กัณฑ์ที่ ๗๓ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔
กรรมฐาน
๔๐
มีวิศวกรอยู่คณะหนึ่งได้ยินกิตติศัพท์ของพระรูปหนึ่ง
ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่า
ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีสติปัญญามาก
จึงอยากจะไปพิสูจน์ดูว่า
ปัญญาของพระองค์นี้เป็นอย่างไร
ถึงมีคนยกย่องกันนักหนา
เมื่อได้ไปกราบท่านและพอมีโอกาส
ก็ถามปัญหาเพื่อทดสอบปัญญาของท่านว่า
หลวงพ่อครับ
เรือบินมันบินได้อย่างไร
หลวงพ่อท่านก็ตอบกลับทันควันว่า
จิต พวกวิศวกรถึงกับอึ้งไปขณะหนึ่ง
แต่หลังจากได้พิจารณาแล้ว
ก็ยอมรับในปัญญาของหลวงพ่อ
ว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง
เพราะถ้าไม่มีจิตแล้ว
สิ่งต่างๆก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้
แม้แต่ร่างกายของเราเอง
ก็ยังต้องมีจิตเป็นผู้สั่งการถึงจะเคลื่อนไหวได้
ที่ท่านทั้งหลายมาที่วัดนี้ได้
ก็เพราะจิตเป็นผู้พามา
เป็นผู้สั่งการ
ถึงจะมาที่นี่ได้ รถยนต์ถ้าไม่มีจิตสั่งการ
ก็ขับเคลื่อนไปไม่ได้
เรือบินก็เช่นกัน
ต้องจอดอยู่กับที่
ต้องมีผู้สั่งการถึงจะขับเคลื่อนไปได้
ผู้ขับก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
ก็คือจิตนั่นเอง
พระพุทธองค์จึงแสดงไว้ว่าไม่มีอะไรที่จะสำคัญยิ่งใหญ่เท่ากับจิต
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากจิต
แม้ว่าความสุขก็ดี
ความทุกข์ก็ดี จิตเป็นผู้สร้างขึ้นมา
และจิตก็เป็นผู้รับผลของการกระทำของจิต
จิตจะสุขหรือทุกข์ก็ขึ้นกับการกระทำของจิตเอง จิตที่ฉลาดย่อมทำแต่สิ่งที่นำแต่ความสุขมาให้
จิตที่โง่เขลาเบาปัญญาย่อมจะทำแต่สิ่งที่นำความทุกข์มาให้แก่จิต
พระพุทธองค์จึงสอนให้ชาวพุทธทั้งหลายให้พัฒนาจิต
ดูแลรักษาจิตด้วยการปฏิบัติธรรม
เจริญจิตตภาวนา ดูแลจิต
รักษาจิตให้เป็นจิตที่สะอาด
เป็นจิตที่ฉลาด
เป็นจิตที่สงบ
เมื่อมีการเจริญจิตตภาวนาแล้ว
จิตจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดี
จิตจะมีความสงบร่มเย็น
มีความฉลาด มีปัญญา การเจริญจิตตภาวนาแบ่งไว้เป็นสองขั้นตอน ขั้นแรกเรียกว่าสมถภาวนา
คือการทำจิตให้สงบ
ขั้นตอนต่อมาเรียกว่าวิปัสสนาภาวนา
คือการทำให้เกิดปัญญา
เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งหลาย
ที่มีอยู่ในโลกนี้
ที่จิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
ให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง
เป็นของไม่เที่ยง
เป็นสภาพที่ไม่น่ายินดี
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาปราศจากตัวตน
สาเหตุที่ทุกคนที่อยู่ในโลกนี้มีแต่ความวุ่นวาย
มีแต่ความทุกข์กัน
ก็เพราะว่าขาดปัญญา
ขาดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้อง
ว่าสิ่งต่างๆในโลกนี้
ไม่ใช่ความสุขเลย
มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น
เพราะโดยธรรมชาติของสิ่งต่างๆเหล่านี้
เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เป็นของที่ไม่สามารถยึดไว้เป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีการแปรสภาพ
มีการเสื่อม และมีการดับสลายไปในที่สุด
สิ่งไหนถ้าเราไปยึด
ไปหวังให้เป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้
สิ่งนั้นก็จะให้ความสุขกับเราในขณะที่ยังคงสภาพอยู่ เมื่อเปลี่ยนไป สลายไป
ความสุขที่ได้จากสิ่งเหล่านั้นก็จะหมดไป
กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมาแทนที่
นี่คือเรื่องของสภาวธรรมทั้งหลายในโลกนี้
ที่จิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เห็นด้วยปัญญาว่า
สภาวธรรมทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่เป็นตัวตน
เรียกว่า อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา เป็นไตรลักษณ์
ไตรคือสาม ลักษณ์คือลักษณะ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมีลักษณะ
๓ เหมือนกันหมด เป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
แต่จิตที่ไม่ได้รับการ
การเจริญจิตตภาวนาเป็นการชำระซักฟอกกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
โมหะความโง่เขลาเบาปัญญา
ที่ครอบงำหุ้มห่อจิตไว้
เปรียบเหมือนกับกระจกรถยนต์
ถ้าไปโดนโคลนโดนฝุ่นเข้าก็จะมัว
ทำให้คนขับรถไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่าข้างหน้ารถมีอะไรอยู่บ้าง
ถ้าไม่เอาน้ำมาล้างชำระให้ใสสะอาด
ก็ไม่สามารถขับรถไปได้ด้วยด้วยความสะดวก
สบาย ราบรื่น ปลอดภัย
ถ้าได้เอาน้ำมาชำระล้างออกไปแล้ว
กระจกก็จะใส ก็จะสามารถเห็นสิ่งต่างๆได้ฉันใด
จิตก็ฉันนั้น
จิตที่มีกิเลส โมหะ อวิชชา
ครอบงำอยู่
ไม่ได้รับการชำระซักฟอก
ก็จะเป็นจิตที่มีแต่ความมืดบอด
โง่เขลาเบาปัญญา มีมิจฉาทิฏฐิ
ความเห็นผิด
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
การเจริญจิตตภาวนาจึงเป็นการชำระจิตให้สะอาดหมดจด
เมื่อจิตมีความสะอาดแล้ว
จิตจะมีความสงบ มีความอิ่ม
มีความพอ
การทำจิตให้สงบมีหลายวิธีด้วยกัน
ท่านที่เคยไปตามสำนักต่างๆ
จะสังเกตเห็นว่าแต่ละสำนักจะมีวิธีสอนการทำสมถภาวนา
คือการทำจิตให้สงบไม่เหมือนกัน
บางสำนักก็สอนให้เจริญยุบหนอ
พองหนอ ให้ดูการพองและยุบของหน้าท้อง
บางสำนักก็ให้กำหนดดูลมหายใจเข้าออก
บางสำนักก็ให้บริกรรมคำว่าพุทโธๆๆๆ
บางสำนักก็ให้เพ่งดูลูกแก้วสีขาวๆ
ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการเจริญสมถภาวนาด้วยกันทั้งสิ้น
เป็นเพราะเหตุใดถึงได้มีวิธีการที่แตกต่างกัน ก็เพราะกรรมฐานที่ใช้เป็นอารมณ์ทำให้จิตสงบมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน
ตามจริตนิสัยที่หลากหลายไม่เหมือนกัน
คนเรามีความชอบ
ความถนัดไม่เหมือนกัน
เหมือนกับอาหารที่มีหลากหลายชนิดด้วยกัน
ร้านอาหารแต่ละร้านก็มีอาหารมากมายหลายอย่าง
เพื่อให้คนรับประทานได้เลือกตามความพอใจ
แต่ก็เป็นอาหารทั้งนั้น
เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วก็จะทำให้อิ่มเหมือนกันหมด
กรรมฐานที่เป็นอารมณ์ทำให้จิตมีความสงบก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน
แต่ก็มีไว้สำหรับทำให้จิตสงบด้วยกันทั้งนั้น
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ถึง
๔๐ ชนิด เรียกว่ากรรมฐาน
๔๐
แบ่งเป็น
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสติ ๑๐
กสิณ
๑๐ คือวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ
ได้แก่ ๑.
ปฐวีกสิณ
กสิณที่ใช้ดินเป็นอารมณ์
๒.
อาโปกสิณ
กสิณที่ใช้น้ำเป็นอารมณ์
๓.
เตโชกสิณ
กสิณที่ใช้ไฟเป็นอารมณ์
๔.
วาโยกสิณ
กสิณที่ใช้ลมเป็นอารมณ์
๕.นีลกสิณ
กสิณที่ใช้สีเขียวเป็นอารมณ์
๖.
ปีตกสิณ
กสิณที่ใช้สีเหลืองเป็นอารมณ์
๗.
โลหิตกสิณ
กสิณที่ใช้สีแดงเป็นอารมณ์
๘.
โอทาตกสิณ
กสิณที่ใช้สีขาวเป็นอารมณ์
๙.
อาโลกกสิณ
กสิณที่ใช้แสงสว่างเป็นอารมณ์
๑๐.
อากาสกสิณ
กสิณที่ใช้ที่ว่างเปล่าเป็นอารมณ์
อสุภ
๑๐ คือ
ซากศพในสภาพต่างๆที่ใช้เป็นอารมณ์แห่งสมถกรรมฐาน
ได้แก่ ๑.
ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด
๒. ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่างๆ ๓. ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตามที่ที่แตกปริออก
๔. ซากศพที่ขาดจากกันเป็น
๒ ท่อน ๕. ซากศพที่ถูกสัตว์
เช่น แร้ง กา สุนัข จิก
ทึ้งกัดแล้ว ๖.
ซากศพที่กระจุยกระจาย
มือ เท้า ศีรษะ
หลุดออกไปข้างๆ
๗. ซากศพที่ถูกสับฟันบั่นเป็นท่อนๆ
กระจายออกไป ๘.
ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบเรี่ยราดอยู่
๙. ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด
๑๐. ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก
หรือ กระดูกท่อน
อนุสติ
๑๐
คือ
อารมณ์อันควรระลึกถึงเนืองๆ
ได้แก่ ๑.
พุทธานุสติ
ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระองค์
๒.
ธัมมานุสติ
ระลึกถึงพระธรรม
น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระธรรม
๓.
สังฆานุสติ
ระลึกถึงพระสงฆ์
น้อมจิตระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระสงฆ์
๔.
สีลานุสติ
ระลึกถึงศีล
น้อมจิตรำลึกพิจารณาศีลของตนที่ได้ประพฤติปฏิบัติ
บริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อย
๕.
จาคานุสติ
ระลึกถึงการบริจาค
น้อมจิตระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้ว
๖.
เทวตานุสติ
ระลึกถึงเทวดา
น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลาย
๗.
มรณสติ
ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา
พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท
๘.
กายคตาสติ
มีสติรู้อยู่ที่กาย
กำหนดพิจารณากายนี้
ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆอันไม่สะอาด
ไม่งาม น่ารังเกียจ
เป็นการรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้
มิให้หลงใหลมัวเมา ๙.
อานาปานสติ
มีสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
๑๐.
อุปสมานุสติ
ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ
ระลึกถึงและพิจารณาคุณของพระนิพพาน
อันเป็นที่ระงับกิเลสและความทุกข์
พรหมวิหาร
๔
คือ
ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ
จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด
และปฏิบัติตนต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายโดยชอบ
ได้แก่ ๑.
เมตตา
ความรักใคร่ ปรารถนาดี
อยากให้เขามีความสุข
๒.
กรุณา
ความสงสาร
คิดช่วยให้พ้นทุกข์
๓.
มุทิตา
ความยินดีในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข
๔.
อุเบกขา
ความวางใจเป็นกลาง
ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง
พิจารณาด้วยปัญญาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว
ดีหรือชั่ว
ย่อมต้องรับผลของกรรมนั้น
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
คือการกำหนดพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร
จตุธาตุววัฏฐาน
คือการกำหนดพิจารณาร่างกายของตนว่าเป็น
ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
หามีตัวตนไม่
อรูป
๔
คือ อรูปฌาน ๔
ได้แก่ ๑.
อากาสานัญจายตนะ
ฌานอันกำหนดอากาศ คือ
ช่องว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์
๒.
วิญญาณัญจายตนะ
ฌานอันกำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ ๓.
อากิญจัญญายตนะ
ฌานอันกำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆเป็นอารมณ์
๔.
เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ฌานอันเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่
ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่เป็นอารมณ์
เหตุที่มีกรรมฐานอยู่
๔๐ ชนิด
ก็เป็นเพราะว่าจริตนิสัยของคนมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ในทางศาสนาแยกไว้อยู่
๖ ชนิด คือ ๑.ราคจริต
๒. โทสจริต
๓. โมหจริต
๔. สัทธาจริต
๕. พุทธิจริต
๖. วิตกจริต
๑.ราคจริต
คือผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ
หนักไปทางรักสวยรักงาม
ชอบเห็นของสวยๆงามๆ
กรรมฐานคู่ปรับสำหรับแก้
คือ อสุภะ และ กายคตาสติ
คือ
การเจริญดูในส่วนที่ไม่สวยไม่งาม
ดูซากศพ ดูอาการ ๓๒
ของร่างกาย
หญิงชายที่ชอบกันเพราะเห็นรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม แต่ความเป็นจริงแล้ว
ส่วนนี้เป็นเพียงครึ่งเดียวของร่างกาย
เวลายังมีชีวิตอยู่
รูปร่างหน้าตาก็เป็นอย่างหนึ่ง
เวลาตายไปแล้วก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง
อวัยวะต่างๆที่อยู่ใต้ผิวหนังก็ไม่สวยงาม
การที่จะระงับความฟุ้งซ่านของจิตให้สงบสำหรับผู้ที่มีราคะจริต
จึงต้องเจริญอสุภกรรมฐาน
และ กายคตาสติกรรมฐาน
๒.
โทสจริต
คือผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ
หนักไปทางใจร้อน
หงุดหงิด กรรมฐานที่เหมาะ
คือ พรหมวิหาร และ
กสิณ
ควรเจริญเมตตาภาวนา
ให้อภัย ไม่จองเวรจองกรรมกัน
ให้เห็นว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย
เป็นพี่เป็นน้องกัน
ควรให้อภัยกัน
เป็นกรรมฐานที่ระงับความฟุ้งซ่านของจิตที่เกิดจากความโกรธ
คือโทสะ
๓.โมหจริต
คือผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ
หนักไปทางเขลา
เหงาซึม งมงาย
กรรมฐานที่เกื้อกูล คือ อานาปานสติ
กำหนดดูลมหายใจเข้าออก
หรือยุบหนอพองหนอ
หายใจเข้าท้องก็พองออกมา
หายใจออกท้องก็ยุบเข้าไป
วิธีนี้จะช่วยทำให้จิตใจสงบได้
ผู้ที่มีโมหจริตควรเข้าหาผู้รู้
ศึกษาธรรม สนทนาธรรม
ถามปัญหาธรรม
เพื่อให้เกิดความรู้
ความฉลาด
ความเข้าใจที่ถูกต้อง
๔.
สัทธาจริต
คือผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ
หนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง
ชื่นบาน
น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย
กรรมฐานที่เหมาะ คือ อนุสติ ๖
ข้อต้น ได้แก่ ๑.
พุทธานุสติ
๒.
ธัมมานุสติ
๓.
สังฆานุสติ
๔.
สีลานุสติ
๕.
จาคานุสติ
๖.
เทวตานุสติ
จะทำให้จิตใจสงบลงได้
๕.
พุทธิจริต
คือผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ
หนักไปทางใช้ความคิดพิจารณา กรรมฐานที่เหมาะ
คือ มรณสติ
อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐาน
และ อาหาเรปฏิกูลสัญญา
มรณสติคือการพิจารณาความตาย
จตุธาตุววัฏฐาน คือ
การพิจารณาความเป็นธาตุ ๔
ของร่างกาย ดิน
น้ำ ลมไฟ พิจารณาว่าร่างกายนี้เกิดมาได้อย่างไร อาศัยอะไรทำให้เป็นรูปร่างหน้าตานี้ขึ้นมา
และเมื่อร่างกายนี้แตกไปแล้ว
ดับไปแล้ว จะกลับไปสู่อะไร
ถ้าไม่กลับไปสู่ธาตุ ๔ ดิน
น้ำ ลม ไฟ
๖.
วิตกจริต
คือผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ
หนักไปทางนึกคิดจับจด
ฟุ้งซ่าน กรรมฐานเครื่องแก้
คือ อานาปานสติ หรือ
เพ่งกสิณ
เวลามีความวิตกอย่าไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ
พยายามกำหนดดูลมหายใจ
ให้มีสติรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก
แล้วจิตก็จะค่อยๆสงบลงๆ
เมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว
ความวิตกกังวลต่างๆก็จะหายไป
จิตโดยธรรมชาติแล้วจะอยู่เฉยๆไม่ได้
จะอยู่นิ่งไม่ได้
เหมือนกับรถที่วิ่งลงภูเขา
อยู่เฉยๆจะให้มันหยุดไม่ได้
ถ้าไม่เหยียบเบรคแล้ว
ไม่มีทางที่จะหยุดได้ฉันใด
จิตก็เหมือนกัน
ถ้าไม่ควบคุมผูกจิตไว้กับกรรมฐาน
ใดกรรมฐานหนึ่งโดยมีสติเป็นเชือกผูกไว้แล้ว
จิตจะไม่สงบเลย
จึงต้องอาศัยการบำเพ็ญสมถภาวนา
เลือกกรรมฐานที่ถูกจริตเป็นเครื่องควบคุมจิต
มัดจิตไว้ไม่ให้ลอยไปไหน
เหมือนกับเรือ ถ้าไม่เอาเชือกผูกไว้กับหลัก
เรือก็จะไหลไปกับน้ำฉันใด
จิตถ้าไม่มีกรรมฐานผูกไว้แล้ว
จิตก็จะลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ
ถ้าจิตลอยไปกับอารมณ์ต่างๆ
ก็จะไม่มีความสงบ เมื่อไม่มีความสงบก็จะไม่มีความสุข
ไม่มีความสบาย ไม่มีความอิ่ม
ผู้ที่ปรารถนาความสุขของใจ
จึงต้องเจริญสมถภาวนาในเบื้องต้นก่อน
คือต้องทำจิตให้สงบให้ได้โดยอาศัยกรรมฐานชนิดใดชนิดหนึ่งที่ถูกกับจริต
ถ้าเป็นราคจริตก็ให้เจริญอสุภกรรมฐาน
ถ้าเป็นโทสจริตก็ให้เจริญเมตตาภาวนา
ถ้าเป็นโมหจริตก็ให้ใช้อานาปานสติ
หรือ ยุบหนอพองหนอ ถ้าเป็นสัทธาจริต
ก็ให้เจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ
หรือสังฆานุสติ
ถ้าเป็นพุทธิจริต
ก็ให้เจริญมรณสติ
ถ้าเป็นวิตกจริตก็ให้เจริญอานาปานสติเป็นต้น
การที่จะเจริญกรรมฐานให้เป็นผลได้
ต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติแล้วเจริญไปเท่าไร
เช่นบริกรรมคำว่า พุทโธๆๆ
แต่ในขณะเดียวกันก็ไปคิดเรื่องอื่น
ถ้าทำอย่างนี้แล้วจิตจะไม่สงบ
ต้องมีสติอยู่กับคำบริกรรม
ถ้าบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ
ก็ขอให้อยู่กับคำว่าพุทโธๆๆ
พุทโธๆๆอย่างเดียว
ให้จิตเป็นปัจจุบัน
ให้จิตอยู่กับคำว่าพุทโธๆๆ
อย่าให้จิตลอยไปในอดีต
หรือลอยไปในอนาคต
หรือไปคิดเรื่องอื่นจิตจะต้องอยู่กับองค์กรรมฐาน
ถ้าอยู่กับองค์กรรมฐานอย่างต่อเนื่องแล้ว
จิตจะ ค่อยๆสงบลง
ค่อยๆ สงบลง ในที่สุดก็จะสงบนิ่งไป
การสงบของจิตเป็นไปได้สองลักษณะ
บางจริตจะสงบลงอย่างรวดเร็วเหมือนกับคนตกหลุมตกบ่อ
บางคนเพียงแต่บริกรรมคำว่าพุทโธๆๆไปได้ไม่กี่นาที
จิตก็รวมลงเป็นหนึ่ง
เป็น เอกัคคตารมณ์
เหมือนกับคนเดินตกบ่อ
วูบลงไปแล้วก็นิ่ง
อย่างนี้เป็นลักษณะหนึ่ง
อีกลักษณะหนึ่ง
คือค่อยๆนิ่ง ค่อยๆสงบลงไป
เหมือนกับขับรถแล้วค่อยๆชะลอความเร็วลง
เหยียบเบรกไปเรื่อยๆ
จนรถจอดนิ่งในที่สุด
นี่คือการสงบของจิต
มีสองลักษณะด้วยกัน
ความสงบของจิตเรียกว่าสมาธิ
หรือ การรวมของจิต
ซึ่งมีอยู่สองแบบด้วยกัน
ถ้ารวมชั่วขณะหนึ่งแล้วถอนออกมาเรียกว่า
ขณิกสมาธิ
ถ้ารวมลงแล้วตั้งอยู่นานเป็นชั่วโมง
เรียกว่า อัปปนาสมาธิ
สมาธิทั้งสองแบบนี้
เมื่อรวมลงไปแล้วจะไม่มีการคิดปรุง
มีอยู่อารมณ์เดียวคือ
เป็นอุเบกขา
มีสักแต่ว่ารู้อยู่
เมื่อออกจากสมาธินี้แล้ว
จิตจะมีพลัง มีความสดชื่นเบิกบาน
มีความอิ่ม
พร้อมที่จะปฏิบัติธรรมขั้นต่อไป
คือวิปัสสนา การพิจารณาดูสภาวธรรมทั้งหลายให้เห็นว่าเป็น
อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา มีสมาธิอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ
อุปจารสมาธิในทางปฏิบัติท่านแสดงไว้ว่า
จิตรวมลงเป็นหนึ่งแล้วแต่ไม่นิ่งอยู่ในความสงบ แต่จะถอยออกมาเล็กน้อย
แต่ไม่ถึงกับขั้นปกติจิต
แล้วรับรู้เรื่องราวต่างๆ
เปรียบเหมือนกับคนนอนหลับแล้วฝัน
คนที่นอนหลับแล้วไม่ฝันเลยเปรียบเหมือนกับการเข้าอัปปนาสมาธิ
หรือ ขณิกสมาธิ
ไม่มีความคิดปรุงแต่งเลย
ผู้ที่ได้อุปจารสมาธิจะออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ
ทั้งภายนอกและภายใน
เรื่องราวภายในก็เป็นเรื่องราวของตนเอง
เรื่องราวภายนอกก็หมายถึงกายทิพย์ต่างๆ
เทพ เปรต อสุรกาย
จะเกิดขึ้นในอุปจารสมาธิ
อุปจารสมาธิเป็นสมาธิที่ไม่เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติวิปัสสนา
เมื่อออกจากอุปจารสมาธิแล้ว
จิตจะไม่มีพลัง ไม่สดชื่น
เบิกบาน
เพราะจิตไม่ได้พักผ่อนนั่นเอง
เปรียบเหมือนกับคนนอนหลับ
คนที่นอนหลับสนิทเวลาตื่นขึ้นมาแล้ว
จะมีความสดชื่น มีกำลังวังชา
ไม่เหมือนกับคนที่นอนหลับแล้วฝันไป
เวลาตื่นขึ้นมาจะไม่ค่อยสดชื่นเท่าไร
เพราะไม่ได้พักเต็มที่
ในเบื้องต้นสมาธิที่ควรจะเจริญให้มาก
คือ ขณิกสมาธิ กับ อัปปนาสมาธิ
เวลาจิตรวมลงแล้ว
ถ้าเกิดจะออกไปเป็นอุปจารสมาธิ
ให้ดึงจิตไว้ให้อยู่กับตัว
อยู่กับผู้รู้
อย่าให้จิตออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ
เพราะจะทำให้เสียได้
จะไม่นำไปสู่การปฏิบัติขั้นต่อไป
คือขั้นวิปัสสนา แต่ถ้าได้อัปปนาสมาธิ
หรือ ขณิกสมาธิแล้ว เป็นจิตที่รวมแล้วนิ่งอยู่
เวลาออกจากสมาธิจะเป็นจิตที่สดชื่นเบิกบาน
อารมณ์ต่างๆเบาบาง
ถึงแม้จะมีอยู่แต่ก็ไม่รุนแรง
คืออารมณ์โลภ โกรธ หลง
จะเบาบาง แต่ยังไม่หมด
จึงต้องอาศัยการเจริญวิปัสสนาเป็นเครื่องทำลายต่อไป
ด้วยการพิจารณาให้เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย
ว่าเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่เป็นตัวตน
แล้วจิตจะไม่มีความยินดีกับสิ่งต่างๆ
ความโลภก็จะไม่เกิดขึ้น
ความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น
ความหลงก็จะหมดไป
นี่คือการเจริญจิตตภาวนาเพื่อชำระจิต
เพื่อให้ใจมีความสงบ
มีความสุข
คนเราทุกวันนี้ไม่มีความสุขกัน
ก็เพราะกิเลสในใจเป็นตัวก่อกวน
เวลาโลภก็อยู่เฉยๆไม่ได้
เวลาโกรธก็อยู่เฉยๆไม่ได้
เวลาหลงก็อยู่เฉยๆไม่ได้
ต้องออกไปหาสิ่งต่างๆ
ตามคำสั่งของกิเลส
ถ้าโลภก็ต้องออกไปหาข้าวหาของหาโน่นหานี่
ถ้าโกรธก็ต้องไปมีเรื่องมีราวกับคนนั้นคนนี้
ถ้าหลงก็ต้องไปทำเรื่องนั้นทำเรื่องนี้
นี่คือลักษณะของใจที่มีกิเลสตัณหาครอบงำอยู่
ถ้าชำระจิตด้วยการเจริญจิตตภาวนา
ให้สะอาดหมดจดไม่มี
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
เหลืออยู่แล้ว ใจก็จะสงบ
อยู่เป็นสุข มีความอิ่ม
ความพอ ไม่มีความหิว
ไม่มีความอยากกับอะไรอีกต่อไป
อย่างที่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวกทั้งหลาย
ได้เจริญจิตตภาวนาจนจิตสะอาดหมดจด
สิ้นจากความโลภ ความโกรธ
ความหลงแล้ว
ท่านก็ไม่ไปแสวงหาอะไรอีกต่อไป
ไม่ว่าลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุขต่างๆ
ที่มีอยู่ในโลกนี้
ท่านไม่มีความยินดี
เพราะท่านเห็นด้วยปัญญาแล้วว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้
แทนที่จะเป็นสุขกลับเป็นทุกข์
มีสิ่งใดก็ต้องทุกข์กับสิ่งนั้น
ไม่มีเสียได้จะสบายกว่า
มีเงินมีทองก็ต้องทุกข์กับเงินกับทอง
มีข้าวของก็ต้องทุกข์กับข้าวของ
เพราะอะไร เพราะความห่วง
เพราะความหวง ความเสียดาย
เวลามีก็อยากให้มีอยู่ไปนานๆ
ก็เลยต้องคอยดูแลรักษา
การดูแลรักษาก็เป็นงาน
เป็นภาระ
เป็นความทุกข์ขึ้นมา
แต่ถ้าไม่มีแล้วก็สบายใจ
อยู่ไปวันๆหนึ่งพอมีพอกินก็พอแล้ว
ความสุขที่แท้จริงอยู่ในใจที่สงบระงับจากกิเลสตัณหาทั้งปวง
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้