กัณฑ์ที่ ๔๕๗       ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖

 

เติมกำลังใจ

 

 

 

พวกเรามาวัดเพื่อมาชาร์จแบตเตอรี่ ชาร์จกำลังใจ ที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก ต่อการหลุดออกจากการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าไม่มีกำลังใจจะไม่สามารถออกจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ เหมือนกับจรวดที่ส่งยานอวกาศออกจากการดึงดูดของโลก จะต้องมีกำลังมากกว่าแรงดึงดูดของโลก ถ้าแรงดึงดูดของโลกมีกำลังมากกว่า จรวดก็จะไม่สามารถออกจากการดึงดูดของโลกได้ เวลาออกแบบจรวดจึงต้องคำนวณดูแรงดึงดูดของโลก ว่ามีมากน้อยเพียงไร ต้องสร้างจรวดให้มีกำลังมากกว่าแรงดึงดูดของโลก จรวดถึงจะออกจากการดึงดูดของโลกได้ ไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการไปได้ เช่นไปโลกพระจันทร์ ไปดาวอังคาร ฉันใดใจที่ต้องการหลุดจากแรงดึงดูดของกิเลสตัณหา ที่ดึงดูดใจให้เวียนว่ายอยู่ในวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เกิดแก่เจ็บตาย ก็ต้องมีกำลังมากกว่าแรงดึงดูดของกิเลสตัณหา โมหะอวิชชา ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ก็จะไม่มีที่ชาร์จกำลังใจ ให้ใจได้หลุดออกจากการดึงดูดของกิเลสตัณหา เพราะมีพระพุทธศาสนาเพียงศาสนาเดียวเท่านั้น ที่รู้วิธีสร้างกำลังใจ ให้มีมากกว่าแรงดึงดูดของกิเลสตัณหา

 

การได้มาพบพระพุทธศาสนา จึงเป็นเหมือนกับพบที่ชาร์จแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ เวลาแบตฯหมดถ้าไม่มีที่ชาร์จแบตฯ ก็จะไม่สามารถชาร์จแบตฯ ให้ขับเคลื่อนโทรศัพท์มือถือได้ ฉันใดถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา ก็จะไม่มีที่ชาร์จกำลังใจ ที่จะทำให้ใจออกจากแรงดึงดูดของวัฏจักร ของกิเลสตัณหาได้ ถ้าได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว สิ่งที่ควรทำอย่างมากก็คือชาร์จกำลังใจ เติมกำลังใจ ด้วยการสร้างคุณธรรม ๕ ประการคือ ๑. ศรัทธา ๒. วิริยะ ๓. สติ ๔. สมาธิ ๕. ปัญญา ที่จะทำให้ใจมีกำลังมากกว่ากิเลสตัณหา ที่ดึงใจให้เวียนว่ายตายเกิด ศรัทธาเป็นคุณธรรมประการแรกที่ต้องมีก่อน ถ้าไม่มีศรัทธาก็จะไม่มีวิริยะสติสมาธิปัญญา ก็คือศรัทธาในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระอริยสงฆ์สาวก ศรัทธาในพระพุทธเจ้าก็คือ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบวิธีสร้างกำลังใจด้วยพระองค์เอง ให้ใจมีกำลังมากกว่ากิเลสตัณหา ที่ทำให้พระองค์หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ศรัทธาในพระธรรมคำสอนก็คือ เชื่อว่าพระธรรมคำสอนจะทำให้ผู้ปฏิบัติตาม สามารถสร้างกำลังใจให้ชนะกิเลสตัณหาได้ ให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้ ศรัทธาในพระอริยสงฆ์สาวก ว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธเจ้า หลังจากที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอนแล้ว ก็นำเอาไปปฏิบัติอย่างขะมักเขม้น จนหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของวัฏจักร หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 

ถ้ามีศรัทธาในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็จะเชื่อว่าเราก็สามารถที่จะสร้างกำลังใจให้เกิดขึ้นได้ ให้มีกำลังมากกว่ากิเลสตัณหา เพื่อจะได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นี่คือศรัทธา ธรรมข้อที่ ๑ อย่าสงสัยในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นสวากขาโต ภควตา ธัมโมหรือไม่ เป็นธรรมที่ตรัสไว้ชอบหรือไม่ ที่สามารถนำพาสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้หรือไม่ ต้องมีความเชื่อ มีความมั่นใจ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อจะได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจร้อยเปอร์เซ็นต์ให้แก่การปฏิบัติ ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่พระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายได้ทุ่มเทศรัทธาความเชื่อในพระพุทธเจ้า และในคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแล้ว จนได้บรรลุเป็นพระอริยสงฆ์สาวก ได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดมาแล้ว

 

พวกเราก็เป็นพวกเดียวกับพระอริยสงฆ์สาวก เพียงแต่ว่าตอนนี้เรายังไม่ได้สร้างกำลังใจ ให้มีเท่ากับพระอริยสงฆ์สาวก ถ้าสร้างกำลังใจให้มีเท่ากับพระอริยสงฆ์สาวกแล้ว คือสร้างวิริยะให้เต็มร้อย สร้างสติให้เต็มร้อย สร้างสมาธิให้เต็มร้อย สร้างปัญญาให้เต็มร้อยแล้ว รับรองได้ว่าใจจะมีกำลังมากกว่ากิเลสตัณหา จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้อย่างแน่นอน เพราะการออกจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็เป็นเหมือนการชักเย่อกัน ฝ่ายหนึ่งจะดึงให้วนอยู่ในวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด อีกฝ่ายหนึ่งจะดึงให้ออกจากการเวียนว่ายตายเกิด ฝ่ายไหนมีกำลังมากกว่า ฝ่ายนั้นก็จะเป็นฝ่ายชนะ

 

ถ้าฝ่ายธรรมมีกำลังมากกว่าฝ่ายกิเลสตัณหา ก็จะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าฝ่ายกิเลสตัณหามีกำลังมากกว่า ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป นี่คือเรื่องของใจ ที่เป็นเหมือนสมบัติของ ๒ ฝ่าย ที่แก่งแย่งกัน แข่งขันกัน ฝ่ายธรรมกับฝ่ายอธรรม ฝ่ายธรรมก็คือฝ่ายของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวก ฝ่ายอธรรมก็คือฝ่ายของกิเลสตัณหา ถ้ากิเลสตัณหามีกำลังมากกว่า การเวียนว่ายตายเกิดก็ยังจะมีต่อไป ถ้าฝ่ายธรรมมีกำลังมากกว่า การสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดก็จะเป็นผลตามมา การจะทำให้สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ ก็ต้องมีวิริยะความอุตสาหะพากเพียร ที่จะเจริญคุณธรรม ๓ ประการคือ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศรัทธาแล้ว วิริยะจะตามมาเอง

 

อย่างวันนี้ญาติโยมก็มากันเอง มีศรัทธาแล้ว ก็จะมีวิริยะความพากเพียรที่จะเข้าหาธรรมะ แทนที่จะไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ไปตามกำลังของกิเลสตัณหา กลับมาตามกำลังของศรัทธา ต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ที่มีกำลังมากกว่า จึงดึงจิตใจของท่านทั้งหลาย ให้เข้ามาหาธรรมะกัน มาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน อย่างนี้ก็ถือว่าได้ชัยชนะแล้ว ๑ ครั้ง แต่ยังต้องชนะอีกหลายครั้ง เหมือนกับเวลาแข่งชกมวยโอลิมปิก ต้องชนะหลายครั้งกว่าจะได้เหรียญทอง ตอนนี้เราได้ชนะกิเลสแล้ว ๑ ครั้ง เพราะว่ากิเลสไม่สามารถชวนให้เราไปเที่ยวได้ มีคนอีกมากที่ไม่ได้มาที่นี่ เพราะถูกกิเลสชวนไปเที่ยว แสดงว่าเขาแพ้ เราชนะ เราเก่งกว่าเขาแล้ว ให้คิดอย่างนี้ จะได้มีกำลังใจ ว่าเราไม่ใช่เป็นผู้แพ้ตลอดเวลา เราก็เป็นผู้ชนะเหมือนกัน แต่อย่าคิดจนทำให้เกิดความประมาทนอนใจ ว่าเราชนะแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว ให้คิดว่าเราชนะครั้งที่ ๑ แล้ว เรามีศรัทธาแล้ว

 

ธรรมข้อที่ ๒ ก็คือวิริยะ พากเพียรเจริญสติตลอดเวลา จะเจริญสติได้ตลอดเวลา ก็ต้องอยู่ตามสถานที่สงบสงัด ต้องปลีกวิเวก ต้องสำรวมอินทรีย์ คือตาหูจมูกลิ้นกาย เรียกว่าอินทรียสังวร ไม่ให้ตาดูรูปที่ทำให้เกิดกามารมณ์ เพราะจะทำให้ติดกับของกิเลสตัณหา การปฏิบัติก็เพื่อออกจากกับดักของกิเลสตัณหา ต้องไม่ดูรูปไม่ฟังเสียงที่ทำให้เกิดกามารมณ์ จึงต้องสำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ด้วยการถือศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ที่จะช่วยให้สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ให้ไปหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ พอไม่ไปหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็จะมีเวลาเจริญสติ เพื่อทำใจให้สงบเป็นสมาธิ นี่คือการต่อสู้รอบที่ ๒ ที่จะต้องเอาชนะให้ได้ ต้องควบคุมบังคับใจ ไม่ให้ทำตามกระแสของความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส ความอยากมีอยากเป็น ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

 

วิธีทดสอบกำลังของเรา กับกำลังของตัณหาก็มีอยู่ง่ายๆคือ เวลาที่เราว่างจากภารกิจการงาน ก็นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งบนเก้าอี้ที่สบาย ไม่ลุกจากเก้าอี้จนกว่าจะครบเวลาที่กำหนดไว้ จะเป็น ๖ ชั่วโมง หรือ ๘ ชั่วโมงก็ได้ มีน้ำดื่มไว้ในกรณีที่หิวน้ำ รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อน จะได้ไม่มีปัญหากับการรับประทานอาหาร รับประทานมื้อเดียว แล้วก็นั่งที่เก้าอี้ ต่อสู้กับความอยาก ที่อยากจะลุกจากเก้าอี้ ถ้าจะลุกก็เพื่อเข้าห้องน้ำ ห้ามเถลไถลไปที่อื่น เสร็จกิจแล้วก็กลับมานั่งต่อ ถ้านั่งแล้วปวดเมื่อยอยากจะลุก ก็ยืนที่ข้างเก้าอี้ ให้มีเพียง ๒ อิริยาบถ คือนั่งกับยืน สัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ดูว่าจะทำได้หรือไม่ จะเอาชนะความอยากได้หรือไม่ น่าจะเอาชนะได้ เพราะไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่นั่งเฉยๆหรือยืนเฉยๆเท่านั้นเอง ไม่ทำตามความอยากสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมงดู ห้ามนั่งหลับ ถ้าหลับก็ถือว่าแพ้ ลองทำดู ถ้าอยากจะดูว่ากำลังของเรากับของกิเลสตัณหา ใครจะมีมากกว่ากัน

 

นี่เป็นวิธีง่ายๆที่จะตรวจดูว่าเรามีกำลังมากน้อย นั่งเฉยๆสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง นั่งแบบสบายๆ ไม่ต้องนั่งขัดสมาธิหลับตา นั่งบนเก้าอี้นวมก็ได้ นั่งห้อยเท้าก็ได้ แต่ไม่ให้ดูอะไร ไม่ให้ฟังอะไร ไม่ให้อ่านอะไร แม้แต่ธรรมะ ก็ไม่ให้ดูไม่ให้ฟัง ต้องการให้เอาใจมาสู้กับกิเลสตัณหา ดูว่าจะใช้สติสมาธิปัญญา ควบคุมกิเลสตัณหาได้หรือไม่ เวลาเกิดความอยากลุก ก็ควบคุมด้วยการบริกรรมพุทโธๆ ด้วยการสวดมนต์ พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกาย พิจารณาเกิดแก่เจ็บตาย พิจารณาพระอริยสัจ ๔ ว่าทุกข์เกิดจากความอยากลุก ทุกข์จะดับไปหายไปถ้าไม่อยากลุก ใช้สติสมาธิปัญญาต่อสู้กับกิเลสตัณหาดู นี่คือวิธีปฏิบัติง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ขังตัวเองไว้ในห้องที่เงียบ แล้วก็นั่งสัก ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ถ้าทำได้จะมีกำลังใจที่จะปฏิบัติมาก จะรู้ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ความอยาก นั่งเฉยๆทำไมใจจึงทุกข์ ทำไมนั่งไม่เป็นสุข เพราะใจไม่สงบ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ที่จะดับความอยาก ที่ทำให้ใจทุกข์ ทำให้ใจเครียด

 

นี่คือการปฏิบัติธรรม ต้องกำหนดเวลา กำหนดสถานที่ กำหนดเงื่อนไข ต้องปลีกวิเวก อยู่ตามสถานที่สงบสงัด สำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่คลุกคลีกัน ไม่คุยกัน อยู่ตามลำพัง ควบคุมการบริโภคอาหาร รับประทานพอประมาณ รับประทานมื้อเดียวก็พอ เจริญสติอย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย จะทำให้เกิดความอยาก ความฟุ้งซ่าน ความเครียด จนไม่สามารถนั่งเฉยๆได้ แต่ถ้าสามารถควบคุมความคิดได้ ใจจะสงบ จะเป็นอุเบกขา จะนั่งเฉยๆได้ จะมีความสุขกับการนั่งเฉยๆ พอได้สมาธิแล้ว ก็จะได้ความสุข ที่ดีกว่าความสุข ที่ได้จากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ไม่ต้องไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาออกจากสมาธิ ถ้ากิเลสตัณหาอยากจะไปเสพ ก็ใช้ปัญญาสอนใจ ว่าอย่าไปทำตามกิเลสตัณหา เพราะจะพาไปสู่ความทุกข์ เวลาที่ไม่ได้เสพ จะทุกข์มาก จะสุขตอนที่ได้เสพ แต่สุขเดี๋ยวเดียว เวลาไม่ได้เสพจะทุกข์ทรมานใจ เช่นเวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ทุกข์เพราะอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรส ถ้าใจจะสงบเป็นอุเบกขาแล้ว เวลานั่งเฉยๆ ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง จะไม่ทุกข์เลย

 

ถ้าได้สมาธิแล้ว เวลาออกจากสมาธิ กิเลสก็จะออกมา มาชวนให้ไปหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ชวนไปเปิดตู้เย็นหาเครื่องดื่ม หาขนมรับประทาน ก็ต้องใช้ปัญญาว่า ถ้าต้องการดื่มเพื่อร่างกายก็ดื่มน้ำเปล่า ถ้าต้องการรับประทานอาหารขนมนมเนย ก็ต้องรอให้ถึงเวลาก่อน ตอนนี้ไม่ใช่เวลารับประทาน ต้องมีมาตรการควบคุม กีดกันไม่ให้กิเลสตัณหามาหลอกมาล่อ ว่าร่างกายต้องการอาหาร จริงอยู่ที่เราต้องให้อาหารกับร่างกาย แต่ควรให้ตามเวลา ถ้าวันนี้รับประทานอาหารไปแล้ว ก็ถือว่าหมดสิทธิ์ ถ้าจะรับประทานอีกครั้งหนึ่ง ก็ต้องเป็นพรุ่งนี้ วันนี้ไม่เอาแล้วของขบเคี้ยวทั้งหลาย จะเอาแต่น้ำดื่มเท่านั้น เพราะร่างกายต้องการน้ำ แต่ไม่ดื่มน้ำที่มีรสต่างๆ เพราะเป็นการเสพรส เป็นกามตัณหาความอยากในรส ต้องดื่มน้ำเปล่าๆ ไม่มีรสชาติกลิ่นสีมาเกี่ยวข้อง ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีรสมีสีมีกลิ่น แสดงว่าไม่ได้ดื่มเพื่อร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ดื่มเพื่อกามตัณหาด้วย คือความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก เพราะการปฏิบัติก็เพื่อที่จะตัดกามตัณหา ตัดภวตัณหา ตัดวิภวตัณหา จึงต้องระมัดระวัง

 

พอออกจากสมาธิแล้ว ถ้าอยากเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ต้องหยุด ถ้าอยากไปโน่นมานี่ก็ต้องหยุด เพราะเป็นภวตัณหา เช่นอยากไปหาเพื่อน อยากไปทำบุญ การอยากไปทำบุญในตอนที่ปฏิบัติ ก็เป็นโทษต่อการปฏิบัติ เพราะทำให้จิตออกข้างนอก นักภาวนา ผู้ปฏิบัติ ผู้ปลีกวิเวกจึงต้องระวังไม่ให้กิเลสหลอก ให้ออกไปทำบุญทอดผ้าป่าทอดกฐิน ฉลองโบสถ์ ฉลองเจดีย์ ฉลองวันเกิดครูบาอาจารย์ การกระทำเหล่านี้สำหรับนักบุญ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมได้เลื่อนขั้นขึ้นมาแล้ว เป็นนักบุญมาแล้ว พอแล้ว ตอนนี้มาเป็นนักบวช มารักษาศีล มาสังวรอินทรีย์ มาปลีกวิเวก มาต่อสู้กับกิเลสตัณหา เวลากิเลสตัณหาหลอกก็ต้องรู้ทัน เช่นหลอกให้ไปงานศพไปงานวันเกิดของครูบาอาจารย์ ไปงานบุญงานกุศลต่างๆ สำหรับนักบวชต้องถือว่าไม่เป็นบุญเป็นกุศล เพราะจะขัดขวางการชาร์จกำลังใจ การสร้างกำลังใจ ที่จะใช้ในการฆ่าฟันกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจ การไปทำบุญกลับเป็นการสร้างกำลังของกิเลสตัณหาให้มีมากขึ้น ต้องคิดอย่างนี้ ออกไปแล้วก็ไปเห็นรูปเสียงกลิ่นรส ไปพบคนนั้นคนนี้ ก็ได้พูดได้คุยกัน ก็จะไม่ได้เจริญสติ พอเขาเอาเครื่องดื่มมาให้ดื่มก็ต้องดื่ม ด้วยความเกรงใจ และด้วยความอยากที่ซ่อนอยู่ โดยไม่รู้สึกตัว แต่ก็อ้างความเกรงใจ แต่ความจริง ถ้าไม่อยากแล้ว ต่อให้เขายัดเข้าไปในปากก็จะยัดไม่เข้า เพราะไม่อยาก แต่ความอยากจะฉวยโอกาสอ้างความเกรงใจ นี่คือเล่ห์กลของกิเลสตัณหา ที่แสนละเอียด ที่จะหลอกล่อให้ออกจากการสร้างกำลังใจ สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา

 

ต้องถามตัวเองว่าตอนนี้อยู่ในสถานภาพใด เป็นนักบุญหรือเป็นนักบวช ถ้าเป็นนักบุญก็ต้องยอมรับผลของนักบุญ ว่าได้แค่สวรรค์ ถ้าเป็นนักบวชก็ต้องรักษาสถานภาพของนักบวชไว้ เหมือนคนที่แต่งงานกับคนที่เป็นโสด มีสถานภาพต่างกัน จะทำตัวให้เหมือนกันไม่ได้ คนโสดจะไปเที่ยวกับใครที่ไหนเมื่อไหร่ก็ทำได้ แต่คนที่มีคู่ครองแล้วต้องไปกับคู่ครองเท่านั้น พุทธศาสนิกชนก็มีหลายสถานภาพด้วยกัน ถ้าเป็นนักบุญก็ไปเลย ใครมาชวนทำบุญที่ไหน ไปเลย ไปอินเดียไปเลย ใช้เงินให้หมด พอหมดแล้วจะได้ไม่ต้องไปไหน จะได้เป็นนักบวช พอเป็นนักบวชแล้ว จะไม่ไปไหนแล้ว จะเข้าป่าไปปลีกวิเวก จะไม่สังคมกับใคร ไม่ติดต่อกับใคร จะดึงใจให้เข้าข้างใน ด้วยการเจริญสติ เดินจงกรมนั่งสมาธิ ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะทำภารกิจใด ที่จำเป็นจะต้องทำ ก็จะเจริญสติควบคู่ไปด้วย ปัดกวาดก็พุทโธไปด้วย หรือเฝ้าดูการปัดกวาดเพียงอย่างเดียว ไม่ให้จิตไปอดีตไปอนาคต ไม่ให้คิดถึงใคร ให้จิตอยู่กับการปัดกวาดเพียงอย่างเดียว เวลาขบฉันก็อยู่กับการขบฉันเพียงอย่างเดียว เวลาซักจีวรก็อยู่กับการซักจีวร เวลาอาบน้ำก็อยู่กับการอาบน้ำ พอเสร็จกิจก็เข้าทางจงกรมหรือนั่งสมาธิทันที สลับกันไป จนถึงเวลาพักผ่อนหลับนอน ก็พักผ่อนหลับนอน พอตื่นขึ้นมาลุกขึ้นมาก็เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อ จนกว่าจะถึงเวลาไปทำภารกิจต่างๆ เช่นไปทำอาหาร ไปรับประทานอาหาร ถ้าเป็นพระก็ออกบิณฑบาต กลับมาฉันก็ฉันด้วยสติ ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องอื่น ให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา อยู่กับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าสร้างกำลังใจ รักษาสถานภาพของนักบวช ใครมาชวนให้ไปทำบุญที่ไหนก็ต้องปฏิเสธ ทำมาพอแล้ว ไม่มีเงินจะทำอีกแล้ว

 

นี่คือการปฏิบัติที่จะทำให้เกิดผล ต้องมีมาตรการ ต้องรู้จักสถานภาพของตน ว่าตอนนี้เป็นนักบุญหรือนักบวช ไม่อย่างนั้นกิเลสจะหลอกให้หลง แทนที่จะปฏิบัติ จะหลอกให้ไปทำบุญ จะไม่เจริญก้าวหน้า จะติดอยู่ที่การทำบุญ ไม่ยอมรักษาศีล ๘ ไม่ยอมปลีกวิเวก ไม่ยอมภาวนา ไม่ยอมออกบวช ถ้าไม่ออกบวช จะไม่สามารถสร้างกำลังใจ ให้มีกำลังเต็มร้อย ที่จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้ การทำบุญกำลังไม่พอ ที่จะปราบกิเลสให้หมดไปจากใจได้ แต่การทำบุญก็เอื้อต่อการปฏิบัติ ถ้าทำบุญจนเงินทองหมด ก็จะไม่มีเงินทองรับใช้กิเลส ก็ต้องเข้าวัด บังคับใจให้ปฏิบัติธรรมขั้นสูงต่อไป ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในชาตินี้ ก็ต้องรีบทำให้มากที่สุด เพราะไม่รู้ว่ามีเวลาเหลืออยู่มากน้อย ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะอยู่หรือไป อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ ให้คิดอย่างนี้ จะได้ไม่ประมาทนอนใจ

 

อย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนพระอานนท์ว่า ต้องระลึกถึงความตาย อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ให้รู้ว่าตายได้ทุกเวลานาที ถ้าหายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้าก็ตาย คิดอย่างนี้จะได้ไม่ประมาทนอนใจ จะได้รีบทำกิจที่ควรทำ คือสร้างกำลังใจให้มีมากกว่ากิเลสตัณหา ถ้ามีก็จะฆ่ากิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจได้ พอหมดแล้ว ก็หมดภารกิจ ไม่มีภารกิจอื่นที่ต้องทำอีกต่อไป จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะเสร็จกิจแล้ว ไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว ถ้าทำไม่เสร็จ ตายไปก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ มาแก่มาเจ็บมาตายใหม่ มาปฏิบัติใหม่ มาคราวหน้าอาจจะไม่มีพระพุทธศาสนา มาคอยนำทาง มาคอยสอน ก็จะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติอะไรกัน เพราะสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในชาตินี้ ถ้ามันไม่ฝังอยู่ในใจ ถ้ายังไม่เป็นความจริง เป็นเพียงความจำ พอกลับมาใหม่ก็จะลืมๆ เพราะความจำหายไปได้ แต่ความจริงไม่หาย

 

ดังที่มีคนถามพระอรหันต์ว่า พระอรหันต์ลืมได้หรือไม่ ท่านก็ตอบว่าลืมได้ ลืมชื่อคนนั้นลืมชื่อคนนี้ ลืมสิ่งนั้นลืมสิ่งนี้ เช่นกินยาไปแล้ว บางทีก็ลืมไปแล้วว่ากินหรือยัง ลืมวันเดือนปีได้ มีอะไรที่พระอรหันต์ไม่ลืม มี ท่านไม่ลืมความจริง คือพระอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ผู้มีพระอริยสัจ ๔ อยู่ในใจแล้ว จะมีพระพุทธศาสนาอยู่กับตนเสมอ จะรู้ว่าทุกข์ต้องกำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญให้มาก ไม่ว่าจะเกิดในภพใด จะพบพระพุทธศาสนาหรือไม่ จะมีพระพุทธศาสนาที่อยู่ในใจ คอยกระตุ้นให้เจริญมรรคตลอดเวลา มรรคคืออะไร ก็คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญานี่เอง ไม่มีวันลืม พระอริยะทุกองค์ อย่าว่าแต่พระอรหันต์ พระโสดาบันก็ไม่ลืม พระโสดาบันจะเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ เพราะท่านไม่หลงไม่ลืมทาง ไม่ลืมพระอริยสัจ ๔ มีแผนที่ติดตัว มีพระพุทธศาสนาอยู่คู่กับใจ ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ รู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ด้วยตนเอง รู้ว่าพระอริยสัจ ๔ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า รู้ว่าพระอริยสงฆ์สาวกคือผู้เห็นอริยสัจ ๔ ผู้มีอริยสัจ ๔ อยู่ในใจ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป ท่านไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ไม่มีวันลืมพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดชาติใด จะมีพระพุทธศาสนานำทางเสมอ ท่านสามารถปฏิบัติเองได้ ไม่ต้องอาศัยพระพุทธศาสนาภายนอกใจนำทาง

 

นี่คือเรื่องของความจริงกับความจำ ธรรมะที่ได้ศึกษาในเบื้องต้นจะเป็นความจำก่อน ถ้าไม่เอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่องจะเลือนรางไป ได้มาฟังเทศน์กันหลายครั้งแล้ว พอกลับไปไม่กี่วันก็หายไปหมด จำไม่ได้เลยว่าพูดอะไรบ้าง ก็ต้องกลับมาฟังใหม่ ฟังแล้วกลับไปก็เหมือนเดิม อาทิตย์ที่แล้วได้ฟังอะไรไปบ้าง จำได้หรือเปล่า นี่ก็กลับมาฟังใหม่อีก ก็ฟังเรื่องเก่าอีก เรื่องกิเลสตัณหา เรื่องสติปัญญา ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยังไม่เข้าไปในใจ ฟังแล้วก็ลืม ถ้าไม่เอามาคิดอยู่เรื่อยๆก็จะลืม ถ้าเอามาพิจารณาอย่างต่อเนื่องจะไม่ลืม เหมือนกับท่องสูตรคูณ หรือพิมพ์ดีดสัมผัส ถ้าพิมพ์อยู่เรื่อยๆก็จะจำได้ แต่ถ้าหยุดพิมพ์ไปสักพักหนึ่ง เวลาจะพิมพ์ใหม่ จะไม่มั่นใจว่าจะพิมพ์ได้หรือไม่ ถ้าไม่ทำอยู่เรื่อยๆ ก็จะลืมได้ จึงต้องนำเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังให้ฝังอยู่ในใจ ให้เป็นความจริง ด้วยการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง

 

ต้องเห็นทุกข์จริงๆ เช่นเวลาเครียดก็ต้องพิจารณาว่า เครียดกับเรื่องอะไร พิจารณาให้เห็นว่า ความอยากเป็นเหตุที่ทำให้เครียด แล้วก็พิจารณาให้เห็นว่า ไม่สามารถสั่งให้สิ่งที่เราอยากได้ เป็นไปตามความอยากเสมอไป เช่นอยากให้คนนี้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พิจารณาดูก็จะเห็นว่าเปลี่ยนเขาไม่ได้ ให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ทุกข์ไปทำไม ถ้าไม่อยากทุกข์ก็หยุดความอยาก ทุกข์ก็จะดับไป เช่นแฟนอยากจะจากเราไป ก็ให้เขาไป จะหายเครียดหายทุกข์ ถ้าอยากให้เขาอยู่ ก็จะเครียด แฟนป่วยเป็นโรคร้ายรักษาไม่หาย แต่อยากให้เขาหายอยากจะให้เขาอยู่กับเราต่อไป ก็จะเครียด พอพิจารณาด้วยปัญญาว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ไม่สามารถห้ามการป่วยการตายของเขาได้ พอยอมรับความจริง หยุดความอยาก ความเครียดก็จะหายไป ก็จะจำไปฝังใจเลย จะไม่ลืม เพราะเป็นความจริง

 

รู้แล้วว่าวิธีดับความเครียด ดับความทุกข์ ก็คือการหยุดความอยาก ร่างกายของคนอื่นไม่สำคัญเท่าร่างกายของเรา เวลาเผชิญความตาย แล้วหยุดความอยากไม่ตายได้ จะหายทุกข์เลย ยอมตายได้เมื่อไหร่จะหายทุกข์ทันที ใจจะเย็นจะสงบเป็นอุเบกขา จะมีความสุข ทั้งๆที่จะตายกลับมีความสุข เพราะพิจารณาด้วยปัญญา ว่าร่างกายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา เราไปห้ามร่างกายไม่ได้ ร่างกายจะแก่จะเจ็บจะตาย ถ้าอยากให้ร่างกายไม่ตาย จะเครียดมากจะทุกข์มาก แต่พอยอมรับความจริงว่า ถึงเวลาแล้วที่ร่างกายต้องตาย จะตายก็ให้ตายไป พอหยุดความอยากไม่ตายได้ ยอมตายได้ จิตก็จะดิ่งเข้าสู่ความสงบเป็นอุเบกขาทันที ปล่อยวางร่างกายทันที นี่คือการทำงานของทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค จะเห็นอย่างชัดเจนภายในใจ ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจะไม่มีวันลืม พอไม่กลัวตายแล้ว ตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ก็ไม่กลัวตายอยู่เหมือนเดิม รู้จักวิธีปล่อยร่างกายแล้ว รู้จักวิธีทำให้ใจไม่ทุกข์กับความตายของร่างกายแล้ว

 

นี่คือการเห็นอริยสัจ ๔ ที่จะไม่มีวันลืม จะอยู่ติดไปกับใจไปตลอดทุกภพทุกชาติ ถ้ายังไม่สิ้นสุดเวียนว่ายตายเกิด เช่นพระโสดาบัน ท่านจะกลับมาเกิดอีกกี่ชาติ ท่านก็จะไม่กลัวความแก่ความเจ็บความตาย ท่านปลงได้ พอเห็นคนตายปั๊บ จะพิจารณาร่างกายของท่านทันที ว่าร่างกายของเราก็ต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ไปหยุดร่างกายไม่ได้ พอรู้ว่าหยุดไม่ได้ ก็จะหยุดความอยากไม่ตาย พอไม่มีความอยากไม่ตาย ก็จะไม่ทุกข์ใจ ไม่เครียดกับความตาย นี่คือเรื่องของความจริงกับความจำ ตอนนี้ธรรมของพวกเรายังเป็นความจำอยู่ เพราะยังไม่เจอความทุกข์จริงๆ ความทุกข์ที่เกิดจากความอยากไม่ตาย ต้องเผชิญกับความตายจริงๆ ถึงจะรู้ว่าทำนิโรธให้แจ้งได้หรือไม่ ปล่อยวางร่างกายได้หรือไม่ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาหรือไม่ ถ้าเห็นได้ปล่อยได้ นิโรธก็จะเกิดขึ้นมา ใจก็จะเย็น มีความสุข แทนที่จะมีความทุกข์กับความตาย กลับมีความสุข

 

นี่คือการสร้างกำลังให้แก่ใจ ด้วยการสร้างศรัทธา ที่เกิดจากการเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จะจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า หรือจากพระไตรปิฎก หรือจากคำสอนของพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ก็เป็นคำสอนอันเดียวกัน สอนเรื่องอริยสัจ ๔ สอนให้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด สอนให้เอาชนะกิเลสตัณหา เหมือนกันหมด ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมที่เป็นสวากขาโต ภควตาธัมโม ก็จะเกิดศรัทธา ถ้าฟังธรรมที่ไม่ใช่สวากขาโต ภควตาธัมโม คือธรรมประยุกต์ ผู้พูดเอามาประยุกต์ตามความรู้สึกนึกคิดของผู้พูดเอง ฟังแล้วก็จะไม่มั่นใจ แต่ถ้าฟังจากผู้ที่รู้จริงเห็นจริง เช่นพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย จะเกิดศรัทธาความเชื่อ เพราะแสดงด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีอะไรที่จะแย้งได้เลย ถ้าพูดจากจินตนาการ ฟังแล้วจะสับสน จะแย้งขึ้นมาได้ว่าทำไมเป็นอย่างนี้ๆ ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ การฟังธรรมที่เกิดศรัทธา ต้องฟังจากผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว จะได้ความจริง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

 

ถาม  จี้กงเป็นการออกกำลัง ที่ให้รู้เนื้อรู้ตัว รู้จิตรู้ลมหายใจ จะถือเป็นการเดินจงกรมได้หรือไม่

 

ตอบ  เป็นการเจริญสติ การทำอะไรด้วยสติเป็นการเจริญสติ การเดินจงกรมก็เพื่อเจริญสติ หรือเจริญปัญญา

 

การเดินจงกรมทำได้ ๒ ลักษณะคือ ๑. ถ้าเดินเพื่อเจริญสติก็ให้จิตอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เช่นอยู่กับพุทโธ หรืออยู่กับการเดิน ๒. ถ้าเจริญปัญญาก็พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาร่างกาย เกิดแก่เจ็บตาย ทั้งร่างกายของเราและของคนอื่น พิจารณาว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นดินน้ำลมไฟ ส่วนสถานภาพเช่นเป็นหญิงเป็นชาย เป็นเหมือนแผ่นป้าย ที่ติดเอาไว้ที่ตัวร่างกาย เหมือนเวลาเป็นนักเรียน มีการปักชื่อติดไว้ที่เสื้อ เพื่อจะได้รู้ว่าชื่ออะไร แต่ความจริงร่างกายไม่มีชื่อ สมมุติสร้างชื่อให้กับร่างกาย พ่อแม่ลูกสามีภรรยา เป็นชื่อ แต่ร่างกายทุกคนเหมือนกันหมด มีอาการ ๓๒ เหมือนกันหมด มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เยื่อในสมองศีรษะ ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำไขข้อ น้ำมูตร นี่คืออาการ ๓๒ มีอยู่ทุกร่างกายเหมือนกันหมด แต่เรากลับมองไม่เห็นความจริงของร่างกาย กลับไปเห็นชื่อที่ติดกับร่างกาย ว่าร่างกายนี้คือพ่อ คือแม่ คือสามี คือภรรยา คือลูก คือกษัตริย์ คือประธานาธิบดี คือนายกฯ ที่เป็นเพียงสมมุติ เป็นป้ายที่ติดไว้กับร่างกาย ไม่ใช่ตัวร่างกาย

 

ตัวร่างกายเป็นเพียงอาการ ๓๒ เป็นเพียงดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตาย นี่คือการมองร่างกาย จะได้ไม่ตื่นเต้นตกใจ เวลาเป็นอะไรขึ้นมา ก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นดินน้ำลมไฟ เกิดแก่เจ็บตาย เป็นอาการ ๓๒ ไม่ได้เป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้อง ผู้ที่มาเชิดร่างกายนี้ต่างหาก ที่เป็นพ่อเป็นแม่เป็นพี่เป็นน้อง ผู้ที่เชิดก็คือใจ ใจเป็นผู้เชิดร่างกาย ร่างกายเป็นเหมือนหุ่น ใจเป็นผู้เชิด ผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ สั่งให้พูด สั่งให้ทำนั่นทำนี่ ตัวร่างกายเอง ถ้าไม่มีผู้เชิดก็จะอยู่เฉยๆ ทำอะไรเองไม่ได้ ร่างกายที่ตายไปแล้วไม่มีผู้เชิดแล้ว ไม่สามารถดูแลตนเองได้ ต้องให้คนอื่นจับใส่โลง เอาไปเผา ไปทำฌาปนกิจ เพราะไม่มีผู้เชิดแล้ว ต้องอาศัยผู้อื่นมาเชิดแทน ถ้าพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่าเจริญปัญญา จะทำให้ละสักกายทิฐิได้ ปล่อยวางร่างกายได้ ปล่อยวางความแก่ความเจ็บความตายได้ นี่คือการเดินจงกรม ทำได้ ๒ ลักษณะ ถ้าอยู่ในขั้นปัญญาก็พิจารณาไป ถ้าอยู่ในขั้นสติ ก็ควบคุมจิตให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ถ้าใช้พุทโธก็บริกรรมพุทโธไป ถ้าใช้กายคตาสติ ใช้ร่างกายเป็นที่ผูกใจ ก็ดูการเดินไป ดูที่เท้าไป ซ้ายขวา ซ้ายขวาไป ข้อสำคัญไม่ให้คิดเรื่องต่างๆนานา ให้อยู่กับร่างกายอย่างเดียว ใจจะว่างเย็นสบาย เวลานั่งสมาธิก็จะสงบอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย เวลาแกว่งแขนแกว่งเท้า ก็นับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ฯลฯไปเรื่อยๆ ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็เป็นการเจริญสติ

 

การบริหารร่างกาย การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าอยากจะให้ร่างกายเป็นปกติสุข ถ้าไม่ออกกำลังกายก็จะพิกลพิการได้ แต่ควรอยู่ในขอบเขตของเหตุผล จะได้ไม่เป็นตัณหา ถ้าดูแลเกินเหตุเกินผล อยากไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเลย อยากมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงตลอดเวลา มียาวิเศษขนาดไหนก็หามา มีอะไรดีก็เอามา อย่างนี้เป็นตัณหา ถ้าดูแลไปตามมีตามเกิดเพื่อให้อยู่ไปตามวาระ ไม่ให้เป็นอะไรไปก่อนเวลาอันควร ก็จะไม่เป็นตัณหา ข้อสำคัญต้องดูแลใจยิ่งกว่าดูแลร่างกาย ดูแลร่างกายเหมือนเป็นเครื่องมือ ถ้าไม่มีร่างกายจะไม่สามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นได้ ยกเว้นถ้าเป็นพระอนาคามีแล้ว เพราะพระอนาคามีปล่อยวางร่างกายได้หมดแล้ว ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ ปัญหาของท่านไม่ได้อยู่ที่ร่างกายแล้ว แต่อยู่ที่ใจ ท่านสามารถปฏิบัติธรรมต่อไปได้ หลังจากที่ร่างกายตายไปแล้ว ถ้าเป็นปุถุชน เป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกิทาคามี ก็ยังต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติธรรม ยังต้องพิจารณาร่างกาย ต้องพิจารณาอสุภะ เพื่อละกามราคะ ที่ติดอยู่ที่ร่างกาย เห็นผิดเป็นชอบ เห็นร่างกายที่ไม่สวยงามว่าสวยงาม จึงเกิดกามารมณ์ ถ้าเห็นว่าไม่สวยงาม กามารมณ์ก็จะดับไป จะเห็นว่าไม่สวยงาม ก็ต้องพิจารณาอสุภะอยู่เรื่อยๆ

 

ต้องมองส่วนที่ไม่สวยงามของร่างกาย มองเข้าไปข้างใน มองใต้ผิวหนัง มองตอนที่ร่างกายตายไปแล้ว เช่นไปล้างป่าช้า ก็จะเห็นร่างกายที่ตายไปแล้วว่าเป็นอย่างไร เอามาเปรียบเทียบกับร่างกายที่สวยงาม ว่าเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า มันก็เป็นอันเดียวกัน แต่เรามองไม่เห็นส่วนที่ไม่สวยงาม ก็เลยเกิดกามารมณ์ พอเห็นส่วนที่ไม่สวยงาม กามารมณ์ก็จะดับไป ก็ติดเหมือนคนติดยาเสพติด เวลาเกิดกามารมณ์แล้วไม่ได้เสพ ก็เกิดปฏิฆะความหงุดหงิดใจ แต่พอได้เสพแล้วความหงุดหงิดใจก็หายไป แต่ความอยากเสพกามจะไม่หายไป เวลาเกิดความอยากเสพกาม ถ้าไม่ได้เสพแล้วจะหงุดหงิดใจ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม อยากสูบบุหรี่แล้วไม่ได้สูบก็หงุดหงิดใจ อยากดื่มสุราแล้วไม่ได้ดื่มก็หงุดหงิดใจ อยากดื่มกาแฟแล้วไม่ได้ดื่มก็หงุดหงิดใจ อยากไปช้อปปิ้งแล้วไม่ได้ไปก็หงุดหงิดใจ ถ้าพิจารณาว่าเป็นอสุภะ ก็จะไม่อยากเสพกาม เสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ก็ไม่ต้องมีร่างกาย ถ้ายังต้องใช้ร่างกายก็ดูแลไป แต่ดูแลแบบธรรมดา รับประทานวันละมื้อ ออกกำลังกายด้วยการเดินจงกรม เอาเวลามาทุ่มเทกับการสร้างกำลังใจ สร้างศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา

 

อย่างพระโสดาบันนี้ ท่านได้ศรัทธาเต็มที่แล้ว ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์แล้ว แสดงว่าเห็นพระอริยสัจ ๔ แล้ว ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต เห็นอะไร ก็เห็นพระอริยสัจ ๔ ที่อยู่ในใจด้วยการปฏิบัติ ไม่ได้เห็นด้วยความคิดจินตนาการ อย่างที่พวกเราเห็นกันตอนนี้ เห็นอย่างนี้ไม่ใช่เห็นธรรม เห็นธรรมก็ต้องเห็นทุกข์ที่ปวดร้าวอยู่ภายในใจ เห็นเหตุของความทุกข์ว่าเกิดจากความอยาก พอพิจารณาสิ่งที่อยากได้ว่าเป็นไตรลักษณ์ ก็จะหยุดความอยาก ความทุกข์ก็จะหายไป เห็นอย่างนี้จะจำไปจนวันตาย จะไม่มีวันลืม จะรู้ว่านี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า รู้ว่าจิตสงบคือจิตของพระพุทธเจ้า พอเห็นธรรมคือความสงบก็เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ที่จะเห็นธรรม เห็นพระพุทธเจ้า ก็คือผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็คือพระอริยสงฆ์สาวก ก็จะไม่สงสัยว่าพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์มีจริงหรือไม่ การปฏิบัติเบื้องต้นก็อยู่ที่การฟังธรรม เพื่อให้เกิดศรัทธา พอเกิดศรัทธาแล้ว ก็จะมีวิริยะความพากเพียร ที่จะเจริญสติ นั่งสมาธิ เจริญปัญญา พิจารณาไตรลักษณ์ พิจารณาอสุภะ เป็นขั้นเป็นตอนไป อยู่ที่ตัวเรานะ อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ไม่มีใครปฏิบัติให้เราได้

 

ถาม  คุณแม่ของเพื่อนตอนนี้ป่วยอยู่ หมอแนะนำให้บริหารร่างกาย เพื่อนก็พยายามจะให้แม่ทำ แต่แม่ไม่ยอมทำ เพื่อนจะบังคับแม่ตลอด ก็เลยกลุ้มใจ ฝากกราบเรียนถามว่า ควรจะทำตัวอย่างไร

 

ตอบ  ควรทำตามใจแม่ อย่าทำตามใจเรา

 

ถาม  แต่เพื่อนอยากให้คุณแม่หาย

 

ตอบ  อย่าไปอยาก ทำตามเหตุตามผล บอกให้แม่ทำแล้ว ถ้าไม่ทำก็จบเป็นเรื่องของแม่ ไม่ใช่เรื่องของเรา

 

ถาม  จะเป็นกรรมกับแม่ไหมคะ

 

ตอบ  ถ้าบังคับแม่ มีเรื่องกับแม่ ก็เป็นเวรเป็นกรรมกัน ควรจะรับใช้แม่ตามใจแม่ บอกแม่แล้ว ถ้าไม่ทำก็เรื่องของแม่ ถ้าเคี่ยวเข็ญแม่จะเป็นเวรเป็นกรรม ถึงแม้จะอยากให้ท่านหาย แต่ความอยากเป็นกิเลส เรามีหน้าที่เลี้ยงดูท่านรับใช้ท่าน ต้องเอาใจท่าน เอาตัวท่านเป็นใหญ่ ไม่ใช่เอาความอยากของเราเป็นใหญ่ ต้องเอาความสบายใจของท่านเป็นใหญ่

 

ถาม  แต่คุณแม่จะเคียดแค้นเขา

 

ตอบ เพราะต่างคนต่างจะเอาชนะกัน ก็เลยโกรธกันเกลียดกัน ถ้าต่างคนต่างถอย ต่างคนต่างอยู่ ไม่เคี่ยวเข็ญบังคับกัน ก็จะไม่มีปัญหาต่อกัน แทนที่จะทำตัวเป็นลูกกลับทำตัวเป็นแม่ จะสอนแม่บังคับแม่ ให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราเป็นคนรับใช้ แม่เป็นเจ้านาย แม่ต้องการอะไร ถ้าไม่ผิดศีลผิดธรรม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ก็เอามาให้ท่าน ถ้าผิดศีลผิดธรรม เช่นเอาเบียร์มาสักขวด ก็ไม่ต้องเอามาให้ ทำให้ท่านมีความสุขถึงจะเป็นบุญ ทำให้ท่านมีความทุกข์ ถึงแม้จะถูกใจเราก็เป็นบาป