กัณฑ์ที่
๗๖
สารธรรม
พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาที่ได้ทรงแสดงไว้
มีจำนวนมาก
ที่เก็บจารึกรักษาไว้ในพระไตรปิฎกก็มีอยู่
๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์
ถึงแม้พระธรรมคำสอนจะมีมากขนาดไหนก็ตาม
เนื้อหาสาระของพระธรรมคำสอนมีอยู่หนึ่งเดียว
เปรียบเหมือนกับน้ำในมหาสมุทรถึงแม้จะมีมากจนประมาณไม่ได้
แต่ก็มีรสชาติอันเดียวกัน
คือรสเค็มฉันใด
พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
แม้จะมีมากก็มีเนื้อหาสาระเดียว
คือ ทุกข์และวิธีการดับทุกข์
ไม่ว่าพระพุทธองค์จะแสดงธรรมให้กับใครที่ไหน
ก็จะแสดงเกี่ยวกับเรื่องทุกข์และวิธีการดับทุกข์เสมอไป
เพราะไม่มีอะไรที่จะมีโทษรุนแรง
ร้ายแรง
แก่จิตใจของสัตว์โลกยิ่งกว่าความทุกข์
ทุกวันนี้ที่ต้องดิ้นรนกัน
อยู่ไม่สุขกัน
ก็เพราะความทุกข์นั่นเอง
ไม่รู้จักคำว่า พอ
อยู่บ้านเฉยๆไม่ได้
ทั้งที่มีปัจจัย ๔ พอเพียง
มีบ้าน มีอาหารรับประทาน
มีเครื่องนุ่งห่ม
มียารักษาโรค
แต่จิตใจยังดิ้นรนกวัดแกว่ง
ยังมีความทะยานอยากต่างๆอยู่
คือ กามตัณหา
ความอยากในกาม ภวตัณหา
ความอยากมีอยากเป็น
วิภวตัณหา
ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น
ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้จิตใจของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้
ไม่สามารถอยู่เฉยๆได้
อยู่ไม่เป็นสุข
ต้องดิ้นรนกวัดแกว่งออกไปหาสิ่งต่างๆ
ที่ใจปรารถนา แต่เมื่อหามาได้แล้วก็ไม่มีความอิ่ม
ไม่มีความพอ มีความสุข
มีความดีอกดีใจไปชั่วขณะหนึ่ง หลังจากนั้นก็อยากจะได้ใหม่อีก
เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
นี่คือลักษณะของความทุกข์ของจิตใจ
ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เห็น
ว่าเป็นปัญหาอันสำคัญอย่างยิ่ง
ถ้าไม่แก้ปัญหานี้แล้ว
ต่อให้มีอะไรมากมายก่ายกองแค่ไหน
ต่อให้เป็นอะไร
ฐานะสูงขนาดไหนก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดี
เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นมหาเศรษฐี
ก็ยังจะหาความสุข
ความสงบของจิตใจไม่ได้ ตราบใดยังไม่ได้ชำระตัณหาทั้ง
๓
นี้ให้ออกไปจากจิตจากใจแล้ว
ก็จะหาความสุขที่แท้จริงไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงศึกษาปฏิบัติธรรมด้วยความอุตสาหะวิริยะ
จนเข้าถึงแก่นของความจริงว่า
ความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากตัณหาทั้ง
๓ นี้ คือ กามตัณหา ภวตัณหา
วิภวตัณหา ความอยากในกาม
ความอยากมีอยากเป็น
ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น
นี่คือต้นเหตุของความทุกข์ในจิตใจและพระพุทธองค์ยังทรงรู้ลึกเข้าไปอีกถึงต้นเหตุของตัณหา
เพราะตัณหาอยู่เฉยๆจะเกิดขึ้นมาเองไม่ได้
ต้องมีเหตุ เหตุนั้น
คือ อวิชชา
ความไม่รู้จริง
หรือความหลง หมายถึงความเห็นผิดเป็นชอบ
เห็นกลับตาลปัตร
เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
เช่น
เห็นความเที่ยงแท้แน่นอนในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน
เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์
เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน
นี่คือความเห็นผิด เพราะมีอวิชชาความไม่รู้จริง
โมหะความหลงครอบงำจิตใจอยู่
จึงทำให้เห็นผิดเป็นชอบ
เห็นความทุกข์เป็นความสุข
จึงหาความทุกข์มาใส่ตัว
เพราะคิดว่านั่นคือความสุข
อะไรคือสิ่งที่เป็นทุกข์แต่กลับถูกเห็นว่าเป็นสุข
ก็ ลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุข นั่นไง
ที่ทุกๆคนปรารถนากัน
ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่อยากได้กัน
มีแต่อยากมีเงินทองมากๆ
มีตำแหน่งสูงๆ
มีคนสรรเสริญมากๆ
มีกามสุขมากๆด้วยกันทั้งนั้น
แต่สิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้ากลับทรงเห็นด้วยพระปัญญาญาณว่าเป็นทุกข์
ทุกข์เพราะเหตุใด ทุกข์เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง
เป็นของไม่แน่นอน มีอยู่ในวันนี้
พรุ่งนี้ก็อาจจะหมดไปได้ รวยวันนี้
พรุ่งนี้ก็อาจจะจนได้
เป็นนายกวันนี้
พรุ่งนี้ก็อาจจะกลับมาเป็นคนธรรมดาสามัญก็ได้
วันนี้มีคนสรรเสริญ
พรุ่งนี้ก็อาจจะมีคนด่าเอาก็ได้
วันนี้มีกามสุขกัน
ได้ไปเที่ยวกัน
ก็มีความสุข แต่พรุ่งนี้อาจจะไม่มีก็ได้
เพราะสิ่งที่ให้ความสุขอาจจะหายจากไปก็ได้ เช่นมีความสุขกับแฟน
สามี ภรรยา แต่พรุ่งนี้แฟน
สามี ภรรยา อาจจะจากไปก็ได้
ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง
อาจจะตายจากไป อาจจะทะเลาะเบาะแว้งกัน
ไม่เข้าอกเข้าใจกัน
ก็แยกทางกันไป
ทิ้งกันไปก็ได้
นี่คือลักษณะของความเป็นอนิจจัง
เมื่อเปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ความสุขที่มีอยู่ก็จะกลายเป็นความทุกข์
เป็นอนัตตาเพราะไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง เราไม่สามารถที่จะเอาสิ่งต่างๆไว้เป็นของๆเราได้ไปตลอด
ถึงเวลาจะหายไป หมดไป
ก็จะเป็นไปตามเรื่องของเขา
ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม
ไม่ได้ชำระอวิชชา
ความมืดบอด ความหลงในจิตใจ
จะไม่เห็นสภาพที่แท้จริงของสภาวธรรมเหล่านี้
แล้วก็จะหลงไปเรื่อยๆ
แล้วก็จะอยากไปเรื่อยๆ
อยากไปจนกระทั่งวันตายเลย
เมื่อตายไปแล้ว
ความอยากนี้ก็จะเป็นตัวผลักดันให้จิตไปเกิดใหม่ ไปหาภพใหม่ชาติใหม่
แล้วก็ไปอยากต่อไปเรื่อยๆอย่างนี้
ไม่มีที่สิ้นสุด
มีภพชาติมากมายก่ายกองนับไม่ถ้วน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า
น้ำตาที่เราหลั่งแต่ละภพแต่ละชาติที่เกิดจากความทุกข์นั้น
ถ้าเอามารวมกันแล้ว
น้ำตาที่หลั่งนี้จะมากยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก
คิดดูสิว่าภพชาติจะมากแค่ไหน
น้ำตาที่หลั่งมานี้มากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก
นี่คือเรื่องของภพชาติ
เรื่องของความทุกข์ที่มีอยู่ในจิตใจที่เกิดจาก
อวิชชา ความหลง
ความไม่รู้
พระพุทธจ้าจึงต้องสอนให้เรารู้
ให้มีปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่เป็นธรรมที่ดับความหลง
ดับอวิชชาได้ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะดับความมืดบอดของอวิชชา
โมหะ ความหลง นี้ได้
ต้องปัญญาเท่านั้น
ปัญญาก็ต้องเป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา
คือรู้ไตรลักษณ์ อนิจจัง
ทุกขัง กับอนัตตา
รู้ว่าสภาวธรรมทั้งหลายเป็นอนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา อะไรคือสภาวธรรมทั้งหลาย
ลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข
ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง รูป เสียง
กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง
ตา หู จมูก ลิ้น
กาย ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง
ขันธ์ ๕ คือ รูป
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง
ทั้งหมดนี้พระพุทธองค์ทรงสรุปว่าเป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด
เป็นของไม่เที่ยง
เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน
ถ้ามีอุปาทานไปยึดไปติดกับสภาวธรรมเหล่านี้ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา
ถ้าไม่มีอุปาทานก็จะไม่มีความทุกข์
ยกตัวอย่าง
รถของเราเวลาใครไปทำอะไรเข้าเราจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที
เพราะใจเราไปติดกับรถคันนั้นว่าเป็นของๆเรา ใครเอาฆ้อนไปทุบกระจกแตกก็จะเกิดความเสียใจ
เกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที
แต่ถ้าเป็นรถคันอื่นที่ไม่ใช่เป็นของๆเรา
ใครจะเอาไปทำอะไรเราก็ไม่เดือดร้อน
เพราะอะไร เพราะไม่มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของๆเรานั่นเอง
ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอวิชชาความหลง
หลงว่าเป็นของๆเรา
จึงไปยึดไปติด
พอเป็นอะไรขึ้นมาก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
ร่างกายของเราก็แบบเดียวกัน
ร่างกายของเราพระพุทธองค์ได้แสดงไว้ว่าไม่มีตัวไม่มีตน
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆเรา
มาจากธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม
ไฟ เริ่มต้นจากของพ่อของแม่ที่ผสมอยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาก็อาศัยอาหารที่มาจากดิน
น้ำ ลม ไฟ ข้าวปลาอาหารที่รับประทานเข้าไปมันก็มาจากต้นข้าว
ต้นข้าวก็มาจากดิน น้ำ ลม
ไฟ สิ่งต่างๆที่เรารับประทานเข้าไปมาจากธาตุ
๔ ทั้งนั้น เมื่อเข้ามาในร่างกายแล้วก็เปลี่ยนสภาพกลายเป็น
ขน ผม เล็บ ฟัน เป็นอาการ ๓๒
เมื่อร่างกายดับสลาย
ก็กลับคืนสู่ธาตุเดิม
เอาไปเผาไฟก็เหลือแต่ขี้เถ้า
ดินกลับคืนสู่ดินไป
น้ำกลับคืนสู่น้ำไป
ลมกลับคืนสู่ลมไป
ไฟกลับคืนสู่ไฟไปนี่คือลักษณะของสภาวธรรมทั้งหลาย
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
ถ้าไปยึดไปติด
ถ้าไม่ยึดไม่ติดไม่ครอบครอง
ไม่เรียกเป็นของๆเรา
เป็นตัวเรา ก็ไม่ทุกข์
แต่ถ้าไปยึดไปติดก็ทุกข์
ศาสนาจึงสอนที่ตรงนี้
สอนให้เห็นไตรลักษณ์ในทุกสิ่งทุกอย่าง
ในความเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ถ้าเห็นถ้าเข้าใจแล้ว
ก็จะไม่ยึดไม่ติด
ใจก็จะไม่ทุกข์
ใจไม่ทุกข์
ปัญหาทั้งหลายก็หมดไป
เมื่อไม่ทุกข์แล้ว
ก็จะมีความสุข
มีความอิ่ม มีความพอ
ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปมีลาภ
ยศ สรรเสริญ กามสุข
เพราะความสุขในใจเลิศกว่าความสุขทั้งหลายในโลกนี้ ลาภ ยศ สรรเสริญ
กามสุข
เทียบไม่ได้กับความสุขที่มีอยู่ในใจ
ที่เกิดจากปัญญาที่ดับอวิชชา
ต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย
ดังใจของพระพุทธเจ้า
ของพระอรหันต์ทั้งหลาย
ใจของท่านพอแล้ว
ท่านทำลายอวิชชาต้นเหตุที่ทำให้เกิดความอยากต่างๆได้
เมื่อไม่มีความอยาก
ท่านก็ไม่ต้องไปหาอะไร
อยู่ในป่าอยู่ในเขา
อยู่ตามวัดตามวา
อยู่ตามลำพังก็มีความสุขแล้ว
วันหนึ่งๆมีอาหารรับประทานไปวันละมื้อก็อยู่ได้แล้ว
มีไตรจีวร ผ้า ๓
ผืนไว้นุ่งห่มก็พอแล้ว
มีที่หลบแดดหลบฝนได้ก็พอแล้ว
มียารักษาโรคตามอัตภาพก็พอแล้ว
เมื่อถึงเวลาที่ร่างกายจะแตกจะสลายไปก็ไม่เดือดร้อน
เพราะไม่ได้ยึด ไม่ได้ติด
เป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น
เวลาเราเห็นคนอื่นตายไป
เราจะไม่เดือดร้อน ไม่เจ็บ
ไม่ทุกข์กับการตายของผู้อื่นฉันใด
พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์ก็ไม่เดือดร้อนกับความตายของท่าน
เพราะท่านได้พิจารณาด้วยปัญญาอย่างรอบคอบแล้วว่า
ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตน
เป็นเพียงธาตุ ๔
ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้นเอง
นี่คือเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงพยายามสั่งสอนสัตว์โลกให้เข้าใจ
เรียกว่าปัญญา มีอยู่
๓ คือ
๑.
สุตมยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง
เช่น การฟังเทศน์ฟังธรรม
๒.
จินตามยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาไตร่ตรอง
อยู่เรื่อยๆ
อย่างเรื่องไตรลักษณ์
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เรื่องร่างกายเป็นธาตุ ๔
ดิน น้ำ ลม ไฟ เรื่องไม่มีตัวตน
ไม่ใช่เป็นของๆเรา
ถ้าไม่อยากทุกข์ก็อย่าไปยึดไปติด
แล้วลองเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันดู
จะเห็นขึ้นมาทันทีเลยว่าเวลายึดติดกับอะไร
ก็จะเดือดร้อนขึ้นมาทันที
จะทุกข์ จะกังวล
พอได้ยินได้ข่าวว่าสามี
ภรรยา แฟนไปมีอะไรข้างนอกหน่อยเท่านั้น
ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับแล้ว
เพราะยึดติด ไม่ปล่อยวาง
ไม่ยอมรับความจริงว่าสักวันหนึ่งก็ต้องจากกัน
ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้เป็นของธรรมดา
เป็นเพราะว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังธรรม
ไม่เคยพิจารณา ไม่เคยใช้จินตามยปัญญา
ไม่ใช้จินตนาการคิดเผื่อไว้ก่อน
คิดเผื่อว่าพรุ่งนี้แฟนเราจะไปมีสามีใหม่
มีภรรยาใหม่ก็ได้ หรือแฟนเราอาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง
เป็นโรคหัวใจวายตายไปก็ได้
ไม่คิดเผื่อไว้ก่อน ไม่มีจินตามยปัญญา
พอเหตุการณ์เกิดขึ้นปั๊บ
ใจก็จะเศร้าหมองทันที
จะทุกข์ขึ้นมาทันทีเลย
เพราะไม่สร้างปัญญาไว้
แต่ถ้าคอยพิจารณาอยู่เรื่อยๆ
ใจก็เตรียมปลง
เตรียมปล่อยวาง
พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้
พอเกิดขึ้นมาใจก็ไม่เดือดร้อน
ถ้าไม่เดือดร้อนก็แสดงว่ามี
ภาวนามยปัญญา ๓.
ภาวนามยปัญญา
ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ
คือเมื่อเห็นเหตุการณ์
เห็นว่าสิ่งนี้เป็นความเป็นจริง
เห็นว่าสามีเรา ภรรยาเรา
เราไปยึดไปติดกับเขาไม่ได้
เขาจะไปจากเราเมื่อไรก็ได้
เราก็ตัดใจเสียแต่บัดนี้ในใจของเรา
เออไปก็ดี อยู่ก็ดี
พอคิดอย่างนี้ได้ปั๊บ
ถึงเวลาเขาไป เราก็ไม่ทุกข์
แสดงว่าเราปลงได้
เราตัดได้ เราปล่อยวางได้
อย่างนี้ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญา
ปัญญาทั้ง
๓ นี้ พัฒนาขึ้นมาจากสุตมยปัญญา
จินตามยปัญญา เข้าสู่ภาวนามยปัญญา
เพราะว่าเรื่องเหล่านี้โดยปกติแล้วเราจะไม่รู้มาก่อน ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน
ต้องเข้าวัดศึกษาธรรมถึงจะได้ยินเรื่องราวอย่างนี้
เมื่อได้ยินแล้วจึงเอาไปคิดไตร่ตรอง
คิดอยู่เรื่อยๆ
แล้วก็เอาไปตัด เอาไปปลงเสีย
เมื่อตัดได้ ปลงได้
ก็กลายเป็นปัญญาที่ทำลายอวิชชา
ความไม่รู้จริง ความหลงได้
ความหลงที่คิดว่าสามีเราก็ดี
ภรรยาเราก็ดี
ต้องอยู่กับเราไปตลอด
ต้องซื่อสัตย์กับเราไปตลอด
เรื่องอย่างนี้ไม่แน่นอน
วันนี้เขาอาจจะรักเรา
แต่พรุ่งนี้เขาอาจจะเบื่อเรา
เขาอาจจะเกลียดเราก็ได้
จึงต้องทำความเข้าใจไว้
ถ้าเข้าใจแล้วก็จะปลงได้
วางได้ ปัญญาทั้ง
๓
นี้เปรียบเหมือนกับการปลูกข้าว ขั้นต้นก่อนที่จะปลูกข้าว
ก็ต้องไถคราดนาให้ดี
แล้วหว่านเมล็ดเพื่อทำต้นกล้า
หลังจากข้าวที่หว่านโตพอที่จะย้ายไปปักดำได้แล้ว
ก็นำไปปักดำ ต่อจากนั้นก็คอยให้น้ำ
คอยดูแลไม่ให้อะไรมาทำลายข้าว
ข้าวก็จะค่อยเจริญไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งออกรวง
พอข้าวสุกเต็มที่แล้วก็เก็บเกี่ยว
ปัญญาก็จะเป็นในลักษณะนั้น
ต้องได้ยินได้ฟัง
แล้วเอาไปคิดไตร่ตรอง
เมื่อคิดไตร่ตรองแล้วจนเข้าอกเข้าใจแล้ว
ก็ปล่อยวางได้ ตัดได้
ไม่ทุกข์กับอะไร
ในสมัยพุทธกาลเวลาพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรม
ผู้ฟังก็ฟังไป
ฟังแล้วก็พิจารณาตามไป
เมื่อพิจารณาแล้ว ก็เข้าใจ
ก็ตัดได้ ปลงได้ วางได้
ก็บรรลุธรรมขึ้นมาได้
การฟังธรรมจึงมีอานิสงส์มาก
เพราจะบรรลุธรรมได้ในขณะที่ฟังธรรมเลย
ถ้าผู้แสดงธรรมแสดงอย่างถูกต้องตามหลักความจริง
และผู้ฟังมีปัญญาสามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่ผู้แสดงได้แสดงไว้
ก็จะสามารถบรรลุธรรมได้ทันที
แต่ผู้ฟังแต่ละคนก็มีภูมิปัญญาไม่เท่ากัน
มีความฉลาดไม่เท่ากัน
มีกิเลสหนาบางไม่เท่ากัน
การจะบรรลุธรรมของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน
อย่างครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง
๕ มีพระอัญญาโกณฑัญญะเพียงผู้เดียวที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันขึ้นมา
ส่วนพระปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่าน
ฟังแล้วยังไม่เข้าใจ
ยังไม่ร้องอ๋อ
แต่หลังจากเอาไปคิด
เอาไปไตร่ตรองอีกสักระยะหนึ่งท่านก็เข้าใจ
ก็บรรลุธรรมขึ้นมาได้
นี่คือลักษณะของผู้ปฏิบัติธรรม
มีความเลื่อมล้ำต่างกันในด้านความฉลาดในด้านกิเลส
ว่ามีมากน้อยต่างกันแค่ไหน
พระพุทธองค์จึงแยกผู้ปฏิบัติธรรมไว้
๔ ประเภท ได้แก่
๑.
รู้เร็ว ปฏิบัติง่าย
คือพวกที่มีปัญญามาก
ฉลาดมาก มีกิเลสบาง
มีกิเลสน้อย
ไม่ต้องต่อสู้กับกิเลสมาก
เพียงแต่นั่งสมาธิก็นั่งได้เลย
เจริญปัญญาก็บรรลุได้เลย
๒.
รู้เร็ว ปฏิบัติยาก
คือพวกที่เป็นคนฉลาดแต่มีกิเลสหนา
เวลาปฏิบัติรู้สึกยากเย็นเหลือเกิน
เวลานั่งสมาธิก็ลำบาก
ต้องต่อสู้กับกิเลสต่างๆนานากว่าจะเอาชนะกิเลสได้
แต่จะเข้าใจเร็ว
เวลาฟังธรรม
พิจารณาธรรมจะเข้าใจอย่างรวดเร็ว
จะรู้เร็ว ๓.
รู้ช้า ปฏิบัติง่าย
คือพวกปัญญาทึบ
กิเลสบาง
ฟังธรรมครั้งสองครั้งก็ไม่เข้าใจ
ต้องฟังอยู่เรื่อยๆ
พิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ
ถึงจะเข้าใจ แต่จะปฏิบัติง่ายเพราะกิเลสที่คอยขวางการปฏิบัติมีน้อย
๔.
รู้ช้า ปฏิบัติยาก
คือพวกปัญญาทึบ
กิเลสหนา เวลาปฏิบัติก็ยาก
จะนั่งสมาธิสักทีก็ลำบาก
จะเข้าวัดสักทีก็ลำบาก
รู้สึกว่าจะมีอะไรมาคอยกีดกั้นอยู่ตลอดเวลา
ทำให้การปฏิบัติเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก
เวลาฟังธรรม
พิจารณาธรรมก็เข้าใจยาก
ต้องฟังอยู่เรื่อยๆ
พิจารณาธรรมอยู่เรื่อยๆ
ถึงจะเข้าใจ
นี่คือลักษณะของผู้ปฏิบัติธรรม
มี ๔ ประเภทด้วยกัน
แต่ไม่ต้องกังวลว่าเราจะเป็นประเภทไหน
ขอให้มี ศรัทธา คือความเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ขอให้มี วิริยะ ความขยันหมั่นเพียร
ให้พยายามปฏิบัติ
ยากง่ายก็ปฏิบัติไป
ต่อสู้กันไป ขอให้มี
ขันติ ความอดทน
ปฏิบัติไปเรื่อยๆ
จะช้าหรือเร็วก็ไม่เป็นไร
ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ
ในที่สุดก็จะต้อง
ตราบใดความพยายามที่จะปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน
ยังมีอยู่ ไม่ช้าก็เร็วก็จะต้องถึงจุดหมายปลายทาง
จะยากจะง่ายก็ไม่เป็นไร
บางคนได้ทำบุญมามาก
สะสมบารมีไว้มาก
การปฏิบัติก็ง่าย
เหมือนกับคนที่เดินทางด้วยรถยนต์ราคาแพงๆ
มีเครื่องอำนวยความสะดวกความสบายครบครัน
นั่งไปนอนไปก็ถึงจุดหมายปลายทางก็มี
แต่บางคนไม่ได้สะสมบุญบารมีมาในอดีต
ก็ต้องตะเกียกตะกายไป
ล้มลุกคลุกคลานไปก็ต้องไป
ถ้าไม่ปฏิบัติก็จะยังไม่ได้อยู่นั่นแหละ
ถ้าปฏิบัติแล้ว
ต่อไปข้างหน้าก็จะง่ายเอง
สิ่งต่างๆที่ทำในวันนี้ก็จะเป็นบุญที่จะช่วยสนับสนุนในวันข้างหน้า
ทำให้การปฏิบัติในวันข้างหน้าเป็นไปได้ด้วยความสะดวกง่ายดาย
การจะมีภาวนามยปัญญาได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน
ถ้าไม่มีสมาธิแล้ว
ใจจะไม่ค่อยมีเหตุมีผล
เพราะจะมีอคติ
มีอารมณ์มารุมเร้า
จะคิดอะไรด้วยเหตุด้วยผลจะไม่ค่อยได้
แต่กลับจะคิดไปตามอารมณ์
ถ้าอยากได้อะไรก็จะต้องว่าสิ่งนั้นดีเสมอ
ถ้าชอบอะไรก็จะต้องว่าสิ่งนั้นดีเสมอ
ถ้าเกลียดอะไรไม่ชอบอะไรก็ต้องว่าสิ่งนั้นไม่ดีเสมอ
ทั้งๆที่สิ่งเหล่านั้นความเป็นจริงแล้ว
เขาหาดีหาชั่วไม่
ใจต่างหากที่ไปปรุงแต่ง
ไปไปกำหนดมันขึ้นมาเอง
แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างมันเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น
เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม
ไฟทั้งนั้น ถ้าใจไม่สงบแล้วใจจะไม่เห็นเรื่องเหล่านี้
ในเบื้องต้นจึงต้องเจริญสมาธิก่อน
ก่อนที่จะเจริญปัญญา
ทำจิตให้สงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์
หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก
หรือบริกรรมพุทโธๆๆด้วยสติ
ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับธรรมเหล่านี้
อย่าให้ใจไปคิดเรื่องอื่น
เวลาสวดมนต์ก็ให้อยู่กับการสวดมนต์
เวลาดูลมหายใจเข้าออก
ก็ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก
เวลาบริกรรมพุทโธๆๆ
ก็ให้อยู่กับพุทโธๆๆ
ไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ
ถ้าทำได้จิตจะค่อยๆสงบลงและรวมลงเป็นหนึ่งในที่สุด
เป็น เอกัคคตารมณ์ จิตจะสงบ
เย็น สบาย มีเหตุ มีผล
แล้วถึงค่อยเจริญปัญญาต่อไป
ส่วนสมาธิจะเป็นสมาธิได้ก็ต้องอาศัยศีลเป็นเครื่องสนับสนุน
ถ้ามีศีลแล้วจิตจะไม่วุ่นวาย
ทำให้สงบได้ง่าย ถ้าไม่มีศีลแล้วจิตจะวุ่นวาย
เพราะไปก่อเรื่องก่อราวต่างๆ
ทำให้จิตมีความกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้
เวลาจะนั่งทำสมาธิก็จะทำไม่ได้
จึงต้องมีศีลไว้เป็นเครื่องสนับสนุนสมาธิ
ศีลก็ต้องมีทานเป็นเครื่องสนับสนุน
ผู้ที่ชอบทำบุญให้ทานจะไม่ชอบเบียดเบียนผู้อื่น จะไม่ชอบทำผิดศีลผิดธรรม
เพราะมีความเมตตากรุณา
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
รู้จักการให้อภัย
นี่คือธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงมอบไว้ให้ปฏิบัติ
เป็นขั้นเป็นตอน
เราจึงต้องทำบุญให้ทาน
จึงต้องรักษาศีล
จึงต้องนั่งสมาธิไหว้พระสวดมนต์
จึงต้องเจริญปัญญา อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เพราะปัญหาในใจของเราคืออวิชชาความมืดบอด
ซึ่งมักจะพาให้มองตรงข้ามกับความเป็นจริง ให้เห็น นิจจัง
สุขัง อัตตา ใน อนิจจัง
ทุกขัง อนัตตา
แทนที่จะให้เห็นความไม่เที่ยง
ความทุกข์ ความไม่มีตัวตน
กลับให้เห็นในทางตรงกันข้าม
ชีวิตของเราก็เลยมีแต่ความทุกข์ใจมาตลอด
แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ถ้าไม่เจริญปัญญา ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
คือ ทำบุญให้ทาน รักษาศีล
เจริญสมาธิ เจริญวิปัสสนา
ธรรมนี้เท่านั้นที่จะช่วยตัดอวิชชาตัณหาทั้งหลายที่มีอยู่ในจิตใจให้หมดไป
ถ้าไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้ได้
เพราะเป็น อัตตาหิ
อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
พระพุทธเจ้าก็ดี
พระอรหันต์ก็ดี
ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ดี
เป็นเพียงผู้ชี้ทาง
เป็นผู้บอกทาง เราเองต้องเป็นผู้ปฏิบัติ
จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงตั้งจิตให้มั่นกับพระพุทธศาสนา กับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วพยายามเจริญรอยตาม
ตั้งแต่การทำบุญให้ทาน
รักษาศีล เจริญสมาธิ
เจริญวิปัสสนา
แล้วความสุขความเจริญ
ความปราศจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
ย่อมเป็นของท่านอย่างแน่นอน
การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา
ขอยุติไว้เพียงเท่านี้