กัณฑ์ที่ ๔๕๑       ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖

 

ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง

 

 

 

ปีนี้เป็นปี ๒๕๕๖ พวกเรามาเริ่มฟังธรรมในปี ๒๕๔๘ เกือบจะครบ ๘ ปีแล้ว เดือนมิถุนาฯก็จะครบ ๘ ปี ยังไม่มีใครรายงานว่าเรียนจบเลย ยังไม่มีใครได้รับปริญญากันเลย ต้องพูดให้คิดบ้าง เพราะเวลามีแต่เดินไปข้างหน้า มีแต่จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ชีวิตของพวกเราจะสั้นลงไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ ว่าร่างกายของพวกเราเป็นของไม่เที่ยง มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายเป็นธรรมดา จงยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่นให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด นี่เป็นพระปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสไว้ ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไป ทรงมีความห่วงใยพวกเราเป็นอย่างมาก ที่อาจจะไม่ค่อยได้คิดถึงความจริงข้อนี้ ความจริงที่ว่าชีวิตของพวกเรานี้ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน จะหมดไปได้ในวันใดวันหนึ่ง และจะต้องหมดไปอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ควรคิดว่าจะอยู่ไปนานๆ เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ไปได้นานสักเท่าไหร่ จึงควรคิดตรงกันข้าม ควรคิดว่าอาจจะอยู่ไปไม่นาน จะได้ถือว่าไม่ประมาท ถ้าคิดว่าจะอยู่นานก็ถือว่าประมาท ถ้าคิดว่าอาจจะไปวันนี้หรือพรุ่งนี้ จะได้รีบจัดการกับสิ่งที่ควรจะจัดการ รีบจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ว่าสิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนไม่สำคัญ ไม่มีอะไรที่จะสำคัญกว่าการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนก่อน ให้ตนได้หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดก่อน แล้วค่อยทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป ถ้ามัวแต่ไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ไม่ทำประโยชน์ให้กับตน ตนจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร ประโยชน์ของตนจึงต้องมาก่อน ประโยชน์ของตนก็คือประโยชน์ของใจนี่เอง ต้องมาก่อนประโยชน์ของร่างกายและของกิเลสตัณหา

 

ร่างกายเป็นเครื่องมือที่จะทำประโยชน์ให้กับใจก็ได้ ให้กับกิเลสตัณหาก็ได้ ถ้าเอาร่างกายมาทำประโยชน์ให้กับกิเลสตัณหา ก็จะสร้างความทุกข์ให้มีเพิ่มมากขึ้นไป ไม่ได้ทำให้ความทุกข์ภายในใจลดน้อยลงไปหรือหมดไป แต่ถ้าเอาร่างกายมาทำประโยชน์ให้กับใจ ด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนา ก็จะทำประโยชน์ให้กับใจได้อย่างเต็มที่ ในเวลาไม่กี่ปีถ้าตั้งใจทำจริงๆ พระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองไว้แล้วว่า ผู้ใดปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้ ไม่เกิน ๗ ปีก็จะสำเร็จ ได้บรรลุธรรม มีผู้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้ามาเป็นจำนวนมาก ที่ได้สำเร็จประโยชน์ภายในเวลาที่ได้ทรงกล่าวไว้ ถ้าไม่บรรลุธรรมภายใน ๗ ปี ก็ต้องบรรลุภายในชาตินี้อย่างแน่นอน นี้คือเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือการทำประโยชน์ให้แก่ใจก่อน ส่วนประโยชน์ของกิเลสตัณหานั้น เป็นประโยชน์ปลอม ไม่เป็นประโยชน์กับใจเลย เป็นการเพิ่มความทุกข์ให้มีมากขึ้นภายในใจ ถ้ายังแสวงหาประโยชน์ ทางลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่ ก็แสดงว่ากำลังทำประโยชน์ให้กับกิเลสตัณหา กำลังทำโทษใจ เพิ่มความทุกข์ภายในใจ เพิ่มการเวียนว่ายตายเกิดให้มีมากขึ้นไป นี่คือเรื่องของพวกเรา อยู่ตรงนี้

 

การกระทำของพวกเราก็แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ ก็ทำให้ร่างกาย ที่จำเป็นจะต้องดูแล เพราะร่างกายเป็นเครื่องมือ ที่เราใช้ทำประโยชน์ ให้กับใจหรือให้กับกิเลสตัณหา ส่วนที่ ๒ ก็ทำให้กับกิเลสตัณหา ส่วนที่ ๓ ก็ทำให้กับใจ ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้ว ก็จะรู้ว่าควรทำเพียง ๒ ส่วน คือทำให้ร่างกายและทำให้ใจ ไม่ควรทำให้กิเลสตัณหา ไม่ควรแสวงหาลาภยศสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่ควรแสวงหาความดับทุกข์ใจ ด้วยการทำทาน รักษาศีล ด้วยการภาวนา ส่วนการดูแลร่างกาย ก็ดูตามอัตภาพ ตามความจำเป็น ด้วยความมักน้อยสันโดษ ไม่ควรเสียเวลาดูแลร่างกายแบบหรูหรา เกินเหตุเกินผล ร่างกายต้องการเพียงปัจจัย ๔ ที่ไม่ต้องวิเศษหรูหราแต่อย่างใด ให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาร่างกาย ให้อยู่อย่างปกติสุขก็พอแล้ว วิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าที่ทรงดำเนินนี้ เป็นแบบฉบับ เป็นตัวอย่าง ของการดูแลร่างกายแบบพอดี แบบเรียบง่าย แบบมักน้อยสันโดษ

 

ทรงหาอาหารด้วยการบิณฑบาต ได้มากน้อยก็ทรงเสวยเพียงมื้อเดียว อาหารที่เหลือก็ทรงสละไป ไม่ทรงเก็บเอาไว้ ที่อยู่อาศัยก็ทรงประทับในป่าในเขาเป็นหลัก อยู่ตามโคนไม้ ตามเพิง ตามถ้ำ ตามเงื้อมผา ตามเรือนร้าง นี้คือที่อยู่อาศัยของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันต์ เครื่องนุ่งห่มก็ทรงใช้ผ้าบังสุกุล ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ผ้าที่ใช้ห่อศพ หรือผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ ไม่มีใครต้องการแล้ว ทรงเก็บผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมารวบรวมเอาไว้ พอได้จำนวนพอกับการเย็บให้เป็นผืน ก็ทรงเย็บ เสร็จแล้วก็ย้อมด้วยน้ำที่ต้มกับแก่นไม้ เช่นแก่นขนุน นี่คือเครื่องนุ่งห่มของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ในยุคบุกเบิก ในยุคที่ไม่ได้ทรงสอนให้ญาติโยมถวายผ้ากฐิน ต้องใช้ผ้าป่าที่เรียกว่าผ้าบังสุกุล ผ้าป่าก็คือผ้าที่ได้จากป่าช้า ส่วนยารักษาโรค ก็รักษาด้วยสมุนไพร หรือดื่มยาดองน้ำมูตร ก็พอที่จะดูแลรักษาร่างกาย ให้อยู่ไปจนถึงเวลาอันควร

 

นี่คือวิถีชีวิตของผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ผู้ที่ต้องการดับทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจ ถ้ามัวแต่ไปวุ่นวายกับการแสวงหาที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหาร ยารักษาโรคอันประณีตอันหรูหรา ก็จะเสียเวลาอันมีค่าไป เพราะจะต้องใช้เวลามาก เวลาที่จะเอามาใช้กับการปฏิบัติจะมีน้อย แทนที่จะเอื้อประโยชน์ส่งเสริมการปฏิบัติ กลับเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ ขอให้พวกเราพิจารณาดู ว่าการอยู่การรับประทานของพวกเรานี้ อยู่แบบไหน อยู่แบบพระพุทธเจ้า อยู่แบบพระอรหันตสาวก หรืออยู่แบบมหาเศรษฐี อยู่แบบราชามหากษัตริย์ ถ้าอยู่แบบมหาเศรษฐี อยู่แบบราชามหากษัตริย์ ก็อยู่เพื่อกิเลสตัณหานี้เอง เป็นการทำประโยชน์ ๒ ส่วนไปพร้อมๆกันคือ ทำประโยชน์ให้กับร่างกาย และทำประโยชน์ให้กับกิเลสตัณหาควบคู่กันไป เช่นบ้าน ก็ต้องใหญ่โตมโหฬาร ราคาเป็น ๑๐ เป็น ๑๐๐ ล้าน เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ต้องประดับเพชรประดับพลอย ต้องออกแบบจากนักออกแบบมีชื่อเสียง ตัดชุดละหมื่นชุดละแสน อาหารก็ต้องอาหารที่วิเศษ อาหารที่ขายในร้านอาหารที่มีชื่อเสียง มีราคาแพงๆ ยารักษาโรคก็ต้องรักษาด้วยยาที่มีราคาแพงๆ รักษาตามโรงพยาบาล ที่มีราคาแพงๆ

 

ถ้าอยู่แบบนี้ก็จะต้องเสียเวลากับการหาเงินหาทอง เพื่อมาใช้จ่ายกับการเลี้ยงดูร่างกาย จะต้องยุ่งกับการหาเงินหาทอง จนไม่มีเวลาที่จะมาทำประโยชน์ให้กับใจ เพราะทานก็ไม่อยากจะทำ เพราะจะต้องทุ่มรายได้ทั้งหมดที่ได้มา ไปกับการดูแลรักษาร่างกายแบบหรูหรานั่นเอง นอกจากดูแลร่างกายแล้ว ถ้ามีเงินเหลือก็เอาไปดูแลกิเลสตัณหาต่อ ไปซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ เสื้อผ้าอาภรณ์มีพอใช้แล้วก็ยังไม่หยุดซื้อ ได้รับประทานอาหารอันเลิศหรูแล้วก็ยังไม่พอ ต้องหาความสุขจากสิ่งอื่นต่อ ต้องหาความสุขจากรูปเสียง ไปดูไปฟังการแสดงต่างๆ ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ อย่างนี้เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์กับกิเลสตัณหา แล้วก็จะเกิดความทุกข์เกิดโทษกับจิตใจ เพราะกิเลสตัณหา เป็นเหมือนเชื้อโรคของใจ ถ้าร่างกายได้รับการส่งเสริม ให้มีเชื้อโรคมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บในร่างกายก็ต้องมีมากขึ้นไป ตามกำลังของเชื้อโรค ฉันใด ความทุกข์ใจก็เช่นเดียวกัน จะมีมากมีน้อย ก็อยู่ที่ปริมาณหรือกำลังของกิเลสตัณหานั้นเอง ถ้ากิเลสตัณหามีกำลังมาก มีปริมาณมาก ความทุกข์ภายในใจก็จะมีมาก ถ้ากิเลสตัณหามีปริมาณน้อย ความทุกข์ภายในใจก็จะมีน้อย นี่คืองานที่พวกเราทำกันตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันตาย  

 

ลองทบทวนดูว่าทำงานส่วนไหนมากกว่ากัน ทำทานรักษาศีลภาวนา หรือแสวงหาลาภยศสรรเสริญ แสวงหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส แสวงหาการอยู่แบบหรูหราแบบแพงๆ กำลังทำแบบไหนกัน ถ้าต้องการบรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายบรรลุกัน ก็ต้องดูเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นมา เหตุก็คือวิถีชีวิตที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมา ที่พระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินตาม ก็คืออยู่แบบเรียบง่าย อยู่แบบสมถะ อยู่แบบมักน้อยสันโดษ พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย อาหารจะราคาเป็นหมื่น หรือราคา ๑๐๐ บาท ก็ทำหน้าที่เหมือนกัน คือทำให้ร่างกายอยู่ต่อไปได้ ระงับความหิวภายในร่างกายให้หายไป ให้อยู่อย่างสุขสบาย เช่นเดียวกับเสื้อผ้าอาภรณ์ จะเป็นเสื้อที่ตัดมาจากผ้าขี้ริ้ว หรือตัดจากผ้าอันประณีต ประดับเพชรประดับพลอย ก็เป็นเพียงเสื้อผ้าอาภรณ์ ไว้ปกปิดร่างกายเท่านั้นเอง ทำหน้าที่ได้เท่ากัน คนฉลาดจึงไม่เสียเวลา กับการดูแลร่างกายมากเกินเหตุเกินผล จะดูแลตามความจำเป็น ตามความต้องการของร่างกาย ถึงเรียกว่าเป็นคนฉลาด คนที่ดูแลร่างกายแบบเกินเหตุเกินผลนี้ เรียกว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด ไม่รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

 

การจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ก็ต้องใช้กับการดับความทุกข์ภายในใจ ใช้กับการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ถ้ามีความสามารถมากหรือมีบุญมาก สามารถหาทรัพย์หรือมีทรัพย์มากเกินความจำเป็น ก็อย่าเอาไปใช้กับการเลี้ยงดูกิเลสตัณหา ให้เอามาใช้เพื่อดับความทุกข์ภายในใจ ด้วยการทำทาน ทำให้เต็มที่ไปเลย ทำอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำ พระพุทธเจ้าทรงสละพระราชสมบัติ นี่เรียกว่าทำทานอย่างเต็มที่ ตอนที่ทรงออกจากพระราชวัง ไม่มีสมบัติติดตามพระองค์ไปแม้แต่ชิ้นเดียว นอกจากเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ทรงสวมใส่อยู่ ตอนที่ออกไปก็พบกับขอทาน ที่อยากจะได้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่พระองค์สวมใส่ ก็เลยขอแลกเปลี่ยน พระองค์ก็ยินดีสละ ยินดีแลกเปลี่ยน เอาเสื้อผ้าอาภรณ์ของขอทานมาสวมใส่ สละเสื้อผ้าอาภรณ์ของพระราชโอรสไป นี่แหละคือการกระทำที่จะผลักดันให้ได้ตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การกระทำของขอทาน เป็นการกระทำเพื่อให้เวียนว่ายตายเกิดต่อไป เพราะการกระทำของขอทานนี้ ทำด้วยความโลภ อยากได้ของสวยๆงามๆ เพราะความโง่ ไม่รู้ว่าการกระทำอย่างนั้น เป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหา เป็นการส่งเสริมภพชาติให้มีมากขึ้นไป แต่พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักปราชญ์เป็นคนฉลาด ทรงเห็นว่าการสละเสื้อผ้าอาภรณ์อันสวยงาม เป็นการตัดภพตัดชาติ ตัดกิเลสตัณหาให้น้อยลงไป ไม่ทรงยึดติดกับของสวยๆงามๆ ของราคาแพงๆ ทรงใช้ด้วยเหตุด้วยผล ตามความจำเป็น ตามความต้องการของร่างกายเท่านั้น

 

เป็นการกระทำที่พวกเราควรยึดเป็นตัวอย่าง พวกเราเป็นชาวพุทธ มีพุทธัง สรณัง คัจฉามิ มีสังฆัง สรณัง คัจฉามิ แล้วการปฏิบัติของเรานี้ เป็นไปตามพระพุทธพระสงฆ์หรือเปล่า หรือสวนกัน ปากก็ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ แต่การกระทำนี้ เป็นไปในทางเดียวกับการพูดของเราหรือเปล่า ถ้าเราถือพระพุทธเจ้า ถือพระอริยสงฆ์สาวกเป็นสรณะ การกระทำของเราก็ต้องไปในทางเดียวกัน คือทางแห่งความเรียบง่าย มักน้อยสันโดษ มักน้อยก็คือเอาเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องการมากไปกว่าความจำเป็น ถ้าไม่ได้ตามเท่าที่จำเป็น ก็เอาเท่าที่ได้ คือยินดีตามมีตามเกิด เรียกว่าสันโดษ ถ้าได้น้อยกว่าความจำเป็น ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ให้คิดอย่างนี้ ถ้าไม่ได้เลยก็แล้วไป ถ้าจะต้องตายไปก็ตายด้วยการฆ่ากิเลสความมักมาก จะไม่ขาดทุน เพราะความทุกข์ภายในใจจะมีน้อยลงไป แต่ถ้าตายด้วยความโลภมาก อยากได้มาก จะตายแบบขาดทุน เพราะจะมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น นี่คือเรื่องของการปฏิบัติของพวกเรา ที่ควรพิจารณาอยู่เนืองๆ

 

ควรถามตัวเองว่าวันเวลาผ่านไป ผ่านไป เรากำลังทำอะไรอยู่ เพราะเวลาเป็นเหมือนงู ที่ค่อยๆเขมือบเหยื่อเข้าไปทีละเล็กทีละน้อย เวลาก็ค่อยๆกลืนกินสรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลายไปทีละเล็กทีละน้อย ชีวิตของเราตอนนี้ก็ถูกเวลาค่อยๆเขมือบไปทีละเล็กทีละน้อย ตอนนี้ถึงท้องถึงหน้าอกถึงศีรษะหรือถึงที่ไหนแล้ว ควรพิจารณาดู อย่าไปคิดว่าเราอยู่อย่างยาวนาน ขอให้คิดว่าเราได้ไปหาหมอมา แล้วหมอก็บอกว่าเป็นโรคร้าย มีเวลาเหลือไม่มากแล้ว รักษาไม่ได้แล้ว นอกจากเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมทำสิ่งที่ควรจะทำ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะทำบุญกัน เวลาเข้าโรงพยาบาลนี้ จะถวายผ้าบังสุกุลกัน หรือเวลาตายไปแล้ว ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับผู้ตาย ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ที่ทำให้ผู้ตาย แต่ผู้ตายไม่ได้รับประโยชน์ เพราะไม่ได้ทำ

 

ประโยชน์จะเกิดกับผู้กระทำ ไม่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น ถ้าจะได้ก็ได้เพียงบุญอุทิศ ซึ่งถ้าเรามีบุญอยู่แล้ว ก็ไม่เกิดประโยชน์อยู่ดี เพราะบุญอุทิศเป็นเหมือนเงินที่ให้ขอทาน ถ้าเรามีเงินติดตัวไป เราก็จะมีเงินใช้ค่าใช้จ่ายต่างๆ เงินที่อุทิศก็จะไม่มีความหมายอะไร เพราะเป็นจำนวนน้อยมาก นอกจากว่าไม่มีเงินติดตัวไปเลย ต้องไปขอข้าวเขากินเป็นเหมือนขอทาน ถ้าอย่างนั้นบุญอุทิศก็จะเป็นประโยชน์บ้าง อย่างน้อยก็ช่วยให้มีเงินซื้อข้าวกินไปเป็นระยะๆ ดังที่หลวงตาสอนอยู่เรื่อยๆว่า ตอนเราตายแล้วอย่ามากุสลาให้เรา เพราะคำว่ากุสลาก็คือความฉลาด ให้สร้างความฉลาดในขณะที่มีชีวิตอยู่ ความฉลาดก็คือปัญญา การที่จะเกิดปัญญาได้ ก็ต้องเกิดจากทานศีลภาวนา ต้องทำทานก่อนแล้วก็รักษาศีล แล้วก็เจริญสมถภาวนา แล้วถึงมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ถึงจะได้กุศลคือความฉลาด ความฉลาดก็คือการมีดวงตาเห็นธรรม เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคภายในใจ ไม่ใช่เห็นภายนอก เช่นเห็นในหนังสือ หรือเห็นจากการได้ยินได้ฟัง อย่างที่ได้ยินได้ฟังในขณะนี้ อย่างนี้ยังไม่ได้เห็นอย่างแท้จริง จะต้องเห็นภายในใจ เห็นเวลาเกิดความทุกข์ใจเศร้าโศกเสียใจ ว่าเกิดจากความอยาก แล้วก็เห็นการดับของความเศร้าโศกเสียใจด้วยปัญญา ที่เห็นว่าสิ่งที่เราเศร้าโศกเสียใจนี้ เป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดแล้วต้องมีดับไปเป็นธรรมดา เศร้าโศกเสียใจไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ไม่ทำให้สิ่งที่ดับไปกลับคืนมา พอเห็นอย่างนี้ก็จะหยุดความอยากให้สิ่งที่ดับไปกลับมาอีก ความเศร้าโศกเสียใจก็จะหายไป นี่คือการเห็นธรรม นี่คือกุสลา ธัมมา

 

ที่ให้ปฏิบัติกันก็เพื่อให้มาถึงจุดนี้ ให้มาเห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจ เกิดจากความอยาก อยากจะให้สิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดแล้วต้องดับไปเป็นธรรมดา สิ่งที่เกิดแล้วดับไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา นี่คือกุสลา ธัมมา ต้องทำตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่นตอนนี้พวกเราก็กำลังมาทำ กุสลา ธัมมากัน ในเบื้องต้นก็ต้องฟังก่อน เรียกว่าสุตมยปัญญา การฟังธรรมะจะทำให้เกิดปัญญา ความรู้ความฉลาด เป็นกุศลอันดับที่ ๑ ที่จะนำไปสู่กุสลาอันดับที่ ๒ และที่ ๓ ต่อไป กุสลาอันดับที่ ๒ ก็คือจินตามยปัญญา ก็คือการพินิจใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา ต้องปล่อยวาง ไม่ยึดติด ต้องไม่อยากให้เขาเป็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง คือต้องไม่อยากให้เขาเที่ยง ไม่อยากให้เขาให้ความสุขกับเรา ไม่อยากให้เขาเป็นของเรา เพราะเป็นไปไม่ได้ ใคร่ครวญพิจารณาไปเรื่อยๆ เป็นการเตือนใจสอนใจไว้รับกับเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น เรียกว่าจินตามยปัญญา ปัญญาขั้นที่ ๑ และ ๒ ยังไม่ใช่กุสลาที่แท้จริง

 

กุสลาที่แท้จริงจะเกิดในขณะที่ได้เผชิญกับความจริง เผชิญกับการดับของสิ่งที่เราไม่ต้องการให้ดับ เกิดความทุกข์ขึ้นมาอย่างรุนแรงภายในจิตใจ แล้วก็ใช้สติปัญญาที่ได้ฝึกได้ซ้อมมาจากการได้ยินได้ฟัง และจากการใคร่ครวญพินิจพิจารณาอยู่อย่างเนืองๆนี้ มาใช้กับเหตุการณ์จริง มาสอนใจให้ยอมรับความจริงว่า สิ่งใดที่เกิดแล้วย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา พอใจยอมรับได้แล้วก็จะหยุดความอยาก ที่จะให้สิ่งที่ดับไปนั้นกลับคืนมา พอรับความจริงได้ ความเศร้าโศกเสียใจ ความทุกข์ใจที่รุนแรงก็จะหายไป จะรู้ขึ้นมาภายในใจว่า รู้แล้วหนอ ฉลาดแล้วหนอ เข้าใจแล้วหนอ ในคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ว่าธรรมทั้งหลายมีเกิดย่อมมีดับเป็นธรรมดา ธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา นี่คือกุสลา ที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติในขณะที่มีชีวิตอยู่ แต่ก็ต้องเริ่มที่การให้ทาน ถ้าให้มากก็จะมีเวลาปฏิบัติมาก ถ้าให้น้อยก็แสดงว่ายังมีความผูกพัน กับการใช้เงินกับการหาเงินอยู่ เวลาที่จะปฏิบัติก็จะมีไม่มาก ถ้าอยากจะมีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่ ก็ต้องให้อย่างเต็มที่ ไม่ใช้เงินใช้ทองไม่หาเงินหาทอง หาแต่ธรรมะเพียงอย่างเดียว นี่คือการสร้างประโยชน์ให้กับเรา พอจิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว ก็สามารถสอนให้คนอื่นหลุดพ้นตามได้อย่างไม่มีจำนวนจำกัด มีเวลาที่จะเป็นตัวจำกัดว่าจะสอนได้มากน้อยเพียงไร

 

อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนวันละ ๔ รอบ รอบบ่ายก็สอนฆราวาสญาติโยม รอบค่ำก็สอนพระภิกษุสามเณร รอบดึกก็สอนเทวดา ตอนเช้ามืดก่อนที่จะทรงออกบิณฑบาต ก็ทรงเล็งญาณดูว่า จะไปสอนให้กับผู้ใดเป็นกรณีพิเศษในวันนั้น นี่คือการทำหน้าที่ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นของพระพุทธเจ้า หลังจากที่ได้ทรงทำประโยชน์ของพระองค์ได้สำเร็จเรียบร้อยไปแล้ว ทรงทำอยู่ถึง ๔๕ ปีด้วยกัน ประโยชน์ของพระองค์ใช้เวลาเพียง ๖ ปี เพราะฉะนั้นอย่าหวั่นไหวเวลาถูกว่าเห็นแก่ตัว เวลาเราออกไปปฏิบัติ ไปทำประโยชน์ให้กับตัวเรา เพราะหลังจากที่เราทำประโยชน์ของเราเสร็จแล้ว เราจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มากกว่า เพราะประโยชน์ที่เราทำให้กับผู้อื่นในขณะนี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่แท้จริง เป็นประโยชน์ชั่วคราว เช่นช่วยเหลือให้ร่างกายของผู้อื่นให้อยู่ต่อไป ไม่ตายไปก่อนเวลาอันสมควร หรือไม่เช่นนั้น ก็จะไปสร้างโทษให้แก่ผู้อื่น ด้วยการทำประโยชน์ให้แก่กิเลสตัณหาของผู้อื่น จึงไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออย่างแท้จริง เพราะไม่ได้ช่วยทำให้จิตใจมีความทุกข์น้อยลงไป มีภพชาติน้อยลงไป กลับส่งเสริมให้มีภพชาติเพิ่มมากขึ้นไป

 

ดังนั้นถ้าช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ในตอนนี้ จะไม่ได้ช่วยให้เขาได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าช่วยทางร่างกายก็จะได้ประโยชน์เพียงชั่วคราว ร่างกายจะได้อยู่รับความทุกข์ต่อไปอีก ถ้าไปช่วยกิเลสตัณหาของเขา ก็ยิ่งทำให้เขามีความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไปอีก เช่นไม่กล้าทิ้งสามี ไม่กล้าทิ้งภรรยา เพราะกลัวเขาจะเหงา อยู่คนเดียวไม่ได้ อย่างนี้เป็นการช่วยสร้างความทุกข์ให้กับใจของเขา ไม่ได้ช่วยให้ทุกข์ของเขาน้อยลงไป ถ้าเราจากเขาไปในวันนี้ เขาก็จะต้องทำใจ  อยู่คนเดียว ถ้าอยู่คนเดียวได้ ก็จะมีความทุกข์น้อยกว่าเวลาอยู่กับคู่ครอง เพราะว่าเวลามีคู่ครองก็จะเกิดความอยาก เวลาไม่ได้ทำตามความอยาก ก็จะเกิดความว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา แต่ถ้าต้องอยู่คนเดียว ก็ต้องทำใจให้สงบ พอทำใจให้สงบได้ ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ก็จะไม่เกิด การจากไปของเรากลับเป็นประโยชน์กับเขาเสียอีก ถ้าเขามีปัญญา คือถ้าสูญเสียคนที่รักไป แล้วก็ไม่หาแฟนใหม่ เพราะเห็นโทษของการมีแฟนมีคู่รัก ว่ามีทุกข์มากกว่าสุข จะเข็ดหลาบไม่กล้ามีคนใหม่ แล้วก็จะน้อมเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ทำใจให้สงบ เจริญอสุภกรรมฐาน เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย จะได้ดับราคะตัณหา อยู่คนเดียวได้เป็นโสดได้ การจากไปของเรานี้ กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเขา เพราะถ้าไม่จากเขาไป ก็จะไม่มีเหตุให้เขาต้องแก้ปัญหา ดังที่มีคำพูดว่า ทุกข์บ่มี ปัญญาบ่เกิด ถ้าไม่มีความทุกข์ ก็จะไม่ใช้สติปัญญามาแก้ พอมีความทุกข์ก็จะต้องใช้ปัญญา เพราะปัญญาจะเป็นผู้ดับความทุกข์ภายในใจ ปัญญาที่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตานี่แหละ ที่เห็นว่ามีเกิดย่อมมีดับไปเป็นธรรมดา

 

ถ้าไปยึดไปติดกับสิ่งที่มีเกิดมีดับก็จะต้องทุกข์ ให้คิดอย่างนี้ แล้วก็จะทำแบบพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าทรงคิดอย่างนี้ ทรงคิดว่าตอนที่พระองค์จากเขาไป จะได้ทุกข์ใจกัน จะได้ทำใจกัน หลังจากที่พระองค์ได้บรรลุแล้ว ก็ทรงกลับมาช่วยเหลือเขา เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง มีพระญาติออกบวชตามพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ ลูกก็ได้บวชเป็นพระอรหันต์ แม่เลี้ยงก็ได้บวช พ่อก็ได้บรรลุธรรม นี่แหละคือการทำประโยชน์ของตนและของผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เริ่มที่ความไม่ประมาทนี้ ต้องสมมุติว่าเราได้ไปหาหมอมาเมื่อวานนี้ แล้วหมอบอกว่าจะต้องตายวันนี้พรุ่งนี้ อย่างวันนี้หมอคนนี้ก็ได้บอกแล้วว่า พวกคุณอาจจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะไม่มีใครรับรองได้ ถ้าคิดอย่างนี้จะได้รีบทำประโยชน์ของตน เพราะโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์อย่างนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ

 

การได้มาพบกับพระพุทธศาสนา พบกับพระพุทธเจ้า พบกับพระอรหันตสาวกนี้ ไม่ใช่เป็นของง่าย ถ้ามาเกิดแล้วไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา ไม่ได้พบกับพระพุทธเจ้า ไม่ได้พบกับพระอรหันตสาวก ก็จะไม่มีใครสอนเรื่องประโยชน์ของใจ จะมีแต่สอนเรื่องประโยชน์ของร่างกาย และประโยชน์ของกิเลสตัณหา ก็จะเพิ่มความทุกข์ เพิ่มการเวียนว่ายตายเกิด ให้มีมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะการปรากฏของพระพุทธศาสนาในแต่ละครั้งนี้ ไม่ได้ปรากฏขึ้นทุก ๕๐๐ ปีหรือ ๑๐๐๐ ปี แต่เป็นกัปกว่าจะปรากฏขึ้นมาสักครั้ง ในระหว่างกัปนี้เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดนับไม่ถ้วน แล้วพอเราได้มาพบกับพระพุทธศาสนา ก็อาจจะเป็นเหมือนอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ พบก็เท่านั้น ไม่เห็นจะตื่นเต้นยินดีแต่อย่างใด ก็ยังดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ ดูแลร่างกายดูแลกิเลสตัณหาเหมือนเดิม ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าได้พบแล้วได้ปฏิบัติอย่างพระพุทธเจ้า อย่างพระอรหันตสาวก ก็แสดงว่ามีบุญบารมีมาก มีปัญญาบารมี เห็นคุณประโยชน์ของพระพุทธศาสนา เห็นคุณประโยชน์ของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เห็นคุณประโยชน์ของพระพุทธเจ้า เห็นคุณประโยชน์ของพระอรหันตสาวก ว่าเป็นรัตนะเป็นแก้วที่เลิศที่ประเสริฐ ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าเพชรพลอยของมีค่าต่างๆในโลกนี้ ไม่มีอะไรจะมีคุณค่าเท่ากับพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เราจึงเรียกพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ว่าพระรัตนตรัย แก้ว ๓ ดวง ที่เลิศที่วิเศษที่สุด ไม่มีอะไรจะเลิศจะวิเศษเท่ากับพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

 

พวกเราควรน้อมเอาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เข้ามาสู่ใจ ถ้ามีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อยู่ภายในใจแล้ว จะมีแต่ความสุข จะไม่มีความทุกข์เลย ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด มาทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย ทุกข์กับการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก คนที่รัก จะมีแต่ ปรมัง สุขัง อยู่ตลอดเวลา จะเข้าใจประโยคที่ทรงตรัสไว้ว่า นัตถิ สันติ ปรัง สุขัง ไม่มีความสุขใดในโลกนี้ ที่จะดีเท่าความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ ใจจะสงบได้ ก็ต้องมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อยู่ภายในใจนี้ ดังนั้นหน้าที่ของพวกเราก็คือ น้อมพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เข้ามา ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โอปนยิโก  น้อมเข้ามาด้วยการปฏิบัติ สุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ปฏิบัติชอบ นี่คือการน้อมเอาพระธรรมคำสอน น้อมเอาพระพุทธ น้อมเอาพระสงฆ์เข้ามาภายในใจ ต้องน้อมด้วยการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติอย่างเต็มที่ ปฏิบัติอย่างถูกต้อง

 

การจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเคร่งครัด ต้องมีพระธรรมคำสอนเป็นผู้นำ มีพระพุทธเจ้า มีพระอรหันตสาวกเป็นผู้นำ การจะมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นผู้นำทาง ก็ต้องไปอยู่ที่ที่มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อยู่ที่ไหน ก็อยู่ตามสถานที่สงบสงัดวิเวกนั่นเอง อยู่ตามป่าตามเขา ไม่ได้อยู่ตามที่มีแสงสีเสียงยั่วยวนกวนใจ ท่านอยู่ตามป่าตามเขา นั่นคือที่อยู่ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ของพระอรหันต์ทั้งหลาย วัดที่แท้จริงต้องเป็นวัดแบบที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายอยู่ วัดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเรียกว่าวัดก็เป็นเพียงแต่ชื่อเท่านั้นเอง แต่สาระของความเป็นวัดไม่มีเลย เพราะไม่มีความวิเวก ไม่มีความสงบสงัด ไม่มีการปฏิบัติธรรม ไม่มีการภาวนา

 

ดังนั้นขอให้พวกเราจงพยายามทำหน้าที่ของตนก่อน ทำประโยชน์ของตน คือประโยชน์ทางใจก่อน ทำให้เสร็จก่อน แล้วค่อยไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป แล้วการได้มาพบกับพระพุทธศาสนา จะได้ไม่เสียประโยชน์ จะได้ไม่เสียชาติเกิด ไม่ได้เสียสิ่งที่มีคุณประโยชน์ ที่พึงจะได้รับ การเวียนว่ายตายเกิดจะได้หมดสิ้นไป จะได้พบกับพระพุทธเจ้า พบกับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ได้ดำเนินไปถึงก่อนแล้ว พวกเราจะไปถึงจุดหมายปลายทางอันเดียวกันนี้อย่างแน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาลกับเวลา ไปถึงก่อนไปถึงทีหลัง พอถึงแล้วก็ถึงเหมือนกัน

 

ขอให้พวกเราเร่งความเพียร เร่งวิริยะ เร่งศรัทธา เร่งสติ เร่งสมาธิ เร่งปัญญากัน อย่าไปเสียเวลากับการหาเงินหาทอง หาลาภหายศหาสรรเสริญ หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เพราะเป็นการเดินสวนทาง กับทางที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ดำเนินกัน จงพิจารณาความเสื่อมของร่างกายอยู่เนืองๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงถามพระอานนท์ว่า อานนท์ วันหนึ่งเธอได้พิจารณาความตายสักกี่ครั้ง พระอานนท์ก็ตอบว่าประมาณ ๔ – ๕ ครั้งด้วยกัน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เธอยังตั้งอยู่ในความประมาท ถ้าเธอไม่อยากจะตั้งอยู่ในความประมาท เธอจะต้องพิจารณาความตายทุกลมหายใจเข้าออก เพราะถ้าเธอได้พิจารณาแล้ว เธอจะได้ไม่นิ่งนอนใจ จะได้รีบขวนขวายทำภารกิจอันสำคัญนี้ให้เสร็จไป ก่อนที่จะหมดเวลา ก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ทำ จึงขอฝากเรื่องของการพิจารณาความเสื่อม พิจารณาเวลาที่จะหมดไป ให้พวกเราได้นำเอาไปปฏิบัติ เพื่อจะได้เกิดศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิและปัญญาต่อไป

 

อุปสรรคมันอยู่ที่ไหน ทำไมถึงปฏิบัติกันไม่ได้ ทำไมถึงบวชกันไม่ได้ ไม่ลองวิเคราะห์ดูบ้าง ปัญหาอื่นยังวิเคราะห์กันได้ ทำไมปัญหาของเรา ทำไมวิเคราะห์กันไม่ได้ ทำไมบวชไม่ได้ ทำไมทุ่มเทเวลาให้กับการปฏิบัติอย่างเดียวไม่ได้ ทำไมคนอื่นทำได้ ถ้าไม่วิเคราะห์ก็จะไม่ได้คำตอบ จะไม่ได้แก้ปัญหา ปัญหาของพวกเราก็อยู่ตรงที่ไม่ปฏิบัติกัน หรือปฏิบัติน้อย ปฏิบัติไม่มากพอ ปฏิบัติไม่เต็มที่ ยังเป็นมือสมัครเล่นอยู่ ทำไมไม่เป็นมืออาชีพ มืออาชีพนี้มีรายได้ดีกว่ามือสมัครเล่น มืออาชีพจะได้ประโยชน์มากกว่ามือสมัครเล่น ทำไมไม่เอามรรคผลนิพพาน ไปเอาอะไรกันอยู่ตอนนี้ เอาลาภยศสรรเสริญ เอาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย พอได้มาแล้วเป็นอย่างไร ดับความทุกข์ภายในใจได้หรือเปล่า ดับความวิตกกังวลได้หรือเปล่า ดับความหวาดกลัวได้หรือเปล่า ดับความอิจฉาริษยาได้หรือเปล่า ดับความเศร้าโศกเสียใจได้หรือเปล่า ดับความว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงาได้หรือเปล่า ทำไมไม่พิจารณากัน เรากำลังกินยาผิดขนานกันหรือเปล่า แทนที่จะกินยารักษาโรคใจ เรากลับไปกินยาที่ทำให้โรคใจกลับกำเริบ ไม่คิดพิจารณากัน ไม่กุสลากัน

 

คิดอย่างนี้เรียกว่ากุสลา คิดว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องสละราชสมบัติ ทำไมต้องสละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ทำไมไม่เจริญลาภยศสรรเสริญสุข จะได้เป็นถึงพระมหาจักรพรรดิ มีการพยากรณ์ไว้แล้วตอนที่ประสูติออกมาว่า มี ๒ แนวทางด้วยกัน ถ้าอยู่ทางโลกก็จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ ถ้าออกบวชก็จะได้เป็นพระศาสดา เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพราหมณ์เพียงรูปเดียวที่ทำนายว่า จะต้องออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว ก็คือท่านอัญญาโกณฑัญญะ พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกของพระพุทธศาสนา สมัยนั้นท่านเป็นหมอดู ได้ทำนายว่าจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าเพียงอย่างเดียว หมอดูอื่นก็ทำนายว่าเป็น ๒ ทางด้วยกัน แล้วก็เป็นอย่างที่อัญญาโกณฑัญญะได้พยากรณ์ไว้ ว่าต้องเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงมีพระปัญญามีกุสลาที่แก่กล้า ทรงมองเห็นความทุกข์ในลาภยศสรรเสริญ มองเห็นความทุกข์ที่ถูกความสุขของลาภยศสรรเสริญ ของรูปเสียงกลิ่นรส ปกปิดเอาไว้ ที่ปุถุชนมองไม่เห็นกัน จึงหลงกับลาภยศสรรเสริญอย่างถอนตัวไม่ขึ้น นี่แหละคือปัญหาของพวกเรา

 

พวกเรามองไม่เห็นความทุกข์ ในลาภยศสรรเสริญ ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพราะไม่เห็นความไม่เที่ยง หรือไม่ยอมมองกัน ถ้ามองก็ต้องเห็น ไม่เที่ยงตลอดเวลา ได้มาปั๊บก็หายไปแล้ว ได้ความสุขจากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสปั๊บ ก็หายไปแล้ว ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ การที่จะต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ แสดงว่ามันหมดไปแล้ว ไปเที่ยววันนี้ ความสุขที่ได้จากการไปเที่ยววันนี้ ก็หมดไปแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องไปเที่ยวใหม่ ไม่เห็นกัน ไม่พิจารณากัน เวลาไม่ได้เที่ยวเป็นอย่างไร สุขเหมือนตอนที่ไปเที่ยวหรือเปล่า ถ้าเป็นของจริงก็ต้องสุขไปตลอด ไปเที่ยวหนเดียวก็ต้องสุขไปตลอด ไม่ต้องไปเที่ยวใหม่ พอไม่ได้เที่ยวปั๊บ ก็ทุกข์ขึ้นมาภายในใจ แทนที่จะใช้ปัญญาใช้กุสลาพิจารณาว่า นี่คือความทุกข์ ที่เกิดจากการแสวงหาความสุข ทางรูปเสียงกลิ่นรส ทางลาภยศสรรเสริญ เป็นทุกข์อย่างนี้เอง ทุกข์ตอนที่ไม่ได้เสพไม่ได้สัมผัส ถ้าเห็นอย่างนี้ ก็จะเบื่อหน่ายกับความสุขแบบนี้ ที่หลอกล่อให้วิ่งเข้าหา

 

ความสุขแบบนี้เป็นเหมือนเหยื่อ ที่ติดอยู่ปลายเบ็ด ส่วนความทุกข์ก็คือตัวเบ็ด พอปลาฮุบเหยื่อเข้าไปปั๊บ ก็ถูกตะขอเบ็ดเกี่ยวปากทันที ถ้าไปฮุบลาภยศสรรเสริญ ไปฮุบความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายปั๊บ ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที จะติดทันที ถอนตัวออกไม่ได้ เวลาจะถอน เวลาที่ไม่ได้เสพ จะทุกข์ทรมานใจเป็นอย่างมาก แทนที่จะถอน แทนที่จะยอมทุกข์เพื่อจะได้หายทุกข์ กลับไปเพิ่มความทุกข์ ด้วยการเสพต่อไป ถ้าอยากจะหายจากความทุกข์ ที่เกิดจากการติดลาภยศสรรเสริญสุข ก็ต้องยอมทนทุกข์ ที่เกิดจากการถอนตัวออกจากลาภยศสรรเสริญสุข ที่ต้องถอนด้วยการภาวนา ด้วยทาน ด้วยศีล อย่างมากก็ทุกข์ไม่เกิน ๗ ปี อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทุกข์มาแล้ว ความจริงเวลาจะทุกข์มากที่สุด ก็ตอนที่ตัดสินใจออกบวชนี่แหละ เป็นตอนที่ทรมานใจที่สุด ตอนที่จะต้องสละลาภยศสรรเสริญ สละรูปเสียงกลิ่นรสไปให้หมด แต่พอตัดสินใจได้แล้ว ใจก็โล่งขึ้นมาเลย ใจมันโล่ง มันเบา มันสบายอย่างบอกไม่ถูก หลังจากนั้นก็ไปทุกข์กับการต่อสู้กับความอยาก ที่อยากจะกลับไปหาลาภยศสรรเสริญอีก ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า ถ้ากลับไปก็กลับไปหาเบ็ดอีก กลับไปหาความทุกข์อีก ถ้าคิดอย่างนี้ ก็จะไม่กล้ากลับไปอีก

 

ถ้าเร่งความเพียรจนเกิดผลจากการปฏิบัติแล้ว จะมีพลังที่จะต่อสู้กับความอยากจะกลับไปหาลาภยศสรรเสริญสุข ปฏิบัติได้ผลมาก ก็จะลดละความอยากที่จะกลับไปได้มาก จนไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในใจเลย ไม่เคยคิดถึงเลย ถ้าคิดก็คิดด้วยความขยาดกลัว ไม่คิดด้วยความพิศวาส เห็นคนที่กำลังแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข ก็อดสงสารเขาไม่ได้ ถึงแม้จะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีหมื่นล้านแสนล้าน ก็รู้ว่าใจของเขาไม่สุขเหมือนใจของเรา เพราะเราผ่านมาแล้ว เราหลุดจากบ่วงมารแล้ว หลุดจากเบ็ดที่เกี่ยวปากแล้ว คนที่ยังติดอยู่กับลาภยศสรรเสริญ ก็ยังมีเบ็ดเกี่ยวปากอยู่ ยังมีความทุกข์ความวุ่นวายใจอยู่ นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องตัดให้ได้ ต้องออกบวชให้ได้

 

อย่าไปคิดว่าปฏิบัติแบบฆราวาสจะดี ก็ดีอยู่ในระดับหนึ่ง แต่สู้การออกบวชไม่ได้ เราก็เคยคิดอย่างนี้ ตอนที่เป็นฆราวาส ก็ไม่อยากจะบวชเหมือนกัน แต่ถูกความจนบังคับ ไม่มีเงินเหลือแล้ว ก็ต้องบวชถึงจะได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ ไม่อยากจะกลับไปทำงานอีกแล้ว ไม่อยากไปวุ่นวายกับการหาเงินกับการใช้เงินอีกแล้ว ก็เลยต้องบวช ในใจก็เคยคิดเหมือนกันว่า ถ้ามีสักแสนสักล้านหนึ่ง จะปฏิบัติต่อไปได้อีกนาน แต่จะเป็นแบบกระท่อนกระแท่น ไม่เป็นกอบเป็นกำ เพราะไม่มีสังคม ไม่มีผู้นำ ไม่มีตัวอย่างที่เด่นกว่า ที่จะคอยฉุดลากเราไป แต่พอได้บวชแล้ว ก็ได้เข้าสังคมของผู้ที่มีกุสลามากกว่าเรา มีสติปัญญามีความรู้ความสามารถมากกว่าเรา ปฏิบัติเก่งกว่าเรา ก็ทำให้เราต้องผลักดันตัวเราเองให้เก่งเท่าเขาให้ได้ เขาทำอย่างไรเราก็ต้องทำอย่างนั้นให้ได้ เช่นบิณฑบาตที่วัดป่าบ้านตาด ลองไปบิณฑบาตดู ถ้าไม่เป็นนักวิ่งก็จะสู้เขาไม่ได้นะ สมัยนั้นทางก็ไม่ได้ลาดยาง เป็นลูกรัง ยิ่งหน้าหนาวนี่ เวลาเดินเหมือนเหยียบก้อนน้ำแข็ง เขาทำได้เราก็ต้องทำได้ ครูบาอาจารย์ท่านทำ เราก็ต้องทำ ครูบาอาจารย์ท่านเดินเร็ว เราก็ต้องเดินเร็วกว่าท่าน เวลาเดินกลับวัดต้องถึงก่อนครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ให้ท่านไปนั่งรอ

 

อย่างนี้แหละเป็นการดึงเรา การปฏิบัติของท่านเป็นการดึงเรา ให้เราเหยียบคันเร่งให้สุดเลย ถ้าปฏิบัติตามลำพัง ก็จะเหยียบแค่ครึ่งเดียว พอหอมปากหอมคอ ก็ถือว่าทำความเพียรมากแล้ว พอไปอยู่กับครูบาอาจารย์นี่ ท่านเหยียบคันเร่งสุดเลย ถ้าไม่เร่งสุดก็ไม่ทันท่าน อย่างนี้ถึงเรียกว่าไปอยู่วัด ไปปฏิบัติ ไปบวช เพื่อส่งเสริมผลักดันให้ไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็ว จึงควรมองให้เห็นโทษ เห็นทุกข์ในลาภยศสรรเสริญ ในความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เพราะมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เป็นสมบัติของเรา จะไม่อยู่กับเราไปตลอด เวลาร่างกายนี้ตายไป เราเอาอะไรไปไม่ได้เลย แต่สมบัติทางใจคือมรรคผลนิพพานนี้ เป็นของเราทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะได้ระดับไหน ถ้าตายไปก็เอาไปได้หมด เป็นของเรา เป็นลาภยศสรรเสริญสุขที่แท้จริงของใจ คือมรรคผลนิพพานนี่เอง เอาอย่างนี้ อย่าไปเอาอย่างอื่น อย่างอื่นเป็นของปลอม เป็นเหมือนฟองน้ำ ของต่างๆในโลกนี้เป็นเหมือนฟองน้ำ เดี๋ยวก็แตกไป แตกแล้วฟองใหม่ก็โผล่ขึ้นมา พอฟองนี้แตกก็ไปหาฟองใหม่ หาไปเรื่อยๆ มันก็แตกไปเรื่อยๆ เพราะนี่คือธรรมชาติของสิ่งต่างๆในโลกนี้ ไม่มีคุณประโยชน์กับใจ มีแต่จะให้ความทุกข์กับใจ

 

จงมองให้เห็นคุณค่าของมรรคผลนิพพาน ว่าเป็นเพชรนิลจินดา เป็นของมีค่าที่แท้จริง ถ้าเห็นอย่างนี้แล้ว รับรองได้ว่าจะทิ้งลาภยศสรรเสริญ ทิ้งความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ทิ้งกัน เพราะท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไปควบคุมบังคับไปสั่งมันไม่ได้ จะให้อยู่กับเราไปตลอดไม่ได้ ต้องมีวันที่จะต้องจากกันไป ต้องคิดอย่างนี้ ต้องศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันตสาวกอยู่เรื่อยๆ ศึกษาแนวทางดำเนินของท่านอยู่เรื่อยๆ อย่างที่มีรอยพระบาทให้กราบนี้ ก็เพื่อให้เราระลึกถึงการดำเนินของท่าน ไม่ใช่ให้กราบเพื่อให้ร่ำให้รวย ให้เจริญในลาภยศสรรเสริญ ให้เราระลึกถึงวิถีชีวิตของท่าน ว่าท่านดำเนินอย่างไร ตอนต้นท่านก็เป็นฆราวาสเหมือนเรา พอท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ท่านก็สละสิ่งที่เป็นทุกข์ แล้วก็มุ่งไปหาสิ่งที่เป็นสุข สละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วก็ออกบวชปฏิบัติธรรม จนบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่คือการกราบรอยพระบาท กราบพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ให้กราบแบบนี้ ทุกครั้งที่เรากราบพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ให้คิดถึงวิถีชีวิตของท่าน ว่าท่านดำเนินชีวิตอย่างไร ได้ประโยชน์อย่างไร ถ้ากราบอย่างนี้จะได้รับประโยชน์ ถ้ากราบแล้วขอให้สามีอยู่ไปนานๆ ขอให้ลูกอยู่ไปนานๆ ขอให้ภรรยาอยู่ไปนานๆ ขอให้ทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองอยู่ไปนานๆ ก็เสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะจะไม่ได้เกิดตามที่กราบขอ ของทุกอย่างในโลกนี้ ต้องเสื่อมไปไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีใครยับยั้งได้

 

จึงอย่าไปกลัวความเสื่อม ความเสื่อมเป็นเรื่องปกติของโลกนี้ โลกของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ทำมาจากดินน้ำลมไฟ จะต้องแยกจากกันไป การรวมตัวของดินน้ำลมไฟไม่ถาวร เวลามีพลังที่ดึงธาตุ ๔ ให้มารวมกันก็จะรวมกัน ปรากฏเป็นสิ่งต่างๆ พอพลังที่ดึงไว้หมดกำลังลง พลังที่จะแยกธาตุ ๔ ออกจากกันมีกำลังมากกว่า ก็จะแยกธาตุ ๔ ออกจากกัน เช่นร่างกายของเรา ตอนที่เกิดใหม่ๆ พลังดึงให้ธาตุมารวมกันนี้มีพลังมากกว่า พอพลังที่ดึงให้รวมอยู่ด้วยกันอ่อนลงไป พลังที่จะแยกมีกำลังมากขึ้น ร่างกายก็จะต้องแปรสภาพไป ธาตุ ๔ ก็แยกจากกัน จึงอย่าไปวิตกกับความเสื่อม โลกนี้มีความเสื่อมเป็นธรรมดา แล้วก็มีเรื่องวิบากกรรมที่ทำให้ชีวิตเราตกต่ำด้วย กรรมที่ทำในอดีต เราก็ย้อนกลับไปแก้มันไม่ได้ ต้องรอรับผลที่จะเกิดขึ้น ทำบุญสะเดาะเคราะห์ ก็ไม่สามารถยับยั้งความเสื่อมได้ ไม่ว่าจะเสื่อมเพราะบาปกรรม หรือเสื่อมเพราะเป็นธรรมดาของโลก ผู้มีปัญญาจึงไม่วิตกไม่กังวลกับความเสื่อม เพราะผู้รู้ไม่ได้เสื่อมไปกับความเสื่อมของสิ่งต่างๆ ใจไม่ได้เสื่อมไปกับลาภยศสรรเสริญ ไม่ได้เสื่อมไปกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ใจจะเจริญหรือเสื่อม ขึ้นอยู่กับกิเลสกับธรรมเท่านั้น ถ้ามีกิเลสมากก็จะเสื่อมมาก ถ้ามีธรรมมากก็จะเจริญมาก

 

ถ้าจะแก้ความเสื่อม สร้างความเจริญ ก็ต้องมาแก้มาสร้างในใจ แก้ความเสื่อมภายในใจได้ ส่วนความเสื่อมของโลกแก้ไม่ได้ ความเสื่อมของโลกเป็นธรรมดา เราไม่ต้องเดือดร้อนไปกับเขา ปล่อยให้เขาเสื่อมไป ปล่อยให้เขาหมดไป เราไม่เสื่อมเสียอย่างไปกลัวอะไร นี่คือผู้ที่มีกุสลา มีปัญญาจะเห็นอย่างนี้ จะแยกใจออกจากทุกสิ่งทุกอย่าง จะรู้ว่าใจไม่ได้เสื่อมไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง กิเลสตัณหาเท่านั้นที่ทำให้เสื่อม ถ้ากำจัดกิเลสตัณหาให้หมดไปได้แล้ว ก็จะไม่มีความเสื่อมอยู่ในใจอีกต่อไป จะมีแต่ความสุขความเจริญ ปรมังสุขัง อยู่ตลอดเวลา นี่คือประโยชน์ที่พวกเราจะได้รับจากพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา จะไม่มีวันที่จะรู้ความจริงนี้เลย พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่แท้จริง เป็นศาสนาที่นำพาให้ผู้ปฏิบัติ ได้หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง ได้พบกับความสุขอย่างแท้จริง ไม่มีศาสนาใดในโลกนี้ ที่สามารถทำได้เหมือนกับพระพุทธศาสนา จึงขอให้พวกเรามีศรัทธาแน่วแน่มั่นคงกับพระพุทธศาสนา แล้วพยายามปฏิบัติตาม ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อประโยชน์อันสูงสุดที่จะตามมาต่อไป

 

 

ถาม  สามีของลูกศิษย์คนหนึ่งหัวใจวายตายที่เชียงใหม่ เป็นทุกข์มาก เขาให้มากราบเรียนว่า ตั้งแต่เขาเริ่มเข้าวัดมาฟังท่านอาจารย์ ๒ ปี ทำให้เขาเข้มแข็งมาก เขาเข้มแข็งจริงๆค่ะ

 

ตอบ  ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็จะไม่ร้องห่มร้องไห้

 

ถาม  เขาบอกวันที่รดน้ำศพ เขาเข้าไปกราบสามี แล้วก็นึกถึงท่านอาจารย์ เพราะได้เห็นร่างกายซึ่งบวมมาก ได้เห็นอสุภะในวันนั้น ก็กราบขอบพระคุณมากค่ะ

 

ตอบ  ต้องกราบขอบพระคุณพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าพวกเราก็จะไม่รู้

 

ถาม  เขาให้กราบเรียนด้วยค่ะ ว่าท่านอาจารย์ส่งข้อสอบยากที่สุดเลย ไม่ให้เขาสอบซ้อมเลย ให้สอบใหญ่เลย  

 

ตอบ  จะได้ทำข้อสอบเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่ยอมทำกัน พอทำจริงๆก็จะทำได้ ทุกคนต้องเจอข้อสอบนี้ ช้าหรือเร็ว ไม่ต้องกลัว พวกเราทำได้ เพราะมีธรรมะ ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้ามีธรรมะ จะมีข้อสอบกี่ข้อก็สอบผ่านหมด ปลงไปเรื่อยๆ ปลงไปทุกวันๆ คนนั้นก็ตายคนนี้ก็ตาย คนนั้นก็ไปคนนี้ก็ไป ให้คิดอย่างนี้ ถ้าปลงตัวเราได้แล้ว ปลงคนอื่นได้อย่างสบายเลย ปลงตัวเราให้ได้ก่อน ถามตัวเราว่าวันนี้เราพร้อมที่จะตายหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วก็จะสบาย