กัณฑ์ที่ ๔๗ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
เบญจธรรม
เวลารับประทานอาหารต้องมีภาชนะต่างๆ
เช่นจาน ชาม ช้อน ส้อม ถ้วย
เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับประทานอาหารให้เป็นไปอย่างง่ายดายและเรียบร้อย
ศีลธรรมคืออาหารของจิตใจ
การจะรักษาศีล ๕
ได้อย่างสะดวกง่ายดายจำเป็นต้องมี
เบญจธรรมเป็นเครื่องมือช่วย
ประกอบไปด้วย
๑.
เมตตา ๒.
สัมมาอาชีพ
๓. สำรวมในกาม
๔.สัจจะ
๕. สติ
ศีลข้อที่
๑
การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
ต้องใช้เมตตาธรรมเป็นเครื่องมือ
ความเมตตาคือการไม่เบียดเบียนกัน
ดังในบทแผ่เมตตาที่ว่า สัพเพ
สัตตา อะเวรา โหนตุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีเวรกันเถิด
สัพเพ สัตตา
อัพยาปัชฌา โหนตุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิด
สัพเพ สัตตา อนีฆา
โหนตุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจเถิด
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
จงเป็นผู้มีความสุขรักษาตนเถิด
นี่คือสิ่งที่ควรเจริญในจิตใจอยู่เสมอๆ
คืออย่ามีเวรมีกรรมกัน
อย่าเบียดเบียนกัน
มีแต่ความปรารถนาดีให้แก่กันและกัน
ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
ให้มองว่าจิตใจของคนเรานั้นเหมือนกัน
มีความปรารถนาความสุข
ไม่ปรารถนาความทุกข์ด้วยกันทุกคน
จึงไม่ควรเบียดเบียนกัน
อาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรมกัน
ควรให้อภัยกัน
อยู่ร่วมกันอาจจะล่วงเกินกันบ้างด้วยการกระทำทางกายก็ดี
ทางวาจาก็ดี ให้ถือเสียว่าเหมือนลิ้นกับฟัน
อยู่ด้วยกันในสังคมเป็นธรรมดาที่ต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง
แต่จะไม่มีปัญหาถ้ามีการให้อภัยกัน
เรื่องมันเกิดขึ้นแล้ว
ผ่านไปแล้ว
ไม่จำเป็นจะต้องไปต่อความยาวสาวความยืดด้วยความเคียดแค้นอาฆาตพยาบาท
ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้ง ๒
ฝ่าย
ผู้จองเวรก็ทุกข์เพราะความร้อนที่เกิดจากความเกลียดชังอาฆาตพยาบาท
เผาไหม้จิตใจ
ผู้ถูกจองเวรก็ทุกข์จากการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ
พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เจริญเมตตาธรรมด้วยการไม่จองเวรกัน
ด้วยการให้อภัยกัน
ให้ชนะตนอย่าไปชนะผู้อื่น
ชนะผู้อื่นกี่ร้อยกี่พันกี่แสนครั้งก็ไม่สู้ชนะตนเพียงครั้งเดียว
เพราะเมื่อชนะตนแล้ว
ปัญหาทั้งหลายก็หมดไป
ยุติไป
เมื่อไม่เอาเรื่องเอาราวแล้วใจก็สบาย
ผู้อื่นก็สบายไปด้วย
แต่ถ้ามีการจองเวรจองกรรมกัน
ด่าว่ากัน ทุบตีกัน
ก็ต้องตอบโต้กันไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าเราชนะ
ก็สร้างความเคียดแค้น
ความอาฆาตพยาบาทให้กับเขา
เราเองก็มีความหวาดระแวงว่าเขาจะต้องมาชำระแค้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง
จึงควรระงับความโกรธในตัวเองเสียด้วยการให้อภัย
ไม่ถือโทษโกรธเคือง
เรื่องจะได้จบ ใจจะได้เย็น
ได้สงบ ได้สบาย การรักษาศีลข้อ
๑ คือการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จึงต้องอาศัยการเจริญเมตตาธรรมอยู่เสมอๆ
ผู้มีความเมตตาย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ศีลข้อที่
๒ การละเว้นจากการลักทรัพย์
ต้องอาศัยการมีสัมมาอาชีพ
เป็นเครื่องมือรักษา
ด้วยการทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
ไม่คดไม่โกง ไม่ลักไม่ขโมย
ไม่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย
หารายได้ด้วยลำแข้งลำขา
ด้วยสติปัญญาของตน มีความมักน้อยสันโดษ
ยินดีกับสิ่งที่ได้มา
พอใจกับสิ่งที่มีอยู่
อย่าโลภมาก อย่าอยากมีมาก
ให้ใช้เท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น
สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพ คือ
อาหาร ที่อยู่อาศัย
ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม
ก็ไม่จำเป็นต้องมีมากมายเกินความจำเป็น
ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงๆ
ของฟุ่มเฟือย
แต่สำหรับผู้ที่มีเงินมาก
มีเงินเหลือเฟือ
จะกินจะใช้ของแพงๆ
จะมีเสื้อผ้าอาภรณ์มากๆ
ก็ไม่มีปัญหาอะไร
สำหรับผู้ไม่มีฐานะอย่างนั้น
รายได้ไม่มาก
ก็ควรใช้จ่ายเงินทองตามฐานะของตน
ให้อยู่ในกรอบของรายได้
อย่าใช้มากกว่าที่หามาได้
ปัญหาการขาดเงินขาดทองก็จะไม่เกิดขึ้น
ทำให้ไม่ต้องไปหามาเพิ่มในทางทุจริต
ด้วยการลักขโมยก็ดี
การฉ้อโกงก็ดี
การฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ดี
ความสุขของคนเราอยู่ที่จิตใจ
ถึงแม้จะยากจนก็มีความสุขได้
ถ้ามีความเจียมเนื้อเจียมตัว
มีความมักน้อยสันโดษ
มีความซื่อสัตย์สุจริต
ไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่คด ไม่โกง
เพราะมีความภูมิใจในความดีของตน
ศีลข้อที่ ๒
การละเว้นจากการลักทรัพย์
จึงต้องอาศัยการมีสัมมาอาชีพเป็นเครื่องมือรักษา
ศีลข้อที่
๓ การละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี
ต้องอาศัยการสำรวมในกามเป็นเครื่องมือรักษา
มีการควบคุมอารมณ์ความอยากในกามให้อยู่ในขอบเขตของความพอดี
ไม่มักมาก ไม่อยากมาก
เวลามีอารมณ์ก็พยายามควบคุมด้วยสติ
ด้วยธรรมะ อย่าคิดหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเสพกามให้มากจนเกินไป
ควรเจริญอสุภกรรมฐาน
พิจารณาความไม่สวยไม่งาม
ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย
เพื่อบั่นทอนความอยากในกามให้เบาบางลงไป
ถ้าจำเป็นต้องเสพก็ให้อยู่ในกรอบของประเพณีที่ดีงาม
คือกับสามีของเรา
ภรรยาของเรา
อย่าไปร่วมประเวณีกับสามีภรรยาของผู้อื่น
เพราะจะเกิดปัญหาตามมา
ควรมีรักเดียวใจเดียว
มีสามีคนเดียว
มีภรรยาคนเดียว
มีความมักน้อยสันโดษ
ไม่จำเป็นต้องมีมาก
ไม่ต้องมีสามีหลายคน
ภรรยาหลายคน มีคนเดียวก็พอ
มีคนเดียวก็มีความสุขแล้ว
มีความสุขมากกว่าคนที่มีภรรยามีสามีหลายคนเสียอีก
เพราะไม่มีปัญหาบ้านน้อยบ้านใหญ่
ศีลข้อ ๓
การละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี
จึงต้องอาศัยการสำรวมในกามเป็นเครื่องมือรักษา
ศีลข้อที่
๔ การละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ
ต้องใช้สัจจะเป็นเครื่องมือรักษา
มีความซื่อตรงต่อความสัตย์ความจริง
จะพูดอะไรก็ให้พูดตามความเป็นจริง
ถ้าไม่สามารถพูดความจริงได้ก็ให้นิ่งเสีย
อย่าไปพูดอะไร อย่าไปคิดว่าการมีสัจจะเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ
เพราะสัจจะเป็นเครื่องรับประกันคุณงามความดีของคน คุณค่าของคนอยู่ที่สัจจะ
คงเคยได้ยินนิทานอีสปเรื่องเด็กเลี้ยงแกะมาแล้ว
คงไม่ต้องขยายความว่าการมีสัจจะมีความสำคัญแค่ไหน คุณค่าของคนนั้นอยู่ที่คำพูด
ถ้าคำพูดไม่น่าเชื่อถือแล้ว
ต่อไปจะไม่มีใครเชื่อถือ
เวลาจะพูดอะไรใคร่ครวญให้ดีเสียก่อนเวลาที่ยังไม่ได้พูด
เราเป็นนายของคำพูดเรา
แต่หลังจากที่พูดไปแล้ว
คำพูดจะเป็นนายของเรา
เพราะเมื่อพูดอะไรไปแล้ว
คำพูดนั้นๆจะผูกมัดเรา
จะบังคับให้เราต้องทำตามที่เราพูดไว้
เป็นเหมือนนายเรา
ต้องมีสัจจะถ้าอยากจะเป็นคนที่มีคุณค่า
เป็นคนที่มีความน่าเชื่อถืออย่างพระพุทธเจ้า
ถึงแม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปถึง
๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว
แต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ทุกบททุกบาทที่บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นความจริงทั้งนั้น
พระพุทธองค์จึงเป็นผู้น่าเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธามาตลอด
เพราะคำพูดของพระองค์นั้นสามารถพิสูจน์ได้ ดังในบทพระธรรมคุณที่ว่า
สันทิฏฐิโก
ผู้ปฏิบัติจะรู้เห็นได้ประจักษ์แจ้งกับตน
ศีลข้อที่ ๔ การละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ
จึงต้องอาศัยสัจจะเป็นเครื่องมือรักษา
ศีลข้อที่
๕
การละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
จะต้องรักษาด้วยสติ
คือต้องมีสติระลึกอยู่เสมอว่ากำลังคิดอะไรอยู่
กำลังทำอะไรอยู่
กำลังพูดอะไรอยู่
ถ้าเป็นคุณเป็นประโยชน์
ก็คิดไปได้ ทำไปได้ พูดไปได้
ถ้าเป็นโทษก็ให้ระงับความคิด
การกระทำ การพูดนั้นเสีย
เช่นการเสพสุรายาเมาเป็นโทษเพราะทำให้เกิดความประมาทขาดสติ
ก็ควรละเว้นเสีย
เพราะเมื่อดื่มสุราเข้าไปแล้วจะทำให้ไม่มีสติประคับประคองกาย
วาจา ใจ
เวลาไม่ดื่มสุรากับเวลาดื่มสุราคนๆเดียวกันจะต่างกันราวฟ้ากับดิน
เวลาไม่เสพสุราจะเป็นคนเรียบร้อยสุภาพ
แต่พอดื่มสุราเข้าไปแล้ว
กิริยาอาการไม่น่าดู
พูดจาเลอะเทอะ ไม่มีใครอยากเข้าใกล้
ศีลข้อ ๕
จึงต้องอาศัยสติเป็นเครื่องมือรักษา
ผู้ปรารถนาจะมีศีล
๕
เป็นสมบัติประจำใจจึงควรเจริญ
เบญจธรรม ทั้ง ๕
ประการ คือ
๑.
เมตตา ๒.
สัมมาอาชีพ
๓. สำรวมในกาม
๔. สัจจะ
๕. สติ
เป็นเครื่องมือ
แล้วอานิสงส์ของการรักษาศีล
คือ การไปสู่สุคติ
การเป็นผู้พร้อมด้วยโภคทรัพย์
และการเป็นผู้ไม่มีความทุกข์
ย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้