กัณฑ์ที่ ๔๕๖ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๖
ธรรมชาติบังคับ
วันนี้ฝนตก ต้องนั่งเบียดกันหน่อย เพราะธรรมชาติคือฝนบังคับ ฝนเป็นอนัตตา เราไปทำอะไรไม่ได้ ร่างกายก็เป็นธรรมชาติ เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาร่างกายจะตายไป เราก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่เราต้องหัดทำก็คือทำใจ เพราะใจเป็นสิ่งที่เราทำได้ เราควบคุมบังคับใจ ให้ตั้งอยู่ในความสงบได้ ถ้าฝึกฝนอบรม ควบคุมบังคับใจ ให้ตั้งอยู่ในความสงบอยู่เรื่อยๆ เวลามีเหตุการณ์มากระทบใจ ใจจะได้ไม่วุ่นวาย ไม่พยศ ถ้าควบคุมใจไม่ได้ ใจจะพยศทันที จะดิ้นรนต่อสู้ จะทุกข์ทรมานมาก ดังนั้นการอบรมจิตใจ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างมาก สำคัญกว่าการดูแลรักษาร่างกาย รักษาสิ่งต่างๆในโลกนี้ เพราะเรารักษาไม่ได้ตลอดเวลา บางเวลาก็รักษาได้ บางเวลาก็รักษาไม่ได้ เวลาที่รักษาไม่ได้จะทุกข์ทรมานใจ แต่ถ้าได้ฝึกฝนอบรมควบคุมรักษาใจ ให้ตั้งอยู่ในความสงบตลอดเวลา เวลารักษาอะไรไม่ได้จะไม่เดือดร้อน เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือภาระหน้าที่ของเรา เพราะใจเป็นของเรา ผู้อื่นรักษาดูแลแทนเราไม่ได้ เราต้องรักษาดูแลเอง ด้วยการน้อมเอาพระธรรมคำสอน ของพระพุทธเจ้า เข้ามาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นต่ำขึ้นไป จนถึงขั้นสูงสุด การปฏิบัติธรรมตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านี้ เป็นเหมือนการเดินขึ้นบันได ถ้าจะข้ามขั้นก็ต้องกระโดด ก็จะยาก จะไม่สำเร็จ จึงควรปฏิบัติตามขั้น ตั้งแต่ขั้นที่ ๑ จนถึงขั้นสุดท้าย
ขั้นที่ ๑ คือการทำทาน ที่เป็นการอบรมจิตใจ ไม่ให้ยึดติดกับทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ เพราะถ้ายึดติด เวลาพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ใจจะพยศ จะทุกข์ทรมานใจ ถ้าบริจาคทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองให้แก่ผู้อื่นไป ในส่วนที่ไม่ต้องอาศัย ไม่ต้องเก็บเอาไว้ จะให้ใครก็ได้ ผู้รับไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ผู้ให้ ว่ายินดีให้หรือไม่ ถ้ายินดีพร้อมที่จะให้ เวลาให้แล้วแทนที่จะทุกข์กลับมีความสุข เป็นการซ้อมปล่อยวางด้วยความยินดี ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆด้วยความยินดี เวลาจะต้องพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ก็จะพลัดพรากได้อย่างสุขอย่างสบาย เราจึงต้องสละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ บุคคลต่างๆ สถานภาพต่างๆ โดยสรุปก็คือสละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าฝึกทำอยู่เรื่อยๆ ก็จะสละได้หมด จะออกบวชได้ จะได้ปฏิบัติธรรมขั้นต่อไปได้
ธรรมขั้นที่ ๒ ก็คือศีล การไม่เบียดเบียนผู้อื่น และการละเว้นจากการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็คือการถือศีล ๘ ที่เป็นศีลของนักบวช ศีล ๕ เป็นศีลที่เรารักษาพร้อมๆกับการทำทาน พอทำทานได้มากแล้ว ก็จะขยับขึ้นสู่ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ศีลของนักบวช จะยุติการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ศีลข้อ ๓ ก็จะเป็น อพรหมจริยา เวรมณี ไม่ร่วมหลับนอนกับผู้อื่น ศีลข้อ ๖ ไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว ไม่หาความสุขจากการรับประทานอาหาร รับประทานอาหารเหมือนรับประทานยา เพื่อรักษาให้ร่างกายอยู่ต่อไปได้ ไม่ต้องรับประทานหลายครั้ง นักบวชจะนิยมรับประทานวันละ ๑ ครั้ง รับประทานแบบเรียบง่าย ไม่จู้จี้จุกจิก เอาอาหารทั้งหมดใส่รวมกันไว้ในภาชนะอันเดียว แล้วก็คลุกกันให้เป็นอาหารชนิดเดียว เพื่อตัดกามฉันทะ ความยินดีในรูปกลิ่นรสของอาหาร เพราะอาหารจะต้องไปรวมกันในท้องอยู่ดี สภาพของอาหารที่รวมกันในท้อง เราก็รู้แล้วว่าเป็นอย่างไร เช่นเวลาที่อาเจียนออกมา จึงไม่ควรวุ่นวายกับสภาพอาหารที่ยังไม่ได้เข้าไปในท้อง จะประณีตสวยงามหรือไม่ เราไม่ควรหลงกับรูปกับสีสัน ควรทำลายความหลง ด้วยการเอาอาหารที่จะรับประทานใส่รวมในภาชนะอันเดียวกัน แล้วก็คลุกให้เหมือนกับเวลาอยู่ในท้อง นี่คือการรับประทานอาหารแบบนักปฏิบัติ รับประทานอาหารเพื่อกำจัดกิเลส คือกามฉันทะ ความชอบความอยากได้ ในรูปเสียงกลิ่นรสของอาหาร
แล้วเราก็มาแต่งกายแบบเรียบง่าย ไม่หาความสุขจากการใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามวิจิตรพิสดาร ไม่ใช้เครื่องสำอางใช้น้ำหอมน้ำมันต่างๆ เพื่อจะได้ความสุขจากการได้ดมกลิ่นหอม ที่ปกปิดกลิ่นที่ไม่น่าปรารถนาของร่างกาย เราต้องการทำลายความหลงนี้ ต้องการให้สัมผัสกับความจริง สัมผัสความไม่สวยงาม ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย เพราะกามารมณ์เกิดจากการไม่เห็นส่วนที่ไม่สวยงาม ไม่เห็นส่วนที่สกปรกของร่างกาย เราต้องการดับกามารมณ์ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการทำใจให้สงบ ต่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เราจึงไม่หาความสุขจากการแต่งเนื้อแต่งตัว ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์สวยๆงามๆ ใช้เครื่องสำอางและน้ำหอมต่างๆ เพื่อปกปิดความสกปรก ความไม่สวยงามของร่างกาย แล้วเราก็จะไม่หาความสุข จากเครื่องบันเทิงต่างๆ เช่นการร้องรำทำเพลง ดูภาพยนตร์ดูละคร
เราจะหาความสุขจากธรรมขั้นที่ ๓ คือการภาวนา ด้วยการทำจิตใจให้สงบ ด้วยการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง เพราะสติจะเป็นผู้พาจิตให้เข้าสู่ความสงบ ถ้าไม่มีสติดึงจิตให้เข้าข้างใน จิตจะถูกกามฉันทะกิเลสตัณหาผลักดัน ให้ออกทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไปหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถ้าสติไม่มีกำลังดึงจิตเข้าข้างใน สู้กำลังของกิเลสตัณหาไม่ได้ ใจก็จะหาความสงบไม่ได้ การจะเข้าข้างในได้ต้องอาศัยศีล ๘ อาศัยสถานที่ที่สงบสงัดวิเวก ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่ยั่วยวนกวนใจ ที่คอยหลอกล่อให้ใจเข้าไปหา ต้องไปอยู่ตามสถานที่ห่างไกลจากแสงสีเสียงต่างๆ ไปอยู่ตามป่าตามเขา ที่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่เป็นธรรมชาติ ที่เป็นกลาง ไม่ดึงดูดจิตใจออกไปข้างนอก ถ้าอยู่ด้วยกันหลายคน ก็จะไม่คลุกคลีกัน จะมารวมกันก็เฉพาะเวลาที่ต้องทำภารกิจร่วมกัน เช่นเวลารับประทานอาหาร ทำความสะอาดสถานที่ แต่จะไม่มาคุยกัน จะทำภารกิจด้วยสติจดจ่ออยู่กับงานที่ทำอยู่ อยู่กับอารมณ์ที่เป็นเครื่องผูกใจดึงใจให้อยู่ข้างใน เช่นการบริกรรมพุทโธๆ ไม่ว่ากำลังทำกิจอะไรก็ตาม กำลังปัดกวาด กำลังทำความสะอาดสถานที่ รับประทานอาหาร ล้างหน้าล้างตาอาบน้ำ ก็จะบริกรรมพุทโธๆไป ไม่ให้ใจคิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่คุยกัน ต่างคนต่างทำภารกิจของตน ต่างคนต่างเจริญสติของตนควบคู่กันไป
พอเสร็จภารกิจก็จะแยกไปอยู่สถานที่ของตน เพื่อจะได้เจริญสติต่อ ด้วยการเดินจงกรมนั่งสมาธิ สลับกันไปตามความเหมาะสม การเดินหรือการนั่งไม่ได้เป็นตัวสำคัญ ตัวสำคัญคือสติ เดินก็เพื่อเจริญสติ นั่งก็เพื่อเจริญสติ ที่ต้องเดินสลับกับการนั่ง ก็เพราะร่างกายต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถ ถ้านั่งนานๆร่างกายก็จะเจ็บปวดได้ ถ้าเดินนานๆก็จะปวดเมื่อยได้ ก็ต้องมีการเปลี่ยนอิริยาบถ แต่การเจริญสติไม่มีการหยุด ทำอย่างต่อเนื่อง มีเวลาเดียวที่ไม่เจริญสติก็คือเวลาหลับนอน เวลานอนก็บริกรรมพุทโธๆไปจนหลับ พอตื่นขึ้นมารู้สึกตัวก็บริกรรมพุทโธต่อ นี่เป็นขั้นแรกของการภาวนา ของการปฏิบัติ ถ้าสติมีกำลังมากกว่ากิเลสตัณหา ก็จะดึงใจไม่ให้ออกไปข้างนอก ถ้าสติมีกำลังน้อยกว่ากิเลสตัณหา ใจก็จะถูกดึงให้ออกไปหาเรื่องราวต่างๆ ไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
การปฏิบัติเบื้องต้นนี้ จึงเป็นเหมือนการชักเย่อกัน ระหว่างสติกับกิเลสตัณหา ฝ่ายชนะก็จะได้ใจไป ถ้ากิเลสชนะก็จะได้เอาใจไปเที่ยว ไปเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ถ้าสติชนะก็จะได้เอาใจเข้าสู่ความสงบ เข้าสู่อัปปนาสมาธิ ถ้าอยากจะให้ใจเข้าสู่ความสงบ ก็ต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ต้องอยู่ตามลำพัง ไม่มีภารกิจอื่น จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องสละลาภยศสรรเสริญ สละความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เช่นพระพุทธเจ้าที่ทรงเสด็จออกจากพระราชวัง ทรงสละราชสมบัติ แล้วก็มุ่งไปสู่ป่าสู่เขา ไปรักษาศีลของนักบวช ไปเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเดินจงกรมสลับกับการนั่งสมาธิ จนใจรวมเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ เวลาที่จิตรวมนี้ จะพบกับความสุขที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง เป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งหลายในโลกนี้ ดังที่ได้ทรงตรัสไว้ว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง ไม่มีสุขใดในโลกนี้ จะดีเท่ากับความสุขที่เกิดจากความสงบ พอมีความสงบมีอุเบกขาแล้ว ใจก็จะปล่อยวางสิ่งต่างๆได้ การมาบวชนี้ก็ได้ปล่อยวางในระดับหนึ่งแล้ว คือปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ
สิ่งที่จะต้องปล่อยวางขั้นต่อไปก็คือขันธ์ ๕ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ หลังจากนั้นก็ปล่อยจิต เพราะตอนนี้รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ยังถูกกิเลสครอบครองอยู่ ยังมีกิเลสเป็นเจ้าของ จิตก็ยังมีกิเลสเป็นเจ้าของ จึงต้องกำจัดกิเลสที่ครอบครอง รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ต้องพิจารณาไตรลักษณ์ในร่างกาย ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ พิจารณาร่างกายนี้แหละ พิจารณาตามความเป็นจริง ไม่ว่าตามกิเลสตามความหลง กิเลสจะว่าร่างกายเป็นตัวเราของเรา กิเลสจะอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ต้องแก้กิเลสด้วยการพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายเกิดมาแล้ว ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายอย่างแน่นอน ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ มาจากอาหารที่รับประทาน อาหารก็มาจากดินเป็นส่วนใหญ่ น้ำก็มาจากน้ำที่ร่างกายดื่ม ลมก็มาจากลมที่ร่างกายหายใจเข้าไป ความร้อนก็มาจากพระอาทิตย์ จากพลังงานของอาหารที่อยู่ในร่างกาย ก็เป็นธาตุไฟ เวลาร่างกายหยุดทำงาน ธาตุทั้ง ๔ ก็จะแยกทางกัน ธาตุลมก็จะระเหยออกจากร่างกายไป ธาตุไฟก็จะดับไป ร่างกายของคนตายจะเย็นกว่าร่างกายของคนที่มีชีวิตอยู่ ธาตุน้ำก็จะไหลออกมา จนร่างกายแห้งกรอบ เหลือแต่ธาตุดิน ที่กรอบแล้วก็ผุกลายเป็นดินไปในที่สุด
การพิจารณาร่างกายก็เพื่อให้เห็นชัดๆว่า ร่างกายไม่มีตัวตน เป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ ใจที่มาครอบครองเป็นผู้มาเชิดร่างกายที่เป็นเหมือนหุ่น ใจเป็นผู้เชิดหุ่น ใจกับร่างกายนี้เป็นคนละคนกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับร่างกาย ก็จะเกิดขึ้นกับร่างกายเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เกิดกับใจ เพราะใจต่างกับร่างกาย ใจเป็นธาตุรู้ ที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่เจริญไม่เสื่อม ไม่มีรูปร่าง มีแต่ความรู้กับความคิด แต่คิดไม่ตรงกับความจริง เพราะถูกอวิชชาความหลงความมืดบอด เสี้ยมสอนให้คิดไปในทางที่ผิด ที่เรียกว่ามิจฉาทิฐิ เห็นผิดเป็นชอบ เห็นร่างกายที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน เห็นร่างกายที่จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายว่า ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย จึงเกิดตัณหาความอยากให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย พอเกิดตัณหาก็จะเกิดความทุกข์ใจ เพราะตัณหาเป็นสมุทัย เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ ใจไม่ได้เป็นอะไร แต่ใจกลับไปทุกข์แทนร่างกาย ร่างกายเป็นผู้ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย แต่ร่างกายไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตายของตน เพราะร่างกายไม่มีความคิด ไม่มีความอยาก ไม่มีความรู้นั่นเอง
การพิจารณานี้ก็เพื่อแก้ความหลงของใจ ให้เห็นอย่างชัดๆว่า ร่างกายไม่ใช่ตัวเราของเรา เวทนาคือความเจ็บของร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นความเจ็บของร่างกาย ใจเป็นเพียงผู้รับรู้ความเจ็บเท่านั้นเอง ถ้าใจไม่หลงจะรับรู้ได้อย่างไม่วุ่นวายเลย ถ้ามีอุเบกขา มีสมาธิ เวลาสัมผัสรับรู้อะไร ถ้ามีปัญญาคอยสอน ไม่ให้ไปอยาก ใจก็จะอยู่เฉยๆ ถ้าไม่มีปัญญาสอนใจ มีกิเลสสอนแทน ก็จะวุ่นวายใจ ทั้งๆที่มีสมาธิอยู่แล้วก็ตาม พอถูกกิเลสหลอกว่าเป็นตัวเราของเรา เป็นผู้เจ็บ ก็จะเกิดความอยากไม่ให้เจ็บ อยากให้ความเจ็บหายไป พอเกิดความอยากก็เกิดความทุกข์ทรมานใจ ที่รุนแรงกว่าความเจ็บของร่างกายหลาย ๑๐ เท่า สิ่งที่ใจทนไม่ได้ไม่ใช่ความเจ็บของร่างกาย เป็นความเจ็บของใจ ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บของร่างกายหายไป เพราะความหลงหลอกให้อยาก เพราะหลงคิดว่าใจเป็นร่างกาย เวลาร่างกายเจ็บก็อยากจะให้ความเจ็บหายไป แต่ถ้าได้ศึกษา ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะรู้ว่าความเจ็บเป็นของร่างกาย ไม่ใช่ของใจ ความเจ็บของใจเกิดจากความอยาก ให้ความเจ็บของร่างกายหายไป ถ้าไม่อยากเจ็บทางใจ ก็ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา ให้วางเฉย ให้ปล่อยวางเวทนา ปล่อยวางร่างกาย ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตาย ก็ปล่อยไป พอปล่อยได้ ก็จะไม่ทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย ก็จะบรรลุธรรมขั้นแรก คือขั้นพระโสดาบัน
พระโสดาบันละสักกายทิฐิได้ คือเห็นว่าร่างกายเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ไม่ใช่ตัวเราของเรา เวทนาไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเพียงสภาวธรรม ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ไม่สามารถสั่งให้เป็นอย่างอื่นได้ เหมือนกับฝนที่ตก ไม่มีใครสั่งให้ฝนหยุดได้ เราจึงไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าห้ามฝนไม่ได้ สั่งให้ฝนหยุดไม่ได้ ร่างกายกับเวทนาก็เป็นเหมือนกับฝน ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตาย เราก็ห้ามเขาไม่ได้ ร่างกายจะเจ็บจะปวด เราก็ห้ามเขาไม่ได้ ถ้าปฏิบัติกับฝนได้ ทำไมปฏิบัติกับร่างกายกับความเจ็บไม่ได้ ความจริงเราปฏิบัติได้แต่เราไม่รู้กัน เพราะไม่ได้ศึกษาไม่ได้ฟังธรรมกัน ไม่เห็นคุณประโยชน์ของการปล่อยวาง ไม่เห็นโทษของการยึดติด จึงต้องมาทุกข์กับขันธ์ ๕ ทุกข์กับร่างกาย ทุกข์กับเวทนา เพราะทำให้ร่างกายกับเวทนาเป็นไปตามความอยากไม่ได้ เวลาแก่ก็จะทุกข์ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะทุกข์ เวลาตายก็จะทุกข์ แต่ถ้าได้เจริญปัญญาอย่างต่อเนื่องจนเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เหมือนกับฝนตกแดดออก ไม่สามารถสั่งเขาได้ พอรู้ว่าสั่งไม่ได้ก็หยุดสั่ง หยุดอยาก พอหยุดอยากแล้ว ใจก็จะสงบ หายพยศ หายดิ้นรนกวัดแกว่ง อยู่กับความเป็นจริงของร่างกายของเวทนาได้อย่างสบาย
นี่คือการปล่อยวางขันธ์ ๕ ปล่อยวางรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ แต่ยังปล่อยกามารมณ์ ความรักใคร่ไม่ได้ เวลาเห็นร่างกายที่สวยงามก็จะเกิดกามารมณ์ เกิดความรักใคร่ เกิดความกำหนัดยินดี เพราะเห็นเพียงครึ่งเดียว เห็นส่วนที่สวยงาม ไม่เห็นส่วนที่ไม่สวยงาม ไม่เห็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนัง ไม่เห็นส่วนที่ไม่สะอาด ส่วนที่เป็นปฏิกูล ถ้าเห็นส่วนที่ไม่สวยงาม ส่วนที่เป็นปฏิกูล จนดับความหลงคือความเห็นว่าสวยงามได้ ก็จะดับกามารมณ์ได้ คือทุกครั้งที่เห็นส่วนที่สวยงาม ก็ต้องเห็นส่วนที่ไม่สวยงามด้วย ถ้าดับกามารมณ์ได้ ก็จะไม่ต้องการมีคู่ครอง จะอยู่คนเดียวได้อย่างสบาย จะไม่รู้สึกว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา
นี่คือการปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางขันธ์ ๕ ในส่วนที่เป็นอนิจจัง คือเกิดแก่เจ็บตาย ในส่วนที่เป็นทุกข์ คือทุกขเวทนา ในส่วนที่เป็นกามารมณ์ ก็คือกามราคะ ความกำหนัดยินดี เพราะเห็นส่วนที่ไม่สวยงาม ใจจะเป็นอุเบกขาวางเฉย หมดปัญหากับร่างกาย เป็นพระอริยะขั้นที่ ๓ คือพระอนาคามี ส่วนพระอริยะขั้นที่ ๒ คือพระสกิทาคามี ยังละได้เพียงบางส่วนคือทำให้กามารมณ์เบาบางลงไป แต่ยังไม่สามารถทำให้หมดสิ้นไปได้ บางเวลาก็มีกามารมณ์ เวลาเผลอไม่ได้คิดถึงอสุภะ ไม่ได้คิดถึงส่วนที่เป็นปฏิกูล พอเห็นส่วนที่สวยงามก็จะเกิดกามารมณ์ได้ พอเกิดกามารมณ์ก็จะรู้ว่า ต้องเจริญอสุภะ พิจารณาส่วนที่ไม่สวย พิจารณาส่วนที่เป็นปฏิกูล พอทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นส่วนที่ไม่สวยงามอย่างต่อเนื่อง เวลาเห็นส่วนที่สวยงาม ก็จะเห็นส่วนที่ไม่สวยงามพร้อมกัน ก็จะไม่เกิดกามารมณ์ แสดงว่าได้เป็นพระอนาคามี ถ้าตายไปก่อนบรรลุขั้นที่ ๔ ก็จะไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก เพราะไม่มีความอยากในกามารมณ์ ไม่มีความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พระอนาคามีก็สามารถปฏิบัติต่อได้ หลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว เพราะกิเลสที่เหลืออยู่ไปรวมตัวกันอยู่ภายในจิต
กิเลสที่รวมตัวภายในจิตนี้ก็มีอยู่ ๕ คือ ๑. รูปราคะ ๒. อรูปราคะ ๓. อุทธัจจะ ๔. มานะ ๕. อวิชชา รูปราคะกับอรูปราคะก็คือความติดอยู่กับความสุขของรูปฌานกับอรูปฌาน เป็นความสุขที่ยังเจริญและเสื่อมอยู่ เวลาอยู่ในฌานก็มีความสุข พอออกจากฌานมาคิดปรุงแต่งตามความอยากของกิเลส ก็จะเกิดความทุกข์ใจ ที่เกิดจากมานะ อุทธัจจะ หรืออวิชชา มานะคือความถือตัว อยากให้มีผู้อื่นเคารพนับถือยกย่องสรรเสริญ ไม่ดูถูกเหยียดหยาม ไม่ตำหนิติเตียน อุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านที่เกิดจากการพิจารณาทางปัญญาจนเลยเถิด คือไม่หยุดพักในสมาธิ อวิชชาก็คือความยึดติดในความสุขที่ละเอียด ที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ที่ยังเจริญและเสื่อม เวลาเสื่อมก็เกิดอารมณ์หงุดหงิด ก็ต้องพิจารณาธรรมเหล่านี้ว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เป็นเหมือนร่างกาย ที่จะต้องปล่อยวาง ความสุขจะเสื่อมก็ปล่อยให้เสื่อมไป ไม่ต้องดูแลรักษา ให้รักษาตัวผู้รู้ตัวเดียว ให้รู้เฉยๆ อย่าไปยินดียินร้าย กับการเจริญหรือการเสื่อมของความสุข อย่าไปยินดียินร้ายกับการยกย่องนับถือดูถูกดูแคลน ให้รู้ว่าสถานภาพต่างๆเป็นสมมุติ ผู้รู้ไม่ได้สูงไม่ได้ต่ำ ไม่ได้มีเกียรติหรือไม่มีเกียรติ เป็นเพียงผู้รู้
นี่คือกิเลสขั้นสุดท้ายที่จะต้องละให้ได้ ก็คือละการถือตัว ละการยึดติดกับความสุขภายในจิต เพราะเป็นความสุขที่ไม่เที่ยง เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พอปล่อยวางความสุข ปล่อยวางมานะได้แล้ว ธรรมเหล่านี้ก็จะหายไป ก็จะเหลือแต่จิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ที่มีความสุขอีกแบบหนึ่ง คือปรมังสุขัง เป็นความสุขที่ไม่เสื่อม เป็นความสุขของความบริสุทธิ์ของใจ นี่คือขั้นสุดท้ายของการปฏิบัติ คือความบริสุทธิ์ของใจ ด้วยการปล่อยวางตั้งแต่ขั้นต้น คือปล่อยวางลาภยศสรรเสริญ ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรส ปล่อยวางรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ปล่อยวางความสุขภายในจิต พอปล่อยหมดแล้วก็จะเหลือแต่ความว่าง คือปรมังสุญญัง นิพพานัง ปรมังสุญญัง นิพพานัง ปรมังสุขัง นี้แลคือความหมายของคำว่าสูญ ไม่ได้ว่าหมายความว่าพอถึงนิพพานแล้ว จิตจะอันตรธานหายไป จิตไม่มีวันที่จะหายไปได้ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีอยู่มาแต่ดั้งเดิม และจะมีอยู่ต่อไป เพียงแต่จะอยู่แบบไหน อยู่แบบบริสุทธิ์หรืออยู่แบบไม่บริสุทธิ์ ถ้าอยู่แบบบริสุทธิ์ก็จะอยู่แบบปรมังสุขัง อยู่แบบบรมสุข ถ้าอยู่แบบไม่บริสุทธิ์ ก็อยู่แบบเวียนว่ายตายเกิด อยู่กับกองทุกข์ อยู่กับอนิจจังทุกขังอนัตตา วันนี้ได้ใช้ฝนเป็นตัวอย่างของอนัตตา ใช้การนั่งเฉยๆเป็นตัวอย่างของอุเบกขา รับกับฝนตก ถ้ารับกับความแก่ความเจ็บความตายได้ แบบรับกับฝนตก ก็จะไม่มีความทุกข์ใจ ที่รับไม่ได้ก็เพราะยังไม่มีกำลังควบคุมความพยศของใจ เพราะไม่มีเครื่องมือ ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา จึงต้องหมั่นเจริญสติ เจริญสมาธิ และปัญญาให้มากๆตามลำดับ แล้วจะรักษาความนิ่งสงบของใจได้ทุกเวลา ทุกเหตุการณ์
ถาม คนที่มีจิตเหม่อ มีมิจฉาทิฐิ จะทำอย่างไรให้ควบคุมใจได้
ตอบ ขั้นแรกก็ต้องสร้างสติขึ้นมา ท่องพุทโธๆไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา อย่าไปคิดอะไร ท่องพุทโธๆไปอย่างเดียว ไม่ต้องไปสนใจเรื่องของคนอื่น ให้สนใจการท่องพุทโธ คนอื่นจะดีจะชั่วก็เรื่องของเขา ขอให้มีสติก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องของคนอื่น จะปล่อยวางได้ ถ้าไม่มีสติ พอเห็นอะไร ใจก็จะเป็นบ้าไปกับสิ่งที่เห็นทันที จะพยศขึ้นมาทันที
สติจึงเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า สติเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำคัญที่สุด สำคัญกว่าสมาธิ สำคัญกว่าปัญญา สำคัญกว่าการหลุดพ้นวิมุตติ เพราะวิมุตติหลุดพ้น ปัญญา หรือสมาธินี้ ถ้าไม่มีสติจะเกิดขึ้นมาไม่ได้ สติเป็นพ่อแม่ของธรรมทั้ง ๓ นี้ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มีพ่อแม่ ก็จะไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะการจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ ต้องมีพ่อแม่ พ่อแม่ถึงแม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าพระพุทธเจ้า แต่มีความสำคัญในการให้พระพุทธเจ้า มีโอกาสได้เป็นพระพุทธเจ้าได้ สติก็เช่นเดียวกัน สติไม่สามารถทำให้เกิดมรรคผลนิพพานขึ้นมาได้ ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นได้ แต่ถ้าไม่มีสติก็ไม่สามารถทำให้จิตสงบได้ ถ้าจิตไม่สงบก็ไม่สามารถเจริญปัญญาได้ ถ้าเจริญปัญญาไม่ได้จิตก็จะหลุดพ้นไม่ได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับสติเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะเดินหรือวิ่งได้ ก็ต้องยืนให้ได้ก่อน ถ้ายังยืนไม่ได้ พอจะเดินหรือจะวิ่งจะล้มทันที ต้องยืนให้ได้ก่อน แล้วก็จะเดินจะวิ่งได้อย่างสบาย ถ้ามีสติแล้ว จะเข้าสมาธิเมื่อไหร่ก็เข้าได้ จะให้จิตรวมเมื่อไหร่ก็รวมได้ พอมีสมาธิแล้ว ก็จะสอนใจให้ปล่อยวางได้ เพราะสมาธิมีกำลัง มีความสุข ที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากความอยากต่างๆ เช่นลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ สู้ความสุขที่ได้จากความสงบไม่ได้ ถ้าได้ความสงบแล้ว ก็จะเบื่อความสุขทางลาภยศสรรเสริญ ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็จะออกบวชได้
พระพุทธเจ้าทรงสัมผัสกับความสงบตั้งแต่ตอนพระเยาว์วัย ตอนที่ทรงประทับอยู่ตามลำพัง วันนั้นเป็นวันแรกนาขวัญ พวกข้าราชบริพาร ก็ต้องไปช่วยทำภารกิจ ปล่อยให้พระองค์ประทับอยู่ตามลำพังใต้ร่มไม้ พอไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่มีใครมารบกวน จิตที่มีสติก็จะถูกดึงเข้าสู่ข้างใน ให้รวมเป็นอัปปนาสมาธิ จึงได้ทรงเห็นว่าความสงบคือความสุขที่แท้จริง แต่ตอนนั้นยังทรงเยาว์วัย ยังไม่เป็นตัวของตัวเอง จึงต้องอยู่ในวังไปก่อน พอโตแล้ว ได้ทรงพบกับเทวทูตทั้ง ๔ ที่มาเตือนพระองค์ว่า ถึงเวลาไปปฏิบัติภารกิจ เพื่อการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ประจวบกับได้ข่าวว่า พระมเหสีได้คลอดพระราชโอรส ก็เลยเป็นเวลาที่จะต้องเสด็จออกบวช ถ้าอยู่ต่อไปก็จะถูกบ่วงคือลูกมัดเอาไว้ จะไม่สามารถเสด็จออกบวชได้ ก็เลยเสด็จออกไปภายในคืนนั้นเลย เพราะทรงมีความสงบแล้ว ถ้าไม่มีความสงบก็จะไม่กล้าไป เพราะจะกลัวกับความทุกข์ยากลำบากต่างๆ
เพราะการอยู่ป่าของนักบวชสมัยก่อน ลำบากกว่าสมัยนี้มาก สมัยนี้มีศรัทธาญาติโยม คอยดูแลเลี้ยงดูอย่างเต็มที่ สมัยก่อนไม่มีใครเลย จีวรเครื่องนุ่งห่มก็ต้องใช้ของเก่า ต้องหาผ้าเก่าๆที่ทิ้งแล้ว มาตัดมาเย็บเป็นจีวร เรียกว่าผ้าบังสุกุล คำว่าบังสุกุลก็คือของเก่า ไม่ใช่เป็นผ้าที่เป็นพับๆ ที่ศรัทธาญาติโยมถวายให้ตัดเย็บเหมือนสมัยนี้ สมัยก่อนต้องเก็บผ้าที่ทิ้งตามกองขยะ ทิ้งตามป่าช้า นี่คือการอยู่ของนักบวชในสมัยพุทธกาล อยู่อย่างลำบากมาก ถ้าจิตใจไม่สงบแล้ว จะอยู่กับความทุกข์ยากลำบากไม่ได้ แต่ถ้าใจมีความสงบแล้ว จะไม่หิวกับรูปเสียงกลิ่นรส กับปัจจัย ๔ จะอยู่แบบตามมีตามเกิดได้อย่างสบาย อดมื้อกินมื้อก็ได้ จะฉันจะรับประทานอะไรก็ได้ จะนอนตรงไหนก็ได้ ขอให้หลบแดดหลบฝนได้ก็พอ ส่วนใหญ่ก็อยู่ตามโคนไม้ อาจจะทำเพิงด้วยกิ่งไม้ เพื่อกันฝนกันแดด เพราะเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการเจริญสมถะภาวนา และวิปัสสนาภาวนา เอื้อต่อการเจริญสติ เอื้อต่อการเจริญปัญญา ท่านถึงได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันอย่างรวดเร็ว สำหรับพระพุทธเจ้าเองทรงใช้เวลา ๖ ปี เนื่องจากไม่มีครูบาอาจารย์ ถ้ามีครูบาอาจารย์ สมมุติถ้าพระพุทธเจ้าได้พบกับพระพุทธเจ้า เหมือนพวกพระสาวกได้พบ ถ้าได้ฟังธรรมครั้งสองครั้ง ก็จะบรรลุได้ทันที เพราะมีศีลมีสมาธิอยู่แล้ว พอฟังเทศน์ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เลย เพราะมีภูมิ ธรรมรองรับปัญญาของพระพุทธเจ้า
แต่พระพุทธเจ้าเองไม่มีครูที่รู้พระอริยสัจ ๔ มาคอยสอน ไม่มีครูที่รู้ว่าทุกข์เกิดจากความอยาก ไม่รู้ว่าวิธีดับความทุกข์ ต้องดับด้วยปัญญา ที่เห็นว่าทุกข์เกิดจากความอยาก และสิ่งที่อยากก็ไม่ได้ให้ความสุขแก่ใจ เพราะเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา ได้มาแล้วก็หมดไป ควบคุมบังคับไม่ได้ นี่คือสัจธรรมความจริง ที่พระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่เห็นได้ด้วยตนเอง ถ้าไม่มีผู้รู้อย่างพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ มาบอกพวกเราให้รู้ ให้เห็นพระอริยสัจ ๔ ให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พวกเราจะไม่มีวันที่จะรู้จะเห็นได้เลย กลับจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความสุข เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นตัวเราของเรา แต่ความจริงแล้วมันเป็นตรงกันข้ามกับความเห็นของเรา คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา จึงต้องมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ พอมีแล้วก็จะมีพระอรหันต์ปรากฏขึ้นมา เป็นจำนวนมากมายเลย เพียงระยะ ๗ เดือนแรกของการประกาศพระศาสนา คือตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา ถึงวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา ก็มีพระอรหันต์อย่างน้อย ๑๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมๆกัน โดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน
นี่คือความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า ของพระธรรมคำสอน พวกเรามีโชคมีวาสนามาก ที่ได้พบกับพระพุทธศาสนา เพราะนานๆสักครั้งหนึ่งที่จะมีพระพุทธศาสนามาปรากฏ ให้เป็นที่สักการบูชา เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก ที่จะอยู่เพียง ๕๐๐๐ ปี หลังจากนั้นก็จะเป็นเวลาเป็นกัป คำว่ากัปก็หมายความว่าหลายล้านล้านปี กว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อีกครั้งหนึ่ง เวลาที่พวกเรากลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็ไม่รู้ว่าจะได้พบกับ พระพุทธศาสนาใหม่หรือไม่ ชาตินี้เป็นจังหวะดีโชคดี ที่ได้พบกับพระพุทธศาสนา มีโอกาสหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดภายในชาตินี้เลย ถ้าไม่พบกับพระพุทธศาสนา ก็จะได้ทำแต่บุญ สะสมบุญบารมีไป ทีละเล็กทีละน้อยไป จนกว่าจะมีบารมีแก่กล้าพอ ที่จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลาหลายล้านกัปด้วยกัน แต่ชาตินี้เรามีโอกาสที่จะหลุดพ้นในชาตินี้เลย เพราะมีพระพุทธศาสนานำทาง
ถ้าปฏิบัติตามคำสอนก็จะบรรลุได้ไม่เกิน ๗ ปี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ ในตอนท้ายของมหาสติปัฏฐานสูตร ที่ทรงสอนให้เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา เพื่อปล่อยวางรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ปล่อยวางจิต ไม่มีใครรับรองได้ มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น ถ้าไม่รีบตักตวงโอกาส พอโอกาสหมดไปแล้ว ก็จะต้องรอไปอีกหลายกัป ต้องเวียนว่ายตายเกิด ต้องร้องห่มร้องไห้ต่อไป น้ำตาที่พวกเราร้องห่มร้องไห้ในแต่ละภพแต่ละชาตินี้ ถ้ามารวมกันแล้ว ทรงตรัสว่ามีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร จึงอย่ายึดติดกับความสุขเล็กๆน้อยๆ ที่ได้จากลาภยศสรรเสริญ จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะเลย เพราะเป็นความสุขเหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด เป็นความสุขที่มีความทุกข์เกี่ยวใจ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเวลาสิ่งต่างๆที่เรารักเราชอบเสื่อมจากเราไป เวลาเสื่อมลาภยศสรรเสริญ เสื่อมความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ความสุขจะหายไปหมดเลย จะเหลือแต่ความทุกข์ทรมานใจ ไม่มีอะไรจะดับได้ นอกจากธรรมของพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ถ้าไม่ปฏิบัติไม่สะสมธรรมไว้ตั้งแต่บัดนี้ เวลาเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา จะไม่มีอะไรดับได้ ถ้าไม่เตรียมเครื่องดับเพลิงไว้ เวลาเกิดไฟลุกขึ้นมา จะดับไฟไม่ได้ จึงควรแบ่งเวลาให้กับการปฏิบัติธรรมบ้าง ถ้ายังสละทางโลกไม่ได้หมด อย่างน้อยก็สละครึ่งหนึ่งก็ยังดี เพื่อมาสะสมธรรมะบ้าง ในวันข้างหน้าเวลาพบกับความทุกข์ ที่เกิดจากความเสื่อมต่างๆ จะได้มีธรรมะมาดับความทุกข์ จะได้ไม่ต้องฆ่าตัวตาย คนที่ฆ่าตัวตายแสดงว่าไม่รู้จักดับทุกข์เลย ไม่มีธรรมะสอนใจ ให้ทำใจ ให้ปลงเลย มีแต่อยากได้ความสุขที่สูญเสียไป พอไม่ได้ก็อยากจะฆ่าตัวตาย ขอให้พวกเราทำบุญทำทาน รักษาศีล ภาวนา เจริญสติ นั่งสมาธิ เจริญปัญญากัน เพื่อสะสมธรรมะไว้ดับความทุกข์ ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า