กัณฑ์ที่ ๗๗      ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๔

กถาวัตถุ ๑๐

 

ประมาณทุกๆ ๗ วัน  ๘ วัน หรือ ๖ วันในบางกรณี วันพระก็จะเวียนมาครั้งหนึ่ง ตามปฏิทินทางจันทรคติ เป็นวันที่ญาติโยมได้มีโอกาสมาวัดเพื่อเติมน้ำมันให้กับจิตใจ  จิตใจก็เปรียบเหมือนกับรถยนต์ หลังจากวิ่งไปแล้วสักระยะหนึ่ง ก็ต้องเข้าสถานีบริการเพื่อเติมน้ำมัน เติมน้ำ เช็คสภาพรถยนต์ว่าอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ เพื่อจะได้นำไปใช้งานต่อ จิตใจของท่านทั้งหลายก็เช่นกัน  ตลอดระยะเวลา ๖ หรือ ๗ หรือ ๘ วันที่ผ่านมา  ก็ต้องใช้ไปในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ ต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป  สูญเสียน้ำมันไป  พอถึงเวลาก็ต้องมาเติมน้ำมันของธรรม คือความสุขใจ ความเป็นสิริมงคล 

เวลาเข้าวัดก็จะได้ประกอบศาสนกิจต่างๆ ที่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต  เช่นบูชาพระรัตนตรัย  เป็น ปูชา จ ปูชนียานัง เอตัมมัง กลมุตตมัง  การบูชาสิ่งที่สมควรแก่การบูชา เป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง    นอกจากการบูชาแล้วยังมีการถวายทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม การปฏิบัติเหล่านี้เป็น เอตัมมัง กลมุตมัง  เป็นมงคลอย่างยิ่งสำหรับชีวิต ทั้งนั้น นอกจากได้ทำบุญสร้างกุศลแล้ว เวลาเข้าวัดยังได้มีโอกาสพบปะกับคนที่มีความคิดความเห็นที่ไปในทิศทางเดียวกัน คือมีศรัทธา เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อในบาป บุญ คุณ โทษ นรก สวรรค์  เมื่อมีโอกาสได้พบปะกัน ก็มีโอกาสสนทนาธรรมกัน เรียกว่าธรรมสากัจฉา  การสนทนาธรรมก็เป็นมงคลอย่างยิ่ง กาเลน ธรรมสากัจฉา เอตัมมัง กลมุตมัง   การสนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลอย่างยิ่ง   

เรื่องที่จะสนทนาระหว่างนักปฏิบัติ ผู้เห็นภัยในสังขาร ในการเวียนว่ายตายเกิด ผู้มีความปรารถนาความสุขความเจริญที่แท้จริง  คือความหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากการครอบงำของความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นต้นเหตุที่สร้างความทุกข์ให้แก่จิตใจ  จึงต้องเป็นเรื่องธรรมะล้วนๆ ไม่มีเรื่องทางโลกมาเกี่ยวข้องด้วย  ไม่คุยเรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องสรรเสริญ เรื่องกามสุข  แต่จะคุยแต่เรื่องธรรมะ  ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้นักปฏิบัติธรรมสนทนากันมีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน เรียกว่า กถาวัตถุ ๑๐ คือ  . อัปปิจฉกถา ความมักน้อย ไม่มักมากอยากเด่น   . สันตุฏฐิกถา ความสันโดษ ยินดีตามมีตามเกิด ไม่ชอบฟุ้งเฟ้อปรนเปรอ   . ปวิเวกกถา   ความสงบสงัดวิเวก  . อสังสัคคกถา ความไม่คลุกคลี   . วิริยารัมภกถา ปรารภความเพียร   . สีลกถา เรื่องศีล   . สมาธิกถา เรื่องสมาธิ   . ปัญญากถา เรื่องปัญญา   . วิมุตติกถา เรื่องวิมุตติ   ๑๐. วิมุตติญาณทัสสนกถา เรื่องความรู้ความเห็นในวิมุตติ ความหลุดพ้นจากกองทุกข์อย่างสิ้นเชิง

นี่คือกถาวัตถุ ๑๐ ประการที่พระบรมศาสดาทรงสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คฤหัสถ์ และ บรรพชิต ผู้มีความปรารถนาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทั้งหลายที่ผูกสัตว์โลกให้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ในไตรภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ให้ขวนขวายพูดแต่เรื่องเหล่านี้ เพราะจะช่วยสนับสนุนการปฏิบัติ  สนับสนุนศรัทธาให้แก่กล้าขึ้น สนับสนุนวิริยะ ความพากเพียร สนับสนุนปัญญา ให้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ขจัดความสงสัย สนับสนุนสมาธิ  เพราะการสนทนาธรรม ไม่ว่าจะนานเท่าไร ก็ไม่ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน หงุดหงิด  แต่จะทำให้สงบสุข ร่มเย็น  

ธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้จึงเป็นหัวข้อ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ผู้ที่ปรารถนาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดสนทนากัน  เพราะว่าธรรม ๑๐ ประการนี้เปรียบเหมือนรถยนต์ เป็นพาหนะ เป็นยานที่จะนำผู้เดินทางให้ไปสู่จุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ สะดวก ราบรื่น รถยนต์มีส่วนประกอบอยู่หลายส่วน มี ตัวถัง ล้อ เครื่องยนต์ พวงมาลัย เบรก คันเร่ง เป็นต้นฉันใด ยานที่จะพาผู้ปฏิบัติไปสู่มรรค ผล นิพพาน สู่การหลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งหลาย ที่เป็นเครื่องพันธนาการจิตใจก็มีอยู่ ๑๐ ประการเช่นกัน คือ กถาวัตถุ ๑๐ ดังที่ได้แสดงไว้ในเบื้องต้น  ผู้ที่ได้เจริญคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว  ผลที่จะพึงหวังได้ก็คือ มรรค ผล นิพพาน การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดตามลำดับ เพราะว่าธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นเครื่องปลดเปลื้องพันธนาการ ที่ผูกจิตให้ติดอยู่ในไตรภพ อยู่ในวัฏสงสาร อยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด 

พันธนาการที่ผูกสัตว์โลกให้อยู่ในไตรภพเรียกว่าสังโยชน์  แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ สังโยชน์เบื้องต่ำ และ สังโยชน์เบื้องสูง  สังโยชน์เบื้องต่ำ ได้แก่ . สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือ ขันธ์ ๕ เป็นตน  ความจริงแล้ว ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในสายตาของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ธรรม ผู้มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว จะเห็นว่าขันธ์ ๕ นี้ ซึ่งประกอบด้วย รูป คือ ร่างกาย เวทนา คือ ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์  สัญญา คือ ความจำ สังขาร คือ ความคิดปรุง วิญญาณ คือ การรับทราบ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย  ปราศจากตัวตน  ไม่มีตัวตน เป็นธรรมชาติ คือ สภาวธรรม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เหมือนกับลม กับแดด เช่นร่างกายนี้ก็มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ ส่วน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เปรียบเหมือนกับแสงไฟ ที่เกิดดับๆๆ เหมือนแสงหิ่งห้อย ไม่มีตัวตนอยู่ในแสงไฟนั้น แต่เพราะอวิชชา ความไม่รู้  โมหะ ความหลง เข้าไปครอบงำจิตก็เลยทำให้คิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน เห็นร่างกายว่าเป็นเรา เป็นของๆเรา   เห็นเวทนาว่าเป็นเรา เราสุข เราทุกข์

ถ้าได้ปฏิบัติธรรมจนเกิดปัญญาขึ้นแล้ว ก็จะเข้าใจว่าขันธ์ ๕ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่ไปบังคับ ไปห้ามเขาไม่ได้ เขาต้องเป็นไปตามเรื่องของเขา  อย่างร่างกายเมื่อเกิดแล้ว ก็มีการเจริญเติบโต เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็มีการเสื่อม มีการชรา มีการเจ็บไข้ได้ป่วย และในที่สุดก็ต้องมีการตาย แตกสลายไป  นี่คือลักษณะของขันธ์ ๕ เป็นสภาวธรรม เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ที่เป็นทุกข์ก็เพราะความหลงทำให้ไปยึดไปติดกับขันธ์ ๕ นี้ และก็อยากให้ขันธ์ ๕ นี้ เป็นไปตามความต้องการของใจ ถ้าไม่เป็นไปตามความต้องการก็เกิดความทุกข์ใจ เช่นอยากจะให้ร่างกายนี้อยู่ไปนานๆ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เมื่อไม่เป็นเช่นนั้นก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา อยากจะมีแต่สุขเวทนา ไม่มีทุกขเวทนา เมื่อไม่เป็นดังที่ใจปรารถนาก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

แต่ถ้าได้ปฏิบัติธรรม เจริญศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว จะสามารถปล่อยวางสภาวธรรมเหล่านี้ได้ ถ้าปล่อยวางได้ ก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งเหล่านี้  สิ่งเหล่านี้จะเป็นอย่างไรก็รับรู้ไปตามสภาพความจริง คือยอมรับความจริง ภาษาชาวบ้านเรียกว่าปลงอนิจจัง ยอมรับความจริง เมื่อปลงแล้วใจก็ไม่ทุกข์  จะแก่ก็ไม่ทุกข์ จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ทุกข์ จะตายก็ไม่ทุกข์ เวลาเจ็บตรงนั้น เจ็บตรงนี้ก็ไม่ทุกข์  จะปวดก็ปวดไป แยกกายออกจากใจ แยกใจออกจากเวทนาได้  ใจเป็นผู้รู้ก็รู้ไป  เวทนาจะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป ที่ทำใจกันไม่ได้ก็เพราะกิเลสตัวจู้จี้จุกจิกวุ่นวาย ไม่ยอมรับสภาพความจริง เวลาร้อนก็อยากให้เย็น  เวลาหนาวก็อยากให้อุ่น ไม่มีความพอเลย  มีแต่ความหิว ความอยากอยู่เสมอ 

นี่คือตัวที่สร้างปัญหาให้กับใจ  ถ้ามีศีล มีสมาธิ มีปัญญาแล้ว   ก็จะกำจัดความจู้จี้จุกจิกของกิเลสได้  ทำให้มีความมักน้อยสันโดษ  ยินดีตามมีตามเกิด  จะเป็นอย่างไรก็ยอมรับตามสภาพความเป็นจริง  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยวางจนขาดความรับผิดชอบ สิ่งไหนทำได้ ดูแลรักษาได้ แก้ไขได้ ก็ดูแลรักษาแก้ไขไป ไม่ปล่อยเลยเถิด ไม่ใช่ว่า พอเห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ก็วางอุเบกขา น้ำก็ไม่อาบ เสื้อผ้าก็ไม่ซัก อย่างนี้ไม่ใช่อุเบกขาแล้ว เป็นบ้ามากกว่า เพราะอุเบกขาคือการทำใจไม่ให้มีอารมณ์ยินดียินร้าย แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไปด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล  ร่างกายสกปรกก็ต้องอาบน้ำ ให้สะอาด ไม่ให้เหม็น ผมยาว หนวดยาว ก็ต้องตัดต้องโกนออกไป  เสื้อผ้าที่ขาดก็ต้องซ่อมแซม ถ้าซ่อมได้ปะได้ ก็ซ่อมไปปะไป  แต่ถ้าสุดวิสัยก็ทิ้งไป เปลี่ยนหาชุดใหม่มาใส่ 

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องหาหยูกหายามารับประทาน  ยกเว้นผู้ที่มีพลังจิตสูงสามารถรักษาร่างกายได้ด้วยพลังจิต ก็ไม่จำเป็นต้องหาหยูกหายาก็ได้ เพราะโรคของร่างกายก็มีอยู่ ๓ ชนิด คือ . โรคที่รักษาหรือไม่รักษาก็หาย   . โรคที่รักษาจึงจะหาย ไม่รักษาก็ไม่หาย  . โรคที่รักษาหรือไม่รักษาก็ไม่หาย  มีแต่ตายอย่างเดียว นี่คือโรค ๓ ชนิดของร่างกาย ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นกับทุกๆคน ไม่ช้าก็เร็ว ผู้มีพลังจิตแล้วย่อมไม่วิตกกังวลกับโรคเหล่านี้ เพราะมีอุเบกขา  ยอมรับตามสภาพความเป็นจริง มีปัญญา เห็นแล้วว่าร่างกายนี้เกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดไม่ว่าจะมีหมอดีขนาดไหน  ไม่ว่าจะมีโรงพยาบาลดีขนาดไหน ไม่ว่าจะมียารักษาโรคดีขนาดไหน ก็จะไม่สามารถรักษาร่างกายนี้ได้ ในที่สุดก็ต้องคืนสู่สภาพเดิม คือ ธาตุ ๔  ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นความจริงที่ผู้มีปัญญาเท่านั้น จะเข้าใจและปล่อยวางได้

สักกายทิฏฐจึงเป็นเครื่องพันธนาการที่ผูกสัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในกามภพ รูปภพ และ อรูปภพ จนกว่าจะมีปัญญาจึงจะตัดได้เพราะปัญญาคือธัมโมปทีโป แสงสว่างแห่งธรรม ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม  เมื่อมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ก็จะละสังโยชน์ที่ ๒ และที่ ๓ ได้ด้วย คือ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย สงสัยว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือไม่ ความสงสัยนี้จะหมดไปในผู้ที่ได้บรรลุธรรม เห็นธรรมแล้ว และ สีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีล ถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆกันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร บางท่านที่ถือศีลในวันนี้อาจจะไม่มั่นใจว่าศีลที่รักษาจะเป็นคุณเป็นประโยชน์หรือไม่ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า  สีเลน สุคติงยันติ ผู้มีศีลย่อมไปสู่สุคติ ไปสู่สวรรค์ สำหรับผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรมแล้วจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าศีลเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่ปรารถนาสุคติภพ คือภพของมนุษย์ เทพ พรหม และ พระอริยบุคคลทั้งหลาย จะต้องมีศีล ๕ เป็นอย่างน้อย ผู้ตัดสังโยชน์ทั้ง ๓ นี้ได้ คือ พระโสดาบัน ซึ่งจะมีภพชาติเหลืออยู่เพียง ๗ ชาติ คือถ้ายังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์ในชาตินี้ เมื่อตายไปแล้วก็จะกลับมาเกิดอีกไม่เกิน ๗ ชาติ จะเกิดแต่ในสุคติภพ จะไม่ไปเกิดในอบายอีกต่อไป

ถ้าปฏิบัติต่อไปก็ต้องตัดสังโยชน์ที่ ๔ คือ ราคะ และ สังโยชน์ที่ ๕ คือปฏิฆะ  ราคะคือความกำหนัดยินดีในกาม ยินดีในหญิงในชาย ยินดีมีความสุขกับบุคคลนั้นๆ เรียกว่ากามราคะ  ส่วนปฏิฆะคือความยินร้าย ความหงุดหงิดใจ คนที่รักกันอยู่ไปนานๆ บางทีก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เกิดการขัดใจกันขึ้นมา ก็เกิดปฏิฆะ ความหงุดหงิดใจกับบุคคลนั้นขึ้นมา  สังโยชน์ทั้งสองประการนี้จะต้องตัดด้วยการพิจารณาดูสภาพความไม่สวยงามของร่างกาย เรียกว่า อสุภ ให้เห็นว่าร่างกายนี้ เป็นปฏิกูล สกปรก เพราะมีสิ่งสกปรกต่างๆถูกขับออกมาจากร่างกาย มีเหงื่อ มีอะไรต่างๆ ขับถ่ายออกมาจากร่างกาย  มีความไม่สวยงามภายใต้ผิวหนัง

คนเราสวยแค่ผิวหนังเท่านั้น  ถ้ามองทะลุผิวหนังเข้าไปแล้ว ก็จะเห็นว่ามีแต่สภาพที่ไม่สวยงามเลย มีอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่หนัง เนื้อ เอ็นเข้าไป  มีโครงกระดูก ปอด หัวใจ ตับ ลำไส้ เป็นต้น อวัยวะเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สวยงาม มีผิวหนังปกปิดหุ้มห่ออยู่ เลยทำให้มองไม่เห็น  เมื่อมองไม่เห็นก็เลยเกิดความยินดีความชอบขึ้นมา แต่ถ้าได้พิจารณาด้วยปัญญาอยู่เรื่อยๆ แล้ว ต่อไปปัญญาก็จะมองทะลุเข้าไปใต้ผิวหนังเลย เป็นเหมือนแสงเอ็กซเรย์ ที่สามารถมองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหนังได้ ถ้าเห็นแล้วก็จะระงับดับความยินดีในร่างกายได้ ระงับความยินดีในหญิงในชายได้  เมื่อระงับได้แล้วก็จะปล่อยวางทั้งหญิงทั้งชาย คือจะไม่มีความยินดี  เมื่อไม่มีความยินดี ก็จะไม่มีความยินร้าย ไม่มีความหงุดหงิด เพราะได้ปล่อยวางร่างกายแล้วด้วยปัญญา

ถ้าทำให้ราคะ และ ปฏิฆะ  เบาบางลงไปได้ ก็จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๒  คือ พระสกิทาคามี ซึ่งจะมีภพชาติเหลืออยู่เพียงชาติเดียว คือจะกลับมาเกิดในกามภพนี้อีกเพียงชาติเดียวเท่านั้นเอง ถ้าในชาตินี้ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  แต่ถ้าปฏิบัติต่อไปจนตัดราคะกับปฏิฆะได้อย่างเด็ดขาด ก็จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ คือ พระอนาคามี ซึ่งจะไม่กลับมาเกิดในกามภพอีกต่อไป  จะไม่กลับมาเกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ แต่จะไปเกิดบนพรหมโลกชั้น สุทธาวาส พรหม ๕ ชั้นที่สูงสุดในรูปาวจร ได้แก่  . อวิหา  . อตัปปา   . สุทัสสา   . สุทัสสี   . อกนิฏฐา แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ต่อไป

สังโยชน์เครื่องพันธนาการที่พระอนาคามียังต้องตัดมีอยู่ ๕ เป็นสังโยชน์เบื้องสูง คือ รูปราคะ ความยินดีในรูปฌาน อรูปราคะ ความยินดีในอรูปฌาน  มานะ ความถือตัว อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน  และ อวิชชา ความไม่รู้จริง ความมืดบอด ความหลง  เป็นหน้าที่ของพระอนาคามีที่ต้องเจริญธรรมหรือปัญญาขั้นต่อไป เรียกว่า อรหัตตมรรค  ธรรมขั้นนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับร่างกายแล้ว เพราะท่านได้พิจารณาร่างกายอย่างถี่ถ้วนจนเข้าใจแล้วว่าเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภ เป็นปฏิกูล ไม่สงสัยในเรื่องของร่างกายอีกต่อไป แต่ธรรมที่ท่านต้องพิจารณาคือนามขันธ์ทั้งสี่ได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และ อารมณ์ในจิต ต้องพิจารณาให้เห็นว่าเป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อพิจารณาเห็นโดยถ่องแท้แล้ว ก็จะปล่อยวาง เมื่อปล่อยวางแล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทั้ง ๑๐ ประการ   สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ก็จะถูกตัดขาดหมด   เมื่อตัดออกไปจากจิต ก็จะไม่มีเครื่องโยง เครื่องผูกให้จิตกลับมาเกิดในไตรภพนี้อีกต่อไป  คือไม่กลับมาเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เรียกว่าวิมุตติ หลุดพ้นจากสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิด

ผู้ที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เปรียบเหมือนกับผู้ที่ได้ถูกปลดปล่อยออกจากตะราง  เวลาอยู่ในคุกในตะรางจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด  แต่เมื่อถูกปล่อยออกมาจากคุกแล้วก็สามารถไปไหนมาไหนได้  ความสุขที่อยู่นอกคุกนั้นย่อมมีมากกว่าความสุขที่อยู่ในคุกฉันใด  ความสุขของผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ย่อมมีมากกว่าความสุขของผู้ที่ยังเวียนว่ายตายเกิด   ความสุขของผู้ที่หลุดพ้นวิเศษตรงที่ว่า ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่เลยแม้แต่นิดเดียว  เป็นความสุขล้วนๆ ที่เรียกว่า  นิพพานนัง ปรมังสุขัง เป็นความสุขอันเลิศที่สุดของความสุขทั้งหลาย  ผู้ที่หลุดพ้นแล้วย่อมมีวิมุตติญาณทัศนะ  ย่อมมีความรู้ความเห็นว่าการหลุดพ้นนั้นเป็นอย่างไร  เปรียบเหมือนกับผู้ที่เดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว  ย่อมรู้ว่าจุดหมายปลายทางนั้นเป็นอย่างไร  อย่างเวลาที่ท่านได้เดินทางมาถึงวัดญาณฯ เป็นครั้งแรก ท่านย่อมเห็นสิ่งต่างๆในวัดญาณนี้ ซึ่งเป็นความรู้ความเห็นที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อก่อนนี้ท่านยังไม่ได้มาท่านยังไม่สามารถพูดได้ว่าวัดนี้เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง  แต่หลังจากที่ท่านได้มาถึงวัดนี้แล้วย่อมเห็นสิ่งต่างๆในวัดนี้  ย่อมรู้ว่าวัดนี้มีอะไรบ้างฉันใด  ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนกระทั่งบรรลุถึงวิมุตติหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีวิมุตติญาณทัศนะคือความรู้ความเห็นในการหลุดพ้น  ย่อมรู้ว่าการหลุดพ้นนั้นเป็นอย่างไร และสามารถเอามาเผยแผ่ เอามาสั่งสอนให้ผู้ที่ยังไม่รู้ ไม่เห็น ได้รู้ตามได้ 

ดังที่พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลายได้กระทำกัน  หลังจากที่ท่านได้เจริญธรรมคือ  ความมักน้อย ความสันโดษ   ความสงบสงัดวิเวก  ความไม่คลุกคลี  ความเพียร   ศีล   สมาธิ  และปัญญา   จนบรรลุวิมุตติ และวิมุตติญาณทัศนะ เป็นผู้สิ้นกิเลส เป็นผู้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายแล้ว  ท่านจึงได้สละเวลาที่มีเหลืออยู่มาสั่งมาสอนพวกเราให้ได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ ผู้ที่มีความฉลาดเมื่อฟังแล้วย่อมเกิดศรัทธา เพราะสิ่งต่างๆที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงไว้ เป็นความจริง เป็นเหตุเป็นผล สามารถพิสูจน์ได้   แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความมืดบอด มีอวิชชา ความหลงครอบงำอยู่ ก็จะไม่สามารถรับธรรมนี้ได้ ไม่เข้าใจ และจะปฏิเสธธรรม หาว่าธรรมถูกแต่งขึ้นมาเพื่อหลอกให้ทำความดีไปเฉยๆ ไม่มีผลอะไรตามมาเลย   ชาวพุทธผู้มีจิตศรัทธาจึงควรน้อมจิตน้อมใจเข้าหาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอๆ น้อมเอาธรรมเข้าใส่ใจ ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม ด้วยการศึกษาจากหนังสือ  ด้วยการสนทนาธรรม เพื่อศรัทธา ความเชื่อ วิริยะ ความพากเพียร ฉันทะ ความอยากจะปฏิบัติธรรมตามพระพุทธเจ้า ขันติ ความอดทน ปัญญา ความรู้แจ้งเห็นจริง เมื่อได้ปฏิบัติแล้วผลต่างๆ ที่พึงจะได้รับจะค่อยๆปรากฏขึ้นมาตามลำดับแห่งความเพียร จะรู้จริงเห็นจริง จะไม่สงสัยในสิ่งต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน  และจะเป็นผู้ที่จะช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสอนให้แก่ผู้อื่นในโอกาสต่อไป   การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา  ขอยุติไว้เพียงเท่านี้