กัณฑ์ที่ ๔๕๔       ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๖

 

ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

 

 

 

 

ถ้ามาพร้อมกันแล้ว จะได้เริ่มฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ฟังธรรมเพื่อทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ให้มีสัมมาทิฐิ แปลว่าความเข้าใจที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้องก็คือ การมาเกิดของเราในโลกนี้ เป็นเหมือนการแวะจอดรถตามสถานีบริการ เป็นการอยู่ชั่วคราว เป็นการจอดแวะเพื่อเติมน้ำมัน เติมน้ำ เติมอาหาร ซ่อมบำรุงรถยนต์ ที่เป็นเครื่องมือสำหรับการเดินทาง โลกนี้ไม่ใช่บ้านของเรา ไม่ใช่ที่อยู่ของเรา บ้านของเรา จุดหมายปลายทางของการเดินทางของเรา ก็คือพระนิพพาน ให้คิดอย่างนี้เสมอ จะได้ไม่หลงกับการแวะจอดตามสถานีบริการ ตอนนี้พวกเรายังมีมิจฉาทิฐิ มีความเห็นผิดเป็นชอบกันอยู่ ยังเห็นว่าร่างกายเป็นของเรา โลกนี้เป็นที่อยู่ของเรา พอถึงเวลาที่จะต้องออกเดินทางจากโลกนี้ไป ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ เพราะลืมความจริงไป ความจริงก็คือโลกนี้เป็นสถานีบริการ เป็นที่พักเพื่อเติมน้ำมัน รับประทานอาหารเสร็จแล้วก็จะต้องเดินทางต่อ คนที่เราพบเรารู้จัก ก็เป็นเหมือนคนที่เราพบที่สถานีบริการ ที่เราจะต้องจากเขาไป พอเติมน้ำมัน เติมน้ำ เติมลม เติมอาหารเสร็จแล้ว เราก็ออกเดินทางต่อไป ไปให้ถึงบ้านของเรา พอถึงแล้ว จะได้ไม่ต้องทุกข์ยากกับการเดินทางอีกต่อไป

 

นี่เป็นสิ่งที่พวกเราควรจะคิดเตือนใจอยู่เสมอ ว่าการมาเกิดในภพนี้ในโลกนี้ ก็เพื่อมาเติมพลังใจ เติมน้ำมันแห่งธรรม เพราะนานๆจะได้พบสถานีบริการที่มีน้ำมันแห่งธรรมให้เติม สถานีบริการส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำมันแห่งธรรมให้เติม เพราะนานๆจะมีพระพุทธศาสนามาปรากฏขึ้นสักครั้งหนึ่ง นานๆจะมีพระพุทธเจ้ามาทรงตรัสรู้ เพื่อนำเอาธรรมะมาเผยแผ่ สั่งสอนให้กับสัตว์โลก ธรรมะก็เป็นเหมือนแผนที่ ซึ่งสถานีบริการในบางประเทศนี่ จะมีแผนที่แจก เวลาเราเดินทางแล้วไม่แน่ใจว่าไปถูกทางหรือไม่ เราก็จะแวะที่สถานีบริการเพื่อดูแผนที่ จะได้ไม่หลงทาง จะได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ธรรมะของพระพุทธเจ้าก็เป็นเหมือนแผนที่ ถ้าไม่มีแผนที่ก็จะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ไปไม่ถึงบ้าน

 

ชาตินี้เราได้เกิดมาพบกับพระพุทธศาสนา จึงถือว่าเป็นโอกาสอันเลิศอันประเสริฐ เพราะมีธรรมะมีแสงสว่างนำทาง มีแผนที่บอกทาง ให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง มีธรรมะคอยเตือนใจ คอยสอนใจ ไม่ให้หลงระเริงไปกับการหยุดพักผ่อน ตามสถานีบริการ เพราะเป็นความสุขเพียงชั่วคราว พอออกเดินทางต่อไปความสุขต่างๆก็จะหมดไป ถ้าไม่มีแผนที่ ไม่มีธรรมะบอกทาง เราก็จะหลงทางวนเวียนกลับมาที่เก่า กลับมาเกิดใหม่ กลับมาแก่มาเจ็บมาตายใหม่ กลับมาหลงกับความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่ได้จากการมีร่างกาย มีตาหูจมูกลิ้นกาย ที่ใช้เสพความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่เป็นความสุขเพียงเล็กน้อย ที่มีความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่แถมมาด้วย เพราะเป็นความสุขชั่วคราว ที่ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ ที่สร้างความอยากใหม่ให้เกิดขึ้นอีก เวลาเกิดความอยากก็จะเกิดความทุกข์ใจ เกิดความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ไม่สบายใจ ที่ทำให้ต้องเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ เป็นเหมือนติดยาเสพติด ต้องเสพอยู่เรื่อยๆถึงจะมีความสุข เวลาไม่ได้เสพ ก็จะเศร้าสร้อยหงอยเหงา หงุดหงิด ไม่สบายใจ ว้าเหว่เปล่าเปลี่ยวเดียวดาย เพราะความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายเป็นทุกข์นั่นเอง ทุกข์ที่เกิดจากความอยาก เกิดจากความหิวของใจ ที่ไม่มีวันอิ่มไม่มีวันพอ กับการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ  

 

เวลาที่ได้มาเกิดในโลกที่ไม่มีธรรมะ ก็จะหลงกับการแสวงหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เพื่อให้ความสุขกับตน เพราะไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่า เป็นความทุกข์มากกว่าเป็นความสุข ชีวิตของมนุษย์ที่ไม่มีธรรมะ ไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าก็จะเป็นอย่างนี้ จะเป็นชีวิตที่มีความสุขเล็กๆน้อยๆ กับการได้เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และมีความทุกข์มากๆเวลาไม่ได้เสพ

 

แต่พอมีพระพุทธศาสนามาปรากฏ ก็จะมีผู้บอกให้รู้ว่า การเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้ เป็นโทษ ไม่ใช่เป็นคุณ เพราะต้องเสพอยู่เรื่อยๆ เวลาที่ไม่ได้เสพก็จะทุกข์ใจ ไม่สบายใจ จึงควรหยุดเสพ ควรหาความสุขที่เสพได้ตลอดเวลา โดยที่ไม่ต้องใช้ตาหูจมูกลิ้นกายเป็นเครื่องมือ ก็คือความสุขที่ได้จากการภาวนา การทำใจให้สงบ ด้วยการเจริญสติ ควบคุมความคิดปรุงแต่ง พอจิตใจสงบแล้ว ก็จะพบกับความสุข ที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลาย เป็นความสุขที่เราสามารถผลิตขึ้นมาได้ตลอดเวลา ทุกสถานที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดเวลาใด ไม่ว่าร่างกายจะอยู่ในสภาพใด เป็นปกติหรือเจ็บไข้ได้ป่วย มีทรัพย์หรือไม่มีทรัพย์ ความสุขที่เกิดจากการเจริญสติทำใจให้สงบนี้ ไม่ต้องใช้ร่างกาย ไม่ต้องใช้เงินทองเป็นเครื่องมือ เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องนอนอยู่บนเตียง ก็ยังสามารถภาวนาได้ เจริญสติได้ ทำใจให้สงบได้ มีความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้

 

นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง ความสุขที่ถาวร ความสุขที่เอาติดตัวไปด้วยได้ ใจสามารถนำความสุขนี้ไปได้ เวลาที่จะต้องออกจากร่างกายไป ความสุขนี่แหละที่จะเป็นบ้านของเรา ถ้ารักษาความสุขนี้ให้อยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้หมดไป ด้วยการภาวนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเจริญสติ เพื่อทำให้เกิดสมาธิ แล้วก็ใช้ปัญญารักษาสมาธิรักษาความสงบ เวลาที่จิตออกมารับรู้เรื่องราวต่างๆ มารับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ มารับรู้เรื่องความคิดปรุงแต่งต่างๆ ก็ให้ปัญญาคอยสกัด ไม่ให้กิเลสมาหลอกมาล่อ ให้ไปผลิตความทุกข์ขึ้นมาภายในใจ ถ้ามีปัญญาก็จะสามารถระงับความโลภความอยากต่างๆได้ เพราะปัญญาจะชี้บอกให้เห็นว่าสิ่งที่โลภที่อยากนั้น ไม่ได้เป็นความสุข เป็นความสุขเพียงเล็กน้อย แต่เป็นความทุกข์เสียมากกว่า เวลาอยากหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ปัญญาก็จะบอกว่า เป็นเหมือนเสพยาเสพติด เสพแล้วจะไม่อิ่มไม่พอ กลับจะหิวจะอยากเสพมากขึ้นไปเรื่อยๆ เวลาไม่ได้เสพก็จะทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

 

นี่คือหน้าที่ของปัญญาที่จะคอยสอนใจ ให้เห็นว่าสิ่งที่อยากจะเสพนั้น ไม่เที่ยง ไม่อิ่มไม่พอ ไม่สามารถสั่งให้มีอยู่ได้ตลอดเวลา บางเวลาก็มี บางเวลาก็ไม่มี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่นิ่ง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีเจริญมีเสื่อม มีมามีไป นี่คือหน้าที่ของปัญญา ที่จะคอยสอนใจไม่ให้ไปอยากกับสิ่งต่างๆ ไม่ให้อยากกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ให้อยากกับลาภยศสรรเสริญ ไม่ให้อยากมีอยากเป็น ไม่ให้อยากไม่มีอยากไม่เป็น เพราะความอยากเหล่านี้จะทำลายความสงบ ทำลายสมาธิที่ได้จากการเจริญสติ พอปรุงแต่งไปในทางสมุทัย ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้นมา ความสุขที่ได้จากความสงบก็จะถูกทำลายไป แต่ถ้ามีปัญญามาสกัดทุกครั้งที่เกิดความอยาก ก็จะระงับความอยากได้ ความสงบก็จะกลับคืนมา ถ้าปัญญาทันกับความอยาก ทันกับกิเลสทุกประเภท ก็สามารถสกัดความอยาก สกัดกิเลสทุกประเภทได้หมด พอไม่มีกิเลสไม่มีความอยาก มาผลิตความทุกข์ให้กับใจ ใจก็จะมีความสุขไปตลอดเวลา ใจได้ถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ถึงบ้านแล้ว บ้านที่มีความสุขทุกรูปแบบ ก็คือปรมังสุขังนี่เอง

 

สิ่งที่จะให้ความสุขทุกรูปแบบแก่ใจ ก็คือปรมังสุญญัง ความว่างเต็มร้อย ว่างจากตัณหา ว่างจากความโลภความโกรธความหลง ว่างจากกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา ด้วยอำนาจของสติสมาธิและปัญญา จิตจะอยู่ในความว่างตลอดเวลา ถึงแม้จะใช้สังขารมาคิดปรุงแต่ง ก็จะไม่ใช้ไปในทางสมุทัย ไม่ไปในทางกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา เช่นพระพุทธเจ้าทรงใช้สังขารความคิดปรุงแต่งไปในทางธรรมะ สั่งสอนสัตว์โลก ให้ทำบุญ ให้ละบาป ให้ชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ความคิดแบบนี้เป็นมรรค ไม่ได้เป็นสมุทัย ใจของพระพุทธเจ้า ใจของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะไม่คิดไปในทางสมุทัย เพราะเห็นโทษของการคิดไปในทางสมุทัย เห็นโทษของการคิดว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เที่ยงแท้แน่นอน สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นความสุข สิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นของเราเป็นตัวเรา เพราะเป็นความคิดที่ไม่ตรงกับความจริง เป็นความคิดที่จะทำให้เกิดความหลง ความคิดที่ทำให้เกิดความอยากต่างๆ ท่านได้ผ่านความทุกข์ที่เกิดจากความอยากมาอย่างโชกโชนแล้ว เห็นโทษอย่างโชกโชนแล้ว เข็ดหลาบอย่างโชกโชนแล้ว จะไม่อยากกับอะไรทั้งนั้น เห็นอะไรก็จะเห็นไปตามความเป็นจริง ว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้แหละ จะดีก็เป็นเรื่องของเขา จะไม่ดีก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าไม่ไปอยากให้เขาดีหรือไม่ดี ก็จะไม่ทุกข์ เราไม่สามารถทำสิ่งที่ไม่ดีให้ดีเสมอไป หรือทำสิ่งที่ดีให้ไม่ดีเสมอไป

 

สิ่งต่างๆมีเหตุมีปัจจัย ที่ทำให้เขาดีหรือไม่ดี หน้าที่ของเราไม่ใช่อยู่ที่การกระทำให้เขาดีหรือไม่ดี หน้าที่ของเราก็คือ เพียงแต่รับรู้ว่าเขาดีหรือไม่ดี แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ใช่อยากให้เขาดีหรือไม่ดี เพราะจะเป็นการสร้างความทุกข์ใจให้กับเรา นี่คือสัมมาทิฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ว่าเราควรดำเนินชีวิต ไปสู่ความสงบของใจ ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยปัญญาที่เข้าใจธรรมชาติความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ว่าเขาเป็นอย่างนั้นแล เราไม่สามารถไปเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ เปลี่ยนได้บางครั้งบางคราว ไม่ได้เปลี่ยนอย่างถาวร เปลี่ยนแล้วเดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนใหม่อีก เวลาเขาเปลี่ยนไป อย่างนี้ไม่ใช่เป็นการดำเนินชีวิตเพื่อให้มีความสุข การดำเนินชีวิตเพื่อให้มีความสุขก็คือ ต้องปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัย ให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สิ่งที่ทำได้ก็คือสอนใจที่ไม่รู้ความจริงนี้ให้รู้ เพื่อจะได้อยู่กับสิ่งต่างๆในโลกนี้อย่างไม่เดือดร้อนใจ ไม่ทุกข์ใจ

 

หน้าที่ของพวกเราคือรักษาใจ ไม่ให้ทุกข์กับสิ่งต่างๆในโลกนี้ นี่คือการเดินทางของพวกเรา เพื่อให้ไปถึงบ้านที่ไม่มีความทุกข์ ด้วยการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยการเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เราไม่สามารถทำอะไรต่างๆ ให้เป็นไปตามความอยากของเราได้ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ไม่เป็นการสร้างความสุข แต่เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับเรา พวกเราทุกคนไม่มีใครอยากมีความทุกข์กัน อยากมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น ก็ต้องทำเหตุที่จะทำให้มีความสุข ก็คือต้องปล่อยวาง ต้องเจริญอนิจจังทุกขังอนัตตาอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะเจริญอนิจจังทุกขังอนัตตาได้ ก็ต้องเจริญสติก่อน หยุดความคิดปรุงแต่งให้ได้ก่อน พอหยุดความคิดปรุงแต่ง ที่จะคิดไปในทางความอยาก อยากให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น อยากให้สิ่งนี้เป็นอย่างนี้ได้แล้ว จึงมาสอนใจให้คิดไปในทางอนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้ายังหยุดความคิดไม่ได้ ก็จะหยุดความอยากไม่ได้ สอนใจให้ปล่อยวาง ก็ปล่อยไม่ได้ เพราะใจยังอยากจะยุ่งกับสิ่งต่างๆอยู่ ยังอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้อยู่

 

แต่ถ้าใจสงบแล้ว จะหยุดความอยากชั่วคราว พอออกจากความสงบแล้วไปอยากเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตอนนั้นก็จะใช้ปัญญาเข้ามาหยุดได้อย่างถาวร ถ้าความอยากยังมีกำลังมากอยู่ จะหยุดไม่ได้ คนที่ยังไม่มีสมาธิ เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว รู้แล้วว่าความทุกข์เกิดจากความอยาก รู้แล้วว่าสิ่งที่จะหยุดความอยากได้ ก็คืออนิจจังทุกขังอนัตตา แต่หยุดความอยากไม่ได้ เพราะยังหยุดความคิดไม่ได้ ยังไม่มีสมาธิ แต่สำหรับผู้ที่มีสมาธิแล้วหยุดความคิดได้แล้ว ก็จะหยุดความอยากได้ นี่คือความแตกต่างระหว่างผู้ที่ฟังธรรมแล้วบรรลุ กับผู้ที่ฟังธรรมแล้วยังไม่บรรลุ อยู่ที่สมาธินี้เอง ในสมัยพระพุทธกาล เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาในระยะแรกๆ จะทรงแสดงให้แก่นักบวชทั้งหลาย ที่มีศีลมีสมาธิแล้ว พอฟังธรรมฟังปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็น ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่ฟังธรรมเลย เพราะมีศีลมีสมาธิรองรับ

 

ปัญญาจะเป็นประโยชน์ได้ ก็ต่อเมื่อมีสมาธิสนับสนุน สมาธิจะเป็นประโยชน์ได้ ก็ต้องมีศีลเป็นผู้สนับสนุน จิตจะหลุดพ้นได้ ก็ต้องมีปัญญาเป็นผู้สนับสนุน นี่เป็นขั้นตอนของการทำงานของมรรค จะขึ้นจากศีลไปสู่สมาธิ สู่ปัญญา สู่วิมุตติ สู่มรรคผลนิพพาน ไม่มีทางอื่น เหมือนกับขึ้นบันได จะขึ้นจากชั้น ๔ ไปชั้น ๕ ไม่ได้ ถ้ายังอยู่ที่ชั้นศูนย์ เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีปีกบินไปชั้น ๔ ต้องเดินขึ้นชั้น ๑ ก่อน จากชั้นศูนย์ก็ขึ้นชั้น ๑ จากชั้น ๑ ก็ขึ้นชั้น ๒ ชั้น ๒ ก็ขึ้นชั้น ๓ ชั้น ๔ ชั้น ๕ ไปตามลำดับ นี่ก็เป็นสัมมาทิฐิ ทุกวันนี้ได้ยินได้ฟังว่ามีทิฐิความเห็นกันหลายรูปแบบ เมื่อวานนี้ก็มีคนบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนศีลสมาธิปัญญา แต่ทรงสอนปัญญาศีลสมาธิ เพราะทรงแสดงปัญญาก่อนในมรรค ๘ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ปฏิบัติปัญญาก่อน ในมรรค ๘ ทรงแสดงสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโปก่อน สัมมาทิฐิก็คือความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโปก็คือความคิดชอบ ก่อนที่จะทำอะไรที่ถูกต้องได้ ก็ต้องมีความเห็นที่ถูกต้องก่อน เช่นเห็นว่าการทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนา เป็นการนำไปสู่การหลุดพ้น ต้องมีปัญญาอย่างนี้ก่อน พอมีปัญญาแล้ว ก็จะรู้ว่าต้องทำบุญ รักษาศีล ถ้าไม่มีสัมมาทิฐิ ก็จะเอาเงินไปเที่ยวกัน มาทำบุญทำทานทำไม เอาเงินไปเที่ยวไปกินไปดื่ม ไปสนุกสนานเฮฮาดีกว่า ถ้าไม่มีสัมมาทิฐิก็จะคิดอย่างนี้ ถ้าไม่มีสัมมาทิฐิก็จะไม่เห็นคุณประโยชน์ ของการทำบุญรักษาศีลภาวนา ของการเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะไปหาความสุขกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะแทน ถ้ามีสัมมาทิฐิสัมมาสังกัปโป เห็นว่าการทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการดำเนินไปสู่ความสุขที่แท้จริง ก็จะเป็นปัญญาขั้นเริ่มต้น ก่อนจะไปถึงปัญญาขั้นวิปัสสนาขั้นสูงสุดได้ ก็ต้องมีปัญญาขั้นเริ่มต้นก่อน

 

การปฏิบัติธรรมต้องมีปัญญาในทุกระดับ ไม่เช่นนั้นจะทำผิดกัน ขั้นทำทานก็ต้องมีปัญญา ทำเพื่ออะไร ขั้นรักษาศีลก็ต้องมีปัญญา รักษาศีลเพื่ออะไร ขั้นสมาธิก็ต้องมีปัญญา ขั้นปัญญาก็ต้องมีปัญญา มีปัญญาทุกขั้น ถ้าอ่านแต่หนังสือ ก็จะเถียงกันปากเปียกปากฉีกว่า ปัญญาต้องมาก่อนศีล มีศีลแล้วค่อยมีสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงสอนในมรรค ๘ ต้องมีสัมมาทิฐิ มีสัมมาสังกัปโป แล้วถึงจะได้มามีสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ทรงแสดงเพื่อให้เห็นความสำคัญของสัมมาทิฐิ ว่าต้องมีสัมมาทิฐิก่อน เช่นต้องรู้ว่าเกิดมาเพื่อเติมธรรมะ มาเติมน้ำมันแห่งธรรม โลกนี้เป็นสถานีบริการ ไม่ใช่บ้านของเรา เรามาเติมธรรมะ เพื่อจะได้เดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง นี่คือเรื่องของสัมมาทิฐิ เวลาปฏิบัติต้องทานศีลภาวนาไปตามลำดับ

 

สำหรับผู้ที่ยังครองเรือนอยู่ ยังมีทรัพย์สมบัติข้าวของอยู่ ก็ต้องสละทรัพย์ต้องทำทาน ถ้ายังผูกพันอยู่กับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ก็จะบวชไม่ได้ ต้องใช้เวลาบริหารจัดการทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ไม่มีเวลาภาวนาได้อย่างเต็มที่ ถ้าสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองไปหมดแล้ว ก็จะบวชได้ รักษาศีลได้ตลอดเวลา เจริญสติ นั่งสมาธิ เจริญปัญญาได้ตลอดเวลา ยกเว้นเวลาหลับ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้ว การบรรลุมรรคผลนิพพานภายใน ๗ วันหรือ ๗ ปี จะเป็นสิ่งที่ไม่ยากเย็นเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ยุคของพระพุทธเจ้ามาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ ถ้ามีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว การบรรลุมรรคผลนิพพานภายใน ๗ วันหรือ ๗ ปีนี้ เป็นสิ่งที่ปรากฏมาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีอะไรน่าเคลือบแคลงสงสัยเลย เพราะเป็นความจริง มีผู้ปฏิบัติได้บรรลุกันมาแล้วเป็นจำนวนมาก

 

จึงควรสร้างสัมมาทิฐิให้เกิดขึ้น ว่ามาเกิดในโลกนี้เพื่อเติมน้ำมันคือธรรมะ ด้วยการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คือให้ทำทานจนกว่าจะไม่มีอะไรให้ แล้วก็รักษาศีล จากศีล ๕ ไปสู่ศีล ๘ ไปสู่ศีล ๒๒๗ ตามลำดับ แล้วก็เจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นจนหลับ นั่งสมาธิสลับกับการเดินจงกรม เพื่อทำจิตให้รวมเป็นเอกัคคตารมณ์ ให้จิตเข้าสู่ความว่าง เข้าสู่ความสุขที่เกิดจากความว่าง เวลาออกจากสมาธิ ก็คอยควบคุมความคิด ไม่ให้คิดไปในทางกามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา ด้วยการใช้ปัญญาสอนใจ ให้เห็นโทษของการคิดไปในทางสมุทัย คิดไปในทางตัณหาทั้ง ๓  ให้ระงับความคิดไปในทางกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา พอไม่มีตัณหาทั้ง ๓ อยู่ภายในใจ ก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป ใจก็เป็นปรมังสุขัง เป็นปรมังสุญญัง เป็นพระนิพพาน เป็นการสิ้นสุดแห่งการเดินทางในภพน้อยภพใหญ่ เพราะได้ถึงบ้านแล้ว บ้านที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ใจต้องการ ก็คือปรมังสุขังนี่เอง

 

พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายไม่ไปเกิดอีกแล้ว เพราะไม่โง่แล้ว ฉลาดแล้ว รู้แล้วว่าการเกิดไม่ได้พาไปสู่ความสุข แต่พาไปสู่ความแก่ความเจ็บความตาย ไปสู่การพลัดพรากจากสิ่งต่างๆ จากบุคคลต่างๆ ผู้ที่ไม่ต้องการมีความทุกข์ก็ต้องไม่เกิดเท่านั้น นี่คือสัมมาทิฐิที่พวกเราควรเจริญอยู่เนืองๆ ถ้าไม่เจริญกิเลสความหลงจะเข้ามาหลอก ให้หลงคิดว่าลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายเป็นความสุข ควรหามากๆ เพราะไม่เห็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้ว่า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เมื่อไม่เที่ยงก็ย่อมมีความทุกข์ตามมา เวลาสิ่งที่มีอยู่สูญหายไป เป็นอนัตตา ก็คือเราไม่สามารถสั่งให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ได้ ให้อยู่กับตนไปตลอด จะต้องพลัดพรากจากกันไป เวลาพลัดพรากจากกันก็จะทุกข์ใจ นี่คือสัมมาทิฐิ ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกบททุกบาท เป็นสัมมาทิฐิทั้งหมด เป็นความเห็นที่ถูกต้อง เป็นความเห็นที่จะพาไปสู่การกระทำ ที่จะดับความทุกข์ต่างๆที่มีอยู่ภายในใจให้หมดสิ้นไป เป็นการสร้างความสุข ให้เกิดขึ้นภายในใจอย่างถาวร

 

ถ้ามีสัมมาทิฐิก็จะมีสัมมาสังกัปโปตามมา มีสัมมาสังกัปโปก็จะมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิตามมา ถ้ามีครบทั้ง ๘ องค์ มรรคผลนิพพานก็จะเป็นผลที่ตามมาต่อไปอย่างแน่นอน  เพราะเป็นสูตรตายตัว เหมือนกับชาวนาชาวไร่ที่รู้กันว่า ถ้าปลูกข้าวก็ต้องได้ข้าวอย่างแน่นอน ปลูกกล้วยก็ต้องได้กล้วยอย่างแน่นอน ปลูกผลไม้ชนิดใดก็ต้องได้ผลไม้ชนิดนั้นอย่างแน่นอน ไม่มีวันที่จะเป็นอย่างอื่นไปได้ ไม่ใช่ปลูกกล้วยแล้วได้ส้ม อย่างนี้ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ฉันใดถ้ามีการเจริญมรรค ๘ อย่างสมบูรณ์แล้ว การเวียนว่ายตายเกิดย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันนั้น ถ้าเจริญมรรค ๘ ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ก็จะต้องเป็นผลตามมาอย่างแน่นอน จึงอย่าลังเลสงสัย ให้ยึดมั่นกับพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ อย่าเขวตามคำพูดของหมอดู อย่าเขวกับสิ่งต่างๆที่หลอกล่อให้ยึดเป็นที่พึ่ง เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถเป็นที่พึ่งของใจได้ นอกจากพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เท่านั้น เพราะพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เท่านั้นที่จะพาให้เราไปสู่พระนิพพานได้ ไปสู่การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้

 

จึงควรปลูกฝังใจให้แน่วแน่กับพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ด้วยการศึกษาธรรม ด้วยการปฏิบัติทานศีลภาวนาอย่างต่อเนื่องอย่างเต็มที่ จะได้มีสรณะที่พึ่งภายในใจไปตลอด ไม่ว่าจะเกิดในภพใดชาติใด ถ้าไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เดือดร้อน เพราะมีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ฝังอยู่ในใจในชาตินี้ติดไปกับใจ จะไม่กังวลว่าเกิดชาติหน้าจะพบกับพระพุทธศาสนาหรือไม่ เพราะสามารถเอาพระพุทธศาสนาติดตัวไปได้ ถ้าปฏิบัติถึงขั้นที่ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็คือขั้นพระโสดาบัน จะไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ว่ามีจริงหรือไม่ จะนำพาไปสู่พระนิพพานได้หรือไม่ เพราะรู้แล้วว่าทางที่จะไปสู่มรรคผลนิพพาน ก็คือมรรคที่มีองค์ ๘ หรือทานศีลภาวนานี่เอง จะยึดอยู่กับการปฏิบัติแนวนี้ไปตลอด ทุกภพทุกชาติ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนเวลาใด จะไม่เชื่อเรื่องต่างๆของชาวบ้าน ไม่เชื่อเรื่องบูชาราหู ไม่เชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ไม่เชื่อหมอดู เรื่องดูดวงดูดาว จะเชื่อกฎแห่งกรรมเพียงอย่างเดียว ก็คือการเจริญมรรค ๘ เพราะเป็นการสร้างกรรมดี ถ้าประพฤติตามมรรค ๘ ก็ถือว่ากำลังทำกรรมดี ถ้าทำกรรมดีผลก็ต้องดีตามมาอย่างแน่นอน ขอให้รักษาสัมมาทิฐิที่ได้ยินได้ฟังในวันนี้ ให้อยู่คู่กับใจไปตลอด เพื่อจะได้เป็นแสงสว่างนำทาง นำพาชีวิตไปสู่บ้านที่มีแต่ความสุขต่อไป

 

ที่ไม่ปรากฏผลขึ้นมาก็เพราะขาดการปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ถึงไม่มากพอ ที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา ที่จะทำให้ไม่หลงไม่ลืม ให้มีความเห็นชอบไปตลอด ความเห็นชอบที่เกิดจากการได้ยินได้ฟังนี้ ถ้าไม่เอาไปเจริญต่อ ก็จะถูกความเห็นอื่นมากลบ พอออกจากที่นี่ไป ก็จะไปรับความเห็นต่างๆ ส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวกับโลกมากกว่าธรรม พอมีความเห็นอื่นเข้ามาภายในใจ ความเห็นชอบนี้ก็จะถูกกลบไป พระพุทธเจ้าถึงต้องสอนให้ฟังธรรมอยู่อย่างสม่ำเสมอ กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง การฟังธรรมตามกาลตามเวลาเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเติมสัมมาทิฐิความเห็นชอบนั่นเอง ที่จะจางไปหมดไป เหมือนกับการใช้โทรศัพท์แบบเติมเงิน ใช้ไปเรื่อยๆเงินก็จะหมด ถ้าไม่เติมก็จะใช้ไม่ได้ การฟังธรรมก็เหมือนกัน ต้องฟังธรรมอย่างน้อยก็ทุกวันธัมมัสสะวะนัง ก็คือวันฟังธรรม อาทิตย์หนึ่งก็มีอยู่ครั้งหนึ่ง ก็คือวันพระ เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนหยุดการทำมาหากิน เพื่อเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

 

ในสมัยก่อนพุทธศาสนิกชน อ่านหนังสือไม่ได้ ศึกษาด้วยตนเองไม่ได้ ก็เลยต้องอาศัยพระเป็นผู้สอน จึงต้องหยุดทำงาน ๑ วัน เพื่อเข้าวัดทำทานรักษาศีลฟังเทศน์ฟังธรรม แต่สมัยนี้เจริญก้าวหน้า พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าถึงธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าได้โดยตรง ไม่ต้องไปวัดฟังเทศน์ฟังธรรมก็ได้ สามารถอ่านหนังสือธรรมะได้เอง สามารถฟังเทศน์จากเสียงบันทึก ของพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย ฟังได้ทั้งวันเลย ไม่ต้องรอฟังอาทิตย์ละ ๑ ครั้ง โอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานในสมัยนี้ จึงมีมากกว่าหลายร้อยเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยโบราณที่จะต้องรออาทิตย์ละ ๑ ครั้ง เพื่อไปวัดฟังเทศน์ฟังธรรม นี่ฟังได้ตั้งแต่ตื่นจนหลับเลย พกติดตัวไปได้ทุกหนทุกแห่ง ถ้าใฝ่ธรรมก็จะได้ฟังธรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแต่ธรรมะหมุนอยู่ภายในใจตลอดเวลา

 

การฟังธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะจะได้ฟังในสิ่งที่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟัง ก็คือสัมมาทิฐินั่นเอง ส่วนใหญ่สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นเรื่องมิจฉาทิฐิทั้งนั้น ไอ้นั่นก็เป็นของเรา ไอ้นี่ก็เป็นของเรา สามีเรา ภรรยาเรา ทรัพย์สมบัติของเรา ที่ดินของเรา บริษัทของเรา เงินของเรา มีแต่ของเราทั้งนั้น แล้วเป็นไงอย่างไร ใจร้อนหรือเย็น เวลามีอะไรเป็นของเรา ใจก็ร้อนขึ้นมา ถ้าคิดว่าทุกอย่างไม่เป็นของเรา ใจจะเย็นจะสบาย ถ้าไม่เป็นของเรา จะไปทุกข์กับมันทำไม เราไปทุกข์กับของคนอื่นไหม ของคนอื่นจะพังฉิบหายไป เราไม่เห็นเดือดร้อนเลย ถ้าเป็นของเรานี่ อะไรนิดอะไรหน่อยก็วุ่นวายกันใหญ่เลย เพราะเป็นของเรา เป็นมิจฉาทิฐิ อย่าไปคิดว่าเป็นของเรา ถ้าเป็นของเราก็เป็นเพียงชั่วคราว รักษาได้ก็รักษาไป รักษาไม่ได้ก็ปล่อยไป จะไปก็ไป นี่คือสิ่งที่เราจะได้ยินได้ฟัง คือสัมมาทิฐิ ถ้าฟังบ่อยๆก็จะเกิดความเข้าใจดีขึ้น จะจำได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จะทำให้จิตใจสงบ เย็นจิตสบาย จะมีความเห็นที่ถูกต้อง มีสัมมาทิฐิ นี่คืออานิสงส์ของการฟังธรรม จะกำจัดความสงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ได้ จะเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา เพราะไม่มีอะไรเป็นของเราเลย เพียงแต่ไม่พิจารณากัน ก็เลยกลายเป็นของเราไปหมด เป็นของเราตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นของโลกนี้ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว มีมาก่อนที่เรามาเกิด จะมีต่อไปหลังจากที่เราไป แล้วเป็นของเราตอนไหน เรามาตู่เอาว่าเป็นของเรา ตู่ด้วยความหลง แล้วก็เชื่อตาม จึงต้องมีธรรมะมาคอยแยกใจออกจากสิ่งต่างๆ ถ้าไม่มีธรรมะไม่มีสัมมาทิฐิ ก็ยึดติดเหมือนกาวตราช้าง เวลาจากกันแต่ละครั้งก็ร้องห่มร้องไห้กัน เพราะไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่ฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

 

ต้องฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วนำเอาไปพิจารณาต่อ เพื่อจะได้ปฏิบัติ เวลาจะยึดจะคิดว่าเป็นของเรา ก็จะมีสัมมาทิฐิบอกว่าไม่ใช่ของเรานะ มันจะอยู่กับเราก็อยู่ไป จะไปก็เรื่องของมัน ไปห้ามมันไม่ได้ ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องทิ้งมันไป ถ้าคิดอย่างนี้แล้วความอยากความทุกข์ต่างๆก็จะเบาลงไป พอเห็นผลว่าใจดีขึ้นเย็นขึ้นสบายขึ้น ก็จะคิดอย่างนี้ไปตลอด คิดว่าไม่มีอะไรเป็นของเรา ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรจะอยู่กับเราไปตลอด ไม่มีอะไรจะให้ความสุขกับเราได้ นอกจากการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ยุติความอยากต่างๆ อันนี้แหละที่จะให้ความสุขกับเรา ความสุขที่จะอยู่กับเราไปตลอด แค่นี้เอง ทำไมทำไม่ได้ ง่ายจะตายไป อย่าไปทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก อย่าวุ่นวายกับอะไรมาก่อนมาหลัง ปัญญามาก่อนศีลมาก่อนสมาธิ ไปวุ่นวายทำไม ถ้าไม่ปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติจะไม่มีปัญหากับธรรมของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่ปฏิบัติจะมีปัญหา เพราะเป็นพวกตาบอดคลำช้าง เถียงกันว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าจับหางก็ว่าช้างเป็นเชือก จับท้องก็ว่าเป็นฝาผนัง จับงวงก็ว่าเป็นงู จับงาก็ว่าเป็นหอก ก็ถูกทุกคน แต่ถูกแล้วได้ประโยชน์อะไร ต้องถูกเพื่อเอามาดับทุกข์ เห็นแล้วต้องดับทุกข์ได้ ดับกิเลสตัณหาได้ นี่ปฏิบัติแล้วกลับเกิดกิเลสตัณหามากขึ้น อวดดีอวดเก่งกัน เถียงกันปากเปียกปากฉีก ธรรมะก็กลายเป็นธรรมเมาไป หลวงปู่แหวนท่านพูดว่า ระวังธรรมะจะกลายเป็นธรรมเมา รู้ธรรมะมากๆจะเมาธรรม จะปากเปียกปากฉีก เถียงกันคอแตกไปเลย ไม่ใช่กิเลสแตก คอแตก ถ้าเป็นธรรมะแล้วกิเลสต้องกระเจิงไปเลย เหมือนเวลาหลวงตาเดินมาที กิเลสของพระจะกระเจิงกันไปหมด จิตนิ่งสงบ  

 

เวลาของพวกเราจะหมดไปเรื่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ นี่ปีที่ ๘ ก็จะหมดแล้ว เหลืออีก ๒ เดือนเท่านั้นเอง เหลือเมษากับพฤษภา ๘ ปีแล้วนะ มีอะไรเปลี่ยนแปลงในระยะ ๘ ปีบ้าง ถ้าในสมัยพุทธกาลก็เป็นพระอรหันต์กันไปเยอะแยะแล้ว ต้องคิดนะจะได้มีพลังจิตขึ้นมา มีฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ฉันทะคือยินดีปฏิบัติ วิริยะคือความพากเพียรปฏิบัติ จิตตะคือใจจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติ วิมังสาคือคิดแต่เรื่องปฏิบัติอย่างเดียว มีภารกิจอะไรก็รีบๆทำให้เสร็จ เสร็จแล้วก็รีบไปปฏิบัติทันที เข้าทางจงกรมเดินจงกรม นั่งสมาธิทันที เช่นเสร็จจากบิณฑบาต ฉันเสร็จ กวาดถูศาลาเสร็จ ก็กลับกุฏิไปเดินจงกรมในป่า ไปนั่งสมาธิ จนกว่าจะถึงเวลาปัดกวาด ปัดกวาดเสร็จ ดื่มน้ำปานะเสร็จ สรงน้ำเสร็จก็เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ จนกว่าจะถึงเวลาพัก สี่ห้าทุ่ม  พักถึงตี ๒ ตี ๓ ก็ตื่นขึ้นมาเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาต่อ จนถึงเวลาออกไปบิณฑบาต

 

นี่คือกิจของนักปฏิบัติ ต้องทำอย่างนี้ ทำกิจอื่นที่จำเป็นให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเวลาทำกิจที่สำคัญที่สุด ก็คือการภาวนา เดินจงกรมนั่งสมาธิ เจริญสติสมาธิปัญญา นี่คือมีจิตตะ ใจจดจ่ออยู่กับภารกิจของตนอย่างแท้จริง ถ้ามีจิตตะแล้วก็จะมีวิมังสา จะใคร่ครวญพิจารณา ในกิจของตน พิจารณาว่าต้องเดินจงกรมนั่งสมาธิ ต้องพิจารณาว่ายังติดอยู่กับอะไร ต้องปล่อยวางให้ได้ ถ้าติดอยู่กับกามราคะก็ต้องหาอสุภะมาแก้ ถ้าติดอยู่กับความกลัวความเจ็บความตาย ก็ต้องเอาความจริงมาแก้ พิจารณาว่า เกิดมาแล้วไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายได้อย่างไร มีใครไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายบ้าง พิจารณาว่าความแก่ความเจ็บความตายเป็นภัยที่ตรงไหน ตัวที่เป็นภัยไม่ใช่ความแก่ความเจ็บความตาย แต่ความอยากไม่แก่อยากไม่เจ็บอยากไม่ตายต่างหาก เพราะเป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ นี่คือวิมังสา จะใคร่ครวญพิจารณาอย่างนี้ จะปฏิบัติเพื่อละความอยากเหล่านี้ให้ได้ พอละได้แล้วใจก็จะสบาย ไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย  

 

อิทธิบาท ๔ ก็คือฉันทะวิริยะจิตตะวิมังสา ถ้าใคร่ครวญธรรมะอยู่เรื่อยๆ ฟังธรรมอยู่เรื่อยๆ จะเกิดศรัทธา เกิดฉันทะ เกิดวิริยะที่จะปฏิบัติ เกิดจิตตะใจจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติ เกิดวิมังสาใคร่ครวญเกี่ยวกับการปฏิบัติ ถ้าทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ยกเว้นเวลาทำภารกิจอื่น งานนี้ก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ต้องมีอิทธิบาท ๔ อิทธิบาทแปลว่าทางสู่ความสำเร็จ สู่ความยิ่งใหญ่ อิทธิแปลว่าความยิ่งใหญ่ ก็คือความสำเร็จนี่เอง จะมีอะไรจะยิ่งใหญ่กว่าความสำเร็จ ทำอะไรก็ต้องทำให้สำเร็จ เรียนหนังสือก็เรียนให้จบ ไม่ใช่เป็นนักเรียนอาชีพ เหมือนพวกเราตอนนี้ เป็นนักเรียนอาชีพกัน ขอเรียนไปจนวันตาย ไม่ขอจบ กลัวจะว่างงาน กลัวจะไม่มีงานทำกัน นอกจากเรียนแล้วก็มีงานปฏิบัติที่ต้องทำต่อ ถึงจะจบได้ ถ้าเรียนอย่างเดียวไม่ปฏิบัติมันก็ไม่มีวันจบ อย่าไปโทษใคร โทษตัวเราเอง เพราะไม่ผลักดันตัวเราเอง จะรอให้สวรรค์มาฉุดลากให้ขึ้นสวรรค์ รอไปเถิด รอไปจนวันตาย ก็จะไม่มีวันเป็นไปได้ มีแต่จะมาฉุดลากให้ลงนรกเสียมากกว่า ตัวนี้ไม่ต้องรอ เพราะอยู่ในใจเราตลอดเวลา พร้อมที่จะลากเราไปเสมอ เวลาใดที่เราไม่สู้ เวลานั้นก็จะลากเราไปนรกทันที ลากไปเสพสุรายาเมา เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน คบคนชั่วเป็นมิตร ลากไปสู่ความเกียจคร้าน ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตลักทรัพย์ประพฤตผิดประเวณี พูดปดมดเท็จโกหกหลอกลวง มันอยู่ในใจเราอยู่แล้ว พร้อมที่จะโผล่ออกมาดำเนินการทันที ถ้าไม่คุมไว้ด้วยธรรมะ ตอนนี้ไม่ออกมาเพราะมีทานศีลภาวนาคอยควบคุม ถ้าไม่มีเมื่อไหร่ก็จะกลับมาได้ จึงอย่าประมาท

 

พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่าอย่าประมาท จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด เพราะเวลาของชีวิตเรามันน้อยลงไปทุกวัน ไม่มีมากขึ้น อายุมากขึ้น แต่เวลาที่จะอยู่มันน้อยลง อย่าไปหลงผิดคิดว่าจะมีอายุมากขึ้น อายุมากขึ้น จะอยู่นานขึ้น ไม่ใช่ จะอยู่น้อยลงไป นี่คือธรรมะที่ต้องผลิตขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายอยู่เรื่อยๆว่า เป็นเหมือนป้ายบอกทาง เวลาขับรถเดินทางจะมีป้ายบอกว่า อีกกี่กิโลฯจะถึงเมืองนั้นเมืองนี้ เวลาเห็นคนแก่เห็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาไปงานศพก็บอกว่าเราใกล้เข้าไปแล้ว ยังมัวทำอะไรกันอยู่ ทำไมไม่รีบทำกิจที่ควรทำกัน ถ้าคิดอย่างนี้รับรองได้ว่าจะทำทันทีเลย คิดอยู่บ่อยๆ คิดอยู่เนืองๆ ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา ล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ มีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความเจ็บไข้ได้ป่วยไปไม่ได้ มีความตายเป็นธรรมดา ล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ ต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวงไปเป็นธรรมดา ล่วงพ้นไปไม่ได้ คิดอย่างนี้ไปทุกวันทุกเวลา จะได้ไม่ประมาทนอนใจ จะได้รีบทำกิจที่ควรทำ จะได้มีที่พึ่ง มีความสุขไปตลอด ไม่มีใครทำให้เราได้ เราต้องทำเอง เป็นที่พึ่งของเราเอง ตนเป็นที่พึ่งของตน อัตตาหิ อัตตโน นาโถ เป็นธรรมที่สำคัญที่สุด เรามีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์เป็นผู้นำทาง เป็นที่พึ่งในฐานะเป็นผู้นำทาง แต่ท่านไม่สามารถปฏิบัติให้เราได้ มีพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์แล้วไม่ได้หมายความว่า จะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เหมือนมีแผนที่แล้วแต่ไม่ออกเดินทาง ก็จะไม่ไปถึงจุดหมายปลายทาง ต้องมีแผนที่และมีการเดินทาง ถึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ถ้าเดินทางโดยไม่มีแผนที่ ก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะจะหลงทาง ต้องมีที่พึ่งทั้ง ๒ ส่วน มีผู้นำทางและมีการปฏิบัติ อัตตาหิ อัตตโน นาโถ เป็นผู้ปฏิบัติ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เป็นผู้นำทาง ถ้าเดินตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จะถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน

 

ถาม  คนที่บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนปัญญาศีลสมาธิ เขาจะเอาอะไร

 

ตอบ  ถูกทั้ง ๒ ประเด็น แต่ไม่ควรเป็นประเด็นถกเถียงกัน ทรงแสดงอย่างนั้น เพื่อให้เห็นว่าต้องมีสัมมาทิฐิเป็นตัวนำ การกระทำอะไรต้องมีปัญญาเป็นตัวนำเสมอ แต่เวลาปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติจากขั้นต่ำขึ้นไป ทรงตรัสว่า สมาธิที่ศีลอบรมดีแล้วมีอานิสงส์มาก มีประโยชน์มาก ปัญญาที่สมาธิอบรมดีแล้วมีอานิสงส์มากมีประโยชน์มาก จิตที่ปัญญาอบรมดีแล้วย่อมหลุดพ้นจากความทุกข์โดยถ่ายเดียว ทรงสอนเป็นขั้นๆ ต้องมีศีลอบรมสมาธิ มีสมาธิอบรมปัญญา มีปัญญาอบรมจิตให้หลุดพ้น แต่เวลาทรงแสดงมรรค ๘ ทรงแสดงปัญญา แสดงสัมมาทิฐิก่อน

 

ถาม  ถ้ายังไม่มีสัมมาทิฐิ ก็ไปไม่ได้

 

ตอบ  ไปไม่ได้ แต่ไม่ควรเป็นประเด็นถกเถียงกัน ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในที่หนึ่งกับอีกที่หนึ่ง อาจจะขัดกันก็ได้ ในที่หนึ่งก็ทรงสอนให้เชื่อ ในอีกที่หนึ่งก็ทรงสอนไม่ให้เชื่อ ถ้าฟังแบบไม่ใช้ปัญญาก็จะว่า ทำไมสอนให้เชื่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ แล้วกลับมาสอนไม่ให้เชื่อครูบาอาจารย์ ในกาลามสูตร ๑๐ ที่ทรงสอนไม่ให้เชื่อ หมายความว่าให้ฟังหูไว้หู ไม่ให้เชื่อแต่ไม่ให้ปฏิเสธ ใครพูดอะไรก็รับฟังไว้ แล้วต้องไปพิสูจน์ดู เช่นมีคนมาบอกว่าแฟนเรามีชู้ ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อ ต้องพิสูจน์ดูว่าจริงหรือไม่ก่อน พิสูจน์แล้วก็จะรู้เองว่าจริงหรือไม่ การฟังเป็นการจุดชนวน ให้ดำเนินไปสู่การพิสูจน์ อย่าเป็นเหมือนกระต่ายตื่นตูม แต่บางอย่างที่ทรงสอนให้เชื่อก็ต้องเชื่อ เช่นทรงสอนให้รีบปฏิบัติ ก็ต้องเชื่อ กลับไม่เชื่อกัน การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้ ต้องรู้ว่าทรงแสดงให้กับใครที่ไหนเกี่ยวกับเรื่องอะไร