กัณฑ์ที่ ๔๔ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
พุทธคุณ
ประเพณีอันดีงามที่พุทธศาสนิกชนปฏิบัติกันทุกครั้งเมื่อมาวัด
คือการไหว้พระด้วยการจุดธูปเทียน
แล้วก็กราบสามครั้ง
เป็นการนำความเป็นสิริมงคลมาให้กับชีวิต
ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า
ปูชา จ ปูชนียานัง
เอตัมมังคลมุตตมัง
การได้บูชาบุคคลสมควรแก่การบูชา
เป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง
บุคคลที่ควรแก่การบูชาก็คือพระพุทธเจ้า
การบูชาพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้อยู่สองลักษณะด้วยกัน
คือ อามิสบูชา
และปฏิบัติบูชา
อามิสบูชาคือการบูชาด้วยเครื่องสักการบูชา
ด้วยดอกไม้ธูปเทียน
ปฏิบัติบูชา
คือการบูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติทางกาย
วาจา ใจ พระพุทธองค์ทรงยกย่องการปฏิบัติบูชาเป็นการบูชาที่เลิศที่สุด
การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการปฏิบัติบูชา
คือการเจริญพุทธานุสติ
การระลึกถึงพระคุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า
มีอยู่ ๙ ประการด้วยกัน
การระลึกถึงพระพุทธคุณอย่างต่อเนื่อง
จะทำให้จิตใจมีความยินดี
มีความรัก มีความชอบ
ที่จะคิดแต่สิ่งที่ดีที่งาม
ที่จะทำแต่สิ่งที่ดีที่งาม
และจะพูดแต่สิ่งที่ดีที่งาม
เมื่อคิดดี ทำดี พูดดี
ผลที่จะตามมาย่อมเป็นความสุขความเจริญ
เพราะเหตุและผลเป็นของต่อเนื่องกัน
เป็นสิ่งที่ไม่มีใครปฏิเสธได้
เช่นแสงสว่างเกิดจากพระอาทิตย์
ถ้าไม่มีพระอาทิตย์ก็จะมีแต่ความมืด
ฉันใดความสุขความเจริญก็เป็นผลที่เกิดจากการคิดดี
พูดดี ทำดี
ทุกๆครั้งที่กราบพระจึงควรเจริญพุทธานุสติ
คือพระพุทธคุณอันประเสริฐทั้ง
๙ ประการ คือ
๑.
อรหัง
พระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลส
๒. สัมมาสัมพุทโธ ผู้ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ
๓. วิชชา
จรณะ สัมปันโน
ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
๔. สุคโต
เป็นผู้ไปดีแล้ว ๕.โลกวิทู
ผู้รู้แจ้งโลก
๖. อนุตตโร
ปุริสทัมมสารถิ
เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า ๗.
สััตถา เทวมนุสสานัง
เป็นศาสดาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
๘. พุทโธ
ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
๙. ภควา
ผู้มีโชค
๑.
อรหัง
พระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลส
คือผู้ไม่มีความโลภ
ความโกรธ ความหลงอยู่ในจิตใจ บรรลุถึงพระนิพพานแดนเกษมสันต์
เป็นปรมังสุขัง
สุดยอดของความสุข
คือพระนิพพาน
ไม่ต้องมาเกิดอีกต่อไป
เมื่อไม่เกิดก็ไม่มีการแก่
การเจ็บ การตาย ตราบใดยังเกิดอยู่
ตราบนั้นก็ยังมีการแก่
การเจ็บ การตาย ตามมาเสมอ
ผู้ไม่ปรารถนาความทุกข์จึงต้องเป็นผู้ไม่เกิด
เพราะว่าทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิดนั่นเอง
ตราบใดที่ยังมีการเกิดอยู่
ตราบนั้นย่อมมีการแก่
การเจ็บ การตาย
ตามมาเป็นธรรมดา
เป็นเหมือนเงาตามตัว
๒.
สัมมาสัมพุทโธ
คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ตรัสรู้ธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยตนเอง
ไม่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอน
เป็นผู้ศึกษาหาวิถีทางที่จะทำให้จิตใจสะอาดหมดจด
ปราศจากความโลภ ความโกรธ
ความหลง ด้วยตนเอง
ไม่มีใครสอน ไม่มีใครแนะวิธี
เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระอรหันตสาวกคือผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์โดยอาศัยการสั่งสอนจากผู้อื่น
คือจากพระพุทธเจ้าหรือจากพระธรรมคำสอน
สาวกแปลว่าผู้ฟัง
ผู้ได้ยินได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า
แล้วก็เอามาประพฤติปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระอรหันต์
๓.
วิชชา จรณะ
สัมปันโน คือผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ
วิชาที่วิเศษที่ผู้ปฏิบัติธรรมจะบรรลุได้
เช่น ๑. การระลึกชาติได้
๒. รู้การเกิดการดับของสัตว์ทั้งหลาย
๓. รู้การสิ้นของอาสวะทั้งหลาย
๔. รู้จิตใจของผู้อื่น
รู้ความคิดของผู้อื่น
เช่นในขณะที่ญาติโยมกำลังคิดอะไรอยู่
บุคคลที่มีวิชาวิเศษนี้ก็จะอ่านความคิดของญาติโยมได้ ๕. ตาทิพย์
สามารถเห็นรูปทิพย์ต่างๆเช่นบรรดาทวยเทพทั้งหลายที่คนธรรมดาสามัญมองไม่เห็น
๖. หูทิพย์
ได้ยินเสียงทิพย์ที่คนธรรมดาสามัญไม่ได้ยินกัน
คือเสียงของเทวดาทั้งหลาย
๗. รู้ไตรลักษณ์
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
๘. อิทธิฤทธิ์
ดำดิน เหาะเหินเดินอากาศ
จรณะคือความประพฤติที่ดีงาม
มีศีล มีธรรม
๔. สุคโต
เป็นผู้ไปดีแล้ว
ไปที่ปลอดภัย
ไปที่ไม่มีความทุกข์
ไม่มีความแก่ ไม่มีความเจ็บ
ไม่มีความตาย คือพระนิพพานนั่นเอง
๕.โลกวิทู
ผู้รู้แจ้งโลก คือผู้รู้โลกธรรม ๘
ได้แก่ ลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ
เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
เป็นธรรมที่สัตว์โลกทั้งหลายจะต้องประสบกัน ผู้รู้แจ้งโลกย่อมไม่ยึดไม่ติดกับธรรมเหล่านี้
เพราะรู้ว่าธรรมเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง
มีความเจริญกับความเสื่อมควบคู่กันไป
พวกที่ยังไม่รู้แจ้งโลก
ย่อมหลงติดอยู่กับลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข เมื่อเกิดการเสื่อมลาภ
เสื่อมยศ มีนินทา
มีทุกข์ตามมา ย่อมทำใจไม่ได้
เมื่อทำใจไม่ได้ก็มีความทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ
กินไม่ได้นอนไม่หลับ
ผู้รู้แจ้งในโลกธรรม ๘
ย่อมไม่ยึดไม่ติดในธรรมเหล่านี้
เมื่อไม่ยึดติดในลาภ ยศ
สรรเสริญ สุข เวลาเกิดการเสื่อมลาภ
เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ขึ้นมา
ก็ไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์
ไม่เศร้าโศก ไม่เสียใจ
ไม่เสียดายในสิ่งเหล่านี้
มีก็มีไป
ไม่มีก็ไม่เดือดร้อน
นี่คือลักษณะของผู้ที่รู้แจ้งในโลกนี้
เป็นโลกวิทู ไม่ยึดไม่ติดในลาภ
ยศ สรรเสริญ สุข เมื่อไม่ยึด
ไม่ติด
ก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งเหล่านี้
๖.
อนุตตโร
ปุริสทัมมสารถิ
เป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า พระพุทธองค์ทรงสามารถฝึกมหาโจรให้กลายเป็นพระอรหันต์ได้
เช่นองคุลิมาล เป็นมหาโจร
ฆ่าคนให้ครบหนึ่งพันคนแล้วเอานิ้วมือของคนที่ถูกฆ่าตายมาร้อยเป็นพวงมาลัย
เพราะอาจารย์สั่งสอนว่าถ้าอยากจะได้วิชาวิเศษ
จะต้องฆ่าคนให้ครบ ๑๐๐๐ คน
องคุลิมาลได้ฆ่าคนมาแล้ว
๙๙๙ คน
ขาดอยู่เพียงคนเดียวก็จะได้วิชาวิเศษจากอาจารย์
เมื่อมาพบพระพุทธองค์ก็เลยพยายามจะฆ่าให้ได้
แต่พยายามไล่พระพุทธองค์เท่าไรก็ไล่ไม่ทัน
ยิ่งวิ่งเร็วขนาดไหนพระพุทธเจ้าก็วิ่งเร็วกว่า
องคุลิมาลวิ่งไล่ตามไม่ทันจึงร้องให้พระพุทธองค์ให้ทรงหยุดเถิด
ข้าพเจ้าตามท่านไม่ทัน
พระพุทธองค์ทรงตอบองคุลิมาลว่าเราได้หยุดแล้ว
เธอต่างหากที่ยังไม่ได้หยุด
องคุลิมาลก็แปลกใจ
จึงทูลถามพระพุทธองค์ว่าได้หยุดอย่างไร
ข้าพเจ้าพยายามวิ่งตามพระพุทธองค์แทบเป็นแทบตายก็ยังวิ่งตามไม่ทัน
พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบไปว่า
เราได้หยุดแล้วจากความโลภ
ความโกรธ ความหลง
พอพระพุทธองค์ทรงตรัสอย่างนี้
องคุลิมาลก็ได้สติขึ้นมา
รู้สึกตัวขึ้นมาว่าตัวเองกำลังหลง
เพราะการที่จะเป็นผู้วิเศษนั้นไม่ได้เกิดจากการฆ่าฟันกัน
การฆ่าฟันกันไม่ใช่บุญไม่ใช่กุศล
เมื่อได้ฟังว่าพระพุทธองค์ทรงหยุดแล้ว
จากความโลภ ความโกรธ ความหลง
องคุลิมาลจึงได้สติ
ก็เลยขอพระพุทธเจ้าบวชเป็นพระ
หลังจากนั้นไม่นาน
ได้ปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
เป็นผู้สิ้นจากความโลภ
ความโกรธ ความหลง
นี่คือการเป็นสารถีฝึกคนที่ฝึกได้ไม่มีใครยิ่งกว่า
๗.
สัตถา
เทวมนุสสานัง
เป็นศาสดาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงสามารถสั่งสอนได้ทั้งมนุษย์และเทวดา
เพราะพระพุทธองค์นอกจากจะมีหูตาธรรมดาแล้ว
พระพุทธองค์ยังมีหูทิพย์
ตาทิพย์
สามารถติดต่อกับเทวดาพวกกายทิพย์ทั้งหลายได้
ในพุทธกิจ ๕
กิจวัตรประจำวันของพระพุทธองค์ประกอบไปด้วย
๑.
เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต
๒.ในเวลาเย็นจะทรงสั่งสอนศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย
คนที่ไม่มีตาทิพย์
หูทิพย์นั้นเปรียบเหมือนกับคนตาบอด
คนตาบอดหรือคนหลับตาจะไปปฏิเสธสิ่งที่คนตาดีมองเห็นย่อมเป็นไปไม่ได้
ทำอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้
คนที่มีตาทิพย์หูทิพย์เหมือนกับคนตาดีที่สามารถมองเห็นสิ่งที่คนตาบอดมองไม่เห็น
คนตาบอดจะปฏิเสธว่า
สิ่งที่คนตาดีเห็นนั้นไม่มี
ย่อมไม่ใช่ฐานะ
พูดไปก็ไร้ความหมาย
คนตาดีย่อมเข้าใจ
แล้วก็เกิดความสมเพชเวทนากับคนตาบอดนั้นที่ไปปฏิเสธสิ่งที่คนตาดีมองเห็น
ฉันใดการที่ปุถุชนคนมีกิเลสอย่างเราอย่างท่านไปปฏิเสธในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นก็เท่ากับการอวดความโง่เขลาเบาปัญญาของเราเท่านั้นเอง
จึงอย่าไปปฏิเสธในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็นเป็นอันขาด
ถ้ายังไม่สามารถพิสูจน์ได้
อย่างน้อยที่สุดก็อยู่เฉยๆไว้จะดีกว่า
แต่อย่าไปปฏิเสธ
ถ้าไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร
อย่าไปลบหลู่ เพราะยังไม่รู้ไม่เห็น
แต่อย่าไปปฏิเสธเป็นอันขาดเพราะจะปิดกั้นทางที่นำไปสู่ความเจริญ
๘.
พุทโธ
ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตื่นจากอะไร
ก็ตื่นจากความหลง
ตื่นจากความมืดบอด
ตื่นจากการเห็นผิดเป็นชอบ
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เช่นเห็นการโกหกกันเล็กๆน้อยๆว่าไม่เป็นไร
การโกงกันเล็กๆน้อยๆก็ไม่เป็นไร
การเสพสุรายาเมาก็ไม่เป็นไร
การเล่นการพนันก็ไม่เป็นไร
แล้วผลเป็นอย่างไร ก็มีแต่ความทุกข์ความเสื่อมเสียตามมา แต่ก็ทำสิ่งเหล่านี้กันเสมอมา
ถ้าเป็นผู้ตื่นย่อมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งไม่ดี ควรเลิกเสีย
ย่อมตื่นจากความลุ่มหลง
จากความเห็นผิดเป็นชอบ ย่อมเห็นกงจักรเป็นกงจักร
เห็นดอกบัวเป็นดอกบัว
เห็นผิดเป็นผิด
เห็นชอบเป็นชอบ เห็นว่าการพูดปดมดเท็จ
การเสพสุรายาเมา
การเล่นการพนัน
การเที่ยวเตร่กลางค่ำกลางคืนไม่ดี
ควรละเว้น ถ้าต้องการความสุขที่แท้จริง
๙.
ภควา
ผู้มีโชค พระพุทธองค์เป็นผู้มีโชค
เหมือนกับคนที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง
ในสลากล้านฉบับจะมีฉบับเดียวที่จะถูกรางวัลที่หนึ่งได้ ผู้ที่ถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งจึงเป็นผู้มีโชคที่สุด
ฉันใดผู้ที่สามารถปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ก็ฉันนั้น
เป็นสิ่งที่ยากเย็นอย่างยิ่ง
การปรากฎขึ้นของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์เป็นสิ่งที่ยากมาก
ต้องใช้เวลายาวนานเป็นกัปเป็นกัลป์ในการบำเพ็ญบารมี ผู้ที่ได้สร้างบุญบารมีจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้
จึงเป็นผู้มีโชคอย่างยิ่ง
เช่นเดียวกับผู้ที่ได้พบพระพุทธเจ้าหรือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นผู้มีโชคเช่นกัน
เช่นพวกเราทั้งหลายถึงแม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วถึง
๒๕๐๐ กว่าปีก็ตาม
แต่ศาสดาที่เป็นองค์แทนพระพุทธองค์นั้นยังมีอยู่
คือพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ชอบแล้ว
พระธรรมคำสอนที่ตรัสไว้ดีแล้วยังมีอยู่
ยังมีพระไตรปิฏก
ยังมีพระธรรมคำสอน
ยังมีพระอริยสงฆสาวกสั่งสอนพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่
พวกเราจึงเป็นผู้ที่โชคดีเช่นกัน
ที่ยังอยู่ในยุคที่มีคำสอนอยู่
ยังมีแสงสว่างอยู่
ยังสามารถพออาศัยแสงสว่างนี้พาเราไปสู่สุคติ
ที่ดีที่งามได้
นี่คือพระคุณอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า
๙ ประการ ทุกครั้งที่กราบไหว้พระควรกราบพระด้วยอามิสบูชา
คือจุดธูปเทียนและดอกไม้ถวายพระ
แล้วก็ปฏิบัติบูชาคือเจริญพุทธานุสติ
เจริญพุทธคุณทั้ง ๙
ประการนี้คือ อรหัง
สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจรณะสัมปันโน
สุคโต โลกวิทู อนุตตโร
ปุริสทัมมสารถิ สัตถา
เทวมนุสสานัง พุทโธ ภควา นี่คือพุทธคุณ
๙ ที่ควรระลึกในจิตใจ
ควรเข้าใจความหมายด้วย
จะทำให้มีความรัก
มีความยินดีในพระพุทธองค์
ในการประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธองค์
เอาพระพุทธองค์เป็นเยี่ยงอย่าง
จะคิดแต่สิ่งที่ดี
จะพูดแต่สิ่งที่ดี
และจะทำแต่สิ่งที่ดี
ถ้าคิดดี พูดดี ทำดีแล้ว
ผลคือความสุขความเจริญย่อมตามมาอย่างแน่นอน
ดังพระบาลีได้แสดงไว้ว่า ปูชา
จ ปูชนียานัง
เอตัมมังคลมุตตมัง
การได้บูชาบุคคลสมควรแก่การบูชา
เป็นมงคลอย่างยิ่ง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้