กัณฑ์ที่ ๔๔๑       ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๕

 

พักกาย พักใจ

 

 

ร่างกายก็เป็นอย่างนี้แหละ ไม่เที่ยง ใช้งานมากก็เหนื่อย ต้องพักผ่อน ใจก็เหมือนกัน ถ้าใช้สังขารความคิดปรุงแต่งมาก ก็ต้องพักบ้าง เข้าสมาธิสลับกัน จะได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ การปฏิบัติธรรมกับการทำมาหากินก็เหมือนกัน เวลาทำมาหากินก็ออกไปทำงานตอนเช้า ตอนเย็นก็กลับมาบ้าน มารับประทานอาหารพักผ่อนหลับนอน เพื่อจะได้เติมกำลังกายและกำลังใจ ตอนเช้าจะได้มีกำลังกายกำลังใจไปทำงานต่อ ทำงาน ๕ วันก็ต้องหยุด ๒ วัน เปลี่ยนบรรยากาศ มาพักผ่อนหย่อนใจพักผ่อนร่างกาย การปฏิบัติธรรมก็เป็นแบบเดียวกัน ต้องมีการพักสลับกับการทำงาน การทำงานก็คือการเจริญปัญญา พิจารณาสภาวธรรมต่างๆ ที่ใจไปเกี่ยวข้อง ไปรับรู้ ไปรับผิดชอบ ให้เห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ของสภาวธรรมต่างๆว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับเสมอไป ถ้าไม่สอนใจก็จะถูกความอยาก ความหลง สร้างความทุกข์ให้กับใจ ความหลงก็จะทำให้อยาก ให้สิ่งที่เกี่ยวข้องดีเสมอไป มีแต่เจริญไม่มีเสื่อม แต่โดยธรรมชาติของสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้ มีเจริญมีเสื่อมเป็นธรรมดา มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุข้าวของต่างๆ สภาพเหตุการณ์ต่างๆ ร่างกายของคนและสัตว์ต่างๆ ถ้าไปยึดติด อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็จะต้องเสียใจทุกข์ใจ นี่คือการทำงานของปัญญา

 

ใจจึงต้องพิจารณาสิ่งต่างๆที่ใจเกี่ยวข้อง เช่นลาภยศสรรเสริญรูปเสียงกลิ่นรส ที่ให้ความสุขกับใจว่า มีการเปลี่ยนไป มีการเจริญมีการเสื่อมไป ถ้าไปยึดไปติด เวลาเสื่อม เวลาจากไป ก็จะเสียใจทุกข์ใจ ถ้าคอยสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เช่นลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรส บุคคลต่างๆ ต้องมีการเสื่อมมีการหมดไปเป็นธรรมดา เวลาเกิดเหตุการณ์ ใจจะได้ไม่เดือดร้อน เพราะได้เตรียมตัวเตรียมใจ รับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นไว้แล้ว นี่คือการพิจารณาทางปัญญา ถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆ ก็จะฟุ้งซ่านเกิดอารมณ์ต่างๆที่ไม่ดีขึ้นมาได้ เนื่องจากกำลังของสมาธิ คืออุเบกขาธรรม ที่ได้จากสมาธิอ่อนกำลังลงไป ก็ต้องกลับเข้าไปสร้างพลังอุเบกขาขึ้นมาใหม่ ด้วยการเข้าไปในสมาธิทำใจให้สงบ พอใจสงบแล้วก็ให้พักตามความต้องการของใจ จนกว่าใจจะถอนออกมาเอง เหมือนกับร่างกายที่ทำงานหนักมา เหนื่อยก็ต้องพักผ่อนหลับนอน ต้องปล่อยให้หลับให้เต็มที่ อย่าไปปลุกในขณะที่ยังนอนไม่พอ เพราะจะงัวเงียหงุดหงิด ไม่มีกำลังทำงานได้อย่างเต็มที่ ใจก็เหมือนกัน เวลาพักก็ต้องปล่อยให้พักอย่างเต็มที่ จนกว่าจะอิ่มตัวแล้วถอนออกมาเอง พร้อมที่จะพิจารณาสภาวธรรมต่างๆต่อไป พิจารณาจนปล่อยวางได้ ถ้ายังไม่รู้ว่าปล่อยได้ ก็ต้องทดสอบดู เช่นรักอะไรหวงอะไร ยกให้คนอื่นไปได้หรือไม่ เช่นสมบัติข้าวของเงินทองบุคคลที่รักที่หวง ตัดความรักความหวงได้หรือไม่ ปล่อยวางได้หรือไม่ ไม่ทุกข์ไม่กังวลได้หรือไม่ ต้องทดสอบใจดูว่า ตัดอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ตัดความอยากได้หรือไม่

 

นี่คือการทำงานทางสมถะและวิปัสสนา สมถะเป็นที่พักใจ วิปัสสนาเป็นที่ทำงานของใจ หลังจากที่พิจารณาสภาวธรรมภายนอก คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ลาภยศสรรเสริญจนปล่อยวางได้แล้ว ก็ต้องเข้ามาพิจารณาร่างกาย พิจารณาขันธ์ ๕ มีร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน พอตาสัมผัสรูป ก็จะเกิดจักขุวิญญาณขึ้นมา วิญญาณเป็นผู้รับข้อมูลจากตา สัญญาก็จะทำงานพิจารณาว่า เป็นรูปอะไร  เป็นหญิงเป็นชาย เป็นมิตรเป็นศัตรู ก็จะเกิดเวทนาตามมา ถ้าเป็นมิตรก็จะสุขใจ เป็นศัตรูก็จะทุกข์ใจ ก็จะเกิดตัณหาคือสังขารความคิดปรุงแต่ง ถ้าสุขก็จะอยากให้อยู่ไปนานๆ ถ้าทุกข์ก็จะอยากให้หายไปเร็วๆ อยากหนีจากเขาไป ถ้าสังขารคิดปรุงแต่งไปทางสมุทัย ไปทางตัณหา ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 

ถ้าได้พิจารณาสภาวธรรมมาก่อนว่ารูปที่เห็นนี้ เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นด้วยตา เป็นดินน้ำลมไฟทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของใครก็ตาม ร่างกายของศัตรู ร่างกายของมิตร ก็เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มีอาการ ๓๒ ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกเหมือนกันหมด เป็นอนิจจัง เกิดแก่เจ็บตาย เป็นอนัตตา ควบคุมบังคับไม่ได้ เขาจะมาหรือไปเป็นเรื่องของเขา สิ่งที่เราทำได้ก็คือทำใจให้เป็นอุเบกขา สอนใจไม่ให้อยากหนี ไม่ให้อยากเข้าหา เพราะความอยากจะผลิตความทุกข์ความทรมานใจขึ้นมาโดยใช่เหตุ เพราะสิ่งที่เห็นนั้น ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องผ่านไปจากไป ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ถ้าทำใจให้เฉยได้ ก็จะไม่ทุกข์  

 

การปฏิบัติธรรมก็เพื่อเปลี่ยนสัญญาเดิม ที่มักจะมองไปในทางสมมุติ มองว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นเพื่อนเป็นศัตรู ถ้ามองทางธรรมะก็จะเห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟ เป็นอาการ ๓๒ เกิดแก่เจ็บตาย มาแล้วเดี๋ยวก็ไป ถ้าเขาจะทำร้ายเรา หลบได้ก็หลบ หลบไม่ได้ก็ถือว่าเป็นกรรมของเรา คงจะมีอะไรกันมาก่อนในอดีต เช่นพระโมคคัลลานะ ที่มีคนตามทำร้าย แต่ท่านก็ไม่ใช้อิทธิฤทธิ์หนี เพราะท่านรู้ว่าหนีกรรมไม่ได้ หนีวันนี้พรุ่งนี้ก็จะตามมาใหม่ หนีจากชาตินี้ชาติหน้าก็จะตามมาใหม่ ท่านจึงไม่หนี ยอมรับกรรมไป อย่างมากก็แค่ตาย ท่านคิดอย่างนี้ นี่คือวิธีคิดด้วยปัญญา จะได้ไม่ทุกข์ ปล่อยวางได้ เป็นการปล่อยวางรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณไปพร้อมกัน

 

ถ้าร่างกายต้องตายจากการสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ยอมปล่อยให้ร่างกายตายไป ถ้าเจ็บจากการสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ปล่อยให้เจ็บไป จะไม่แก้ด้วยการอยากหนีไป ทำใจให้นิ่งไว้ จะไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์กับการสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่ไม่ชอบ ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่นเดินไปเจองูหรือเจอเสือ ก็ทำใจให้เป็นอุเบกขา ทำใจให้เฉย ยืนให้นิ่งแล้วก็ดูมันไป ถ้าจะกัดหรือทำอะไรเรา ก็คิดว่าถึงคราวแล้ว เรามาปล่อยวางขันธ์ ๕ ปล่อยวางร่างกาย เพราะร่างกายไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย เมื่อถึงเวลาตายก็ปล่อยให้ตายไป ถึงเวลาเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป ถ้าหนีไม่ได้หลบไม่ได้ ใจก็ต้องนิ่ง เผชิญกับมันไป ถ้าหนีได้โดยไม่ทุกข์ก็หนีไปก่อนก็ได้ ถ้าอยากจะหนี ถ้าไม่อยากหนี เบื่อกับการหนี ก็เผชิญกับมันไป ให้รู้ดำรู้แดงกันไปว่าจะตายหรือไม่ตาย จะได้ไม่กลัวความตาย ไม่กลัวความเจ็บอีกต่อไป

 

พิจารณาขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นอนิจจัง ก็จะละสักกายทิฏฐิได้ คือการเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวเราของเรา ต้องพิจารณาให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เวทนาก็เป็นสภาวธรรม ที่เกิดจากการสัมผัสรับรู้โผฏฐัพพะผ่านทางร่างกาย เช่นร่างกายถูกสัตว์กัด ก็จะเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมา ก็ยอมรับความจริงว่าเจ็บ เจ็บก็เจ็บไป ถ้ามียารักษาก็รักษาไป ถ้ารักษาไม่ได้ จะเจ็บไปจนตาย ก็ปล่อยให้เจ็บให้ตายไป อย่างนี้ก็จะทำให้ละเวทนาได้ ละสังขารที่คิดปรุงแต่งในทางตัณหาความอยากได้ ละสัญญาที่ไปคิดว่าเป็นตัวเราของเราได้ ด้วยการพิจารณาว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา นี่คือการพิจารณาเพื่อปล่อยวางขันธ์ ๕ ละสักกายทิฏฐิ ที่ไปคิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวเราของเรา พอปล่อยวางได้แล้ว ใจก็จะไม่ทุกข์กับขันธ์ ๕ อีกต่อไป จะไม่ทุกข์กับร่างกาย ไม่ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม จะไม่ทุกข์กับความเจ็บของร่างกาย จะเจ็บก็เจ็บไป ถ้าแก้ไขได้ก็แก้ไป หาหมอมารักษาหายามารักษาได้ก็รักษาไป ถ้ารักษาไม่ได้ก็อยู่กับมันไป แต่จะไม่ผลิตสังขารความคิดปรุงแต่งไปทางความอยาก จะไม่คิดอยากให้ความเจ็บหาย หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป เช่นคนที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ร่างกายไม่สามารถทำอะไรตามคำสั่งของใจได้ ก็อยากจะฆ่าตัวตาย อยากจะฆ่าร่างกาย คิดอย่างนี้เป็นความหลง ไม่มีปัญญา ไม่พิจารณาว่าเป็นธรรมดาของร่างกายที่ต้องเป็นอย่างนี้ ร่างกายจะเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตก็ปล่อยให้เป็นไป อยู่กับมันไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ แทนที่จะไปตกนรกด้วยการฆ่าตัวตาย กลับได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล

 

เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้เป็นประโยชน์ ใช้ความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย มาสอนใจให้ปล่อยวาง ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา สั่งเขาไม่ได้ เปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ อยู่กับเขาไปจนกว่าจะแยกจากกันไปเอง อย่าแยกด้วยการฆ่าร่างกาย เพราะทำด้วยตัณหาความอยาก จะทำให้ทุกข์และไปเกิดใหม่อีก ไปใช้กรรมในอบายก่อน จนกว่าบาปจะหมดกำลัง แล้วก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ ถ้าเจอปัญหาเดิมอีกก็จะแก้ปัญหาแบบเดิมอีก ดังที่มีคำพูดว่า ถ้าฆ่าตัวตายครั้งหนึ่งแล้วก็จะต้องฆ่าตัวตายอีก ๕๐๐ ชาติ เพราะจะติดเป็นนิสัยไป จะแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย คนที่ฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหานี้ เพราะเคยทำอย่างนี้มาก่อน ถ้าได้มีโอกาสศึกษาธรรมะ ได้มาปฏิบัติ เจริญสติ ทำใจให้สงบแล้วพิจารณาขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ พอเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ก็จะอยู่กับปัญหานั้นไป แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็อยู่กับมันไป จนกว่าร่างกายจะตายไปเอง หรือถูกศัตรูฆ่า จะอยู่อย่างเย็นสบาย ไม่เครียดไม่วิตกไม่กังวล ไม่หวาดกลัว ถ้ายังยึดติดกับร่างกาย ยังอยากให้มีชีวิตอยู่ ก็จะเกิดความทุกข์ความเครียดขึ้นมาภายในใจ เวลาที่มีภัยมาประชิดตัว เพราะยังหลงยึดติดว่าเป็นตัวเราของเรา ยังมีตัณหาความอยาก ยังไม่สามารถปล่อยวางสังขาร ไม่ให้คิดไปในทางสมุทัยได้ ไม่สามารถทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ สังขารยังปรุงแต่งไปทางสมุทัยอยู่  

 

เวลาปลงได้ ใจจะสงบเย็นสบาย เพราะยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ นี่คือผลที่จะเกิดขึ้น จากการเจริญปัญญา พิจารณาขันธ์ ๕ อยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นอนัตตา ไปสั่งเขาไม่ได้ เวลาเขาเจ็บ ห้ามเขาไม่ได้ แต่เราห้ามความเจ็บของใจได้ ด้วยการไม่ปล่อยให้สังขารคิดไปในทางสมุทัย คิดไปในทางภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหา ทำใจให้เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ การจะทำใจให้สักแต่ว่ารู้ได้ ก็ต้องฝึกสมาธิ ทำใจให้รวมเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ เวลาใจรวมเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตารมณ์แล้ว ใจจะเป็นอุเบกขา มีความสุขเย็นสบาย จะไม่เดือดร้อนกับอะไรทั้งนั้นเวลาอยู่ในสมาธิ เพราะตอนนั้นไม่รับรู้ขันธ์ ๕ ไม่รับรู้ร่างกายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ จะรับรู้ก็ตอนออกมาจากสมาธิแล้ว ถ้าจะรักษาให้เป็นอุเบกขาต่อ ก็ต้องใช้ปัญญาสอนใจ ให้พิจารณาปล่อยวางรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา  ต้องสอนใจอยู่เรื่อยๆว่า ไม่ใช่ตัวเราของเรา ไม่เที่ยง มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ถ้ารู้อย่างนี้ตลอดเวลา เวลาร่างกายเป็นอะไรไป ก็จะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ ปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางเวทนา ปล่อยวางสัญญา ปล่อยวางสังขารได้ ถ้าสัญญาไม่เห็นผิด ก็จะหยุดสังขารหยุดสมุทัยได้ แต่หยุดเวทนาไม่ได้ เวทนาทางกายจะหายไม่หาย เป็นเรื่องของร่างกาย แต่ทุกข์ทางใจหายได้ ถ้าใจเป็นอุเบกขา ไม่ปรุงแต่งไปทางตัณหา ที่อยากให้ความเจ็บหายไป อยากจะหนีจากความเจ็บไป

 

วิธีทำใจให้เป็นอุเบกขาก็ทำได้ ๒ วิธีคือ ๑. อุบายของสมาธิ ๒. อุบายของปัญญา ในขณะที่เกิดความเจ็บถ้าจะใช้อุบายของสมาธิ ก็ให้บริกรรมพุทโธๆไป อย่าให้ใจคิดถึงความเจ็บ คิดอยากให้ความเจ็บหายไป ถ้ามีแต่พุทโธอย่างเดียว ใจก็จะสงบตัวลง ก็จะทนรับรู้กับความเจ็บของร่างกายได้ ถ้าความเจ็บของร่างกายไม่ได้หายไป จะไม่เป็นปัญหา จะไม่กระทบกับใจ ต่างฝ่ายต่างอยู่ บางครั้งใจสงบเต็มที่ ร่างกายก็หายไป เวทนาก็หายไป อย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน มีโอกาสที่จะเกิดได้ ๒ แบบคือ ๑. แบบที่เวทนายังอยู่ร่างกายยังอยู่ แต่ใจไม่เดือดร้อน ๒. เวทนาหายไปร่างกายหายไป เหลือแต่สักแต่ว่ารู้ นี่เป็นอุบายของสมาธิ ถ้าใช้อุบายของสมาธิ ทุกครั้งเวลาเกิดความเจ็บก็ต้องทำอย่างนี้ ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างถาวร ถ้าอยากจะแก้ปัญหาอย่างถาวร ไม่สะทกสะท้านต่อความเจ็บของร่างกาย ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า ความเจ็บของร่างกายนี้ เป็นสภาวธรรมที่ใจสามารถรับรู้ได้ด้วยอุเบกขา ต่างฝ่ายต่างอยู่ด้วยกันได้ เหมือนเสียงตอนนี้ที่เรารับฟังได้ ถ้าไม่มีความอยากให้เสียงหายไป ใจจะไม่เดือดร้อนกับเสียง ถ้าอยากจะให้เสียงหายไป ใจจะไม่สงบ จะหงุดหงิดรำคาญใจ แสดงว่าสังขารกำลังปรุงแต่งไปทางสมุทัย

 

ถ้าพิจารณาว่าเป็นสภาวธรรม ที่เราไม่สามารถควบคุมบังคับ สั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ แต่อยู่กับเขาได้ ถ้าอยู่กับเขาได้ ใจก็จะสงบ เห็นว่าเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา อนัตตาคือห้ามเขาไม่ได้ สั่งเขาไม่ได้ อนิจจังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา มาแล้วก็ไป ถ้าชอบเสียงนี้ พอเสียงนี้หายไป ก็จะว้าเหว่ ถ้าไม่ชอบก็จะทุกข์ เพราะอยากจะให้หายไป ต้องทำใจเฉยๆให้เป็นกลาง ยอมรับสภาวธรรมต่างๆที่สัมผัสรับรู้ เช่นเสียงหรือความเจ็บของร่างกาย รับรู้ไปเท่านั้นเอง เขาจะอยู่ก็อยู่ไป จะหายก็หายไป ถ้ารับรู้ได้แล้วใจจะนิ่ง จะสงบเป็นอุเบกขา ต่อไปจะไม่หวั่นไหวกับความเจ็บของร่างกาย กับเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ชอบหรือไม่ชอบก็ตาม จะคิดว่าเป็นเสียงเท่านั้นเอง เสียงที่ชอบก็เป็นเสียง เสียงที่ไม่ชอบก็เป็นเสียง เสียงชมก็เป็นเสียง เสียงด่าก็เป็นเสียง ห้ามไม่ได้สั่งไม่ได้ เขาจะด่าก็ปล่อยเขาด่าไป จะชมก็ปล่อยเขาชมไป เราฟังแล้วก็ผ่านไป เกิดดับๆ เข้าหูซ้ายแล้วก็ออกหูขวาไป

 

ถ้าไม่มีกิเลสจะไม่ดึงกลับมาคิด ถ้ามีกิเลสมีอุปาทาน พูดไปหลายชั่วโมงแล้ว ก็ยังเอากลับมาคิด เอากลับมาฟังใหม่ เอากลับมาพูดใหม่ในใจ พูดทีไรฟังทีไรก็ทุกข์ใจ เพราะไม่อยากให้พูดอย่างนั้น ไม่อยากให้ด่า ต้องตัดความไม่อยากให้ด่าให้ได้ ต้องปล่อยวาง ด่าก็ได้ ไม่ด่าก็ได้ นี่เป็นอุบายทางปัญญา เช่นเดียวกับความเจ็บของร่างกาย เจ็บก็ได้ไม่เจ็บก็ได้ เจ็บก็เท่านั้น ไม่เจ็บก็เท่านั้น ถ้าไม่มีความอยากให้ความเจ็บหายไป หรืออยากจะหนีจากความเจ็บไป จะรับกับความเจ็บของร่างกายได้ ที่รับไม่ได้ก็คือความทุกข์ใจ ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป นี่คือการใช้ปัญญาพิจารณา เพื่อสอนใจให้ปล่อยวาง เวทนาคือความเจ็บของร่างกาย เจ็บก็เจ็บไป ใจเป็นผู้รู้ก็รู้ไป  

 

ปัญญามี ๓ ลักษณะคือ ๑. สุตมยปัญญา อย่างที่เรากำลังฟังธรรมอยู่ตอนนี้ เรียกว่าเป็นสุตมยปัญญา กำลังได้ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง เพื่อเป็นแนวทางของการปฏิบัติ ๒. จินตามยปัญญา พอได้ยินได้ฟังแล้ว ก็เอามาพิจารณา เตรียมตัวไว้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ เพราะถ้าไม่เตรียมตัวไม่ซ้อมไว้ก่อน เวลาเกิดเหตุการณ์จะไม่สามารถพิจารณาได้  ปัญญาทั้ง ๒ แบบนี้ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ เพราะยังไม่อยู่ในเหตุการณ์จริง ๓. ภาวนามยปัญญา ต้องพิจารณาเวลาอยู่ในเหตุการณ์จริง ต้องเข้าห้องสอบ ทำข้อสอบ ถ้าทำข้อสอบได้ก็ผ่าน ถ้าปล่อยวางเสียงด่าได้ก็ผ่าน ปล่อยวางความเจ็บของร่างกายได้ ไม่เดือดร้อนไม่สะทกสะท้านก็ผ่าน นี่คือผลที่จะได้รับจากการเจริญปัญญา แต่ก่อนที่จะมาถึงภาวนามยปัญญาได้ ต้องผ่านจินตามยปัญญาก่อน ผ่านสุตมยปัญญาก่อน ผ่านการเจริญสมาธิก่อน ผ่านการเจริญสติก่อน ผ่านการรักษาศีลก่อน ผ่านการทำบุญให้ทานก่อน เป็นขั้นบันไดของธรรม เป็นเหมือนกับการศึกษาเล่าเรียน ต้องศึกษาชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม ชั้นปริญญาตรี ชั้นปริญญาโท ชั้นปริญญาเอกตามลำดับ

 

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ต้องทำบุญให้ทานก่อน แล้วก็รักษาศีล แล้วก็เจริญสติ พอเจริญสติได้ ก็จะนั่งสมาธิได้ จิตก็จะรวม พอจิตรวมถอนออกมาจิตก็จะเป็นอุเบกขา ก็จะสามารถพิจารณาทางปัญญาได้ เจอความเจ็บก็สามารถสอนจิตให้ตั้งอยู่ในอุเบกขาได้ สอนจิตไม่ให้ไปอยาก เพราะอยากแล้วจะทรมานกว่าตอนที่ไม่อยาก เพราะเวลามีความอยากจิตจะออกจากอุเบกขา ก็จะทรมานใจ นี่คือแนวทางของการปฏิบัติ ของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าใครก็ตามต้องปฏิบัติตามขั้นตอนนี้ทั้งนั้น แต่อาจจะได้ปฏิบัติมามากน้อยต่างกัน ก็มาต่อยอดได้เลย ถ้าเคยทำทานมาแล้ว ไม่ยึดติดกับสมบัติข้าวของเงินทอง ไม่สะสม ไม่มีก็ไม่ต้องทำทาน ถ้ารักษาศีลได้แล้วก็ไม่ต้องสมาทานศีล เพราะตั้งใจไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่พูดปด ไม่เสพสุรายาเมา เป็นนิสัยอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องไปขอศีลกับใคร แต่ละคนเคยสะสมบุญเหล่านี้มาต่างกัน เวลาปฏิบัติจึงมีความคืบหน้าต่างกัน ต่างคนต่างปฏิบัติไป อย่าไปมองคนอื่น จะอยู่ข้างหน้าหรืออยู่ข้างหลังเรา ก็เป็นเรื่องของอดีตที่ได้สะสมมา เราอยู่ตรงไหนก็ต้องทำของเราตรงนั้นไป จนกว่าเราจะเสร็จงาน คือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางอุปาทานได้หมด ตัดความอยากทั้ง ๓ ได้หมด ถ้าได้ปฏิบัติแล้ว ผลก็จะเป็นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ไปถึงก่อนหรือถึงหลัง

 

ถาม  วันนี้ท่านอาจารย์เทศน์ถูกใจมากเลยค่ะ ที่เทศน์ว่าทำไปเถิดไม่ต้องไปดูคนอื่นเขา

 

ตอบ  อยู่คนละชั้นกัน ถ้าอยู่ชั้นอนุบาลก็อย่าไปมองชั้นประถมชั้นมัธยม จะทำให้ท้อแท้ เพราะทำเหมือนเขาไม่ได้ เรื่องการปฏิบัติเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน อัตตาหิ อัตตโน นาโถ เรื่องของผลที่ได้ทำมามากน้อยต่างกัน เรื่องของบุญบารมี อย่างที่มีคำพูดว่า แข่งเรือแข่งพายพอแข่งกันได้ แต่แข่งวาสนาบารมีนี้ แข่งกันไม่ได้ ต้องสะสมกันมา ถ้ามีน้อยก็ต้องตักให้มากๆ

 

อยู่ที่ความเพียรเป็นหลัก ที่จะพยายามตักตวงสร้างบุญบารมี พวกเรามีเวลาเท่ากัน มีอาการ ๓๒ เท่ากัน ที่ไม่เท่ากันก็คือความเพียร จึงต้องสร้างความเพียรให้มาก เพียรมากก็จะไปได้เร็วไปได้ไกล เหมือนกับเติมน้ำมันรถ ถ้าเติมน้อยก็จะไปไม่ได้ไกล เติมมากก็จะไปได้ไกล น้ำมันรถก็คือความเพียร วิริยะบารมี เพียรตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนหลับ ถึงจะเรียกว่าเพียรอย่างเต็มที่ เพียรเจริญมรรค เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา ถ้าเพียรอย่างนี้ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ภายใน ๗ ปี รับรองต้องได้อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน นี่ก็ผ่านมาแล้ว ๗ ปี ถ้ายังไม่ได้ก็แสดงว่าเพียรยังไม่มากพอ ถ้าอยากจะโทษใคร ก็ให้โทษความเพียร ความเพียรไม่มากพอ ต่อให้มีความปรารถนาแรงกล้าขนาดไหนก็ตาม มีศรัทธามีฉันทะมากเพียงไรก็ตาม ถ้าไม่มีความเพียรก็จะไม่ได้อะไร มีฉันทะแล้วก็ต้องมีวิริยะ มีวิริยะแล้วก็ต้องมีจิตตะ คือใจจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติ วิมังสาก็คือใจใคร่ครวญคิดแต่เรื่องปฏิบัติ พวกเรามีงานเดียวก็คืองานปฏิบัติ ไม่ทำงานอื่น เพียรภาวนา เพียรปฏิบัติธรรม ฉันทะก็คือยินดีปฏิบัติ ถ้ามีความอยากปฏิบัติเหมือนกับอยากไปเที่ยว จะเสร็จงานนี้ไปนานแล้ว เป็นฉันทะอันเดียวกัน แต่งานต่างกัน งานไปเที่ยวเป็นงานสร้างภพชาติ ส่วนงานไปปฏิบัติเป็นงานตัดภพชาติ ต่างกันตรงนี้ มีฉันทะเป็นตัวนำเหมือนกัน พวกเรามีฉันทะกับการสร้างภพสร้างชาติ สร้างกิเลสตัณหา จึงไม่มีวันที่จะบรรลุได้ ไม่มีวันที่จะสำเร็จงานทางธรรมได้

 

ถ้ามีฉันทะยินดีทางธรรม ก็จะมีวิริยะพากเพียรปฏิบัติธรรม ใจก็จะจดจ่อกับการปฏิบัติธรรม วิมังสาก็จะคิดแต่เรื่องปฏิบัติธรรม ถ้ามีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสาในทางธรรมแล้ว ผลจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดขึ้นกับพระสาวกทั้งหลาย เพราะท่านมีอิทธิบาท ๔ คือฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา อิทธิแปลว่าความยิ่งใหญ่ บาทก็คือทาง อิทธิบาทก็คือทางสู่ความยิ่งใหญ่ ทางสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม ถ้าทางโลกก็สำเร็จในการสร้างภพสร้างชาติให้มีเพิ่มมากขึ้น ถ้าทางธรรมก็สำเร็จในการตัดภพชาติให้หมดไป ต้องเลือกฉันทะให้ถูกทาง อย่าเลือกฉันทะกับการสร้างภพสร้างชาติ ต้องเลือกฉันทะในทางธรรม ชอบไปอยู่วัด ไปปลีกวิเวก ไปปฏิบัติธรรม ไปเพียรกับการเดินจงกรมนั่งสมาธิ ไม่ควรเพียรกับการไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เพราะไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจ แต่จะเป็นโทษกับจิตใจ เพราะจะสร้างความอยากให้มากขึ้น ไม่มีวันสิ้นสุด จะอยากไปจนกว่าจะไม่สามารถไปได้ ตอนนั้นก็จะมีแต่ความทุกข์ทรมานใจ เช่นเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ไปไหนไม่ได้ อาจจะอยากฆ่าตัวตายก็ได้ ถ้ามีความยินดีไปในทางธรรม ก็จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขสิ้นทุกข์ ขอให้พวกเราสร้าง ฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ต่อธรรมอันเลิศอันประเสริฐของพระพุทธเจ้า คือมรรคผลนิพพานนี้ขึ้นมา แล้วสักวันหนึ่งมรรคผลนิพพาน ก็จะต้องเป็นผลที่จะได้รับกันทุกคนอย่างแน่นอน

 

ถาม  ได้ยินมาว่าต้องปฏิบัติกันเป็นร้อยๆชาติเลยกว่าจะไปถึง

 

ตอบ  ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าสอนก็ต้องเป็นล้านๆชาติเลย เพราะไม่รู้จักทาง แต่พอมีพระพุทธเจ้ามาสอนแล้ว ๗ วันก็ได้ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์รับรองไว้แล้วในมหาสติปัฏฐานสูตร ถ้าเจริญสติได้ พิจารณาธรรมต่างๆตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนได้ ก็จะสามารถบรรลุพระนิพพานหรือขั้นพระอนาคามีได้ ภายใน ๗ วัน ๗ เดือนหรือ ๗ ปี ขึ้นอยู่กับความเพียร ความฉลาดแหลมคมของสติปัญญาของแต่ละคน ที่มีไม่เท่ากัน ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ไม่มีพระพุทธศาสนา ต่อให้ปฏิบัติ ต่อให้เพียร ๒๔ ชั่วโมง ไม่หลับไม่นอนเลย ก็จะบรรลุไม่ได้ เพราะจะปฏิบัติไม่ถูกทาง ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง พระองค์ไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะสอน จึงต้องลองผิดลองถูกเอง อดพระกระยาหารถึง ๔๙ วัน ถ้าไม่ฉลาดก็อาจจะอดตายไปเลยก็ได้

 

นี่คือความยากของทางนี้ ถ้าไม่มีคนบอกทาง ยากที่จะค้นพบได้ด้วยตนเอง มีเพียงคนที่ฉลาดอย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ได้สะสมบุญบารมี เช่นปัญญาบารมีมาเป็นกัปเป็นกัลป์ ถึงจะมีความฉลาดรู้ทันกิเลส ที่คอยหลอกล่อไม่ให้เข้าสู่ทางมรรคผลนิพพาน แต่พอมีพระพุทธเจ้า มีพระอรหันต์มาสอนเล่ห์กลต่างๆของกิเลสแล้ว ก็จะสามารถบรรลุได้ภายในชาตินี้เลย จึงปรากฏมีครูบาอาจารย์ให้พวกเรากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องปฏิบัติเป็นร้อยๆชาติแล้ว หลวงปู่มั่นก็บรรลุในชาตินี้ หลวงตาก็บรรลุในชาตินี้ ใครก็ตามปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ต้องได้มรรคผลนิพพานอย่างแน่นอน จึงอย่าไปฟังคนหูหนวกตาบอด ที่ไม่ได้ศึกษาไม่ได้ปฏิบัติ ฟังแล้วก็จะทำให้ไขว้เขว ให้ยึดพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นอาจารย์ เป็นสรณะเป็นที่พึ่ง คนอื่นเขาจะพูดอะไรก็ฟังได้ แต่ต้องพิจารณาดูว่า พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์สอนอย่างนี้หรือเปล่า ไม่มีในคัมภีร์ที่สอนว่า ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จะต้องปฏิบัติเป็นร้อยชาติพันชาติถึงจะบรรลุได้ มีแต่สอนว่า บรรลุได้ภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี

 

ไม่ต้องลังเลสงสัย ชาตินี้เป็นโอกาสดีที่สุดแล้ว เหมือนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ หรือแจ๊คพอตที่อเมริกา เพียงแต่เราต้องไปรับรางวัลเอง ต้องเจริญมรรคเอง เจริญทานศีลภาวนาเอง ภายใน ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีจะต้องได้ผลอย่างแน่นอน ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่ความเพียรของเรา ถ้าไม่มีความเพียร ถึงแม้จะถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ถูกแจ๊คพอตก็จะไม่สามารถไปรับรางวัลได้ เพราะขี้เกียจเจริญมรรค เจริญทานศีลภาวนา ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ต่อไปนี้จะไม่เที่ยวแล้ว ต่อไปนี้มีเวลาว่างจะภาวนา ถ้าไม่เปลี่ยน ก็จะไม่มีวันไปทางธรรมได้ เหมือนขับรถไปผิดทางแล้วไม่กลับรถ ก็จะไปผิดทางอยู่เรื่อยๆ ต้องหยุดรถแล้วยูเทิร์นกลับรถ ตอนนี้พวกเรากำลังไปทางสร้างภพสร้างชาติ ต้องกลับมาทางตัดภพตัดชาติ ทางของพระพุทธเจ้า ทางของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย