กัณฑ์ที่ ๗๕       ๑๔ มิถุนายน  ๒๕๔๔

นิวรณ์ ๕

การที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาที่ทรงสอน ให้ละการกระทำบาปทั้งปวง ให้กระทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ไม่ง่ายเหมือนกับการไปเที่ยวไปเล่น  เพราะการปฏิบัติธรรมเพื่อคุณงามความดีเปรียบเหมือนกับการปีนเขา  ส่วนการไปเที่ยวไปเล่นเปรียบเหมือนกับการเดินลงเขา   เพราะว่าเวลาที่จะปฏิบัติธรรมมักจะมีอุปสรรคคอยขัดขวางไม่ให้ดำเนินไปได้อย่างสะดวกราบรื่น  ถ้าไม่มีศรัทธาที่แน่วแน่ ไม่มีวิริยะความพากเพียรอย่างแรงกล้า ไม่มีขันติความอดทนที่บึกบึนแล้ว  การปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่ดำเนินไปได้ เพราะจะไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆที่คอยขวางกั้น

อุปสรรคที่กีดขวางความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมมีอยู่ ๕ ประการ เรียกว่านิวรณ์ ๕ เป็นอารมณ์ภายในใจของผู้ปฏิบัติที่ทำให้การปฏิบัติ เช่น การทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การนั่งสมาธิ การเจริญวิปัสสนาเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็น  จึงควรทำความรู้จักว่าอุปสรรคเหล่านี้มีอะไรบ้าง และจะกำจัดได้ด้วยวิธีใด  นิวรณ์ ๕ ได้แก่  . กามฉันทะ ความพอใจในกามสุข   . พยาบาท ความคิดร้ายต่อผู้อื่น   . ถีนมิทธะ ความหดหู่เซื่องซึม  . อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ  . วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

. กามฉันทะ ความพอใจในกามสุข     หมายถึงความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ  ที่มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วสร้างความสุข ความเพลิดเพลินไปขณะหนึ่ง แต่ไม่นำความอิ่มความพอมาให้ ได้เสพวันนี้แล้ว พรุ่งนี้ก็อยากจะเสพอีก เปรียบเหมือนยาเสพติด  เช่นการเที่ยวเตร่ ดูหนัง ดูละคร ฟังเพลง กินอาหาร เสพสุรายาเมา การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง เป็นสิ่งกีดขวางต่อการปฏิบัติธรรม ผู้ที่ปรารถนาความสงบสุข ซึ่งเป็นความสุขที่ประเสริฐกว่ากามสุข จึงต้องกำจัดกามฉันทะให้ออกไปจากจิตจากใจให้ได้ 

วิธีที่จะช่วยกำจัดกามฉันทะคือ . อินทรียสังวร  การสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ให้ไปสัมผัสรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ทำให้เกิดความยินดี ความชอบขึ้นมา  . ศีลสังวร  ความสำรวมกายและวาจา ได้แก่ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์  . เว้นจากการลักทรัพย์   . เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์  . เว้นจากการพูดเท็จ   . เว้นจากการเสพสุรายาเมา  . เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล คือตั้งแต่หลังเที่ยงไปแล้ว   . เว้นจากการฟ้อนรำ เต้นรำ ลีลาศ ขับร้อง คาราโอเกะ บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ของหอม เครื่องสำอาง เครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตบแต่ง ๘. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย

การจะมีอินทรียสังวร คือการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย จำต้องปลีกตัวออกวิเวก ไปตามสถานที่สงบสงัด ตามวัดหรือสำนักปฏิบัติในป่าในเขา ที่ห่างไกลจาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหลาย  ที่กระตุ้นให้เกิดกามฉันทะขึ้นมา ต้องดึงตนเองให้ออกจากบ้านจากเมือง  ที่เต็มไปด้วยสิ่งเย้ายวนกวนใจ ทำให้เกิดความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ควบคู่ไปกับการรักษาศีล ๘ เจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาร่างกายให้เห็นว่าเป็นปฏิกูล เป็นของสกปรก เป็นอสุภ เป็นของไม่สวยไม่งาม พิจารณาดูอาการ ๓๒ ของร่างกาย  ตั้งแต่ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง แล้วก็ทะลุเข้าไปใต้หนัง ไปตามอวัยวะต่างๆ เพื่อตัดความยินดีในความสวยงามของรูปร่างหน้าตา 

ให้เจริญ อาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐาน ให้เห็นความเป็นปฏิกูลของอาหาร เพื่อตัดความยินดีในอาหาร  คือพิจารณาดูอาหารในสภาพต่างๆ ตั้งแต่ที่อยู่ในจานตั้งไว้บนโต๊ะ จัดไว้อย่างสวยงาม แยกแยะไว้เป็นอย่างๆ  มีของคาว ของหวาน จนในที่สุดก็ไปรวมกันในท้อง อาหารจะจัดไว้สวยงามขนาดไหนก็ตาม ถ้าไม่เข้าไปในท้อง อาหารก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะท้องเป็นที่อยู่ของอาหาร ถ้าร่างกายไม่มีอาหารในท้อง ร่างกายก็จะอยู่ไม่ได้  ต้องรับประทานอาหารเข้าไป เวลารับประทานก็ต้องเอาเข้าปาก เคี้ยว ผสมกับน้ำลายแล้วกลืนเข้าไป สภาพของอาหารก็ต้องเปลี่ยนไป แต่คุณค่าของอาหารก็ยังเหมือนเดิม นี่เป็นวิธีที่ใช้กำจัดกามฉันทะ  บางคนติดเรื่องกินข้าวเย็นเลยเข้าวัดไม่ได้  ถือศีล ๘ ไม่ได้ เป็นอุปสรรคขวางกั้นการพัฒนาจิตใจให้ไปสู่คุณธรรมที่สูงขึ้น สู่ความสงบร่มเย็นเป็นสุขของจิตใจ ซึ่งเป็นความสุขที่เหนือกว่ากามสุข  การจะแก้กามฉันทะจึง ต้องมีการสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย  มีศีลสังวร  เจริญอสุภกรรมฐาน เจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญากรรมฐาน พิจารณาอาหารในสภาพต่างๆ ตั้งแต่เข้าไปและออกมาในที่สุด ควรรับประทานอาหารแบบรับประทานยา  เพียงเพื่อดับความหิว เพื่อรักษาร่างกายให้อยู่ไปวันๆหนึ่ง อย่าไปติดรสชาติ อย่าอยู่เพื่อกิน ให้กินเพื่ออยู่

. พยาบาท ความคิดร้ายต่อผู้อื่น     เวลาได้สัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่สบอารมณ์ ก็จะเกิดความไม่พอใจ เกิดพยาบาทคิดร้ายต่อสิ่งนั้นๆ ต่อบุคคลนั้นๆ อยากจะด่าเขา อยากจะทำร้ายเขา จิตมีแต่ความร้อนรน ไม่สงบ ไม่สบาย วิธีที่แก้จึงต้องแก้ด้วยการเจริญเมตตาภาวนา คือให้มองว่าคนเราทุกคนเหมือนกัน มีร่างกายและใจ  ใจก็มีความรู้สึกเหมือนๆกัน อยากจะมีความสุขไม่มีความทุกข์ด้วยกัน  เกิดมาก็ต้องประสบกับความทุกข์ความยากลำบากด้วยกัน  เพราะเกิดในกองทุกข์ของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ของแต่ละคนก็มีมากพอแล้ว ไม่ควรเอาความทุกข์ไปเพิ่มเติมให้กับเขา  ควรช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่กันและกันจะดีเสียกว่า ให้มองว่าเป็นญาติกัน เป็นเพื่อนกัน เป็นพี่น้องกัน อยู่ในกองทุกข์อันเดียวกัน  ถ้าต่างคนต่างหันหน้าเข้าหากัน ช่วยเหลือกันแล้ว ชีวิตก็จะสบายขึ้น ดีขึ้น ดีกว่าการทะเลาะเบาะแว้งกัน แก่งแย่งชิงดี กัน ทำร้ายกัน ทำให้เกิดความทุกข์ ความวุ่นวายใจมากขึ้น ทำให้ไม่สามารถประกอบคุณงามความดีทั้งหลายได้

แต่ถ้ามีความเมตตา มีการให้อภัย เวลามีใครทำให้โกรธ ก็ควรให้อภัย คิดเสียว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมก็เหมือนลิ้นกับฟัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการกระทบกันบ้างเป็นครั้งเป็นคราว  เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็อย่าไปถือโทษโกรธเคือง  เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร  แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ด้วยการให้อภัย  ถ้ารู้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลไม่ดี มีแต่สร้างความทุกข์ เบียดเบียนผู้อื่น ก็พยายามหลบหลีกเสีย อย่าไปเผชิญหน้ากับเขา ชิดซ้ายปล่อยให้เขาไป รู้จักแพ้บ้าง ถือหลักว่า แพ้เป็นพระชนะเป็นโยม ถ้าอยากจะเป็นพระ อยากจะเป็นคนดีก็ต้องรู้จักแพ้  ถ้าอยากจะเป็นโยมก็เอาไปเถิด ก็ต้องกัดกัน ต้องทะเลาะกัน ต้องตีกัน  พระกับโยมแตกต่างกันตรงนี้  พระไม่มีเรื่องกับใคร พระต้องใช้ขันติ ใช้ความอดทน อดกลั้น ใช้ความเมตตา ใช้ปัญญา ต้องรู้จักหลบคนพาล  หลีกคนไม่ดี ไม่คบค้าสมาคมด้วย เพราะจะนำแต่ปัญหามาให้ 

. ถีนมิทธะ ความหดหู่เซื่องซึม   ไม่มีกำลังจิตกำลังใจที่จะทำอะไร  อย่างนี้ต้องเจริญวิริยะบารมี คือความเพียร  ด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ถึงความเพียรของพระพุทธเจ้า ระลึกถึงความเพียรของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก่อนที่ท่านจะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ ท่านก็เป็นปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน ท่านก็มีความรู้สึกอย่างนี้เหมือนกัน แต่ท่านเป็นคนที่ไม่ท้อถอย ยึดมั่นในคุณงามความดี พยายามต่อสู้กับสิ่งที่เป็นอุปสรรคในจิตใจ ไม่ยอมให้อารมณ์เหล่านี้มาลากไปจากการกระทำความดี  ระลึกถึงความไม่จีรังของชีวิต  มีเวลาอยู่ในโลกนี้ไม่นาน ไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องตาย ถ้าตายไปโดยไม่ได้ทำความดีเลย ก็ขาดทุนเพราะจะไม่ได้รับอานิสงส์ของบุญของกุศลเลย เพราะไม่ได้ทำไว้ 

ต้องนึกถึงพระมหาชนกในนิทานชาดก เมื่อลอยคออยู่กลางทะเล  ถ้าไม่ว่ายก็จะจมน้ำตาย  จะรอให้คนอื่นมาช่วยก็ไม่ได้ ต้องถือหลัก อัตตาหิอัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ ตราบนั้นจะต้องทำความดีให้ได้  ทำความดีให้ได้ทุกๆวัน มากน้อยก็สุดแท้แต่  แต่ขอให้ได้ทำ  จะมีกำลังใจจะทำหรือไม่ก็ตาม ต้องฝืนทำ เหมือนกับการรับประทานอาหาร  บางวันก็มีความรู้สึกไม่อยากรับประทาน  แต่ก็รู้ว่าถ้าไม่รับประทานแล้ว เดี๋ยวก็จะหิว เดี๋ยวก็จะทุกข์  แต่ถ้าฝืนกินเข้าไป อย่างน้อยก็จะทำให้ไม่มีความหิวตามมาทีหลัง ไม่มีความทุกข์ตามมาทีหลังฉันใด การเจริญวิริยะบารมีก็เช่นกัน  ต้องพยายามฝืนอารมณ์ที่ซึมเศร้า อารมณ์ที่หดหู่นี้เสีย ด้วยการดำเนินชีวิตไปตามปกติ  เคยทำบุญเคยทำทาน เคยรักษาศีล เคยปฏิบัติธรรม เคยไหว้พระสวดมนต์ เคยฟังเทศน์ฟังธรรม เคยเข้าวัด ก็ขอให้ทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง  อย่าให้อารมณ์นี้มาคอยขัดขวาง  ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วการดำเนินก็จะเป็นไปแบบล้มลุกคลุกคลาน จะไม่เจริญก้าวหน้าไปเท่าที่ควร เหมือนกับร่างกาย  ถ้าวันไหนไม่ได้รับประทานอาหาร ร่างกายก็จะขาดอาหาร แล้วการเจริญเติบโตก็จะหยุดชะงักไป  แต่ถ้าถึงเวลารับประทานอาหารแล้ว ก็รับประทานอาหารไป  จะอยากรับประทานหรือไม่ ก็รับประทานไปเถิด  แล้วผลดีก็จะตามมาเอง 

. อุทธัจจกุกกุจจะ  ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ   เกิดจากการที่ต้องประสบกับปัญหาต่างๆ กับเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่สามรถแก้ไขได้ ก็เลยทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน คิดแล้วคิดเล่า ก็ปลงไม่ตก หาข้อสรุปไม่ได้  เพราะขาดสติขาดปัญญา ไม่รู้จักปลง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นโลกของปัญหา แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่  . ปัญหาที่แก้ไขได้  .ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ จึงต้องรู้จักแยกแยะปัญหาทั้ง ๒ นี้  อย่างไหนที่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขได้ ก็แก้ไขไป  อย่างไหนอยู่เหนือวิสัย แก้ไขไม่ได้ ก็ต้องปลงอนิจจัง คิดเสียว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เป็นธรรมดา  ชีวิตเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ก็ต้องจากกันไป  เขาไม่จากไปก่อน เราก็ต้องจากไปก่อน  จะอยู่ด้วยกันไปตลอดไม่ได้ 

ในขณะที่ยังอยู่ ก็ต้องหัดทำใจ ให้วางเฉย ปล่อยวาง เป็นอุเบกขา  ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีอยู่ตามเรื่องของเขา เราเป็นเพียงผู้มาอาศัยอยู่ในโลกนี้เท่านั้น  จะไปให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความพอใจของเรา ย่อมเป็นไปไม่ได้  จะให้คนอื่นทำอะไรตามใจเราไปเสียทุกอย่าง ย่อมเป็นไปไม่ได้ จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปดังที่เราต้องการ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เช่น ฝน ฟ้า แดด ลม จะไปบังคับเขาไม่ได้  วันไหนฝนจะตก วันไหนแดดจะออก บังคับเขาไม่ได้  แต่เราบังคับใจเราได้ สามารถทำใจเราให้เป็นปกติได้ คือทำใจให้เป็นอุเบกขา วางเฉย ให้รู้จักวางเฉยเสียบ้าง คือยอมรับสภาพความเป็นจริง  ถ้ารู้จักทำใจ รู้จักเรื่องราวของสภาวธรรมทั้งหลายแล้ว ก็จะไม่มีความวุ่นวายใจ ไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีความหงุดหงิดใจ  แต่ถ้าไม่มีสติปัญญาแยกแยะ พอเห็นอะไรไม่ถูกใจ ก็เอามาคิดจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ  เพราะไม่มีสติ ไม่มีปัญญา จึงต้องดูใจเมื่อเกิดความฟุ้งซ่าน ต้องใช้ปัญญาเข้ามาแก้ไข  ถามว่าสิ่งที่ไปกังวลด้วย เราทำอะไรได้หรือเปล่า แก้ไขได้หรือเปล่า ถ้าแก้ไขได้ก็ไปแก้ไขเสีย ทำให้เรียบร้อย ถ้าแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องยอมรับความจริงของสภาพนั้นๆ แล้วปล่อยไป  อย่าไปคิดถึงมัน เรื่องก็จบ 

. วิจิกิจฉา  ความลังเลสงสัย  ลังเลสงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องกรรม เรื่องนรก เรื่องสวรรค์ ว่ามีจริงหรือไม่ ทำความดีไปแล้วจะสูญเปล่าหรือเปล่า เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงินทอง แล้วก็ไม่มีผลอะไรตามมา นี่คือความลังเลสงสัย วิธีแก้ความลังเลสงสัย ก็คือต้องเข้าหาผู้รู้ ต้องเจริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ศึกษาธรรมให้มาก ฟังธรรมให้มาก เข้าหาผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  หากัลยาณมิตรเพื่อนที่ดี ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมามากกว่าเรา  เวลามีปัญหามีความสงสัยอะไร ก็สามารถถามได้  เขาจะช่วยบอกให้เราเข้าอกเข้าใจ  เมื่อเข้าอกเข้าใจแล้ว ก็จะมีความเชื่อ มีความมั่นใจในการปฏิบัติธรรม

เพราะการได้ยินได้ฟังธรรมมีอานิสงส์อยู่หลายประการด้วยกัน ประการหนึ่งก็คือขจัดความสงสัยให้ออกไปจากใจได้  คนส่วนใหญ่ที่ยังสงสัยกันอยู่ ก็เพราะขาดการศึกษาธรรม ไม่ได้ยินไม่ได้ฟังธรรมเท่าที่ควร เมื่อไม่ได้ยินไม่ได้ฟังก็คิดไปเองตามแต่จินตนาการจะพาไป เพราะไม่เข้าหาผู้รู้  ศึกษาจากท่านเหล่านั้น แต่กลับไปคบกับคนหูหนวกตาบอด คนที่ไม่รู้ธรรม จึงทำให้มีความสงสัยเพิ่มมากขึ้นไปอีก  จึงควรแสวงหากัลยาณมิตร เช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก  พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ  ผู้ใฝ่ธรรม ผู้สนใจการศึกษาธรรมการปฏิบัติธรรม เข้าไปอยู่ใกล้บุคคลเหล่านี้แล้ว จะได้ยินได้ฟังธรรม ทำให้เกิดความกระจ่าง ความเข้าใจ ขจัดความสงสัยต่างๆที่มีอยู่ภายในใจให้หมดไปได้ 

ที่กล่าวมาคือเรื่องอุปสรรคขวางกั้นการปฏิบัติธรรม  เมื่อเจอแล้วก็ต้องแก้ไขด้วยธรรมที่ได้แสดงมา  แล้วการปฏิบัติก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น  ด้วยศรัทธาความเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยวิริยะ ความอุตสาหะ ความพากเพียร ขันติ ความอดทน การปฏิบัติของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน บางคนบางท่านก็ปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย บางท่านก็ปฏิบัติไปได้อย่างยากลำบาก เพราะในอดีตได้สะสมบุญบารมีมาไม่เท่ากัน ผู้ที่ปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย แสดงว่าเคยได้ปฏิบัติมาแล้วในอดีต เคยทำบุญทำทาน เคยรักษาศีล เคยปฏิบัติสมาธิ เจริญวิปัสสนา เคยเข้าวัดอยู่อย่างต่อเนื่อง จนฝังเป็นอุปนิสัย  เวลาว่างก็จะคิดถึงแต่การทำบุญปฏิบัติธรรม

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติยากก็เป็นเพราะว่าในอดีตไม่ได้ปลูกฝังนิสัยไว้เลย  เลยทำให้ไม่มีความอยากเข้าวัด ไม่มีความอยากทำบุญให้ทาน อยากรักษาศีล อยากฟังเทศน์ฟังธรรม  แต่ก็ไม่เป็นไร  ถ้ารู้สึกว่าปฏิบัติยากก็ขอให้พยายามทำให้มากยิ่งๆขึ้นไป เมื่อทำมากเข้าไปแล้ว ทำอยู่เรื่อยๆ ทำอยู่บ่อยๆ ก็จะง่ายไปเอง  อะไรที่เป็นของใหม่ก็จะรู้สึกว่ายาก อย่างเวลาหัดขับรถใหม่ๆ จะรู้สึกว่ายาก รู้สึกว่ามีเรื่องราวมาก  ไหนจะต้องจับพวงมาลัย ไหนจะต้องเปลี่ยนเกียร์ จะต้องเหยียบคลัช เหยียบเบรค เหยียบน้ำมัน รู้สึกว่ายากไปหมด บางคนคิดแล้วก็กลัว ไม่กล้าขับรถไปเลยก็มี เพราะรู้สึกว่ายาก  แต่ถ้าลองหัดขับไปทีละเล็ก ทีละน้อย หัดไปๆเรื่อยๆ  ในที่สุดมันก็เกิดความชำนาญขึ้นมา  ของยากก็กลายเป็นของง่าย ต่อไปเวลาขับรถแทบจะไม่ต้องคิดเลย  พอขึ้นรถเอากุญแจเสียบเข้าไป สตาร์ดเครื่องก็ขับออกไปได้เลย โดยไม่ต้องคิดว่าจะต้องเข้าเกียร์ จะต้องเหยียบเบรค ปล่อยคลัชหรืออะไรทั้งสิ้น  เพราะเกิดจากความชำนาญนั่นเอง  เกิดจากการที่ได้กระทำอยู่เรื่อยๆ

การประกอบคุณงามความดีจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง  ถ้าไม่ทำแล้ว เวลาจะมาทำแต่ละครั้ง จะรู้สึกว่ายากลำบากไปหมด  แต่ถ้าทำอยู่เรื่อยๆแล้วต่อไปก็จะง่ายขึ้น  พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ปุพเพ จ กต ปุญญตา เอตัมมัง กลมุตตมัง  การได้ทำบุญมาในอดีตเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะเมื่อได้ทำบุญมาในอดีตแล้ว จะทำให้การทำบุญในปัจจุบันง่าย  แต่ก็ไม่เป็นไรสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้ทำบุญมา  ขอให้ทำบุญไปเถิด ทำไปเรื่อยๆ  แล้วต่อไปในอนาคตข้างหน้าการทำบุญก็จะง่ายขึ้น  ไปเกิดภพหน้าชาติหน้าก็จะปฏิบัติธรรมได้ง่ายขึ้น  ถ้าได้พบกับพระที่ดี พบพระพุทธเจ้าก็จะได้บรรลุธรรม  เพราะได้เตรียมทำการบ้านไว้แล้ว  ถ้ายังไม่เตรียมทำการบ้านไว้  ต่อให้อธิษฐานขอให้เกิดทุกภพทุกชาติให้ได้เจอพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ การพบพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะเวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ก็จะไม่สามารถนำเอาไปปฏิบัติได้  แต่ถ้าหมั่นทำบุญอยู่อย่างต่อเนื่อง  เวลาไปเกิดชาติหน้าหรือแม้แต่ชาตินี้  ถ้าบุญวาสนาส่ง ได้ไปเจอพระอริยบุคคล เจอพระที่ดีสั่งสอน แล้วนำเอาไปปฏิบัติ ก็จะบรรลุธรรมได้  การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้