กัณฑ์ที่ ๔๔๘       ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๕

 

ความหลงทำให้ยึดติด

 

 

ความหลงทำให้เรายึดติด ยึดติดกับทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ทำให้เกิดความอยากในสิ่งที่ยึดติด อยากจะให้ดี อยากจะให้อยู่กับเราไปนานๆ อยากจะไม่ให้เขาจากเราไป ความอยากเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาในใจ เกิดความวิตกกังวล เกิดความห่วงใย เวลาที่เขาจากไปก็เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะไม่เห็นความจริง ไม่ได้สอนใจให้เห็นความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องไปจากเรา ต้องเปลี่ยนแปลงไป ควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้าอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็จะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา นี่คือแสงสว่างแห่งธรรมหรือปัญญาที่จะมาแก้ความหลง พอไม่หลงแล้วก็จะไม่เดือดร้อนกับสิ่งต่างๆ เพราะไม่มีความผูกพัน เขาจะอยู่ก็อยู่ไป เขาจะไปก็ปล่อยเขาไป จะไม่พึ่งพาอาศัยสิ่งต่างๆมากจนเกินไป พึ่งเท่าที่จำเป็น แล้วก็ไม่ยึดติดกับสิ่งที่พึ่ง เพราะรู้ว่าพึ่งได้ชั่วคราว ให้มายึดติดกับที่พึ่งที่แท้จริง ก็คือแสงสว่างแห่งธรรมหรือปัญญา ให้มีปัญญาสอนใจอยู่เรื่อยๆ ทำใจให้สงบ เข้าเกียร์ว่างให้ได้ ปล่อยวาง ทำใจให้ว่าง พอใจว่างปล่อยวางได้แล้วก็สบาย ก็ทำอะไรไปตามเหตุตามผล ไม่ได้ไม่ทำอะไรเลย แต่ก็รู้ว่ามีกรอบ กรอบของเหตุผล จะดูแลรักษาร่างกายให้ดีขนาดไหน ก็ดูแลได้ในกรอบของมัน จะให้อยู่นอกกรอบไม่ได้

 

เมื่อเช้านี้มีหมอเอายาบำรุงร่างกายมาให้ เราบอกอย่าให้เรากินเลย เราเหนื่อยกับการกินยา ตอนนี้ก็มียาอยู่หลายชนิดแล้ว กินเข้าไปหลายๆชนิด เดี๋ยวจะตายเพราะยา บอกให้เขาเอากลับไป ถ้าจะให้ก็จะรับไว้ ถ้าจะบังคับให้กิน ก็จะไม่กิน พูดตรงไปตรงมา

 

ถาม  เดี๋ยวนี้ยาแผนปัจจุบันมีผลข้างเคียง บางทีมีสารสะสม

 

ตอบ ยาแผนโบราณที่ใส่สเตอรอยด์ผสมเข้าไปก็มี

 

ถาม  ถ้าไม่มีจรรยาบรรณก็จะใส่

 

ตอบ ใช่ ถึงบอกว่าทำใจดีกว่า ทำใจแล้วก็ปล่อยวางร่างกาย ดูแลไปเท่าที่จะดูแลได้ อย่าไปทุกข์กับร่างกาย อย่าไปเครียดกับการดูแลร่างกาย จนอยู่อย่างไม่มีความสุข อยากให้อยู่นานๆไปทำไม

 

ถาม  อยู่ไปตามธรรมชาติ ธรรมชาติให้อยู่ก็อยู่ไป

 

ตอบ ถ้าจะอยู่ก็ต้องอยู่แบบพระพุทธเจ้า อยู่อย่างนั้นถึงจะได้กำไร ถ้าไม่ได้อยู่แบบพระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่ อยู่ไปก็เสียชาติเกิด อยู่ไปก็ไม่ได้อะไร ถ้าทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำก็จะได้กำไร พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราฉลาด ให้มีปัญญา ให้ดับความทุกข์ภายในใจให้หมดไป ทรงสอนให้ยุติการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าไม่ทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว อยู่ไปก็เท่านั้น ต่อให้อยู่ไปอีก ๑๐๐ ปี ๒๐๐ ปี ก็จะไม่ได้อะไร

 

ถาม  เดี๋ยวนี้คนสมัยใหม่ อยากแต่งงานแต่ไม่อยากมีลูก ปู่ย่าตายายต้องเอาเงินมาล่อ ให้ ๑ ล้านบ้าง ๒ ล้านบ้าง เป็นผู้หญิงผู้ชายก็ได้

 

ตอบ เกิดมาแล้วก็ต้องมีปัญหาต่างๆตามมา ถ้าไม่เกิดก็จะสบาย ถ้ามีลูกก็มีกองทุกข์เพิ่มขึ้นอีกกองหนึ่ง ร่างกายนี้เป็นกองทุกข์ เราอยู่ตามลำพังก็ทุกข์พอสมควรแล้ว ต้องไปหากองทุกข์มาเพิ่มอีกกอง หาภรรยาหาสามีมาแบกทุกข์ แล้วก็ต้องหาลูกมาเพิ่มอีก แล้วก็หาหลานมาเพิ่มอีก เป็นกองทุกข์ตามมา เพราะไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าการเกิดนี้เป็นทุกข์ พอเกิดแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เกิดแล้วก็ต้องดิ้นรนต่อสู้ เลี้ยงดูร่างกาย มีแต่ภาระ มีแต่เรื่องให้ทำอยู่ตลอดเวลา ความสุขที่ได้จากร่างกายก็เป็นความสุขชั่วคราว สุขประเดี๋ยวประด๋าว ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ ถ้ามีความสุขกับการสูบบุหรี่ก็ต้องสูบเรื่อยๆ มีความสุขกับดื่มสุราก็ต้องดื่มเรื่อยๆ มีความสุขกับการกระทำอะไร ก็ต้องทำอยู่เรื่อยๆ เวลาไม่ได้ทำก็ทุกข์ อยู่ไม่เป็นสุข อยู่เฉยๆไม่ได้ เพราะไม่รู้วิธีอยู่ให้เป็นสุขอยู่อย่างไร ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาทรงสอนก็จะอยู่อย่างนี้ ต้องดิ้นรนต่อสู้ ตะเกียกตะกาย เช้าก็ออกจากบ้านเพื่อไปหาเงิน พอได้เงินมาก็ตะเกียกตะกายใช้เงินกัน พอเงินหมดก็หาอีก หาเงินใช้เงินไปจนวันตาย ก็มีเท่านั้น ไม่มีความสุขที่แท้จริง เพราะไม่รู้ว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ความสุขที่ถาวรนี้มีอยู่แต่หากันไม่เจอ หากันไม่เป็น

 

ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาทรงสอนก็จะไม่มีใครหาพบ ถึงแม้ได้ทรงสอนแล้วก็ยังไม่สามารถปฏิบัติตามได้ มีเพียงไม่กี่คนที่จะสามารถปฏิบัติตามได้ เพราะจะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เคยกินอยู่แบบนี้ ต้องเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง เช่นเคยอยู่ในวังก็ต้องไปอยู่ในป่า เคยมีอาหารครบถ้วนบริบูรณ์ก็ต้องออกไปขอเขา อาศัยความเมตตาของผู้อื่น แล้วแต่เขาจะให้อะไรมา ก็กินเพื่ออยู่ ไม่ได้อยู่เพื่อกิน กินไปตามมีตามเกิด ที่ต้องไปอยู่ในป่าก็เพราะว่าเป็นที่ ที่จะทำให้เกิดความสงบทางจิตใจ ถ้าอยู่ในบ้านเมืองนี้จะมีเรื่องราวต่างๆคอยกวนใจ ทำให้ใจไม่สงบ ใจไม่สงบก็จะไม่มีความสุขที่แท้จริง ก็ต้องอาศัยความสุขแบบยาขมเคลือบน้ำตาล สุขเดี๋ยวเดียว แล้วก็มีความทุกข์ตามมา เวลาอยากจะมีความสุขแต่ไม่สามารถจะมีได้ เช่นสูบบุหรี่ เวลาบุหรี่หมดไม่มีบุหรี่สูบจะหงุดหงิด สูบไปก็จะทำให้ชีวิตสั้นลง มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน เป็นความทุกข์ที่จะตามมา จึงต้องพยายามปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติให้ได้ อยู่แบบพระพุทธเจ้า ลองซ้อมอยู่แบบคนจนสักวันหนึ่ง ถือศีล ๘ อดข้าวเย็น ปิดโทรทัศน์ปิดเครื่องบันเทิงต่างๆ ให้อยู่กับความว่าง กับความไม่มีอะไร ไม่ต้องทำอะไรทั้งวัน ให้ดูแลรักษาร่างกายอย่างเดียว แล้วก็ควบคุมใจ ทำใจให้สงบ

 

อุบายของการทำใจให้สงบก็มีหลายวิธี สวดมนต์ไปก็ได้ บริกรรมพุทโธๆไปก็ได้ ใจจะคิดได้ทีละอย่าง ถ้าบังคับให้คิดเรื่องนี้ ก็จะไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ ถ้าสวดมนต์ไปเรื่อยๆ จะไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ ก็จะสงบได้ เพราะการสวดมนต์จะทำให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน สวดมนต์ไปหรือบริกรรมพุทโธไป ไม่เช่นนั้นก็บังคับใจให้อยู่ในปัจจุบัน อย่าให้ไปอดีตไปอนาคต ไปที่โน่นไปที่นั่น ให้อยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่ร่างกาย อยู่กับการทำงานของร่างกาย อย่าไปคิดเรื่อยเปื่อย ถ้าหยุดความคิดได้แล้ว เวลานั่งสมาธิก็จะสงบง่าย นั่งหลับตาแล้วก็ดูลมหายใจ อย่าไปคิดเรื่องอื่น ลมหายใจก็จะพาใจเข้าสู่ความสงบ พอสงบแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร สงบได้นานก็ยิ่งดี ถ้าสงบไม่นานก็ต้องทำให้สงบให้นานให้ได้ ใหม่ๆแรกๆจะสงบเดี๋ยวเดียว วูบลงไปแล้วก็ถอนออกมา เด้งออกมา แต่จะได้สัมผัสกับความสงบความว่าง จะทำให้มีศรัทธามีความยินดีที่จะหาความสุขแบบนี้ให้มากขึ้น เพราะเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ความสุขที่เกิดจากความสงบ เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย พอได้พบกับความสงบแล้วก็จะติดใจ จะพยายามทำให้มีมากขึ้น ก็ต้องถือศีล ๘ บ่อยขึ้น ตอนต้นก็ถืออาทิตย์ละวัน พอได้สัมผัสกับความสงบแล้วก็จะถือไปทุกวันเลย มีภารกิจการงานอะไรที่ไม่สำคัญก็ตัดไป ถ้าพอมีพอกินแล้วก็หยุดทำงาน ถ้าบวชได้ก็บวช บวชแล้วจะได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ ทำใจให้สงบได้ตลอดเวลา ถ้าทำอย่างนี้อยู่ไปก็กำไร ทำไปจนกว่าความสุขจะมีเต็มเปี่ยมภายในใจ และมีอยู่ตลอดเวลา

 

ตอนต้นความสุขจะได้เป็นพักๆ เพราะไม่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องความสุขก็จะต่อเนื่อง จนมีความสุขตลอดเวลา พอถึงเวลานั้นก็จะสบาย หมดปัญหา ไม่มีความทุกข์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะมีความสงบรักษาใจไม่ให้ถูกเหตุการณ์ต่างๆมาทำให้ทุกข์ ถ้ามีความสงบที่เกิดจากการนั่งสมาธิ แล้วก็มีปัญญามาคอยรักษา ความสงบก็จะคงอยู่ไปตลอด ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็จะเฉยได้ ใครชมก็เฉยได้ ใครด่าก็เฉยได้ ได้สมบัติมาก็เฉย สูญเสียสมบัติไปก็เฉย ได้อะไรมาก็เฉย เสียอะไรไปก็เฉย ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตายก็เฉย เฉยแล้วสบาย ไม่ต้องไปยุ่งกับร่างกาย ถึงเวลาจะตายก็เฉย ถ้าไม่ยุ่งกับร่างกายแล้วใจจะไม่เดือดร้อน อย่าไปอยากให้ร่างกายอยู่ต่อไป อย่าไปอยากให้ร่างกายหายเจ็บ อยู่กับความเจ็บไป เจ็บก็อยู่กับเจ็บไป ตายก็อยู่กับตายไป ถ้าเฉยได้แล้วไม่เป็นปัญหา ปัญหาอยู่ตรงที่เฉยไม่เป็น

 

พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงสอนให้เฉย ทำทานก็เหมือนเสียทรัพย์ไปเสียเงินไป เวลาเสียเงินไปจะเสียใจ เวลาได้เงินมาจะดีใจ ตอนนี้ก็มาฝึกให้เสียเงิน ถ้าเสียด้วยความสมัครใจ เสียด้วยความยินดีจะไม่เสียใจ ทำไมเวลาซื้อข้าวของที่เราอยากได้ เราเสียใจไหม วิธีที่จะแก้ปัญหาเรื่องการใช้เงินที่ไม่จำเป็น ก็คือเวลาที่อยากจะซื้ออะไร ก็ซื้อมา แล้วก็เอาไปให้คนอื่น ถ้าอยากจะซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ ซื้อมาเลย แล้วก็เอาไปให้คนอื่น จะได้มีความสุข ๒ ต่อ เวลาซื้อก็มีความสุข เวลาเอาไปให้คนอื่นก็มีความสุข แต่มักจะไม่คิดอย่างนั้นกัน ถ้าซื้อให้เราจะยินดี ถ้าซื้อให้คนอื่นไม่ยอมซื้อ นอกจากมีเหตุการณ์ เช่นวันปีใหม่ วันเกิดอย่างนี้ จึงต้องหัดเฉยกับการสูญเสียสิ่งที่เรารัก สิ่งที่เรารักมากสิ่งหนึ่งก็คือเงินทอง สิ่งที่เรารักมากกว่าเงินทองคืออะไร ก็คืออวัยวะต่างๆ แล้วสิ่งที่เรารักมากกว่าอวัยวะคืออะไร ก็คือชีวิต พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต แล้วก็ให้สละชีวิตเพื่อรักษาความสงบ รักษาธรรมะ ธรรมะก็คือความสงบ เพราะความสงบมีคุณค่ายิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ที่มีความสงบแล้วสละทุกสิ่งทุกอย่างได้ สละทรัพย์ได้ สละอวัยวะได้ สละชีวิตได้ เพราะความสงบจะทำให้ไม่สะเทือนใจกับการสูญเสียสิ่งต่างๆไป

 

จึงต้องมาหัดทำใจให้เฉยกับการสูญเสียด้วยการสละทรัพย์ แล้วก็มารักษาศีล อย่าทำบาป เพราะทำบาปจะทำให้ใจวุ่นวาย ทำบาปแล้วจะมีความหวาดกลัว ไม่สบายใจ กลัวจะต้องไปรับผลบาป ถ้าไม่ทำบาปก็จะไม่มีความหวาดกลัว ไม่วิตกกังวล ใจก็จะสงบ ทำให้นั่งสมาธิได้ไม่ยาก ก่อนจะนั่งสมาธิก็ต้องเจริญสติก่อน ควบคุมความคิดไม่ให้คิดเรื่องราวต่างๆ คิดแต่บทสวดมนต์ หรือคิดแต่พุทโธๆไป หรือให้ให้คิดอยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น คือเฝ้าดูร่างกายทุกเวลานาที เฝ้าดูการกระทำของร่างกาย พอมีเวลาว่างก็นั่งหลับตา เพื่อให้ใจเข้าสู่ความสงบได้อย่างเต็มที่ พอสงบแล้วก็ปล่อยให้สงบไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ พอถอนออกมา ถ้าอยากจะรักษาความสงบต่อไปก็ทำได้ ๒ วิธี คือ ๑. ควบคุมความคิดต่อไป อย่าให้คิดอะไร พุทโธๆต่อไป สวดมนต์ต่อไป หรือเฝ้าดูการกระทำของร่างกายต่อไป ๒. ใช้ปัญญาควบคุมใจไม่ให้กระเพื่อม ถ้ามีปัญญาจะรู้ว่าเหตุที่ทำให้ใจกระเพื่อมก็คือความอยากต่างๆ เวลาเกิดความอยากใจจะไม่สงบ จะกระวนกระวายกระสับกระส่าย ตอนนั้นก็ต้องใช้ปัญญาเข้ามาหยุดความอยาก ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆที่อยากได้ไม่เป็นความสุข เป็นความทุกข์ ถ้าเห็นว่าเป็นความทุกข์ก็จะไม่อยากได้ แต่จะไม่เห็นกัน เพราะไม่เห็นความไม่เที่ยง ได้มาแล้วเปลี่ยนไป เวลาเปลี่ยนไปก็ไม่สุขแล้ว เวลาได้ของมาใหม่ๆจะสุข เวลาเปลี่ยนไปหรือเสียไปก็ไม่สุขแล้ว เราไม่เห็นตรงนั้น จึงต้องพิจารณา ถ้าเขาจากไปก่อนที่เราจะพร้อมให้เขาจากไป เราก็จะทุกข์ใจ ตอนนี้ไม่มีอะไรก็อยู่แบบไม่มีอะไรดีกว่า ทุกข์แบบไม่มีอะไรดีกว่า ถ้ามีปัญญาก็จะหยุดความอยากได้ ก็จะหายทุกข์ จะตั้งอยู่ในความสงบได้

 

นี่คือการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบของใจ ให้อยู่กับเราไปตลอด ลองไปทำดู พระพุทธเจ้าทำมาแล้ว พระสาวกทำมาแล้ว ได้ผลเหมือนกัน คือได้ความสบายใจ ไม่ทุกข์กับเรื่องอะไร ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่ เพราะไม่มีตัวผลักดันให้ไปเกิด ตัวผลักดันก็คือความอยากนี้เอง ไม่มีความอยากแล้วอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่อยากจะไปไหน ถ้ามีความอยากจะอยู่ไม่ได้ ต่อให้อยู่ในวังก็อยู่ไม่ได้ ต่อให้มีคฤหาสน์มีทุกอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ก็จะเบื่อ อยากจะออกไปข้างนอก ถ้าใจสงบแล้วจะไม่อยาก จะเฉยๆ ไปก็ได้ แต่ไม่ได้ไปเพราะความอยาก ถ้ามีเหตุให้ไปก็ไป เช่นไปหาหมอ มีธุระต้องไปก็ไป แต่ไม่ได้ไปด้วยความอยาก นี่คือเหตุผลที่เราควรจะอยู่กัน อยู่เพื่อทำใจให้สงบ ถ้าอยู่เพื่อทำตามความอยากก็อย่าอยู่ จะขาดทุน เพราะมีแต่จะเพิ่มความทุกข์ให้มีมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง

 

ปัญหาของพวกเราก็คือปฏิบัติกันน้อยไป ผลก็เลยไม่ค่อยปรากฏ ถ้าปฏิบัติให้มากขึ้น ผลก็จะมากขึ้นไปตามลำดับ ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติ อย่างที่พระพุทธเจ้าที่ได้ทรงทุ่มเท พระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับที่ดีที่สุดของพวกเรา พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ถ้ายึดแบบฉบับของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ก็จะได้ผลเช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงได้รับ แต่พวกเราไม่เอาพระพุทธเจ้าเป็นแบบฉบับกัน ชอบเอากิเลสเป็นแบบฉบับกัน ยังอยากเที่ยว ยังอยากกิน ยังอยากดื่ม ยังอยากหาความสุขจากสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงมีมาแล้ว มีปราสาท ๓ ฤดู มีทุกสิ่งทุกอย่างในทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ อันประณีตอันละเอียดอันวิเศษ ที่มนุษย์สามารถจะสรรหามาได้ ทรงมีมาแล้ว แต่ทรงสละไปหมด เพราะทรงเห็นว่าเป็นยาพิษมากกว่าเป็นยารักษาใจ ทำให้ใจเป็นทุกข์มากกว่าเป็นสุข เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล เวลาอมเข้าไปใหม่ๆก็หวาน พอน้ำตาลที่เคลือบหายไปก็เหลือแต่ความขม รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเป็นอย่างนี้

 

เพราะไม่เที่ยง เป็นความสุขที่ไม่เที่ยง สุขเดี๋ยวเดียว สุขแล้วก็หายไป เหลือแต่ความว้าเหว่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ทำให้ต้องหาความสุขแบบนี้ใหม่ เช่นมีสามีมีแฟน เวลาเลิกกัน แล้วทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องหาแฟนใหม่ หาสามีหาภรรยาใหม่ แทนที่จะเข็ด ว่าเวลาจากกันแล้วมันทรมานใจเหลือเกิน กลับไม่เห็นอย่างนั้น กลับไปเห็นว่าถ้าไม่มีคนนี้ก็ต้องหาคนใหม่มาทดแทน หากี่คนก็เหมือนกัน หาคนใหม่มาเดี๋ยวเขาก็จากเราไปอีก นี่คือความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นอย่างนี้ ต้องหามาทดแทนอยู่เรื่อยๆ เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน เกิดแล้วดับไป หามากี่ภพกี่ชาติแล้ว ก็หารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้กัน พวกที่มาเกิดในโลกมนุษย์นี้ เป็นพวกที่ยังติดกามคุณ ๕ ติดรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ แล้วก็ไม่ต้องสอนด้วย เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องสอนเลย เรื่องทำทานนี้ต้องสอน เรื่องรักษาศีลนี้ต้องสอน เรื่องภาวนานี้ต้องสอน แต่เรื่องหาแฟนนี้ไม่ต้องสอน เดี๋ยวนี้เด็กอายุ ๑๒ ขวบก็หาแฟนกันแล้ว เพราะมันฝังอยู่ในใจ คือกามตัณหา ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสนี้ มันฝังอยู่ในใจ ติดมากับใจ เวลาตายจากร่างกายร่างก่อน ความอยากนี้ก็ยังฝังอยู่ในใจ พอมีโอกาสเมื่อไหร่ก็จะหาแฟนทันที หาแล้วก็มีความทุกข์ตามมา

 

เวลาอยู่ด้วยกันถ้ามีความเห็นไม่ตรงกัน ก็จะทุกข์ จะทะเลาะกัน ถ้ามีแฟนคนนี้แล้วแต่ยังอยากจะได้อีกคนหนึ่ง ก็แอบไปหาอีกคนหนึ่ง พออีกคนรู้เข้าก็เสียใจ ก็อาจจะฆ่ากันตายหมด นี่คือความทุกข์ที่ตามมา ถ้าไม่มีแฟนอยู่คนเดียวได้ก็จะสบาย ถ้าอยากจะอยู่คนเดียวก็ต้องทำใจให้สงบ ต้องภาวนา สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม บริกรรมพุทโธๆไป ก็จะควบคุมความอยากได้ พอใจสงบแล้วก็จะเย็นสบายมีความสุข ไม่หิวไม่อยาก ก็ต้องพยายามรักษาความสงบต่อไป ด้วยการนั่งสมาธิต่อ หรือใช้ปัญญาสอนใจ ให้เห็นว่าความสุขแบบอื่นไม่ดี ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ดีที่สุด ความสุขที่ได้จากความอยากต่างๆนี้ไม่ดี เพราะมีความทุกข์ตามมา มีปัญหาต่างๆตามมา พอมีครอบครัวก็จะมีลูก มีภาระต้องเลี้ยงลูก ต้องเหนื่อยยาก ถ้ามีความสงบแล้วก็จะอยู่คนเดียวได้ ได้กำไรไม่ขาดทุน ถ้ามีครอบครัวก็จะขาดทุน ต้องดิ้นรนหาเงินหาทองมาเลี้ยงดูกัน ต้องทุกข์ต้องผิดหวังเวลาลูกไม่ดี

 

จึงควรเห็นโทษของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ให้เห็นว่าเป็นยาพิษ ไม่ใช่เป็นขนมหวาน เป็นยาขมเคลือบน้ำตาล หวานเดี๋ยวเดียว ใหม่ๆก็หวานดี พอนานเข้าไปความหวานก็จางหายไป อยู่กันแบบทนกันอยู่ ถ้าอยู่กันไม่ได้ก็ต้องหย่าร้างกันไป ไปหาคนใหม่ หาคนใหม่ก็แบบเดียวกัน ถ้าหาความสุขแบบนี้ ก็จะต้องเจอกับความทุกข์แบบนี้ไปเรื่อยๆ ตายจากชาตินี้ก็ต้องไปเกิดใหม่ เพื่อไปหาความสุขแบบนี้ใหม่อีก ถ้าทำใจให้สงบได้ก็จะหยุด ไม่ต้องไปหาอะไร มีความสุขในตัวเรา ไม่ต้องไปหาความสุขข้างนอก ความสุขในตัวเรานี้เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่จะอยู่กับเราไปตลอด การไม่กลับมาเกิดก็ไม่ได้หมายความว่าเราหายไปไหน เราก็ยังอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเราไม่ต้องมีร่างกายมาเป็นภาระ มาเป็นเครื่องมือหาความสุขให้กับเรา เหมือนคนที่ไม่ต้องออกนอกบ้านก็ไม่ต้องมีรถ ถ้ามีทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วนบริบูรณ์อยู่ในบ้าน มีความสุขกับการอยู่ในบ้านแล้ว ก็ไม่ต้องมีรถ คนที่มีรถเพราะว่ายังต้องออกไปนอกบ้าน คนที่ไม่ออกไปนอกบ้านไม่มีรถ ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็ไม่ได้สูญหายไปไหน ท่านก็ยังอยู่ อยู่เหมือนกับเราอยู่นี่แหละ เพียงแต่ท่านไม่มีร่างกายมาเป็นภาระ ท่านไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ จึงไม่ต้องกลัวว่าปฏิบัติไปแล้ว พอไม่มีความอยากแล้วเราจะอันตรธานหายไป สูญไป ไม่ใช่อย่างนั้น

 

ถาม  เป็นดวงจิตที่อยู่ใช่ไหมคะ

 

ตอบ เหมือนดวงจิตของเราที่อยู่เดี๋ยวนี้

 

ถาม  แล้วจะอยู่ส่วนไหนของโลก

 

ตอบ อยู่ในโลกทิพย์ จิตอยู่ในโลกทิพย์ ร่างกายอยู่ในโลกธาตุ อยู่คนละโลกกัน เหมือนยานที่ไปสำรวจที่ดาวอังคาร ร่างกายเหมือนอยู่ที่ดาวอังคาร แต่ผู้ควบคุมยานนี้อยู่ที่โลกนี้ สมมุติว่ายานนั้นเกิดเสียหายไป ติดต่อกันไม่ได้ คนควบคุมก็ยังอยู่ตรงนี้อยู่ ดวงจิตแต่ละดวงนี้ไม่มีวันสูญไม่มีวันดับ ของใครของมัน อยู่ในโลกทิพย์ด้วยกันทุกดวง

 

ถาม  ที่ท่านไปนิพพานนี้ ไม่ได้หมายถึงดับสูญไปหมดเลยหรือคะ

 

ตอบ ท่านไปสูญอะไร ท่านก็สูญแต่กิเลส สูญแต่ความอยาก เราไปแปลความหมายกันเองว่าสูญทุกอย่าง ก็อย่างที่ยกตัวอย่างว่า คนที่ไม่มีรถกับคนที่มีรถนี้สูญหรือเปล่า คนที่อยู่บ้านกับคนที่ยังต้องออกนอกบ้านต่างกันตรงที่ ถ้าต้องออกนอกบ้านก็ต้องมีรถพาไป

 

ถาม  อยู่ที่โลกทิพย์นี้หมายถึงว่าอยู่ที่สวรรค์ หรืออยู่อีกภูมิหนึ่ง

 

ตอบ ในโลกทิพย์มีหลายภูมิ ตั้งแต่นิพพานลงมาถึงนรก เป็นโลกทิพย์ทั้งนั้น ใจเราตอนนี้ก็อยู่ที่โลกทิพย์ อาจจะเป็นนิพพานหรือเป็นนรกก็ได้ ขึ้นอยู่ที่การกระทำของเรา

 

ถาม  ใจอยู่ที่โลกทิพย์ แต่ไม่มีร่างกาย

 

ตอบ มีร่างกายหรือไม่มีร่างกาย ใจก็อยู่ในโลกทิพย์เสมอ ไม่ได้อยู่ในโลกธาตุ

 

ถาม  ไม่ได้เป็นสัมภเวสี ล่องลอยไปเรื่อยๆ

 

ตอบ สัมภเวสีก็คือใจที่หิว ที่อยาก ที่ต้องหาที่เกิดใหม่ ไม่ได้ลอยไปไหน

 

ถาม  เราไม่ต้องหาเลยได้ไหมคะ อยู่ในโลกทิพย์ไปเรื่อยๆ

 

ตอบ ได้ เช่นใจของพระพุทธเจ้า ใจของพระอรหันต์ ท่านไม่หาที่เกิดแล้ว ท่านหยุดแล้ว เพราะท่านไม่หิวไม่อยากแล้ว ดวงจิตแต่ละดวงไม่มีวันดับ มีแต่แสวงหาร่างกายใหม่ไปเรื่อยๆ พอร่างกายนี้ดับไปก็ไปหาร่างกายใหม่ ถ้าเข้าท้องมนุษย์ไม่ได้ ก็เข้าท้องสัตว์เดรัจฉานไปก่อน เข้าท้องสัตว์เดรัจฉานง่ายกว่า เป็นหนอนเป็นไส้เดือนเป็นแมลงนี้เป็นง่าย เป็นมนุษย์นี้เป็นยาก ต้องมีบารมีมากกว่าผู้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องมีศีลถึงจะเกิดเป็นมนุษย์ได้ ถ้าไม่มีศีลก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉานก่อน เหมือนกับมีเงิน ถ้ามีเงินมากก็ซื้อรถเบนซ์ได้ มีเงินน้อยก็ซื้อไม่ได้ ต้องซื้อจักรยานซื้อรถเข็น อยู่ที่กำลังทรัพย์ของเรา กำลังทรัพย์ก็คือบุญ ศีลสมาธิปัญญานี้ก็คือกำลังทรัพย์ จิตของพวกเราไม่เคยตาย อายุของจิตนี้นับไม่ถ้วนแล้ว เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติไปเรื่อยๆ เปลี่ยนร่างกายไปเรื่อยๆ พอร่างกายนี้หมดก็หาร่างกายใหม่ ช่วงที่หาที่รออยู่นี้ก็ไปใช้บุญใช้กรรมก่อน ถ้ามีบุญก็เป็นเทพเป็นพรหม ถ้ามีบาปก็เป็นเปรตเป็นนรกเป็นเดรัจฉาน จนกว่าจะหมดบาปหมดบุญ ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ กลับมาทำบุญทำบาปใหม่ เวียนว่ายตายเกิด ขึ้นๆลงๆ จนกว่าจะพบกับพระพุทธเจ้า

 

ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนได้ ก็ยุติการเวียนว่ายตายเกิดได้ ไม่เติมน้ำมันให้กับจิต จิตเป็นเหมือนรถยนต์ น้ำมันที่ทำให้จิตวิ่งไปวิ่งมา ก็คือกิเลสตัณหาความโลภความอยาก พอตัดกิเลสตัณหาได้หมด ก็เท่ากับน้ำมันหมด รถยนต์ก็วิ่งไม่ได้ จิตที่ไม่มีความอยากก็จะไม่ไปไหน อิ่มแล้ว ไม่ต้องไปหาร่างกายใหม่ ไม่ต้องไปใช้บาปใช้บุญอีกต่อไป เป็นนิพพาน นิพพานก็เป็นจิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีความโลภความอยาก ไม่มีความโกรธความหลง ปรมัง สุญญัง ว่างจากความโลภความโกรธความหลง ที่ทำให้เราผลิตภพชาติต่างๆขึ้นมา เวลาคิดปรุงแต่งไปทางกิเลสตัณหา จิตก็จะไม่ว่าง พอหยุดได้จิตก็ว่าง ความว่างนี้มีหลายระดับ ว่างในระดับสมาธิ ก็ว่างประเดี๋ยวเดียว ออกจากสมาธิมาก็เริ่มคิดใหม่ ถ้าว่างระดับปัญญาก็มีหลายขั้น มีขั้นของโสดาบัน ของสกิทาคามี ของอนาคามี ของอรหันต์

 

ขั้นโสดาบันก็ว่างในระดับหนึ่ง ขั้นสกิทาคามีก็ว่างอีกระดับหนึ่ง อนาคามีก็ว่างอีกระดับหนึ่ง ขั้นพระอรหันต์ถึงจะว่างเต็มที่ ใจจะว่าง จะไม่คิดปรุงแต่งไปทางกิเลสตัณหา เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็นเฉยๆ รู้เฉยๆ รู้สมมุติ ไม่หลงสมมุติ รู้ว่าเป็นพ่อเป็นแม่ รู้ว่าร่างกายของเขาเป็นดินน้ำลมไฟ ตัวพ่อตัวแม่ไม่ใช่ร่างกาย เป็นใจที่มาครอบครองร่างกาย ตัวพ่อตัวแม่ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย เวลาพ่อแม่ตายก็จะไม่ร้องห่มร้องไห้ เพราะรู้ว่าเขาไม่ได้ตาย สิ่งที่ตายก็เป็นเหมือนเสื้อผ้าของเขา เวลาเสื้อผ้าของเขาขาดเราไปร้องห่มร้องไห้ทำไม เขาก็ไปหาเสื้อผ้าชุดใหม่ใส่ ใจก็ว่าง ไม่ปรุงแต่ง ไม่ผลิตเรื่องกิเลสตัณหามาให้ปวดหัว ให้เกิดความอยาก เกิดความโลภ ใจเฉย ใจสบาย ใจว่าง ไม่คิดปรุงแต่งไปทางกิเลสตัณหา รู้เฉยๆ ถ้าคิดก็จะคิดด้วยปัญญา ไม่คิดด้วยความหลง

 

พวกเราตอนนี้คิดด้วยความหลง หลงว่าเป็นของเราไปหมด เห็นอะไรก็เป็นของเราไปหมด เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา เป็นพี่เป็นน้องของเรา เป็นลูกของเรา เป็นสามีเป็นภรรยาของเรา เป็นบ้านของเรา เป็นของเราไปหมด พอเกิดอะไรกับเขาขึ้นมาก็วุ่นวายไปหมด เพราะคิดไปตามความหลง ต้องคิดไปตามความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา เป็นสมมุติ สมมุติว่าเป็นของเราชั่วคราว แต่ต้องจากเราไปสักวันหนึ่ง หรือเราต้องจากเขาไปสักวันหนึ่ง ห้ามเขาไม่ได้ สั่งให้เขาเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้ เขาจะเป็นอย่างไรเราไปห้ามเขาไม่ได้ บางครั้งเราก็อาจจะทำได้ แต่ไม่ได้เสมอไปทุกครั้ง ต้องรู้ขอบเขตว่าอะไรที่เราทำได้ อะไรที่เราทำไม่ได้ ส่วนไหนที่ยังทำได้ก็ทำไป เช่นตอนนี้ร่างกายยังดูแลได้ก็ดูแลไป ยังรักษาได้ก็รักษาไป แต่เมื่อถึงเวลาที่รักษาไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความจริง ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องเฉย ทำให้ดีที่สุด ทำเท่าที่จะทำได้ เมื่อถึงเวลาทำอะไรไม่ได้ก็ทำใจให้เฉย ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง ใจก็จะไม่วุ่นวาย ไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน ใจจะสงบ

 

นี่คือหน้าที่ของพวกเรา ถ้าถามว่าเกิดมาเพื่ออะไร ก็เกิดมาเพื่อทำใจให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ด้วยการทำใจให้สงบ ด้วยการปฏิบัติตามเยี่ยงอย่างของพระพุทธเจ้า สละสมบัติข้าวของเงินทอง ไม่หาความสุขจากสิ่งต่างๆในโลกนี้ แต่หาความสุขจากการทำใจให้สงบ การจะทำใจให้สงบก็ต้องอยู่ที่สงบวิเวก ไม่มีเรื่องราวต่างๆมากวนใจ ไปอยู่ในป่า ห่างไกลจากแสงสีเสียงต่างๆ แล้วก็คอยควบคุมความคิด ไม่ให้คิดถึงเรื่องแสงสีเสียง ถ้าคิดก็อยากจะกลับไปหา พอคิดถึงแฟน คิดถึงเพื่อน คิดถึงคนนั้น คิดถึงคนนี้ ก็อยากจะกลับไปหา ที่ไปอยู่ในป่าแล้วต้องกลับออกมา ก็เพราะสู้ความคิดของตนไม่ได้ ควบคุมความคิดของตนไม่ได้ ทำใจให้สงบไม่ได้ ถ้าใจไม่สงบใจจะหิว หิวรูปเสียงกลิ่นรส อยู่ไปสักระยะหนึ่งก็จะเบื่อ ไปอยู่ใหม่ๆก็ชอบ พออยู่ไปนานๆเข้า ถ้าไม่มีความสงบ ความหิวในรูปเสียงกลิ่นรส จะมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนทนไม่ไหว ก็ต้องกลับไปหารูปเสียงกลิ่นรส

 

ลืมไปว่าที่มาปลีกวิเวกนี้ ก็เพื่อหนีความทุกข์ของรูปเสียงกลิ่นรส แต่ความหลงสามารถหลอกให้คิดว่า ความทุกข์ที่หนีมานี้เป็นความสุข อยู่ห่างกันนานๆก็อยากจะเจอกัน พออยู่ใกล้กันก็ทะเลาะกัน พอไม่ได้เห็นหน้ากันสักระยะหนึ่งก็คิดถึงกัน ลืมความทุกข์ที่มีต่อกัน อยากจะเจอหน้ากัน เพราะความหิว ทำให้ลืมความทุกข์ในอดีตไปได้หมด ถ้าได้ทิ้งสิ่งต่างๆไปหมดแล้ว ก็ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจควบคุมความคิดให้ได้ ด้วยการเจริญสติ ควบคุมความคิดไม่ให้คิดเรื่องที่ไม่จำเป็น คิดเท่าที่จำเป็น เช่นให้คิดอยู่กับการกระทำของร่างกาย ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ก็ให้คิดอยู่กับเรื่องนั้น กำลังแปรงฟันก็ให้คิดว่ากำลังแปรงฟัน กำลังล้างหน้าก็ให้คิดว่ากำลังล้างหน้า กำลังหวีผม กำลังแต่งเนื้อแต่งตัว หรือกำลังกวาดบ้านถูบ้าน ทำกับข้าวรับประทานอาหาร ก็ให้คิดอยู่กับเรื่องนั้นอย่างเดียว อย่าไปคิดเรื่องอื่น พอมีเวลาว่างก็นั่งหลับตาทำใจให้สงบ ถ้าใจสงบแล้วจะไม่หิว จะอยู่คนเดียวได้ จะชอบอยู่คนเดียว เพราะอยู่คนเดียวมีความสุขมากกว่าอยู่หลายคน 

 

พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติอยู่ในป่า ๖ ปี หลังจากเสด็จออกจากวัง จนสามารถทำใจให้สงบได้อย่างถาวร กำจัดความอยากที่มีอยู่ในใจให้หมดไปได้ หลังจากนั้นก็ทรงช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการสั่งสอนผู้อื่นให้พบกับความสุขที่แท้จริง ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่ได้ทำประโยชน์ของพระองค์เอง เพราะได้ประโยชน์เต็มที่แล้วจากการปฏิบัติ เวลาที่เหลือ ตั้งแต่อายุ ๓๕ ถึงอายุ ๘๐ ปี เป็นเวลา ๔๕ ปี ทรงทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว สั่งสอนให้ผู้อื่นได้หลุดพ้นจากความทุกข์เป็นจำนวนมาก มีมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก่อนที่พระองค์จะจากไปทรงตรัสว่า พวกเธอไม่ได้อยู่ปราศจากเรา เรายังอยู่กับพวกเธอในรูปแบบของคำสอนของเรา ธรรมวินัยที่ตถาคตตรัสไว้ชอบแล้วนี้แล จะเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป พวกเธอไม่ได้อยู่โดยปราศจากศาสดา ตอนนี้พวกเราก็ไม่ได้อยู่โดยปราศจากพระพุทธเจ้า ยังมีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสอนเราอยู่ มีพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย เป็นผู้นำเอามาถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง

 

พวกเราได้พบของวิเศษแล้ว จะทำอะไรกับของวิเศษนี้ก็อยู่กับตัวเรา จะเขี่ยทิ้งไป เหมือนไก่ได้พลอยก็ช่วยไม่ได้ หรือจะรีบเอามาเก็บไว้เป็นสมบัติของเรา จะเอาธรรมได้ก็ต้องสละอย่างอื่นไป เพราะจะเอาทั้งธรรมเอาทั้งโลกไม่ได้ ความสุขทางธรรมกับความสุขทางโลกไปด้วยกันไม่ได้ ถ้าอยากจะได้น้ำชาใหม่ก็ต้องเทน้ำชาเก่าทิ้งไปก่อน ถ้ายังเสียดายน้ำชาเก่าอยู่ ก็จะไม่มีที่สำหรับใส่น้ำชาใหม่ ถ้ายังรักความสุขแบบเดิมอยู่ ยังรักความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่ ก็จะไม่มีวันได้ความสุขจากความสงบ ถ้าอยากจะได้ความสุขที่เกิดจากความสงบ ก็ต้องทิ้งความสุขที่ได้จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไป ต้องถือศีล ๘ ไม่ใช้เงินทองซื้อความสุข จะใช้เงินทองเพื่อดูแลรักษาร่างกายเท่านั้น ทุกครั้งที่จะเอาเงินไปซื้อความสุขก็เอาไปทำบุญแทน แล้วก็มาถือศีล ๘ มาควบคุมจิตใจ ควบคุมความคิด ทำใจให้สงบ สอนใจให้ฉลาด ให้เกิดปัญญา ให้เห็นว่าไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นสุข ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นทุกข์ เพื่อจะได้ตัดความอยาก

 

ถ้ายังเห็นว่าเป็นสุขอยู่ก็ยังอยากได้อยู่ ถ้ารู้ว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ก็จะไม่อยากได้ ทุกข์เพราะอะไร เพราะไม่เที่ยง มีเกิดมีดับ ทุกข์เพราะสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ไม่ได้ นี้คือปัญญาทางศาสนา ให้เห็นอย่างนี้ ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะสั่งเขาไม่ได้ ควบคุมบังคับเขาไม่ได้ ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะไม่อยากกับอะไร เมื่อไม่อยากก็จะสงบ ถ้าอยากก็จะวุ่น เวลาอยากได้อะไรใจจะกระวนกระวายกระสับกระส่าย จะได้หรือไม่ได้หนอ ได้แล้วก็จะกระวนกระวายกระสับกระส่าย ว่าจะอยู่ไปนานสักเท่าไหร่ พอจากไปก็เศร้าโศกเสียใจ เป็นทุกข์ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ทุกข์ตั้งแต่ยังไม่ได้ ทุกข์ในขณะที่ได้แล้ว แล้วก็มาทุกข์ตอนที่เสียไป ทุกข์ตลอดเวลา ให้เห็นความทุกข์อย่างนี้ จะได้ไม่อยากได้อะไร ไม่อยากมีอะไร ไม่อยากเป็นอะไร จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างไปตามความจริง เขาจะเป็นอะไรก็ปล่อยเขาเป็นไป เขาจะวิเศษขนาดไหนก็ปล่อยให้เขาวิเศษไป มีเงินร้อยล้านพันล้านแสนล้าน ก็ปล่อยให้เขามีไป ไม่ได้อยากจะมีกับเขา ใครจะเป็นอะไรก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องของธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอย่างมีขึ้นมีลง มีเกิดมีดับ ไม่ไปดีใจไม่ไปเสียใจกับอะไรทั้งนั้น เพราะไม่มีความอยากให้เป็นอย่างอื่น อยู่ที่ตัวเราว่าจะเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นแบบฉบับได้หรือเปล่า เป็นสรณังคัจฉามิได้หรือเปล่า เอาพระธรรมคำสอนมาเป็นแบบฉบับได้หรือเปล่า เป็นแสงสว่างนำทางได้หรือเปล่า เอาพระอริยสงฆ์สาวกมาเป็นแบบฉบับได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ก็จะสบายใจไปตลอด ถ้าทำไม่ได้ก็จะทุกข์ไปตลอด อยู่ที่ตัวเราว่าจะทำอย่างไร ไม่มีใครตัดสินใจให้เราได้

 

ถาม  เมื่อเช้าเดินจงกรมรู้สึกเหมือนมีตัวอยู่ ตอนหลังก็รู้สึกเหมือนไม่มี ก็มองเห็นทุกอย่าง ตอนหลังก็เหลือแต่ช่วงล่างลงไป แล้วก็เหลือแต่เข่า แต่น่อง เหลือแต่เท้า พอจะหยุดเดิน ก็ไม่เหลืออะไร แต่มองเห็นของรอบตัวเรา ไม่รู้สึกกลัว อย่างนี้ฟุ้งซ่านหรือเปล่าคะ

 

ตอบ ไม่ เป็นความว่าง ใจว่างจากร่างกาย

 

ถาม  ไม่รู้จะทำอย่างไร

 

ตอบ ทำต่อไป

 

ถาม  จะเห็นว่าเวลามองภาพทั่วไป จะประกอบด้วยเม็ดสีเล็กๆเจ้าค่ะ เหมือนเอาแว่นขยายส่องภาพพิมพ์ค่ะ ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า

 

ตอบ เห็นแบบนั้นไม่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ต้องควรเห็นก็คือความเสื่อมของสิ่งต่างๆ เห็นการดับของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นของเรา ที่เรารัก ที่เราหวง จะเป็นประโยชน์กว่า เพราะจะทำให้เราต้องปรับใจ เตรียมตัวเตรียมใจรับกับความจริง ถ้าไปเห็นสิ่งที่เราไม่มีความผูกพันด้วย เห็นไปก็ไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด

 

ถาม  แค่อยากทราบว่าเป็นอะไร ที่เห็นเป็นจุดๆอย่างนี้ค่ะ

 

ตอบ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องรู้ ไม่เป็นประเด็นสำคัญ รู้ไปก็เท่านั้น

 

ถาม  ให้ดูความอยากรู้

 

ตอบ ให้ดูสิ่งที่เรารักที่เราหวง เช่นดูธนบัตรของเราถูกไฟเผา แล้วใจเราทุกข์หรือเปล่า ถ้าทุกข์ก็แสดงว่าใจยังหวงยังเสียดายอยู่ ถ้าไม่ทุกข์แสดงว่าไม่ยึดไม่ติด

 

ถาม  เวลาดูหน้าตัวเองในกระจกไม่เห็นเป็นจุดๆ

 

ตอบ ถ้าจะดูก็ดูให้เป็นขี้เถ้า ต่อไปจะต้องเป็นขี้เถ้าแน่ๆ เวลาไปเผาไฟแล้วเป็นอย่างไร ดูความจริง อย่าไปจินตนาการเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ดูร่างกายตอนที่หนังเหี่ยว ตอนที่ผมขาว ตอนที่นอนอยู่ในโรงพยาบาล ตอนที่อยู่ในโลง ถ้าจะดูร่างกายให้ดูอย่างนี้ จะได้เห็นภาพจริง จะได้ปรับใจให้เตรียมรับกับความจริง ถ้ารับกับความจริงได้ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าไม่ได้ก็จะทุกข์ ถ้าอยากจะทุกข์กับร่างกายก็ไม่ต้องดู ถ้าอยากจะไม่ทุกข์ก็ต้องดูบ่อยๆ ดูจนชินจนรับได้ จะได้ไม่ทุกข์ เวลามีกามารมณ์อยากจะร่วมหลับนอนกับคนนั้นคนนี้ ก็ให้ดูในส่วนที่ไม่สวยงามของเขา ดูเข้าไปใต้ผิวหนังใต้เนื้อ จะได้เห็นโครงกระดูก เห็นหัวใจ เห็นปอด เห็นตับ เห็นไต เห็นลำไส้ ให้หัดเห็นอย่างนี้ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจะไม่เกิดกามารมณ์ จะดับกามารมณ์ได้ จะถือศีล ๘ ได้ คนที่ถือศีล ๘ ไม่ได้ก็เพราะยังอยากร่วมหลับนอนกับคนนั้นคนนี้อยู่ เวลาเกิดกามารมณ์อยากจะร่วมหลับนอน ก็ให้นึกถึงส่วนที่ไม่สวยงาม

 

การปฏิบัตินี้ต้องพุ่งเป้าไปที่การดับความอยาก เพื่อทำใจให้สงบ ถ้าไปดูสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการดับความอยาก ดูไปก็เสียเวลาเปล่าๆ ทำไมไม่ดูดวงอาทิตย์ ไม่ดูต้นไม้ ดูไปก็เท่านั้น เพราะไม่เป็นปัญหา ต้องดูสิ่งที่เป็นปัญหา สิ่งที่ทำให้จิตใจวุ่นวาย ทุกข์ทรมานใจ ต้องดูสิ่งนั้น เช่นดูความเสื่อมของร่างกายของเรา ของคนที่เรารัก เพื่อให้รับความจริงว่า สักวันหนึ่งจะต้องเป็นอย่างนี้ ร่างกายของเราก็ดี ของคนที่เรารักก็ดี สักวันหนึ่งก็จะต้องหยุดทำงาน สักวันหนึ่งจะต้องกลายเป็นขี้เถ้า เป็นเศษกระดูกไป ให้มองอย่างนี้ เวลามองคนที่เราอยากจะร่วมหลับนอนด้วย ก็ต้องมองให้เห็นโครงกระดูก เห็นผีที่อยู่ในตัวเขา ถ้าเขาตายไปวันนี้ คืนนี้จะนอนกับเขาได้หรือเปล่า ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ยังนอนร่วมกันได้ แต่พอไม่มีลมหายใจ ก็จะคิดว่าเป็นผีไปแล้ว ไม่อยากจะนอนด้วยแล้ว คิดอย่างนี้เพื่อดับกามารมณ์ เพราะกามารมณ์ทำให้ใจไม่สงบ ถ้าต้องการความสุขที่เกิดจากความสงบ ก็ต้องดับกามารมณ์ให้ได้ ต้องพิจารณาอสุภะอยู่เนืองๆ คิดถึงภาพที่ไม่สวยงามของร่างกาย คิดถึงเวลาไม่หายใจแล้ว ตายไป ๓ วันแล้ว ขึ้นอืดส่งกลิ่นเหม็นแล้ว ยังอยากจะนอนกับเขาหรือเปล่า คิดอย่างนี้จะได้ดับกามารมณ์ได้ จะอยู่คนเดียวได้ จะทำใจให้สงบได้ จะมีความสุขที่แท้จริง ไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆที่ไม่เที่ยง มาเป็นเครื่องมือให้ความสุขกับเรา ถ้าเขาไม่เที่ยงเวลาเขาจากไปเราก็จะเสียใจ จะว้าเหว่ ถ้ามีความสุขภายในใจแล้ว จะไม่ต้องการอะไร

 

จึงต้องพิจารณาเพื่อตัดทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องจากเราไป ต้องหมดสภาพไป แม้แต่ร่างกายของเราก็ต้องหมดสภาพไป แต่การหมดสภาพของร่างกายไม่ได้ทำให้เราหมดสภาพไปด้วย เรายังอยู่ เพียงแต่ว่าจะอยู่แบบไหน จะอยู่แบบทุกข์หรืออยู่แบบไม่ทุกข์ ถ้าปล่อยวางร่างกายได้ ยอมรับการดับของร่างกายได้ ก็จะไม่ทุกข์ จะเฉยๆ สบายใจ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาก็จะว่าดีเสียอีก เพราะไม่ต้องดูแลรักษาร่างกายต่อไป ร่างกายเป็นภาระที่หนักมาก ที่เราต้องคอยดูแลตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต้องหายใจ ต้องหาน้ำมาดื่ม หาอาหารมารับประทาน ต้องทำความสะอาดขับถ่าย ไม่มีร่างกายก็ไม่ต้องทำภารกิจนี้ ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาจะเห็นว่าความตายเป็นสิ่งที่ดี เพราะหมดภาระ ไม่ต้องแบก ถ้ายังมีร่างกาย ถึงแม้ว่าใจจะไม่มีความอยากกับร่างกาย ไม่มีความทุกข์กับร่างกาย ก็ยังมีภาระดูแลรักษาร่างกาย พระพุทธเจ้ายังต้องบิณฑบาต ยังต้องฉัน ยังต้องสรงน้ำ ยังต้องฉันยาเวลาไม่สบาย จึงควรพิจารณาความเสื่อมของทุกสิ่งทุกอย่าง จะได้ไม่ยึดติด จะได้ปล่อยวาง จะได้ไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆในโลกนี้เป็นเครื่องมือให้ความสุข เพราะมีความสุขที่ดีกว่า ถ้ามีความสงบแล้วจะไม่ต้องการอะไร ถ้าปล่อยวางได้แล้วใจจะมีความสุข ความสงบ ความสบาย จะไม่หลงไปยึดไปติด ไปอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้ความสุข

 

ถาม  ถ้าร่างกายเรามีโรคที่จะต้องรักษา แต่เราคิดว่าเราไม่อยากได้ร่างกายแล้ว เป็นอะไรก็ช่าง จะไม่รักษา อย่างนี้ถือว่าบาปไหมคะ

 

ตอบ ไม่บาป ถ้าไม่ทำให้ร่างกายตาย ปล่อยให้ร่างกายตายไปเอง ถ้าทำให้ร่างกายตาย เช่นกินยาพิษ อย่างนี้ก็บาป เพราะเป็นการทำลายร่างกาย มีเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาทำลายร่างกาย ปล่อยวางร่างกาย ก็จะไม่บาป

 

ถาม  สมมุติว่าหมอวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน แล้วก็ดูแลร่างกายไม่ดี บางทีก็กินยาบ้างไม่กินบ้าง อย่างนี้ถือว่าบาปไหมเจ้าคะ

 

ตอบ ไม่บาป ไม่กินก็ไม่บาป แต่อย่าไปทำให้ร่างกายตาย

 

ถาม  เช่นฆ่าตัวตาย

 

ตอบ อย่างนั้นบาป

 

ถาม  ถ้าไม่รักษาตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง เป็นบาปไหมคะ

 

ตอบ ไม่บาป ไม่กินข้าว ปล่อยให้อดตายก็ไม่บาป

 

ถาม  ไม่กินแสดงว่ามีเจตนาจะให้ตาย

 

ตอบ ไม่กินเพราะมีเจตนาไม่กิน ไม่ได้มีเจตนาให้ตาย คนที่ฆ่าตัวตายเพราะมีความทุกข์ ไม่อยากจะอยู่ ความไม่อยากอยู่เป็นกิเลส เป็นวิภวตัณหา ทำให้จิตเครียดจิตทุกข์ แต่จิตที่มีความสุขจะเฉยๆ อยู่ก็ได้ ไม่อยู่ก็ได้ กินก็ได้ ไม่กินก็ได้ มันต่างกัน ไม่เหมือนกัน ต้องดูที่ใจเป็นหลัก ใจมีความอยากหรือเปล่า ไม่ว่าอยากอยู่หรืออยากตายเป็นกิเลสทั้งนั้น

 

ถาม  อยากมีบริวารดีๆ ควรจะทำอย่างไรคะ

 

ตอบ ต้องดูความจริงว่ามีได้หรือเปล่า

 

ถาม  บางคนมีเด็กช่วยงานอยู่เป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ไม่ออกเลย ของเราเปลี่ยนบ่อยค่ะ

 

ตอบ โลกนี้มีทั้งดีและไม่ดี เวลาไปซื้อส้มที่ตลาดก็ต้องเลือกใช่ไหม ถ้าอยากจะได้ดีก็ต้องเลือก ถ้าเลือกไม่เป็นก็ต้องเอาตามมีตามเกิด เลือกมาแล้วถ้าไม่ดีก็เปลี่ยนใหม่ อย่าไปอยากในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ จะทุกข์ไปเปล่าๆ เลือกรถยนต์ง่ายกว่าเลือกคน รถยนต์นี้มีมาตรฐาน มีการควบคุมคุณภาพ ผู้ผลิตรับประกันได้ว่าดีทุกคัน แต่คนนี้ไม่มีใครมาสามารถรับประกันได้ว่าจะดีทุกคน ก็ต้องทำใจ ไม่ดีก็เปลี่ยน

 

ถาม  ควรจะสร้างกุศลอย่างไร ที่จะส่งเสริมในด้านนี้ค่ะ

 

ตอบ โลกนี้เราไปสั่งมันไม่ได้ สั่งให้ดีตามที่เราต้องการไม่ได้ นี้เป็นความจริงที่เราจะต้องรู้ เพื่อจะได้ไม่หวังมาก ต้องอยู่กับความจริง โลกนี้ไม่ดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครดี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ดีตลอดเวลา บางเวลาก็ดี บางเวลาก็ไม่ดี ถึงแม้ในอดีตจะดีมาตลอด ไม่มีใครรับประกันอนาคตได้ เพราะใจคนเปลี่ยนได้ เหตุการณ์บังคับให้เปลี่ยนใจได้ ที่ดีเพราะเหตุการณ์ราบรื่น ไม่มีปัญหาก็ดีได้ พอเหตุการณ์ยากลำบาก ก็อาจจะทำไม่ดีได้ ควรตัดความอยากนี้ไป เลือกให้ดีที่สุดเท่าที่จะเลือกได้ ถ้าเลือกไม่เป็นก็หาคนที่เลือกเป็นให้ช่วยเลือกให้ แล้วก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ สมัยก่อนจะหมั้นกันก่อน ไม่แต่งงานเลย เพื่อจะได้มีเวลาดูว่าดีหรือไม่ดี ต้องทดสอบใจด้วย ไม่เอาอกเอาใจกันตลอดเวลา ต้องขัดใจกันบ้าง แล้วดูว่าจะยังดีอยู่หรือไม่ ถ้าเอาใจกันก็ดีได้ พออยู่ด้วยกันแล้ว ก็อาจจะไม่เอาใจกัน อย่าเชื่อคำพูดของคน เวลาเขาพูดว่าดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ อย่าไปเชื่อ เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ฟังได้แต่อย่าไปเชื่อ

 

ถาม  เด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อยค่ะ

 

ตอบ ถ้าไม่อยากจะเปลี่ยนบ่อย ก็ต้องมีเครื่องล่อใจ

 

โยม  เขามีเหตุผลของเขา เช่นอยากจะไปอยู่ใกล้แฟน

 

ตอบ โลกนี้มีตัวแปรมาก เป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ควบคุมไม่ได้ ต้องปรับตัวรับกับสภาพที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่าไปยึดติดกับสภาพใดสภาพหนึ่ง เพราะจะทำให้ทุกข์ ทำให้เครียด

 

ถาม  ทราบมาว่าทานเป็นบาทของศีล ศีลเป็นบาทของการภาวนา ถ้าไม่ได้ทำทานเป็นประจำ ไม่ได้รักษาศีล การเจริญภาวนาจะดีได้ไหมคะ

 

ตอบ ไม่ได้

 

ถาม  บางคนบอกว่าภาวนาดีมาก แต่ว่าทานก็ไม่ทำ เหล้าก็ยังดื่มอยู่ ศีลก็ไม่รักษา ก็ยังข้องใจอยู่เสมอว่า การภาวนาจะดีได้อย่างไร

 

ตอบ เป็นไปไม่ได้ คนกินเหล้าเมาจะภาวนาได้อย่างไร

 

ถาม  เขาบอกว่าเขาภาวนาได้ดีมาก แต่ไม่ทำบุญตักบาตร ไม่รักษาศีล

 

ตอบ การทำทานไม่ได้อยู่ที่การทำบุญตักบาตรอย่างเดียว ทำได้หลายรูปแบบ ถ้าใจกว้างเสียสละ ไม่ยึดติดกับเงินทอง ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ก็ถือว่าเป็นทาน ถ้าไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่นก็มีศีลแล้ว ไม่ต้องมาวัดขอศีลจากพระ ศีลอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่วัด อยู่ที่การกระทำ ถ้าไม่ฆ่า ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี ไม่พูดปด ไม่เสพสุรายาเมา ก็มีศีลแล้ว จะเข้าวัดหรือไม่ ไม่เป็นปัญหา

 

ถาม  ทานศีลภาวนาเป็นเหมือนขั้นบันได จะสามารถข้ามขั้นบันไดไปภาวนาเลยได้หรือ

 

ตอบ สำหรับบางคนเป็นไปได้ เช่นองคุลิมาลนี้ก็ไม่มีศีล เพราะฆ่าคนตั้ง ๙๙๙ คน แต่พอมาเจอพระพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนใจได้ หยุดการฆ่าได้ เป็นกรณีพิเศษ สำหรับผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ ก็ต้องปฏิบัติทานศีลภาวนาตามลำดับ ทำทานก็ไม่ได้ทำเพื่อให้ร่ำรวย แต่ทำเพื่อให้ยากจน จะได้ไม่มีเงินใช้ จะได้มีเวลาไปภาวนา ถ้ามีเงินก็จะไปดูหนัง ไปเที่ยว ไปกินเหล้าเมายา ทำทานเพื่อตัดทางออกของกิเลส ไม่ได้ทำทานเพื่อให้ร่ำรวย ทำทานเพื่อจะได้ไม่มีเงิน พอไม่มีเงินก็จะไปอยู่วัดได้ รักษาศีล ๘ ได้ ถ้าจะภาวนาก็ต้องรักษาศีล ๘ ศีล ๕ ไม่มีกำลังพอ เหมือนเวลาขับรถขึ้นเขาต้องใช้เกียร์ต่ำ ถ้าใช้เกียร์สูงจะไม่มีกำลัง