กัณฑ์ที่ ๔๔๕ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๕
พระธุดงค์
สิ่งแวดล้อมหรือสภาพแวดล้อมที่เราอยู่นี้ มีผลต่อความรู้สึก ถ้าอยู่ที่สุขที่สบายก็จะไม่มีปัญหา ไม่มีอะไรกระตุ้นให้ปรับใจ ถ้าอยู่ที่เคยชินใจจะไม่เดือดร้อน ถ้าอยู่ที่ไม่เคยชิน ที่ยากลำบาก ใจจะเดือดร้อน จะอยากอยู่แบบสภาพเดิม พระธุดงค์จึงต้องย้ายที่ปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ พอเกิดความเคยชิน เช่นไม่กลัว ก็จะเปลี่ยนที่ใหม่ เพื่อดูว่ายังมีความกลัวหรือไม่ เวลาอยู่ที่เคยชินแล้ว จะรู้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัว ก็ต้องไปหาที่ใหม่ที่น่ากลัว ถ้ายังมีความกลัวอยู่ก็ยังต้องแก้ ถ้าไม่กลัว รู้สึกเฉยๆ แก้ความกลัวได้แล้ว จะเปลี่ยนที่ก็ได้ ไม่เปลี่ยนก็ได้ ถ้าความกลัวหายไปด้วยปัญญาด้วยการปฏิบัติ ก็จะหายอย่างถาวร ถ้าหายด้วยความเคยชิน ก็จะไม่หายอย่างถาวร ถ้าหายด้วยการพิจารณา ความไม่เที่ยงของร่างกาย ว่าเกิดมาแล้วก็ต้องตาย เวลาเกิดความกลัวมากๆจะทุกข์มาก ก็ต้องพิจารณาว่าร่างกายต้องตาย ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องยอมตาย ยอมรับความจริง ถ้ายอมรับความจริง ความกลัวก็จะหายไป จิตจะดิ่งเข้าสู่ความสงบ ปล่อยวางร่างกายได้ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่ต้องไปหาที่น่ากลัวอยู่ ถ้าหายกลัวเพราะความเคยชิน หรือการนั่งสมาธิ เวลาจิตสงบ ความกลัวก็จะหายไป แต่จะไม่หายอย่างถาวร เพราะไม่ได้ใช้ปัญญา
ถ้าไม่ได้ใช้ปัญญา ก็จะไม่เห็นสัจธรรมความจริง ไม่เห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าความกลัวเป็นความทุกข์ เกิดจากความไม่ยอมรับความตายของร่างกาย ไม่ยอมรับอนิจจัง ไม่ยอมรับว่าร่างกายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ยังคิดว่าเป็นตัวเราของเราอยู่ จึงไม่ต้องการให้ร่างกายตายไป ถ้าไม่เห็นด้วยปัญญา ไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ก็ยังจะกลัวอยู่ พอย้ายไปอยู่ที่ใหม่ก็จะเกิดความกลัวขึ้นมาใหม่ ถ้าใช้สมาธิแก้ความกลัวก็จะกลัวไปเรื่อยๆ เพราะไม่ได้แก้ความกลัวด้วยปัญญา ต้นเหตุของความกลัวก็คือความหลง ไม่เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ไม่เห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง มีการเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ไม่เห็นทุกข์ที่เกิดจากการอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ถ้าพิจารณาว่าร่างกายเป็นไตรลักษณ์อยู่เรื่อยๆ ก็จะมีปัญญาดับความกลัว เวลาเกิดความกลัวขึ้นมา
เวลาไปอยู่สถานที่ที่น่ากลัว เผชิญกับสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ก็มีวิธีดับความกลัวอยู่ ๒ วิธีคือ ๑. สมาธิ ๒. ปัญญา ถ้าจะใช้สมาธิก็บริกรรมพุทโธไป ถ้าใช้ปัญญาก็พิจารณาว่าร่างกายไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป ถ้าจะตายก็ปล่อยให้ตายไป ถ้าปล่อยได้ ก็จะละวิภวตัณหา ต้นเหตุของความทุกข์ใจ ของความกลัว คือความอยากไม่ตายได้ พอปล่อยวางได้ ละวิภวตัณหาได้ ความทุกข์ก็จะหายไป นิโรธก็จะปรากฏเกิดขึ้นมา ความดับทุกข์ก็คือนิโรธ เกิดจากมรรค ก็คือสติปัญญา ที่เห็นว่าร่างกายเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา นี่คือการใช้ปัญญา ใช้มรรคดับความทุกข์ ดับความกลัว พอความทุกข์ความกลัวดับไปแล้ว ก็จะไม่มีอะไรต้องกลัว เพราะต้นเหตุของความกลัวไม่ได้อยู่ที่ภัยข้างนอก แต่อยู่ที่ความหลง ที่ไม่เห็นว่าร่างกายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผู้ที่กล้าไปอยู่ตามสถานที่ที่น่ากลัวแสดงว่ามีธรรมะ มีสติสมาธิปัญญาพอที่จะข่มความกลัวได้
ผู้ปฏิบัติจึงต้องหาสถานที่ที่ยากลำบาก ที่จะบังคับให้ใช้ธรรมะแก้ปัญหา ที่มีอยู่ ๒ ส่วนคือ ๑. ปัญหาภายนอก ๒. ปัญหาภายใน ปัญหาที่อยู่ภายนอกคือความทุกข์ยากลำบาก เช่นไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ต้องใช้น้ำบ่อ ใช้น้ำในลำธาร ใช้น้ำฝนที่มีไม่มาก ต้องประหยัด ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่มีไฟฟ้าตอนค่ำคืนก็จะมืด จะรู้สึกน่ากลัว จะไม่สบายใจ ก็ต้องแก้ที่ใจ เพราะเลือกไปอยู่เอง เพื่อจะได้ผลิตปัญหาผลิตข้อสอบให้กับใจ การไปอยู่ที่ยากลำบากจึงเหมือนกับการเข้าห้องสอบ จะทำข้อสอบได้ ก็ต้องปรับใจให้อยู่อย่างปกติสุข เหมือนกับเวลาอยู่ที่บ้านที่ปลอดภัย มีน้ำมีไฟที่สะดวก อาหารการกินก็สะดวก พอไปอยู่ที่อัตคัดขัดสน มีภัยรอบด้าน ใจจะปั่นป่วน จะหวาดผวา ก็ต้องใช้ธรรมะ คือสติสมาธิปัญญา เข้ามาควบคุมใจ ถ้าไม่มีสติสมาธิปัญญา ก็จะทนอยู่ไม่ได้ จะทุกข์ทรมานใจ จนไม่อยากจะอยู่ ถ้าไม่ไปอยู่ที่อัตคัดขัดสน การปฏิบัติก็จะไม่เจริญก้าวหน้า จะไม่รู้ว่าสอบผ่านหรือไม่ ถ้าปฏิบัติอยู่ในสถานที่ที่สะดวกสบายปลอดภัย ก็ยังไม่ได้เข้าห้องสอบ ยังจะไม่รู้ว่าเวลาเข้าห้องสอบ เช่นเวลาใกล้ตาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาไม่สามารถพึ่งร่างกายให้ความสุขได้ จะทำใจให้สงบ ไม่ให้เดือดร้อนกับความเจ็บไข้ได้ป่วย กับความตายของร่างกายได้หรือไม่
จึงต้องซ้อมรับสถานการณ์ ต้องเตรียมตัวไว้ก่อน ต้องทำการบ้าน ต้องฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ ที่จะสอนวิธีแก้ปัญหาใจ เช่นความกลัวตาย กลัวเจ็บ เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็ต้องซ้อม ต้องทำการบ้าน พิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย พอพร้อมแล้วก็ต้องเข้าห้องสอบ ห้องสอบของความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็คือการนั่งภาวนานานๆหลายชั่วโมง เวลาเจ็บก็ไม่ต้องลุกไม่ต้องขยับ ใช้สติสมาธิปัญญาทำใจให้สงบ ถ้าใจสงบความเจ็บปวดของร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะไม่รุนแรง ที่รุนแรงคือความทุกข์ใจ ที่เกิดจากความกลัวความเจ็บของร่างกาย ความอยากให้ความเจ็บหายไป ความอยากหนีจากความเจ็บไป จะทำให้ใจปั่นป่วน ถ้าไม่มีสติสมาธิปัญญา ก็จะทนนั่งไม่ได้ จะต้องขยับ เปลี่ยนอิริยาบถ ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา ก็จะควบคุมใจให้สงบได้ ขั้นต้นก็ต้องใช้สมาธิคุมไปก่อน เพราะก่อนที่จะใช้ปัญญาได้ต้องมีสมาธิก่อน
เวลาเกิดความเจ็บปวด ก็บริกรรมพุทโธๆไป หรือสวดมนต์ไป สวดบทไหนก็ได้ ให้ใจมีงานทำ จะได้ไม่คิดถึงความเจ็บ ไม่คิดอยากให้ความเจ็บหาย ไม่คิดอยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ พอใจมีงานทำ ใจจะไม่มีโอกาสผลิตสมุทัย คือความอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ความทุกข์ใจที่รุนแรงกว่าความทุกข์ของร่างกายหลายสิบเท่า ก็จะไม่เกิด พอไม่มีความเจ็บทางใจ ความเจ็บทางร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา เวลาหมอบอกว่าจะฉีดยา ถ้าใจไม่มีสติปัญญาสมาธิคอยควบคุม ก็จะทุกข์ไปก่อนแล้ว ถ้ากลัวมากๆก็จะไม่ยอมฉีดเลย เช่นเด็กที่กลัวเข็มฉีดยา จะร้องไห้ไม่ยอมให้ฉีด ถ้ามีสติสมาธิปัญญา เวลาหมอบอกว่าจะฉีดยา ฟังแล้วก็จะรู้สึกเฉยๆ ดูความจริงไป ตอนนี้ยังไม่ได้ฉีด ยังไม่เจ็บ จะกลัวไปทำไม เวลาฉีดจริงๆ ก็ไม่ได้เจ็บอย่างที่กลัว เพราะความเจ็บของร่างกายไม่รุนแรง เหมือนกับความเจ็บของใจ ที่เกิดจากความกลัว ความอยากไม่ให้ร่างกายเจ็บ นี่คือการทำการบ้านและการเข้าห้องสอบของความเจ็บ ที่เราใช้บ้านเป็นห้องสอบได้ เช่นนั่งแล้วไม่ลุก ปล่อยให้เจ็บไป ใช้สติใช้สมาธิแก้ไปก่อน พอใจสงบใจจะไม่เดือดร้อน ไม่สนใจกับความเจ็บของร่างกาย ร่างกายจะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป
พอมีสมาธิแล้ว ขั้นต่อไปก็ใช้ปัญญา เวลานั่งแล้วเจ็บก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่า ความเจ็บเป็นสิ่งที่เราจะต้องเผชิญ ตราบใดที่เรายังมีร่างกายอยู่ เพราะร่างกายต้องมีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถรับรู้หรือเผชิญได้ ถ้ามีปัญญาสอนใจไม่ให้กลัวความเจ็บ ไม่ให้ไปอยากให้ความเจ็บหายไป ให้เห็นอริยสัจ ๔ ว่าความทุกข์ใจนี้เกิดจากความอยากให้ความเจ็บหายไป ความกลัวความเจ็บ ถ้าหยุดความอยากนี้ได้ ทำใจให้เฉยๆได้ ใจก็จะไม่วุ่นวายกับความเจ็บของร่างกาย ร่างกายจะเจ็บก็ปล่อยให้เจ็บไป จะหายหรือไม่ก็จะไม่เดือดร้อน ปล่อยเขาไป เดี๋ยวก็หายเอง ไม่ช้าก็เร็ว ถ้าไม่หายตอนเป็นก็จะหายตอนตาย เวลาร่างกายหยุดหายใจ ความเจ็บก็จะหายไป เวลาเผาคนตายจะไม่มีอาการเจ็บ ร่างกายจะไม่แสดงอาการเจ็บให้เห็น เพราะใจไม่รับรู้ร่างกายแล้ว ใจได้แยกออกจากร่างกายไปแล้ว คนตายไม่มีใจเหลืออยู่แล้ว ใครจะทำอะไรกับร่างกายก็จะไม่มีการสะดุ้งหวาดผวา เพราะใจไม่ได้อยู่กับร่างกายแล้ว ตัดขาดจากร่างกายไปแล้ว
ถ้ามีสติสมาธิปัญญาจะสามารถตัดขาดจากร่างกายได้ ในขณะที่ร่างกายยังไม่ตาย ด้วยการตัดอุปาทาน ตัดความหลง ที่คิดว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา ความเจ็บเป็นของเรา ที่คิดว่าเที่ยง แต่ความจริงมันไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา เราไม่ต้องทำอะไร ปล่อยไปตามความจริงทำใจให้นิ่ง ใจดีสู้เสือ ทำใจให้เป็นอุเบกขา เพราะเป็นวิธีเดียวของใจ ที่จะเผชิญกับความแก่เจ็บตายของร่างกายได้ เผชิญกับความเสื่อมของทุกสิ่งทุกอย่างได้ อย่างไม่มีโทษ ไม่มีภัย ไม่มีปัญหา เพราะเวลาใจสงบนิ่งเป็นกลางแล้ว จะไม่เดือดร้อน ที่เดือดร้อนก็เพราะใจไปเดือดร้อนเอง กระสับกระส่ายกระวนกระวาย หวาดกลัวกับสิ่งต่างๆเอง ถ้าหยุดอาการเหล่านี้ได้ ใจก็จะเย็นสบาย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เวลาไม่มีเหตุการณ์ใจเป็นปกติเย็นสบาย แต่พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ใจก็จะปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมา เพราะไม่มีเครื่องมือรักษาใจ ให้นิ่งสงบ ให้เป็นปกติ จึงต้องไปหาเหตุการณ์ที่ทำให้ใจปั่นป่วนวุ่นวาย เพื่อจะได้ผลิตธรรมะมารักษาใจให้นิ่งสงบ ให้เป็นปกติ เหมือนเวลาที่ไม่มีเหตุการณ์
เป็นเหมือนการฉีดวัคซีน เพื่อไปกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงาน พอมีเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย ร่างกายก็จะต้องผลิตเครื่องมือมาต่อสู้กับเชื้อโรค ถ้าเชื้อโรคมีจำนวนไม่มาก ร่างกายก็จะผลิตภูมิคุ้มกันต่อต้านโรคได้ พอมีเชื้อโรคเข้ามาเป็นจำนวนมาก ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะร่างกายได้ผลิตภูมิคุ้มกันโรคไว้แล้ว การไปอยู่ตามสถานที่ที่ทุกข์ยากลำบาก เต็มไปด้วยภัยต่างๆ ก็เป็นการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของใจทำงาน กระตุ้นให้เกิดสติสมาธิปัญญา อุบายต่างๆที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนท่านปฏิบัติ เช่นให้นั่งสมาธินานๆ ครั้งละ ๔ - ๕ ชั่วโมงนี้ ก็เป็นการกระตุ้นสติสมาธิปัญญาให้ทำงาน ถ้าไม่มีสติสมาธิปัญญา จะทนนั่งไม่ได้ เช่นเดียวกับการไปอยู่ตามสถานที่ที่น่ากลัว หรืออดอาหาร หรือถืออิริยาบถ ๓ ที่เรียกว่าเนสัชชิก ก็เป็นการกระตุ้นให้ใจสร้างภูมิคุ้มกันความทุกข์ขึ้นมา สร้างสติสมาธิปัญญา เพื่อดับความทุกข์ความวุ่นวายใจ
นักปฏิบัติที่ต้องการการหลุดพ้นจากความทุกข์ การบรรลุมรรคผลนิพพาน จึงต้องกล้าไปอยู่ตามสถานที่อัตคัดขัดสน ที่มีภัยรอบด้าน เพื่อจะได้กระตุ้นมรรคคือภูมิคุ้มกันความทุกข์ใจ ที่จะเกิดจากเชื้อโรคคือตัณหาความอยาก กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา พอกระตุ้นมรรคขึ้นมา ปลุกสติสมาธิปัญญาขึ้นมา ก็จะมีอาวุธไว้ต่อสู้กับเชื้อโรคของใจ ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ จะสามารถฆ่าเชื้อโรคที่ผลิตความทุกข์ใจ ก็คือความอยากต่างๆ ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ใจก็จะสงบเย็นสบาย สถานที่ที่อัตคัดขัดสนก็จะไม่เป็นปัญหาต่อไป ตอนต้นเวลาไปก็เหมือนว่าจะไปตกนรก แต่พอแก้ปัญหาได้แล้ว สถานที่ตรงนั้นกลับกลายเป็นสวรรค์ไป เพราะเป็นสถานที่ที่ไม่วุ่นวาย ไม่มีเรื่องวุ่นวายต่างๆเหมือนที่บ้าน ที่เราคิดว่าเป็นสวรรค์ แต่ความจริงเป็นนรก มีแต่เรื่องวุ่นวายตลอดเวลา
นี่คือเรื่องของการปฏิบัติ ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ขั้นตอนแรกก็ต้องศึกษาก่อน ให้รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วก็ซ้อมไปก่อน ทำการบ้านไปก่อน ทำที่บ้านไปก่อน เมื่อทำได้เต็มที่แล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องออกไปหาสถานที่เพื่อดับความกลัว อยู่ที่บ้านไม่มีอะไรทำให้เกิดความกลัว ไม่มีอะไรกระตุ้นให้เกิดสติปัญญา ที่จะดับความกลัว ก็ต้องไปหาสถานที่ที่ทำให้เกิดความกลัว เพื่อจะได้ใช้สติสมาธิปัญญาแก้ความกลัว ความทุกข์บางอย่างเราก็สามารถทำที่บ้านได้ เช่นอดอาหาร นั่งอยู่กับที่นานๆ จะนั่งแบบสบายไปก่อนก็ได้ ก็นั่งเก้าอี้ไป ขั้นต่อไปค่อยนั่งขัดสมาธิ ขึ้นอยู่กับกำลังของสติสมาธิปัญญาที่มีอยู่ ถ้ามีน้อยตอนต้นก็นั่งแบบสบายไปก่อน นั่งเก้าอี้ห้อยเท้าไป แต่ไม่ลุกไปไหนสัก ๔ - ๕ ชั่วโมง แล้วก็ใช้สติสมาธิปัญญาดับความปั่นป่วน ดับความอยากที่จะลุกจากที่นั่งไป
การอดอาหารก็เป็นการสร้างความทุกข์ ความปั่นป่วนใจได้เหมือนกัน เวลาหิวใจจะคิดฟุ้งซ่าน คิดอยากจะรับประทานอาหาร ถ้าไม่ดับความอยากก็จะทนไม่ได้ จะต้องไปหาอะไรมารับประทาน จะอยู่สบายๆเหมือนเวลารับประทานอาหารไม่ได้ เพราะความหิวจะเป็นตัวปัญหา ก็ต้องใช้สติสมาธิปัญญามาดับมัน เช่นนั่งสมาธิทำใจให้สงบ ก็จะได้สมาธิ ถ้าออกจากสมาธิแล้วยังหิว ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าความหิวเป็นความเจ็บของร่างกาย เป็นเวทนา เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ที่เราไม่สามารถสั่งไม่ให้หิวได้ ถ้าไม่กลัวความหิว ความทุกข์ก็จะไม่เกิด ความทุกข์ที่เกิดจากความกลัวความหิวนี้ รุนแรงกว่าความหิวของร่างกาย ความหิวของร่างกายไม่รุนแรงเท่ากับความทุกข์ใจ พอดับความทุกข์ใจได้ ความหิวของร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา เช่นพระพุทธเจ้าทรงอดพระกระยาหารได้ถึง ๔๙ วัน เพราะมีสมาธิ แต่ตอนนั้นไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ไม่รู้จักไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา จึงไม่สามารถกำจัดความทุกข์ใจที่เกิดจากความหิวได้อย่างถาวร กำจัดได้เฉพาะช่วงที่เข้าสมาธิ พอออกจากสมาธิมา ความหิวความทุกข์ใจก็ปรากฏตามมา เพราะความอยากให้ความหิวหายไป ความอยากรับประทานอาหารเพื่อดับความหิว
ถ้าพระองค์ทรงเจริญปัญญา พิจารณาว่าความหิวคือทุกขเวทนาทางร่างกายนี้ เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง มีการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ไม่ใช่เป็นตัวปัญหา ตัวปัญหาคือความอยากให้ความหิวหายไป ถ้าอยู่กับความหิวได้ก็ไม่ต้องรับประทานอาหารก็ได้ ถ้าอยู่กับความหิวไม่ได้ก็ต้องหาวิธีดับความหิว ก็จะดับด้วยการรับประทานอาหาร ก็จะดับได้ชั่วคราว อีก ๔ - ๕ ชั่วโมงก็จะหิวอีก ถ้าดับความกลัวความหิวได้ เวลาหิวจะรับประทานก็ได้ ไม่รับประทานก็ได้ ไม่เป็นปัญหา ถ้ารับประทานก็ไม่ได้รับประทานเพราะกลัวความหิว หรือความอยากจะดับความหิว รับประทานเพื่อดูแลร่างกาย เหมือนรับประทานยาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ไม่ได้รับประทานเพราะกลัวความหิว ถ้าไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ไม่รับประทานยาก็ได้ ถ้าร่างกายจะตายก็รับความตายได้ รับความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ รับความหิวได้ ถ้ามีสติสมาธิปัญญา จะไม่เดือดร้อนกับความแก่เจ็บตาย นี่คือวิธีแก้ปัญหา ต้องรู้ว่าอะไรคือปัญหา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วว่า ปัญหาก็คือการเกิดแก่เจ็บตาย อุปาทานในขันธ์ ๕ การยึดติดกับร่างกายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ต้องปล่อยวางร่างกาย เวทนาก็ต้องปล่อย เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณมาเป็นพวง ถ้าปล่อยเวทนาได้ก็จะปล่อยสัญญาสังขารวิญญาณด้วย เวทนาก็คือความเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกาย ความหิวของร่างกาย
ต้องใช้วิธีนี้ ต้องรับความจริงคือทุกขสัจ ความแก่เจ็บตาย ความไม่เที่ยง ความไม่มีตัวตนของขันธ์ ๕ ถ้าไปยึดไปติดขันธ์ ๕ ใจก็จะทุกข์ ถ้าไม่ยึดไม่ติด ปล่อยวางขันธ์ ๕ ใจก็จะไม่ทุกข์ เวลาเกิดทุกขเวทนา เกิดสุขเวทนา เกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนา ก็รู้เฉยๆ ร่างกายจะตายก็รู้เฉยๆ ร่างกายยังอยู่ก็รู้เฉยๆ ปัญหาของพวกเราก็คือ รู้เฉยๆไม่ได้ ชอบจัดการขันธ์ ๕ อยู่เรื่อย อยากให้ร่างกายอยู่ไปนานๆ ไม่อยากให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย ก็อยากจะให้หายไปทันที ซึ่งบางทีก็ทำได้ บางทีก็ทำไม่ได้ เช่นร้อนมากๆ ก็เปิดเครื่องปรับอากาศ ก็หายร้อนได้ แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ คือกลัวความร้อน กลัวความทุกข์ยากลำบาก ถ้าแก้ความกลัวทุกข์ยากลำบากได้ ก็ไม่ต้องแก้ปลายเหตุ ไม่ต้องติดเครื่องปรับอากาศ ไม่ต้องทำอะไรต่างๆ ถ้าแก้ที่ต้นเหตุคือใจ คือตัณหาได้ ที่อยากจะให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แก้ตรงนี้ได้แล้วก็จะหมดปัญหา
ต้องพิจารณาอยู่เสมอว่าตอนนี้กำลังปฏิบัติอยู่ที่ขั้นไหน อยู่ในขั้นศึกษา อยู่ในขั้นทำการบ้าน หรือกำลังเข้าห้องสอบ ถ้าไม่เข้าห้องสอบก็จะไม่รู้ว่าสอบผ่านหรือไม่ ได้รับปริญญาหรือไม่ ได้เลื่อนชั้นหรือไม่ ชั้นเรียนของพระพุทธศาสนาก็มีอยู่ ๔ ชั้นคือ ๑. ชั้นโสดาบัน ๒. ชั้นสกิทาคามี ๓. ชั้นอนาคามี ๔. ชั้นอรหันต์ ก่อนจะเข้าห้องสอบ ก็ต้องทำการบ้านก่อน ก่อนจะทำการบ้าน ก็ต้องศึกษาก่อน ต้องเข้าหาครูบาอาจารย์ ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านก่อน ฟังแล้วก็ไปทำการบ้าน พอพร้อมจะเข้าห้องสอบก็ไปสมัครสอบ เมื่อเช้านี้มีญาติโยม เอาภาพของลูกชายมาให้ดู บอกว่าจะสอบเข้าวิศวฯจุฬาฯ ขอความเมตตา เราบอกเขาไปว่าสอบเป็นพระอรหันต์จะง่ายกว่า เพราะสมัครเท่าไหร่ก็รับเท่านั้น สอบจุฬาฯนี่ สมัคร ๑๐๐๐ คน แต่รับเพียง ๑๐๐ คน จะเก่งทั้ง ๑๐๐๐ คนก็รับได้เพียง ๑๐๐ คนเท่านั้น ถ้าสมัครเป็นพระอรหันต์ ๑๐๐๐ คน ก็จะได้เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐๐ คน ไม่จำกัดจำนวน มีโอกาสเป็นพระอรหันต์กันทุกคน
ถาม คนที่เจ็บป่วยทรมานทั้งกายและใจ เวลาตายไปในขณะที่จิตยังไม่สามารถที่จะปล่อยวางได้ ความเจ็บที่ร่างกาย จะติดจิตไปไหมครับ
ตอบ ไม่ติด ความเจ็บของจิตก็เป็นความเจ็บของจิต ความเจ็บของร่างกายก็เป็นของร่างกาย
ถาม เพราะฉะนั้นความเจ็บของร่างกายก็ขาดออกไปจากจิต เหลือแต่ความเจ็บที่อยู่ในจิต
ตอบ ความเจ็บที่อยู่ในจิตเกิดจากกิเลส เกิดจากภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้าไม่มีสติสมาธิปัญญามาตัด ก็ยังจะมีอยู่
ถาม แต่ถ้าปล่อยวางความเจ็บไม่ได้
ตอบ ความเจ็บเป็นเหมือนโรค ความเจ็บกายก็เป็นโรคหนึ่ง ความเจ็บใจก็เป็นอีกโรคหนึ่ง ถ้ากินยาของใจคือธรรมโอสถ ก็จะรักษาความเจ็บของใจ ถ้าไม่กินยารักษาความเจ็บของร่างกาย ความเจ็บของร่างกายก็ยังจะมีอยู่ เป็นคน ๒ คน ไม่เกี่ยวข้องกัน ความเจ็บของคนหนึ่งหายไป ไม่ได้ทำให้ความเจ็บของอีกคนหนึ่งหายตามไปด้วย ความเจ็บของร่างกายก็ต้องใช้ยารักษาโรคของร่างกาย ความเจ็บของใจก็ต้องใช้ธรรมโอสถรักษา เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดคนป่วย ก็เป็นการเอาธรรมโอสถมารักษาใจ ความเจ็บทางใจนี้รุนแรงกว่าความเจ็บทางร่างกายถึง ๑๐ เท่า พอความเจ็บทางใจดับไป ใจก็สามารถสั่งให้ร่างกายลุกขึ้นมาทำอะไรได้ แต่ความเจ็บของร่างกายก็ยังมีอยู่ แต่ไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความเจ็บทางใจ ใจจะทุกข์มาก ไม่อยากจะทำอะไร พอดับความทุกข์ทรมานใจได้ ใจจะกระปรี้กระเปร่าสดชื่นเบิกบาน ก็จะสั่งให้ร่างกายทำอะไรได้ เพราะใจเป็นใหญ่ ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ใจเป็นผู้สั่ง ถ้าใจไม่สั่ง ร่างกายถึงแม้ยังทำอะไรได้อยู่ ก็เหมือนกับทำไม่ได้ พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงโพชฌงค์เสร็จ คนป่วยก็หายเป็นปลิดทิ้ง แต่หายทางใจ ความเจ็บของร่างกายก็ยังมีอยู่ แต่ไม่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะความเจ็บของทางร่างกายมีเพียงเสี้ยวเดียว ถ้าเปรียบเทียบกับความเจ็บของทางใจ ก็เป็น ๑๐ ต่อ ๑ พอความเจ็บที่รุนแรงคือความเจ็บของใจหายไปหมดแล้ว ความเจ็บของร่างกายก็จะไม่เป็นปัญหา
ถาม เวลาคนที่ป่วยหนัก จะชอบให้สวดโพชฌงค์ แสดงว่าต้องการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามารักษาใจ ให้ผู้ป่วยปล่อยวาง
ตอบ แต่ไม่คิดอย่างนั้นกัน จะคิดว่าสวดเพื่อรักษาร่างกาย เพราะอยากจะให้ร่างกายหาย ความจริงการสวดนี้ก็จะไม่รักษาโรคใจให้หายได้อย่างถาวร เพราะเป็นการทำใจให้สงบเป็นสมาธิ ก็จะรักษาได้ชั่วคราว ไม่หายอย่างถาวร ถ้าจะให้หายอย่างถาวรก็ต้องใช้ปัญญา ต้องไม่กลัวความเจ็บของร่างกาย เหมือนคนที่ฮึดสู้ ถึงแม้จะถูกยิงแล้ว แต่ใจยังสู้อยู่ ยังสั่งให้ร่างกายลุยต่อไปได้ ถ้าใจไม่สู้ ถึงแม้ร่างกายจะแข็งแรงก็จะไม่สู้ ต้องแยกประเด็น คือความเจ็บของร่างกายออกจากความเจ็บของใจ ถ้าความเจ็บของใจหายไป แต่ความเจ็บของร่างกายไม่หาย ก็จะไม่เป็นปัญหา บางทีความเจ็บของใจหายไป ความเจ็บของร่างกายก็หายตามไปด้วยก็มี ถ้าความเจ็บของร่างกาย เกิดจากความเจ็บของใจ เวลาใจเครียดก็ทำให้ร่างกายปั่นป่วน เกิดความเจ็บทางร่างกาย พอใจหายเครียดความเจ็บทางร่างกายก็หายไปด้วย
เวลานั่งสมาธิแล้วเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา ถ้าบริกรรมพุทโธๆไปจนใจสงบ ความเจ็บของใจที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกายก็จะหายไป จะรู้สึกว่าไม่เจ็บมาก เวลาร่างกายเจ็บแล้วเกิดความกลัวขึ้นมา จะรู้สึกเจ็บมาก เพราะใจไปขยายความเจ็บขึ้นมาเอง เหมือนเอาแว่นขยายไปขยาย จะรู้สึกว่าเจ็บมาก แต่พอใจสงบ จะเจ็บเพียงนิดเดียวหรือไม่เจ็บเลย ความเจ็บของร่างกายจึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแก้ สิ่งที่ต้องแก้คือความเจ็บของใจ ที่เกิดจากความกลัวความเจ็บของร่างกาย หรือกลัวความตาย ต้องแก้วิภวตัณหา คือความอยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย พอไม่มีความอยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายแล้ว ก็จะไม่เดือดร้อนกับความเจ็บกับความตายของร่างกาย จะอยู่อย่างสบาย เจ็บไข้ได้ป่วยถ้ารักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็อยู่กับมันไป ความตายก็เหมือนกัน เมื่อถึงเวลาตายก็ห้ามไม่ได้ จะตายก็ปล่อยให้ตายไป ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย จะไปกลัวทำไม ใจไปหลงคิดว่าใจเป็นร่างกาย ถ้าแก้ความหลงได้ ว่าใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจจะไม่วุ่นวายไปกับความตายของร่างกาย เหมือนกับเวลาหลงรักใคร เวลาเขาตายไปเราก็จะวุ่นวายไปกับความตายของเขา ถ้าเราไม่ชอบเขา เราจะวุ่นวายไหม เขาตายเรากลับดีใจเสียอีก อย่าไปชอบร่างกาย มองร่างกายเหมือนกับมองคนที่เราเกลียด เวลาร่างกายเป็นอะไรไป จะได้ไม่ทุกข์ใจ
สิ่งที่เราขาดกันก็คือเครื่องมือแก้ความกลัว ที่เกิดจากความอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ก็คือมรรค มรรคที่ขาดกันมากก็คือสติสมาธิปัญญา ศีลกับทานพอมีกัน ทำทานรักษาศีลกันอยู่เสมอ แต่ไม่ค่อยได้บำเพ็ญภาวนา คือการเจริญสติสมาธิปัญญา ซึ่งเป็นองค์ประกอบของมรรคที่สำคัญ ถ้าเป็นยาก็เป็นส่วนประกอบสำคัญของยา ทานกับศีลเป็นส่วนสนับสนุนสติสมาธิปัญญา ที่เป็นส่วนสำคัญ จึงควรพิจารณาดูว่ากำลังขาดส่วนไหน ยาที่ใช้รักษาโรคใจนี้ ขาดอะไรอยู่ ทานเราขาดหรือไม่ ศีลเราขาดหรือไม่ สติสมาธิปัญญาเราขาดหรือไม่ อย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินสูตร จะไม่เป็นประโยชน์ เช่นทาน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ศีล ๕ เปอร์เซ็นต์ สติสมาธิปัญญา ๕ เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ก็จะไม่สามารถรักษาโรคใจได้ ต้องเป็นไปตามสูตร ทานก็ทำเท่าที่มี ไม่ยึดติด ไม่โลภอยากได้สมบัติข้าวของเงินทอง ก็ถือว่าได้ทำทานครบสูตรแล้ว ศีลก็รักษา ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ไป ก็จะได้ศีลเต็มสูตรแล้ว สติก็ต้องเจริญทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ควบคุมความคิดไม่ให้ลอยไปลอยมา แล้วก็นั่งให้มาก ต้องตัดภารกิจการงานต่างๆไป ถ้ายังทำงานอยู่ก็ควรลาออก อยู่คนเดียว อยู่วัดก็ได้ อยู่บ้านก็ได้ ทำงานเท่าที่จำเป็น เช่นกวาดบ้านถูบ้านซักเสื้อผ้า หาอาหารมารับประทาน จะได้มีเวลานั่งสมาธิมาก เดินจงกรมมาก
พอได้สมาธิแล้วก็เจริญปัญญาต่อไป หลังจากออกมาจากสมาธิ พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาอริยสัจ ๔ ดูใจว่ากำลังผลิตอะไร ผลิตมรรคหรือผลิตสมุทัย ถ้าผลิตสมุทัยเราก็ต้องหยุด ต้องหันกลับมาผลิตมรรค หยุดด้วยการเจริญสติ การเจริญสติเป็นทั้งการผลิตมรรคและหยุดสมุทัย หยุดความคิดปรุงแต่งไปในทางสมุทัย ความคิด ๙๙ เปอร์เซ็นต์จะไปในทางสมุทัย ต้องหยุดความคิดนี้ก่อน ด้วยการบริกรรมพุทโธ ก็จะคิดอยากไปดูนั่นฟังนี่ไม่ได้ อยากไปที่นั่นที่นี่ไม่ได้ พอไม่มีความอยากใจก็จะเย็นสบาย อยู่เฉยๆได้ จะนั่งเก้าอี้ ๔ - ๕ ชั่วโมงก็นั่งได้ ก็จะได้สมาธิ ได้ความสงบ แล้วก็ตัดความอยากด้วยปัญญา ถ้าดูใจดูจิตต้องดูอย่างนี้ การดูจิตดูอย่างไร ก็ดูว่าตอนนี้จิตเป็นโรงงานผลิตกิเลสหรือโรงงานผลิตธรรม ถ้าจิตคิดไปในทางธรรม ไปในทางไตรลักษณ์ ไปในทางอริยสัจ ๔ ก็จะเป็นมรรค ก็ปล่อยให้คิดไป ถ้าคิดไปในทางกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็ต้องหยุดมัน ถ้าไม่หยุดก็จะผลิตความทุกข์ เช่นอยากจะสูบบุหรี่ อยากจะดื่มเหล้า ถ้ายิ่งคิดก็จะยิ่งทรมานใจ ยิ่งหงุดหงิดใจ เวลาอยากจะสูบบุหรี่ดื่มเหล้าก็จะคิดแต่เรื่องสูบบุหรี่ดื่มเหล้า จะไม่คิดเรื่องอื่น ถ้าสามารถหยุดความคิดอยากดื่มสุราอยากสูบบุหรี่ได้ คิดถึงโรคภัยไข้เจ็บที่จะตามมาจากการดื่มสุรายาเมา จากการสูบบุหรี่แทน ก็จะทำให้หยุดความอยากได้
การดูจิตต้องดูอย่างนี้ ดูว่าตอนนี้จิตกำลังไปในทางไหน ไปในทางมรรคหรือไปในทางสมุทัย ถ้าไปในทางสมุทัยก็ต้องสกัด ถ้าไปในทางมรรคก็ต้องส่งเสริม ถ้าคิดอยากจะหยุดดื่มสุรา อยากจะหยุดสูบบุหรี่ ก็ต้องสนับสนุน อย่าสูบอย่าดื่ม ถ้าคิดอยากจะไปทำบุญก็ไปเลย คิดอยากจะบวชชีก็บวชเลย คิดอย่างนี้เป็นมรรค ถ้าคิดจะไปแต่งหน้าทาปาก ไปทำศัลยกรรม ก็หยุดเสีย เพราะไปทางสมุทัย ไปทางกามตัณหา อยากจะซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ ซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ก็ต้องเบรกมัน เอาเงินไปทำบุญดีกว่า นี่คือการดูจิต ไม่ใช่ปล่อยให้จิตทำอะไรตามใจชอบ อยากจะไปเที่ยวก็ไป อยากจะไปซื้อรองเท้าคู่ใหม่ก็ไป อยากจะไปซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ก็ไป อยากจะไปเดินห้างก็ไป อยากจะไปกินขนมนมเนยก็ไป ถ้าดูแบบนี้ก็ดูให้เสียเวลาไปเปล่าๆ ดูไปทำไม ไม่เกิดประโยชน์
ต้องดูอริยสัจ ๔ ว่าตอนนี้กำลังผลิตฝ่ายไหน ฝ่ายมรรคหรือฝ่ายสมุทัย ถ้าผลิตฝ่ายมรรคตลอดเวลา ผลิตโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค ก็จะมีผลของมรรคตามมา คือโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล ถ้าจะดูจิตต้องดูตรงนี้ ดูว่ากำลังผลิตมรรคหรือกำลังผลิตสมุทัย ถ้าผลิตสมุทัยก็จะมี กามภพ รูปภพ อรูปภพ มีการเวียนว่ายตายเกิดตามมา นี่คือธรรมในสติปัฏฐาน ๔ การดูธรรมก็ดูอริยสัจ ๔ ถ้าดูจิตก็ดูว่าจิตตอนนี้เป็นอย่างไร ฟุ้งซ่านหรือสงบ ถ้าฟุ้งซ่านก็ต้องทำให้สงบ ถ้าสงบก็ต้องรักษาให้สงบต่อไป
ดูเวทนาก็ดูว่าตอนนี้เวทนาเป็นอย่างไร ต้องปล่อยวาง ถ้าเป็นสุขเวทนาก็อย่าอยากให้สุขไปตลอด ถ้าเป็นทุกขเวทนาก็อย่าไปอยากให้หาย ปล่อยไปตามธรรมชาติ ไปตามอนิจจัง มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปทำอะไร ให้รู้ทันแล้วก็ปล่อยวาง ไม่ใช่พอเป็นทุกขเวทนาก็แก้ให้เป็นสุขเวทนา ถ้าร้อนก็เปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ ต้องแก้ที่ใจ แก้ที่สมุทัย ความอยากให้ทุกขเวทนาหายไป ต้องแก้ด้วยการปล่อยวางทุกขเวทนา ดูร่างกายก็เช่นเดียวกัน ร่างกายจะแก่จะตายก็ดูไป ไม่ต้องทำอะไร ผมจะหงอกก็ปล่อยให้หงอกไป หนังจะเหี่ยวก็ปล่อยให้เหี่ยวไป ไม่ต้องหายามาทา ทาอย่างไรก็เหี่ยวอยู่ดี ย้อมอย่างไรก็ขาวอยู่ดี ย้อมให้เหนื่อยไปเปล่าๆ ทำให้ใจทุกข์ ไม่สบายใจกับความเหี่ยวกับความหงอก ต้องปล่อยวาง
ให้ตั้งสติที่กายเวทนาจิตธรรม นี่เป็นขั้นของปัญญา ถ้าขั้นของสติก็ให้รู้เฉยๆ ให้มีสติเกาะติดอยู่กับร่างกาย ร่างกายกำลังเคลื่อนไหว กำลังทำอะไร ก็ให้เกาะติดอยู่กับการเคลื่อนไหว กับการกระทำของร่างกาย เพื่อไม่ให้ใจลอยไปลอยมา ไม่ให้ไปคิดเรื่อยเปื่อย ให้ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน เวลานั่งสมาธิใจก็จะสงบ จะนิ่ง จะสบาย ก็จะรู้จักวิธีรักษาจิต เวลาฟุ้งซ่านก็แก้ด้วยการเข้าสมาธิไป หรือแก้ด้วยปัญญา พิจารณาจนเห็นว่า ฟุ้งซ่านเพราะความอยาก อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ อยากให้สิ่งนี้เป็นอย่างนั้น ต้องปล่อยวาง อย่าไปอยาก สิ่งนั้นสิ่งนี้จะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไป ถ้าไม่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ได้ ก็อย่าไปแก้ให้เหนื่อยไปเปล่าๆ ถ้ายังแก้ได้ก็แก้ไป ถ้าสั่งไม่ให้ผมหงอกได้ก็สั่งไป ถ้าสั่งไม่ให้หนังเหี่ยวได้ก็สั่งไป ถ้าสั่งไม่ได้ก็อย่าฝืนธรรมชาติ อย่าไปทำศัลยกรรมตกแต่ง
เวลาพูดธรรมะทีไร มักจะไปโดนใจคนฟังทุกที เมื่อเช้าพูดเรื่องการอดสุราอดบุหรี่ ก็มีคนมาบอกว่ากำลังจะอดพอดี พอฟังแล้วก็ได้อุบาย แล้วก็มีภรรยาพาสามีมาหา ถือดอกไม้ธูปเทียนมาตั้งสัจจะอธิษฐานให้หยุดดื่มสุรา เพราะเวลาดื่มแล้วจะอาละวาด สร้างความเดือดร้อนให้กับภรรยา เราก็บอกว่าให้เห็นโทษของการดื่มสุรา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งกับตัวเราและกับผู้อื่น ถ้าไม่หยุดดื่มก็จะต้องสูญเสียคนที่รักไป เพราะจะทนอยู่กับเราไม่ได้ แล้วก็บอกภรรยาว่า ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ไปดีกว่า ผู้ชายไม่ได้มีคนเดียวในโลกนี้ คนดีๆไม่เอา ไปเอาคนไม่ดีทำไม
ถาม คนไปอยู่วัดใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะกลัวงูกัน เพราะมืด ในป่าก็มีงูเยอะ ในกุฏิก็มี ใหม่ๆก็กลัว นานๆเข้าก็ต่างคนต่างอยู่
ตอบ ถ้าไม่กลัวก็ปิดไฟเดิน ให้เกิดความกลัวขึ้นมาจริงๆ ให้ปลง ให้ยอมตาย พอปลงได้แล้วจะหายกลัว
ถาม แก้ปัญหาโดยการหาไฟฉายสว่างๆ
ตอบ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ แก้ที่ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุก็คือความกลัวตาย ไม่ยอมตาย ไม่ยอมรับความตาย
ถาม จะถือว่าประมาทไหมครับ ถ้าเดินในที่มืดๆ ไม่ฉายไฟ
ตอบ ถ้าเป็นการเข้าห้องสอบก็ไม่ประมาท ต้องคิดว่าจะตายจริงๆ ถึงจะกลัวจริงๆ จะได้ยอมตายจริงๆ
ถาม ถ้าสภาพจิตยังไม่พร้อม
ตอบ ทำไม่ได้ ไม่กล้าทำ อย่างนักมวย ถ้ายังไม่พร้อมที่จะชิงแชมป์ ก็จะไม่ขึ้นไปชิง ต้องมั่นใจว่าสู้ได้ถึงจะขึ้น ต้องซ้อมไปก่อน ต้องทำการบ้านบ่อยๆ คิดถึงความตายบ่อยๆ จนเห็นว่าไม่มีทางหนีความตายไปได้ กลัวความตายให้ทุกข์ใจไปเปล่าๆทำไม สักวันหนึ่งก็จะเห็นสัจธรรมว่า ความตายไม่เป็นปัญหา ปัญหาคือความกลัวความตาย อย่างไรก็ต้องตาย ไหนๆจะตายก็ขอให้ได้แก้ปัญหาด้วย อย่างในพระไตรปิฎกมีเรื่องพระตายในปากเสือ ร่างกายท่านตายไป ความกลัวตายก็ตายไปด้วย ไม่อย่างนั้นไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ชาติก็ต้องกลัวตายไปทุกชาติ เกิดมาหลายล้านชาติแล้ว ก็กลัวตายมาตลอด ทำไมไม่ยอมตายในชาตินี้ เพื่อให้ความกลัวตายหายไป กลับมาเกิดใหม่ก็จะไม่กลัวความตาย ขั้นโสดาบันนี้ก็ไม่กลัวตายแล้ว ยอมรับว่ามีเกิดย่อมมีดับเป็นธรรมดา ดังที่พระอัญญาโกณฑัญญะได้อุทานว่า ธรรมใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ธรรมนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ท่านยอมรับความตาย ยอมตาย พอยอมรับก็ไม่ได้ตายทันทีทันใด ก็ตายเหมือนตอนที่ยังไม่ยอมรับ ความตายไม่เกี่ยวกับการยอมรับความตายหรือไม่ยอมรับ เมื่อถึงเวลาตาย ถ้าใจยังไม่ยอมรับความตาย ก็ตายแบบขาดทุน
ถาม ถ้าห้องน้ำมีงู
ตอบ ถ้ามีจริงๆก็อย่าเข้าไป ถ้าใจกล้ายอมตาย ก็เข้าไปได้
ถาม ถ้าใจยังไม่พร้อม เข้าไปก็ตายเปล่า เสียทั้งชีวิต เสียทั้งใจ
ตอบ ใจก็เสียอยู่แล้ว ชีวิตก็ต้องเสียอยู่ดี ถ้าใจพร้อมที่จะตาย ก็จะได้กำไร ดับความกลัวตายได้
ถาม เครื่องบินจะตก แล้วทำใจตรงนั้นได้ไหมคะ
ตอบ ได้ แล้วก็ดูว่าเวลาขึ้นเครื่องบินครั้งต่อไป ถ้ายังมีความกลัวอยู่ก็แสดงว่ายังตัดไม่ขาด ไม่ได้ตัดด้วยปัญญา
ถาม ถึงเวลาจะตายจริงๆ ถ้าไม่ได้ฝึกมา จะไม่มีทางวางได้เลย
ตอบ แต่ละคนก็มีวิธีปล่อยวางต่างกันไป บางคนก็สวดมนต์ไป เป็นอุบายของสมาธิ สวดมนต์เพื่อให้ใจสงบ จะได้ไม่ทุกข์ทรมานใจ แต่ไม่ได้ใช้ปัญญา ไม่พิจารณาว่าร่างกายเกิดมาแล้วต้องตาย
ถาม ขอแสงสว่างธรรม เพื่อหนูจะได้สอนลูกหลานของพระพุทธองค์ ทั้งมหายานและหินยาน
ตอบ ให้ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เป็นผู้นำทาง ให้ศึกษาพระพุทธประวัติ ศึกษาประวัติของพระสาวก ศึกษาพระธรรมคำสอน ที่เป็นแสงสว่างนำทาง พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตาม พระสงฆ์สาวกปฏิบัติอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตาม ท่านสอนให้เราปฏิบัติอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติตาม ท่านก็สอน ๓ ข้อใหญ่ๆคือ ๑. ทำบุญ ๒. ละบาป ๓. ชำระความโลภความโกรธความหลง ไม่ว่าจะเป็นพุทธสายไหน ก็ต้องเดินทางนี้ด้วยกันทุกคน ถึงจะเป็นพุทธแท้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า คำสอนที่มีมรรค ๘ นี้แล เป็นคำสอนที่ถูกต้อง เป็นแสงสว่างนำทางให้ไปสู่การหลุดพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิด มรรค ๘ ก็สรุปลง ๓ ข้อใหญ่นี้ คือทำบุญ ละบาป ชำระความโลภความโกรธความหลง ทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์ คำสอนนี้เป็นแสงสว่างนำทาง
ถาม พระอาจารย์บอกว่า ถ้าทานอิ่มจะง่วงนอนเวลานั่งสมาธิ ปรากฏว่า เมื่อวานวันพระ ลูกถือศีล ๘ พอตอนเย็นก็หิว แทนที่จะนั่งสงบ กลับคิดแต่เมนูอาหาร
ตอบ ให้คิดถึงอาหารที่เคี้ยวอยู่ในปาก ถ้าคายออกมา จะตักกลับเข้าไปในปากได้ไหม
ถาม ลูกๆอยากจะปฏิบัติ อยากมีดวงตาเห็นธรรม แล้วก็ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มีสิ่งใดควรปรับปรุงหรือปฏิบัติเพิ่มเติม
ตอบ ทำทานตามกำลัง รักษาศีล ๕ ไม่ให้ขาด วันพระก็รักษาศีล ๘ แล้วก็ภาวนาปฏิบัติธรรม ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทำอย่างนี้ไปก่อน ต่อไปก็จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
ถาม มีคนว่า กายกับวาจาไม่ได้ล่วงเกิน แต่ใจล่วงเกิน ถือว่าไม่ผิด
ตอบ ยังไม่เป็นบาปเป็นเวรเป็นกรรม เพราะยังไม่ได้กระทำบาป แต่เป็นสมุทัยที่ผลิตความทุกข์ใจขึ้นมา ถ้าเป็นบาปก็เป็นบาปละเอียด ยังไม่เป็นเวร เพราะยังไม่ได้ทำร้ายผู้อื่น เวรกรรมยังไม่เกิด วิบากยังไม่มี มีแต่เฉพาะภายในใจ ความโกรธเกลียดอิจฉาริษยานี้เป็นไฟเผาใจ เพียงแต่นึกก็เป็นไฟขึ้นมา ส่งผลให้กับใจแล้ว ถ้าไม่ได้ทำตามก็จะดับไป ถ้าทำตามก็จะเกิดเวรกรรม เกิดความทุกข์ใจตามมา เช่นพระเทวทัต หลังจากที่พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง ก็เกิดความทุกข์ใจถึงกับตรอมใจตาย เพราะความสำนึกผิด เพราะความกลัววิบากกรรม ที่จะต้องไปรับใช้ ถ้ายังไม่ได้ทำทางกายทางวาจา ก็เป็นเพียงอกุศลทางใจ ใจเป็นผู้รับผล พอคิดไม่ดีก็จะไม่สบายใจ เป็นอกุศล เป็นสมุทัย เป็นอวิชชา ปัจจยา สังขารา เป็นการสร้างภพสร้างชาติ
ถาม ในทางกลับกัน ถ้าเป็นบุญละคะ มีเจตนาแต่ยังไม่ได้ทำ
ตอบ ก็ได้ความสุขใจในขณะที่คิด แต่จะไม่มีอานิสงส์ตามมา ถ้ายังไม่ได้ไปทำคุณประโยชน์ให้คนอื่น คนอื่นก็จะไม่มีความรู้สึกที่ดีกับเรา เราได้ความรู้สึกที่ดี แต่คนอื่นไม่มีความรู้สึกที่ดีกับเรา รู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกมี ๓ แบบ ดี ไม่ดี แล้วก็เฉยๆ ถ้าไม่ได้ทำอะไรเขาก็จะเฉยๆ ถ้าทำบาปกับเขา เขาก็จะรู้สึกไม่ดีกับเรา ถ้าทำบุญกับเขา เขาก็จะรู้สึกดีกับเรา ถ้าไปทำให้เขาเจ็บช้ำน้ำใจ เขาจะคิดทำร้ายเราก่อน ถ้าเราทำบุญทำความดีกับเขา เขาก็จะอยากตอบแทนบุญคุณเราก่อน มีผลทั้ง ๒ ด้านคือ ๑. ผลที่บุคคลอื่นจะทำกับเรา ๒. ผลที่เกิดในใจเรา คือความรู้สึก ที่เกิดขึ้นทันที ถ้าคิดไม่ดี ใจก็จะร้อนขึ้นมาทันที ถ้าคิดดี ใจก็จะเย็นทันที ไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย เขาไม่รู้ ไม่มีปัญหากับเรา ไม่มีกรรมกับเรา ใจของเราจะสงบหรือฟุ้ง สุขหรือทุกข์ ขึ้นอยู่กับความคิดของเรา ความคิดเป็นต้นเหตุที่จะทำให้เราไปทำอะไรต่างๆ เวลาคิดไม่ดีก็ควรจะหยุดมัน ถ้าหยุดได้ก็จะไม่มีปัญหาตามมา ถ้าคิดดีแต่ไม่ทำ ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ เช่นคิดจะไปปฏิบัติธรรมแต่ไม่ได้ไป คิดจะทำบุญร้อยล้านบาทแต่ไม่ได้ทำ
ถาม ถ้าเกิดอกุศลจิตบ่อยๆ จะติดเป็นนิสัยใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าทำบ่อยๆก็จะติดเป็นนิสัยไป ถ้าทำไม่หยุดก็จะเป็นสันดาน นิสัยแก้ง่าย สันดานแก้ยาก เหมือนกับปักเสาลงไปในดิน ถ้าลงไม่ลึกก็ถอนง่าย ถ้าลงลึกก็ถอนยาก แก้นิสัยง่ายกว่าแก้สันดาน ถ้ามีสันดานดี เช่นพระพุทธเจ้า ที่ทรงมีศีลบารมี ตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ถึงแม้ทางพระราชบิดาจะให้อยู่เป็นกษัตริย์ เป็นมหาจักรพรรดิ ท่านก็ไม่อยู่ ท่านจะไปบวช ท่านจะไปทำความดีต่อ ถ้าเป็นนิสัยก็จะขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ถ้าอยู่กับคนดี เขาชวนไปทำดีก็จะทำตาม ถ้าอยู่กับคนไม่ดี เขาชวนไปทำไม่ดีก็จะทำตาม เพราะยังไม่ฝังลึก ถ้ารู้ว่าไม่ดีก็อย่าทำ พยายามฝืนไปเรื่อยๆ ก็จะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ ถ้าดีก็พยายามทำบ่อยๆ ทำให้มากขึ้น จะได้ฝังลงลึก จนทำให้ชอบทำแต่ความดี ไม่ว่าจะไปเกิดภพไหนชาติไหนก็จะติดเป็นสันดานไป
ถาม ถ้าชอบสงสัยตลอดเวลา ใครพูดอะไรก็ไม่ค่อยเชื่อ อยากจะพิสูจน์ เป็นอกุศลจิตหรือเปล่าคะ
ตอบ ไม่เป็น พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไม่ให้เชื่อ แต่ก็ไม่ให้ปฏิเสธ ให้ฟังหูไว้หู ไม่เชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ว่าจริงหรือไม่ เช่นเอาทองเก๊มาบอกว่าเป็นทองจริง จะเชื่อหรือไม่ ก่อนจะเชื่อก็ต้องพิสูจน์ดูก่อน เอาไปที่ร้านทองให้ช่วยตรวจดู ถ้าว่าเป็นทองแท้ก็เชื่อได้ ในกาลามสูตรพระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไม่ให้เชื่อ ๑๐ ประการด้วยกัน เช่นไม่ให้เชื่อตามคำเล่าลือ ไม่ให้เชื่อเพราะผู้พูดเป็นอาจารย์ของเรา เพราะอาจารย์อาจจะสอนผิดก็ได้ เช่นอาจารย์ขององคุลิมาลสอนให้ฆ่าคนเพื่อบรรลุธรรม ก็ต้องสงสัยก่อนแล้ว ว่าทำอย่างนี้ถูกหรือไม่ ถ้าไม่มั่นใจก็ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างเป็นคนไข้ไปหาหมอก็เหมือนกัน หมอบอกเป็นโรคมะเร็ง ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ก็ควรไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ไปหาอีกหมอหนึ่ง ให้ตรวจดูอีกที เพราะหมออาจจะตาฝาดตาลาย หรือเครื่องมืออาจจะเสื่อมคุณภาพ ต้องหาข้อมูลจากหลายๆที่ จนยืนยันได้ว่าเป็นความจริง แล้วก็ค่อยเชื่อ ในทางศาสนาท่านก็สอนให้พิสูจน์ดูว่าความทุกข์เกิดจากสมุทัยหรือไม่ ดับด้วยมรรคได้หรือไม่ แต่ไม่ปฏิเสธ ไม่เชื่อแต่ไม่ลบหลู่ ถ้าเขาว่าพระเจ้าสร้างโลกภายใน ๗ วัน ก็ฟังไป แต่ยังไม่เชื่อ ขอเวลาพิสูจน์ก่อน ถ้ายังพิสูจน์ไม่ได้ก็แขวนไว้ก่อน อย่างนี้ไม่เป็นอกุศล เป็นกุศล เป็นแนวคิดทางปัญญา
ปัญญาเป็นเรื่องเหตุกับผล เหตุเป็นอย่างนี้ ผลก็ต้องเป็นอย่างนี้ เช่นปลูกต้นข้าวก็จะได้รวงข้าว ทำบุญก็จะได้ความสุขใจ ถ้าอยากมีความสุขใจก็ทำบุญไป รักษาศีลก็มีความสุข ภาวนาก็มีความสุข พอพิสูจน์ได้แล้ว ใครจะมาบอกว่าเป็นอย่างอื่น ก็จะไม่เชื่อ เพราะรู้ความจริงแล้ว แต่อย่าไปสงสัยในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่นอยากจะรู้ว่า โลกนี้เกิดมาตั้งแต่เมื่อไร จะอยู่ไปถึงเมื่อไร ใครเป็นคนสร้างโลก รู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร หรืออยากจะรู้ว่าปฏิสนธิเกิดขึ้นตอนที่มีการผสมพันธุ์ หรือว่า ๓ เดือนไปแล้วถึงจะปฏิสนธิ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ จะปฏิสนธิเมื่อไร ก็ปฏิสนธิมาแล้ว สำคัญอยู่ที่ว่าจะปล่อยวางได้หรือไม่ ปัญหาอยู่ตรงที่ดับความทุกข์ได้หรือไม่ ถ้าไปหาข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับการดับความทุกข์ ก็จะเสียเวลาไปเปล่าๆ ให้หาวิธีดับทุกข์จะดีกว่า ตอนนี้ไม่สบายใจ จะดับได้อย่างไร ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม ก็ไม่ควรติดตามข่าวการบ้านการเมือง เหตุการณ์ต่างๆ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการดับทุกข์ นอกจากไม่เป็นประโยชน์แล้วจะเป็นนิวรณ์ ทำให้ใจฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ว้าวุ่นขุ่นมัวไปเปล่าๆ อย่าไปรู้ดีกว่า อย่างที่วัดป่าบ้านตาด หลวงตาจะไม่ให้ดูหนังสือพิมพ์ฟังวิทยุ ให้ภาวนาอย่างเดียว
ถาม ทำงานด้านตรวจสอบมาร่วม ๔๐ กว่าปี รู้สึกว่าจะติดเป็นนิสัย เวลาลูกน้องตรวจแบบครึ่งๆกลางๆ เราก็บอกว่าไม่ได้ ต้องตรวจจนรู้ว่าผิดหรือถูก
ตอบ นิสัยแบบนี้ก็ดี อยากจะรู้ว่าดับทุกข์ได้จริงหรือไม่ ก็อย่าไปสรุปเอาเองว่าดับได้ ต้องเข้าห้องสอบพิสูจน์ว่าดับความกลัวได้หรือไม่
ถาม จะให้ติดนิสัยภาวนา ก็ต้องภาวนามากๆใช่ไหมคะ ถ้าจะให้ภาวนาดีๆ ให้เห็นผล ต้องทำอย่างไรคะ
ตอบ ต้องเจริญสติให้มาก สำรวมอินทรีย์ ตาหูจมูกลิ้นกาย รับประทานอาหารพอประมาณ เจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับ อยู่คนเดียว ปลีกวิเวก ถ้าอยู่หลายคนจะคุยกัน คุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ใจก็จะลอยไป จะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จะไม่ได้เจริญสติ จะไปคิดถึงขนมนมเนย แสงสีเสียง เกิดกามฉันทะ เกิดนิวรณ์ขึ้นมา ถ้าคิดถึงเรื่องที่ทำให้วิตกกังวล ก็เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา ถ้ารับประทานอาหารมากเกินไป ก็เกิดความง่วงเหงาหาวนอน สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนี้ เป็นการแก้นิวรณ์ เช่นให้เจริญสติ ให้ปลีกวิเวก อยู่คนเดียว ให้สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ดูไม่ฟังอะไรต่างๆ นอกจากธรรมะ ฟังธรรมะได้ อ่านหนังสือธรรมะได้ แล้วก็รับประทานอาหารพอประมาน วันละมื้อนี้กำลังดี เวลาไหนก็ได้ ตอนเช้าดีที่สุด จะได้หมดๆปัญหาไป รับประทานแบบพระ พอรับประทานอาหารแล้ว ก็อาจจะง่วงในช่วง ๒ - ๓ ชั่วโมงแรก พอหลังจากเที่ยงวันไปแล้วจะไม่ง่วง ถ้ารับประทานไม่มากก็จะไม่ง่วง ต้องขยันเดินจงกรม นั่งสมาธิ เพราะเป็นการเจริญสติ เดินก็พุทโธ นั่งก็พุทโธ ทำอะไรก็พุทโธ อย่างนี้จิตก็จะสงบง่าย พอสงบแล้วจะติดใจ ความสุขทางโลก สู้ความสุขทางธรรมไม่ได้ รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง พอได้ความสงบเพียงครั้งเดียวจะติดใจ ไม่ต้องบังคับให้ภาวนา อิทธิบาท ๔ เกิดแล้ว ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เกิดแล้ว