กัณฑ์ที่ ๖๒ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๔
อุบาสก
อุบาสิกา
พระพุทธเจ้าทรงได้พระนามว่าพุทธะ
แปลว่าผู้รู้
คือผู้มีวิชาความรู้
ที่ปุถุชนคนธรรมดาสามัญอย่างเราอย่างท่านไม่รู้กัน
ทรงรู้เรื่องนรกสวรรค์
รู้เรื่องบาปกรรม รู้เรื่องบุญกุศล
รู้เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
รู้ว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเมื่อตายไปแล้วจากภพหนึ่งก็จะต้องไปเกิดใหม่อีกภพหนึ่ง
จะไปเกิดที่สูงที่ต่ำก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ทำเอาไว้
ทำบุญไว้มากก็ไปเกิดในภพที่สูง
ทำกรรมไว้มากก็ไปเกิดในภพที่ต่ำ
ทรงรู้เรื่องทุกข์และการดับทุกข์
ทรงสามารถประพฤติปฏิบัติตนเองให้อยู่เหนือความทุกข์ได้
บรรลุถึง มรรค ผล
นิพพาน
อันเป็นธรรมอันประเสริฐสูงสุดที่สัตว์โลกทั้งหลายจะปฏิบัติไปถึงได้
ผู้ใดได้บรรลุถึงมรรค ผล
นิพพาน ผู้นั้นถือว่าพ้นเวรพ้นกรรม
เวรกรรมทั้งหลายที่ได้ทำมามากน้อยแค่ไหนในอดีตก็จะตามไม่ทัน
ไม่สามารถส่งให้ไปเกิดในที่ต่างๆได้อีกต่อไป
เพราะจิตได้หลุดพ้นจากอำนาจของเวรกรรมทั้งหลายแล้ว
ผู้ที่เข้าหาพระศาสนาควรสนใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะศาสนาสอนให้ฉลาดมากขึ้น
ไม่ใช่โง่มากขึ้น
แต่ในความเป็นจริงแล้วพุทธศาสนิกชนไทยส่วนใหญ่เข้าวัดแล้วกลับโง่มากขึ้นไปอีก
แทนที่จะฉลาดมากขึ้น
เพราะไม่สนใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
กลับไปเชื่อกันแบบงมงาย
เชื่อแบบลมๆแล้งๆ
ไม่รู้ว่าศาสนาสอนให้เชื่อ
ให้ทำอะไร ศาสนานี้เป็นศาสนทำ
ทำนี้ไม่ได้หมายถึงธรรม
แต่หมายถึงทำ
หมายความว่าต้องทำถึงจะได้
ไม่ใช่ศาสนขอ
ไม่ใช่ตะเกียงวิเศษที่เวลาต้องการอะไร
เพียงเอาตะเกียงขึ้นมาลูบสามครั้ง
แล้ว
ก็มียักษ์ออกมาจากตะเกียงแล้วถามว่าคุณต้องการอะไร เราพร้อมจะบริการ
แบบนี้ไม่ใช่ศาสนาพุทธ
พุทธศาสนาไม่ได้ให้อะไรนอกจากสอนให้รู้จักว่า
อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล
ถ้าต้องการผลก็ต้องสร้างเหตุนั้นขึ้นมา
ถ้าต้องการกินส้ม
ก็ต้องปลูกต้นส้ม
ถึงจะมีส้มเกิดขึ้นมาได้
ถ้าไม่ปลูกส้มรอไปจนวันตายก็ไม่มีส้มให้กินฉันใด ถ้าปรารถนาความสุข
ความเจริญ
ตามที่พระสวดให้ฟังเสมอว่า
ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ
สุขะ พละ ลาภ
ยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการกระทำ
ใครทำใครได้ ไม่ทำก็ไม่ได้
ดังคำสุภาษิตที่ว่า ความดีซื้อไม่ได้
ต้องทำกัน
เช่นเดียวกับความสุข
ความเจริญรุ่งเรือง
ความเป็นสิริมงคล
ต้องทำความดีด้วยกาย วาจา
ใจ ไม่ใช่มาวัด กราบพระ
แล้วก็อธิษฐานขอพร
ให้ได้สิ่งต่างๆมา
พระท่านให้ไม่ได้
แม้แต่พระท่านเองท่านก็ต้องทำของท่าน
พระพุทธเจ้าก็ต้องทำเอง
พระพุทธองค์ทรงทนทุกข์ทรมานอยู่ถึง
๖ ปี อยู่อย่างขอทาน
กว่าจะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า
พระอริยสงฆสาวกทั้งหลายก็ปฏิบัติกันมาอย่างลำบากยากเย็น ต่อสู้กับกิเลส
ต่อสู้กับความโลภ ความโกรธ
ความหลง อยู่แบบอดๆอยากๆ
จนได้บรรลุธรรมขึ้นมาได้
ได้สิ่งที่ท่านปรารถนา
คือความสุขใจ ความพ้นทุกข์ นี่คือสิ่งที่ไม่มีใครทำให้เราได้
ต้องทำกันเอง
ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า
อัตตาหิ
อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
ต้องการอะไรก็ต้องทำให้สิ่งนั้นๆเกิดขึ้นมา
ไม่มีใครหยิบยื่นให้กับเราได้
เราต้องช่วยตัวเราเอง
พุทธศาสนิกชนควรสำรวจตัวเองว่า
เป็น พุทธแท้ หรือ
พุทธปลอม
เพราะส่วนใหญ่จะไม่รู้เรื่องศาสนา
ไม่รู้ว่าพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ สอนให้ทำอะไร
สิ่งแรกที่ควรจะทำก็คือศึกษาพระธรรมคำสอน
ซึ่งก็ทำได้หลายวิธี
เข้าหาพระ หาผู้ที่มีธรรม
ฟังเทศน์
ฟังธรรมจากท่านหรืออ่านหนังสือธรรมะทั้งหลายที่คัดมาจากพระไตรปิฎก
หรือเขียนโดยพระเกจิอาจารย์ทั้งหลายผู้ได้บรรลุธรรมแล้ว ผู้รู้จริงเห็นจริง
เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ต้องศึกษาว่า การที่จะเป็นพุทธแท้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
พุทธศาสนิกชนที่แท้จริงต้องเป็นผู้อยู่ใกล้พระรัตนตรัย
มีความเชื่อในพระรัตนตรัย
ถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
เรียกว่า ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา
ในที่นี้จะพูดถึง อุบาสก
อุบาสิกา
ซึ่งมีคุณสมบัติอยู่ ๕
ประการ คือ
๑.
ศรัทธา ๒.
ศีลบริสุทธิ์
๓. ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว
๔. ไม่แสวงหาบุญนอกคำสอนของพระพุทธศาสนา
๕. เป็นผู้ขวนขวายทำนุบำรุงพุทธศาสนา
เป็นคุณสมบัติของพุทธแท้
๑.
ศรัทธา
ความเชื่อ คือเชื่อว่า
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นผู้รู้จริง เห็นจริง
ในเรื่องบาป บุญ คุณโทษ
เรื่องนรก เรื่องสวรรค์
เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
เรื่องกรรม เรื่องวิบาก
รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์
อะไรเป็นโทษ คือ เชื่อในหลักกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ไม่มีใครสามารถทำให้เราหลีกเลี่ยงกรรมดีกรรมชั่วได้
เราเท่านั้นจะเป็นผู้หลีกเลี่ยงได้
ด้วยการประพฤติดีปฏิบัติชอบทางกาย
ทางวาจา และทางใจ
ทำดีก็จะได้ความสุขความเจริญ
ทำชั่วก็จะมีแต่ความทุกข์ความหายนะ
ความเสื่อมเสีย
๒.
มีศีลบริสุทธิ์
คือถือศีล ๕
ในวันธรรมดา ได้แก่
๑.
ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
๒. ละเว้นจากการลักทรัพย์ ๓. ละเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี
๔. ละเว้นจากการพูดปดมดเท็จ
๕. ละเว้นจากการเสพสุรายาเมา
ถือศีล ๘ ในวันพระ
ด้วยการรักษาเพิ่มจากศีล ๕
อีก ๓ ข้อ ได้แก่
๖. ละเว้นจากการรับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
๗. ละเว้นจากการดูโทรทัศน์
ฟังวิทยุเพื่อความบันเทิง
ดูหนัง ดูละคร เที่ยวเตร่
ร้องรำทำเพลง
และเว้นจากการแต่งหน้าทาปาก
จากการใช้เครื่องหอม
เครื่องสำอางทั้งหลาย ๘. ละเว้นจากการนอนบนฟูกบนเตียงที่นิ่มสบาย
ปูเสื่อนอนก็ได้
เพราะไม่ได้แสวงหาความสุขจากการหลับนอน
แต่แสวงหาความสุขในใจที่เกิดจากการปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรม
เป็นความสุขที่เกิดจากการสะสมบุญกุศล
เป็นความสุขที่ดี
ที่ประเสริฐ
เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งภายนอก
สุขภายนอกต้องมีเงิน มีทอง
จึงจะสุข แต่สุขในใจไม่ต้องมีเงินมีทองก็สุขได้
ขอให้มีศรัทธา
มีความเชื่อว่าความสุขที่แท้จริงมีอยู่ภายในใจ
๓.
ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว
เช่นไม่เชื่อว่าการกราบไหว้บูชา
ต้นไม้
หรือสัตว์ประหลาดต่างๆ
จะทำให้เป็นคนวิเศษขึ้นมาได้
หรือดลบันดาลให้ประสบความสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาได้
ไม่เชื่อว่าพระสงฆ์องค์เจ้าเคาะหัว
ถ่มน้ำลายใส่ศีรษะแล้วจะทำให้มีแต่ความสุขความเจริญ ซึ่งเป็นการเชื่อมงคลตื่นข่าว
เป็นการเชื่อที่ไม่มีเหตุไม่มีผล
แต่จะเชื่อในหลักกรรม
เชื่อว่าทำดีต้องได้ดี
ไม่มีใครทำให้ใครได้
ตนเท่านั้นเป็นที่พึ่งของตน
ความเป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นผลของกรรมที่ทำมาในอดีต
ทั้งในชาตินี้และชาติก่อนๆ
ที่ส่งผลให้มาเกิด
เป็นชายบ้าง เป็นหญิงบ้าง
จนบ้าง รวยบ้าง ฉลาดบ้าง
โง่บ้าง
มีรูปร่างหน้าตาสวยงามบ้าง
มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์บ้าง
มีอาการครบ ๓๒ บ้าง ไม่ครบ ๓๒
บ้าง มีอายุยืนบ้าง
มีอายุสั้นบ้าง มีสุขภาพแข็งแรงบ้าง
มีโรคภัยเบียดเบียนบ้าง
เป็นวิบาก คือผลของกรรมที่ได้กระทำมาในอดีตทั้งในชาตินี้และชาติก่อนๆ
ถ้าปรารถนาสิ่งที่ดีที่จะเกิดในอนาคต
ก็ควรทำแต่ความดี ละบาป พยายามทำบุญทำทานอย่างสม่ำเสมอ
เข้าหาผู้รู้ พระสุปฏิปันโน
เพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนและประพฤติปฏิบัติตาม
๔.
ไม่แสวงหาบุญนอกคำสอนของพระพุทธเจ้า
แต่จะเชื่อฟังในสิ่งต่างๆ
ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนในมงคล
๓๘ ได้แก่ ๑.
ไม่คบคนพาล
๒. คบบัณฑิต
๓. บูชาบุคคลที่ควรบูชา
๔. อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี
๕. ได้ทำบุญไว้ในอดีต
๖. ตั้งตนไว้ชอบ
๗. ศึกษาเล่าเรียนมาก
ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ ๘. มีศิลปวิทยา ๙. มีระเบียบวินัย ๑๐. มีสุภาษิตวาจา ๑๑.บำรุงบิดามารดา
๑๒. สงเคราะห์บุตร
๑๓. สงเคราะห์ภรรยา
๑๔. การงานไม่อากูล
๑๕. รู้จักให้
เผื่อแผ่แบ่งปัน
๑๖. ประพฤติธรรม
ดำรงอยู่ในศีลธรรม
๑๗. สงเคราะห์ญาติ
๑๘. การงานที่ไม่มีโทษ
๑๙. เว้นจากความชั่ว
๒๐. เว้นจากการดื่มน้ำเมา
๒๑. ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย
๒๒. มีความเคารพ
๒๓. สุภาพอ่อนน้อม
ถ่อมตน ๒๔. สันโดษ
๒๕. มีความกตัญญู
๒๖. ฟังธรรมตามกาล ๒๗.
มีความอดทน
๒๘. ว่าง่ายสอนง่าย
๒๙. ได้พบเห็นสมณะผู้ทรงธรรม
๓๐. สนทนาธรรมตามกาล
๓๑. มีความเพียรเผากิเลส
รู้จักบังคับควบคุมตน
ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก
๓๒. ประพฤติพรหมจรรย์
รู้จักควบคุมตนในทางเพศ
๓๓. เห็นอริยสัจจ์
เข้าใจความจริงของชีวิต
๓๔. ทำพระนิพพานให้แจ้ง
๓๕. จิตไม่หวั่นไหวเมื่อถูกโลกธรรมกระทบ
๓๖. จิตไร้เศร้า
๓๗. จิตปราศจากธุลี
๓๘. จิตเกษม
๕.
ขวนขวายทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ด้วยการสร้างและบูรณะศาสนวัตถุต่างๆ
ดูแลพระภิกษุ สามเณร
นักบวชในพระพุทธศาสนาให้ได้ศึกษา
ปฏิบัติ เผยแผ่ธรรม
รู้ว่าอะไรควรถวาย
อะไรไม่ควรถวาย
เพราะบวชเพื่อตัดความโลภ
ความโกรธ ความหลง
ใช้ชีวิตเรียบง่าย
มีบริขาร ๘ เป็นสมบัติ
อาศัยปัจจัย ๔
ที่ศรัทธาญาติโยมถวาย
ได้แก่อาหารบิณฑบาต จีวร
ยารักษาโรค กุฏิเสนาสนะ
การถวายสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับพระ
แทนที่จะมีประโยชน์กลับจะเป็นโทษขึ้นมาได้ เช่นการถวายเงินถวายทองโดยไม่มีเหตุผล ว่ามีความจำเป็นหรือไม่
ถ้าเพื่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟ
หรือซ่อมแซมกุฏิ โบสถ์ วิหาร
ศาลา
หรืออะไรก็ตามที่มีความจำเป็น
การถวายเงินถวายทองนั้นก็เป็นคุณเป็นประโยชน์ แต่ถ้าถวายเงินไปโดยไม่มีเหตุผล
จะทำให้มีเงินทองมากแล้วก็ไปเสริมให้เกิดกิเลสขึ้นมา
ทำให้เกิดความโลภ
อยากจะมีสิ่งต่างๆที่ไม่มีความจำเป็นแก่สมณะบริโภค
การจะทำนุบำรุงพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง
จึงต้องศึกษาดูว่าอะไรควร
และอะไรไม่ควรแก่พระภิกษุสามเณร
ขอให้ดูพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง
พระพุทธองค์ทรงดำเนินชีวิตอย่างไร
พระอรหันตสาวกท่านดำเนินชีวิตอย่างไร
ท่านมีชีวิตที่เรียบง่าย
ไม่มีสมบัติมากมาย
มีแค่บริขาร ๘
คือ บาตร ไตรจีวร ประคดเอว เข็มกับด้าย
มีดโกน ที่กรองน้ำ
เป็นสมบัติประจำตัว
ของที่มีความจำเป็น
สำหรับพระก็มีอยู่เท่านี้
มีบริขาร ๘ นี้แล้ว
ก็สามารถไปได้ทุกหนทุกแห่งในโลกนี้
เวลาทำนุบำรุงพระภิกษุสามเณรจึงควรระมัดระวัง
อย่าส่งเสริมให้ท่านกลายเป็นฆราวาส
อยู่แบบฆราวาส มีโทรทัศน์
โทรศัพท์ วิทยุ รถยนต์ พัดลม
เครื่องปรับอากาศ
เครื่องอำนวยกามสุขต่างๆ
ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว
การบวชคงไม่ใช่เพื่อธรรม
ตามที่พระพุทธเจ้าทรงได้ดำเนินมา
พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสวงหาความสุขจากวัตถุต่างๆ แต่ทรงแสวงหาความสุขจากการประพฤติปฏิบัติธรรม จากการอยู่อย่างมักน้อยสันโดษ ใช้เท่าที่จำเป็น ตามมีตามเกิด ไม่เป็นผู้มักมาก ไม่ไปเคาะประตูบ้านขอเงินขอทอง ไม่ประกาศบอกบุญ ไม่เอาบาตรเรี่ยไร แต่ไม่ปฏิเสธศรัทธาของญาติโยม ไม่ขอ ใครอยากทำก็ทำไป ส่วนท่านก็พิจารณาดูว่าสมควรว่าจะใช้เท่าไร อย่างไร ถ้าทางวัดมีพอเพียงแล้วก็เอาไปสงเคราะห์โลกต่อไป เอาไปช่วยเหลือคนยากคนจน ที่ไม่มียารักษาโรค อดอยากขาดแคลน คนเช่นนี้ยังมีอยู่อีกมากในสังคมที่ไม่มีใครดูแล ยังต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่น ถ้ามีคุณธรรมแล้วย่อมไม่สะสมเงินทองเก็บไว้ ย่อมเอาเงินเอาทองที่มีอยู่ไปช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนเดือดร้อน การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้