กัณฑ์ที่ ๗๔     ๖ มิถุนายน  ๒๕๔๔

สังฆเภท

 

เป็นประเพณีของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา  เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาก็จะมีการบวชเป็นพระภิกษุกัน เพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดา  และหลังจากออกพรรษารับกฐินเสร็จแล้ว ก็จะลาสิกขาเพื่อกลับไปใช้ชีวิตของฆราวาสต่อไป   ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ดีที่งาม เพื่อความสุขความเจริญตามที่ได้ร่ำเรียนมา ในระยะนี้จึงมีผู้มีจิตศรัทธาที่จะบวชอยู่จำพรรษา ได้ทยอยกันเข้าวัดมาอยู่เป็นนาคก่อน เพื่อศึกษาวิธีการขานนาคที่จะต้องใช้ในพิธีอุปสมบท  และฝึกหัดใช้ชีวิตอยู่แบบพระไปก่อน  เพื่อทดสอบดูว่าพร้อมที่จะอยู่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมหลักวินัย ตามกฎระเบียบของวัดได้หรือไม่  เพราะที่วัดนี้ปฏิบัติธุดงควัตรกัน  มีการออกบิณฑบาต ฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว   ทำวัตรสวดมนต์นั่งทำสมาธิ ตอนตี ๕ และ ๖ โมงเย็น เป็นกิจวัตรประจำวัน

ธุดงควัตรมีไว้เพื่อปรามกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมต่างๆ ของผู้ที่ต้องการชำระให้กิเลสหมดออกไปจากใจ  เพราะกิเลสเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหลาย  ต้นเหตุของความทุกข์ในจิตใจ และก็ต้นเหตุของความเดือดร้อนของสังคม  สังคมทุกวันนี้ที่มีปัญหาวุ่นวายเดือดร้อน ก็เพราะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอยาก ตัณหาทั้งหลายของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมนี้แหละ  เมื่อมีความอยากแล้วก็ต้องออกไปกระทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นการเบียดเบียนกัน สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่กันและกัน  ผู้ที่ปรารถนาความสุขความเจริญ จึงได้ขวนขวายกันเข้าวัดเพื่อศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าตามแต่ศรัทธา  บางท่านก็บวชเป็นพระภิกษุ บางท่านก็บวชเป็นชีพราหมณ์คือบวชเนกขัมมะถือศีล ๘  บางท่านก็มาทำบุญใส่บาตร ฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นประจำทุกๆวันพระ เป็นวิธีชำระกิเลสให้ออกไปจากจิตจากใจ   จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละท่านที่จะทำกัน

การบวชในสมัยพุทธกาล  จะต่างกับการบวชในสมัยนี้มาก  เพราะในสมัยพุทธกาลจะบวชกันแบบไม่สึก  เพราะบวชเพื่อที่จะตัดสังสารวัฏ ตัดการเวียนว่ายตายเกิดให้ออกไปจากจิตจากใจ ด้วยการตัด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ตัดตัณหา คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความอยากในกาม  ความอยากเป็นใหญ่เป็นโต  ความอยากไม่แก่ ไม่ เจ็บ ไม่ตาย อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์  ในสมัยพุทธกาลผู้ที่ได้ยินได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว จะเกิดศรัทธาอยากออกบวชเพื่อ มรรค ผล นิพพาน ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงบรรลุถึง  ในปลายปีแรกของการตรัสรู้และแสดงธรรมโปรดเจ้าลัทธิกับทั้งพระราชาและมหาชนในแคว้นต่างๆ พระพุทธบิดาก็ทรงส่งทูตไปเชิญเสด็จพระบรมศาสดาให้ไปแสดงธรรมโปรด ณ กรุงกบิลพัสดุ์  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์แสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติแล้ว  พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้โอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก 

พระอานนท์เป็นโอรสของเจ้าชายสุกโกทนศากยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา เมื่อนับโดยเชื้อสาย จึงนับเป็นพระอนุชาหรือลูกผู้น้องของพระพุทธเจ้า ท่านออกบวชพร้อมกับราชกุมารอื่นอีก ๔ รูป คือ  . อนุรุทธะ   . ภัคคุ   . กิมพิละ   . ภัททิยะ รวมเป็น ๕ ท่านในศากยวงศ์  เมื่อรวมกับเทวทัตซึ่งเป็นราชกุมารในโกลิยวงศ์ ๑ กับ อุบาลี ซึ่งเป็นพนักงานภูษามาลา มีหน้าที่เป็นช่างกัลบกอีก ๑ จึงรวมเป็น ๗ ท่านด้วยกัน ในการออกบวชครั้งนั้น  พระโอรสทั้ง ๖ พระองค์มีมติเห็นพ้องต้องกันว่า  เวลาบวชจะให้อุบาลีซึ่งเป็นช่างตัดผมบวชก่อน  จะได้กราบอุบาลีตามหลักอาวุโสภันเตของสงฆ์ เหตุที่ท่านมีมติดังนี้ท่านต้องการตัดการถือตนซึ่งเป็นกิเลสความหลงอย่างหนึ่งให้ออกไปจากจิตจากใจ 

ผู้ที่บวชในพระศาสนาถือว่าได้ตายจากเพศของฆราวาสแล้ว  ตายจากฐานะต่างๆ ที่ตนเคยเป็นอยู่  ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน  เป็นพระราชโอรส เป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นมหาเศรษฐี เป็นนายพล เป็นอะไรก็ตาม  แต่เมื่อได้บวชแล้ว  ก็ถือว่าฐานะเหล่านี้ได้หมดไปแล้ว สิ้นไปแล้ว  ฐานะเหล่านี้ไม่มีอยู่ในสงฆ์  พระภิกษุเคารพกันตามอายุพรรษา  ผู้บวชก่อนถือว่าเป็นผู้อาวุโส เป็นผู้แก่กว่า  ผู้บวชที่หลังจะต้องแสดงความเคารพ จะต้องกราบไหว้ผู้ที่แก่กว่า  เพื่อเป็นการตัดทิฏฐิมานะ การถือตน ว่าตนเป็นผู้สูง เป็นผู้มีฐานะ  พระโอรสทั้ง ๖ พระองค์จึงมีมติให้ช่างตัดผมบวชก่อน การบวชในสมัยพุทธกาลเป็นการบวชเพื่อชำระกิเลส เพื่อความสิ้นทุกข์   ไม่ได้บวชเพื่อการแสวงหาลาภสักการะ หาชื่อเสียงให้คนเคารพนับถือกราบไหว้บูชา 

ใน ๗ ท่านนี้เมื่อออกบวชแล้วก็มีชื่อเสียงมากอยู่ ๔ ท่าน คือ . พระอานนท์ เป็นพุทธอุปฐาก ทรงจำพระพุทธวจนะได้มาก   . พระอนุรุทธะชำนาญในทิพยจักษุ  . พระอุบาลี ทรงจำและชำนิชำนาญในทางพระวินัย  . พระเทวทัต มีชื่อเสียงในทางก่อเรื่องยุ่งยากในสังฆมณฑล จะขอปกครองคณะสงฆ์แทนพระพุทธเจ้า ในที่นี้จะกล่าวถึง พระอานนท์ กับ พระเทวทัต   พระอานนท์เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก คือ ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า ก่อนที่จะรับหน้าที่นี้ ท่านได้ขอพร หรือนัยหนึ่ง เงื่อนไข ๘ ประการจากพระพุทธเจ้า คือ

เงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธ . ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานจีวรอันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์   . ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่ได้แล้วแก่ข้าพระองค์   . ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่โปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์  . ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์

เงื่อนไขฝ่ายขอร้อง   . ถ้าพระองค์จักเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้   . ถ้าข้าพระองค์จักนำบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกล ให้เข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว   . ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้ได้เข้าเฝ้าเมื่อนั้น   . ถ้าพระองค์ทรงแสดงข้อความอันใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ครั้นเสด็จมาแล้วจักตรัสบอกข้อความอันนั้นแก่ข้าพระองค์

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ที่ขอเงื่อนไขฝ่ายปฏิเสธนั้นเพื่ออะไร พระอานนท์กราบทูลว่า เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่าท่านอุปฐากพระพุทธเจ้าเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ ส่วนเงื่อนไขฝ่ายขอร้อง ๔ ข้อนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถาม ท่านก็กราบทูลว่า ๓ ข้อต้น เพื่อป้องกันผู้กล่าวหาว่า พระอานนท์จะอุปฐากพระพุทธเจ้าทำไม ในเมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยเรื่องเพียงเท่านี้ ส่วนเงื่อนไขข้อสุดท้าย ก็เพื่อว่าถ้ามีใครถามท่านในที่ลับหลังพระพุทธเจ้าว่า คาถานี้ สูตรนี้ ชาดกนี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในที่ไหน ถ้าพระอานนท์ตอบไม่ได้ก็จะมีผู้กล่าวว่า พระอานนท์เสด็จตามพระศาสดาไปดุจเป็นเงาตามตัว แม้เรื่องเพียงเท่านี้ก็ไม่รู้  เมื่อพระอานนท์กราบทูลชี้แจงดังนั้นแล้ว พระศาสดาก็ทรงตกลงประทานพรหรือเงื่อนไขทั้ง ๘ ข้อ

เฉพาะพรข้อที่ ๘ เป็นอุปการะแก่การที่จะรวบรวมพระพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่อย่างยิ่ง เพราะเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอานนท์ได้รับหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม เพื่อจัดระเบียบคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ในคราวสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งกระทำภายหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน  พระอานนท์เป็นผู้ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่ามีความทรงจำดี สดับตรับฟังมาก นับว่าท่านได้มีส่วนสำคัญในการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วจัดเป็นหมวดหมู่ต่างๆสืบมาจนทุกวันนี้ พระอานนท์จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อตัดความโลภ ความโกรธ ความหลง  เพื่อ มรรค ผล นิพพาน

ส่วนตัวอย่างที่ไม่ดีที่บวชแล้วทำลายตัวเอง และ ทำลายพระศาสนาก็คือพระเทวทัต  หลังจากที่ท่านได้บวชแล้ว  ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมจนได้ฤทธิ์ของปุถุชน มีความคิดหวังลาภสักการะ จึงแปลงกายเป็นเด็กน้อยไปนั่งอยู่บนตักของราชกุมารชื่อ อชาตศัตรู ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ เมื่อทำให้ราชกุมารเลื่อมใส มีลาภสักการะเกิดขึ้นแล้ว ก็คิดการจะปกครองคณะสงฆ์เสียเองแทนพระพุทธเจ้า เมื่อได้โอกาส พระเทวทัตจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค อ้างว่าพระองค์มีอายุมากแล้ว ขอให้ทรงขวนขวายน้อย และให้สละภิกษุสงฆ์ให้แก่ตน ตนจะบริหารเอง พระผู้มีพระภาคทรงปฏิเสธถึง ๓ ครั้ง และในครั้งที่ ๓ ทรงกล่าวว่า แม้พระสารีบุตร และ พระโมคคัลลานะ พระองค์ยังมิได้มอบพระภิกษุให้ ไฉนจะทรงมอบแก่พระเทวทัต ซึ่งได้ยังความอาฆาตให้เกิดขึ้นแก่พระเทวทัตเป็นครั้งแรก

การประทุษร้ายพระพุทธเจ้าครั้งแรก  พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่า ราชกุมารอยากได้ราชสมบัติ ก็ทรงมอบราชสมบัติให้ พระเทวทัตก็มีอำนาจยิ่งขึ้น จึงขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรู ส่งคนไปคอยฆ่าพระพุทธเจ้า แล้งสั่งว่าถ้าฆ่าแล้วให้ไปทางนั้นๆ แล้วส่งคน ๒ คนไปคอยดักฆ่าคนที่ฆ่าพระพุทธเจ้า ส่งคน ๔ คนไปคอยดักฆ่าพวก ๒ คนนั้น ส่งคน ๘ คนไปคอยดักฆ่าพวก ๔ คนนั้น และส่งคน ๑๖ คนไปคอยดักฆ่าพวก ๘ คนนั้นเพื่อปิดปาก แต่คนเหล่านั้นกลับเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาปฏิญญาตนเป็นอุบาสกหมดสิ้น พระผู้มีพระภาคทรงส่งคนเหล่านั้นกลับไปให้สับทางกับที่พระเทวทัตสั่ง จึงไม่มีการฆ่ากันเกิดขึ้น และเมื่อพวกที่คอยอยู่เห็นนานไป นึกสงสัย มาถามพระพุทธเจ้า ก็ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ต่างแสดงตนเป็นอุบาสกหมดทุกชุด

การประทุษร้ายพระพุทธเจ้าครั้งที่ ๒ เมื่อใช้คนไปฆ่าไม่สำเร็จ พระเทวทัตจึงเตรียมลงมือเอง คือขึ้นไปอยู่บนเขาคิชฌกูฏ คอยกลิ้งก้อนหินใหญ่ให้ลงมาทับพระพุทธเจ้า แต่ไม่สมประสงค์ เพียงสะเก็ดหินที่แตกมากระทบพระบาทห้อพระโลหิตเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายพากันเป็นห่วง จึงมาอยู่ยามเฝ้าแหนพระพุทธเจ้า ท่องบ่นด้วยเสียงอันดัง ด้วยเกรงว่าพระเทวทัตจะส่งคนมาทำร้ายพระพุทธเจ้า เพราะได้กำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรู แต่พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไป ไม่ต้องมีใครมาคุ้มครองให้ แล้วตรัสว่า เป็นธรรมดาที่พระตถาคตจะไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น

การประทุษร้ายพระพุทธเจ้าครั้งที่ ๓  พระเทวทัตไปหาคนเลี้ยงช้างของพระราชา อ้างตนเป็นญาติของพระราชา และอ้างว่าสามารถเลื่อนตำแหน่ง เพิ่มอาหาร เพิ่มค่าจ้างได้ แล้วสั่งให้ปล่อยช้างนาฬาคีรี ซึ่งดุร้ายฆ่ามนุษย์ไปทำร้ายพระพุทธเจ้า ถ้าเห็นพระองค์เสด็จมาทางตรอกนั้น คนเลี้ยงช้างยอมทำตาม เมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาก็ปล่อยช้างไป ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น ก็กราบทูลให้เสด็จหนี แต่ทรงปฏิเสธและตรัสว่า ตถาคตจะไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น ในการนี้มีผู้เห็นเหตุการณ์คอยดูบนที่สูง พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิต ช้างก็เอางวงจับฝุ่นที่พระบาทขึ้นโรยบนกระพองแล้วกลับสู่โรงช้างตามเดิม

พระเทวทัตคิดฆ่าพระพุทธเจ้าไม่สมประสงค์ จึงชวนพรรคพวกมีพระโกกาลิกะเป็นต้น คิดเสนอข้อปฏิบัติ ๕ ประการ เพื่อให้เห็นว่าตนเคร่งครัด คือ   . ให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ป่าตลอดชีวิต  เข้าสู่บ้านมีโทษ   . ให้ถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ   . ให้ถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต รับคฤหบดีจีวร ผ้าที่เขาถวายมีโทษ   . ให้อยู่โคนไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงบังมีโทษ   . ห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต  ฉันเข้ามีโทษ  เมื่อได้โอกาสจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลข้อเสนอทั้ง ๕ ข้อนั้น พระผู้มีพระภาคทรงปฏิเสธ คือใน ๔ ข้อข้างต้น ให้ภิกษุปฏิบัติตามความสมัครใจ ไม่บังคับ โดยเฉพาะข้อที่ ๔ ทรงอนุญาตให้อยู่โคนไม้ได้เพียง ๘ เดือน ฤดูฝนไม่ให้อยู่โคนไม้  และข้อ ๕  การฉันเนื้อสัตว์ ทรงอนุญาตเนื้อสัตว์ที่ บริสุทธิ์ โดยเงื่อนไข ๓ ประการ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้นึกรังเกียจว่า เขาฆ่าเพื่อตน

พระเทวทัตก็ดีใจ ที่จะได้ประกาศว่าตนเคร่งกว่าพระพุทธเจ้า จึงเที่ยวประกาศทั่วกรุงราชคฤห์ถึงเรื่องข้อเสนอนั้น               ครั้นถึงวันอุโบสถ พระเทวทัตก็ชวนภิกษุเป็นพวกได้มาก โดยมากเป็นพระบวชใหม่ แล้วพาภิกษุเหล่านั้นแยกไปทำอุโบสถ ณ ตำบลคยาสีสะ  พระผู้มีพระภาคจึงทรงส่งพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไปชี้แจงให้ภิกษุที่เข้าเป็นพวกพระเทวทัตหายเข้าใจผิด พระเทวทัตเข้าใจว่าพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะมาเข้าพวกด้วย ก็มอบให้พระสารีบุตรสั่งสอนพระเหล่านั้น ตนเองนอนพักผ่อน พระสารีบุตรแสดงธรรมให้พระเหล่านั้นฟัง ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วก็กลับ มีภิกษุเหล่านั้นประมาณ ๕๐๐ รูปตามมา พระโกกาลิกะรีบปลุกพระเทวทัต แจ้งข่าวให้ฟัง พระเทวทัตถึงกับอาเจียนเป็นโลหิต พระผู้มีพระภาคจึงให้ภิกษุเหล่านั้นแสดงอาบัติถุลลัจจัย เพราะประพฤติตามภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้แตกกัน และตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรว่ามีลักษณะสมเป็นทูต เพราะประกอบด้วยองค์ ๘  คือ   . ฟังคนอื่น   . ทำให้คนอื่นฟังตน   . คงแก่เรียน   . ทรงจำดี   . รู้คำพูดของคนอื่น   . ทำให้คนอื่นรู้คำพูดของตน   . ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์   ­. ไม่ชวนทะเลาะ

พระเทวทัตป่วยหนักอยู่ ๙ เดือน เกิดรู้สึกสำนึกตัวว่าได้ทำผิดต่อพระพุทธเจ้ามามากแล้ว ก่อนตายขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลขอขมาโทษ สารภาพความผิดด้วยตนเอง จึงเรียกบรรดาสานุศิษย์ที่ยังจงรักภักดี ให้ช่วยนำตนไปเฝ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร ที่พระผู้มีพระภาคประทับในขณะนั้น สานุศิษย์ได้ใช้เตียงน้อยนำท่านรอนแรมมาจนใกล้พระเชตวัน เมื่อพระภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องการมาของพระเทวทัตให้ทรงทราบ พระองค์ทรงยืนยันว่า พระเทวทัตจะไม่ได้เห็นพระองค์ด้วยอัตภาพนี้ ซึ่งเป็นความจริง พอคณะศิษย์พาพระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณี หน้าพระเชตวัน ก็วางเตียงลงริมสระ แล้วลงไปดื่มน้ำชำระร่างกาย ขณะนั้นพระเทวทัตลุกขึ้นจะลงไปอาบน้ำบ้าง แต่พอย่างเท้าลงถึงพื้นดิน แผ่นดินตรงนั้นก็แยกออก พระเทวทัตจึงตกจมลงไปๆ และขณะจมลงแค่คาง ได้กล่าวคำสรรเสริญพระพุทธคุณ และขอถึงพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง ด้วยกระดูกคาง พร้อมด้วยลมหายใจ ครั้นสิ้นคำสรรเสริญ ร่างของท่านก็จมหายเข้าไปในแผ่นดินทันที

เหตุการณ์นี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก และพระพุทธองค์ทรงถือเอาเหตุการณ์นี้เป็นต้นเหตุ ตรัสเทศนาแก่พุทธบริษัทหลายเรื่องและหลายครั้ง เป็นต้นว่า พระเทวทัตถูกอสัทธรรมครอบงำจิต ได้คิดการอกุศล จนทำให้ตัวต้องตกนรกหมกไหม้ อยู่ในอเวจีอันกว้าง ๓๐๐ โยชน์ ร่างของท่านสูง ๑๐๐ โยชน์ ศีรษะเสียบติดอยู่กับแผ่นเหล็กปิดนรก และเท้าจมติดอยู่กับแผ่นดินเหล็ก ถูกหลาวเหล็กขนาดใหญ่แทงจากข้างหน้า ข้างขวา และทางเบื้องบน ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่จนสิ้นกาลแสนกัป จากนั้นท่านจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า อัฏฐิสสระ ด้วยอำนาจผลบุญที่ถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชา

นี่คือเรื่องราวของการบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎกเพื่อเป็นคติธรรมสอนชาวพุทธทั้งหลาย การปฏิบัติกับพระศาสนา ขอให้มีความระมัดระวัง  ควรศึกษาพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ว่า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ หรือไม่ได้ทรงบัญญัติอะไรไว้  ถ้าไปทำในสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติไว้  หรือไปยกเลิกในสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้  จะเป็นบาปเป็นกรรมกับตัวเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่มีศรัทธา มีความปรารถนาที่จะบวชเพื่อบุญเพื่อกุศล  แต่เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็มาทำเจ้ากี้เจ้าการ บวชแล้วก็อยากจะยกเลิกสิกขาบทข้อนั้นบ้าง ข้อนี้บ้าง  แล้วก็บัญญัติสิกขาบทข้อใหม่ๆขึ้นมา โดยที่พระบรมศาสดาไม่ได้ทรงบัญญัติ  เป็นการทำลายพระศาสนาและทำลายตัวเองโดยไม่รู้ตัว 

หน้าที่ในเบื้องต้นของผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ปรารถนาความสุขความเจริญของตนและของพระศาสนา  คือการศึกษาพระธรรมคำสอน  ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ในข้อห้ามข้อให้  ว่าทรงให้ทำอะไร ทรงห้ามไม่ให้ทำอะไร  แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติจนบรรลุธรรม  ขจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดออกไปจากจิตจากใจเสียก่อน  แล้วจึงค่อยนำความรู้ที่ได้มา สั่งสอนเผยแผ่ให้กับผู้อื่นต่อไป  ถ้ากระทำอย่างนี้แล้วก็จะไม่ขัดกับธรรมกับวินัย  เพราะผู้ที่บรรลุธรรมแล้วเป็นผู้เห็นพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต  ผู้เห็นตถาคตคือผู้ที่เห็นธรรม  เมื่อเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรมแล้ว ย่อมสามารถแสดงธรรมได้อย่างตรงไปตรงมา ถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยนจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย 

แต่ถ้าเรียนอย่างเดียวแล้วมาสั่งสอนผู้อื่น เป็นไปได้ที่จะสอนออกนอกลู่นอกทาง  เพราะสอนแบบคาดคะเน คาดเดา  เหมือนกับผู้ที่ไม่เคยมาวัดญาณฯ เพียงแต่ได้ยินได้ฟังว่าวัดญาณฯเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แล้วไปบอกผู้อื่น  ก็ไม่สามารถบอกตามความเป็นจริงได้  อาจจะเติมแต่งไปบ้างทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นไม่มีในวัด เพราะตัวเองยังไม่ได้มาวัด ยังไม่ได้เห็นกับตา  ไปบอกคนอื่นก็บอกอย่างผิดๆถูกๆ  ผิดกับคนที่เคยมาวัดนี้แล้ว ก็จะบอกได้อย่างถูกต้องว่าวัดนี้เป็นอย่างไร  พระฉันอย่างไร ฉันกี่มื้อ  ฉันในบาตรหรือฉันนอกบาตร อย่างนี้เป็นต้น  แต่คนที่ไม่เคยมาก็จะพูดเดาไป  ไม่รู้แทนที่จะบอกว่าไม่รู้  กลับไปแต่งเรื่องขึ้นมา เป็นเรื่องผิดไปจากความจริง

นี่คือลักษณะของผู้ที่ศึกษาพระธรรมคำสอนแต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ  ได้ยินได้ฟังธรรมวันนี้แล้วแต่ไม่เอาไปปฏิบัติ ไม่นั่งสมาธิ ไม่รักษาศีล ไม่ทำบุญทำทาน  ไม่ตัดความโลภ ความโกรธ ความหลงออกจากจิตจากใจ  ก็จะไม่รู้ถึงคุณของการปฏิบัติธรรม  ไม่รู้ถึงคุณของการรักษาศีล  ไม่รู้ถึงคุณของการทำบุญให้ทาน  ก็จะไม่สามารถสอนคนอื่นให้เกิดศรัทธาขึ้นมาได้  หน้าที่ของชาวพุทธทุกๆคนจึงต้องเรียนก่อน แล้วปฏิบัติ แล้วถึงสั่งสอนคนอื่น  ถ้าประพฤติปฏิบัติตามแนวนี้แล้ว ก็จะเป็นการทำบุญให้กับพระศาสนา ทำบุญให้กับตน  คือตนเองก็ได้บุญได้กุศล  ศาสนาก็จะอยู่ไปอีกยาวนาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่ง ของลูกหลานที่จะตามมาทีหลัง  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

 

หมายเหตุ ข้อมูลบางส่วนได้คัดมาจาก หนังสือพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน  พิมพ์ครั้งที่ ๑๐/๒๕๓๐  โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ และ หนังสือสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ ๑๔ พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.. ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑ หน้า ๘๗๙๔ - ๘๗๙๕