กัณฑ์ที่ ๔๕ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
บัณฑิต
กับ คนพาล
มนุษย์ทุกๆคนที่เกิดมาในโลกนี้
ย่อมมีความปรารถนาที่คล้ายๆกัน
คือปรารถนาที่จะประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง
ไม่มีใครปรารถนาที่จะพบกับความทุกข์
ความยาก ความลำบาก
ความเสื่อมเสีย
สิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายปรารถนานั้น
ทางพระพุทธศาสนาแสดงไว้ว่าเป็นผล
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของแต่ละบุคคล
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาจากความปรารถนาโดยถ่ายเดียว
ถ้าปรารถนาอะไรแล้วนั่งอยู่เฉยๆ
งอมืองอเท้า
รอให้สิ่งที่ปรารถนาเกิดขึ้นเองย่อมไม่ใช่ฐานะ
ย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะสิ่งที่ปรารถนากัน
ไม่ว่าจะเป็นความสุข
ความเจริญรุ่งเรือง
ความเป็นสิริมงคลนั้น
จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นๆได้กระทำเหตุที่นำมาซึ่งความสุข
ความเจริญรุ่งเรือง
ความเป็นสิริมงคลเท่านั้น
ในมงคลสูตร
พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเหตุที่จะนำมาซึ่งความสุข
ความเจริญ
ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
เช่น อเสวนา จ
พาลานัง ปัณฑิตานัญจ เสวนา
ปูชา จ ปูชนียานัง
เอตัมมังคลมุตตมัง
การคบบัณฑิต การไม่คบคนพาล
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา
เป็นมงคลอย่างยิ่ง
เพราะคนนั้นมีอยู่สองประเภทด้วยกัน
คือบัณฑิตและคนพาล
บัณฑิตหมายถึงคนฉลาดคนดี
ซื่อสัตย์สุจริต
คนพาลหมายถึงคนโง่เขลาเบาปัญญา
คนชั่ว
พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้รู้จักเลือกเฟ้นคบค้าสมาคมกับคนต่างๆ
อยู่ในสังคม
ต้องพบปะรู้จักมักคุ้นกับคนหลากหลายชนิดด้วยกัน
มีทั้งคนในครอบครัว
เช่นบิดามารดา พี่น้อง
ญาติสนิทมิตรสหาย
มีทั้งคนภายนอกเช่นเพื่อนร่วมเรียน
เพื่อนร่วมงาน เพื่อนในสังคม
บุคคลเหล่านี้มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน
มีทั้งดี มีทั้งเลว เวลาที่จะคบค้าสมาคมกับใครจึงควรรู้จักเลือกเฟ้น
รู้จักแยกแยะบัณฑิตและคนพาล
แล้วเลือกคบกับบัณฑิต
หลีกเลี่ยงการคบค้าสมาคมกับคนพาล
บัณฑิตจะมีสัมมาทิฏฐิ
คือความเห็นชอบ
ความเห็นที่ถูกต้อง
คนพาลจะมีมิจฉาทิฏิิฐิ
คือความเห็นผิด
เห็นผิดเป็นชอบ
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว บัณฑิตจะมีหิริโอตตัปปะ
คือความละอายและความกลัวในการกระทำความชั่ว
คนพาลจะไม่มีหิริโอตตัปปะ
คือปราศจากยางอาย ปราศจากความกลัวบาป
นี่คือคุณลักษณะของบัณฑิตและคนพาล
สัมมาทิฏฐิ
คือการรู้จักผิดถูกดีชั่ว
รู้ผิดเป็นผิด
ถูกเป็นถูก ดีเป็นดี
ชั่วเป็นชั่ว บาปเป็นบาป
บุญเป็นบุญ
เมื่อรู้ว่าอะไรไม่ดี
ย่อมหลีกเลี่ยงจากสิ่งนั้น
เช่นละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ละเว้นจากการลักทรัพย์
ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี
ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ
โกหกหลอก
ส่วนบัณฑิตย่อมรู้ว่าอะไรดี
อะไรชั่ว จึงมีหิริโอตตัปปะ
หิริแปลว่าความอาย
อายในการกระทำความชั่ว
โอตตัปปะแปลว่าความกลัว
กลัวการกระทำความชั่ว
โดยปกติแล้วคนเราทุกคนชอบให้ผู้อื่นชื่นชมยินดี
เคารพนับถือ แต่คนเราจะเป็นที่เคารพนับถือ
จะเป็นที่ชื่นชมยินดีได้นั้น
จะต้องเป็นคนดี
ไม่กระทำความชั่ว
คนที่ทำความชั่ว
ย่อมไม่มีใครนับถือ
ชื่นชมยินดี คบค้าสมาคมด้วย
เพราะคนชั่วอยู่ที่ไหนย่อมนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย
พิษภัยทั้งหลายย่อมเกิดจากคนประพฤติมิชอบ
ถ้าอยากให้ผู้อื่นชื่นชมยินดีเคารพนับถือ
ศรัทธาเลื่อมใส
ควรมีความละอายในการทำบาป
ในการกระทำความชั่ว
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
เวลาญาติโยมออกจากบ้าน
ญาติโยมก็ต้องมองกระจกดูหน้าตาว่าสะอาดเรียบร้อยหรือเปล่า
เสื้อผ้าเป็นอย่างไร
ผมเผ้าเป็นอย่างไร
พอไปวัดไปวาได้หรือเปล่า
เพราะอายถ้าอยู่ในสภาพที่ไม่เรียบร้อยฉันใด
ความละอายบาปก็ฉันนั้น
การกระทำบาปทำให้คนไม่สวยงาม
ความสวยงามที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา ไม่ได้อยู่ที่เสื้อผ้าอาภรณ์
ความสวยงามเหล่านี้เป็นส่วนย่อยเป็นส่วนประกอบ
ความสวยงามที่แท้จริงอยู่ที่คุณงามความดีของคน
ไม่กระทำความชั่ว
กระทำแต่ความดีนั้นแหละทำให้เป็นคนสวยงาม
เปรียบเหมือนกับดอกไม้
ดอกไม้ที่สวยงามมีกลิ่นหอมย่อมเป็นที่ชื่นชมยินดี
เป็นที่ประทับใจของคนทุกคน
คนดีก็ฉันนั้น
ความดีของคนก็เปรียบเหมือนกับกลิ่นหอมของดอกไม้
แต่ดีกว่ากลิ่นหอมของดอกไม้ตรงที่ว่าเกียรติคุณของคนดีนั้นกระจายไปทุกทิศทุกทางทั้งตามลมและทวนลม
แต่กลิ่นหอมของดอกไม้นั้นต้องลอยไปตามลมเท่านั้น
ไม่สามารถลอยทวนกระแสลมได้
ถ้าอยากสวยอยากงามก็ต้องมีหิริ
มีความอายบาป
ไม่กระทำความชั่วทั้งหลาย
ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง
แล้วจะเป็นคนที่สวยงาม
ถึงแม้คนอื่นจะรู้ว่าเราสวยงามหรือไม่ก็ตาม
แต่ตัวเราเองจะรู้ว่าเราสวยงามหรือไม่
เมื่อเรารู้ว่าเราสวยเรางามเราก็จะมีความสุข
มีความชื่นชมยินดีกับตัวเราเอง
มีความภูมิใจ
ไม่ว่าคนอื่นจะรู้หรือไม่ก็ตาม จะสรรเสริญเยินยอหรือไม่ก็ตาม
เราจะไม่กังวล
เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่าเราเป็นคนดี
นอกจากมีหิริความอายแล้ว
ยังต้องมีโอตตัปปะมีความกลัวบาปด้วย
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าเมื่อกระทำบาปไปแล้วย่อมมีผลตามมา
ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ปัจจุบันจะไม่สบายใจ
มีแต่ความทุกข์
เวลาทำผิดศีลเช่น
ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี
โกหกหลอกลวง
จะมีแต่ความไม่สบายใจ
มีความกังวลใจ เพราะกลัวคนอื่นจะรู้
กลัวถูกตำรวจจับ
ต้องไปใช้โทษในคุกในตะราง
เมื่อตายไป ต้องไปเกิดในอบาย
เป็นเดรัจฉาน เป็นเปรต
เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก
เป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งที่จะต้องไปอยู่ในสภาพแบบนั้น
ไม่มีใครอยากจะอยู่ในคุกในตะราง
ไม่มีใครอยากเกิดเป็นเดรัจฉาน
เป็นแมลง เป็นสุนัข เป็นนก
เป็นกา
เพราะสภาพอย่างนั้นไม่มีความสุขเท่าไหร่
สู้เป็นมนุษย์ไม่ได้
ควรคบบัณฑิต
เพราะบัณฑิตจะชักจูงเราไปในทางที่ดี
เช่นเข้าวัดทำบุญทำทาน
รักษาศีลฟังเทศน์ฟังธรรม
ไหว้พระสวดมนต์
ประพฤติปฏิบัติธรรม
เมื่อได้ทำสิ่งเหล่านี้แล้วความสุขความเจริญรุ่งเรืองย่อมตามมา
ไม่ควรคบคนพาล
เพราะคนพาลจะชักจูงเราไปในทางที่ไม่ดี
เช่นชวนไปเที่ยวเตร่
ไปกินเหล้า ไปเล่นการพนัน
ไปลักทรัพย์
ไปกระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม
เมื่อทำไปแล้วความเสียหาย
ความเสื่อมเสียย่อมตามมา
ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า
อเสวนา จ พาลานัง
ปัณฑิตานัญจ เสวนา
เอตัมมังคลมุตตมัง
การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต
เป็นมงคลอย่างยิ่ง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้