กัณฑ์ที่ ๕๘         ๑๕ เมษายน ๒๕๔๔

สัจจธรรม

 

พุทธศาสนิกชนคือผู้มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ซึ่งเป็นศาสนาของผู้ประเสริฐ คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ธรรมโดยชอบ รู้ในสิ่งที่ปุถุชนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่านไม่สามารถที่จะรู้จะเห็นได้ พวกเราในฐานะที่เป็นเหมือนกับคนตาบอด แต่เชื่อในพระเนตรอันสว่างของพระพุทธเจ้า จึงเชื่อในสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน ที่สอนให้กระทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ละความชั่วทั้งหลาย และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด  ปราศจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าสามารถกระทำสิ่งต่างๆ  ที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้กระทำกันแล้ว พวกเราจะมีแต่ความสุขความเจริญ เพราะสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั้น  เป็นเหตุที่แท้จริงของความสุขความเจริญ เช่นการทำบุญทำทาน การรักษาศีล  ละเว้นจากการกระทำบาป การไหว้พระสวดมนต์ ทำจิตให้สงบตั้งมั่น เจริญสมาธิวิปัสสนา เป็นวิธีสร้างความสุขให้กับตัวเรา สร้างความเจริญให้กับตัวเรา เป็นบุญเป็นกุศล

ดังที่ท่านทั้งหลายได้มากระทำกันในวันนี้ ท่านได้นำกับข้าวกับปลา อาหาร คาวหวาน จตุปัจจัยไทยทาน  เครื่องสังฆทานทั้งหลายมาถวายพระภิกษุและสามเณรที่อยู่ในวัดนี้ เป็นการทำบุญให้ทาน นอกจากนั้นแล้ว  ท่านยังได้สมาทานศีลไปตามศรัทธา  คือไม่ได้สมาทานพร้อมกันในที่นี้  แต่ละคนแต่ละท่านก็สมาทานกันไปตามกำลังศรัทธา บางท่านก็สมาทานศีลห้า บางท่านก็สมาทานศีลแปด สุดแท้แต่กำลังสติปัญญาความอุตสาหะที่นำพาไป แล้วก็ยังมีการเจริญจิตตภาวนา คือการทำจิตใจให้สงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์ เจริญพุทธานุสติ มีการระลึกถึงคำว่าพุทโธ พุทโธ อยู่ในจิตใจ หรือเจริญอานาปานสติ คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เป็นการทำให้กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้สงบตัวลง แต่การทำสมาธิยังไม่สามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจได้  เพราะสมาธิไม่มีกำลังพอที่จะไปถอนรากถอนโคน ความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ เพียงแต่ระงับหรือทำให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง  พักตัวลงสักระยะหนึ่ง เท่านั้น

ในขณะที่กำลังสวดมนต์ หรือกำลังเจริญพุทธานุสติ หรืออานาปานสติคือการกำหนดดูลมหายใจเข้าออก  ในขณะนั้นกิเลสจะไม่มีโอกาสที่จะแสดงตัวออกมา เพราะว่าจิตใจไม่ได้เปิดช่องให้ทำงานนั่นเอง  แล้วยิ่งถ้าการเจริญสมาธิด้วยการไหว้พระสวดมนต์ หรือการเจริญพุทธานุสติ หรืออานาปานสติ มีการทำไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจิตรวมลงเข้าสู่ความสงบ  ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะหยุดทำงาน  เหมือนกับเครื่องจักรหรือเครื่องของรถยนต์ เวลารถยนต์ติดเครื่อง  ทุกสิ่งทุกอย่างก็ทำงานได้ เช่นเครื่องปรับอากาศในรถยนต์ก็ทำงานได้  วิทยุก็ทำงานได้  ไฟต่างๆก็ทำงานได้  แต่ถ้าดับเครื่องลงแล้ว  การทำงานของสิ่งต่างๆเหล่านี้ก็จะหยุดไป

ฉันใดถ้าทำจิตใจให้สงบรวมลงสู่ความเป็นสมาธิ  คือเข้าสู่ความสงบนิ่งแล้ว  ทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องหยุดตามไปด้วย ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะสงบตัวไประยะหนึ่ง ในขณะนั้นจิตใจจะมีแต่ความสุข  มีความสงบ  ความอิ่ม ความพอ ไม่หิว ไม่อยากกับอะไร  ความสงบนี้พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เป็นความสุขที่เลิศที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีความสุขอันใดในโลกนี้จะเสมอเท่าความสงบสุขของจิตใจ ความสงบแบบนี้  ความสุขแบบนี้  เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเราแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองซื้อมา สิ่งต่างๆที่หาจากภายนอก เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง  เป็นของเล่น  เป็นของหลอก  เป็นเหมือนกับยาเสพติด  เวลาไม่ได้เสพสิ่งเหล่านี้ ก็เกิดอาการทุรนทุรายอยากจะได้  เหมือนกับคนที่เคยติดบุหรี่หรือติดสุรา  เวลาไม่มีสุราหรือไม่มีบุหรี่ ก็จะมีอาการอึดอัดใจ มีความดิ้นรนอยากจะได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น แต่เมื่อได้สัมผัสกับสุราหรือบุหรี่แล้วก็ไม่ได้ทำให้จิตใจนั้นเกิดความอิ่ม เกิดความพอขึ้นมา แต่กลับให้มีความหิวมีความกระหายที่อยากจะสูบบุหรี่  อยากจะเสพสุรายาเมาต่อไปอีก ฉันใดเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ก็เช่นกัน เปรียบเหมือนกับยาเสพติด มีเท่าไหร่ก็อยากจะมีให้มากยิ่งๆขึ้นไป ถ้ามีเงินอยู่พันบาทก็อยากจะมีหมื่นบาท มีหมื่นก็อยากจะมีแสน มีแสนก็อยากจะมีล้าน อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะไม่พาให้ไปสู่ความอิ่ม ความพอ

พระพุทธองค์จึงทรงสอนว่า  สิ่งที่ดีที่งามที่ประเสริฐ ไม่ได้อยู่ภายนอกแต่อยู่ภายในตัวเราเอง คือความสงบสุขของจิตใจนั่นเอง  จิตใจจะสงบสุขได้ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติจิตตภาวนา มีการเจริญสมาธิและวิปัสสนา ในเบื้องต้นก็ต้องทำจิตให้สงบก่อน  ด้วยการทำสมาธิ  เมื่อจิตสงบตัวลงแล้ว  จะเห็นความสุขที่แท้จริงว่าอยู่ตรงไหน เมื่อมีความสงบสุขแล้ว   เวลาความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นมา จะเห็นทันทีว่า  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง เป็นเหมือนกับไฟ  ที่มาทำลายความสงบสุข เผาผลาญจิตใจ  เมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว ก็จะมีความตั้งใจ มีความอยากที่จะชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง  เพราะรู้ว่า  สิ่งที่ทำลายความสุขในจิตใจไม่ใช่อะไรที่ไหน  ไม่ใช่เป็นสิ่งที่มาจากภายนอก แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในใจ คือ ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง นั่นเอง 

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องเจริญธรรมขั้นต่อไปคือวิปัสสนา วิปัสสนาคือการรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย  ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรโลภ ไม่ควรโกรธ ไม่ควรหลงด้วย เพราะเหตุใด  เพราะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นของที่ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ใช่เป็นของๆเรา เวลาที่มีความโลภ  ท่านก็ทรงสอนให้เจริญอนิจจัง คือความเป็นของไม่เที่ยง  สิ่งที่เราต้องการนั้น ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข   เมื่อได้มาแล้วสักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป  ถ้าเขาไม่หมดไปก่อน  เราก็ต้องหมดไปก่อนเขา  ร่างกายเราก็เป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่เราต้องการก็เป็นของไม่เที่ยง  ถ้ามีความยินดีมากน้อยแค่ไหน  เวลาสูญเสียไป ก็จะมีความทุกข์มากน้อยตามกันไป ถ้าไม่มีความยินดี เวลาสูญเสียไป  ก็จะไม่ทุกข์

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เจริญอนิจจังอยู่เสมอ ให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าลาภ  ยศ  สรรเสริญ  กามสุข เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น  ตั้งอยู่แล้วก็ต้องดับไป ไม่ช้าก็เร็ว  เขาไม่จากเราไป เราก็ต้องจากเขาไป  ถ้าเราไม่ยินดีไม่ติดในสิ่งเหล่านี้  เวลาพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้ก็จะไม่มีความทุกข์กับสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้ามีความยึด มีความติด มีความรัก มีความชอบในสิ่งเหล่านี้ เวลาต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะต้องเกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง  เช่นคนที่เรารัก  สามีก็ดี  ภรรยาก็ดี  บุตรหรือธิดาก็ดี  ถ้ารักเขามากๆ เวลาเขามีอะไรเป็นไปขึ้นมา เช่นตายจากไป  เราก็จะต้องมีความทุกข์อย่างยิ่ง

พระพุทธองค์จึงทรงสอนไม่ให้ไปยินดีกับสิ่งเหล่านี้  อย่าไปโลภ  อย่าไปอยาก  ถ้าไม่มีก็จงอยู่แบบไม่มีจะสบายใจกว่า  ยิ่งมีมากยิ่งทุกข์มาก  ยิ่งมีน้อยยิ่งทุกข์น้อย  ถ้าไม่มีเลยก็จะไม่มีความทุกข์เลย เพราะโดยธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา เป็นทุกข์นั่นเอง  คำว่าทุกขังก็คือทุกข์ ถ้ามีแล้วมันจะทุกข์ เวลาอยู่ตัวคนเดียวเรามีความสบาย  เราไม่มีความทุกข์ แต่เราไม่รู้กัน  จึงอยากจะมีสามีบ้าง  อยากจะมีภรรยาบ้าง  อยากจะมีลูกบ้าง  อยากจะมีทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของต่างๆบ้าง แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ทั้งนั้น  เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาแล้ว ก็ต้องทุกข์กับสิ่งเหล่านี้  มีสามีก็ต้องทุกข์กับสามี  มีภรรยาก็ต้องทุกข์กับภรรยา  มีลูกก็ต้องทุกข์กับลูก  มีสมบัติเงินทองข้าวของ  ก็ต้องทุกข์กับสมบัติเงินทองข้าวของเหล่านั้น  ถ้าไม่มีก็ไม่มีความทุกข์

นี่แหละคือสัจจธรรม ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงรู้ทรงเห็น  แล้วก็นำมาสั่งสอนพวกเรา วิถีชีวิตของพระพุทธองค์เป็นแบบฉบับที่ดี  พระพุทธองค์เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์เจ้าแผ่นดิน มีทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่า ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  กามสุข แต่พระพุทธองค์กลับทรงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุข  แต่เป็นความทุกข์  เมื่อเป็นเช่นนั้นพระพุทธองค์จึงทรงสลัดสิ่งเหล่านี้ทิ้งไปแล้วออกบวช แสวงหาความสุขที่แท้จริงที่มีอยู่ภายในจิตใจ  ด้วยการทำจิตให้สงบ  ตัดกิเลส ความโลภ  ความโกรธ ความหลง ให้ออกไปจากจิตจากใจ  ด้วยการเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เห็นว่า สภาวธรรมทั้งปวงเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์  เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา

ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้ เป็นของโลกนี้อยู่แล้ว  เราเพียงแต่มาอาศัย  มาใช้ไปวันๆหนึ่งเท่านั้นเอง เรามาตัวเปล่าๆ เวลาไปก็ไปตัวเปล่าๆ เวลาตายไป เขาจับเราใส่โลง เขาก็ไม่ได้เอาของต่างๆที่เรามีอยู่ใส่โลงไปด้วย  เราไปตัวเปล่าๆ  แม้กระทั่งร่างกายนี้เราก็ยังเอาไปไม่ได้  ร่างกายนี้ก็ถูกเผากลายเป็นเถ้าถ่านไป สิ่งที่จะติดตัวเราไปก็มีบุญและบาปเท่านั้นเอง บุญกรรมนี้เป็นสิ่งที่ติดอยู่กับจิตใจ  เมื่อจิตใจออกจากร่างกาย  ก็เรียกว่าดวงวิญญาณ เวลาไปเกิดก็เรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ทีนี้จะไปเกิดในท้องมนุษย์  หรือท้องสุนัข  ก็ขึ้นอยู่กับบุญกับกรรมที่ทำมา  ถ้าทำบุญก็มีโอกาสที่จะไปเกิดในท้องมนุษย์ ถ้าทำแต่กรรมก็มีโอกาสที่จะไปเกิดในท้องสุนัข หรือ ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์นรก ก็เป็นได้

นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็น  แต่เป็นสิ่งที่เราไม่เห็นกัน เพราะดวงวิญญาณเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม ต้องมีญาณหยั่งรู้ถึงจะเห็นดวงจิต ดวงวิญาณได้  ในฐานะที่พวกเราเป็นเหมือนคนตาบอด  จึงขอให้เชื่อในสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนและพยายามประพฤติปฏิบัติตาม คือชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ตัดความโลภ ความโกรธ  ความหลง  ด้วยการทำบุญให้ทาน  รักษาศีล  บำเพ็ญจิตตภาวนา ไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิ  บริกรรมพุทโธ พุทโธ เจริญวิปัสสนา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  อย่างต่อเนื่องจนความโลภ  ความโกรธ  ความหลงค่อยๆหมดไปทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งหมดสิ้นไปจากจิตจากใจ  เมื่อหมดสิ้นไปแล้วรับรองได้ว่าจะไม่มีความทุกข์หลงเหลืออยู่ภายในจิตใจเลยแม้แต่นิดเดียว  จะมีแต่ความสุขที่ถาวร  เป็นความสุขที่ไม่เสื่อมคลาย เพราะว่าต้นเหตุของความทุกข์ไม่มีเหลืออยู่ในจิตใจเลย การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้