กัณฑ์ที่
๕๔ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔
ธุดงค์ ๑๓
การบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นพระภิกษุก็ดี
สามเณรก็ดี เป็นการบวชเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติธรรม
ตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่ได้บวชเพื่อสะสมเงินทองวัตถุข้าวของเพื่อบำรุงกามสุข
บางท่านที่บวชใหม่อาจจะเห็นหลวงพ่อ
หลวงตา พระเถรานุเถระ
พระผู้ใหญ่บางรูปบางองค์มีความเพรียบ พร้อมไปด้วยวัตถุข้าวของต่างๆที่บำรุงกามสุข
ท่านก็อาจจะคิดว่าเป็นหน้าที่ของพระที่ต้องแสวงหาสิ่งเหล่านี้
คือต้องแสวงหาเงินหาทอง
เมื่อได้เงินได้ทองมาแล้วก็มาปรับปรุงกุฏิให้สวยงาม
มีเครื่องอำนวยความสุข
ความสะดวกอย่างครบครัน
มีทั้งเครื่องปรับอากาศ
ตู้เย็น โทรศัพท์ โทรทัศน์
วิทยุ ฯลฯ
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาแสวงหากัน
สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้แสวงหาคือมรรคผลนิพพาน
ด้วยการชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด
ละความโลภ ละความโกรธ
ละความหลง พระพุทธองค์จึงได้มอบภารกิจหรือธุระให้กับผู้บวชอยู่
๒ ธุระด้วยกันคือ คันถธุระ
และ วิปัสสนาธุระ
คันถธุระคือการศึกษาพระธรรมคำสอน
ที่จารึกอยู่ในพระไตรปิฏก
หรือศึกษาจากครูบาอาจารย์พระสุปฏิปันโน
ผู้มีความเจริญในธรรมทั้งหลาย
เรียกว่าการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ต้องศึกษาให้รู้ก่อนว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้บรรพชิตนักบวชทำอะไรกัน
ศึกษาพระพุทธประวัติความเป็นมาของพระพุทธเจ้า
ศึกษาความเป็นมาของพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย
เพื่อจะได้เอาไว้เป็นแบบฉบับ
เป็นเยี่ยงอย่าง
เอาวิถีชีวิตการดำเนินของท่านมาเป็นตัวอย่าง
เป็นแม่พิมพ์ ท่านอยู่อย่างไร
ท่านประพฤติปฏิบัติอย่างไร
ก็น้อมมาประพฤติปฏิบัติ
พร้อมกับการศึกษาพระธรรมวินัย
บทบัญญัติข้อห้ามต่างๆ
สำหรับพระภิกษุสามเณร
เมื่อบวชแล้วต้องอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย
ไม่ดำเนินชีวิตแบบฆราวาส
เพราะฆราวาสกับนักบวชมีความแตกต่างกัน
นักบวชมีจิตใจที่สูงกว่าฆราวาส
จึงต้องมีความสำรวม
มีความสงบ กาย วาจา ใจ
ทุกกิริยาอาการเคลื่อนไหวต้องเป็นไปด้วยความสวยงาม
เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
ไม่ใช่เป็นกิริยาอาการที่สร้างความเสื่อมศรัทธาให้แก่ผู้พบเห็นทั้งหลาย
หน้าที่ของผู้บวชในเบื้องต้นคือการศึกษาพระธรรมวินัยให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้
แล้วจึงนำเอาไปประพฤติปฏิบัติ
วิปัสสนาธุระคือการนำเอาพระธรรมคำสอนที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจากในพระไตรปิฎกก็ดี
หรือจากครูบาอาจารย์ก็ดี
มาประพฤติปฏิบัติ
ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง
กิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายให้หมดไปจากจิตจากใจ คำว่าภิกษุแปลว่าเป็นผู้ทำลายกิเลส
เป็นผู้ทำลายความโลภ
ความโกรธ และความหลง
วิปัสสนาธุระก็คือการทำลายความโลภ
ความโกรธ และความหลงนั่นเอง
เครื่องมือที่ใช้ในการทำลายความโลภ
ความโกรธ ความหลงก็คือไตรสิกขา
ศีล สมาธิ ปัญญา
เป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ
ด้วยการเดินจงกรม
นั่งสมาธิ ถือธุดงควัตร
ธุดงควัตรเปรียบเหมือนกับผงซักฟอก
เวลาที่ซักเสื้อผ้า ถ้าซักด้วยน้ำเฉยๆ
พวกคราบสกปรกต่างๆจะออกมายากและจะออกมาไม่หมด
แต่ถ้าใช้ผงซักฟอก
การซักก็จะง่ายไม่ต้องขยี้มาก
เพราะว่าผงซักฟอกจะช่วยละลายคราบสกปรกต่างๆที่ติดอยู่กับเสื้อผ้าให้หลุดออกมาอย่างง่ายดาย
ธุดงควัตรที่มีอยู่ ๑๓
ข้อนี้ก็เปรียบเหมือนกับผงซักฟอกของจิตใจ
ถ้าประพฤติปฏิบัติโดยการเดินจงกรม
นั่งสมาธิ เจริญศีล สมาธิ
ปัญญา โดยไม่ได้ถือธุดงควัตร
จะทำให้กิเลสหลุดออกไปจากจิตจากใจยาก
แต่ถ้าได้ปฏิบัติธุดงควัตรด้วยแล้ว
การสลายความโลภ ความโกรธ
ความหลงให้หมดออกไปจากจิตจากใจจะง่ายขึ้น
เพราะธุดงค์คือเครื่องกำจัดกิเลส
เป็นเครื่องส่งเสริมความอยู่แบบมักน้อยสันโดษ
การเป็นสมณะนักบวชควรอยู่แบบเรียบง่าย
ไม่ควรมีทรัพย์สมบัติมากมายซึ่งเป็นวิสัยของฆราวาส
นักบวชเป็นผู้ที่ออกจากการครองเรือนแล้ว
เป็นผู้ที่ละกามสุขแล้ว
จึงไม่ควรมีสิ่งต่างๆที่ฆราวาสเขามีกัน
เช่นตู้เย็น
เครื่องปรับอากาศ
เครื่องอำนวยความสุขความสะดวกทั้งหลาย
ควรถือธุดงควัตรแล้วก็อยู่แบบพระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย
ท่านปฏิบัติ
ธุดงควัตรมีอยู่
๑๓ ข้อด้วยกัน แบ่งไว้เป็น
๔ หมวด ได้แก่
๑.
หมวดจีวร มี ๒ ข้อ
๒. หมวดบิณฑบาตมี ๕
ข้อ ๓. หมวดเสนาสนะ
มี ๕ ข้อ ๔.
หมวดความเพียร มี ๑ ข้อ
รวมกันเป็น ๑๓ ข้อ
หมวดจีวรมีอยู่
๒ ข้อ คือ
๑.
การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
๒. การถือผ้า ๓
ผืนเป็นวัตร
การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรในสมัยพุทธกาลหมายถึงการไปเก็บเศษผ้าที่ถูกทิ้งอยู่ตามป่าช้า
หรือทิ้งอยู่ตามกองขยะ
หาสะสมทีละชิ้นสองชิ้นจนพอเย็บต่อให้เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง
แล้วนำมาซักย้อมด้วยน้ำฝาด การถือผ้า
๓ ผืนเป็นวัตร
หมายถึงความจำเป็นของพระภิกษุเกี่ยวกับการใช้ผ้านั้นมีไม่มาก
มี ๓ ผืนก็อยู่ได้แล้ว
คือสบงผ้านุ่ง
จีวรผ้าห่ม
สังฆาฏิ
ผ้าสองชั้นไว้ห่มกันหนาว
มีเท่านี้ก็พอแก่การดำรงชีพของพระภิกษุแล้ว มีมากกว่านี้ก็เกินความจำเป็น
หมวดบิณฑบาตมีอยู่
๕ ข้อ คือ ๑.
ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
เป็นการหาอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยลำแข้งลำขาของตนเอง
เป็นสัมมาอาชีพของสมณะนักบวช
ป้องกันความเกียจคร้านซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งไปสู่ความเสื่อมเสีย
๒.ถือบิณฑบาตไปตามลำดับบ้านเป็นวัตร
คือไม่ให้เลือกที่รักมักที่ชัง
ไม่ให้เลือกบิณฑบาตเฉพาะบ้านนั้นบ้านนี้
๓. ถือการฉันอาหารในบาตรเป็นวัตร
คือการใช้บาตรเป็นภาชนะใส่อาหารที่ได้มาจากบิณฑบาต
ไม่ใช้ภาชนะอื่น เช่น จาน ชาม
ให้เอาอาหารคาวหวานทั้งหลายใส่ไว้ในบาตร
ข้าวก็ใส่ไปในบาตร
กับข้าวกับปลาก็ใส่ไปในบาตร
ของหวาน ผลไม้ก็ใส่ไปในบาตร
เรียกว่าการฉันในบาตร
๔.ถือการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร
ร่างกายเปรียบเหมือนกับรถยนต์
รถยนต์ต้องมีน้ำมัน เวลาเติมน้ำมันก็เติมกันทีเดียวให้เต็มถังไปเลย
ไม่ต้องมาเสียเวลาเติมหลายหนหลายครั้ง
ไม่เติมทีละครึ่งถัง
ถ้าเติมทีละครึ่งถัง
วันหนึ่งก็ต้องเติม ๒
ครั้ง เช่นเดียวกับร่างกาย
ท้องก็เปรียบเหมือนกับถังน้ำมัน
ถ้าเติมอาหารให้เต็มท้องครั้งเดียวก็อยู่ได้ถึงวันรุ่งขึ้น
ไม่มีปัญหาอะไร
การฉันมื้อเดียว
เป็นการตัดภาระเกี่ยวกับเรื่องการขบการฉัน
ไม่ให้เสียเวลาไปกับการฉันมากจนเกินความจำเป็น
๕.ถือการไม่รับอาหารเพิ่มหลังจากบิณฑบาตกลับมาที่วัดแล้วเป็นวัตร
คือรับแต่อาหารที่ได้จากบิณฑบาตเท่านั้น จะไม่รับอาหารที่ญาติโยมนำมาถวายที่วัด
หมวดเสนาสนะมีอยู่
๕ ข้อ ได้แก่ ๑.
ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
จะอยู่แต่ในป่า
ไม่อยู่ตามบ้านตามเมือง
มีกุฏิอยู่ในป่าที่ห่างไกลจากบ้านเรือน
๒.
ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร
คือไม่อยู่ในที่มุงที่บัง
เช่นกุฏิ ศาลา วิหาร
อยู่แต่ตามโคนไม้
ใช้กลดไว้หลบแดดหลบฝน
ใช้มุ้งไว้กันยุงและแมลง
๓.
ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
เพราะป่าช้าเป็นสถานที่สงบสงัด
ไม่มีคนเข้าไปเล่นไปเที่ยวกัน
เป็นที่เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม
เหมาะแก่การบำเพ็ญสมาธิ
เจริญวิปัสสนา เหมาะกับการฆ่ากิเลส
๔.
ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร
๕.ถือการอยู่ตามที่เขาจัดให้อยู่เป็นวัตร
ไปอยู่วัดไหน
เจ้าหน้าที่ของทางวัดจัดกุฏิให้อยู่หลังไหน
ก็อยู่หลังนั้น ไม่เลือก
ไม่ขอย้ายไปอยู่หลังใหม่
เอาตามมีตามเกิด
หมวดความเพียรมีอยู่
๑ ข้อ คือ ถืออิริยาบถ
๓ เป็นวัตร จะเดิน ยืน นั่ง
เท่านั้น จะไม่นอน
จะไม่เอนหลัง
จะไม่ยอมเสียเวลากับการหลับนอน
จะทำแต่ความเพียรใน ๓
อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง
ถ้าจะหลับก็ให้หลับอยู่ใน
๓ อิริยาบถนี้เท่านั้น
นี่คือธุดงควัตร
๑๓
ข้อที่พระพุทธองค์ทรงมอบไว้ให้กับนักปฏิบัติธรรมผู้รักความมักน้อยสันโดษ
ปรารถนาที่จะทำลายความโลภ
โกรธ
หลงให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจ
ผู้ที่น้อมเอาธุดงควัตรเหล่านี้มาปฏิบัติจะบรรลุเห็นธรรมได้อย่างรวดเร็ว
อย่างในวัดนี้ก็มีการปฏิบัติธุดงควัตรอยู่
๔ ข้อด้วยกัน คือ
๑.
ถือบิณฑบาตเป็นวัตร
๒. ถือบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร
๓. ถือฉันในบาตรเป็นวัตร ๔. ถือฉันมื้อเดียวเป็นวัตร
เป็น
ธุดงควัตรที่ใช้ปฏิบัติในวัดนี้มาตั้งแต่เริ่มแรกของการสร้างวัดนี้
เพราะเป็นเจตนารมณ์ของผู้ที่ถวายที่ดินสร้างวัดให้กับสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช
และก็เป็นเจตนารมณ์ของสมเด็จพระสังฆราชด้วยที่จะให้วัดนี้เป็นวัดปฏิบัติ
มีการปฏิบัติศีล สมาธิ
ปัญญา เดินจงกรม นั่งสมาธิ
เจริญวิปัสสนา
และการปฏิบัติธุดงควัตรต่างๆ
เวลาที่ญาติโยมมาที่วัดนี้จะเห็นว่ามีการขบฉันที่แปลกไปจากวัดอื่นๆ
ที่วัดนี้อาหารคาวหวานจะใส่ไปในบาตร
ฉันในบาตร ฉันเพียงมื้อเดียว
วัดนี้ไม่มีการฉันเพล
มีแต่ฉันเช้าเท่านั้น หลังจากเวลานี้ไปแล้วถ้าญาติโยมมาก็จะไม่มีพระรับประเคนอาหาร
นี่คือพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้กับผู้ที่มีจิตศรัทธามาบวชในพระพุทธศาสนา
เป็นธุระหน้าที่ของผู้บวชจะพึงศึกษา
พึงปฏิบัติ
จุดมุ่งหมายของการบวชก็เพื่อความสุขความเจริญที่แท้จริง
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตใจสะอาดหมดจด
สิ้นจากความโลภ โกรธ หลง
ดังที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้ปฏิบัติกันมา
ท่านเหล่านี้เป็นบุคคลที่ได้บรรลุถึงจุดสูงสุดของชีวิต
ของจิต ของธรรม ได้ถึงความสุขความเจริญอย่างแท้จริง
เป็นผู้สร้างความศรัทธาเลื่อมใสให้กับบุคคลต่างๆ
ที่ได้พบได้เห็น ได้ยิน
ได้ฟัง
แม้ชีวิตของท่านจะได้สิ้นไปแล้วถึง
๒๕๐๐ กว่าปีก็ตาม
แต่พระคุณของท่าน กิตติศัพท์คุณงามความดีของท่าน
ยังขจรขจายอยู่ในโลกนี้
ผู้ใดได้ยินได้ฟังก็อดที่จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาไม่ได้
ทำให้อยากบวช
อยากปฏิบัติเหมือนกับท่านเหล่านั้น
จึงขอฝากธุระของนักบวชทั้ง
๒ อย่างคือ คันถธุระ
และ วิปัสสนาธุระ
ให้กับท่านที่บวชในพระพุทธศาสนา
ขอให้ท่านจงตระหนักในหน้าที่ของท่านว่ามีอะไรบ้าง
แล้วปฏิบัติหน้าที่นั้นๆด้วย
ศรัทธาความเชื่อ
วิริยะความพากเพียร
ขันติความอดทน
สติ สมาธิ ปัญญา
แล้วสิ่งที่ดีที่งามทั้งหลายย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้