กัณฑ์ที่ ๔๔๗ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๕
มรณานุสติ
การเข้าหาพระศาสนานี้ ไม่ควรเข้าเพื่อหาลาภยศสรรเสริญสุข หาอำนาจวาสนา ไม่ได้มาเป็นผู้บริหารเป็นผู้ปกครองของวัดวาอาราม แต่มาเพื่อหาที่พึ่งทางใจ หาธรรมะ ไม่ได้หาลาภยศสรรเสริญ ไม่ได้หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายจากพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นที่หามรรคผลนิพพาน หาวิมุตติ การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จากความทุกข์ทั้งหลาย เรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับการศึกษา และการปฏิบัติพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็อย่าไปให้ความสำคัญ ให้รับรู้เฉยๆก็พอแล้ว จะได้ไม่หลงทาง ไม่หลงประเด็น ประเด็นของพวกเราก็คือ มาหาธรรมะ มาหาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด จากความทุกข์ต่างๆ พวกเราจึงต้องมุ่งไปที่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เป้าหมายของพวกเราคือการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วนำเอาคำสอนไปปฏิบัติ ด้วยฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ด้วยอิทธิบาท ๔ ที่จะผลักดันให้การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดสำเร็จลุล่วงได้ ถ้าไม่มีอิทธิบาท ๔ จะไม่สามารถบรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้ นี้คือประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ คือการศึกษาและการปฏิบัติพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ อย่างที่พวกเราได้มาทำกันเป็นประจำตลอดระยะเวลา ๗ ถึง ๘ ปีที่ผ่านมา เพื่อจะได้เป็นแสงสว่างนำทางไปสู่การหลุดพ้นต่อไป
พระโอวาทคำสอนที่สำคัญที่สุด ก็คือพระปัจฉิมโอวาท คำสอนครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสสอนไว้ว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่แน่นอน มีเกิดมีแก่มีเจ็บมีตายเป็นธรรมดา จงยังประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด เป็นการสรุปพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าความสำคัญอยู่ตรงนี้ อยู่ที่ความไม่ประมาท ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ต้องรีบขวนขวายทำภารกิจที่ต้องทำ ให้สำเร็จลุล่วงไปก่อนเวลาจะหมดไป เหมือนกับเวลาเข้าห้องสอบ จะนั่งเล่นคุยกันไม่ได้ ต้องรีบทำข้อสอบให้เสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ ถ้ามัวคุยกันเล่นกัน ก็จะไม่ได้ทำข้อสอบให้ครบบริบูรณ์ คะแนนก็จะได้ไม่ครบ ผลก็จะไม่ได้ดังที่ปรารถนา
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ว่าสังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง มีเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ให้คิดอยู่เสมอๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย จะเจ็บจะตายเมื่อไหร่ ไม่มีใครรับประกันได้ ทางที่ดีควรคิดว่าอาจจะเจ็บจะตายในวันนี้หรือในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ถ้าคิดอย่างนี้จะได้ไม่ประมาท เพราะมีเวลาเหลือน้อย ถ้ารู้ว่าจะต้องตายในวันนี้พรุ่งนี้หรือในเวลา ๓ เดือน จะไม่มีกะจิตกะใจอยากไปทำอะไรต่างๆ อย่างที่เคยทำมา คือทำมาหากิน หาทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง หาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าไปหาหมอแล้วหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายที่จะต้องตายภายใน ๓ เดือน พวกเรายังจะมีกะจิตกะใจไปแสวงหาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายหรือไม่ จะไม่อยากได้แล้ว เพราะรู้ว่าไม่ได้เป็นที่พึ่งของใจ เป็นเพียงที่พึ่งของร่างกาย พอร่างกายจะต้องหมดสภาพไปภายใน ๓ เดือน ก็จะมุ่งเข้าหาธรรมะเพียงอย่างเดียว เพราะธรรมะเป็นที่พึ่งของใจ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะดับความทุกข์ใจได้ นอกจากธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้ารู้ว่าจะต้องตายภายในเวลา ๓ เดือน ก็จะมีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสากับการสร้างบุญสร้างกุศล เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ใจจะพึ่งได้ ทั้งในขณะที่ยังไม่ตายและหลังจากที่ตายไปแล้ว
จึงควรคิดถึงความตายอยู่เรื่อยๆ อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ให้คิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะความตายมาได้หลายรูปแบบด้วยกัน ถ้าไม่ตายด้วยความชรา ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ก็ตายด้วยอุบัติภัยต่างๆ ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเกิดฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ที่จะศึกษาปฏิบัติพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างขะมักเขม้นอย่างเต็มที่ จะศึกษาปฏิบัติ จะเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลา จะจัดการกับข้าวของเงินทองให้เรียบร้อย เก็บเอาไว้เท่าที่จำเป็น แล้วก็มุ่งสู่สถานที่ปฏิบัติ เพื่อรักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ทุ่มเทเวลาให้กับการเดินจงกรมนั่งสมาธิ กับการเจริญสติ นั่งสมาธิทำใจให้รวมเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ ฝึกทำสมาธิให้ชำนาญ ให้แน่นหนามั่นคง จนสามารถเข้าสมาธิเวลาไหนก็ได้ หลังจากนั้นเวลาออกจากสมาธิก็ให้เจริญปัญญาต่อไป พิจารณาอนิจจังความไม่แน่นอน พิจารณาทุกขังความทุกข์ พิจารณาอนัตตาความไม่มีตัวตนของสภาวธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่สภาวธรรมภายนอก คือลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วก็เข้ามาที่ร่างกายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็เข้ามาที่จิตตามลำดับ ที่เป็นสนามสอบของการปฏิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องผ่านให้ได้ คือปล่อยวาง ไม่ยึดไม่ติดกับสภาวธรรมเหล่านี้
เริ่มต้นที่ลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็มาที่ร่างกายที่ต้องแก่เจ็บตาย มาที่เวทนาความเจ็บปวดของร่างกาย มาที่เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แล้วก็มาที่จิต คือธรรมารมณ์ต่างๆ ให้ปล่อยวางให้หมด ด้วยการพิจารณาให้เห็นว่า เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมบังคับสั่งการของเรา เพราะเขามีเหตุมีปัจจัยที่ทำให้เขาเกิดแล้วดับไป ถ้าไปยึดไปติดไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ความอยากคือสมุทัย ต้นเหตุของความทุกข์ อยากมีอยากเป็น อยากไม่มีอยากไม่เป็น อยากให้เป็นอย่างนั้นอยากให้เป็นอย่างนี้ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้นอยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ อยากเสพอยากสัมผัสรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ ต้องไม่ให้มีความอยากเหล่านี้เกิดขึ้นภายในใจ ถ้าเห็นว่าเป็นอนิจจัง จะต้องเปลี่ยนไป เห็นว่าเป็นอนัตตา ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของเรา ที่จะบังคับให้เป็นไปตามความอยากของเรา เราก็จะไม่อยาก เพราะอยากไปก็จะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ เป็นโทษเพราะทำให้จิตใจทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดดับๆ มาแล้วไป ไม่ได้เป็นคุณเป็นประโยชน์กับจิตใจแต่อย่างใด
นี้คือการปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ต้องเกิดจากการทำทาน รักษาศีล ภาวนา สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ด้วยอิทธิบาท ๔ คือฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ฉันทะคือความยินดีที่จะทำทานรักษาศีลภาวนา วิริยะคือความพากเพียรขยันที่จะทำทานรักษาศีลภาวนา จิตตะคือจิตใจจดจ่ออยู่กับการทำทานรักษาศีลภาวนา วิมังสาคือคิดใคร่ครวญ เรื่องทำทานรักษาศีลภาวนา นี้คืออิทธิบาท ๔ ที่จะผลักดันการปฏิบัติให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้การปฏิบัติง่าย ที่ยากก็เพราะไม่มีฉันทะ ไม่มีความยินดี ไม่มีวิริยะ ไม่มีความพากเพียร ไม่มีจิตตะ ใจไม่จดจ่อ ใจมัวแต่ไปจดจ่ออยู่กับเรื่องอื่น เรื่องลาภยศสรรเสริญ เรื่องความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่มีวิมังสา ไม่ใคร่ครวญไปในทางธรรมกลับใคร่ครวญไปในทางโลก ถ้าเป็นอย่างนี้การปฏิบัติก็จะเหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา เข็นขึ้นไปได้ไม่นานก็หมดแรง ครกก็ไหลลงมาทับคนเข็น
จะท้อแท้ ไม่อยากศึกษา ไม่อยากปฏิบัติ สู้ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายไม่ได้ ไปหาลาภยศสรรเสริญไม่ได้ เพราะไม่ได้เจริญมรณานุสติ ลืมไปว่าเดี๋ยวก็ต้องตายแล้ว จะมาเจริญก็ตอนที่เกิดเหตุการณ์จริง ซึ่งก็จะสายไปเสียแล้ว เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปหาหมอ หมอตรวจพบว่าเป็นโรคร้าย มีเวลาอยู่ไม่เกิน ๓ เดือน ตอนนั้นจะทำอย่างไรก็ไม่ทันการ เพราะไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน มัวแต่ไปแสวงหาความสุขกับลาภยศสรรเสริญ กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พอจะต้องมาแสวงหาสรณะที่พึ่งทางใจ ที่เกิดจากการทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนา ปลีกวิเวกไปอยู่วัด ไปอยู่ที่ห่างไกลจากลาภยศสรรเสริญ ห่างไกลจากความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะรู้สึกทุกข์ทรมานใจ ก็เลยทุกข์ทั้ง ๒ ทาง ไม่ปฏิบัติก็ทุกข์ ปฏิบัติก็ทุกข์ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ถ้าหมั่นเจริญมรณานุสติเสียตั้งแต่บัดนี้ ก็จะมีเวลามากพอที่จะปรับใจปรับตัวเรา ให้เข้าสู่การปฏิบัติได้ ด้วยการทำไปตามลำดับตามกำลัง
ถ้าพิจารณามรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้ไม่ลืมหน้าที่ที่แท้จริง คือการทำประโยชน์ให้กับตน ประโยชน์ของตนก็คือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ก็จะรู้ว่างานที่แท้จริงก็คืองานดับทุกข์ทางใจ งานดับทุกข์ทางกายก็ทำไปตามความจำเป็น เช่นเวลาร่างกายหิวก็หาอาหารมารับประทาน หาน้ำมาดื่ม เจ็บไข้ได้ป่วยก็หายามารักษา หาที่อยู่อาศัยไว้หลบภัยต่างๆ หาเสื้อผ้ามาสวมใส่เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย นี้คือการดับทุกข์ทางร่างกาย ซึ่งทำได้ไม่ยากเย็นแต่อย่างใด ไม่ต้องใช้เวลามาก ถ้าทำอย่างมีเหตุมีผล ทำเท่าที่จำเป็น ไม่ได้ทำด้วยความหลง เช่นต้องใช้ของราคาแพงๆ มาดูแลรักษาร่างกาย ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะเสียเวลามากกับการหาปัจจัย ๔ ที่มีราคาแพงๆมาดูแลรักษาร่างกาย จะทำให้ไม่มีเวลามาสร้างสรณะทางใจ แต่ถ้าหาปัจจัย ๔ แบบสมถะเรียบง่าย พอมีพอกินพออยู่ก็ใช้ได้แล้ว จะได้ไม่ต้องเสียเวลามากกับการหาปัจจัย ๔ ให้กับร่างกาย จะได้มีเวลามาสร้างสรณะให้กับใจ มาทำประโยชน์ให้กับตน ก็คือมาปฏิบัติธรรม มารักษาศีล มาเจริญสติสมาธิปัญญา เพื่อทำให้จิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย นี่คือประโยชน์ที่ต้องทำก่อน คือประโยชน์ของตน ก่อนที่จะไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป
อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำมา ในเบื้องต้นทรงทุ่มเทเวลา ต่อการศึกษาปฏิบัติธรรม จนได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากนั้นจึงได้ทรงโปรดสัตว์โลก ผู้ใดมีความศรัทธามีความสนใจก็จะทรงสอน เพื่อให้ได้รู้จักวิธีหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย นี่เป็นประโยชน์ที่ ๒ คือประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ที่ ๑ ก็คือประโยชน์ของตน จงยังประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด ถ้ายังไม่ได้ทำประโยชน์ของตน ก็จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นไม่ได้ เบื้องต้นต้องทำประโยชน์ตนก่อน คือหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลังจากนั้นค่อยไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป ถ้ายังไม่หลุดพ้น ประโยชน์ที่จะทำให้แก่ผู้อื่น จะเป็นประโยชน์เล็กๆน้อยๆ เช่นช่วยเหลือทางเงินทอง ช่วยเหลือทางร่างกาย ที่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญ
สิ่งที่สำคัญคือจิตใจ การจะช่วยเหลือจิตใจของผู้อื่นได้ จำเป็นต้องมีธรรมะ เพราะธรรมะเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งของจิตใจ ถ้ายังไม่มีธรรมะเป็นที่พึ่งของจิตใจของเรา จะเอาธรรมะให้เป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้อย่างไร ถึงแม้จะได้ศึกษาธรรมะมามากก็ตาม ก็เป็นประโยชน์ในระดับหนึ่งเท่านั้น คือเป็นแผนที่ เป็นป้ายบอกทางที่ไม่ชัดเจน ไม่สามารถทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ ถ้ายังไม่สามารถทำให้ตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ ต้องปฏิบัติถึงจะรู้จริงเห็นจริง การดูป้ายยังไม่ได้เป็นการรู้จริงเห็นจริง การอ่านหนังสือธรรมะ การฟังเทศน์ฟังธรรม ยังไม่ได้เป็นการรู้จริงเห็นจริง ธรรมะที่ต้องรู้ก็คืออริยสัจ ๔ ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค ต้องปฏิบัติถึงจะรู้จริงเห็นจริงได้ ต้องเห็นทุกข์ที่ใจ เห็นสมุทัยต้นเหตุของความทุกข์ เห็นนิโรธความดับของทุกข์ เห็นมรรควิธีที่จะทำให้ความทุกข์ดับไป ต้องเห็นจากการปฏิบัติเท่านั้น ถึงจะเห็นจริง ต้องเห็นในขณะที่ใจเกิดความทุกข์ เห็นในขณะที่มรรคคือธรรมะกำลังทำหน้าที่ละสมุทัยเพื่อดับความทุกข์ เห็นความทุกข์ที่ถูกมรรคทำลายดับไป ถ้าเห็นจากการปฏิบัติแล้ว ก็จะสามารถสอนผู้อื่นได้อย่างเต็มปากเต็มคำ ถ้าผู้อื่นปฏิบัติไปแล้วเกิดความสงสัย ก็สามารถตอบคำถามได้อย่างแม่นยำ
นี่คือเรื่องของการเข้าหาธรรมะ เข้าหาพระศาสนา เข้าหาประโยชน์ เข้าหาที่พึ่งของจิตใจ ต้องหมั่นเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า ให้ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ไม่ให้เผลอไม่ให้ลืม ทำอะไรก็ให้ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ จะได้ถามตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังทำประโยชน์ของตนคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือว่ากำลังทำประโยชน์อื่น ถ้าไม่ทำประโยชน์เพื่อการหลุดพ้นจากความทุกข์ จะได้รีบทำเสีย ประโยชน์อื่นทำไปก็เท่านั้น เพราะไม่เป็นประโยชน์กับจิตใจ แต่เป็นประโยชน์กับร่างกาย เช่นการหาลาภยศสรรเสริญ ถ้าหาพอประมาณ ถ้าหามากเกินไปก็จะเป็นประโยชน์กับกิเลสตัณหา ที่จะมาเหยียบย่ำทำลายจิตใจ ให้มีความทุกข์มากขึ้น จึงต้องหมั่นระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ แล้วก็ถามตัวเองอยู่เรื่อยๆว่า ขณะนี้กำลังทำประโยชน์ของตนหรือไม่ กำลังทำทานหรือเปล่า กำลังรักษาศีลหรือเปล่า กำลังภาวนาหรือเปล่า กำลังเจริญสติหรือเปล่า หรือว่าปล่อยให้ใจลอยไปลอยมา ไม่ได้อยู่กับกรรมฐาน เช่นการบริกรรมพุทโธ การเจริญมรณานุสติ หรือการเจริญกายคตาสติ ก็คือมีสติเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของร่างกายในทุกอิริยาบถ ในทุกการงานที่กำลังทำอยู่
หรือว่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย ร่างกายอยู่ตรงนี้แต่ใจไปอยู่ที่อดีตบ้าง อยู่ที่อนาคตบ้าง อยู่ที่โน่น อยู่ที่นั่น แต่ไม่ได้อยู่ที่นี่ ถ้าใจไม่มีสติแล้ว ก็จะไม่สามารถเจริญธรรมที่สำคัญ คือสมาธิและปัญญาได้ ถ้าไม่มีสมาธิและไม่มีปัญญา วิมุตติคือการหลุดพ้นก็จะไม่เกิด เพราะไม่มีปัจจัย เหมือนกับปลูกต้นไม้แล้วไม่รดน้ำ ไม่พรวนดิน ไม่คอยกำจัดวัชพืชต่างๆ ต้นไม้ก็จะไม่เจริญเติบโต ถ้าไม่หมั่นเจริญสติ ไม่หมั่นนั่งสมาธิ ไม่หมั่นเจริญปัญญาตามลำดับ วิมุตติก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา มรรคผลนิพพานก็จะไม่ปรากฏขึ้นมา เวลาอันมีค่าก็จะสูญไป จึงต้องเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ที่จะศึกษาปฏิบัติทานศีลภาวนา เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นี่คือภารกิจของพวกเรา เป็นหน้าที่ของพวกเรา ไม่มีใครทำแทนได้
ต่อไปถ้าเป็นวันนักขัตฤกษ์ เช่นวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา จะของดรับแขกช่วงบ่าย เพราะไม่มีเวลา จะได้พักบ้าง ถ้าเป็นวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา ช่วงบ่ายไม่ต้องมา ถ้าจะมาก็มาช่วงเช้าที่ศาลาหอฉัน เพราะกว่าจะเสร็จภารกิจก็เกือบเที่ยง เที่ยงก็ต้องลงปาฏิโมกข์ต่อ ออกจากปาฏิโมกข์ก็ต้องขึ้นมารับแขกตอนบ่าย ๒ ก็จะไม่มีเวลาหายใจ จึงต้องของดรับแขกช่วงบ่ายในวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา จะบอกเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าประตู จะได้มีเวลาพักบ้าง ตอนค่ำก็ต้องลงไปทำวัตรค่ำ ไปทำพิธีเวียนเทียน เอาเทศน์ของสมเด็จพระสังฆราชมาอ่าน
ถาม เวลาที่เกิดนิมิตแล้วต้องบังคับใจ ไม่ให้ตามรู้จะค่อนข้างยาก คือมีความรู้สึกอยากเห็นอยากตามไปดู ขออุบายด้วยเจ้าค่ะ
ตอบ ภาวนาต่อไป
ถาม อย่าไปมองมันหรือคะ
ตอบ อย่าหยุดภาวนา พุทโธต่อไป ดูลมต่อไป เหมือนเวลานั่งภาวนาแล้วมีเสียงโทรศัพท์ดัง มีเสียงคนนั้นเสียงคนนี้ ก็อย่าไปสนใจ ภาวนาไปเรื่อยๆ เวลามีแสงมีภาพให้เห็น ก็อย่าไปสนใจ
ถาม นิมิตนี้เป็นธรรมใช่ไหมคะ
ตอบ เป็นสภาวธรรม ไม่ได้เป็นมรรคผลนิพพาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา สภาวธรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญปัญญา ก็คือความว่างเปล่า อุเบกขา สักแต่ว่ารู้ เพราะจะทำให้กิเลสตัณหาอ่อนกำลังลง เพื่อปัญญาจะได้ฆ่ากิเลสตัณหาได้ ต้องใช้สมาธิทุบศีรษะให้กิเลสตัณหามึนก่อน พอออกจากสมาธิมา กิเลสตัณหาจะยังงัวเงียอยู่ ก็จะใช้ปัญญาฆ่ากิเลสตัณหาได้ แต่ถ้าเห็นนั่นเห็นนี่ กิเลสตัณหาจะไม่ได้ถูกตัดกำลัง ยังสามารถทำงานได้ พอเห็นแล้วชอบก็อยากจะให้เห็นนานๆ ถ้าไม่ชอบก็อยากจะให้หายไป ไม่เป็นประโยชน์ต่อการตัดกำลังของกิเลสตัณหา ถ้าจิตนิ่งสงบและว่างกิเลสตัณหาจะทำงานไม่ได้ กิเลสตัณหาจะถูกตัดกำลังลงไป ถ้าออกจากสมาธิที่ว่างที่สงบที่เป็นอุเบกขานี้ จิตจะมีกำลังมาก กิเลสจะมีกำลังน้อย ในทางตรงกันข้าม ถ้าออกจากสมาธิที่มีเรื่องราวต่างๆให้รู้ให้เห็น จิตจะมีกำลังน้อย กิเลสจะมีกำลังมาก ก็จะไม่สามารถใช้ปัญญาตัดกิเลสได้ ปัญญาเป็นผู้ชี้บอกว่าอะไรเป็นกิเลส อะไรไม่เป็นกิเลส สมาธิเป็นผู้หยุดกิเลสด้วยอุเบกขา เวลาเห็นเงินแล้วก็โลภอยากได้ ปัญญาก็จะบอกว่าอย่าไปโลภ เป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข ถ้ามีสมาธิก็หยุดโลภได้ ถ้าใจไม่มีสมาธิที่ว่างที่สงบ พอปัญญาบอกว่าอย่าไปโลภ จะหยุดไม่ได้ การภาวนาเพื่อฆ่ากิเลสนี้ ต้องมีสมาธิที่ว่างที่สงบ ที่ไม่มีนิมิตต่างๆ มีแต่อุเบกขา สักแต่ว่ารู้ อยู่ได้นานเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะยิ่งนานกำลังของใจก็จะมีมากขึ้น กำลังของกิเลสก็จะน้อยลงไป ความสงบเป็นผู้ตัดกำลังของกิเลส ถ้าใจยังไม่สงบกิเลสก็จะทำงานได้
ถาม ขณะที่บริกรรมพุทโธอยู่นี้ ถือว่าสงบหรือเปล่า
ตอบ ถ้ายังบริกรรมพุทโธอยู่ก็ยังไม่สงบเต็มที่ พุทโธเป็นวิตกวิจาร
ถาม จนกว่าพุทโธจะหายไปเอง
ตอบ จนกว่าจะวูบลงไปแล้วก็นิ่ง พุทโธก็จะหายไปเอง เวลาสงบจริงๆเหมือนตกหลุมตกบ่อตกเหว วูบแล้วก็สงบเย็นสบาย บังคับให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ ต้องเป็นเอง ต้องเกิดจากการภาวนา เช่นดูลมหายใจเข้าออก หรือบริกรรมพุทโธๆ ควรจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งจะดีกว่า ถ้าจะเอาพุทโธก็พุทโธอย่างเดียว เอาลมก็เอาลมอย่างเดียว ถ้าต้องการบริกรรมพุทโธให้เร็วขึ้น แต่ลมไม่เร็วตามก็ทำไม่ได้ เวลามีความคิดเข้ามาแทรกมาก การใช้พุทเข้าโธออก แล้วต้องการบริกรรมพุทโธให้ถี่ขึ้น เพื่อไม่ให้ความคิดเข้ามาแทรก ก็จะทำไม่ได้ ถ้าต้องการใช้การบริกรรมเพื่อระงับความคิดปรุงแต่งก็ใช้บริกรรมไปอย่างเดียว ไม่ต้องดูลม ถ้าไม่มีความคิดปรุงแต่งเข้ามาแทรกจะดูลมไปอย่างเดียว ไม่ต้องบริกรรมก็ได้ ดูลมหายใจเข้าหายใจออกที่ปลายจมูก เฝ้าดูไป แล้วก็จะสงบ ลมจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆจนรู้สึกว่าหายไป พอหายไปแล้วก็จะวูบลงไป จิตจะปล่อยลมเหมือนกับหายใจเฮือกสุดท้าย แล้วลมก็หายไป จิตก็เข้าสู่ความสงบ ไม่ต้องกลัวเวลาดูลมแล้วคิดว่าไม่มีลม ถ้าตกใจกลัวก็จะทำให้จิตถอนออกมา จิตจะหยาบขึ้น เกิดการปรุงแต่งขึ้นมา จิตก็จะไม่เข้าสู่ความสงบ ให้รู้ว่าลมละเอียดลมเบา จนลมหมดไป ให้รู้เฉยๆก็ได้ ให้รู้ว่าตอนนี้ไม่มีลมแล้ว แล้วจิตจะวูบลงไป ถ้าไม่ตกใจ
ถาม เวลาสงบแล้ววูบลงไป กับเวลาลมหายใจหมด ทั้งสองต่างกันอย่างไรคะ
ตอบ ลองทำดู
ถาม พอจะวูบก็จะยั้งอยู่เรื่อยค่ะ
ตอบ ไปยั้งทำไม
ถาม ไม่ได้ตั้งใจ
ตอบ ดูเฉยๆ
ถาม ถ้ากระตุก ก็ดูลมต่อไปหรือเจ้าคะ
ตอบ ดูไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสงบ ดูเฉยๆ
ถาม จะไปดึงมันทุกทีเลย ไม่รู้ทำไม
ตอบ เป็นอุปาทาน ไม่อยากให้ลมหมด คิดว่าหมดลมหายใจจะตาย
ถาม พอรู้สึกจะตก ก็จะฝืนไม่ให้มันตก
ตอบ ไปฝืนทำไม ปล่อยให้ตกไป ให้รู้เฉยๆ
ถาม ยังแยกไม่ได้ ว่าเป็นปฏิกิริยา หรือตั้งใจยั้ง
ตอบ ถ้ามีลมให้ดูก็ดูไป ถ้าไม่มีลมให้ดูก็ดูความว่างไป ให้ดูเฉยๆ อย่าไปมีปฏิกิริยากับสิ่งที่ดู ให้เป็นอุเบกขา
ถาม ไปดึงเพราะกลัว ไม่เคยประสบมาก่อน ก็เลยถอนออกมา
ตอบ ไปกลัวทำไม ไม่มีอะไรน่ากลัว ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หายกลัวเอง
ถาม ที่ว่าวูบไปแล้วสงบ เรียกว่าจิตรวมหรือยังคะ
ตอบ จิตรวมแล้ว วูบแล้วเบาอกเบาใจสบายใจ
ถาม ถ้านิ่งพักเดียวถือว่ารวม
ตอบ ถ้านิ่งเดี๋ยวเดียวเรียกว่าขณิกสมาธิ ถ้านิ่งนานเรียกว่าอัปปนาสมาธิ ถ้าสติมีกำลังมากก็จะนิ่งได้นาน ภายในจิตจะมี ๒ ฝ่ายต่อสู้กัน สติเป็นฝ่ายผลักเข้าข้างใน กิเลสเป็นฝ่ายผลักออกมา กิเลสจะหารูปเสียงกลิ่นรสอยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้สติผลักเข้าไปข้างใน ถ้าสติมีกำลังน้อย ก็นิ่งแป๊บเดียว จะถูกกิเลสดันออกมา ถ้าสติมีกำลังมากก็จะเข้าไปลึกและนิ่งนาน จึงต้องเจริญสติให้มาก เจริญสติทั้งวัน ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ถ้าสติมีกำลังมาก ก็จะสงบได้นาน
ถาม ขณะที่นั่งภาวนาอยู่แล้วมีเสียงดัง จิตเหมือนหลบเข้าไปข้างใน ภาวนามีสติมากขึ้น อย่างนี้ต่างกับคำว่าวูบอย่างไรคะ
ตอบ จะเป็นอะไรก็ช่าง ให้นิ่งเป็นอุเบกขาก็แล้วกัน ถ้าไม่นิ่งไม่เป็นอุเบกขา ก็ทำให้นิ่งให้เป็นอุเบกขา นั่งภาวนาต่อไป นั่งให้นานที่สุดเท่าที่จะนั่งได้ นั่งได้นานก็แสดงว่ามีอุเบกขามาก ถ้าไม่มีอุเบกขาจะนั่งไม่ได้
ถาม เวลาลงไปลึกมาก จะไม่รู้อะไรเลย แต่รู้สึกว่านานมาก พยายามจะคิดอะไรก็คิดไม่ออกเลย ยังอยากอยู่อย่างนั้น
ตอบ ไม่คิดก็ดีแล้ว ที่ภาวนาก็เพื่อไม่ให้คิด เพราะความคิดของเรานี้ เป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้น
ถาม อยากมาพิจารณากายแต่มันไม่ยอมเลยค่ะ
ตอบ ถ้าไม่ยอมก็ยังไม่ต้องพิจารณา ให้พร้อมที่จะพิจารณาก่อน แล้วค่อยพิจารณา ถ้ายังสงบก็เดินจงกรมไป สักแต่ว่ารู้ไป ไม่ต้องพิจารณาก็ได้ ประคับประคองจิตให้อยู่ในความสงบในความนิ่งไปก่อน จนกว่าจะเริ่มคิดปรุงแต่ง แล้วค่อยเอาความคิดปรุงแต่ง มาคิดในทางปัญญาต่อไป การพิจารณาตอนนั้นก็เป็นการเตรียมตัวเป็นการทำการบ้าน เช่นพิจารณาให้เห็นความเจ็บไข้ได้ป่วย เห็นความตาย เห็นการพลัดพรากจากบุคคลต่างๆสิ่งต่างๆ เพราะในขณะนั้นยังไม่เกิดเหตุการณ์ ก็ต้องซ้อมไว้ก่อน เหมือนนักมวยที่ต้องซ้อมชกกับคู่ซ้อมไว้ก่อน เพื่อจะได้พร้อมขึ้นไปต่อสู้กับคู่ต่อสู้ที่แท้จริงบนเวทีต่อไป ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ต้องใช้ปัญญา เช่นเกิดความทุกข์ขึ้นมาในขณะนั้น ไม่ว่าด้วยสาเหตุอันใด ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาดับต้นเหตุของความทุกข์ให้ได้ ถ้าดับต้นเหตุได้ ความทุกข์ก็จะดับตามไป เวลาวิตกกังวลกับคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำให้จิตใจว้าวุ่นขุ่นมัวขึ้นมา ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่า คนนั้นคนนี้เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็จะยุติความกังวลได้ ปล่อยวางได้ เพราะทำอะไรไม่ได้ เป็นอนัตตา เป็นอย่างนั้น ห้ามไม่ได้
การพิจารณาปัญญามีอยู่ ๒ ลักษณะคือ ๑. พิจารณาเพื่อแก้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน ๒. พิจารณาเพื่อเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือไว้สำหรับดับทุกข์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าไม่เตรียมไว้ก่อน เวลาเกิดเหตุการณ์จะไม่สามารถใช้ปัญญาได้ เพราะไม่ได้ทำการบ้านไว้ก่อน เช่นเรารักอะไร สิ่งที่เรารักก็จะเป็นตัวปัญหา เพราะถ้าเรารักอะไร เราก็จะไม่อยากให้เขาจากเราไป แต่เราต้องรู้ว่าเขาเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ต้องคอยสอนใจให้ปล่อยวางเขาให้ได้ ก่อนที่เขาจะจากเราไป เวลาที่เขาจากไปจะได้ไม่ทุกข์ เพราะปล่อยให้เขาไปได้ ไม่ได้อยากให้เขากลับมา หรืออยากให้เขาอยู่ต่อไป ถ้าไม่พิจารณาไว้ล่วงหน้าก่อน เวลาเกิดเหตุการณ์จะไม่รู้ว่าจะพิจารณาอย่างไร จะปลงอย่างไร จะปล่อยวางอย่างไร เพราะมีอุปาทานดึงเอาไว้ มีกิเลสตัณหาอยากให้เขาอยู่ต่อไป อยากจะไม่ให้เขาจากเราไป ต้องกำจัดกิเลสตัณหานี้ให้ได้
ต้องกำจัดด้วยความจริง ก็คืออนิจจัง มาแล้วก็ต้องไป เกิดแล้วก็ต้องดับ อนัตตา ห้ามเขาไม่ได้ ห้ามก็ไม่เกิดประโยชน์ ทุกข์ใจไปเปล่าๆ มีใครอยากจะทุกข์บ้าง ไม่มีใครอยากจะทุกข์ พอเห็นความทุกข์ที่เกิดจากความอยาก ก็จะต้องหยุดความอยาก ไม่ได้พิจารณาปัญญาเพื่อยับยั้งไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย แต่พิจารณาเพื่อไม่ให้ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย ต้องเห็นความจริง ต้องยอมรับความจริง เห็นอนิจจังความไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตาย ความเจริญความเสื่อม ความเปลี่ยนแปลง นี้เป็นอนิจจัง อนัตตาก็คือไม่มีใครห้ามได้ ทุกขังก็คือความอยากที่จะไปห้ามเขา อยากที่จะให้เขาไม่เป็นอย่างนั้น ก็จะเกิดทุกข์ใจขึ้นมา ต้องเห็นทั้ง ๓ ส่วน ถ้าเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาก็จะไม่มีตัณหาความอยาก ถ้าไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาก็จะมีความอยาก ถ้ามีความอยากก็จะมีความทุกข์ใจ ทุกข์กับเรื่องนั้น ทุกข์กับเรื่องนี้ ต้องเห็นในขณะที่เกิดเหตุการณ์จริงๆ ทุกข์จริงๆ เครียดจริงๆ กินไม่ได้นอนไม่หลับ กระสับกระส่ายกระวนกระวาย ถึงจะเรียกว่าเห็นอริยสัจจริง ตอนที่เราคุยกันอยู่นี้ ใจเราไม่ได้เครียดไม่ได้ทุกข์ ยังไม่เห็นจริง เป็นการจินตนาการไปเท่านั้นเอง ถ้าอยู่ในเหตุการณ์จริง สติปัญญาต้องหมุนติ้ว อยู่เฉยๆไม่ได้ ถ้าอยู่เฉยๆก็จะดับความทุกข์ไม่ได้ ต้องพิจารณาให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาให้ได้ ให้เห็นตัณหาให้ได้ ที่จะอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่นอยากไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ถ้ายอมรับว่าต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ความอยากก็จะสลายตัวไป
ถ้าได้สมาธิแล้ว ควรพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาให้มาก ถ้ายังไม่ได้สมาธิก็จะไม่ค่อยได้ประโยชน์ เพราะว่า ๑. จะไม่สามารถพิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง ๒. จะไม่เห็นทุกขัง ถ้ามีสมาธิแล้ว เวลาเกิดความทุกข์จะเห็นชัด ถ้าไม่มีสมาธิจะไม่เห็น จะเห็นว่าความทุกข์อยู่ข้างนอก อยู่ที่คนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะไปแก้ที่คนนั้นคนนี้ แทนที่จะเห็นว่าความทุกข์อยู่ในใจ เหตุของความทุกข์ก็อยู่ในใจ กลับไปเห็นว่าอยู่ข้างนอก เห็นว่าเขาพูดอย่างนี้ทำอย่างนี้จึงทำให้เราทุกข์ จะไปเห็นอย่างนั้น ก็จะไปแก้ที่เขา ถ้าไม่ชอบเขา ย้ายเขาได้ก็สั่งย้ายเลย ถ้าย้ายเขาไม่ได้ก็ย้ายเรา เหมือนพระอานนท์ที่กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ย้ายที่ อย่าอยู่ตรงนี้เลย พระพุทธเจ้าก็ทรงตอบว่า ย้ายไปเดี๋ยวก็ต้องไปเจออีก แก้ตรงนี้ แก้ที่ใจ ทำใจให้เป็นอุเบกขา ปัญหาอยู่ที่ใจ ความทุกข์อยู่ที่ใจ เหตุก็คือความอยาก ถ้าไม่มีความอยากจะไม่มีปัญหา จะไม่มีความทุกข์ รับได้ทุกสภาพ ชมก็ได้ ด่าก็ได้ สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ อยู่ก็ได้ ตายก็ได้ แก้ปัญหาที่ใจด้วยการเจริญสติ ด้วยการนั่งสมาธิ ด้วยการเจริญปัญญา ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล อย่าไปยึดติดกับสมบัติข้าวของเงินทอง อย่าไปอยากได้สมบัติข้าวของเงินทอง อย่าไปหาความสุขจากสมบัติข้าวของเงินทอง เพราะจะทำให้ไม่มีเวลามารักษาศีลมาปฏิบัติธรรม
ในปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน มาศึกษามารักษาศีลปฏิบัติธรรมกันสักกี่วัน ให้ดูเหตุบ้าง ดูการดำเนินชีวิตของเรา ว่าดำเนินอย่างไร พวกเรายังปฏิบัติกันน้อยมาก มีบางคนที่ไม่ได้มาวันนี้ก็เพราะไปปฏิบัติกัน พวกที่มาเวลากลับไปก็ให้กลับไปปฏิบัติ ไม่ไปทำภารกิจอื่น กลับไปเดินจงกรมนั่งสมาธิ รักษาศีล ควรปฏิบัติอย่างเต็มที่ ถ้ากลับไปหารูปเสียงกลิ่นรส หาขนมนมเนย ก็จะไม่ก้าวหน้า ควรเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ จะเห็นว่าเวลาปฏิบัติเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ จะได้ปรับการดำเนินชีวิตให้เข้าหาธรรมะ
ถาม คุณแม่เป็นมะเร็งที่สมอง ตอนนี้ลามไปที่กระดูกแล้ว เวลาคงเหลืออีกไม่มาก ก็เลยนึกว่าวันนี้ท่านอาจารย์เทศน์มรณานุสติให้เฉพาะ
ตอบ จะช่วยได้ ถ้าเจริญมรณานุสติอยู่เรื่อยๆ จะรับความจริงได้ จะไม่ต่อต้าน จะไม่มีความอยากไม่ให้เขาตาย
ถาม ที่กังวลก็คือ คุณแม่ไม่ทำบุญเลย ไม่มาวัดเลย ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องทำใจ แต่ก็อยากให้แม่ได้ทำบุญก่อนจากไป
ตอบ ทำอย่างไรได้ ถ้าเขาไม่กินข้าวจะไปบังคับให้เขากินได้อย่างไร เขาไม่กินก็ไม่กิน บุญก็เหมือนข้าว เป็นข้าวของใจ ถ้ากินก็จะไปอย่างอิ่มไปอย่างสบาย ถ้าไม่กินก็ไปอย่างหิว เป็นเรื่องของนานาจิตตัง เป็นเรื่องของบัว ๔ เหล่า ไม่มีใครจะไปทำอะไรได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ทำไม่ได้ ต้องเป็นไปตามบุญตามกรรม ทำได้อย่างเดียวก็คือทำใจ ทำใจให้เป็นอุเบกขา สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ไปห่วงใยไปวิตกกังวลก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ทำให้ทุกข์ใจไปเปล่าๆ ตอนนี้มีเวลาทำก็รีบทำ ไม่ต้องไปกังวลคนอื่น ตัวเรานั่นแหละที่น่ากังวล ยังต้องทำอีกมาก ไปกังวลเรื่องของคนอื่นทำไม ทำงานของเราให้เสร็จสรรพเรียบร้อยก่อน หลังจากนั้นจะไปช่วยใครก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็ไม่ช่วย แต่จะไม่วิตกกังวล ไม่เดือดร้อนกับความทุกข์ของผู้อื่น ตอนนี้เรายังเดือดร้อนอยู่ เพราะยังตัดอุปาทานไม่ได้ ยังหลง ยังเห็นว่าเขาเป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้องของเราอยู่ พอเป็นของเรา ก็จะยึดติด อยากจะให้เขาสุข อยากจะให้เขาเจริญ อยากจะให้เขาดี โดยไม่มองความจริงว่า เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเลย
ถ้าพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่มีความอยากให้เป็นอย่างอื่น เวลาเขาเจ็บก็เป็นเรื่องของเขา เวลาเขาตายก็เป็นเรื่องของเขา เป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกๆคน เกิดขึ้นกับตัวเราเองด้วย ถ้ายังไม่พร้อมที่จะรับกับความแก่ความเจ็บความตายของเขา จะรับกับความแก่ความเจ็บความตายของเราได้อย่างไร ของเรายิ่งรักยิ่งสงวนยิ่งกว่าของผู้อื่น ควรเป็นคติเตือนใจว่าตอนนี้ปัญญาของเราอ่อนมาก ขาดการศึกษาการปฏิบัติมาก จึงควรที่ทุ่มเทให้กับการศึกษาการปฏิบัติ ดีกว่าไปกังวลกับเรื่องของคนอื่น คนอื่นเราก็ดูแลไปตามหน้าที่ หาหมอหายาหาอาหารช่วยเขาไป ถ้าเขาทำไม่ได้ เท่านั้นก็พอแล้ว ทำเต็มที่แล้ว รีบทำประโยชน์ของเราก่อน สร้างปัญญาให้เกิด ให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาตลอดเวลา นี่คือดวงตาเห็นธรรม เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าเห็นความจริงแล้วจะไปฝืนได้อย่างไร จะไปอยากไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตายได้อย่างไร ก็เหมือนกับรู้ว่าถ้าเอาค้อนมาทุบศีรษะก็ต้องเจ็บ เวลาอยากไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตายนี้ ก็เหมือนเอาค้อนมาทุบศีรษะของเรา ถ้าอยากไม่ให้เจ็บไม่ให้แก่ไม่ให้ตาย ก็จะทุกข์ทรมานใจ ก็ต้องอย่าไปอยาก อย่าเอาค้อนมาทุบศีรษะ ปล่อยให้เจ็บให้ตายไป เราไม่ได้เจ็บไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ไปทุกข์กับร่างกายทำไม ใจไม่ได้แก่ไม่ได้เจ็บไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นของใครก็ตาม ใจไม่มีวันแก่ไม่มีวันเจ็บไม่มีวันตาย มีแต่วันทุกข์กับวันไม่ทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่ทุกข์เพราะเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา
ถ้าไม่อยากทุกข์ก็ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทุกเวลานาที การเจริญมรณานุสติก็คือการเห็นอนิจจัง เป็นอุบายของพระพุทธเจ้าให้เห็นอนิจจัง โดยการระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ แล้วจะเห็นอนัตตา เห็นทุกขัง เห็นว่าที่ทุกข์ใจทรมานใจเพราะไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับอนิจจัง ไม่เห็นอนัตตา ห้ามความแก่ห้ามความเจ็บห้ามความตายไม่ได้ ตอนนี้เห็นแล้ว ตอนนี้ไม่ทุกข์แล้ว สบายใจแล้ว ใครจะแก่ใครจะเจ็บใครจะตายก็ช่วยไม่ได้ ถ้าเห็นอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าหลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นด้วยปัญญา ก่อนจะเข้าถึงปัญญาได้ ก็ต้องผ่านสมาธิ ต้องผ่านสติก่อน ไม่เช่นนั้นจะคิดทางปัญญาไม่ได้ เพราะกิเลสมีกำลังมากกว่า กิเลสจะให้คิดในทางนิจจังสุขังอัตตา ก็จะเกิดความอยากให้อยู่ไปนานๆ อยากให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็จะทุกข์กับเรื่องของความแก่ความเจ็บความตายไปตลอด
ต้องเจริญสติให้มาก ควบคุมความคิดหยุดความคิดให้ได้ก่อน ทำใจให้รวมให้สงบก่อน จะได้มีกำลังพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าพิจารณาได้อย่างต่อเนื่องทุกลมหายใจเข้าออก กิเลสจะไม่มีช่องที่จะเข้ามาแทรกได้ เวลาใดที่ไม่พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา กิเลสก็จะแทรกเข้ามา จะคิดว่าเป็นนิจจังสุขังอัตตา เห็นไอ้นั่นก็ดี เห็นไอ้นี่ก็ดี จะให้ความสุขกับเรา พอได้มาแล้วก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ อยากให้เป็นไปตามที่เราต้องการ พอไม่เป็นก็เสียใจทุกข์ใจ ผิดหวัง เวลาเขาเสื่อมไปเปลี่ยนไป ก็จะผิดหวังจะทุกข์ใจ เพราะไม่เห็นความจริง ไม่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถูกความหลงโมหะหลอกให้เห็นว่าเป็นนิจจังสุขังอัตตา การพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา ก็เพื่อแก้ความหลงทำลายความหลง ที่หลอกให้เห็นว่าเป็นนิจจังสุขังอัตตา พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าเห็นก็จะปล่อยวาง ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าไม่เห็นก็จะยึดติด จะเกิดตัณหาความอยาก พอเกิดความอยากก็จะเกิดความทุกข์ทรมานใจ
ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ต้องถือเป็นงานหลัก งานอื่นเป็นงานสนับสนุน ก็ให้ทำควบคู่กับการปฏิบัติ ด้วยการมีสติอยู่กับงานที่จำเป็น คือการดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย เช่นหาอาหารมารับประทาน อาบน้ำอาบท่า ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ให้ทำด้วยสติ ไม่ให้คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ พอว่างจากการดูแลรักษาร่างกาย ก็มาเดินจงกรมนั่งสมาธิ เดินจงกรมเพื่อเจริญสติ นั่งก็เพื่อให้จิตเป็นสมาธิ ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะคล่องแคล่วชำนาญในการเข้าออกสมาธิ แล้วค่อยออกทางปัญญา เวลาออกมาจากสมาธิก็เจริญปัญญา เจริญอนิจจังทุกขังอนัตตา
ถาม ขั้นแรกต้องทำสมาธิก่อน แล้วค่อยพิจารณาปัญญา ถ้ายังไม่ได้สมาธิ ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ ๕ ปี ๖ ปี ก็ทำไป
ตอบ ถ้ายังยืนไม่ได้ จะไปเดินได้อย่างไร
ถาม ต้องทำสมาธิไปเรื่อยๆ ๕ ปี ๖ ปี
ตอบ ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ก็ต้องทำไป พอทำสมาธิได้แล้ว เวลาเจริญปัญญาก็บรรลุได้เลย อย่างพระปัญจวัคคีย์นี้ ก็มีสมาธิแล้ว แต่ไม่มีปัญญา พอได้ปัญญาปั๊บก็บรรลุได้เลย
ถาม ต้องเน้นไปที่สมาธิก่อน ทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้สมาธิ
ตอบ ฟังมาตั้งนาน พึ่งได้ข้อสรุป
ถาม อยากจะข้ามไปพิจารณาเลย
ตอบ ไม่มีใครอยากจะนั่งสมาธิกันเพราะมันยาก คิดว่าปัญญาจะง่าย ถ้าสมาธิยาก ปัญญายิ่งยากกว่าหลายเท่า เราไม่รู้ว่าที่เราคิดว่าเป็นปัญญา มันไม่ได้เป็นปัญญา มันเป็นสังขารปรุงแต่ง
ถาม พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย ดูมันง่ายดี
ตอบ ง่ายแต่ทำใจได้หรือเปล่า ที่พิจารณาก็เพื่อให้ทำใจ แต่ทำไม่ได้ รู้ว่าต้องแก่เจ็บตาย แต่รับไม่ได้ ถ้ามีสมาธิจะรับได้
ถาม ยาก คงจะใช้ทั้งชีวิต
ตอบ ไม่หรอก บางคนนั่งสมาธิ ๕ นาทีก็สงบแล้ว อย่างคุณแม่แก้วนั่งสมาธิครั้งแรก ๕ นาทีก็สงบแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะตอนที่ประทับอยู่ตามลำพัง ไม่ได้นั่งสมาธิจิตก็สงบเอง
ถาม แต่ท่านทำมาเป็นหมื่นชาติ
ตอบ ไม่ยากหรอกถ้ามีสติ พยายามฝึกสติให้มาก สติเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดสมาธิ ถ้าไม่มีสตินั่งไป ๑๐๐ ชาติก็ไม่สงบ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าสติเป็นเหมือนรอยเท้าช้าง ยิ่งใหญ่กว่ารอยเท้าของสัตว์ทั้งหมด สติเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่กว่าธรรมทั้งหลาย ถึงแม้จะไม่เป็นผู้ที่จะฆ่ากิเลสได้ก็ตาม แต่ธรรมที่จะฆ่ากิเลสได้ต้องอาศัยสติเป็นผู้ให้กำเนิด
ถาม พอดีไปอ่านหนังสือของหลวงตา ที่นั่งสมาธิได้นานๆ แบบที่พระพุทธเจ้าเข้านิโรธสมาบัติ เป็นเพราะว่า
ตอบ เป็นเพราะว่าสติท่านดีมาก สติควบคุมความคิดได้
ถาม นั่งได้เป็นวัน คงยาก
ตอบ ไม่ยากหรอก ไม่ทำเอง ไม่ฝึกสติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ลองทำดู ตื่นขึ้นมาก็ควบคุมความคิด ดึงจิตไว้ ให้อยู่กับร่างกาย หรือให้อยู่กับพุทโธ
ถาม ถ้าทำอย่างนี้ สักวันก็ต้องได้
ตอบ ไม่ต้องสักวันหรอก วันนี้ก็ได้ ถ้าทำได้วันนี้ จิตก็รวมในวันนี้ได้เลย ออกมาจากสมาธิก็พิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตาต่อ เย็นนี้ก็บรรลุได้ ไม่ทำแบบเอาจริงเอาจัง ทำแบบสะเปะสะปะ ทำกันแบบไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว เห็นอะไรเกิดดับๆ ก็คิดว่าเป็นปัญญาแล้ว เห็นสิ่งที่เราไม่มีความผูกพันด้วย เห็นไปทำไม เห็นคนนั้นตาย เห็นคนนี้ตาย ไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเราไม่มีความผูกพันกับเขา เขาตายเราไม่เดือดร้อน เห็นไปทำไม ไม่เกิดประโยชน์ ต้องเห็นคนที่เรารักตายไป
ถาม โดยสรุปต้องนั่งสมาธิให้ได้ก่อน ปัญญายังไม่ต้องพิจารณา ไม่เป็นไร รอไปก่อนได้
ตอบ เจริญสติไปก่อน ก่อนจะนั่งสมาธิต้องเจริญสติตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต้องควบคุมความคิดตั้งแต่ตื่นเลย อย่าปล่อยให้ใจลอยไปที่อื่น ให้อยู่ในปัจจุบันเสมอ ให้อยู่กับร่างกาย ให้อยู่กับพุทโธ เวลานั่งสมาธิ จิตจะรวมลงไปอย่างง่ายดาย วูบลงไปแล้วก็นิ่ง แล้วก็อยู่ได้นาน
ถาม เรื่องปัญญาช่างมัน จะช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร
ตอบ ยังไม่ต้องไปสนใจ ยังอยู่ชั้นอนุบาลอยู่ อย่าพึ่งไปเข้ามหาวิทยาลัย เรียนชั้นอนุบาลไปก่อน ยังยืนไม่ได้ อย่าไปเดิน อย่าไปวิ่ง
ถาม เวลาอยู่กับคนที่เราไม่ชอบ ตอนแรกก็หงุดหงิด แต่พอได้สติก็มานั่งนึกว่า เหมือนเราตกลงไปในบ่องู เราไม่ชอบ เพราะคิดว่าเขาจะมาทำอะไรเรา ทั้งกายทั้งใจ ก็เลยรังเกียจ ทั้งกลัวทั้งรังเกียจ ก็คิดต่อว่าถ้าไม่ติดอยู่ที่ตัวเรานี้ ความรู้สึกกับคนหรือกับงูนี้ก็คงไม่มี ลูกก็ค่อยๆคิดไป มันก็ช่วยได้ระดับหนึ่งค่ะ
ตอบ เป็นการพัฒนาปัญญา จากน้อยไปหามาก ให้ทำไปเรื่อยๆ
ถาม ปัญญาที่น้องพูดนี้ เป็นปัญญาที่เราพิจารณาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ปัญญาที่ใช้ในการภาวนา
ตอบ ข้อสอบมีหลายข้อ ทำข้อสอบที่ใกล้ตัวก่อน แล้วค่อยก้าวไปสู่ข้อสอบที่ไกลตัวต่อไป ถ้ามีปัญญาทำข้อสอบในชีวิตประจำวันได้ ก็จะอยู่อย่างไม่มีเรื่องมีราว ไม่วุ่นวายใจ ถ้าไม่มีก็จะไปทางโลภโมโทสัน กับเรื่องนั้นกับเรื่องนี้ ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องพัฒนาปัญญาจากจุดที่เรายืนอยู่ ไปสู่จุดที่เราต้องการจะไป
ถาม แต่ปัญญาที่ใช้ในการภาวนา พิจารณาเกิดแก่เจ็บตายนี่ เป็นอีกขั้นหนึ่ง
ตอบ เป็นข้อสอบที่เราต้องก้าวไปหา บางทีข้อสอบอาจจะก้าวมาหาเราก็ได้ ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ก่อน เวลาเขามาหาเรา ก็จะทำข้อสอบไม่ได้ ถ้าเตรียมตัวไว้ก่อน เวลาเขามาหาเรา ก็จะทำข้อสอบได้ ต้องทำข้อสอบไปตามกำลังของเรา ทำข้อสอบที่ง่ายก่อน แล้วค่อยทำข้อสอบที่ยากขึ้นไปตามลำดับ ข้อสอบที่ง่ายก็คือของนอกกาย เช่นลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรส เป็นของง่ายกว่าร่างกาย กว่าเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ กว่าจิต จิตจะยากที่สุด แต่คนสมัยนี้อยากจะทำข้อสอบที่ยากที่สุดก่อน อยากจะเรียนอภิธรรมกัน อภิธรรมก็คือธรรมขั้นสูง ธรรมขั้นสูงก็คือธรรมที่เกี่ยวกับจิตนี้เอง จะไปทำข้อสอบขั้นนั้น แต่ตัวเองยังอยู่ในระดับอนุบาล จะไปทำข้อสอบระดับปริญญาเอก จะได้เรื่องอะไร เมื่อเช้านี้ก็มีคนมาถามว่าจะไปเรียนพระอภิธรรมดีไหม เราตอบไปว่าเรียนให้หนักศีรษะทำไม เราไม่ได้อยู่ในระดับนั้น ถ้าอยู่ในระดับนั้นก็ต้องเรียน ถ้าปล่อยวางร่างกายได้แล้ว เป็นพระอนาคามีแล้ว ก็เอาเลย ต้องเข้าสู่อภิธรรมแล้ว แต่ตอนนี้ยังหวงยังเสียดายเงินทองอยู่ จะไปเรียนอภิธรรมไปทำไม ดูจิตเกิดดับๆ แต่พอเงินทองดับก็ทุกข์ใจ เรียนอภิธรรม จะสับสนกับการปฏิบัติ จะไม่ภาวนา ไม่นั่งสมาธิ ไม่ถือศีล ๘ จะดูจิตอย่างเดียว ดูแล้วทำให้ทุกข์ดับไปได้หรือเปล่า คนสมัยนี้หลงคิดว่ามีปัญญากัน มีการศึกษาทางโลกแล้วคิดว่าตัวเองมีปัญญา สามารถศึกษาธรรมะขั้นสูงได้ คือพระอภิธรรม แต่ไม่รู้ว่าพระอภิธรรมมีไว้สอนพระอนาคามี
ถาม มีคนบอกว่าดูจิตนี่เป็นวิธีที่ง่ายกว่า เป็นทางลัด
ตอบ ปล่อยร่างกายไม่ได้จะปล่อยจิตได้อย่างไร จิตละเอียดกว่า ยากกว่าหลายเท่า นี่คือวิธีของกิเลสที่จะหลอกให้หลงทาง โดยเอาธรรมะขั้นสูงมาล่อ มาหลอก ทำให้ไม่อยากทำขั้น ก.ไก่ ข.ไข่ ง่ายเกินไป เรื่องของเด็กๆ เราระดับปัญญาชน ต้องอภิธรรม พุทโธยังไม่ได้เลย ตั้งสติยังไม่ได้ นั่งสมาธิจิตยังไม่สงบเลย พิจารณาปล่อยวางลาภยศสรรเสริญยังปล่อยไม่ได้ ปล่อยวางความเจ็บไข้ได้ป่วยความตายของร่างกายยังไม่ได้ แล้วจะปล่อยจิตได้อย่างไร อภิธรรมเกี่ยวกับเรื่องจิต ผู้ที่จะเข้าถึงจิตได้ก็คือพระอนาคามี ไม่มีปัญหากับร่างกายแล้ว ร่างกายไม่เป็นข้อสอบแล้ว ทำข้อสอบของร่างกายได้แล้ว ยังไม่ได้ทำข้อสอบของจิต ตอนนั้นแหละถึงจะต้องเข้าสู่อภิธรรม ต้องเห็นธรรมารมณ์ที่เกิดดับๆ ต้องเห็นอริยสัจ ๔ ที่อยู่ภายในจิต ไม่เกี่ยวกับอริยสัจ ๔ ของทางร่างกาย ทางด้านลาภยศสรรเสริญ ทางรูปเสียงกลิ่นรสแล้ว แต่เกี่ยวกับอริยสัจ ๔ ของจิต เกี่ยวกับอารมณ์ที่เกิดดับๆอยู่ในจิต ความสว่างกับความไม่สว่าง ความสงบกับความไม่สงบที่อยู่ในจิต ตอนนั้นต้องใช้อภิธรรม ต้องศึกษาอภิธรรม ถ้าไปเรียนอภิธรรมทั้งๆที่ยังไม่ได้ปฏิบัติทานศีลภาวนาเลย ก็จะคิดว่าไม่ต้องเจริญสติ ไม่ต้องถือศีล ๘ ไม่ต้องบวช ไม่ต้องสำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ให้เหนื่อยไปเปล่าๆ ศึกษาอภิธรรมแล้วก็ไปเที่ยวได้ ไปทัวร์ต่างประเทศได้ เพราะดูจิตได้ตลอดเวลา ไปอยู่ที่ไหนก็ดูได้ ไปฮ่องกงก็ดูได้ ไปยุโรปก็ดูได้ ไปอยู่วัดทำไมให้เสียเวลา
ถาม การปฏิบัติธรรมนี้ ต้องมีการทดสอบอารมณ์ไหมคะ
ตอบ ถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านก็จะทดสอบเราอยู่เรื่อยๆ เวลาเห็นหน้าท่าน ท่านก็ทดสอบเราแล้ว
ถาม ทดสอบอย่างไรคะ
ตอบ ลองไปอยู่กับครูบาอาจารย์ดู
ถาม ก็นี่แหละค่ะ อยู่
ตอบ นี่ไม่ได้อยู่ นี่มาเยี่ยมเยียนเฉยๆ ยังไม่ได้ขึ้นเวทีกัน
ถาม ลูกกลัวมากเลยค่ะ ที่เขาสวนหลวงเขาบอกว่าจะมีการทดสอบอารมณ์ พยายามจะหนี ไม่รู้เขาทดสอบอย่างไร ก็เรายังไปไม่ถึงไหน ก็กลัวเขาจะถามถึงความก้าวหน้า
ตอบ นั่นไม่ใช่เป็นการทดสอบอารมณ์ การทดสอบอารมณ์ต้องไม่บอกล่วงหน้าก่อนว่าจะทดสอบกัน ถ้าบอกกันก็ไม่ใช่การทดสอบ
ถาม ทดสอบนี้หมายถึงดูความก้าวหน้าใช่ไหมคะ ว่าเราปฏิบัติก้าวหน้าไปถึงไหน
ตอบ ทดสอบก็คือให้ข้อสอบเราไปทำ เวลาครูบาอาจารย์ดุด่า เป็นการให้ข้อสอบแล้ว เวลาใครด่าเราก็เป็นการสอบอารมณ์ ว่าเรานิ่งหรือเปล่า เวลาสอบจริงๆจะไม่ถามว่าจิตเป็นอย่างไร เพราะโกหกกันได้ ว่าอารมณ์ดีหรือไม่ดี ต้องตบหน้าสักฉาดหนึ่ง ถึงจะรู้ว่าอารมณ์ดีหรือไม่
โยม เข้าใจผิด คิดว่าเขาถามว่าเป็นอย่างไร วันนี้ก้าวหน้าไหม ถ้าไม่ก้าวหน้าก็จะอายเขา
โยม เหมือนที่ท่านอาจารย์เล่าเรื่องตอแหล
ตอบ การทดสอบมีหลายวิธี
ถาม ท่านอาจารย์โดนหลวงตาทดสอบบ้างไหมคะ
ตอบ ทุกครั้งที่พบท่านก็ต้องเตรียมตัวทำข้อสอบ เพราะไม่รู้ว่าจะมาแบบไหน ผู้ปฏิบัติจะดูที่ใจของตนเป็นหลัก ท่านจะให้ข้อสอบอะไรมา ก็ดูที่ใจว่านิ่งหรือไม่นิ่ง
ถาม เราต้องตรวจข้อสอบด้วยตัวของเราเอง ใช่ไหมครับ
ตอบ ใช่
ถาม ฟังอย่างนี้ก็ไม่ค่อยน่ากลัวแล้ว ก็จะพยายามไม่โกรธ
ตอบ ถ้าเขาบอกไม่ให้อยู่ที่นี่
โยม ก็จะอยู่
ตอบ ก็ลองดู ตอนนี้ก็พูดได้ ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง
ถาม คราวที่แล้วโดนทดสอบที่เขาสวนหลวง ที่เจออะไรดำๆน่ะค่ะ ถ้าเป็นเมื่อก่อนนี้ก็กลับบ้านแล้ว ก็เหมือนกับการทดสอบชนิดหนึ่ง
ตอบ มีหลายรูปแบบ ถ้าบอกล่วงหน้าก่อน ก็จะไม่เป็นการทดสอบ บอกให้รู้ข้อสอบก่อนไม่ได้ ข้อสอบต้องปิดไว้เป็นความลับ ถ้าข้อสอบรั่วก็หมดความหมาย ข้อสอบก็คือการกระตุ้นกิเลสของเราให้เกิดขึ้นมา ถ้าเป็นน้ำก็เขย่าขวดน้ำให้ตะกอนลอยขึ้นมา ดูว่ายังมีตะกอนอยู่หรือเปล่า ถ้ามีตะกอนน้ำก็จะขุ่น ถ้าไม่มีตะกอนเขย่าขวดอย่างไรก็จะไม่ขุ่น
ถาม ท่านอาจารย์เคยทดสอบพวกเราบ้างไหมคะ
ตอบ ที่นี่ไม่ใช่ห้องทดสอบ เป็นห้องให้ความรู้ ถ้าจะทดสอบต้องมาอยู่ด้วยกัน
ถาม มีอยู่วันหนึ่ง อาบน้ำอยู่แล้วรู้สึกว่ากลัวผี ก็คิดขึ้นมาว่า ผีก็เหมือนเรา ตอนนี้เขาไม่มีร่างกายแล้ว ตัวเราเองอีกหน่อยก็ตายเช่นกัน พอคิดขึ้นมาได้อย่างนี้ จะเห็นเป็นกระดูกแวบหนึ่ง ทั้งๆที่ธรรมดาภาวนาไม่เคยเห็นเลย แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เคยกลัวผีอีกเลย อย่างนี้เรียกว่า...
ตอบ เรียกว่ามีปัญญา เห็นความจริง
ถาม แต่มันก็ไม่ได้เกิดอย่างนี้ทุกครั้ง
ตอบ ถ้าไม่กลัวแล้ว ก็จะไม่เกิด
ถาม การใช้ปัญญาเหมือนตอนที่อาบน้ำนี้ ถูกต้องใช่ไหมคะ
ตอบ ใช่ ถ้าไม่หายกลัวก็แสดงว่ายังไม่มีปัญญา ถ้าหายกลัวก็แสดงว่ามีปัญญา
ถาม ที่เห็นกระดูกนี่คือเห็นด้วยปัญญาใช่ไหมคะ
ตอบ เห็นอะไรที่ทำให้ดับความกลัวได้ ก็ถือว่าเป็นปัญญา
ถาม เวลาที่นั่งสมาธิ พิจารณาลมหายใจและพุทโธไปด้วย แล้วอยู่ๆพุทโธก็ไม่มี แต่รู้ว่าตัวเองนั่งอยู่
ตอบ จิตสงบ จิตว่าง
ถาม แต่เป็นไม่นานนะคะ
ตอบ พยายามทำให้เป็นนานๆ
ถาม เวลาที่เป็นอย่างนี้ จะนั่งได้ทั้งคืน มีความสุข ไม่มีความง่วง ถูกแล้วใช่ไหมคะ
ตอบ ถูกแล้ว