กัณฑ์ที่ ๕๐      ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๔

พระศาสนา

   

ในบรรดาทรัพย์สมบัติต่างๆที่มีค่า เช่น แก้วแหวน เงินทอง เพชรนิลจินดาที่มีอยู่ในโลกนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะเป็นเหมือนกับก้อนอิฐ  ก้อนทราย  เพราะคุณประโยชน์ของพระพุทธศาสนานั้นมีค่ายิ่งกว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้ทั้งหมด เพราะพระพุทธศาสนาเป็นแสงสว่างของชีวิต  เป็นเครื่องนำทางให้แก่ผู้เดินทางให้เดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีที่งาม ที่สุขที่เจริญ แสงสว่างแห่งธรรมเปรียบเหมือนกับแสงสว่างของดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความจำเป็นแก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ถ้าขาดแสงสว่างของดวงอาทิตย์ การดำรงชีพก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ที่อยู่กันได้ก็เพราะมีดวงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่โลกฉันใด พระพุทธศาสนาก็ให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่จิตใจฉันนั้น  นอกจากจะเป็นแสงสว่างแล้ว ศาสนายังเป็นปัจจัย ๔ ของจิตใจ คือ  เป็นอาหาร เป็นที่อยู่อาศัย เป็นเครื่องนุ่งห่ม และเป็นยารักษาโรคของจิตใจ   ถ้ามีศาสนาอยู่ในใจแล้วจิตใจจะมีอาหารหล่อเลี้ยง ทำให้มีความอิ่มเอิบ  มีปิติ มีความพอ ไม่มีความหิว  ไม่มีความกระหาย  ไม่มีความอยาก 

ศาสนาเป็นเหมือนเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามไว้สวมใส่ ผู้ที่ไม่มีศาสนาเป็นเหมือนคนที่ไม่มีเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามไว้สวมใส่ ความสวยงามของคนที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ความประพฤติที่มีศีลธรรม ถ้ามีศีลธรรมแล้วย่อมสวยงาม น่าดู น่าชม น่าคบค้าสมาคมด้วย น่าชื่นชมยินดี น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส เช่นพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรง   พร้อมบริบูรณ์ด้วยศีลธรรม   สวยงามด้วยศีลด้วยธรรม  ถึงแม้พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วเป็นเวลากว่า ๒๕๐๐ ปีก็ตาม   แต่ความสวยงามของพระพุทธองค์ยังก้องกังวาลอยู่ในจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ศาสนาเป็นเหมือนที่อยู่อาศัย เป็นที่พึ่งหลบภัยของจิตใจ  ผู้มีศาสนาย่อมดำรงชีวิตด้วยความสงบสุข  เพราะศาสนาสอนให้มีความเมตตา  ไม่ไปก่อกรรมก่อเวรกับใคร  เพราะรู้ว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร   รู้จักการให้อภัย   ถ้ามีการให้อภัย   มีการไม่จองเวรกันแล้ว จะอยู่ได้อย่างสงบร่มเย็นเป็นสุข  ไม่ว่าจะถูกด่าว่ากล่าว ถูกทำร้ายร่างกาย  ถูกฉกชิงทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของไป ก็จะไม่โกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท ไม่โต้ตอบ แต่จะแผ่เมตตา  มองทุกๆคนเหมือนเป็นพี่เป็นน้องกัน เป็นเพื่อนกัน เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย  เป็นเพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ทุกข์ของแต่ละคนก็มีมากมายอยู่แล้ว   ไม่ควรเพิ่มทุกข์ให้แก่กันละกัน

อานิสงส์ของการแผ่เมตตามี ๑๑ ประการ ได้แก่ ๑. หลับก็เป็นสุข   . ตื่นก็เป็นสุข  . ไม่ฝันร้าย  . เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย  . เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ๖. เทวดาย่อมรักษา  . ไม่ต้องภัยจากไฟ ยาพิษ หรือศัสตราวุธ  . จิตเป็นสมาธิง่าย  . สีหน้าผ่องใส   ๑๐. เมื่อจะตายใจก็สงบ ไม่หลงใหลไร้สติ    ๑๑. ถ้ายังไม่บรรลุคุณพิเศษที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก ศาสนาจึงเป็นที่พึ่งอาศัย   เป็นที่หลบภัยของจิตใจ   ร่างกายต้องอาศัยบ้านช่องเป็นที่หลบภัยจากภัยต่างๆฉันใด ศาสนาก็เป็นที่หลบภัยของจิตใจฉันนั้น 

ศาสนาเป็นเหมือนยารักษาโรคของจิตใจ   โรคมีอยู่ ๒ ชนิด  โรคกายกับโรคจิต  โรคกายต้องอาศัยยาชนิดต่างๆที่หมอค้นคว้าขึ้นมารักษา  เป็นยาเม็ดบ้าง เป็นยาฉีดบ้าง เป็นยาน้ำบ้าง  เมื่อรับประทานยาเข้าไป  โรคภัยต่างๆก็หายไป  โรคจิตก็เหมือนกัน  ต้องอาศัยธรรมโอสถ  อาศัยยาทางศาสนา        ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าตนไม่เป็นโรคจิต เพราะโรคจิตก็คือความทุกข์ใจนั่นเอง  ความไม่สบายใจ   ความกังวลใจ  ความห่วงใย   ความอาลัยอาวรณ์   ความเศร้าโศกเสียใจ  เป็นโรคจิตทั้งนั้น  โรคจิตเกิดจากเชื้อโรคของจิต  คือกิเลส เครื่องเศร้าหมอง ตัณหา ความอยาก อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น อวิชชา ความมืดบอด โมหะ ความลุ่มหลง สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุที่สร้างความทุกข์ให้แก่จิตใจ

เวลากิเลสในใจกำเริบขึ้นมา ก็เหมือนกับเวลาที่เชื้อโรคในร่างกายกำเริบขึ้นมา ในร่างกายของเราทุกคนมีเชื้อโรคซ่อนแฝงอยู่ ถ้าไม่กำเริบ ก็จะไม่มีอาการ แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอ  ภูมิต้านทานต่ำ   อาการของโรคภัยก็จะแสดงออกมา  เชื้อโรคของจิตก็เช่นกัน  เมื่อยังไม่มีเหตุให้กระเพื่อม  ก็จะไม่แสดงอาการออกมา  แต่เมื่อมีเหตุให้กระเพื่อมก็จะแสดงอาการออกมา เป็นความทุกข์ต่างๆ ทุกข์เพราะความโลภ ทุกข์เพราะความโกรธ ทุกข์เพราะความหลง ทุกข์เพราะความอยาก   แต่ถ้ามีศาสนาอยู่ในจิตใจ ก็จะมีธรรมโอสถที่จะควบคุมไม่ให้เชื้อโรคของจิต เช่นกิเลส  ตัณหา  อวิชชา ออกฤทธิ์ออกเดช สร้างความทุกข์ให้แก่จิตใจ

การฟังเทศน์ฟังธรรมของญาติโยมในวันนี้เท่ากับเป็นการนำธรรมโอสถเข้าสู่จิตใจ  ไว้ชำระความโลภ  ความโกรธ  ความหลงต่างๆ ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จะไม่รู้จักวิธีระงับ แต่กลับจะส่งเสริมให้มีมากขึ้นไปอีก เช่นเวลามีใครมาทำให้โกรธ ก็จะต้องโต้ตอบออกไปทันที เพราะถือว่าเสียเกียรติ เสียศักดิ์ศรี ที่มาว่า มาดูถูกดูแคลน จะต้องโต้ตอบออกไป เพราะอะไร ก็เพราะความหลง ความมืดบอดนั่นเองที่ทำให้โกรธตอบ เมื่อโต้ตอบไปแล้วก็จะมีผลตามมา คือในที่สุดก็ต้องตายไปด้วยกันทั้งคู่ ต่างฝ่ายต่างโต้ตอบกัน ก็ต้องฆ่ากัน ถ้าไม่ตายไปทั้งสองฝ่าย อีกฝ่ายก็จะต้องไปติดคุกติดตะราง ถ้าโทษหนักก็ต้องถูกประหารชีวิตไป  มีแต่ความเสียหายตามมา เมื่อเกิดความโกรธแล้วไม่ระงับความโกรธนั้น แต่กลับไปส่งเสริมความโกรธ  ด้วยการกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ 

แต่ถ้าได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะรู้ว่าพระพุทธองค์ทรงสอนให้ดับความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่อยู่ในจิตใจของเรา ไม่ใช่ไปดับคนที่สร้างความโกรธให้กับเรา  เพราะความโกรธไม่ได้อยู่ที่ภายนอกแต่อยู่ภายในจิตใจ  เหมือนกับเวลาไฟไหม้บ้านเรา   เรากลับไปดับไฟด้วยการจุดไฟเผาบ้านของคนที่จุดไฟเผาบ้านเรา ไฟที่ไหม้บ้านเราก็จะไม่ดับ เราต้องเอาน้ำเข้ามาดับไฟที่บ้านเรา ไฟมันถึงจะดับได้  เช่นเดียวกับเวลาที่มีคนมาสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจ  สร้างความโกรธแค้นให้กับเรา ก็อย่าไปทุบตีเขา อย่าไปทำร้ายเขา  อย่าไปด่าว่าเขา  เพราะมันไม่ได้ดับไฟที่เกิดขึ้นภายในจิตใจเรา  แต่กลับทำให้ไฟลุกมากขึ้นไปอีก เพราะเมื่อไปด่าว่าเขา ไปทุบไปตีเขา  เขาก็จะตอบโต้ กลับมา ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้มากขึ้นไปอีก  ไฟยิ่งลุกโหมมากขึ้นไปอีก  นี่คือความจริง ที่ปุถุชนคนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่านยังไม่รู้ไม่เห็นกัน   ถ้าไม่ได้ยินไม่ได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว  ทุกๆคนจะต้องมีปฏิกิริยาอย่างเดียวกัน คือ ต้องโต้ตอบ  ต้องล้างแค้น  ต้องอาฆาตพยาบาทจองเวรจองกรรมกัน  เพราะคิดว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง  แต่หารู้ไม่ว่ากลับเป็นวิธีที่จะทำลายทั้งตัวเราและคนอื่น   ทำให้สังคมไม่สงบร่มเย็น  มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย

แต่ถ้ามีศาสนามีธรรมโอสถ  เวลาเกิดความโกรธก็ดี   เกิดความโลภก็ดี   เกิดความหลงก็ดี เราก็เอาศาสนา เอาธรรมโอสถเข้ามาใช้ดับที่ตัวเรา  ดับที่ใจเรา ไม่ได้เอาไปดับผู้อื่น  ถ้าดับความโกรธ ความโลภ  ความหลงได้แล้ว เราก็จะอยู่สบาย ไม่มีเวรกับใคร  ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า  การชนะผู้อื่นจำนวนเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านก็ดี  สู้ชนะตัวเราเพียงคนเดียวไม่ได้ สู้ชนะความโกรธที่มีอยู่ในจิตใจเราไม่ได้  ถ้าชนะความโกรธได้แล้ว  ใจจะสงบ ใจจะเย็น  จึงควรระงับดับความโกรธเสีย  คนอื่นจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของเขา  กรรมคือการกระทำ  พระพุทธองค์ทรงแสดงว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆตน จะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เวลาจะมีเรื่องมีราว ถ้าหลบได้ก็หลบ ถ้าหลีกได้ก็หลีก ถ้าหลบหลีกไม่ได้ก็พูดกันดีๆด้วยเหตุด้วยผล ไม่เช่นนั้นก็นิ่งเสีย เรื่องก็จบ

จึงขอให้ญาติโยมทั้งหลายจงเห็นพระศาสนาเป็นทรัพย์สมบัติอันล้ำค่า  มีคุณประโยชน์กว่าสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้ เวลาเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา เกิดความเสียใจขึ้นมา ข้าวของเงินทองที่มีอยู่มากมายจะไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้  สิ่งที่จะดับความทุกข์ใจได้ต้องเป็นพระศาสนา  ต้องเป็นธรรมโอสถที่อยู่ในจิตใจเท่านั้น สิ่งอื่นดับไม่ได้ คนที่มีศาสนาเป็นคนรวยความสุข  ความสุขใจไม่ได้เกิดจากการมีเงิน มีทอง มีลาภ มียศ  มีสรรเสริญ  แต่เกิดจากการมีพระศาสนา  มีธรรมโอสถอยู่ในจิตใจ  ดังพระพุทธเจ้าถึงแม้จะทรงเป็นกษัตริย์ เป็นราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน  พระพุทธองค์กลับทรงเห็นว่าราชสมบัติเหล่านั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง   จึงได้สลัดทิ้งไป  ทรงแสวงหาธรรมจนกระทั่งได้ธรรมเต็มเปี่ยมอยู่ในพระหฤทัย  เป็นบรมสุข ปรมังสุขัง  สุขที่แท้จริง  ไม่หิว  ไม่อยากกับอะไรทั้งสิ้น   มีเพียงปัจจัย ๔  ก็อยู่ได้แล้ว  คืออาหาร  ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค จีวรเครื่องนุ่งห่ม ก็พอแล้ว   ความหิว ความกระหาย ความอยาก เกิดจากกิเลส  ตัณหา  ถ้าไม่ระงับดับกิเลส  ตัณหา  ก็ต้องออกไปหาข้าวของเงินทองมากองไว้เต็มบ้าน   แต่จะหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้ เลย   ผู้มีศาสนาอยู่ในใจจึงไม่สะสมสิ่งเหล่านี้  แต่จะสะสมแต่ธรรมโอสถ  สะสมแต่บุญแต่กุศล สะสมแต่ธรรมะ เพราะจะทำให้มีแต่ความสุขเต็มหัวใจ  ความทุกข์แม้แต่นิดเดียวก็จะไม่มี  นี่คือเรื่องของพระศาสนาที่สอนให้รู้จักความสุขที่แท้จริง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้