กัณฑ์ที่ ๕๕        ๑ เมษายน ๒๕๔๔

องค์ประกอบของพระศาสนา

 

ร่างกายของคนเรานี้มีส่วนประกอบ มีอวัยวะน้อยใหญ่อยู่หลายส่วน หลายชิ้นด้วยกัน  รวมกันคร่าวๆ เรียกว่าอาการ ๓๒  เป็นองค์ประกอบของร่างกายทำหน้าที่ต่างกันไป  มีความสำคัญมากน้อยต่างกันไป  อวัยวะทั้ง ๓๒ นี้ มีไว้เพื่อพยุงให้ชีวิตดำเนินไปได้  ถ้าขาดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไปร่างกายก็จะพิกลพิการไปถ้าเป็นส่วนที่ไม่สำคัญ  ถ้าเป็นส่วนที่สำคัญก็อาจจะต้องถึงกับเสียชีวิตไป   ฉันใด  พระพุทธศาสนาก็เปรียบเหมือนกับร่างกาย  พระพุทธศาสนาก็มีองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นเครื่องช่วยสนับสนุนให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่คู่กับชาวพุทธ ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปแล้ว  ศาสนาจะไม่สมบูรณ์  เป็นศาสนาพิกลพิการไป  ถ้าขาดส่วนสำคัญที่สุดไป  ศาสนาก็ต้องสูญสลายหมดไป 

ชาวพุทธผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส จึงควรศึกษาองค์ประกอบของพระศาสนาว่ามีอะไรบ้าง  และควรจะทำอย่างไรเพื่อจะได้ทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ไปนานแสนนาน  เหมือนกับร่างกายที่เราต้องคอยดูแลอวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆให้อยู่ในสภาพที่ดี  ให้อยู่ไปนานๆ เพราะเราต้องการมีชีวิตยืนยาวนาน  เรื่องของพระศาสนาก็เช่นกัน  เราต้องช่วยกันดูแลรักษาองค์ประกอบต่างๆของพระพุทธศาสนาให้มีอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ และทำหน้าที่ไปตามปกติ  ศาสนาจะได้อยู่คู่กับชาวพุทธไปอีกยาวนาน  เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งของชีวิตจิตใจ  เพราะว่าศาสนาเป็นเหมือนกับอาหารของจิตใจ  ถ้าจิตใจไม่มีศาสนาคอยดูแลรักษาแล้ว  จิตใจจะเป็นจิตใจที่มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความมืดบอดครอบงำ  จะหาความสุขไม่ได้เลย 

ชาวพุทธในฐานะเป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา จึงต้องคอยดูแลรักษาพระพุทธศาสนา ในเบื้องต้นด้วยการศึกษาองค์ประกอบของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน คือ . ศาสนธรรม   . ศาสนบุคคล   . ศาสนวัตถุ   . ศาสนพิธี ถ้ามีองค์ประกอบทั้ง ๔ ครบถ้วนบริบูรณ์  ศาสนาก็จะดำเนินไปได้อย่างปกติ  ทำหน้าที่ของศาสนาได้อย่างปกติ  คือเป็นแสงสว่างนำทางให้กับชีวิต ทำให้ผู้เดินตามมีแต่ความสุขความเจริญ มีแต่ความสงบร่มเย็น เป็นสิริมงคล  

ศาสนธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด   เป็นหัวใจของพระศาสนา  เพราะศาสนธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า  เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วนำมาสั่งสอนพวกเรา  ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนแต่ไม่รู้จักศาสนธรรม ไม่รู้จักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องถือว่ายังอยู่ห่างไกลจากพระศาสนามาก  ถึงแม้จะได้เกาะชายจีวรของพระพุทธเจ้าก็ตาม  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็นเหมือนกับทัพพีในหม้อแกง ทัพพีย่อมไม่รู้ว่าเป็นแกงจืดหรือแกงเผ็ด ไม่เหมือนกับลิ้น มีอะไรมาแตะลิ้นเพียงนิดเดียว  ย่อมรู้ทันทีว่าเป็นรสอะไร     ชาวพุทธจึงควรเป็นเหมือนลิ้นไม่ใช่เป็นแบบทัพพีในหม้อแกง  อย่าทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่าพระพุทธเจ้าสั่งสอนอะไรเลย   เพราะจะเป็นเหมือนคนตาบอด หัวใจของพระศาสนาก็คือพระธรรมคำสอน เป็นเหมือนแผนที่ ชี้ทางไปสู่ขุมทรัพย์อันล้ำค่าอย่างยิ่ง คือ สวรรค์ มรรค ผล นิพพาน  เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนากัน  ถ้าไม่ศึกษาแผนที่ก็จะหลงทาง  ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง  แทนที่จะไปสวรรค์ มรรค ผล นิพพาน  ก็กลับไปนรกเสีย   ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพราะว่าไม่มีศาสนธรรมอยู่ภายในจิตใจ  ศาสนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องเข้าหาอยู่อย่างสม่ำเสมอ  ดังที่ท่านทั้งหลายได้มาวัดทุกๆวันพระหรือทุกๆวันเสาร์และอาทิตย์  ก็เป็นการเข้าหาศาสนธรรม  เพราะเมื่อมาวัดแล้วก็จะได้ยินได้ฟังธรรม  ได้ยินการเทศนาว่ากล่าวสั่งสอนตักเตือนเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี  ทั้งเรื่องที่เป็นเหตุและเรื่องที่เป็นผล  เมื่อทราบแล้วนำเอาไปประพฤติปฏิบัติตาม ผลที่ดีงามก็จะเกิดตามขึ้นมา 

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำความดี เราก็ต้องทำความดีกัน  ท่านสอนให้ละความชั่ว ละบาปทั้งหลาย เราก็ต้องละความชั่วละบาปทั้งหลาย  ท่านสอนให้ชำระจิตใจให้สะอาด คือละความโลภ ความโกรธ ความหลง  เราก็ต้องละความโลภ ละความโกรธ ละความหลง  จงมองเห็นความโลภ ความโกรธ ความหลงเหมือนกับขยะมูลฝอย เวลาเดินไปตามถนน  เห็นกองขยะเราจะไม่ค่อยอยากเข้าใกล้เพราะรู้ว่ามีแต่กลิ่นเหม็น  มีแต่ของไม่ดีที่ทิ้งแล้วฉันใด  ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เช่นกัน เปรียบเหมือนขยะมูลฝอย  อย่าไปสะสม อย่าไปส่งเสริม  เวลาเกิดความโลภขึ้นมาต้องดับให้ได้ อย่าไปตามใจกิเลส  เกิดความโกรธขึ้นมาก็ต้องดับให้ได้ อย่าไปโกรธตาม  เกิดความหลงขึ้นมาก็อย่าหลงตาม ต้องใช้สติต้องใช้ปัญญา อย่าเห็นว่าดีงามไปหมด  เวลาเห็นอะไรใหม่ๆ เห็นปุ๊บ ถูกใจปั๊บ ก็ต้องเอาให้ได้  นี่คือความหลงแล้ว  พอได้มาไม่นานก็เบื่อแล้ว  แสดงว่าไม่ใช่เป็นของดีจริง 

ถ้าของดีจริงแล้วจะต้องไม่เบื่อ เช่นบุญกุศล  เมื่อทำแล้วไม่เกิดความเบื่อหน่ายเลย  ทำบุญเท่าไร ก็จะมีความสุขเท่านั้น ยิ่งทำมากเท่าไรก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นไป  มีความสุขภายในจิตใจ ก็จะไม่มีความเบื่อหน่าย เพราะเป็นของจริงของแท้ ของดีจริงๆ  แต่ถ้าเป็นของต่างๆในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือ บุคคลต่างๆ  จะเบื่อได้เพราะไม่ใช่ของดีจริง  ดีเพราะหลง   เห็นเขาแล้วเกิดชอบเขาขึ้นมา ก็เลยอยู่กับเขา แต่งงานกับเขา  พออยู่ไปพักหนึ่งก็เบื่อเขา  ความชอบหมดไป ความเบื่อความชังมาแทนที่  เขากลับไม่ดีจริงอย่างที่คิด  คิดว่าเขาจะรักเมตตา ดีกับเรา พูดดีกับเรา ทำดีกับเรา แต่พอไปอยู่กับเขาได้สักพักหนึ่ง  ธาตุแท้ของเขาที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจก็โผล่ออกมา  แทนที่จะพูดดีก็พูดไม่ดี  แทนที่จะกระทำดีก็กระทำไม่ดี  นี่เป็นเพราะว่าไม่มีปัญญา  ไม่ใช้ปัญญา  พอเห็นชอบอะไรก็คว้าเข้ามา  เห็นปลาก็คว้าเข้าใส่ปากเลย ไม่สนใจว่าจะมีก้างอยู่ในปลาหรือเปล่า  เคี้ยวเข้าไปก้างมันก็ตำคอ  เพราะทำไปด้วยความหลง  ทำไปด้วยความมืดบอดนั่นเอง 

แต่ถ้าใช้ปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้วจะรู้ว่า  ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นความสุขที่แท้จริง  ไม่มีอะไรเป็นสิ่งที่ถาวรที่แท้จริง  ไม่มีอะไรที่จะเป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา  ไม่มีอะไรอยู่คงเส้นคงวา  คนที่เคยดีกับเรา  ใช่ว่าจะดีกับเราไปตลอด  เขาต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่คงเส้นคงวา   สมบัติต่างๆที่เราได้มาก็ใช่ว่าจะอยู่กับเราไปตลอด  สักวันหนึ่งก็ต้องสูญไป ต้องหมดไป  จึงต้องทำความเข้าใจว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นสิ่งที่ต้องตัด ต้องละให้ได้  เพราะความโลภ โกรธ หลง เป็นกิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมอง  ผู้ใดมีโลภ โกรธ หลงมากน้อยแค่ไหน ก็จะมีแต่ความเศร้าหมองมากน้อยเท่านั้นในจิตใจ  ถ้ามีน้อยความเศร้าหมองก็มีน้อย  ถ้ามีมากความเศร้าหมองก็มีมาก  ถ้าไม่มีเลยก็ไม่ความเศร้าหมองเลย 

เราปรารถนาอะไรกัน เราปรารถนาความสุข ไม่มีความเศร้าหมองอยู่ภายในจิตใจของเราไม่ใช่หรือ  ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเราก็ต้องละความโลภ ความโกรธ ความหลง  ต้องทำลายด้วยสติด้วยปัญญา  พยายามดูใจเราอยู่เสมอ  ถามตัวเองว่าขณะนี้เรากำลังโลภอยู่หรือเปล่า เรากำลังโกรธอยู่หรือเปล่า เรากำลังหลงอยู่กับอะไรหรือเปล่า  ถ้าเราโลภ เราโกรธ เราหลง จงเลิกมันเสีย จงตัดมันเสีย  อยู่คนเดียวก็มีความสุขได้  ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง  พระองค์ทรงเป็นถึงพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน  พระองค์ยังสละพระราชสมบัติได้ แล้วไปอยู่แบบขอทาน เป็นสมณะแสวงหาความหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย  วันหนึ่งๆต้องถือบาตรเข้าไปในหมู่บ้านขอข้าวเขากิน  ต้องนอนตามโคนไม้ นอนตามถ้ำ สุดแท้แต่จะหาที่ได้  แต่ท่านกลับมีความสุขมากกว่าในสมัยที่ท่านอยู่ในพระราชวัง  เพราะว่าจิตใจของท่านได้ละหมดแล้วซึ่งความโลภ ความโกรธ และความหลงนั่นเอง ถ้าพวกเราปรารถนาความสุขที่แท้จริงแล้วละก็อย่าลืมเรื่องเหล่านี้เป็นอันขาด 

ถามตัวเองว่ามีความสุขเต็มที่หรือยัง  ทั้งๆที่มีข้าวของเงินทองสิ่งของเยอะแยะไปหมด  ถ้ายังไม่มีความสุขก็เพราะว่าข้าวของเงินทองไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนำความสุขมาให้กับเรา  สิ่งที่จะนำความสุขมาให้กับเรา ต้องเป็นการตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกไปจากจิตจากใจของเรา  นี่แหละคือศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศานา  ศาสนาจะอยู่คู่กับเราไปได้ตลอดก็ต่อเมื่อเราชาวพุทธขวนขวายศึกษาประพฤติปฏิบัติ และถ่ายทอดศาสนธรรมไปสู่ลูกหลานของเราต่อไป  ถ้าไม่ศึกษา ไม่ประพฤติปฏิบัติคำสอน ถึงแม้จะมีอยู่ในพระคัมภีร์  แต่ก็เป็นแค่ตัวหนังสือ  ซึ่งต่อไปก็จะไม่มีใครรู้จัก  ไม่มีใครเข้าใจ  อ่านแล้วก็ไม่รู้เรื่อง เพราะไม่มีใครชี้แจงอธิบายให้เข้าใจได้  แต่ถ้ามีการศึกษาและปฏิบัติแล้วก็จะเข้าใจในคำสอนเหล่านี้  สามารถชี้แจง สามารถถ่ายทอดให้กับอนุชนรุ่นหลังได้  พวกเราจึงต้องดูแลรักษาศาสนธรรมไว้ให้ดี  ถือเป็นหัวใจของศาสนาเลย ไม่มีอย่างอื่นยังไม่เป็นไร  ไม่มีศาสนวัตถุ ไม่มีศาสนพิธี ยังไม่เป็นไร  ศาสนวัตถุ ศาสนาพิธีเป็นเพียงส่วนประกอบเหมือน ผม ขน เล็บ ฟัน โกนผมทิ้งไปเราก็ยังไม่ตาย ตัดเล็บทิ้งไปเราก็ยังไม่ตาย ไม่มีฟันก็ยังไม่เป็นไร ยังใส่ฟันปลอมได้ แต่ถ้าไม่มีหัวใจแล้วร่างกายก็จะอยู่ไม่ได้   ไม่มีมันสมองร่างกายก็จะอยู่ไม่ได้ ฉันใด   พระศาสนาก็เช่นกัน  ถ้าไม่มีศาสนธรรมแล้วพระพุทธศาสนาก็เป็นแต่ศาสนาที่มีแต่ชื่อ เป็นร่างกายที่ไม่มีวิญญาณ

ศาสนบุคคล เป็นองค์ประกอบที่ ๒ ของพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีศาสนาบุคคลแล้วศาสนาก็เกิดขึ้นมาและตั้งอยู่ไม่ได้  เพราะศาสนบุคคลเป็นผู้ทำให้มีศาสนาขึ้นมา เริ่มจากการตรัสรู้และการประกาศพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติธรรมจนตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ  บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา    เป็นผู้สิ้นกิเลส  นี่คือ ศาสนบุคคล  ศาสนบุคคลนี้แบ่งได้เป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ บรรพชิตนักบวช และ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน  รวมกันเรียกว่าพุทธบริษัท ทำหน้าที่ ต่างกัน บรรพชิตนักบวชมีหน้าที่ศึกษาประพฤติปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า 

ส่วนฆราวาสญาติโยมมีหน้าที่ดูแลสนับสนุนบรรพชิตนักบวชทั้งหลาย ให้ดำรงชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัยสี่  รู้จักการทำนุบำรุงบรรพชิตนักบวช รู้ว่าสิ่งไหนเป็นคุณเป็นประโยชน์  รู้ว่าสิ่งไหนเป็นโทษ   เช่นไม่ควรถวายสุรายาเมาหรือเงินทองไว้ใช้ส่วนตัวโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น ถ้ามีเหตุจำเป็นก็ถวายไปตามกรณี  ถ้าไม่จำเป็นแล้วพระพุทธองค์ไม่ปรารถนาให้พระสงฆ์องค์เจ้ามีเงินมีทองมากมาย ไม่ต้องการให้พระรวยเงินรวยทอง  แต่ต้องการให้พระรวยธรรมะ รวยบุญ รวยกุศล   จะได้เอาบุญเอากุศล เอาธรรมะมาแจกจ่ายให้กับญาติโยม  เพราะญาติโยมมีเงินมีทองแต่ไม่มีธรรมะ ถ้าญาติโยมเอาเงินเอาทองไปให้พระ  พระท่านก็จะมีแต่เงิน จะไม่มีธรรมะ ไม่มีบุญ ไม่มีกุศล  ท่านก็ไม่สามารถเอาธรรมะ เอาบุญ เอากุศล มาแจกจ่ายให้กับญาติโยมได้  ญาติโยมก็จะมีแต่เงินแต่จะไม่มีความสุขกัน เพราะความสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่เงินที่ทอง แต่อยู่ที่ธรรมะ  อยู่ที่บุญ ที่กุศล

จึงต้องแยกหน้าที่กัน  เป็นพระก็ต้องขวนขวายศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรม  สร้างบุญสร้างกุศล เมื่อได้บุญได้กุศลได้ธรรมะแล้วก็เอามาแจกจ่ายให้กับญาติโยม  ส่วนญาติโยมนั้นก็ให้ทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  อยู่ในกรอบของศีลธรรม  เมื่อมีเงินมีทองเหลือใช้ก็เอามาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  มาดูแลพระเณรให้สามารถประพฤติปฏิบัติหน้าที่ของท่านได้  แล้วก็รับการอบรมสั่งสอนจากท่าน  เพื่อจะได้รับเอาธรรมะที่ท่านรู้ท่านเห็นนั้นมาใช้เป็นประโยชน์กับชีวิต  มีความร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  ถ้าไม่มีธรรมะแล้วกิเลสจะมีพลังมาก  จะทำให้เราเข่นฆ่าฟันกัน ทำลายล้างกัน สาเหตุที่คนในสังคมวุ่นวายกันก็เพราะขาดธรรมะนั่นเอง  ขาดบุญ ขาดกุศล  มีแต่กิเลส มีแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง  เมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่มากๆ แล้วก็ต้องไหลล้นออกมาทางกาย ทางวาจา ด้วยการฆ่ากัน ด้วยการลักทรัพย์ ด้วยการประพฤติผิดประเวณี ด้วยการโกหกหลอกลวง  แต่ถ้าคนในสังคมมีธรรมะแล้ว ก็จะอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข  เพราะมีความเมตตากรุณาต่อกันและกัน 

วิธีที่จะทำบุญให้ได้บุญมาก นั้นจะทำอย่างไร  ท่านสอนว่าให้ทำแบบเวลาไปส้วม  ถ้าไปส้วมตามวัดจะมีหลายห้องด้วยกัน  เราก็ต้องเลือกห้องที่สะอาด  ถ้าห้องไม่สะอาดเราก็ไม่อยากเข้าไปใช้ เราต้องการเข้าไปใช้ในห้องที่สะอาด  เมื่อใช้ส้วมเสร็จแล้วเราก็ออกจากส้วมไป  ไม่สนใจว่าใครจะมาทำอะไรกับสิ่งที่เราทิ้งไว้ในห้องส้วมนั้น  การทำบุญก็เช่นกันเวลาทำบุญท่านสอนให้เลือกคนที่เราทำด้วย  เหมือนกับเราเลือกห้องส้วม  เลือกคนดีอย่าไปเลือกคนที่ไม่ดี  ถ้าเลือกคนไม่ดีก็เท่ากับส่งเสริมให้เขาทำชั่วขึ้นไปอีก  ถ้าทำบุญกับคนดี  ก็เท่ากับส่งเสริมให้เขาทำความดีเพิ่มต่อไปอีก  พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าทำบุญที่ได้กุศลมากที่สุดก็คือ ทำบุญกับพระพุทธเจ้า  รองลงมาก็คือพระปัจเจกพุทธเจ้า รองลงมาก็คือพระอรหันต์ พระอริยเจ้าขั้นต่างๆ จนถึงพระธรรมดาที่มีศีลมีธรรม  แล้วจึงค่อยมาถึงคนธรรมดาที่มีศีลมีธรรม ลงไปถึงเดรัจฉาน ทำบุญกับบุคคลเหล่านี้จะได้รับผลประโยชน์แตกต่างกันไป  ทำกับคนดีมากๆ ผลประโยชน์ก็ได้มาก ทำกับคนไม่ดี  ผลประโยชน์ไม่มี มีแต่โทษ

เวลาทำบุญจึงต้องใช้ปัญญาแยกแยะ ทำไปแล้วก็ขอให้ตัดใจเสียเหมือนกับเวลาเข้าห้องส้วม  เข้าไปถ่ายแล้วเราก็ไม่กังวลว่าใครจะไปเอาองที่เราถ่ายทิ้งไว้ไปทำอะไร  ของที่เราให้เขาไปแล้วเราก็ไม่ต้องไปกังวล ไปคิด ไปห่วง ไม่ยึดถือว่ายังเป็นของๆเรา อย่าไปคิดว่าเราให้ท่านไปแล้วทำไมท่านไม่เอาไปใช้  ทำไมท่านเอาไปให้คนอื่นอย่างนี้เป็นต้น  ถ้าเราไปคิดอย่างนี้บุญที่เราทำว้ก็หมดไป เพราะว่าเราไม่ได้ให้  เรายังยึดอยู่ในใจอยู่  เรายังถือเป็นเจ้าของอยู่  เราให้ท่าน ท่านต้องฉันให้เรา ถ้าท่านไม่ฉันให้เราแล้วเราก็โกรธท่าน หรือไม่อย่างนั้นก็เสียใจน้อยอกน้อยใจ 

นี่เป็นกิเลสต่างหาก  เป็นความทุกข์ เป็นบาปอยู่ข้างในใจของเรา  แต่ถ้าเราทำไปแล้ว  ท่านจะให้ใครก็สุดแท้แต่ท่าน  เราหมดหน้าที่ของเราแล้ว  ของที่เราให้มันไม่ได้เป็นของเราแล้ว  ถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็สบายใจ เราก็มีความสุข  บุญก็คือความสุขนั่นเอง  ดังนั้นถ้าอยากจะทำบุญให้ได้บุญมากๆ ก็ต้องทำอย่างที่เวลาเราไปเข้าส้วม ก่อนจะเข้าไปก็ดูห้องส้วมที่ดีที่สะอาด  เมื่อใช้เสร็จแล้วเราก็อย่าไปกังวลว่าใครจะเอาของในห้องส้วมที่เราทิ้งไว้ไป  เขาจะเอาไปใช้ไปทำอะไรก็เรื่องของเขา  ไม่ใช่หน้าที่ของเรา  เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว  เราได้ไปถ่ายแล้วเราก็สบาย เราเข้าห้องส้วมแล้วเราก็มีความสุขฉันใด  การทำบุญก็แบบนั้นแหละ ให้เรารู้จักทำ รู้จักใช้สติ ใช้ปัญญา   ทำเสร็จแล้วก็อย่าไปกังวลว่าเขาจะเอาไปทำอะไร สิ่งที่เราจะให้ก็เลือกดูว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ ของที่เป็นโทษก็อย่าไปให้ อย่าไปซื้อยาบ้าหรือยาเสพติดของที่เป็นโทษเป็นภัยให้กับผู้อื่น  ซื้อแต่ของที่มีคุณมีประโยชน์ อย่างที่ญาติโยมมาวัดถวายปัจจัยสี่ จตุปัจจัยไทยทาน มีอาหารบิณฑบาต จีวร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค รวมทั้งการสร้างกุฏิวิหารต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณเป็นประโยชน์ เพียงแต่ว่าเมื่อทำไปแล้วก็ขอให้ปล่อยวาง  อย่าไปกังวลว่าเขาจะไปทำอย่างไรต่ออีก 

เมื่อเราให้ไปแล้วก็หมดหน้าที่ของเรา เพราะความกังวลก็คือความทุกข์นั่นเอง  ถ้าปล่อยวางแล้วเราก็สบายใจ  นี่คือเรื่องของศาสนบุคคล  เราต้องรู้จักหน้าที่ของเรา  เราทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ แล้วศาสนาของเราก็จะดำเนินไปได้เป็นปกติ  แต่ถ้าศาสนบุคคลมาทะเลาะกันตีกัน มีแต่เรื่องมีแต่ราว ศาสนาก็จะอยู่ไม่ได้  พุทธศาสนานั้นพระพุทธองค์บอกว่าไม่ได้เสื่อมจากภายนอก  แต่เสื่อมจากภายใน  คือเกิดจากความแตกสามัคคีของพุทธบริษัทนั่นเอง  เพราะพุทธบริษัทไม่ทำหน้าที่ของกันและกัน  เมื่อพระสงฆ์องค์เจ้าไม่รักษาศีล ไม่ศึกษาธรรม ไม่ปฏิบัติธรรม  ญาติโยมก็เกิดความเสื่อมศรัทธา ไม่มีความเคารพ  เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วก็เกิดความแตกแยกกัน  แล้วในที่สุดศาสนาก็ต้องหมดไป  ดังนั้นศาสนบุคคลก็ต้องพยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด  ทำตามหน้าที่ดังที่พระพุทธเจ้าทรงได้มอบหมายไว้ให้ 

ศาสนวัตถุนั้นก็ควรจะมีไว้พอประมาณ เพราะว่าเป็นมนุษย์ก็ต้องมีที่อยู่อาศัย เป็นพระก็ต้องมีกุฏิต้องมีศาลาไว้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ แต่ควรจะทำพอประมาณ  สิ่งไหนที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปสร้าง  เอาเงินทองไปทำประโยชน์อย่างอื่นดีกว่า  ไปช่วยสังคมทางโลกบ้าง  ยังมีคนที่ตกทุกข์ได้ยากคนยากจนอีกเยอะแยะที่รอความช่วยเหลือจากเราอยู่  เรามาสร้างแต่โบสถ์สร้างแต่เจดีย์แล้วก็ไม่ได้ใช้  ปล่อยให้เป็นที่อยู่ของนกพิราบเป็นที่อยู่ของสุนัข  นานๆจะเปิดมาใช้สักครั้งหนึ่ง  ถ้าอย่างนั้นมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้ก็สร้างไป  ถ้าไม่มีความจำเป็นก็เอาเงินทองไปทำอย่างอื่นดีกว่า  เพราะว่าโลกเราจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขก็ต่อเมื่อสังคมเราหันหน้าเข้าหากัน  ช่วยเหลือกันและกัน  มีความเมตตากรุณาต่อกันและกัน  ดังนั้นศาสนวัตถุใครจะสร้างก็ขอให้ใช้ปัญญาบ้าง  ดูว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น  มีมากก็กลายเป็นของเฟ้อไป  เงินมากก็กลายเป็นเงินเฟ้อไปได้ 

ศาสนพิธี เป็นวิธีการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาให้ดูแล้วมีความสวยงามเรียบร้อย มีความหมายเป็นคติสอนใจให้มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา เช่นพิธีตักบาตร ถวายทาน ขอศีล ไหว้พระ  เป็นต้น 

องค์ประกอบทั้ง ๔ ของพระพุทธศาสนา  มีความสำคัญมากน้อยต่างกัน  ที่สำคัญมากที่สุดก็คือศาสนธรรมและศาสนบุคคล ส่วนศาสนวัตถุกับ ศาสนพิธีมีความสำคัญรองลงมา การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้