กัณฑ์ที่ ๕๓     ๒๕ มีนาคม  ๒๕๔๔

กรรมฐาน ๕

 

การบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพระภิกษุ เปรียบเหมือนกับการเข้าสู่สนามรบ เข้าสู่สงครามระหว่างกิเลสกับธรรม  ระหว่างความมืดกับความสว่าง  ระหว่างความรู้กับความหลง   ผู้บวชใหม่จึงต้องมีอาวุธไว้ต่อสู้กับข้าศึกศัตรู  เหมือนกับทหารที่จะเข้าสู่สมรภูมิรบ  จะต้องมีอาวุธไว้ครบมือ  คำว่าภิกษุแปลได้หลายความหมายด้วยกัน  . เป็นผู้ขอ  . เป็นผู้เห็นภัยในสังขาร คือเห็นภัยในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย   . เป็นผู้ทำลายกิเลส หน้าที่ที่แท้จริงของการมาบวชในพระพุทธศาสนาคือเพื่อทำลายกิเลส  และการที่จะทำลายกิเลสได้ก็จะต้องมีอาวุธ  อาวุธนี้ก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมที่จะต้องสอนพระใหม่  ในขณะทำพิธีอุปสมบท คือ กรรมฐาน ๕ ได้แก่ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ  ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  เป็นอาวุธอันยอดเยี่ยม ไว้ป้องกันพรหมจรรย์  เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นศัตรูร้ายแรงยิ่งกว่าเพศตรงข้าม สมณะนักบวชจึงต้องเจริญกรรมฐาน ๕ อย่างต่อเนื่อง  ให้พิจารณาให้เห็นว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอสุภ ไม่สวยงาม เป็นปฏิกูล สกปรก  เวลาเส้นผมตกลงไปในอาหารก็ทำให้อาหารนั้นสกปรก  หนังก็ไม่สวยงามเวลาเหี่ยวย่น มีฝี มีแผล มีคราบเหงื่อ ขี้ไคล ส่งกลิ่นเหม็น  ต้องคอยดูแลรักษาชำระล้างอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นที่น่ารังเกียจ ส่วนฟันกับเล็บก็คือกระดูกที่งอกออกมาจากเหงือก งอกออกมาจากผิวหนัง  ไม่ได้สวยงามอะไรเลย เป็นกระดูกชิ้นๆหนึ่งเท่านั้นเอง  นี่คือลักษณะของกรรมฐาน ๕ ที่มีอยู่ในทุกๆคน ทั้งหญิง ทั้งชาย  เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ผมเผ้าที่สละสลวยจะค่อยๆกลายจากสีดำเป็นสีขาว  หนังที่เคยเต่งตึงจะค่อยๆเหี่ยวย่น  ฟันจะค่อยๆหลุดไป จากความสุขที่เคยมีกับสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นความทุกข์ ไป เป็นสิ่งที่ไม่มีใครควบคุมได้จึงเป็นอนัตตา

นี่คือการพิจารณากรรมฐาน ๕ เพื่อกำจัดราคะตัณหา ตัณหาคือความอยาก  ราคะคือความกำหนัด ความยินดีในกาม  ชึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่เจริญกรรมฐาน ๕  ถ้าปล่อยให้ใจคิดไปทางด้านกามราคะอยู่เรื่อยๆ ก็เท่ากับปล่อยใหัไฟลุกไหม้เผาผลาญจิตใจ  จากไฟกองเล็กๆให้กลายเป็นกองใหญ่โตมโหฬารขึ้นมาจนกระทั่งไม่สามารถจะดับได้ฉันใด  ไฟของกามราคะก็ฉันนั้น ถ้าไม่ได้ดับด้วยกรรมฐาน ๕ แล้ว จิตใจจะมีแต่รุ่มร้อนจากความอยากในกามจนไม่สามารอยู่เป็นบรรพชิตนักบวชต่อไปได้ ต้องลาสิกขาไปในที่สุด ถ้าไม่ได้ลาสิกขาก็จะประพฤติปฏิบัติตนไม่สมกับสมณะเพศผู้ทรงศีลทรงธรรม นำมาซึ่งความเสื่อมเสียให้กับตนเองและกับพระศาสนา  พระพุทธองค์จึงเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของกรรมฐาน ๕  จึงได้ทรงกำหนดให้พระอุปัชฌาย์ผู้บวชกุลบุตร จะต้องสั่งสอนกรรมฐาน ๕ ไว้เป็นอาวุธป้องกันพรหมจรรย์

พระอุปัชฌาย์เป็นเหมือนกับแม่ทัพนายกองที่ต้องส่งทหารไปสู่สนามรบ จะต้องมอบอาวุธเช่น ปืน มีด ระเบิด ไว้เป็นเครื่องป้องกันตัวฉันใด  กุลบุตรที่มาบวชในพระพุทธศาสนาก็ต้องมีอาวุธไว้ป้องกันตัวฉันนั้น  อาวุธนี้ก็คือกรรมฐาน ๕  ที่ผู้บวชควรเจริญอยู่เนืองๆ  อย่าปล่อยให้ห่างไกลจากจิตใจ  เหมือนกับอาวุธที่ทหารเวลาอยู่ในสนามรบต้องกอดไว้อยู่กับตัวตลอดเวลาเลยทีเดียว แม้ขณะที่กำลังนอนหลับก็ยังต้องกอดอาวุธไว้เพราะไม่รู้ว่าข้าศึกศัตรูจะรุกเข้ามาเมื่อไร  ถ้าเก็บอาวุธไว้ในที่ไกลตัวเวลาจะใช้อาวุธเหล่านี้ก็อาจจะไม่ทันการ ธรรมาวุธคือกรรมฐาน ๕ ก็เช่นกัน  ต้องอยู่ใกล้จิตใจเสมอ ด้วยการพิจารณาอย่างต่อเนื่องในอิริยาบถทั้ง ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน ยกเว้นเวลาหลับ  คือให้เจริญกายคตาสติปัฏฐานนั่นเอง  ด้วยการพิจารณาอาการทั้ง ๕  คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไปเรื่อยๆก่อน แล้วการพิจารณาอาการส่วนอื่นของร่างกายก็จะตามมาเพราะเป็นของต่อเนื่องกัน  คือหลังจากได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้ว ต่อไปการพิจารณาก็จะทะลุเข้าไปสู่ เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ  ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร  ที่มีอยู่ภายในร่างกาย ที่ถูกปกปิดด้วยหนัง  ด้วยอวิชชาความไม่รู้  ด้วยโมหะความหลง จนเห็นด้วยปัญญาว่าร่างกายนี้เป็นปฏิกูล สกปรก  เป็นอสุภ ไม่สวยไม่งาม

ผู้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ด้วยปัญญาแล้ว ย่อมอยู่เหนืออำนาจของราคะตัณหา สามารถดำรงตนให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรมอันดีงามได้  ถ้าเป็นฆราวาสก็จะไม่ละเมิดศีลข้อที่ ๓ คือการละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี  เป็นสามีภรรยาที่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่จำเป็นต้องไปหาเศษหาเลยจากภายนอก  เพราะว่าร่างกายของทุกๆคนก็เหมือนกันทั้งนั้น มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน  แต่ถ้าไม่พิจารณากายด้วยปัญญา จิตจะถูกโมหะความหลงครอบงำ ทำให้เห็นร่างกายเป็นของสวยงาม เกิดความติดอกติดใจ เกิดความอยาก นำไปสู่ความประพฤติที่เสื่อมเสีย ดังที่ได้อ่านได้เห็นกันตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวันนี้ เป็นบุคคลทุกประเภท ทุกฐานะ ไม่เลือกเพศ เลือกวัย เพราะไม่เคยได้ศึกษาธรรมะ ไม่รู้จักวิธีควบคุมจิตใจ ไม่รู้จักควบคุมความประพฤติของตนเองให้อยู่ในทำนองคลองธรรมที่ดีที่งาม แต่กลับประพฤติตนเองไปในทางที่เสื่อมเสีย ทำให้เป็นที่อับอายขายหน้าต่อผู้คนทั้งหลาย 

สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนอยู่อย่างสม่ำเสมอแล้ว ย่อมรู้ว่าอะไรคือสุข อะไรคือทุกข์ อะไรคือบาป อะไรคือบุญ  รู้จักวิธีดำเนินชีวิตของตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีงาม การบวชเป็นพระภิกษุจึงต้องศึกษาให้รู้แจ้งว่า  การจะดำรงตนในสมณเพศจะต้องทำอะไรบ้าง  จึงต้องมีการสอนกรรมฐาน ๕    ตั้งแต่วันที่บวชในพระอุโบสถโดยพระอุปัชฌาย์ หลังจากพิธีอุปสมบทแล้วยังต้องสอนอนุศาสน์ คือชี้แจงเกี่ยวกับกิจที่ภิกษุพึงกระทำและไม่พึงกระทำ  ประกอบด้วย นิสสัย ๔ และ อกรณียกิจ ๔  นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี ๔ อย่าง ได้แก่ ๑. เที่ยวบิณฑบาต  . อยู่โคนไม้  . นุ่งห่มผ้าบังสุกุล  . ฉันยาดองน้ำมูตรเน่า  อกรณียกิจกิจที่ไม่ควรทำ หมายถึงกิจที่บรรพชิตทำไม่ได้ มี ๔ อย่าง ได้แก่   . เสพเมถุน  . ลักของเขา  . ฆ่าสัตว์ (ที่ให้ขาดจากความเป็นภิกษุหมายเอาฆ่ามนุษย์)   . พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

. เที่ยวบิณฑบาต    คือไม่ให้เกียจคร้าน แต่ให้มีความขยันหมั่นเพียรในการหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่หวังพึ่งผู้อื่นเอาอาหารมาถวายถึงที่กุฏิให้ออกบิณฑบาตทุกๆวัน  . อยู่โคนไม้ เกี่ยวกับเสนาสนะที่อยู่อาศัย  พระพุทธองค์ทรงสอนให้อยู่อย่างสมถะ อยู่แบบเรียบง่าย  อยู่ตามมีตามเกิด  ในสมัยพุทธกาลไม่มีกุฏิวิหาร  พระภิกษุเมื่อบวชแล้วอยู่ตามโคนไม้บ้าง อยู่ตามถ้ำบ้าง อยู่ตามเรือนร้างบ้าง  นี่คือที่อยู่ของพระภิกษุ  แต่ต่อมาเมื่อศาสนาได้มีความเจริญขึ้น ก็มีศรัทธาจากญาติโยมมีความปรารถนาที่จะอำนวยความสุขความสะดวกให้กับพระภิกษุ  ก็เลยมีการสร้างกุฏิวิหารถวายให้เป็นที่อยู่อาศัย ถ้ามีศรัทธาสร้างกุฏิให้อยู่ก็อยู่ไป  ถ้าไม่มีศรัทธาสร้างก็อย่าไปเรี่ยไรขอเงินขอทอง สร้างความเดือดร้อนให้กับศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย  ถึงแม้จะเป็นผู้ขอ  แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ขอกับผู้ที่ไม่รู้จัก  ขอได้กับญาติ คือพ่อแม่ พี่น้อง หรือผู้ที่ปวารณาตนเท่านั้น  ถ้าไม่ได้เป็นญาติ ไม่ได้ปวารณาตน  พระพุทธองค์ทรงห้ามไม่ให้ไปขอ ไม่ให้ไปเรี่ยไรเงินทอง เพื่อสร้างโบสถ์ สร้างเจดีย์ สร้างวัด สร้างกุฏิ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของนักบวช 

หน้าที่สำคัญของนักบวชคือการทำลายกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง  การสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร  เป็นหน้าที่รองลงมา  คือเมื่อเสร็จจากภารกิจการทำลายกิเลสแล้ว จึงค่อยมาสร้างศาสนวัตถุๆต่างตามความจำเป็น  ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ไม่ได้สร้างวัด สร้างเจดีย์ ไม่ได้สร้างโบสถ์แม้แต่หลังเดียว เป็นเรื่องของศรัทธาญาติโยม  ผู้ใดมีจิตศรัทธาอยากจะสร้างกุฏิ สร้างวัดถวายให้กับพระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงห้าม  แต่ไม่ส่งเสริมให้พระภิกษุสร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร  แต่ทรงส่งเสริมสั่งสอนให้พระภิกษุศึกษาและปฏิบัติอยู่ในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เครื่องมือทำลายกิเลสที่มีอยู่ในจิตใจ  ผู้ที่ยังมีกิเลส ความโลภ โกรธ หลง อยู่ในจิตใจ ถึงแม้จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นมหาเศรษฐี หรือเป็นอะไรก็ตาม ก็จะหาความสุขในจิตใจไม่ได้เลย

ผู้ที่ปรารถนาความสุขในใจจึงต้องทำลาย ความโลภ โกรธ หลง  และสิ่งที่จะทำลายได้ก็คือศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น  ไม่มีใครอยู่ในฐานะที่ดี ที่พร้อม ที่จะทำลายกิเลสได้เท่ากับนักบวช  เพราะนักบวชไม่มีภารกิจการงานอย่างอื่น ไม่ต้องทำมาหากิน เพราะเป็นผู้ขอ ตอนเช้าออกเที่ยวบิณฑบาตก็ได้อาหารเต็มบาตร  จึงไม่มีความกังวลกับการทำมาหากิน  มีเวลามากมายที่จะใช้ในการต่อสู้และทำลายกิเลส  ผลจากการปฏิบัติคือมรรคผลนิพพานย่อมปรากฏขึ้นมาอย่างรวดเร็ว  เมื่อได้บรรลุธรรมแล้วย่อมเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของศรัทธาญาติโยม    เป็นเนื้อนาบุญที่แท้จริง เพราะเป็นผู้รู้ธรรม รู้จักเรื่องผิดถูกดีชั่ว เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ เรื่องมรรคผลนิพพาน สามารถสั่งสอนให้ศรัทธาญาติโยมนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญต่อไป

. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่ได้มาจากกองขยะหรือจากในป่าช้า เป็นผ้าที่ทิ้งแล้ว หรือเป็นผ้าห่อศพ เมื่อเก็บรวบรวมได้จำนวนพอเพียงต่อการทำจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้ว จึงเอามาเย็บ เอามาปะ เอามาต่อ แล้วจึงเอาไปซักย้อมสีด้วยน้ำฝาดให้เป็นสีกาสาวพัสตร์ คือสีเหลืองที่พระภิกษุใช้กันอยู่ทุกวันนี้  ในตอนต้นสมัยพุทธกาลไม่มีการถวายผ้าให้กับพระ  ท่านจึงใช้ผ้าบังสุกุลกัน ต่อมาศรัทธาญาติโยม มีความศรัทธากันมาก  จึงสละเงินสละทองซื้อผ้าใหม่ถวายพระ ต่อมามีการถวายจีวรที่ตัดเย็บเรียบร้อยแล้ว  เดิมทีพระต้องหาเศษผ้ามาปะ มาต่อ มาเย็บ แล้วจึงเอามาซักมาย้อมด้วยตนเอง  จึงเรียกว่าบังสุกุลจีวร

 

. ฉันยาดองน้ำมูตรเน่า  ในสมัยพุทธกาลนิยมใช้ยาดองน้ำมูตรกัน  น้ำมูตรก็คือน้ำปัสสาวะ  ในสมัยก่อนมีการใช้น้ำปัสสาวะดองพวกสมอ    ดอง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดื่มน้ำปัสสาวะดองนี้ เป็นยารักษาโรคชนิดหนึ่ง  แม้ในสมัยปัจจุบันนี้ ชาวอินเดียก็ยังนิยมดื่มน้ำปัสสาวะดองกัน การดื่มน้ำปัสสาวะดองนี้เป็นการรักษาโรคแบบตามมีตามเกิด  ไม่วุ่นวาย ไม่กังวล กับโรคภัยไข้เจ็บมากจนเกินไป โดยถือหลักของโรคภัยไข้เจ็บว่ามีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกัน คือ   .โรคที่รักษาก็หายไม่รักษาก็หาย  . โรคที่รักษาจึงจะหายไม่รักษาก็จะไม่หาย  .โรคที่รักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย มีแต่ตายอย่างเดียว โรคทั้ง ๓ ชนิดนี้เป็นโรคที่คนทุกๆคนจะต้องเจอด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าเศรษฐีหรือยาจก ไม่ว่าหญิงว่าชาย

จึงไม่ควรไปกังวลกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บให้มากจนเกินไป  ดูแลเยียวยารักษาตามอัตภาพก็พอแล้ว  ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็พักผ่อนหลับนอนเสีย    วุ่นวายกับการทำมาหากิน  วุ่นวายกับการเที่ยวเตร่จนกระทั่งไม่มีเวลาพักผ่อน ร่างกายก็เลยฟ้องด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วย  ถ้าคอยดูแลรักษาร่างกายให้มีการพักผ่อนอย่างสม่ำเสมอแล้ว โรคภัยไข้เจ็บจะไม่ค่อยเบียดเบียน ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับหยูกยามากจนเกินไป มีอะไรก็รักษากันไปตามมีตามเกิด  ได้อะไรมาก็กินไปใช้ไป ให้ใช้ความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นกรรมฐาน เป็นเครื่องเตือนสติ ให้ตัดอุปาทานในกายนี้เสีย แล้วจะไม่ทุกข์กับเรื่องโรคภัยไขัเจ็บ

คนเราเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ความตายนี่เป็นความตายของร่างกายเท่านั้น ไม่ใช่ความตายของจิตใจ  จิตใจผู้ครอบครองร่างกายนี้ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย  ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยไปกับร่างกาย  แต่เนื่องจากจิตใจมีความลุ่มหลง เลยหลงคิดว่าจิตใจเป็นร่างกาย  เวลาร่างกายเป็นอะไรไปจิตใจก็เกิดความทุกข์เกิดความไม่สบายใจขึ้นมา แต่ผู้ที่ได้ศึกษาธรรมอย่างถ่องแท้และได้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงสัจธรรมความจริงระหว่างกายกับใจ จะแยกกายกับใจออกจากกันได้  จะไม่มีความวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปของร่างกายเลย พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกไม่เดือดร้อนกับความเป็นไปของร่างกายเลย  ร่างกายจะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไรก็รู้ตามความเป็นจริงของเขา รักษาได้ก็รักษาไป  รักษาไม่ได้ก็ปล่อยไปตามสภาพ  แต่จิตใจจะไม่ทุกข์กับความเป็นไปของร่างกาย  นี่แหละคืออานิสงส์ของการได้ศึกษาธรรม ได้ปฏิบัติธรรม  เพราะอยู่เหนือความทุกข์ได้  เพราะว่าความทุกข์เกิดจากความหลง  เมื่อมีแสงสว่างแห่งธรรมแล้วย่อมทำให้ความมืดบอดที่เกิดจากโมหะความหลงสลายไปได้

ธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง มีความสำคัญอย่างยิ่ง  ผู้ที่เข้ามาสู่พระพุทธศาสนาจึงไม่ควรมองข้ามศาสนธรรมไป  ศาสนธรรมนี่แหละคือแก่นแท้ของศาสนา  เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติ มีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง  ให้อยู่ปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้