กัณฑ์ที่ ๔๙     ๔ มีนาคม  ๒๕๔๔

พระอริยสัจ ๔

 

หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว   พระพุทธองค์ได้ทรงอุทิศเวลาทั้งหมดที่เหลืออยู่ ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา   เพื่อการเผยแผ่พระธรรมคำสอน  พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ มีทั้งมนุษย์และเทวดา พระธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนมีจำนวนมากมาย เท่าที่สามารถรวบรวมและบรรจุไว้ในพระไตรปิฏกก็มีอยู่ถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ด้วยกัน ถึงแม้พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะมีมากมายขนาดไหนก็ตาม  พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าธรรมของพระพุทธองค์นั้น  มีรสชาติ   มีเนื้อหาสาระเหมือนๆกัน  เปรียบเหมือนกับน้ำในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลที่มีอยู่มากมายทั่วโลก  แต่ก็มีรสชาติเหมือนๆกัน  คือรสเค็ม  ฉันใดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงประกาศสั่งสอนให้แก่สัตว์โลกก็มีเนื้อหาสาระเหมือนๆกัน คือ เรื่องทุกข์และการดับทุกข์  ทุกๆบททุกๆบาทจะเกี่ยวกับเรื่องทุกข์และการดับทุกข์

เวลาพูดถึงทุกข์และการดับทุกข์ ต้องไม่มองข้ามพระอริยสัจ ๔  เพราะพระอริยสัจ ๔ คือที่รวมเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ เป็นธรรมของพระพุทธเจ้าโดยตรง เป็นธรรมที่ไม่มีใครสามารถรู้เห็นได้  นอกจากผู้ที่ได้สะสมบุญบารมีมามากมายอย่างพระพุทธเจ้าเท่านั้น  ที่จะสามารถค้นพบพระธรรม  คือ พระอริยสัจ ๔ ได้  ถ้าผู้ใดสามารถบรรลุถึงพระอริยสัจ ๔ ได้โดยที่ไม่ได้เรียนรู้จากใครมาก่อน บุคคลนั้นก็จะเรียกตนเองว่า อรหันตสัมมาสัมพุทธะ  ผู้ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ จะมีผู้มารู้พระอริยสัจ ๔ อยู่เรื่อยๆ  หลังจากที่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าองค์  ปัจจุบันนี้หมดสิ้นไปแล้ว  ต่อไปก็จะมีบุคคลที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์ ที่ได้สะสมบุญบารมีมาศึกษาค้นคว้าหาจนบรรลุถึงพระอริยสัจ ๔ ด้วยตนเองโดยไม่มีใครสั่งสอน เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ถ้าหลังจากได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว  แต่ไม่ได้สั่งสอนใคร  ก็จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า รู้เฉพาะตน  ถ้าประกาศพระธรรมคำสอนให้แก่สัตว์โลก  ก็จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ดังพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้  ที่พวกเราให้ความเคารพนับถือเลื่อมใส

หลังจากได้ตรัสรู้ในพระอริยสัจ ๔ แล้ว พระพุทธองค์ก็ได้สละเวลาที่เหลือในชีวิตของพระพุทธองค์   ประกาศพระศาสนาให้แก่สัตว์โลกด้วยพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ เพื่อให้ผู้อื่นได้รู้ได้เข้าถึงพระอริยสัจ ๔  เพราะว่าผู้ใดก็ตามที่สามารถบรรลุถึงพระอริยสัจ ๔ ได้แล้ว  จะเป็นผู้ที่อยู่เหนือความทุกข์ทั้งหลาย  อยู่เหนือการเวียนว่ายตายเกิด  อยู่เหนือภัยทั้งหลายที่จะมาทำร้ายจิตใจ จะมีแต่บรมสุข ปรมังสุขัง  เท่านั้น  หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว  ด้วยพระคุณทั้ง ๓ พระพุทธองค์จึงได้ประกาศพระศาสนาสั่งสอนแก่สัตว์โลกทั้งหลายที่ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของอวิชชา ความมืดบอด  โมหะ ความหลง  ยังไม่รู้จักวิธีปลดเปลื้องตนเองให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายด้วยตนเอง  ถ้าไม่มีผู้แนะนำสั่งสอนวิธีการดับทุกข์แล้ว ก็จะไม่มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์ไปได้  เพราะขาดบุญบารมีที่จะบรรลุถึงพระอริยสัจ ๔ ได้ด้วยตนเอง 

ผู้ใดก็ตามที่ได้เข้าถึงพระอริยสัจ ๔ แล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง  เข้าถึงพระนิพพาน  สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด   พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าตราบใดยังมีการเกิดอยู่  ตราบนั้นก็ยังต้องมี การแก่   การเจ็บ  การตาย เป็นธรรมดา  ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์จะต้องยับยั้งการเกิดให้ได้ นี่เป็นสัจธรรม เป็นความจริง  ถ้าไม่อยากจะทุกข์ก็ต้องหยุดการเกิดให้ได้  เพราะทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิด  ถ้าเกิดมาแล้ว   ก็ต้องแก่  ต้องเจ็บ  ต้องตาย  ต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง เป็นธรรมดา  นี่คือทุกขสัจ เป็นพระอริยสัจข้อที่ ๑

พระอริยสัจข้อที่ ๒  คือ สมุทัย  ต้นเหตุของความทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ความอยากทั้ง ๓ ได้แก่ กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา   ความอยากในกาม ความอยากมีอยากเป็น  ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น คือความเกลียดชัง ความกลัวต่างๆ ไม่อยากจะพบ ไม่อยากจะเจอ  ตัณหาทั้ง ๓ นี้  เป็นเหตุที่สร้างความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาในจิตใจ ถ้าไม่มีตัณหาก็จะไม่มีความทุกข์ 

พระอริยสัจข้อที่ ๓   คือ นิโรธ ความดับทุกข์  ทุกข์นี้เราสามารถดับได้   ความดับทุกข์เป็นสัจจะ เป็นความจริง  ไม่จำเป็นต้องทนกับความทุกข์ไปตลอดอนันตกาล   เพราะเราสามารถดับทุกข์ได้ 

พระอริยสัจข้อที่ ๔  คือ มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  มรรคมีองค์ ๘ คือ . สัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ  . สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ  . สัมมาวาจา การเจรจาชอบ  .สัมมากัมมันตะ  การกระทำชอบ . สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ . สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ . สัมมาสติิ   การระลึกชอบ  . สัมมาสมาธิ    การตั้งจิตมั่นโดยชอบ นี่คือมรรค ๘  ย่อลงมาได้แก่   ศีล  สมาธิ  ปัญญา   หรือ  ทาน  ศีล   ภาวนา   ดังที่ญาติโยมได้มาปฏิบัติธรรมกันในวันนี้  เป็นการเจริญมรรคด้วยการให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม  เวลากลับไปบ้าน  ก็ต่อด้วยการไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา

ในพระอริยสัจ ๔  พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงกิจที่ผู้จะบรรลุถึงพระอริยสัจ ๔ ต้องปฏิบัติ คือ . ทุกข์ จะต้องกำหนดรู้    . สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์  จะต้องละ    . นิโรธ ความดับทุกข์  จะต้องทำให้แจ้ง     .  มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์  จะต้องเจริญให้มาก  นี่คือกิจทั้ง ๔ ในพระอริยสัจสี ๔ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญมาจนได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าทุกข์ที่ให้กำหนดรู้ เราได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยที่จะต้องละเราได้ละแล้ว  นิโรธความดับทุกข์ที่จะต้องทำให้แจ้ง เราได้ทำให้แจ้งแล้ว  มรรคที่จะต้องเจริญให้บริบูรณ์   เราได้เจริญเต็มที่แล้ว  ผู้มีความปรารถนาความพ้นทุกข์จะต้องดำเนินจะต้องปฏิบัติกิจทั้ง ๔ นี้ให้ครบบริบูรณ์  ถึงจะบรรลุธรรมได้

ท่านที่มีความปรารถนาความพ้นทุกข์จึงขอให้น้อมเอาพระอริยสัจ ๔ เข้ามาปฏิบัติด้วย กาย วาจา ใจ โดยการกำหนดดูด้วยปัญญาให้รู้ว่า การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบทั้งหลาย  การพลัดพรากจากของรักทั้งปวง อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์    สมุทัยต้นเหตุของทุกข์ก็คือตัณหา  เช่น วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น  อยากไม่แก่  อยากไม่เจ็บ  อยากไม่ตาย อยากจะไม่ประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ อยากจะไม่พลัดพรากจากของรัก เหล่านี้เรียกว่าวิภวตัณหา  คือ  ความเกลียดความกลัวนั่นเอง  คนเราทุกคนเวลาพูดถึงความแก่  ความเจ็บ ความตาย จะมีความรู้สึกว่าไม่ชอบ เกลียด กลัว ความไม่ชอบ  ความเกลียด ความกลัวนี่แหละ คือ วิภวตัณหา ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา ถ้าไม่อยากจะทุกข์   ก็ต้องละวิภวตัณหาให้ได้  คือ ต้องละความไม่ชอบ ความเกลียด ความกลัว  ด้วยการทำความเข้าใจว่า  เมื่อเกิดมาแล้ว  ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

เมื่อยอมรับความจริงข้อนี้แล้ว ก็จะหายกลัว ก็จะละสมุทัย คือวิภวตัณหาได้  เมื่อละสมุทัย   คือ วิภวตัณหาได้แล้ว     นิโรธ  ความดับทุกข์   ก็จะ ปรากฎขึ้นมา คือได้ทำนิโรธให้แจ้งแล้ว ด้วยการใช้เหตุผล คือสติปัญญา ความเห็นชอบ ความดำริชอบ ความระลึกชอบ ชึ่งเป็นการเจริญมรรคนั่นเอง การเจริญมรรคคือการใช้สติปัญญาใคร่ครวญอย่างต่อเนื่องให้เห็นว่า  เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่  ต้องเจ็บ  ต้องตาย ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบทั้งหลาย ต้องพลัดพรากจากของรักทั้งปวง เมื่อได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆโดยโยนิโสมนสิการ  นิโรธ ความดับทุกข์ ก็จะปรากฎขึ้นมาตามลำดับๆ  จนเป็นนิโรธ ความดับทุกข์ที่สมบูรณ์ในที่สุด เป็นการปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ ๔ ได้อย่างสมบูรณ์ คือได้กำหนดรู้ทุกข์แล้ว ได้ละสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหาทั้งหลายแล้ว  ได้ทำนิโรธ ความดับทุกข์ให้แจ้งแล้ว  ได้เจริญมรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้สมบูรณ์แล้ว เมื่อได้ปฏิบัติกิจทั้ง ๔ นี้อย่างสมบูรณ์แล้ว  ก็จะบรรลุถึงพระนิพพาน สิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้