กัณฑ์ที่ ๖๖      ๖ พฤษภาคม ๒๕๔๔

อานิสงส์ของการให้ทาน

 

เจตนารมณ์ของการทำบุญคือการสร้างความสุขความเจริญให้กับตน  เวลามาวัดมักจะได้ยินว่ามาทำบุญทำทานอยู่เสมอๆ แต่อาจจะไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการทำบุญให้ทาน  บางท่านอาจจะเข้าใจว่าการนำข้าวปลาอาหารและจตุปัจจัยไทยทานมาถวายพระเรียกว่าเป็นการทำบุญ  แต่ถ้าเอาข้าวของไปแจกคนอื่นที่ไม่ใช่พระก็เรียกว่าเป็นการให้ทาน   ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด  เพราะว่าการกระทำทั้ง ๒ ชนิดนี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นการให้ทานเหมือนกัน เป็นบุญเหมือนกัน เพราะการให้ทานเป็นบุญอย่างหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ

การทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่การให้ทานแต่เพียงอย่างเดียว   พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ถึง ๑๐ ประการด้วยกัน  คือ . ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ . สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี . ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา   . อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม  . เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้ . ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการด้วยการเฉลี่ยความดีให้แก่ผู้อื่น เช่นการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  . ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น  . ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรม  . ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรม   ๑๐. ทิฏฐุชุกัมมนามัย ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้อง

นี่คือบุญทั้ง ๑๐ ประการที่เมื่อกระทำไปแล้วจะเกิดความสุขใจขึ้นมา  เพราะว่าบุญคือความสุขใจในปัจจุบัน และเมื่อตายไปก็จะไปสู่สุคติ ไปสู่ที่ดีที่ชอบต่อไป ขอให้ทำความเข้าใจไว้ว่าการให้ทานคือบุญอย่างหนึ่ง  ไม่ว่าจะให้กับใครก็ตาม ให้กับพระสงฆ์องค์เจ้าก็เป็นบุญ ให้กับบิดามารดา ให้กับสามีภรรยา ให้กับบุตรธิดา ให้กับญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลาย ให้กับคนที่ไม่รู้จัก หรือแม้แต่ให้กับสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย เช่น นก ปลา สุนัข แมว ก็เป็นบุญทั้งนั้น   เพราะเมื่อทำไปแล้วใจจะดีขึ้น จะสะอาดขึ้น เป็นการชำระ ความโลภ ความตระหนี่ ความหวง ที่มีอยู่ในใจ เป็นการชำระความเห็นแก่ตัว  ซึ่งเป็นความหลงอย่างหนึ่งให้ออกไปจากใจ

การให้ทานมีอยู่    ลักษณะด้วยกัน คือ . ให้ทานด้วยศรัทธา ความเชื่อ   . ให้ทานด้วยความเคารพ   . ให้ทานตามกาลตามเวลา   . ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์  . ให้ทานโดยที่ไม่กระทบตนและผู้อื่น การให้ทานเหล่านี้มีอานิสงส์ที่ต่างกันไป  แต่ที่เหมือนกันก็คือการให้ทานทั้ง ๕ ประการนี้ เมื่อถึงเวลาที่ผลบุญของการให้ทานจะปรากฏขึ้นมา  บุคคลนั้นๆจะมีความมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเงินทอง  นอกจากนั้นแล้วยังมีอานิสงส์อื่นเพิ่มขึ้นมาจากการให้ทานตามลักษณะของทานนั้นๆ เช่น

. ให้ทานด้วยศรัทธา ความเชื่อ  เวลาอานิสงส์ของทานนี้เกิดขึ้นจะทำให้ไปเกิดเป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีผิวพรรณผ่องใส 

. ให้ทานด้วยความเคารพ เช่นเวลาถวายของให้กับพระ จะทำด้วยความนอบน้อม เวลาตักบาตร จะถอดรองเท้า ไม่ใส่รองเท้าตักบาตร  เพราะว่าถ้าใส่รองเท้าตักบาตรจะยืนสูงกว่าพระ  เป็นการขาดความเคารพในทาน เป็นการให้ทานเหมือนกันแต่ไม่ได้ให้ด้วยความเคารพ เหมือนกับให้ขอทาน  ก็โยนใส่ลงไปในขัน  เป็นการให้ทานเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ให้ทานด้วยความเคารพ  ถ้าจะให้ทานด้วยความเคารพ ต้องมีกิริยาอาการที่อ่อนน้อม   ต้องอยู่ที่ต่ำกว่าผู้รับ อานิสงส์ของการทำทานด้วยความเคารพจะทำให้บุคคลใกล้ชิด เช่น สามีก็ดี ภรรยาก็ดี บุตรธิดาก็ดี คนรับใช้หรือบริษัทบริวารก็ดี  จะให้ความเคารพนับถือเลื่อมใสศรัทธาเชื่อฟังในตัวเรา 

. ให้ทานตามกาลตามเวลา หมายถึงการทำบุญให้ทานเฉพาะในวันสำคัญๆเช่น วันเกิด วันขึ้นปีใหม่ วันสำคัญทางศาสนา   ถ้าไม่มีวันสำคัญเหล่านี้ก็จะไม่ได้ทำ  เป็นการทำทานตามกาล  อานิสงส์ของผู้ให้ทานตามกาลตามเวลาคือ เวลาเกิดความจำเป็นต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้นๆมาได้ด้วยความง่ายดาย คือมาตามกาลตามเวลาเหมือนกัน  ในบางครั้งบางคราวอาจจะมีความขัดสน มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะได้สิ่งนั้นมา  อาจจะขัดสนเงินทองก็จะมีเงินมีทองขึ้นมา  ถ้าไม่มีที่พักก็จะมีที่พักขึ้นมา  ไม่มีอาหารรับประทานก็จะมีอาหารขึ้นมา  อย่างนี้เป็นต้น  เรียกว่าอานิสงส์ของการให้ทานตามกาล 

. ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์  มีเจตนามุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น เห็นคนตกทุกข์ได้ยาก มีความลำบากลำบนก็อยากจะสงเคราะห์  เห็นคนป่วย คนเจ็บ คนแก่ คนชรา คนขอทาน  คนที่ประสบกับภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม ไฟไหม้ ทุกข์ยากลำบาก  ก็มีความกรุณา มีความสงสารอยากจะช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่คนเหล่านั้น  ด้วยการให้สิ่งของต่างๆ อานิสงส์ของทานแบบนี้ ก็คือเมื่อมีทรัพย์แล้ว จะได้ใช้ทรัพย์นั้นอย่างเต็มที่  คือจะไม่มีความรู้สึกเสียดาย ตระหนี่ หวงแหน จนกลายเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ไป  มีเงินมีทองกลับไม่กล้าใช้ กลัวอด กลัวอยาก กลัวยาก กลัวจน อย่างนี้จะไม่เกิดกับคนที่ให้ทานเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น

. ให้ทานโดยที่ไม่กระทบตนและผู้อื่น หมายถึงเวลาให้ทาน สิ่งของที่ให้เป็นของที่หามาได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองหรือผู้อื่น   หามาได้ด้วยความสุจริต ไม่ได้เกิดจากการฆ่า จากการลักทรัพย์ จากการพูดปดมดเท็จ จากการประพฤติผิดประเวณี  ไม่ได้ขายตัวเพื่อเอาเงินมาทำบุญ  ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  ด้วยการยัดเยียด บังคับ ให้ร่วมทำบุญ แจกซองแล้วกำหนดว่าจะต้องใส่ซองเท่านั้นเท่านี้ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าทำอย่างนี้แล้วถือว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น  อานิสงส์ของการทำทานที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองหรือกับผู้อื่น คือทรัพย์สมบัติเงินทองที่มีอยู่จะไม่สูญไปเพราะภัยต่างๆ เช่นจากไฟไหม้ก็ดี น้ำท่วมก็ดี จากการถูกยึดทรัพย์โดยพระราชามหากษัตริย์ก็ดี ถูกโจรขโมยไปก็ดี ถูกลูกหลานล้างผลาญไปก็ดี 

นี่คือลักษณะของการให้ทานและอานิสงส์ทั้ง ๕ ประการด้วยกัน คือ . ให้ทานด้วยศรัทธา ความเชื่อ   . ให้ทานด้วยความเคารพ   . ให้ทานตามกาลตามเวลา   . ให้ทานด้วยจิตอนุเคราะห์  . ให้ทานโดยที่ไม่กระทบตนและผู้อื่น จึงขอฝากเรื่องราวของการทำบุญให้ทานนี้ไว้เพื่อศึกษาพินิจพิจารณา และประพฤติปฏิบัติตามแต่จะเห็นสมควร  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้