กัณฑ์ที่ ๖๓   ๒๙  เมษายน  ๒๕๔๔

ประมาณ ๔

 

พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า คุณลักษณะของบุคคลที่เป็นเครื่องวัดความเลื่อมใสชื่นชมยินดี มีอยู่ ๔ ประการด้วยกัน  เรียกว่า ประมาณ ๔  ได้แก่ . รูปประมาณ ความเลื่อมใสในรูป  . โฆษประมาณ เลื่อมใสในเสียง   . ลูขประมาณ เลื่อมใสในความคร่ำหรือปอน        .  ธรรมประมาณเลื่อมใสในคุณธรรม

. รูปประมาณ ความเลื่อมใสในรูป  ชื่นชมยินดีในคนที่มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม สง่าผ่าเผย ผิวพรรณผ่องใส  เวลาเห็นแล้วเกิดความสุข  เช่นพวกดาราภาพยนตร์ ละคร ลิเก หมอรำ นางงาม นางแบบ นายแบบทั้งหลาย

. โฆษประมาณ เลื่อมใสในเสียง   คือ เสียงที่ดังกังวาน สดใส  ไพเราะเพราะพริ้ง  อ่อนหวาน  ฟังแล้วเกิดความชื่นชอบ ยินดี มีความสุข เช่นเสียงของนักร้องเพลงทั้งหลาย หรือเสียงที่สุภาพ มีสาระประโยชน์ เป็นความจริง มีเหตุผล หลักการ ถูกต้อง เช่นเสียงของนักพูดที่ดีทั้งหลาย 

. ลูขประมาณ  เลื่อมใสในความคร่ำหรือปอน        คือการประพฤติตนแบบปอนๆ คร่ำคร่า แบบเรียบง่าย อย่างพระภิกษุบางองค์บางท่านที่ใช้แต่ผ้าบังสุกุลจีวร ซึ่งเป็นผ้าที่ถูกทิ้งอยู่ในป่าช้า เป็นผ้าห่อศพ แล้วนำมาตัดเย็บ ย้อมด้วยน้ำฝาด    ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระ มหากัสสปะว่าเป็นผู้มีความขวนขวายในการอยู่แบบปอนๆ ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ไม่เห่อของใหม่ ใช้แต่ของที่มีอยู่ จนกว่าจะใช้ไม่ได้

.  ธรรมประมาณ  เลื่อมใสในคุณธรรม     คือเอาเนื้อหาสาระ   เหตุผล หลักการ ความถูกต้อง เป็นประมาณ เช่นเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า และพระอริยสงฆสาวกทั้งหลาย เพราะเป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม มีเหตุมีผล ทำแต่คุณแต่ประโยชน์ 

ในบรรดาเครื่องวัดความเลื่อมใสนี้  เครื่องวัดด้วยรูปก็ดี ด้วยเสียงก็ดี ด้วยการประพฤติปอนๆก็ดี  ยังเป็นเครื่องวัดที่ไม่แน่นอนเพราะเป็นของเสแสร้งหรือจัดฉากกันได้ รูปสวยแต่ใจร้ายก็มี เสียงดีแต่ใจไม่ดีก็มี  การประพฤติปอนๆเป็นการสร้างภาพจัดฉากขึ้นมาหลอกกันก็ได้  ทั้งๆที่ใจอยากจะได้ของใหม่ๆใช้ ได้ของดีๆใช้ อยากจะใช้ของฟุ่มเฟือย แต่เพราะอยากจะให้คนเลื่อมใสศรัทธา เลยต้องประพฤติปอนๆ เครื่องวัดความเลื่อมใสทั้ง ๓ นี้จึงเป็นเครื่องวัดที่ไม่แน่นอน  เครื่องวัดที่แน่นอนคือคุณธรรมในใจ การวัดคุณธรรมในใจต้องอยู่ร่วมกัน จึงจะรู้ว่ามีคุณธรรมมากน้อยแค่ไหน จะรู้ว่า  ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี พูดปดมดเท็จ เสพสุรายาเมา หรือไม่ มีเหตุมีผล มีความโลภ ความโกรธ ความหลงมากน้อยแค่ไหน  มีจิตสงบเยือกเย็น  ควบคุมอารมณ์ได้ หรือไม่  อยู่กับคนที่มีคุณธรรมมีแต่ความสุข  เหมือนอยู่กับน้ำเย็น  ไม่เหมือนอยู่กับคนที่ไม่มีคุณธรรม มีแต่ความโลภโมโทสัน  เปรียบเหมือนอยู่กับไฟ  มีแต่ความทุกข์วุ่นวายใจ

ถ้าปรารถนาให้เป็นที่ชื่นชอบศรัทธาเลื่อมใสของผู้อื่น  ขอให้สร้างคุณธรรมขึ้นมาในใจ  แม้รูปร่างหน้าตาจะไม่สวยงาม  เสียงจะไม่ไพเราะ  จะไม่ประพฤติปอนๆ ก็จะไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด   ขอให้มีคุณธรรมอยู่ในใจ ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง  ไม่ใช้อารมณ์  ใช้เหตุใช้ผล  มีจิตใจสงบเยือกเย็น  จะทำอะไรจะพูดอะไร ก็คิดเสียก่อน ว่าสิ่งที่จะทำ จะพูดนั้น จะส่งผลกระทบอย่างไร  ถ้าสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นหรือกับตนเอง  หรือทั้งกับตนเองและผู้อื่น  ก็ไม่ควรจะทำในสิ่งนั้นๆ  ไม่ควรพูดในสิ่งนั้นๆ  ถ้าจะพูดก็ควรพูดในสิ่งที่ดี ที่มีคุณ มีประโยชน์    ถ้าสามารถควบคุมการกระทำให้อยู่ในกรอบที่ดีที่งาม อยู่ในกรอบของศีลของธรรมได้แล้วละก็  จะทำให้ผู้อื่นเลื่อมใสศรัทธา ชื่นชมยินดีในตัวเราอย่างแน่นอน  จะอยู่กับใครที่ไหนก็จะมีแต่คนขอร้องให้อยู่  เวลาจากไปก็มีแต่คนอาลัยอาวรณ์ 

การดำเนินชีวิตให้มีความสุขความเจริญ  จึงต้องมีคุณธรรมในใจ ให้รู้จักทำบุญทำทาน รักษาศีล ทำให้มีสมาธิ มีปัญญา ด้วยการอบรมจิต เจริญจิตตภาวนา  ไหว้พระสวดมนต์ เจริญสมาธิ  ด้วยการมีสติกำหนดระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือบริกรรม พุทโธๆๆ หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก  พยายามควบคุมจิตใจให้อยู่กับอารมณ์เหล่านี้  ไม่ให้จิตไปคิดไปนึกถึงเรื่องราวต่างๆ แล้วจิตจะค่อยๆสงบลง  รวมเป็นสมาธิ ตั้งมั่น เป็นเหมือนกับหิน  เมื่อกระทบกับอะไร  จะไม่หวั่นไหว    จะไม่ไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ จะไม่โกรธง่าย  ไม่โลภง่าย  ไม่หลงง่าย

แต่ถ้าไม่มีสมาธิ  จิตจะเป็นเหมือนกับนุ่น  เวลามีอะไรมากระทบ ก็จะลอยตามไป  เวลาความโลภมากระทบก็จะโลภตาม  เวลาความโกรธมากระทบก็จะโกรธตาม  เวลาความหลงมากระทบก็จะหลงตาม  เป็นเหมือนนุ่น  เวลามีลมพัดก็จะลอยไปตามลม  แต่ถ้าเป็นหิน  ต่อให้มีพายุแรงขนาดไหนก็ไม่สามารถทำให้หินเคลื่อนไหวลอยตามไปได้  จิตที่เป็นสมาธิก็เป็นเช่นนี้  ไม่หวั่นไหวง่าย  ไม่วิตกไปกับเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น จะเลวร้ายขนาดไหน จะดีขนาดไหน ก็สามารถรับได้ ไม่เดือดร้อน ไม่กังวล ถ้าไม่มีสมาธิ เวลามีอะไรเกิดขึ้นมาก็จะเป็นเหมือนกระต่ายตื่นตูม  เกิดความวิตก เกิดความกลัวขึ้นมา  เวลามีใครมาเล่าอะไรให้ฟัง ก็เกิดความเสียอกเสียใจ  ร้องห่มร้องไห้ หรือดีอกดีใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจริงเท็จอย่างไร  เป็นลักษณะของจิตที่ไม่มีสมาธิไม่มีความหนักแน่น

ถ้าได้พัฒนาจิตด้วยการฝึกฝนอบรม          ควบคุมให้อยู่กับคำบริกรรม พุทโธๆๆ   หรืออยู่กับลมหายใจเข้าออก  ควบคุมไปเรื่อยๆ อย่าให้จิตออกไปอยู่กับเรื่องอื่นๆ จิตจะค่อยๆสงบลง จนเป็นสมาธิ มีความมั่นคง นำความสุขมาให้ จิตที่ไม่มีความมั่นคง จะมีแต่ความฟุ้งซ่าน  ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้  มีแต่ความทุกข์ความไม่สบายใจ ถ้าปรารถนาความสุขความเจริญ  ความเลื่อมใสศรัทธาของบุคคลอื่นในตัวเราแล้ว  จงสร้างคุณธรรม คุณงามความดี  ด้วยการทำบุญทำทาน รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา ทำจิตให้มั่นคง ไปอยู่ที่ไหนกับใคร จะมีแต่คนเลื่อมใสศรัทธา การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้