้ อย่าหนีความจริง อย่าอยากให้เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง อย่าเปลี่ยนความจริง ต้องอยู่กับความจริง นี่พูดในเชิงปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันนี้ บางอย่างเราก็เปลี่ยนได้ ก็ต้องดูกาลเทศะ ดูความสามารถดูบารมีของเรา บางคนพอพูดปั๊บเขาก็ฟังเรา เชื่อเรา ทำตามเรา ก็ดีกับตัวเขาเอง จะได้พัฒนา แก้ไขข้อบกพร่องของเขา แต่เราต้องดูก่อนว่า เราสั่งเขาได้หรือเปล่า เช่นครูบาอาจารย์ท่านสั่งลูกศิษย์ได้ ลูกศิษย์ทำไม่ดีท่านเตือนได้ เขาก็จะหยุดทันที ถ้าไปบอกคนที่ไม่ใช่เป็นลูกศิษย์ ที่ไม่นับถือเรา เขาก็จะด่าเรา ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องทำใจเฉย ต้องปล่อย ต้องปลง

 

เป็น ๒ กรณี ถ้าพูดแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ก็พูดไป ถ้าไม่ดีขึ้นกลับเลวลงก็อย่าพูดจะดีกว่า ทำให้กลายเป็นเรื่องไปอย่างที่เล่ามา ถ้าเฉยๆเรื่องก็ไม่บานปลาย เขาจะแสดงบทบาทอะไรก็เรื่องของเขา โลกมันเป็นอย่างนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ สมัยนี้อยู่ในช่วงขาลงของศีลธรรม จะเลวลงไปเรื่อยๆ ต้องรู้ทัน เราอย่าไปเลวตามก็แล้วกัน เขาจะเลวก็เรื่องของเขา เขาจะอยู่แบบสุนัขก็ให้เขาอยู่ไป ทุกวันนี้คนกำลังเลียนแบบสุนัขกัน กำลังเลียนแบบเดรัจฉานกัน ไม่มียางอาย เหมือนเดรัจฉาน ไม่มีมารยาท ต้องเข้าใจว่าสังคมเป็นอย่างนี้ สังคมกำลังเสื่อมทางด้านจริยธรรม ทางด้านศีลธรรม

 

อยู่ในวัดก็มีปัญหาได้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ควบคุมวัดก็แหลกได้ เพราะทุกคนมีความคิดความเห็นของตน ว่าควรจะเป็นอย่างนั้นควรจะเป็นอย่างนี้ พอไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะเข้ามากำกับแล้ว พอคนที่ถูกกำกับไม่ยอมก็เกิดเรื่อง ควรทำใจให้เป็นอุเบกขา ปล่อยวางให้ได้ก่อน พอปล่อยวางได้แล้ว ก็ใช้ปัญญาวิเคราะห์ดูว่าพอจะพูดพอจะทำอะไรได้หรือเปล่า ถ้าได้ก็พูดไปทำไป ถ้าไม่ได้ก็อย่าพูดอย่าทำ ต้องทำใจให้สงบเป็นอุเบกขาให้ได้ก่อน ต้องแก้ที่ใจเราก่อน ให้รับกับเหตุการณ์ให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปแก้ปัญหาข้างนอกถ้าแก้ได้

 

ถาม  พอดีลูกศิษย์คนหนึ่งหกล้มสะบ้าแตก ต้องผ่าตัด เขาฝากมากราบถามว่า ตั้งแต่ผ่ามานี้เขาเดินไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิดมาก เปิดทีวีดูก็หงุดหงิด ทำอะไรก็หงุดหงิดค่ะ

 

ตอบ  เพราะอยากจะหาย ความหงุดหงิดก็คือความทุกข์ใจ ที่เกิดจากความอยาก อยากจะกลับไปสู่สภาพเดิม ที่สามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ความจริงเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ยอมรับความจริง ถ้ายอมรับความจริงก็จะมีความสุขได้ เดินไม่ได้ก็นั่งรถเข็นไป สบายไม่ต้องเดิน ให้แก้ปัญหาที่ใจ อย่าไปแก้ที่ร่างกาย อย่าไปอยากให้หาย เหมือนกับนางกีสาโคตมี แม่ที่มีลูกอ่อนแล้วตายไป ไม่ยอมเอาลูกไปฝัง ร้องห่มร้องไห้กอดลูกทั้งวันทั้งคืน ชาวบ้านสงสารก็บอกให้ไปหาพระพุทธเจ้า ท่านจะช่วยได้ ก็ดีใจ คิดว่าพระพุทธเจ้าจะทำให้ลูกฟื้น พอไปกราบพระพุทธเจ้าแล้วก็กราบทูลว่า กรุณาทำลูกให้ฟื้นด้วยเถิด พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าง่ายมาก ให้ไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาสักกำมือหนึ่ง ต้องเอามาจากบ้านที่ไม่มีญาติพี่น้องตายเลย เขาก็ดีใจ รีบไปเคาะประตูบ้านต่างๆในหมู่บ้าน ถามว่ามีเมล็ดพันธุ์ผักกาดไหม มี มีญาติพี่น้องตายไหม มี เคาะไปทุกบ้านก็ตอบแบบเดียวกันหมด จนในที่สุดก็เห็นสัจธรรม พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เห็นความจริงว่า ทุกคนเกิดมาแล้วต้องแก่เจ็บตาย ตอนนี้เราเจ็บก็ต้องยอมรับความเจ็บไป รักษาไป หายก็หาย ไม่หายก็อยู่กับมันไป ก็จะไม่ทุกข์ใจ พอนางกีสาโคตมีเห็นความจริงก็หายเศร้าโศก หายอยากให้ลูกฟื้นกลับคืนมา กลับมาอยู่อย่างปกติได้ เอาลูกไปทำฌาปนกิจได้

 

           คนเราไม่ชอบมองความจริงกัน ไม่ชอบมองอนิจจังทุกขังอนัตตากัน ไม่ยอมอยู่กับความจริงที่ไม่ชอบกัน ไม่ชอบความแก่ความเจ็บความตาย พอแก่ก็รีบทำศัลยกรรม พอไม่สวยก็ไปดึงจมูก ไปแต่งหน้าทาปาก เพราะไม่ยอมอยู่กับความจริง ถ้าอยู่กับความจริงก็จะสบาย ไม่มีปัญหา ถ้าไม่มองความจริง ไม่พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่หยุดความอยาก พอเกิดความอยากก็จะหงุดหงิดใจ รำคาญใจ ก็ไปแก้ผิดที่ ไม่มาแก้ที่ความอยาก ไปแก้ที่ความแก่ ไปหาหมอให้ทำให้ดูหนุ่มขึ้นสาวขึ้น แก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้ จึงทรงสอนให้พิจารณาไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ แต่พวกเราพิจารณากันไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีสติไม่มีสมาธิกัน พอพิจารณาก็เกิดอารมณ์หดหู่ เลยไม่กล้าพิจารณา พอพิจารณาว่าจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ก็ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะทำอะไรแล้ว ก็เลยไม่กล้าพิจารณากัน บางคนห้ามพูดคำว่าตายในบ้าน พูดไม่ได้เลย เวลาใครตายก็ต้องพูดว่าไม่หายใจแล้ว ไปสวรรค์แล้ว พูดคำว่าตายไม่ได้ หาว่าเป็นอัปมงคล แต่ความจริงเป็นปัญญา เป็นมงคลอย่างยิ่ง

 

ถ้าทำใจได้จะมีความสุข ดีเสียอีกที่จะได้มีเวลาภาวนาอย่างเต็มที่ ถ้าไปไหนมาไหนไม่ได้ ก็ภาวนาพุทโธไปทั้งวัน บางทีต้องมีเหตุการณ์ทำให้จนตรอกจนมุม ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องภาวนาอย่างเดียว เวลาเครื่องบินจะตกนี้ ไม่ชอบสวดมนต์ก็จะสวดกัน ดีแล้วไปไหนมาไหนไม่ได้ จะได้นั่งสมาธิ ทำจิตให้รวมลง ถ้าไม่ป่วยก็จะไม่ยอมนั่งเฉยๆ ถ้าบริกรรมพุทโธหยุดความคิดได้ ก็จะนั่งได้อย่างสบาย ถ้าไม่จนตรอกก็จะไม่ทำ ถ้าจนตรอกแล้ว มีคนสอนว่าทำอย่างนี้แล้วจะสบาย ก็จะทำตาม บางคนเป็นโรคเบาหวาน พอบอกว่าดื่มปัสสาวะจะหายก็จะดื่ม ถ้ากลัวความทุกข์ก็ต้องภาวนา บริกรรมพุทโธๆไป ความทุกข์ก็จะหายไป จะนั่งเฉยๆได้ ไม่เดือดร้อน