กัณฑ์ที่ ๕๒      ๑๗ มีนาคม  ๒๕๔๔

เกิดมาทำไม

 

คนเราเกิดมาทำไม เกิดมาทำอะไร  มีจุดหมายปลายทางหรือเปล่า  หรือปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะฉุดกระชากลากพาไป  ถ้าปล่อยให้ชีวิตเป็นไปในลักษณะนั้น  ก็เหมือนกับเรือที่ไม่มีหางเสือ  ไม่สามารถควบคุมเรือให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ ต้องปล่อยให้เรือไหลไปตามกระแสน้ำ กระแสลม แล้วแต่จะพาไป แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว จะทราบคำตอบว่าเกิดมาทำไม  เกิดมาทำอะไร พระพุทธศาสนาสอนว่า  มนุษย์เรามีภารกิจอยู่ ๒ ส่วน ด้วยกัน  คือภารกิจทางด้านร่างกาย และภารกิจทางด้านจิตใจ  ต้องดูแลรักษาร่างกายและจิตใจให้มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ เพราะเป็นความปรารถนาของมนุษย์เราทุกๆคน  ทุกๆคนปรารถนาที่จะมีความสุขด้วยกัน และไม่มีใครปรารถนาที่จะมีความทุกข์  ภารกิจที่แท้จริงของมนุษย์ก็คือการดูแลร่างกายและจิตใจไม่ให้มีความทุกข์ ให้มีแต่ความสุข

ภารกิจทางด้านร่างกายเกี่ยวข้องกับการหาปัจจัยสี่ที่เป็นสิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีพ คือร่างกายต้องมี อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค  ถ้ามีปัจจัยสี่นี้พร้อมบริบูรณ์  ร่างกายก็จะไม่หิวโหย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย สามารถอยู่ได้ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข   การที่จะหามาซึ่งปัจจัยสี่นี้ ต้องเป็นไปในทางที่ไม่เกิดโทษกับตนและผู้อื่น  คือต้องมีสัมมาชีพ เลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ผิดศีลผิดธรรม  ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี  ไม่พูดปดมดเท็จ ไม่เสพสุรายาเมา

ภารกิจทางด้านจิตใจก็เช่นกัน คือดูแลรักษาจิตใจไม่ให้ทุกข์ ให้มีแต่ความสุข  ด้วยการปฏิบัติกิจในพระอริยสัจ ๔  ถ้าปฏิบัติได้  ก็จะอยู่เหนือความทุกข์  พระอริยสัจ ๔ คืออะไร   คือ  .ทุกข์    . สมุทัย   . นิโรธ    . มรรค    พระอริยสัจ ๔ เป็นสัจธรรมอันประเสริฐ ที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติพ้นทุกข์  ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติมา  พระอริยสัจ ๔ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง  ไม่มีศาสนาใดในโลกที่สอนพระอริยสัจ ๔ เพราะผู้ที่จะรู้ได้ต้องเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น

พระอริยสัจ  ๔ เป็นสัจจะความจริงของโลก เป็นความจริงที่สัตว์โลกทั่วไปไม่สามารถบรรลุถึงได้ตามลำพัง เพราะจิตใจของปุถุชนคนธรรมดายังเป็นจิตใจที่มืดบอดอยู่  มีอวิชชาความไม่รู้  โมหะความหลงครอบงำจิตใจอยู่  ทำให้ไม่สามารถเห็นสัจธรรมความจริงของทุกข์ได้  ต้องอาศัยคนอย่างพระพุทธเจ้าที่มีสติปัญญาบารมีที่สูงส่ง มาศึกษา มาประพฤติปฏิบัติจนบรรลุพระอริยสัจ ๔   เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงบรรลุแล้ว  พระองค์จึงทรงประกาศสั่งสอนพระอริยสัจ ๔ ให้แก่สัตว์โลก

ผู้ที่มีศรัทธาสามารถศึกษาประพฤติปฏิบัติจนบรรลุถึงพระอริยสัจสี ๔ ได้แล้ว ก็จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง  ยุติการเวียนว่ายตายเกิด  ตราบใดถ้ายังมีการเกิดอยู่  ตราบนั้นก็ยังต้องมีความทุกข์อยู่  เพราะว่าเมื่อเกิดแล้วก็ต้องมีการแก่ มีการเจ็บ มีการตาย มีการพลัดพรากจากของรักของชอบ  เป็นสัจธรรมความจริงของโลก  ถ้าตราบใดยังเกิดอยู่ ตราบนั้นยังต้องทุกข์อยู่  ถ้าไม่ต้องการที่จะประสบกับความทุกข์  ก็จะต้องไม่เกิด  ดังในธรรมบทที่แสดงไว้ว่า ทุกข์ย่อมไม่มีกับผู้ไม่เกิด ตราบใดยังมีการเกิดอยู่ ตราบนั้นยังจะต้องมีการแก่ การเจ็บ การตาย การเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด ผู้ที่ปรารถนาความสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง จะต้องศึกษาพระอริยสัจ ๔ และปฏิบัติภารกิจของพระอริยสัจ ๔ ให้ครบบริบูรณ์ คือ

. ทุกข์ต้องกำหนดรู้ คือต้องรู้ว่าทุกข์คืออะไร อะไรคือทุกข์ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า  ทุกข์คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย  การประสบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนา  การพลัดพรากจากของรักของเจริญใจทั้งหลายทั้งปวง  อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 

. สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ต้องละ คือต้องละตัณหาทั้ง ๓  ได้แก่ กามตัณหา ความอยากในกาม  ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น  วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น

. นิโรธต้องทำให้แจ้ง  นิโรธคือการดับทุกข์  เกิดขึ้นจากการละตัณหาทั้ง ๓  เมื่อละ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ได้แล้ว   นิโรธก็จะปรากฏขึ้นมาในใจ  เท่ากับได้ทำนิโรธให้แจ้ง 

. มรรคต้องเจริญให้มาก   เพราะมรรคเป็นเครื่องมือที่ไว้ใช้กำหนดดูทุกข์ ด้วยสติปัญญา ด้วยสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ และเป็นเครื่องมือไว้ใช้ละตัณหา เพื่อทำนิโรธให้แจ้ง ถ้าได้เจริญมรรคแล้ว เท่ากับได้กำหนดรู้ทุกข์ ได้ละสมุทัย ได้ทำนิโรธให้แจ้ง คือได้ปฏิบัติภารกิจทั้ง ๔ ของพระอริยสัจ ๔ อย่างสมบูรณ์  มรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ผู้จะกำหนดรู้ทุกข์ จะละสมุทัย จะทำนิโรธให้แจ้ง จะเจริญมรรคให้มาก จึงต้องเจริญ ทาน ศีล ภาวนา

ทานคือการให้  การให้ข้าวของต่างๆ อย่างที่ญาติโยมได้มากระทำกันในวันนี้  ได้นำจตุปัจจัยไทยทานอาหารคาวหวานมาถวายพระ เรียกว่าเป็นการให้ทาน  แต่การให้ทานนี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะว่าจะต้องให้กับพระเท่านั้นถึงจะเป็นบุญ  การให้ทานนั้นจะให้กับใครก็ได้ เป็นบุญเป็นกุศลทั้งนั้น  ให้กับสามีให้กับภรรยา ให้กับบิดามารดา ให้กับลูก ให้กับเพื่อนมนุษย์  เพื่อนสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ถือว่าเป็นการทำบุญด้วยกันทั้งนั้น  สุดแท้แต่กรณี แต่ถ้าได้เข้าวัดทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ ก็จะได้อานิสงส์เพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง คือจะได้ยินได้ฟังธรรมะ  จะได้ฟังเทศน์ฟังธรรม  ดังที่ศรัทธาญาติโยมกำลังฟังเทศน์ฟังธรรมนี้อยู่   เป็นบุญสูงกว่าการให้ทานเสียอีก  เพราะการฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นการสร้างแสงสว่างกับชีวิต

ถ้าไม่ได้ฟังธรรมจะมีแต่ความมืดบอดในจิตใจ เหมือนคนตาบอดย่อมไม่สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่นดีงาม ถ้ามีแสงสว่างแห่งธรรมไว้นำทาง จะรู้ว่าอะไรคือความทุกข์  รู้ว่าอะไรคือความสุข  จะสามารถดำเนินชีวิตให้ห่างไกลจากความทุกข์ได้  ให้มีแต่ความสุข  การมาทำบุญที่วัดจึงได้บุญมากกว่า เพราะวัดเป็นเนื้อนาบุญที่ดีกว่าเนื้อนาบุญทั้งหลาย อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นแหล่งเพาะปลูกและเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยม ได้บุญสองต่อ  คือได้ความสุขใจจากการให้ทาน  แล้วยังได้แสงสว่างแห่งธรรมคือปัญญา นำพาชีวิตให้ไปสู่ที่ดี ที่งาม ที่สุข ที่เจริญ

ศีลคือการละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น  ดังที่ได้แสดงไว้ในเบื้องต้นว่า  เวลาทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเพื่อดูแลร่างกาย ต้องดำรงอยู่ในกรอบของศีลธรรม  คือไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดประเวณี  ไม่พูดปดมดเท็จ ไม่เสพสุรายาเมา 

ภาวนาคือการฝึกอบรมจิตใจให้สุขสงบเกิดปัญญาให้รู้เท่าทันในสภาวธรรมทั้งหลาย แบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่. สมถภาวนา  . วิปัสสนาภาวนา คือการทำให้มีสมาธิและมีปัญญา  ถ้าจิตมีสมาธิคือความสงบแล้ว  การเจริญปัญญาจะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย  เพราะจิตที่สงบเป็นจิตที่มีเหตุมีผล  ปัญญาคือเรื่องของเหตุของผล  เรื่องจริง  ต้องอาศัยปัญญาซึ่งเป็นองค์ของมรรคเพื่อกำหนดรู้ทุกข์  รู้ว่าเมื่อเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ  ต้องตายเป็นธรรมดา  ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบเป็นธรรมดา  ต้องพบกับสิ่งที่ไม่ปรารถนาเป็นธรรมดา เป็นสิ่งที่ทุกสัตว์ทุกบุคคลเมื่อเกิดขึ้นมาในโลกนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นปุถุชนคนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่าน ก็จะต้องประสบกับสิ่งเหล่านี้ด้วยกันทั้งนั้น  

การประสบกับสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ ๒ ลักษณะด้วยกัน  คือประสบแบบมีความทุกข์ กับประสบแบบไม่มีความทุกข์  ถ้ามีปัญญา  ยอมรับความจริงของสิ่งเหล่านี้  เช่นเกิดมาแล้วก็ ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย  ไม่ฝืน ไม่ขัดขวาง ยอมรับความเป็นจริง ปลงได้ ก็จะไม่ทุกข์ เพราะละความอยากไม่แก่ อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตายได้ เช่นพระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ ท่านไม่หวั่นไหวกับการแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบ การที่จะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบ เพราะจิตใจของท่านเป็นอุเบกขา  ท่านปลงได้ ท่านวางได้ ท่านปล่อยวางได้  แก่ก็ยอมรับความแก่  เจ็บก็ยอมรับความเจ็บ  ตายก็ยอมรับความตาย  เพราะเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้น นี่คือการมองโลกด้วยปัญญา  มองสภาพความเป็นจริงด้วยปัญญา  มองแล้วปล่อยวาง ไม่ฝืน ไม่ต่อสู้ ไม่มีความอยากที่จะอยู่ไปนานๆ  อยากจะไม่แก่ อยากจะไม่เจ็บ อยากจะไม่พลัดพรากจากของรักของชอบ  เมื่อยอมรับความจริงแล้ว  จิตใจก็จะไม่ทุกข์ มีความพอใจกับสิ่งที่มีอยู่   ยินดีกับสิ่งที่ได้รับ นี่คือปัญญา มีปัญญาก็ปล่อยวางตัณหาทั้ง ๓ ได้ 

จิตที่มีสมาธิมีปัญญาเป็นจิตที่มีความสงบ มีความสุข มีความอิ่ม ความพอ  จิตไม่หิวโหย เพราะไม่มีตัณหา  เหตุที่พวกเรายังมีความหิวอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่  ยังอยากออกไปเที่ยวดูหนังดูละคร ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง ไปงานสังคมอยู่ ก็เพราะว่ายังมีความหิวอยู่  จิตยังไม่อิ่ม จิตยังไม่พอ  เหตุที่จิตยังไม่อิ่มไม่พอ เพราะว่ายังไม่ได้เจริญมรรคให้สมบูรณ์นั่นเอง  มรรคก็คือ ทาน ศีล ภาวนา  คือการนั่งไหว้พระสวดมนต์ ทำจิตให้สงบ แล้วเจริญปัญญาให้เห็นสภาพความเป็นจริงของโลกว่า  เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  มีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เป็นธรรมดาหลีกเลี่ยงไม่ได้  พระพุทธองค์ทรงสอนให้เจริญมรรคให้มาก   คือต้องทำบุญทำทานให้มาก  รักษาศีลให้มาก  ไหว้พระสวดมนต์ให้มาก  นั่งทำสมาธิให้มาก  และเจริญวิปัสสนาปัญญาให้มาก  ให้มองทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าข้างในหรือข้างนอกว่าเป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น 

ข้างนอกก็คือสิ่งต่างๆที่มาสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย  ข้างในก็คืออารมณ์ต่างๆที่มีอยู่ในใจ เช่นความโกรธ ความโลภ ความหลง ความดีใจ ความเสียใจ ให้ใช้ปัญญาดูอารมณ์เหล่านี้ แล้วก็ปล่อยวางตามความเป็นจริง อย่าไปเดือดร้อนกับอารมณ์ทั้งหลาย  เวลาเกิดความทุกข์ใจก็ไม่ต้องเดือดร้อน  ทำใจให้เป็นอุเบกขาด้วยปัญญา  ว่าความทุกข์นี้เดี๋ยวก็ดับ  เดี๋ยวก็ผ่านไป  เช่นเดียวกับความสุข เกิดขึ้นมาเดี๋ยวก็ดับไป  ทุกสิ่งทุกอย่างไม่จีรังถาวร  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ผู้มีสติมีปัญญาย่อมรู้จัก การวางเฉย การปล่อยวาง รู้จักคำว่าช่างมัน  ไม่เดือดร้อน  ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ไม่เดือดร้อน ช่างมันเสียบ้าง  เรื่องไหนพอจะทำได้ แก้ไขได้ ก็ทำไป แก้ไขไป  แต่อย่าไปคิดว่าจะแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างได้  แม้แต่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านยังไม่แก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างเลย  แม้แต่ชีวิตของท่าน ท่านยังไม่แก้ไขเลย ท่านปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ  ไม่สบายมียากินก็กินไป  หายก็หาย ไม่หายก็ยอมรับตามความเป็นจริง

ถ้ายอมรับความเป็นจริงแล้วจะไม่ทุกข์ จะอยู่เหนือความทุกข์ได้  นี่คือภารกิจในพระอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายได้กระทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า  ทุกข์ที่จะต้องกำหนดรู้ เราได้กำหนดรู้แล้ว  สมุทัยที่จะต้องละ เราได้ละแล้ว  นิโรธที่จะต้องทำให้แจ้ง เราได้ทำให้แจ้งแล้ว  มรรคที่จะต้องเจริญให้มาก เราได้เจริญอย่างสมบูรณ์แล้ว  นี่คือภารกิจทางด้านจิตใจของมนุษย์  ถ้าสามารถปฏิบัติภารกิจทั้ง ๔ นี้ได้สำเร็จ ก็จะกลายจากปุถุชนเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา  เป็นผู้ที่อยู่เหนือความทุกข์ อยู่เหนือการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย   คำตอบของคำถามที่ถามว่าเกิดมาทำไม ก็คือเกิดมาเพื่อทำภารกิจทางด้านร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้