กัณฑ์ที่ ๔๔๓       ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๕

 

ปัญหาของพวกเรา

 

            

ถ้าได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม เวลามีปัญหาจะรู้จักวิธีแก้ ปัญหาของพวกเราก็คือความไม่สบายใจ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเกิดจากความอยากต่างๆ คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ถ้าเกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม พระเจ้าแผ่นดินหรือขอทาน ก็จะไม่สบายใจเหมือนกันหมด เพราะการเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือขอทาน ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ จะไม่ให้เกิดขึ้นก็ต้องหยุดความอยาก ต้องรู้ว่าความไม่สบายใจเกิดจากความอยากของเราเอง ต้องมีเครื่องมือที่จะหยุดความอยาก เพราะความอยากเป็นเหมือนรถที่กำลังวิ่งอยู่ ถ้าอยากหยุดรถก็ต้องมีเบรก ถ้าไม่มีเบรกก็จะหยุดไม่ได้ ถึงแม้จะรู้ว่าไม่สบายใจเพราะความอยาก แต่ก็หยุดความอยากไม่ได้ เพราะไม่มีกำลังที่จะต่อสู้กับความอยาก พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานเครื่องมือให้กับพวกเรา ตั้งแต่ขั้นอนุบาลขึ้นไปเลย ขั้นทานคือการให้ ขั้นศีลคือการรักษากายวาจา ไม่ให้ทำอะไรที่เกิดความเสียหายแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น และขั้นภาวนาเป็นขั้นสูงสุด ก่อนที่จะไปถึงขั้นภาวนาได้ ต้องมีขั้นศีลสนับสนุน ขั้นศีลก็ต้องมีทานสนับสนุน

 

ถ้ายังไม่ใจบุญ ยังโลภ ยังอยากได้เงินทองมากๆ ก็จะรักษาศีลยาก ถ้าใจบุญชอบให้ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะรักษาศีลได้ง่าย ใจจะสงบง่ายกว่า ไม่วุ่นวาย จะสามารถภาวนาได้ การภาวนาจะให้ได้ผล ก็ต้องไปอยู่ที่เปลี่ยว ที่สงบ ผู้ที่ไม่มีศีลจะไม่กล้าไป จะหวาดระแวง หวาดกลัวกับภัยต่างๆ เพราะได้สร้างเวรสร้างกรรมเอาไว้นั่นเอง ผู้ที่จะภาวนาจึงต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ต้องรักษาศีล ๘ ที่จะช่วยตัดกำลังของกามตัณหาลง คือความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส ถ้าถือศีล ๘ ได้ก็จะไปอยู่ที่สงบวิเวกได้ เพราะที่สงบวิเวกจะไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แสง สี เสียง ที่เคยให้ความสุขกับเรา ถ้าไม่มีกำลังรักษาศีล ๘ ก็จะอยู่ไม่ได้ จะหิวจะอยากกับรูป เสียง กลิ่น รส ต่างๆ ถ้ารับประทานอาหารมื้อเดียวก็จะรู้สึกทรมาน ถ้าไม่มีแสง สี เสียง ให้เห็น ให้ดู ให้เสพ ให้สัมผัส ก็จะหงุดหงิดรำคาญใจ เศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ ถ้ารักษาศีล ๘ ได้ ก็จะทำให้ความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆเหล่านี้เบาบางลงไป แต่ก็ไม่หมด จะต้องภาวนาด้วยถึงจะหายไปหมด

 

การภาวนาขั้นต้นเรียกว่าสมถภาวนา ต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต้องควบคุมจิตไม่ให้คิดฟุ้งซ่าน ไม่ให้คิดเรื่อยเปื่อย ให้จิตว่าง ให้สักแต่ว่ารู้อยู่กับการทำงานของร่างกาย ร่างกายกำลังทำอะไรก็ให้เฝ้าดูไป ให้อยู่กับการทำงานของร่างกายอย่างเดียว ไม่ให้ไปคิดเรื่องต่างๆ ไม่ให้คิดเรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้ เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว เรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต ให้คิดให้รู้แต่เรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่นกำลังเดินก็ให้รู้ว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง กำลังดื่มน้ำ กำลังทำอะไรก็ตาม ให้ใจจดจ่ออยู่กับการทำงานของร่างกาย อย่างนี้เรียกว่ามีสติควบคุมความคิด พอมีเวลาว่างไม่ต้องทำอะไร ก็ควรนั่งหลับตา แล้วก็ดูลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่คิดเรื่องอื่น ดูแต่ลมหายใจตลอดเวลา ไม่นานห้านาทีสิบนาทีใจก็จะสงบ ความสงบก็มีสองลักษณะ สงบแบบพรวดพราดลงไปถึงฐานเลย หรือสงบแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนเปลี่ยนเกียร์รถ ค่อยๆสงบไปทีละขั้นทีละขั้นไป จะสงบแบบไหนก็ไม่เป็นปัญหา

 

อย่าไปคาด อย่าไปกำหนดว่าจะต้องเป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ เพราะการภาวนาในแต่ละครั้งนี้ มีเหตุมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน บางครั้งมีปัจจัยทำให้รวมลงไปถึงฐานเลย บางครั้งก็ค่อยเป็นค่อยไป ได้ทั้งสองแบบ เวลาใจสงบจะเบาอกเบาใจ เย็นสบาย มีความสุข ความอิ่ม ไม่หิวกับรูป เสียง กลิ่น รส ไม่หิวกับเรื่องราวต่างๆ ก็ควรปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ให้นั่งให้นานที่สุด จนกว่าจะนั่งไม่ได้ค่อยลุกขึ้นมาเปลี่ยนอิริยาบถ ลุกขึ้นมาเดินจงกรม มาเจริญสติต่อ ถ้าต้องทำงานก็ทำเท่าที่จำเป็น งานภายนอก อย่าทำมากจนเกินไป เวลาอยู่กับหลวงตานี้ท่านคอยเตือนคอยสอนอยู่เรื่อยๆว่า อย่าทำงานอย่างอื่นนอกจากงานภาวนา งานภาวนานี้เป็นงานที่สำคัญที่สุด งานรื้อภพ รื้อชาติ

 

กรรมฐานแปลว่าที่ตั้งของงาน กรรมแปลว่างาน ฐานแปลว่าที่ตั้ง กรรมฐานก็แปลว่าที่ตั้งของงาน เช่นอานาปานสติ จดจ่อดูลมหายใจเข้าออก กายคตาสติ จดจ่อดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย พุทธานุสติ ก็คือการบริกรรมพุทโธ กรรมฐานนี้มีอยู่ ๔๐ ชนิดด้วยกัน ที่ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกใช้ได้ตามจริตของตน เหมือนกับรายการอาหาร เวลาไปร้านอาหาร ก็จะมีรายการอาหารให้เลือก อยากจะกินอาหารชนิดไหนก็เลือกเอาได้ นักภาวนาก็มีจริตมีความชอบไม่เหมือนกัน เคยทำมาในอดีตไม่เหมือนกัน ก็เลยต้องใช้กรรมฐานที่เหมาะกับจริตของตน เหมาะกับภูมิธรรมภูมิจิตของตน ที่ได้พัฒนามามากน้อยไม่เท่ากัน บางท่านก็ชอบเจริญมรณานุสติ พิจารณาดูซากศพ บางท่านก็ชอบพิจารณาอสุภะ พิจารณาปฏิกูล พิจารณาอาการต่างๆของร่างกาย เป็นการเจริญสติ ถ้าเกี่ยวกับร่างกาย ก็จะเป็นเพื่อความสงบและปัญญา ถ้าบริกรรมพุทโธ ก็จะเป็นเพื่อความสงบ เป็นอารมณ์ของสมถะ

 

ถ้าเจริญมรณานุสติ เจริญอสุภะ พิจารณาอาการ ๓๒ ก็จะเป็นอารมณ์ของสมถะและวิปัสสนา จะใช้กรรมฐานอย่างไหนก็ได้ แล้วแต่จริต อย่าไปตามคนอื่น เขาสอนตามแนวทางของเขา แต่อาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้ ต้องพิจารณาดูว่าอันไหนเหมาะกับเรา ก็ใช้อันนั้นไป ข้อสำคัญต้องทำให้จิตรวมให้ได้ รวมเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา ว่าง ไม่มีอะไร ไม่มีนิมิตต่างๆ ในเบื้องต้นถ้าปรากฏมีนิมิตก็อย่าไปสนใจ นิมิตเป็นเหมือนมีดหรืองู หลวงตาท่านสอนในปัญญาอบรมสมาธิว่า นิมิตเป็นเหมือนงูพิษ คนที่จับงูพิษเป็น ก็จะรีดพิษงูมาทำยาได้ ทำประโยชน์ได้ แต่คนที่จับงูไม่เป็น ก็จะถูกงูกัดตายได้ นักภาวนาในเบื้องต้นจึงไม่ควรไปยุ่งกับเรื่องนิมิต เพราะยังไม่มีความสามารถเอาประโยชน์จากนิมิตได้ จะกลายเป็นเครื่องมือของกิเลสไป จะทำให้หลงทาง เสียเวลา ไม่เกิดมรรคผล ได้แค่นิมิต ได้แค่สมาธิ ไม่ได้อริยมรรคอริยผล ไม่ได้โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ไม่ได้พระนิพพาน ได้เพียงโลกียวิชชา ที่จะเป็นเครื่องมือของกิเลสตัณหา

 

เช่นพระเทวทัตที่ได้สมาธิ ได้อิทธิฤทธิ์ แต่ไม่ได้เจริญปัญญา ไม่ได้พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ได้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวเราของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์ ก็เลยหลงอยากจะเป็นใหญ่เป็นโต เกิดภวตัณหาขึ้นมา พอพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ ก็เกิดความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท จองเวรจองกรรม พยายามปลงพระชนม์ถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่สามารถทำได้ ในที่สุดก็ต้องใช้เวรใช้กรรมของตนไป แทนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ ก็ต้องไปตกนรกอเวจีก่อน แล้วค่อยกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไป นี่คือผลที่เกิดจากการหลงทาง หลงไปยึดติดกับนิมิตต่างๆ อิทธิฤทธิ์ต่างๆ จึงไม่ได้ภาวนาเพื่อทำใจให้สงบนิ่ง ให้เป็นอุเบกขา ให้มีความสุข ความสุขของสมาธินี่แหละที่จะทำให้ปล่อยวางความสุขชนิดอื่นได้ ปล่อยวางความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กายได้ อยู่แบบขอทานได้ เช่นพระพุทธเจ้าก็เคยประทับอยู่ในวัง แต่พระองค์ทรงมีสมาธิ จิตสงบ พระองค์จึงไม่เสียดายกับพระราชทรัพย์ ไม่เสียดายกับพระราชฐานะ กับการเป็นพระราชโอรส จึงทรงเสด็จออกจากวังได้อย่างง่ายดาย และปฏิบัติจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ เพราะไม่ทรงหลงกับอิทธิฤทธิ์นิมิตต่างๆ ทรงรู้ว่าไม่ได้เป็นทางที่ไปสู่ความดับทุกข์ ทรงมุ่งไปที่การเจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นพระอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง เห็นอนัตตา เห็นว่าความทุกข์เกิดจากความอยากต่างๆ เห็นเครื่องมือที่จะดับความทุกข์ ก็คือสติ สมาธิ ปัญญา ปัญญาจะเกิดได้ ก็ต้องมีสมาธิ ที่สงบ ที่นิ่ง ที่ว่าง ที่เป็นอุเบกขา ไม่เช่นนั้นเวลาออกจากสมาธิจะไม่มีกำลังอุเบกขา สมาธิที่มีนิมิตมีฤทธิ์นี้ จะไม่มีอุเบกขา ออกมาแล้วก็จะถูกกิเลสเอาไปใช้สอย ตามอำนาจของกิเลส

 

ถ้าเป็นสมาธิที่ว่าง ที่สงบ เป็นอุเบกขา เวลาออกมาก็ยังว่างยังสงบอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็จะค่อยๆจางไป เหมือนกับน้ำที่แช่ไว้ในตู้เย็น เวลาเอาออกมาดื่มก็ยังเย็นอยู่ ถ้าทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก็จะค่อยๆหายเย็นไป ถ้าอยากจะให้น้ำเย็นอีก ก็ต้องเอากลับเข้าไปแช่ในตู้เย็นต่อ ตอนออกจากสมาธิใหม่ๆ ใจจะเย็น สงบ ว่าง เป็นอุเบกขา สามารถพิจารณาปัญญาได้ ไม่มีอารมณ์มารบกวน กิเลสไม่มีกำลัง จะพิจารณาอสุภะก็พิจารณาได้ พิจารณาความตายก็พิจารณาได้ พิจารณาอนิจจังความไม่เที่ยงก็พิจารณาได้ พิจารณาเกิด แก่ เจ็บ ตาย พิจารณาดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณาอาการ ๓๒ ก็พิจารณาได้ระยะหนึ่ง พอเกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา ก็หมายความว่ากำลังของสมาธิ กำลังของอุเบกขาหมดแล้ว กิเลสออกมาก่อกวน มาหลอกให้ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว ตอนนั้นก็ต้องหยุดคิด แล้วกลับไปในสมาธิใหม่ เข้าไปทำจิตให้สงบ ให้เย็น ให้เป็นอุเบกขาใหม่ พอพักได้เต็มที่แล้วจิตก็จะถอนออกมาเอง

 

นี่คือการเจริญมรรคผลนิพพาน ต้องมีทั้งสมถะ มีทั้งวิปัสสนาสลับกันทำงาน ไม่ทำอย่างอื่น ทำเพียงสองอย่างนี้ ต้องอยู่คนเดียว ปลีกวิเวก เดินจงกรม นั่งสมาธิ เวลาเดินจงกรมก็พิจารณาไป ถ้าชำนาญในสมาธิแล้ว เข้าออกสมาธิได้ตามที่ต้องการแล้ว ถ้ายังไม่ชำนาญก็อย่าเพิ่งพิจารณา ควรควบคุมจิตไม่ให้คิดอะไร ให้ว่างอยู่เรื่อยๆ ให้สงบ ให้สักแต่ว่ารู้ เจริญสติให้มากก่อน จนเข้าออกสมาธิได้อย่างง่ายดาย อย่างรวดเร็ว อยากจะเข้าเมื่อไหร่ก็เข้าได้ทันทีเลย กำหนดเพียง ๒ - ๓ นาทีก็สงบ ไม่เข้าสมาธิแบบเข็นครกขึ้นภูเขา ทำให้ชำนาญก่อน ทำสมาธิให้แน่นเหมือนหินก่อน แล้วค่อยออกทางปัญญา ถ้ามีสมาธิแบบเป็นหินแล้ว เวลาออกทางปัญญาจะได้ผลเร็ว พอเห็นไตรลักษณ์ก็จะปล่อยวางทันที ละความอยากทันที จะไม่ทุกข์กับเรื่องอะไร เพราะจะรู้ทันที พอใจกระเพื่อมขึ้นมาก็จะหยุดทันที

 

ขั้นต้นต้องพิจารณาร่างกายก่อน ให้ปล่อยวางในทุกรูปแบบ ปล่อยวางว่าเป็นตัวเราของเรา ให้เห็นว่าเป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เวลาตายไปก็กลายเป็นธาตุ ๔ ไป กลายเป็นขี้เถ้าเป็นเศษกระดูกไป ธรรมชาติเขาเล่นกลหลอกพวกเรา แต่เราไม่รู้กัน เราคิดว่าเป็นตัวเราของเรา ความจริงมันเป็นธรรมชาติ เป็นธาตุ ๔ มารวมตัวกัน ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา เป็นอาการ ๓๒ เป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เยื่อในสมองศีรษะ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำไขข้อ น้ำมูตร ร่างกายเป็นเหมือนถุงใส่ขยะ ที่ใส่สิ่งที่เป็นปฏิกูล สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม แต่เรามองไม่เห็นกัน ก็เลยหลงร่างกาย ทำให้เกิดกามราคะ เกิดความอยากในกาม อยากจะเสพกาม ถ้าเห็นว่าเป็นอาการ ๓๒ มีสิ่งปฏิกูลต่างๆที่ถูกขับถ่ายออกมาอยู่เรื่อยๆ ก็จะดับกามารมณ์ได้ ถ้าเห็นว่าเป็นดินน้ำลมไฟ ก็จะปล่อยวางได้ ไม่ยึดไม่ติดกับร่างกาย ปล่อยวางร่างกายได้ ก็จะหมดปัญหา ไม่ต้องพิจารณาร่างกายอีกต่อไป เหมือนเรียนหนังสือจบแล้ว ก็ต้องขึ้นชั้นที่สูงขึ้น

 

ชั้นต่อไปก็ชั้นของจิต ปล่อยวางร่างกายแล้วก็ไปพิจารณาจิต เพราะกิเลสยังยึดติดกับจิตอยู่ ยังครอบครองจิตอยู่ จิตยังไม่เป็นอิสระ ยังถูกกิเลสครอบงำอยู่ ด้วยมานะ ความถืออัตตาตัวตนอยู่ ก็ต้องเข้าไปพิจารณาจิต กิเลสที่ละเอียดอยู่ในจิต อวิชชาก็อยู่ในจิต มานะก็อยู่ในจิต รูปราคะ อรูปราคะ อุทธัจจะก็อยู่ในจิต เข้าไปพิจารณา ถ้าผ่านร่างกายไปแล้ว ก็จะเข้าไปเอง เพราะไม่รู้จะพิจารณาอะไรแล้ว ร่างกายก็ไม่สนใจแล้ว รูปเสียงกลิ่นรสก็ไม่สนใจ ลาภยศสรรเสริญก็ไม่สนใจ สนใจว่าทำไมจิตที่ละเอียดอย่างนี้ ยังมีความเศร้าหมองอยู่ ทำไมไม่สุขไปตลอดเวลา ทำไมยังมีสุขบ้างไม่สุขบ้าง ทำไมยังถือตัวตนอยู่ ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นกิเลส เป็นไตรลักษณ์ เป็นทุกข์ถ้าไปยึดติดไปหลง พอรู้ทันแล้วก็ปล่อยวางได้หมด พอปล่อยวางได้แล้ว ก็จะไม่มีอะไรเหลือในจิต จิตจะว่าง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ว่างจากกิเลสตัณหา ว่างจากอาสวะ แต่จิตไม่ได้หายไปไหน จิตไม่ได้สูญ คนที่ไม่ได้ปฏิบัติจะไม่เข้าใจ จะคิดว่านิพพานแปลว่าจิตสูญ ไม่ใช่ นิพพานแปลว่าสภาพของจิตที่สูญจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองต่างๆ แต่ตัวรู้นี้ยังอยู่ แต่เป็นตัวรู้ที่บริสุทธิ์ ตัวรู้ที่ฉลาด ตัวรู้ที่ไม่หลง ไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆในโลกนี้

 

นี่คือขั้นของปัญญา เวลาปฏิบัติจะสลับกัน เวลาพิจารณาปัญญา พอเริ่มเป็นอุทธัจจะ เริ่มฟุ้งก็หยุด แล้วก็กลับเข้าไปในสมาธิ ขั้นของพระอริยะก็ยังมีอุทธัจจะ แต่ไม่ใช่อุทธัจจะแบบปุถุชนที่ฟุ้งกับเรื่องต่างๆ เรื่องของคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ อุทธัจจะขั้นวิปัสสนานี่ ฟุ้งเพราะพิจารณาเลยเถิด กำลังของสมาธิอ่อนลงไป ไม่พอที่จะสนับสนุนการเจริญวิปัสสนา การเจริญปัญญาได้ กิเลสที่ละเอียดยังมีอยู่ จึงออกมาทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดอุทธัจจะขึ้นมา ก็ต้องกลับเข้าไปพักในสมาธิก่อน แล้วค่อยออกมาเจริญวิปัสสนาต่อ ต้องทำอย่างนี้การเจริญการปฏิบัติ สมาธิกับปัญญาต้องสลับกันเดิน เหมือนเท้าซ้ายกับเท้าขวา ต้องสลับกันเดิน ถ้ามีเท้าเดียวก็ต้องกระโดดไป ถ้ามีสองเท้าก็สลับกันเดิน การทำงานของสมาธิและปัญญา สมถะและวิปัสสนาเป็นแบบนี้ สนับสนุนกัน สมถะสนับสนุนการเจริญวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นผู้ฆ่ากิเลส ในธรรมก็ทรงแสดงไว้ว่า สมาธิที่ศีลอบรมดีแล้ว มีอานิสงส์มากมีผลมาก ปัญญาที่สมาธิอบรมดีแล้ว มีอานิสงส์มากมีผลมาก จิตที่ปัญญาอบรมดีแล้ว ย่อมหลุดพ้นโดยถ่ายเดียว นี่คือธรรมะที่เกี่ยวข้องกัน ที่สนับสนุนกัน ที่เราไม่สามารถจะเลือกทำเฉพาะส่วนนั้นส่วนนี้ได้

 

เหมือนเรียนหนังสือ จะเลือกเรียนชั้นนั้นชั้นนี้ไม่ได้ เริ่มเรียนก็ต้องเข้าชั้นอนุบาล แล้วค่อยขยับขึ้นชั้นประถม ชั้นมัธยม ชั้นอุดมศึกษาตามลำดับ การปฏิบัติธรรมก็ต้องเริ่มที่ชั้นทานก่อน ต้องให้ทานถ้ามีทรัพย์มากเกินไป เอาไปบริจาค เอาไปแจกจ่าย เอาไปสงเคราะห์โลก ช่วยเหลือผู้ที่มีน้อย เป้าหมายของการให้ทานก็เพื่อตัดกิเลส ที่ไปยึดติดกับสมบัติข้าวของเงินทอง ตัดความโลภอยากได้เงินทอง ถ้าอยากจะได้เงินทองก็เอาเท่าที่จำเป็น แต่ไม่อยากจะรวย ต้องมีทรัพย์ไว้บ้าง สำหรับดูแลอัตภาพชีวิตของเราและของคนที่เกี่ยวข้องกับเรา ไม่ได้อยากมีมากไปกว่านี้ ถ้ามีมากไปกว่านี้ก็จะไม่ยึดติด จะเก็บไว้ก็ไม่เป็นปัญหา จะเอาไปทำประโยชน์ก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม ข้อสำคัญใจอย่าไปพะวักพะวนกับเรื่องเงินทอง จะได้รักษาศีลได้ ถ้ายังโลภยังอยากได้เงินทองอยู่ จะรักษาศีลยาก จะพูดความจริงไม่ได้ สำหรับพวกที่ทำธุรกิจ ต้องมีเหลี่ยมมีเชิง ถ้าไม่โลภอยากได้เงินก็ไม่ต้องมีเหลี่ยมมีเชิง พูดตรงไปตรงมา เพราะไม่ต้องการอะไรจากใคร ถ้ามีศีลก็จะทำให้สมาธิสงบได้ง่าย มีสมาธิก็จะพิจารณาปัญญาได้ มีปัญญาก็ตัดตัณหาได้ ตัดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ ถ้าทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ ไม่นานก็บรรลุได้ จะก้าวไปเรื่อยๆ จะไม่มีปัญหาเลย

 

ปัญหาคือความสับสน ปฏิบัติขั้นนี้แล้วก็กลับไปปฏิบัติขั้นที่ต่ำกว่า เรียนอยู่ชั้นมัธยมแล้วก็กลับมาเรียนชั้นประถมใหม่ นักภาวนาไม่ควรไปสนใจเรื่องทาน เรื่องงานภายนอก ควรปลีกวิเวก ทำงานภายใน อย่างที่หลวงปู่ดุลย์บอกว่า จิตอยู่ข้างในเป็นมรรค จิตออกข้างนอกเป็นสมุทัย ถ้าจิตออกไปทำงานข้างนอก เช่นไปช่วยก่อสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์ สร้างกุฏิ ถึงแม้จะเป็นบุญ แต่เป็นบุญระดับต่ำกว่าการภาวนา บุญระดับทานนี้จะเหมาะกับคนที่ยังไม่เคยทำบุญ คนที่ชอบใช้เงินไปกับการซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ ใช้เงินไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ก็ให้เอาเงินนี้มาทำบุญเสียจะดีกว่า มาสร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างกุฏิ แต่คนที่ภาวนาได้แล้ว ปลีกวิเวกได้แล้ว เดินจงกรม นั่งสมาธิ อยู่ตามลำพังได้แล้ว ก็ไม่ควรออกไปทำงานแบบนั้น ควรจะพุ่งไปที่งานภาวนา เพื่อกำจัดกิเลสตัณหาที่ยังมีอยู่ในใจ ไม่ต้องไปสนใจงานอื่น คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ปล่อยเขาว่าไป เราจะหลุดพ้นหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่คำพูดของคนอื่น อยู่ที่การปฏิบัติของเรา อยู่ที่การปฏิบัติชอบหรือไม่ ปฏิบัติดีหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่คำนินทาสรรเสริญของคนอื่น ใครจะพูดอะไรก็ปล่อยเขาพูดไป ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะรู้ว่าเราไม่ผิด คนอื่นจะว่าเราผิด ก็ปล่อยให้เขาว่าไป แต่เราไม่ผิด เราทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จะผิดได้อย่างไร ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร เพราะไม่ได้ยินได้ฟังคำสอน

 

การได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ จะเป็นคุณเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่เน้นเรื่องการภาวนา ท่านจะหวงลูกศิษย์มาก ไม่ให้ลูกศิษย์ไปทำงานอย่างอื่น หลวงตาหวงพระมาก ไม่ให้ไปทำงานอย่างอื่น ไม่ให้รับกิจนิมนต์ ไม่ให้ทำงานก่อสร้างในวัด ถ้าจำเป็นจริงๆก็ช่วยกันรีบทำให้เสร็จ ไม่ยืดเยื้อ ไม่ทำหามรุ่งหามค่ำ ทำถึงตอนเย็นก็ให้หยุด เพื่อจะได้ไปภาวนาต่อ พอทางวัดมีฐานะดี ก็จะไม่ใช้พระในวัดทำงาน เช่นตอนที่สร้างกำแพงรอบวัด มีผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุน ไม่ต้องใช้พระเณร จ้างชาวบ้านแทน ท่านจะไปดูงานเอง ตอนเช้าฉันเสร็จท่านก็เดินไปดู ตอนบ่ายท่านก็เดินไปดู ตอนเย็นก่อนจะเลิกงานท่านก็เดินไปดู ไม่ให้ทำเลยเถิด ทำเกินเวลา เพราะเสียงจะรบกวนการภาวนา งานศพงานของครูบาอาจารย์ต่างๆ พระเณรในวัดก็ไม่ต้องไป เช่นงานศพของพระอาจารย์สิงห์ทอง ก็ให้พระเถระ ๒ – ๓ รูปไป พระเณรในวัดท่านไม่ให้ออกไปข้างนอก ให้ภาวนาอย่างเดียว ให้ปลีกวิเวก เดินจงกรม นั่งสมาธิ องค์ที่อดอาหารท่านจะเชียร์เต็มที่เลย ถ้ามีช็อกโกแลต ท่านก็จะส่งไปให้

 

นี่คือครูบาอาจารย์ที่เห็นคุณค่าของการภาวนา จะไม่ให้ทำงานอื่น ให้ภาวนาอย่างเดียว สิ่งภายนอกเป็นสมบัติชั่วคราว จะสร้างให้วิเศษขนาดไหนก็เป็นของชั่วคราว ดับกิเลสภายในใจไม่ได้ ไม่ใช่มรรคผลนิพพาน เป็นที่อาศัยหลบแดดหลบฝน เป็นอนุสรณ์สถาน ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ว่าหัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ไหน ถ้าเห็นพระธาตุเจดีย์ก็จะได้พบกับหัวใจของพระศาสนา ได้พบอัฐิของพระพุทธเจ้า อัฐิของพระอรหันต์ จะได้ศึกษาว่า ทำไมอัฐิของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์จึงเป็นพระธาตุ จะได้ปัญญา ได้ความรู้ ได้รู้จักวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้ได้เป็นพระอรหันต์ ให้ได้เป็นพระพุทธเจ้า นี่คือเจตนาของการสร้างพระเจดีย์ เป็นเหมือนป้ายบอกทางให้ผู้ที่มาทีหลัง เวลาเห็นเจดีย์ก็อาจจะอยากรู้ว่า สร้างไว้เพื่ออะไร

 

ให้ดูว่าเรากำลังปฏิบัติอยู่ขั้นไหน ต้องปฏิบัติขั้นที่เหมาะกับตนเอง เพราะภูมิจิตภูมิธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สมัยที่เราอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด พระเณรบางองค์หลวงตาก็ปล่อยให้ทำงาน บางองค์ก็ไม่ให้ทำ ท่านจะดูว่าแต่ละองค์จะเหมาะกับงานชนิดไหน ถ้าองค์ไหนภาวนาเป็น ชอบภาวนา ท่านก็จะไม่ให้ทำงานก่อสร้าง ถ้าภาวนาไม่เป็น ท่านก็ปล่อยให้ทำงานก่อสร้าง ทำงานภายนอกไปก่อน จะได้ความเพียร ไม่ขี้เกียจ ไม่กินแล้วนอน ท่านจะปฏิบัติต่อพระเณรไม่เหมือนกัน ท่านดูความสามารถของแต่ละองค์ พวกเราก็ต้องดูตัวเรา ว่ามีความสามารถในการปฏิบัติธรรมขั้นไหน ก็ต้องปฏิบัติขั้นนั้นไป แล้วก็พัฒนาขึ้นไปตามลำดับ ถ้ายังชอบทำบุญให้ทาน ชอบไปงานบุญต่างๆ ก็ต้องพัฒนาขึ้นสู่การรักษาศีล เวลาทำบุญก็ทำให้เพื่อตัดความโลภอยากได้ ไม่อยากร่ำรวย ไม่อยากจะมีเงินทองมาก อยากจะเป็นอิสระจากเงินทอง ไม่ต้องใช้เงินทอง อยู่แบบสมถะ ถ้าไม่โลภอยากได้เงิน ก็จะใช้เงินเท่าที่จำเป็น ถ้ายังโลภอยากใช้เงินซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ ซื้อความสุขต่างๆ ก็จะทำบุญยาก ถ้าทำบุญก็ทำผิด ทำบุญเพื่อให้รวยขึ้น การทำบุญนี้ ทำเพื่อให้ใจเป็นอิสระ จากการเป็นทาสของเงิน

 

สตินี้สำคัญที่สุด ถ้ามีสติควบคุมความคิดได้ จะควบคุมกิเลสได้ ต้องมุ่งไปที่การเจริญสติเป็นหลัก ให้ใจอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ อย่าไปคิดถึงคนโน้นคนนี้ ใครจะทำอะไรก็ปล่อยให้เขาทำไป ไม่ต้องสนใจ ต้องปลีกวิเวก ถ้าอยู่ใกล้คนจะเจริญสติยาก เดี๋ยวคนนั้นคนนี้ก็จะดึงใจเราไป เห็นเขาก็อดที่จะคิดไม่ได้ ใจก็ลอยไปแล้ว ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ก็อย่ามองข้ามสติ สตินี้สำคัญที่สุดในธรรมทั้งปวง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สติเป็นเหมือนรอยเท้าช้าง ที่ใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ทั้งหมด ใหญ่กว่าปัญญา ใหญ่กว่าสมาธิ ใหญ่กว่าวิริยะ ใหญ่กว่าขันติ ถ้าไม่มีสติ ธรรมเหล่านี้จะเกิดไม่ได้ อย่ามองข้ามสติไปเป็นอันขาด